ทฤษฎีบุคลิกภาพ
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับทฤษฎีบุคลิกภาพ
1 ความหมายของทฤษฎีบุคลิกภาพ
คำว่า“ทฤษฎี”พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำอธิบายว่า “ความเห็นเกี่ยวกับลักษณะที่คิดคาดเอาตามหลักวิชา เพื่อเสริมเหตุ และรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์ หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมา อย่างมีระเบียบ” ในภาษอังกฤษทฤษฎีตรงกับคำว่า “Theory“ ซึ่งมีความหมาย 5 ประการ คือ ทฤษฎีเกิดจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงทั้งหลาย (Set of Facts) มีหลักเกณฑ์ (Principle) ที่เป็นข้อสรุปเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ ได้มีเกณฑ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยในการอธิบายปรากฏการณ์ (Phenomena) มีสมมติฐาน (Hypothesis) ช่วยเป็นแนวทางในการค้นคว้า และสืบสวน และท้ายคือได้แนวคิดทางทฤษฎี ที่เป็นนามธรรม (Abstract Thought) จากความหมายของทฤษฎีที่กล่าวมา อาจโยงความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงที่ต้องอาศัยเหตุผล ในการที่จะอธิบาย ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล จากปรากฏการณ์ต่างๆ แล้วนำมาตรวจสอบ พร้อมกับตั้งสมมติฐานอีกครั้ง เมื่อเกิดความมั่นใจ และมีความเชื่อมั่นก็สรุปแนวคิดนั้นให้เป็นรูปธรรมสร้างเป็นทฤษฎีต่อไป และทฤษฎีที่ถูกสร้างนั้นๆ ก็สามารถที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ ดังจะอธิบายความหมาย ดังนี้
ทฤษฎีบุคลิกภาพ หมายถึง ประกอบด้วยสมมุติฐาน และความคิดรวบยอดต่างๆ ซึ่งได้มาจากการรวบรวมผลการศึกษาค้นคว้า และวินิจฉัยหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน และเสนอแนะความสัมพันธ์ใหม่ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เพอวิน ( Pervin . 1970 ,อ้างอิงจาก นวลลออ สุภาผล. 2527 : 5-7 )
ฮอลล์แอนด์ลินย์เซ (Hall & Lindzey. 1970 : 9) อธิบายความหมายของคำว่า ทฤษฎีบุคลิกภาพดังนี้ ทฤษฎีบุคลิกภาพประกอบด้วยสมมุติฐาน ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริง
ทฤษฎีบุคลิกภาพ หมายถึง สมมุติฐานที่ยังไม่ได้พิสูจน์ หรือเป็นความจริงที่ได้จากการคาดคะเนซึ่งไม่สามารถชี้เฉพาะลงไปว่าจริง หรือไม่ เมื่อใดที่ทฤษฎีได้รับ การยอมรับทฤษฎีจึงจะกลายเป็นจริง ถึงแม้ว่าทฤษฎีนั้นจะได้รับการยอมรับ หรือมีผู้เห็นด้วย ก็ไม่ได้หมายความว่า ทฤษฎีนั้นจะถูกต้องเสมอไป การตั้งทฤษฎีบุคลิกภาพเป็นการค้นหาความจริงโดยปราศจากความลำเอียง และทฤษฎีมักจะถูกนำไปวิจัยในลักษณะต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้ทฤษฎีนั้นมีความจริงยิ่งขึ้น
จากความหมายของทฤษฎีบุคลิกภาพที่กล่าวมาข้างต้น พอจะสรุป ความหมายของทฤษฎีบุคลิกภาพได้ว่า ทฤษฎีบุคลิกภาพเป็นความพยายามของนักจิตวิทยา และนักการศึกษาอธิบาย เรื่องมนุษย์มีลักษณะต่างๆ ที่แตกต่างกัน มีแบบแผนของพฤติกรรมที่แตกต่างกัน มีสาเหตุมาจาก สิ่งใด สามารถที่จะควบคุม หรือสามารถที่จะทำนายพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกว่าจะเป็นอย่างไร และรวมเรียกว่าบุคคลนั้นๆว่ามีบุคลิกภาพเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของบุคคล แนวคิดเรื่องทฤษฎีบุคลิกภาพจึงเป็นแนวทางในการอธิบายแนวโน้มที่บุคคลจะมีบุคลิกภาพแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ซึ่งทฤษฎีบุคลิกภาพจะสามารถช่วยอธิบายได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในความเป็นมนุษย์ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ซับซ้อนอีกมากมายที่ทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพแตกต่างกัน ดังนั้นจากความหมายของ ทฤษฎีบุคลิกภาพจึงเป็นเพียงแนวทางหนึ่ง ที่นักจิตวิทยาจะอธิบายความแตกต่างของบุคคลโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ การสังเกตอย่างมีแบบแผน การทดลอง การสัมภาษณ์ การใช้แบบทดสอบ เพื่อหาความเกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กันของบุคลิกภาพของบุคคล
ความสำคัญของทฤษฎีบุคลิกภาพ
ในเรื่องความสำคัญของทฤษฎีบุคลิกภาพ อธิบายว่าพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมานานแล้ว แต่เดิมการศึกษาเรื่องนี้อาจ ถ่ายทอดเป็นนิทาน นิยาย โครง กลอน เป็นต้น การถ่ายทอดออกเป็นเรื่องราวในลักษณะต่างสะท้อนให้เห็นว่าบุคคลในยุค หรือในสมัยนั้นๆ มีพฤติกรรมอย่างไร และทำไมจึงทำเช่นนั้นระยะต่อมาการศึกษาเรื่องพฤติกรรมก็เป็นแบบแผนขึ้นมีการศึกษา และสังเกตในเรื่องความเจริญเติบโต และเรียนรู้ซึ่งเป็นการศึกษา ที่มีระเบียบแบบแผนขึ้น โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ และถือว่าบุคลิกภาพเป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง เป็นการศึกษาที่มีระบบมีหลักเกณฑ์ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาการวิเคราะห์จิต (mental analysis)ต่อมาได้ทำการศึกษาเรื่องการตอบสนอง (response) กระบวนการปรับตัว (adjustment pattern) และการแสดงออกของพฤติกรรมด้านอื่นๆ ซึ่งรวมกันเป็นบุคลิกภาพ การเข้าใจความหมาย และการแสดงออกของบุคลิกภาพ เป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อน โดยเฉพาะการที่จะเข้าใจเรื่องธรรมชาติต่างๆ สาเหตุ การทำนาย และการควบคุม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพ ซึ่งจำเป็นต้องทำการศึกษาเรื่องบุคลิกภาพให้กว้างขวาง และลึกซึ้งโดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้างของบุคลิกภาพ และทฤษฎีบุคลิกภาพที่มีรูปแบบอย่างไร เพื่อใช้ในการอธิบายพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาว่ามีบุคลิกภาพเช่นใด(นวลละออ สุภาผล. 2527 : 20)
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าบุคลิกภาพมีความสำคัญต่อบุคคลมาก และการเสริมสร้างบุคลิกภาพก็ต้องเริ่มที่ตนเอง ตั้งการดูแลร่างกายให้สะอาด รักษาจิตใจให้ดี มีการแต่งกายที่เหมาะสมถูกต้องเหมาะสม มีการสื่อสารทางบวกที่ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี บุคลิกภาพจะทำให้บุคคลมีความมั่นใจในตนเอง เกิดความเชื่อมั่นในความสามารถของตน และพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงวัยต่างๆ
องค์ประกอบของทฤษฎีบุคลิกภาพ
ทฤษฎีมีองค์ประกอบที่สำคัญๆ 3 ส่วน คือ โครงสร้าง (structure) กระบวนการ (process) และเนื้อหา (content)
1. โครงสร้าง (structure) หมายถึง กระสวน (pattern)ซึ่งกระสวนนี้มีความสัมพันธ์คงที่ช่วยในการคิดเกี่ยวกับตัวแปรต่างๆ ที่ปรากฏโดยให้ความกระจ่างใน สาเหตุของความสัมพันธ์ และลักษณะต่างๆ
2. กระบวนการ (process) หมายถึง วิธีการ หรือวิถีทางที่จะเกิดความสัมพันธ์ต่าง ๆตัวอย่าง ทฤษฎีทางจิตวิทยา เรื่องการปฏิสัมพันธ์ในสังคม (social interaction) กระบวนการ ที่เกิดขึ้น คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือกระบวนการสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับ สิ่งเร้าต่างๆ เป็นต้น
3. เนื้อหา (content) หมายถึง สาระรายละเอียดที่ศึกษา เช่น แนวความคิดต่างๆ เจตคติ ภาษา และสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องในการอธิบายทฤษฎีนั้นๆ
โดยทั่วไปแล้วในการสร้างทฤษฎีบุคลิกภาพนั้น มักจะอาศัยข้อมูลที่ได้จากการสังเกต หรือการทดลองแล้วใช้วิธีการอนุมาน เพื่อการอธิบายผลจาการสังเกต หรือการทดลองดังกล่าว แต่ในบางครั้ง อาจจะใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างทฤษฎีขึ้นมา และเมื่อภายหลัง เมื่อมีปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีนั้นเกิดขึ้น ก็จะใช้ทฤษฎีนั้น อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีแนวคิดในการสร้างทฤษฎี โดยอาศัยหลักการในการสร้างทฤษฎีที่สำคัญ 3 ประการได้แก่
สร้างจากการรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์ และนำข้อมูลมาตั้งเป็นทฤษฎี หรืออาจเรียกว่าเป็นสมมุมติฐาน ที่อ้างอิงประสบการณ์นั้นเอง
สร้างโดยการขยายกฎ หรือทฤษฎีที่มีอยู่เดิมเป็นการตรวจวิเคราะห์ทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว โดยเพิ่มความคิดใหม่ หรือตัดตอนสิ่งที่ไม่เห็นด้วยอกไป หรือปรับปรุงเป็นอีกทฤษฎีหนึ่ง ที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับของเดิม แต่มีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป
สร้างโดยเปรียบเทียบกับทฤษฎีที่มีอยู่เดิม โดยมีโครงสร้าง และกระบวนการ ที่เป็นไปในทำนองเดียวกับ แต่มีเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันออกไป
ความสัมพันธ์ระหว่างสาระสำคัญในทฤษฎี คือ ข้อเท็จจริง (fact) ความคิดรวบยอด หลักการ สมมุติฐาน ทฤษฎี และ กฎ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งได้มา จากกระบวนการศึกษาโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สามารถแบ่งออกได้ 6 ประเภทคือ ข้อเท็จจริง ความคิดรวบยอด หลักการ สมมุติฐาน ทฤษฎี และกฎความรู้เรื่องต่างๆ เหล่านี้ จะเข้ามาสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน การศึกษาจิตวิทยา ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง ผู้ศึกษาจำเป็นต้อง เข้าใจความหมายขององค์ความรู้แต่ละประเภทดังกล่าวข้างต้น และเข้าใจถึงความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องซึ่งกัน และกันของความสัมพันธ์หนึ่งกับ ความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่ง โดยจะอธิบายเป็นหัวข้อดังนี้
1. ข้อเท็จจริง หมายถึงสิ่งที่สังเกตได้โดยตรง และต้องเป็นความเป็นจริงโดยสามารถทดสอบได้ผลเหมือนเดิมทุกครั้ง ตัวอย่าง ข้อเท็จจริงทางจิตวิทยา เช่น พัฒนาการทางด้านร่างกายของมนุษย์จะเริ่มจากส่วนใหญ่ไปหาส่วนน้อย และพัฒนาการของมนุษย์ในแต่ละช่วงมีอัตราเร็ว ไม่เท่ากัน ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถสังเกต หรือทดสอบได้ว่าถูกต้อง หรือไม่ แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือจะต้องบอกวิธีการที่นำมาใช้ทดสอบ และข้อเท็จจริงนั้นๆ ด้วย เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ทำการตรวจสอบ ความถูกต้องของข้อเท็จจริงนั้นๆ ได้ด้วย
2. ความคิดรวบยอด (Concept) เมื่อบุคคลสังเกตวัตถุ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ จะทำให้เกิดการรับรู้ ซึ่งเมื่อนำเอาการรับรู้นี้มาสัมพันธ์กับประสบการณ์ จะทำให้เกิดความคิดรวบยอด ซึ่งเป็นความเข้าใจ เกี่ยวกับวัตถุ หรือปรากฏการณ์นั้นๆ และทำให้เกิดความรู้อื่นความคิดรวบยอดเป็นเรื่องของ แต่ละบุคคลซึ่งบางคนอาจมีความคิดรวบยอดได้เพียงแคบๆ แต่สำหรับบางคนอาจมีความคิดรวบยอดของวัตถุ หรือปรากฏการณ์อย่างเดียวกัน ได้กว้างขวางกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรู้เดิมของเขา ประสบการณ์ และวุฒิภาวะของบุคคลนั้นด้วย ตัวอย่างเช่น ความดี เด็กอาจหมายถึงการปฏิบัติตาม คำสั่งสอนของพ่อแม่ แต่สำหรับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีการศึกษาสูงขึ้นนั้นบุคคลก็จะมีความคิดรวมยอดที่กว้างขวางออกไปอีก ว่าความดีก็ คือพฤติกรรมที่มีกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต เป็นต้น ดังนั้นความคิดรวบยอดของคนหนึ่งอาจ เป็นเพียงข้อเท็จจริงของคนอีกคนหนึ่ง หรือความคิดรวบยอดของคนวัยหนึ่ง ก็อาจเป็นเพียงข้อเท็จจริง ของคนคนนั้น เมื่อเขาเจริญเติบโตขึ้น และมีประสบการณ์มากขึ้น หรือมีการศึกษาเพิ่มขึ้น ความคิดรวบยอดในเรื่องนั้นๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ การเกิดความคิดรวบยอดถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่มนุษย์จะใช้ในการคิดค้นเรื่องราวต่างๆ ที่ตนเองสนใจ ส่วนการที่บุคคลจะเกิดความคิดรวบยอดในเรื่องใดบุคคลนั้น บุคคลจะต้องเข้าใจความหมายของสิ่งนั้นอย่างแท้จริง และฝังแน่นในจิตใจ มีความชัดเจนในสิ่งนั้นๆด้วยตัวอย่างความคิดรวบยอดในทางจิตวิทยาเช่น คนทุกคนที่เกิดมามีความแตกต่างกัน ในวัยเด็กเป็นวัยแห่งการวางรากฐานของชีวิต เพื่อที่จะดำเนินชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าศาสนาทำให้คนเป็นคนดี
จากที่กล่าวมาข้างต้น อาจสรุปความหมายของคำว่า ความคิดรวบยอด หมายถึง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุสิ่งใดๆ หรือ ประสบการณ์ต่างๆ มาสัมพันธ์กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคลที่สั่งสมมาตั้งแต่เยาว์วัย โดยนำเอาการรับรู้ และเกิดการแปลความหมาย ทำให้เกิดเป็นความคิดรวบยอดขึ้น
หลักการ (principle ) หลักการเป็นความจริงที่สามารถใช้เป็นหลักในการอ้างอิงได้เราทราบแล้วว่าถ้าเอาข้อเท็จจริง ที่สำคัญมาผสมผสานกัน จะได้ความคิดรวบยอด ในทำนองเดียวกัน ถ้านำความคิดรวบยอดที่สัมพันธ์กันมาผสมผสานกัน และสามารถใช้อ้างอิงได้ ก็จะเป็นหลักการ ดังนั้นหลักการจะต้อง เป็นความจริงที่สามารถทดสอบได้ และได้ผลเหมือนเดิม หลักการจึงเป็นความคิดรวบยอดได้ แต่ความคิดรวบยอดไม่จำเป็นต้อง เป็นหลักการเสมอไป ทั้งนี้ เพราะความคิดรวบยอดเป็นเพียงความคิด ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งแต่ละคน อาจมีความคิดรวบยอดของสิ่งเดียวกันได้แตกต่างกัน แต่เมื่อได้พิจารณาอย่างรอบคอบที่สุดแล้ว สามารถนำมาเทียบเคียง นำมาทดลองจนสามารถหาคำอธิบายความคิดรวบยอดนั้นก็จะเป็นหลักการได้ ตัวอย่างเช่น หลักการทางจิตวิทยาเชื่อว่าระบบที่มีความตึงเครียด และไม่สามรถผ่อนคลายความตึงเครียดนั้นได้ จะแยกตัว ออกจากระบบอื่นๆ และอาจจะแยกตัวอยู่อย่างนั้นนาน ถ้าไม่ได้รับการตอบสนอง และจะเป็นที่เก็บพลังอันถาวร จนกล่าวเป็นนิสัยนั่นเอง การเพิ่มความตึงเครียด หรือการถ่ายเทพลังงานในระบบอันเกิดจากสิ่งเร้า จะทำให้ เกิดความต้องการ ความต้องการอาจเป็นความต้องการทางด้านร่างกาย เช่น ความหิว ความกระหาย หรือ ความต้องการทางเพศ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่เกิดขึ้นในพัฒนาการของบุคคล เปลี่ยนแปลงตามอายุที่ สามารถแสดงได้ สามารถเปลี่ยนในรูปของสนามชีวิต อินทรีย์ มีกระบวนการ 2 อย่างเกิดขึ้นสลับกันไปเสมอ คือความสมดุล และขาดสมดุล
สมมุติฐาน (hypothesis) สมมุติฐานเป็นข้อความซึ่งเป็นคำตอบที่อาจจะเป็นไปได้ของปัญหาที่ผู้สนใจศึกษาเข้าใจสมมุติฐานมักได้จากการคาดคะเน ซึ่งอาจจะเกิดจากความเชื่อสมมุติฐานใดเป็นที่ยอมรับ หรือสมมุติฐานใดไม่เป็นที่ยอมรับย่อมขึ้นอยู่กับหลักฐาน หรือเหตุผลที่จะสนับสนุน หรือคัดค้าน สมมุติฐานที่พิสูจน์ได้ว่าถูกต้อง เป็นที่ยอมรับในสมัยหนึ่ง แต่อีกช่วงเวลาหนึ่งสมมุติฐานนั้นอาจเปลี่ยนแปลง หรือถูกยกเลิกก็ได้ เมื่อมีผู้ค้นพบความจริง หรือหลักฐานที่อื่นที่มาคัดค้าน และก็มีบางสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นไว้เป็นเวลานาน จนเป็นที่เชื่อถือได้ โดยไม่มีผลจากการสังเกต หรือการทดลองมาลบล้างได้ สมมุติฐานก็กลายเป็นกฎเช่นตัวอย่างสมมุติฐานทางจิตวิทยาที่เป็นสมมุติฐาน เช่น เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบควบคุม จะมีพฤติกรรมค่อนข้างก้าวร้าว กว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตยซึ่งเด็กในกลุ่มนี้มักเคารพเหตุผลเข้ากับคนอื่นได้ เพศชายมีความสามารถทางคณิตศาสตร์สูงกว่าเพศหญิง
5. ทฤษฎี (theory) ทฤษฎีประกอบด้วยสมมุติฐานที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงแต่เป็นแนวทางในการศึกษา เพื่อพยายามอธิบายบนพื้นฐานของ ความจริง หลักการ เหตุผล และเรื่องในส่วนที่สัมพันธ์กับกฎ หรือหลักการ จนเป็นที่ยอมรับ หรือ ทฤษฎี คือ ข้อความซึ่งบุคคลให้การยอมรับกันทั่วไป ในการอธิบาย กฎ หรือ หลักการ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ทฤษฎีคือข้อความที่ใช้อธิบาย ปรากฏการทั้งหลายนั้นเอง ตัวอย่างทฤษฎีทางจิตวิทยา เช่น ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม ทฤษฎีการเรียนรู้สังคม เป็นต้น
6. กฎ (law) กฎกับหลักการอาจนำมาใช้แทนกันได้ เพราะกฎก็คือหลักการอย่างหนึ่ง แต่เป็นหลักการที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง เหตุกับผล และอาจเขียนสมการแทนได้ กฎมีความเป็นจริงในตัวของมันเอง และสามารถทดสอบได้ หากมีผลการทดลองใดมาขัดแย้งกฎนั้นก็ต้องล้มเลิกไป แม้กฎจะบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เหตุกับผลว่าเป็นอย่างไร และเขียนสมาการแสดงความสัมพันธ์ได้แต่กฎไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ว่า ทำไมจึงมีความสัมพันธ์เช่นนั้น แต่สิ่งที่จะอธิบายความสัมพันธ์ในกฎได้ คือทฤษฎี ตัวอย่างกฎทางจิตวิทยา
สรุปความสัมพันธ์ของข้อเท็จจริง ความคิดรวบยอด หลักการ สมมุตฐาน ทฤษฎี และ กฎข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันมากๆนำมาจัดหมวดหมู่ แล้วสรุปเป็นความคิดรวบยอด หรือ สมมุติฐาน และเมื่อรวบรวมความคิดรวบยอด และสมมุติฐานร่วมกัน สามารถตั้งเป็นทฤษฎี จากทฤษฎีมีการอนุมานความรู้ ที่ได้สรุปเป็นหลักการ หรือกฎ นำหลักการนั้นมาอนุมาน ต่อไปอีกย่อมทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้มีการพิสูจน์ ทดลอง ผลจากการทำนายจะได้ข้อเท็จจริงต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นเนื้อหาความรู้ที่แตกแยกออกไปอีก และเป็นข้อมูลที่จะใช้ในการสร้างความคิดรวบยอด และทฤษฎีได้ต่อไปอีก
หน้าที่ และบทบาทของทฤษฎีบุคลิกภาพ
หน้าที่ และบทบาทของทฤษฎีบุคลิกภาพ โดยทั่วไปแล้วทฤษฎีบุคลิกภาพจะมีหน้าที่ และบทบาทต่างๆ ดังนี้
1. นำเสนอความคิดรวบยอด และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการอธิบายเกี่ยวกับบุคลิกภาพ
2. ช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ยากต่อการทำความเข้าใจ ให้ง่ายขึ้นด้วยวิธีการเชื่อมโยงข้อมูลมาจัดเป็นระบบ และอธิบายถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว เพื่อง่ายต่อการเข้าใจ
3. เป็นเครื่องมือในการทำนาย หรือชี้แนะแนวทางว่าภายในสถานการณ์นั้นๆ บุคคลจะแสดงอะไรบ้างอันเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ของวิธีการ และเป้าหมายที่บุคคลวางไว้
4. เป็นการส่งเสริม ให้มีการศึกษาวิจัย เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับความคิดรวบยอด และกฎเกณฑ์ต่างๆ ตลอดจนกระตุ้นให้มีการพัฒนาวิธีการที่จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ได้มาจัดระบบอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อยืนยันถึงความสมบูรณ์ของทฤษฎีมากขึ้น
5. อธิบายถึงความคงที่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากตัวอย่างว่าทำไมบางคนจึงมีแบบพฤติกรรมคงที่เป็นระยะเวลายาวนาน ในขณะที่คนอื่นๆ เปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว
6. ช่วยให้เข้าใจความแปรปรวน ของบุคลิกภาพ และความเจ็บป่วยทางจิต และอธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดความแปรปรวนนั้น
7. เพื่ออธิบายว่าบุคลิกภาพพัฒนาได้อย่างไร
เพื่ออธิบายโครงสร้างของบุคลิกภาพ
ช่วยให้เข้าใจองค์ประกอบต่างๆ ของบุคลิกภาพว่า ทำง่านร่วมกันอย่างไร
อาจสรุปได้ว่าหน้าที่ และบทบาทของทฤษฏีบุคลิกภาพ ช่วยทำให้นักจิตวิทยา และนักการศึกษา มีมุมมองที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการิเคราะห์พฤติกรรมของบุคคล ไม่ใช่นั่งเทียน หรือดูวัน เดือน ปี และวิเคราะห์ว่าบุคลิกภาพเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ทฤษฎีบุคลิกภาพ
โดยทั่วๆ ไปทฤษฏีบุคลิกภาพ จะมีหลายสำนักที่มีแนวคิดที่แตกต่างออกไป แต่ในที่นี้ได้แบ่งทฤษฏีบุคลิกภาพออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 4 ทฤษฏี คือ
1 ทฤษฎีแบ่งประเภท (Type Theories)
2 ทฤษฎีลักษณะนิสัย (Trait Theories)
3 ทฤษฎีพัฒนาการ (Development Theories)
4 ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Dynamic Theories)
สำหรับทฤษฏีบุคลิกภาพจะทำให้ผู้ศึกษาทราบแนวคิดของนักจิตวิทยาในกลุ่มต่างๆ ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับบุคลิกภาพที่ต่างกัน และทำให้ทราบว่าการเกิดบุคลิกภาพในแต่ละแนวคิดเกิดจากปัจจัยใด บางทฤษฏีอาจศึกษาลักษณะรูปร่างทำให้เกิดบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน บางทฤษฏีอธิบายว่าจิตเป็นตนเหตุ และบางทฤษฏีบอกว่าพฤติกรรมทำให้เกิดบุคลิกภาพต่างๆ ดังจะอธิบายรายละเอียดเป็นลำดับ คือ
ทฤษฎีบุคลิกภาพแบบแบ่งประเภท (Type Theories)
ทฤษฎีแบ่งประเภท (Type Theories) ได้แก่ ทฤษฎีของ Ernest Kretschmer ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Sheldon และทฤษฎีบุคลิกภาพของ Carl G. Jung สำหรับทฤษฎีแบ่งประเภท (Type Theories) ผู้เขียนใช้หนังสือของ (กันยา สุวรรณแสง. 2533: 69 – 74) โรเบิร์ต อี. ซิลเวอร์แมน(Robert E. Silverman แปลโดยสุปราณี สนธิรัตน. 2547 : 260 –262) และ (นวลละออ สุภาผล. 2527 : 124 – 152) อธิบายโดยสรุปเป็นภาพรวม ดังนี้
ทฤษฎีบุคลิกภาพแบบแบ่งประเภท (Type Theories) บางท่านเรียกสั้นๆ ว่า ทฤษฎีแบบแบ่งประเภท บางตำราเรียกทฤษฎีแบบบุคลิก ซึ่งทฤษฎีบุคลิกภาพ แบบแบ่งประเภทมีมาแต่โบราณกาลแล้ว และปัจจุบันก็ยังเชื่อถือกันอยู่ และมีผู้เชื่อถือกันมาก แม้จะไม่เป็นที่ยอมรับของนักจิตวิทยามากนักก็ตาม ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่ขึ้นอยู่กับการสังเกตโดยทั่วๆ ไปของนักจิตวิทยา และมุ่งพิจารณาเกี่ยวกับตัวบุคคลโดยพิจารณาแบ่งบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็นการแบ่งประเภท เช่น การแบ่งประเภทของร่างกาย (Body Type) การแบ่งประเภททางจิตวิทยา (Psychological Type) ใจความสำคัญของทฤษฎีนี้ คือ บุคลิกภาพของบุคคลเป็นไปตามแบบขององค์ประกอบทางกาย แบบ หรือลักษณะของรูปร่างจึงเป็นตัวกำหนดบุคลิกภาพ การจำแนกบุกคลิกภาพออกเป็นแบบๆ นั้น เคยมีมาแต่เก่าก่อน จวบจนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการแบ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น คนที่มีบุคลิกแบบ “ชอบเป็นใหญ่” (Dominating) ก็เป็นคนที่มีลักษณะที่มีองค์ประกอบบุคลิกภาพ คือ มีความมักใหญ่ใฝ่สูง กล้าตัดสินใจ มักจะหยิ่งมั่นใจในตนเอง ไปไหนไปกัน กล้าได้กล้าเสีย รักความสะดวกสบาย ไม่ยอมรับผิด พฤติกรรมเหล่านี้จะแสดงออกให้เห็นได้จากการใช้วิถีชีวิตที่บุคคลนั้นๆ ดำเนินชีวิตของเขา (Lift style) ในสมัยโบราณนักจิตวิทยามีความคิด และเชื่อกันว่า บุคคลมีบุคลิกภาพแบบใดเป็น เพราะบุคคลมีลักษณะ และส่วนประกอบของร่างกายเฉพาะตามแบบของคนนั้นๆ เท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีนักจิตวิทยา และนักวิทยาศาสตร์มีแนวความคิดใหม่ว่า เราไม่สามารถจะแบ่งมนุษย์ออกเป็นแบบๆ ตามลักษณะทางร่างกาย แล้วอธิบายว่าบุคคลนั้นๆ ควรมีบุคลิกภาพอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการแบ่งเรื่องบุคลิกภาพอย่างจำกัดเกินไป บุคคลที่มีบุคลิกภาพประเภทเปิดเผย หรือแสดงตัว อาจมีลักษณะบางอย่างที่โน้มเอียงไปในทางบุคลิกภาพแบบเก็บตัวก็ได้ คือ มองเห็นตามความเป็นจริง ทฤษฎีการแบ่งบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็นประเภทๆ นี้ แม้จะมีนักจิตวิทยา บางท่านไม่ยอมรับ แต่ก็ยังมีผู้นิยมใช้อ้างอิงกันอยู่เสมอ ดังจะอธิบายให้เข้าใจพอสังเขป คือ การจำแนกบุกคลิกภาพออกเป็นแบบๆ ใช้หลักการแบ่งบุคลิกภาพออกเป็นชั้นๆ และแบ่งบุคลิกภาพตามลักษณะรูปร่างทางกาย (Body Type) โดยทำการศึกษา และอธิบายลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลออกได้เป็น 3 ประเภท และยึดถือหลักเกณฑ์ต่างๆ กัน ทฤษฎีแบ่งประเภท (Type Theories) ได้แก่ ทฤษฎีของ Ernest Kretschmer แนวคิดนี้แบ่งบุคลิกภาพของบุคคลออกตามลักษณะของร่างกาย และจัดเป็นพวกๆ 4 พวก คือ พวกผอมสูง พวกอ้วนเตี้ย พวกสมส่วน และพวกไม่สมประกอบ ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Sheldon ซึ่งแบ่งบุคลิกภาพของบุคลออกเป็น 3 แบบ ตามลักษณะของรูปร่าง หรือโครงสร้างทางร่างกาย และทฤษฎีบุคลิกภาพของ Carl G. Jung ดังจะอธิบายโดยละเอียดดังนี้
1 ทฤษฎีบุคลิกภาพของเครทส์เมอร์ ( Kretschmer Theory )
เครทส์เมอร์ (Ernest Kretschmer) เป็นจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน เกิดปี ค.ศ. 1888 ได้แบ่งบุคลิกภาพของคนออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะทางร่างกาย หรือ สรีระ และนิสัย เครทส์เมอร์เชื่อว่ามนุษย์สามารถจำแนกลักษณะโดยถือเอาโครงร่างเป็นหลัก และสรุปว่าบุคลิกภาพทั่วไปของบุคคล มี 4 แบบ คือ
1. ประเภท Asthenic or Leptosomic type ได้แก่ พวกที่โครงร่าง หรือรูปร่างที่มีลักษณะผอมสูง ชะลูด ลีบเล็ก ท้องแฟบ แบบบาง ไหล่แคบ กระดูกใหญ่ ขาแขนยาว อกแฟบ กล้ามเนื้อน้อย ผิวไม่มีเลือดแฝด ร่างกายทุกส่วน หน้าอก คอ ขา ลำตัว ขาดลักษณะความหนาทึบ พวกนี้มีลักษณะนิสัยเงียบขรึม คิดมาก ค่อนข้างจะเก็บตัว มักจะมีใจนิสัยใจคอที่ผิดปกติได้ง่าย หากมีอะไรเข้ามากระทบกระเทือนจิตใจ
2. ประเภท Pyknic type ได้แก่พวกที่มีโครงร่างลักษณะอ้วนเตี้ย, ท้องพลุ้ย, มีใบหน้ากลม และลำตัวกลมป้อมเตี้ย เป็นพวกที่ศีรษะเล็ก หน้าอก กระเพาะอาหารพัฒนาสมบูรณ์ยิ่งกว่า ส่วนอื่นๆ ลำตัวสมบูรณ์ด้วยไขมัน ลำคอหนา ใบหน้าแบน แขนขาสั้น ใบหน้าเต็ม ไหล่กว้าง มีนิสัยปล่อยตัวตามสบาย เป็นแบบพวกแสดงตัว ชอบแสดงตัว อารมณ์อ่อนไหวเปลี่ยนแปลงง่าย โกรธง่ายหายเร็วถ้ามีสิ่งล่อใจดีๆ ชอบอยู่เป็นกลุ่ม หัวเราะได้ทั้งวันไม่ชอบทำงานหนัก
3. ประเภท Athetotic or Athletic or Muscular type ได้แก่พวกร่างกายสมส่วน แบบนักกีฬา รูปร่างสันทัด เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อแข็งแรง กล้ามเนื้องาม ช่วงขาช่วงแขนสมส่วน ร่างกายสูงพอเหมาะ อกผายไหล่ผึ่ง เป็นพวกมีพละกำลัง บางครั้งชอบก้าวร้าว มีลักษณะนิสัยใจคอเป็นแบบกลางๆ ทั่วไป รักกลุ่มรัก เพื่อนฝูง
4. ประเภท Dysplastic type เป็นพวกไม่สมประกอบมีร่างกายบางส่วนผิดปกติธรรมดา หรือร่างกายผิดส่วน ค่อนข้างมีสติปัญญาต่ำ หรือมีปมด้อย พวกนี้มักมีพฤติกรรมที่ค่อนข้าง เป็นปัญหา มีลักษณะรูปร่างปะปนผสมผสานจากทุกๆ แบบที่กล่าวมา ไม่สามารถจัดเข้าประเภทใดประเภทหนึ่งดังกล่าวแล้วได้ มีลักษณะนิสัยเกเรสับสน ไม่เข้าใจตน การรับรู้ตนไม่ดีนัก
เครทส์เมอร์ ได้สรุปข้อสังเกต และการค้นคว้าของเขาไว้อีกประการหนึ่งว่า โครงสร้างของแต่ละบุคคลซึ่งอาจจะจัดจำแนกได้เป็นประเภทๆ ดังได้กล่าวแล้วนั้นโครงสร้างของแต่ละบุคคล ยังมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับลักษณะอารมณ์ของแต่ละบุคคลในประเภทต่างๆ เช่นคนอ้วนโดยส่วนใหญ่มักจะชอบสมาคม และอารมณ์ดี เป็นต้น
2 ทฤษฎีบุคลิกภาพตามแนวความคิดของเชลดัน ( Sheldon’s Theory )
เชลดัน (William H. Sheldon) เป็นนักจิตวิทยา และแพทย์ชาวอเมริกัน ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องลักษณะความสัมพันธ์ของโครงร่างของมนุษย์ กับการแสดงออก ในลักษณะต่างๆ ของมนุษย์ Sheldon ได้ถ่ายรูปภาพของคนไข้ที่เข้ามาในคลินิก เชลดันเก็บข้อมูลโดยการนำภาพของคนไข้เป็นจำนวนมากมาทำ การพิจารณาลักษณะโครงร่าง และแบ่งประเภทของโครงร่างออกเป็นกลุ่มๆ และสรุปเป็นทฤษฎีว่า มนุษย์มีลักษณะทางรูปร่างแตกต่างกัน และเขาแบ่งโครงสร้างของร่างกายออกเป็น 3 กลุ่ม ทฤษฎีบุคลิกภาพตามแนวความคิดของเชลดัน (Sheldon’s Theory ) แบ่งบุคลิกภาพเป็น 3 พวกมีดังนี้
1. พวกที่มีโครงสร้างแบบ Ectomorphic หรือ Ectomorphy ประเภทนี้มักเป็นคนผอมสูง เอวบางร่างน้อย กล้ามเนื้อน้อย ไหล่ห่อ นิ้วมือเรียวยาว แขนขายาว ท่าทางบอบบาง ผิว และเส้นผมละเอียด หน้าอกแบนแฟบ ทรวดทรงชะลูด ประสาทไวต่อความรู้สึกมาก ชอบหลบหนีสังคม กลัวการอยู่ในกลุ่ม ไม่ค่อยกล้า ท่าทางอ่อนแอ ไม่กระตือรือร้น ใจน้อย ชอบสันโดษ ชอบอยู่ตามลำพัง อารมณ์อ่อนไหว วิตกกังวลง่าย ช่างคิด มันเป็นโรคจิตประเภท Heboid คือ ชอบหลบหนีสังคม หุ่นแบบเอคโตมอฟี เชลดันว่าจะเป็นผู้มีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพที่เรียกว่า เซเรโบรโทเนีย(Cerebrotonia) คือเป็นคนไม่ชอบสังคม มีความเครียดทางอารมณ์อยู่เป็นนิจ ตัดสินใจอะไรบางอย่างรวดเร็ว เด็ดขาด นอนน้อย และชอบการสันโดษ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆบุคคล ที่มีลักษณะบุคลิกภาพประเภทนี้ จะไม่ทำอะไรที่เป็นการเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นเลย ไม่เหมือนกับพวกอื่นๆ
2. พวกที่มีโครงสร้างแบบ Endomorphic หรือ Endomorphy เป็นประเภทมีลักษณะอ้วนเตี้ย มีโครงสร้างอ้วนกลม หน้ากลม มีเนื้อ และไขมันมาก ร่างกายเต็มไปด้วยไขมัน พุงยื่นหนา ชอบสนุกสนานร่าเริง ชอบอยู่สบายๆ เปิดเผย กินเก่ง เพราะระบบย่อยอาหารทำงานดี จู้จี้ขี้บ่น โกรธง่ายหายเร็ว มักเป็นโรคจิตชนิด Manic depressive คือ บางครั้งดีใจมาก บางครั้งเสียใจมาก ชอบแสดงอิทธิฤทธิ์ ปล่อยชีวิตตามยถากรรม หุ่นแบบเอนโดมอฟี จะมีบุคลิกภาพประเภทที่เขาเรียกว่า วิซโรโตเนีย (Viscerotonia) กล่าวคือ เป็นผู้มีบุคลิกภาพประเภทรักความสะดวกสบาย ชอบการสังคม ชอบทำอะไรช้าๆ ปล่อยอารมณ์ตามสบาย ชีวิตไม่มีรีบมีร้อน มีความอดทนอดกลั้นทางอารมณ์ดีมาก เป็นคนที่ง่ายแก่ การคบค้าสมาคมด้วย รักการกินเป็นที่หนึ่ง
3. พวกที่มีโครงสร้างแบบ Mesomorphic หรือ Mesomorphy พวกนี้เป็นประเภทนักกีฬา นักผจญภัย มีร่างกายสมส่วน สง่างาม ไหล่กว้าง ตะโพกเล็ก ชอบกีฬาการต่อสู้ ชอบผจญภัย กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ว่องไว มีน้ำใจเป็นนักกีฬา กำยำล่ำสัน กล้ามเนื้อสมบูรณ์ ร่างกาย เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ บึกบึน แข็งแรง ชอบใช้กำลัง หรือความก้าวร้าว ขยันขันแข็ง มีกระดูก และกล้ามเนื้อแข็งแรงได้สัดส่วน มีพลังงานมาก มักเป็นโรคจิตประสาท Paranoid คิดว่าตัวเองเป็นใหญ่ในโลก ชอบกำลังมุ่งทำลายชีวิตคน หุ่นแบบเมโซมอฟี จะมีบุคลิกภาพประเภท โซมาโตโตเนีย (Somatotonia) คือ เป็นพวกรักการต่อสู้ผจญภัย ชอบการเสี่ยง เป็นคนที่ค่อนข้างจะก้าวร้าว มักจะกระทำการใดๆ ที่เป็นการแสดงว่าตัวมีอำนาจ และพละกำลังมาก
มีข้อที่น่าสังเกตคือ ความอ้วน ผอม ลักษณะสูงเตี้ยของร่างกาย เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องโภชนาการอยู่มาก เช่น นักกีฬาเลิกเล่นกีฬา อาจกลายเป็น คนอ้วนลงพุง และการกำหนดลักษณะทางจิตใจว่ารูปร่างอย่างนั้นมีอารมณ์อย่างนี้น่าจะเป็นการเหมารวม (Stereotype) มากกว่าเมื่อเห็นคนอ้วนมักจะ คาดหวัง เอาว่าเป็นคนตลกสนุกสนานร่าเริงไปเสียหมดทุกคน เพราะตนเองเคยมีประสบการณ์มาเช่นนั้น แต่ว่าแท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่เป็นกฎตายตัวว่า ต้องเป็นอย่างนั้นทุกคน และบางครั้งคนอ้วนแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น อาจเป็นเพียงการสวมบทบาท (Role) ที่สังคมคิดว่าเขาควรจะแสดงบทบาทอย่างนั้น ก็เป็นได้ ซึ่งคนอ้วนบางคนอาจจะก้าวร้าวมาก แต่อาจจะเก็บกดความรู้สึกไว้ และหาวิธีการ ทำร้ายคนอื่นด้วยวิธีที่เราคิดไม่ถึง หรือวิธีการแยบยลต่างๆ ก็มี
3 ทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ จี จุง (Carl G. Jung Theory)
ประวัติของคาร์ จี จุง เกิดที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1875 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1961 เขาเป็นนักจิตแพทย์ชาวสวิส และเคร่งศาสนา
แนวคิดที่สำคัญของ Jung เขาเชื่อว่ามนุษย์ที่เกิดมามีแนวโน้มที่จะรับมรดกจากบรรพบุรุษของเขา ซึ่งจะเป็นการชี้นำพฤติกรรม และกำหนดจิตสำนึก ตลอดจนการตอบสนองต่อประสบการณ์ และ โลกส่วนตัวของเขา หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่ามีการก่อตัวของเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ (Racial) จะสะสมในบุคลิกภาพที่นำไปสู่การเลือกรูปแบบของการปรับตัว และการเลือกที่จะอยู่ในโลกของประสบการณ์แต่ละบุคคล บุคลิกภาพแต่ละบุคคลจึงเป็นผลของการกระทำของแรงภายใน (Inner Forces) ที่กระทำต่อแรงภายนอก (Outer Forces) ทฤษฎีนี้เน้นเรื่องของการเริ่มต้นของบุคลิกภาพที่ เชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์ ในขณะที่ ฟรอยด์ เน้นจุดเริ่มต้นของบุคลิกภาพจากหลังกำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทารก นอกจากนี้ Jung ยังได้อธิบายว่า บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล เป็นเสมือนผลผลิตของอดีต กล่าวคือ มนุษย์ได้ถูกปรุงแต่ง และถูกวางรูปแบบให้เป็นตัวตนในปัจจุบัน โดยมีประสบการณ์ที่สะสมในอดีตโดยไม่รู้จุดเริ่มต้นของมนุษย์ว่าแยกมาจากเผ่าใด รากฐานของบุคลิกภาพจึงเป็นเรื่องอดีตชาติ (Archaic) และบรรพกาล (Primitive) ซึ่งติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และเป็นเรื่องของความไร้สำนึก ที่ไม่สามารถจดจำได้ และมีขอบเขตอย่างกว้างขวาง (Universal) ในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์นั้นทฤษฎีนี้เชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์เป็นผลรวมของอนาคตกาลกับอดีตกาล (Teleology and Causality) ผลรวมทั้งหมดของบุคลิกภาพที่ประกอบด้วยระบบต่างๆซึ่งทำงานร่วมกันดังนี้
องค์ประกอบของจิต (Structural Components of Psyche)
มี 3 ระบบคือ ระบบโครงสร้างทางบุคลิกภาพ (Structure of Personality ) ระบบตน ( Self ) และ ระบบความสัมพันธ์ภายใน (Interdependent Systems)
องค์ประกอบของจิต (Structural Components of Psyche) มี 3 ระบบ ดังอธิบายคือ
1. ระบบโครงสร้างทางบุคลิกภาพ (Structure of Personality) ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ สำคัญ ได้แก่ ตัวตน (Ego) ประสบการณ์ไร้สำนึก (Personal Unconscious ) จิตไร้สำนึกที่สะสม มาแต่อดีตกาล (Collective Unconscious) หน้ากาก (Persona) ลักษณะของหญิงที่มีอยู่ในชาย (Anima) และเงา (Shadow)
1.1 ตัวตน (Ego) เป็นการรับรู้ในตนเองมีการระลึกรู้ เป็นจิตสำนึก (Conscious Mind) ประกอบด้วยการรู้สำนึกในการรับรู้สิ่งต่างๆ ได้แก่ ความเข้าใจ ความจำ และระลึกรู้ในการแสดงพฤติกรรมตลอดจนความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์ และบทบาทของตนเองซึ่งถือว่า Ego เป็นศูนย์กลางของความรู้สำนึก ทำให้เกิดบุคลิกภาพ และปม (Complex) ที่หมายถึงการรวบรวมความคิดต่างๆ เข้ามาเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกิดจากความรู้สึกทั่วๆ ไป Ego ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจิต (Psyche) ที่ทำให้บุคคลรับรู้พฤติกรรมของตน
1.2 ประสบการณ์ไร้สำนึก (Personal Unconscious) เป็นส่วนที่ติดอยู่กับ Ego ที่ประกอบด้วยประสบการณ์ ซึ่งครั้งหนึ่งยังอยู่ในจิตสำนึก(Conscious) แต่บุคคลพยายามเก็บกดไว้ (Repressed) การสะกดไว้จนลืม (Forgotten) หรือการเพิกเฉยไม่รับรู้ (Ignored) จากเหตุผล บางประการ เช่น เป็นประสบการณ์บางเรื่องที่ไม่เป็นที่พึงพอใจ เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้กำลัง อ่อนลง ในระยะแรกจะทำให้เกิดการรับรู้อยู่ในระดับจิตสำนึก ลักษณะของประสบการณ์สามารถจะนำขึ้นมารับรู้ได้อีก เมื่อมีสิ่งเร้าที่เหมาะสมมากระตุ้น และเรื่องปม (Complex) หมายถึง การรวบรวมความคิดให้เป็นเอกลักษณ์ หรือเป็นกลุ่มของการจัดระบบทางความคิดการรับรู้ ความจำ การคิดต่างๆ ที่มีอยู่ในระดับจิตไร้สำนึกเป็นศูนย์กลางซึ่งมีการทำงาน หรือกระทำเสมือนแม่เหล็กที่คอยดึงดูดกลุ่มประสบการณ์ต่างๆ เช่น ปมเกี่ยวกับแม่ (Mother Complex) จะประกอบด้วยประสบการณ์ในอดีตของเชื้อชาติที่ตนอยู่ และเผ่าพันธุ์ที่มีกับแม่ และอีกส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ของเด็กกับแม่ความรู้สึกต่างๆ ความทรงจำ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องจากความสัมพันธ์กับแม่ ทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกนึกคิดที่มีแม่เป็นศูนย์กลาง เป็นปมเกี่ยวกับแม่ ว่ามีความยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญ มีความเข้มแข็ง และมีความอ่อนโยน ภาพของแม่จะถูกระลึกในจิตใจ และมีความหมายอย่างสูงต่อบุคคลโดยไม่รู้ตัว แต่ก็สามารถเปลี่ยนเป็นจิตสำนึกได้ในเวลา และสถานการณ์ ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ปมจะแสดงคุณสมบัติเหมือนบุคลิกภาพโดยอัตโนมัติ โดยมีระบบความคิด และพลังการเคลื่อนไหวด้วยตัวของมันเอง ซึ่งปมของบางคน อาจมีความเข้มแข็ง และมีความยิ่งใหญ่ จนสามารถควบคุมบุคลิกภาพทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่การแสดงออก เพื่อให้ปมไป สู่เป้าหมายในที่สุด เช่น ฮิตเลอร์ จะเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกควบคุมด้วยความปรารถนาในอำนาจ ความต้องการยิ่งใหญ่ เป็นต้น
1.3 จิตไร้สำนึกที่สะสมมาแต่อดีตกาล (Collective Unconscious) เป็นเสมือนที่รวบรวม และสะสมความทรงจำที่ซ่อนอยู่ภายใน และติดตาม สืบต่อ ตลอดจนตกทอดเป็นมรดกจาก บรรพบุรุษในอดีตก่อนกำเนิดเป็นพลังจิตส่วนที่เหลือ หรือตกค้างมาจากพัฒนาการ และวิวัฒนาการของมนุษย์ที่เกิดจากประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กัน จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง มนุษย์จะสืบทอดประสบการณ์ในอดีตของคนรุ่นก่อนๆ มาเป็นแนวโน้มที่ทำให้เกิดกำหนดพฤติกรรมที่จะโต้ตอบกับแม่โดย Jung อธิบายว่า เมื่อย้อนหลังกลับไปในอดีตชาติใดๆ ก็ตามมนุษย์ย่อมได้รับสิ่งต่างๆ จากแม่ ซึ่งทำให้มนุษย์เกิดความสมบูรณ์ และมีศักยภาพประสบการณ์ระหว่างแม่กับทารกจะถูกถ่ายทอดกัน และสร้างเป็นรูปแบบในสมองของมนุษย์ตกทอดสืบต่อกันมานานตั้งแต่อดีตชาติ ดังนั้น ปรากฏการณ์เหล่านี้จึงทำให้ทารกเกิดมาพร้อมกับความสามารถที่จะมองเห็น และพัฒนาความสามารถ ในการรับรู้ และโต้ตอบกับแม่ โดยผ่านประสบการณ์ และการฝึกหัด ในชาติปัจจุบัน โดยมีรากฐานมาจากอดีตชาติเป็นพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลัง หรือในกรณีอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมด้วยแนวโน้ม หรือทุนเดิมหลายๆ อย่าง เพื่อคิด รู้สึก และรับรู้ให้สอดคล้องกับแบบแผนที่มีอยู่ในสมองอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นมนุษย์ส่วนใหญ่กลัวงูทุกคน ทั้งนี้ เพราะเกิดจากการสรุปของคนในยุคเก่าที่ต้องต่อสู้กับอันตรายในความมืดหลายๆ อย่าง และมนุษย์ก็ตกเป็นเหยื่อของพิษงู ความกลัวภายในจิตเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์ดังกล่าว ที่ยังคงเหลืออยู่จนถึงมนุษย์ในยุคปัจจุบัน หรือในกรณีอื่นๆ เช่น ความคิดที่เกี่ยวกับความต้องการความยิ่งใหญ่ซึ่งอธิบายได้ว่า มนุษย์มีแนวโน้มในเรื่องดังกล่าวอย่างมั่นคง อยู่ในสมองมาแล้วจึงต้องการแรงเสริมเพียงเล็กน้อยจากประสบการณ์ในปัจจุบัน ที่กระตุ้นให้ความคิดเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในระดับจิตสำนึกของบุคคล ซึ่งจะเข้ามีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรม ของบุคคล และมีการสืบทอดกันไป Jung เชื่อว่า Collective Unconscious เป็นรากฐานของโครงสร้างทางบุคลิกภาพที่ก่อรูปร่างให้กับมนุษย์อย่างเรียบร้อยแล้วตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเป็นเสมือนภาพที่ติดตัวอยู่แล้วนั่นเอง โดยมีสิ่งที่เรียกว่า รูป หรือ แม่พิมพ์ หรือ แม่แบบ (Archetype) จะเป็นส่วนประกอบของ Collective Unconscious ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป ได้แก่ สิ่งที่จะมีอิทธิพลต่อสิ่งต่างๆ (Dominant) ภาพในเทพนิยาย (Mythological Images) หรือ รูปแบบในการแสดงพฤติกรรม (Behavior Pattern) โดยที่ Archetype จะเป็นความคิดที่กว้างขวางของมนุษย์ ซึ่งได้ก่อตัวขึ้นเป็นจินตนาการ หรือรูปภาพต่างๆ (Image or Visions) โดยรูปภาพเหล่านี้จะสอดคล้องกับความสำนึก และการรับรู้ตามปกติ ในชีวิตซึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่รู้ตัว เช่น ภาพแม่ (Mother Archetype) ที่บุคคลสร้างขึ้นเป็นภาพ จะเป็นเอกลักษณ์ของแม่ตามความเป็นจริง กับความคิดที่ก่อตัว ซึ่งเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์ และประสบการณ์ของทารกกับแม่ที่ทำให้เกิดภาพแม่ (Mother Archetype) ที่เป็นผลผลิตของประสบการณ์จากเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ในอดีต กับประสบการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นเช่นเดียวกันมาหลายชั่วอายุคน มาอยู่ในความทรงจำ และการระลึกไว้ ด้วยความสวยงาม ด้วยความดี ในภาพรวมของแม่ (Mother Archetype) ว่าแม่เป็นพระพรหมของลูก จะเห็นได้ว่า Archetype อื่นๆ จะเป็นประสบการณ์ที่เกิดซ้ำๆ กันหลายชั่วอายุคน เช่น มนุษย์มองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นวนเวียนเป็นประจำ จากฟากฟ้าหนึ่งไปสู่อีกฟากฟ้าหนึ่ง พร้องทั้งให้ความร้อน และแสงสว่างประสบการณ์ประทับใจดังกล่าวจะมีลักษณะวนเวียนซ้ำๆ กันจึงทำให้เรา รู้สึกว่าดวงอาทิตย์เป็นสิ่งที่ตรึงแน่น หรือผนึกอยู่ใน Collective Unconscious และกลายเป็น Archetype ของสุริยะเทพ (Sun – God) ซึ่งแสดงถึง ความมีอำนาจ ความสว่างไสว ความร้อนดังนั้น มนุษย์จึงบูชา และกราบไหว้พระอาทิตย์ให้เป็นพระเจ้า ดังนั้นมนุษย์จึงมีความรู้สึกนึกคิดที่สร้างรูปของพระอาทิตย์ (Sun – Archetype) นั่นเอง Archetype ในทำนองเดียวกัน เมื่อมนุษย์ได้รับพลังจากธรรมชาติอื่นๆ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ลมพายุ ฟ้าผ่า ไฟไหม้ป่า ประสบการณ์ดังกล่าว ก็จะถูกพัฒนาขึ้นมาในรูปของพลังอำนาจ (Archetype of Energy) นอกจากนี้ Archetype ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปเดียว แต่อาจจะมาจากรูปหลายๆรูปเข้ามาประสมประสานกันเกิดเป็นรูปใหม่ เช่น ความกล้าหาญของวีรบุรุษกับความฉลาด ความรักชาติรักแผ่นดินอาจกลายมาเป็น “มหาราช” ได้
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในเรื่อง Archetype นั้น Jung พบว่ามี Archetype มากมายที่แทรกซึมเข้ามาอยู่ในจิตสำนึก โดยแสดงออกในรูปแบบของ เทพนิยาย ความฝัน การทำนายฝัน พิธีกรรมทางศาสนา ภาพเขียน งานศิลปะ หรือ แม้แต่แสดงออกมาในรูปแบบของอาการต่างๆ ทางโรคจิตโรคประสาท ก็ได้ ในขณะที่ Archetype อีกมากมายที่อยู่ใน จิตไร้สำนึกที่สะสมมาแต่อดีตอาจจะแสดงออกมาในรูป ของการเกิด การกลับมาเกิดใหม่ ความตาย อำนาจ วีรบุรุษ พระเจ้า ปีศาจ เป็นต้น
1.4 หน้ากาก (Persona) เป็นสิ่งที่ตัวละครใช้สวมไว้ เพื่อแสดงบทบาทต่างๆ ในการแสดงหน้ากากยังแสดงปฏิกิริยา หรือตอบโต้กับข้อเรียกร้องทางสังคม และขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อตอบสนองความต้องการของ Archetype ภายในตนเอง และ เพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมที่ต้องการทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมต่างๆ หน้ากากจึงมีลักษณะร่วมกันของการประนีประนอมระหว่างความต้องการต่างๆ ของสิ่งแวดล้อม กับรากฐานความเป็นจริง ที่อยู่ภายในแต่ของละบุคคล ทำให้แสดงบทบาทหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันที่จะช่วยควบคุมพลังรุนแรงที่เป็นต้นตอแรกๆของอุปนิสัยต่างๆ ที่มีอยู่ใน Collective Unconscious และมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้เกิดความประทับใจกับคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเสมือนบุคลิกภาพสาธารณะ (Public Personality) ซึ่งเป็นพฤติกรรม ต่างๆ ที่บุคคลแสดง โดยใช้ความเห็นของสาธารณชน ซึ่งตรงกันข้ามกับบุคลิกภาพส่วนตัว (Private Personality) แต่ในเวลาเดียวกัน หน้ากากก็มีส่วนเสีย เพราะทำให้บุคคลเรียนรู้ที่จะปิดบังตัวตนที่แท้จริงไว้ นอกจากนี้ ยังทำให้บุคคลปิดบังศักยภาพ หรือพลังความสามารถต่างๆ ที่อาจทำให้บุคคลสูญเสีย ความเป็นตัวของตัวเองไป ในประเด็น ดังกล่าวหากเราสังเกตจาก ตัวเราเอง จะพบว่าเมื่อไรก็ตามที่เราสวมหน้ากาก หรือแสดงพฤติกรรมตามบทบาทของสังคมที่กำหนดไว้มากๆ เราอาจทำให้รู้สึกอึดอัด และขาดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถพูด ทำ หรือ แสดงออกตามตัวตนที่เป็นจริงของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นการสกัดกั้นความสามารถต่างๆ ที่มีอยู่ในตนเอง และเป็นผลเสียต่อการพัฒนาบุคลิกภาพในที่สุด
1.5 ลักษณะของหญิงที่มีอยู่ในชาย (Anima and Animus) และลักษณะของชายที่มีอยู่ในหญิง หรืออาจเรียกว่าลักษณะเพศแฝงเร้น ซึ่งเป็นการอธิบายถึงลักษณะความเป็นหญิงในบุคลิกภาพของผู้ชาย เช่น ความอ่อนโยน ความนิ่มนวล เป็นต้น ลักษณะความเป็นหญิงที่มักแฝงไว้ในชาย (Anima) และลักษณะความเป็นชายในบุคลิกภาพของผู้หญิง เช่น ความเข้มแข็ง ความเด็ดเดี่ยว ที่มักแฝงไว้ในตัวหญิงเช่นกัน (Animus) หากจะพิจารณาในด้านสรีระจะพบว่า ในเพศชายจะมีทั้งฮอร์โมนเพศชาย และฮอร์โมนเพศหญิง ในขณะที่เพศหญิงก็จะมีฮอร์โมนเพศหญิง และฮอร์โมนเพศชายอยู่เช่นกัน ซึ่ง Jung อธิบายว่า ลักษณะความเป็นหญิงในบุคลิกภาพของชาย หรือความเป็นชายในบุคลิกภาพของหญิงเกิดจาก Archetype คือรูปของผู้หญิงในชาย (Feminine Archetype) ที่เรียกว่า Anima หรือรูปของผู้ชายในผู้หญิง (masculine Archetype) ที่เรียกว่า Animus รูปต่างๆ เหล่านี้แม้ว่าอาจเกิดจากโครโมโซมเพศ (Sex Chromosomes) และการทำงานของต่อมเพศ (Sex Glands) ก็ตาม แต่สาเหตุสำคัญ Jung เชื่อว่าเป็นผลของประสบการณ์ทางเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ระหว่างชายกับหญิง ซึ่งมีชีวิต และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาโดยหมายความว่า ประสบการณ์ในอดีตที่เพศชายมีชีวิตอยู่กับเพศหญิงทำให้ผู้ชายรับลักษณะความเป็นหญิงไว้ในตนเอง ในขณะที่ประสบการณ์ของการอยู่ร่วมกัน ทำให้ผู้หญิงรับลักษณะของความเป็นชายไว้ในตนเองทำให้เพศหญิงมีความเข้มแข็งมีความอดทน และกล้าหาญ ในขณะที่เพศชายเองก็มีความอ่อนโยน และนุ่มนวลแฝงอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุให้แต่ละเพศแสดงคุณลักษณะของเพศตรงข้ามในตัวตน นอกจากนี้ การแสดงคุณลักษณะ ที่เป็นเพศตรงกันข้ามยังเป็นแรงจูงใจ ให้แต่ละเพศมีการตอบสนอง เพื่อการเข้าใจเพศตรงกันข้าม โดยฝ่ายชายจะเข้าใจธรรมชาติของฝ่ายหญิง จากกคุณลักษณะของฝ่ายหญิงที่มีอยู่ในตัวฝ่ายชายเอง และในทำนองเดียวกัน ก็จะทำให้ฝ่ายหญิงเข้าใจธรรมชาติของฝ่ายชายที่มีอยู่ในตัวของหญิงเช่นกัน
1.6 เงา (Shadow) เป็นรูป (Archetypes) เป็นสิ่งที่เรียกว่า สัญชาตญาณพื้นฐานที่มีคล้าย กับสัตว์ เมื่อมีวิวัฒนาการจนกลายเป็นมนุษย์ๆ จึงรับ และสืบทอดมาจากวิวัฒนาการ จากรูปแบบที่ต่ำกว่ามาสู่ความเป็นมนุษย์ทำให้มนุษย์มีแนวโน้มที่จะทำสิ่งเลวร้าย และผิดศีลธรรม เป็นส่วนของจิตที่อยู่ลึกที่สุด หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น Shadow ซึ่ง Jung เชื่อว่า Shadow เป็นด้านของความเป็นสัตว์ (Animal Side) ที่อยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดของมนุษย์ในส่วนที่เป็นความชั่วร้าย ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นในลักษณะภายนอกทำให้เป็นพฤติกรรมที่ยังไม่ได้ ขัดเกลา หรือพฤติกรรมที่แสดงความรู้สึกก้าวร้าว พฤติกรรมที่เป็นศัตรูกับผู้อื่น หรือเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่าชื่นชมรวมถึงความคิด ความรู้สึก และการกระทำที่สังคมไม่ยอมรับ เพราะเป็นการแสดงสิ่งที่ไม่เหมาะสม Shadow เหล่านี้จะถูกปิดบังโดยใช้หน้ากาก (Persona) หรือเก็บลงสู่ประสบการณ์ ไร้สำนึกของบุคคล ( Personal Unconscious ) นั่นเอง
2. ระบบตน (Self)
ตน เป็นจุดศูนย์กลางของบุคลิกภาพ หมายถึง รูป (Archetype) ซึ่งนำบุคคลไปสู่การแสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ถึงจุดสูงสุด (Self Realization) และเป็นวิถีทางของบุคคล (Way of Individual) ที่ทำให้บุคลิกภาพมีความเป็นเอกภาพ และมีความสมดุล และมั่นคง การทำงานของSelf จะเป็นเช่นเดียวกับ Archetype อื่นๆ คือ จูงใจให้เกิดพฤติกรรม นอกจากนี้ Self จะทำหน้าที่ เป็นเป้าหมายของชีวิต และเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่มนุษย์พึงแสวงหา ถือว่า เป็นกระบวนการที่บุคคลมุ่งไปสู่ความเข้าใจตนเองซึ่งการที่บุคคลจะเข้าใจตนเองนั้น จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นค่อนข้างยาก ทำให้บุคคลแสวงหาเป้าหมายนี้ตลอดเวลา
ความเข้าใจตนเองจะยังไม่เกิดกับบุคคลที่อายุน้อย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และบุคคลจะพยายามแก้ไขปัญหาตลอดจนความคิดขัดแย้งหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในจิต และก็มีคนเป็นจำนวนน้อยที่จะบรรลุถึงความเข้าใจตนเองได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก Archetype ของ Self ยังจะไม่แสดงออกอย่างชัดเจน จนกว่าจะถึงวัยกลางคน ซึ่งเป็นวัยที่บุคคลเริ่มต้น ที่จะมีความพยายามอย่างจริงจังที่จะเปลี่ยนศูนย์กลางของบุคลิกภาพ จากการรับรู้ตนเอง (Ego) มาเป็นความเข้าใจในตนเอง (Self Realization) ทฤษฎีนี้เชื่อว่า มนุษย์จะแสวงหาความสมบูรณ์ได้ก็โดยการผ่านทางหลักธรรมทางศาสนา ซึ่งทุกศาสนาจะกล่าวถึงสัจธรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวตน การแสวงหาหลักธรรมในทางศาสนาเป็นเรื่องของการแสวงหาเอกภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบุคคล ตลอดจนความต้องการเป็นผู้บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ โดยใช้การฝึกฝน หรือ การปฏิบัติตามพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมจากศาสนาทางซีกโลกตะวันออก เช่น โยคะ การฝึกสมาธิ เป็นต้นทฤษฎีนี้ยังพบว่ารูปแมนดาลัส (Mandalas) หรือ Magic Circle เป็นสัญลักษณ์ ที่พบจากการเขียนรูป และศิลปะของทุกวัฒนาธรรม ที่บุคคลสร้างขึ้นจากการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ (Sensation) การกำหนดรู้ภายในใจตนเอง (Intuition) การรู้สึก (Feeling) และการคิด (Thinking) ซึ่งเป็นการพยายามที่จะสร้างความเจริญงอกงาม ให้ตนเองโดยการรับเอาหลักธรรมต่างๆ ของศาสนาซึ่งแตกต่างไปตามความเชื่อของแต่ละบุคคล หรือแต่ละศาสนา อย่างไรก็ตาม รูป Mandalas ที่พบในศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า และศาสนาอื่นๆ ทางซีกโลกตะวันออก โดยมีดอกไม้สีเหลืองทองอยู่ตรงกลางซึ่งแสดงขอบเขตของความสุขอย่างสูงสุด หรือความดีความงามอย่างสูงสุด หรืออาจจะนำเข้าไปประดับตกแต่งภายในโบสถ์ วิหาร เป็นต้น
3. ระบบความสัมพันธ์ภายใน (Interdependent Systems)
ระบบความสัมพันธ์ภายในของบุคคลประกอบด้วย รูปแบบทางจิตวิทยาของบุคคลที่เป็นเจตคติพื้นฐาน (Basic Attitudes) โดยสามารถแบ่งบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็น 2 ประเภท คือ (Two Psychological Type)
3.1 พวกแสดงตัว หรือผู้ที่มีเจตคติที่หันออกจากตนเอง (Extraversion) ซึ่งจะมีการแสดงออกที่เผชิญกับโลกภายนอก บุคคลประเภทนี้จะชอบแสดงตัว ชอบสังคม มักจะมี เพื่อนมากชอบพูดมากกว่าฟัง ช่างพูด ร่าเริง แจ่มใส มีความสามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ชอบการเปลี่ยนแปลง มีนิสัยเปิดเผย มีความเชื่อมั่นบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง รู้จักผ่อนปรน และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อย่างเหมาะสม มีความยืดหยุ่น กล้าต่อสู้ และเผชิญกับปัญหา สนใจกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ชอบมีประสบการณ์ด้วยตนเอง และไม่จริงจังกับความผิดหวังต่างๆ เป็นต้น
3.2 พวกเก็บตัว หรือผู้มีเจตคติหันเข้าหาตนเอง (Introversion) เป็นผู้ที่มุ่งเข้าหาตนเอง บุคคลเหล่านี้มักจะไม่กล้าตัดสินใจ ไม่แน่ใจ จิตใจไม่มั่นคง สงบเสงี่ยม ไม่ชอบสมาคมกับผู้อื่น เก็บตัว ชอบอยู่ตามลำพัง ไม่ยืดหยุ่น มักมีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ยึดมั่นในความรู้สึกของตนเอง อารมณ์หงุดหงิด และหวั่นไหวง่าย มักจะมีความรู้สึกเหงา และว้าเหว่ และเมื่อเกิดปัญหาก็มักจะแยกตัวออกไปจากสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหา นอกจากนี้ ยังไม่มีความไว้วางใจผู้อื่นการมองผู้อื่นด้วยความพินิจพิเคราะห์ ตลอดจน จะไม่ชอบความก้าวร้าว และรุนแรง
เจตคติพื้นฐานทั้งสองประการนี้จะเกิดขึ้นในบุคลิกภาพ โดยที่บุคคลจะไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในตัวเอง แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะมีบุคลิกภาพทั้งสองลักษณะอยู่ในตัว และถ้าเจตคติอย่างใดอย่างหนึ่งมีลักษณะเด่น เจตคตินั้นก็จะเข้ามาอยู่ในจิตสำนึกในขณะที่อีกเจตคติหนึ่งจะด้อย และอยู่ในจิตไร้สำนึกทำให้การรับรู้ตนเอง (Ego) จะแสดงตนโดยหันตัวเองออกสู่การติดต่อกับโลกภายนอก ในขณะที่สิ่งที่อยู่ในประสบการณ์ไร้สำนึก (Personal Unconscious) จะเป็นลักษณะที่หันเข้าหาตนเอง อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางบุคลิกภาพทั้ง 2 อย่างนี้ต่างก็ให้ผลดี และผลเสียต่างกันไป เช่น การหันเข้าหาตนเองอาจจะทำให้บุคคลมีการสร้างสรรค์ และผลิตสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่จะเกิดผลเสียที่อาจหมกมุ่น และซึมเศร้าอยู่กับตนเองมากเกินไป ส่วนการหันออกจากตนเอง จะทำให้กล้าตัดสินใจแต่อาจเกิดผลเสียคือกล้ามากเกินไปโดยปราศจากการวิเคราะห์ และการพิจารณาสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบ
การทำหน้าที่ของบุคลิกภาพ 4 ประการ (Four Functions)
การทำหน้าที่ของบุคลิกภาพ (Four Functions) ตามสภาพทางจิตใจของมนุษย์ มี 4 ประการ ได้แก่ การคิด (Thinking) การรู้สึก (Feelings) การรับรู้ทางประสาทสัมผัส (Sensing) การกำหนดรู้ในใจ(Intuition) โดยการคิดจะเกี่ยวข้องกับความเข้าใจ และสติปัญญาจากความพยายามที่จะเข้าใจธรรมชาติของโลก และตัวเองส่วนความรู้สึกจะทำหน้าที่ในการให้คุณค่า ของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ทำให้เกิดความรู้สึกสุข หรือเกิดความเจ็บปวด ความโกรธความกลัว ความรื่นเริง และความรักเป็นต้น สำหรับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสนั้นจะเป็นการรับรู้ หรือการทำหน้าที่ตามความเป็นจริง (Reality Function) จะเป็นการรับรู้โดยกระบวนการของจิตไร้สำนึกที่รู้ล่วงหน้าในสิ่งต่างๆ ทำให้บุคคลมีความสามารถรู้ความเป็นจริงในสิ่งสำคัญต่างๆ
Jung อธิบายว่า ถ้าการทำหน้าที่ 4 ประการ ของบุคลิกภาพเป็นไปในลักษณะที่ทำหน้าที่แต่ละอย่าง อยู่บนเส้นรอบวงกลม โดยมีระยะห่างเท่าๆ กันแสดงให้เห็นว่า การทำหน้าที่ทั้ง 4 เป็นไปอย่างสมดุลโดยไม่มีหน้าที่เด่นหน้าที่ด้อย และการช่วยเหลือ ทั้งนี้เนื่องจากการทำหน้าที่แต่ละอย่างมีแรงเท่าๆ กันในบุคลิกภาพ จะทำให้บุคคลเกิด “การเข้าใจตนเองอย่างสมบูรณ์ (Fully Actualized )”
การพัฒนาการทางบุคลิกภาพ (The Development of Personality) Jung เน้นถึงคุณลักษณะของการมุ่งไปข้างหน้า เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ และเชื่อว่ามนุษย์ต้องการความก้าวหน้าโดยพยายามที่จะก้าวไปข้างหน้าโดยการพัฒนาตนเอง จากความสมบูรณ์น้อยไปสู่ความสมบูรณ์ที่สูงขึ้น โดยเชื่อว่าหลักการเบื้องต้นของการพัฒนาการ (Basic Concept of Development) ของมนุษย์มีลักษณะ 3 ประการ พอสรุปได้ดังนี้
เป้าหมายของการพัฒนาการ (The Goal of Development) เป็นการแสวงหาเป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์พึงแสวงหา นั่นคือการเข้าใจตนเอง (Self-Actualization) ซึ่งเป็นความสมบูรณ์สูงสุด เป็นบูรณการของทุก ๆ ระบบของบุคลิกภาพ โดยที่จิต (Psyche) ได้มีศูนย์กลางขึ้นใหม่ คือ ตน (Self) แทนศูนย์กลางเดิม คือ การรับรู้ในตนเอง (Ego) ดังนั้น Self จึงเป็นศูนย์กลางของบุคลิกภาพแทน Ego และจุดมุ่งหมายนี้ ทำให้มนุษย์พัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง จนกว่าจะถึงจุดมุ่งหมายของการแสวงหา ซึ่งถือว่า เป็นจุดสุดท้ายของวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้มนุษย์ มีความแตกต่างไปจากสัตว์อื่นๆ เขาเปรียบเทียบชีวิต และบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลว่าเปรียบเสมือนกับการเดินทางไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทาง ที่สมบูรณ์แบบ และเป้าหมายดังกล่าวจะบรรลุได้ โดยกระบวนการวิวัฒนาการทางด้านจิตใจ และบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลที่ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์นั่นเอง
อดีตกับอนาคต (Casually versus Theology) ทั้งอดีต และอนาคตเป็นสิ่งที่จะทำให้เข้าใจบุคลิกภาพของบุคคลโดยสมบูรณ์ซึ่งจะต้องระลึกเสมอว่า ปัจจุบันไม่ได้ถูกกำหนดจากอดีตเท่านั้น แต่ได้ถูกกำหนดโดยอนาคตด้วยเช่นนั้น ดังนั้นที่เราจะเข้าใจมนุษย์ได้นั้นจะต้องพิจารณามนุษย์ทั้งสองด้าน คือ ด้านหนึ่งมองในอดีต และอีกด้านหนึ่งก็จะมองในอนาคต และทัศนะทั้งสองนี้ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกันก็จะเป็นภาพของมนุษย์ที่สมบูรณ์ นอกจากนี้แล้วความคิดเห็นในเรื่องเป้าหมาย ซึ่งได้แก่ อนาคต (Teleology) หรือเป้าหมายสุดท้าย (Finalistic) จะเป็นตัวชี้นำ และกำหนดจุดมุ่งหมายของมนุษย์โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาในเรื่องจิต (Psyche) จะพบว่า จิตด้านหนึ่ง เป็นภาพของอดีต ที่หมกมุ่นอยู่ หรือตกตะกอนอยู่ ส่วนอีกด้านหนึ่ง จะเป็นภาพของการเริ่มก่อตัวขึ้นของความรู้สึกทั้งหมดที่ได้เข้ามาสู่จิต นอกจากนี้จิตยังเป็นความสามารถ ที่จะทำให้มนุษย์ตกเป็นทาส หรือเป็นนักโทษ ที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากเรื่องเก่าๆ ได้ ส่วนอนาคต จะทำให้มนุษย์รู้สึกมีความหวัง ที่จะมีชีวิตอยู่
พันธุกรรม (Heredity) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในทัศนะของ Jung ทั้งนี้เนื่องจากพันธุกรรม เป็นพื้นฐานของสัญชาตญาณ ทางชีวภาพ ที่ทำหน้าที่สืบเผ่าพันธุ์ และสัญชาตญาณเป็นรากฐานในธรรมชาติของมนุษย์ เป็นตัวเชื่อมโยงมนุษย์กับอดีตของความเป็นสัตว์ นอกจากนี้พันธุกรรม ยังเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของบรรพบุรุษ ซึ่งอาจก่อรูปเป็นรูปต่างๆ (Archetype) หรืออาจเป็นความจำในอดีต ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของพันธุกรรมของ มนุษย์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กันหลายๆ ชั่วอายุคน
ขั้นของการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ (Stage of Personality Development)
Jung ไม่ได้อธิบายรายละเอียดในขั้นต่างๆ ของบุคลิกภาพจากวัยทารกจนถึงวัยผู้ใหญ่ เช่น เดียวกับ ฟรอยด์ แต่จุงได้สรุปพัฒนาการของบุคคลไว้เป็น 4 ขั้น คือ
1. ระยะแรกเกิด ถึง 5 ขวบ เป็นระยะแรกของชีวิต ที่พลังเพศ (Libido) จะครอบคลุม หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่
2. วัยรุ่น เป็นวัยที่กำลังมีความสามารถ มีกำลังความคิด มีความกระตือรือร้น และความขยันขันแข็งในกิจการต่างๆ มีแรงกระตุ้น มีพลังในการกระทำต่างๆ เต็มได้ด้วยความมีชีวิตชีวา แต่ก็เป็นระยะที่ยังพึ่งพาผู้อื่นอยู่เป็นช่วงที่กำลังเรียนรู้ในเรื่องอาชีพ การแต่งงาน และการสร้างคน เพื่อให้มีชีวิตอยู่ในสังคม
3. วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นระยะของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น มีความสนใจใหม่ ๆ เกิดขึ้น และก็มักเป็นความสนใจในเรื่องของวัฒนธรรมต่างๆ
4. วัยกลางคน เป็นระยะที่บุคคลต้องการอิสระ ซึ่งอาจจะเก็บตัวมากขึ้น มีค่านิยมในเรื่องการทำประโยชน์ต่อสังคม สนใจศาสนา ปรัชญา ความเป็นพลเมืองดี มักจะเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ที่มีจิตใจต่อผู้อื่น มีคุณธรรม และมนุษยธรรม เป็นต้น
ทฤษฎีบุคลิกภาพเกี่ยวกับนิสัย (Trait Theories)
ทฤษฎีบุคลิกภาพเกี่ยวกับนิสัย (Trait Theories) ได้แก่ ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Allport ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Cattell และทฤษฎีบุคลิกภาพของ Adler ทฤษฎีบุคลิกภาพคุณลักษณะ (Trait Theories) นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ ได้พิจารณา และศึกษาบุคลิกภาพของบุคคล ในเชิงคุณลักษณะ (Trait) ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับลักษณะนิสัย ที่สังเกตได้จากพฤติกรรมที่บุคคลได้กระทำอยู่เป็นประจำ จนคุ้นเคย และกลายเป็นคุณลักษณะของบุคคลนั้นๆ ซึ่งเป็นคุณลักษณะของแต่ละบุคคล ที่พร้อมจะโต้ตอบ หรือตอบสนองกับสิ่งแวดล้อม หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผู้ที่มีความอ่อนโยนมักจะตอบสนองต่อเด็ก และคนชราอย่างอ่อนโยนเช่นเดียวกัน ในขณะที่ผู้ที่มีความหยาบกระด้างก็จะตอบสนองต่อบุคคลดังกล่าวแตกต่างกันออกไป นักจิตวิทยาที่สำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่ กอร์ดอน ออลพอร์ต ( Gordor Allport ) เรย์มอนด์ บี เคทเทลล์ และ ทฤษฎีของแอดเลอร์ ในการอธิบายทฤษฎีดังกล่าวผู้เขียนใช้หนังสือประกอบ และสรุปทฤษฏีโดยภาพรวม เพื่อให้การอธิบายเข้าใจยิ่งขึ้นโดยใช้หนังสือของ ศรีเรือน แก้วกังวาน. 2547 : 195-213 สถิต วงศ์สวรรค์. 2540 : 74 – 77 นวลละออ สุภาผล. 2527 : 173 – 202 และ Hall and Lindzey.1970 : 386 : citing Cattell. 1950 : 2 – 3. ดังอธิบายโดยสรุปเป็นภาพรวม คือ
1 ทฤษฎีอุปนิสัยของกอร์ดอน ออลพอร์ต (Psychology of Individual Gordon Allport. 1897 – 1967)
ทฤษฎีอุปนิสัย (Psychology of Individual Gordon Allport) ของกอร์ดอน ออลพอร์ตเชื่อว่าบุคลิกภาพเกิดจากอุปนิสัย และเป็นตัวสนับสนุน ดังจะอธิบายโดยละเอียดเป็นเรื่องต่อไปนี้
ประวัติออลพอร์ต( Allport ) เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1897 ณ รัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา บิดาเป็นแพทย์มารดาเป็นครู เขาเรียนที่เมืองคลิฟแลนด์ (Cleveland) และ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด (Harvard) เมื่อ ค.ศ. 1919 และกลับมาศึกษาต่อ จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกทางจิตวิทยา เมื่อ ค.ศ. 1922 ออลพอร์ตไปศึกษาเพิ่มเติมที่เบอร์ลิน(Berlin) ฮัมบูร์ก(Hamburg) และเคมบริช (Cambrige) ทำให้เขามีความรู้ทางจิตวิทยาของต่างแดนอย่างกว้างขวางขึ้น เมื่อกลับมาจากยุโรป ได้มาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และครั้งหลังสุดได้ย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกครั้งหนึ่ง เขาเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่จะบูรณการวิชาจิตวิทยาสังคมวิทยา และมนุษยวิทยาเข้าด้วยกัน นอกจากนี้เขายังได้พยายามที่จะประยุกต์วิธีการทางจิตวิทยามาช่วยเหลือสังคม หรือสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เช่น การศึกษาเรื่องอคติ (Prejudice) และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relation) เป็นต้น ในชีวิตการทำงาน ออลพอร์ตได้สร้างผลงานในด้านการเขียนต่างๆ ที่สำคัญมากมาย และยังได้รับเกียรติ และรางวัลทางด้านวิชาการต่างๆ แทบทุกชนิด ตลอดจนดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกัน (American Psychological Association ) เป็นบรรณาธิการวารสารจิตวิทยาอปกติ และจิตวิทยาสังคม (Journal of Abnormal and Social Psychology)
แนวคิดที่สำคัญของทฤษฎีอุปนิสัยของกอร์ดอน ออลพอร์ต แนวคิดที่สำคัญ เนื่องจาก ออลพอร์ต ได้ศึกษาแนวคิดทางจิตวิทยาอย่างกว้างขวาง ทำให้เขาได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดต่างๆ เหล่านั้น มาเป็นแนวทางในการสร้างทฤษฎีของเขา เขาได้นำวิธีการสังเคราะห์มาใช้ในการศึกษาบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้แก่นักทฤษฎีในระยะต่อมา นอกจากนี้ ออลพอร์ต ยังได้เน้นว่าการศึกษาบุคลิกภาพควรศึกษาจากคนปกติมากกว่า เพราะบุคคลปกติจะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกันอยู่ในตัวเอง มีความสมดุล และการรู้ตัว (Congruence Unit and Conscious) แนวคิดของเขาโดยภาพรวมแล้ว จะมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดของแนวคิดของกลุ่มมนุษยนิยม (Humanistic Psychology) ออลพอร์ตเชื่อว่าบุคคลจะมีพฤติกรรมอยู่ในอิทธิพล ของปัจจุบันมากกว่าอดีต โดยแสดงพฤติกรรมที่เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ ในปัจจุบัน มากกว่าเหตุการณ์ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงพฤติกรรมต่างๆ จะเกี่ยวข้องกับแรงจูงใจที่เกิดจากจิตสำนึกเป็นส่วนใหญ่ และรวมถึงการรู้ตัวยิ่งไปกว่านั้น ออลพอร์ตยังมองมนุษย์ในแง่ดีเขาเชื่อว่า ไม่มีความต่อเนื่องกัน ระหว่างพฤติกรรมปกติ กับพฤติกรรมผิดปกติของบุคคล เด็กกับผู้ใหญ่ หรือสัตว์กับมนุษย์ และการสรุปสิ่งหนึ่ง เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของอีกสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เช่น ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์อาจเป็นทฤษฎีที่เหมาะสม ในการอธิบาย ความแปรปรวนของพฤติกรรม และพฤติกรรมที่ผิดปกติ แต่อาจมีประโยชน์ไม่มากนักในการอธิบายพฤติกรรมปกติ หรือทฤษฎีที่มีความสมบูรณ์ในเรื่องการพัฒนาการของเด็กรายละเอียดของทฤษฎีดังกล่าว ก็ไม่สามารถอธิบายถึงพฤติกรรมในวัยผู้ใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์โดยเขาได้สรุปว่า ไม่มีทฤษฎีใดที่มีเนื้อหาที่ครอบคลุม ถึงโครงสร้างทางพฤติกรรมของมนุษย์ได้โดยสมบูรณ์ เขาจึงเน้นความสำคัญของการศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการวัดพฤติกรรม ซึ่งถือว่าเป็นการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาทางจิตวิทยา และจุดมุ่งหมายที่สำคัญของการศึกษาบุคลิกภาพ คือ การเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อการแก้ปัญหาทางพฤติกรรม โดยเน้นสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันว่ามีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมมากกว่าประวัติส่วนตัวในอดีต อย่างไรก็ตามแนวคิดของ ออลพอร์ต เป็นทฤษฎีที่เน้นการทำงานของอุปนิสัย (Traits) จึงเป็นที่รับรู้ในกลุ่มนักจิตวิทยาว่า เป็นจิตวิทยาเชิงอุปนิสัย (Traits Psychology)
โครงสร้างทฤษฎีอุปนิสัยของออลพอร์ต
โครงสร้างบุคลิกภาพประกอบด้วย อุปนิสัย (Traits) บุคลิกภาพถูกกำหนดจากอุปนิสัย หรือเป็นการทำงานของอุปนิสัย และในเวลาเดียวกันพฤติกรรมของบุคคล จะเกิดจากแรงจูงใจ หรือ แรงขับจากอุปนิสัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นบุคคลได้เท่าๆ ความคิดของบุคคลนั้นเอง ออลพอร์ต ได้แบ่งโครงสร้าง หรืออุปนิสัยของบุคคลออกเป็นส่วนๆ ทำให้เข้าใจพฤติกรรม และกระบวนการทำงานของอุปนิสัยต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปนิสัยที่อยู่ภายในตัวเอง ซึ่งอุปนิสัยนี้เกิดมาจากการทำงานของอินทรีย์ (Organism) นั่นเอง ออลพอร์ตให้ความหมายของคำว่า “บุคลิกภาพ” คือ ระบบการทำงานทั้งหมดซึ่งอยู่ภายในของแต่ละบุคคลเป็นหลักการของระบบทางกาย และจิตที่มีพลังในตัวบุคคล ซึ่งกำหนดการปรับตัว ที่เป็นเอกลักษณ์ของบุคคลที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาจกล่าวสั้นๆ ว่าบุคลิกภาพ คือลักษณะบางอย่าง และการกระทำบางอย่าง ซึ่งอยู่เบื้องหลังของการ ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงที่อยู่ภายในบุคคล และการทำหน้าที่ที่สำคัญของบุคลิกภาพ ก็คือ การปรับตัวของบุคคลต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ออลพอร์ตให้ความสำคัญในเรื่องระบบการ แปรพลัง (Dynamic Organization) ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการตลอดเวลา ระบบการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีการเชื่อมโยง และเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ (Psychophysical) ที่ทำให้เกิดการหล่อหลอมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบุคคล และเป็นการกำหนด (Determine) แนวทางในการแสดงพฤติกรรมของบุคคล
โครงสร้างบุคลิกภาพ มีองค์ประกอบอุปนิสัย (Traits) เจตนารมณ์ ( Intentions ) และตน (The Propium หรือ Self ) มีรายละเอียดดังนี้
1. อุปนิสัย (Traits) เป็นตัวกำหนดแนวโน้มในการตอบสนองของบุคคลต่อสิ่งเร้า และชี้นำพฤติกรรมของบุคคล อุปนิสัยจะสังเกตได้จากพฤติกรรมที่ปรากฏออกมา (Overt Behavior) ถือว่าเป็นศูนย์กลางของระบบจิตที่มีลักษณะเฉพาะ และลักษณะพิเศษของแต่ละบุคคล ทำให้เกิดความสามารถที่จะทำหน้าที่ต่อสิ่งเร้าให้เกิดความสมดุลในรูปของการปรับตัว และการแสดงออกทางพฤติกรรม ออลพอร์ต ได้อธิบายให้เห็นถึง ความแตกต่างระหว่างอุปนิสัย (Traits) กับคำอื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน คือ อุปนิสัย (Traits) และนิสัย (Habits) ว่า ทั้งสองต่างก็เป็นตัวกำหนด แนวโน้มของพฤติกรรม โดยที่อุปนิสัยจะมีความหมายกว้างกว่านิสัย ทั้งนี้ เพราะอุปนิสัยจะทำหน้าที่เชื่อมโยง หรือรวบรวมนิสัยต่างๆ ตั้งแต่ 2 ลักษณะขึ้นไป ส่วนอุปนิสัยกับเจตคติ (Attitudes) นั้นมีความหมายที่คล้ายคลึงกันมาก เพราะทั้งสองต่างก็เป็นไปตัวกำหนดแนวโน้มในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ และเป็นเอกลักษณ์ของบุคคล แต่ที่ต่างกันคือ เจตคติ เป็นสิ่งที่บุคคลมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงที่เกิดจากการเชื่อมโยงของความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ซึ่งอาจจะมีระดับความรู้สึกแตกต่างกันไป ในขณะที่อุปนิสัยจะเกี่ยวข้องกับลักษณะโดยทั่วๆ ไป มากกว่าเจตคติ นอกจากนี้ เจตคติจะเป็นเรื่องของการประเมิน หรือตัดสินที่มีต่อสิ่งต่างๆ มากกว่าอุปนิสัย ตัวอย่าง เช่น การยอมรับ การไม่ยอมรับ และเจตคตินั้น จะนำมาใช้เมื่อกล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับค่านิยม (Value) จะเกิดเมื่อบุคคลถูกกระตุ้น จากสิ่งเร้า ที่ทำให้เกิดความรู้สึกชอบใจ หรือไม่ชอบเท่านั้นแต่ สำหรับอุปนิสัย กับรูปลักษณะ (Type) นั้นแตกต่างกันที่รูปร่างลักษณะเป็นโครงสร้าง ทางความคิดเห็นของผู้สังเกตแล้วจัดบุคคลไว้ในลักษณะที่เห็นว่าเหมาะสม จึงไม่มีลักษณะที่โดดเด่น เป็นของตนเอง แต่จะจัดไว้เป็นภาพรวม ในขณะที่อุปนิสัยนั้น จะเป็นตัวแทน หรือพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของบุคคลนอกจากนี้อุปนิสัยของมนุษย์มีมาก และไม่มีอุปนิสัยใดที่ตายตัว ในแต่ละบุคคล และการที่บุคคลจะแสดงอุปนิสัยที่โดดเด่นออกมานั้นขึ้นอยู่กับ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) และสิ่งแวดล้อมทางสังคม (Social Environment) รวมทั้งอุปนิสัยของแต่ละคนที่จะแสดงออกนั้น จะมีการประสมประสานกันของหลายๆ อุปนิสัย ที่เป็นเหตุเป็นผลอย่างเกี่ยวข้องกัน เช่น อุปนิสัยของคนชอบเข้าสังคม จะทำงานประสานกับอุปนิสัยที่ชอบเจรจา ชอบแสดงตัว นอกจากนี้ อุปนิสัยใดๆ ของบุคคลนั้น จะขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางจิตใจของผู้นั้นด้วยเช่นกัน
อุปนิสัยจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ อุปนิสัยสามัญ (Common Traits) และอุปนิสัยเฉพาะตัว (Personal Disposition Traits)
1.1 อุปนิสัยสามัญ หมายถึง บุคลิกภาพทั่วๆ ไปที่เหมือนกับคนอื่นๆ ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน และเผ่าพันธุ์เหมือนกัน ก็จะทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพเหมือนกันได้ส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่ซึ่งได้แก่ค่านิยมต่างๆ หรือลักษณะรวมๆ ของบุคคลในแต่ละวัฒนธรรม เช่น คนไทยใจดี คนอเมริกันอิสระ คนจีนมีความขยัน เป็นต้น
1.2 อุปนิสัยเฉพาะตัว หมายถึง เอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับระหว่างคนสองคนได้ อุปนิสัยเฉพาะตัวแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คืออุปนิสัยสำคัญ อุปนิสัยสำคัญ หรืออุปนิสัยร่วม และอุปนิสัยทุติยภูมิ ซึ่งทำงานตามความสำคัญที่มีอิทธิพล ต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคลดังนี้คือ
1.2.1 อุปนิสัยสำคัญ (Cardinal Disposition Traits) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุปนิสัยเด่น (Eminent Traits) จะมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรม เกือบทุกด้านของบุคคล เป็นลักษณะเด่นที่แสดงออกชัดเจนเหนือพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่สามารถปิดบังซ่อนเร้นได้ เป็นอุปนิสัยที่มากำหนดอารมณ์ ความรู้สึก และชี้นำวิถีทางชีวิต ควบคุมแรงจูงใจต่างๆ เพื่อให้บุคคลเกิดพลังในการแสดงพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีความกล้าหาญ เป็นอุปนิสัยที่โดดเด่นที่มีอยู่ในพระองค์ จนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป เป็นต้น อุปนิสัยสำคัญนี้ อาจไม่ปรากฏกับทุก ๆ คนก็ได้ แต่ถ้าผู้ใดมีอุปนิสัยสำคัญเพียงลักษณะเดียวที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลนั้น ก็จะกลายเป็นบุคลิกภาพอ้างอิง (Reference Personality) ที่มักจะใช้เรียกผู้อื่นที่มีลักษณะเหมือนเขา เช่น เรามักจะอ้างอิงคนที่มีความตระหนี่ขี้เหนียว ว่าเหมือนกับ ไซล็อค หรือผู้ชายที่เจ้าชู้ว่าเป็นขุนแผน เป็นต้น
1.2.2 อุปนิสัยศูนย์กลาง หรืออุปนิสัยร่วม (Central Disposition Traits) เป็นกลุ่มของอุปนิสัยของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่มีอยู่ภายในตัวบุคคล เป็นอุปนิสัยที่สังเกตได้ง่ายเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่มั่นคงอยู่ในบุคลิกภาพ แต่อาจแสดงออกมาเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นคุณลักษณะที่มีความสำคัญ ในการควบคุมพฤติกรรมของบุคคล เช่น ความทะเยอทะยาน การแข่งขัน ความซื่อสัตย์ การตรงต่อเวลา และความเมตตากรุณา ลักษณะเหล่านี้จะควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เป็นการจะเข้าใจอุปนิสัยนี้ต้องสังเกตมาก เพราะบางอย่างไม่สามารถสังเกตอย่างตรงไปตรงมาจากท่วงทีอากัปกิริยา และการแสดงออกภายนอกได้ ดังนั้น จึงควรคำนึงถึงความถี่ และความเข้มของพฤติกรรมนั้น ในสถานการณ์ต่างๆ อย่างหลากหลายในขณะเดียวกัน
1.2.3 อุปนิสัยทุติยภูมิ (Secondary Traits) เป็นคุณลักษณะที่อยู่บริเวณรอบนอก (Peripheral) ที่ผลักดันให้บุคคลแสดงออกโดยทั่วไป เป็นลักษณะที่มีอยู่มากในตัวบุคคล ได้แก่ ความสนใจ และปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น เมื่อบุคคลชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาก็มักจะแสดงความคิดเห็นที่ดีที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ทำให้เขาเกิดความชอบ และสนใจ หรือเป็นเจตคติซึ่งบางครั้งเรียกอุปนิสัยชนิดนี้ว่า เป็นอุปนิสัยเชิงเจตคติ (Attitudinal Traits)
2. เจตนารมณ์ (Intentions) เป็นความตั้งใจของบุคคลที่จะก้าวไปข้างหน้า หรือแสวงหาเป้าหมาย เพื่ออนาคต เป็นสิ่งที่จะช่วยให้บุคคลเข้าใจบุคลิกภาพของบุคคลได้มากกว่าการค้นหาอดีต หรือประวัติความเป็นมาของบุคคล เช่น ความหวัง ความปรารถนา ความใฝ่ฝัน ความทะเยอทะยาน และการวางแผนเป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะผลักดันให้บุคคลก้าวไปข้างหน้า และเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ และเป็นสิ่งชี้นำพฤติกรรมปัจจุบัน เพื่อบรรลุเป้าหมายในอนาคต ดังนั้นเจตนารมณ์ จึงเป็นกุญแจที่สำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์
3. “ตน” (The Propium หรือ Self) ออลพอร์ต จะใช้คำว่า “Proprium” แทนคำว่า “Self” ซึ่งหมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคล เขาเปรียบว่า ถ้าบุคลิกภาพของมนุษย์เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ประกอบไปด้วย ราก กิ่ง ใบ ก้าน เปลือก “The Propium” ก็จะเปรียบเสมือนแก่นของต้นไม้ และอธิบายว่า ลักษณะต่างๆ ที่ประกอบเป็นบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล จะมีทั้งส่วนกาย จิต สังคม อารมณ์ มีจุดร่วม และจุดรวม หรือ “The Propium” ถ้าจุดร่วม และจุดรวมนี้สามารถประสานสัมพันธ์ กันได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้บุคคลนั้นมีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ (Healthy Personality) แต่ถ้าจุด ทั้งสองไม่สามารถประสานสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม ก็จะนำไปสู่โรคจิต โรคประสาท ความอ่อนแอ ความก้าวร้าว การเป็นอันธพาล เป็นต้น ดังนั้น “The Propium” จึงหมายรวมถึงทุกสิ่ง ทุกอย่างของบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงเอกภาพภายในของบุคคล ที่เกิดจากพัฒนาการที่ต่อเนื่องตั้งแต่วัยทารกจนสิ้นอายุขัย โดยผ่านขั้นต่างๆ ของพัฒนาการชีวิต
ขั้นตอนของการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ (Stage of Personality Development) แบ่งพัฒนาการของชีวิตเป็น 5 ขั้นได้แก่
วัยเริ่มแรกของทารก (Early Infancy) เป็นระยะแรกเกิด โดยในระยะเริ่มแรกของชีวิตทารกยังไม่มีความรู้สึกเกี่ยวกับตน เพราะทารกไม่สามารถแยก “ตัวฉัน” (Me) ออกจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวได้
วัยเริ่มแรกของตัวตน (The Early Self) เป็นระยะ 3 ปีแรกของชีวิต เด็กจะเริ่มรู้สึกเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง (Sense of Bodily Self) เด็กจะมีพัฒนาการ และการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย และการทำงานของอวัยวะต่างๆ เป็นระยะที่เด็กจะสำรวจ และจัดการสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว โดยการรับรู้สิ่งเร้าต่างๆ จากอวัยวะสัมผัส และเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ก็จะมีวุฒิภาวะมากขึ้น เด็กจะเริ่มรับรู้ถึงร่างกายของตนมากขึ้น เช่น “ฉันเป็นคนอ่อนแอ” “ฉันเป็นคนน่าเกลียด” “ฉันเป็นสวยงาม” “ฉันเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง” “อดทน” เป็นต้น และการรับรู้เกี่ยวกับร่างกาย จะเริ่มก่อตัวเป็นศูนย์กลางของ “ตน” (The Propium) และสร้างความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self-Concept) ไปตลอดชีวิต จากนั้นเด็กจะรู้สึกในเอกลักษณ์ของตนเอง (Sense of Self-Identity) โดยสร้างลักษณะเฉพาะตัว หรือเอกลักษณ์ของตนขึ้นมา ที่แตกต่างไปจากผู้อื่น เอกลักษณ์นี้ จะเป็นสิ่งที่ติดตัวต่อไป และเป็นวิถีทางเดียวกันกับที่เรารับรู้เกี่ยวกับตัวเอง เด็กจะสร้างลักษณะเฉพาะดังกล่าว จากตัวแบบที่สำคัญๆ เช่น จากบุคคลที่เขายกย่องนับถือ คนใกล้ชิด โดยการแสดงเอกลักษณ์ออกมาในลักษณะต่างๆ เช่น อุดมคติ เอกลักษณ์ เป็นสิ่งที่ควบคุมแรงขับ และทำให้รู้สึกว่าตนเป็นคนอย่างไร หรือต้องการอะไร และควรตัดสินใจอย่างไร ต่อมาเด็กจะพัฒนาความรู้สึกยกย่องตนเอง หรือความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-Esteem, Pride) ที่เกิดมาจากความรู้สึกภาคภูมิใจของเขาในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งได้สำเร็จ ในขณะที่จะเกิดความรู้สึกต่ำต้อยเมื่อประสบความล้มเหลว ถ้าเด็กสามารถจัดการกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ เขาจะรู้สึกเป็นตัวของตัวเองที่แยกจากคนอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นระยะของการแสดงออก และการแสดงความสามารถของตนเอง
ระยะ 4 – 6 ขวบ (Four to Six) เป็นระยะของเด็กที่มีความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองในลักษณะต่างๆ คือ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ (The Extension of Self) มีความรู้สึกแข่งขัน และมีแบบแผนมากขึ้นในระยะนี้ คือ การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) เช่น “นี่เป็นของฉัน” “บ้านของฉัน” “ของๆ ฉัน” เป็นต้น ความรู้สึกเป็นเจ้าของที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นความรู้สึกนี้ทำให้บุคคลพัฒนาคุณลักษณะรวมๆ ในวัยต่อมา เช่น ความรู้สึกที่มีต่อส่วนรวม สังคม และประเทศชาติในที่สุด อีกลักษณะหนึ่งของความรู้สึกที่บุคคลมีต่อตนเอง คือมโนภาพแห่งตน (Self-Image) เป็นบทบาทของบุคคลที่จะแสดงออก เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น และเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะกำหนดวิธีการ และรูปแบบต่างๆ ในการแสดงพฤติกรรม เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย สำหรับอนาคตในระยะนี้เด็กจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่คาดหวังอะไรจากตัวเขา และเขาจะทำอย่างไร และเปรียบเทียบความคาดหวังต่างๆ ดังกล่าวกับพฤติกรรมของตนเองจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ เช่น เด็กทราบว่าพ่อแม่ต้องการให้เขาเป็นเด็กคนดี แต่เด็กก็ยังซุกซน แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เขาก็ยังไม่เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนนักในการที่จะสร้างมโนภาพของตนเองว่า ต้องการเป็นเช่นไรเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งระยะนี้ จึงเป็นเพียงความคิดที่จะเป็นรากฐานของการพัฒนาตนในวัยที่สูงขึ้นต่อไป
ระยะ 6 – 12 ปี (Six to Twelve) เป็นระยะที่เด็กเข้าโรงเรียน และพัฒนาสติปัญญา มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ความรู้สึกของความเป็นเอกลักษณ์ในตนเอง มโนภาพแห่งตน และความรู้สึกเป็นเจ้าของ ก็จะพัฒนามากขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าในตนเองมากยิ่งขึ้น เด็กจะเรียนรู้ถึงสิ่งใหม่ๆ และสามารถเลือกสรรสิ่งต่างๆ เด็กเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีพลังใหม่ๆ ในตนเองเกิดขึ้น และ ได้ค้นพบตนเองในแง่มุมอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง นอกจากนี้ ยังมีลักษณะที่เด่นอีกอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้แก่ การมีเหตุผลในตนเอง (Self as Relational Copper) เป็นลักษณะของการมีความเชื่อมั่นว่า เขามีความสามารถที่จะคิดอย่างมีเหตุมีผล ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของการมีพลังความคิดอย่างมีเหตุผล ทำให้บุคคลมองว่าตนเองมีความสามารถที่จะคิด และตั้งจุดมุ่งหมายที่เป็นประโยชน์
ระยะวัยรุ่น (Adolescence) เป็นระยะตั้งแต่อายุ 12 – 21 ปี วัยนี้บุคคลจะมีปัญหาในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาการเลียนแบบ การเลือกอาชีพ รวมทั้งปัญหา ในการเลือกเป้าหมายของชีวิต เขาจึงเรียนรู้ว่าจะต้องมีการวางแผน เพื่อไปถึงจุดมุ่งหมายระยะยาว (Propriety Striving) ที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจในภายใน ซึ่งถือว่า เป็นศูนย์กลางของการมีชีวิตอยู่ และเป็นจุดกำเนิดของการพัฒนา มโนธรรม (Conscience) ที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ออลพอร์ต ได้อธิบาย ขั้นตอนการพัฒนามโนธรรมว่า จะเริ่มจากการที่เด็กจะรับรู้มโนธรรม ในแง่ของการกลัวการถูกลงโทษ(Authoritarian Conscience) จากพ่อแม่เขาจะรู้สึกผิดหากขัดขืนต่อกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แต่เมื่อเด็กมีวุฒิภาวะมากขึ้นก็จะมีการรับรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และบุคคลอื่นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมีความรู้สึกในเรื่องมโนธรรม โดยความเชื่อฟังจากสังคม และจะเปลี่ยนมาเป็นวิธีการสร้างมาตรฐานภายในตัวเองซึ่งถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างกฎเกณฑ์ของตนเอง (Self-Generated Rules) และโดยความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของบุคคลจะถูกหล่อหลอมความเป็น “ตน” โดยกระบวนการทำงานตามขั้นตอนต่างๆ ร่วมกัน พัฒนาการของบุคคลที่หล่อหลอมรวมกัน จนเข้าสู่วุฒิภาวะจะมีพัฒนาการเรื่องต่างๆ ได้อย่างสมดุล และมีลักษณะดังนี้ คือ
1. พัฒนาการทางบุคลิกภาพที่มีวุฒิภาวะ (Mature Personality) เป็นการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลายาวนานที่จะต้องพัฒนาตัวเองก่อน และพัฒนาการในระยะแรกเกิดจากแรงจูงใจทางร่างกาย และต่อมาเมื่อบุคคลมีอายุมากขึ้นก็จะเปลี่ยนมาเป็นมีแรงจูงใจภายในรวมทั้งการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำให้บุคคลดำเนินไปสู่ ความมีวุฒิภาวะได้อย่างสมบูรณ์ ลักษณะของผู้มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์จะพิจารณาได้จาก
2. การพัฒนาความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Extension of the Sense of Self) คือ ความสามารถร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากกิจกรรมของตน เขาจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ เพื่อความสุขของทั้งตนเอง และผู้อื่น อย่างเหมาะสม
3. การพัฒนาการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น (Warm Relatedness to Others) คือ มีความสามารถในการสร้างสัมพันธ์ที่ใกล้ชิ และอบอุ่นกับผู้อื่น (Intimacy) สามารถที่จะให้ความรักต่อผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ และยังมีความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Compassion) เขาจะไม่มีอคติในการติดต่อ และสัมพันธ์กับผู้อื่น จะยอมรับ และชื่นชมในพฤติกรรม และความคิดเห็นที่แตกต่างกันของผู้อื่น ไม่นินทาผู้อื่น มีการปฏิบัติตาม กฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ทำให้เสียบรรยากาศในการมีความสัมพันธ์กัน
4. การพัฒนาการยอมรับตนเอง (Self-Acceptance) คือ มีอารมณ์มั่นคง หลีกเลี่ยงการโต้ตอบที่ไม่สมควร ตลอดจนควบคุมตนเองได้ เมื่อมีความคับข้องใจ มีความอดทน ไม่ตำหนิผู้อื่นแบบไม่มีเหตุผล โทษคนอื่นไม่ยอมรับความจริง
5. การพัฒนาการรับรู้ตามความเป็นจริง (Realistic Perception of Reality) คือ มีความสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง โดยไม่บิดเบือน มีความรอบรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตที่มีประสิทธิภาพ และสามารถอุทิศตนเอง เพื่อการทำงานโดยมีลักษณะ ยึดปัญหาเป็นศูนย์กลาง (Problem-Centered) ไม่ใช่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Ego-Center)
6. การพัฒนาการมองตนเองด้วยสายตาเป็นกลาง (Self-Objectification) หมายถึง การรู้จักตนเอง และมีความสุขที่มองเห็นความสามารถ และขีดจำกัดของตนเอง การมีอารมณ์ขัน มีความสามารถที่จะเห็นความสนุกสนานในมโนภาพแห่งตน (Self-Image) สามารถมองสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างเป็นกลาง
2 ทฤษฎีวิเคราะห์องค์ประกอบ หรือทฤษฎีบุคลิกภาพของ Raymond B. Cattell ( Factor Analytic Theory )
ทฤษฎีวิเคราะห์องค์ประกอบ ( Factor Analytic Theory) ของเรย์มอนด์ บี แคทเทลล์ (Raymond B. Cattell) เป็นนักจิตวิทยาบุคลิกภาพที่ได้พยายามศึกษาบุคลิกภาพอย่างมีระบบระเบียบ เป็นการพยายามที่จะนำวิชาบุคลิกภาพมาสู่การคิด การศึกษา การเข้าใจที่เป็นรูปธรรม มีความชัดเจนเที่ยงตรงด้วยการวัด และวิธีคิด และวิธีการทางสถิติ อันเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ประวัติ และแนวคิดของเขาพอสรุปได้ดังนี้ Raymond B. Cattell ค.ศ. 1905 – 1998 โดยศึกษาจากหนังสือของ (ศรีเรือน แก้วกังวาล.2539 : 195 – 213) (สถิต วงศ์สวรรค์. 2540 : 74 – 77) (นวลละออ สุภาผล. 2527 : 202 – 235) และ(สุภวรรณ พันธุ์จันทร์.2543 : 10-21)โดยอธิบายสรุปภาพรวมดังนี้ คือ ประวัติ ของเรย์มอนด์ บี แคทเทลล์ ( Raymond B. Cattell ) เกิดที่เมืองสตาฟฟอร์ดเชียร์ (Stanffordshire) ประเทศอังกฤษ มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1905 - ค.ศ. 1998 เขาเป็นบุตรชายคนที่สองของตระกูลแคทเทล (Cattell) สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาเคมี เกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยคิงส์ (Kings College) ประเทศอังกฤษ เมื่อมีอายุเพียง 19 ปี หลังจากนั้นเขาได้สนใจในเรื่องจิตวิทยาในเชิงวิทยาศาสตร์ และได้ศึกษาสาขาจิตวิทยาต่อมา และสนใจเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ชื่อ Charles Spearman และเป็นผู้ให้สร้างทฤษฎีวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analytic Theory) ขณะที่เขาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วยในการทำวิจัย กับนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง คือ ชาร์ล สเปียร์แมน (Charles Spearman) ศึกษาเรื่องสติปัญญา และได้ทำการทดสอบ เพื่อศึกษาทางด้านสติปัญญาอย่างหลากหลายวิธี รวมทั้งได้หาค่าความสัมพันธ์ภายในของคะแนนจากแบบทดสอบ และได้สรุปว่า ความสามารถทางสติปัญญา ประกอบไปด้วยองค์ประกอบทั่วไป (General Factors) ทำให้แคทเทล รับวิธีการเหล่านี้ เป็นแนวทางในการศึกษาทางบุคลิกภาพ และความสามารถในด้านต่างๆ ทำให้การวิจัยทางจิตวิทยาเป็นระบบระเบียบมากขึ้น รวมทั้งใช้วิธีหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ แคทเทล อธิบายคำว่า บุคลิกภาพไว้ว่า “บุคลิกภาพ คือ สิ่งที่จะช่วยให้เราทำนายได้ว่าบุคคลจะทำอะไรในสถานการณ์ที่กำหนดให้” ดังนั้นบุคลิกภาพจึงเป็นเรื่องของพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล ทั้งพฤติกรรมที่เปิดเผย และพฤติกรรมที่ซ่อนเร้น และพฤติกรรมที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ดังนั้นการศึกษาบุคลิกภาพจะต้องศึกษาพฤติกรรมทั้งหมดไม่ใช่ศึกษาเรื่องใด เรื่องหนึ่ง แคทเทล (Hall and Lindxzey. 1970 : 386; citing Catelle. 1950 : 2 – 3)
โครงสร้างบุคลิกภาพของแคทเทล
ทฤษฎีบุคลิกภาพของแคทเทล มีโครงสร้างบุคลิกภาพประกอบด้วย อุปนิสัย (Traits) หน่วยพลัง (Ergs) เมตะเอิร์ก (Metaergs) สังกัปอุดหนุน (Subsidiation) และตัวตน (The Self) ซึ่งมีราโดยละเอียด ดังนี้ ฮอล์ และ ลินด์เซย์ (1970 : 386 – 396)
1. อุปนิสัย (Traits) เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่แคทเทลถือว่า อุปนิสัย คือ “โครงสร้างของจิต” (Mental Structure) เป็นตัวกระทำให้พฤติกรรมของบุคคลคงที่ และแคทเทลมีแนวความคิดเหมือนออลพอร์ต (Allport) ว่า บุคคลแต่ละคนมีอุปนิสัยร่วม หรือสามัญลักษณะ (Common Traits) ด้วยกันทั้งนั้น เช่น การมีประสบการณ์ทางสังคมอย่างเดียวกัน ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ หรือวิสามัญลักษณะ (Unique Traits) หมายถึง อุปนิสัยที่มีอยู่เฉพาะในบุคคลแต่ละคน ซึ่งคล้ายคลึง อุปนิสัยร่วม เป็นคุณลักษณะต่างๆ ที่มีอยู่ในบุคคลทั่วไป เช่น ความสามารถ การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม สติปัญญา และความเชื่อมั่นในตนเอง ส่วนอุปนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์จะเป็นลักษณะที่ปรากฏขึ้นในส่วนของเจตคติ และความสนใจเฉพาะของแต่ละบุคคล อุปนิสัยมี 2 ชนิด คือ
1.1 อุปนิสัยพื้นผิว ( Surface Traits ) เป็นอุปนิสัยที่สามารถสังเกตได้ชัดเจน เป็นลักษณะนิสัยของบุคคลที่แสดงออกมาอย่างเปิดเผยอุปนิสัยต้นตอเป็นโครงสร้างที่แท้จริงซึ่งถือเป็นรากฐานของบุคลิกภาพ และเป็นตัวที่กำหนดการแสดงออกของอุปนิสัยพื้นผิวหลายๆ แบบ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องศึกษาเมื่อพบปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการบุคลิกภาพ อาการเจ็บปวดทางกาย หรือโรคทางกายที่มีสาเหตุเนื่องมาจากจิตใจ และความเปลี่ยนแปลงในบูรณาการของบุคลิกภาพ (Dynamic Intergration) นอกจากนี้อุปนิสัยต้นตอยังเป็นผลของพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมผสมกัน ซึ่งอาจเรียกอุปนิสัยต้นตอว่าเป็นอุปนิสัยแม่บท (Constitutution Traits) ได้
1.2 อุปนิสัยต้นตอ ( Source Traits ) แบ่งออกเป็น 3 แบบตามการแสดงออก คือ อุปนิสัย แรงขับ (Dynamic Traits) ได้แก่ อุปนิสัยที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ และความสนใจของบุคคล เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายใดๆ ก็ตาม อุปนิสัยเกี่ยวกับความสามารถ (Ability Traits) ได้แก่ อุปนิสัยที่เป็นตัวกำหนดความสามารถของบุคคลให้ทำงานไปสู่จุดมุ่งหมาย และอุปนิสัยทางลักษณะอารมณ์ (Temperament Traits) ได้แก่ อุปนิสัยที่เป็นตัวกำหนดความสามารถของบุคคลให้ทำงานไปสู่จุดมุ่งหมาย และอุปนิสัยทางอารมณ์ (Temperament Traits) ได้แก่ อุปนิสัยที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองทาง ด้านโครงสร้างเป็นความเร็วของพลัง เป็นต้น ในการแสดงออกของพฤติกรรมใดๆ ก็ตาม อาจเกิดจากอุปนิสัยทั้ง 3 แบบร่วมกัน แต่ทั้งนี้อุปนิสัยแรงขับจะมีความสำคัญมากกว่าอุปนิสัยเกี่ยวกับความสามารถ และอุปนิสัยทางอารมณ์ เพราะอุปนิสัยแรงขับสามารถยืดหยุ่น และอาจเป็นตัวเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนใหญ่ได้
2. หน่วยพลัง (Ergs) เป็นอุปนิสัยต้นตอ หรือแรงขับดันที่มีมาแต่กำเนิดทั้งในกาย และในจิตใจ ทำให้บุคคลมีปฏิกิริยาตอบสนอง ทั้งโดยจงใจ หรือเอาใจใส่ต่อวัตถุใดวัตถุหนึ่งมากกว่าวัตถุประเภทอื่น และแสดงประสบการณ์เฉพาะของอารมณ์ต่อวัตถุประเภทนั้น ๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อไปให้ถึงจุดมุ่งหมายของกิจกรรมนั้น ๆ ของตนมากกว่ากิจกรรมประเภทอื่นๆ แคทเทล ได้กำหนดคำนิยามของคำว่า หน่วยพลัง มีหน้าที่ 4 อย่าง คือ การตอบสนองการรับรู้ (Perceptual Response) การตอบสนองทางอารมณ์ (Emotional Response) การกระทำที่นำไปสู่จุดมุ่งหมาย (Instrumental Acts Leading to the Goal) และจุดมุ่งหมายที่ทำให้ได้รับความพอใจ (The Goal Satisfaction Itself) ถ้ารวมหน่วยพลัง 4 หมวดเข้าด้วยกัน คำนิยามจะประกอบไปด้วย การคิด (Cognition) ความรู้สึก (Affection) และความมุ่งมั่น (Conation) ซึ่งเหมือนกับคำว่าสัญชาตญาณ (Instinct) ตามทฤษฎีของแมคดูกัล (McDougall’s Theory) และแคทเทล ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของหน่วยพลังกับกระบวนการทางชีววิทยาของมนุษย์พร้อมทั้งเสนอว่า หน่วยพลังที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดมี 10 หน่วยพลัง คือ พลังเพศ (Sex) การยืนยันสิทธิของตน (Self Assertion) การหนี ความกลัว ความวิตกกังวล (Escape, Fear, Anxiety) การป้องกัน พฤติกรรมการปกป้องของพ่อแม่ (Protection Parental Behavior) การเข้าร่วมกลุ่ม (Gregariousness) ความต้องการผักผ่อน (Rest – Seeking) การสำรวจ (Exploration) การหลงรักตนเอง (Narcistic Sex) การขอร้อง (Appeal) การก่อสร้าง (Construction)
3. เมตะเอิร์ก (Metaergs) เป็นอุปนิสัยต้นตอที่เกี่ยวกับแรงขับ ซึ่งได้รับการขัดเกลาจากสิ่งแวดล้อม และปรากฏในพัฒนาการ เมตะเอิร์กต่างจากหน่วยพลังคือหน่วยพลังมีมาแต่กำเนิดแต่ เมตะเอิร์กเกิดขึ้นภายหลัง และพัฒนามาจากแรงจูงใจ ได้แก่ เจตคติ (Attitude) ความสนใจ (Interest) และ ความอ่อนไหวทางอารมณ์ (Sentiment)
ความอ่อนไหวทางอารมณ์มีความสำคัญที่สุดในเมตะเอิร์ก ความอ่อนไหวทางอารมณ์ก็คือ โครงสร้างของอุปนิสัยที่เกี่ยวกับแรงขับซึ่งเกิดจากสิ่งแวดล้อม ทำให้บุคคลมีความเอาใจใส่ต่อวัตถุบางอย่าง ตลอดจนรู้สึก และสามารถตอบสนองได้ในสถานการณ์เฉพาะความอ่อนไหวทางอารมณ์จะมีความมั่นคง และถาวรกว่าเจตคติ และความสนใจ เพราะความอ่อนไหวทางอารมณ์ปรากฏอยู่ในช่วงพัฒนาการตอนต้นมากกว่าวัยอื่นๆ เจตคติ ความสนใจ และความอ่อนไหวทางอารมณ์จะไม่แยกออกจากกัน และมีการทำงานเกื้อกูลกันสำหรับความอ่อนไหวทางอารมณ์ที่สำคัญ ได้แก่ ความสนใจในอาชีพ ความสนใจในกีฬา และเกมต่าง ๆ ความสนใจ เพราะความอ่อนไหวทางอารมณ์ปรากฏอยู่ในช่วงพัฒนาการตอนต้นมากกว่าวัยอื่นๆ เจตคติ ความสนใจ และความอ่อนไหวทางอารมณ์จะไม่แยกออกจากกัน และมีการทำงานเกื้อกูลกัน สำหรับความอ่อนไหวทางอารมณ์ที่สำคัญ ได้แก่ ความสนใจในอาชีพ ความสนใจในกีฬา และเกมต่างๆ ความสนใจในเรื่องศาสนา ความสนใจทางด้านเครื่องจักรกล ความรักชาติ โครงสร้างของหน่วยพลังย่อย และอารมณ์ความรู้สึกต่อตนเอง
4. สังกัปอุดหนุน (Subsidiation) ถ้าเราศึกษาอุปนิสัยที่สัมพันธ์กับจำนวนหนึ่ง เราจะพบว่ามีเป้าหมายสุดท้ายซึ่งบุคคล สามารถจะไปได้โดย การผ่านเป้าหมายย่อยๆ ไปเป็นลำดับ หรืออาจเรียกว่าเป้าหมายย่อยเหล่านั้นเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมายสุดท้าย อุปนิสัยที่ทำให้บุคคล บรรลุเป้าหมายแรก ได้แก่ อุปนิสัยทั้งหลายที่จะมาอุดหนุนอุปนิสัยที่ทำให้บรรลุเป้าหมายสุดท้าย หรือใกล้เคียงกับเป้าหมายสุดท้าย การแบ่งระหว่างหน่วยพลัง ความอ่อนไหวทางอารมณ์ เจตคติ และความสนใจนั้นถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือลูกโซ่ของการอุดหนุน (Subsidiation Chain)ทั้งหมดเป็นอุปนิสัยที่เกี่ยวกับแรงขับ โดยความสนใจเป็นสิ่งที่อุดหนุนเจตคติ (Subsidiary to Attitude) รวมทั้งเป็นสิ่งอุดหนุนความอ่อนไหว ทางอารมณ์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่อุดหนุนหน่วยพลัง (Subsidiary to Eggs)ด้วย และตามปกติแล้วปฏิกิริยาซึ่งกัน และกันระหว่างอุปนิสัยที่เกี่ยวกับแรงขับ มีความซับซ้อนมากการตรวจสอบการกระทำใดๆ จะแสดงให้เห็นเป็นลูกโซ่ของการอุดหนุนที่เชื่อมโยงหน่วยพลังแต่ละอย่าง และความอ่อนไหวทางอารมณ์ และเจตคติไว้
5. ตัวตน (The Self ) เป็นส่วนหนึ่งของความอ่อนไหวทางอารมณ์ ตัวตนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเจตคติเกือบทั้งหมดจะสะท้อนให้เห็นตัวตนนั่นเอง ตัวตนจะเกี่ยวข้องกับการแสดงออกของหน่วยพลัง หรือความอ่อนไหวทางอารมณ์อื่นๆ ตัวตนมีบทบาทในการบูรณาการบุคลิกภาพ และตัวตนนี้ยังเกี่ยวข้องกับหน่วยพลังที่เกี่ยวกับคุณธรรม (Superego) และตัวตนตามอุดมคติ (Ideal Self) ซึ่งทั้งสองนี้ได้มาจากอิทธิพลทางสังคม นอกจากนี้ตัวตนยังมีอิทธิพลควบคุมอุปนิสัยที่เกี่ยวกับแรงขับให้ปฏิบัติงานร่วมกัน เรียกว่า ตัวตนทางโครงสร้าง (Structural Self) หรือตัวตนที่เกิดจากแรงขับ (Drive Self) หรือเกิดความอ่อนไหวทางอารมณ์ของหน่วยพลัง (Ego Sentiment) การทำงานของอุปนิสัยที่เกี่ยวกับแรงขับอันใดก็ตาม จะแสดงตัวออกมานั้นจะต้องขึ้นอยู่กับว่าอุปนิสัยนั้นเหมาะสมกับตัวบุคคล หรือไม่ ถ้าอุปนิสัยนั้นๆ ไม่สามารถเข้ากับตัวตนได้ก็จะทำให้เกิดลักษณะอาการโรคจิต โรคประสาทในบุคคลได้
โครงสร้างของตัวตน
โครงสร้างของตัวตนแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ ตัวตนตามอุดมคติ ( Idea Self ) กับตัวตนตามความเป็นจริง (Real Self) ทั้งสองอย่างนี้ขึ้นอยู่กับ การสังเกตตน ด้วยตนเองตามความเป็นจริงคือ ตัวตนที่เขายอมรับว่าเขาเป็นในขณะที่เขาพิจารณาอย่างมีเหตุผล ส่วนตัวตนตามอุดมคติ ก็คือตัวตนอย่าง ที่เขาต้องการจะเป็น ในการเริ่มต้นพัฒนาการของตัวตนตามความเป็นจริงจะเป็นภาพสะท้อนที่ไม่สมบูรณ์ของตัวตนตามอุดมคติ และเมื่อระยะเวลาผ่านไป พัฒนาการของบุคคลเป็นไปตามปกติ การบูรณาการบุคลิกภาพต่างๆ อาจนำไปสู่การเป็นตัวตนซึ่งทั้งตัวตนตามอุดมคติ และตัวตนตามความเป็นจริง จะมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ของตัวตน(Self Sentiment) เป็นตัวกำหนด
การพัฒนาบุคลิกภาพ (The Development of Personality)
การศึกษาพัฒนาการบุคลิกภาพของแคทเทล เราต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพันธุกรรม และอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดบุคลิกภาพ และ พัฒนาการบุคลิกภาพประกอบด้วยการปรับปรุงหน่วยพลังกับเมตะเอิร์ก และการจัดระบบตัวตนทางโครงสร้าง ซึ่งการที่บุคคลจะมีพัฒนาการได้มากน้อย เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการพัฒนาความสามารถในการทำหน้าที่ของ สติปัญญา ความพร้อมในการแข็งขัน และ ความเข้มของความจำ (Strength of Memory)
การเรียนรู้ (Learning)
แคทเทล จำแนกการเรียนรู้ออกเป็น 3 ประเภท และการเรียนรู้ทั้ง 3 ประเภท คือ
การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (Familiar Classical) มีความสำคัญต่อการตอบสนองทางจิตใจ และเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อม
การวางเงื่อนไขแบบปฏิบัติการ (Instrumental Conditioning) เป็นการตอบสนอง เพื่อการนำไปสู่เป้าหมายต่างๆ ให้เกิดความพึงพอใจ และการเรียนรู้ชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับตารางการเคลื่อนไหว (Dynamic Lattice) แคทเทล เรียกการเรียนรู้แบบนี้ว่า การเรียนรู้จากการมาพบกัน (Confluence Learning) พฤติกรรม หรือเจตคติที่แสดงออกมานั้นจะแสดงความพึงพอใจมากกว่าเป้าหมาย ดังนั้นเจตคติหนึ่งจึงเกี่ยวข้องกับความอ่อนไหวทางอารมณ์หลายอย่าง และความอ่อนไหวทางอารมณ์ก็จะเกี่ยวข้องกับหน่วยพลังหลายๆ หน่วย และอาจเห็นได้จากโครงสร้างของตารางการเคลื่อนไหว
การเรียนรู้แบบบูรณาการ (integration Learning) การเรียนรู้แบบนี้บุคคลจะสร้างความพึงพอใจในระยะยาว และแสดงออกโดยหน่วยพลังทั้งหลาย
กฎการเรียนรู้ของแคทเทล มี 2 ข้อคือ
ทางเลือกที่แปรเปลี่ยน ข้อ 1 (The First Dynamic Crossroad ) เกิดขึ้นเมื่อบุคคลพยายามขั้นแรกที่จะสนองความพึงพอใจของหน่วยพลังอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดผลตามมา 4 ประการคือ
บุคคลได้รับการตอบสนองความปรารถนา ซึ่งเกิดจากผลของพฤติกรรมที่มีรูปแบบ ติดตัวมาแต่กำเนิด
บุคคลไม่สามารถสมปรารถนาได้ เพราะไม่สามารถใช้การตอบสนองทางด้านการเคลื่อนไหว และการรับรู้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อพบสภาพสิ่งแวดล้อมที่จำกัด
รูปแบบของพลังอาจจะได้รับการปรับปรุง หรือถูกแทนที่โดยหน่วยพลังอื่นที่เข้ามาสนับสนุนหน่วยพลังอันแรก
บุคคลไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายได้ทั้งนี้ เพราะมีอุปสรรคขัดขวาง ถึงแม้ว่าทางไปสู่เป้าหมายนั้นจะเหมาะสมกับบุคคลนั้น และสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนก็ตาม
แคทเทล ถือว่า ปฏิกิริยาของข้อสองเป็นการตอบสนองที่กระจัดกระจาย (Response Dispersion) ในกรณีนี้บุคคลไม่ทราบว่าจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ หรือพฤติกรรมอย่างไรจึงจะสามารถลดความเครียดซึ่งเกิดจากหน่วยพลังนั้น ด้วยเหตุนี้บุคคลไม่อาจทราบว่าจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง ที่เปลี่ยนแปลงไปได้หลายรูปแบบ และไม่อาจจะแยกแยะความแตกต่าง ในทางตรงกันข้ามบุคคลที่ประสบอุปสรรคในข้อสี่จะรู้สึกโกรธ และหาแนวทางตอบสนองด้วยความก้าวร้าว แคทเทลเชื่อว่า จากทางเลือก หรือการต่อสู้ทั้งสี่ข้อนี้สามารถแสดงให้เห็นความสำคัญของการมาพบกัน (Confluence) หรือพัฒนาการของการตอบสนองความอ่อนไหวทางอารมณ์ที่ช่วยให้บุคคลได้รับความพึงพอใจในหน่วยพลังตั้งแต่สองหน่วยขึ้นไป พร้อมกับการตอบสนองที่กระจัดกระจาย และ มีความสัมพันธ์กับกฎของแรงขับซึ่งจะนำไปสู่พัฒนาการการสร้างรูปแบบพฤติกรรมใหม่
ทางเลือกที่แปรเปลี่ยนข้อ 2 (The Second Crossroad) จากทางเลือกข้อสี่ เมื่อการตอบสนองของหน่วยพลังพบอุปสรรคบุคคล จะมีแนวทางเลือกหลายๆทางเช่น การเพิ่มกิจกรรมบางอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งความพอใจ ระบายอารมณ์โกรธ เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ใช้ความโกรธในรูปการทำร้ายตนเองจนเป็นคนที่ไม่มีประสิทธิภาพเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหา หรือ อุปสรรคต่างๆ
ทางเลือกที่แปรเปลี่ยน ข้อ 3 (The Third Dynamic Crossroad) เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีแบบการตอบสนองต่ออุปสรรคด้วยความโกรธแต่ไม่สามารถเอาชนะได้ ทำให้บุคคลเลือกที่จะทำการตอบสนองใน 4 ลักษณะด้วยกัน คือ หมดหวัง หรือยกเลิก กลัว หรือหนี แสดงความก้าวร้าว และใช้วิธีการจินตนาการ ถ้าบุคคล เลือก ตอบสนองจากข้อสอง และข้อสามในไม่ช้าบุคคลจะถอยหนีจากสถานการณ์นั้น หรืออาจมีพลังความสามารถเอาชนะอุปสรรค จนประสบความสำเร็จ ตามจุดมุ่งหมาย หรืออาจยกเลิกความพยายามโดยการปฏิเสธสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความต้องการนั้นๆ เสีย
ทางเลือกที่แปรเปลี่ยน ข้อ 4 (The Fourth Dynamic Crossroad) เป็นการล้มเลิกหน่วยพลัง โดยที่บุคคลเปลี่ยนแปลงการปรับตัว จากลักษณะภายนอก เข้าสู่การปรับตัวภายในโดยการปฏิเสธ หรือล้มเลิกพลังความต้องการ ความวิตกกังวลมีบทบาทที่สำคัญที่สุดในการที่จะต้องละทิ้งแนวโน้มของหน่วยพลังนั้นๆ บุคคลมีทางเลือก 4 อย่างด้วยกัน คือ
เก็บกดพลังไว้ คือ การปฏิเสธด้วยความสมัครใจ และต่อต้านที่จะแสดงปฏิกิริยาที่เป็นไปตามความต้องการ
พยายามเก็บกดแต่เป็น ขบวนการที่บุคคลไม่พอใจ ในกรณีนี้บุคคลจะต่อต้าน และขับไล่สิ่งที่ไม่ต้องการออกไปจากจิตสำนึก เปลี่ยนความต้องการโดย การสร้างกลวิธานป้องกันตัวชนิดทดเทิด (Sublimate) โดยหาจุดมุ่งหมายที่สังคมยอมรับมาทดแทนอย่างรู้ตัว และรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร
บุคคลอาจจะกลับไปใช้พฤติกรรมที่ไม่ได้ปรับปรุงซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือมิฉะนั้นก็พาลเกเร หรือหาจุดมุ่งหมายอื่นๆ ที่มีลักษณะต่อต้านสังคม
ทางเลือกที่แปรเปลี่ยน ข้อ 5 (The Fifth Crossroad) ในการเก็บกดความต้องการทำให้บุคคลเกิดการตอบสนอง 4 ลักษณะ คือ
เพ้อฝันอย่างไม่รู้ตัว และบางครั้งก็รู้ตัว
เก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก
เก็บกดอย่างมั่นคงซึ่งหน่วยพลังจะแสดงออกมาทางอ้อม และมีผลต่อพฤติกรรมของบุคคลในระยะต่อมา
บุคคลอาจใช้การทดเกิดอย่างไม่รู้ตัว
ทางเลือกที่แปรเปลี่ยน ข้อ 6 (The Sixth Crossroad) เป็นลักษณะการเก็บกดที่ไม่มั่นคง และไม่ได้ผลเต็มที่ บุคคลจึงเพิ่มกลวิธานป้องกันอย่างใดอย่างหนึ่งใน 10 อย่าง ซึ่งเป็นแนวเดียวกับจิตวิเคราะห์ กลวิธานป้องกันตัว 10 อย่าง มีดังนี้ คือ การจินตนาการ (Fantasy) การทำปฏิกิริยาตรงกันข้าม (Reaction Formation) การโยนความผิดให้ผู้อื่น (Projection) การหาเหตุผลมาอ้าง (Rationalization) การเก็บกด (Repression) การเก็บกดมากยิ่งขึ้น (Further Repression) การควบคุมหน่วยพลังย่อย (Restriction of Ego) การถดถอย (Regression)การย้ายแหล่งทดแทน (Displacement) การย้ายแหล่งทดแทนโดยการสร้างอาการของโรคต่างๆ (Displacement with Symption Formation) แคทเทลถือว่า กลวิธานในการป้องกันตนเองป้องกัน 3 ประการหลัง Id เป็นตัวหนุนกำลังที่สำคัญ
บุคลิกภาพในสังคมระดับกลุ่ม (The Social Context) แคทเทลได้พยายามเน้นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรม และสังคมที่มีต่อพฤติกรรม และบุคลิกภาพของบุคคลไว้ว่า สถาบันทางสังคมที่ กล่อมเกลา หรือมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพมีหลายสถาบันแต่ที่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัว และที่สำคัญรองลงมา คือสถาบันการศึกษา สถาบันอาชีพ กลุ่มที่บุคคลเป็นสมาชิก ศาสนา พรรคการเมือง และประเทศชาติ สถาบันเหล่านี้อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพของบุคคลได้ ดังนี้
สถาบันที่จงใจจะทำให้เกิดบุคลิกภาพชนิดใดชนิดหนึ่งหมายถึง ลักษณะบุคลิกภาพที่สังคมนั้นต้องการ อาจรวมอุปนิสัย และบุคลิกภาพเฉพาะ โดยที่สถาบันนั้นจงใจผลิตลักษณะที่ต้องการขึ้น
องค์ประกอบทางด้านนิเวศวิทยา หรือสถานการณ์ อาจส่งผลให้เกิดบุคลิกภาพซึ่งสถาบันในสังคมไม่ได้จงใจ
เมื่อเกิดรูปแบบของพฤติกรรมอันเป็นผลของ ขบวนการ ข้อใดข้อหนึ่งในสองข้อข้างต้น แต่ละบุคคลอาจพบว่าจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบุคลิกภาพของเขา เพื่อการพัฒนาตนต่อไป
ดังนั้น เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการบุคลิกภาพให้ดีพอ จึงมีความจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงความสำคัญของสถาบันทางสังคมต่างๆ ที่ส่งผลถึงบุคลิกภาพตั้งแต่สถาบันครอบครัวไปจนถึงสถาบันระดับประเทศชาติด้วย
องค์ประกอบบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพของ Cattell เป็นลักษณะรวมทั้งหมดของบุคคลซึ่งประกอบไปด้วยร่างกาย และจิตใจ แสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าทั้งจากภายใน และภายนอก โดยมีการบูรณาการจากลักษณะต่างๆ ของพฤติกรรมครอบคลุมไปถึงสภาพทางด้านอารมณ์ ความสามารถ ความสนใจ เจตคติ ค่านิยม และสติปัญญาของบุคคล บุคลิกภาพตามทฤษฎีนี้ ประกอบไปด้วยบุคลิกภาพที่มีองค์ประกอบ 16 ด้าน โดยเรียกว่า The Sixteen Personality ได้แก่ ฮอล์ และ ลินด์เซย์ (1970 : 390)
องค์ประกอบ A ชอบออกสังคม – สำรวม
องค์ประกอบ B สติปัญญา
องค์ประกอบ C อารมณ์มั่นคง – อารมณ์อ่อนไหว
องค์ประกอบ E เป็นอิสระแก่ตน –ถ่อมตน
องค์ประกอบ F ทำตนตามสบาย – ถี่ถ้วนระมัดระวัง
องค์ประกอบ G ซื่อตรงต่อหน้าที่ – ไม่ทำตามกฎ
องค์ประกอบ H กล้าสังคม – ขี้อาย
องค์ประกอบ I จิตใจอ่อนแอ – จิตใจมั่นคง
องค์ประกอบ L ระแวง – ไว้วางใจ
องค์ประกอบ M เพ้อฝัน – ทำตามความจริง
องค์ประกอบ N มีเหลี่ยม – ตรงไปตรงมา
องค์ประกอบ O หวาดกลัว – ประสาทมั่นคง
องค์ประกอบ Q1 นักทดลอง – นักอนุรักษ์
องค์ประกอบ Q2 อาศัยตนเอง – อาศัยกลุ่ม
องค์ประกอบ Q3 ควบคุมตนเองได้ – ขาดวินัยในตนเอง
องค์ประกอบ Q4 เคร่งเครียด – ผ่อนคลาย
องค์ประกอบทั้ง 16 ด้านมีรายละเอียด The Sixteen Personality Factor Questionnaire มีรายละเอียด ดังนี้
องค์ประกอบ A คือ ชอบออกสังคม (Outgoing) – สำรวม (Reserved) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (A+) เป็นบุคคลที่ชอบเข้าสังคม มีความรู้สึกอบอุ่น และเป็นกันเองกับผู้อื่น มีน้ำใจดี ให้ความร่วมมือดี มีความสามารถในการปรับตัว มีความเมตตา กรุณา ผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำ (A-) เป็นบุคคลที่มีลักษณะสำรวม เฉยเมย ชาเย็น ใจแข็ง ไม่นิยมการประนีประนอม ชอบปลีกตัว หรือชอบอยู่คนเดียว และชอบใช้สติปัญญาในการไตร่ตรองอย่างพินิจพิเคราะห์
องค์ประกอบ B คือ สติปัญญา (Intelligent) ผู้ที่ได้คะแนนสูง (B+) เป็นผู้ที่มีสติปัญญาสูง (More Intelligent) มีความสามารถในการคิดเชิงนามธรรม เฉลียวฉลาด มีความเพียรในการศึกษาหาความรู้ และเป็นผู้มีวัฒนธรรม ผู้ที่ได้คะแนนต่ำ (B-) เป็นผู้ที่มีสติปัญญาไม่เฉลียวฉลาดนัก (less Intelligent) มักจะใช้ความคิดในเชิงรูปธรรมมากกว่านามธรรม ทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ช้า ขาดความมั่นคงในตนเอง และขาดความจริงจัง
องค์ประกอบ C คือ อารมณ์มั่นคง (Stable) – อารมณ์อ่อนไหว (Emotional) ผู้ที่ได้คะแนนสูง (C+) เป็นบุคคลที่มีอารมณ์มั่นคง มองชีวิตตามความเป็นจริง และเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ไม่มีอาการเหนื่อยหน่ายทางประสาท จิตใจสงบ ผู้ที่ได้คะแนนต่ำ (C-) เป็นบุคคลที่มีอารมณ์อ่อนไหว ไม่มีความอดทนต่อสถานการณ์ยุ่งยาก เจตคติเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีอาการเหนื่อยหน่ายทางประสาท หงุดหงิด โกรธง่าย และมีความวิตกกังวลเสมอ
องค์ประกอบ E เป็นอิสระแก่ตน (Assertive) – ถ่อมตน (Humble) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (E+) เป็นบุคคลที่มีความมั่นใจในตนเอง ถือตนเองเป็นใหญ่ มีความก้าวร้าว ชอบมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น ผู้ที่ได้คะแนนต่ำ (E-) เป็นบุคคลที่มีลักษณะถ่อมตน มักจะยอมผู้อื่น ใจดี มีลักษณะความเป็นมิตร และพร้อมที่จะประพฤติตามแบบแผน
องค์ประกอบ F คือทำตนตามสบาย (Happy-go-lucky) – ถี่ถ้วนระมัดระวัง (Sober) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (F+) เป็นบุคคลที่มีลักษณะตามสบาย ว่องไว ช่างคุย ร่าเริง แจ่มใส เปิดเผย และความกระตือรือร้น ผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำ (F-) เป็นบุคคลที่มีลักษณะถี่ถ้วนระมัดระวัง ไตร่ตรอง จริงจัง ครุ่นคิด ไม่ชอบติดต่อกับผู้อื่น และไม่ช่างคุย
องค์ประกอบ G คือซื่อตรงต่อหน้าที่ (Conscientious) – ไม่ทำตามกฎ (Expedient) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (G+) เป็นบุคคลที่ซื่อตรงต่อหน้าที่มีธรรมะ มีความพากเพียร มีความตั้งใจแน่วแน่ มีความรับผิดชอบ ผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำ (G-) เป็นบุคคลที่มีลักษณะไม่มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน ไม่ตั้งใจเรียน ขาดความพยายาม ละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติขาดความอดทน
องค์ประกอบ H คือ กล้าสังคม (Venturesome) – ขี้อาย (Shy) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (H+) เป็นบุคคลที่มีลักษณะกล้าหาญ กล้าเสี่ยง ชอบเข้าสังคม ร่าเริงชอบผจญภัย ชอบทดลองของใหม่ และชอบเป็นมิตรกับคนอื่น ผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำกว่า (H-) เป็นบุคคลที่ขี้อาย มักมีความรู้สึกด้อย พูด และแสดงออกช้า ไม่ชอบอาชีพที่ต้องติดต่อกับบุคคลอื่น ไม่ชอบสนิทสนมกับใคร ความสนใจแคบ และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเพศตรงข้าม
องค์ประกอบ I คือจิตใจอ่อนแอ (Tender-minded) – จิตใจมั่นคง (Tough-minded) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (I+) เป็นบุคคลที่มีจิตใจอ่อนไหว เอาใจยากต้องการความช่วยเหลือ และความเห็นใจจากผู้อื่น ชอบพึ่งพาผู้อื่น และมีความวิตกกังวล ผู้ที่ได้คะแนนต่ำ (I-) เป็นบุคคลที่มีจิตใจมั่นคง จริงจังต่อชีวิต มีความรับผิดชอบ มีความเชื่อมั่นในตนเอง และแสดงพฤติกรรมต่อสิ่งที่เห็นว่าเป็นไปได้ และเป็นจริง
องค์ประกอบ L คือระแวง (Suspicious) – ไว้วางใจ (Trusting) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (L+) เป็นบุคคลที่มีลักษณะไม่ไว้วางใจใคร ยึดถือแต่ความคิดของตนเองเป็นใหญ่ สนใจแต่ตัวเอง ผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำ (L-) เป็นบุคคลที่สามารถไว้วางใจบุคคลอื่น ร่าเริง ไม่ชอบการแข่งขัน สามารถเข้ากับคนอื่นได้ดี และเป็นสมาชิกที่ดีของกลุ่ม
องค์ประกอบ M คือเพ้อฝัน (Imaginative) – ทำตามความจริง (Practical) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (M+) มักเป็นบุคคลที่ช่างฝัน มีแรงจูงใจในตนเอง ไม่สนใจสิ่งที่จะปฏิบัติได้จริง ผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำ (M-) เป็นบุคคลที่มีลักษณะลงมือปฏิบัติได้ตามความเป็นจริง เจ้าระเบียบ มีความกระตือรือร้น มีความตั้งใจจริง สนใจในสิ่งเป็นไปได้ และสามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ใช้อารมณ์
องค์ประกอบ N คือมีเหลี่ยม (Shrewd) – ตรงไปตรงมา (Forthright) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (N+) เป็นบุคคลที่ฉลาดแหลมคม หรือฉลาดแบบมีเล่ห์เหลี่ยม ช่างวิเคราะห์ มีความทะเยอทะยาน ผู้ที่ทำได้คะแนนต่ำ (N-) มักเป็นบุคคลที่มีลักษณะเปิดเผยจริงจัง ไม่มีเหลี่ยม ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีรสนิยมง่ายๆ ขาดทักษะการเข้าใจตนเอง
องค์ประกอบ O คือหวาดกลัว (Apprehensive) – ประสาทมั่นคง (Placid) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (O+) มักเป็นบุคคลที่มีความหวาดกลัว มีความวิตกกังวลสูง ตกใจง่าย อารมณ์เสียง่าย มักมีอารมณ์เศร้าหมอง หงอยเหงา และขาดความรู้สึกปลอดภัย ผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำ (O-) เป็นบุคคลที่มีประสาทมั่นคง มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีความเชื่อมั่นในตนเอง และเชื่อความสามารถของตนเองในการทำงาน
องค์ประกอบ Q คือนักทดลอง (Experiment ion) – นักอนุรักษ์ (Conservative) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (Q1+) มักเป็นบุคคลที่สนใจทางด้านการทดลองเป็นนักวิเคราะห์ สนใจเรื่องการใช้สติปัญญา และการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำ (Q2-) เป็นบุคคลที่มีแนวคิดติดไปทางด้านอนุรักษ์ หัวเก่า เชื่อมั่นในสิ่งที่ได้รับการปลูกฝัง และการอบรมสั่งสอน ต่อต้าน และพยายามประวิงเวลาการเปลี่ยนแปลง ไม่สนใจการวิเคราะห์
องค์ประกอบ Q2 คืออาศัยตนเอง (Self-sufficient) – อาศัยกลุ่ม (Group-dependency) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (Q2+) เป็นบุคคลที่พึ่งตนเอง เคยชินกับการทำงานตามวิธีการของตน ไม่สนใจความคิดเห็นของสังคม มีความพึงพอใจในตนเอง ผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำ (Q2-) มักเป็นบุคคลที่ชอบทำงาน หรือตัดสินใจร่วมกับผู้อื่น เป็นผู้ร่วมงาน และผู้ตามที่ดี ต้องการการสนับสนุนจากหมู่คณะ
องค์ประกอบ Q3 คือควบคุมตนเองได้ (Controlled) – ขาดวินัยในตนเอง (Undiscipline Self-conflict) ผู้ทีทำคะแนนได้สูง (Q3+) มักเป็นบุคคลที่ควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมของตนเองได้ดี สนใจ และเอาใจใส่ต่อสังคม มีความตั้งใจจริง ผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำกว่า (Q3-) เป็นบุคคลที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ขาดวินัย มักมีความขัดแย้งในตัวเอง ปรับตัวยาก
องค์ประกอบ Q4 คือเคร่งเครียด (Tense) – ผ่อนคลาย (Relaxed) ผู้ที่ทำคะแนนได้สูง (Q4+) มักเป็นบุคคลที่มีความเครียด ตื่นเต้น ตกใจง่าย และหงุดหงิด มีความคับข้องใจสูง ผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำ (Q4-) เป็นบุคคลที่ ไม่เคร่งเครียด อารมณ์เย็น รักสงบ แสดงพฤติกรรมตามความพอใจ ไม่มีความคับข้องใจ พอในสถานการณ์ที่เป็นอยู่
พัฒนาการของบุคลิกภาพ (The Development of Personality)
Cattel ได้พิจารณากระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างกว้างขวางทั้งการพิจารณาพัฒนาการของโครงสร้างของบุคลิกภาพ และการพิจารณาพัฒนาการของ พฤติกรรม ในระดับอายุต่างๆ ซึ่งความคิดในเรื่องพัฒนาการเหล่านี้เขาได้นำความสำคัญมาจากแนวคิดในทฤษฎีของจิตวิเคราะห์ และทฤษฎีการเรียนรู้ที่นำมาอ้างอิงแต่ก็ได้เพิ่มเติมความคิดต่างๆ ของเขาลงไปในการสังเคราะห์ด้วย การพัฒนาบุคลิกภาพในทัศนะของเขา คือ การปรับปรุงพลัง (ergs) พลังเสริม (metaergs) และการจัดระบบโครงสร้างของตน (self) กระบวนการพัฒนาการบุคลิกภาพ มีองค์ประกอบต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของบุคลิกภาพดังต่อไปนี้
1. อิทธิพลทางสรีรวิทยาของแม่ที่มีต่อทารกในครรภ์(Physiological influence of the mother)
2. บทบาทของการเรียนรู้ (Role of learning) ของบุคคล
3. หลักการของการเรียนรู้ (Principle of learning)
4. อิทธิพลของสังคม (Social context) ดังจะอธิบายโดยละเอียด คือ
ขั้นพัฒนาการของบุคลิกภาพ (Stages of Personality Development) Cattell ได้แบ่งชั้นพัฒนาการนับตั้งแต่คลอดจนถึงวัยชรา ดังนี้
ระยะเกิด – 5 ขวบ ในระยะนี้ Cattell ยอมรับอย่างยิ่งในความคิดเห็นของ Freud ว่าระยะนี้ถูกกำหนดโดยความคิดขัดแย้งต่างๆ (conflicts) และเป็นระยะสำคัญในพัฒนาการของบุคลิกภาพ
ระยะ 6 – 13 ปี เป็นระยะเปลี่ยนความซื่อสัตย์ภักดีจากพ่อแม่ไปสู่กลุ่ม เพื่อน Cattell มองระยะนี้ว่าเป็นระยะปราศจากความกังวลใจ เด็กแผ่ขยายความรักจากพ่อแม่ และรักตนเองไปสู่บุคคลอื่น เป็นช่วงที่ ego รวบรวมความมั่นคงแข็งแรง
วัยรุ่น เริ่มตั้งแต่อายุ 14 ปี จนถึงอายุ 24 ปี นับว่า Cattell ได้พิจารณาช่วงนี้ยาวนานกว่านักจิตวิทยาคนอื่นๆ ระหว่างวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างรวดเร็วทั้งในเด็กผู้ชาย และเด็กผู้หญิง ความไม่มั่นคงทางอารมณ์เพิ่มขึ้น มีความไม่คล่องตัวทางสังคม มีความสนใจในเรื่องเพศ มีความขัดแย้ง (conflict) ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเขา
สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเกิดความขัดแย้ง (Conflicts) มีดังนี้
ความต้องการอิสระจากแม่
ความต้องการสถานภาพในอาชีพ การเตรียมตัวสำหรับการประกอบอาชีพ และการประสบความสำเร็จในรายได้ที่จะเลี้ยงตัวเอง
การไม่ได้รับความพึงพอใจที่จะทำให้เกิดความประทับใจแก่เพศตรงข้าม
การไม่ได้รับความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ
สาเหตุทั้ง 4 ประการนี้ ถ้าวัยรุ่นสามารถผ่านพ้นได้ ก็จะทำให้เกิดบูรณาการ และเกิดความ พึงพอใจในมโนภาพตน (self concept) และพัฒนาบุคลิกภาพเข้า สู่วัยต่อไปได้ตามวุฒิภาวะ ดังนั้นในช่วงพัฒนาการของวัยนี้ วัยรุ่นต้องการความเป็นตัวของตัวเองสูง มีโลกส่วนตัวสูง หากครอบครัวเข้าใจลักษณะ ช่วงวัย ดังกล่าว และไม่เข้มงวดกับเด็กมากเกินไป ให้เขาได้มีโอกาสแสดงตัวตนอย่างที่เขาจะเป็นโดย สอดคล้องกับความต้องการของเขาผู้ปกครอง ควรส่งเสริมมากกว่าดุ และตำหนิ
3 ทฤษฎีจิตวิทยารายบุคคล หรือทฤษฎีบุคลิกภาพของ Adler (Individual Psychology)
ประวัติ Alfred Adler เกิดประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1870 ครอบครัวของเขามีฐานะปานกลาง Adler เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน การศึกษาหลัง จากเรียนจบการศึกษาเบื้องต้นแล้วเขาได้เข้าการศึกษาแพทย์ที่ Vienna Medical School จากการศึกษาที่นี่เขาได้รับการเน้นว่า แพทย์ต้องทำการรักษาคนไข้ทุกเรื่อที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาทั้งหมดไม่เฉพาะแต่เรื่องความเจ็บป่วยเท่านั้น Adler ชอบคำสอนที่ว่า “ถ้าคุณต้องการเป็นหมอที่ดี คุณก็ต้องเป็นคนที่มีความเมตตากรุณา” ( If you want to be a good doctor, you have to be a kind person) คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เขาสนใจมาก และจดจำไม่ลืม
เมื่อเขาได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์แล้วเขาได้ตั้งคลินิกส่วนตัวในย่านที่อยู่อาศัยของคน ชั้นกลางซึ่งมีฐานะไม่ค่อยดีเท่าใดนักในเมือง Vienna ใกล้ๆ กับสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง คนไข้ของเขามีทั้งศิลปิน และนักกายกรรมซึ่งมาเปิดการแสดงที่สวนสาธารณะแห่งนี้ ในจำนวนคนไข้เหล่านี้ มีคนไข้บางคนที่ทำให้ Adler พบว่าเขาเหล่านั้นได้พบความสำเร็จ มีพละกำลัง หรือความแข็งแรงที่เกิดจากประสบการณ์ของความอ่อนแอ และความเจ็บป่วยของตน ชักนำให้เกิดขึ้น จุดนี้เองทำให้ Adler สนใจในความคิดเรื่องการได้รับความสำเร็จจากการชดเชย และได้กลายมาเป็นความคิด รวบยอด (concept) ที่สำคัญอย่างหนึ่งใน ทฤษฎีบุคลิกภาพของเขา
นักจิตวิทยาในกลุ่มของ Adler ได้เข้ามาทำงานร่วมกับ Freud ต่อมาเขาไม่เห็นด้วยกับ Freud ในเรื่องของความฝัน (dreams) และได้ตีพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ ความคิดเห็นนี้ ปี 1910 เขาได้รับเลือกเป็นประธานคนแรกของสมาคมจิตวิทยาวิเคราะห์ (Vienna Psycho – Analytic Society) ในระยะหลังๆ Adler ไม่เคยสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับ Freud หรือกับนักจิตวิทยาคนสำคัญๆ ในกลุ่มจิตวิเคราะห์ เขาไม่ใช่คนที่จะสยบให้กับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า และประกอบคำถาม และคำวิจารณ์ความคิดบางอย่างในทฤษฎีของ Freud อย่างตรงไปตรงมาเป็นเหตุให้เขาต้องลาออกจากสมาคมนี้ไปในปี ค.ศ. 1911
หลังจากนั้น Adler ก็ได้มารวบรวมนักจิตวิทยาที่มีความคิดเห็นตรงกันตั้งกลุ่มจิตวิทยาขึ้นใหม่ เรียกชื่อว่า Society for Free Psycho – Analytic Research การตั้งชื่อเช่นนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงการไม่เห็นด้วยวิธีการที่ Freud ศึกษาคนไข้ แต่ในปี 1913 เขาได้เปลี่ยนชื่อสมาคมนี้ใหม่เป็น Individual Psychology เป็นชื่อที่สะท้อนถึงความเกี่ยวข้องต่างๆ ที่จะเข้าใจบุคลิกภาพทั้งหมด ไม่ใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่งในเรื่องพฤติกรรมเท่านั้น ความหมายอีกอย่างหนึ่งของคำว่า “รายบุคคล (individual)” คือการแสดงสิ่งที่ปรากฏทั้งหมด หรือสิ่งที่อยู่ในรายบุคคล แต่คำ ๆ นี้มักนำไปใช้เป็นความหมาย ในการศึกษารายบุคคล (study of the individual) ซึ่งเป็นการศึกษาที่ตรงกันข้ามกับการศึกษาพฤติกรรมเป็นกลุ่ม และไม่ใช่ความหมายในทัศนะของ Adler ในทฤษฎีของ Adler คำว่า “รายบุคคล” (individual) สามารถเข้าใจได้จากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสมาชิกอื่นๆ ในสังคม
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 Adler ได้เป็นแพทย์รักษาทหารที่บาดเจ็บในโรงพยาบาลในกรุงเวียนนา (Vienna hospital) ซึ่งทำให้เขาได้รับ ประสบการณ์ต่างๆ กว้างขวางขึ้น เขาได้ค้นพบความสำคัญของมโนมติ (concept) ในเรื่องความสนใจสังคม (social interest) เขาได้เห็นความทารุณโหดร้ายของสงครามที่มีต่อประชาชน สงครามเป็นผลมาจากการขาดความไว้วางใจ และขาดความร่วมมือกัน สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจในการเขียนผลงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อมูลทั่วๆไปของมนุษย์ เช่น ความต้องการที่จะร่วมมือกัน (cooperation) ความรัก (love) และการได้รับการยอมรับนับถือระหว่างมนุษย์ด้วยกัน (respect) ในขณะเดียวกันเขาก็ให้ความช่วยเหลือที่จะสร้างคลินิกแนะแนวเด็กขึ้นใน โรงเรียนใน กรุงเวียนนา (child guidance clinic) ให้คำปรึกษาแก่เด็ก และครอบครัว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 เป็นต้นมา
Adler เป็นนักจิตวิทยาที่ได้รับการยอมรับระหว่างประเทศเขาได้ไปบรรยายในยุโรป สหรัฐอเมริกา และได้ถึงแก่กรรมด้วยหัวใจวาย ขณะที่ได้รับเชิญเป็น อาจารย์อาคันตุกะ (tour lecture) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1937
จิตวิทยารายบุคคล (Individual Psychology) เป็นทฤษฎีรายบุคคลที่มุ่งทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์โดยคำนึงถึงความซับซ้อน และการจัดระบบของแต่ละบุคคล
โครงสร้างของทฤษฎี
โครงสร้างทฤษฎีบุคลิกภาพ มีแนวความคิดที่สำคัญๆ ของ Adler มี 6 เรื่อง ต่อไปนี้
การยึดถือสิ่งที่เป็นจินตนาการ (Fictional Finalism)
การแสวงหาความยิ่งใหญ่ (Striving for Superiority)
ความรู้สึกด้อย และการชดเชย (Inferiority Feeling and Compensation)
ความสนใจสังคม (Social Interest)
แบบแผนชีวิต (Style of Life)
การเลี้ยงดูของพ่อแม่ โดยจะอธิบายเป็นภาพรวมดังนี้
Adler เชื่อในเรื่องอิทธิพลของพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมมีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคลนอกจากนี้เขายังเชื่อว่าสถานการณ์ที่กดดันจะทำให้บุคคลที่พิการ หรือคนที่ขาดสามารถย้ำให้เห็นบุคลิกภาพที่โดดเด่นได้ยิ่งขึ้น และ เขาสรุปโครงสร้างทฤษฎีของเขาว่า การสร้างบุคลิกภาพเป็นผลสืบเนื่องมาจาก สิ่งที่เป็นมาแต่กำเนิด (Organism) เพราะมนุษย์มีระยะเวลาที่เป็นทารกนานในช่วงนั้นบุคคลจะได้รับอิทธิพลของเจตคติในครอบครัวของตน หรืออิทธิพลของพ่อแม่ ผู้ปกครองซึ่งทำให้บุคคลอาจ รู้สึกถึงความรู้สึกด้อย และพยายามหาทางชดเชย โดยวิธีการต่อสู้ดิ้นรน เพื่อลบล้าง เพื่อให้ตนรู้สึกดีในกลุ่มผู้ใหญ่โดยการแสวงหาความยิ่งใหญ่ การยึดถือสิ่งที่เป็นจินตนาการ และเดินไปสู่จิตนาการแห่งตนโดยมีความรู้สึกเกี่ยวกับสังคม และความสนใจสังคมซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาการของบุคคล ซึ่งถือเป็นเรื่องของการมีสามัญสำนึก (Common sense) ดังนั้นวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกคนมีแบบแผนชีวิตที่หลากหลายกันไป และสิ่งสำคัญในเรื่องของชีวิต และในเรื่องการเลี้ยงดู การพัฒนาบุคลิกภาพในช่วง 5 ปีแรกนั้น สิ่งแวดล้อม (Milieu)ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และยังรวมถึงเจตคติที่พ่อแม่มีต่อเด็ก สัมพันธภาพระหว่างพี่น้องก็เป็นสิ่งที่จำเป็นใน การพัฒนาบุคลิกภาพ ดังนั้นพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกมีบุคลิกภาพที่ดี พ่อแม่ควรจะส่งเสริมให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ให้ความรักกับลูกของท่าน ให้ความยุติธรรม ไม่ช่วยเหลือลูกจนลูกทำอะไรเองไม่เป็น มีความเข้าใจในตัวลูกของท่าน และที่สำคัญคือท่านต้องสามารถรับฟังความคิดเห็นลูกท่านได้ และไม่ว่าลูกจะเกิดในลำดับใดหากลูกได้รับความรู้สึกที่ดีๆ ดังกล่าวจากพ่อแม่สมบูรณ์ การพัฒนาบุคลิกภาพจะเป็นไปตามแบบแผน แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธว่าลำดับการเกิดมีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ
ความสัมพันธ์ของครอบครัวกับบุคลิกภาพ
ในเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวเขาเชื่อว่า ลำดับการเกิดทำให้บุคลิกภาพของบุคคลแตกต่างกัน เช่น
1. ลูกคนโต มักจะมีบุคลิกภาพ เป็นคนเอาจริงเอาจังต่อชีวิต มีความรับผิดชอบ มักเป็นผู้นำ ผู้ไว้อำนาจแต่ถ้าแก้ความก้าวร้าวไม่ได้ ลูกคนโตมักมีบุคลิกภาพก้าวร้าว เคร่งเครียด และอิจฉาริษยา
2. ลูกคนรอง มักมีบุคลิกภาพ เป็นคนไม่เคร่งเครียด ไม่เอาจริงเอาจังเท่าไรนัก มีนิสัยรักสนุก ไม่ค่อยสนใจที่จะเป็นผู้นำ หรือรับผิดชอบสักเท่าไร แต่เมื่อลูกคนรองมีน้อง ความรู้สึกการแข่งขันจะเกิดขึ้นทันที ถ้าในครอบครัวมีสัมพันธภาพไม่ดีอาจทำให้ลูกคนรองที่กลายมาเป็นคนกลางอาจมีความรู้สึกว่าพ่อแม่ลำเอียง และเกิดปัญหาในที่สุด
3. ลูกคนสุดท้อง มักมีบุคลิกภาพเป็นคนที่เอาแต่ใจตนเอง ช่างประจบ ชอบให้คนอื่นช่วยเหลือ ได้รับความรักจากพ่อแม่พี่ๆ ค่อนข้างมาก ถ้าเลี้ยงดีก็จะดีมาก แต่ถ้าเลี้ยงตามใจมากเด็กอาจเสียในที่สุด
4. ลูกโทน มักจะมีบุคลิกภาพที่มักจะเอาแต่ใจตนเอง มักถูกตามใจจนเคยตัว แต่ถ้าครอบครัวสอนให้รู้เหตุรู้ผลลูกโทนจะมีความเชื่อมั่นในตนเอง องอาจ นับถือตนเอง แต่ความรับผิดชอบอาจน้อย เพราะต้องการอะไรก็มักจะได้โดยง่ายจึงไม่รู้ค่าของสิ่งที่มี
แนวคิดของ Adler ยังเน้นถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และเขาบอกว่าการดูคนต้องดูทั้งหมด ดูทุกแง่ทุกมุม และนำความรู้จากการดูนั้น มาทำความเข้าใจ บุคคลนั้นทั้งหมด ( Person as a whole) และเด็กจะรู้ถึง”ตน”เมื่ออายุ 2 ขวบ และเด็กก็จะรู้ถึงความ”เด่น” และความ”ด้อย” ด้วยเช่นกัน
ทฤษฎีพัฒนาการ (Developmental Theories)
ทฤษฎีพัฒนาการ (Developmental Theories) ได้แก่ ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Sigmund Freud และ ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Erik Erikson สำหรับทฤษฎีพัฒนาการ ใช้เขียนใช้หนังสือของ (นวลละออ สุภาผล. 2527: 21 – 100) (โยธิน ศันสนยุทธ. 2533: 264 – 267 )(อาภา จันทสกุล. 2527: 14 – 29 ) ในที่นี้ขออธิบายในภาพรวมโดยสรุปดังนี้
1 ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ หรือทฤษฎีบุคลิกภาพของ Sigmund Freud (Psychoanalytic Theories)
ประวัติ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นจิตแพทย์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิว เกิดที่เมืองฟรายเบิร์ก(Freiberg)อยู่ในแคว้นโมราเวีย (Moravia) ปัจจุบันเป็นประเทศเชคโกสะโลวาเกีย เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1856 บิดาเป็นพ่อค้าขนสัตว์ มีฐานะปานกลาง ครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เวียนนา เมื่อปี ค.ศ. 1873 และเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1930 ด้วยโรคมะเร็งที่ขากรรไกร เมื่อมีอายุได้ 83 ปี ดูรูปซิกมันด์ ฟรอยด์ ( Sigmund Freud ) ที่
ฟรอยด์ สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเวียนนา และเนื่องจากรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว เขาจึงได้ไปศึกษาต่อทางด้าน การแพทย์ที่เน้นเรื่องระบบประสาท และเริ่มต้นการทำงานทางด้านคลินิกรักษาโรค( Medical Clinic ) ด้วยการช่วยเหลือคนไข้ที่มีอาการทางโรคประสาท หรือโรคมจิตให้คลายจากอาการเจ็บป่วย ให้สามารถหาย และมีชีวิตอยู่อย่างปกติมากกว่าที่จะพยายามค้นคว้าทฤษฎีที่เกี่ยวกับคนปกติโดยทั่วไป หลังจากนั้น ก็ได้ศึกษาเรื่องของกลไกทางจิตที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ (Psychological Mechanism of Behavior) ต่อมาได้นำวิธีการสะกดจิต (Hypnosis) มาใช้กับคนไข้ ซึ่งพบว่าทั้งๆที่ ผู้บำบัดได้รับทราบเรื่องราวต่างๆที่เป็นปัญหา และอุปสรรคของคนไข้มากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากนัก ฟรอยด์ จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการของจิตวิเคราะห์ อย่างมีหลักเกณฑ์ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า การคิดอย่างอิสระ (Free Association)โดยวิธีการให้คนไข้นอนเก้าอี้นอน (Couch) แล้วให้เล่าถึงความรู้สึกนึกคิดต่างๆที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เป็นการให้บุคคลระบายความในใจ ช่วยในการผ่อนคลายความคับข้องใจต่างๆ (Frustration) และความวิตกกังวล (Anxiety) ภายในจิตใจ ในขณะที่ผู้บำบัดจะได้รับทราบถึงข้อมูลต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนไข้ที่จะช่วยให้ผู้บำบัดเข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึกของผู้ป่วย เพื่อจะสามารถวิเคราะห์ (Analyze) และแปลความหมาย (Interpretation) ของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถ เข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรม ที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ และความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญในกระบวนการบำบัด
แนวคิดที่สำคัญของทฤษฎี
แนวคิดที่สำคัญ ฟรอยด์ เชื่อว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ มีแรงจูงใจมาจากจิตไร้สำนึก ซึ่งมักจะผลักดันออกมาในรูปความฝัน การพูดพลั้งปาก หรือ อาการผิดปกติทางด้านจิตใจในด้านต่างๆ เช่น โรคจิต โรคประสาท เป็นต้น เขาเป็นบุคคลแรกที่ได้อธิบายทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับ บุคลิกภาพ ซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับแรงขับทางสัญชาตญาณ(Instinctual drive) และแรงขับดังกล่าวเป็น พลังงานที่สามารถเปลี่ยนแปลง และเคลื่อนที่ได้ อันเป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากความรู้ทางฟิสิกส์ จึงทำให้เชื่อว่าจิตเป็นพลังงานรูปหนึ่ง ที่สามารถเปลี่ยนแปลง และไม่หยุดนิ่ง (Psycho-Dynamic) สัญชาตญาณดังกล่าว ได้แก่สัญชาตญาณแห่งการมีชีวิต (Eros or Life) เป็นสัญชาตญาณ ที่แสดงออกมาในรูปแบบของสัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct) แต่ฟรอยด์ไม่ได้หมายถึง ความต้องการทางเพศตามความเรียกร้อง ทางด้านสรีระเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัญชาตญาณที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด และเป็นสัญชาตญาณ ที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนา และความต้องการที่จะได้รับ ความพึงพอใจในรูปแบบต่างๆ และสัญชาตญาณในการป้องกันตนเอง อันเป็นสัญชาตญาณที่ทำให้มนุษย์แสวงหา ความพึงพอใจให้แก่ตนเอง และสัญชาตญาณแห่งความตาย (Thanatos or Death instinct) ที่แสดงออกมาในรูปของสัญชาตญาณในการทำลาย หรือความก้าวร้าว (Destructive instinct or aggressive instinct) ฟรอยด์มองธรรมชาติในแง่ลบ (Pessimism) กล่าวคือ มนุษย์ไม่มีเหตุผล (Irrational) ไม่มีการขัดเกลา (Unsocialized) โดยมุ่งที่จะตอบสนอง และแสวงหาความพึงพอใจให้กับตนเอง เป็นสำคัญ (Self-gratification) นอกจากนี้ ฟรอยด์ยังได้อธิบายเพิ่มเติมในเรื่องความหมายของสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ว่าสัญชาตญาณ จะแสดงออกมาในรูปของพลังทางจิตที่เกี่ยวข้องกับ พลังขับทางเพศเรียกว่า พลังลิบิโด (Libido)ที่ทำให้มนุษย์ มีความปรารถนา และความต้องการที่จะได้รับความพึงพอใจในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถเคลื่อนที่ เปลี่ยนรูป และสามารถจะเคลื่อนที่ไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตามระยะเวลาของพัฒนาการจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง และยังสามารถเคลื่อนที่ไปยังวัตถุ หรือบุคคลนอกตัวเราได้ เช่น หากพลังลิบิโด เคลื่อนไปอยู่ที่แม่ ก็จะทำให้เด็กเกิดความรัก และความหวงแหนแม่ เป็นต้น
การทำงานของจิตแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
1. จิตไร้สำนึก (Unconscious Mind) เป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะพฤติกรรมบางอย่างที่บุคคลแสดงออกไปโดยไม่รู้ตัวที่เกิดมาจากพลังของจิตไร้สำนึก ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงออกไปตามหลักแห่งความพึงพอใจของตน และการทำงานของจิตไร้สำนึกเกิดจากความปรารถนา หรือความต้องการ ของบุคคลที่เกิดขึ้นในวัยเด็กที่ไม่ได้รับการยอมรับ เช่น การถูกห้าม หรือถูกลงโทษ จะถูกเก็บกดไว้ในจิตส่วนนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการปรับตัวเมื่อเกิด ความขัดแย้ง ทางจิตที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่น การพูดพลั้งปาก ความฝัน เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งที่เก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกอาจมีอิทธิพลต่อการทำงานของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่ปฏิบัติหน้าที่ไปตามแรงกระตุ้น เช่น เด็กที่เก็บกดความรู้สึกมุ่งร้าย ในเรื่องเพศในวัยเด็ก เมื่อเติบโตขึ้นก็อาจหมดความรู้สึก ทางเพศได้ ส่วนจิตไร้สำนึกเปรียบเสมือนก้อนน้ำแข็ง ส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้ผิวน้ำ โดยมีจิตสำนึก (Conscious Mind) เป็นส่วนของน้ำแข็งที่อยู่เหนือน้ำที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย
2. จิตสำนึก (Conscious Mind) ซึ่งเป็นสภาวะที่บุคคลรับรู้ตามประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่บุคคลจะมีการรู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ คิดอย่างไรเป็นการรับรู้โดยทั่วไปของมนุษย์ ที่ควบคุมการกระทำส่วนใหญ่ให้อยู่ในระดับรู้ตัว (Awareness) และเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาโดยมีเจตนา และมีจุดมุ่งหมายจิตสำนึกเป็นส่วนที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมสอดคล้องกับหลักความเป็นจริงในสถานการณ์ต่างๆ โดยอาศัยหลักแห่งเหตุผล และศีลธรรมที่ตนเองเชื่อถือ เพื่อเป็นแนวทางในการแสดงพฤติกรรม
3. จิตก่อนสำนึก (Preconscious Mind) เป็นส่วนของประสบการณ์ที่สะสมไว้แต่มีลักษณะเลือนราง เมื่อถูกสภาวะ หรือสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสม หรือเมื่อบุคคล ต้องการนำกลับมาใช้ใหม่ก็สามารถระลึกได้ และสามารถนำกลับมาใช้ในระดับจิตสำนึกได้ และเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ชิดกับ จิตรู้สำนึกมากกว่า จิตไร้สำนึก
จะเห็นได้ว่าการทำงานของจิตทั้ง 3 ระดับ จะมาจากทั้งส่วนของจิตไร้สำนึกที่มีพฤติกรรม ส่วนใหญ่เป็นไปตามกระบวนการขั้นปฐมภูมิ (Primary Process) เป็นไปตามแรงขับสัญชาตญาณ (Instinctual Drives) และเมื่อมีการรับรู้กว้างไกลมากขึ้นจากตนเองไปยังบุคคลอื่น และสิ่งแวดล้อม พลังในส่วนของ จิตก่อนสำนึก และจิตสำนึก จะพัฒนาขึ้นเป็นกระบวนการขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process)
โครงสร้างของบุคลิกภาพ (Structure of Personality)
ฟรอยด์ เชื่อว่าโครงสร้างของบุคลิกภาพจะประกอบด้วย อิด (Id) อีโก้ (Ego) และซูเปอร์อีโก้ (Superego)
โครงสร้างบุคลิกภาพ มีรายละเอียดดังนี้
1. อิด (Id) จะเป็นต้นกำเนิดของบุคลิกภาพ และเป็นส่วนที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด Id ประกอบด้วยแรงขับทางสัญชาตญาณ (Instinct) ที่กระตุ้นให้มนุษย์ตอบสนองความต้องการ ความสุข ความพอใจ ในขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่ลดความเครียดที่เกิดขึ้น การทำงานของ Id จึงเป็นไปตามหลักความพอใจ (Pleasure Principle) ที่ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมตามความเป็นจริง จะเป็นไปในลักษณะของการใช้ความคิดในขั้นปฐมภูมิ (Primary Process of Thinking) เช่น เด็กหิวก็จะร้องไห้ทันที เพื่อตอบสนองความต้องการของเขา และส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึก
2. อีโก้ (Ego) จะเป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ทำหน้าที่ประสาน อิด และ ซูเปอร์อีโก้ ให้แสดงบุคลิกภาพออกมา เพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นจริง และขอบเขตที่สังคมกำหนดเป็นส่วนที่ทารกเริ่มรู้จักตนเองว่า ฉันเป็นใคร Egoขึ้นอยู่กับหลักแห่งความเป็นจริง(Reality Principle) ที่มีลักษณะของการใช้ความคิดในขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process of Thinking) ซึ่งมีการใช้เหตุผล มีการใช้สติปัญญา และการรับรู้ที่เหมาะสม และอีโก้ (Ego) เป็นส่วนที่อยู่ในระดับจิตสำนึกเป็นส่วนใหญ่
3. ซูเปอร์อีโก้ (Superego) นั้นเป็นส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมจรรยา บรรทัดฐานของสังคม ค่านิยม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ผลักดันให้บุคคลประเมินพฤติกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมโนธรรม จริยธรรมที่พัฒนามาจากการอบรมเลี้ยงดู โดยเด็กจะรับเอาค่านิยม บรรทัดฐานทางศีลธรรมจรรยา และอุดมคติที่พ่อแม่สอนเข้ามาไว้ในตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่เด็กมีอายุประมาณ 3 – 5 ขวบ (ระยะ Oedipus Complex) และเด็กจะพัฒนาความรู้สึกเหล่านี้ไปตามวัย โดยมีสภาพแวดล้อมทางบุคคลเป็นองค์ประกอบสำคัญการทำงานของ Superego จะขึ้นอยู่กับหลักแห่งจริยธรรม (Moral Principle) ที่ห้ามควบคุม และจัดการไม่ให้ Id ได้รับการตอบสนองโดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี โดยมี Ego เป็นตัวกลางที่ประสานการทำงานของแรงผลักดันจาก Id และ Superego
โดยทั่วไปแล้ว Superego จะเป็นเรื่องของการมีมโนธรรม (Conscience) ที่พัฒนามาจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ หรือผู้อบรมเลี้ยงดู ซึ่งเป็นค่านิยม ที่พ่อแม่ถ่ายทอดให้ลูกว่าสิ่งใดดีควรประพฤติปฏิบัติ หรือไม่อย่างไร ส่วนนี้จะทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกผิด (Guilt Feeling) ที่จะติดตามรบกวนจิตใจของ บุคคลเมื่อกระทำสิ่งใดที่ขัดต่อมโนธรรมของตนเอง และส่วนที่ เรียกว่าอุดมคติแห่งตน (Ego-Ideal) ที่พัฒนามาจากการเอาแบบอย่าง(Identification) จากบุคคลที่เคารพรัก เช่น พ่อแม่ ผู้อบรมเลี้ยงดู และคนใกล้ชิด ทำให้เด็กรับรู้ว่าทำสิ่งใดควรประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะได้รับการยอมรับ และความชื่นชมยกย่อง ซึ่งทำให้เกิดความอิ่มเอิบใจ เมื่อได้ทำตามอุดมคติของตนบางส่วนของ Superego จะอยู่ในระดับจิตสำนึก และบางส่วนจะอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก
พัฒนาการทางบุคลิกภาพ
ฟรอยด์ ได้อธิบายถึงการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการทางเพศ (Stage of Psychosexual Development) จากความเชื่อเกี่ยวกับ สัญชาตญาณทางเพศในเด็กทารกที่แสดงออกมาในรูปพลังของ ลิบิโด (Libido) และสามารถเคลื่อนที่ไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และบริเวณที่พลังลิบิโดไปรวมอยู่เรียกว่า ที่ของความรู้สึกพึงพอใจ (Erogeneous Zone) เมื่อพลังลิบิโดไปอยู่ในส่วนใดก็จะก่อให้เกิดความตึงเครียด (Tension) ขึ้นที่ส่วนนั้น วิธีการที่จะขจัดความตึงเครียด ได้ก็โดยการเร้า หรือกระตุ้นส่วนนั้นอย่างเหมาะสม เพื่อทำให้เกิดความ พึงพอใจ (Gratification) บริเวณที่พลัง Libido เคลื่อนไปอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ หรือวัยต่างๆ ของบุคคล จะทำให้เกิดการพัฒนาการไปตามขั้นตอนของวัยนั้นๆ ซึ่งฟรอยด์ แบ่งการพัฒนาบุคลิกภาพออกเป็น 5 ขั้น ได้แก่
1. ขั้นปาก (Oral Stage) เริ่มตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบ ในวัยนี้ Erogenous Zone จะอยู่บริเวณปาก การได้รับการกระตุ้น หรือเร้าที่ปากจะทำให้เด็ก เกิดความพึงพอใจ ทำให้เด็กตอบสนองความพึงพอใจของตนเองโดยการดูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูดนมแม่จึงเป็นความสุข และความ พึงพอใจของเขาในขั้นนี้ ถ้าพ่อแม่ หรือผู้ใกล้ชิดให้การอบรมเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม มีการดูแลเอาใจใส่ให้ความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่จะทำให้เด็ก เกิดความไว้วางใจ และความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตนเอง และสภาพแวดล้อม เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มพัฒนาความรักตัวเอง (Narcissism) แต่ถ้าเด็กไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม เช่น ถูกปล่อยให้ร้องไห้ เพราะหิวเป็นเวลานานๆ ไม่ได้รับประทานอาหารตามเวลา และไม่ได้รับการสัมผัสที่อบอุ่น หรือการแสดงความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ และผู้ใกล้ชิด จะทำให้เด็กพัฒนาความไม่ไว้วางใจ (Distrust) มีความรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับตนเอง และเกลียดชังสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดการยึดติด (Fixation) ของพัฒนาการในขั้นปาก พลัง Libido บางส่วนไม่ได้รับการเร้าอย่างเหมาะสม จะทำให้การยึดติดอยู่บริเวณปาก และไม่สามารถเคลื่อนที่ไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ตามความเหมาะสมของการพัฒนาการในขั้นต่อไปก่อให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพในขั้นปาก และเมื่อบุคคลเข้าสู่วัยรุ่นบุคคลก็จะแสดงบุคลิกภาพที่ยึดติดในขั้นปากออกมาในรูปของพฤติกรรมต่างๆ เช่น การติดสุรา ติดบุหรี่ ยาเสพติด ชอบขบเคี้ยวไม่หยุดปาก ชอบกินของคบเคี้ยวกรอบๆ กินอาหารแปลกๆ เช่น กินกุ้งเต้น หรือชอบพูดจาเยาะเย้ย ถากถาง ก้าวร้าว บ้าอำนาจ พูดจาใส่ร้ายป้ายสีได้โดยขาดความละอาย และชอบทำตัวให้เป็นจุดเด่นในสังคมโดยวิธีการใช้ปาก หรือเสียงดังๆ เป็นต้น
2. ขั้นทวาร (Anal Stage) เด็กจะมีอายุตั้งแต่ 1-3 ขวบ ในวัยนี้ Erogenous Zone จะอยู่ที่บริเวณทวาร โดยที่เด็กจะมีความพึงพอใจเมื่อมีสิ่งมากระตุ้น หรือเร้าบริเวณทวาร ในระยะนี้เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เริ่มมีความพึงพอใจกับความสามารถในการควบคุมอวัยวะของตนเอง โดยเฉพาะอวัยวะขับถ่าย กิจกรรมที่เด็กมีความสุขจะเกี่ยวข้องกับการกลั้นอุจจาระ(Anal Retention) และการถ่ายอุจจาระ (Anal Expulsion) ความขัดแย้งที่มักเกิดขึ้นในขั้นนี้ คือ การฝึกหัดการขับถ่าย (Toilet) Training ดังนั้น ถ้าพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ และฝึกการขับถ่ายให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับเวลา และสถานที่โดยไม่บังคับ หรือเข้มงวด และวางระเบียบมากเกินไป เพราะไม่เช่นนั้น เด็กจะเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจในความมีอิสระ และความสามารถในการบังคับอวัยวะของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่จะปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามความพึงพอใจของเด็กโดยไม่สนใจให้การดูแล และฝึกหัดให้เด็กเรียนรู้การขับถ่ายที่เหมาะสม ก็จะทำให้เด็กติดตรึงอยู่กับความต้องการของตนเอง ไม่พัฒนาการยอมรับจากผู้อื่น จะเห็นได้ว่าปฏิกิริยา กฎเกณฑ์ และเจตคติของพ่อแม่ในการฝึกหัดการขับถ่ายของเด็ก จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสม ในขั้นทวาร เพราะถ้าสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับเด็กเป็นอย่างดีโดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับการฝึกการขับถ่ายของเด็กจึงมีความสำคัญ ต่อการพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสมใน ขั้นทวาร เพราะถ้าสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับเด็กเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับการฝึกการขับถ่าย จะทำให้เด็กพัฒนาอารมณ์ที่มั่นคง เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง เป็นคนสงบเสงี่ยมอ่อนโยน แต่ถ้าเด็กเกิดการติดตรึงในขั้นตอนนี้ จะทำให้ไม่สามารถพัฒนาบุคลิกภาพตามความเหมาะสม เช่น ถ้าเด็กพอใจกับการถ่ายอุจจาระมากเกินไป เมื่อโตขึ้นก็จะเป็นคนสุรุ่นสุร่าย แต่ถ้าเด็กพอใจกับการกลั้นอุจจาระไว้ไม่ยอมขับถ่าย ก็จะเป็นคนขี้เหนียว ตระหนี่ หรือถ้าเด็กรู้สึกโกรธ หรือเกลียด พ่อแม่ที่เข้มงวดในเรื่องขับถ่ายก็จะทำให้เด็กมีนิสัยดื้อรั้น แต่ถ้าพ่อแม่ควบคุมเรื่องความสะอาดมากเกินไป ก็จะกลายเป็นเจ้าระเบียบ จู้จี้จุกจิก หรือถ้าพ่อแม่ที่เน้นการขับถ่ายตรงเวลา ไม่รู้จักยืดหยุ่นก็จะกลายเป็นคนเข้มงวด ไม่ยืดหยุ่น แต่ถ้ายึดติดในขั้นนี้เป็นไปอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดเด็กมีบุคลิกภาพแปรปรวน เช่น ชอบทำร้ายให้ผู้อื่นเจ็บปวด (Sadism) หรือการร่วมเพศด้วยวิธีการต่างๆ เป็นต้น
3. ขั้นอวัยวะเพศตอนต้น (Phallic Stage) เริ่มตั้งแต่ 3 – 5 ขวบ ในขั้นนี้ Erogenous Zone จะอยู่ที่อวัยวะเพศ โดยที่เด็กเกิดความรู้สึกพึงพอใจ กับการจับต้องอวัยวะเพศ เพราะมีความพึงพอใจทางเพศอยู่ที่ตนเองในระยะแรก ต่อมาในช่วง 4-5 ขวบ พลัง Libido บางส่วนจะเคลื่อนที่ออกจาก ตนเองไปรวมอยู่ที่พ่อแม่ ซึ่งเป็นเพศตรงข้ามกับเด็ก ทำให้เด็กชายรักใคร่ และหวงแหนแม่จึงเกิดความรู้สึกอิจฉา และเป็นปรปักษ์กับพ่อ ในขณะที่เด็กหญิง จะรักใคร่ และหวงแหนพ่อ จึงรู้สึกอิจฉา และเป็นศัตรูกับแม่ ที่เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นปมออดิพปุส (Oedipus Complex) ในเด็กชาย และปมอีเลคต้า (Electra Complex) ในเด็กหญิง
ในขั้นนี้ นอกจากจะเกิด Oedipus Complex แล้วเด็กชายจะเกิดความวิตกกังวลกลัวว่าจะถูกตัดอวัยวะเพศ (Castration Anxiety) เพราะเด็กชายเริ่มมองเห็นความแตกต่างทางร่างกายของเพศชาย และเพศหญิงทำให้เด็กชายเกิดจินตนาการว่า เด็กหญิงก็มี “อวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย” (Penis) แต่ถูกตัดไป จึงเกิดความกังวลไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับตนเอง ทำให้เริ่มเรียนรู้อำนาจของพ่อที่มีเหนือเขา ความรู้สึกเกลียดชัง และเป็นปรปักษ์กับพ่อ เพราะต้องการแย่งชิงความรักจากแม่ค่อยๆ หมดไป หันมาเป็นมิตร และเลียนแบบ (Identification) พ่อจึงเอา (Introject) บทบาททางเพศชายของพ่อมาไว้ในตนเอง ทำให้ปรากฏการณ์ของ Oedipus Complex หายไป และเด็กจะเลียนแบบบทบาทที่เหมาะสมตามเพศของตนเอง
ในระยะนี้ Superego ของเด็กจะเริ่มพัฒนาจากการรับเอาค่านิยม คุณธรรม และบรรทัดฐานทางสังคมของพ่อแม่มาไว้ในตัว ในขณะที่เด็กหญิง นอกจากจะเกิด Electra Complex แล้ว เด็กหญิงจะเกิดความอิจฉาของอวัยวะเพศชาย (Penis Envy) ในเด็กชาย และรู้สึกต่ำต้อยที่ตนเองไม่มีอวัยวะเพศชายเหมือนเด็กชาย เมื่อเกิดปรากฏการณ์ Electra Complex แล้วเด็กหญิงจะรักใคร่ และหวงแหนพ่อในที่เกลียดชัง และรู้สึกว่าเป็นคู่แข่งกับแม่ และเห็นว่าพ่อไม่สามารถ ให้อวัยวะเพศชายแก่ตนได้ จึงเกิดความรู้สึกว่าแม่เป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตนเอง และแม่ไม่มีอวัยวะเพศชายเช่นกัน ทำให้รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกับแม่ หันมาเลียนแบบแม่ ทำให้ปมอีเลคตร้าหมดไป ในขณะที่ส่วนของ Superego เริ่มพัฒนาขึ้น ในขั้นนี้ ถ้าพัฒนาการทางบุคลิกภาพเป็นไปด้วยดี จะทำให้เด็กแสดงบทบาทที่เหมาะสมตามเพศของตนเอง เมื่อโตขึ้น และมีเจตคติที่ดีในเรื่องเพศ แต่ถ้าพัฒนาการเป็นไปอย่าง ไม่เหมาะสมแล้ว จะเกิดการติดตรึง ทำให้บุคลิกภาพผิดปกติไป เช่น ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (Impotence)ในเพศชาย และมีความรู้สึกเย็นชาเกี่ยวกับเรื่องเพศ (Frigidity)ในเพศหญิง การรักร่วมเพศ (Homosexuality) หรือชอบอวดอวัยวะเพศ (Exhibitionism) เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ขั้นอวัยวะเพศตอนต้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการพัฒนาบุคลิกภาพ พ่อแม่ และผู้เลี้ยงดูจะมีบทบาทสำคัญ ที่จะช่วยให้บทบาททางเพศของเด็กเป็นไปด้วยดี พ่อแม่จึงไม่ควรตำหนิ หรือเข้มงวดกับเด็กมากเกินไป เมื่อเด็กจับต้องอวัยวะเพศของตน ในขณะเดียวกันเด็กควรได้รับชี้แจง และการสั่งสอนเรื่องเพศ ตามความเหมาะสมกับการอยากรู้อยากเห็นของเขา และพ่อแม่ควรทำให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงบทบาททางเพศ ให้ความรัก ความอบอุ่น และความเอาใจใส่แก่เด็ก มีเวลาใกล้ชิดกับเด็ก ซึ่งทำให้เด็กเรียนรู้ถึงสัมพันธภาพที่ดีในการอยู่ร่วมกันระหว่างเพศเดียวกัน และต่างเพศ การให้ข้อมูลทางเพศ ควรใช้เหตุผล และค่านิยมของสังคมที่เหมาะสมในการอธิบาย เพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีในเรื่องเพศแก่เด็ก ทำให้เด็กยอมรับความรู้สึกของตนเอง และสามารถแสดงความรู้สึกต่างๆ ออกมาได้เหมาะสม กับบทบาททางเพศ ตามบรรทัดฐานของสังคมต่อไป
4. ขั้นแฝง (Latency Stage) เริ่มตั้งแต่อายุ 6 – 11 ปี ในขั้นนี้ Erogenous Zone จะไม่ปรากฏอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายโดยเฉพาะ เสมือนขั้นแฝงของพลัง Libido เป็นระยะพักในเรื่องเพศ และจินตนาการทางเพศ เด็กจะเริ่มมีชีวิตสังคมภายนอกบ้านมากขึ้นที่จะเรียนรู้ และปรับตัวให้เข้ากับ เพื่อนๆ ในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวัยดังกล่าว เด็กหากเด็กมีพัฒนาการในวัยต้นๆ อย่างเหมาะสม ในขั้นนี้ เด็กจะมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับ เพื่อนกลุ่มเดียวกัน
5. ขั้นอวัยวะเพศตอนปลาย (Genital Stage) เริ่มจาก 12 ขวบเป็นต้นไป ในระยะนี้เด็กจะเข้าสู่วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และวัยชรา โดยมี Erogenous Zone จะมาอยู่ที่อวัยวะเพศ (Genital Area) เมื่อเด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั้งหญิง และชายต่างๆกัน และมีพัฒนาการทางร่างกายตนมีความสามารถในการสืบพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ มีความต้องการตามสัญชาตญาณทางเพศอย่างรุนแรง ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการเป็นอิสระในขณะเดียวกับก็ต้องการได้รับความอบอุ่น และการดูแลเอาใจใส่ทางจิตใจจากพ่อแม่ เมื่อบุคคลมีวุฒิภาวะทางเพศอย่างสมบูรณ์แล้ว จะเกิดความพึงพอใจทางด้านเพศ มีการแสวงความสุขทางเพศระหว่างชายหญิง บุคคลที่มีการพัฒนาการทางบุคลิกภาพอย่างปกติ ไม่มีการติดตรึง ก็จะสามารถมีชีวิตทางสังคมที่ถูกต้องเหมาะสมคือมีครอบครัว และสามารถแสดงบทบาททางเพศ และบทบาทของพ่อแม่ได้อย่างเหมาะสม จะเห็นได้ว่า พัฒนาการทางบุคลิกภาพตามความเชื่อ ของ ฟรอยด์ จะมีความสัมพันธ์กับพลังลิบิโด (Libido) กับลักษณะทางชีวภาพของบุคคลที่จะนำไปสู่สภาวะทางสุขภาพจิต หากการพัฒนาการแต่ละขั้นเป็นไปด้วยความเหมาะสม ก็จะทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพที่ปกติ แต่ถ้าพัฒนาการแต่ละขั้นเกิดการติดตรึง จะมีผลทำให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพในรูปแบบต่าง เช่น โรคจิต หรือโรคประสาทที่ถือว่า มีความแปรปรวนในทางบุคลิกภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีแรกของชีวิตจะเป็นช่วงการสร้างพื้นฐานทางบุคลิกภาพของบุคคลประสบการณ์ที่รุนแรง ที่เกิดขึ้นในระยะนี้อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อบุคลิกภาพของเด็กไปตลอดชีวิต ซึ่งพ่อแม่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดบรรยากาศของการเลี้ยงดูลูกๆ ให้เหมาะสมที่จะสร้างพื้นฐาน ทางบุคลิกภาพที่มั่นคง และเหมาะสม เพื่อให้เป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์อย่างเต็มที่
กลวิธานในการป้องกันตนเอง
ตามแนวคิดของ ฟรอยด์ เชื่อว่ากลวิธานในการป้องกันตนเองนั้นเป็นกลวิธีทั้งหมดที่อีโก้ใช้ให้เป็นประโยชน์เมื่อต้องตกในสภาวะที่เกิดความขัดแย้งใจความคับข้องใจ ความวิตกกังวล ความตึงเครียด กลวิธานในการป้องกันตนเองนี้จะเป็นการทำงานในระดับของจิตไร้สำนึกที่แต่ละบุคคลเข้าใจได้ยาก ซึ่งนักจิตวิเคราะห์เชื่อว่า การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดในชีวิตของบุคคลนั้นบุคคลจะได้รับอิทธิพลมาจากกลไกในระดับจิตไร้สำนึกของแต่ละบุคคลนั่นเอง เช่น การเลือกคบ เพื่อน การสร้างศัตรู การเลือกอาชีพ การยอมรับในค่านิยมต่างๆ และการมองภาพพจน์ของตนเอง และ คนอื่นๆ เป็นต้น กลวิธานในการป้องกันตัวเป็นลักษณะของการตอบสนองที่ค่อนข้างจะคงที่ทำให้บุคคลรับรู้ผิดพลาดไปจากความเป็นจริง เนื่องจากว่าไม่มีความสามารถ หรือทักษะ หรือแรงจูงใจที่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากภายใน หรือความขัดแย้งใจที่เกิดจากการถูกคุกคามความปลอดภัยจากภายนอก โดยที่บุคคลจะสร้างกลวิธานในการป้องกันตนเองขึ้นมานั้นเกิดจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือประการแรกบุคคลมีความวิตกกังวลสูงมากในเรื่องหนึ่งเรื่องใด และอีโก้ (ego) หาวิธีลด หรือแก้ไขไม่ได้ด้วยวิธีการที่มีเหตุผล และประการที่สองอีโก้ไม่สามารถประนีประนอมแรงขับระหว่างความต้องการของอิด และแรงหักห้ามของซุปเปอร์อีโก้ได้ อีโก้จึงตกอยู่ในภาวะตึงเครียดจึงจำเป็นต้องหาวิธีการลดความตึงเครียด ความวิตกกังวลกับการใช้กลวิธานในการป้องกันตน ความวิตกกังวลเกี่ยวข้องกับกลวิธานในการป้องกันตน กล่าวคือ เมื่อมีความวิตก กังกลเกิดขึ้น วิธีการหนึ่งที่จะใช้ เพื่อลดความวิตกกังวล และทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่สมดุล ฟรอยด์ เชื่อว่า เรื่องความวิตกกังวลเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้รับความพึงพอใจ มีความรู้สึกว่าตนเองไม่ปลอดภัย จะได้รับอันตรายจากสิ่งที่อยู่รอบตัว ซึ่งฟรอยด์เชื่อว่าความวิตกกังวลนั้น เป็นผลมาจากการที่อีโก้ ( ego )ไม่สามารถทำหน้าที่ประนีประนอม อิด( id ) และซุปเปอร์อีโก้(superego) ได้อย่างเหมาะสม จะทำให้บุคคลเกิดความวิตกกังวล ความคับข้องใจ
ความวิตกกังวล (anxiety)
ความวิตักกังวล มี 3 ประเภท คือ ความวิตกกังวลต่อสิ่งที่เป็นจริง (objective anxiety or reality anxiety) ความวิตกกังวลแบบโรคประสาท (neurotic anxiety) และความวิตกกังวลเชิงศีลธรรม (moral anxiety)
ความวิตกกังวลต่อสิ่งที่เป็นจริง เป็นความวิตกกังวลที่เกิดจากความกลัวอันตรายจากภายนอกที่เผชิญอยู่จริงๆ
ความวิตกกังวลแบบโรคประสาท เป็นความวิตกกังวลที่มีสาเหตุให้บุคคลแสดงอาการบางอย่างออกมา เนื่องจากกลัวการถูกลงโทษที่ไม่สามารถควบคุมพลังของสัญชาตญาณไว้ได้
ความวิตกกังวลเชิงศีลธรรม เป็นความวิตกกังวลเมื่อเกิดขึ้นแล้ว และไม่สามารแก้ไขได้ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพจะเป็นความวิตกกังวลที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงบุคคลจะลดตัวลงมาสู่ภาวะ เหมือนทารกที่ช่วยตนเองไม่ได้ เมื่ออีโก้ไม่สามารถจะต่อสู้กับความวิตกกังวล โดยวิธีการอันมีเหตุผลก็จำต้องถอยกลับไปใช้วิธีการอันไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เรียกว่า กลไกป้องกันตน ทำให้บุคคลเกิดความคับข้องใจ ดังอธิบาย
ความคับข้องใจ (frustration)
เมื่อบุคคลมีปัญหา หรืออุปสรรคเกิดขึ้น บุคคลจะความรู้สึกคับข้องใจ (frustration) และมีความวิตกกังวล ( anxiety ) บุคคลจึงพยายามหาวิธีลดความคับข้องใจ โดยใช้กลวิธานในการป้องกันตนเอง (defense mechanism) ความคับข้องใจกับการใช้กลวิธานในการป้องกันตนเอง จะทำให้ สถานการณ์ที่ทำให้เกิดความคับข้องใจ เมื่อพิจารณาตามที่มา คือ จากภายนอก และภายในร่างกายของแต่ละบุคคลนั้นมีสาเหตุมาจาก 3 ประการคือ ความขาดแคลน ความสูญเสีย และความขัดแย้ง โดยอธิบายสรุป คือ
1. ความขาดแคลน (privations)
1.1 ความขาดแคลนจากภายนอก (external privation) เป็นสถานการณ์ของความ คับข้องใจที่เกิดจากความต้องการ(needs)อยากได้ในสิ่งที่ปกติแล้วจะสามารถหาได้จากโลกภายนอก แต่ในขณะนี้กลับพบว่าไม่มีสิ่งที่ต้องการอยู่ในนั้น เช่น คนหิวแต่พบว่าไม่มีอาหารตามที่ต้องการ
1.2 ความขาดแคลนจากภายใน (internal privation) เป็นสถานการณ์ของความ คับข้องใจที่เกิดจากบุคคลผู้นั้นขาดแคลนบางสิ่งบางอย่างที่ควรจะมีในตนเองไป เช่น ชายคนหนึ่งไม่มีเสน่ห์ เพียงพอที่จะสร้างความพึงพอใจให้เกิดกับ เพื่อนหญิงของเขา
2. ความสูญเสีย (deprivations)
2.1 ความสูญเสียจากภายนอก(external deprivation) เป็นสถานการณ์ของความ คับข้องใจที่เกิดจากการสูญเสียสิ่งของบางอย่าง หรือการตายจากไปของบุคคลที่มีความผูกพัน กันมาก่อน เช่น สามีสูญเสียภรรยาสุดที่รักตายจากไป หรือบ้านที่เคยอาศัยมานานหลายปีถูก ไฟไหม้ไป เป็นต้น
2.2 ความสูญเสียจากภายใน (internal deprivation) เป็นสถานการณ์ของความคับข้องใจที่เกิดจากการสูญเสียที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม แต่บุคคลถือว่าสิ่งที่สูญเสียไปนั้น เมื่อก่อนนี้เขามีอยู่ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเคยชินกับสภาพเช่นนั้นได้ เช่น นาย ก. เคยไว้ผมยาว แต่ต้องตัดทิ้งไป ทำให้เขาสูญเสียจุดเด่นในตัวเขาไป
3. ความขัดแย้ง (conflicts) ความขัดแย้งมีลักษณะดังนี้คือ
ความขัดแย้งจากภายนอก (external conflicts) เป็นสถานการณ์ของความคับข้องใจที่
เกิดจากความพิการทางร่างกายของตน และความพิการนั้นได้ขัดขวางพฤติกรรมตนเอง และความขัดแย้งจากภายใน (internal conflicts) เป็นสถานการณ์ของความคับข้องใจอันเนื่องมาจากการยึดมั่นในคุณงามความดี ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้พบบุคคลประสบความสำเร็จที่นำไปสู่ความพึงพอใจของตน ความขัดแย้ง ทำให้บุคคลต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมรอบตัวทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล สิ่งของ และเหตุการณ์ สิ่งที่ดึงดูดใจย่อมทำให้เราอยากเข้าหา และเลือกสิ่งนั้น สิ่งใดไม่ดึงดูดใจ หรือไม่ต่อสิ่งใด หรือสถานการณ์ใดนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งนั้น หรือสถานการณ์นั้น แต่เกิดจากความรู้สึก และเจตคติของตนเองที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ความขัดแย้งมี 3 ประเภทได้แก่
3.1 ความขัดแย้งชนิดบวก-บวก (approach-approach conflict) เป็นความขัดแย้งที่
เกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์ หรือเป้าหมายหลายๆ อย่างดึงดูดใจพร้อม ๆ กัน แต่เราจำเป็นต้องเลือกอันใดอันหนึ่ง
3.2 ความขัดแย้งชนิดลบ-ลบ (avoidance-avoidance conflict) เป็นความขัดแย้งที่
เกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์ หรือเป้าหมายทั้งสองอย่างไม่ดึงดูดใจ และต้องการหลบหลีก แต่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกอันใดอันหนึ่ง
3..3 ความขัดแย้งชนิดบวก-ลบ (approach-avoidance conflict) เป็นความขัดแย้งที่
เกิดขึ้นจากสถานการณ์ หรือเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งมีแรงดึงดูดใจให้เข้าหากัน และแรงผลักดันให้หลีกเลี่ยงในเวลาเดียวกัน
การแก้ปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งคือ บุคคลมักอดทนกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็ยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงความต้องการนั้นเสียใหม่ หรือใช้วิธีการหลอกตัวเองให้บังเกิดความ สบายใจ ซึ่งเป็นลักษณะของการใช้กลวิธานในการป้องกันตนเอง (นิภา นิธยายน. 2530 : 84)
กลวิธานในการป้องกันตนเอง ที่สำคัญ มี 2 ชนิด คือ
กลวิธานในการพัฒนาบุคลิกภาพ บุคลิกภาพพัฒนาเนื่องมาจากการตอบสนองความเครียดที่เกิดจากกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกาย ความคับข้องใจ ความขัดแย้งใจ และความหวาดหวั่น (threats) เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น บุคคลจึงแสวงหาวิธีการที่จะลดความเครียด ทำให้บุคลิกภาพเกิดการพัฒนาวิธีการที่บุคคลเรียนรู้ ได้แก่ การเลียนแบบ (identification) การย้ายแหล่งทดแทน (displacement) และการทดเทิด (sublimation)
กลวิธานในการป้องกันตนเองของอีโก้ บุคคลจะสร้างกลไกป้องกันตนเองขึ้น เมื่อไม่สามารถคลี่คลายความวิตกกังวลที่กำลังคุกคามได้ กลไกป้องกันตนเองที่สำคัญ มี 5 ชนิด ได้แก่ การเก็บกด (repression) การตรึงแน่น (fixation) การกล่าวโทษผู้อื่น (projection) การถดถอย (regression) และการแสดงปฏิกิริยาตรงข้าม (reaction formation)
จะเห็นได้ว่าความวิตกกังวล ความคับข้องใจ และความขัดแย้ง เป็นสภาวะที่ทำให้บุคคลต้องพบอยู่เสมอดังนั้นกลวิธานในการป้องกันตนเอง มีไว้ เพื่อรักษาสภาพจิตใจให้อยู่สภาวะสมดุล และสามารถรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่นไว้ได้ด้วย
การพัฒนาบุคลิกภาพ
การพัฒนาบุคลิกภาพของตามแนวทฤษฎีนี้ สิ่งสำคัญ คือ ครอบครัว เป็นสถาบันทางสังคมแห่งแรกที่ทุกคนต้องเกี่ยวข้อง ชีวิตครอบครัวที่มีความรักใคร่ ความกลมเกลียว และอบอุ่นมั่นคงในวัยเยาว์ย่อมเป็นรากฐานสำคัญของบุคลิกภาพที่ดีในภายหน้า เด็กจะมีความมั่นคงในจิตใจ มีความไว้วางใจในผู้อื่น มองโลกในแง่ดี สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคม และเผชิญชีวิตด้วยความมั่นใจ แต่ในทางตรงข้าม หากชีวิตเริ่มแรกได้รับแต่ประสบการณ์ ซึ่งสร้างความรู้สึกหวาดระแวง และ หวั่นกลัว ขาดผู้ให้ความรัก และการอุ้มชู เด็กประเภทนี้มักจะมีพฤติกรรมโดดเดี่ยว พัฒนาการทางร่างกาย และจิตใจได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนักจนถึงขั้นมีความผิดปกติทางจิตใจได้ในที่สุด
และบุคคลที่มีครอบครัวประเภทบ้านแตก (broken home)หมายถึง บิดา และ หรือมารดาต้องจากเด็กไปจะด้วยการหย่าร้าง หรือความตายก็ตาม เด็กย่อมได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักจากความสูญเสียบุคคลที่ตนรัก และยึดถือเป็นเจ้าของยิ่งถ้าฝ่ายที่ยังอยู่กับ เด็กแสดงความรู้สึก หงุดหงิดก้าวร้าว จะเกิดผลร้ายแก่จิตใจเด็กอย่างมาก และเป็นแผลใจจนกระทั่งมาแสดงออกตอนวัยรุ่น
.2 ทฤษฎีจิตสังคม หรือทฤษฎีบุคลิกภาพของ Erikson (Psychosocial Theory of Personality) ทฤษฎีจิตสังคม (Psychosocial Theory of Personality) ผู้ให้กำเนิดทฤษฎี คือ Erik Homburger Erikson ดังอธิบายรายละเอียดดังนี้
ประวัติErik H. Erikson เป็นนักจิตวิทยาคลินิก เกิดที่เมือง Frankfurt ประเทศเยอรมัน เมื่อปี 1902 หลังจากที่เข้าเกิดไม่นานพ่อก็แยกจากแม่เขาไป ต่อมา Theodor Homburger ได้รับเขาเป็นบุตรบุญธรรม หนังสือของเขาที่พิมพ์ก่อนปี ค.ศ. 1939 จะปรากฏว่าเขาใช้ชื่อ Erikson Homburger ต่อมาเขาได้ใช้นามสกุลเดิมมาต่อท้ายชื่อจึงเป็น Erik H. Erikson เขาได้รับยกย่องเป็นศาสตราจารย์ในวิชาพัฒนาการมนุษย์จากมหาวิทยาลัย Harvard งานเขียนของเขาเป็นที่แพร่หลาย มีการนำไปแปล และตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆมากมาย ตัวอย่าง ปัญหาต่างๆ ที่ Erikson ยกมาประกอบในงานเขียน ของเขาได้มาจากคนไข้ Erikson ถือว่าเป็นศิษย์ของ Freud ที่มีความเข้าใจในงาน และความคิดของ Freud เขาได้นำจิตวิเคราะห์มาประยุกต์ในขั้น พัฒนาการต่างๆ และได้รับยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ มีความสามารถไม่ด้อยกว่า Freud
Erikson ได้เข้ามาร่วมงาน และถือว่าเป็นศิษย์คนหนึ่งของ Freud ในการตั้งทฤษฎีเขาก็นำแนวคิดพื้นฐานมาจากทฤษฎีของFreud แต่มีแบบแผนที่แตกต่างไปจาก Freud สำคัญๆ 3 เรื่อง คือ
1. ระบบโครงสร้างของบุคลิกภาพ (ซึ่ง Freud เน้นการทำงานของ id พัฒนาการมนุษย์โดยใช้ขั้นพัฒนาการทางเพศภายใต้การทำงานของพลังเพศ) แต่ทฤษฎีของ Erikson เน้นการวิเคราะห์ ego ว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นพลังที่ทำให้มนุษย์เกิดพัฒนาการของชีวิต เช่น การเกิดพัฒนาการของมโนมติต่างๆ และความสามารถในการตีความหมาย การสร้างมโนภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ego ยังทำให้เกิดระบบความคิดที่แสดงความเป็นปัจเจกบุคคล เขาเชื่อว่า การศึกษาพัฒนาการของชีวิตนับตั้งแต่เกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นด้วย ข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับ พัฒนาการมนุษย์คือ ความสัมพันธ์ และความต่อเนื่องของประสบการณ์กับการทำหน้าที่ของ ego และเพิ่มช่วงพัฒนาการที่ขาดหายไปเป็น 8 ขั้น
2. แบบพิมพ์ทางสังคม(social matrix) Erikson กล่าวว่า แบบพิมพ์ทางสังคม คือความสัมพันธ์ของบุคคลกับผู้เลี้ยงดู และบุคคลนอกครอบครัว ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมภายนอกของบุคคลด้วย
3. Erikson มุ่งความสนใจไปที่โอกาสที่บุคคลจะพัฒนาตนเอง เพื่อความอยู่รอดของชีวิต เขาเห็นว่าทั้งบุคคล และสังคมต่างก็สามารถอยู่ร่วมกัน และมีความต้องการที่จะเจริญก้าวหน้า
จากแนวความคิดที่แตกต่างไปจาก Freud ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า Erikson วางแนวทางใหม่ของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ซึ่งทำให้การนำไปใช้ และการแปลความหมายพฤติกรรมกว้างขวางกว่าเดิม และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ข้อตกลงเบื้องต้นของทฤษฎี (Assumption Basic to Erikson’s Theory)
การสร้างทฤษฎีของ Erikson มีพื้นฐานมาจากแนวความคิดของ Freud ตามที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นข้อตกลงเบื้องต้นในทฤษฎีของเขาจึงมีรายละเอียด และแนวความคิดของ Freud และของเขาร่วมกัน
ข้อตกลงเบื้องต้นของทฤษฎี Erikson ที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้
วิธีการสร้างทฤษฎี (Approach to Theory Formation)
แบบแผนชีวิตมนุษย์ (Order of Human Life)
คุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Human Values)
สาเหตุพฤติกรรมมนุษย์ (Etiology of Human Behavior)
แกนการทำหน้าที่ของมนุษย์ (Core of Human Functioning)
ทารกแรกเกิด (The Newborn)
สิ่งแวดล้อม (Environments) ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical) สังคม (Social) วัฒนธรรม (Culture) และความคิด (Ideational) ดังจะอธิบายเป็นข้อๆ คือ
1. วิธีการสร้างทฤษฎี (Approach to Theory Formation)
Erikson ยอมรับในวิธีการ และเทคนิคในการเก็บรวบรวมข้อมูลของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โดยวิธีสังเกตเขาให้ความสนใจเป็นพิเศษกับความสำคัญของจิตไร้สำนึก (unconscious) และจิตก่อนสำนึก (preconscious) ซึ่งแสดงออกมาในรูปของคำพูด หรือจากพฤติกรรมที่แสดงออก แนวความคิดของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ในทัศนะของเขาคือ การทำความเข้าใจบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลซึ่งแสดงออกมาอย่างไม่รู้ตัว และเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำวัน เขากล่าวว่า กระบวนการสำคัญของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ในการเข้าใจพัฒนาการของบุคคลคือการเข้าใจบุคลิกภาพที่เบี่ยงเบนออกไปจากปกติ ซึ่งถือเป็น ปัญหาหลักที่จะต้องพิจารณา เพื่อจะได้เข้าใจพัฒนาการของบุคลิกภาพปกติได้ชัดเจน Erikson ได้อธิบายเพิ่มเติมหลักสำคัญ ของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ให้กว้างขวางขึ้นโดยกล่าวว่าการวิเคราะห์เป็นรายบุคคลนั้น จะต้องพิจารณาบุคคลนั้นในกลุ่มสังคม และวัฒนธรรมของเขาด้วย Erikson ได้นำความรู้ ทางจิตวิเคราะห์ มาใช้ร่วมกับวิธีการทางสังคมวิทยา ส่วน Freud จะพิจารณาว่าบุคคลยึดตนเองเป็นศูนย์กลางในการกระทำ หรือความรู้สึกนึกคิดต่างๆ โดยอิทธิพลของจิตไร้สำนึก(unconscious) Erikson ให้ความคิดเห็นในเรื่อง การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางที่แตกต่างไปว่า การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางนั้น เป็นเรื่องการรู้สำนึก (conscious) ตัวอย่างเช่น การเล่นของเด็กแสดงถึงการยึดตัวเองของเด็กได้เป็นอย่างดี
Erikson กล่าวว่าไม่มีการสังเกตโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่จะนำมาใช้อย่างได้ผล โดยไม่มีทฤษฎีนำทางก่อน ดังนั้นการจะอธิบานถึงลักษณะของ พัฒนาการด้านต่างๆได้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีพัฒนาการต่างๆทั้งหมดก่อน Erikson ได้ตั้งทฤษฎี และใช้คนไข้ในคลินิกของเขาเป็นกลุ่มตัวอย่าง เขาศึกษาคนไข้จากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติประกอบกับประวัติส่วนตัวโดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นจำนวนมากซึ่งผลจากการศึกษาได้พิสูจน์ทฤษฎีของเขาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการศึกษา เพื่อพิสูจน์ทฤษฎี Erikson กล่าวว่าผู้ศึกษาจะต้องมีความมั่นใจในกลุ่มตัวอย่าง มีระยะเวลาในการศึกษานานพอ และมีเทคนิคใน การเลือกกลุ่มตัวอย่าง เขาให้ความสนใจความสำคัญในคุณภาพของข้อมูลมากกว่าวิธีการวัดต่างๆทฤษฎีของเขาจะเป็นไปตามลำดับ คือ นำข้อมูลที่ได้จาก การพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์ทั่ว ๆ ไปมาประกอบกับความคิดเห็นของเขาแล้วพิจารณาคัดเลือกอีกครั้ง เพื่อให้ตรงกับปัญหาที่ตั้งไว้ ซึ่งวิธีการนี้มีแนวความคิดไปทางเดียวกับจิตวิเคราะห์ของ Freud และ Erikson ได้นำความรู้ที่ได้จากวิธีการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เช่น การพิจารณาขั้นพัฒนาการต่างๆ ของเด็ก แต่เขาได้นำการศึกษาทางสังคมวิทยา และมานุษยวิทยาเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
2. แบบแผนชีวิต (Order of Human Life)
Erikson กล่าวว่า “บุคลิกภาพกับความสมดุลกันของสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์ซึ่งกัน และกัน” เขาให้ความคิดเห็นว่าการมองเห็นคุณค่า และคุณธรรมต่างๆ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของการเจริญเติบโต และความต้องการที่จะพัฒนาตนเองซึ่งคุณค่า และคุณธรรมนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการฝึกหัดในวัยเด็ก ในความคิดของเขานั้นขอบข่ายพัฒนาการของมนุษย์ในแง่จิตวิทยา มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนๆ กับโครงสร้างทางชีวภาพทั้งจิตวิทยา และชีววิทยามีความสัมพันธ์ภายในกันมาก คือนับตั้งแต่คลอดเป็นต้นมา บุคคลจะมีการพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพควบคู่ไปกับ คุณลักษณะทางด้านจิตใจ ตัวอย่างเช่นสิ่งแรกที่จะทำให้ทารกมีชีวิตอยู่รอดคือความสามารถในการใช้ปาก การย่อยอาหาร และการขับถ่าย ดังนั้นพัฒนาการขั้นแรกคือการใช้ปากดูด เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด และในขณะเดียวกัน การดูดก็ให้ความสุขแก่เด็กด้วย ในพัฒนาการแต่ละขั้นพบว่ามีพัฒนาการร่วมกันไปทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อคลอดออกมาแล้วอวัยวะต่างๆ ก็หยุดการสร้างเพิ่มขึ้นแต่จะพัฒนาอวัยวะแต่ละส่วนให้เจริญเติบโตต่อไป ซึ่งการพัฒนานี้จะควบคู่กับ พัฒนาการทางด้านจิตใจ ทำให้มีความสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี Erikson กล่าวว่ากฎของความเจริญเติบโตทางร่างกาย ระยะเวลา และสิ่งแวดล้อม จะเข้ามาสัมพันธ์กันทุกครั้งที่มีความเจริญเติบโตเกิดขึ้น การพัฒนาบุคลิกภาพเป็นหน้าที่ของ ego และกระบวนการทางสังคม ความเจริญเติบโตทางร่างกาย จิตใจ และสังคม เป็นผลจากการทำงานร่วมกันของอินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วย ego และความตระหนักในการเป็น สมาชิกของ สังคม ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้จะเข้ามาทำงานร่วมกันตลอดเวลาโดยบุคลิกภาพกับความสมดุลกันของสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์ซึ่งกัน และกัน และทำงานร่วกันจนทำให้เกิดแบบของบุคลิกภาพ
3. คุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Human Values)
คุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ เขาเน้นถึงความสามารถสร้างสรรค์ และความสามารถในการปรับตัวเขายอมรับในความสามารถของแต่ละคนที่สามารถฟันฝ่าชีวิตอยู่ได้ด้วยความสามารถ และความเป็นตัวของตัวเอง Erikson ไม่ได้มองว่าคนดี หรือเลว แต่เชื่อว่าบุคคลมีศักยภาพที่จะทำในสิ่งที่ดี หรือเลวได้เท่าๆ กัน ส่วนความเชื่อในเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้น เขากล่าวว่า บุคคลมีศักยภาพ ที่จะสร้างสรรค์สังคมทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และสภาพแวดล้อมต่างๆ ทางด้านการปรับตัว เขากล่าวว่า มีพฤติกรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่บุคคลไม่สามารถแก้ไขได้ แต่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา เป็นจำนวนมากที่สามารถป้องกันไว้ก่อน ได้บุคคลจะมีคุณค่าเป็นที่รับรองจาก บุคคลอื่นได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ และได้รับการยอมรับจากสังคม และในทำนองเดียวกันสังคมก็ต้องการบุคคลที่มีความคิดเห็นตรงกัน พึ่งพาอาศัย และยอมรับซึ่งกัน และกัน คุณค่าพื้นฐานประการสุดท้ายคือบุคคลต้องมีความไว้วางใจ และเคารพสถาบันของสังคม เช่น ศาสนา เป็นต้น
4. สาเหตุพฤติกรรมมนุษย์ (Etilology of Human Bahavior)
Erikson ยอมรับในแบบแผนพัฒนาการทางจิตเพศของ Freud (psychosexual) ซึ่งมีความเห็นว่าการที่บุคคลจะทำพฤติกรรมใดนั้น ก็เนื่องจากพลังที่เรียกว่า แรงขับซึ่งมีมาแต่กำเนิด จะเห็นว่าความคิดของเขาก็เป็นไปตามหลักทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โดยถือว่าแรงขับนี้เกิดจากสัญชาตญาณ (instincts) และทำหน้าที่เป็นแรงจูงใจ แสดงออกมาร่วมกันเรียกว่าพลังเพศ (libido) พลังเพศ (libido) แสดงออกเป็นพฤติกรรมสำคัญ 2 ลักษณะ คือ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด พลังนี้แสดงออก เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด โดยสนองความต้องการที่เกิดจากสัญชาตญาณของการมีชีวิต เพื่อให้บุคคลเจริญเติบโตต่อไป (life instincts) และ เพื่อการทำลาย แสดงออกโดยพฤติกรรมต่างๆ เช่น ความก้าวร้าว เป็นการแสดงออกของสัญชาตญาณความตาย (dead instincts) โดยการทำงานของจิตไร้สำนึก (unconscious) เป็นพฤติกรรมที่บุคคลต้องการจะกลับไปสู่ความมั่นคง ตัวอย่าง เช่น ชีวิตในวัยเด็กผู้ใหญ่มักหันกลับมามองว่า เป็นระยะเวลาแห่งการสุขสบาย ดังนั้นบางครั้งคนเราก็ต้องการมีความสุข จึงอาจมีพฤติกรรมถอยกลับไปสู่สภาพเดิมซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรม ที่เป็นสัญชาตญาณของความตาย Erikson ยอมรับในพลังเพศ libido และถือว่าเป็นสิ่งกำหนดกรรมมนุษย์ พลังนี้ได้ทำงานออกมาในระบบ id ego และ superego การทำงานของ id และ superego จะขัดแย้งกันอยู่เสมอโดยมี ego เป็นตัวกลางที่จะประนีประนอมทั้ง 2 ระบบ Ego ในทัศนะของเขา เป็นตัวตัดสินในการที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมใดๆ ออกมา โดยนำความรู้จากประสบการณ์มาร่วมพิจารณาด้วย ego จึงเป็นระบบที่แสดงคุณค่าของมนุษย์ ego ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถในการปรับตัว พลังเพศ (libido) จะมีผลต่อประสบการณ์การรับรู้ของชีวิตทั้ง 3 ระดับ คือ ประสบการณ์สำนึก (conscious experience)ประสบการณ์ใกล้สำนึก (preconscious experience) และประสบการณ์ไร้สำนึก (unconscious experience) โดยประสบการณ์ 2 ตัวหลังมีอิทธิพลสำคัญต่อแรงจูงใจในการกระทำพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคล พลังเพศจะแสดงออกอย่างเปิดเผยในจิตทั้ง 3 ระดับ โดยมีระบบการทำงานที่ควบคุมโดย ego ซึ่งเป็นระบบที่สัมผัสความจริงในชีวิต และเป็นตัวตัดสินว่าพฤติกรรมใดควรแสดงออก
5. แกนการทำหน้าที่ของมนุษย์ (Core of Human Functioning)
Erikson มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับ Freud ว่าอารมณ์แทรกซึมอยู่ในการทำหน้าที่ ทุกกระบวนการของมนุษย์ ธรรมชาติของอารมณ์พิจารณาได้จากคุณภาพความสัมพันธ์กับ บุคคลอื่น สภาพทางอารมณ์ต่างๆ ที่แสดงออกมาในรูปของความคิด การกระทำความรู้สึก ฯลฯ ขึ้นอยู่กับสภาพความสมดุลของการทำงานร่วมกันของ id ego และ superego สำหรับช่วงพัฒนาการในวัยเด็ก การเล่นของเด็กถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ Erikson เห็นว่าการเล่นเป็นหน้าที่สำคัญของ ego ในระยะนี้ เพราะการเล่นประกอบด้วยกระบวนการ 3 อย่าง คือ การคิด การสื่อสาร และพฤติกรรม เช่น การคิด ขณะเล่นเด็กจะมีรูปแบบของการคิด และคำพูด การสื่อสาร เด็กมีการสื่อสารซึ่งกัน และกัน โดยใช้ทั้งภาษาท่าทาง (non verbal) และภาษาพูด (verbal) และพฤติกรรม คือ สิ่งต่างๆ ที่แสดงออกในขณะเล่นการเล่นของเด็กจึงเป็นการทำหน้าที่สำคัญแสดงถึงประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่เด็กสะสมมา เป็นการช่วย ให้เด็กได้รู้จักตัวเอง รู้ถึงความสามารถ นอกจากนั้นเด็กยังใช้การเล่นเป็นเครื่องมือในการระบายความเครียด ความยุ่งยาก และความคับข้องใจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการพัฒนาการใช้ภาษา และทำให้เด็กรู้สึกเป็นอิสระจากข้อจำกัดต่างๆ และนอกจากนี้การเล่นจะแตกต่างกันไป ในแต่ละสังคมทำให้ ทราบถึง โครงสร้างของสังคมนั้นๆ ได้ การเล่นกับ ego Erikson เสนอแนะว่าการเล่นเป็นเครื่องมือของ ego ที่จะแสดงออกในตัวตนของบุคคล เช่นเดียวกับความฝันที่แสดงออกถึงพลัง id เขาสรุปว่า การเล่นของเด็ก และการให้เหตุผลของผู้ใหญ่เป็นผลิตผลเดียวกัน แต่เกิดขึ้นในเวลาที่ต่างกัน แกนการทำหน้าที่ของมนุษย์ซึ่งมีอารมณ์ และการเล่นของเด็กดังกล่าวมาแล้ว สิ่งที่จะต้องสร้างขึ้น เพื่อให้มีบุคลิกภาพสมบูรณ์ในระยะต่อมาคือ การที่บุคคลไม่ขัดแย้งกับความต้องการ ทางเพศ การไม่ขัดแย้งกันในเรื่องของความรักกับกามารมณ์ และการไม่ขัดแย้งกันของการแสดงออกทางเพศ กับพฤติกรรมทั่วๆ ไปของบุคคล
6. ทารกแรกเกิด ( The newborn )
ทารกแรกเกิดย่อมได้ปะทะสังสรรค์กับสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่แตกต่างไปจากสิ่งแวดล้อมภายในครรภ์ และเริ่มต้นที่จะมีบุคลิกภาพเป็นของเขาเอง ในระยะทารกสิ่งแรกที่เขาจะได้รับคือบทบาททางเพศ ทั้งเพศชาย และเพศหญิงจะได้รับประสบการณ์ และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน เป็นที่ทราบแล้วว่า สิ่งแวดล้อมย่อมมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทุกๆ ด้าน สิ่งแวดล้อมในสังคม และสถาบันต่างๆ จะขัดเกลาพฤติกรรม และบุคลิกภาพของเด็ก นอกจากนี้สังคม และสถาบันต่างๆ จะเป็นแหล่งที่ช่วยให้พ่อแม่เข้าใจพัฒนาการของเด็กแล้วนำความรู้นั้นมาอบรมเด็ก เพื่อให้มีบุคลิกภาพตามที่สังคมยอมรับ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสังคม และทารกแรกเกิดจะอยู่ในเงื่อนไขพึ่งพาอาศัยซึ่งกัน และกัน คือสังคมต้องการทารกที่เกิดมา เพื่อมารับสถานภาพต่างๆ ตามเกณฑ์กำหนดในขณะเดียวกัน ทารกที่เกิดมาก็ต้องการสังคม เพื่อพัฒนาความเจริญเติบโตของบุคลิกภาพของเขา
7. สิ่งแวดล้อม ( Environments )
ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางกาย (Physical) สังคม (Social) วัฒนธรรม (Culture) และความคิด(Ideational) สิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีอิทธิพลสำคัญต่อการวางรูปแบบ การพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคล เพราะการปฏิบัติต่อกันของบุคคลในสังคม เช่น การอบรมสั่งสอน การฝึกหัด และการพยายามให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพ ของตนเอง เป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดังกล่าวทั้งสิ้น พลัง หรืออำนาจของสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อบุคคลโดยการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ เช่น จากพ่อแม่ และคนใกล้ชิด ความศรัทธาในศาสนา การถ่ายทอด หรือปลูกฝังอุดมคติเหล่านี้จะเป็นแนวทางในการค้นหาศักยภาพของตนเอง ดังนั้นทุกคนจึงต้องการความรู้ และคำแนะนำ เพื่อการดำรงชีวิต และพัฒนาตนในเรื่องของวัฒนธรรมมีส่วนในการสร้างแบบแผนการดำรงชีวิต การดำรงชีวิต ส่วนใหญ่เป็นแรงจาก สัญชาตญาณ โดยมีวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดการแสดงออกที่ถูกต้อง Erikson กล่าวว่าความแตกต่างของวัฒนธรรม และกลุ่มสังคมมีผลทำให้บุคคลแตกต่างกัน เด็กเล็กๆที่กำลังเจริญเติบโตจะรับรู้ความจริงต่างๆ จากประสบการณ์ที่เขาได้รับ และเป็นจุดเริ่มต้นของแบบแผนการดำเนินชีวิตของเขาต่อไป และเป็นแรงที่จะกำหนดความสามารถในการที่ชีวิตจะประสบความสำเร็จ หรือไม่
แนวคิดของ Erikson เกี่ยวกับพัฒนาการ (Erikson’s Concept of Development)
พัฒนาการทั้ง 8 ขั้นเป็นตัววางรูปแบบของ ego ความสำเร็จจากการแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง ในแต่ละขั้นพัฒนาการเป็นสิ่งเร้าให้เกิดวุฒิภาวะได้เป็นอย่างดี แต่ก็อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ คือถ้ามีระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติบุคคลนั้นจะไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนให้ถึงขั้นสูงสุดได้ นอกจากนี้การพัฒนาไป ยังขั้นสูงต่อไปนั้นจะต้องมีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม
พัฒนาการของบุคลิกภาพ
ขั้นพัฒนาการ 8 ขั้นของ Erikson นั้น 5 ขั้นแรกจะอยู่ในช่วงวัยทารก วัยเด็ก และวัยรุ่น ซึ่งเขาให้ความสนใจมากกว่า 3 ขั้นสุดท้าย ซึ่งอยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ พัฒนาการ 8 ขั้นของชีวิตตามแนวความคิดของ Erikson พัฒนาการทั้ง 8 ขั้น เรียงลำดับดังต่อไปนี้
ขั้นพัฒนาการความรู้สึกไว้วางใจพื้นฐานซึ่งทำให้ผ่านพ้นความรู้สึกไม่ไว้วางใจไปได้ – ความหวังเกิดขึ้น (Acquiring a Sense of Basic Trust While Overcoming a Sense of Basic Mistrust – a Realization of Hope) เป็นระยะตั้งแต่เกิด – 1 ขวบ
ขั้นพัฒนาการความรู้สึกเป็นอิสระซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกไม่แน่ใจ และความละอาย – การรับรู้ในความสามารถ (Acquiring a Sense of Autonomy While Combating a Sense of Doubt and Shame – a Realization of Will) เป็นระยะ 1 – 3 ขวบ
ขั้นพัฒนาการความรู้สึกของความคิดริเริ่มซึ่งทำให้ผ่านพ้นความรู้สึกผิด – การตั้งความมุ่งหมาย (Acquiring a Sense of Initiative and Overcoming a Sense of Guilt – a Realization of Purpose) เป็นระยะ 3 – 5 ปี
ขั้นพัฒนาการความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และขจัดความรู้สึกเป็นปมด้อย-ความสามารถเกิดขึ้น (Acquiring a Sense of Industry and Fending Off a Sense of Inferiority – a Realization of Competence) เป็นระยะอายุ 6 – 12 ปี
ขั้นพัฒนาการความรู้สึกในความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และผ่านพ้นความรู้สึกสับสนในตนเองไปได้ – รับรู้ตามความจริง (Acquiring a Sense of Identity While Overcoming a Sense of Identity Diffusion – a Realization of Fidelity) เป็นระยะ 13 – 17 ปี
ขั้นพัฒนาการความรู้สึกสัมพันธภาพ และเป็นมิตรกับบุคคลอื่นโดยเฉพาะ เพื่อนต่างเพศ และหลีกเลี่ยงความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง – ความรักเกิดขึ้น (Acquiring a Sense of Intimacy and Solidarity and Avoiding a Sense of Isolation – a Realization of Love) ช่วงอายุ 18 – 21 ปี
ขั้นพัฒนาการความรู้สึกที่จะเป็นผู้ให้กำเนิด และสร้างสรรค์สังคม และหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่คำนึงถึงแต่ตนเอง – การเอาใจใส่ดูแลเกิดขึ้น (Acquiring a Sense of Generativists and Avoiding a Sense of Self – absorption – a Realization of Care) ช่วงอายุ 22 – 40 ปี
ขั้นพัฒนาการความรู้สึกมั่นคงสมบูรณ์ในชีวิต และหลีกเลี่ยงความรู้สึกสิ้นหวังท้อถอยในชีวิต – รู้จักชีวิต (Acquiring a Sense of Integrity and Avoiding a Sense of Despair – a Realization of Wisdom) ช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป
ขั้นพัฒนาการทั้ง 8 ขั้น ประกอบด้วยความรู้สึกต่างๆ นั้นหมายถึง ความรู้สึกของการประสบความสำเร็จ หรือความล้มเหลวในการที่จะปลูกฝังองค์ประกอบ ที่สำคัญของบุคลิกภาพ คือ ความไว้วางใจ ความเป็นอิสระ ความคิดริเริ่ม ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า การมีเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการตัดสินว่าพัฒนาการทางด้านจิตใจของบุคคลนั้นผ่านพ้นไปได้ตามช่วงอายุ หรือไม่ ถ้าสามารถผ่านไปได้บุคคลย่อมมีบุคลิกภาพที่มั่นคงสมบูรณ์มีการพัฒนาทั้งร่างกาย และจิตใจเป็นปกติ รายละเอียดของพัฒนาการแต่ละขั้นมีดังนี้
1.ขั้นพัฒนาการความรู้สึกไว้วางใจพื้นฐานซึ่งทำให้ผ่านพ้นความรู้สึกไม่ไว้วางใจไปได้–ความหวังเกิดขึ้น
พัฒนาการขั้นแรกนี้มีระยะเวลาตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 1 ขวบ พัฒนาการขั้นแรกนี้นับว่าเป็นรากฐานสำคัญของพัฒนาการขั้นต่อๆ ไป Erikson ได้อธิบายถึงธรรมชาติของพัฒนาการในระยะนี้ว่าเมื่อทารกคลอดจากครรภ์มาสู่สิ่งแวดล้อมใหม่จะมีความต้องการ 2 ประการเกิดขึ้น คือ ความต้องการทางกาย คือ ต้องการอาหาร ความอบอุ่นทางร่างกาย เป็นความรู้สึกต้องการให้รับสิ่งที่ร่างกายต้องการ และความต้องการอีกอย่างคือ ความต้องการที่จะได้รับการตอบสนองทางด้านจิตใจ คือ การได้รับความรัก ความรู้สึกอบอุ่นมั่นคงที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ถ้าทารกได้รับการตอบสนองในสิ่งต่างๆ ที่เขาต้องการอย่างพอเพียงก็จะเป็นผลให้พัฒนาความรู้สึกไว้วางใจ ในประสบการณ์ใหม่ที่เขาได้รับ ซึ่งความรู้สึกไว้วางใจที่เกิดขึ้นในระยะนี้จะเป็น พื้นฐานของการสร้างความรู้สึกไว้วางใจต่อบุคคล หรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆในระยะต่อมา แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าทารกไม่ได้รับความสุขสบายทั้งทางกาย และทางใจ ย่อมทำให้ทารกเกิดความรู้สึกหวาดกลัวต่อสถานที่ หรือสถานการณ์ต่างๆ ต่อไปในอนาคตการพัฒนาความรู้สึกไว้วางใจให้เกิดขึ้นในบุคลิกภาพ จะช่วยให้บุคคลมีสุขภาพจิตที่ดี และยอมรับ หรือกล้าเผชิญสถานการณ์ต่างๆได้ ในวัยเด็กเขาควรจะได้เรียนรู้ที่จะไว้วางใจในคนอื่นๆ หรือต่อประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้จากประสบการณ์ตรงของเขาแล้วก็จะได้จากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ด้วยการพัฒนาความรู้สึกไว้วางใจของเด็กในระยะนี้ เป็นระยะที่เด็กกำลังเจริญเติบโตซึ่งสัมพันธ์กับระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบการหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อต่างๆ ความรู้สึกของร่างกายที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อได้รับการตอบสนองจากสังคมจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจสังคม หรือบุคคลในสังคมได้ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ของพลังจิต (psychic energy) กับบริเวณร่างกายที่ถูกเร้าเป็นผลให้เกิด การรับรู้ประสบการณ์ ในเรื่องของ พลังจิต Erikson ก็มีความเห็นคล้อยตามกับ Freud ว่าเป็นการทำงานของพลังเพศ (libido)ทารกในช่วง 3 – 4 เดือนแรก การดูด และการกลืนอาหารเป็นสิ่งที่ทำให้ทารกมีความสุข ดังนั้นช่วงระยะเวลาของการดูดนม อาหาร และปริมาณของอาหารที่ได้รับจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้ทารกรู้สึกว่าสังคมนี้ให้ความรัก ความอบอุ่น ความมั่นคงแก่จิตใจของเขา สิ่งแวดล้อมที่เขาได้รับ คือ แม่ที่ให้นมแก่เขา ความรักความอบอุ่นจาก อ้อมกอดของแม่ รอยยิ้ม และวิธีการพูดของแม่ทำให้ทารกมีความสุข และสบายใจ Erikson กล่าวถึงระยะของความรู้สึกเกี่ยวกับปาก และการหายใจ (an oral – respiration – sensory stage) ไว้ว่าทั้ง 2 ระบบนี้จะทำงานร่วมกัน และมีผลโดยตรงกับการสร้างความรู้สึกไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจของเด็ก ลักษณะของอารมณ์เด็กขึ้นอยู่กับการได้รับ และปริมาณของการได้ผ่อนคลายความเครียด ทารกจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากการปฏิบัติที่ให้ความรัก ความเอาใจใส่ และความห่วงใยจากพ่อแม่ หรือคนที่เลี้ยงเขา การที่สามารถหยิบ คว้า สิ่งต่างๆ ได้ก็เป็นแนวทางที่ทำให้ทารกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ในสังคมของเขาด้วย การหยิบ หรือคว้าบางอย่างเข้าปาก หรือการดูดจุกนม หรือสิ่งอื่นๆ แม้กระทั่งเสียงที่ได้ยิน ตลอดถึงความอ่อนนุ่ม หรือแข็งกระด้างที่เขาสัมผัส ล้วนมีผลต่อการปลูกฝังความรู้สึกไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจ ถ้าทารกขาดประสบการณ์เหล่านี้ หรือเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจไม่พอใจ จะเป็นสัญญาณเตือนถึงการเริ่มต้นปลูกฝังความไม่ไว้วางใจในสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นในใจ ของทารกต่อไปพัฒนาการทางสังคมระยะแรก (Early Social Outreach) Erikson แบ่งพัฒนาการทางปากเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเรียกว่า Oral dependent เริ่มตั้งแต่คลอด และสิ้นสุดเมื่อฟันซี่แรกเริ่มขึ้น เป็นระยะที่ทารกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นที่จะสนองความต้องการต่างๆ ให้ตน เช่น การกิน การช่วยเหลือในเรื่อง การขับถ่าย เป็นต้น ระยะที่ 2 เรียกว่า Oral aggressive เริ่มเมื่อฟันซี่แรกขึ้นเป็นต้นมา จนสิ้นสุดพัฒนาการระยะนี้ ในระยะที่ 2 นี้ทารกโตมากขึ้นสามารถควบคุมกล้ามเนื้อมือได้ การหยิบจับสิ่งต่างๆ เป็นไปด้วยความตั้งใจมากขึ้น ทารกเริ่มเรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์ซึ่งมีทั้งประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความพอใจ และไม่พอใจ ประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ หรือไม่สบายใจทารกจะแสดงออกโดยการกัดสิ่งต่างๆ พัฒนาการขั้นปาก – จุดเริ่มต้นของ ego พัฒนาการในขั้นปาก จะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างทารกกับแม่ ทารกต้องการอาหาร และความอบอุ่นใจ ซึ่งถ้าได้รับ 2 สิ่งนี้อย่างเพียงพอย่อมเป็น จุดเริ่มต้นในการวางพื้นฐาน ego ให้กับทารก แต่ถ้าทารกได้รับประสบการณ์ในทางตรงข้ามจะเป็นการหยุดชะงักการพัฒนาศักยภาพ และ ego ของเขา ถ้าทารกมีความมั่นคงในจิตใจ ก็ย่อมมีความไว้วางใจในผู้อื่น และสามารถเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างดี Erikson ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของทารกกับแม่ไว้ดังนี้ “การที่แม่ดูแลเอาใจใส่ในความต้องการของเด็กอย่างสมบูรณ์เป็นการนำให้เด็กเรียนรู้ที่จะไว้วางใจแม่ไว้วางใจตัวเอง และไว้วางใจโลกในที่สุด”
รากฐานการเลียนแบบ (Roots for Identification)
ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก และความรู้สึกของแม่ที่มีต่อลูก เป็นตัวทำนายถึงลักษณะของเด็กในอนาคต เด็กจะเลียนแบบกับสิ่งที่ได้รับจากแม่ และเป็นลักษณะที่เขาจะแสดงต่อบุคคลอื่นต่อไป ซึ่งลักษณะนี้จะเห็นได้ชัดเมื่อเด็กอายุได้ 6 เดือน Erikson ได้กล่าวถึง ประสบการณ์ และการเกิดความข้องคับใจว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเลียนแบบ โดยเฉพาะความข้องคับใจ จะนำไปสู่ความรู้สึกไม่แน่ใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจเด็กจะเรียนรู้ และรับเข้าไว้ในจิตไร้สำนึก (unconscious) และแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่เปิดเผยโดยที่เด็ก ไม่เข้าใจถึงสาเหตุ และความหมายของพฤติกรรมเหล่านั้น ความจริงแล้ว Erikson ไม่ได้กล่าวเน้นถึงความเคยชิน หรือการเอาใจใส่ของแม่ที่มีต่อเด็ก แต่เขาเน้นที่อารมณ์ ทัศนคติที่แม่มีต่อเด็กแต่เขาเน้นที่อารมณ์ เจตคติที่แม่มีต่อการเลี้ยงดูเด็กจริงๆ ไม่ใช่เลี้ยงตามหน้าที่ Erikson แนะนำว่าการฝึกหัด ในวัยแรกๆ จะล้มเหลว ถ้าเป็นการฝึกที่พ่อแม่ฝึกให้เด็กแทนที่จะให้เด็กฝึกตัวเอง วิธีการที่แม่เลี้ยงดูลูกของตัวเองจะเป็นอย่างไร นั้นขึ้นอยู่กับว่าแม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างไร รวมทั้งวิธีการของพ่อ และการยอมรับสถานภาพของครอบครัวจากสังคม รวมถึงอิทธิพลของ วัฒนธรรมประเพณีด้วย
2. ขั้นพัฒนาการความรู้สึกเป็นอิสระ ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกไม่แน่ใจ และความละอาย – การรับรู้ในความสามารถ
พัฒนาการขั้นนี้อายุ 1 – 3 ขวบ ในขั้นนี้เป็นระยะที่เด็กกำลังเติบโตมากขึ้น เขาจึงค้นพบว่าเขาสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเองซึ่งถือว่า เป็นการค้นพบความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ยังมีความรู้สึกลังเลไม่แน่ใจในความสามารถ และอิสระของเขา ความไม่แน่ใจนี้ จะมีผลต่อการจะเป็นตัวของตัวเอง และทำให้ต้องคอยพึ่งพาอาศัยคนอื่นเสมอ ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในตัวเด็กในการค้นหาถึงสิทธิ และความสามารถของตัวเอง เด็กต้องการคำแนะนำ ความเห็นใจ ความเข้าใจจากผู้ใหญ่ เพื่อการค้นหาตัวเอง วัยนี้ตรงกับขั้นพัฒนาการของการฝึกขับถ่าย (anal phase)ของ Freud ในวัยนี้พัฒนาการทางกายของเด็กมีวุฒิภาวะมากขึ้น การประสานกันระหว่างกล้ามเนื้อมีการทำงานดีขึ้น เด็กสามารถยืน เดิน ถือของ หรือปล่อยของได้ เด็กพยายามค้นหาสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัวเขา เด็กสามารถควบคุมกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ทวารหนัก และกระเพาะปัสสาวะ และควบคุมระบบย่อยอาหาร เด็กสามารถกินอาหารที่แข็งขึ้น ไม่ต้องกินแต่อาหารอ่อนเหมือนช่วงที่ผ่านมา วุฒิภาวะทางกาย และความสามารถของ วุฒิภาวะทางร่างกายมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของพลังเพศ (libido) พลังเพศจะแสดงออกในรูปของ if ego และ superego ความต้องการเป็นตัวของตัวเอง หรือความต้องการพึ่งพาอาศัยผู้อื่นเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงแรงกระตุ้นของ id แรงกระตุ้นของ id นี้มีพลังมากเกินกว่าที่เด็กเล็กๆ ในวัย 1 – 3 ขวบจะจัดการให้เรียบร้อย และเหมาะสมได้ พ่อแม่จึงควรช่วยเหลือเขาด้วย อย่างไรก็ตามโดยทั่วๆ ไปแรงกระตุ้นที่เพิ่มขึ้นของ id นี้ จะเท่ากับการเจริญเติบโตของ ego เพเราะมีการพัฒนาการทางด้านการควบคุมกล้ามเนื้อ การรับรู้ ความจำ ความคิด และการปรับตัวให้เข้ากับสังคม เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ความเข้มแข็งของ ego เพิ่มมากขึ้นด้วย กระบวนการเติบโตทางร่างกายจะพัฒนาไป พร้อม ๆ กับพลัง id และ ego และจะมี superego เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กระบวนการทำงานเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และมีผลให้เด็กมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ความสำคัญของ ego การพัฒนาดังกล่าวข้างต้น Erikson เน้นความสำคัญไปที่การพัฒนา ego มากกว่า id หรือ superego ทั้งนี้ เพราะ ego เป็นตัวที่ยอมรับ และรู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า เขามีขอบเขตของความเป็นอิสระได้มากน้อยเพียงไรเมื่อเด็กมองเห็นความสามารถของตัวเอง และรู้ว่าคนอื่นมองว่าเขาเป็นอย่างไร รวมกับการรับรู้ว่าขอบเขตของอิสระของเขามีมากน้อยเพียงใดในฐานะที่อยู่กับพ่อแม่ หรืออยู่กับคนอื่นหลังจากนั้น เขาก็ค่อยๆรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นอย่างไรก็ตามความรู้สึกไว้วางใจ หรือมั่นใจในตัวเองของเด็ก อาจหมดไปได้ถ้าเขามีความรู้สึกว่ายังต้องพึ่งพาคนอื่น หรืออยู่ใต้คำสั่งของคนอื่นรวมทั้งอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งเขาจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวเขาเป็นศัตรู และมีผลทำให้เกิดความกลัว ลังเล ไม่แน่ใจ ความมั่นใจในตนเอง การแสดงพฤติกรรมเด็กมักมีความวิตกกังวลต่อผลจะเกิดขึ้น หรือผลที่เขาจะได้รับ พลังเพศ (libido) จะเป็นตัวคอยควบคุมการกระทำความคิด การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลขึ้น ความต้องการ ฯลฯ พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้มีผลต่อความคิดของเด็กทำให้มีความคิดที่ต้องควบคุมตัวเองที่จะไม่ให้เกิดความเครียด หรือความรู้สึกไม่สบายใจ และพยายามทำในสิ่งที่สังคมต้องการ การเล่น (Play) การเล่น ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในพัฒนาการขั้นนี้ เด็กจะต้องรู้ขอบเขตความสามารถของตนเอง ต้องยอมรับ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของการเล่นนี้ด้วย Erikson กล่าวว่า “ของเล่นถือเป็นโลกสมมุติเล็กๆ ที่เด็กสร้างขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง ego ของเขาเอง” เวลาเล่นอารมณ์ของเด็กจะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย และรวดเร็วซึ่งมีผลต่อการพัฒนาความรู้สึกที่ต้องการอิสระ และการเป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าเด็กได้รับการเอาใจใส่จากพ่อแม่มากเกินไปเด็กจะกลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจตัวเองไม่กล้าที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง การสร้างความสัมพันธ์ (Relationship Formation) เด็กในวัยนี้ความต้องการความช่วยเหลือจากแม่ลดน้อยลง เด็กพยายามที่จะช่วยตัวเอง ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น รับประทานอาหาร แต่งตัว หยิบจับสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ความรู้สึกต้องการเป็นตัวของตัวเองนี้จะพัฒนาได้มั่นคง หรือไม่ขึ้นอยู่กับเขาสามารถแสดงความสามารถของเขาออกมาได้มากน้อยแค่ไหน และเป็นที่ยอมรับจากพ่อแม่ และบุคคลรอบข้าง หรือไม่ การรู้จักให้ และรับ (give and take) ระหว่างพ่อ แม่ ลูก จะช่วยให้เด็กรู้สึกพึ่งพาตัวเองได้ และที่สำคัญก็คือพ่อแม่ควรรู้ขอบเขตของการให้แก่ลูก เด็กจะเชื่อฟังก็ต่อเมื่อเขาเข้าใจในขอบเขตว่าสิ่งใดที่เขาสามารถกระทำได้ ในทางตรงกันข้ามแล้วเขาไม่รู้ว่าเขาสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เพเพียงไร ถ้าทำลงไปแล้วถูกขัดขวางจะยิ่งทำให้เด็กเกิดความสับสนไม่แน่ใจยิ่งขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นจุดสำคัญที่จะเริ่มต้นเด็กให้เป็นคนที่สามารถช่วยตัวเอง และควบคุมตัวเองได้ หรือเกิดความลังเลไม่แน่ใจ และละอายในการกระทำสิ่งต่างๆ ความรู้สึกสงสัยไม่แน่ใจในตัวเองของเด็กเกิดจากความไม่แน่นอนในฐานะของตัวเอง เพราะเขามีความรู้สึกว่าไม่มั่นคงในจิตใจเพียงพอ หรือไม่สามารถควบคุมตัวเองให้ทำอะไรได้ทำให้เกิดความไม่แน่ใจในความสามารถว่า เขาจะช่วยเหลือตัวเองได้ หรือไม่ ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ในระยะนี้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ที่จะข่มขู่พ่อแม่เมื่อเขาต้องการอะไร หรือต้องการให้พ่อแม่ทำอะไรให้เขาเด็กจะใช้วิธีการข่มขู่โดยการลงนอนร้องดิ้น และในขณะเดียวกันเป็นระยะที่พ่อแม่ และคนใกล้ชิดคาดหวังว่าเด็กมีความสามารถเพิ่มมากขึ้น และตัวเด็กเองก็พยายามค้นหาขอบเขตของความอิสระของเขาว่ามีมากน้อยเพียงไร เด็กเรียนรู้ว่าการแสดงพฤติกรรมแบบใดกับใครจึงจะได้ในสิ่งที่ตนต้องการ
การเลียนแบบ (Identification Formation)
Erikson เสนอแนะว่าในขั้นพัฒนาการระยะที่ 2 นี้ถ้าเป็นระยะที่แม่มีลูกเพิ่มขึ้นเป็นสมาชิกใหม่ของบ้านซึ่งทำให้แม่หันมาเอาใจใส่ลูกที่เกิดใหม่มากขึ้น ทำให้พี่เกิดความริษยา น้องใหม่ได้ และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เด็กต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการเป็นอิสระ และไม่ต้องการพึ่งพาผู้อื่น อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการเลียนแบบ สิ่งแวดล้อมของเด็กมีผลต่อความคิด ความรู้สึกทำให้พฤติกรรมของเด็กแสดงออกมาในทางที่ดี หรือไม่ดีก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางวัฒนธรรม ระเบียบประเพณี และกระบวนการของสังคมประกิตที่กำหนดแบบอย่างของการปฏิบัติให้แก่เด็ก ถ้าสังคมใดขาดแบบแผนที่จะเป็นแบบอย่างจะนำไปสู่การพัฒนาความรู้สึกสับสน และละอายของเด็กด้วย
3. ขั้นพัฒนาการความรู้สึกของความคิดริเริ่มซึ่งทำให้ผ่านพ้นความรู้สึกผิด-การตั้งจุดมุ่งหมาย
ขั้นนี้อายุ 3 – 5 ปี เด็กวัยร่างกายมีความสามารถ และช่วยตัวเองได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด ความคิดริเร่อมสร้างสรรค์พัฒนาขึ้น เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ท้าทายความสามารถของเขา สิ่งแวดล้อมมีส่วนผลักดันให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ คือ ความสามารถภายใน ตัวเด็กเอง ของเล่น สัตว์เลี้ยง รวมถึงญาติพี่น้องด้วย เด็กวัยนี้ชอบพูด และตั้งคำถาม เด็กช่างซักถาม ช่างสงสัย และจินตนาการความคิดต่างๆ ขึ้นมา ในขณะที่กำลังทำกิจกรรมนั้นๆ อยู่ เด็กที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเองจะมีความคิดคัดค้าน หรือความรู้สึกผิดเกิดขึ้น เนื่องจากเขาไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จดังใจ เป็นความรู้สึกที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาความรู้สึกไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจผู้อื่นในขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูนั่นเอง เด็กเกิดความรู้สึกผิดขึ้นเนื่องจากความสามารถของเขาถูกลิดรอน หรือขัดขวาง ความคิดริเริ่ม หรือความรู้สึกผิดจะเกิดสะสมในตัวเด็ก ในระยะนี้องค์ประกอบสำคัญของการสร้างความรู้สึกของความคิดริเริ่ม และทำให้ผ่านพ้นความรู้สึกผิด มีดังนี้ วุฒิภาวะ (Maturity) การเลียนแบบ (Identification Formation) ปม (Oedipus Complex) รูปแบบของมนุษย์ (Human Modalities) การเล่น (Play) การสร้างความสัมพันธ์ (Relationship Formation) และวุฒิภาวะ (Maturity)
Erikson สนับสนุนในด้านที่ว่าเด็กจะทำสิ่งใดๆ ให้ดีขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของตัวเด็กเองด้วย เช่น ความสามารถด้านการพูด การจับสิ่งของต่างๆ เป็นต้น เด็กวัยนี้สามารถเดิน วิ่ง กระโดดโลดเต้นได้ เด็กจะมีทัศนคติไปในทางที่ดี ถ้าเขาได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเขาอย่างมีอิสระได้ใช้ความคิด และพลังงานของเขา เพื่อสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม เด็กต้องการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้ใหญ่ส่วนมากไม่ชอบ ในขณะเดียวกันเด็กก็มีคำถามอยู่ตลอดเวลา เด็กมีความสามารถ ทางภาษา และใช้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม เด็กต้องการรู้ในสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ผู้ใหญ่ควรปล่อยให้เด็กได้ใช้ภาษา และทำกิจกรรมต่างๆ อย่างอิสระภายในขอบเขต ความสามารถของเขา และตามจินตนาการของ เด็กเอง กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้มี id เป็นตัวกระตุ้นอยู่ภายใน Erikson กล่าวว่า id จะแสดงพลัง เพื่อสนอง ความต้องการของตนตลอดเวลา ถ้า ego ถูกสร้างขึ้นมาแข็งพอเพียงก็จะพยายามควบคุม id ให้แสดงออกมาในรูปแบบที่เหมาะสม พร้อมกันนั้นจะมีการสร้าง superego ขึ้นมาในตัวของเด็กเองด้วย id ego และ superego เป็นกระบวนการที่ถูกสร้าง และขัดเกลาให้เหมาะสม จากครอบครัวของเด็ก และขนบธรรมเนียมประเพณี
การเลียนแบบ (Identification Formation)
ครอบครัวของเด็กจะเป็นแหล่งชี้แนะถึงสิ่งต่างๆ ในสังคมให้แก่เด็ก เด็กจะเริ่มสร้างบุคลิกภาพ และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจากการได้ปะทะสังสรรค์กับ สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา superego ถูกสร้างขึ้นโดยการอบรมสั่งสอนจากครอบครัว และค่อยๆ สะสมซึมซาบเข้าไปเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในตัวเด็กเอง ความรู้สึกนี้ถูกสะสมมาจากตัวแบบในครอบครัว (stereo-type) โดยตัวแบบบอกให้เขารู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ดังนั้นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจึงถูกสร้างขึ้นจาก superego ในครอบครัวนั้นๆ ซึ่งรวมถึงแนวความคิด ค่านิยมของสังคมอีกด้วย เด็กจะพิจารณาสถานการณ์ใดๆ โดยมี superego ของครอบครัว เขาเป็นมาตรฐานในการตัดสิน และการคิดพิจารณาสิ่งใดๆ รอบตัวของเด็กก็ใช้บุคลิกภาพของเขา ระเบียบประเพณี และวัฒนธรรมในสังคมเป็นแนวทาง ในการพิจารณาด้วย ดังนั้นในการปลูกฝังความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้แก่เด็กครอบครัวจึงมีบทบาทอย่างยิ่ง
ปม (Oedipus complex)
พัฒนาการขั้นที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างอายุ 3 – 5 ปี ทัศนะของ Erikson ก็เช่นเดียวกับ Freud คือเข้าสู่ระยะ Oedipus complex ซึ่งเป็นกระบวนการของ ความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก และครอบครัวของเขา Erikson และ Freud เห็นพ้องต้องกันว่าปม Oedipus complex จะมีผลต่อพัฒนาการบุคลิกภาพในขั้นต่อๆ ไป การผ่านผมนี้ไปได้แสดงถึงความสามารถแก่เขาเพียงไร เด็กเริ่มมีความรู้เกี่ยวกับเพศ เช่น รู้ถึงความแตกต่างระหว่างเพศ กระบวนการพัฒนาทางเพศในระยะนี้ ก็เป็นไปเช่นเดียวกับที่ Freud กล่าวไว้ในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ คือ เด็กชายจะรัก และต้องการเป็นเจ้าของแม่แต่เพียงผู้เดียว เด็กหญิงก็รัก และต้องการเป็นเจ้าของพ่อแต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน ความรู้สึกรัก และต้องการเป็นเจ้าของดังกล่าว ทำให้เกิดความรู้สึกเกลียด และไม่คุ้นเคยห่างเหินกับพ่อ-แม่ที่เป็นเพศเดียวกับตน ในขณะเดียวกันก็เกิดความกลัวว่าพ่อ-แม่ที่เป็นเพศเดียวกับตน จะล่วงรู้ถึงความรู้สึกนี้จึง พยายามเลียนแบบ (identification) บุคลิกภาพของพ่อ-แม่ที่มีเพศเดียวกัน เพื่อให้พ่อ-แม่ที่เป็นเพศตรงข้ามกับตนพอใจ จุดนี้มีผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรม ตามบทบาท ทางเพศของตน นอกจากนี้ในระยะ Oedipus complex ทั้งเด็กหญิง และเด็กชายจะสนใจอวัยวะเพศ และพบว่าเด็กหญิงนั้นไม่มีอวัยวะเพศเหมือนเด็กชาย คือไม่มี penis ซึ่งทำให้ทั้งเด็กหญิง และเด็กชายคิดว่า คงจะเกิดบางสิ่งบางอย่างกับอวัยวะเพศของเด็กหญิง และมันอาจ เกิดขึ้นกับเด็กชายบ้างก็ได้ ความกลัวนี้ก่อให้เกิดความไม่แน่ใจ และแสดงออกถึงความกลัวทุกอย่าง หรือการเกิดจินตนาการในสิ่งที่ผิดๆ ที่หาอธิบายไม่ได้
รูปแบบของมนุษย์ (Human Modalities)
รูปแบบพัฒนาการในขั้นความคิดริเริ่ม และความรู้สึกผิดจะแตกต่างกันในแต่ละเพศ ในระยะแรกๆ ของขั้นนี้ เด็กจะมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความกระตือรือร้น และมีความก้าวร้าว อย่างอ่อนๆ เพื่อจะเอาชนะ ในที่สุดจะพัฒนาเป็นบุคลิกภาพที่แสดงถึงความเป็นชาย และหญิงอย่างเห็นได้ชัด Erikson และ Freud พัฒนาการขั้นนี้เป็นระยะของการพัฒนาทางด้านเพศ
รูปแบบพฤติกรรมของเด็กชาย เด็กชายจะชอบกระโดดโลดเต้น ต้องการมีความรู้ใหม่ๆ และชอบยุ่งเรื่องของคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความอยากรู้อยากเห็น เกี่ยวกับเพศโดยแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การไม่อยู่นิ่ง การกระวนกระวาย การจู่โจมถึงตัวบุคคล ความอยากรู้ อยากเห็น พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นธรรมชาติของเด็ก สภาพแวดล้อมของครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อการแสดงออกของเด็กเป็นอย่างมาก เมื่อเด็กผ่านช่วงนี้ไปความสนใจ เรื่องเพศ จะเปลี่ยนจากความสนใจในบุคคลอื่นเป็นการค้นหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
สำหรับเด็กหญิง รูปแบบที่แสดงออกมาจะเริ่มต้นคล้ายกับหญิงสาวทั่วไป เช่น มีเสน่ห์ น่ารัก มีทีท่าเขินขวย เย้ายวน จนถึงขั้นที่แสดงออกถึง ความสงบเสงี่ยม ซึ่งเป็นลักษณะของสาวๆ ทั้งนี้ทั้งหมดนี้เป็นการเริ่มต้นที่แสดงออกถึงเพศแม่ เด็กหญิงเริ่มมีบทบทของความเป็นแม่ต่อไป ในรูปของท่วงทีการพูดคุย การแสดงออกต่างๆ ในสังคมจะสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมต่างๆ รวมถึงอุปนิสัยส่วนลึกที่จะยอมรับใครเข้ามาร่วมเกี่ยวข้องด้วย
การเล่น (Play) ทั้งเด็กชาย และเด็กหญิงจะค้นพบวิธีการแก้ความขัดแย้งของตนแตกต่างกัน
ออกไป การเล่นเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่เขานำมาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ลักษณะการเล่นที่สำคัญของเด็กวัยนี้ คือ การเล่นคนเดียว แต่ในบางขณะ เด็กก็ต้องการ เพื่อนเล่น เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ของเล่นของเด็กจะมีส่วนในการสร้างสมประสบการณ์ให้แก่เด็กในเวลาต่อมา การเล่นร่วมกับ เพื่อนเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กรู้จักแก้ปัญหาต่างๆได้ อย่างไรก็ตามเด็กบางคนเกิดความรู้สึกผิดในการเล่นของตน เพราะบ่อยครั้งที่เด็กถูกห้ามเล่น ในสิ่งที่ต้องห้าม และมักจะเป็นการเล่นที่เขาสนุก และชอบมาก ซึ่งการเล่นดังกล่าวนี้นำไปสู่ความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดีในเวลาต่อไป
การสร้างความสัมพันธ์ (Relationship Formation)
เด็กในระยะนี้ ต้องการตัวแบบจากบุคคลภายนอกครอบครัว เพื่อให้ได้ประสบการณ์จากผู้อื่น สำหรับระยะนี้ต้องการตัวแบบจากบุคคลภายนอกครอบครัว เพื่อให้ได้ประสบการณ์จากผู้อื่น สำหรับการพัฒนาบุคลิกภาพของตน เด็กจะเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างตัวเอง และตัวแบบที่ได้พบเห็น เขาจะมีความรู้สึกว่าทำไมพ่อแม่ทำอะไรๆ ได้ในขณะที่ตัวเขาเองถูกห้ามอยู่เสมอ ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกต้องการเอาชนะ เด็กจะมีความสงสัยในสิ่งต่างๆ และตื่นเต้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมรอบตัวเขา เขาต้องการรู้ทุกๆ สิ่งในโลกกว้างของเขา ความอยากรู้อยากเห็นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมศึกษาเป็นสถาบันที่ 2 ของเด็ก ควบคู่ไปกับครอบครัวที่จะสอนให้เด็กได้รับการเรียนรู้ และสร้างระดับของความอยากรู้อยากเห็น พฤติกรรมที่ท้าทาย และก้าวร้าวต่างๆ จะแตกต่างกันไปตามอายุ เพศ และระดับชั้นในสังคมของเด็ก
Erikson ได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงดูเบื้องต้นกับระบบสังคมเศรษฐกิจในชุมชน เขาเสนอว่าความสามารถของบุคคลที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ ต่างๆนั้น ขึ้นอยู่กับการพัฒนาในช่วงระยะเวลาเหล่านั้น จากการสังเกตพบว่า เด็กจะเจริญเติบโตไปอย่างช้าๆ ในลักษณะบูรณาการกันระหว่างการเจริญเติบโต ทางร่างกาย และจิตใจ เช่น เด็กเล็กๆ ค่อยๆ เริ่มเป็นตัวของตัวเอง โอกาส และบทบาทที่ได้แสดงออกจะทำให้เด็กมีความรู้สึกในด้านการรับผิดชอบตัวเอง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กจะรู้สึกสนุกสนานในความสามารถของตนเองที่ได้เล่นของเล่นที่ยากๆ ใช้ความคิด หรือมีเครื่องมือต่างๆ ที่ต้องใช้การควบคุมด้วยตนเอง และรับผิดชอบต่อตัวเอง หรือต่อเด็กที่อายุน้อยกว่า การสร้างความสัมพันธ์ในระยะนี้จะเริ่มด้วยความสัมพันธ์ระหว่างแม่-เด็กต่อมาก็มีพ่อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเมื่อสังคมของเด็กกว้างขวางขึ้นเด็กก็เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเองเด็กที่มีประสบการณ์มาก ก็จะสามารถช่วยเหลือ ตัวเองได้มากเด็กที่ไม่สามารถพัฒนา ผ่านความคิดริเริ่มไปได้จะเกิดความรู้สึกสับสนขึ้นในใจเกิดคำถามขึ้นว่า “ตัวเองเป็นใคร ?” และ “คนอื่นเป็นใคร?” พัฒนาการของเด็กจึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งเด็ก พ่อแม่ และชุมชน การได้มีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน หรือการมีประชาสัมพันธ์ (interaction) กันในสังคมจะเป็นการช่วยถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดเจตคติค่านิยมของสังคมให้แก่เด็กได้ทีละน้อย โดยมีผู้ใหญ่ช่วยกันประคับประคองให้เด็กพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ได้
4. ขั้นพัฒนาการความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และขจัดความรู้สึกเป็นปมด้อย-ความสามารถเกิดขึ้น
ขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุอายุ 6–12 ปี ช่วงวัยเด็กตอนปลายเป็นระยะที่เด็กมีความเจริญเติบโต และมีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากขึ้น การเสาะ แสวงหา สิ่งต่างๆ ทำให้เด็กมีประสบการณ์ใหม่ๆ มากมาย เขาคิดว่าสิ่งใดที่เขาต้องการเขาจะต้องแสวงหาให้ได้ตาม ความปรารถนา เนื่องจากในวัยเด็ก ที่ผ่านมาเขารู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถกระทำสิ่งใดๆด้วยตนเอง เพราะมีผู้ใหญ่คอยบังคับ และควบคุม ดังนั้นเมื่อถึงระยะนี้เด็กจึงต้องการที่จะแสดงความคิดเห็น และแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อแสดงความเป็นผู้ใหญ่ จุดสำคัญของพัฒนาการระยะนี้ คือ การแสดงออกว่าเขาโตแล้ว การสะท้อนกลับของกิจกรรมต่างๆ ที่เขาได้กระทำไปจะทำให้เขารู้สึกว่าประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว ความรู้สึกล้มเหลวทำให้เขามองตัวเองว่ายังเป็นเด็กอยู่ซึ่งทำให้เกิด ปมด้อย แต่ถ้ารู้สึกว่าประสบความสำเร็จย่อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจเห็นความสำคัญของตนเอง และเห็นความสามารถของตนกับกลุ่ม เพื่อนวัยเดียวกัน ทำให้เกิด กำลังใจที่จะปรับปรุงตัวเองให้ ดีขึ้น ระยะนี้สังคมควรช่วยชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิต เพราะเป็นระยะที่เด็กเริ่มไตร่ตรองถึงอนาคต การที่ได้พิสูจน์ว่ามีความสามารถในการกระทำต่างๆ ในขอบเขตของเขาทำให้เด็กในวัยนี้มีความเชื่อมั่นว่าเขาจะประสบความสำเร็จในอนาคต
องค์ประกอบสำคัญของการสร้างความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และขจัดความรู้สึกเป็น ปมด้อยคือ การเลียนแบบ (Identification Formation) และความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็ก (Parent Relationship) ดังจะอธิบาย คือ
1. การเลียนแบบ (Identification Formation)
เด็กจะมีการแสวงหาแบบอย่างต่อไป และแตกต่างไปตามเพศ และทั้งเด็กหญิง และเด็กชายพบว่าสมควรที่จะสนใจกิจกรรมทั้ง 2 เพศ แทนที่จะไปมุ่งสนใจ กิจกรรมเฉพาะเพศของตน สิ่งสำคัญของการทำกิจกรรมต่างๆ คือ ความรู้สึกที่สะท้อนออกมาว่าเป็นการแข่งขัน หรือการต่อสู้ เด็กต้องการเปรียบเทียบ หรือวัดคุณค่า และความถนัดของตนเอง เด็กจะสนใจในสิ่งต่างๆ แล้วพยายามดัดแปลงให้มาสู่แบบฉบับของเขา ความสามารถในการเลียนแบบ จะปรากฏออกมาในรูปของ “การเรียนรู้ภายในขอบเขตของตัวเองโดยมีรากฐานมาจากวัฒนธรรม และสังคม”
2. ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็ก (Parent Relationship)
ความสัมพันธ์นี้เป็นพื้นฐานสำคัญ เด็กตระหนักว่าในไม่ช้า เขาก็ต้องแยกตัวออกไปมีครอบครัวใหม่ เด็กจะมองเห็นว่าพ่อแม่เป็นตัวแทนของสังคม เป็นแบบอย่างแก่เขา แต่เขาก็ต้องการตัวแบบอื่นๆ เพื่อการเปรียบเทียบด้วย เช่น เพื่อนของพ่อแม่ และพ่อแม่ของ เพื่อนเป็นบุคคลสำคัญที่ใหม่สำหรับเขา นอกจากนี้ เพื่อนบ้าน เพื่อนในโรงเรียน เป็นสิ่งสำคัญทางสังคมที่เขาจะพิจารณา และคนแปลกหน้ากลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเขา เด็กหญิง และเด็กชายจะแสวงหาผู้ใหญ่ และบุคคลอื่นๆ เพื่อการวิเคราะห์ เขาคิดว่าพ่อแม่ยังไม่สมบูรณ์พอที่เขาจะเลียนแบบได้ครบทุกด้าน ในโลกของเด็กมีการสมมุติตำแหน่งต่างๆ ที่สำคัญเหมือนผู้ใหญ่ เด็กมีความนับถือตนเองเป็นเกณฑ์ เพื่อวัดความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของตน เด็กจะแสวงหาตัวแบบจากครอบครัวที่มีลักษณะพิเศษออกไป ทางด้านการปรับตัวของเด็กในสังคม เด็กจะมีการยอมรับตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้โรงเรียน กลุ่ม เพื่อนรุ่นเดียวกัน ศาสนามีส่วนช่วยสนับสนุนการปรับตัวของเด็กได้เป็นอย่างดี เด็กเริ่มเปลี่ยนความผูกพันจากครอบครัวไปสู่สถาบันอื่นในสังคม
Erikson เน้นว่า ความรู้สึก และนิสัยในการทำงานของแต่ละคนขึ้นอยู่กับการมีความรู้สึกอุตสาหะขยันหมั่นเพียร ซึ่งกำลังพัฒนาในช่วงนี้วัฒนธรรมเป็น สิ่งที่มีอิทธิพล ต่อการปรับปรุง ความถนัด ความสามารถของตัวเอง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ สังคมที่กว้างขึ้นทำให้เด็กได้รับการยอมรับ ได้เข้าใจหน้าที่ของตนเองมากขึ้น ในวัยนี้เป็นวัยสำคัญที่จะเตรียมตัวเด็กให้รู้จักเสียสละ เพื่อสังคม และ เพื่อครอบครัวของเขาเอง ในการแสวงหา หรือการพัฒนาความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และขจัดความรู้สึกเป็นปมด้อย ขอบเขตความสามารถของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ และพัฒนาการระยะนี้จะมีผลต่อระยะวัยรุ่น โดยทั่วไปเด็กวัยรุ่นมักชอบทำกิจกรรมต่างๆ เกินความสามารถของตัวเองทำให้เกิดความกลัวความผิดพลาด หรือความล้มเหลวซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เขาพยายามทำกิจกรรมนั้นๆ ให้สำเร็จ เด็กวัยรุ่นจะพยายามเอาชนะ เพื่อความสำเร็จซึ่งเป็นแนวทางไปสู่ ความเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กล่าวได้ว่าเด็กวัยรุ่นมีพลังอย่างเพียบพร้อมที่จะปรับตัว เพื่อความสำเร็จในการทำงาน
5. ขั้นพัฒนาการความรู้สึกในความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และผ่านพ้นความรู้สึกสับสนในตนเองไปได้ – รับรู้ตามความจริง
ในขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 13–17 ปี องค์ประกอบสำคัญของการสร้างความรู้สึกเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และผ่านพ้นความรู้สึกสับสนในตนเอง มีดังนี้
การเข้าใจในเอกลักษณ์ของตนเองช่วยให้เด็กวัยรุ่นเกิดความเข้าใจในปัญหาต่างๆ และช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคต เช่น การเลือกอาชีพ การเลือกคู่ครอง เป็นต้น ความรับผิดชอบถือว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของวัยนี้ ซึ่งความรับผิดชอบนี้มีรากฐานมาจากการอบรมของพ่อแม่ และความรู้สึกไว้วางใจ และความมั่นใจในตนเอง ในวัยนี้เด็กวัยรุ่นจะเกิดความคิดสงสัยในตัวเอง เช่น เกิดปัญหาถามตนเองว่า “ฉันคือใคร?” หรือ “ฉันจะทำอะไรดี?” เนื่องจากระยะวัยรุ่นเป็นระยะที่มีความรู้สึกสับสน ขาดความมั่นใจ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ เพื่อเตรียมเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ปัญหาของเด็กวัยนี้มักเป็นไปในทำนองที่ว่า “ฉันไม่รู้ว่าฉันควรจะทำอะไร ฉันไม่รู้ว่าฉันจะไปทางไหน และฉันไม่รู้ว่าฉันเป็นใคร” ดังนั้น กลุ่ม เพื่อนวัยเดียวกัน การยอมรับจากกลุ่มศาสนา และวัฒนธรรม จึงมีผลต่อการปรับตัวอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามกระบวนการทำงานของ id และ ego ยังพัฒนาต่อไปซึ่งช่วยให้เด็กวัยรุ่นสามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้
การแสวงหาสถานภาพทางสังคม (Acquisition of Social Status)
เด็กวัยรุ่นจะค่อยๆ พัฒนาความเป็นตัวของตัวเองขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อพัฒนาเป็นระดับมาตรฐานของตัวเอง เขาจะแสวงหาตนตามอุดมคติ (ego – ideal) และค้นหาเอกลักษณ์ของตัวเอง เพื่อบทบาทใหม่ในสังคม Erikson กล่าวว่ามีเด็กวัยรุ่นตอนปลายอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เป็น ตัวของตัวเอง และยังไม่พบเอกลักษณ์ในตัวเอง ซึ่งวัยรุ่นเหล่านี้เมื่อมีปัญหาจะแก้ปัญหาแบบ “หนีเสือปะจระเข้” หรือหลบหนีจากปัญหานั้นไป อย่างไรก็ตามวัยรุ่นแต่ละคนย่อมต้องการเวลาในการปรับตัวเอง เพื่อการเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ และให้สังคมยอมรับซึ่ง Erikson ได้เสนอ แนวทางการปรับตัวไว้ ดังนี้
การปรับตัวของเด็กวัยรุ่น ช่วงวัยรุ่น Erikson เสนอว่ามีขั้นตอนในการปรับตัวที่สำคัญ มี 7 ขั้น ในแต่ละขั้นถ้าไม่สามารถปรับตัวได้ย่อม ทำให้เกิดความล้มเหลว ในเรื่องนั้นๆ การปรับตัวทั้ง 7 ขั้น มีดังนี้
สัดส่วนของเวลาตรงข้ามกับความสับสนของเวลา (Time Perspective VS Time Diffusion) หมายถึง เด็กวัยรุ่นต้องการเวลาที่เหมาะสม เพื่อการเตรียมตัว และการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ความมั่นใจในตนเองตรงข้ามกับความเฉยเมย ท้อแท้ (Self-certainty VS Apathy) ความมั่นใจในตนเอง หมายถึง การแสวงหาเอกลักษณ์ของตนเองอย่างถูกต้อง มีความสนใจเกี่ยวกับตนเอง และความคิดของคนอื่นที่มีต่อคน
การตรวจสอบบทบาทตรงข้ามกับการมีเอกลักษณ์ที่ไม่ถูกต้อง (Role Experimentation VS Negative Identity) ในวัยเด็กจะมีการแสวงหาบทบาทต่างๆ มากมายหลายชนิด ส่วนเด็กวัยรุ่นจะคัดเลือกเฉพาะบทบาทที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด วัยรุ่นอาจจะทดลอง หรือตรวจสอบหลายๆ บทบาทที่ตนเองพอใจ
การคาดการณ์ล่วงหน้าในผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับความชะงักงันในการงาน (Anticipation of Achievement VS Work Paralysis) การทำงานใด ๆ เด็กวัยรุ่นมีความต้องการที่จะให้งานนั้นประสบความสำเร็จ หรือเสร็จลงด้วยดี ดังนั้นก่อนที่เขาจะลงมือกระทำงาน เขาจะคาดการณ์ล่วงหน้าในผลสำเร็จ ที่เกิดขึ้น การคาดหมายว่างานจะประสบผลสำเร็จเป็นแรงกระตุ้นให้เขาเกิดความพึงพอใจมีความสนใจ และมีความเพียรพยายาม เพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นๆ การคาดการณ์ล่วงหน้าในผลสัมฤทธิ์จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะพัฒนาความมั่นใจในตัวเอง และความเป็นตัวของตัวเอง
เอกลักษณ์ทางเพศตรงข้ามกับความสับสนทางเพศ (Sexual Identity VS Bisexual Diffusion) วัยรุ่นต้องการประสบการณ์ที่จะทำให้เขารู้ใน บทบาททางเพศ ของตนเอง และต้องการที่จะแสดงลักษณะ และบทบาททางเพศของตนให้ถูกต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะเป็น เพื่อนกับเพศตรงข้าม
ความเป็นผู้นำตรงข้ามกับความสับสนในอำนาจ (Leadership Polarization VS Authority Diffusion) ความสามารถของวัยรุ่นในการเป็นผู้นำ หรือเป็นผู้ตามเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน และสถานภาพทั้ง 2 ลักษณะนี้เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงอำนาจของตัวเองในสังคม เด็กวัยรุ่นควรได้รับการฝึกให้เป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นใจในตนเองซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เขาพัฒนาความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้น
อุดมคติตรงข้ามกับความสับสนในอุดมคติ (Ideological Polarization VS Diffusion of Ideals) วัยรุ่นจะเลือกปรัชญา หรือมีอุดมคติเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งจะนำทางให้เขาอยู่ใน สังคมได้ นอกจากนี้การมีอุดมคติ และมีปรัชญาชีวิตจะช่วยให้เขาไปสู่ความมีเอกลักษณ์ของตนเอง เขาจะมีแนวทางชีวิตของเขาว่า เขาจะเป็นอะไรต่อไป เมื่อมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องกับอุดมคติของเขา ๆ ก็จะไม่ยอมรับ หรือต่อต้านกับสิ่งเหล่านี้
ขั้นตอนทั้ง 7 ขั้นดังกล่าวข้างต้นนี้ จะมีผลต่อพัฒนาการความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และมีประโยชน์ต่อตัวเขาเองโดยตรง เป็นการได้เผชิญกับ สถานการณ์ต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้เปรียบเทียบสังคมของผู้ใหญ่กับตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทำให้เกิดความพร้อม ถ้าวัยรุ่นไม่พร้อม หรือปรับตัวไม่ได้ หรือประสบความล้มเหลว จะเกิดความรู้สึกที่รุนแรง และมีผลต่อบุคลิกภาพ การได้พูด หรือได้แสดงความคิดเห็นต่อหน้าคนหมู่มากนับว่าเป็นประโยชน์เป็นการแสวงหาเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นวัยรุ่นจะคัดเลือกผู้ใหญ่ ที่เขาเห็นว่า มีความสำคัญในสายตาของเขาซึ่งไม่ใช่พ่อแม่ มาเป็นบุคคลที่มีความหมาย และเป็นทีไว้วางใจของเขา วัยรุ่นจะมองคุณค่าของวัฒนธรรม ศาสนา และอุดมคติว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม และเป็นสิ่งที่สนับสนุนส่งเสริมพัฒนาการ และการค้นหาเอกลักษณ์ของเขา
6. ขั้นพัฒนาการความรู้สึกสัมพันธภาพ และเป็นมิตรกับบุคคลอื่นโดยเฉพาะ เพื่อนต่างเพศ และหลีกเลี่ยงความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง
ขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 18 – 21 ปี หลังจากผ่านขั้นที่ 5 มาแล้ว สามารถหาเอกลักษณ์ของตนได้ รู้ว่าตนเองคือใคร มีความเชื่ออย่างไร ต้องการอะไรในชีวิต เขาก็จะเกิดความรู้สึกต้องการมี เพื่อนสนิทที่จะรับรู้รับฟังสิ่งต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่ ต้องการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนมีอยู่กับผู้อื่น ความรู้สึกผูกพันกับผู้อื่นจึงพัฒนาขึ้น แต่ถ้าบุคคลไม่สามารถสร้างความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับบุคคลอื่นได้ มีความต้องการแข่งขันชิงดีชิงเด่น หรือชอบทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น ก็จะนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง
การเลือกคู่ครอง เมื่อชีวิตความเป็นเด็ก และความเยาว์วัยสิ้นสุดลง เขาก็จะเริ่มชีวิตของการเป็นสมาชิกของสังคมอย่างเต็มที่ เริ่มใช้ชีวิตอย่างอิสรเสรี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนในสังคม Erikson กล่าวว่า ความสมบูรณ์ของจิตใจผู้ใหญ่คือการได้รับการยอมรับ มีความเจริญเติบโต มีอาชีพที่เหมาะสม มีการสมาคมกับเพศตรงข้าม เพื่อการเลือกคู่ครองต่อไป การปรับตัวของผู้ใหญ่ในวัยนี้ คือ การเลือกคู่ครอง และการมีหน้าที่การงานที่เหมาะสม การเข้ากันได้กับ เพื่อนร่วมงาน การปรับตัวต่อสิ่งดังกล่าวทำให้เกิดความรู้สึกต่อสังคม ถ้าสังคมทำให้เกิดความรู้สึกว่างเปล่าสูญเสีย บุคคลก็จะแยกตัวออกไปจากสังคมแยกไปจากครอบครัว และมีผลกระทบไปถึงความสามารถของการเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ “งาน และความรัก”เป็นสิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการวางบุคลิกภาพ หรือไม่ นอกจากนั้นในระยะนี้ยังแสวงหาความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความเห็นอกเห็นใจจากคู่ครอง
7. ขั้นพัฒนาการความรู้สึกที่จะเป็นผู้ให้กำเนิด และสร้างสรรค์สังคม และหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่คำนึงถึงแต่ตนเอง – การเอาใจใส่ดูแลเกิดขึ้น
ขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 22 – 40 ปี วัยกลางคน เป็นวัยที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ถ้าพัฒนาการของบุคคลในขั้นต้นๆ เป็นไปด้วยดี รู้ว่าตนเองมีเอกลักษณ์อย่างไร มีความต้องการอย่างไรในชีวิตตลอดจนสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น และเมื่อมาถึงขั้นนี้ก็พร้อมที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคม มีความรู้สึกต้องการมีบุตรสืบไปภายหน้า
ความต้องการบุตร Erikson กล่าวว่าเมื่อบุคคลถึงระยะนี้จะต้องการมีบุตรไว้สืบสกุล การที่จะมีบุตรซึ่งถือเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัว จะต้องมาจากรากฐาน ของความรัก และความไว้วางใจซึ่งกัน และกันของสามีภรรยา มีการตระเตรียมสิ่งแวดล้อมจำเป็นสำหรับบุตรที่จะเกิดมา บุตรที่เกิดมานี้จะต้องได้รับ การยอมรับจากทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งสามี และภรรยา ในการเลี้ยงดูบุตรจะต้องเอาใจใส่ และให้ความรักอย่างพอเพียง พ่อแม่ไม่ควรปล่อยเด็กแล้วมุ่งสนใจ แต่งานเพียง อย่างเดียว ความรู้สึกของการให้กำเนิดจะรวมถึงความรับผิดชอบของพ่อแม่ต่อสังคม เช่น การเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ให้การศึกษา อบรมสั่งสอน ผู้ใหญ่ในวัยนี้ต้องเป็นหลักประกัน และมีความรับผิดชอบ เพื่อให้เป็นที่วางใจของลูกหลานต่อไปสิ่งสำคัญ อีกประการหนึ่ง ของพัฒนาการขั้นนี้ คือ บุคคลยังต้องมีความเกี่ยวข้องกับสังคม มีความสนใจสังคม ความรู้สึกที่มีต่อสังคมนั้นจะเข้ามารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชีวิตส่วนตัว บุคคลที่ไม่พัฒนามาถึงขั้นนี้ย่อมเกิดความรู้สึกท้อถอยเหนื่อยหน่ายในชีวิตคิดถึงแต่ตนเอง และไม่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม
8. ขั้นพัฒนาการความรู้สึกมั่นคงสมบูรณ์ในชีวิต และหลีกเลี่ยงความรู้สึกสิ้นหวังท้อถอยในชีวิต – รู้จักชีวิต
ขั้นนี้อยู่ในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป พัฒนาการในขั้นสุดท้ายนี้ มีพื้นฐานมาจากการปรับตัวในขั้นแรกๆ ของชีวิต วัยนี้จะมีการปรับตัวแสวงหาความอบอุ่นมั่นคง ภายในจิตใจ ซึ่งจะเกิดขึ้น เมื่อเขาสามารถพัฒนาผ่านขั้นต่างๆมาได้อย่างดี แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเขาปรับตัวในขั้นต่างๆ ที่ผ่านมาไม่ได้จะเกิด ความรู้สึกท้อแท้ และเหนื่อยหน่ายต่อชีวิตของตัวเอง วัยชราเป็นวัยสุดท้ายของชีวิต บุคคลควรมีความพึงพอใจในชีวิต รู้จักหาความสุข ความสงบในจิตใจ พอใจกับการมีชีวิตของตนในวัยชราไม่รู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมา สามารถยอมรับสภาพความจริง ยอมรับความเป็นอยู่ของตนในปัจจุบัน Erikson กล่าวว่า “เด็กที่มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกาย และใจ จะไม่หวาดกลัวต่อชีวิต และถ้าพ่อแม่ให้ความมั่นคงแก่เขาเพียงพอเขาก็จะไม่กลัวความตาย”
หลักการสำคัญของทฤษฎีจิตสังคม ในการเสนอพัฒนาการของมนุษย์ดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ Erikson กล่าวว่า เขาไม่ได้สร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมาด้วย ตัวของเขาเอง แต่เขาได้ขยายความคิดของ Freud ให้กว้างขวางออกไป และให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน Erikson ได้อธิบายถึงบุคลิกภาพจาก พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ Freud เขาเรียกงานของ Freud เป็นงานที่แข็งแกร่ง (rock) เพราะเป็นการวางรากฐานเกี่ยวกับทฤษฎีบุคลิกภาพ
ความแตกต่างในความคิดระหว่าง Freud กับ Erikson การศึกษาบุคลิกภาพของนักจิตวิทยาทั้ง 2 ท่านแม้ว่าจะมีรากฐาน และโครงสร้างทางบุคลิกภาพ เหมือนกัน แต่ก็มีแนวความคิดที่แตกต่างกันหลายประการดังต่อไปนี้
Erikson ศึกษาพัฒนาการจากบุคคลที่มีบุคลิกภาพปกติ ส่วน Freud ศึกษาจากคนไข้ในคลินิกของเขาซึ่งเป็นโรคจิต และโรคประสาท
กระบวนการพัฒนาทางจิต Erikson เน้นในเรื่องจิตสังคม (psychosocial stage) แต่ Freud เน้นว่าการพัฒนาทางจิตเป็นไปตามขั้นของจิตเพศ (psychosexual stage)
ทฤษฎีของ Erikson เน้นประสบการณ์จำเป็นที่เป็นองค์ประกอบของ ego โดยพยายามศึกษาว่า ego มีจุดเริ่มต้น และพัฒนาไปอย่างไรตลอดจนหน้าที่ของ ego ซึ่งได้ปรับปรุงในลักษณะที่มีเหตุมีผลนั้นพัฒนาอย่างไร เขาไม่สนใจพลังเพศแต่ก็ไม่ลบล้างทฤษฎีของ Freud ในเรื่องจิตเขายอมรับใน การทำงานของ จิตไร้สำนึก (unconscious mind) ว่าเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง แต่เขาสนใจเรื่องสังคมประกิต หรือการอบรมเลี้ยงดูมากกว่า และถือว่ากระบวนการนี้ทำให้ ego พัฒนาขึ้น ทฤษฎีของ Erikson จึงได้ชื่อว่า Psychosocial Theory หรืออาจมีชื่ออื่นๆ เช่น David Rapport เรียกทฤษฎีนี้ว่า Theory of Reality Relationship และเรียกนักจิตวิทยากลุ่มนี้ว่า ego psychologist
เอกลักษณ์ของ ego และบุคลิกภาพปกติ Erikson เชื่อว่าการศึกษาบุคคลมีบุคลิกภาพปกติจะเป็นตัวแบบของลักษณะพัฒนาการของมนุษย์ได้ดีกว่า เพราะย่อมมีพฤติกรรม และการยอมรับโลกมากกว่า และดีกว่า และถูกต้องกว่าคนที่เป็นโรคประสาทเขาให้ทัศนะว่า “เด็กคือบุคคลที่ไม่มีอะไรอยู่ภายใน พฤติกรรม ไม่มีทั้งดี และเลวแต่มีศักยภาพที่จะแสดงความดี หรือความเลว” และเมื่อพัฒนาขึ้นมาถึงขั้นต่างๆ ก็จะทำให้เด็กมีความแตกต่างกัน สิ่งที่ทำให้แตกต่างกัน คือ การเจริญเติบโต หรือกระบวนการของเอกลักษณ์ ego การพัฒนา ego จะเป็นไป 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นการพัฒนา ส่วนที่อยู่ภายในตัวบุคคล ซึ่งเหมือนกัน และจะก้าวหน้าไปตามเวลา ลักษณะที่ 2 ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบภายนอก ที่แต่ละคนยอมรับ และการเลียนแบบจาก วัฒนธรรม หรือสังคม พัฒนาการของบุคคลจะเริ่มต้นจากการไม่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง ไปสู่การมีเอกลักษณ์ในตัวเอง ฉะนั้นการพัฒนาบุคลิกภาพจึงขึ้นอยู่กับ องค์ประกอบภายในตนของบุคคล และองค์ประกอบภายนอกซึ่งได้แก่สิ่งแวดล้อม
หลักการของความเจริญเติบโต Erikson เชื่อว่าแบบแผนของพัฒนาการ เป็นผลมาจากพันธุกรรม หรือการถ่ายทอดของ genes เป็นตัวกำหนดแบบแผน ของพัฒนาการแต่ละส่วน อิทธิพลของพันธุกรรมไม่ได้หยุดทำงานเมื่อเด็กเกิดแต่จะมีผลไปถึงวัยรุ่น การแสดงออกของพันธุกรรมจะเป็นไปตามระยะเวลา หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เจริญเติบโตในแบบแผนหนึ่งๆ จะขึ้นอยู่กับเวลา จนกระทั่งแต่ละส่วนไปสู่จุดมุ่งหมายสุดท้าย แม้ว่าการเจริญเติบโตตาม โครงสร้างพันธุกรรม ซึ่งถือว่าเป็นกฎภายใน (Inner law) จะทำให้บุคลิกภาพของบุคคลก้าวหน้าขึ้นโดยเพิ่มศักยภาพทำให้มีความสามารถสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเด็กก็ต้องรับอิทธิพลของสังคม สังคมเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาแต่ละขั้นตั้งแต่เกิดจนเข้าสู่วัยรุ่น
ความต่อเนื่องของขั้นทางจิตวิทยา พัฒนาการทั้ง 8 ขั้นที่กล่าวมาแล้วเป็นพัฒนาการทางจิตซึ่งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน ในพัฒนาการแต่ละขั้น Erikson ให้แนวความคิดที่สำคัญ และมีอิทธิพลของสังคมเกี่ยวข้องในพัฒนาการแต่ละขั้นของชีวิต
ทฤษฎีบุคลิกภาพที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง (Dynamic Theories)
ทฤษฎีบุคลิกภาพที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง มีทฤษฎีบุคลิกภาพของ Maslow และ ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Rogers ดังจะอธิบายโดยละเอียด คือ
1 ทฤษฎีจิตวิทยามานุษยวิทยา หรือ ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Maslow (Humanistic Theory) ทฤษฎีจิตวิทยามานุษยวิทยา (Humanistic Theory) อธิบายว่า ทฤษฎีจิตวิทยามานุษยวิทยา เป็นทฤษฎีจิตวิทยาร่วมสมัยในปัจจุบันมากที่สุด แนวความคิดของนักจิตวิทยากลุ่มนี้ทำให้เกิด การเคลื่อนไหว อย่างมากในวงการจิตวิทยา เพราะได้เสนอภาพ หรือความคิดเห็นในมนุษย์แตกต่างไป จากความคิดของ ทฤษฎีบุคลิกภาพที่ผ่านมา เช่น ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ หรือทฤษฎีพฤติกรรมนิยมเป็นต้นผู้คิดทฤษฎีนี้ ได้แก่ Abraham Maslow เป็นผู้ตั้งทฤษฎีนี้ และได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดาแห่งจิตวิทยามานุษยนิยม ทฤษฎีนี้มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น A Humanistic Theory of Personality และ Self-Actualizationism Theory ทฤษฎีมนุษยนิยมเป็นทฤษฎีที่กล่าวถึง บุคลิกภาพโดยมีความเชื่อพื้นฐานว่ามนุษย์มีความดี และมีคุณค่าต่อ การยอมรับมนุษย์ มีความต้องการที่จะมุ่งไปสู่ความเข้าใจในศักยภาพของตนเอง ถ้าสภาพสิ่งแวดล้อมของเขาดีพอ หรือเอื้ออำนวย ดังนั้นทฤษฎี จึงมีแนวคิดพื้นฐานในเรื่อง การศึกษาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความบริบูรณ์ ความเจริญงอกงาม และการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่ง Maslow กล่าวว่า มนุษย์จะไม่เข้าใจตนเองจนกว่า จะเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแสวงหาสิ่งต่อไปนี้คือ ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ความบริบูรณ์งอกงาม เอกลักษณ์ และความเป็นตัวของตัวเอง และสิ่งสำคัญที่ทฤษฎีของ Maslow เน้นคือ เอกลักษณ์ของบุคคล ความสำคัญ และความหมายของคุณค่าต่างๆ (values) ศักยภาพสำหรับการชี้นำตนเอง และความต้องการเจริญเติบโตของบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอิทธิพลสำคัญ ของความคิดในปัจจุบันเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ (นวลละออ สุภาผล. 2527 : 255-288)
ประวัติผู้กำเนิดทฤษฎี
Abraham Maslow เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1908 ที่เมือง Brooklyn ในประเทศสหรัฐอเมริการัฐ New York บิดามารดาเป็นชาวยิว (Jews) ซึ่งอพยพมาจากรัสเซีย Maslow เป็นพี่ชายคนโตมีพี่น้อง 7 คน พ่อแม่ของเขามีความปรารถนาที่จะให้เขาได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุดซึ่ง Maslow ก็ยอมรับในความปรารถนานี้ อย่างไรก็ตามการศึกษา เพื่อไปสู่เป้าหมายที่พ่อแม่ตั้งไว้ในระยะวัยเด็ก และวัยรุ่นตอนต้นก็สร้าง ความขมขื่นให้แก่เขามาก เหมือนกัน ดังที่เขาได้เขียนเกี่ยวกับตัวเองได้ว่า“ ด้วยความเป็นเด็ก จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมฉันจึงไม่ป่วยเป็นโรคจิตฉันเป็นเด็กชายยิวตัวเล็กๆอยู่ในกลุ่ม เพื่อนที่ไม่ใช่ชาวยิว ซึ่งมันเหมือนกับสภาพของเด็กนิโกรคนแรกที่เข้าไปอยู่โรงเรียนที่มีแต่เด็กผิวขาว ฉันรู้สึกโดดเดี่ยว และไม่มีความสุข ฉันใช้เวลาอยู่ แต่ในห้องสมุด และห้อมล้อมด้วยหนังสือต่างๆ โดยปราศจาก เพื่อน” จากประสบการณ์ดังกล่าวทำให้ บางคนอาจคิดว่าความปรารถนาของ Maslow ที่จะช่วยเหลือ เพื่อนมนุษย์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นนั้นเริ่มต้นมาจากความปรารถนาที่จะให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้นนั่นเอง Maslowได้ทุ่มเทเวลาอย่าง มากให้กับการศึกษาจิตวิทยาเกี่ยวกับมนุษย์ แต่เขาก็ยังมีประสบการณ์งานด้านอื่นๆ เช่น ใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนช่วยเหลือครอบครัวใน การประกอบธุรกิจ สร้างถังไม้ ซึ่งน้องชายของเขาก็ยังทำกิจการนี้อยู่ทุกวันนี้ Maslow เริ่มต้นการศึกษาในระดับปริญญาในวิชากฎหมายตามคำเสนอแนะของพ่อที่ City College of New York แต่เมื่อเรียนไปเพียง 2 สัปดาห์เขาก็ตัดสินใจว่าเขาไม่สามารถเป็นนักกฎหมายได้ เขาจึงเปลี่ยนมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยCornell และต่อมาก็มาเรียนที่มหาวิทยาลัย Wisconsin ในสาขาจิตวิทยา เขาได้รับปริญญาตรีเมื่อ ค.ศ. 1930 ปริญญาโท ในปีค.ศ. 1931 และปริญญาเอกในปี ค.ศ.1934 ทางด้านชีวิตครอบครัว เขาได้แต่งงานกับ Bertha Goodman ซึ่ง Maslow ยกย่องภรรยาว่ามีความสำคัญต่อชีวิตของเขามาก ดังที่เขากล่าวว่า“ ชีวิตยังไม่ได้เริ่มต้นสำหรับฉันจนกระทั่งเมื่อฉันแต่งงาน และได้ย้ายเข้ามาอยู่ใน Wisconsin”
งานวิจัย เพื่อรับปริญญาเอกของเขาเป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้ นั่นคือ การศึกษาเรื่องเพศ และคุณลักษณะของลิง การศึกษาเรื่องนี้ ทำให้ Maslow เกิดความสนใจในเรื่องเพศ และความรักซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนความสนใจนี้มาสู่มนุษย์ Maslow ได้ทำวิจัยเรื่องเพศโดยเฉพาะการศึกษารักร่วมเพศ (homosexuality) ซึ่งมีสาระสำคัญทำให้เข้าใจมนุษย์ลึกซึ้งมากขึ้น ระหว่างปี ค.ศ. 1930–1934 Maslow เป็นผู้ช่วยหัวหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัย Wisconsin ต่อมาได้ย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัย Columbia เขาทำงานอยู่ที่นี่ ระหว่างปี ค.ศ.1935–1937 ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Brooklyn จนถึงปี ค.ศ. 1951 Maslow ก็ได้ย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัย New York ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับ การยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยที่สอนวิชาจิตวิทยา ณ ที่นี้เอง เขาได้พบกับนักจิตวิทยาชั้นนำหลายคนที่หลบหนีจาก Hitler ในสมัยนั้น ได้แก่ Erich From , Alfred Adler, Karen Horney, Ruth Benedick และ Max Wertheimer ซึ่งเป็นโอกาสดีที่เขาได้แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับ นักจิตวิทยาเหล่านั้นอย่างมากมาย และเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ Maslow ได้ศึกษาถึงกฎพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และในระหว่างนั้นทำให้เขากลาย เป็นนักจิตวิเคราะห์ไปด้วย Maslow มีความปรารถนาอย่างมากที่จะศึกษาพฤติกรรมที่ครอบคลุมมนุษย์อย่างแท้จริง Maslow มีลูกสาว 2 คน เมื่อมีลูกสาว คนแรกเขากล่าวว่า “ลูกคนแรกได้เปลี่ยนฉันให้มาเป็นนักจิตวิทยา และพบว่าจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นั้น ที่จะนำมาใช้ใน การเลี้ยงดู ฉันกล่าวได้ว่าทุกๆ คนที่มีลูกจะไม่สามารถเป็นนักพฤติกรรมนิยมได้” Maslow ได้พบพฤติกรรมที่ซับซ้อนของมนุษย์ ซึ่งแสดงออก โดยลูกๆ ของเขา เขากล่าว่า “จิตวิทยาพฤติกรรมนิยมมีความสัมพันธ์ที่จะเข้าใจหนู (rodents) มากกว่าจะเข้าใจมนุษย์”
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเป็นสาเหตุให้การทำงานของ Maslow เปลี่ยนแปลงไป ในความเห็นของเขาสงคราม ก่อให้เกิดอคติความเกลียดชัง ซึ่งเป็นความชั่วร้ายของมนุษย์ หลังจากที่ทหารยึด Pearl Harborได้นั้นมีผลต่องานของ Maslow มากดังที่เขาบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ายืนมองการรบ ด้วยน้ำตานองหน้า ข้าพเจ้าไม่เข้าใจเลยว่าพวก Hitler พวก German พวก Stalin หรือพวก Communist มีจุดมุ่งหมายอะไร ไม่มีใครที่จะเข้าใจการกระทำ ของเขาเหล่านั้น ข้าพเจ้าอยากจะเห็นโต๊ะสันติภาพ ซึ่งมีบุคคลนั่งอยู่รอบโต๊ะนั้น และพูดกันเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ไม่พูดถึงความเกลียดชังสงคราม พูดแต่เรื่องสันติภาพ และความเป็นพี่เป็นน้องกัน” ในเวลาที่ข้าพเจ้าคิดเช่นนี้ทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจได้ว่าควรจะทำอะไรต่อไปนับตั้งแต่วินาทีนั้น ในปี ค.ศ. 1941 ข้าพเจ้าได้อุทิศตัวเองในการพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งทฤษฎีนี้ จะสามารถทดสอบได้จากการทดลอง และการวิจัย
ปี ค.ศ.1951 Maslow ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานของคณะจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Brandeis และอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงปี ค.ศ.1961 และหลังจากนั้น เขาก็ได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ทางจิตวิทยา ในระหว่างนี้เขาเป็นบุคคลสำคัญในการเคลื่อนไหวในกลุ่มจิตวิทยามานุษยนิยม ในหมู่นักจิตวิทยา ชาวอเมริกันถึงปี ค.ศ. 1969 เขาได้ย้ายไปเป็นประธานมูลนิธิ W.P.Laughlin ใน Menlo Part ที่California และที่นี้เอง เขาได้ศึกษาในเรื่องที่เขาสนใจคือ ปรัชญาทางการเมือง และจริยธรรม และแล้ววาระสุดท้ายของเขาก็มาถึง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1970 เมื่ออายุเพียง 62 ปี เขาก็ถึงแก่กรรมด้วย อาการหัวใจวาย หลังจากที่เขาป่วยเป็นโรคหัวใจเรื้อรังมาเป็นเวลานาน หนังสือที่ Maslow เขียนมีเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น Toward a Psychology of Being ,Religions, Values and Peak Experiences,The Psychology of Science : A Reconnaissance,
หลักเบื้องต้นของจิตวิทยามนุษยนิยม (Basic Tenets of Humanistic Psychology )
คำว่า “จิตวิทยามานุษยนิยม” (Humanistic psychology) ตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักจิตวิทยา เมื่อประมาณต้นๆ ปี 1960 โดยมี Maslow เป็นหัวหน้ากลุ่มในสมัยนั้น ทฤษฎีที่มีอิทธิพลต่อวงการจิตวิทยา คือ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (psychoanalysis and behaviorism) แต่ Maslow ได้ตั้งทฤษฎีที่มี ตัวแปรแตกต่างออกไปจากกลุ่มทฤษฎีทั้ง 2 และเป็นทฤษฎีที่ ไม่เหมือนกับทฤษฎีอื่นๆ จิตวิทยามานุษยนิยมไม่ได้มีระบบ หรือการรวบรวมเฉพาะสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่มันแสดงคุณลักษณะของความเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการเข้ามารวมกันของความคิดหลายๆ อย่าง Maslow เรียกว่า “พลังที่ 3 ของจิตวิทยา” (third force psychology) ถึงแม้ว่า การเคลื่อนไหวนี้จะแสดงความคิดเห็นได้กว้างขวาง แต่ทั้งหมดแสดงถึง ความคิดพื้นฐานของ ธรรมชาติมนุษย์ และความคิดพื้นฐานใน ทฤษฎีนี้มีรากฐานมาจากปรัชญาตะวันตก กลุ่มจิตวิทยามานุษยนิยมเน้น อย่างมากในปรัชญาเรื่องอัตถิภาวนิยม (Existential) ซึ่งเป็นปรัชญาที่กล่าวว่า บุคคลมีความรับผิดชอบในตนเอง อิทธิพลจากปรัชญานี้มีต่อแนวความคิดทางจิตวิทยาได้พัฒนาขึ้นโดยนักคิด และนักเขียนหลายคน เช่น Kierkegaarad, Startre, Camus, Binswanger, Boss และ Frankl ส่วนนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เช่น Rollo May ก็ได้รับอิทธิพลจากปรัชญานี้เช่นกัน
ปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existential) กล่าวถึง มนุษย์ในแง่ของความเป็นเอกัตบุคคล และปัญหาเกี่ยวกับความคงอยู่ของแต่ละบุคคล มนุษย์เป็นผู้ที่มี ความสำนึกในตนเองอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่ทุกคนต้องประสบคือ ความตาย ปรัชญาของลัทธินี้ ไม่ยอมรับว่า บุคคลเป็นผลมาจาก การถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะชีวิตในตอนต้นๆ และเชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิที่จะเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง ไม่มีสาเหตุ หรือเหตุผลใดที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมมนุษย์ ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเอง และมีอิสรภาพที่จะเลือกในสิ่งที่ตนสนใจ หรือต้องการ กล่าวได้ว่า “ชีวิตเป็นไปตามที่ตนสร้างขึ้น” มนุษย์เป็นผู้กำหนดว่าสิ่งใดที่เขาจะกระทำ หรือสิ่งใดที่เขาจะไม่กระทำ มนุษย์มีอิสระที่จะเป็นในสิ่งที่เขาต้องการ การมีอิสระในการเลือกไม่ได้เป็นสิ่งที่ประกันว่าสิ่งที่เขาเลือกนั้นจะดีสำหรับเขา เพราะถ้าเช่นนั้นบุคคลก็จะไม่พบกับความผิดหวัง หรือมีความวิตกกังวล หรือมีความเบื่อหน่าย หรือความรู้สึกผิดเกิดขึ้น
แนวคิดที่สำคัญของกลุ่มจิตวิทยามานุษยนิยม ส่วนมากนำมาใช้จากปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existential) คือ มนุษย์เป็นผู้ไม่อยู่นิ่ง มนุษย์จะแปรเปลี่ยนไป ตามสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น เมื่อ 4 ปีก่อน เป็นเด็กวัยรุ่นที่ร่าเริงสนุกสนาน แต่เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น เด็กวัยรุ่นเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้จรรโลงสังคม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในเวลาต่อมา ทั้งนี้เนื่องมาจากมนุษย์สามารถตระหนัก ในความรับผิดชอบ และพยายามค้นหาศักยภาพแห่งตน เพื่อกระทำ ในสิ่งที่ตนเอง สามารถจะกระทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงสามารถเผชิญกับความจริงของชีวิตได้ ในทัศนะของ กลุ่มอัตถิภาวนิยม และกลุ่มจิตวิทยามานุษยนิยมมีความสอดคล้องกันว่า มนุษย์เป็นผู้ค้นหาความเป็นจริงของชีวิต อกเหนือไปจากความต้องการในการตอบสนองทางชีวภาพ หรือการตอบสนองทางเพศ และสัญชาตญาณของความก้าวร้าวแล้ว และถ้าบุคคลใดปฏิเสธการเจริญเติบโต หรือไม่ต้องการความเจริญก้าวหน้าแสดงว่า บุคคลนั้นไม่ยอมรับตนเองไม่ยอมรับในความสามารถที่จะยืนหยัดต่อสู้กับชีวิตด้วยตนเอง ซึ่งนักจิตวิทยากลุ่มมานุษยนิยมได้กล่าวว่า เป็นเรื่องเศร้าที่ทำให้ ชีวิตมนุษย์ ต้องบิดเบือนไป และเป็นสาเหตุให้ Maslow เริ่มสนใจกระบวนการของความเจริญเติบโต หรือการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ในธรรมชาติที่ เกี่ยวกับมนุษย์ แนวคิดปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (existential) ได้เน้นมนุษย์ในเรื่องความรู้สึก และอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดได้ยาก รวมทั้งเน้นประสบการณ์ส่วนตัว ที่ทำให้บุคคลสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ดังนั้นการศึกษาธรรมชาติของมนุษย์จึงมุ่งอธิบายพฤติกรรมที่เกิดภายในจิต ซึ่งเขาถือว่าเป็นประสบการณ์ภายใน หรือประสบการณ์ส่วนตัว ทฤษฎีบุคลิกภาพ Maslow มีแนวคิดสำคัญๆ 5 เรื่อง ดังนี้
1. เอกัตบุคคลเป็นบูรณาการโดยส่วนรวมทั้งหมด (The Individual as an Integrated whole)
พื้นฐานสำคัญที่สุดของทฤษฎีจิตวิทยามานุษยนิยมคือ นักจิตวิทยาจะต้องศึกษา สิ่งที่ทำให้เกิดบูรณาการ ความเป็นเอกลักษณ์ และการจัดระบบร่วมกัน ทั้งหมด Maslow รู้สึกว่านักจิตวิทยาได้เสียเวลาเน้นการวิเคราะห์ส่วนย่อยที่แตกแยกออกมา โดยไม่คิดถึงบุคคลโดยส่วนรวมทั้งหมด และขาดการระลึกถึง ธรรมชาติของมนุษย์ อุปมาเสมือนการศึกษาต้นไม้ โดยไม่มีความรู้เรื่องป่าเลย ด้วยเหตุนี้ทฤษฎีของ Maslow จึงเป็นทฤษฎีเริ่มแรกที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยต่อต้านทฤษฎีเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) เพราะทฤษฎีพฤติกรรมนิยมได้เกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อย หรือเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรม และละเลยบุคคลในฐานะที่เป็นเอกภาพรวม Maslow ได้กล่าวถึง ทฤษฎีบุคลิกภาพที่ดีไว้ว่าควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ “ทฤษฎีที่ดีนั้นต้องไม่กล่าวถึงความต้องการของมนุษย์เฉพาะในเรื่องท้อง ปาก หรือความต้องการทางเพศ แต่จะต้องกล่าวถึง ความต้องการทั้งหมดของ ตัวบุคคล เช่น John Smith ต้องการอาหารซึ่งมิใช่แต่เพียง เพื่อบำบัดความหิวเท่านั้น แต่เขาต้องการความพึงพอใจด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดความหิว จึงมิได้ท้องหิว แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความหิวที่เกิดจากส่วนรวมของตัวเขาทั้งหมด” ดังนั้นสำหรับทฤษฎีบุคลิกภาพของ Maslow สนใจเรื่อง ศูนย์กลางคุณลักษณะของบุคลิกภาพจะต้องมีลักษณะเป็นเอกภาพ และรวมเข้ามาด้วยกันทั้งหมด มองบุคคลโดยส่วนรวมทั้งหมด และทำความเข้าใจเรื่อง ธรรมชาติของมนุษย์ของมนุษย์แต่ละคน
2. ไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างผลการวิจัยพฤติกรรมของสัตว์กับพฤติกรรมมนุษย์ (Irrelevance of Animal Research)
สิ่งหนึ่งที่สนับสนุนความคิดของนักจิตวิทยามานุษยนิยมที่ว่า พฤติกรรมของมนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์ ก็คือ ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีมากกว่าสัตว์ ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเป็นสัตว์ชนิดพิเศษก็ตาม ซึ่งความคิดนี้ค้านกันอย่างแรงกับกลุ่มพฤติกรรมนิยม ซึ่งให้ความสำคัญของมนุษย์ดำเนิน ไปอย่างเดียวกับโลก ของสัตว์ Maslow ได้ให้ความเห็นว่ามนุษย์มีความเป็นเอกภาพ และแตกต่างจากสัตว์ เขากล่าวว่ากลุ่มพฤติกรรมนิยมมีปรัชญาว่า “มนุษย์เป็นเอกัตบุคคลมีชีวิตอยู่เสมือนเครื่องจักรซึ่งประกอบไปด้วยพันธนาการที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข หรือความไม่มีเงื่อนไข”
แนวคิดของ Maslow เชื่อว่าแท้จริงแล้ว การวิจัยพฤติกรรมจากสัตว์ไม่มีความสัมพันธ์กับความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์เนื่องจากสัตว์ และการศึกษาพฤติกรรม ของสัตว์ก็ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจสิ่งต่อไปนี้ ความคิดของมนุษย์ ค่านิยมของมนุษย์ ความอายของมนุษย์ อารมณ์ขันของมนุษย์ ความกล้าหาญของมนุษย์ ความรักของมนุษย์รวมไปถึง งานศิลปะ ความรู้สึกอิจฉาริษยา และที่สำคัญคือสัตว์ไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานในด้านการประพันธ์ ดนตรี วิทยาศาสตร์ และงานอื่นๆ อันเป็นผลมาจากสมอง และจิตใจของมนุษย์ได้เลย และไม่พบเลยว่ามีตำราเล่มใดที่กล่าวขวัญ หรือยกย่องในความสามารถของหนู นกพิราบ ลิง และแม้แต่ปลาโลมาว่ามันฉลาดเทียบเคียงมนุษย์ฉะนั้นจะเอาพฤติกรรมสัตว์มาสรุปเป็นพฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้
3. ธรรมชาติภายในของมนุษย์ ( Man’s Inner Nature )
ทฤษฎีของ Freud เชื่อว่ามนุษย์นั้นมีความชั่วร้ายเป็นพื้นฐาน แรงกระตุ้นของมนุษย์ ถ้าไม่มีการควบคุมก็จะนำไปสู่การทำลายผู้อื่น และทำลายตนเองได้ ทัศนะนี้จะถูกต้อง หรือไม่ก็ตาม Freud มองว่า คนมีความดีบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ดีแนวคิดของทฤษฎีมนุษยนิยมเชื่อว่า แท้จริงแล้ว “มนุษย์เป็นคนดี หรืออย่างน้อยก็มีทั้งดี และเลวพอ ๆ กัน” ทั้งทฤษฎีกลุ่มจิตวิเคราะห์ และทฤษฎีมนุษยนิยม ต่างมีเจตคติแตกต่างกัน กลุ่มมนุษยนิยมจะมองว่า “ความชั่วร้าย การทำลาย และแรงที่ผลักดันรุนแรงในตัวมนุษย์จะเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่ชั่วร้ายมากกว่าจะเกิดจากสันดานของมนุษย์เอง"
4. ศักยภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ( Human Creative Potential )
การสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นความคิดสำคัญของจิตวิทยามนุษยนิยม โดย Maslow กล่าวยกย่องว่าบุคคลที่เขาศึกษา หรือสังเกตนั้น ส่วนใหญ่มีบุคลิกภาพ ประการแรกคือ เป็นผู้มีลักษณะ การสร้างสรรค์ หมายถึง การสร้างสรรค์เป็นคุณลักษณะทั่วไปของธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นศักยภาพที่แสดงออก นับตั้งแต่เกิดมา และการสร้างสรรค์ถือว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอื่นๆ เหมือนกับที่ต้นไม้ผลิใบ หรือนกสามารถบิน เป็นต้น อย่างไรก็ดี Maslow ให้ความเห็นว่ามนุษย์ส่วนใหญ่จะสูญเสียการสร้างสรรค์ไปเมื่อเขาเจริญเติบโต เพราะการเข้าสู่กรอบของสังคม และวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ระบบการศึกษาในโรงเรียน มักจะทำให้การสร้างสรรค์ลบเลือนไปแต่ก็มีคนเป็นจำนวนน้อยที่ยังรักษาไว้ได้ การสร้างสรรค์ที่สูญเสียไปนี้ สามารถเรียกกลับคืนมาได้ในระยะต่อมาของชีวิต Maslow กล่าวว่าการสร้างสรรค์เป็นศักยภาพของแต่ละบุคคลไม่ใช่เป็นความสามารถพิเศษ เพราะ ความสามารถพิเศษมีเฉพาะบางคนเท่านั้น ซึ่งแสดงออกเป็น ผลงานที่มีคนเป็นจำนวนน้อยสามารถทำได้ เช่น ความสามารถพิเศษในการเป็นนักประพันธ์ ความสามารถพิเศษในการเป็นศิลปิน เป็นต้น ส่วนความสามารถสร้างสรรค์เป็นความสามารถทั้งหมดของมนุษย์ที่แสดงออกมาได้ในอาชีพต่างๆ เช่น ช่างสร้างบ้าน จ๊อกกี้ ช่างทำรองเท้า นักเต้นรำ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
5. การให้ความสำคัญของจิตใจที่สมบูรณ์ (Emphasis on Psychological Health)
Maslow กล่าวว่าการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ของนักจิตวิทยาที่ผ่านๆ มานั้นไม่มีวิธีการทางจิตวิทยาวิธีใดที่จะศึกษาพฤติกรรมต่อไปนี้ได้ถูกต้อง การทำหน้าที่ของการมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ของมนุษย์ รูปแบบของชีวิต เป้าหมายของชีวิต โดยเฉพาะเขาวิจารณ์ทฤษฎีของ Freud ว่าเป็นทฤษฎีที่หมกมุ่น ในการศึกษาโรคประสาท และโรคจิตมากเกินไป และทฤษฎีจิตวิเคราะห์เป็นการมองคนในด้านเดียว และขาดความเข้าใจที่แท้จริง คือ มองมนุษย์เฉพาะ ด้านความผิดปกติ หรือความเจ็บป่วยของพฤติกรรมเท่านั้น ( มนุษย์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธรรมชาติในด้านที่ไม่พึงปรารถนาเพียงด้านเดียว มนุษย์มีทั้งที่ผิดปกติ และปกติ ถ้าสนใจมนุษย์ด้านผิดปกติเราก็จะพบ ความล้มเหลว และความไม่ดีต่างๆ ในตัวมนุษย์
เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องนี้ Maslow และผู้ร่วมงานในกลุ่มมานุษยนิยม ของเขาจึงหันมาสนใจ “ธรรมชาติทางจิตที่ดีงามของมนุษย์” และการเข้าใจสภาพจิต ดังกล่าว โดยจะศึกษากับ คนปกติมากกว่าจะนำไปเปรียบเทียบกับผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางจิตใจ Maslow เชื่อว่าเราจะไม่สามารถเข้าใจ ความเจ็บป่วย ทางจิตใจได้จนกว่าเราจะเข้าใจสภาพจิตใจที่มีความสมบูรณ์ Maslow ยอมรับว่าการศึกษาคนพิการ บุคคลที่มีปัญหาทางจิต ผู้ที่ไม่มีวุฒิภาวะ(immature) และผู้ที่สติ ปัญญาอ่อน เป็นตัวอย่างการศึกษาผู้มีความบกพร่องทางจิตได้ เขามีความเชื่อมั่นว่า การศึกษาในเรื่องความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-actualizing) จะเป็นการศึกษาบุคคลที่มีรากฐานกว้างขวางในศาสตร์ของจิตวิทยา กล่าวโดยสรุปจิตวิทยาในกลุ่มมานุษยนิยมพิจารณาว่า “การกระทำตนให้สมบูรณ์” (Self-fulfillment) เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตมนุษย์ และหลักการดังกล่าวนี้จะไม่สามารถพบจากการศึกษาบุคคลที่ผิดปกติได้เลย
ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ( Maslow’s Hierarchical Theory of Motivation )
Maslow เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์เป็นจำนวนมากสามารถอธิบายโดยใช้แนวโน้มของบุคคลในการค้นหาเป้าหมายที่จะทำให้ชีวิตของเขาได้รับความต้องการ ความปรารถนา และได้รับสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง เป็นความจริงที่จะกล่าวว่ากระบวนการของแรงจูงใจเป็นหัวใจของทฤษฎีบุคลิกภาพของ Maslow โดยเขาเชื่อว่ามนุษย์เป็น “สัตว์ที่มีความต้องการ” (wanting animal) และเป็นการยากที่มนุษย์จะไปถึงขั้นของความพึงพอใจอย่างสมบูรณ์ ในทฤษฎีลำดับ ขั้นความต้องการของ Maslow เมื่อบุคคลปรารถนาที่จะได้รับความพึงพอใจ และเมื่อบุคคลได้รับความพึงพอใจในสิ่งหนึ่งแล้ว ก็จะยังคงเรียกร้อง ความพึงพอใจสิ่งอื่นๆ ต่อไป ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะของมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความต้องการจะได้รับสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ
Maslow กล่าวว่า ความปรารถนาของมนุษย์นั้น ติดตัวมาแต่กำเนิด และความปรารถนาเหล่านี้จะเรียงลำดับขั้นของความปรารถนา ตั้งแต่ขั้นแรกไปสู่ความปรารถนาขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ
ลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ ( The Need –Hierarchy Conception of Human Motivation ) Maslow เรียงลำดับความต้องการของมนุษย์จากขั้นต้นไปสู่ความต้องการขั้นต่อไปไว้เป็นลำดับดังนี้ (Maslow. 1970 : 170)
ความต้องการทางด้านร่างกาย ( Physiological needs )
ความต้องการความปลอดภัย ( Safety needs )
ความต้องการความรัก และความเป็นเจ้าของ ( Belongingness and love needs )
ความต้องการได้รับความนับถือยกย่อง ( Esteem needs )
ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ( Self-actualization needs )
ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ มีการเรียงลำดับขั้นความต้องการที่อยู่ในขั้นต่ำสุดจะต้องได้รับความพึงพอใจเสียก่อนบุคคลจึงจะสามารถผ่านพ้นไปสู่ความต้องการที่อยู่ในขั้นสูงขึ้นตามลำดับ ดังจะอธิบายโดยละเอียด ดังนี้
1. ความต้องการทางร่างกาย ( Physiological needs ) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานที่มีอำนาจมากที่สุด และสังเกตเห็นได้ชัดที่สุด จากความต้องการ ทั้งหมด เป็นความต้องการที่ช่วยการดำรงชีวิต ได้แก่ ความต้องการอาหาร น้ำดื่ม ออกซิเจน การพักผ่อนนอนหลับ ความต้องการ ทางเพศ ความต้องการ ความอบอุ่น ตลอดจนความต้องการที่จะถูกกระตุ้นอวัยวะรับสัมผัส แรงขับของร่างกายเหล่านี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดของร่างกาย และของอินทรีย์ ความพึงพอใจที่ได้รับ ในขั้นนี้จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการในขั้นที่สูงกว่า และถ้าบุคคลใดประสบความล้มเหลว ที่จะสนองความต้องการพื้นฐานนี้ ก็จะไม่ได้รับการกระตุ้น ให้เกิดความต้องการในระดับที่สูงขึ้นอย่างไรก็ตาม ถ้าความต้องการอย่างหนึ่งยังไม่ได้รับความพึงพอใจ บุคคลก็จะอยู่ภายใต้ความ ต้องการนั้นตลอดไป ซึ่งทำให้ความต้องการอื่นๆ ไม่ปรากฏ หรือกลายเป็นความต้องการระดับรองลงไป เช่น คนที่อดอยากหิวโหยเป็นเวลานาน จะไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ต่อโลกได้ บุคคลเช่นนี้จะหมกมุ่นอยู่กับการจัดหาบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้มีอาหารไว้รับประทาน Maslow อธิบายต่อไปว่า บุคคลเหล่านี้จะมีความรู้สึกเป็นสุขอย่างเต็มที่เมื่อมีอาหารเพียงพอสำหรับเขา และจะไม่ต้องการสิ่งอื่นใดอีก ชีวิติของเขากล่าวได้ว่า เป็นเรื่องของการรับประทาน สิ่งอื่นๆ นอกจากนี้จะไม่มีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพ ความรัก ความรู้สึกต่อชุมชน การได้รับการยอมรับ และปรัชญาชีวิต บุคคลเช่นนี้มีชีวิตอยู่ เพื่อที่จะรับประทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตัวอย่าง การขาดแคลนอาหารมีผลต่อพฤติกรรม ได้มีการทดลอง และการศึกษาชีวประวัติ เพื่อแสดงว่า ความต้องการทางด้านร่างกายเป็นเรื่องสำคัญที่จะเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ และได้พบผลว่า เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงของพฤติกรรม ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดอาหาร หรือน้ำติดต่อกันเป็นเวลานาน ตัวอย่างคือ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในค่าย Nazi ซึ่งเป็นที่กักขังเชลย เชลยเหล่านั้น จะละทิ้งมาตรฐานทางศีลธรรม และค่านิยมต่างๆ ที่เขาเคยยึดถือภายใต้สภาพการณ์ปกติ เช่น ขโมยอาหารของคนอื่น หรือใช้วิธีการต่างๆ ที่จะได้รับอาหาร เพิ่มขึ้น อีกตัวอย่างหนึ่งในปี ค.ศ. 1970 เครื่องบินของสายการบิน Peruvian ตกลงที่ฝั่งอ่าวอเมริกาใต้ผู้ที่รอดตายรวมทั้งพระนิกาย Catholic อาศัยการมีชีวิต อยู่รอด โดยการกินซากศพของผู้ที่ตายจากเครื่องบินตก จากปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมนุษย์เกิดความหิวขึ้น จะมีอิทธิพลเหนือระดับศีลธรรมจรรยา จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามนุษย์มีความต้องการทางด้านร่างกายเหนือความต้องการอื่นๆ และแรงผลักดันของความต้องการนี้ได้เกิดขึ้น กับบุคคลก่อน ความต้องการอื่นๆ
2. ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs) เมื่อความต้องการทางด้านร่างกาย เมื่อได้รับความพึงพอใจแล้วบุคคลก็จะพัฒนาการไปสู่ขั้นใหม่ต่อไป ซึ่งขั้นนี้เรียกว่าความต้องการความปลอดภัย หรือความรู้สึกมั่นคง (safety or security) Maslow กล่าวว่าความต้องการความปลอดภัยนี้ จะสังเกตได้ง่าย ในทารก และในเด็กเล็กๆ เนื่องจากทารก และเด็กเล็กๆ ต้องการความช่วยเหลือ และต้องพึ่งพออาศัยผู้อื่น ตัวอย่าง ทารกจะรู้สึกกลัวเมื่อถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพัง หรือเมื่อเขาได้ยินเสียงดังๆ หรือเห็นแสงสว่างมาก ๆ แต่ประสบการณ์ และการเรียนรู้จะทำให้ความรู้สึกกลัวหมดไป ดังคำพูดที่ว่า “ฉันไม่กลัวเสียงฟ้าร้อง และฟ้าแลบอีกต่อไปแล้ว เพราะฉันรู้ธรรมชาติในการเกิดของมัน” พลังความต้องการความปลอดภัยจะเห็นได้ชัดเจนเช่นกันเมื่อเด็กเกิดความเจ็บป่วย ตัวอย่างเด็กที่ประสบอุบัติเหตุขาหักก็ตะรู้สึกกลัว และอาจแสดงออกด้วยอาการฝันร้าย และความต้องการที่จะได้รับความปกป้องคุ้มครอง และการให้กำลังใจ
Maslow กล่าวเพิ่มเติมว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกอย่างไม่กวดขัน และตามใจมากจนเกินไปจะไม่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่า ได้รับความพึงพอใจจาก ความต้องการ ความปลอดภัย การให้นอน หรือ ให้กินไม่เป็นเวลาไม่เพียง แต่ทำให้เด็กสับสนเท่านั้นแต่ยังทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นคงในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา สัมพันธภาพของ พ่อแม่ที่ไม่ดีต่อกัน เช่น ทะเลาะกันทำร้ายร่างกายซึ่งกัน และกัน พ่อแม่แยกกันอยู่ หย่า ตายจากไป สภาพการณ์เหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อความรู้ที่ดีของเด็ก ทำให้เด็กรู้ว่าสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่มั่นคง ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และนำไปสู่ความรู้สึกไม่ปลอดภัย
ความต้องการความปลอดภัยจะยังมีอิทธิพลต่อบุคคลแม้ว่าจะผ่านพ้นวัยเด็กไปแล้ว แม้ในบุคคลที่ทำงานในฐานะเป็นผู้คุ้มครอง เช่น ผู้รักษาเงิน นักบัญชี หรือทำงานเกี่ยวกับการประกันต่างๆ และผู้ที่ทำหน้าที่ให้การรักษาพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้อื่น เช่น แพทย์ พยาบาล แม้กระทั่งคนชรา บุคคลทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะใฝ่หาความปลอดภัยของผู้อื่น เช่น แพทย์ พยาบาล แม้กระทั่งคนชรา บุคคลทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะใฝ่หาความปลอดภัยด้วยกันทั้งสิ้น ศาสนา และปรัชญาที่มนุษย์ยึดถือทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง เพราะทำให้บุคคลได้จัดระบบของตัวเองให้มีเหตุผล และวิถีทางที่ทำให้บุคคลรู้สึก “ปลอดภัย” ความต้องการความปลอดภัยในเรื่องอื่นๆ จะเกี่ยวข้องกับการเผชิญกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สงคราม อาชญากรรม น้ำท่วม แผ่นดินไหว การจลาจล ความสับสนไม่เป็นระเบียบของสังคม และเหตุการณ์อื่นๆ ที่คล้ายคลึงกับสภาพเหล่านี้
Maslow ได้ให้ความคิดต่อไปว่าอาการโรคประสาทในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะโรคประสาทชนิดย้ำคิด-ย้ำทำ (obsessive-compulsive neurotic) เป็นลักษณะเด่นชัด ของการค้นหาความรู้สึกปลอดภัย ผู้ป่วยโรคประสาทจะแสดงพฤติกรรมว่าเขากำลังประสบเหตุการณ์ที่ร้ายกาจ และกำลังมีอันตรายต่างๆ เขาจึงต้องการมีใครสักคนที่ปกป้องคุ้มครองเขา และเป็นบุคคลที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งเขาสามารถจะพึ่งพาอาศัยได้
3. ความต้องการความรัก และความเป็นเจ้าของ (Belongingness and Love needs) ความต้องการความรัก และความเป็นเจ้าของเป็นความต้องการขั้นที่ 3 ความต้องการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อความต้องการทางด้านร่างกาย และความต้องการความปลอดภัยได้รับการตอบสนองแล้ว บุคคลต้องการได้รับความรัก และความเป็นเจ้าของโดยการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว หรือกับผู้อื่น สมาชิกภายในกลุ่มจะเป็นเป้าหมายสำคัญ สำหรับบุคคล กล่าวคือ บุคคลจะรู้สึกเจ็บปวดมากเมื่อถูกทอดทิ้งไม่มีใครยอมรับ หรือถูกตัดออกจากสังคม ไม่มี เพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวน เพื่อนๆ ญาติพี่น้อง สามี หรือภรรยา หรือลูกๆได้ลดน้อยลงไป นักเรียนที่เข้าโรงเรียนที่ห่างไกลบ้านจะเกิดความต้องการ เป็นเจ้าของอย่างยิ่ง และจะแสวงหาอย่างมากที่จะได้รับการยอมรับจากกลุ่ม เพื่อน
Maslow คัดค้านกลุ่ม Freud ที่ว่าความรักเป็นผลมาจากการทดเทิดสัญชาตญาณทางเพศ (sublimation) สำหรับ Maslow ความรักไม่ใช่สัญลักษณ์ของ เรื่องเพศ (sex) เขาอธิบายว่า ความรักที่แท้จริงจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่ดี ความสัมพันธ์ของความรักระหว่างคน 2 คน จะรวมถึงความรู้สึกนับถือซึ่งกัน และกัน การยกย่อง และความไว้วางใจแก่กัน นอกจากนี้ Maslow ยังย้ำว่าความต้องการความรักของคน จะเป็นความรักที่เป็นไปในลักษณะ ทั้งการรู้จักให้ ความรักต่อผู้อื่น และรู้จักที่จะรับความรักจากผู้อื่น การได้รับความรัก และได้รับการยอมรับจากผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า บุคคลที่ขาดความรักก็จะรู้สึกว่าชีวิตไร้ค่ามีความรู้สึกอ้างว้าง และเคียดแค้น กล่าวโดยสรุป Maslow มีความเห็นว่าบุคคลต้องการความรัก และความรู้สึกเป็นเจ้าของ และการขาดสิ่งนี้มักจะเป็นสาเหตุให้เกิดความข้องคับใจ และทำให้เกิดปัญหาการปรับตัวไม่ได้ และความยินดีในพฤติกรรม หรือความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจในลักษณะต่างๆ
สิ่งที่ควรสังเกตประการหนึ่ง ก็คือ มีบุคคลจำนวนมากที่มีความลำบากใจที่จะเปิดเผยตัวเอง เมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับเพศตรงข้าม เนื่องจาก กลัวว่า จะถูกปฏิเสธความรู้สึกเช่นนี้ Maslow กล่าวว่าสืบเนื่องมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก การได้รับความรัก หรือการขาดความรักในวัยเด็กย่อมมีผล กับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ และการมีทัศนคติในเรื่องของความรัก Maslow เปรียบเทียบว่าความต้องการความรักก็เป็นเช่นเดียว กับรถยนต์ที่ สร้างขึ้นมาโดยต้องการก๊าซ หรือน้ำมันนั่นเอง (Maslow. 1970 : 170)
4. ความต้องการได้รับความนับถือยกย่อง ( Self-Esteem needs) เมื่อความต้องการได้รับความรัก และการให้ความรักแก่ผู้อื่นเป็นไปอย่างมีเหตุผล และทำให้บุคคล เกิดความพึงพอใจแล้ว พลังผลักดันในขั้นที่ 3 ก็จะลดลง และมีความต้องการในขั้นต่อไปมาแทนที่ กล่าวคือมนุษย์ต้องการที่จะได้รับ ความนับถือยกย่องออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นความต้องการนับถือตนเอง (self-respect) ส่วนลักษณะที่ 2 เป็นความต้องการ ได้รับการยกย่อง นับถือจากผู้อื่น (esteem from others)
4.1 ความต้องการนับถือตนเอง (self-respect) คือ ความต้องการมีอำนาจ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความแข็งแรง มีความสามารถในตนเอง มีผลสัมฤทธิ์ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น และมีความเป็นอิสระ ทุกคนต้องการที่จะรู้สึกว่าเขามีคุณค่า และมีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จในงานภารกิจต่างๆ และมีชีวิตที่เด่นดัง
4.2 ความต้องการได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น (esteem from others) คือ ความต้องการมีเกียรติยศ การได้รับยกย่อง ได้รับการยอมรับ ได้รับ ความสนใจ มีสถานภาพ มีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขาน และเป็นที่ชื่นชมยินดี มีความต้องการที่จะได้รับความยกย่องชมเชย ในสิ่งที่เขากระทำซึ่ง ทำให้รู้สึกว่า ตนเองมีคุณค่าว่า ความสามารถของเขาได้รับการยอมรับจากผู้อื่น
ความต้องการได้รับความนับถือยกย่อง ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมชาติของลำดับชั้น ในเรื่องความต้องการด้านแรงจูงใจตามทัศนะของ Maslow ในเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิตนั่นคือ บุคคลจะแสวงหาความต้องการได้รับการยกย่องก็เมื่อภายหลังจาก ความต้องการความรัก และความเป็นเจ้าของได้รับ การตอบสนอง ความพึงพอใจของเขาแล้ว และ Maslow กล่าวว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ที่บุคคลจะย้อนกลับจากระดับขั้นความต้องการในขั้นที่ 4 กลับไปสู่ระดับขั้นที่ 3 อีก ถ้าความต้องการระดับขั้นที่ 3 ซึ่งบุคคลได้รับไว้แล้วนั้นถูกกระทบกระเทือน หรือสูญสลายไปทันทีทันใด ดังตัวอย่างที่ Maslow นำมาอ้างคือ หญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเธอคิดว่าการตอบสนองความต้องการความรักของเธอได้ดำเนินไปด้วยดี แล้วเธอจึงทุ่มเท และเอาใจใส่ในธุรกิจของเธอ และได้ประสบความสำเร็จ เป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง และอย่างไม่คาดฝันสามีได้ผละจากเธอไป ในเหตุการณ์เช่นนี้ปรากฏว่าเธอวางมือจากธุรกิจต่างๆ ในการที่จะส่งเสริมให้เธอได้รับ ความยกย่องนับถือ และหันมาใช้ความพยายามที่จะเรียกร้องสามีให้กลับคืนมา ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของเธอเป็นตัวอย่างของ ความต้องการความรัก ซึ่งครั้งหนึ่งเธอได้รับแล้ว และถ้าเธอได้รับความพึงพอในความรักโดยสามีหวนกลับคืนมาเธอก็จะกลับไปเกี่ยวข้องในโลกธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง
ความพึงพอใจของความต้องการได้รับการยกย่องโดยทั่วๆ ไป เป็นความรู้สึก และทัศนคติของความเชื่อมั่นในตนเอง ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า การมีพละกำลัง การมีความสามารถ และความรู้สึกว่ามีชีวิตอยู่อย่างมีประโยชน์ และเป็นบุคคลที่มีความจำเป็นต่อโลก ในทางตรงกันข้ามการขาดความรู้สึก ต่างๆ ดังกล่าวนี้ย่อมนำไปสู่ความรู้สึก และทัศนคติของปมด้อย และความรู้สึก ไม่พอเพียง เกิดความรู้สึกอ่อนแอ และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นการรับรู้ตนเองในทางนิเสธ (negative) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรู้สึกขลาดกลัว และรู้สึกว่าตนเองไม่มีประโยชน์ และสิ้นหวังในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ความต้องการของชีวิต และประเมินตนเองต่ำกว่าชีวิตความเป็นอยู่กับการได้รับการยกย่อง และยอมรับจากผู้อื่นอย่างจริงใจ มากกว่า การมีชื่อเสียง จากสถานภาพ หรือการได้รับการประจบประแจง การได้รับความนับถือยกย่องเป็นผลมาจากความเพียรพยายามของบุคคล และความต้องการนี้ อาจเกิด อันตรายขึ้นได้ถ้าบุคคลนั้นต้องการคำชมเชยจากผู้อื่นมากกว่าการยอมรับความจริง และเป็นที่ยอมรับกันว่า การได้รับความนับถือยกย่อง มีพื้นฐานจาก การกระทำของบุคคลมากกว่าการควบคุมจากภายนอก
5. ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-Actualization needs) ถึงลำดับขั้นสุดท้าย ถ้าความต้องการลำดับขั้นก่อนๆ ได้ทำให้เกิดความพึงพอใจ อย่างมีประสิทธิภาพ ความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงก็จะเกิดขึ้น Maslow อธิบายความต้องการเข้าใจตนองอย่างแท้จริง ว่าเป็นความปรารถนาใน ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งบุคคลสามารถจะได้รับอย่างเหมาะสมบุคคลที่ประสบผลสำเร็จในขั้นสูงสุดนี้จะใช้พลังอย่างเต็มที่ในสิ่งที่ท้าทาย ความสามารถ และศักยภาพ ของเขา และมีความปรารถนาที่จะปรับปรุงตนเอง พลังแรงขับของเขาจะกระทำพฤติกรรมตรงกับความสามารถของตน กล่าวโดยสรุปการเข้าใจตนเอง อย่างแท้จริงเป็นความต้องการอย่างหนึ่งของบุคคลที่จะบรรลุถึงจุดสูงสุดของศักยภาพ เช่น “นักดนตรีก็ต้องใช้ความสามารถทางด้านดนตรี ศิลปินก็จะต้องวาดรูป กวีจะต้องเขียนโคลงกลอน ถ้าบุคคลเหล่านี้ได้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ก็เชื่อได้ว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนที่รู้จักตนเองอย่างแท้จริง” (Maslow. 1970 : 46)
ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงจะดำเนินไปอย่างง่าย หรือเป็นไปโดยอัตโนมัติ โดยความเป็นจริงแล้ว Maslow เชื่อว่าคนเรามักจะกลัวตัวเอง ในสิ่งเหล่านี้ “ด้านที่ดีที่สุดของเรา ความสามารถพิเศษของเราสิ่งที่ดีงามที่สุดของเราพลังความสามารถความคิดสร้างสรรค์” (Maslow. 1962 : 58) ความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงมิได้มีแต่เฉพาะในศิลปินเท่านั้น คนทั่วๆไป เช่น นักกีฬา นักเรียน หรือแม้แต่กรรมกรก็สามารถจะมีความเข้าใจตนเอง อย่างแท้จริงได้ถ้าทุกคนสามารถทำในสิ่งที่ตนต้องการให้ดีที่สุด รูปแบบเฉพาะของการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง จะมีความแตกต่างอย่างกว้างขวาง จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง กล่าวได้ว่ามันคือระดับความต้องการที่แสดงความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด Maslow ได้ยกตัวอย่างของ ความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ในกรณีของนักศึกษาชื่อ Mark ซึ่งเขาได้ศึกษาวิชาบุคลิกภาพเป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อเตรียมตัวเป็น นักจิตวิทยาคลินิก นักทฤษฎีคนอื่นๆ อาจจะอธิบายว่าทำไมเขาจึงเลือกอาชีพนี้ ตัวอย่าง เช่น Freud อาจกล่าวว่ามันสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับสิ่งที่เขาเก็บกด ความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องเพศไว้ตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่ Adler อาจมองว่ามันเป็นความพยายาม เพื่อชดเชยความรู้สึกด้อยบางอย่างในวัยเด็ก Skinner อาจมองว่าเป็นผลจากการถูกวางเงื่อนไขของชีวิต ในอดีต ขณะที่ Bandura สัมพันธ์เรื่องนี้กับตัวแปรต่างๆ ทางการเรียนรู้ทางสังคม และ Kelly อาจพิจารณาว่า Mark กำลังจะพุ่งตรงไป เพื่อที่จะเป็นบุคคลที่เขาต้องการจะเป็นตัวอย่างที่แสดงถึง การมุ่งตรงไปสู่เป้าประสงค์ในอาชีพ โดยความต้องการ ที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง และถ้าจะพิจารณากรณีของ Mark ให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้น ถ้า Mark ได้ผ่านกาเรียนวิชาจิตวิทยาจนครบหลักสูตร และได้เขียน วิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาเอก และในที่สุดก็ได้รับปริญญาเอกทางจิตวิทยาคลินิก สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์ Mark ต่อไปก็คือ เมื่อเขาสำเร็จการศึกษา ดังกล่าวแล้วถ้ามีบุคคลหนึ่งได้เสนองานให้เขาในตำแหน่งตำรวจสืบสวน ซึ่งงานในหน้าที่นี้จะได้รับค่าตอบแทนอย่างสูง และได้รับผลประโยชน์พิเศษหลายๆ อย่างตลอดจนรับประกันการว่าจ้าง และความมั่นคงสำหรับชีวิต เมื่อประสบเหตุการณ์เช่นนี้ Mark จะทำอย่างไร ถ้าคำตอบของเขาคือ “ตกลง” เขาก็จะย้อนกลับมาสู่ความต้องการระดับที่ 2 คือความต้องการความปลอดภัย สำหรับการวิเคราะห์ความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง Maslow กล่าวว่า “อะไรที่มนุษย์สามารถจะเป็นได้เขาจะต้องเป็นในสิ่งนั้น” เรื่องของ Mark เป็นตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าเขาตกลงเป็นตำรวจสืบสวน เขาก็จะไม่มีโอกาสที่จะ เข้าใจตนเอง อย่างแท้จริง
ทำไมทุกๆ คนจึงไม่สัมฤทธิผลในการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Why Can’t All People Achieve Self-Actualization) ตามความคิดของ Maslow ส่วนมากมนุษย์แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดที่ต้องการแสวงหา เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ภายในตน จากงานวิจัยของเขาทำให้ Maslow สรุปว่าการรู้ถึง ศักยภาพของตนนั้นมาจากพลังตามธรรมชาติ และจากความจำเป็นบังคับ ส่วนบุคคลที่มีพรสวรรค์มีจำนวนน้อยมากเพียง 1% ของประชากรที่ Maslow ประมาณ Maslow เชื่อว่าการนำศักยภาพของตนออกมาใช้เป็นสิ่งที่ยากมาก บุคคลมักไม่รู้ว่า ตนเองมีความสามารถ และไม่ทราบว่าศักยภาพนั้น จะได้รับการส่งเสริมได้อย่างไร มนุษย์ส่วนใหญ่ยังคงไม่มั่นใจในตัวเอง หรือไม่มั่นใจในความสามารถของตนจึงทำให้หมดโอกาสเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง และยังมีสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่มาบดบังพัฒนาการทางด้านความต้องการของบุคคลดังนี้ สำหรับลำดับความต้องการของมนุษย์ทั้ง 5 ขั้น
อิทธิพลของวัฒนธรรม ตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของสังคมมีต่อการเข้าใจตนเอง คือ แบบพิมพ์ของวัฒนธรรม (cultural stereotype) ซึ่งกำหนดว่าลักษณะเช่นไรที่แสดงความเป็นชาย (masculine) และลักษณะใดที่ไม่ใช่ความเป็นชาย เช่นจัดพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความเมตตากรุณา ความสุภาพ และความอ่อนโยน สิ่งเหล่านี้วัฒนธรรม มีแนวโน้มที่จะพิจารณาว่า “ไม่ใช่ลักษณะของความเป็นชาย” (unmasculine) หรือความเชื่อถือของวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่มีคุณค่า เช่น ยึดถือว่าบทบาทของผู้หญิงขึ้นอยู่กับจิตวิทยาพัฒนาการของผู้หญิง เป็นต้น การพิจารณาจากเกณฑ์ต่างๆ ดังกล่าวนี้เป็นเพียงการเข้าใจ “สภาพการณ์ที่ดี” มากกว่าเป็นเกณฑ์ของการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง
ประการสุดท้าย Maslow ได้สรุปว่า การไม่เข้าใจตนเองอย่างแท้จริงเกิดจากความพยายามที่ไม่ถูกต้องของการแสวงหาความมั่นคงปลอดภัย เช่น การที่บุคคลสร้างความรู้สึกให้ผู้อื่นเกิดความพึงพอใจตนโดยพยายามหลีกเลี่ยง หรือขจัดข้อผิดพลาดต่างๆ ของตน บุคคลเช่นนี้จึงมีแนวโน้มที่จะพิทักษ์ ความมั่นคงปลอดภัยของตน โดยแสดงพฤติกรรมในอดีตที่เคยประสบผลสำเร็จ แสวงหาความอบอุ่น และสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ย่อมขัดขวางวิถีทางที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง
แรงจูงใจเบื้องต้น และแรงจูงใจระดับสูง (Deficit Motivation versus Growth Motivation) ในระยะต่อมา Maslow ได้อธิบายความคิดของเขาเรื่องลำดับ ของแรงจูงใจเพิ่มขึ้นจากที่กล่าวมาแล้ว คือ เขาได้แบ่งแรงจูงใจของมนุษย์ออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่ แรงจูงใจเบื้องต้น (deficit motive) และแรงจูงใจระดับสูง (growth motive)
1. แรงจูงใจเบื้องต้น (Deficit motive or Deficiency or D motive) คือแรงจูงใจที่อยู่ในลำดับต่ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพของอินทรีย์ และความต้องการ ความปลอดภัย จุดมุ่งหมายของแรงจูงใจชนิดนี้ คือ การขจัดไม่ให้อินทรีย์เกิดความตึงเครียดจากสภาพการขาดแคลน เช่น ความหิว ความกระหาย ความหนาว ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ในสภาพการณ์นี้แรงจูงใจเบื้องต้นจะทำให้เกิดแรงขับพฤติกรรม ลักษณะของแรงจูงใจเบื้องต้นทำให้เกิดแรงจูงใจเบื้องต้น 5 ประการ ดังนี้
การขาดแรงจูงใจเบื้องต้นทำให้บุคคลเกิดความเจ็บป่วยไม่สบาย ตัวอย่างเช่น ความหิว ถ้ามนุษย์ไม่ได้รับประทานอาหาร เขาก็จะเกิดความเจ็บป่วย
การเกิดขึ้นของแรงจูงใจเบื้องต้นจะป้องกันมิให้เกิดความเจ็บป่วย เช่น เมื่อหิวถ้าเรารับประทานอาหารอย่างเหมาะสมเราก็จะไม่เกิดความเจ็บป่วย
แรงจูงใจเบื้องต้นจะซ่อมแซม และรักษาความเจ็บป่วย หมายความว่า ไม่มีสิ่งใดๆ ที่จะรักษาความอดอยากได้เหมือนอาหาร
ภายใต้ความซับซ้อนของสภาพการณ์ที่ให้บุคคลเลือกได้โดยอิสระแรงจูงใจ เบื้องต้นจะได้รับการเลือกจากบุคคลที่ขาดแคลนมากกว่า คนที่ได้รับ ความพึงพอใจแล้ว เช่น คนที่อดอยากย่อมเลือกอาหารมากกว่าเรื่องเพศ
คนที่มีสุขภาพดีพฤติกรรมของเขาจะไม่ถูกควบคุมโดยแรงจูงใจเบื้องต้นทั้งนี้ เพราะคนที่มีสุขภาพดีก็เนื่องจากมีโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ต้องการอย่างพอเพียง ดังนั้นพฤติกรรมของเขาก็จะไม่ถูกควบคุมโดยการแสวงหาอาหาร เป็นต้น
2. แรงจูงใจระดับสูง ( Growth motive or Metaneeds or B motive ) แรงจูงใจระดับสูงจะตรงข้ามกับแรงจูงใจเบื้องต้น เพราะเป้าหมายของแรงจูงใจ ชนิดนี้เป็นเป้าหมายระยะไกลซึ่งเกี่ยวข้องกับพลังที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคล จุดประสงค์ของแรงจูงใจระดับสูงก็ เพื่อจะปรับปรุง ความเป็นอยู่โดยการเพิ่มพูนประสบการณ์ ซึ่งไม่เหมือนกับแรงจูงใจเบื้องต้น เพราะแรงจูงใจเบื้องต้นเกิดขึ้น เพื่อลด หรือเพิ่มความตึงเครียด ตัวอย่างของ แรงจูงใจระดับสูง เช่น บุคคลที่เลือกเรียนวิชาอินทรีย์เคมีก็ เพราะว่าเขาต้องการที่จะทราบเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับวิชานี้ซึ่งสะท้อนให้เห็นแรงจูงใจ ระดับสูงมากกว่าจะเป็นแรงจูงใจเบื้องต้น แรงจูงใจระดับสูงจะแสดงออกอย่างเด่นชัดภายหลังที่แรงจูงใจเบื้องต้น แรงจูงใจระดับสูงจะแสดงออก อย่างเด่นชัดภายหลังที่แรงจูงใจเบื้องต้นได้รับความพึงพอใจแล้ว เช่น บุคคลจะไม่มีความสนใจที่จะเรียนวิชาอินทรีย์เคมีอย่างแน่นอน ถ้าเขากำลังได้รับ ความอดอยากแทบจะสิ้นชีวิต
แรงจูงใจระดับสูง และความเจ็บป่วยทางจิต (Metaneeds and Metapathologies) หลังจากที่ Maslow ได้อธิบายถึงแรงจูงใจเบื้องต้น และแรงจูงใจ ระดับสูงแล้ว เขาได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องแรงจูงใจระดับสูง ซึ่งเป็นเสมือนสัญชาตญาณ หรือเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่นเดียวกับแรงจูงใจเบื้องต้น และแรงจูงใจระดับสูง ถ้าบุคคลได้รับการตอบสนองจนเกิดความพึงพอใจแล้ว ก็จะรักษาสภาพ และพัฒนาให้เกิดสุขภาพจิตที่ดี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า บุคคลอาจเกิดความเจ็บป่วยทางจิต (psychologically sick)เป็นความเจ็บป่วยที่เป็นผลมาจากความล้มเหลวในการบรรลุถึงความสมบูรณ์ หรือความเจริญก้าวหน้าMaslow เรียกความเจ็บป่วยนี้ว่า “metapathologies” ซึ่งเป็นสภาพของจิตใจที่มีอาการเฉยเมย (apathy) มีความผิดปกติทางจิต (alienation) เศร้าซึม (depress) ความคับข้องใจของแรงจูงใจระดับสูง และความเจ็บป่วยทางจิต
ความคิดเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ( Maslow’s Basic Assumptions Concerning Human Nature) ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นของ ทฤษฎีบุคลิกภาพที่ว่า จิตวิทยามานุษยนิยมแตกต่างอย่างมากกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และทฤษฎีพฤติกรรมนิยมในเรื่อง ความคิดเห็นเบื้องต้นของ ธรรมชาติมนุษย์ และถ้าจะวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาแล้ว จะเห็นได้ว่าจิตวิทยามานุษยนิยมสร้างขึ้นมา เพื่อคัดค้านอย่างรุนแรงกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และทฤษฎีพฤติกรรมนิยมในความคิดเห็นเกี่ยวมนุษย์ ความแตกต่างอย่างยิ่งก็คือเรื่อง “แรง” (force) เพราะทฤษฎีมานุษยนิยม จะแตกต่างอย่างเด่นชัด กับทฤษฎีของ Freud และ Skinner
ธรรมชาติของมนุษย์ตามทฤษฎีของ Maslow มี 7 ประการ ดังนี้
ความเป็นอิสระ – การถูกกำหนดมาแล้ว ( Freedom – Determine )
ความเป็นเหตุผล – ความไม่มีเหตุผล ( Rationality – Irrationality )
การรวมเข้าเป็นส่วนรวม – ประกอบด้วยส่วนย่อย ( Holism – Elementalism )
สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด – สิ่งแวดล้อม ( Constitutionalism – Environmentalism )
ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง–ความไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ( Changeability – Unchangeability )
ความรู้สึกส่วนตัว – ความรู้สึกเป็นกลาง ( Subjectivity – Objectivity )
การกระทำ – การตอบสนอง ( Proactivity – Reactivity )
ดังจะอธิบายโดยละเอียดเป็นข้อๆ คือ
ความเป็นอิสระ – การถูกกำหนดมาแล้ว ( Freedom – Determine )
กลุ่มอัตถิภาวนิยม Existentialists ยังไม่แน่ใจในการยอมรับความคิดเกี่ยวกับความเป็นอิสระของมนุษย์ แต่แนวคิดจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยมเชื่อว่า มนุษย์สามารถที่จะเลือกวิถีทางของตน และมนุษย์มีรากฐานของความเป็นอิสระ และรับผิดชอบพฤติกรรมของเขาเอง ซึ่งความเป็นอิสระนี้ จะปรากฏชัดเจน ในสิ่งที่บุคคลเลือกกระทำพฤติกรรมนั้นๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจในความต้องการของตน เช่น บุคคลจะเลือกสิ่งใด หรือเลือกอย่างไรที่จะทำให้เขา เกิดความพึงพอใจ และสิ่งสำคัญก็คือบุคคลมีอิสระในการแสวงหา เพื่อมุ่งไปสู่การเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง และการที่บุคคลจะเลือกอะไรนั้นคือ ศักยภาพของตัวเขา และเขาจะพัฒนาศักยภาพนั้นได้อย่างไรก็ตัวเขาเองนั่นแหละที่เป็นตัวกำหนด ในทฤษฎีของ Maslow เชื่อว่าบุคคลที่อายุมากจะไปถึงขั้น ของความต้องการก่อนผู้ที่มีอายุอ่อนกว่า และเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความมีอิสระก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น ในช่วงวัยทารกบุคคลจะยังไม่มีอิสระอย่างแท้จริง เพราะในวัยนี้บุคคลยังถูกควบคุมด้วยความต้องการต่างๆ จากสภาพร่างกาย บุคคลยังไม่สามารถเลือกที่จะรับประทานอาหารเอง เลือกที่จะนอนหลับ หรือการขับถ่าย แต่อย่างไรก็ตามศักยภาพของบุคคลได้มีอยู่โดยธรรมชาติ ในขณะที่บุคคลมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้นบุคคลก็จะเคลื่อนไปสู่ความต้องการตามลำดับขึ้น และมีความเจริญเติบโตที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยบุคคลจะมีอิสระที่จะสร้างสรรค์ตนเอง และสร้างตนเองให้เป็นไปตามทิศทางที่ตนเองต้องการ ตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนไปตามลำดับความต้องการของแต่ละบุคคลก็มีศักยภาพที่จะนำตัวเองไปตามวิถีทางของตน นั่นก็คือความมีอิสระที่จะชี้นำตนเองนั่นเอง
ความเป็นเหตุผล – ความไม่มีเหตุผล (Rationality – Irrationality)
การพิจารณาว่ามนุษย์มีเหตุผล หรือไม่ตามความคิดของ Maslow นั้น สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนก็คือความคิดของ Maslow ที่มีต่อการวิจัยสัตว์ Maslow กล่าวว่าการวิจัยสัตว์ไม่มีเหตุผลพอเพียงที่จะนำมาอ้างอิงกับจิตวิทยามนุษย์ เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิเสธเรื่องนี้ คือ สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตขั้นต่ำซึ่ง ไม่สามารถจำประสบการณ์ในอดีตได้ สัตว์คิดได้เฉพาะเรื่องที่เป็นสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน และสำหรับเรื่องอนาคตแล้วสัตว์ไม่สามารถที่จะคิดได้เลย ดังนั้นทฤษฎีของ Maslow จึงยึดถือความมีเหตุผลของมนุษย์เป็นศูนย์กลางซึ่งถือว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้ที่รู้จักเหตุผล มีสติ และรู้สำนึกในพฤติกรรมของตน
อย่างไรก็ตาม Maslow ยอมรับว่ามีพฤติกรรมบางอย่างที่แสดงถึงความไม่มีเหตุผลของมนุษย์ เช่น ขณะที่บุคคลมีความคิดขัดแย้งระหว่างความต้องการ หรืออยู่ในภาวะที่ถูกบังคับ เป็นต้น ในสภาพการณ์เช่นนี้พฤติกรรมของบุคคลจะไม่คงเส้นคงวา และบางครั้งจะเป็นพฤติกรรมที่เกิดจาก กระบวนการของ จิตไร้สำนึก (unconscious) Maslow เชื่อว่า การกระทำ หรือพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ถูกควบคุม โดยพลังที่มีเหตุมีผล และรู้สำนึก Maslow พิจารณาว่าบุคคลจะรู้สึก หรือสำนึกในตนเอง และความรู้สึก หรือรู้สำนึกดังกล่าวนี้จะแสดงออก โดยประสบการณ์ทางความคิดของเขา ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูล ที่เที่ยงตรงสำหรับการศึกษามนุษย์โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการของความไม่มีเหตุผล หรือความไม่รู้ตัวนั้นไม่ได้ควบคุมชีวิตความเป็นอยู่ของ มนุษย์ Maslow ได้เสนอภาพของมนุษย์ใหม่ว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้มีเหตุผล มีความรู้สึกตัว มีการรับรู้ในตนเอง ซึ่งสิ่งต่างๆ ดังกล่าวนี้ช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจ และค้นหาศักยภาพของตนเอง
การรวมเข้าเป็นส่วนรวม – ประกอบด้วยส่วนย่อย (Holism – Elementalism)
Maslow กล่าวว่า มนุษย์นั้นรวมเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งร่างกาย และจิตใจ หรือ มนุษย์จะบูรณาการเข้าเป็นส่วนรวม Maslow ได้ยกตัวอย่าง ที่แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบุคคลดังนี้ ถ้า John Smith หิว “นั่นก็คือ John Smith ต้องการอาหาร ไม่ใช่ท้องของ John Smith ที่ต้องการอาหาร” (Maslow 1980 p. 19 - 20) ในเรื่องอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน คือ John Smith ต้องการความปลอดภัย John Smith ต้องการได้รับ ความนับถือยกย่อง และ John Smith ต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง เป็นต้น จะเห็นได้ว่า Maslow รวมทุกๆ ด้านของบุคลิกภาพ เข้ามาเป็นส่วนรวม และการศึกษาบุคคลโดยส่วนรวมทั้งหมดเท่านั้นจึงจะมีความเที่ยงตรงต้องการให้ข้อมูลทางจิตวิทยา บุคคลไม่ได้แบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ ดังนั้นการเลือกศึกษา เพียงส่วนหนึ่งส่วนใดของบุคคลย่อมก่อให้เกิดความผิดพลาดได้
สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด – สิ่งแวดล้อม (Constitutionalism – Environmentalism)
กลุ่มอิตถิภาวนิยม (existentialist) เน้นถึงความเป็นอิสระที่บุคคลแสดงออก ทฤษฎีของ Maslow ก็ยอมรับในธรรมชาตินี้ของมนุษย์แต่สิ่งที่ควรพิจารณา คือ ถ้าบุคคลมีอิสระอย่างเต็มที่ ที่จะปรุงแต่งตัวเอง และสร้างสรรค์แนวโน้มการกำหนดตัวเองได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้วไม่ว่าสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หรือสิ่งแวดล้อมก็จะไม่มีบทบาทสำคัญในการสร้างลักษณะพฤติกรรมของมนุษย์ ดังนั้นถึงแม้ว่า Maslow จะยอมรับในความเป็นอิสระของมนุษย์ดังกล่าว มาแล้วข้างต้น เขาก็ยังคำนึงถึงอิทธิพลของสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และสิ่งแวดล้อมว่าได้เข้ามามีบทบาท ในการปรุงแต่งพฤติกรรมมนุษย์ระหว่าง สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดกับสิ่งแวดล้อม Maslow มีความโน้มเอียงที่จะให้สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดมีความสำคัญกว่าเล็กน้อย เช่น ความต้องการทางด้านร่างกาย เห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และความต้องการทางร่างกายเป็นพื้นฐานของลำดับขั้นความต้องการของแรงจูงใจของมนุษย์ และที่สำคัญกว่านี้คือ Maslow ถือว่าแรงจูงใจระดับสูง (B motive) และความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (self-actualization) เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด โดย Maslow อาจใช้ชื่อต่างๆ ต่อไปนี้ เช่น “พลังที่ติดตัวมาแต่กำเนิด” (inborn urge) “สัญชาตญาณ” (instinct) และ “สันดานมนุษย์” (inherent in human) และ Maslow ยังพิจารณาลึกซึ่งไปกว่านี้ว่าแรงขับที่มุ่งไปสู่การเข้าใจศักยภาพของตนเป็นสันดานของมนุษย์มากกว่าจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้เรียนรู้ หรือเป็นแรงขับ ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดนั่นเอง
ในความสำคัญของสิ่งแวดล้อม Maslow ยอมรับว่าอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมจะมีต่อบุคคลในระยะเริ่มแรกของชีวิต และมีผลต่อพัฒนาการของบุคลิกภาพ แต่ดูเหมือนว่า Maslow จะให้ความสำคัญดังกล่าวนี้ ในด้านที่ทำให้เกิดความเสียหายในด้านที่ทำลายพลังซึ่งทำให้เกิดความกระทบกระเทือนทางอารมณ์ ในระยะต่อมามากกว่าจะให้ความสำคัญในด้านการสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาการ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าระหว่างสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดกับสิ่งแวดล้อม Maslow ให้ความสำคัญของสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดว่า มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมบ้างแต่ก็ไม่สำคัญมากนัก ทั้งนี้ เพราะว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญก็คือเรื่องของความมีอิสระ ( freedom )
ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง– ความไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง (Changeability – Unchangeability)
การจะเข้าใจความคิดของ Maslow ในเรื่องที่ว่าบุคคลมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง หรือไม่ เราจำเป็นจะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถ ที่จะเปลี่ยนแปลง หรือไม่ เราจำเป็นจะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความมีอิสระ และแรงจูงใจระดับสูง ในแนวคิดของทฤษฎีมานุษยนิยม ตามที่กล่าวมา แล้วเสียก่อน Maslow เชื่อว่าบุคคลมีอิสระอย่างใหญ่หลวง ที่จะกำหนดจุดมุ่งหมายของตนเอง ส่วนแรงจูงใจระดับสูงซึ่งถือว่า เป็นศูนย์กลางในทฤษฎีนี้เชื่อว่า บุคคลแสวงหาวิถีทาง เพื่อความก้าวหน้าของตนตลอดเวลา และ เพื่อการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงอันเป็นจุดยอดของ ปิรามิดลำดับขั้นของความต้องการ ความเป็นอิสระ และแรงจูงใจระดับสูงจะเข้ามาปฏิสัมพันธ์กัน และปรากฏในบุคลิกภาพ คือ ขณะที่บุคคลมีความต้องการต่อเนื่องไป ตามลำดับขั้นของ ความต้องการเขาก็มีอิสระที่จะคิด และเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้ความต้องการในแต่ละขั้นของเขาได้รับการตอบสนอง บุคคลจึงมีความสามารถ ที่จะเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวิถีทางของการมีชีวิตของตนเอง
ความรู้สึกส่วนตัว – ความรู้สึกเป็นกลาง (Subjectivity – Objectivity)
Maslow มีความเชื่อในเรื่องความรู้สึกส่วนตัวว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เขาเห็นว่าประสบการณ์ หรือความรู้สึกส่วนตัวของบุคคลเป็นข้อมูล ที่สำคัญ ทางจิตศาสตร์ (Psychological science) เขากล่าวว่าเราจะไม่สามารถเข้าใจมนุษย์ได้ ถ้าปราศจากการอ้างอิงถึงโลกส่วนตัวของเขา (private world) สำหรับจิตศาสตร์แล้วประสบการณ์ หรือความรู้สึกส่วนตัวมีความสำคัญมากกว่าพฤติกรรมที่ได้จากการสังเกต ในขณะที่ Maslow ได้แสดงลำดับขั้นของ ความต้องการว่าเป็นเรื่องปกติวิสัยของมนุษย์ เขาก็ยอมรับว่าความต้องการเหล่านี้ จะมีลักษณะเฉพาะในแต่ละคนจะแสดงออก ในวิถีทางที่เป็นเอกลักษณ์ ของตน ตัวอย่าง เช่น Ann และ Betty ทั้ง 2 คนต่างก็มีความต้องการที่จะได้รับการยกย่อง แต่ทั้ง 2 คนนี้ ต่างก็มีประสบการณ์ส่วนตัว และพยายามที่จะ ทำให้เกิดความพึงพอใจในความต้องการนี้แตกต่างกัน เช่น Ann อาจจะแสดงตัวว่าเป็นแม่ที่ดีของลูก เพื่อให้คนอื่นยอมรับเธอในด้านของ ความเป็นแม่ แต่ Betty อาจจะได้รับความพึงพอใจที่จะได้รับการยกย่องจากการประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ดังนั้นการจะเข้าใจบุคลิกภาพ ของบุคคลจึงมี ความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของเขาซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำมาวิเคราะห์พฤติกรรม
การกระทำ – การตอบสนอง (Proactivity – Reactivity)
นักจิตวิทยาในกลุ่ม Maslowian ไม่เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก แต่เขาเชื่อว่ามนุษย์จะเป็นผู้กระทำ (act) มากกว่าที่จะเป็นฝ่ายโต้ตอบ (react) ตัวอย่าง เช่น การที่บุคคลพยายามจะสนองความพึงพอใจในความต้องการต่างๆ เขาก็จะแสดงพฤติกรรมออกมาเอง หรือความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงก็ไม่ได้เกิดจากสิ่งเร้าภายนอกอย่างหนึ่งอย่างใดมากระตุ้น มนุษย์จึงมีธรรมชาติที่จะแสดงพฤติกรรมมากกว่า จะเป็นฝ่ายโต้ตอบ
คุณลักษณะของผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Characteristics of Self-Actualizing People) Maslow ได้กำหนดคุณลักษณะของบุคคลที่มีความ เข้าใจตนเอง อย่างแท้จริงไว้ 15 ข้อ ดังนี้
มีความสามารถที่จะรับรู้ความเป็นจริงอย่างถูกต้อง (Efficient Perception of Reality ) คุณลักษณะที่เด่นอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง คือ มีความสามารถที่จะรับรู้เกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ถูกต้อง และตรงตามความจริง และจะมีความสัมพันธ์กับความเป็นจริงนั้นๆ อย่างมีความสุข โดยไม่มองว่าความเป็นจริงเหล่านั้นเป็นปัญหากับตน เขาจะไม่ยอมให้ความปรารถนา และความหวังของเขาบิดเบือนสิ่งที่เขาได้ประสบ เขาจะมีความเข้าใจผู้อื่น และสามารถตัดสินผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วในพฤติกรรมต่างๆ เช่น การเสแสร้ง ความไม่จริงใจ ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ Maslow ค้นพบว่าความสามารถที่จะรับรู้ความเป็นจริงอย่างถูกต้องจะเห็นได้ชัดเจนในบุคคลหลายๆอาชีพ เช่น ศิลปิน นักดนตรี นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง และนักปรัชญา เป็นต้น
บุคคลที่มีความสามารถรับรู้ความเป็นจริงอย่างถูกต้อง จะเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี ไม่มีความวิตกกังวล ไม่มองโลกในแง่ร้าย และมีความสามารถอดทนต่อ ความไม่สมหวัง หรือความผันแปรไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ และเมื่อมีความผิดหวังใดๆ เกิดขึ้นก็จะยอมรับ และไม่รู้สึกกระทบกระเทือนใจ โดยจะอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายใจ
ยอมรับในตนเอง ยอมรับผู้อื่น และยอมรับธรรมชาติ (Acceptance of Self, others, and Nature) บุคคลที่มีสุขภาพจิตดีจะมีความรู้สึกยกย่องนับถือตนเอง และผู้อื่น เป็นความรู้สึก ยกย่องที่ไม่มากเกินไปจนเกินความเป็นจริง และมีความอดทนในข้อบกพร่อง ความผิดหวัง ความอ่อนแอของตน และเป็นคนที่มีอิสระ จากการถูกครอบงำในความรู้สึกผิด ความรู้สึกอาย ความรู้สึกท้อแท้ใจ หรือความวิตกกังวล สำหรับการยอมรับในธรรมชาติ หมายถึงการยอมรับใน ธรรมชาติ นั้นๆ เช่น ยอมรับว่าน้ำย่อมทำให้เปียกหินย่อมแข็ง ต้นไม้ใบไม้ย่อมมีสีเขียว เป็นต้น
ลักษณะของบุคคลที่ยอมรับในตนเองแสดงออก และเห็นได้ชัดเจนในระดับการสนองความ
ต้องการทางร่างกายคือจะเป็นคนที่รับประทานอาหารได้ นอนหลับสนิท และมีความสุขในเรื่องเพศ
มีความคล่องตัว มีความเป็นธรรมชาติโดยไม่เสแสร้ง (Spontaneity, Simplicity, Naturalness) พฤติกรรมของผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง จะแสดงให้เห็นถึง ความคล่องตัว และไม่มีการแสร้งทำ เขาจะแสดงออกถึงชีวิตภายในที่เป็นตัวของตัวเอง เช่น ความคิด และแรงกระตุ้นต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ชื่นชม หรือประทับใจผู้อื่น หรือบางครั้งอาจดูเหมือนกับว่าขาดความสุภาพ แต่พฤติกรรมต่างๆ ของเขาก็จะไม่ผิดไปจากขนบธรรมเนียมประเพณี
ใช้ปัญหาเป็นศูนย์กลาง (Problem Centering) เมื่อมีปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการประกอบอาชีพ การทำงานในหน้าที่ ฯลฯ เขาจะไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง หรือเอาแต่ใจตนในการแก้ปัญหาเหล่านั้น แต่จะแก้ปัญหาให้ตรงสาเหตุโดยไม่เข้าข้างตนเองนอกจากนี้การทำงานของเขาจะมีหลักการว่ามีชิวิตอยู่ เพื่องานมากกว่าที่จะทำงาน เพื่อให้มีชีวิตอยู่ คือ มีแนวโน้มที่จะอุทิศตนเองในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
มีความสันโดษมีความต้องการ ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสงบเรียบร้อย (Detachment : Need for Privacy) เป็นผู้ที่ไม่สร้างความผูกพัน หรือพึ่งพาอาศัยผู้อื่น มากนัก ซึ่งมีลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้อื่นมองว่าเป็นคนไว้ตัว ทำตัวห่างเหิน หยิ่ง หัวสูง และเย็นชา ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ที่มีความเข้าใจตนเอง อย่างแท้จริง ไม่มีความต้องการสร้างมิตรภาพกับผู้อื่นมากเกินไป เขาจะเชื่อมั่นในความสมบูรณ์ภายในตัวของเขาเอง และไม่รู้สึกเดือดร้อนที่จะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น
เป็นตัวของตัวเองมีอิสระจากวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม (Autonomy : Independence of Culture and Environment) ผู้ที่มีความเข้าใจตนเอง อย่างแท้จริงจะไม่สร้างเงื่อนไขให้ความ พึงพอใจของตนเอง ขึ้นอยู่กับวัตถุ และสิ่งแวดล้อมของสังคม เขาเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ที่มีต่อความ เจริญเติบโต และพัฒนาการ ในลักษณะเช่นนี้ เขาจึงไม่เรียกร้องสิ่งแวดล้อมพิเศษที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ บุคคลที่มีสุขภาพจิตดีย่อมต้องการ นำตนเอง และต้องการความอิสระ เขาจะมองตนเองว่าเป็นผู้บังคับบัญชา หรือปกครองตนเอง เขาจะมีความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบ และมีวินัยในตนเอง ในอันที่จะกำหนดวิถีชีวิต หรือจุดมุ่งหมายของเขา และมีความเชื่อมั่นในตนเองในด้านความคิดเห็นต่างๆ โดยจะให้ความสำคัญน้อยมากในเรื่องความมีหน้ามีตา การได้รับเกียรติยศ หรือการเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่เขากลับให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาตน และการเจริญ เติบโตของจิตใจ
มีความรู้สึกชื่นชมยินดีอยู่เสมอ (Continued Freshness of Appreciation) Maslow พบว่า ผู้ที่มีสุขภาพจิตดี และมีวุฒิภาวะจะมีความชื่นชมในชีวิต ความเป็นอยู่ของตน โดยไม่รู้สึก เบื่อหน่าย หรือท้อแท้สิ้นหวัง เขาจะมองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความสุขสดชื่น เห็นความสดชื่นสวยงามของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น เห็นความสวยงามของพระอาทิตย์ที่กำลังลับขอบฟ้า เห็นความน่ารักของดอกไม้ที่กำลังแย้มบาน กล่าวได้ว่า ชั่วทุกขณะของเขาจะเป็นชีวิตที่ตื่นเต้น เร้าใจ และมีความหมายตลอดเวลา
มีความรู้สึกล้ำลึกกับธรรมชาติ (Peak of Mystic Experience) ความรู้สึกล้ำลึกกับธรรมชาติหมายถึงความรู้สึกว่าตัวเองผสมกล้ำกลืนไปกับธรรมชาติ หรือกับโลก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้สูญเสียความรู้สึกตัว เช่น การแสดงออกถึงการหยั่งรู้ และค้นพบสิ่งที่แอบแฝงลึกลับ ทำให้บางครั้งดูเหมือนว่า เขาไม่ได้อยู่ในความเป็นจริงของโลกในปัจจุบัน
สนใจสังคม (Social Interest) เขาจะมีความสามารถที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดี มีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่น มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และมีความรักใน เพื่อนมนุษย์ มีทัศนคติต่อตัวเองว่าเสมือนเป็นพี่ที่จะให้ความอบอุ่น และคุ้มครองน้องๆ
สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relations) บุคคลที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงมีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ลึกซึ้ง และสนิทสนม เป็น เพื่อนสนิทเพียง 2 – 3 คน เขาไม่ต้องการ เพื่อนมากแต่ต้องการ เพื่อนแท้ และมีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีลักษณะ และมีความสามารถพิเศษคล้ายคลึงกับส่วนใหญ่ บุคคลเหล่านี้จะมีความรู้สึกอ่อนโยนกับเด็ก และมักจะทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจได้ง่าย เขาเป็นคนที่มีความเมตตากรุณา และจะแสดงความรู้สึกไม่พอใจอย่างเปิดเผยกับคนที่หลอกลวง หรือไม่จริงใจกับเขา
มีความเป็นประชาธิปไตย (Democratic Character Structure) จะเป็นผู้ที่มีค่านิยมของความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่มีอคติ มีความเคารพต่อผู้อื่น มีความเต็มใจที่จะเรียนรู้จากบุคคลใดก็ได้ที่มีความสามารถจะเป็นครูเขา Maslow พบว่าผู้ที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง จะไม่แบ่งแยกว่ามนุษย์นั้น ไม่เท่าเทียมกัน
รู้ความแตกต่างระหว่างวิธีการ และเป้าประสงค์ (Discrimination between Means and Ends) เขาจะยึดมั่นในหลักศีลธรรมจรรยาอย่างมั่นคง ในการกระทำทุกอย่าง เพื่อให้บรรลุ ถึงเป้าประสงค์ที่ดีงาม และไม่มีความรู้สึกสับสน หรือความคิดขัดแย้งว่าสิ่งใดถูก หรือผิดสิ่งใดดี หรือเลว เขาสามารถที่จะวิเคราะห์ระหว่างสิ่งที่เขาพยายามค้นหากับวิธีการที่จะประสบความสำเร็จ และรู้สึกมีความสุขที่จะแสดงพฤติกรรม อันถูกต้องเหมาะสม อันจะนำไปสู่เป้าประสงค์
มีอารมณ์ขันอย่างมีสันติ (Sense of Philosophical Humor) เขาจะมีอารมณ์ขันอย่างมีความคิด เช่น ไม่ขบขันในสิ่งโหดร้ายทารุณ หรือขบขันในสิ่งที่เป็น ข้อบกพร่อง หรือเป็นปมด้อยของผู้อื่น และไม่สร้างสถานการณ์ขบขันที่จะทำให้ผู้อื่นอับอาย หรือเจ็บปวด ส่วนการแสดงอารมณ์ขันนั้น จะใช้การยิ้มมากกว่าหัวเราะ
มีความสามารถในการสร้างสรรค์ (Creativeness) Maslow พบว่าความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จะมีในคนที่เข้าใจตนเองอย่างแท้จริงมากกว่าบุคคลอื่นๆ ความคิดสร้างสรรค์ของเขาจะแสดงออกในการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป และแสดงออกในบุคลิกภาพ หรือในผลงานต่างๆ เช่น บทกวี ศิลป ดนตรี งานทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
การต่อต้านวัฒนธรรมภายนอกที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมภายในตน ( Resistance to Enculturation) บุคคลที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงจะมีความพร้อมที่จะเผชิญกับวัฒนธรรม หรือประสบการณ์ใหม่ๆ จากสิ่งแวดล้อมของเขา และสามารถที่จะบูรณาการประสบการณ์ใหม่ให้สอดคล้องกับตน หรืออาจจะรับวัฒนธรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนา และปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านี้ก็จะมีความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม เช่น เขาอาจมีความพอใจที่จะทำพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งขัดแย้งกับ ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การกระทำของเขาจะขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี หรือไม่มีขอบเขตจำกัดของ พฤติกรรมนั้นๆ โดยแท้จริงแล้วเขายังมีข้อจำกัด ที่จะอยู่ในกฎเกณฑ์แต่จะมีค่านิยมของตนเองที่จะเลือกประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองพึงพอใจ Maslow เชื่อว่าการพัฒนาตน เพื่อไปสู่ความต้องการขั้นสูงสุด คือ การเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกคน โดยไม่จำเป็นจะต้องมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด แม้ว่าจะเป็นความจริงที่ว่าสติปัญญามีส่วนช่วยในการพัฒนาแต่ก็มิใช่องค์ประกอบที่สำคัญ อย่างไรก็ตามบุคคลที่พัฒนามาถึง จุดสูงสุดของความต้องการ ก็มิได้หมายความว่า เขาจะเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์แบบทุกอย่าง เพราะเขาก็ยังเป็นบุคคลธรรมดาที่ยังมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนคนทั่วๆไป เช่น มีความรู้สึกเสียใจ โกรธ กลัว มีความระแวงสงสัย หรือมีความรู้สึกอ่อนไหวที่อาจทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย เห็นแก่ตัว ใจน้อย หรือเศร้าซึม แต่เขาสามารถระงับ และขจัดอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างดีไม่ให้แสดงออกมาอย่างไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นผู้ที่เข้าใจตนเองอย่างแท้จริง จึงไม่ใช่บุคคล ที่มีความสุขสมบูรณ์ในชีวิต หรือประสบความสำเร็จในความปรารถนาทุกอย่าง หรือมีความสามารถปรับตัวได้ดียิ่ง แต่สิ่งสำคัญของบุคคลเหล่านี้คือ มีความเข้าใจตนเอง เข้าใจโลก และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะชี้นำการดำเนินชีวิตของตนได้ประสบความสุข และความสำเร็จได้ดีกว่าคนอื่นๆ
กระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพ (The Process of Personality Development) การพัฒนาบุคลิกภาพในทัศนะของ Maslow คือการได้รับความพึงพอใจ จากความต้องการขั้นต่ำไปสู่ความต้องการขั้นต่ำไปสู่ความต้องการขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับ การผ่านพ้นความต้องการแต่ละขั้นนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมของบุคคลนั้น สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความหวาดหวั่น และไม่สนองความต้องการต่างๆ ย่อมจะส่งเสริมความเจริญเติบโตของบุคลิกภาพ และนำไปสู่การเข้าใจตนเอง อย่างแท้จริง ในทัศนะของ Maslow สิ่งแวดล้อมสำคัญมากในความต้องการเบื้องต้น ตัวอย่างที่แสดงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นที่เข้าใจชัดเจนว่า ความต้องการต่างๆ ต่อไปนี้ ความปลอดภัย ความรัก และความเป็นเจ้าของ เป็นความต้องการที่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือ จากบุคคลอื่นที่จะทำให้เกิด ความพึงพอใจ ต่อมาในความต้องการระดับสูงขึ้นบุคคลจะอาศัยสิ่งแวดล้อมน้อยลงแต่จะใช้ประสบการณ์ภายในตน เพื่อชี้นำพฤติกรรม ดังนั้นในความต้องการ ระดับสูง พฤติกรรมจึงถูกกำหนดโดยธรรมชาติภายในของบุคคล เช่น ความสามารถ ศักยภาพ ความสามารถพิเศษ และแรงกระตุ้นทางการสร้างสรรค์ เมื่อถึงระยะนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่าบุคคลต้องการรางวัล หรือความเห็นชอบจากผู้อื่นลดน้อยลงเป็นการเปลี่ยนการเรียนรู้จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไป สู่การเรียนรู้โดยวิธีรับรู้ด้วยตนเอง (associative learning to perceptual learning) การเรียนรู้โดยวิธีรับรู้ด้วยตนเองจะเป็นการเรียนรู้โดยความสมัครใจ มีความสามารถในการหยั่งเห็น (insight) มีความสามารถเข้าใจตนเอง และไปสู่พัฒนาการของบุคลิกภาพขั้นสุดท้าย คือ มีความเข้าใจตนเอง และโลกอย่าง แท้จริงซึ่งจะช่วยให้การดำเนินชีวิต เป็นไปอย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จ
ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Maslow เป็นทฤษฎีที่ให้ความรู้ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมนุษย์แตกต่างไปจากทฤษฎีที่ตั้งขึ้นในระยะแรกๆ ของการศึกษาในเรื่องนี้ เป็นทฤษฎีที่มองมนุษย์ในมิติใหม่ว่ามนุษย์นั้นมีความดี มีความงาม มีคุณค่า และมีความปรารถนาที่จะพัฒนาตนเองซึ่งนับว่า เป็นความคิดเห็นที่มีประโยชน์ ในการศึกษาจิตวิทยาบุคลิกภาพ ทำให้เข้าใจพฤติกรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้นซึ่งจะเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาบุคลิกภาพ ให้ไปสู่จุดมุ่งหมายสุดท้ายคือ บุคลิกภาพที่สมบูรณ์แบบ หรือในทัศนะของ Maslow คือการพัฒนาบุคคลไปสู่การเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงนั่นเอง
2. ทฤษฎีมนุษยนิยม หรือบุคลิกภาพของคาร์ อาร์ โรเจอร์ส
ทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ อาร์ โรเจอร์ส (Carl R. Rogers, 1902 – 1987) โรเจอร์ส เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกันอยู่ในกลุ่มมานุษยนิยม ทฤษฎีนี้อธิบายว่า มนุษย์มีธรรมชาติที่ดีงาม มีแรงจูงใจทางบวกที่จะพัฒนาตนเองในทิศทางที่เหมาะสม
ประวัติของผู้กำเนิดทฤษฎี
คาร์ โรเจอร์ส เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1902 เป็นบุตรชายคนที่ 4 มีพี่น้อง 6 คน เกิดที่เมืองโอ็กปาร์ค (Ork Park) รัฐอิลินอยส์ (Illinois) ประเทศสหรัฐอเมริกา เขามาจากครอบครัวที่อบอุ่น มีความรักใคร่ และใกล้ชิดกันระหว่างพ่อแม่พี่น้อง บิดามารดาของเขา เป็นผู้ที่มีความสนใจ ทางการศึกษามาก และเป็นคนที่เคร่งครัดทางศาสนา จึงส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาของลูกๆ อย่างเต็มที่ พร้อมๆ กับการอบรมให้ลูกๆ ฝักใฝ่ในศาสนาด้วย และเนื่องจากบิดามารดา มีความระมัดระวังไม่ให้ลูกๆ พบเห็น หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงปรารถนา จึงได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่ฟาร์ม ทางทิศตะวันตกของชิคาโก ทำให้โรเจอร์ส ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นในชนบท ที่ถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย จากครอบครัว เขาชอบอ่านหนังสือมาก และอ่านหนังสือทุกประเภท และมีผลการเรียนดีเด่นเสมอมา คาร์ โรเจอร์ส สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในสาขาประวัติศาสตร์ และปริญญาโทในสาขาศาสนา และจิตวิทยา และปริญญาเอกในสาขาทางด้านจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัย โคลัมเบีย (Columbis University) ในปี ค.ศ. 1931 ในระหว่างเรียน เขาได้มีโอกาสได้ฝึกงานด้านคลินิกเกี่ยวกับเด็ก ที่ใช้วิธีการบำบัดของจิตวิเคราะห์ และเมื่อเขาได้มีโอกาสทำจิตบำบัดครั้งแรก ก็พบว่า มีความขัดแย้งกันระหว่างการบำบัดแบบจิตวิเคราะห์กับวิธีการศึกษาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่เขาได้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกแล้ว ได้ทำงานเป็นนักจิตวิทยา ณ สถาบันการศึกษาเด็ก เพื่อป้องกันการทารุณกรรมแก่เด็ก ซึ่งเขาได้นำหลักการ ทางจิตวิทยาไปใช้ในการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาอย่างจริงจัง และประสบผลสำเร็จอย่างดีตลอดมา เช่น เด็กเหลือขอ อาชญากรวัยรุ่น เด็กที่ด้อยโอกาส ฯลฯ
ในระหว่างปี ค.ศ. 1940 –1945 โรเจอร์สได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยา และสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio State University ) และในระหว่างปี ค.ศ.1945 – 1957 ได้ย้ายไปสอน ณ มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) และในช่วงเวลาดังกล่าว โรเจอร์ได้ผลิตผลงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการให้คำปรึกษาเน้นบุคคลเป็นศูนย์กลาง (Person-Centered Counseling) ในระหว่างปี ค.ศ. 1957 – 1963 ได้ย้ายไปสอน ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) จากนั้น ได้ย้ายไปทำงาน ที่ศูนย์การศึกษาระดับสูงทางด้านทางพฤติกรรมศาสตร์ ที่แสตนฟอร์ด (Standford) และในปี ค.ศ. 1963 ได้ย้ายไปทำงานศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับบุคคล (Center for Studies of the Person) ที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเขาได้นำหลักการทางจิตวิทยามาใช้ เพื่อพัฒนาบุคคลในวงการต่าง เช่น แพทย์การศึกษา อุตสาหกรรม รวมทั้งประชาชนโดยทั่วไป ให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ เขาได้ใช้ชีวิตที่นั่นจนเสียชีวิตเมื่อ ปี ค.ศ. 1986 โรเจอร์ส มีผลงานต่างๆ และได้รับรางวัลทางวิจาการต่างๆ มากมาย ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาได้รับตำแหน่งที่สำคัญๆ ในทางจิตวิทยาอย่างมากมายเช่นเดียวกัน เช่น ประธานสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา (American Psychological Association) นอกจากนี้ เขายังได้เขียนบทความ และหนังสือเกี่ยวกับการแนะแนว และจิตบำบัด และบุคลิกภาพไว้มากมายหลายสิบเรื่องโรเจอร์ส ได้ชื่อว่า เป็นนักจิตวิทยามานุษยนิยมที่สำคัญ และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอีกท่านหนึ่ง เขาได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้ที่ยกระดับวิชาชีพจิตวิทยาให้ได้รับการยอมรับ และเชื่อถือจากมหาชน โดยพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ว่า นักจิตวิทยาที่รู้จริง ปฏิบัติจริง ย่อมเป็นผู้ที่มีความสุข และความสำเร็จในชีวิต ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์ร้อนทางด้านจิตใจ และมีปัญหาทาง บุคลิกภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ได้เคยรู้จักกับโรเจอร์ส ต่างก็ยกย่องว่า โรเจอร์ส ว่า เขาเป็นผู้ที่มีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา ต่อ เพื่อนมนุษย์ทุกคนอย่างบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคล ที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์โศก ความสับสน และความเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่ว่าเด็ก และผู้ใหญ่ แม้เพียงได้อยู่ใกล้ๆ ก็ทำให้เขาเหล่านั้น มีความสบายใจ และอบอุ่นใจได้เสมอ ทั้งนี้ เพราะเห็นพลังความรัก และความปรารถนาที่มีต่อ เพื่อนมนุษย์ และความเชื่อของเขาที่มีอยู่ในจิตสำนึกว่าความทุกข์ของมนุษย์ย่อมมีหนทางแก้ไขได้เสมอ
แนวคิดที่สำคัญ
แนวคิดที่สำคัญโรเจอร์ส เชื่อว่า มนุษย์มีธรรมชาติที่ดีมีแรงจูงใจในด้านบวก เป็นผู้ที่มีเหตุผล (Rational) เป็นผู้ที่สามารถได้รับการขัดเกลา (Socialized) สามารถตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของตนเองได้ ถ้ามีอิสระเพียงพอ และมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ (Full Potential) และพัฒนาไปสู่ทิศทางที่เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละบุคคล อันจะนำไปสู่การตระหนักรู้ในตนเองอย่างแท้จริง (Self-Actualization)
โครงสร้างทางบุคลิกภาพ โครงสร้างบุคลิกภาพของโรเจอร์ส ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ อินทรีย์(The organism) ประสบการณ์ทั้งหมดของบุคคล (Phenomenology Field) และตัวตน ( The Self ) ดังอธิบายโดยละเอียดดังนี้
1. อินทรีย์ (The organism) หมายถึง ทั้งหมดที่เป็นตัวบุคคล รวมถึงส่วนทางร่างกาย หรือทางสรีระของบุคคล (Physical Being) ที่ประกอบด้วยความคิด ความรู้สึกที่แสดงปฏิกิริยา ตอบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการแสดงพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล โดยแสดงพฤติกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการ (Needs) ที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล และทำให้มนุษย์ มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนเองไปสู่การรู้จักตนเองอย่างแท้จริง (Self-Actualization) นอกจากนี้ มนุษย์จะแสดง พฤติกรรมโดยการนำเอาประสบการณ์เดิมบางอย่างที่เขาให้ความหมาย หรือให้ความสำคัญต่อกับประสบการณ์เดิมบางอย่าง ที่เกิดจากการเรียนรู้ และนำเอาประสบการณ์เหล่านี้มาเป็นสัญลักษณ์ในจิตสำนึกของเขา (Symbolized in the Consciousness) โดยปฏิเสธประสบการณ์บางอย่าง ดังนั้น ผู้ที่มีความสามารถรับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความหมายของประสบการณ์ที่ถูกต้องกับความเป็นจริงมากที่สุด จะเป็นผู้ที่สามารถพัฒนาได้ตามปกติ (Normal Development)
2. ประสบการณ์ทั้งหมดของบุคคล (Phenomenology Field) ที่เป็นสิ่งที่บุคคลจะรู้ เฉพาะตนเท่านั้น และประสบการณ์ของบุคคลนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลา โรเจอร์ส อธิบายว่ามนุษย์อยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลง ที่มีตนเองเป็นศูนย์กลางเป็นประสบการณ์ที่อาจเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก และสิ่งเร้าภายในตัวบุคคล สามารถแบ่งออกเป็นประสบการณ์ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับจิตสำนึก และจิตใต้สำนึกของบุคคลที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา ทั้งเป็นสิ่งที่สื่อสารได้ และทั้งที่สื่อสารไม่ได้ ซึ่งเป็นพลังกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมต่างๆ เช่น เด็กร้องไห้เมื่อเห็นสุนัขอาจเกิดจาก เคยถูกสุนัขกัด หรืออาจเคยถูกข่มขู่ให้กลัวสุนัขจนฝังใจ หรือประสบการณ์ที่อยู่ในจิตใต้สำนึกบางอย่าง บุคคลไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ เพราะอาจถูกเก็บไว้ และซ่อนอยู่ภายในจิตใจจนเจ้าตัวไม่สามารถเข้าใจได้ เป็นลักษณะของเงื่อนปมที่ฝังอยู่ภายในจิตใจ โดยทั่วไปแล้วบุคคลจะให้ความหมาย และเลือกรับรู้เฉพาะประสบการณ์ที่สำคัญ โรเจอร์ส ให้ความสำคัญต่อความสามารถในการสื่อสารประสบการณ์เฉพาะตนให้กับผู้อื่นสามารถรับรู้ และเข้าใจได้ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การเข้าใจตนเองของบุคคล ในขณะที่ผู้ที่มีความแปรปรวนทางอารมณ์ และบุคลิกภาพ เกิดจากความไม่สามารถในการสื่อสารประสบการณ์ เฉพาะตนอย่างเหมาะสมได้
3. ตัวตน ( The Self ) เป็นศูนย์กลางของบุคลิกภาพ ที่เป็นส่วนของการรับรู้ และค่านิยมเกี่ยวกับตัวเรา ตัวตนพัฒนามาจากการที่อินทรีย์มีปฏิสัมพันธ์กับ สภาพแวดล้อม เป็นประสบการณ์เฉพาะตนในการพัฒนาตัวตนของบุคคลนั้นบุคคลจะพบว่า มีบางส่วนที่คล้าย และบางส่วนที่แตกต่างไปจากผู้อื่น ตัวตนเป็นส่วนที่ทำให้พฤติกรรมของบุคคลมีความคงเส้นคงวา (Consistency) และประสบการณ์ใดที่ช่วยยืนยันความคิดรวบยอดของตน (Self-concept) ที่บุคคลมีอยู่ บุคคลจะรับรู้ และผสมผสานประสบการณ์นั้นเข้ามาสู่ตนเองได้อย่างไม่มีความคับข้องใจ แต่ประสบการณ์ที่ทำให้บุคคลรู้สึกว่า อัตมโนทัศน์ที่มีอยู่เบี่ยงเบนไปจะทำให้บุคคลเกิดความคับข้องใจที่จะยอมรับประสบการณ์นั้น ความคิดรวบยอดของตนเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะบุคคลจะต้องอยู่ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงโดยมีตัวเอง (Self) เป็นศูนย์กลางในการแสดงพฤติกรรมต่างๆ โรเจอร์ส อธิบายว่า “ตัวตน” ของบุคคลสามารถแบ่งออกเป็นลักษณะต่างๆ ได้แก่
มโนภาพแห่งตน หรือความคิดรวบยอดของตน หรือตัวตนตามที่มองเห็น (Self-Concept) เป็นส่วนที่ตนมองเห็นภาพของตนเอง ที่บุคคลมีการรับรู้ และมองเห็นตนเองในหลายแง่หลายมุม เช่น “ฉันเป็นคนเก่ง” “ฉันเป็นคนสวย” “ฉันเป็นคนอาภัพ ด้อยวาสนา” “ฉันเป็นคนขี้อาย” เป็นต้น และสิ่งที่บุคคลมองเห็นตัวเองนี้อาจไม่ตรงกับที่ผู้อื่นมองเห็น หรือรับรู้ก็ได้ เช่น ผู้ที่เห็นแก่ตัว และชอบเอาเปรียบผู้อื่น หรือผู้ที่มีความทะเยอทะยานสูง อาจไม่ทราบว่า ตนเป็นคนเช่นนั้น ตัวตนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ตัวตนที่เป็นจริง กับตัวตนตามอุดมคติ
3.1 ตัวตนตามที่เป็นจริง (Real Self) เป็นลักษณะของบุคคลที่เป็นไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งบุคคลอาจรู้ตัว หรือไม่ตัวก็ได้ เช่น “เป็นคนเรียนเก่ง” “เป็นคนสวย” “เป็นคนร่ำรวย” ฯลฯ และพบว่าบ่อยครั้งที่บุคคล จะมองไม่เห็นในส่วนที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของตนเลย ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น แตงกวา มองเห็นว่าเธอเป็นคนเรียนเก่ง กว่า เพื่อนๆ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เธอไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เธอจึงทำตัวดูถูก เพื่อนๆ ที่เรียนไม่เก่ง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอไม่ค่อยมี เพื่อนเท่าที่ควร เป็นต้น
3.2 ตัวตนตามอุดมคติ (Ideal Self) หมายถึง ภาพที่ตนเองอยากจะเป็น ซึ่งหมายถึง บุคคลยังไม่สามารถเป็นได้ในสภาวะปัจจุบัน เช่น “น้องแดงอยากเป็นทั้งคนเก่ง และคนสวยเหมือนพี่นางสาวไทย” เป็นต้น เป็นภาพที่บุคคลสร้างมโนภาพของตนเองว่าจะเป็นใคร อย่างไร
โรเจอร์ส ได้อธิบายถึงการทำงานของตัวตนในบุคคลว่า ต้องสอดคล้องกันอย่างเหมาะสม กล่าวคือ มโนภาพแห่งตนของบุคคลจึงต้องมีความสมเหตุสมผล ตรงกับความเป็นจริง และตรงจากประสบการณ์ การที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม บุคคลที่มีมโนภาพแห่งตนอย่างไร ก็จะมีพฤติกรรมไปตาม แนวทางของมโนภาพที่เขามีอยู่ ถ้าบุคคลมีประสบการณ์ที่ทำให้มโนภาพแห่งตนเดิมที่เขามี อยู่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรืออาจกล่าวได้ว่า ถ้ามโนภาพแห่งตน ขัดแย้ง และ ไม่สอดคล้อง (Incongruence) กับตนตามความเป็นจริงมากเท่าไร บุคคลจะเกิดการป้องกันตนเอง เกิดความวิตกกังวล และนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ และบุคลิกภาพมากขึ้นเท่านั้น และนอกจากนี้ ผู้ที่มีมโนภาพแห่งตน สอดคล้องกับตนตามความเป็นจริงนั้น ก็มักจะพอใจ และมองเห็นตนตามอุดมคติสอดคล้องกันไปด้วยเช่นกัน เพราะเขาจะมีความรู้สึกพึงพอใจกับตัวตนที่แท้จริงของเขาเสมอ ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพตน ตามที่ต้องการเป็นขึ้นมา เพราะเขาจะไม่อยากจะเป็นใครอีกนอกจากเป็นตัวเองเท่านั้น จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดีไม่ป้องกันตนเอง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่การรู้จักตัวเองอย่างแท้จริง ยอมรับตนเอง สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นจริง มีการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่าง มีประสิทธิภาพ กล้าเปิดตนเองออกรับประสบการณ์ใหม่ๆ เลือกตัดสินใจด้วยตนเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้อื่น และสังคม ตลอดจนเข้าใจ ในค่านิยมของตนเอง ในขณะที่สามารถยืดหยุ่นต่อสภาพการณ์ต่างๆ โดยไม่ยึดติดอยู่ในค่านิยมของตนอย่างยึดติดเป็นต้น อันเป็นคุณลักษณะของ ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์
พัฒนาการทางบุคลิกภาพ (Development of Personality)
โรเจอร์ส ได้อธิบายถึง กระบวนการพัฒนาการทางบุคลิกภาพว่า มีกระบวนการ 2 ประการดังนี้
1. กระบวนการพัฒนาการค่านิยม (Organizing Valuing Process) ตามที่ได้กล่าว มาแล้วว่า โรเจอร์ส เชื่อว่า บุคคลเกิดมาพร้อมพลัง หรือแรงจูงใจ ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่สภาวะของการรู้จักตนเองอย่างแท้จริง และเนื่องจากบุคคลเกิดมาจากสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจสิ่งแวดล้อม และโลกส่วนตัวของบุคคลด้วย (Internal Frame of Reference) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่บุคคลจะเลือกรับรู้ และให้ความหมายต่อประสบการณ์ต่างๆ เช่น เด็กที่ถูกนำไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ อาจเกิดความกลัว ที่อาจเกิดมาจากการรับรู้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจาก สภาพความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อมเสมอไป และเมื่อเด็กมีประสบการณ์เพิ่มเติม ที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่นั้น ไม่น่ากลัวอย่างที่เคยรับรู้ ทำให้เด็กมีการรับรู้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจาก สภาพความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อมเสมอไป และเมื่อเด็กมีประสบการณ์เพิ่มเติม ที่ทำให้เกิดความเชื่อว่า สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่นั้น ไม่น่ากลัวอย่างที่เคยรับรู้ ทำให้เด็กมีการรับรู้ เปลี่ยนแปลงไป เป็นการรับรู้ใหม่ หากจะกล่าวโดยสรุป จะเห็นว่า การที่เด็กเกิดมาหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น ปลอดภัยเต็มไปด้วย ความรักเอาใจใส่ จะทำให้เด็กรับรู้ และให้ค่านิยม ต่อประสบการณ์นั้นไปทางบวก เด็กจะรับรู้ต่อสภาพแวดล้อม และให้ความหมายของ การรับรู้ตามความ เป็นจริง ในทางตรงข้าม เด็กที่ได้รับสิ่งแวดล้อมทางลบ เขาก็จะให้ค่านิยมต่อประสบการณ์ในทางลบ สิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็นกระบวนการพัฒนา การทางค่านิยม ที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นประสบการณ์ของบุคคล จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการทางค่านิยม ของบุคคล
2. การยอมรับจากผู้อื่น (Positive Regard from others) จะเห็นได้ว่า ตัวตน (self) ของบุคคลจะเริ่มพัฒนา เมื่อบุคคลมีปฏิกิริยาสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม รอบตัวเขา เขาจะรับรู้ความจริงของสภาพแวดล้อม และนำเอาประสบการณ์ต่าง มาให้ความหมายต่อการรับรู้ เรียกว่า ประสบการณ์แห่งตนเอง (Self-Experience) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเอง กับบุคคลที่สำคัญที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของเขาจะนำไปสู่การพัฒนาอัตมโนทัศน์ (Self-Concept) เพราะทำให้บุคคล รู้สึก ถึงความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
การพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลจะเริ่มจาก ในช่วงแรกของชีวิต ทารกไม่สามารถ แยกตนเองออกจากสิ่งแวดล้อม และนึกว่าเป็นตนเองเป็นส่วนหนึ่ง ของสิ่งแวดล้อม ทำให้เด็กติดพ่อแม่ และสิ่งแวดล้อมตนเองได้ และเริ่มเข้าใจตัวตนของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ จะเป็นช่วงที่เด็กมุ่งแสวงหา ความต้องการ พึงพอใจ เพื่อสนองความต้องการของตน เพราะเขาพึ่งตนเองไม่ได้ต้องพึ่งคนอื่น จึงเรียนรู้ที่จะเรียกร้องความสนใจ และการยอมรับจากผู้อื่น เมื่อโตขึ้นเด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าพฤติกรรมบางอย่างทำให้ผู้อื่นตอบสนองเขาอย่างรักใคร่ บางอย่างอาจทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ ไม่ยอมรับ และไม่ได้รับการตอบสนอง ปฏิกิริยาเหล่านี้ทำให้เด็กเลือกพฤติกรรมที่ทำให้ คนอื่นพอใจ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ เด็กจึงเรียนรู้ที่จะรับค่านิยมของผู้อื่นมาไว้ในตนเอง ทำให้เกิดการประเมินตนเอง (Self-Evaluation) จากพฤติกรรมที่ผู้อื่นยอมรับ หรือไม่ยอมรับ เขามาเป็นเครื่องตัดสิน
3. การยอมรับตนเอง (Self-Regard) บุคคลจะเรียนรู้ที่จะยอมรับตนเองจากการที่เขา รับรู้ว่า ผู้อื่นแสดงการยอมรับในตัวเขา หรือไม่ อย่างไร โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตนเอง แต่จะเอา ค่านิยมของผู้อื่นที่มีต่อตัวเขา เป็นเกณฑ์ในการประเมินพฤติกรรมของตนว่าดีเลว ทำให้เขาแสดงพฤติกรรรม เพื่อให้สนองความต้องการของผู้อื่น และให้ผู้อื่นยอมรับมากกว่า การคำนึงถึงความพึงพอใจของตน ทำให้เขารับเอา (Interject) ค่านิยมผู้อื่นเข้ามาไว้ในตนเอง
4. ภาวะของการมีคุณค่า (Conditions or Worth) เป็นลักษณะที่บุคคลรู้สึกว่าตน มีคุณค่า เพราะเขาสามารถยอมรับตนเองได้ โดยมโนภาพแห่งตน ที่เขารับรู้สอดคล้องกับความ เป็นจริง เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่ถ้ามโนภาพแห่งตนของเขาแตกต่างไปจากความจริง จะทำให้เขาเกิดความวิตกกังวล และปฏิเสธ ไม่ยอมรับตนเองตามความเป็นจริง ทำให้เขามีพฤติกรรม ไม่สมเหตุสมผล ไม่สามารถปรับตัวได้ หากบุคคลรับเอาค่านิยมของผู้อื่น หรือบรรทัดฐานของผู้อื่น และสังคมเข้าไว้ในตนเองมากเกินไป จะทำให้เขาไม่สามารถยอมรับตนเองได้ เกิดความรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า เกิดความคับข้องใจขึ้น
จะเห็นได้ว่า การที่บุคคลจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพได้อย่างเหมาะสมนั้น จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เด็กได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเด็กได้รับความรัก จากครอบครัวโดยปราศจากเงื่อนไข (Unconditional Positive Regard) จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยซึ่งเป็นความรู้สึกที่เป็น พื้นฐาน ของการมีบุคลิกภาพสมบูรณ์ ทั้งนี้เนื่องจากการยอมรับโดยปราศจากเงื่อนไข จะทำให้บุคคลเรียนรู้ถึงแม้ว่าพฤติกรรมบางอย่างของเขาจะไม่เป็นที่ยอมรับ แต่พ่อแม่ก็ยังให้ความรัก และยอมรับเขาอยู่เขาจะไม่เกิดความรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า และยังสามารถยอมรับตนเอง และสามารถมองตนเองในทางบวก (Positive Self-Regard) ได้ และแม้ว่า เขาจะมีการตัดสินใจทำบางอย่างที่ผิดพลาด เขาก็ยังกล้าที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง สามารถควบคุม พฤติกรรมของตนเอง ไปสู่การเปลี่ยนแปลง และแก้ไขได้ กล้าที่จะเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ สามารถใช้พลังที่มีอยู่ในตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กระบวนการพัฒนาค่านิยม และการยอมรับตนเองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถรับรู้ และให้ความหมายต่อประสบการณ์ต่างๆ ตามความเป็นจริง มีความพอใจในตนเอง และสามารถพัฒนาตนเองให้อยู่อย่างมีประสิทธิภาพ (Fully Functioning Person)
ลักษณะของผู้ทีมีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ (Healthy Personality) ผู้ที่มีบุคลิกที่สมบูรณ์ในทัศนะของโรเจอร์ส จะมีลักษณะต่างๆ ได้แก่ เป็นผู้ที่มีความสามารถ ปรับตัวได้ตามความเป็นจริง มีความสอดคล้องระหว่างตัวตนกับประสบการณ์ สามารถเปิดตนเองออกรับประสบการณ์ใหม่ๆ รับความต้องการที่เกิดขึ้นทั้งภายใน และภายนอกได้ถูกต้องเข้าใจตนเองสามารถเลือก และตัดสินใจตอบสนองความต้องการของตนเองได้ รับรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ มีชีวิตอยู่กับ ปัจจุบันเป็นตัวของตัวเองสามารถนำเอาประสบการณ์ต่างๆมาพัฒนาตนเอง เชื่อในความสามารถของตนเอง ตลอดจนรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และไม่ตัดสินใจที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยขึ้นอยู่กับการยอมรับ หรือการไม่ยอมรับจากผู้อื่น
2.3 กลุ่มความคิดทางจิตวิทยา
กลุ่มความคิดทางจิตวิทยา ( Schools of Psychology ) หมายถึง แนวความคิด ทฤษฎีสำคัญ และระเบียบวิธีทางจิตวิทยา เพื่อความสะดวกใน การเปรียบเทียบความแตกต่าง และความคล้ายคลึงกันของแต่ละกลุ่ม นอร์แมน แอล มุนน์ ( Norman L. Munn ) กล่าวว่า กลุ่มจิตวิทยา หมายถึง การจัดระเบียบแนวความคิดของจิตวิทยาเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อความสะดวกในการ ทำความเข้าใจในทัศนะ หรือทฤษฎีต่าง ๆ ที่นักจิตวิทยากล่าวถึง หรือนำมาใช้ ในการรวบรวมความรู้ทางจิตวิทยา และกลุ่มจิตวิทยา ยังช่วยอำนวยประโยชน์ในการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ และการค้นคว้าเพิ่มเติม ในขั้นต่อไปอีกด้วย
เกณฑ์สำหรับใช้ในการจัดกลุ่มจิตวิทยา โดยทั่วไปยอมรับกันว่าการจัดกลุ่มจิตวิทยานั้น แบ่งออกตามความแตกต่างกันที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1. ปรัชญา ความเชื่อที่สำคัญขั้นต้น
2. ระเบียบวิธีที่ใช้ในการศึกษา หรือการรวบรวมเนื้อหาวิชา หรือความรู้ความเข้าใจ
3. เนื้อเรื่อง หัวข้อสำคัญ ขอบข่ายของกิจกรรม หรือชนิดของงานที่นำเอาความรู้ทาง จิตวิทยามาใช้ บางครั้งก็มีการตั้งชื่อกลุ่มจิตวิทยาตามชื่อของแขนงวิชา เช่น ตั้งชื่อตาม Sigmund Freud ว่า Freudianism ลัทธิของฟรอยด์ เป็นต้น
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากที่วิลเฮล์ม แมกซ์ วู้นท์ ( Wilhelm Max Wundt) วางรากฐานการทดลองจิตวิทยาสมัยใหม่แล้ว วิชาจิตวิทยาเริ่มได้รับ ความสนใจอย่างแพร่หลาย ในวงการต่างๆ เช่น แพทย์การศึกษา การปกครอง เป็นต้น การค้นคว้าทางจิตวิทยาเจริญขึ้น อย่างรวดเร็วมีผู้สนใจมาก แนวคิดจึงกว้างขวาง มีการค้นคว้าทดลองในวิชาจิตวิทยากันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก่อให้เกิดความคิดเห็นแนวทัศนะหลายแนว หลายสำนักต่าง ๆ กัน ต่างคนต่างมุ่งศึกษาค้นคว้าตามแนวที่ตนสนใจนำมาสร้างเป็นแนวคิด เป็นกฎเกณฑ์ เป็นความเชื่อ เป็นทฤษฎีขึ้นมา พวกนักจิตวิทยาที่มีแนวความคิดคล้ายๆ กันได้รวบรวมหลักการ ความคิดเห็นขึ้นเป็นกลุ่มๆ เป็นสกุลๆ หรือสำนัก หรือแนวทัศนะ (School of thought หรือเรียกสั้น ๆ ว่า School) จิตวิทยาจึงมี แนวคิดเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ง่ายแก่การศึกษา และทำความเข้าใจในแนวคิดต่างๆ ที่มีลักษณะ หรือแนวคิดกล้ายๆกันนำมารวมกันอย่างมีหลักการ
กลุ่มต่างๆ ทางจิตวิทยาที่มีแนวคิด และมีอิทธิพลต่อวงการศึกษาที่สำคัญควรนำมาศึกษาในที่นี้มี 6 กลุ่ม ดังนี้
2.3.1 แนวคิดกลุ่มโครงสร้างของจิต (Structuralism)
กลุ่มโครงสร้างของจิต หรือ Introspective Psychology หรือบางทีเรียก โครงสร้างนิยม หรือ กลุ่มแนวความคิดโครงสร้าง หรือ แนวทัศนะโครงสร้างแห่งจิต ซึ่งมีชื่อเรียกหลายชื่อแต่ในที่นี้จะเรียกชื่อว่า กลุ่มโครงสร้างของจิต ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน เมื่อ ค.ศ.1879 มีรากฐานของแนวความคิดพื้นฐานเบื้องต้น จากแนวความคิดของนักปรัชญาคนสำคัญๆ หลายคน เช่น แนวความคิดของพลาโต (Plato) อธิบายว่า มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์ตรงที่มนุษย์ประกอบด้วยจิต (mind) ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างแนวความคิด (Idea)
แนวความคิดของอริสโตเติล (Aristotle) อธิบายเกี่ยวกับเรื่องชีวิตจิตใจ (Mental Life) แนวความคิดของเดสคาร์ทีส (Descartes) อธิบายเรื่อง ความสัมพันธ์ ของร่างกาย (Body) กับ จิต (Mind) ว่ามนุษย์ประกอบขึ้นด้วยร่างกาย และจิต ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะทำงานเกี่ยวข้องซึ่งกัน และกัน โดยจิตทำหน้าที่สร้าง ภาพพจน์จากการทำงานของร่างกาย การทำงานของร่างกายจึงเป็นการทำงานตามแนวความคิดที่เกิดขึ้นในจิต นั่นเองจากแนวความคิด ทั้ง 3 ทำให้เกิด ลัทธิสัมพันธ์นิยม (Associationism) ขึ้น และต่อมาได้พัฒนากลายเป็นกลุ่มจิตวิทยา Structuralism หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “ แนวทัศนะวิธีพินิจภายใน” (Introspectionism) เนื่องจากนักจิตวิทยากลุ่มนี้ใช้วิธีการพินิจภายใน หรือการตรวจสอบภายใน(Introspection) เป็นเครื่องมือในการค้นคว้า และด้วย เหตุนี้กลุ่มนี้จึงถูกโจมตีมาก ดูไม่น่าเชื่อถือ เพราะเมื่อบุคคลมีปัญหา บุคคลจะมานั่งสำรวจตนเอง ว่าตนมีข้อบกพร่องคงเป็นไปได้อยาก มีหลายคนที่มักเข้าข้างตนเองจึงทำให้ไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง
วิลเฮล์ม แมกซ์ วู้นท์ (Wilhelm Max Wundt) ผู้ให้กำเนิดห้องปฏิบัติการ หรือห้องทดลอง ทางจิตวิทยา (Psychological Laboratory) เป็นแห่งแรก จนได้ฉายาว่า “บิดาแห่งจิตวิทยาการทดลอง” และกัสแตฟ เฟชเนอร์ (Gustav Fechner) ผู้ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่ได้กำหนดระเบียบ และวิธีการทดลอง ( Experimental method)ได้นำเอาความรู้ความเข้าใจวิชาฟิสิกส์มาใช้ในการทดลองค้นคว้าวิชาจิตวิทยา ซึ่งเรียกว่าไซโคฟิสิกส์ (Psychophysics) ก็ตามจิตวิทยากลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์นัก เพียงแต่ยอมรับกันว่า เป็นกลุ่มแรกที่มีแนวคิดเป็นวิทยาศาสตร์ และยังถือว่าเป็นกลุ่มจิตวิทยาที่อาศัยแนวความคิด และระเบียบวิธีการศึกษาตามแบบปรัชญา (Philosophical - Psychology) อยู่ เพราะแนวความคิด ส่วนใหญ่กลุ่มโครงสร้างทางจิต (Structuralism) ได้อาศัยระเบียบวิธีการสำรวจตนเอง หรือการตรวจสอบตนเอง (Introspection method) หรือระเบียบวิธีการแบบอัตนัย (Subjective method)
การใช้วิธีตรวจสอบตนเอง หรือการสำรวจตน หรือการพินิจภายใน เป็นเครื่องมือที่ศึกษาค้นคว้าหาความจริงทางจิตวิทยาไม่สู้จะได้ผลดีนัก เพราะว่าผู้ถูกทดสอบอาจตอบตามสิ่งเร้ามากกว่าตอบตามความรู้สึกที่ตนได้สัมผัสจริงๆ ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่า Stimulus - Error แต่กลุ่ม Gestalt Psychology ไม่เห็นด้วยกับกลุ่ม Structuralism ที่ว่าจิตประกอบด้วยส่วนต่างๆ จึงให้ชื่อกลุ่มนี้ว่ากลุ่ม Mortar & Brick Psychologist ซึ่ง Mortar แปลว่า ซีเมนต์ที่ผสมกับทรายได้ ส่วนสัดแล้ว Brick หมายถึง อิฐ พวกเหล่านี้ประกอบขึ้นเป็นตึกเหมือนจิตประกอบขึ้น จากส่วนต่างๆ
Wilhelm Max Wundt ผู้นำกลุ่ม Structuralism ได้นำเอาแบบของวิชาเคมีมาใช้ในวิชาจิตวิทยา และพยายามนำแนวคิดของนักเคมีซึ่งเน้นหนักในเรื่อง “องค์ประกอบของจิต” เทียบกับองค์ประกอบของธาตุต่างๆของเคมีเช่นส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของสารซึ่งในเมื่อมวลสารทั้งหลาย สามารถนำมาวิเคราะห์ ออกได้เป็นอนุภาคที่เล็กมากจนเรามองไม่เห็น เขาเชื่อว่าจิตของคนนั้นก็น่าจะแยกให้เห็นจริงๆ ได้ และเขามีแนวคิดว่า จิต (mind) มีองค์ประกอบอิสระต่าง ๆ รวมกันเป็นโครงสร้างแห่งจิต (Faculty of mind) จิตเป็นโครงสร้างที่มาจากองค์ประกอบทางเคมี โดยมีส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกันเป็นจิตเรียกว่า “จิตธาตุ” (Mental Elements) นั่นคือพยายามที่จะค้นให้พบว่าจิต (mind) ประกอบด้วยอะไรบ้าง หัวข้อสำคัญที่จิตวิทยากลุ่มนี้มุ่งศึกษาอย่างแท้จริงคือ องค์ประกอบที่สำคัญของจิตในส่วนที่เรียกว่า จิตสำนึก (The Contents of Consciousness) โดยเฉพาะเท่านั้น ดังนั้นกลุ่มโครงสร้างของจิต หรือกลุ่ม Structuralism จึงจัดอยู่ในจิตวิทยากลุ่มจิตนิยม (Mentalism) ด้วย
ความเชื่อที่สำคัญเบื้องต้น (Basic assumption)
ความเชื่อที่สำคัญเบื้องต้นที่เป็นมูลเหตุให้นักจิตวิทยากลุ่ม Structuralism มีความสนใจ มุ่งศึกษาเรื่องจิตธาตุ คือ เชื่อว่า มนุษย์ประกอบด้วย ร่างกาย (body) และจิตใจ (mind) ซึ่งต่างก็เป็นอิสระแก่กันต่างทำงานสัมพันธ์กัน พฤติกรรม (Behavior) ของบุคคลเกิดจากการกระทำของร่างกาย ซึ่งการกระทำ ของร่างกายนั้นย่อมเกิดจากการควบคุม และสั่งการของจิตใจ แนวความ คิดเกิดจากจิตธาตุ เนื่องจากจิตวิทยากลุ่ม Structuralism ได้พยายามแยกองค์ประกอบ ของจิต หรือจิตธาตุออกพิจารณาเป็นส่วนย่อยๆบางครั้งจึงเรียกกลุ่มนี้อีกอย่างว่า “จิตวิทยาที่ว่าด้วยองค์ประกอบของจิต” (Faculty Psychology)
กลุ่มนี้เชื่อว่า โครงสร้างของจิตประกอบด้วยจิตธาตุ (Mental Elements) ซึ่งประกอบด้วย ธาตุ 3 ชนิด คือ 1. การรับสัมผัส (Sensation) 2. ความรู้สึก (Feeling) (ภายหลัง Titchener ได้เพิ่มขึ้นมาอีกอย่าง คือจินตนาการ) 3. จินตนาการ หรือมโนภาพ (Image) เมื่อจิตธาตุทั้ง 3 นี้ มาสัมพันธ์กันภายใต้ สถานการณ์แวดล้อมที่เหมาะสมก็จะก่อให้เกิดรูปจิตผสมขึ้น ทำให้เกิด ความคิด (Thinking)อารมณ์(Emotion) ความจำ (Memory) การหาเหตุผล หรือสาเหตุ (Reasoning) และอื่นๆ เป็นต้น โดยเป็นแบบเดียวกันกับทางเคมีที่โฮโดรเจน เมื่อรวมตัวกับออกซิเจนภายใต้สัดส่วนที่เหมาะสม และความกดดันที่พอดีจะได้เป็นน้ำ เปรียบเช่นจิตของมนุษย์ก็เช่นกัน
แนวคิดจิตวิทยากลุ่มโครงสร้างของจิต( Structuralism ) มีอิทธิพล และบทบาทสำคัญ คือ
1. ความเชื่อในเรื่ององค์ประกอบของบุคคล ซึ่งนักจิตวิทยายอมรับว่า บุคคลประกอบด้วยร่างกาย และจิตใจ โดยจิตใจยังแบ่งย่อยๆ ได้เช่น ส่วนเกี่ยวกับ การคิด ส่วนที่เกี่ยวกับความจำส่วนที่เกี่ยวกับความรักสวยรักงาม เป็นต้น
2. การยอมรับเอาระเบียบวิธีการที่ว่าด้วย การแยกจิตออกฝึกเป็นส่วน ๆ (Method of Mental of Formal Discipline) สามารถนำมาใช้ในการจัดการศึกษา นักการศึกษาเชื่อว่าบุคคล มีลักษณะอย่างเดียวกับวัตถุ (Material) หรือเครื่องจักรกลหากต้องการฝึกจิตธาตุส่วนใดๆ นั้น ให้มีความสามารถต้องฝึกฝน เรื่องนั้นโดยเฉพาะ เช่น ด้านความจำ ก็ต้องฝึกให้ท่องจำ ด้านการคิดต้องให้เรียนวิชาที่ส่งเสริมการคิดต่างๆ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะความเชื่อที่ว่าจิตของคนเราแยกออกเป็นส่วนๆ ดังนั้นถ้าต้องการให้ส่วนไหนมีความสามารถมีทักษะทางใดก็ต้องมุ่งฝึกส่วนนั้นมากเป็นพิเศษ (ทิพยวรรณ กิตติพร.2543:17-18)
2.3.2 แนวคิดกลุ่มหน้าที่ของจิต (Functionalism)
กลุ่มหน้าที่ของจิตเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1900 ผู้ให้กำเนิด หรือ ผู้นำกลุ่ม คือ จอห์น ดิวอี้(John Dewey 1859 – 1952) คณบดีคณะวิชาการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยชิกคาโก วิลเลี่ยม เจมส์ (William James 1842 – 1910) ศาสตราจารย์จิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เขียนตำราจิตวิทยาชื่อ Principles of Psychology และวูดเวอร์ธ (Woodworth) และเจมส์ แองเกลล์ (James Angell)
จิตวิทยากลุ่มนี้ มีแนวความคิดมาจาก ลัทธิปรัชญากลุ่มปฏิบัตินิยม (Pragmatism) และทฤษฎีที่สำคัญทางชีววิทยา อันได้แก่ ทฤษฎีที่ว่าด้วยวิวัฒนาการ (Theory of Evolution) ของCharles Darwin ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ Origin of Species เมื่อ ค.ศ. 1859 ดังนั้นกลุ่มFunctionalism จึงเกิดจากการรวมกัน ระหว่างทฤษฎีของดาร์วิน (Darwinian theory) กับลัทธิปรัชญาที่เน้นความสำคัญของการปฏิบัติจริง (Pragmatic Philosophy) ทฤษฎีวิวัฒนาการอธิบายว่า สัตว์ที่ดำรงพันธุ์อยู่ได้ จะต้องต่อสู้ และปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมนักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเห็นว่า ในการที่จะให้เข้าใจถึง การปรับตัวของ สิ่งมีชีวิตนั้น ควรต้องศึกษาถึงหน้าที่ของจิตต่อการปรับตัวภายใต้จิตสำนึกมากกว่า กลุ่ม Functionalism สนใจเรื่องพฤติกรรมมาก เรื่องที่เขาเน้นหนักจริงๆ ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ กลุ่มนี้มีแนวคิดมุ่งหนักไปในด้านการทำ หน้าที่ (the functions) ของจิต มากกว่าจะศึกษาองค์ประกอบโครงสร้างของจิต แต่สนใจว่าจิตทำ หน้าที่อะไร ทำอย่างไร จึงจะศึกษาทั้งกระบวนการทางจิต และสถานะของจิตพร้อมกับอากัปกิริยาที่แสดงออกให้ปรากฏทางกาย กล่าวคือในการศึกษาพฤติกรรมนั้นจะสนใจศึกษาทั้งอากัปกิริยาที่แสดงออกภายนอก และความรู้สึกภายใน กระบวนการปรับตัวของกายให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อม สัญชาติญาณเชื่อว่าจิตมีหน้าที่ควบคุมการกระทำกิจกรรม ของร่างกายคำว่าจิต ตามความคิดของพวก Functionalism นั้นก็คือ กระบวนการกระทำกิจกรรม ของร่างกายในอันที่จะปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมนั้นเอง วิชาจิตวิทยานั้นคือวิชาที่ศึกษาถึงสถานะของจิต และในขณะเดียวกันการที่จะศึกษาแต่จิต และกระบวนการปรับตัวของจิตแต่อย่างเดียวยังไม่พอเพียง เราจะต้องศึกษาถึง ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ประกอบด้วยเรื่องสัญชาติญาณ (Instinct) ซึ่งนับ เป็นหลักใหญ่ของพวก Functionalism นี้ด้วยผู้ที่จะมีความสุข ในสังคมได้ก็จะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้อย่างดี จึงควรตระหนักถึง หลักสำคัญเรื่อง การปรับตัวของร่างกายให้เหมาะสม กับสิ่งแวดล้อมกลุ่มนี้ มีความเห็นว่า การศึกษาจิตวิทยานั้นควรศึกษาจิตสำนึกในลักษณะของการใช้ประโยชน์นั่นคือศึกษาจิตในรูปของการกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ในอันที่จะทำให้มนุษย์ปรับตัว ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเรียนรู้ที่จะช่วยให้คนปรับตัวดีขึ้นจะเห็นว่าลักษณะสำคัญของกลุ่ม Functionalism มีส่วนคล้ายกับกลุ่ม Structuralism อยู่ 2 ประการคือ ทั้ง 2 กลุ่มต่างก็เป็นจิตวิทยาในกลุ่มจิตนิยม (Mentalism) และอาศัยระเบียบวิธีทางปรัชญา (Philosophical Psychology) เช่นเดียวกัน และต่างมุ่งศึกษาเฉพาะจิตที่รู้สำนึก (Consciousness ) เช่นกัน ส่วนที่แตกต่างกันคือ กลุ่ม Structuralism มีความสนใจมุ่งศึกษาให้เข้าใจส่วนประกอบของจิต หรือจิตธาตุ ส่วนกลุ่ม Functionalism มุ่งศึกษาให้เข้าใจหน้าที่ของจิตกระบวนการทางสมองเช่นการนึก คิด เป็นหน้าที่ของจิตที่บัญชาให้บุคคลปรับตัวเข้า กับสิ่งแวดล้อมเข้ากับตนเป็นต้นว่าสวมเสื้อผ้า เพราะจิตสั่งให้สวม เพื่อความอบอุ่น และเข้ากับสภาพสังคม นั่นคือ เป็นหน้าที่ หรือ Function ของมนุษย์ ที่จะต้องทำ สิ่งที่บังคับให้ทำก็คือความต้องการที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หรือปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตน จึงพอสรุปหน้าที่ของจิตได้ว่า “ จิตมีหน้าที่ควบคุมกระบวนการกระทำกิจกรรมของร่างกายในอันที่จะปรับตัว ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม Dewey เชื่อว่าการคิดของมนุษย์มุ่ง เพื่อการแก้ปัญหา เพื่อลดความเครียด และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถึงแม้ว่า William James (1842 – 1910) เชื่อว่า สัญชาตญาณ (Instinct) เป็นลักษณะ หรือสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่ John Dewey (1859 – 1952) เชื่อว่าประสบการณ์ (Experience) เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ คนปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม R.S. Woodworth ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับปฏิกิริยาตอบสนอง ก็สรุปลงเอยแนวความคิดของกลุ่ม Functionalism ได้ว่ามี 2 ประการคือ
1. การกระทำทั้งหมด (The total activities) หรือการแสดงออกของคนเราเป็นการแสดงออก เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในการศึกษาจิตใจคน ก็ต้องศึกษาการแสดงออกของเขาในสถานการณ์นั้น ๆ
2. การกระทำ หรือการแสดงออกทั้งหมดขึ้นอยู่ หรือเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของ แต่ละคน (The experience individual) เสมอ พฤติกรรมของคน จึงแตกต่างกัน
นักจิตวิทยากลุ่มนี้จึงมุ่งศึกษาวิธีการเรียนรู้ การจูงใจ การแก้ปัญหา ตลอดจนความจำ ของคน เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้
แนวคิดของกลุ่ม Functionalism มีอิทธิพลมากต่อวงการศึกษาปัจจุบัน เนื่องจากความ มุ่งหมายของการศึกษาประการหนึ่งก็คือ เพื่อให้มนุษย์ดำรงชีวิต อยู่ในสังคมได้ด้วยความผาสุก และ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นบุคคลต้องศึกษาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสังคม การอบรมเลี้ยงดู (Socialization) และการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ เป็นปรัชญาการศึกษาซึ่งได้กลายมาเป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษาที่สำคัญว่า “การศึกษาคือปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม”วิธีการเรียนการสอนต้องให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์มากที่สุดจึงจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ (ทิพยวรรณ กิตติพร.2543:19-20)
2.3.3 แนวคิดกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
กลุ่มพฤติกรรมนิยมมีผู้นำของกลุ่มคือ จอห์น บี วัตสัน (John B Watson, 1878 – 1958) เป็นผู้มีความคิดค้านกับแนวคิดของกลุ่มโครงสร้างของจิต ที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ด้วยวิธีการ ย้อนไปตรวจสอบตนเอง (introspection) เพราะเขาเห็นว่าวิธีการตรวจสอบตนเองค่อนข้างอคติ และยังไม่เป็น วิธีทางวิทยาศาสตร์ เพราะผลที่เกิดมักมีแนวโน้มที่เกิดจากเจตคติส่วนบุคคลไปใน ทางใดทางหนึ่ง แล้วแต่ความรู้สึกของผู้ศึกษาเอง จอห์น บี วัตสัน เห็นว่าควรใช้วิธีการที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ที่เห็นได้ และเขาเป็นผู้เสนอให้มีการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ ในด้านที่สังเกต และมองเห็นได้ การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในแนวใหม่ของวัตสัน จึงได้จัดเป็นวิธีการศึกษาในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ กล่าวโดยสรุป แนวคิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยม เน้นว่าพฤติกรรมทุกอย่างต้องมีเหตุ และสาเหตุนั้นอาจมาจากสิ่งเร้าในรูปใดก็ได้มากระทบอินทรีย์ หรือร่างกาย จึงทำให้อินทรีย์มีพฤติกรรมตอบสนอง กลุ่มพฤติกรรมนิยมจึงศึกษาพฤติกรรมด้วยวิธีทดลอง และการสังเกตอย่างมีระบบ และสรุปว่าการวางเงื่อนไข (Conditioning) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรม และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ พฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์เกิดได้จากการเรียนรู้มากกว่า เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติ และจากศึกษา พฤติกรรมการเรียนรู้ของสัตว์ที่ถูกทดลอง สามารถช่วยให้เราเกิดความเข้าใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคล กลุ่มแนวคิดนี้ใช้วิธีการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ด้วยวิธีการทดลองประกอบกับ วิธีการสังเกตอย่างมีแบบแผน นักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมนี้ศึกษาเฉพาะ พฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ ดังนั้นกลุ่มนี้ จะไม่ยอมรับวิธีการศึกษาแบบสังเกตตนเอง โดยกล่าวหาว่าการสังเกตตนเองไม่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่น่าเชื่อถือ แต่กลุ่มนี้มุ่งศึกษาเฉพาะพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ โดยเชื่อว่าเขาจะทราบถึงเรื่อราวของจิตก็โดยการศึกษา จากพฤติกรรมที่แสดงออกเท่านั้น
นักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมได้อธิบายแนวคิดกลุ่มพฤติกรรมนิยมไว้ 3 ประการ คือ
1. การวางเงื่อนไข (Conditioning) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังการทดลองของ Pavlov และ Skinner เชื่อว่าสามารถใช้วิธี ฝึกฝนอบรมที่เหมาะ เพื่อฝึกเด็กให้มีพฤติกรรมตามที่เราปรารถนาได้ โดยใช้วิธีการวางเงื่อนไขกับเด็ก เพื่อให้เกิดพฤติกรรมอันเป็นผลจาก การเรียนรู้มากกว่า สัญชาติญาณ หรือคุณสมบัติอื่นๆ ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ คือ Pavlov และ
2. พฤติกรรมของคนที่ปรากฏขึ้นส่วนมาก เกิดจากการเรียนรู้มากกว่าจะเป็นไปเองตาม ธรรมชาติ ( Behaviorism was its emphasis on Iearned rather than unlearned ) ดังการทดลองของ Watson โดยอินทรีย์ถูกวางเงื่อนไขให้แสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้น การตอบสนองนี้อาจเกิดจาก กลไกของสรีระ คือต่อมต่าง ๆ ประสาท กล้ามเนื้อ และพฤติกรรม อันสลับซับซ้อนของอินทรีย์นั้น เป็นผลรวมของปฏิกิริยาตอบสนองย่อย ๆ ที่เชื่อมโยงกัน ในรูปต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนเรียกจิตวิทยาเชิงเร้า และการตอบสนอง( Stimulus Response Psychology )
3. การเรียนรู้ของคนกับสัตว์ไม่ต่างกันมาก การทดลองกับสัตว์เป็นการง่ายกว่าที่จะทดลองกับคนสามารถเรียนรู้เรื่องของคนโดยการศึกษาจากสัตว์ได้เป็นอันมาก (We can lesrn much about man by the study of animals) เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนได้จากการศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ นักจิตวิทยากลุ่มนี้คือ เอดเวิด ธอร์นไดด์ ( Edward Thorndike ) และ คลาร์ก แอล ฮุลล์ ( Clark L. Hull ) จึงได้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของ มนุษย์ขึ้นโดยอาศัยจากการทดลองกับสัตว์
เปรียบเทียบกับกลุ่ม Structuralism และ Functionalism เห็นว่า 2 กลุ่มนั้น มุ่งศึกษาเฉพาะจิตที่รู้สึกนึก และเป็นการศึกษาจากภายใน ของสิ่งที่มีชีวิตออก มาข้างนอก ส่วนกลุ่ม Behaviorism มุ่งศึกษาเฉพาะพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ (Observable Behavior) เป็นการศึกษาจากภายนอกของสิ่งที่มีชีวิต เพื่อจะเข้าใจข้างใน 2 กลุ่มแรก ใช้ระเบียบวิธีการสังเกตตนเอง (Introspection method) ซึ่งเป็นวิธีการแบบอัตนัย (Subjective method) ส่วนกลุ่ม Behaviorism ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์(Scientific method) หรือระเบียบวิธีแบบอัตนัย (Objective method) มุ่งปรับปรุงเนื้อหาสำคัญ ของวิชาจิตวิทยาให้ได้มาตรฐานเดียวกันกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆให้เห็นว่า “ จิตวิทยาคือหมวดความรู้ที่ว่าด้วยพฤติกรรม “ (Psychology as a science of behavior) เพื่อให้เข้าใจง่าย และสรุปแนวทัศนะเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. กลุ่ม Behaviorism ปรับปรุงใหม่ทั้งด้านเนื้อหา (Content of Subject matter) ระเบียบวิธี (Method) เป็นวิทยาศาสตร์ และเหมือนวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ
2. มุ่งศึกษาเฉพาะพฤติกรรมที่สังเกตได้ หรือสามารถวัดได้ (Observable or Measurable Behavior) ศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับกลไกทางสรีรวิทยา (Physiological mechanisms) เช่น การทำงานของต่อม ระบบประสาท กล้ามเนื้อ
เขาแบ่งพฤติกรรมเป็น 2 ลักษณะ คือ พฤติกรรมที่มีการเคลื่อนไหวภายนอก (Explicit movement) เป็นพฤติกรรมที่สามารถสังเกตเห็น หรือวัดได้ เช่น การนั่ง นอน กิน เดินเป็นต้น กับพฤติกรรมที่มีการเคลื่อนไหวภายใน (Implicit movement) เป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา นอกจากวัดได้ด้วย เครื่องมือที่เหมาะสม (Sensitive Instruments) เช่น การคิด การเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
3. ยอมรับเฉพาะระเบียบวิธีแบบปรนัย (Objective Method) หรือระเบียบวิธีที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ ใช้กันไม่ยอมรับวิธีการ สังเกตตนเอง ซึ่งอาจจะการเข้าข้างตนเอง(Introspection Method) หรือลักษณะวิธีอัตนัย (Subjective Method) ต้องการให้ระเบียบวิธีทางจิตวิทยา (Psychology Method)เป็นสากล
4. มุ่งเน้นศึกษาพฤติกรรมโดยเฉพาะ ต้องการให้วิชาจิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ พฤติกรรม
5. ยอมรับเฉพาะข้อมูล ( Data ) ที่ได้จากระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น นำเอาระเบียบวิธีการสังเกตพฤติกรรม ( Behavior method ) มาใช้เป็นสำคัญ ข้อมูลที่ได้จากการสังเกต ผู้สังเกตจะต้องบันทึกเฉพาะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พบเห็นจริง ๆ เท่านั้น ไม่บันทึกความรู้สึกลงไปด้วย
อย่างไรก็ดี กลุ่ม Behaviorism ประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม เช่น
1. กลุ่มที่อาศัยความรู้ความเข้าใจเรื่องสมอง (Cerebrology) กลุ่มนี้นำเอาความรู้ ความเข้าใจในวิชาสรีรวิทยาใช้ในการอธิบายเรื่องพฤติกรรม เชื่อว่าอวัยวะนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญ และทำหน้าที่ในการแสดงพฤติกรรม ได้แก่ สมอง หรือ ระบบประสาทส่วนกลาง
2. กลุ่มที่อาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องปฏิกิริยาสะท้อน (Reflexology) มุ่งศึกษา พฤติกรรมง่าย ๆ และการแสดงปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex) เช่น การศึกษาเรื่องการเกิดปฏิกิริยาตอบสนอง หรือการเกิดปฏิกิริยาสะท้อนแบบวางเงื่อนไข (Conditioned Response or Reflex) การแสดงปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex) ย่อมต้องอาศัยสิ่งเร้า (Stimulus) ทำหน้าที่กระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตแสดงปฏิกิริยาสะท้อนออกมา อินทรีย์ (Organism) อันมีประสาทสัมผัส (Receptor หรือ Sensory neurons) ทำหน้าที่รับการเร้าจากสิ่งเร้าแล้วรายงานไปยังประสาทส่วนกลาง และอื่นๆ เป็นต้น
2.3.4 แนวคิดกลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)
กลุ่มจิตวิเคราะห์ มีผู้นำแนวคิดคนสำคัญคือ ซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นจิตแพทย์ชาวเวียนนา ได้ศึกษาวิเคราะห์จิตของมนุษย์ เขาได้ทำการ ศึกษากับบุคคลที่ผิดปกติ เพื่อวิเคราะห์จิตของคนไข้
ซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) อธิบายว่า พลังงานจิตทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์มี 3 ลักษณะ
1. จิตสำนึก (Conscious Mind) หมายถึง ภาวะจิตที่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
2. จิตกึ่งสำนึก (Subconscious Mind) หมายถึง ภาวะจิตที่ระลึกได้
3. จิตไร้สำนึก (Unconscious Mind) หมายถึงไม่อยู่ในภาวะที่รู้ตัว
ฟรอยด์ อธิบายว่าโครงสร้างทางจิตประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ Id ,Ego และ Superego คือ
อิด (Id) หมายถึง ตัณหา หรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ขัดเกลา ซึ่งทำให้มนุษย์ทำทุกอย่าง เพื่อความพึงพอใจของตน หรือทำงานตามหลักของความพอใจ (Law of Pleasure) โดยไม่คำนึงถึงสิ่งใด เปรียบเสมือนสันดานดิบของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็นสัญชาติญาณ แห่งการมีชีวิต (Life Instinct) เช่น ความต้องการอาหาร ความต้องการทางเพศ ความต้องการหลีกหนีจากอันตรายกับสัญชาติแห่งการตาย (Death Instinct) เช่น ความต้องการก้าวร้าว หรือการทำอันตรายต่อตนเอง และผู้อื่น เป็นต้น
อีโก้ (Ego) หมายถึง ส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมที่เกิดจากความต้องการของ id โดยอาศัยกฎเกณฑ์ทางสังคม และหลักแห่งความจริง (Reality Principle) มาช่วยในการตัดสินใจไม่ใช่แสดงออกตามความพอใจของตนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดแสดงออกอย่างมีเหตุมีผลด้วย ซุปเปอร์อีโก (Super Ego) หมายถึง มโนธรรม หรือจิตส่วนที่ได้รับการพัฒนาจากประสบการณ์ การอบรมสั่งสอน หรือกระบวนการสังคมประกิต โดยอาศัยหลักการศีลธรรมจรรยา ขนบธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมต่าง ๆ ในสังคมนั้น Super Ego จะเป็นตัวบังคับ และควบคุมความคิดให้แสดงออก ในลักษณะที่เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม โครงสร้างจิต 3 ระบบนี้ มีความสัมพันธ์กัน ถ้าทำงานสัมพันธ์กันดี การแสดงออก หรือบุคลิกภาพก็เหมาะสมกับตน แต่ถ้าโครงสร้างทั้ง 3 ระบบ ทำหน้าที่ขัดแย้งกันบุคคลก็จะมีพฤติกรรม หรือบุคลิกภาพที่ไม่ราบรื่นผิดปกติ หรือไม่เหมาะสม แนวความคิดกลุ่มนี้เชื่อในเรื่องจิตไร้สำนึก (Unconscious Mind) ซึ่งอยู่ระหว่างจิตสำนึกที่รู้ตัว มีสติสัมปชัญญะ กับจิตไร้สติสัมปชัญญะ หรือที่เรียกว่า จิตไร้สำนึกนี้จะรวบรวมความคิด ความต้องการ และประสบการณ์ที่ผู้เป็นเจ้าของจิตไม่ต้องการ หรือไม่ปรารถนาจะจดจำจึงเก็บกดความรู้สึกต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ให้อยู่ในจิตส่วนนี้ และหากความคิด ความต้องการ หรือความรู้สึกต่างๆ ทีบุคคลเก็บกดไว้ยังมีพลังอยู่ ถ้าเกิดมีสิ่งใดมากระตุ้นขึ้น พลังที่ถูกเก็บไว้จะแสดงอิทธิพลทำให้บุคคลเกิดพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่รู้สึกตัว อนึ่ง ประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็ก โดยเฉพาะช่วงแรกเกิดถึง 5 ขวบ ที่เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูที่เด็กได้รับจะฝังแน่นอยู่ในจิตไร้สำนึก และอาจจะแสดง เมื่อถูกกระตุ้นโดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ฟรอยด์ยังได้ กล่าวถึงพัฒนาการของมนุษย์ไว้อีกด้วยว่า มนุษย์มีพัฒนาการเป็นลำดับขั้น (ทิพยวรรณ กิตติพร.2543:25-33)
พัฒนาการบุคลิกภาพ ตามแนวคิดของ ฟรอยด์แบ่งพัฒนาการบุคลิกภาพออกเป็น 5 ขั้น ดังนี้
1. ขั้นปาก (Oral Stage) แรกเกิด 1 – 2 ขวบ หมายถึง ความสุข และความพอใจของเด็กจะอยู่ที่ได้รับการตอบสนองทางปาก เช่น การดูดนม การสัมผัสด้วยปากหาเด็กได้รับการ ตอบสนองเต็มที่ เด็กก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพเหมาะสมหากตรงกันข้ามเด็กจะเกิด ความชะงัก ถดถอย (Fixation) และมาแสดงพฤติกรรมในช่วงนี้อีกในวัยผู้ใหญ่ เช่น ชอบนินทาว่าร้าย สูบบุหรี่ กินจุบ - กินจิบ เป็นต้น
2. ขั้นทวารหนัก (Anal Stage) อายุ 2 – 3 ขวบ หมายถึงความพอใจอยู่ที่การขับถ่ายเมื่อมีวุฒิภาวะ ฉะนั้น การฝึกฝน ฝึกหัด การขับถ่ายอย่างค่อยเป็น ค่อยไป ด้วยวิธีผ่อนปรน และประนีประนอม และให้เรียนรู้การขับถ่ายเป็นเวลา จะทำให้เด็กไม่เกิดความเครียด และสามารถพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสมได้ ตรงกันข้ามหากเด็กได้รับการลงโทษ และฝึกหัดด้วยวิธีรุนแรงจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่พอใจ และเก็บความรู้สึกที่ไม่ดีไว้ที่จิตไร้สำนึก และจะมีผลต่อ บุคลิกภาพในเวลาต่อมา กล่าวคือเป็นคนขี้เหนียว เจ้าระเบียบ ชอบทำร้ายให้ผู้อื่นเจ็บปวด ชอบย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น
3. ขั้นอวัยวะเพศ (Phallic Stage) อายุ 3 – 5 ขวบ หมายถึง ความสนใจของเด็กจะเปลี่ยนมาสนใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศ มักถามว่าตนเกิดมาจากทางไหน ฯลฯ ในขั้นนี้เด็กจะรักพ่อแม่ที่เป็นเพศ ตรงข้ามกับตน และลักษณะเช่นนี้ ทำให้เด็กเลี่ยนแบบบทบาททางเพศจากพ่อ หรือแม่ที่เป็นตัวแบบ หากพ่อแม่ปฏิบัติตามบทบาทที่ดี เหมาะสมเป็นตัวแบบที่ดี เด็กก็จะเลียนแบบ และพัฒนาบทบาททางเพศของตนได้อย่างดี แต่ถ้าเกิดการติดตรึง (Fixation) ในขั้นนี้ เมื่อโตขึ้น อาจมีพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น รักร่วมเพศ (Homosexuality) กามตายด้าน(Impotence) การชาเย็นทางเพศ ( Frigidity) เป็นต้น
4. ขั้นแฝง (Latency Stage) อายุ 6 – 12 ขวบ หมายถึง เป็นระยะก่อนที่เด็กจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่น จะมีความสนใจใน เพื่อนเพศเดียวกัน
5. ขั้นวัยรุ่น (Genital Stage) อายุ 13 – 18 ขวบ หมายถึงเด็กหญิงจะเริ่มมีความสนใจเด็กชาย และเด็กชาย ก็เริ่มมีความสนใจเด็กหญิงเป็นระยะ ที่จะมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศ อย่างแท้จริง นักจิตวิทยากลุ่มนี้กลุ่มนี้ยังเชื่อว่า พฤติกรรมทั้งหลายมีสาเหตุเกิดจากพลังผลักดัน ทางเพศ หลักการทางจิตวิเคราะห์ก็ได้รับการยอมรับในการนำไปใช้ในวงงานของจิตแพทย์ หรือ การบำบัดรักษาอาการที่ผิดปกติทางอารมณ์ และจิตใจ กลุ่มนี้ใช้วิธีการศึกษาด้วยระบบความในใจอย่างเสรี (Free Association)
2.3.5 แนวคิด กลุ่มจิตวิทยาเกสตอล (Gestalt Psychology)
กลุ่มจิตวิทยาเกสตอล แนวความคิดกลุ่มนี้ เกิดในประเทศเยอรมันนีประมาณปี ค.ศ. 1912 คำว่า Gestalt เป็นภาษาของเยอรมัน แปลว่า “โครงรูปแห่งการรวมหน่วย” ผู้นำของกลุ่มนี้ คือ แมกซ์ เวิทโฮเมอร์ (Max Wertheimer 1880 – 1943) และมีผู้ร่วมงานคือ เคิท คอฟก้า (Kurt Koffka 1886 – 1941) วูล์ฟแกงเคอเลอร์ (Wolfkang Kohler) ภายหลังบุคคลเหล่านี้ได้อพยพมาอยู่ในอเมริกา แนวความคิดที่สำคัญของนักจิตวิทยากลุ่มนี้ คือ การพิจารณาพฤติกรรม หรือประสบการณ์ของคนเป็นส่วนรวมซึ่งส่วนรวมนั้นมีค่ามากกว่าผลบวกของส่วนย่อย ๆ ต่าง ๆ มารวมกัน เช่น คนนั้นมีค่ามากกว่า ผลบวกของส่วนย่อยต่าง ๆ เช่น แขน ขา ลำตัว สมอง เป็นต้น นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ แมกซ์ เวิทโฮเมอร์ และ เคิท คอฟก้า
ในด้านการรับรู้ของบุคคล ก็มีลักษณะในรูปของส่วนรวม (The whole) เช่น สนามหญ้า เรามองเห็นเป็นสนาม เพราะเราไม่มองต้นหญ้าแต่ละต้นที่มาอยู่รวมกัน แต่เรา มองพื้นที่ และรูปร่างทั้งหมด คำว่า เกสตอล (Gestalt) มาจากภาษาเยอรมัน ซึ่งหมายถึงส่วนร่วมทั้งหมดกลุ่มนี้มีแนวคิดว่า การเรียนรู้เกิดได้จาก การจัดสิ่งเร้าต่าง ๆ มารวมกัน เริ่มต้นด้วยการรับรู้โดยส่วนรวมก่อน แล้วจึงจะสามารถแยกวิเคราะห์เรื่องราวเรียนรู้ส่วนย่อยที่ละส่วนต่อไป (Field Theory) และยังคงใช้หลักการเดียวกัน นั่นก็คือ การเรียนรู้ของบุคคลจะเป็นไปได้ด้วยดี และสร้างสรรค์ถ้าเขาได้มีโอกาสเห็นภาพรวมทั้งหมด ของสิ่งที่จะเรียนเสียก่อน เมื่อเกิดภาพรวม ทั้งหมดแล้ว ก็เป็นการง่ายที่บุคคลนั้น จะเรียนสิ่งที่ละเอียดปลีกย่อยต่อไป
ปัจจุบันได้มีผู้นำเอาวิธีการเรียนรู้ของกลุ่มเกสตอล มาใช้อย่างกว้างขวาง โดยเหตุที่เชื่อ ในผลการศึกษาค้นคว้าที่พบว่า ถ้าให้เยาวชนได้เรียนรู้โดยหลักของ จิตวิทยาเกสตอลแล้ว เด็กเหล่านี้จะมีสติปัญญา และความคิดสร้างสรรค์ และความรวดเร็วในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น หลักสำคัญของการเรียนรู้ของแนวคิดจิตเกสตอล ประกอบด้วย การรับรู้ และการหยั่งเห็น ดังอธิบายคือ
1. การรับรู้ (Perception) หมายถึง การแปลความหมาย หรือการตีความจากสิ่งเร้าที่สัมผัส การรับรู้นี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ
1.1 ภาพ (Figure) หมายถึง ส่วนสำคัญที่ต้องการเน้นให้เกิดการรับรู้
1.2 พื้น (Ground) หมายถึง ส่วนประกอบที่ทำให้ภาพชัดเจนขึ้น ต่อมาในระยะหลังแนวคิดจิตวิทยาเกสตอลจัดเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อจิตวิทยา หลายสาขา เช่น จิตวิทยาการบำบัด จะใช้แนวคิดของจิตวิทยาเกสตอลเป็นอย่างมาก วิธีการที่ใช้ คือ การสังเกตแบบปรากฏการณ์ หรือเรียกว่า Phenomenology เป็นการพิจารณาจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติที่ปรากฏให้เราเห็น อย่างไรก็ดี แนวคิดจิตวิทยาเกสตอลสนใจเรื่อง การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ จะศึกษามนุษย์ ทั้งหมดที่เป็นตัวเขา
2. การหยั่งรู้ ( Insight ) หมายถึง การเรียนรู้ หรือแก้ปัญหาได้โดยการตระหนักรู้ ด้วยตนเองอย่างทันทีทันใด สามารถมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้ ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการซึ่งความสามารถในการหยั่งรู้ของบุคคลขึ้นอยู่ประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อน ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับปัญหาที่ต้องขบคิดนั้น
2.3.6 แนวคิดกลุ่มมนุษยนิยม (Humanism )
กลุ่มมนุษยนิยมมีผู้นำที่สำคัญในกลุ่มคือ คาร์ล อาร์ โรเจอร์ส (Carl R. Rogers) และอับบราฮัม เอ็ช มาสโลว์ (Abraham H. Maslow) ความเชื่อเบื้องต้น ของนักจิตวิทยากลุ่มนี้ คือ
1. เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่งที่มีจิตใจ มีความต้องการความรัก มีความต้องการความอบอุ่น มีความเข้าใจ มีความสามารถเฉพาะตัว มีขีดจำกัด ไม่สามารถจะเสกสรร ปั้นแต่งให้เป็นอะไรก็ได้ตามใจชอบ และมนุษย์มีความดีงามติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวคิดแตกต่างจากกลุ่มพฤติกรรมนิยม ที่เห็นว่า เราสามารถกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยกันได้
2. เชื่อว่ามนุษย์เราทุกคนต่างก็พยายามจะรู้จัก และเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self actualization) และยอมรับในสมรรถวิสัยของตนเอง แนวความคิดจาก กลุ่มนี้ เป็นที่ยอมรับ และ ใช้เป็นหลักในบริการแนะแนว (Guidance service) และยังนำหลักการไปปรับใช้ในด้านการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตรเน้น ให้นักเรียนรู้จักเสาะแสวงหาความรู้ตนเองให้มีอิสรเสรี ในเรื่องการพูด คิด ทำ สามารถจะสนองความต้องการ และความสนใจ ในการสอนก็ตระหนัก ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล กิจกรรมทุกอย่างถือว่าเด็กเป็นศูนย์กลาง ครูเป็นเพียงผู้ให้บริการ และประสานงานแนวคิดของกลุ่มมนุษย์นิยม เป็นปัจจัยสำคัญ กำหนดบทบาท ท่าที บุคลิกภาพของครูให้วางตัวเป็นตนเองกับเด็ก มีสัมพันธภาพที่ดีต่อเด็ก
3. มีความเชื่อว่า ในเมื่อมนุษย์เราทุกคนต่างก็เข้าใจผู้อื่น และยอมรับตนเองอยู่แล้วต่างคนก็มุ่งสร้างย่อมเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้แก่ตนเอง
4. เนื่องจากมนุษย์เราแต่ละคนต่างพยายามปรับปรุงตนเอง ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ฉะนั้นควรจะให้คนมีสิทธิ์อิสระที่จะเลือกกระทำ เลือกประสบการณ์ของ ตนเอง กำหนดความต้องการของตนเอง ตัดสินใจใด ๆ ด้วยตนเอง
5. มีความเห็นว่า วิธีการค้นคว้าเสาะแสวงหาความรู้ หรือข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น และมีความสำคัญนำความรู้ และข้อเท็จจริง เพราะโลกมีการ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตัวของความรู้ หรือตัวข้อเท็จจริงเองที่ตายตัว ฉะนั้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของผู้เรียนมากที่สุด ก็คือ กรรมวิธีใน การเสาะแสวงหาความรู้
จิตวิทยากลุ่มต่างๆ ต่างก็มีบทบาทสำคัญในการศึกษาเรื่องบุคลิกภาพของนักการเมือง เพื่ออธิบายพฤติกรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพขึ้น แต่ทฤษฎีบุคลิกภาพ หรือกลุ่มต่างๆทางจิตวิทยายังไม่พอที่จะอธิบายพฤติกรรม และบุคลิกภาพของนักการเมือง เราควรทำการศึกษา จากหลายๆองค์ประกอบ จะทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ดี ผู้สอนคงให้คำตอบว่าการศึกษาบุคลิกภาพคงต้องใช้หลักจิตวิทยา เป็นเพียงกฎเกณฑ์พื้นฐาน และเป็นรากฐาน ในการที่จะศึกษาบุคลิกภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจตคติ ความเชื่อ ประสบการณ์เดิม และอื่นๆอีก ที่ต้องนำมาช่วยในการประยุกต์ใช้ และที่สำคัญ คือเราเป็นคนไทย คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ หลักศาสนาพุทธ ก็เป็นแนวทางในการปฏิบัติหนึ่งที่ทำให้บุคลิกภาพของ นักการเมือง เป็นอย่างไร และหลักการของบุคลิกภาพที่บุคคลนั้นยึดถือ จะส่งผลทำให้ชีวิตของนักการเมืองสามารถ ดำเนิน ไปได้อย่างปกติสุข หรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ก็ยังมีศาสนาอื่นๆ อีกที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อจะศึกษาควบคู่กันไปกับวิชาจิตวิทยา หัวใจของทุกๆ ศาสนาดีหมดนำมาประยุกต์ใช้ใน การดำเนินชีวิตได้
สำหรับการศึกษาเรื่องทฤษฏีบุคลิกภาพจะทำให้เข้าใจแนวคิดทฤษฏีต่างๆ ที่สรุปหลักการบนเหตุผล และแนวคิดของกลุ่มต่างๆ ทางจิตวิทยาทั้ง 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโครงสร้างของจิต กลุ่มหน้าที่ของจิต กลุ่มพฤติกรรมนิยม กลุ่มจิตวิทยาเกสตอล กลุ่มจิตวิเคราะห์ และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มมนุษยนิยม ซึ่งกลุ่มต่างๆ จะทำให้ทราบว่าบุคคลที่ลงเล่นการเมืองมีแนวคิดในการทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ในแนวคิดทฤษฎีอะไร ทำให้เราสารมารถมองความเป็นบุคคล ที่ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และมีแนวทางในการวิเคราะห์ว่า พฤติกรรมที่นักการเมืองกระทำนั้น เพราะเขาเหล่านั้นมีแนวคิดในกลุ่มใดเหตุใด จึงกระทำเช่นนั้น และที่สำคัญในเรื่องของการเมือง เป็นเรื่องของการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีความสนใจในกิจกรรมทางการเมืองคล้ายๆกัน โดยแบ่งออก เป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ปกครอง และฝ่ายที่ถูกปกครองซึ่งได้แก่ ประชาชนส่วนใหญ่ของรัฐ หรือของประเทศส่วนฝ่ายปกครอง ก็หมายถึง รัฐบาลที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศ ดังนั้นการเมืองจึงเป็นเรื่องของพันธะ หรือความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคคลทั้งสองฝ่าย ที่จะเกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกัน และกัน และตอบสนองความต้องการภายในทั้งในเรื่องส่วนตัว และสังคม การเมืองกับจิตวิทยาจึงแยกกันไม่ออกว่าส่วนใดมาก่อนส่วนใดมาหลัง แต่ความเป็นมนุษย์ต้องประกอบด้วยกาย และจิตที่ทำงานอย่างสอดคล้องสัมพันธ์กัน และอยู่ในระบบสังคมที่เกื้อกูลกัน สังคมจะดีได้ต้องมีคนดีอยู่ในสังคม ประเทศจะเจริญก้าวหน้าก็ต้องมีคนที่ดีโดยมีทั้งความรู้ดี มีคุณธรรมดี หรือดีจากข้างในซึ่งจิตวิทยาจะสังเกต และอธิบายพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนถึงการควบคุม และทำนายพฤติกรรมได้
คำว่า “การเมือง”มาจากภาษาอังกฤษว่าPolitics ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษากรีก หมายถึง ศิลปะในการปกครองรัฐ การปกครองรัฐการปกครองคน เป็นจำนวน มากทำอย่างไรให้สังคม ปกติสุข ผู้ปกครองก็ต้องมีจิตวิทยาในการปกครอง ในเรื่องการเมืองจะประกอบไปด้วยคนสองกลุ่มคือ คนที่ทำหน้าที่ปกครอง กับคนส่วนใหญ่ที่ถูกปกครอง ดังความหมายของการเมืองที่จะยกตัวอย่างเช่น การเมือง หมายถึง การที่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลในสังคม ซึ่งอาจจะมีประโยชน์ร่วมกัน หรือขัดแย้งกัน หรือมีความคิดเหมือนกัน หรือมีความคิดไม่เหมือนกัน ร่วมมือกัน หรือต่อสู้กัน เพื่อสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่ ปกครอง ประเทศแทนพวกเขา และ หรือ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ที่จะทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจในเรื่องส่วนรวมได้โดยชอบธรรม
การเมือง หมายถึง การมี และการใช้อำนาจ การมี และการใช้อิทธิพล หรือการดำเนิน การต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ และอิทธิพล
การเมือง หมายถึง กิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย และการนำนโยบายออกปฏิบัติซึ่งจะมีผลต่อสังคมส่วนรวม ด้วยความยินยอม ของสังคมนั้น
การเมือง ในความหมายอย่างกว้าง หมายความตรงไปตรงมาว่า “กิจการส่วนร่วมของบ้านเมือง” อันได้แก่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับประโยชน์ส่วนรวมของ ประเทศชาติไม่ว่าในระดับรัฐบาล หรือระดับเทศบาล กิจการเหล่านี้อาจเป็นการทูต การทหาร การคลัง เศรษฐกิจ อาจรวมไปถึงการเหมืองแร่ การสื่อสาร และการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของส่วนรวมด้านใดด้านหนึ่ง ก็รวมอยู่ในความหมายของคำว่าการเมืองทั้งนั้น การเมืองในความหมายนี้ก็คือ “การเมือง” ที่เราหมายถึงเมื่อเราพูดว่า “ทุกคนในชาติต้องสนใจการเมือง” “นักศึกษาทุกคนต้องสนใจการเมือง”
ส่วนการเมืองในความหมายอย่างแคบ หมายถึงกิจกรรมเฉพาะบางอย่างที่บุคคลบางกลุ่มที่เรียกกันว่า นักการเมือง (Politician) หรือพรรคการเมือง (Political Party) ที่ดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการควบคุมบงการกิจการของบ้านเมือง พูดให้สั้นเข้า การเมืองก็คือการแสวงหา หรือดำรงไว้ซึ่งอำนาจ การปกครองบ้านเมืองนั่นเอง โดยที่บ้านเมืองมีพลเมืองจำนวนมากที่มีสิทธิ เท่าเทียมกันในการแสวงหาอำนาจ จึงมีการแข่งขันแก่งแย่งกันมาก คนที่สนใจการเมืองเช่นนี้ จึงรวมตัวกันเข้าเป็นกลุ่มเป็นคณะเรียกกันว่า “พรรคการเมือง” ด้วยเหตุนี้การแสวงหาอำนาจ การปกครองบ้านเมือง จึงมีคนที่ทะเยอทะยานหลายคน หรือหลายกลุ่มที่คอยแข่งขัน แก่งแย่ง ช่วงชิง ต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนั้น ด้วยเหตุนี้การเมืองจึงต้องมีความขัดแย้ง ระหว่างบุคคล หรือระหว่างพรรคอยู่เสมอ
จากความหมายดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่าเรื่อง การเมืองจะเกี่ยวข้องกับบุคคล หรือกลุ่มที่ เข้ามาอาสาทำหน้าทีบุคคลปกครองบ้านเมือง บุคคล หรือกลุ่ม บุคคลนี้เราเรียกว่านักการเมือง เข้ามาทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และออกเป็นกฎหมายใช้บังคับคนทั้งหมด ในแง่จิตวิทยาอธิบายว่าจิตวิทยา เป็นการศึกษาบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวกับข้องพฤติกรรม หรือกิริยา ซึ่งรวมถึงความพยายามที่จะศึกษาว่ามีอะไรบ้าง หรือตัวแปรใดบ้างที่เกิด ในสถานการณ์ใดๆ ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาสังเกตวิเคราะห์พฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้สามารถคาดคะเน หรือพยากรณ์พฤติกรรมของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลได้ ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมเบี่ยงเบน อันก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองอันจะนำไปสู่ความรุนแรง ในอนาคตโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์ ดังนั้นความรู้ทางด้านจิตวิทยาจึงสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา ทางการเมืองการปกครองของไทยทั้งในอดีต และในปัจจุบัน ซึ่งมีบุคคล และกลุ่มบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเมืองไทย ให้ไม่สามารถเป็น การเมืองที่มีลักษณะมั่นคงเหมือนกับการเมืองในประเทศที่เจริญแล้ว จากคำอธิบายข้างต้น ผู้เขียนขออธิบายความหมายของคำว่า “จิตวิทยาการเมืองไทย” หมายถึง การศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พฤติกรรมทางการเมือง ของบุคคล และกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ในสถาบันทางการเมือง การปกครองตามระบอบ ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เราต้องยอมรับว่า การพัฒนาการทางการเมืองการปกครองของประเทศไทยได้ พัฒนาการมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน 79 ปี การเมืองไทย ประสบปัญหาระส่ำระสาย มาโดยตลอด และการเมืองไทยมีคนหลายกลุ่มเข้ามาหาผลประโยชน์ทั้งส่วนตัว และประโยชน์ ของกลุ่มมากว่า ที่จะทำให้ เพื่อชาติ จะเห็นได้จากประเทศเรามีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ แต่ละฉบับ ก็ถูกสร้างมาโดยมีจุดมุ่งหมายทั้งสิ้น ใครเป็นคนกำหนดจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คำตอบคงเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจ กลุ่มที่ใช้อำนาจ หรือกลุ่มคนที่ได้รับเลือกให้ไปใช้อำนาจนั้นๆ ตามเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่ เมื่อคนเหล่านั้นเข้าสู่ระบบ การเมืองจริงๆ แล้วคนเหล่านั้น ยังคงมีแนวคิดเหมือนกับตอนที่หาเสียง หรือไม่ และอะไรเป็นเหตุให้พฤติกรรม บุคลิกภาพคนที่เข้าไปสู่ระบบการเมือง ซึ่งมีอำนาจ และใช้อำนาจเปลี่ยนไป หรือสามารถพัฒนาตนจนเป็นรัฐบุรุษอาวุโสเป็นที่ยอมรับของหลายคน หรือเป็นคนบ้าอำนาจจนเป็นที่เกลียดชัง ของหลายฝ่าย พฤติกรรมของนักการเมืองเหล่านี้เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาโดยทั้งสิ้น