ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Adler หรือ ทฤษฎีจิตวิทยารายบุคคล

ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Adler หรือ ทฤษฎีจิตวิทยารายบุคคล ( Individual Psychology )

ประวัติ Alfred Adler เกิดประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1870 ครอบครัวของเขามีฐานะปานกลาง Adler เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน การศึกษาหลังจากเรียนจบการศึกษาเบื้องต้นแล้วเขาได้เข้า การศึกษาแพทย์ที่ Vienna Medical School จากการศึกษาที่นี่เขาได้รับการเน้นว่า แพทย์ต้องทำ การรักษาคนไข้ทุกเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่เรื่อง ความเจ็บป่วยเท่านั้น Adler ชอบคำสอนที่ว่า "ถ้าคุณต้องการเป็นหมอที่ดี คุณก็ต้องเป็นคนที่มีความเมตตากรุณา" ( If you want to be a good doctor, you have to be a kind person) คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เขาสนใจมาก และจดจำไม่ลืม
เมื่อเขาได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์แล้ว เขาได้ตั้งคลีนิคส่วนตัวในย่าน ที่อยู่อาศัยของ คนชั้นกลางซึ่งมีฐานะไม่ค่อยดีเท่าใดนักในเมือง Vienna ใกล้ๆ กับสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง คนไข้ของเขามีทั้งศิลปินและนักกายกรรม ซึ่งมาเปิดการแสดงที่สวนสาธารณะแห่งนี้ ในจำนวนคนไข้เหล่านี้ มีคนไข้บางคนที่ทำให้ Adler พบว่าเขาเหล่านั้นได้พบความสำเร็จ มีพละกำลัง หรือความแข็งแรงที่เกิดจากประสบการณ์ของความอ่อนแอและความเจ็บป่วยของตน ชักนำให้เกิดขึ้น จุดนี้เองทำให้ Adler สนใจในความคิดเรื่อง การได้รับความสำเร็จจากการชดเชย และได้กลายมาเป็นความคิดรวบยอด (concept) ที่สำคัญอย่างหนึ่งในทฤษฎีบุคลิกภาพของเขา
นักจิตวิทยาในกลุ่มของ Adler ได้เข้ามาทำงานร่วมกับ Freud ต่อมาเขาไม่เห็นด้วยกับ Freud ในเรื่องของความฝัน (dreams) และได้ตีพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นนี้ ปี 1910 เขาได้รับเลือกเป็นประธานคนแรกของสมาคมจิตวิทยาวิเคราะห์ (Vienna Psycho – Analytic Society) ในระยะหลังๆ Adler ไม่เคยสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับ Freud หรือกับนักจิตวิทยาคนสำคัญๆ ในกลุ่มจิตวิเคราะห์ เขาไม่ใช่คนที่จะสยบ ให้กับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า และประกอบคำถามและคำวิจารณ์ความคิดบางอย่างในทฤษฎีของ Freud อย่างตรงไปตรงมา เป็นเหตุให้เขาต้องลาออกจากสมาคมนี้ไปในปี ค.ศ. 1911
หลังจากนั้น Adler ก็ได้มารวบรวมนักจิตวิทยาที่มีความคิดเห็นตรงกันตั้งกลุ่มจิตวิทยาขึ้นใหม่ เรียกชื่อว่า Society for Free Psycho – Analytic Research การตั้งชื่อเช่นนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงการไม่เห็นด้วยวิธีการที่ Freud ศึกษาคนไข้ แต่ในปี 1913 เขาได้เปลี่ยนชื่อสมาคมนี้ใหม่เป็น Individual Psychology เป็นชื่อที่สะท้อนถึงความเกี่ยวข้องต่างๆ ที่จะเข้าใจบุคลิกภาพทั้งหมด ไม่ใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่งในเรื่องพฤติกรรมเท่านั้น ความหมายอีกอย่างหนึ่งของคำว่า "รายบุคคล (individual)" คือการแสดงสิ่งที่ปรากฏทั้งหมด หรือสิ่งที่อยู่ในรายบุคคล แต่คำ ๆ นี้มักนำไปใช้เป็นความหมายในการศึกษารายบุคคล (study of the individual) ซึ่งเป็นการศึกษาที่ตรงกันข้ามกับการศึกษาพฤติกรรมเป็นกลุ่ม และไม่ใช่ความหมายในทัศนะของ Adler ในทฤษฎีของ Adler คำว่า "รายบุคคล" (individual) สามารถเข้าใจได้จากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสมาชิกอื่นๆ ในสังคม
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 Adler ได้เป็นแพทย์รักษาทหารที่บาดเจ็บในโรงพยาบาลในกรุงเวียนนา (Vienna hospital) ซึ่งทำให้เขาได้รับประสบการณ์ต่างๆ กว้างขวางขึ้น เขาได้ค้นพบความสำคัญของมโนมติ (concept) ในเรื่องความสนใจสังคม (social interest) เขาได้เห็นความทารุณโหดร้ายของสงครามที่มีต่อประชาชน สงครามเป็นผลมาจากการขาดความไว้วางใจ และขาดความร่วมมือกัน สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจในการเขียนผลงานเพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อมูลทั่วๆ ไปของมนุษย์ เช่น ความต้องการที่จะร่วมมือกัน (cooperation) ความรัก (love) และการได้รับการยอมรับนับถือระหว่างมนุษย์ด้วยกัน (respect) ในขณะเดียวกันเขาก็ให้ความช่วยเหลือที่จะสร้างคลีนิคแนะแนวเด็กขึ้นในโรงเรียนในกรุงเวียนนา (child guidance clinic) ให้คำปรึกษาแก่เด็กและครอบครัว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 เป็นต้นมา
Adler เป็นนักจิตวิทยาที่ได้รับการยอมรับระหว่างประเทศเขาได้ไปบรรยายในยุโรป สหรัฐอเมริกา และได้ถึงแก่กรรมด้วยหัวใจวาย ขณะที่ได้รับเชิญเป็นอาจารย์อาคันตุกะ (tour lecture) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1937
จิตวิทยารายบุคคล (Individual Psychology) เป็นทฤษฎีรายบุคคลที่มุ่งทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์โดยคำนึงถึง ความซับซ้อนและการจัดระบบ ของแต่ละบุคคล

โครงสร้างของทฤษฎี

โครงสร้างทฤษฎีบุคลิกภาพ มีแนวความคิดที่สำคัญๆ ของ Adler มี 6 เรื่องต่อไปนี้

1. การยึดถือสิ่งที่เป็นจินตนาการ ( Fictional Finalism )
2. การแสวงหาความยิ่งใหญ่ ( Striving for Superiority )
3. ความรู้สึกด้อยและการชดเชย ( Inferiority Feeling and Compensation )
4. ความสนใจสังคม ( Social Interest )
5. แบบแผนชีวิต ( Style of Life )
6. การเลี้ยงดูของพ่อแม่ โดยจะอธิบายเป็นภาพรวมดังนี้

Adler เชื่อในเรื่องอิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม มีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล
นอกจากนี้เขายังเชื่อว่า สถานการณ์ที่กดดันจะทำให้บุคคลที่พิการ หรือคนที่ขาดสามารถย้ำให้เห็นบุคลิกภาพที่โดดเด่นได้ยิ่งขึ้น และ เขาสรุปโครงสร้างทฤษฎีของเขาว่า การสร้างบุคลิกภาพเป็นผลสืบเนื่องมาจากสิ่งที่เป็นมาแต่กำเนิด ( Organism ) เพราะมนุษย์มีระยะเวลาที่เป็นทารกนาน ในช่วงนั้นบุคคลจะได้รับอิทธิพลของเจตคติในครอบครัวของตน หรืออิทธิพลของพ่อแม่ ผู้ปกครองซึ่งทำให้บุคคลอาจ รู้สึกถึงความรู้สึกด้อยและพยายามหาทางชดเชย โดยวิธีการต่อสู้ดิ้นรน เพื่อลบล้างเพื่อให้ตนรู้สึกดี ในกลุ่มผู้ใหญ่โดยการแสวงหาความยิ่งใหญ่ การยึดถือสิ่งที่เป็นจินตนาการ และเดินไปสู่จิตนาการแห่งตน โดยมีความรู้สึกเกี่ยวกับสังคมและความสนใจสังคมซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาการของบุคคล ซึ่งถือเป็นเรื่องของ การมีสามัญสำนึก ( Common sense ) ดังนั้นวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกคนมีแบบแผนชีวิตที่หลากหลายกันไป และสิ่งสำคัญใน เรื่องของชีวิต และในเรื่องการเลี้ยงดู การพัฒนาบุคลิกภาพในช่วง 5 ปีแรกนั้น สิ่งแวดล้อม ( Milieu ) ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และยังรวมถึงเจตคติที่พ่อแม่มีต่อเด็ก สัมพันธภาพระหว่างพี่น้องก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนาบุคลิกภาพ ดังนั้นพ่อแม่ที่ต้องการ ให้ลูกมีบุคลิกภาพที่ดี พ่อแม่ควรจะส่งเสริมให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ให้ความรักกับลูกของท่าน ให้ความยุติธรรม ไม่ช่วยเหลือลูกจน ลูกทำอะไรเองไม่เป็น มีความเข้าใจในตัวลูกของท่านและที่สำคัญคือท่านต้องสามารถรับฟังความคิดเห็นลูกท่านได้ และไม่ว่าลูกจะเกิดในลำดับใดหากลูกได้รับความรู้สึกที่ดีๆ ดังกล่าวจากพ่อแม่สมบูรณ์ การพัฒนาบุคลิกภาพจะเป็นไปตามแบบแผน แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธว่าลำดับการเกิดมีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ

ความสัมพันธ์ของครอบครัวกับบุคลิกภาพ

ในเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวเขาเชื่อว่า ลำดับการเกิดทำให้บุคลิกภาพของบุคคลแตกต่างกัน เช่น
1. ลูกคนโต มักจะมีบุคลิกภาพ เป็นคนเอาจริงเอาจังต่อชีวิต มีความรับผิดชอบ มักเป็น ผู้นำ ผู้ไว้อำนาจแต่ถ้าแก้ความก้าวร้าวไม่ได้ ลูกคนโตมักมีบุคลิกภาพก้าวร้าว เคร่งเครียด และอิจฉาริษยา
2. ลูกคนรอง มักมีบุคลิกภาพ เป็นคนไม่เคร่งเครียด ไม่เอาจริงเอาจังเท่าไรนัก มีนิสัย รักสนุก ไม่ค่อยสนใจที่จะเป็นผู้นำ หรือรับผิดชอบสักเท่าไร แต่เมื่อลูกคนรองมีน้อง ความรู้สึกการแข่งขันจะเกิดขึ้นทันที ถ้าในครอบครัวมีสัมพันธภาพไม่ดีอาจทำให้ลูกคนรองที่กลายมาเป็นคนกลางอาจมีความรู้สึกว่าพ่อแม่ลำเอียง และเกิดปัญหาในที่สุด
3. ลูกคนสุดท้อง มักมีบุคลิกภาพเป็นคนที่เอาแต่ใจตนเอง ช่างประจบ ชอบให้คนอื่น ช่วยเหลือ ได้รับความรักจากพ่อแม่พี่ๆ ค่อนข้างมาก ถ้าเลี้ยงดีก็จะดีมากแต่ถ้าเลี้ยงตามใจมากเด็กอาจเสียในที่สุด
4. ลูกโทน มักจะมีบุคลิกภาพที่มักจะเอาแต่ใจตนเอง มักถูกตามใจจนเคยตัว แต่ถ้า ครอบครัวสอนให้รู้เหตุรู้ผล ลูกโทนจะมี ความเชื่อมั่นในตนเอง องอาจ นับถือตนเอง แต่ความรับผิดชอบอาจน้อย เพราะต้องการอะไรก็มักจะได้โดยง่าย จึงไม่รู้ค่าของสิ่งที่มี
แนวคิดของ Adler ยังเน้นถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และเขาบอกว่าการดูคนต้องดูทั้งหมด ดูทุกแง่ทุกมุมและนำความรู้จากการดูนั้นมาทำความเข้าใจบุคคลนั้นทั้งหมด ( Person as a whole ) และเด็กจะรู้ถึง"ตน" เมื่ออายุ 2 ขวบ และเด็กก็จะรู้ถึงความ"เด่น" และความ"ด้อย" ด้วยเช่นกัน

ทฤษฎีเอกัตบุคคลของ Adler

แนวความคิดที่สำคัญของทฤษฎีเอกัตบุคคล มีดังนี้

1. ความรู้สึกด้อยและการชดเชย (Inferiority Feeling and Compensation)

Adler ได้สังเกตพบว่า คนทีมีร่างกายอ่อนแอหรือพิการ มักจะพยายามชดเชยสิ่งเหล่านี้โดย การฝึกหัดและออกกำลังกาย ซึ่งเราจะเห็นได้ ในคนเด่นดัง เกือบทุกคน มีร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นเพราะเขาได้เผชิญความเจ็บปวดในช่วงต้นของชีวิต แต่ต่อมา สามารถต่อสู้และเอาชนะความยากลำบากได้ ดังเช่น Roosvelt ที่เคยเป็นเด็กขี้โรคกลายเป็นคนที่ร่างกายแข็งแรง เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ความรู้สึกด้อยทางร่างกาย เป็นพลังกระตุ้นให้ บุคคลประสบ ความสำเร็จ ในชีวิตได้ แต่ความด้อยจะกลายเป็นปมด้อย (inferiority complex) ถ้าความพยายามของบุคคล ในการชดเชย ไม่ประสบความสำเร็จ บุคคลมักจะมีแรงกระตุ้นในการชดเชยปมด้อยทางร่างกาย และความรู้สึกด้อย ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด ทางจิตใจของตนต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากความรู้สึกแตกต่างทางร่างกาย ความไม่สามารถทางสังคม ความพิการหรืออ่อนแอทางร่างกาย Adler เชื่อว่า ความรู้สึกด้อยเป็นเสมือนแรงจูงใจขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการต่อสู้ของมนุษย์ทุกคน มนุษย์ทุกคนมีความเจริญก้าวหน้า เจริญเติบโตและพัฒนาได้ อันเป็นผลมาจากความพยายามที่จะเอาชนะปมด้อยของแต่ละคน ซึ่งอาจเป็นปมด้อยที่แท้จริง หรือปมด้อยที่เกิดจากการคิดขึ้นเอง
ความพิการทางร่างกาย หรือความรู้สึกบกพร่องต่าง ๆ โดยตัวของมันเองไม่มีความสำคัญ แต่มันจะไปกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกด้อย ซึ่งความรู้สึกด้อยนี้จะเป็น แรงกระตุ้น ให้ทุกคนแสวงหาความสมบูรณ์ การแข่งขัน หรือพัฒนาตนเองไปสู่ระดับที่สูงขึ้น แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่สนใจความบกพร่องของตัวเอง มันก็จะไม่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ดิ้นรนต่อไปได้ ความรู้สึกด้อยเกิดจาก ความรู้สึกไม่สมบูรณ์ (incompletion) หรือความไม่สมบูรณ์แบบ (inperfection) ซึ่งมีมาตั้งแต่ทารกแล้ว เนื่องจากเด็กไม่สามารถ ช่วยเหลือตนเองได้ แต่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ เพื่อมีชีวิตอยู่ได้ ประสบการณ์เหล่านี้ ทำให้ทารกพัฒนาความรู้สึกด้อย

2. การแสวงหาความยิ่งใหญ่ (Striving for Superiority)

แรก ๆ Adler สรุปว่าความก้าวร้าวเป็นเป้าหมายสุดท้าย ซึ่งมนุษย์ทุกคนแสวงหา และให้ความมั่งคงเป็นเอกภาพของบุคลิกภาพ ต่อมาเขาเปลี่ยน ความคิดเห็น จากความก้าวร้าวมาเน้นความสำคัญของความต้องการอำนาจ ซึ่งเขาเรียกพลังที่แสดงอำนาจว่า "masculinity" ส่วนพลังที่อ่อนแอเรียกว่า "femininity" ในการอธิบายเกี่ยวกับพลังนี้ เขาได้กล่าวถึง "masculine protest" ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการชดเชยที่เกินความจำเป็น หรือมากเกินไป (overcompensation) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
เมื่อบุคคลรู้สึกด้อยและรู้สึกไม่พอเพียงในสิ่งที่เป็นของตนเอง ต่อมา Adler ใช้คำว่า การแสวงหาความยิ่งใหญ่ แทนความต้องการอำนาจ การแสวงหา ความยิ่งใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเป้าหมายสุดท้ายของมนุษย์ แสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้ คือ เป็นคนก้าวร้าว, เป็นคนมีอำนาจ, เป็นคนแสวงหาความเป็นใหญ่เหนือผู้อื่น มนุษย์ทุกคนมีความมุ่งมั่น ปรารถนา และขวนขวายไปสู่ความสมบูรณ์ ความเป็นเลิศของมนุษย์ ซึ่ง Adler เชื่อว่าเป็นแรงจูงใจที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ ทุกคนมีความอยากเป็นเลิศในด้านในด้านหนึ่ง ซึ่งจะแสดงออกต่างกัน เช่น คนที่เป็นโรคประสาทมี รูปแบบการแสวงหาความยิ่งใหญ่เป็นไปในลักษณะต้องการการยกย่องนับถือ (self – esteem) อำนาจ (power) การยึดถือตนเองเป็นใหญ่ (egoistic) หรือความเห็นแก่ตัว (selfish) แต่สำหรับคนปกติมี รูปแบบการแสวงหาความยิ่งใหญ่ไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามคุณลักษณะทางสังคม

3. แบบแผนชีวิต (Style of life)

แบบแผนชีวิต เป็นหลักการสำคัญที่ Adler นำมาอธิบายในเรื่องความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน ทุกคนย่อมมีแบบแผนชีวิตของตน และไม่มีบุคคลใดที่จะพัฒนาแบบแผนชีวิตขึ้นมาใน รูปแบบเดียวกัน พฤติกรรมทั้งหมดของบุคคลเกิดขึ้นมาจากแบบแผนชีวิต บุคคลรับรู้ เรียนรู้ จดจำไว้ในสิ่งที่เห็นว่าเหมาะสมกับแบบแผนชีวิตของตนและไม่สนใจสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง แบบแผนชีวิต เกิดขึ้นในวัยเด็กตอนต้นช่วง 4-5 ขวบ ซึ่งเกิดจากปรับประสบการณ์ และนำประสบการณ์นั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ให้สอดคล้อง กับเอกลักษณ์ของแบบแผนชีวิตตน ทัศนคติ ความรู้สึก การรับรู้ ได้ตรึงแน่น และทำงานในระยะต้น ๆ ของชีวิต และสิ่งที่ตรึงแน่นนี้ ยากที่จะเปลี่ยนแปลงแบบแผนชีวิตในระยะต่อมา แม้ว่าระยะต่อ ๆ มา บุคคลอาจค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะแสดงถึง เอกลักษณ์ของ แบบแผนชีวิต

ความสนใจในสังคม ( Social Interest)

มนุษย์มีความสนใจสังคม โดยแสดงออกด้วยการให้ความร่วมมือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสังคม การเลียนแบบกลุ่ม การมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้สังคมบรรลุถึงเป้าหมาย ความเป็นสังคม ที่สมบูรณ์แบบ และทำให้ ความเป็นมนุษย ์ใน จินตนาการ สมบูรณ์ขึ้น และลบภาพความรู้สึกทะเยอทะยาน ความเห็นแก่ตัว ไปเป็นการคำนึงถึง ประโยชน์ ที่จะให้กับสังคม ความต้องการสังคมที่สมบูรณ์แบบ ทำให้มนุษย์สร้างสิ่งที่ดีงามขึ้นในสังคม Adler เชื่อว่า ความสนใจสังคม มีมาแต่กำเนิด แต่ยังไม่ปรากฏออกมาทันที โดยไม่มีสิ่งกระตุ้น แต่จะเป็นผลมาจากการแนะแนว และ การฝึกหัด ในตอนโต

การสร้างสรรค์ตนเอง (Creative Self)

การสร้างสรรค์ตนเอง เป็นแนวคิดที่ต่อเนื่องมาจากแบบแผนชีวิต กล่าวคือ แบบแผนชีวิตถูกพัฒนาขึ้น โดยพลังสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคล หรืออีกนัยหนึ่ง แต่ละบุคคลมีอำนาจอิสระในการสร้างแบบแผนชีวิตของตนเอง พลังสร้างสรรค์จะรับผิดชอบเป้าหมายชีวิต กำหนดวิธีแสวงหาจุดมุ่งหมาย และการพัฒนาความสนใจในสังคม พลังสร้างสรรค์ จึงมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ความจำ จินตนาการ ความเฟ้อฝัน และความฝัน ซึ่งทำให้แต่ละบุคคลเป็นคนที่มีอิสระในการกำหนดตัวเองได้ เราจะพบการสร้างสรรค์ตนเองของมนุษย์ได้จากวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของโลก ดังนั้น Adler อธิบายว่า การสร้างสรรค์ตนเอง คือความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับเป้าหมาย เพื่อตัดสิน เลือก และคิดถึง สิ่งต่างๆ ด้วยจุดประสงค์ และคุณค่าของแต่ละบุคคล

การยึดถือสิ่งที่เป็นจินตนาการ (Fictional Finalism)

Adler ได้แนวคิดจากงานเขียนของนักปรัชญาชื่อ Hans Vaihinger ในหนังสือ "The Philosophy of "As-if" ว่าคนเราสร้าง แนวคิด ที่นำ พฤติกรรม ของเรา การแสวงหาของคนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการรับรู้เป้าหมาย ซึ่งเป็นตัวบ่งทิศทาง ของ พฤติกรรม ทุกชนิด และเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาและก้าวไปข้างหน้าของตนเอง Adler เชื่อว่า เป้าหมายเหล่านี้เป็นอุดมคติ และไม่มีตัวตน ยังพิสูจน์ไม่ได้ อาจเป็นความเชื่อทางศาสนา หรือความเชื่อเรื่องนิยาย ซึ่งบุคคลยึดถือเป็น แนวทางในการปฏิบัติ คนปกติจะเป็นอิสระจาก ความคิดนี้ได้ เมื่อจำเป็น แต่คนผิดปกติ ไม่สามารถแยกแนวความคิดนี้ได้เลย

ลำดับการเกิด (Birth Order)

Adler ได้สังเกตว่า บุคลิกภาพของลูกคนโต คนกลาง และคนเล็ก ในครอบครัวหนึ่ง ๆ แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเขาได้ อธิบายว่า ความแตกต่างเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์ของเด็กแต่ละคนในฐานะเป็นสมาชิกของครอบครัว รวมทั้งทัศนคติใน การอบรมเลี้ยงดูลูก ของบิดามารดาด้วย เช่น ลูกคนโต มีความรับผิดชอบ เชื่อมั่นในตนเอง มีลักษณะเป็นผู้นำ ลูกคนกลาง มักมีนิสัย ยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ง่าย มีนิสัยร่าเริง และชอบการแข่งขัน มีความรู้สึกอ่อนไหว คิดมาก ขี้น้อยใจ ลูกคนสุดท้อง มักมี นิสัยเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจตนเอง ขี้งอน ไม่อดทน ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งพิงคนอื่นตลอดเวลา

ประสบการณ์ในวัยเด็ก (Childhood Experience)

Adler ได้สนใจเป็นพิเศษในประสบการณ์ที่มีอิทธิพลระยะเริ่มแรก ๆ ของชีวิต ซึ่งมีแนวโน้มให้เด็กมีแบบแผนชีวิตผิด ๆ เขาค้นพบองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการของประสบการณ์วัยเด็กที่มีผลต่อบุคลิกภาพ ได้แก่ เด็กที่มีปมด้อยทางร่างกาย เด็กที่ถูกตามใจจนเสียเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง ผลจากประสบการณ์ทั้ง 3 นี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กมีมโนคติผิด ๆ ในโลก และชีวิต ซึ่งเป็นผลให้ แบบแผนชีวิต ของเขามีปัญหา และไม่สามารถบรรลุถึงบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ได้

Adler เน้นศึกษาเรื่อง บุคลิกภาพของมนุษย์ ในลักษณะรวม ๆ ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งแต่ละคน จะมี พฤติกรรม ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ เขายังเน้นถึง ความสำคัญของ ความรู้สึกด้อย และ การชดเชย ลำดับการเกิด และประสบการณ์ในวัยเด็ก ดังจะเห็นได้จาก การวิจัยค้นคว้าที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ ลำดับการเกิด และ บุคลิกภาพ (birth order and personality) , ความจำในวัยเด็ก (early memories), ประสบการณ์วัยเด็ก (childhood experience)