แผนที่หนองบัวลำภู

  • แผนที่หนองบัวลำภู
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

หนองบัวลำภู เดิมเคยเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากจังหวัดอุดรธานีประมาณ 46 กิโลเมตร (มีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ โดยเส้นทางรถยนต์ประมาณ 568 กิโลเมตร)

จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นดินแดนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประว้ติศาสตร์ ดังหลักฐานที่ขุดค้นพบ จากแหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อยกุดค้อเมย ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ กำไลสำริด กำไลหิน แม่พิมพ์ทำจากหินทรายสำหรับใช้หล่อหัวขวานสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดแก้ว เป็นต้น อายุประมาณ 2,500 ปี ซึ่งสถานที่ขุดค้นพบอยู่ที่บ้านกุดกวางสร้อยและบ้านกุดค้อเมย อำเภอโนนสัง บริเวณเชิงเขาภูพานด้านทิศตะวันตกและเชิงเขาภูเก้าด้านทิศตะวันออก ซึ่งแหล่งโบราณคดีสองแห่งนี้มีอายุใกล้เคียงกับวัฒนธรรมบ้านเชียง

ประมาณ พ.ศ. 1100 - พ.ศ. 1500 ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูได้ค้นพบวัตถุสมัยทวารวดี เช่น ใบเสมา ที่ภูน้อย วัดพระธาตุเมืองพิณ อำเถอนากลาง และวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรรคูหา

ประมาณ พ.ศ. 1500 - พ.ศ. 1700 ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูได้รับวัฒนธรรมขอมหรือเขมร พบโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่เป็นศิปละขอมหรือเขมร เช่น ฐานวิหารศิลาแลง ศิลาจารึกวัดพระธาตุเมืองพิณ และอักษารขอมโบราณที่วัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา
สมัยสุโขทัย
พ.ศ. 1896 - พ.ศ. 1961 ในสมัยสุโขทัย ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้างุ้มฟ้าและพระเจ้าสามแสนไทย พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับอิทธิพลล้านช้างครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจนไปถึงแอ่งโคราช และกระจายชุมชนเข้ามาสู่แอ่งสกลนครจนไปถึงบริเวณพระธาตุพนม (จากพงศาวดารล้านช้าง) พื้นที่ในจังหวัดหนองบัวลำภูจึงได้รับอิทธิพลล้านช้างซึ่งแพร่หลายในขณะนั้นในบริเวณแอ่งสกลนคร และรับศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์ (นิกายเถรวาท) เป็นศาสนาประจำถิ่นตามผู้ปกครองอาณาจักร
สมัยอยุธยา
ประมาณ พ.ศ. 2106 พระไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (กรุงเวียงจันทน์) ได้นำผู้คนอพยพมาอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ดังหลักฐานที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกและได้สร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในวัดถ้ำสวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา และนำไพร่พลมาบูรณะสร้างบ้านแลงเมืองหนองบัวลุ่มภูขึ้นใหม่อีกครั้งที่ริมหนองบัว (หนองซำซ้าง) ซึ่งเป็นเมืองเก่าสมัยขอมเรืองอำนาจ พระไชยเชษฐาธิราชได้สร้างพระพุทธรูป วิหาร และขุดบ่อน้ำในบริเวณวัดศรีคูณเมือง และยกฐานะเป็นเมือง "จำปานครกาบแก้วบัวบาน" มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเวียงจันทน์ คนทั่วไปนิยมเรียกว่า "หนองบัวลุ่มภู"

ปี พ.ศ. 2117 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ให้แก่พม่าสมัยพระเจ้าหงสาวดี[ต้องการอ้างอิง] สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้ยกกองทัพช่วยพม่ารบกับกรุงเวียงจันทน์ โดยมีสมเด็จพระนเรศวรตามเสด็จพระราชบิดาช่วยรบ เนื่องจากพระไชยเชษฐาธิราชได้หายสาบสูญไปในระหว่างการรบปราบญวน เวียงจันทน์เกิดการแย่งชิงราชสมบัติจึงได้ถือโอกาสเข้าตีกรุงเวียงจันทน์ สมเด็จพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศวร นำกองทัพเสด็จประทับแรมที่บริเวณหนองบัว เนื่องจากมีทัศนียภาพที่สวยงามและมีแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคในบริเวณนั้น สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงพระประชวรด้วยไข้ทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีได้รับข่าวจึงอนุญาตให้สมเด็จพระนเรศวรเดินทางกลับเพื่อรักษาพระองค์

ประมาณปี พ.ศ. 2302 ตรงกับสมัยพระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา พระวอซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระวรราชภักดีและพระตา มีภูมิลำเนาเดิมที่บ้านหินโงม เป็นเสนาบดีของพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์ มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอนุวงษ์ไทธิราช เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ฝ่ายนอกของกษัตริย์กรุงเวียงจันทน์ มีเรื่องขัดใจกับพระเจ้าศิริบุญสารผู้เป็นโอรส พระวอและพระตาได้อพยพไพร่พลข้ามลำน้ำโขงมาตั้งภูมิลำเนา บูรณะสร้างบ้านแปลงเมืองที่ "จำปานครกาบแก้วบัวบาน"
สมัยธนบุรี
ประมาณ พ.ศ. 2310 ตรงกับต้นสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระเจ้าศิริบุญสารแห่งเมืองเวียงจันทน์ยกทัพมาตีพระวอพระตาที่เมือง "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน"(ชื่อหนองบัวลำภูในสมัยนั้น) ทำการสู้รบกันที่ช่องน้ำจั่น(น้ำตกเฒ่าโต้) บนภูพานคำใช้เวลาอยู่ประมาณ 3 ปี ฝ่ายเวียงจันทน์ขอกำลังจากพม่ามาช่วยรบ จึงสามารถตีเมืองแตกได้ พระตาถูกข้าศึกฆ่าในสนามรบ ส่วนพระวออพยพไพร่พลไปขอพึงบารมีเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ต่อมาได้แยกมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่ดอนมดแดง(ปัจจุบันคือจังหวัดอุบลราชธานี) แล้วขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้ากรุงธนบุรี
ปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าศิริบุญสารได้ยกกองทัพมารุกรานพระวอ และปราบพระวอได้ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบรีทราบ โปรดสั่งให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพไปมาช่วยพระวอ แล้วยกกองทัพติดตามเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์จนได้ชัยชนะ และได้นำพระแก้วมรกตซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนำไปจากเมืองเชียงใหม่กลับมาคืนสู่เมืองไทยดังเดิม พระยาจักรีได้รับบำเหน็จความชอบเป็น "เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก" กรุงเวียงจันทน์ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของไทยในฐานะเมืองประเทศราช และเมือง "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" จึงได้ขึ้นกับราชอาณาจักรไทยตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
สมัยรัตนโกสินทร์

ปี พ.ศ. 2369 ในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงษ์แห่งเวียงจันทน์ได้ก่อกบฏ ยกทัพมาบุกยึดเมืองนครราชสีมา ทางกรุงเทพได้ส่งกองทัพมาปราบ ฝ่ายเจ้าอนุวงษ์ได้ถอยร่มไปตั้งรับอยู่ที่เมือง"หนองบัวลุ่มภู"ต่อสูรบกันเป็นสามารถ และติดตามจับเจ้าอนุวงษ์ได้ที่เมืองเวียงจันทน์ แล้วนำตัวไปพิจารณาโทษที่กรุงเทพด้วยการทรมานและประจานอยู่หลายวันจนเสียชีวิตในกรงขัง

ปี พ.ศ. 2433 สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯให้จัดระเบียบปกครองเมืองทางลุ่มแม่น้ำโขงใหม่ โดยให้ข้าหลวงเมืองหนองคายบังคับบัญชา ช่วงนี้เมืองหนองบัวลำภูขึ้นอยู่กับเมืองหนองคาย ต่อมาได้โปรดเกล้าฯให้แต่งข้าหลวงใหญ่ล้วนเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 พระองค์ในปี พ.ศ. 2434 คือ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เรียกว่า "ข้าหลวงเมืองลาวกาว" เป็นข้าหลวงประทับ ณ เมืองอุบลราชธานี และในปี พ.ศ. 2436 กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่ประทับ ณ เมืองอุดรธานี เรียกว่า "ข้าหลวงเมืองลาวพวน" และกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญประทับ ณ เมืองอุบลราชธานี เรียกว่า "ข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว" หนองบัวลำภูขึ้นสังกัดกับเมืองลาวพวนและแต่งตั้ง "พระวิชดยดมกมุทเขต" มาครองเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองเอกและเปลี่ยนชือเมืองใหม่ว่า "เมืองกมุทธาสัย" และเป็นข้าหลวงคนสุดท้ายของเมือง

ปี พ.ศ. 2443 รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เปลี่ยนชือมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดรและรวมผังเมืองต่างๆ ในมณลอุดรเป็น 5 บริเวณ ได้แก่ บริเวณบ้านหมากแข้ง บริเวณธาตุพนม บริเวณสกลนคร บริเวณพาชี บริเวณน้ำเหือง เมืองกมุทธาสัยได้ถูกรวมอยู่ในบริเวณบ้านหมากแข้งประกอบด้วย 7 เมืองคือ เมืองหมากแข้ง หนองคาย หนองหาน กมภวาปี กมุทะาสัย โพนพิสัย และรัตนวาปี[9] ตั้งที่ว่าการอยู่ที่บ้านหมากแข้ง

ปี พ.ศ. 2449 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองกมุทธาสัยมาเป็น "เมืองหนองบัวลำภู"ขึ้นกับบริเวณบ้านหมากแข้ง

จังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งอยู่บนที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อยู่ในเขตที่ราบลุ่มเชิงเขาภูพานคำ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงสลับกับแนวเขาด้านทิศตะวันออก มีภูเขาและป่าติดต่อกันตั้งแต่อำเภอสุวรรณคูหา ทอดยาวไปตามอำเภอเมืองหนองบัวลำภู จนถึงแนวเทือกเขาภูพานในเขตอำเภอโนนสังทางด้านจังหวัดขอนแก่น พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวจึงเป็นที่ราบสูง และค่อยๆ ลาดเอียงไปทางอำเภอนากลาง อำเภอศรีบุญเรือง ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเหมาะกับการทำนาโดยทั่วไป
ทิศเหนือ จดจังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันออก จดจังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันตก จดจังหวัดเลย
ทิศใต้ จดจังหวัดขอนแก่น

การปกครองแบ่งออกเป็น 6 อำเภอ 59 ตำบล 636 หมู่บ้าน

  1. อำเภอเมืองหนองบัวลำภู
  2. อำเภอนากลาง
  3. อำเภอโนนสัง
  4. อำเภอศรีบุญเรือง
  5. อำเภอสุวรรณคูหา
  6. อำเภอนาวัง

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-หนองบัวลำภู

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 107 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี ถึงจังหวัดหนองบัวลำภู รวมระยะทาง 608 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถโดยสารธรรมดาและรถปรับอากาศที่วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-หนองบัวลำภู ของบริษัทชุมแพทัวร์ โทร. 272-5261 ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารธรรมดาและปรับอากาศ ซึ่งเป็นรถโดยสารที่วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-อุดรธานี จากนั้นใช้รถโดยสารที่วิ่งระหว่างอุดรธานี-หนองบัวลำภู รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ โทร 936-2852-66

หนองบัวลำภู-อุดรธานี รถออกเวลา 06.00 น. จนถึง 19.30 น. (รถโดยสารธรรมดา)
หนองบัวลำภู-เลย รถออกเวลา 06.00 น. จนถึง 19.30 น. (รถโดยสารธรรมดา)
หนองบัวลำภู-กรุงเทพฯ รถออกเวลา 19.30 น. (รถปรับอากาศ บริษัทชุมแพทัวร์ โทร. (042) 311051)
หนองบัวลำภู-เชียงใหม่ รถออกเวลา 08.20 น. , 17.45 น. (รถธรรมดา) และเวลา 21.20 น. รถปรับอากาศ มี 2 บริษัท คือ บริษัทหนองบัวลำภูเดินรถ โทร. (042) 311057, 311051 และบริษัทจักรพงษ์ทัวร์ โทร. (042) 221121, 247787

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดขบวนรถด่วนและรถเร็ว ออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ทุกวัน เป็นรถไฟที่วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-อุดรธานี จากนั้นใช้รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างอุดรธานี-หนองบัวลำภู รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

ทางเครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดบริการเครื่องบินรับส่งผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ-อุดรธานี ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ถนนหลานหลวง กรุงเทพฯ โทร. 02-356-1111 จังหวัดอุดรธานี โทร. (042) 243222 และ 246697 หรือที่สนามบิน โทร. (042) 246567 และ 246644 บริการขนส่งภายในจังหวัด มีรถสองแถวบริการวิ่งรอบๆ ตัวเมืองหนองบัวลำภู พร้อมทั้งรถเมล์ประจำทางวิ่งระหว่างตัวจังหวัดไปยังอำเภอต่างๆ ครบทุกอำเภอ

อำเภอเมืองหนองบัวลำภู

  • งานบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกาชาดหนองบัวลำภู (จัดเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 18 - 27 มกราคม บริเวรสนามนเรศวร หน้าศูนย์ราชการอำเภอเมือง)
  • เทศกาลน้ำตกเฒ่าโต้ (จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีช่วงเดือนกันยายน บริเวณวนอุทยานเฒ่าโต้)
  • เทศกาลเที่ยวหอยหิน กินลำไย ไหว้หลวงปู่ขาว (จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีช่วงเดือนสิงหาคม บริเวณชุมชนบ้านห้วยเดื่อ ตำบลโนนทัน)

อำเภอนากลาง

  • งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช (สนามหน้าศูนย์ราชการอำเภอนากลาง)

อำเภอโนนสัง

  • เทศกาลกินปลา (จัดขึ้นทุกปีบริเวณเทศบาลโนนสัง)
  • ประเพณีแข่งเรือยาว (จัดขึ้นทุกปีบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์)
  • ประเพณีบุญผะเหวด (จัดขึ้นทุกปีบริเวณเทศบาลโนนสัง)

อำเภอศรีบุญเรือง

  • งานบุญบั้งไฟ (จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน บริเวณศูนย์ราชการอำเภอศรีบุญเรือง)

อำเภอสุวรรณคูหา

  • งานบุญข้าวจี่ยักษ์ (จัดขึ้นทุกปีช่วงเดือนเมษายน บริเวณเทศบาลตำบลสุวรรณคูหาและถ้ำสุวรรณคูหา)

อำเภอนาวัง

  • งานเทศกาลขึ้นเขาไหว้พระถ้ำเอราวัณ (จัดเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 12 - 16 เมษายน บริเวณถ้ำเอราวัณ)

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

วัดถ้ำกลองเพล เป็นวัดป่าที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ตั้งอยู่เชิงเขาภูพาน ห่างจากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข 210 (หนองบัวลำภู-อุดรธานี) ไป 13 กิโลเมตร จากนั้นแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เดิมสันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยขอมเข้ามาครอบครองแผ่นดินแห่งนี้ แต่ไม่มีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ใด ต่อมาเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2501 พระอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย พระวิปัสสนากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ได้อาศัยวัดแห่งนี้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐาน โดยใช้พื้นที่ที่เกิดจากหมู่ก้อนหินขนาดใหญ่ 3-4 ก้อน ที่มีหลืบและชะโงกหิน ก่อเป็นหลังคาคอนกรีตเชื่อมถึงกัน ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นกลายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ สามารถจุคนได้หลายร้อยคน เพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่นั่นจนกระทั่งมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2526 ภายในบริเวณวัดบรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ มีเนื้อที่กว้างขวาง ปกคลุมไปด้วยแมกไม้ ป่าเขียว และสวนหินธรรมชาติรูปร่างประหลาดดูสวยงามกลาดเกลื่อนวัด มีถ้ำซึ่งภายในถ้ำมีกลองโบราณสองหน้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กลองเพล” ภายในถ้ำมีรูปปั้นของหลวงปู่ขาว ตามซอกหินภายในถ้ำมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่หลายองค์ ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปปางไสยยาสน์ พระพุทธรูปปัญฑรนิมิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่จำหลักลงในก้อนหิน และมีพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าถ้ำกลองเพล จากวัดถ้ำกลองเพลไม่ไกลนักมีถนนราดยาง ลัดเลาะไปตามแนวป่าและหมู่ก้อนหินรูปทรงแปลกๆ เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ก็จะถึงอนุสรณ์สถานของหลวงปู่ขาว ที่ประกอบด้วย
- พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารของหลวงปู่ขาว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ขาว ใช้เป็นที่ระลึกและสักการะบูชาของศาสนิกชนทั่วไป
- กุฎิเก่าของหลวงปู่ขาว เป็นเรือนไม้หลังเล็กๆ ตั้งอยู่กลางดงไม้ บรรยากาศร่มรื่น ส่วนกุฏิใหม่สร้างเป็นเรือนทรงไทยทันสมัยหลังใหญ่
- พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ขาว สร้างขึ้นในรูปทรงของก้อนหินเรียงกัน 3 ก้อน เพื่อให้เข้ากับภูมิประเทศของวัดถ้ำกลองเพล ซึ่งเต็มไปด้วยสวนหิน รอบๆ บริเวณตกแต่งด้วยไม้ดอกและสนามหญ้าสีเขียวขจี ภายในพิพิธภัณฑ์มีหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ประดิษฐานอยู่ในท่านั่ง ห้องข้างๆ ยังมีเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ขาวตั้งแสดงไว้ด้วย
- เจดีย์หลวงปู่ขาว เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อใช้บรรจุอัฐิหลวงปู่ขาว สร้างอยู่บนลานหินมีบันไดเป็นทางเดินขึ้นไปสู่องค์เจดีย์
- มณฑปหลวงปู่ขาว เป็นมณฑปจตุรมุขที่หลวงปู่ขาวสร้างไว้ครั้งยังมีชีวิตอยู่เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีสังฆกรรม รอบๆ บริเวณ เงียบสงบและร่มรื่น เจดีย์หลวงปู่ขาวและมณฑปหลวงปู่ขาว ตั้งอยู่บนเส้นทางเดียวกันกับเส้นทางที่ไปวัดถ้ำกลองเพล แต่จะถึงก่อนวัดถ้ำกลองเพล โดยมีทางแยกทางซ้ายมือเข้าไปประมาณ 300 เมตร
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จยกกองทัพมาที่ตำบลหนองบัวลำภู เมื่อ พ.ศ. 2117 เพื่อไปช่วยพระเจ้ากรุงหงสาวดี ที่กรุงศรีสัตตนาคนหุต (เมืองเวียงจันทน์) เนื่องจากขณะนั้นไทยเป็นเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดี แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรด้วยโรคไข้ทรพิษเสียก่อน พระเจ้ากรุงหงสาวดีจึงให้ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณสวนสาธารณะริมหนองบัว หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี ทางจังหวัดจะจัดให้มีงานเฉลิมฉลองและมีพิธีถวายสักการะบวงสรวงดวงวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วนอุทยานน้ำตกเฒ่าโต้ ตั้งอยู่ริมถนนหนองบัวลำภู-อุดรธานี ทางหลวงหมายเลข 210 จากตัวเมืองไปทางจังหวัดอุดรธานี ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนที่ร่มรื่นด้วยป่าไม้นานาพันธุ์ และโขดหินรูปต่างๆ บริเวณใกล้เคียงมีศาลเจ้า “ปู่หลุบ” ซึ่งเป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวหนองบัวลำภู และผู้ที่เดินทางผ่านมา ด้วยความเชื่อที่ว่ารถทุกคันที่ผ่านศาลเจ้าปู่หลุบควรจะบีบแตร และผู้คนที่นั่งบนรถจะยกมือไหว้ศาลเจ้าปู่หลุบเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ และเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง
ศาลหลักเมืองพระวอ พระตา อยู่ห่างจากถนนสาย 210 หนองบัวลำภู-อุดรธานี ประมาณ 100 เมตร ศาลนี้สร้างขึ้นเพื่อให้ชาวหนองบัวลำภูได้เคารพสักการะพระผู้สร้างเมือง ซึ่งหมายถึง พระวอ และพระตา อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตา ศาลหลักเมืองได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2518 สร้างเสร็จและประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519
ศูนย์หัตถกรรมปั้นหม้อบ้านโค้งสวรรค์ ห่างจากตัวจังหวัดหนองบัวลำภูไปทางจังหวัดอุดรธานีประมาณ 17 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 210 เป็นหมู่บ้านที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาเป็นเครื่องใช้เครื่องประดับทั้งหมู่บ้าน โดยชาวบ้านที่อพยพมาจากบ้านวังถั่ว อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ด้วยกรรมวิธีการผลิตเป็นศิลปหัตถกรรมแบบดั้งเดิม
ศูนย์พัฒนาอาชีพวัดสว่างศิลา ตั้งอยู่ที่บ้านนาล้อม ตำบลหัวนา ระยะทางห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภู ตามทางหลวงหมายเลข 228 สายหนองบัวลำภู-ศรีบุญเรือง ประมาณ 19 กิโลเมตร ก่อตั้งโดยแม่ชีทองเพชร ขันตีกลม ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นบ้านนาล้อม ศูนย์พัฒนาอาชีพวัดสว่างศิลาจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาการอพยพแรงงานของคนหนุ่มสาวที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวงหรือต่างถิ่น โดยรวบรวมกลุ่มผู้สนใจในอาชีพต่างๆ เข้ามาฝึกอบรมที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ ซึ่งมีหลายอาชีพ เช่น งานศิลปประดิษฐ์ กรอบรูปวิทยาศาสตร์ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา ซ่อมเครื่องยนต์ขนาดเล็ก ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม งานตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้มีกฏระเบียบที่เคร่งครัด ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนต้องงดอบายมุขทุกชนิด การสอนเน้นวิชาชีพเป็นหลักแล้วสอดแทรกจริยธรรมผสมผสานเข้าไป ศูนย์ฯ จะมีสวัสดิการเป็นอย่างดี เช่น มีที่พักและอาหารให้รับประทาน เมื่อเลิกปฏิบัติงานประจำวันต้องสวดมนต์ไหว้พระและศึกษาธรรมพื้นฐานทุกวัน นอกจากจะเป็นศูนย์พัฒนาอาชีพแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นฝีมือของสมาชิก การเดินทางไปศูนย์พัฒนาอาชีพวัดสว่างศิลานั้น จากสถานีขนส่งจังหวัดอุดรธานี จะมีรถประจำทางอุดรธานี-ชุมแพ สาย 532 ออกทุกครึ่งชั่วโมง ไปลงที่หน้าศูนย์พัฒนาอาชีพวัดสว่างศิลา กิโลเมตรที่ 19 ระหว่างหนองบัวลำภู และอำเภอศรีบุญเรือง
หนองบัว เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวลำภู มีน้ำขังตลอดปี เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในยามเย็นของชาวหนองบัวลำภู ด้านหลังของหนองบัวจะมองเห็นแนวเขาภูพานคำทอดยาวดูสวยงาม

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอโนนสัง

  โนนวัดป่า เป็นโบราณสถานเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสัง ห่างจากจังหวัดหนองบัวลำภูตามทางหลวงหมายเลข 2146 สายหนองบัวลำภู-อำเภอโนนสัง ประมาณ 20 กิโลเมตร ที่โนนวัดป่านี้สันนิษฐานว่าเคยเป็นวัดเก่า ทั้งนี้เนื่องจากขุดพบพรพุทธรูปปางนาคปรกทำด้วยศิลา และมีร่องรอยโบราณสถานโบราณวัตถุอยู่รอบบริเวณนั้น ตามหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่าเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุศิลปะขอมสมัยเรืองอำนาจ
อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 ครอบคลุมพื้นที่ 322 ตารางกิโลเมตร โดยมีที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ เชิงเขาภูพานคำ เขตอำเภอโนนสัง มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ 2 แห่ง คือ ภูพานคำและภูเก้า
-ภูพานคำ เป็นเทือกเขาทอดยาวจากเหนือสู่ใต้ จากอำเภอเมืองหนองบัวลำภูจนถึงเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเทือกเขาที่แบ่งเขตจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดขอนแก่น ภูพานคำเป็นทิวเขาด้านตะวันออกของลุ่มน้ำพอง และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ตอนบนมีทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งนักท่องเที่ยวมักจะพักแรมโดยเต๊นท์ หรือที่บ้านพักของอุทยานฯ หรือที่ศาลาพักแรมของกรมประชาสงเคราะห์ บริเวณทะเลสาบท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ภูพานคำนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและเป็นแหล่งตกปลาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดด้วย
-ภูเก้า ประกอบด้วยภูเขา 9 ลูก คือ ภูฝาง ภูขุมปูน ภูหัน ภูเมย ภูค้อหม้อ ภูชั้น ภูเพราะ ภูลวก และภูวัด ภูทั้ง 9 ลูกนี้มีความสลับซับซ้อนมาก มีป่าไม้และสัตว์ป่านานาชนิด มีถ้ำ มีน้ำตก ลานหินลาดมากมาย มีหินลักษณะแปลกๆ คล้ายปราสาท ถ้ำพลาไฮมีภาพเขียนรูปฝ่ามือและภาพแกะสลักของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีศาลาบนยอดหินที่เรียกว่า หอสวรรค์ ไว้ชมวิว นอกจากนี้ยังมีวัดพระพุทธบาทภูเก้า ซึ่งมีรอยเท้าคนและสุนัขขนาดใหญ่สลักบนหินอันเกี่ยวโยงกับนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระสุพรหมวิโมขา กับหมาเก้าหาง” ภายในวัดพระพุทธบาทภูเก้ายังมีถ้ำมึ้ม และถ้ำอาจารย์สิม ซึ่งภายในถ้ำมีภาพเขียนสีและภาพสลักตามผนังถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ สามารถเดินทางไปได้ 2 ทาง คือ เส้นทางที่ 1 ตามเส้นทางสายขอนแก่น-เขื่อนอุบลรัตน์ จากตัวเมืองขอนแก่นถึงตลาดอำเภออุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ต่อด้วยรถยนต์โดยสารประจำทางสายเขื่อนอุบลรัตน์-โนนสัง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เส้นทางที่ 2 จากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข 2146 สายหนองบัวลำภู-โนนสัง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านโสกจาน จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางสายบ้านโสกจาน-เขื่อนอุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ สถานที่พักติดต่อได้ที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ สำนักงานป่าไม้จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทร. (043) 237971 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร.579-7223, 579-5734
แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์บ้านกุดคอเมย และบ้านกุดกวางสร้อย เป็นแหล่งที่ขุดค้นพบสิ่งของเครื่องใช้ โบราณวัตถุและศิลปะวัตถุ ลักษณะของภาชนะเครื่องปั้นดินเผาคล้ายกับวัฒนธรรมบ้านเชียง แหล่งโบราณคดีบ้านกุดคอเมย ตั้งอยู่ที่ตำบลกุดดู่ บริเวณเชิงเขาภูพานด้านทิศตะวันตก ส่วนแหล่งโบราณคดีบ้านกุดกวางสร้อย ตั้งอยู่เชิงเขาภูเก้าด้านทิศตะวันออก โบราณวัตถุประเภทเด่นๆ ที่ชาวบ้านขุดพบเป็นจำนวนมากที่แหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่งได้แก่ โครงกระดูกคน ภาชนะดินเผา กำไลสำริด กำไลหิน แม่พิมพ์ทำจากหินทรายสำหรับใช้หล่อหัวขวานสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดแก้ว เป็นต้น จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า แหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่ง มีวัฒนธรรมที่มีลักษณะเหมือนกันหรืออยู่ในยุคสมัยเดียวกัน
การเดินทางไปยังแหล่งโบราณคดีทั้ง 2 แห่ง แหล่งโบราณคดีบ้านกุดคอเมย ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2146 สายหนองบัวลำภู-โนนสัง ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร ถึงบ้านหนองแวงแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีบ้านกุดกวางสร้อย ใช้เส้นทางการเดินทางเดียวกันกับทางไปแหล่งโบราณคดีบ้านกุดคอเมย ถึงบ้านหนองแวงแล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนากลาง

  ถ้ำเอราวัณ เป็นถ้ำขนาดใหญ่มีบันไดเรียงคดโค้งไปมา จากเชิงเขาเบื้องล่างขึ้นสู่ปากถ้ำกว่า 600 ขั้น มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ อยู่บริเวณปากถ้ำ มองเห็นได้เด่นชัดจากระยะไกล ภายในถ้ำเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ที่เป็นสถานที่แห่งตำนานนิยายพื้นบ้านเรื่อง “นางผมหอม” มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ถ้ำเอราวัณตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 13 ตามทางหลวงหมายเลข 210 สายหนองบัวลำภู-เลย ประมาณ 45 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสุวรรณคูหา

   ถ้ำสุวรรณคูหา ตั้งอยู่ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา บ้านคูหาพัฒนา หมู่ที่ 7 ตำบลนาดี ภายในถ้ำมีโบราณวัตถุ และรูปพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งเมืองเวียงจันทน์ประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำ การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 210 สายหนองบัวลำภู-วังสะพุง แล้วแยกขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2097 ถึงอำเภอสุวรรณคูหา จากนั้นใช้ถนนพระไชยเชษฐาไปประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงโรงเรียนบ้านดงยางนาตาแหลว แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร
แหล่งโบราณคดีภูผายา ตั้งอยู่ทางเหนือของบ้านนาเจริญ ตำบลดงมะไฟ เป็นภูเขาหินปูนที่แยกตัวออกมาจาก เทือกเขาภูพานมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏตามผนังถ้ำเป็นจำนวนหลายส่วน ส่วนแรกบริเวณ “ถ้ำล่าง” พบกลุ่มภาพเขียนสีแดงบนผนังถ้ำผิวเรียบยาวประมาณ 5 เมตร ประกอบด้วยลวดลายเรขาคณิต ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ส่วนที่สองคือ “ถ้ำบน” พบภาพเขียนสีแดงกระจายอยู่เป็นกลุ่มๆ ที่เห็นชัดเจนเป็นภาพสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ภาพคนภาพสัตว์เลื้อยคลาน ภาพโครงร่างสัตว์ขนาดใหญ่ นอกจากนั้นบริเวณถ้ำผายา ยังมีสำนักสงฆ์อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านตั้งอยู่ด้วย สันนิษฐานว่าภาพเขียนถ้ำภูผายามีอายุระหว่าง 2,000-3,000 ปี ใกล้เคียงกับอายุของภาพเขียนที่ค้นพบที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ลักษณะภาพเขียนคล้ายคลึงกับที่พบที่ผาลาย มณฑลกวางสี ประเทศจีน การเดินทางไปแหล่งโบราณคดีภูผายา จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 210 สายหนองบัวลำภู-วังสะพุง จากนั้นแยกขวาเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2097 ถึงอำเภอสุวรรณคูหา แล้วใช้รถโดยสารประจำทางท้องถิ่นสายอำเภอสุวรรณคูหา-บ้านนาเจริญ

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่หนองบัวลำภู