แผนที่นราธิวาส
- แผนที่นราธิวาส
- ข้อมูลทั่วไป
- การเดินทาง
- งานประเพณี
- สถานที่ท่องเที่ยว
จังหวัดนราธิวาส เดิมมีฐานะเป็นเพียงอำเภอหนึ่ง เรียกว่า อำเภอบางนรา ขึ้นกับเมืองสายบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองภาคใต้ ต่อมาได้โอนไปขึ้นกับเมืองระแงะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองเช่นกัน โดยประวัติความเป็นมาของนราธิวาสนั้น มีความชื่อมโยงกับเรื่องราวของเมืองปัตตานี เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ยกทัพหลวงลงมาปักษ์ใต้เพื่อปราบปรามข้าศึกที่เข้ามาทางปักษ์ใต้ เมื่อข้าศึกแตกพ่ายหนีไปหมดแล้ว จึงเสด็จประทับ ณ เมืองสงขลา และได้มีรับสั่งออกไปถึงหัวเมืองมลายูทั้งหลาย ที่เคยขึ้นกับอยุธยามาก่อน ให้มาอ่อนน้อมดังเดิม โดยพระยาไทรบุรี และพระยาตรังกานูยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แต่พระยาปัตตานีแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อม จึงรับสั่งให้ยกทัพไปเมืองปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2332 เมื่อได้เมืองปัตตานีแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานตราตั้งให้แก่พระยาสงขลา (บุญฮุย) เป็นพระยาปัตตานี และให้อยู่ในความกำกับดูแลของเมืองสงขลาต่อไป และตั้งในเป็นเมืองมนตรีขึ้นอยู่กับกรุงรัตนโกสินทร์โดยตรง ในระหว่างที่พระยาปัตตานี (ขวัญซ้าย) ว่าราชการเมืองปัตตานีอยู่นั้น บ้านเมืองสงบเรียบร้อยปกติสุขตลอดมา ครั้นเมื่อพระยาปัตตานีถึงแก่กรรม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายพ่าย น้องชายพระยาหลวงสวัสดิภักดีผู้ช่วราชการเมืองปัตตานี และได้ย้ายที่ว่าการเมืองปัตตานีจากบ้านมะนา (อ่าวนาเกลือ) ไปตั้งอยู่ที่บ้านยามู
ในระหว่างนั้นพวกของซาเห็ดรัตนวงศ์ฯ และพวกโมเซฟได้เริ่มก่อกวนความสงบสุขของบ้านเมือง โดยคบคิดกับปล้นบ้านพระยาปัตตานี และบ้านหลวงสวัสดิภักดี แต่ก็ได้ถูกตีถอยหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านกะลาพอ แขวงเมืองสายบุรี นอกจากนั้นเมืองปัตตานีซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวาง และมีโจรผู้ร้ายชุกชุม เที่ยวปล้นบ้านเรือนราษฎรจนเหลือกำลังที่พระยาปัตตานีจะปราบให้ราบคาบได้ จึงแจ้งราชการไปยังเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เถียนจ๋อง) ออกมาปราบปราม และจัดนโยบายแบ่งแยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 เมือง ได้แก่ เมืองปัตตานี, เมืองหนองจิก, เมืองยะลา, เมืองรามันห์, เมืองระแงะ, เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้มีพระยาปัตตานี (ต่วนสุหลง), พระยาหนองจิก (ต่วนกะจิ), พระยายะลา (ต่วนบางกอก) และพระยาระแงะ (หนิเดะ) โดยเจ้าเมืองทั้ง 4 ได้สมคบคิดกันเป็นกบฏขึ้น จึงโปรดเกล้าให้พระยาเพชรบุรี และพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ลงมาปราบ และพิจารณาเห็นว่า หนิบอสูชาวบ้านบางปูซึ่งพระยายะหริ่แต่งตั้งให้เป็นกรมการเมืองยะหริ่งได้เป็นกำลังสำคัญ และได้ทำการต่อสู้ด้วยความกล้าหาญยิ่ง ด้วยคุณงามความดีนี้จึงได้แต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาราชการเมืองระแงะ สืบต่อจากพระยาระแงะ (หนิเดะ) ที่หนีไป และได้ย้ายที่ว่าราชการจากบ้านระแงะมาตั้งใหม่ที่ตำบลตันหยงมัส
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้ยกเลิกการปกครองแบบเก่า เพราะการแบ่งเขตแขวงการปกครอง และตำแหน่งหน้าที่ราชการในหัวเมืองทั้ง 7 ที่ยังทับซ้อนกันอยู่หลายแห่ง จึงได้วางระเบียบแผนการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการให้เป็นระเบียบตามสมควรแก่กาลสมัย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2444
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2449 มีประกาศพระบรมราชโองการให้แยกบริเวณ 7 หัวเมืองออกมาจากมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลปัตตานี เพื่อสะดวกแก่ราชการ และทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญขึ้นกว่าแต่ก่อน ในปี พ.ศ. 2458 ได้ย้ายที่ว่าราชการจากเมืองระแงะ ตำบลตันหยงมัส มาตั้งที่บ้านมะนาลอ (บางมะนาวในปัจจุบัน) อำเภอบางนรา ส่วนท้องที่เมืองระแงะ และได้ยกฐานะอำเภอบางนราขึ้นเป็นเมืองบางนรา มีอำเภอในการปกครองได้แก่ อำเภอบางนรา, อำเภอตันหยงมัส, กิ่งอำเภอยะบะ, อำเภอสุไหงปาดี และกิ่งอำเภอโต๊ะโมะ
ครั้นต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองบางนรา ทรงพระราชทานพระแสงศาสตราแก่เมืองบางนรา และทรงดำริว่าบางนรานั้นเป็นชื่อตำบลบ้าน และควรที่จะมีชื่อเมืองไว้เป็นหลักฐานสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "เมืองนราธิวาส" ซึ่งหมายถึงที่อยู่ของคนดี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2458
ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคครั้งยิ่งใหญ่ และให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด เมืองนราธิวาสจึงเป็นเปลี่ยนเป็น "จังหวัดนราธิวาส" จากนั้นเป็นต้นมา
จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4,475.430 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเล ด้านตะวันออกของแหลมมลายู สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าและภูเขาประมาณ 2/3 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่ติดกับบริเวณอ่าวไทยและที่ราบลุ่ม แม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำตากใบ และแม่น้ำสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน ช่วงที่ฝนตกมากที่สุด คือ ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 27-29 องศาเซลเซียส
การปกครองแบ่งออกเป็น 13 อำเภอ 77 ตำบล 551 หมู่บ้าน
อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอตากใบ อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอศรีสาคร อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี อำเภอจะแนะ อำเภอเจาะไอร้อง
ทิศเหนือ จดจังหวัดปัตตานี
ทิศตะวันตก จดจังหวัดยะลา
ทิศตะวันออก จดอ่าวไทย
ทิศใต้ จดประเทศมาเลเซีย
การเดินทาง
ทางรถยนต์
ทางรถยนต์ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 1,149 กิโลเมตร จากหาดใหญ่สามารถเดินทางไปจังหวัดนราธิวาสได้โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 43 (หาดใหญ่-ปัตตานี) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่จังหวัดปัตตานี ไปยังจังหวัดนราธิวาสโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) อีกประมาณ 100 กิโลเมตร
ทางรถประจำทาง
ทางรถโดยสาร มีรถโดยสารทั้งธรรมดาและรถปรับอากาศของบริษัทขนส่งจำกัด บริการระหว่างกรุงเทพฯ-นราธิวาสทุกวัน จากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490 ทางรถไฟ ทางรถไฟ การรถไฟเปิดบริการรถด่วนและรถเร็วทุกวัน จากกรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง) ถึงนราธิวาส (สถานีตันหยงมัส) สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 1690
ทางเครื่องบิน
ทางเครื่องบิน การบินไทยมีเที่ยวบินไปจังหวัดนราธิวาสทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด กรุงเทพฯ โทร. 02-356-1111 หรือที่ บริษัท การบินไทย จำกัด จังหวัดนราธิวาส โทร. (073) 511161, 512178
การแข่งเรือกอและ (หน้าพระที่นั่ง) เป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน โดยจัดให้มีการแข่งเรือกอและขึ้นในลำน้ำบางนรา บริเวณตรงข้ามกับศาลาประชาคม การแข่งเรือนี้จัดเป็นเทศกาลประจำปีในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชวงศ์เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์คือประมาณเดือนกันยายน
วันลองกอง เป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ที่จัดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการแข่งเรือกอและ (หน้าพระที่นั่ง) โดยจัดขึ้นที่บริเวณศาลาประชาคมจังหวัดนราธิวาส เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการปลูกลองกองอันเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะลองกองตันหยงมัส กิจกรรมสำคัญในงานรวมไปถึงการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการปลูก การดูแลรักษา การออกร้านจำหน่าย และการประกวดผลลองกอง
งานเสื่อกระจูด เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ที่จัดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการแข่งเรือกอและ (หน้าพระที่นั่ง) โดยจัดขึ้นที่บริเวณศาลาประชาคมจังหวัดนราธิวาสเช่นกัน เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์จากกระจูดอันเป็นงานหนึ่งของโครงการศิลปาชีพในจังหวัดนราธิวาส เช่น จากบ้านโคกเคียน และบ้านพิกุลทอง เป็นต้น กิจกรรมในงานประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบ ซึ่งนำมาจากต้นกระจูดอันเป็นวัชพืชในเขตป่าพรุ หรือที่ลุ่มน้ำขังของจัวหวัดนราธิวาส ไปจนถึงการนำไปสานเป็นเสื่อลวดลายสวยงามต่างๆ และดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่งดงามแปลกตา อาทิ หมวก กระเป๋าถือ ที่ใส่จดหมาย ฝาชี โป๊ะไฟ นอกจากนี้ยังมีการสาธิตสานผลิตภัณฑ์จากกระจูด การจัดประกวดและการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจูดอีกด้วย
งานแห่เจ้าแม่โต๊ะโมะ เป็นเทศกาลสำคัญของอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งจัดให้มีขึ้นในเขตเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก ประมาณปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี จำนวนวันและวันที่ในการจัดงานนั้นไม่แน่นอนในแต่ละปี เชื่อว่าขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าแม่ ซึ่งคณะกรรมการศาลเจ้าจะถามผ่านพิธีเข้าทรง ลักษณะของงานประกอบด้วยขบวนแห่ ภาคพิธีกรรมและภาคมหรสพ สำหรับขบวนแห่นำโดยขบวนแห่เจ้าแม่แบบการแห่พระจีนทั่วไป ตามด้วยรถบุปผชาติ ขบวนการแสดงรำของโรงเรียนต่างๆ ขบวนเชิดสิงโตและมังกร ซึ่งแห่แหนไปตามถนนสำคัญในเขตเทศบาล ส่วนภาคพิธีกรรมมีการเข้าทรงแสดงอภินิหาร อาทิ การไต่บันไดมีด สำหรับภาคมหรสพมีหลายประเภท มีการแสดงของวงโยวาทิต ตลอดจนการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ และนิทรรศการของหน่วยราชการ
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง
ชายหาดนราทัศน์ อยู่เลยจากตัวเมืองนราธิวาสไปตามถนนสายพิชิตบำรุง ประมาณ 2 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถสามล้อ หรือแท็กซี่จากตลาดเทศบาลไปได้ ชายหาดนราทัศน์เป็นชายหาดที่กว้าง ทรายขาวสะอาด มีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร โดยเฉพาะบริเวณปลายแหลมด้านปากน้ำบางนรา ชายหาดสวยงามมาก บริเวณนี้ทางจังหวัดมีโครงการจัดพื้นที่ใกล้กับปลายแหลมด้านเหนือเป็นสระว่ายน้ำสำหรับประชาชนทั่วไป สำหรับบริการร้านอาหารมีอยู่เป็นจำนวนมากเรียงรายอยู่ใต้แนวสนซึ่งร่มรื่นเหมาะแก่การตั้งแคมป์พักแรม บริเวณชายหาดนราทัศน์มีบังกะโลของเทศบาลจังหวัดให้เช่าพักผ่อน
เขามงคลพิพิธ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เป็นเนินเขาเตี้ยๆ ในเขตวัดบางนรา ลักษณะเป็นโขดหินใหญ่น้อยซ้อนเรียงกันเป็นกอง ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระธาตุของพระอรหันต์ พระพุทธรูปพระสังกัจจายน์ พระพุทธไสยาสน์จำลอง และพระพุทธรูปอื่นๆ อีกหลายองค์ รวมทั้งรูปจำลองหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดแห่งวัดช้างให้
มัสยิดกลางนราธิวาส ตั้งอยู่ที่บ้านบางนรา ก่อนถึงหาดนราทัศน์ เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวไทย ที่นับถือศาสนาอิสลาม มัสยิดกลางนราธิวาสนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 เป็นอาคารตึก 3 ชั้น มีห้องทำละหมาด 2 ชั้น ชั้นล่างจะเป็นห้องประชุมใหญ่ ชั้นบนสุดเป็นโดมใหญ่สวยงามมาก มีหอสูงสำหรับส่งสัญญาณอาซาน มัสยิดนี้มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่เศษ ใช้เงินสร้างถึง 21 ล้านบาทเศษ
วัดเขากง-พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล จากตัวเมืองใช้ทางหลวงสาย อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอระแงะ (ทางหลวงสาย 4055) ประมาณ 6 ก.ม. ถึง ก.ม. ที่ 105 จะมองเห็นวัดเขากง และพระพุทธรูปทักษิณมิ่งมงคลสีทองประทับนั่งปางประทานพรอยู่บนยอดเขา วัดเขากงตั้งอยู่ในตำบลเขากง อำเภอเมือง มีเนื้อที่กว้าง 142 ไร่ พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2509 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2512 สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านบาท องค์พระเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา หน้าตักกว้าง 17 เมตร สูงจากบัวใต้พระเพลาถึงพระเกศบัวตูม 23 เมตร และได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วยดินจากสังเวชนียสถานมาประดิษฐานที่พระอุระเบื้องซ้าย การก่อสร้างเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง องค์พระพุทธรูปมีลักษณะตามอิทธิพลของสกุลศิลปะอินเดียใต้โจฬะรุ่นหลัง จะพบพุทธรูปสกุลนี้มากที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจนเรียกกันว่า “แบบนครศรีธรรม ราช” หรือเรียกอย่างสามัญว่า พระพุทธรูปแบบ “ขนมต้ม” เนื่องจากพระวรกายล่ำสันทุกส่วน สังฆาฏิจัดกลีบแผ่กว้างเต็มพระอังสาเบื้องซ้าย และชายจีวรใต้พระเพลาทำเป็นริ้วให้ความรู้สึกของการตกแต่งสวบงามกว่าแบบอื่นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากองค์พระพุทธทักษิณมิ่งมงคลแล้ว ยังมีพระอุโบสถและเจดีย์สิริมหามายา ซึ่งเป็นรูปทรงระฆัง ภายในโปร่ง บนยอดสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์
พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อยู่บนเขาตันหยงมัส การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 42 ที่ผ่านใจกลางเมืองนราธิวาส เลี้ยวขวาไป 100 เมตร จะมีแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4084 (อำเภอเมือง-อำเภอตากใบ) บริเวณกิโลเมตรที่ 7-8 จะมีแยกเข้าสู่เขตพระราชฐาน ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร สำหรับองค์พระตำหนักสร้างเป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน ลักษณะเป็นทรงปั้นหยาสมัยใหม่ ส่วนหมู่พระตำหนักแบ่งออกเป็น 2 หมู่ หมู่บนจัดเป็นที่ประทับมีพระตำหนักตันหยง มีตึกที่ทำการของกองราชเลขาฯ ในพระองค์ ตึกราชองค์รักษ์ เรือนข้าหลวง ห้องเครื่อง และเรือนรับรอง สำหรับหมู่ล่างจะอยู่บริเวณเชิงเขาตันหยงเป็นดงมะพร้าวใกล้ชายทะเล มีอาคารที่พักมหาดเล็กและข้าราชบริพาร กองรักษาการณ์ หน่วยแพทย์ และโรงรถหลวง พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. เว้นเฉพาะช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับอยู่เท่านั้น
ปากบาง-แม่น้ำบางนรา แม่น้ำบางนราไหลผ่านตัวเมืองนราธิวาส ออกสู่ทะเลที่ปากบาง หรือปากน้ำบางนรา ซึ่งอยู่ใกล้กับหาดนราทัศน์ บริเวณใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมงท้องถิ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถชมภาพชีวิตชาวประมง และชมเรือกอและ ซึ่งมีศิลปะลวดลายสีสันสวยงามเป็นจำนวนมากในลำน้ำ โดยเฉพาะในยามเย็นที่ชาวประมงนำเรือกอและออกไปหาปลา นอกจากนี้แม่น้ำบางนรายังเป็นสถานที่จัดงานแข่งเรือกอและเป็นประจำทุกปีอีกด้วย
ชายหาดอ่าวมะนาว อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณเขาตันหยงมัสไปตามถนน ทางหลวงหมายเลข 4084 (อำเภอเมือง-อำเภอตากใบ-อำเภอสุไหงโก-ลก) ระหว่างกิโลเมตรที่ 3-4 เลี้ยวซ้ายตามป้ายที่ปากทางอีกประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นทางราดยางตลอด อ่างมะนาวมีหาดทรายเป็นแนวยาวประมาณ 4 กิโลเมตร สวยงาม สามารถเล่นน้ำได้ แต่ไม่มีที่พัก
หมู่บ้านยะกัง เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหมู่บ้านบางนรา (ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475) อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปตามเส้นทางสาย 4055 (อำเภอเมือง-อำเภอระแงะ) ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นแหล่งผลิดผ้าปาเต๊ะ หรือผ้าบาติก ซึ่งเป็นผ้าพิมพ์ลวดลาย รูปแบบแปลกตา และมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง
หมู่บ้านทอน อยู่ห่างจากตัวเมืองนราธิวาสเป็นระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 4136 (นราธิวาส-บ้านทอน) เป็นหมู่บ้านชาวประมงไทยมุสลิมที่เป็นแหล่งผลิตเรือกอและ เป็นแหล่งผลิตวัสดุในการทำกระจูดปาหนัน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตน้ำบูดู และข้าวเกรียบปลา ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย
ในเขตอำเภอตากใบ
วัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย) เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จากสี่แยกตลาดอำเภอตากใบแยกซ้ายประมาณ 100 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า (ร. 5) ให้เป็นด่านพรมแดนสุดท้ายของไทย ด้านตะวันออก เมื่อครั้งอังกฤษได้มลายูเป็นเมืองขึ้นนั้น อังกฤษพยายามจะรวมเมืองนราธิวาสไว้ในเขตมลายูด้วย แต่ทว่าทางไทยเราได้อ้างว่าหัวเมืองนี้เป็นของไทยมานาน โดยยกเอาวัดชลธาราสิงเห ที่อำเภอตากใบ ซึ่งเป็นวัดไทยมาเป็นข้ออ้าง อังกฤษจึงยอมให้นราธิวาสรวมอยู่ในเขตของไทย ในบริเวณวัดชลธาราสิงเหมีสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา ศิลปะฝีมือแบบไทยปักษ์ใต้เป็นจุดเด่นและงดงามหลายชิ้น ในโบสถ์เก่าซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเขียนโดยฝีมือพระภิกษุชาวสงขลางดงามมาก และถ่ายทอดรูปแบบชีวิต-วัฒนธรรม-ความเป็นอยู่ท้องถิ่นปักษ์ใต้ไว้เด่น น่าสนใจเป็นพิเศษ เปิดให้ชมทุกวันระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. โดยต้องขออนุญาตจากท่านเจ้าอาวาสก่อน ศาลาธรรมรุ่นเก่าอีกหลังหนึ่งเป็นศิลปะปักษ์ใต้ ผสมอิทธิพลสถาปัตยกรรมจีนแปลกตา และในวิหารเก่าด้านหลังวัด มีประติมากรรมปูนปั้นรูปพระนารายณ์ 4 กร ที่บ่งถึงอิทธิพลศาสนาพราหมณ์อีก 1 องค์ กับเครื่องถ้วยชาม ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องถ้วยชามสมัยราชวงศ์ซ้อง กับพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งพิทักษ์โดยพญานาค 2 ตน ที่ยังกำหนดอายุและยุคสมัยของงานศิลปะไม่ได้แน่ชัด
เกาะยาว อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร จากสี่แยกตลาดตากใบเลยไปยังแม่น้ำตากใบ มีสะพานไม้ชื่อ “สะพานคอย 100 ปี” ยาว 345 เมตร ทอดข้ามแม่น้ำตากใบไปยัง เกาะยาว ซึ่งทางด้านตะวันออกของเกาะจะติดกับทะเล มีหาดทรายละเอียดสีขาวสวยงาม สามารถเล่นน้ำได้ มีหมู่บ้านชาวประมงและสวนมะพร้าว
ชายหาดกูบู-บ้านคลองตัน อยู่ในท้องที่ตำบลไทรวัน และตำบลศาลาใหม่ทอดยาวไปจนถึงตำบลเจ๊ะเห มาสุดที่ปากแม่น้ำสุไหงโก-ลกชายแดนไทย ความยาวโดยประมาณ 25 กิโลเมตรการเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 4084 (นราธิวาส-ตากใบ) ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร จะมีถนนถึงชายหาดระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่มีทิวทัศน์สวยงาม หาดทรายขาวสะอาด มีต้นสนขึ้นเป็นระยะๆ ร่มรื่นและเงียบสงบ
ด่านตาบา (ด่านตากใบ) ตั้งอยู่ที่บ้านตาบา ตำบลเจ๊ะเห อยู่ห่างจากตัวอำเภอตากใบเพียง 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 4084 (อำเภอเมือง-อำเภอตากใบ) เป็นช่องทางการเข้า-ออกของการท่องเที่ยวและค้าขายระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย ซึ่งนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย และประเทศมาเลเซียจะเดินทางได้โดยไม่ต้องอาศัยด่านสุไหงโก-ลกเพียงทางเดียว เป็นการเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ในบริเวณด่านตาบาจะมีด่านศุลกากรและตลาดสด มีเรือหางยาว และแพขนานยนต์ข้ามฝั่งไปมาระหว่างประเทศได้โดยสะดวก
บ้านพร่อน-โคกอิฐ-วัดพระพุทธ ตั้งอยู่ที่ตำบลพร่อน ห่างจากตัวอำเภอตากใบประมาณ 5 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 4084 (นราธิวาส-ตากใบ) และเส้นทางหมายเลข 4057 (ตากใบ-สุไหงโก-ลก) สภาพถนนเป็นถนนดินลูกรัง บริเวณนี้เป็นพื้นที่ซึ่งมีร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 มีร่องรอยศาสนสถาน ป้อมค่าย คูเมือง เครื่องปั้นดินเผาและถ้วยชาม สำหรับโบราณสถานที่สำคัญคือ ศาลาการเปรียญที่มีสถาปัตยกรรมอันงดงาม และมีสภาพที่สมบูรณ์หาชมได้ยาก และในปัจจุบันนี้ได้จัดตั้งโรงทอผ้าตามโครงการศิลปาชีพอีกด้วย เป็นโรงทอผ้าขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงมีนักท่องเที่ยว ให้ความสนใจมาชมตลอดเวลา
ในเขตอำเภอสุไหงโก-ลก
ด่านสุไหงโก-ลก อยู่ห่างจากสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมือง นราธิวาสสามารถเดินทางไปยังอำเภอสุไหงโก-ลกได้ 2 เส้นทาง คือจากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 4055 (อำเภอเมือง-อำเภอระแงะ) แล้วแยกซ้ายที่บ้านมะนังตายอ ไปตามเส้นทางหมายเลข 4056 ผ่านอำเภอสุไหงปาดี เข้าสู่อำเภอสุไหงโก-ลก หรืออาจใช้เส้นทางหมายเลข 4084 จากตัวเมืองนราธิวาสไปยังอำเภอตากใบ แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 4057 (อำเภอตากใบ-อำเภอสุไหงโก-ลก) เข้าสู่อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นระยะทาง 66 กิโลเมตร ด่านสุไหงโก-ลกเป็นทางเข้าออกในการท่องเที่ยวและค้าขาย ระหว่างประเทศที่ใหญ่กว่าด่านตาบา ที่อำเภอตากใบ สามารถเข้า-ออกได้สะดวกกว่าโดยมีสะพานซึ่งสร้างโดยรัฐบาลไทย และมาเลเซีย เปิดระหว่างเวลา 05.00-18.00 น.
ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ ตั้งอยู่ที่ซอยภูธร ถนนเจริญเขต ในเขตเทศบาลตำบล เดิมทีเจ้าแม่โต๊ะโมะนี้ ประดิษฐานอยู่ที่บ้านโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จนกระทั่งชาวบ้านได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่อำเภอสุไหงโก-ลก และในทุกๆ ปี จะมีการจัดงานประเพณีประจำปีที่บริเวณศาลเจ้า ซึ่งตรงกับวันที่ 23 เดือนสามของจีน (ประมาณเดือนเมษายน) ในงานจะมีกิจกรรมมากมาย เช่น มีการจัดขบวนแห่เจ้าแม่ ขบวนสิงโต ขบวนกลองยาว และยังมีการลุยไฟด้วย ในปัจจุบันศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะได้เป็นที่นับถือของชาวสุไหงโก-ลกและชาวจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวจีนในประเทศมาเลเซียเป็นอย่างมาก
ในเขตอำเภอสุไหงปาดี
อ่างเก็บน้ำโคกยาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 บ้านเจาะกด ตำบลสุไหงปาดี จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 4055 (อำเภอเมือง-อำเภอระแงะ) แยกซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 4056 สู้อำเภอสุไหงปาดี ระยะทางจากอำเภอสุไหงปาดีถึงปากทางสู่อ่างเก็บน้ำประมาณ 10 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบอกทางด้านขวามือ ซึ่งเป็นทางลูกรังอีกประมาณ 2 กิโลเมตร อ่างเก็บน้ำนี้เป็นบึงขนาดใหญ่ สามารถบรรจุน้ำได้ถึง 500,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ สร้างในวันที่ 30 กันยายน 2533 บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำจะมีถนนลูกรังล้อมรอบ ในตอนเย็นจะมีนกเป็ดน้ำบินมาที่อ่างประมาณ 100 กว่าตัว ซึ่งทางอำเภอสุไหงปาดีจะพัฒนา อ่างเก็บน้ำและอนุรักษ์นกเป็ดน้ำ โดยทำคลองส่งน้ำจากคลองโต๊ะแดงเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ สร้างศาลาริมน้ำ ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและให้เป็นที่ทำการของสภาตำบลด้วย
ในเขตอำเภอรือเสาะ
หนองบัว อยู่หมู่ที่ 6 ตำบลรือเสาะ ห่างจากอำเภอ 8 กิโลเมตร เป็นหนองน้ำธรรมชาติ เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ มีบัวหลวงสีแดงเป็นจำนวนมาก
ในเขตอำเภอระแงะ
วัชระอุทยาน อยู่ริมถนนนราธิวาส-ระแงะ อยู่ระหว่างโรงเรียนระแงะกับโรงเรียนตันหยงมัส ห่างจากตัวจังหวัด 19 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 14 ไร่ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวอำเภอระแงะ
น้ำตกซีโป เป็นน้ำตกที่ค้นพบใหม่บริเวณเชิงเขาลีแย่ ห่างจากสถานีรถไฟตันหยงมัสไปตามทางหลวงหมายเลข 4055 ระยะทาง 8 กิโลเมตร เป็นทางลูกรังสภาพไม่ดีนัก เป็นน้ำตก ยอดเขาสูง 5-6 ชั้น เบื้องล่างเป็นแอ่งหินขนาดใหญ่ สภาพภูมิประเทศทั่วไปร่มรื่นมาก ได้รับการประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 มีเนื้อที่เขตวนอุทยานทั้งสิ้น 625 ไร่ ผลไม้ที่ขึ้นชื่อของอำเภอระแงะ ได้แก่ ลองกองซีโป เป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกับลางสาด มีเปลือกหนาและไม่มียางเหมือนลางสาด มีเนื้อน้อยกว่า แต่มีรสหวานกว่า ลองกองซีโปเป็นผลไม้ ที่ขึ้นชื่อมากของอำเภอระแงะ เด่นกว่าลองกองในเขตอื่นๆ ของภาคใต้ทั้งหมด
ในเขตอำเภอบาเจาะ
อุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด และเทือกเขาสุไหงปาดี มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ของ 3 จังหวัดทางภาคใต้คือ อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา กิ่งอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี และอำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอรือเสาะ อำเภอระแงะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอจะแนะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ประมาณ 293 ตารางกิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) แล้วแยกที่บริเวณอำเภอบาเจาะประมาณ 2 กิโลเมตร ก็ถึงบริเวณที่ทำการอุทยาน สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบ มีภูเขาดินสลับซับซ้อน มียอดเขาตาเวหรือบูเก๊าะตาเว เป็นยอดเขาสูงที่สุดประมาณ 1,800 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย หินเป็นหินอัคนี บางส่วนเป็นหินปูนและกรวดขนาดใหญ่ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย คือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำสุไหงโก-ลก และแม่น้ำบางนรา อุทยานแห่งชาติแห่งนี้มีนกและสัตว์ป่าต่างๆ สัตว์ป่าหายากที่เคยพบในบริเวณนี้คือ แรด ชะนีมือดำ สมเสร็จ และเลียงผา เป็นต้น และยังมีพันธุ์ไม้ที่หายาก มีราคาแพง และกำลังจะสูญพันธุ์ คือ “หวายตะค้าทอง” และ “ปาล์มบังสูรย์” (หรือลีแป) ซึ่งจะพบในบริเวณป่าลึกบนภูเขาสูง และสันนิษฐานว่าจะมีอยู่แห่งเดียวในป่าบริเวณนี้ ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณอุทยานคือ
น้ำตกบาโจ หรือปาโจ เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมานานมากที่สุดของจังหวัดนราธิวาส คำว่าบาโจหรือปาโจเป็นภาษายาวี แปลว่า น้ำตก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาล และพระราชวงศ์เคยเสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้ น้ำตกบาโจได้รับการจัดตั้งเป็นเขตวนอุทยาน อยู่ระหว่างเส้นทางสายปัตตานี-นราธิวาส (ทางหลวงหมายเลข 42) เลยอำเภอบาเจาะ 1 ก.ม. หรือประมาณ 26 กิโลเมตร จากจังหวัดนราธิวาส มีแยกขวามือบริเวณ ก.ม. ที่ 73 เข้าไปอีก 2 ก.ม. เป็นทางลูกรัง น้ำตกบาโจ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มี 3 ชั้น น้ำตกจากแผ่นหน้าผาด้านตะวันตกของเขาน้ำค้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบูโด มีความสูงราว 60 เมตร สภาพโดยทั่วไปร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อน สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในบริเวณน้ำตกแห่งนี้คือ “ใบไม้สีทอง” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เลื้อย มีลักษณะใบคล้ายใบกาหลง หรือชงโค เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีทองและไม่เปลี่ยนแปลงอีกเลยไม่ว่าจะนำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิใด ซึ่งเชื่อว่ามีที่นี่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และยังมีตัวอาคารที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้ นอกจากนี้เหนือน้ำตกปาโจขึ้นไป 2-3 ก.ม. มีน้ำตกขนาดเล็กแห่งหนึ่งชื่อน้ำตกบีซู หรือน้ำตกนางใบ้ แต่ไม่ได้จัดให้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน ทางอำเภอบาเจาะได้จัดไว้เป็นที่ดำเนินการบริการน้ำประปาในท้องถิ่นเท่านั้น
น้ำตกภูแว อยู่บริเวณบ้านปะลุกาแปเราะ ตำบลปะลุกาสาเมาะ ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอบาเจาะประมาณ 10 กิโลเมตร น้ำตกภูแวเป็นผาน้ำตกสูง 4 ชั้น ซึ่งชั้นที่ 2 เป็นชั้นที่สวยที่สุด
น้ำตกฉัตรวาริน ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านโผลง ตำบลโต๊ะเด็ง ในเขตอำเภอสุไหงปาดี ห่างจากตัวอำเภอ 6 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 4056 ถึงอำเภอสุไหงปาดี ผ่านโรงพยาบาลสุไหงปาดี แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนอีกประมาณ 6 กิโลเมตร รวมระยะทางจาก นราธิวาสถึงน้ำตกประมาณ 56 กิโลเมตร สภาพทางเข้าน้ำตกเป็นถนนลูกรัง ในหน้าฝนสภาพทางจะไม่ดี บริเวณโดยรอบเป็นป่า โดยเฉพาะทุเรียนป่ามีดกมาก จะเริ่มสุกราวเดือนสิงหาคม-กันยายน ตัวน้ำตกเป็นน้ำตกสูง 7 ชั้น สวยงามมาก
มัสยิด 200 ปี (มัสยิดวาดิลฮูเซ็น หรือมัสยิดตะโล๊ะมาเน๊าะ) หมู่ที่ 1 บ้านตะโล๊ะมาเน๊าะ ตำบลลุโบะสาวอ ห่างจากจังหวัดนราธิวาส 25 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอบาเจาะประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 42 แล้วแยกที่บ้านบือราแง มัสยิดแห่งนี้สร้างจากไม้ตะเคียนทั้งหลัง ขนาดกว้าง 5 วา 12 วา มีลักษณะพิเศษคือสร้างแบบศิลปะไทยพื้นเมืองผสมกับศิลปะแบบจีน และแบบมลายู เป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน ส่วนที่เด่นที่สุดคือตัวหลังคาซึ่งเป็นศิลปะแบบจีน ส่วนหลังคาหลังที่ 2 จะมีจั่วอยู่บนหลังคา และมีฐานบัวหงายรองจั่วอยู่บนหลังคาอีกชั้นหนึ่ง ส่วนฝาผนังจะเป็นแบบไทยพื้นเมือง ใช้ไม้ทั้งแผ่นเป็นฝา แล้วเจาะฝาเป็นหน้าต่าง และช่องลมมีลวด ลายต่างๆ เช่น รูปใบไม้และดอกไม้สลับกับลายจีน นับว่าเป็นความสามารถของจิตรกรผู้ออกแบบที่สามารถประยุกต์ศิลปะ 3 ชาติเข้าด้วยกันอย่างงดงาม
หลวงพ่อแดงวัดเชิงเขา ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 บ้านเชิงเขา ตำบลปะลุกาสาเมาะ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบาเจาะประมาณ 15 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) เลี้ยวซ้ายที่บ้านต้นไทรระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร หลวงพ่อแดงมรณะภาพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2522 รวมอายุได้ 90 ปี ภายหลังจากที่ท่านได้มรณะภาพไปแล้ว 3 ปี ศพของท่านก็ยังไม่เน่าเปื่อย ประชาชนจึงได้เกิดความศรัทธาและนำศพ ของท่านไปบรรจุไว้ในโลงแก้ว เพื่อให้เป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ในเขตอำเภอแว้ง
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโละจูด ตั้งอยู่ที่ 95 หมู่ 3 บ้านสูแก ตำบลโละจูด ห่างจากที่ว่าการอำเภอแว้งประมาณ 11 กิโลเมตร พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่รวบรวมวัตถุโบราณที่ขุดได้และบางส่วน ได้จากการเก็บสะสมจากอำเภอแว้ง และละแวกใกล้เคียง มีโบราณวัตถุหลายชนิด เช่น เครื่องถ้วยชาม หม้อ ไห มีดพร้า ฯลฯ ซึ่งเครื่องใช้ดังกล่าวล้วนแต่เป็นของโบราณซึ่งมีอายุร่วม 1,000 ปีขึ้นไป โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ทุกวัน ในวันและเวลาราชการ