ทฤษฎีความแก่

ความแก่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีสาเหตุจากแรงโน้มถ่วงของโลก แสงแดด การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และใบหน้า เช่น การเคี้ยว และการยิ้ม นอกจากนี้คอลลาเจนและอิลาสติน ซึ่งอยู่ในชั้นเดอร์มิสของผิวหนัง ยังมีปริมาณลดลงและเสื่อมสภาพ ทำให้ความยืดหยุ่นและความเต่งตึงของผิวลดลง รวมทั้งความชุ่มชื้นของ ผิวหนังลดลง เนื่องจากต่อมต่างๆ ที่อยู่ใต้ผิวหนังทำงานลดลง ความแก่จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงแต่ชะลอทำให้ช้าลงหรือฟื้นฟูสภาพผิวให้ดูดีขึ้นได้ โดยการให้สารอาหารและวิตามินเพื่อเสริมสร้างเซลล์ผิว ตลอดจนการให้สาร ที่ช่วยการคลายตัวของกล้ามเนื้อ เพื่อลดรอยเหี่ยวย่น และให้สารที่ร่างกาย สร้างได้ในปริมาณลดลงเข้าไปทดแทน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นตัวเสริมให้แก่เร็วขึ้น ได้แก่ มลภาวะ ความเครียด แสงแดด (โดยเฉพาะรังสี UVA และ UVB) และอาหาร ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่สามารถทำลายเซลล์ของร่างกาย รวมถึงเซลล์ผิวหนัง ทำให้ความแข็งแรงของผนังเซลล์ลดลง เกิดการเสื่อมสลายของคอลลาเจนและกรดไฮยาลูโรนิก ทำให้ความสามารถในการรักษาความชุ่มชื้น ความยืดหยุ่นลดลง และเกิดการเหี่ยวย่นของผิวตามมา ซึ่งเรียกว่า แก่ก่อนวัย

ทฤษฎีความแก่ The Theory of Aging

คนเราอายุมากขึ้นตามนาฬิกาของชีวิต สังขารของเราก็ย่อมมีการเสื่อมโทรมเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ตามวัฏสงสาร คือ เกิด แก่ เจ็บและตาย การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทางสรีระร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นด้านผิวพรรณ รูปลักษณ์ภายนอก อวัยวะต่างๆ ก็ย่อมจะเสื่อมถอยลงตามกาลเวลา อย่างไรก็ตามได้มีนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มที่พยายามจะอธิบาย ทฤษฎีความแก่ (Theory of Aging) ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมเมื่ออายุมากขึ้น จึงต้องแก่ จึงต้องมีโรคภัยหรือมีการเจ็บป่วย ที่ทำให้เราต้องสูญเสียการทำงานบางอย่าง หรือเกิดการตายในที่สุด ทฤษฎีความแก่ (Theory of Aging) ข้อสมมุติฐานและทฤษฎีปลีกย่อยอีกซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบันมีรายละเอียดต่อไปนี้

  1. Telomerase Theory of Aging พบว่าเมื่ออายุมากขึ้น เซลล์มีการแบ่งตัวตลอดเวลาเพื่อการเจริญเติบโต โดยมีโครโมโซมในยีนส์เป็น ตัวที่มีบทบาทสำคัญ นักวิทยาศาสตร์พบว่าในโครโมโซม จะมี Telomeres เป็นตัวที่กำหนดบทบาทความแข็งแรงของโครโมโซม โดยพบว่ายิ่งอายุมากขึ้น เซลล์ก็จะแบ่งตัวมากขึ้น ทำให้ความยาวของ Telomeres จะยิ่งสั้นลง ทำให้เซลล์ลดความแข็งแรง และเสื่อมตายในที่สุด ทั้งนี้ยังพบว่า ขบวนการดังกล่าวอาศัยเอนไซม์ Telomerase เป็นตัวนำพาการแบ่งตัว ในงานวิจัย พบว่าในเซลล์มะเร็งจะมีเอนไซม์ Telomerase มาก และทำให้เซลล์แบ่งตัวตลอดเวลาจนผิดปกติ เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง ได้มีการทดลองนำสารที่ยับยั้งการทำงานของ เอนไซม์ Telomerase ทำให้พบว่าสามารถป้องกันและรักษามะเร็งได้ในอนาคต
  2. The Wear and Tear Theory ทฤษฎีความเสื่อมโทรม ผู้กล่าวถึงทฤษฎีนี้คือ Dr. August Weismann ในปีค.ศ. 1882 ซึ่งเชื่อว่าร่างกายและเซลล์ต่างๆถูกทำลาย อวัยวะต่างๆ เช่น กระเพาะอาหาร ตับ ไต มีการใช้งานมากเกินไป การได้รับสารพิษต่างๆ จากอาหารและสิ่งแวดล้อม เช่นไขมัน น้ำตาล คาเฟอีน แอลกอฮอล์ นิโคติน รังสีอัลตร้าไวโอเล็ตจากแสงแดด รวมทั้งความเครียดต่างๆ จึงทำให้เสื่อมลงๆ เปรียบเหมือนรถยนต์ที่ใช้งานหนักมานาน และไม่ทะนุถนอม ก็จะทำให้เครื่องพังได้เร็วขึ้น ดังนั้นอายุขัยแต่ละคน จะมีชีวิตยืนยาวที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของเรานั่นเอง
  3. The Neuroendocrine Theory ผู้กล่าวถึงทฤษฎีนี้คือ Vladimir Dilman ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อธิบายทฤษฎี The Wear and Tear Theory โดยเน้นที่ระบบ neuroendocrine ฮอร์โมน และสารต่างๆ ที่อยู่ภายในเซลล์ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนต่างๆ จะลดระดับลง เช่น ในเพศหญิงจะมีระดับ Estrogen,Progesterone จะลดลง ส่วนเพศชายจะมีระดับฮอร์โมน Testosterone ลดลง นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนตัวอื่นที่ลดลงเหมือนกันทั้งในเพศหญิงและชายคือ Growth Hormone,Cortisol, Melatonin ฯลฯ ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้ เป็นฮอร์โมนหลักๆ ที่มีผลต่อการทำงานของเซลล์ และอวัยวะต่างๆ เมื่อมีระดับฮอร์โมนลดลง สุขภาพของเราก็จะเสื่อมถอยลงเช่นกัน เพราะทำให้การซ่อมแซมสิ่งทีสึกหรอ หรือการทำงานต่างๆ ลดลง
  4. The Genetic Control Theory (The Genetic Theory หรือ The Programme Theory) ผู้กล่าวถึงทฤษฎีนี้คือ Michael Murray และ Joseph Pizzomo (1991) ซึ่งเชื่อว่า ยีนส์จากพันธุกรรมของแต่ละคน ได้เป็นตัวกำหนดอายุขัยของแต่ละคนตามเชื้อชาติ เช่น การมีประวัติโรคภัยจากกรรมพันธุ์ ในการสืบทอดทางสายเลือด ทำให้คนเราอายุไม่เท่ากัน เช่น คนที่มีประวัติเบาหวานในครอบครัว ก็จะมียีนส์ที่ด้อย และถ่ายทอดไปยังบุตรหลาน ทำให้มีโอกาสเกิดเบาหวานได้ง่ายกว่าคนที่ ไม่มีประวัติทางครอบครัว เป็นต้น ซึ่งทำให้มีการค้นคว้าวิจัยในอนาคต ที่จะทำการเปลี่ยนถ่ายยีนส์ที่ไม่ดีออกไป แล้วคัดสรรยีนส์ที่แข็งแรงทดแทน ที่บางคนอาจจะเคยได้ยินที่เค้าเรียกว่า Gene investigating and Gene Therapy หมายถึงการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี การ Screen ยีนส์ที่ไม่ดี ก่อนการสมรส หรือการคัดสรรสายพันธุ์ที่ดี เพื่อสืบทอดทายาท เป็นต้น
  5. The Free Radical Theory เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยผู้กล่าวถึงทฤษฎีนี้คือ R. Gerschman (1954) ต่อมาได้มีการพัฒนาโดย Dr. Denham Harman ซึ่งอธิบายว่า อะตอมหรือโมเลกุลที่มีอิเล็คตรอนเดี่ยว (unpair electron) อาจอยู่ในสภาวะ ไม่เสถียร สามารถเหนี่ยวนำให้โมเลกุลอื่นเกิดเป็นอนุมูลอิสระได้ โดยอนุมูลอิสระนี้เกิดจาก metabolism ในร่างกายและการรับเข้ามา เช่น การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารทอด การสูบบุหรี่ การรับแสงแดดนานเกินไป โดยอนุมูลอิสระจะไปทำลายโปรตีนและ DNA ในร่างกาย ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ โดยไปทำลายและรบกวนการสร้าง polymer ซึ่งเป็นยีนส์ในการสังเคราะห์โปรตีน รบกวนการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น เปรียบเสมือนสนิมของรถยนต์ที่จะคอยกัดกร่อนร่างกายให้เสื่อมสภาพ จึงได้มีการแก้ไขด้วย สารต้านอนุมูลอิสระมากมาย ที่เรียกว่า Anti-Oxidants เช่น วิตามินซี วิตามินเอ CoQ10 Idebenone ฯลฯ ออกมาป้องกันภาวะชราดังกล่าว
  6. Waste Accumulation Theory ซึ่งเชื่อว่า เซลล์จะสร้างของเสียชื่อ lipofuchsin มากกว่าสร้างสารที่มีประโยชน์ โดยของเสียเหล่านี้ มีผลต่อการทำงานของเซลล์และทำลายเซลล์
  7. Hayflick Limit Theory ผู้กล่าวถึงทฤษฎีนี้คือ Dr. Haylfick และ Dr. Morrehead ซึ่งอธิบายว่า กระบวนการแก่ควบคุมโดยนาฬิกาชีวภาพซึ่งอยู่ในแต่ละเซลล์
  8. Death Hormone Theory (DECO) ผู้กล่าวถึงทฤษฎีนี้คือ Dr. Donner Denckle โดยเชื่อว่า “death hormone” หรือ DECO (decrease oxygen consumption hormone) ซึ่งหลั่งจาก pituitary gland จะยับยั้งความสามารถในการใช้ thyroxin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อม thyroid และมีหน้าที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน ซึ่งเป็นการเร่งให้เกิดกระบวนการแก่
  9. Thymic-Stimulating Theory ผู้กล่าวถึงทฤษฎีนี้คือ Dr. Alan Goldstein ซึ่งอธิบายว่าต่อม thymus เป็น master gland ของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเมื่อเกิดใหม่มีน้ำหนัก 200-250 กรัม แต่เมื่ออายุ 60 ปี น้ำหนักกลับลดลงเหลือเพียง 3 กรัม ซึ่งจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน ของร่างกายอ่อนแอ มีผลให้เกิดกระบวนการแก่
  10. Mitochondria Theory ซึ่งอธิบายว่า mitochondria ที่อยู่ในเซลล์ ทำหน้าที่ผลิตพลังงานให้แก่ร่างกายโดยกระบวนการ metabolism ซึ่งทำให้เกิดอนุมูลอิสระจำนวนมาก
  11. Gene Mutation Theory ซึ่งเชื่อว่าการกลายพันธุ์ 3 ชนิด ได้แก่ การไฮโดรไลซิสโดยธรรมชาติ (spontaneous hydrolysis) การเหนี่ยวนำโดยสารเคมีหรือรังสีและการเหนี่ยวนำโดยอายุที่เพิ่มขึ้น (age induced) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ DNA เป็นผลให้เซลล์กลายเป็นเซลล์มะเร็งหรือตาย
  12. Cross linkage theory ทฤษฎีการเชื่อมไขว้ (Cross link Theory on cross link of collagen T.) เชื่อว่าเมื่อชรา สาร Fibrous Protein จะเพิ่มขึ้น และจับตัวกันมากขึ้นทำให้ collagen Fiber หดตัวขาดความยืดหยุ่นและจับกันไม่เป็นระเบียบมีผลให้ cell ตาย และเสียหน้าที่กระบวนการนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในระดับ DNA ของ cell
  13. Accumulive theory ทฤษฎีการสะสม (Accumulative theory)ทฤษฎีนี้เชื่อว่าความสูงอายุเกิดจากการสะสมสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สารนี้มีลักษณะสีดำเรียกว่า “Lipofuscin” หรือ “รงควัตถุชรา” (Age pigment)

นอกจากทฤษฎีที่กล่าวมาแล้วข้างต้นยังมีทฤษฎีอื่นๆ ที่อธิบายถึงสาเหตุของความแก่อีกจำนวนมาก เช่น Order to Disorder Theory และ Redundant DNA เป็นต้น ตามที่กล่าวมาแล้วความแก่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขี้นตามธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่อาจชะลอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแก่หรือ เหี่ยวที่เกิดบนผิวหนัง

เนื่องจากปัจจุบันมีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผลิตภัณฑ์ชะลอความแก่ในรูปแบบต่างๆ ที่มีการใช้สารสังเคราะห์และสารสกัดจาก ธรรมชาติต่างๆ ที่มีฤทธิ์ในการชะลอความแก่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยอาจเตรียมในรูปครีม โลชั่นหรือ เจล ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เหล่านี้มักมีประสิทธิภาพในการเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว เพิ่มปริมาณคอลลาเจนและอิลาสติน ป้องกันการเกิดจุดด่างดำ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารอาหารหรือวิตามินทดแทนที่ขาดไปหรือลดน้อยลงตามธรรมชาติ หรือการฉีดสารเคมี หรือสารธรรมชาติต่างๆเข้าไป เพื่อเสริมส่วนที่บกพร่องหรือเพื่อแก้ไขรอยเหี่ยวย่นบนผิวหนัง นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีลอกหน้าเพื่อลอกเซลล์ผิวที่เหี่ยวย่นออกไป เช่น การทำเบบี้เฟซ โดยลอกผิวด้วยกรดผลไม้ (AHA) เป็นต้น