สัดส่วน ระดับความสูง และขนาดมาตรฐานเฟอร์นิเจอร์ในครัว
X-RAY ครัว
"ครัว" นับเป็นอีกห้องหนึ่งที่มีเรื่องของงานระบบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากที่สุด ทั้งระบบน้ำ ไฟฟ้า และแสงสว่าง อีกทั้งยังมีเรื่องของระยะอุปกรณ์ในครัว
ระดับส่วนสูง ที่จะต้องให้สัมพันธ์กับสัดส่วน ของผู้ใช้ ดังนั้นเรามาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน การออกแบบครัว และงานระบบ ที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้าง กันดีกว่า
สัดส่วน ระดับความสูง และขนาดมาตรฐานเฟอร์นิเจอร์ในครัว
1. ระยะทางเดินระหว่างเคาน์เตอร์
ไม่ควรน้อยกว่า 1 ม. ทั้งนี้ควรคำนึงถึง พฤติกรรมของผู้ใช้ และ ลักษณะกิจกรรมของพื้นที่รอบๆด้วย
2. พื้นที่ใช้สอยสำหรับเก็บอาหาร
พื้นที่เก็บอาหารแห้งและอาหารสด ควรอยู่ใกล้กันจะได้สะดวกในการหยิบและเตรียมอาหาร ตำแหน่งตู้เย็นควรตั้งอยู่บริเวณปลายสุดของครัวหรือส่วนที่เข้าถึงได้ง่าย สำหรับการจัดวางตู้เย็นต้องพิจารณารัศมีของบานประตู ตู้
ให้มีระยะเปิดที่ยังเหลือพื้นที่ ให้ทำงานได้สะดวก และตำแหน่งควรอยู่ห่างจากอุปกรณ์ที่มีความร้อน เช่น เตาหุงต้ม เตาอบ
3. พื้นที่เตรียมอาหาร
เนื่องจากต้องรับแรงสั่นของการหั่น สับ หรือโขก จึงควรมีโครงสร้างและพื้นผิวที่แข็งแรง ด้านล่างเคาน์เตอร์และตู้ด้านบน ควรมีที่เก็บอุปกรณ์เตรียมอาหาร เช่น ช้อนส้อม มีด เขียง หรือถังขยะ และพื้นที่วางเครื่องใช้ไฟฟ้า
เช่น ไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว ซึ่งควรกำหนดตำแหน่งที่ถาวร จะได้กำหนดตำแหน่งและจำนวนปลั๊กไฟได้เหมาะสม
4. พื้นที่สำหรับล้างทำความสะอาด
ควรเลือกขนาดอ่างล้างให้สัมพันธ์กับการใช้งาน หากปริมาณอาหารหรือจานที่ต้องล้างมีมาก น่าจะเลือกอ่างล้างแบบหลุมคู่ที่มีขนาดใหญ่ สำหรับก๊อกน้ำควรเลือกใช้ก๊อกชนิดคอสูง ปลายก๊อกลอยพ้นจากขอบอ่าง เพื่อความสะดวก
5. ความสูงของตู้แขวนและระยะที่สะดวกในการใช้งาน
ความสูงและระยะควรสัมพันธ์กับ ผู้ใช้งาน ทุกจุดของตู้แขวนควรเอื้อมถึงได้ง่าย บานประตูควรมีความสูงไม่เกิน 90 ซม. และไม่กว้างจนเปิด-ปิดลำบาก วัสดุที่ใช้ทำเป็นตัวบานและพื้นเคาน์เตอร์ ควรเลือกชนิดที่ทำความสะอาดง่าย
เช่น สเตนเลส กระเบื้องเคลือบ กระเบื้องเซรามิค และหินแกรนิต เนื่องจากครัวเป็นห้องที่สกปรกง่าย
6. พื้นที่ปรุงอาหาร
ควรกำหนดให้อยู่ใกล้กับส่วนเตรียมอาหาร และตู้เก็บอุปกรณ์สำหรับปรุงอาหาร เช่น เครื่องปรุง หม้อ และกระทะ อีกทั้งควรมีพื้นที่รอบๆเตาทั้งสองด้านไม่น้อยกว่า 45 ซม. เพื่อใช้พักกระทะหรือหม้อ เมื่อไม่ต้องการวางบนเตา
สำหรับพื้นผิวเคาน์เตอร์ในส่วนที่อยู่ใกล้เตาควรเลือกวัสดุที่สามารถทนความร้อนได้
7. ไอแลนด์หรือเคาน์เตอร์กลางครัว
ไอแลนด์ใช้เป็นพื้นที่เตรียม และปรุงอาหาร รวมถึงใช้รับประทานในมื้อง่ายๆ ขนาดของไอแลนด์ อาจเล็กบ้างใหญ่บ้าง ตามสัดส่วนของขนาดครัว พื้นที่ส่วนนี้ควรมีระยะและความสูง ที่สามารถนั่งรับประทานอาหารได้สะดวกด้วย
ระบบน้ำในครัว
งานระบบน้ำในห้องครัวแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนน้ำใช้กับส่วนน้ำทิ้ง สำหรับบ้านบางหลัง อาจติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนเพิ่ม เพื่อให้สามารถล้างทำความสะอาดเศษอาหารที่ติดจานชามได้ง่ายขึ้น และเนื่องจากน้ำทิ้งจากครัวมีคราบไขมันอยู่มาก ทำให้ท่อน้ำทิ้งจากครัวอุดตันและส่งกลิ่นเหม็น ดังนั้นจึงควรติดตั้งบ่อดักไขมันจากท่อน้ำทิ้งที่มาจากครัว เพื่อช่วยพักน้ำเสียที่มาจากอ่างล้าง และท่อระบายน้ำในครัวก่อนจะระบายสู่ท่อน้ำทิ้งสาธารณะต่อไป
ระบบไฟฟ้าและระบบแสงสว่าง
ในการติดตั้งระบบไฟฟ้า สิ่งที่ควรรู้คือ ตำแหน่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าว ไมโครเวฟ และเตาหุงต้มไฟฟ้า เพื่อกำหนดจุดของเต้า เสียบให้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ไกลจากอุปกรณ์หลักเหล่านี้ สำหรับไฟแสงสว่างในครัวนอกจากสามารถให้แสงสว่างได้ทั่วถึงทั้งห้องแล้ว ควรติดไฟเพิ่มในบางจุด เนื่องจากหลอดไฟจากเพดานกลางห้อง มักจะทำให้เกิดเงาบนพื้นที่ใช้สอย จนเราทำงานไม่สะดวก โดยเฉพาะบริเวณเคาน์เตอร์เตรียมอาหาร โดยอาจติดหลอดไฟซ่อนใต้ตู้แขวนเหนือเคาน์เตอร์ หรือใช้ส่องเฉพาะจุด มาช่วยเพิ่มแสงสว่างในส่วนนี้
ระบบระบายอากาศ
นอกจากหน้าต่างแล้ว การระบายอากาศในครัวจำเป็นต้องมีเครื่องดูดควันและกลิ่น พร้อมพัดลมดูด อากาศ ด้วย โดยเฉพาะครัวไทย การเลือกเครื่องดูดควันควรเลือกชนิด และขนาดที่เหมาะสมกับ การใช้งาน เครื่องดูดควันที่มีกำลังมากเกินไป อาจไม่เป็นผลดีเสมอ เพราะเครื่องที่มีกำลังเยอะ นอกจากจะสิ้นเปลืองพลังงานแล้ว ยังมีเสียงดังและแรงสั่นรบกวนด้วย สำหรับการติดตั้งเครื่องดูดอากาศที่ถูกต้องนั้น ไม่ควรต่อท่อระบายควันขึ้นไปใน ช่องระหว่างฝ้า กับใต้คาน เพราะอาจมีปัญหาเรื่องคราบน้ำมัน จับตัวเป็น แหล่งเพาะเชื้อโรคบนฝ้าได้ ควรเดินท่อระบายออกนอกอาคาร ทะลุทางผนัง หรือหลังคา หากไม่สามารถเดินท่อในตำแหน่งใกล้ๆ ก็อาจทำท่อเลาะไปตามแนวตู้ แล้วไปออกผนังอีกด้านหนึ่ง สำหรับบ้านที่ไม่สามารถเดินท่อระบาย อากาศได้เลย ก็อาจเลือกใช้เครื่องดูดควันแบบหมุนเวียนอากาศภายในแทน