แผนที่ตรัง

  • แผนที่ตรัง
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

ตรัง หรือเมืองทับเที่ยง เป็นจังหวัดท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของภาคใต้ มีเนื้อที่ประมาณ 4,941 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเล็กเนินน้อย สลับกับที่ราบ ทำให้สันนิษฐานกันว่าชื่อตรัง มาจากคำว่า “ตรังคะ” ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่าลูกคลื่น ตามสภาพพื้นที่ของจังหวัดตรัง ขณะที่อีก ข้อสันนิษฐานหนึ่ง บอกว่า ตรังมาจาก “ตรังเค” ภาษามลายู แปลว่า “รุ่งอรุณ” หรือ “สว่างแล้ว” เพราะสมัยก่อน เรือสินค้าจากมลายูจะแล่นมาถึงตรัง ตอนสว่างพอดีความเป็นมาของเมืองตรังนั้นเริ่มต้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยพบหลักฐานคือจารึกวัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งบอกไว้ว่า ตรังเป็นหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช และหลักฐานอื่นๆ ที่พบในเวลาต่อมา ทำให้สามารถแบ่งยุคสมัยของวิวัฒนาการเมืองตรังได้เป็น 3 ช่วง คือ1. สมัยตั้งเมืองที่ตำบลควนธานี (พ.ศ. 2354-2436) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พบหลักฐานจากทำเนียบกรมการเมืองตรังว่า พระอุไภยธานี ผู้ว่าราชการเมืองตรังคนแรก ได้สร้างหลักเมืองไว้ที่ควนธานี (อยู่ในอำเภอกันตังในปัจจุบัน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ 8 กิโลเมตร) 2. สมัยตั้งเมืองที่กันตัง (พ.ศ. 2436-2458) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคนี้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ท่านเห็นว่าที่ตั้งเมืองเดิมคือควนธานีนั้นอยู่ห่างจากฝั่งทะเลมาก จึงกราบบังคมทูลขอย้ายที่ตั้งเมืองมาอยู่ที่ตำบลกันตัง เพราะที่นี่เป็นชุมชนใหญ่ มีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในช่วงที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเป็นเจ้าเมืองนี้เองที่ตรังได้รับการพัฒนาไปอย่างมาก เช่น มีการนำต้นยางพาราจากมลายูมาปลูกเป็นครั้งแรก มีการตัดถนนจากตรังไปพัทลุง สร้างท่าเรือเพื่อรองรับการค้าขายกับต่างชาติ ฯลฯ นับเป็นยุครุ่งเรืองอย่างยิ่งเลยทีเดียว3. สมัยตั้งเมืองที่ทับเที่ยง (พ.ศ. 2458 จนถึงปัจจุบัน) ล่วงมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองกันตังมีพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยจากอริราชศัตรู อีกทั้งมีการระบาดของไข้อหิวาตกโรค จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ตำบลทับเที่ยง ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองตรังในปัจจุบันนั่นเอง

จังหวัดตรังแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ ได้แก่

อำเภอเมืองตรัง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเกา อำเภอวังวิเศษ อำเภอนาโยง อำเภอรัษฎา และอำเภอหาดสำราญ

ทิศเหนือ จดนครศรีธรรมราช
ทิศใต้ จดสตูลและมหาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันออก จดพัทลุง
ทิศตะวันตก จดกระบี่และมหาสมุทรอินเดีย

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ตรัง

การเดินทางโดยรถยนต์ ตรังอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 828 กิโลเมตร การเดินทางโดยรถยนต์ ทำได้ 2 ทางคือ
1. ใช้เส้นทางจากกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี ระยะทางประมาณ 617 กิโลเมตร และตรงมาตามทางหลวงแผ่นดินสาย 41 สู่อำเภอทุ่งสง ระยะทาง 133 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินสาย 403 สู่ห้วยยอดระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินสาย 4 อีก 28 กิโลเมตร ถึงตรัง รวมเป็นระยะทาง 828 กิโลเมตร
2. ใช้เส้นทางจากกรุงเทพฯ มาตามทางหลวงแผ่นดินสาย 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ระยะทาง 90 กิโลเมตรและแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินสาย 4 (เพชรเกษม) จนถึงชุมพร แยกเข้าระนอง พังงา กระบี่ ตรัง รวมระยะทาง 1,020 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

การเดินทางโดยรถประจำทาง จากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี (ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) มีรถโดยสารประจำทางทั้งธรรมดาและปรับอากาศจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดตรังทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ 434-7192, 435-1200 (สำหรับรถปรับอากาศ) และโทร. 434-5557-8 (สำหรับรถโดยสารธรรมดา) การเดินทางโดยเครื่องบิน บริษัทการบินไทย (สายในประเทศ) มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ผ่านภูเก็ตไปยังจังหวัดตรังทุกวัน และในวันอังคาร, ศุกร์, อาทิตย์ มีเที่ยวบินตรงไปยังจังหวัดตรัง รายละเอียดและสำรองที่นั่งติดต่อบริษัทการบินไทย โทร. 02-356-1111

ทางรถไฟ

การเดินทางโดยรถไฟ สำหรับการเดินทางโดยรถไฟ มีรถเร็วออกจากสถานีกรุงเทพฯ ถึงสถานีตรังทุกวันวันละ 2 เที่ยว โดยออกจากกรุงเทพฯ เวลา 17.05 น. และ 18.30 น. ถึงตรังเวลา 07.35 น. และ 09.50 น. ตามลำดับ รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ หน่วยการเดินทาง สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

การเดินทางโดยเครื่องบิน บริษัทการบินไทย (สายในประเทศ) มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ผ่านภูเก็ตไปยังจังหวัดตรังทุกวัน และในวันอังคาร, ศุกร์, อาทิตย์ มีเที่ยวบินตรงไปยังจังหวัดตรัง รายละเอียดและสำรองที่นั่งติดต่อบริษัทการบินไทย โทร. 02-356-1111

การเดินทางภายในตรัง

ในตัวเมืองตรังมีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบ ทั้งรถตุ๊กตุ๊กหน้ากบ รถสองแถว รถโดยสารประจำทาง ฯลฯ สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งตรัง โทร. 0 7521 5718

นอกจากเส้นทางบนบก การเดินทางทางเรือก็เป็นอีกเส้นทางสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว เพราะตรังเป็นเสมือนศูนย์กลางเดินทางไปท่องเที่ยวในหมู่เกาะต่างๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีน่านน้ำต่อเนื่องกัน

หลายท่าเรือของตรังมีเรือโดยสารให้บริการไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ท่าเรือปากเมง ท่าเรือหาดยาว เป็นต้น

ระยะทางจากอำเภอเมืองตรังไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอเมือง - อำเภอห้วยยอด 28 กิโลเมตร
อำเภอเมือง - อำเภอกันตัง 24 กิโลเมตร
อำเภอเมือง - อำเภอย่านตาขาว 20 กิโลเมตร
อำเภอเมือง - อำเภอปะเหลียน 44 กิโลเมตร
อำเภอเมือง - อำเภอสิเกา 33 กิโลเมตร
อำเภอเมือง - อำเภอวังวิเศษ 60 กิโลเมตร
อำเภอเมือง - อำเภอนาโยง 12 กิโลเมตร
อำเภอเมือง - กิ่งอำเภอรัษฎา 57 กิโลเมตร
อำเภอเมือง - กิ่งอำเภอหาดสำราญ 59 กิโลเมตร

การเดินทางจากตรังไปจังหวัดใกล้เคียง มีบริการรถโดยสารประจำทาง และรถยนต์รับจ้าง จากตัวเมืองตรังไปจังหวัดใกล้เคียง ตามระยะทางดังต่อไปนี้
ตรัง - ภูเก็ต 312 กิโลเมตร
ตรัง - พังงา 221 กิโลเมตร
ตรัง - กระบี่ 131 กิโลเมตร
ตรัง - หาดใหญ่ 148 กิโลเมตร
ตรัง - พัทลุง 56 กิโลเมตร
ตรัง - สุราษฎร์ธานี 226 กิโลเมตร
ตรัง - นครศรีธรรมราช 123 กิโลเมตร
ตรัง - ทุ่งสง 76 กิโลเมตร
ตรัง - สตูล 140 กิโลเมตร


ประเพณีถือศีลกินเจ เป็นงานประเพณีดั้งเดิมของชาวจีน จะมีขึ้นในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน (ประมาณเดือนตุลาคม) ในวันแรกจะจัดขบวนแห่เจ้าอย่างมโหฬารไปรอบๆ เมือง มีพิธีไหว้เจ้าและลุยไฟ และจะมีชาวจีนนุ่งขาวห่มขาวไปถือศีลกินเจตามศาลเจ้าต่างๆ เป็นเวลา 9 วันเต็ม
งานเทศกาลขนมเค้ก เป็นงานเทศกาลที่ทางหอการค้าจังหวัดตรังสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ขนมเค้ก ซึ่งเป็นขนมเลื่องชื่อชนิดหนึ่งประจำจังหวัดตรัง กำหนดการจัดงานจะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยในงานจะรวบรวมผู้ผลิตเค้กในจังหวัดตรังทุกร้าน มาร่วมออกร้านจำหน่ายเค้กในราคาพิเศษ ณ บริเวณถนนสถานีซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน
งานเทศกาลหมูย่างจังหวัดตรัง เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง โดยจะจัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนกันยายนของทุกปี ภายในงานจะประกอบไปด้วยหมูย่างสูตรพิเศษของเมืองตรังจากร้านต่างๆ ในจังหวัด มาร่วมออกร้าน ณ บริเวณสี่แยกธรรมรินทร์ บนถนนสถานีและมีการจัดขบวนแห่ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน
งานเทศกาลหอยตะเภา เป็นเทศกาลที่มุ่งส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้แหล่งท่องเที่ยวคือชายหาดปากเมงเป็นสถานที่จัดงาน ซึ่งถือเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวและแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงไปด้วยในตัว งานเทศกาลจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

 

  สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

  อนุสาวรีย์พระรัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองตรัง ทางไปจังหวัดพัทลุง ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร ผู้ที่เดินทางไปถึงจังหวัดตรังทุกคนมักแวะไปทำความเคารพอนุสาวรีย์ของท่าน บริเวณนั้นแต่เดิมเป็นที่ตั้งพระตำหนักผ่อนกาย ซึ่งจัดรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันได้ตกแต่งเป็นสวนสาธารณะอันร่มรื่น เวลาเย็นๆ มีประชาชนไปพักผ่อนเป็นจำนวนมาก พระยารัษฎาฯ ได้สร้างและทำนุบำรุงความเจริญแก่จังหวัดตรังไว้มาก เช่น ด้านคมนาคมในจังหวัดตรัง ด้านเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ด้านการศึกษา การปกครอง นโยบายรักษาความสงบและการสาธารณสุข ฯลฯ และเป็นผู้นำต้นยางต้นแรกที่ปลูกในจังหวัดตรัง จนแพร่หลายไปทั่วภาคใต้
กระพังสุรินทร์ เป็นสระน้ำธรรมชาติกว้างประมาณ 50 ไร่ มีสะพานคอนกรีตเชื่อมไปสู่ศาลากลางน้ำที่สร้างไว้ อย่างสวยงาม เชื่อมถึงกันทั้ง 3 ศาลา รอบๆ บริเวณได้รับการแต่งเป็นสวนสาธารณะ มีสวนสัตว์และภัตตาคาร ร้านอาหารใต้ร่มไม้ ไว้บริการแก่ผู้เข้าไปเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การพักผ่อนยามเย็น เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เท่าใดนัก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนาโยง

สถานีศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาช่อง (สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้) ตามเส้นทางหลวงสายตรัง-พัทลุง อยู่ห่างจากตัวเมืองตรังประมาณ 20 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 50 เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร นับเป็นสถานที่ที่งดงามน่าเที่ยวที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ มีหมู่ไม้ใหญ่ ลำธารน้ำ และน้ำตกหลายแห่ง คือ น้ำตกโตนใหญ่ น้ำตกโตนน้อย น้ำตกหนานกฤษณา น้ำตกโตนปลิว มี “ทางเดินศึกษาธรรมชาติ” เป็นเส้นทางเดินเพื่อการชมและศึกษาธรรมชาติ โดยตัดเข้าไปในภูมิประเทศต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจ มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด และได้รับความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติที่น่าสนใจจากป้ายคำแนะนำ ที่อธิบายไว้ตามจุดที่เหมาะสม รายละเอียดและคำแนะนำต่างๆ ขอได้จากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ นอกจากนี้ยังมี “อาคารพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ” อันเป็นที่รวบรวมนิทรรศการเกี่ยวกับธรรมชาติ กิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการฉายภาพยนตร์ สไลด์และการบรรยายประกอบเมื่อมีผู้สนใจ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ โทร. 561-4292-3 ต่อ 708, 756
อุทยานนกน้ำคลองลำซาน ตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าคลองลำซาน บนเส้นทางสายตรัง-พัทลุง เป็นระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร แล้วแยกขวาไปตามเส้นทางสายโค้งถนนคด-ทุ่งยาว ประมาณ 1 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางเข้า ด้านขวามือเข้าไปอีก 500 เมตร จะถึงหนองน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีนกเป็ดน้ำเป็นจำนวนมากบินขึ้นลงตลอดเวลา ช่วงที่มีนกมากคือระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม เป็นสถานที่สงบเงียบเหมาะแก่การพักผ่อน การเข้าไปเที่ยวหรือพักค้างแรมในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงหัวหน้าฝ่ายเขตห้ามล่าสัตว์ป่า กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ รายละเอียดติดต่อ โทร. 561-4292-3 ต่อ 714
น้ำตกสายรุ้ง เดินทางไปตามเส้นทางโค้งถนนคด-ทุ่งยาว ถึง ก.ม. ที่ 12 เลี้ยวซ้ายเข้าทางลูกรังอีก 3 กิโลเมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียวที่ตกลงมาจากหน้าผาสูงใหญ่ จุดเด่นที่สุดของน้ำตกแห่งนี้คือ ทุกวันเวลา 15.00-17.00 น. ละอองน้ำของน้ำตกจะทำมุมกับแสงอาทิตย์ปรากฏเป็นประกายรุ้งสวยงาม โดยเฉพาะฤดูที่มีน้ำมากจะเห็นได้เด่นชัดยิ่งขึ้น 
น้ำตกไพรสวรรค์ เดินทางไปตามเส้นทางโค้งถนนคด-ทุ่งยาว ประมาณ 24 กิโลเมตร ตรงข้ามปากทางเข้าหมู่บ้านห้วยสอ มีทางแยกเลี้ยวซ้ายตามทางลูกรังอีก 3 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง ประกอบด้วยชั้นย่อยๆ 7 ชั้น ซึ่งมีความสวยงามแตกต่างกันออกไป
น้ำตกลำปลอก เดินทางไปตามทางสายโค้งถนนคด-ทุ่งยาว ถึง ก.ม. ที่ 30 จะพบทางแยกเข้าน้ำตกลำปลอกอันเป็นที่ตั้งของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองลำปลอก ซึ่งใช้พลังน้ำจากน้ำตกลำปลอกในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับหมู่บ้านในละแวกนั้น น้ำตกลำปลอกมีน้ำตกชั้นใหญ่ๆ มากกว่า 6 ชั้น แต่ละชั้นมึความสูงไม่ต่ำกว่า 30 เมตร สามารถมองเห็นเกาะแก่งและทิวทัศน์ที่งดงามของปากแม่น้ำปะเหลียน
ถ้ำเขาช้างหาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความงามตามธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง อยู่ในพื้นที่ของอำเภอนาโยง เขตบ้านนาหมื่นศรี จากตลาดนาโยงแยกจากถนนหลวงเข้าสู่ถนนนาหมื่นศรีเข้าไปประมาณ 8-10 กิโลเมตร สุดถนนคือถ้ำช้างหาย การเข้าชมสามารถติดต่อผู้นำทางเข้าถ้ำได้ที่ คุณบรรจบ ตงอ่อน ฝ่ายนำเที่ยวซึ่งดำเนินการโดยสภาตำบล และมีที่ทำการอยู่บนเส้นทางก่อนถึงเขาช้างหาย ประมาณ 1 กิโลเมตร
กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี นาหมื่นศรี เป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอนาโยง ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดตรังมาตั้งแต่ครั้งอดีต และในปัจจุบันนี้ก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่มสตรี ทอผ้านาหมื่นศรี เพื่อสืบสานการทอผ้าพื้นเมืองไม่ให้สูญหายไป นักท่องเที่ยวสามารถชมได้ที่ที่ทำการกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี เส้นทางเดียวกับทางไปถ้ำเขาช้างหาย ตามถนนสายนาหมื่นศรี ประมาณ 5 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอกันตัง

ยางพาราต้นแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอกันตัง ยางต้นนี้คือตัวแทนของกลุ่มยางรุ่นแรกที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เจ้าเมืองตรังได้นำมาปลูกไว้ เพื่อบุกเบิกอาชีพสวนยางพาราของชาวตรัง เมื่อปี พ.ศ. 2442
สวนสาธารณะควนตำหนักจันทร์ ตั้งอยู่ในอำเภอกันตัง อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 24 กิโลเมตร ควนตำหนักจันทร์มีเสน่ห์ด้วยบรรยากาศทิวทัศน์และธรรมชาติอันงดงาม เนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ ได้รับการปรับปรุงเสริมแต่งปลูกต้นไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ มีศาลาพักผ่อนและลานจอดรถบนควน (เนินเขา) แห่งนี้ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของทะเล และอำเภอกันตังได้กว้างไกล เคยเป็นที่ก่อสร้าง “ตำหนักจันทร์” เพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ปัจจุบันได้พังทลายไปหมดแล้ว
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งยาวถึง 20 กิโลเมตร สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ ได้แก่ หาดปากเมง หาดฉางหลาง หาดสั้น หาดยาว หาดหยงหลิง หาดเจ้าไหม ถ้ำเจ้าไหม สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้รถยนต์สามารถเข้าถึงได้สะดวก ยกเว้นถ้ำเจ้าไหม ที่ต้องนั่งเรือไปตามคลองเจ้าไหมอีก 15 นาที เป็นถ้ำหิน งอกหินย้อย อยู่ที่เขาโต๊ะแนะใกล้บ้านเจ้าไหม นอกจากนี้ยังมีเกาะน้อยใหญ่อีก 7 เกาะ ได้แก่ เกาะมุก เกาะกระดาน เกาะเชือก เกาะปลิง เกาะแหวน เกาะเมง และเกาะเจ้าไหม
ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่หาดฉางหลาง ห่างจากตัวเมือง 27 กิโลเมตร ตามเส้นทางสาย 4040 (ตรัง-สิเกา) ก่อนถึงตัวอำเภอสิเกา 5 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 27 แยกเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางสาย 4162 สู่หาดปากเมงอีก 10 กิโลเมตร เป็นถนนราดยางตลอดสาย จากหาดปากเมงเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลียบชายหาดอีก 7 กิโลเมตร ถึงหาดฉางหลาง บริเวณที่ทำการมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีห้องน้ำไว้บริการ และจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ไว้สำหรับผู้ต้องการพักแรม รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734 ปัจจุบันมีที่พักบนหาดฉางหลาง คือ ฉางหลางรีสอร์ท โทร. (075) 291009, (01) 228-3679 มีห้องพัดลมและปรับอากาศจำนวน 22 ห้อง ราคา 500-2,000 บาท
เกาะมุกและถ้ำมรกต สำหรับผู้ท่องทะเลเมืองตรัง เกาะมุกเป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจ ลักษณะของเกาะส่วนใหญ่เป็นโขดผาสูงตระหง่าน หันหน้าออกสู่ทะเลใหญ่ทางด้านทิศตะวันตก หมู่บ้านชาวประมงจะอยู่ทางฝั่งตะวันออกของตัวเกาะซึ่งหันหน้าเข้าแผ่นดินใหญ่ หน้าผาโขดหินสูงเป็นที่อาศัยของนกนางแอ่นและได้ซุกซ่อนถ้ำมรกต หรือถ้ำน้ำซึ่งมีความงดงามตระการตาได้อย่างมิดชิด ถ้ำมรกตนี้จะเข้าออกได้เฉพาะช่วงน้ำลงเท่านั้น โดยปากถ้ำเป็นโพรงเล็กๆ สูงพ้นระดับน้ำพอเรือลอดได้ พ้นปากถ้ำเข้าไปเป็นเส้นทางคดโค้ง ระยะทางประมาณ 80 เมตร เมื่อพ้นปากถ้ำออกมาอีกด้านหนึ่งจะเป็นหาดทรายขาวสะอาด ล้อมรอบด้วยหน้าผาสูงชันที่มีฟ้าสีครามเป็นหลังคาและผนังแต่งแต้มด้วยลายเขียวของใบไม้ โพรงที่ลอดเข้าถ้ำมรกตจะอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเกาะ การเดินทางไปเกาะมุกนั้น นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการนำเที่ยวของบริษัททัวร์ในตัวเมืองตรัง หรือบริการของรีสอร์ทบนเกาะไหงและเกาะกระดาน ถ้าเดินทางไปเอง เริ่มต้นจากท่าส้ม (ฝั่งตรงข้ามท่าเรือกันตัง) โดยจะมีรถโดยสารไปท่าเรือควนตุ้งกู เวลาบ่ายโมง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร จากท่าเรือควนตุ้งกูนั่งเรือไปอีกประมาณ 30 นาทีก็ถึงตัวเกาะ หรือขึ้นเรือที่ท่าเรือปากเมง ใช้เวลาเดินทาง 40 นาที นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักแรมบนเกาะ สามารถติดต่อที่พักได้ที่ เกาะมุกรีสอร์ท โทร. (075) 219499, 212613 มีห้องพัดลมจำนวน 28 ห้อง ราคา 100-300 บาท
เกาะเชือก อยู่ระหว่างเกาะมุก และเกาะไหง ห่างจากเกาะไหง ประมาณ 4 กิโลเมตร ใต้ทะเล ที่เกาะเชือก เป็นแหล่งปะการัง และฝูงปลา ที่อุดมสมบูรณ์ และสวยงาม ที่สุดแห่งหนึ่ง ของจังหวัดตรัง

เกาะกระดาน เป็นเกาะที่สวยเกาะหนึ่ง ของจังหวัดตรัง มีเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ ซึ่ง 5 ใน 6 ส่วน ของเกาะนี้ อยู่ในความรับผิดชอบ ของอุทยานแห่งชาติ หาดเจ้าไหม ที่เหลือ เป็นสวนยาง และสวนมะพร้าว ของเอกชน รวมทั้งร้านอาหาร และที่พัก สำหรับนักท่องเที่ยว จุดเด่น ของเกาะกระดาน คือ ชายหาด ที่มีทรายขาวละเอียด เหมือนแป้ง และน้ำใส จนมองเห็น แนวปะการัง ซึ่งทอดยาว จากชายหาดด้านเหนือ ถึงชายฝั่ง และมีฝูงปลาหลากสี แหวกว่ายอย่างสวยงาม สำหรับผู้นิยม การโต้คลื่น ด้านหลังเกาะ มีอ่างเล็กๆ มีคลื่นลูกโตๆ สาดม้วนเข้าหาหาด เป็นละลอกๆ เหมาะสำหรับ เล่นกระดานโต้คลื่น เกาะกระดาน อยู่ทางด้าน ตะวันตก ของเกาะมุก และเกาะลิบง โดยใช้เวลาเดินทาง จากปากเมง ประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที ปัจจุบัน มีที่พักชื่อ เกาะกระดานพาราไดซ์บีช ราคาแพ็คเก็จ 2 วัน 1 คืน 1,900 บาท 3 วัน 2 คืน 2,900 บาท เบอร์โทรที่กรุงเทพฯ 02-713-1837, 02- 391-6091 ที่ตรัง 075-211-391 ที่เกาะ 075-211-367 ฤดูท่องเที่ยว อยู่ในช่วง เดือนตุลาคม ถึงพฤษภาคม

เกาะลิบง เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด ในอำเภอกันตัง ตั้งอยู่ที่ตำบลลิบง การเดินทาง นักท่องเที่ยว ต้องไปลงเรือ ที่ท่าเรือกันตัง ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 1 ชั่วโมง เกาะมีพื้นที่ ประมาณ 25,000 ไร่ ได้รับประกาศเป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หมู่เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งรวม ของนกหลายชนิด และเป็นที่อยู่อาศัย ของปลาพะยูน รอบๆ เกาะมีแหลม และหาดหลายแห่ง เช่น หาดตูบ แหลมจุโหย แหลมทวด แหลมโต๊ะชัย เป็นต้น บริเวณแหลมจุโหยนั้น เป็นหาดทราย ซึ่งเวลาน้ำลด สามารถเดินทาง ไปถึงเกาะตูบ ซึ่งมีนกทะเล บินมาอาศัย นอนกลางคืนมากมาย เกาะนี้ มีหมู่บ้านชาวประมง หลายหมู่บ้าน ประชาชนบนเกาะส่วนใหญ่ นับถือศาสนาอิสลาม มีเรือออกจากเกาะทุกเช้า สู่ท่าเรือกันตัง และกลับประมาณเที่ยง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ เกาะเจ้าไหม และแหลมเจ้าไหม งดงามยิ่ง สำหรับนักท่องเที่ยว ที่มาจากเกาะเจ้าไหม สามารถเช่าเรือ ไปเที่ยวเกาะลิบงได้ ในระยะทาง ใกล้กว่าจากกันตัง หากต้องการ พักแรมบนเกาะ สามารถติดต่อที่พัก ได้ที่ พอพลไดฟ์วิ่ง และเกาะลิบงรีสอร์ท โทร. (075) 214676 มีบริการนำเที่ยว รวมค่าเรือ ที่พัก และอาหาร 2 วัน 1 คืน ราคา 950 บาท 3 วัน 2 คืน ราคา 1,800 บาท เฉพาะห้องพักราคา 150-500 บาท
เกาะไหง เป็นเกาะที่อยู่ในเขตจังหวัดกระบี่ แต่เดินทางจาก จังหวัดตรัง ได้สะดวกกว่า บนเกาะ มีหาดทรายขาว น้ำทะเล ใสสะอาด รอบเกาะ อุดมด้วยปะการัง ที่สมบูรณ์ การเดินทาง ไปเกาะไหง มีเรือโดยสาร (ขนาด 120 ที่นั่ง) ออกจากปากเมง เวลา 09.00-10.00 น. ราคา คนละ 150 บาท ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ มีเรือของเอกชน ให้เช่า เรือขนาดจุ 40 คน ราคา 5,000 บาท 100 คน ราคา 8,000 บาท นักท่องเที่ยว ที่ต้องการ พักแรมบนเกาะ สามารถติดต่อที่พัก ได้ที่ เกาะไหงรีสอร์ท มีบริการนำเที่ยว รวมค่าเรือ ที่พัก และอาหาร 2 วัน 1 คืน ราคา 850-1,550 บาทต่อคน 3 วัน 2 คืน ราคา 1,500-1,750 บาทต่อคน มีทั้งห้องพัดลม และปรับอากาศ เฉพาะห้องพัก ราคา 750-1,300 บาท สถานที่ติดต่อ กรุงเทพฯ โทร. 316-3577, 317-1274-5 โทรสาร 316-7916 ตรัง โทร. (075) 210317, 211045

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปะเหลียน

  เที่ยวทะเลเมืองปะเหลียน ชายทะเลของอำเภอปะเหลียนมีความงามตามลักษณะชายฝั่งทะเลอันดามันของมหาสมุทรอินเดียทั่วไป หาดที่มีชื่อได้แก่ หาดสำราญ หาดตะเสะ การเดินทางใช้เส้นทางสายตรัง-ปะเหลียน ไป 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาตามป้ายชี้บอกอีก 22 กิโลเมตร ส่วนเกาะนั้นก็มีที่น่าชมหลายแห่ง เช่น เกาะสุกร เกาะเภตรา เกาะหลาวเหลียงเหนือ เกาะหลาวเหลียงใต้ เป็นต้น
เกาะสุกร มีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอปะเหลียน เป็นเกาะขนาดใหญ่อยู่ห่างชายฝั่งเพียง 3 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีหาดทรายสวยงามหลายแห่ง นอกจากนี้แตงโมที่เกาะสุกรมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดตรัง จะมีมากในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเมษายน การเดินทางที่ใกล้ที่สุดคือลงเรือที่ท่าเรือปะเหลียน หรือตะเซะ ใช้เวลาเดินทาง 40 นาที นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักบนเกาะสามารถติดต่อที่พักได้ที่ เกาะสุกรรีสอร์ท สำนักงานในอำเภอเมือง (หน้าสถานีขนส่งตรัง) โทร. (075) 219679 ติดต่อบนเกาะ โทร. (075) 211460 มีบริการรวมค่าเรือ ที่พักและอาหาร 3 วัน 2 คืน ราคา 1,700 บาทต่อคน 2 วัน 1 คืน ราคา 900 บาทต่อคน เฉพาะห้องพักราคา 200-480 บาท
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่ ต. สุกร อ. ปะเหลียน จ. ตรัง, ต. ขอนคลาน อ. ทุ่งหว้า และ ต. ปากน้ำ อ. ละงู จ. สตูล ครอบคลุมพื้นที่ทั้งบนบกและในทะเล 308,987 ไร่ ทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติอยู่ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซีย 30 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ จำนวน 22 เกาะ อาทิ เกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ เกาะลันตี เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเหลาเหลียง เกาะเปรามะ ฯลฯ การเดินทางวิธีที่สะดวกที่สุดคือ เช่าเรือจากท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล หรือหากต้องการเดินทางจากจังหวัดตรัง สามารถเช่าเรือได้ที่ท่าเรือกันตัง หรือปะเหลียน ฤดูที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวคือช่วงเดือนธันวาคม ถึงเมษายน บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734
ถ้ำสุรินทร์ เป็นถ้ำที่สวยงาม ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก ที่ถ้ำแห่งนี้ชาวบ้านจัดให้มีเทศกาลไหว้พระประจำทุกปี
น้ำตกโตนเต๊ะ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สูงถึง 320 เมตร นับว่าเป็นน้ำตกที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราช สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ไปจนถึงบริเวณน้ำตกได้ทุกฤดูกาล ระยะทางห่างจากอำเภอเมือง 46 กิโลเมตร จากตัวเมืองไปตามถนนสายตรัง-พัทลุง ประมาณ 17 กิโลเมตร บริเวณหลัก ก.ม. ที่ 53 เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางบ้านกะช่อง-บ้านหาดเลา ประมาณ 27 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นทางราดยางตลอดสาย
น้ำตกโตนตก ห่างจากน้ำตกโตนเต๊ะตามเส้นทางเดินป่าประมาณ 1 กิโลเมตร หากต้องการนำรถเข้าถึงน้ำตกให้เลี้ยวขวาก่อนถึงน้ำตกโตนเต๊ะ 500 เมตร ไปตามเส้นทางตัดผ่านเนินเขาลาดชันไปอีก 3 กิโลเมตร น้ำตกโตนตก เป็นน้ำตกที่สวยงามมากที่สุดของจังหวัดตรัง สายน้ำและลำธารที่ไหลผ่านโขดหินน้อยใหญ่ คือเสน่ห์ของน้ำตกแห่งนี้และจากบริเวณน้ำตกโตนตกนี้สามารถมองเห็นน้ำตกโตนเต๊ะได้อีกมุมหนึ่ง
น้ำตกช่องบรรพต จากสามแยกหัวถนนเข้าไปทางเดียวกับน้ำตกโตนเต๊ะประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงปากทางเข้าน้ำตกแล้วเลี้ยวเข้าไปอีกระยะหนึ่ง จากนั้นต้องเดินเท้าผ่านสวนยางไปจนถึงน้ำตกเป็นน้ำตกขนาดเล็กดูคล้ายทางน้ำที่แตกสาขากระจัดกระจายลดหลั่นมาตามเชิงชั้นเตี้ยๆ ภายใต้ป่าไม้ที่ขึ้นอยู่หนาแน่น
น้ำตกเจ้าพะ เดินทางตามทางสายโค้งถนนคด-ทุ่งยาว ผ่านบ้านหัวถนนบ้านหาดเลา ถึงบ้านแหลมสอม เลี้ยวซ้ายที่โรงเรียนบ้านแหลมสอมตามทางลูกรังสภาพไม่ดีนัก ปลายทางเป็นสวนอยู่เชิงเขา ต้องเดินป่าอีกประมาณ 15 นาที ควรมีผู้นำทางไปด้วย ลักษณะเป็นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นลงมาตามชั้นหินปูน รอบข้างเป็นป่าซึ่งยังคงสภาพธรรมชาติมีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น ยังเป็นที่อาศัยของเงาะป่าหรือชนเผ่าซาไก เป็นชนเผ่าที่เร่ร่อนอยู่ในป่าเขาบรรทัด

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสิเกา

  หาดปากเมง ตั้งอยู่ที่ตำบลไม้ฝาด ห่างจากตัวเมืองตามถนนสายตรัง-สิเกา-ปากเมง ระยะทาง 38 กิโลเมตร เป็นหาดที่สวยงามและเงียบสงบแห่งหนึ่ง แนวหาดยาวเหยียดไปตามชายฝั่งทะเลอันดามันของมหาสมุทรอินเดีย ทรายริมหาดแน่นมากจนสามารถขับรถยนต์ไปตามชายหาดได้ บริเวณหาดปากเมงมีท่าเรือปากเมง ซึ่งมีเรือบริการไปเกาะไหงและเกาะต่างๆ ในบริเวณนั้น หากต้องการพักที่หาดปากเมง ติดต่อที่พักได้ที่ปากเมงรีสอร์ท โทร. (075) 218940 โทรสาร (075) 210321 มีบริการนำเที่ยว รวมค่าเรือ ที่พักและอาหาร 2 วัน 1 คืน ราคา 900 บาท 3 วัน 2 คืน ราคา 1,200 บาท เฉพาะห้องพักราคา 300 บาท
น้ำตกอ่างทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลไม้ฝาด ริมถนนสายตรัง-สิเกา ห่างจากตัวเมืองตรัง 21 กิโลเมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียวสูงประมาณ 20 เมตร ด้านล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เนื่องจากก้อนหินบริเวณน้ำตกนี้เป็นสีออกดำแกมเหลือง จึงทำให้น้ำในน้ำตกแห่งนี้ดูเหมือนเป็นสีทองจางๆ อันเป็นที่มาของชื่อ น้ำตกอ่างทอง
เขาเจ็ดยอด เป็นสวนสาธารณะและสวนสัตว์เปิด มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอสิเกาประมาณ 6 กิโลเมตร ตามเส้นทางตรัง-กระบี่ สภาพโดยทั่วไปเป็นภูเขาลูกย่อมๆ และเป็นแนวยาวติดต่อกัน บริเวณเชิงเขาจะมีถ้ำเรียงรายอยู่หลายแห่ง และที่ได้รับการสำรวจแล้วมีประมาณ 11 แห่ง บริเวณรอยต่อของถนนซึ่งเชื่อมระหว่างเขาเจ็ดยอดและบ้านดุหุนจะเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์และเกาะแก่งต่างๆ ในท้องทะเลอันดามันได้

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอห้วยยอด

  น้ำตกโตนคลาน เดินทางไปตามทางสายตรัง-ห้วยยอด ก่อนเข้าตลาดอำเภอห้วยยอดเล็กน้อย ใกล้กับศาลเจ้า มีทางแยกขวามือเข้าสู่น้ำตก เป็นทางลูกรังระยะทาง 5 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่ชาวห้วยยอดนิยมไปเที่ยวพักผ่อน
น้ำตกปากแจ่ม เดินทางไปตามทางสายตรัง-ห้วยยอด ตรงข้ามที่ตั้งค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 15 มีทางแยกขวามือเข้าไปจนสุดถนน ซึ่งอยู่ในเขตตำบลปากแจ่ม จากนั้นต้องเดินป่าและปีนเขาประมาณ 1 ชั่วโมง ควรมีคนนำทางไปด้วย ตัวน้ำตกมี 7 ชั้นลดหลั่นลงมายังแอ่งน้ำเบื้องล่าง สภาพแวดล้อมร่มรื่นด้วยป่าไม้ซึ่งยังคงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ 
ทะเลสองห้อง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางดี ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 27 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามถนนเพชรเกษม สายห้วยยอด-กระบี่ ถึงสามแยกท่ามะพร้าว แยกขวาไปอีก 12 กิโลเมตร เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติกว้างใหญ่คล้ายทะเลสาบมีเนินเขาล้อมรอบ ตอนกลางมีเขายื่นออกมาเกือบติดต่อกัน แบ่งแอ่งน้ำออกเป็น 2 ตอน จึงเรียกว่า “ทะเลสองห้อง”
เขาปินะ เป็นที่เที่ยวที่มีชื่ออีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง อยู่ที่ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด ห่างจากตัวเมืองตามถนนเพชรเกษมประมาณ 45 กิโลเมตร มีทางแยกจากถนนใหญ่เข้าไปประมาณ 2 ก.ม. ภูเขาลูกนี้ตั้งอยู่กลางทุ่งโดดเด่น ภายในกลวงจนถึงยอดเขา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกะทะคว่ำ ตรงเชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดปินะ ซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่บนภูเขา มีบันไดทางขึ้นไปชมความงามของถ้ำ ซึ่งมีอยู่หลายชั้น




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ตรัง