หลักการใช้สี

หลักการใช้สี ( Principles of Colour Using )

จากทฤษฎีสี สีที่เกิดขึ้นในวงจรสีนั้น ต่างมีคุณลักษณะต่างๆที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างสรรค์งานด้านศิลปะ งานออกแบบ หรืองานอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้มากมาย การใช้สี หรือการนำสีไปใช้ในลักษณะต่างๆ เป็นการประยุกต์หรือดัดแปลงไปจากการจัดระบบสี เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใดๆ ควรคำนึงถึงความเหมาะในด้านต่างๆ เช่น ความสวยงาม ความกลมกลืน ความน่าสนใจ และความสอดคล้อง กับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของงาน เพราะสีสามารถทำให้ผลงานนั้นดูมีคุณค่า และด้อยค่าลงได้หากใช้ไม่อย่างถูกต้อง ดังนั้นการใช้สีจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการของสี เพื่อให้ได้ผลงานที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งหลักการใช้สีมีอยู่หลายประการดังนี้

1. การใช้สีเอกรงค์ (Monochrome) หมายถึง การใช้สี สีเดียว หรือการใช้สีที่แสดงความเด่นชัดออกมาเพียงสีเดียว แต่มีการลดหลั่นกันในเรื่องน้ำหนักสี เพื่อให้เกิดความแตกต่าง วิธีการใช้สีเอกรงค์ คือจะใช้สีใดสีหนึ่งที่เป็นสีแท้(Hue)หรือมีความสด (Intensity) เป็นตัวยืนเพียงสีเดียวให้เป็นจุดเด่นของภาพ ส่วนประกอบรอบๆนั้นจะใช้สีเดียวกันแต่ลดความสดของสีให้น้อยกว่าสีหลัก สีที่นำมาเป็นส่วนประกอบอาจแบ่งน้ำหนักได้ตั้งแต่ 3 - 6 สี (ภาพที่ 7 )

Monochrome

กำหนดสีน้ำเงินเป็นสีหลักของภาพและเพิ่มน้ำหนักอ่อน-แก่ของสีให้แตกต่างกัน (ผลงานภาพพิมพ์ของ ชลสินธุ์ ช่อสกุล)

Monochrome
2. การใช้สีกลมกลืน (Harmony) หมายถึง การเคียงคู่กันของสีต่างๆ ซึ่งไปด้วยกันโดยไม่ขัดแย้ง หรือตัดกัน ความกลมกลืนของสีทำได้หลายลักษณะคือ
2.1 กลมกลืนด้วยค่าของน้ำหนักของสีๆเดียว (Total Value Harmony) คือการใช้สียืนเพียงสีเดียว แต่มีค่าหลายน้ำหนัก หรือเป็นแบบเดียวกับ สีเอกรงค์ อาจใช้การผสมสีขาวให้น้ำหนักอ่อนลง และผสมดำให้น้ำหนักเข้มขึ้น (ภาพที่ 8)

Total Value Harmony

การใช้สีกลมกลืนโดยการแบ่งน้ำหนักของสีๆเดียว เป็นการแบ่งน้ำหนักของสีด้วยการใช้สีขาวและสีดำผสมกับสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีหลัก (ผลงานของ สิราภรณ์ กัจนา)

Total Value Harmony
2.2 กลมกลืนโดยใช้สีใกล้เคียง (Symple Harmony) เป็นการใช้สีข้างเคียงกันในวงจรสีซึ่งมีลักษณะสีใกล้เคียงกัน เช่น ม่วง - ม่วงน้ำเงิน - น้ำเงิน หรือ เขียวเหลือง - เขียว - เขียวน้ำเงิน (ภาพที่ 9)
Symple Harmony
ตัวอย่างการใช้สีกลมกลืนโดยใช้ใกล้เคียงกันในวงจรสี สีที่ใช้ได้แก่ สีเขียวเหลือง, เขียว, น้ำเงิน, เขียวน้ำเงิน

Sympel Harmony
2.3 สีกลมกลืนโดยใช้สีคู่ผสม (Two Colours Mixing) หมายถึง สีคู่ใดคู่หนึ่งที่ผสมกันแล้วได้สีที่3 เช่น สีน้ำเงิน ผสมกับสีเหลืองได้สีเขียว แล้วน้ำทั้ง 3สี มาใช้ในงานเดียวกัน (ภาพที่ 10)

ภาพที่10 ตัวอย่างการใช้สีกลมกลืนโดยใช้สีคู่ผสม
เป็นการใช้สีทั้ง 3สี ได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีส้ม จากการผสมระหว่างสีแดง กับสีเหลือง
(ผลงานของ จุพงศ์ ริมวิเชียร)
Tone
2.4 สีกลมกลืนโดยใช้วรรณะของสี (Tone) หมายถึง นำสีในกลุ่มวรรณะเดียวกันมาจัดอยู่ด้วยกัน เช่น สีในวรรณะร้อน เช่น แดง ส้ม เหลือง ม่วงแดง หรือสีในวรรณะเย็น ได้แก่ น้ำเงิน ม่วง เขียว เขียวน้ำเงิน เป็นต้น (ภาพที่ 11)

Tone

ภาพที่ 11 ตัวอย่างการใช้สีกลมกลืนโดยใช้วรรณะของสี
เป็นการใช้สีในวรรณะเย็นเกือบทั้งหมด ซึ่งได้แก่ สีเขียว สีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียวน้ำเงิน ฯลฯ
(ผลงานของ ประสิทธิ์ เสาวภาคย์พงษ์)

 

3. การสร้างสภาพสีโดยรวม (Tonality)
หมายถึง การทำให้เป็นสีโดยภาพรวม หรือเป็นโครงสีส่วนใหญ่ที่ปกคลุมหรือครอบงำสีอื่นอยู่ ถึงแม้ในรายละเอียดส่วนอื่นอาจมีสีอื่นๆปะปนอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้สภาพสีโดยรวมขัดแย้งกันเกินไป การใช้สีโดยรวมช่วยให้ภาพมีความกลมกลืนและมีเอกภาพ (ภาพที่ 12)


ภาพที่ 12 ตัวอย่างการสร้างสภาพสีโดยรวม
สีโดยรวมของภาพเป็นสีน้ำเงิน แม้ในรายละเอียดจะมีสีเหลือง สีขาว ปะปนอยู่ แต่ไม่ทำให้โครงสีของภาพ ดูสับสนจนเกินไป (ผลงานของ William Harnett)

5. การใช้สีขัดกัน (Discord)
หมายถึง การกลับค่าของน้ำหนักระหว่างสีแก่กับสีอ่อน โดยการกลับสีที่แก่มาเป็นสีอ่อนด้วยการผสมสีขาว หรือทำให้เจือจางลง เพื่อให้มีน้ำหนักอ่อนกว่าอีกสีหนึ่งที่เป็นสีที่อ่อน แต่ปรับให้เป็นสีแก่โดยการผสมดำ หรือสีเข้ม เพื่อเพิ่มน้ำหนักสีให้เข้มขึ้น แล้วนำมาจัดเข้าด้วยกันเพื่อสร้างความแตกต่างหรือความขัดแย้งที่เหมาะสม ทำให้ผลงานดูมีจังหวะ น่าสนใจกว่าการใช้สีกลมกลืนซึ่งอาจดูซ้ำๆ และจืดชืด
การกลับค่าของสี มักใช้เพื่อแต่งแต้มภาพเป็นบางจุดให้เกิดความน่าสนใจ ซึ่งมักจะใช้คู่สีระหว่างสีแก่กับสีอ่อนที่มีความเข้มต่างกันอย่างชัดเจน เช่น โครงสีของภาพเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นสีอ่อน แต่กลับเพิ่มน้ำหนักสีให้เข้มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็นำสีม่วงซึ่งเป็นสีแก่มาลดค่าน้ำหนักลงให้อ่อนกว่าสีเหลือง โดยการนำมาเป็นส่วนประกอบในปริมาณน้อย จะทำให้ภาพไม่จืดชืดและน่าสนใจขึ้น (ภาพที่ 13)

Discord

ภาพที่ 13 ตัวอย่างการใช้สีขัดกัน
เป็นการกลับค่าสีของสีแก่คือแต้มสีน้ำเงินกับสีเขียวในส่วนที่เป็นจุดสว่าง (High Light) ของต้นไม้และเพิ่มน้ำหนักสีขาวเป็นเทาและน้ำตาล ทำให้ภาพดูสวยงาม (ผลงานของJohn F.Carlson.)Discord

6. ระยะของสี (Perspective of Colour)
หมายถึง การใช้สีซึ่งมีผลต่อความรู้สึกเรื่องระยะใกล้ไกลของภาพ โดยการนำสีแท้มาผสมให้สีหม่นลงโดยการทำให้เป็นสีกลาง เช่น การผสมสีตรงกันข้าม หรือสีกลาง เพื่อบ่งบอกระยะ ซึ่งโดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะใกล้ (Foreground) ระยะกลาง (Middleground) และระยะไกล (Background) โดยมีหลักการให้สีคือ สีระยะใกล้สามารถใช้สีสด หรือเข้ม กว่าระยะที่ไกลออกไป สีที่อยู่ไกลออกไปมากเท่าใดค่าน้ำหนักสีก็จะอ่อนและจะดูเป็นสีกลางมากยิ่งขึ้น เช่น ภาพทิวทัศน์ ที่บ่งบอกถึงระยะใกล้ไกล และช่วงเวลา ซึ่งสีจะเป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศให้ภาพได้เป็นอย่างดี
Perspective

ภาพที่ 14 ตัวอย่างภาพที่ใช้สีบอกระยะของภาพ
การให้สีระยะใกล้จะสด เด่นชัด กว่าสีในระยะไกลที่เริ่มจาง หม่น และมีน้ำหนักอ่อนลง
7. จุดเด่นจากสี ( Dominance)
หมายถึง การใช้สีที่ทำให้ส่วนสำคัญมีความเด่นชัดสะดุดตาเป็นแห่งแรก หรือเป็นจุดที่ดึงดูดความสนใจจากผู้ดูมากที่สุดในผลงานนั้น การทำให้เกิดจุดเด่นจะขึ้นอยู่กับการเลือกใช้สี โดยอาจเลือกใช้สีที่ส่งเสริมให้เกิดพลังสีเด่น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนพื้น และส่วนเด่นหรือจุดสนใจ ซึ่งมีหลายเทคนิควิธี เช่น การใช้สีตัดกัน หรือคู่ตรงข้ามกัน เช่น พื้นสีน้ำเงิน จุดเด่นสีเหลือง , การให้จุดเด่นเป็นสีแท้ ส่วนพื้นเป็นสีที่ถูกลดน้ำหนักลงโดยการทำให้สีหม่น สีนวล สีคล้ำ หรืออาจใช้สีดำเพื่อขับให้สีแท้ยิ่งเด่นชัดขึ้น (ภาพที่ 15)

Dominance
ภาพที่15 ตัวอย่างการทำให้ผลงานดูเด่นด้วยการใช้สีเป็นการให้สีส่วนที่เป็นจุดเด่นจะใช้สีเหลืองสด (สีแท้) ส่วนพื้นใช้สีดำและสีเข้มแต่ทำให้น้ำหนักหม่นลง (ผลงานของ Chen Chu Dian)

Dominance