วัยทอง Menopause

  • Tab 1
  • Tab 2
  • Tab 3
  • Tab 4
  • Tab 5
คำว่า "วัยทอง" แต่เดิมหมายถึงวัยที่ผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Menopause ซึ่งนายแพทย์ชาวฝรั่งเศส นำมาใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2413 มีรากศัพท์มาจากคำในภาษากรีกคือ menses ซึ่งหมายถึง รอบเดือน และ pauses ซึ่งหมายถึง การหยุด รวมกันแล้วจึงหมายถึง การหมดประจำเดือนนั่นเอง

ในปัจจุบันมีรายงานผลการศึกษาต่างๆ มากขึ้นว่า ไม่ใช่ผู้หญิงเท่านั้นที่เกิดภาวะขาดฮอร์โมนเพศ ผู้ชายก็พบภาวะขาดฮอร์โมนเพศเช่นกัน แต่ของผู้ชายจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เหมือนในกรณีผู้หญิง

อาการขาดฮอร์โมนเพศหญิงนั้น จะเริ่มเกิดขึ้นในราวๆ 4-5 ปีก่อนที่ประจำเดือนจะหยุดไปจริงๆ โดยจะมีรอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ บางครั้งมาเร็วขึ้น ต่อมาเริ่มขาดหายไป หรือบางคนรอบเดือนมานานและกะปริดกะปรอย จนไม่มีรอบเดือนในที่สุด ต่อมาค่อยปรากฏอาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ อาการเหล่านี้จะเกิดในระยะแรกที่หมดประจำเดือน และอาจเป็นอยู่นานอีก 4-5 ปีหลังหมดประจำเดือน

ผู้หญิงส่วนใหญ่จะหมดประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 45-50 ปี ในขณะที่ผู้ชายเมื่ออายุย่างเข้า 40 ปี จะมีการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ลดลงปีละประมาณ 1% และจะเข้าสู่วัยทองเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป

มีข้อมูลที่เผยแพร่โดยนิตยสารไทม์ ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.2543 ว่าผู้ชายอาจเริ่มขาดฮอร์โมนตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากการใช้ชีวิต ที่สิ้นเปลือง เช่น พวกที่ชอบดื่มสุรา สูบบุหรี่ กินอาหารขยะ เที่ยวกลางคืน เครียดเป็นประจำ เป็นต้น

ดังนั้น สุขภาพของคนในวัยทอง จึงขึ้นอยู่กับการดำรงชีวิตตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การกินอยู่ การพักผ่อนนอนหลับ การทำงาน สิ่งแวดล้อม และอารมณ์

แม้ว่าวัยทองจะเป็นวัยที่ร่างกายของคนเราทั้งชายและหญิงจะเริ่มเสื่อมถอยลง อวัยวะต่างๆ เริ่มทำหน้าที่ลดลง ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่หลายๆ คนก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยทองได้

ก่อนที่จะพูดถึงวิธีการรับมือกับปัญหาต่างๆ ในวัยทอง ซึ่งคงจะกล่าวถึงในสัปดาห์ถัดๆ ไป มาดูกันก่อนว่าวัยทองต้องพบกับปัญหาใดบ้าง เริ่มกันที่ผู้หญิง ซึ่งดูเหมือนว่าจะต้องรับบทหนักกว่า

การเปลี่ยนแปลงในหญิงวัยทอง
เมื่อผู้หญิงเริ่มย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงที่สร้างจากรังไข่หมดไปด้วย การขาดฮอร์โมนเพศหญิงมีผลต่อร่างกายและจิตใจ ดังนี้

ผลทางด้านร่างกาย
ฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างจากรังไข่ จะค่อยๆ เสื่อมลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของส่วนต่างๆ โดยเฉพาะระบบสืบพันธุ์และอวัยวะสืบพันธุ์ จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนี้

- อาการที่ก่อให้เกิดความรำคาญ เช่น ร้อนวูบวาบตามร่างกาย เหงื่อออกมากตามมือและเท้าโดยเฉพาะในเวลากลางคืน อ่อนเพลียง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร กลัวและตกใจง่าย เป็นต้น
- อวัยวะเพศเหี่ยวลง ผนังช่องคลอดบางลง และไม่มีน้ำเมือกออกมาหล่อลื่นเหมือนเดิม ทำให้เกิดความเจ็บปวดในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้ ความเป็นกรดด่างของช่องคลอดจะเปลี่ยนแปลง ทำให้ระบบการป้องกันการติดเชื้อของร่างกายเสียไป ทำให้ช่องคลอดอักเสบและติดเชื้อได้ง่าย กล้ามเนื้อโดยรอบช่องคลอดจะลีบลง ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ทำให้ช่องคลอดไม่กระชับ ช่องคลอดหย่อน บางคนปาดมดลูกจะหย่อนลงมาข้างนอก ที่เรียกว่า กระบังลมหย่อนด้วยก็เป็นได้
- ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากผนังและกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะบางลง ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่าย และมักไม่หายขาด
- เต้านมมีขนาดเล็กลง และไม่เต่งตึงเหมือนสาวๆ
- ผิวหนังแห้งและบางลง ไม่ยืดหยุ่น เกิดกระและฝ้าได้ง่าย ผิวหนังเกิดการแพ้และอักเสบได้ง่าย
- เล็บเปราะและหักง่าย
- กล้ามเนื้อต่างๆ ลีบเล็กลง เป็นตะคริวง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
- ความจำลดลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น เช่น จำไม่ได้ว่ากินยาหรือยัง จำไม่ได้ว่าวางของไว้ที่ไหน แต่จำได้ว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วสามีขอแต่งงานที่ไหน เป็นต้น ถ้าขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนนานๆ อาจเกิดภาวะสมองเสื่อมที่เรียกว่า อัลไซเมอร์ได้
- กระดูกบางลง เกิดภาวะกระดูกพรุน กระดูกเปราะและหักง่าย โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง กระดูกข้อสะโพก และกระดูกข้อมือ เนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการเสริมสร้างเนื้อกระดูกทดแทนส่วนที่หลุดลอกออกไปเนื่องจากหมดอายุ

ผลทางด้านจิตใจ
- โมโหง่าย หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน บางคนมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล ความเชื่อมั่นในตัวเองลดลง
- อารมณ์เพศ ความรู้สึกและความต้องการทางเพศลดลง เนื่องจากเมื่อรังไข่หยุดทำงาน นอกจากจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว ยังขาดฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งที่มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นอารมณ์เพศอีกด้วย

ฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจเรียกได้ว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ดังนั้นผู้หญิงวัยทองหลายคนจะมีความรู้สึกว่าขาดความรัก ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครรัก รู้สึกว่าชีวิตไร้ความหมาย เนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนนี่เอง ดังนั้นคนที่อยู่ใกล้ชิด จึงต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ

ผู้หญิงวัยทอง เรียกง่ายๆ ว่า Menopause ซึ่งหมายถึงการหมดประจำเดือน

แต่ผู้ชายวัยทอง จะให้เรียกว่า Male Menopause ซึ่งหมายถึงผู้ชายวัยหมดประจำเดือน ก็คงจะไม่ได้ เพราะผู้ชายไม่มีประจำเดือน เหมือนผู้หญิง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในร่างกายเป็นรอบๆ ทุกเดือนเหมือนผู้หญิง

มีผู้แนะนำให้ใช้คำว่า Andropause ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกเช่นเดียวกับ Menopause คือ andro หมายถึง ผู้ชาย และ pause คือ หยุด รวมแล้วก็คือ การหยุดความเป็นชาย แต่ในความเป็นจริง ผู้ชายวัยทอง อัณฑะไม่ได้หยุดสร้างฮอร์โมนเพศชาย เพียงแต่สร้างใน ปริมาณน้อยลง คำว่า Andropause จึงไม่เป็นที่ยอมรับ


ต่อมามีผู้เสนอให้ใช้คำใหม่ว่า Andropenia คำว่า penia หมายถึง การน้อยลง ลดลง Andropenia ก็คือการที่ความเป็นชายน้อยลง แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะคุณผู้ชายส่วนใหญ่คงทำใจไม่ได้ว่าทำไมความเป็นชายของฉันถึงได้น้อยลง

นอกจากนี้ยังมีแพทย์ในกลุ่มแพทย์ทางเลือกหรือแพทย์แผนธรรมชาติ ที่เสนอให้ใช้คำว่า Prostatopause ซึ่งมาจากรากศัพท์ Prostate คือ ต่อมลูกหมาก รวมแล้วหมายความว่า การที่ต่อมลูกหมากหยุดทำงาน ซึ่งก็ไม่เป็นที่ยอมรับอีกเช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านความเป็นชาย ที่เรียกกันว่า Andrologist ยอมให้ใช้คำเรียกผู้ชายวัยทองว่า PADAM

PADAM ย่อมาจากคำว่า Partial Androgen Deficiency of the Aging Male ซึ่งหมายถึง ภาวะที่มีการขาดฮอร์โมนเพศชาย ไปบางส่วนในผู้ชายสูงอายุ ฟังดูแล้ว น่าจะพอรับความจริงกันได้

การเปลี่ยนแปลงของชายวัยทอง

เมื่อย่างเข้าสู่วัย 40 ปี การผลิตฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนจากอัณฑะจะลดลงเรื่อยๆ

แม้ว่าฮอร์โมนเพศชายโดยรวมจะไม่ลดลงมากนัก แต่ส่วนใหญ่จะโดนจับโดยโปรตีนชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า Sex Hormone Binding Globulin โปรตีนชนิดนี้จะไปจับกับฮอร์โมนเพศ ทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่เป็นอิสระ และสามารถจะออกฤทธิ์ได้นั้น ลดลงตามอายุที่มากขึ้น

หลังจากอายุ 40 ปีแล้ว ทุกๆ 1 ปีที่อายุมากขึ้น ฮอร์โมนเพศชายที่สามารถออกฤทธิ์ได้จะลดลง 1% ทุกปี และเมื่อฮอร์โมนเพศชายลดลง จนถึงระดับหนึ่งจากระดับสูงสุด ซึ่งแต่ละคนจะมีระดับฮอร์โมนเพศไม่เท่ากัน เมื่อลดลงไปประมาณ 20% ของค่าดั้งเดิม จะทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่แสดงออกถึงภาวะการพร่องฮอร์โมนเพศชาย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าผู้ชายจะไม่ขาดฮอร์โมนเพศไปเลยเหมือนผู้หญิง แต่ฮอร์โมนเพศชายจะค่อยๆ ลดลงไปบางส่วน โดยอาการที่แสดงออกก็จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ชายเริ่มขาดฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนนั้น จะแสดงออกทั้งทางร่างกายและจิตใจ คล้ายกับอาการที่เกิดขึ้นกับ ผู้หญิงวัยทอง

ผลทางด้านร่างกาย

อวัยวะต่างๆ ที่ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนเพศชายจะเริ่มทำงานลดลง โดยเฉพาะระบบสืบพันธุ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุด

- อวัยวะเพศมีขนาดเล็กลง เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายจะเป็นตัวควบคุมการเผาผลาญไขมันในร่างกาย เมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง การเผาผลาญไขมันจึงลดลงเป็นเงาตามตัว ไขมันในเลือดที่เหลือใช้จึงไปเกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือด ทำให้เส้นผ่าศูนย์กลางภายในของผนังหลอดเลือดแคบลง เกิดภาวะหลอดเลือดตีบตัน เมื่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศตีบตัน จึงทำให้อวัยวะเพศมีเลือดมาคั่งน้อยลง

อวัยวะเพศชายจึงแข็งตัวได้น้อยหรือไม่แข็งตัวได้นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้

- มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่กระฉับกระเฉง ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากตามมือและเท้า รวมทั้งมีอาการมือเท้าเย็นเวลากลางคืน เป็นต้น

- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปวดตามร่างกายโดยไม่มีสาเหตุ

- ผิวหนังบางลง ไม่ยืดหยุ่น เริ่มมีไขมันมาเกาะพอกที่บริเวณหน้าท้องและสะโพกทำให้ลงพุง เพราะไม่มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไปช่วยเผาผลาญไขมัน

- ผมจะร่วง โดยเฉพาะบริเวณกลางศีรษะ

- กล้ามเนื้อเล็กลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง เป็นตะคริวง่าย

- ความจำลดลง สมาธิลดลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น เนื่องจากการทำงานของอัณฑะลดลง

- กระดูกจะบางลงและหักง่าย แม้ว่าผู้ชายจะเกิดภาวะกระดูกหักน้อยกว่าผู้หญิง แต่ผลการวิจัยพบว่า เมื่อผู้ชายขาดฮอร์โมนเพศชาย กระดูกก็จะบางลงเช่นกัน และเกิดภาวะกระดูกพรุนได้เมื่อย่างเข้าวัยชรา

- ระบบหัวใจและหลอดเลือดเสื่อม นอกจากอัณฑะจะมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนแล้ว ยังมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนด้วย เพียงแต่สร้างมาในปริมาณที่น้อยมาก

ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกาะตัวของไขมันตามผนังหลอดเลือด เมื่อปริมาณของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนกับเอสโตรเจนลดลง โอกาสที่จะเกิดไขมันในเลือดสูง และไขมันไปเกาะหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตันได้ง่าย โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ จึงมีโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้สูง ซึ่งจะพบมากขึ้นในผู้ชายที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย

ผลทางด้านจิตใจ

- ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง หดหู่ ซึมเศร้า โดยไม่มีสาเหตุ เฉื่อยชา นอนไม่หลับ วิตกกังวล กลัว และตกใจ โดยไม่มีสาเหตุ หงุดหงิดโมโหง่าย เบื่ออาหาร ใจสั่น เป็นต้น

- ความต้องการทางเพศลดลง ไม่มีความตื่นเต้นทางเพศ ขาดความกระตือรือร้นในการมีเพศสัมพันธ์ ความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ลดลง และกลัวจะล้มเหลวในการมีเพศสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม การสร้างฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนที่ลดลงในผู้ชายวัยทองนั้น อาจจะลดลงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการดำเนินชีวิต ลักษณะการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน เป็นต้น

เมื่อเข้าสู่วัยทอง ไม่ว่าจะหญิงหรือชายล้วนต้องเผชิญกับหลากหลายปัญหาสุขภาพ นำไปสู่การเกิดโรคภัยไข้เจ็บ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพต่างๆ สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้

นอนไม่หลับ ปัญหาใหญ่ของวัยทอง

ตามปกติในเวลากลางคืน ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเมลาโทนิน ทำให้ง่วง อยากนอนหลับพักผ่อน เมื่อคนเราอายุมากขึ้น จะนอนหลับได้ยากขึ้น เนื่องจากการสร้างฮอร์โมนเมลาโทนินลดลง ส่วนมากหลับแล้วตื่นกลางดึก และเมื่อตื่นแล้ว ก็จะหลับต่อไม่ได้ ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด อ่อนเพลีย และขาดประสิทธิภาพในการทำงาน

สาเหตุของการนอนไม่หลับ

- การนอนไม่หลับที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ แบ่งเป็นความผิดปกติทางกายและความผิดปกติทางจิต ความผิดปกติทางกาย เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของท่อทางเดินปัสสาวะ ทำให้ต้องตื่นมาปัสสาวะบ่อยๆ ในเวลากลางคืน ผู้ป่วยโรคข้อหรือโรคหัวใจที่อาการมักจะกำเริบตอนกลางคืน ผู้ป่วยโรคอ้วนที่มักจะเกิดอาการหายใจไม่สะดวกเพราะลิ้นไปปิดทางเดินหายใจขณะนอนหลับ หรือผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่มักจะหลับยากและหลับๆ ตื่นๆ อยู่ตลอดเวลา ส่วนความผิดปกติทางจิต เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการกังวลหรือซึมเศร้า

- การนอนไม่หลับที่ไม่ได้เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น คนที่มักจะนอนกลางวัน พอตกกลางคืนจะไม่รู้สึกง่วง หรือคนที่เข้านอนเร็วเกินไป ก็อาจจะนอนไม่หลับ การดื่มเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิด ก็อาจเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ นอกจากนี้การออกกำลังกายเวลาค่ำก็ทำให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน ถ้าการนอนไม่หลับเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ การแก้ไขก็คือการรักษาที่ต้นเหตุของอาการ แต่ถ้าการนอนไม่หลับเกิดจากสาเหตุอื่น การเปลี่ยนพฤติกรรมในการนอน อาจช่วยให้ผู้ที่อยู่ในวัยทองหลับง่ายขึ้น ดังนี้

- ควรนอนเมื่อรู้สึกง่วง อย่าเข้านอนแต่หัวค่ำมากนัก และอย่านอนดึกจนเกินไป

- ควรตื่นนอนในเวลาเดียวกันเป็นประจำทุกวัน

- หลีกเลี่ยงการนอนตอนกลางวัน เพราะจะทำให้นอนไม่หลับในเวลากลางคืน

- ถ้าเข้านอนแล้วนอนไม่หลับ ให้ลุกมาอ่านหนังสือหรือฟังเพลง เมื่อง่วงจึงกลับไปนอนใหม่

- การออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน จะทำให้หลับได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนเข้านอน

- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน เพราะจะทำให้ร่างกายตื่นตัว

- จัดห้องนอนและที่นอนให้เหมาะสม ห้องนอนที่ดีต้องปราศจากเสียงดังรบกวน อากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิเย็นสบาย มีแสงสว่างพอเหมาะ ที่นอนไม่แข็งหรืออ่อนเกินไป

วัยนี้อาจจะมีปัญหาตื่นกลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำ แล้วนอนหลับต่อไม่ได้ ดังนั้นควรดื่มน้ำมากๆ ตั้งแต่ตอนกลางวัน หลังอาหารเย็นควรดื่มแต่น้อย และปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน จะได้ไม่ต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน

การใช้ยานอนหลับสำหรับคนวัยทอง ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะยานอนหลับมีผลข้างเคียงมาก เช่น ทำให้เกิดอาการมึนงง แขนขาอ่อนแรง ถ้ารับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเกิดอาการดื้อยาหรือติดยาในที่สุด และหากรับประทาน ยานอนหลับ เกินขนาดจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ยานอนหลับจะไปกดประสาทที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนด้วยไม่มากก็น้อย ทำให้การสร้างฮอร์โมนเพศลดลงไปอีก


ท้องผูก ปัญหาเรื้อรังในวัยทอง

ท้องผูกเป็นอาการของระบบทางเดินอาหารที่มักเกิดกับคนวัยทอง ตามปกติระบบขับถ่ายในร่างกายจะทำงานโดยการบีบตัวของลำไส้ ให้กากอาหารถูกขับถ่ายออกมา แต่ถ้าร่างกายเสื่อมสภาพ การบีบตัวของลำไส้จะใช้เวลานาน ร่างกายจะดูดน้ำจากกากอาหารมากขึ้น ทำให้ปริมาณอุจจาระเหลือน้อย แข็งและถ่ายลำบาก

สาเหตุของท้องผูก

- เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ทำให้ลำไส้บีบตัวน้อย อุจจาระแข็งและถ่ายลำบาก

- มีความผิดปกติในลำไส้ เช่น เกิดการอุดตันในลำไส้

- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยหรือกากอาหารน้อย
- ขาดการออกกำลังกาย

- เกิดจากการใช้ยาบางชนิดที่ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว

วิธีแก้ไขอาการท้องผูก

- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยหรือกากใยอาหารมากๆ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ

- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพราะจะทำให้กากใยอาหารที่ได้รับเข้าไปทำงานได้ดีขึ้น

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้อวัยวะในระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น

- ขับถ่ายให้เป็นเวลา เพื่อให้ลำไส้เกิดความเคยชิน และไม่ควรกลั้นอุจจาระ

- ใช้ยาระบายช่วยในบางราย แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เพราะหากใช้ยาระบายเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคอย่างอื่นตามมาได้

อาการร้อนวูบวาบ ปัญหาน่ารำคาญของวัยทอง

อาการร้อนวูบวาบเกิดจากระบบควบคุมความร้อนความเย็นในร่างกายเสื่อมไปตามวัย วิธีธรรมชาติที่ดีที่สุดในการป้องกันอาการดังกล่าว ก็คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะทำให้มีการระบายความร้อนของร่างกายเป็นประจำ ระบบรูขุมขนจะทำงานดีขึ้น สามารถลดอาการดังกล่าวลงได้

พยายามอยู่ในที่ที่เป็นธรรมชาติมากๆ มีลมพัดผ่านยิ่งดี อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิพอดี ถ้าอยู่ในห้องปรับอากาศ ก็อย่าเปิดเครื่องให้เย็นเกินไป นอกจากนี้การฝึกสมาธิก็จะช่วยให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนได้ดีพอสมควร

อาการร้อนวูบวาบในวัยทองไม่ใช่โรค และไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ จึงไม่ควรวิตกกังวลมากนัก เพราะจะยิ่งทำให้เครียดและมีอาการมากขึ้น

ปัญหาคาใจในวัยทองอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ โรคกระดูกพรุน ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ภัยเงียบของวัยทอง

แม้ว่าผู้ชายจะมีระดับฮอร์โมนเพศลดลงอย่างช้าๆ ในขณะที่ผู้หญิงนั้น ระดับฮอร์โมนจะลดลงอย่างรวดเร็วทันทีที่รังไข่หยุดทำงาน แต่เมื่อเข้าสู่วัยทอง ทั้งชายและหญิงเมื่อขาดฮอร์โมนเพศเป็นเวลานานๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนเป็นการเปลี่ยนแปลงของกระดูก โดยเนื้อกระดูกบางลง มีอัตราการสลายเนื้อกระดูกมากขึ้น ในขณะที่อัตราการสร้างเนื้อกระดูกลดลง

จากการศึกษาวิจัยพบว่า กระดูกของคนเรามีความหนาแน่นสูงสุดเมื่ออายุ 30-35 ปี และจะเริ่มบางลงหลังจากอายุ 35 ปีไปแล้ว กระดูกจะบางลง 3-8% เมื่ออายุ 45-50 ปี เมื่ออายุประมาณ 55 ปี กระดูกจะบางลงไป 20-30% และเมื่อถึงอายุ 65-70 ปี กระดูกอาจจะบางถึง 30-50% ซึ่งอยู่ในระยะเสี่ยงที่กระดูกจะแตกหักได้ง่าย

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ก็คือ

- อยู่ในวัยทองที่มีภาวะขาดฮอร์โมนเพศ
- มีญาติที่กระดูกหักในวัยทอง
- ดื่มเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน หรือดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่จัดเป็นประจำ
- พักผ่อนไม่เพียงพอเสมอๆ
- ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และไม่ค่อยได้รับแสงแดดอ่อนๆ
- ไม่ได้ดื่มนมเป็นประจำตั้งแต่เด็กๆ และไม่ได้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างเพียงพอ
- รับประทานยาสเตียรอยด์นานๆ

การป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน ทำได้โดย

- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอ คนวัยทองควรได้รับแคลเซียม 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน โดยปกติแล้ว นมจะเป็นแหล่งสำคัญของแคลเซียม แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีสารที่ช่วยย่อยนม ทำให้เกิดอาการท้องเสียหลังดื่มนม กรณีนี้อาจหันมารับประทานโยเกิร์ตแทน

อาหารชนิดอื่นที่มีปริมาณแคลเซียมสูง ได้แก่ กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ปลาตัวเล็กที่รับประทานได้ทั้งกระดูก ถั่วแดงหลวง เต้าหู้ เป็นต้น
นอกจากนี้ การรับประทานแคลเซียมชนิดเม็ดในปริมาณที่เหมาะสมก็เป็นทางออกอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะหญิงวัยทองที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอย่างฉับพลัน

- รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีหรือรับแสงแดดเพื่อสร้างวิตามินดี เพราะหากปราศจากวิตามินดี ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในการทำให้กระดูกหนาตัวขึ้นได้ ร่างกายควรได้รับวิตามินดีวันละ 400 หน่วยสากล ซึ่งได้จากการดื่มนมครึ่งลิตร หรือรับแสงแดดอ่อนๆ ช่วงเช้าและเย็นประมาณวันละ 15 นาที

- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ เพื่อช่วยเพิ่มการทำงานให้กระดูก ทำให้มีการเสริมสร้างเนื้อกระดูกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนักและมีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังและกระดูกท่อนยาว เช่น การวิ่งเหยาะๆ หรือการเดินเร็วๆ จะทำให้กระดูกหนาขึ้น หรือการยกเวต ก็ช่วยให้กระดูกท่อนแขนหนาขึ้นได้ นอกจากนี้ การเต้นรำ การเต้นแอโรบิก และการรำมวยจีนที่ถูกต้อง ก็มีส่วนช่วยให้กระดูกหนาตัวขึ้นด้วยเช่นกัน

โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัญหาคาใจในวัยทองอีกอย่างหนึ่ง จัดว่าเป็น ภัยร้ายที่ควบคุมได้

ผลเสียทางตรงของโรคความดันโลหิตสูงคือจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายและหลอดเลือดในสมองแตก ส่วนผลเสียทางอ้อมคือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดตีบได้มากกว่าคนปกติ และทำให้เกิดภาวะการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายด้วย ถ้าเป็นในสมอง จะทำให้เป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ ถ้าเป็นในไต จะทำให้ไตวายเรื้อรัง

องค์การอนามัยโลกกำหนดค่าความดันโลหิตไว้ว่า

น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความดันปกติ
ระหว่าง 140/90 ถึง 160/95 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความดันโลหิตปานกลาง อยู่ในเกณฑ์ที่ควรระวังและควรวัดความดันโลหิตเป็นระยะๆ มากกว่า 160/95 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความดันโลหิตสูง

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัด ประมาณ 10% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่ทราบว่าเกิดจากโรคไต โรคของหลอดเลือดบางชนิด และโรคต่อมไร้ท่อ อย่างไรก็ตามมีองค์ประกอบหลายประการที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างสามารถช่วยควบคุมความดันโลหิตได้ เช่น ไม่รับประทานเกลือมากเกินไป งดบุหรี่และกาแฟ ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำอารมณ์ให้แจ่มใส เป็นต้น

แต่สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงบางอย่างก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น อายุ คือเมื่อยิ่งอายุมากขึ้น ค่าความดันโลหิตเฉลี่ยก็จะสูงขึ้นอยู่แล้ว หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น

อาการของโรคความดันโลหิตสูง แบ่งเป็น 3 ระยะ

1.ระยะแรก พบว่ามีความดันโลหิตสูง แต่ไม่มีอาการทางร่างกาย
2.ระยะปานกลาง จะมีอาการเป็นๆ หายๆ เช่น หัวใจเต้นแรง ปวดศีรษะ มือสั่น
3.ระยะรุนแรง จะมีอาการมาก เช่น ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน ตามัว ใจสั่น วิงเวียน

บางคนอาจมีอาการเหนื่อยหอบ เนื่องจากหัวใจล้มเหลว
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงในระยะรุนแรง จำเป็นจะต้องได้รับยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต โดยได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ และติดตามการรักษาเป็นระยะๆ

ถ้าผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้เหมือนคนปกติทั่วไป สำหรับคนในวัยทองที่ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็ควรตรวจเช็กความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยทุก 6 เดือน เพราะวัยที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้
เมื่อย่างเข้าสู่วัยทอง ดูเหมือนว่าปัญหาต่างๆ จะรุมเร้ามากเข้าทุกที โรคหัวใจ ก็เป็นปัญหาคาใจอีกอย่างหนึ่งในวัยทอง

โรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยทองทั้งชายและหญิง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ที่หลอดเลือดจะเริ่มมีไขมันมาเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดมากขึ้น ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ผนังของหลอดเลือดจะหนาตัวและขรุขระขึ้น เลือดจึงไหลผ่านไม่สะดวก และอาจมีเกร็ดเลือดมาเกาะที่ผนังหลอดเลือดที่ขรุขระนั้นซ้ำเข้าไปอีก ถ้าเกาะเป็นก้อนใหญ่ อาจทำให้ทางเดินของเลือดอุดตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเป็นหลอดเลือดเล็กๆ เมื่อไม่มีเส้นทางลำเลียงไป หัวใจก็ขาดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้

การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดจะเกิดกับทุกคนในวัยทอง แต่ในบางคนจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าคนปกติทั่วไป เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เครียดเป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่จัด ดื่มสุรา รวมทั้งผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว

อาการของโรคหัวใจ ในระยะเริ่มต้นจะรู้สึกเจ็บและแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก มีเหงื่อออกมาก ใจสั่นคล้ายจะเป็นลม อาการนี้จะเกิดขึ้นขณะที่หัวใจทำงานเพิ่มขึ้นกว่าปกติ เช่น ในขณะที่ขึ้นบันไดหรือวิ่ง ถ้าหยุดพัก อาการก็จะดีขึ้น

เมื่อทราบว่าเป็นโรคหัวใจ ก็ควรจะดูแลรักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ รับประทานยา และปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นหรือยังไม่มีอาการ ก็ควรรักษาสุขภาพให้ดี เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจในอนาคต โดยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม พยายามลดอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันจากสัตว์ ไข่แดง หนังไก่ และอาหารทะเลบางชนิดที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ปลาหมึก กุ้ง หอย ควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลาซึ่งมีไขมันชนิดดี หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารโดยการผัดหรือทอด ที่ต้องใช้น้ำมันมากๆ ควรใช้การต้ม นึ่ง ปิ้ง หรือย่างแทน รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น แต่ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานมาก เช่น มะม่วงสุก ทุเรียน ขนุน เพราะจะทำให้อ้วนและมีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้

สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ต้องพยายามควบคุมความดันโลหิตให้ดี เพราะถ้าความดันขึ้น จะทำให้หัวใจทำงานหนัก และมีโอกาสที่กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดได้ง่าย ส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานก็ต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด เพราะถ้าน้ำตาลในเลือดสูงมากเกินกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์แล้ว จะทำให้หลอดเลือดตีบและเป็นอันตรายได้ง่าย

นอกจากนี้ ลักษณะการดำรงชีวิตประจำวัน ก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ ควรพยายามหลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้เป็นสุข เลิกดื่มเหล้าและสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ รวมทั้งพักผ่อนให้พอเพียง เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคหัวใจได้

นอกจากโรคหัวใจแล้ว โรคอ้วน ก็เป็นปัญหาคาใจในวัยทองอีกอย่างหนึ่ง

จากการศึกษาพบว่า ทั้งหญิงและชายวัยทองมีโอกาสเป็นโรคอ้วนมากกว่าคนปกติ ในชายวัยทองนั้น การลดลงของฮอร์โมนเพศชาย ทำให้การเผาผลาญไขมันในร่างกายลดลง ชายวัยทองจึงมักจะลงพุง โดยมีไขมันไปเกาะตามพังผืดในช่องท้อง เป็นการอ้วนแบบลงพุง

ส่วน 60% ของหญิงวัยทอง พบว่ามีลักษณะการอ้วนทั้งตัว เมื่ออ้วนมากๆ หัวใจจะต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น ทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก และเข่าต้องรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการเข่าเสื่อมได้ง่าย

นอกจากนี้ โรคอ้วนยังอาจจะทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วิธีการประเมินน้ำหนักตัวว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ ทำได้โดยนำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมเป็นตัวตั้ง หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ตัวเลขที่ได้คือดัชนีมวลกาย หรือ BMI เมื่อนำไปเทียบกับค่ามาตรฐาน ก็จะทราบว่าน้ำหนักตัวของเราอยู่ในกลุ่มใด

ยกตัวอย่างเช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม สูง 165 เซนติเมตร เปลี่ยนหน่วยเป็นเมตร เท่ากับ 1.65 เมตร ดังนั้น ค่า BMI จะเท่ากับ 18.36

ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 18.5 จัดว่าน้ำหนักน้อยเกินไป วิธีแก้ไขคือการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ มีปริมาณพลังงานเพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

ดัชนีมวลกายระหว่าง 18.5-22.9 จัดว่ามีน้ำหนักปกติ และมีปริมาณไขมันอยู่ในเกณฑ์ปกติ มักไม่ค่อยมีโรคร้าย ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ต่ำกว่าผู้ที่อ้วนกว่านี้

ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 23-24.9 เริ่มมีน้ำหนักเกิน หากมีกรรมพันธุ์เป็นโรคเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ต้องพยายามลดน้ำหนักให้ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 23

ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 25-29.9 จัดว่าอ้วนระดับ 1 หากเป็นผู้ชายและมีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตร หรือเป็นผู้หญิงและมีเส้นรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตร จะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน จำเป็นต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกาย

ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 จัดว่าอ้วนระดับ 2 เสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มากับความอ้วน หากมีเส้นรอบเอวมากกว่าเกณฑ์ปกติ จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง จำเป็นต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างจริงจัง

หากคุณควบคุมและแก้ไขปัญหาคาใจเหล่านี้ได้ ก็จะอยู่ในวัยทองได้อย่างเป็นสุขค่ะ
Source : ผู้จัดการออนไลน์ - เอมอร คชเสนี