กระบวนทัศน์

คำว่า กระบวนทัศน์ (Paradigm) ซึ่งมาจากภาษากรีก โดย para แปลว่า beside ส่วน digm แปลว่า ทฤษฎี คือ ชุดแนวความคิด หรือ มโนทัศน์ (Concepts) ค่านิยม (Values) ความเข้าใจรับรู้ (Perceptions) และการปฏิบัติ (Practice) ที่มีร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง ชุมชนหนึ่งและได้ก่อตัวเป็นแบบแผน ของทัศนะอย่างเฉพาะ แบบหนึ่ง เกี่ยวกับความจริง (Reality) ซึ่งเป็นฐานของวิถี เพื่อการจัดการตนเอง ของชุมชนนั้น ทีทำหน้าที่สองประการ

ประการแรกทำหน้าที่ วางหรือ กำหนดกรอบ
ประการที่สอง ทำหน้าที่บอกเราว่าควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ภายในกรอบเพื่อให้เกิดความสำเร็จ รวมไปถึง เราวัดความสำเร็จนั้นอย่างไร

Paradigm เป็นวิธีการหรือมุมมองต่อปรากฏการณ์ที่แสดงความสัมพันธ์ ซึ่งนำไปสู่การวิจัยและการปฏิบัติ ช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ ประเด็นปัญหา แนวทางแก้ไข และเกณฑ์ ในการพิสูจน์ข้อสันนิษฐาน paradigm ประกอบด้วยทฤษฎีและวิธีการ

Paradigm หรือ กระบวนทัศน์ โดยมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์ได้นิยามไว้ว่า คือตัวอย่างต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับของ การทำงานด้าน วิทยาศาสตร์อย่าง แท้จริง ตัวอย่างที่รวมไปถึงกฎ ทฤษฎี การนำไปใช้และเครื่องมือรวมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ก่อให้ เกิดรูปแบบที่ซึ่งนำไปสู่ แนวปฏิบัติที่เชื่อมโยงกัน อย่างเฉพาะพิเศษ ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอธิบายต่อว่า " คนที่มีงานวิจัยอยู่ในกระบวนทัศน์เดียวกัน จะมีกฎและมาตรฐานการปฏิบัติทาง วิทยาศาสตร์เหมือนกัน และได้ผลออกมาเหมือนกัน"

กระบวนทัศน์ ก็คือ กระบวนคิดวิเคราะห์ วิธีคิด วิธีปฏิบัติ แนวการดำเนินชีวิต มาทบทวนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุค และสถานการณ์ ที่กำลังเกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความเชื่อพื้นฐานที่มีในจิตใจของมนุษย์ทุกคน แตกต่างกันตามเพศ ตามวัย ตามสิ่งแวดล้อม ตามการศึกษาอบรม และตามการตัดสินใจเลือกของแต่ละบุคคล ความเชื่อพื้นฐานนี้แหละเป็นตัวกำหนด ให้แต่ละคนชอบอะไร และไม่ชอบอะไร พอใจแค่ไหนและอย่างไร เป็นตัวนำร่องการตัดสินใจ ด้วยความเข้าใจ และเหตุผลในตัวบุคคลคนเดียวกัน อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ หากรู้สึกว่ามีเหตุผล เพียงพอที่จะเปลี่ยน แต่จะไม่เปลี่ยนด้วยอารมณ์ ก่อนเปลี่ยนจะต้องมีความเข้าใจ กระบวนทัศน์เก่าที่มีอยู่และ กระบวนทัศน์ที่จะรับเข้ามาแทน มีการชั่งใจจนเป็นที่พอใจ มิฉะนั้นจะไม่ยอมเปลี่ยน เพราะอย่างไรเสีย ตราบใดที่มีสภาพเป็น คนเต็มเปี่ยมจะต้อง มีกระบวนทัศน์ใด กระบวนทัศน์หนึ่งเป็น ตัวตัดสินใจเลือกว่า จะเอาหรือจะปฏิเสธ ไม่มีไม่ได้ ถ้าไม่มีจะไม่รู้จักเลือก และตัดสินใจไม่เป็น
กระบวนทัศน์ไม่ใช่สมรรถนะตัดสินใจ สมรรถนะตัดสินใจ (faculty of decision) คือ เจตจำนง (The will) กระบวนทัศน์เป็นสมรรถนะเข้าใจ (understanding) และเชิญชวนให้เจตจำนงตัดสินใจ
กระบวนทัศน์แม้จะมีมากมาย กล่าวได้ว่าไม่มีคน 2 คนที่มีกระบวนทัศน์เหมือนกันราวกับแกะ

กระบวนทัศน์การวิจัย (Research Paradigm) เป็นกระบวนการทางความคิดและปฏิบัติการเกี่ยวกับการวิจัย ที่มีการเชื่อมโยง ระหว่างโลกทัศน์ (worldview) และมโนทัศน์ (concept) ต่อความเป็นจริง หรือปรากฏการณ์ในโลกอันเป็นพื้นฐาน ในการสร้างและทำความเข้าใจรับรู้ (perception) ต่อความเป็นจริง หรือปรากฏการณ์นั้นๆ เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างแนวปฏิบัติ (practice) รวมทั้งหาวิธีการจัดการ (management) ร่วมกัน โดยมีเป้าหมาย ในการสร้างแบบแผน (pattern) แบบจำลอง (model) รวมทั้ง ค่านิยม (value) ที่เป็นพื้นฐาน การจัดการตนเอง ของชุมชนหนึ่งๆ

ในเรื่องของกระบวนทัศน์นี้มีข้อที่น่าสังเกตคือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ นั้น เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นในสังคมมนุษย์ ครั้งที่หนึ่ง จากที่มนุษย์เร่ร่อน หากิน โดยการล่าสัตว์และเก็บพืชผลตามธรรมชาติมาทำเกษตรกรรมแบบตั้งรกราก และครั้งที่สอง เมื่อสมัยเรเนซอง และการปฏิวัติอุตสาหกรรมตามมา โดยอาจมองเดคาร์ต-นิวตัน ว่าเป็นนักคิด นักวิทยาศาสตร์ที่ให้ความชัดเจน แก่กระบวนทัศน์ในยุคนั้น ซึ่งได้แบ่งกายออกจากจิตอย่างเด็ดขาด และนิวตัน ก็มองสรรพสิ่งว่าเป็นก้อน ดังเช่นลูกบิลเลียดที่เคลื่อนไหว กระทบกระทั่งกัน หรือสัมพันธ์กันแต่ภายนอก ซึ่งจะตรงข้ามกับทัศนะในการ มองธรรมชาติแบบ กระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ครั้งที่สาม ที่มนุษยชาติกำลังจะก้าวเข้าสู่ ยุคควอนตัมฟิสิกส์ที่ความสัมพันธ์แบบ เครือข่ายอันเป็น พลวัตจากภายในกายกับจิต คือหนึ่งเดียวไม่อาจแบ่งแยกกันได้ เคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนแทรกซึมอยู่ในทุกสรรพสิ่ง
ฉะนั้น เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลงมนุษย์จึงจำเป็นจะต้องมีวิธีคิดแบบใหม่ ซึ่งผู้เขียนเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงพยายามชี้ให้เห็นว่ากำลังมี การชนปะทะกัน ระหว่างวิทยาศาสตร์กายภาพ (mathematics philosophy) กับ universe ซึ่งเป็น machine กับโลกธรรมชาติ และอาจจะถึงจุดแตกหัก หากมนุษย์ยังคงดำเนินวิถีเช่นเดิมต่อไป แม้ว่าโลกยังคงอยู่ได้ แต่อาจมีมนุษยชาติ หลายเผ่าพันธุ์ไม่น้อย ที่จะต้องได้รับผลของความวิบัติที่เกิดขึ้น

ในเรื่องวิธีคิดแบบใหม่นี้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่อง รากฐานของการเรียนรู้ เพราะกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐาน ขององค์ความรู้ ที่เราเชื่อมั่นว่าเป็นความจริง องค์ความรู้ที่ให้คำอธิบาย หรือตอบความจริงที่ว่านั้น ให้กับมนุษย์เราที่สำคัญที่สุดคือ วิทยาศาสตร์ที่มีรากเหง้า จากฟิสิกส์ กระบวนการเรียนการสอนทั้งหมดตั้งอยู่บนรากฐานนั้น วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์เก่าจากฟิสิกส์เก่า และในปัจจุบันนี้ก็ยังมีวิทยาศาตร์ใหม่ ที่ตั้งบนฟิสิกส์ใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาอีก และบางส่วนได้พิสูจน์อย่างไร้ข้อสงสัยแล้วว่า วิทยาศาสตร์เก่า แม้ว่าจะนำมาใช้ได้จริงแต่ก็ยังหยาบมาก ซึ่งเมื่อลงไป ในรายละเอียดแล้ว วิทยาศาสตร์เก่านั้นมีทั้งไม่จริงหรือไม่ก็ไม่สมบูรณ์เลย

วิทยาศาสตร์ใหม่และเป็นความรู้ใหม่จริงๆ นั้นมาจากวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ นำมาใช้ตามคำเรียกหาของนักวิชาการตะวันตก ในความหมายที่เข้าใจกัน โดยทั่วไป ด้านหนึ่งหมายถึง ควอนตัมฟิสิกส์และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ วิทยาศาสตร์ทางจิต สำหรับควอนตัมฟิสิกส์นั้น แม้ว่ายังมีการจัดไว้ให้เป็นวิทยาศาสตร์กายภาพ แต่ที่แน่นอนคือ ควอนตัมฟิสิกส์ ไม่ใช่ฟิสิกส์คลาสสิกของนิวตัน หรือกาลิเลโอดังเช่นที่เราคุ้นเคยกัน อยู่ในขณะนี้ แม้ว่าจะมีบางอย่างที่ไม่จริง แต่ก็ยังนำมาใช้ได้ เป็นเพราะวิทยาศาสตร์เก่าตั้งบน หลักการเครื่องจักรเครื่องยนต์ประกอบขึ้น มาจากชิ้นส่วนของ วัตถุที่แปลกต่างกัน เครื่องจักรเครื่องยนต์ที่จะทำงานได้ก็ต้องอาศัย พลังงานจากภายนอก ทำให้เราสามารถกำหนดหรือทำนายผลของการทำงานนั้นๆ ได้

แต่ควอนตัมฟิสิกส์ลงไปในรายละเอียดกว่าวิทยาศาสตร์คลาสสิกมากยิ่งนัก ในระดับที่ละเอียดเช่นนั้น การทำงานคือการใช้พลังงาน ที่มีเนื้อใน โดยมีรูปแบบ ทางควอนตัมออกมาเป็นชุดๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งหมดเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียวหรือเป็นองค์รวม ซึ่งทั้งหมดคือส่วน และส่วนคือทั้งหมด โดยทั้งหมด จะไหลเลื่อนเคลื่อนไหวไปด้วยกัน เปลี่ยนแปลงสรรค์สร้างสิ่งใหม่ตลอดไป นั่นก็กระบวนการที่เรียกว่า วิวัฒนาการของธรรมชาติ โดยในธรรมชาตินั้น ไม่มีการปฏิรูป จะมีก็แต่วิวัฒนาการที่ว่าเท่านั้น
เนื่องจากควอนตัมฟิสิกส์นั้นลงไปในรายละเอียดมาก สู่สภาวะที่ไม่มีความคงที่แน่นอน มีสภาวะเป็นคลื่น เป็นสสาร เป็นครึ่งๆ กลางๆ หรือเป็นสภาพของ สนามแห่งความพัวพันกันก็ได้ เป็นต้นว่า เป็นสนามพลังงานที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นสนามข้อมูล ความจำ ที่ว่าง หรือเวลาก็ได้ กระทั่งเป็นดังที่ นักฟิสิกส์หลายคนเชื่อว่า เป็นสนามพลังงานจิตหรือเป็นสนามจิตที่ไร้สำนึกของจักรวาลก็ได้ ซึ่งสภาพที่ละเอียดยิ่งเช่นนั้น ไม่แน่นอน ไม่เที่ยงและ ทำนาย ไม่ได้ มีลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากจิตจริงๆ

ดังนั้น ในทศวรรษหลังๆ มานี้ จึงมีกลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับจิตหรือระบบประสาทและสมอง รวมทั้งเรื่องของพลังงานจิตและความรู้เร้นลับ ความรู้ที่แนบเนื่อง กับศาสนาที่อุบัติจากทางตะวันออก เช่น ศาสนาพุทธ รวมกันแล้วว่า 12 วิชาที่เรียกรวมๆ กันว่า วิทยาศาสตร์ทางจิต ซึ่งมีอภิปรัชญาใหม่เป็นตัวเชื่อม ระหว่างควอนตัมเมคานิกส์หรือฟิสิกส์ใหม่ที่กล่าวมานั้นกับเรื่องของจิตหรือจิตวิญญาณทั้งหมด ฉะนั้น กระบวนการเรียนรู้ใหม่และ ระบบการศึกษาใหม่จึง ต้องเป็นไปตามนั้น ทำให้การมองความจริง หรือการรับรู้โลกและจักรวาลของมนุษย์ ซึ่งก็คือการรับรู้ธรรมชาติต้องเปลี่ยนแปลงไป ธรรมชาติของจักรวาล กายภาพ ที่โลกตะวันตก สอนมานั้นเป็นเรื่องของกายวัตถุทั้งหมด แท้จริงนั้นเป็นความรู้เก่าของชาวตะวันออกซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว

หนึ่ง คือธรรมชาติกายภาพที่มนุษย์มองเห็น
สอง จะเป็นภาพมายาของธรรมชาติที่แท้จริงซึ่งอยู่เบื้องหลังอีกที จึงนำมาอธิบายต่อไปได้ว่าทำไมมนุษย์ และสัตว์แต่ละชนิดจึงเห็น และรับรู้ธรรมชาติได้ ไม่เหมือนกัน เพราะทั้งคนและสัตว์แต่ละชนิด แต่ละประเภทแปลธรรมชาติที่แท้จริง (ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแสง/สสาร) ให้เป็นการรับรู้หรือ มองเห็นแปลก ต่างจากกัน
ส่วนธรรมชาติที่สาม คือ จิตสูงสุดหรือปัญญาสูงสุด คือความจริงแท้ที่รับรู้ด้วยจิตเหนือจิต นั่นคือ สัจธรรมหรือธรรมะในพุทธศาสนา นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า พระเจ้าหรือเต๋าหรือพรห์มมัน/ปรมาตมันที่ล้วนคือ "หนึ่ง" เช่นเดียวกันทั้งสิ้น เพียงแต่ใช้คำเรียกต่างกัน

การมองเห็นหรือเรียนรู้ความจริงที่เปลี่ยนไปนี้คือ สิ่งที่นักคิดหลายคนเรียกว่า วิสัยทัศน์ใหม่ต่อความจริงแท้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในหลักการที่รับรู้ ร่วมกันนั่นคือ โลกทัศน์หรือ "กระบวนทัศน์" ซึ่งมีหลักการและรูปแบบใหม่ ที่แปลกต่างไม่เหมือนเดิม ด้วยฟิสิกส์ใหม่ เป็นตัวผลักดันการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับตัวเร่งที่มนุษย์ได้มาจากความคิด และการสะท้อนความคิด ของตนเองสู่ภายใน
อาทิ จากสภาวะล่มสลายของระบบนิเวศธรรมชาติและมหันตภัยทุกๆ ด้านที่เป็นผลพวง ไม่ว่าจะเป็นสภาพโลกร้อน เอลนีโญ อากาศเป็นพิษ และมลภาวะ ทำให้มนุษย์รู้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ด้วยวิทยาศาสตร์กายภาพและชีววิทยาที่ตั้งอยู่บนความบังเอิญ มนุษย์ได้ดำรงชีวิต ของตนและนำพาสังคมโลก ผิดพลาดไปจากกระบวนการธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ด้วยวิกฤตในแทบทุกๆ ด้าน กลายเป็นวิกฤตการณ์ที่มีคุณค่าและความหมายในแง่ของการสื่อให้มนุษย์เริ่มรู้ตัว มนุษย์แทบทุกคน ต่างรู้แล้วว่าเราต้องเปลี่ยนแปลง ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดที่เป็นรากฐานของระบบทุกระบบของสังคม จึงต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ไปด้วยกัน ทั้งกรุเพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนทัศน์ใหม่ของสังคมด้วยเช่นกัน นั่นคือการเปลี่ยนแปลง ที่ศรีอรพินเธอเคยบอกว่า

"เวลาของการเปลี่ยนแปลงได้มาถึงแล้ว เราทุกคน ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ต้องอ่านสัญลักษณ์นั้นให้ออกและดำเนินการไปตามนั้น อย่างเงียบๆ การเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องเป็นโลกาภิวัตน์ คือต้องทั้งหมด แม้แต่เศษผงธุลีก็ต้องเปลี่ยน"

ฉะนั้น ระบบการศึกษาจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความจริงที่ยอมรับร่วมกันใหม่ โดยเปลี่ยนจากระบบการศึกษา ปัจจุบันที่สารัตถะ ทั้งหมดนั้น อยู่ที่ภายนอก ที่มนุษย์รับรู้เป็นความแปลกต่าง ไปสู่กระบวนทัศน์ทางการศึกษา ที่ชี้นำจากภายในออกมา ภายนอก ด้านหนึ่ง เป็นการศึกษา ที่สอดคล้อง กับกระบวนการวิวัฒนาการทางกายภาพ ของสมองและพฤติกรรมที่กำหนดจากภายใน มาปฏิสัมพันธ์ กับสิ่งแวดล้อมภายนอก ให้มีการเคลื่อนไหววิวัฒนาการ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ส่วนอีกด้านหนึ่ง จะเป็นการเดินทางที่จะเตรียมนำตัวมนุษย์ไปสู่ปัญญาเหนือปัญญาของจักรวาลอีกทีหนึ่ง ดังที่ ญ็อง เปียเจต์ และรูดอล์ฟ สไตเนอร์ พูดเหมือนๆ กับดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

กระบวนทัศน์ โดย ชลลดา ทองทวี คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

บทนำ
บทความนี้ เป็นการศึกษากระบวนทัศน์ (paradigm) ด้วยการสังเคราะห์มโนทัศน์ และแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ เพื่ออธิบาย นิยามความหมาย โครงสร้าง และกระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (paradigm shift)

กระบวนทัศน์ : นิยามความหมาย

ใน The Structure of Scientific Revolutions (ค.ศ. 1962) โทมัส เอส. คูหน์ (Thomas S. Kuhn) ซึ่งเป็นผู้ที่เริ่มต้นแนวคิดเรื่อง กระบวนทัศน์ (paradigm) นิยาม คำว่า กระบวนทัศน์ (paradigm) ในเชิงวิทยาศาสตร์ ไว้ว่า หมายถึง "กรอบแนวคิด (conceptual framework) หรือ โลกทัศน์ (worldview) ที่แตกต่างหลากหลายกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชนทางวิทยาศาสตร์ (scientific community)"

คำว่า paradigm มี รากศัพท์ มาจากภาษากรีก จากคำว่า para (beside) และ deigma (example) และในความหมายดั้งเดิม หมายถึง แบบจำลอง (model) แบบแผน (pattern) หรือ ตัวอย่าง (example) ที่เป็นที่ยอมรับ อันมีนัยยะ ว่า เป็นตัวอย่าง สำหรับการทำซ้ำ

อย่างไรก็ตาม สำหรับคูห์น กระบวนทัศน์ ในเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีนัยยะเพียงแค่การทำซ้ำ แต่เป็นสิ่งที่จะต้องมีการเชื่อมโยง (articulation) และ ระบุอย่างเฉพาะเจาะจง (specification) ต่อไปได้ ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น (คำว่า paradigm แปลเป็นภาษาไทย ว่า "กระบวนทัศน์" โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2536 และ คำว่า "paradigm shift" แปลเป็นภาษาไทย ว่า การเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ โดย ประสาน ต่างใจ)

ฟริตจอฟ คาปร้า (Fritjof Capra) นิยาม คำว่า กระบวนทัศน์เชิงสังคม (social paradigm) ใน The Concept of Paradigm and Paradigm Shift (1986) ในเวลาต่อมา ว่า หมายถึง "มโนทัศน์ (concepts) ค่านิยม (value) การรับรู้ (perceptions) และ การปฏิบัติ (practices) ที่ชุมชน (community) หนึ่งมีหรือกระทำร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดวิสัยทัศน์ (vision) แห่งความเป็นจริง ที่เป็นพื้นฐานของการจัดระบบตนเองของชุมชนนั้น" (Capra, 1986 : 3) ดังนั้น สำหรับ คาปร้า กระบวนทัศน์ จึงมีนัยยะของ ทัศนะแม่บท ที่เป็นรากฐานของทัศนะอื่น ๆ ต่อมา

ประสาน ต่างใจ นิยาม กระบวนทัศน์ (paradigm ใน บุพนิมิตแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ (พ.ศ. 2545) ) ว่า หมายถึง กระบวนทางความคิด ทางการรับรู้ ทางวิธีคิด และ การสะท้อนความคิด ให้เป็นความหมายหรือให้มีคุณค่าของมนุษยชาติ สำหรับดำรงอยู่ ในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ ประสาน ต่างใจ พัฒนานิยามดังกล่าว จาก นิยามของ วิลลิส ฮาร์แมน (Willis Harman) (ค.ศ. 1976) ที่ว่า "กระบวนทัศน์ คือ แนวทางพื้นฐานว่าด้วยความคิด การรับรู้ คุณค่า และการปฏิบัติที่สัมพันธ์เป็นการเฉพาะกับวิสัยทัศน์แห่งความจริง"

ใน มิติสุขภาพ : กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ (พ.ศ. 2545) ประเวศ วะสี อธิบายเรื่อง กระบวนทัศน์ ด้วยแนวคิดเชิง พุทธปรัชญา เรื่อง ทิฏฐิ ว่า กระบวนทัศน์ หรือ ทัศนะ หรือ ทิฏฐิ นั้น จะนำไปสู่การปฏิบัติ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิจะนำไปสู่ สัมมาปฏิบัติ และมิจฉาทิฏฐิ จะนำไปสู่ มิจฉาปฏิบัติ

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ อธิบายไว้ใน มิติสุขภาพ : กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ ใน ปี พ.ศ. 2545 ว่า กระบวนทัศน์นั้น หมายถึง "ทัศนะแม่บท หรือ รากฐานของ วิธีคิดทั้งหมด เป็นทัศนะพื้นฐานหรือรากฐาน ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกับวิธีคิดต่าง ๆ และ กำหนดวิธีคิดของมนุษย์ในลักษณะต่าง ๆ กัน"

ในวิทยานิพนธ์ เรื่อง พุทธกระบวนทัศน์เชิงนิเวศวิทยาแนวลึก (พ.ศ. 2542) โกศล ช่อผกา นิยามคำว่า กระบวนทัศน์ ว่า หมายถึง "แบบแผนการคิดหรือทัศนะพื้นฐานในการมองโลกและชีวิต ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยความจริงหรือสารัตถะของสรรพสิ่ง และ/หรือ ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นมิติด้านอภิปรัชญา รวมทั้งมิติด้านญาณวิทยา ที่ว่าด้วยวิถีทางหรือวิธีการรู้ความจริงหรือสารัตถะ ตลอดจนธรรมชาติหรือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง โดยแบบแผนการคิดหรือทัศนะดังกล่าว เป็นตัวกำหนดระบบคุณค่า และ แบบแผนของระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สังคม และ ธรรมชาติของประชาคมหนึ่ง ในระยะเวลาหนึ่ง"

โดยสรุปแล้ว จะสังเคราะห์นิยามความหมายของ กระบวนทัศน์ (paradigm) ได้ว่า หมายถึง
"กระบวนทางความคิด ทางการรับรู้ ทางวิธีคิด และการสะท้อนความคิดให้เป็นความหมายหรือให้มีคุณค่าของมนุษยชาติ ในชุมชนหนึ่ง สำหรับดำรงอยู่ ในช่วงเวลาหนึ่ง"

กระบวนทัศน์ : โครงสร้าง

อีกอน จี. กูบา (Egon G. Guba) เสนอทัศนะไว้ใน The Paradigm Dialog (ค.ศ. 1990) ว่า กระบวนทัศน์ (paradigm) หรือ ระบบความเชื่อพื้นฐาน (basic belief systems) นั้น มีโครงสร้างหลัก 3 ประการ คือ

 

ภววิทยา (Ontology) : อะไรคือ ธรรมชาติของความรู้ความจริง
ญาณวิทยา (Epistemology) : อะไรคือ ธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสวงหาความรู้ความจริง และ ความรู้ความจริง
วิธีวิทยา (Methodology) : ผู้แสวงหาความรู้ความจริงควรจะแสวงหาความรู้ความจริง อย่างไร

 

คำถาม 3 ข้อ ในโครงสร้าง 3 ประการดังกล่าว สามารถตอบได้แตกต่างกันไปหลายประการ และคำตอบนั้น จะเป็นตัวกำหนดหรือจุดเริ่มต้นของการแสวงหาความรู้ความจริงของแต่ละกระบวนทัศน์ ทั้งนี้ เราไม่อาจจะตัดสินได้ว่า คำตอบใดเป็นคำตอบที่ผิดหรือถูกต้อง

กูบา เห็นว่า กระบวนทัศน์ (paradigm) หรือ ระบบความเชื่อพื้นฐาน (basic belief systems) นั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (human constructions) และ ดังนั้น จึงมีความผิดพลาดและจุดอ่อนข้อบกพร่อง เป็นธรรมดา ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ของ ผลงานต่าง ๆ ของมนุษย์ ในทัศนะของกูบา กระบวนทัศน์แต่ละกระบวนทัศน์ ต่างก็เป็น "ทางเลือก (alternative)" ด้วยกันทั้งนั้น (Guba, In Guba, Ed., 1990 : 17-27)

ในมิติสุขภาพ : กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ (พ.ศ. 2545) โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ วิเคราะห์ กระบวนทัศน์ ในเชิงปรัชญาว่า ประกอบด้วย ฐานคติ ที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน 3 องค์ประกอบ ดังนี้

1. ภววิทยา (Ontology) คือ ตัวความรู้ว่า อะไรคือความจริง กระบวนทัศน์เป็นเรื่องของ ความจริงสุดท้าย (ultimate reality) ว่า จักรวาล ประกอบขึ้นมาจากอะไรบ้าง ถ้าวิธีคิดใดไม่ได้ไปท้าทายในสิ่งที่เรียกว่าเป็นความจริงชุดนี้ ก็ยังถือว่าเป็นวิธีคิดที่อยู่ภายใต้กรอบกระบวนทัศน์เดิม

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ กล่าวว่า กระบวนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์แบบกลไกที่ผ่านมา อธิบายจักรวาลเฉพาะในมิติด้านสสารและพลังงาน ในขณะที่กระบวนทัศน์ทางเลือก หรือ กระบวนทัศน์ใหม่ในสังคมปัจจุบัน นิยามความเป็นจริงในโลกนี้ว่า มีมิติอื่น ๆ นอกเหนือไปจากนั้น กล่าวคือ มีมิติทางจิตวิญญาณและมิติความหมายของการมีชีวิตอยู่ รวมอยู่ด้วย

2. จักรวาลวิทยา (Cosmology) คือ การจัดความสัมพันธ์ของความเป็นจริงเหล่านั้น ว่า สิ่งต่าง ๆ นั้น สัมพันธ์กันอย่างไร ด้วยกฎเกณฑ์แบบไหน ในกระบวนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นจักรวาลวิทยาแบบนิวตัน ที่มองความสัมพันธ์ระหว่างมวลสารในเชิงกลไก ตามกฎเกณฑ์ทางกายภาพของฟิสิกส์และเคมี สิ่งที่ขาดหายไป จึงเป็นมิติทางจิตวิญญาณ กล่าวคือ ความดี (จริยศาสตร์) ความงาม (สุนทรียศาสตร์) และ ความเข้าใจในรากฐานแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งเคยมีมาในจักรวาลวิทยาแบบโบราณ เช่น จักรวาลวิทยาแบบพุทธที่อธิบายในลักษณะของไตรภูมิ กล่าวคือ มีสวรรค์ โลก และนรกภูมิ รวมทั้งกฎแห่งกรรม ที่จะกำหนดให้สรรพชีวิตไปสู่ภพภูมิต่าง ๆ กัน

3. ญาณวิทยา (Epistemology) คือ การตรวจสอบและการพิสูจน์ความจริง ว่า เราจะเชื่อได้อย่างไรว่า สิ่งนั้นมีอยู่จริง ในกระบวนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา กระบวนการตรวจสอบความจริง เน้นความเป็นภววิสัย (objectivity) ในการตรวจวัด แต่ในกระบวนทัศน์ใหม่นี้ มีการท้าทายกระบวนทัศน์เดิมในแง่ที่ว่า โลกแห่งภววิสัยดังกล่าวนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ หรือว่า ความเป็นจริงทุกอย่างล้วนแต่ไม่มีตัวตนทั้งสิ้น เกิดจากการปรุงแต่งของจิตมนุษย์ โดยที่มนุษย์แต่ละบุคคล และสิ่งมีชีวิตแต่ละอย่าง ในความเป็นจริงแล้ว ต่างมองภววิสัย แตกต่างกันออกไป

(โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, ใน โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, บรรณาธิการ, 2545 : 69-75)

 

โกศล ช่อผกา วิเคราะห์โครงสร้างและเนื้อหาของกระบวนทัศน์โดยปรับปรุงจาก แนวคิดของ อีกอน กูบา ว่า มี 2 มิติ ดังนี้

  • มิติด้านอภิปรัชญา (Metaphysical Dimension) : เนื้อหาว่าด้วยความจริงหรือสารัตถะของสรรพสิ่ง รวมทั้งธรรมชาติหรือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง มิตินี้จะตั้งคำถามว่า อะไรคือความจริงแท้ (reality) หรือ สารัตถะ (essence) ของสิ่งทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายมีกำเนิดมาจากไหน มีกระบวนการในการดำรงอยู่ ตลอดจนจุดหมายปลายทางอย่างไร
    มิติด้านญาณวิทยา (Epistemological Dimension) : เนื้อหาว่าด้วยวิธีการในการรู้ความจริงหรือสารัตถะ รวมทั้งธรรมชาติหรือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง มิตินี้จะตั้งคำถามว่า มนุษย์จะสามารถรู้หรือเข้าถึงความจริงของสรรพสิ่งได้โดยวิธีใด อะไรคือเกณฑ์ตัดสินความรู้ และวิถีทางในการได้มาซึ่งความรู้ว่าตรงกับความจริง หรือ ความรู้ที่มนุษย์มีต่อความจริงแบบไหนที่ถูกต้องตรงกับความจริงแท้

 

ทั้งนี้ โกศล ช่อผกา มีทัศนะว่า หากจะนำกระบวนทัศน์ไปใช้ในการกำหนดแผนงานหรือการปฏิบัติ จะต้องเพิ่มมิติด้านจริยธรรม ซึ่งเป็นปทัสถาน (norms) และวิถีการปฏิบัติ (praxis) เข้าไปด้วยอีกมิติหนึ่ง (โกศล ช่อผกา, 2542 : 19-21)

ทั้งนี้ จะสังเคราะห์โครงสร้างหรือองค์ประกอบพื้นฐานทางฐานคติของกระบวนทัศน์ แบ่งออกได้เป็น 2 มิติ ดังนี้

  • ภววิทยา (ontology) : อะไรคือ ธรรมชาติของความรู้ความจริง
    ญาณวิทยา (epistemology) : อะไร คือ ธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้แสวงหาความรู้ความจริง และ ความรู้ความจริงนั้น

แบบแผน (pattern) ของกระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (paradigm shift)

กระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ จะสังเคราะห์เป็นแบบแผน (pattern) แบ่งเป็น 2 มิติได้ดังนี้

  1. มิติของกระบวนการที่เป็นพลวัตในบริบทที่แวดล้อม
  2. มิติของกระบวนการที่เกิดขึ้นในตน

 

การสังเคราะห์แบบแผน (pattern) กระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ : มิติของกระบวนการที่เป็นพลวัตในบริบทที่แวดล้อม

กระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่นเดียวกับระบบในธรรมชาติอื่น ๆ ที่เป็นระบบเปิด โดยมีการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกตลอดเวลา ซึ่งทำให้กระบวนทัศน์นั้น มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัตอย่างต่อเนื่อง

กระบวนทัศน์ใหม่หนึ่ง ๆ จะเกิดขึ้น เมื่อกระบวนทัศน์เดิมไม่สามารถใช้แก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ให้แก่มนุษย์ ในชุมชนหนึ่ง เพื่อดำรงอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งได้อีกต่อไป ทั้งนี้ พอล เอช. เรย์ (Paul H. Ray) และ เชอรี่ อาร์. แอนเดอร์สัน (Sherry R. Anderson) อธิบายด้วยแนวคิดทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ไว้ใน The Cultural Creatives : How 50 Million People are Changing the World ใน ปี ค.ศ. 2000 ว่า

กระบวนทัศน์ ในฐานะที่เป็นระบบเปิดในธรรมชาตินั้น จะมีความไร้ระเบียบ (chaos) เป็นพื้นฐาน ในขณะเดียวกัน ก็มีแนวโน้มที่จะจัดตั้งระบบของตนเองขึ้นตลอดเวลา ในลักษณะของการจัดองค์กรตนเอง (self-organizing system) กระบวนทัศน์หนึ่ง ๆ โดยธรรมชาติ จะมีการขยายตัวออกไปตลอดเวลา ในขณะที่สถาปนาตนเองขึ้นเป็นระบบที่มีระเบียบและเสถียรภาพอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง

ในกระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ จะมีกระบวนการโต้ตอบที่ส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ วงจรการโต้ตอบเชิงบวก (เชิงเสริมตนเอง / เชิงขยาย) (positive (self-reinforcing / amplified) feedback loop) ซึ่งจะเร่งเสริมทวีความซับซ้อนของความไร้ระเบียบให้แก่ระบบแห่งกระบวนทัศน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในลักษณะยกกำลัง (exponential)

ส่วนการโต้ตอบอีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ วงจรการโต้ตอบเชิงลบ (เชิงรักษาระบบตนเอง / เชิงสมดุล) (negative (self-regulating/balance) feedback loop) ซึ่งจะต้านการเปลี่ยนแปลงของระบบแห่งกระบวนทัศน์เดิมโดยการพยายามรักษาสมดุลไว้ (ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์, 2538 : 23-27)

วงจรการโต้ตอบเชิงบวกนั้น มีลักษณะอ่อนไหวต่อเงื่อนไขเบื้องต้น (sensitivity to initial conditions) และดังนั้น ปัจจัยเงื่อนไขเล็ก ๆ ล้วนมีผลสะเทือนเร่งให้กระบวนทัศน์หนึ่ง ๆ ก้าวเข้าสู่สภาวะที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่สามารถรักษาสมดุลตนเองไว้ได้ และก้าวเข้าสู่สภาวะไร้ระเบียบทั้งระบบ เป็นสภาวะที่ระบบห่างไกลจากความสมดุล (far-from-equilibrim)

ในช่วงของสภาวะวิกฤติที่เต็มไปด้วยสภาวะไร้ระเบียบนี้ กระบวนทัศน์เดิมจะเริ่มเสื่อมสลายลงไป ไม่สามารถใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อีกต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับกฎไตรลักษณ์ในพุทธ-ปรัชญา ที่อธิบายธรรมชาติของสรรพสิ่งว่า จะต้องมีการก่อกำเนิดขึ้น ดำรงอยู่ และ ดับสลายไป เป็นธรรมดา และเป็นวัฎจักรไปไม่มีสิ้นสุด ดังที่ โกศล ช่อผกา สรุปสังเคราะห์ไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง พุทธกระบวนทัศน์เชิงนิเวศวิทยาแนวลึก ใน ปี พ.ศ. 2542

แนวคิดเชิงพุทธปรัชญาดังกล่าว สอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎีทางฟิสิกส์ เกี่ยวกับกระบวนการวิวัฒนาการไปโดยธรรมชาติของจักรวาล กล่าวคือ แนวคิดทฤษฎีกระบวนการเคลื่อนไหวของทั้งหมด (Holomovement) ของ เดวิด โบห์ม (David Bohm) ใน Wholeness and Implicate Order ใน ปี ค.ศ. 1980 ที่ว่า

ทุกสรรพสิ่งในจักรวาลนั้น มีการเคลื่อนคลายวิวัฒน์ไปอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงกันตลอดเวลา สู่มิติที่ซับซ้อนและสูงขึ้นไปเสมอ ในลักษณะของการคลี่ขยายเผยออกมา (unfoldment) และ การม้วนซ้อนเข้าไป (enfoldment) ในรูปของน้ำวนหรือเกลียวก้นหอยที่เป็นพลวัต (spiral dynamics)

กระบวนการดังกล่าวนี้ จะทำให้กระบวนทัศน์เดิม ม้วนซ้อนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวของทั้งหมด แล้วคลี่ขยายออกมาให้เห็นเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ ที่จะรวมเอาคุณสมบัติของกระบวนทัศน์เดิมเข้าไว้ด้วย ในขณะที่วิวัฒน์ต่อไป เป็นวัฏจักรไปไม่สิ้นสุด ในลักษณะของ การก้าวพ้นและครอบคลุม (transcend and include)

นอกจากนี้ กระบวนทัศน์นั้น ยังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ ซึ่งเป็นบริบทแวดล้อมในกระบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วยอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นทั้งหมด (wholeness) และส่วนหนึ่งของกันและกัน

ในกระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ บางครั้งจะเห็นว่า กระบวนทัศน์ใหม่นั้น ดูเหมือนว่า จะวนกลับมาเหมือนกับกระบวนทัศน์เดิมบางกระบวนทัศน์ในอดีต อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง จะมิได้เป็นเช่นนั้น ปรากฏการณ์ดังกล่าว สามารถอธิบายด้วยแนวคิดทฤษฎี กระบวนการเคลื่อนไหวของทั้งหมด (Holomovement) ได้ว่า…

กระบวนทัศน์ใหม่ จะก่อกำเนิดและคลี่ขยายเผยออกมาให้เห็น โดยรวมเอาคุณสมบัติของกระบวนทัศน์เดิมที่ม้วนซ้อนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดก่อนหน้านี้ ในกระบวนการเลื่อนไหลที่เป็นเอกภาพ ในรูปของน้ำวนหรือเกลียวก้นหอย จึงดูเผิน ๆ เหมือนกับจะย้อนรอยเดิม แต่แท้จริงแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้น

กระบวนการในช่วงที่กระบวนทัศน์เดิมเริ่มจะไร้เสถียรภาพ เสื่อมและลดบทบาทลง ซึ่ง โทมัส เอส. คูห์น อธิบายไว้ใน The Structure of Scientific Revolutions ใน ปี ค.ศ. 1962 ว่า เป็นช่วง anomaly เป็นช่วงเวลาที่กระบวนทัศน์ใหม่ ยังไม่ก่อตัวจัดระเบียบตนเองขึ้นอย่างชัดเจน ช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงวิกฤติ (crisis) ที่เต็มไปด้วยความสับสน

ตามทฤษฎีไร้ระเบียบ ณ ช่วงปลายขอบแห่งสภาวะไร้ระเบียบ (the edge of chaos) ของระบบแห่งกระบวนทัศน์เดิมดังกล่าว เป็นจุดทางแพร่ง (bifurcation) ที่จะมีทางเลือกให้เลือกหลายสาย กระบวนการของระบบแห่งกระบวนทัศน์ จะพัฒนาไปตามทางสายใด จะขึ้นอยู่กับความบังเอิญ (chance) ในขณะนั้น ที่จะส่งผลกระทบได้จังหวะพอดี จนเกิดการหักเหไปทางใดทางหนึ่ง โดยจะมี ตัวดึงวิถี (attractors) หลายตัว ซึ่งเป็นตัวที่ดึงดูดให้วิถีเส้นทาง หรือทิศทางของการเปลี่ยนแปลง เข้ามาหาตนได้เหมือนการดูดของแม่เหล็ก

ตัวดึงวิถี (attractors) ดังกล่าวนี้ มีลักษณะเป็นตัวดึงวิถีเชิงไร้ระเบียบ (chaotic attractor) หรือ ตัวดึงวิถีที่แปลก (strange attractor) กล่าวคือ แม้จะมีขอบเขตหนึ่งที่จำกัด แต่ก็มีแบบแผน (pattern) ที่เปลี่ยนแปลงได้หลากหลายเป็นพลวัต (dynamic) ซึ่งอาจจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับแบบแผนเดิม (self-similar) เกิดขึ้นในลักษณะซ้ำ ๆ (iteration) แต่ก็จะไม่ซ้ำรอยเดิม อย่างคาดเดากำหนดไม่ได้ (unpredictable) อยู่ตลอดเวลา ภายในขอบเขตดังกล่าวนั้น

ณ จุดทางแพร่งนี้ จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นจุดที่เราสามารถเข้าไปชี้ขาดควบคุมทางเลือกของการเปลี่ยนแปลงของระบบได้ ด้วยการแสวงหาตัวดึงวิถี (attractors) ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของระบบแห่งกระบวนทัศน์เดิม ให้เป็นไปในทิศทางแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ที่ต้องการได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายหายนะจากการล่มสลายของกระบวนทัศน์เดิมน้อยลง เมื่อกระบวนทัศน์ใหม่ สามารถจัดระบบตนเองขึ้นมาได้

ประสาน ต่างใจ มีทัศนะที่สอดคล้องกับ โทมัส เอส. คูห์น ดังที่อธิบายไว้ใน บุพนิมิตแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ ใน ปี พ.ศ. 2545 ว่า

กระบวนทัศน์นั้น ในนัยยะที่เป็นระบบตามธรรมชาติดังกล่าว จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ดังนั้น กระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์จึงเป็นกระบวนการที่จะต้องเกิดขึ้น เมื่อเวลาหรือยุคสมัย และ บริบทที่แวดล้อมอยู่เปลี่ยนไป ไม่ว่ามนุษย์นั้นจะต้องการหรือไม่ก็ตาม ในลักษณะของ แนวคิดเชิงพุทธปรัชญา เรื่อง ตถตา หรือ "มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง" และ เรื่อง อิทัปปัจยตา หรือ ความเป็นกระแสของเหตุปัจจัยที่ผลักดันกันต่อ ๆ ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด ซึ่งเป็นความจริงตามธรรมชาติ กล่าวคือ

การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) ตามกระแสของเหตุปัจจัยที่หนุนเนื่องอย่างไม่ขาดสาย ไม่มีตัวตนโดยเอกเทศ ที่คงที่ตายตัว (อนัตตา) ทั้งนี้กระบวนทัศน์ในฐานะส่วนหนึ่งของความเป็นทั้งหมด (wholeness) ในกระบวนการเคลื่อนไหวของธรรมชาติในจักรวาล จะมีความเชื่อมโยงอย่างไม่อาจแยกออกได้จากส่วนอื่น ๆ ของธรรมชาติในขณะเดียวกัน การวิเคราะห์กระบวนทัศน์ จึงจำเป็นต้องเข้าใจความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกระบวนทัศน์ กับ บริบทที่แวดล้อมอยู่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ทั้งนี้ วีระ สมบูรณ์ อธิบายไว้ใน มิติสุขภาพ : กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ ใน ปี พ.ศ. 2545 ว่า

การที่กระบวนทัศน์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเองโดยธรรมชาติดังกล่าว ทำให้ต้องตระหนักและยอมรับว่า ไม่อาจตัดสินได้ว่า กระบวนทัศน์หนึ่งกระบวนทัศน์ใด มีความถูกต้องหรือผิดพลาด ในเชิงระบบคุณค่า เนื่องจากกระบวนทัศน์แต่ละกระบวนทัศน์ จะสถาปนาตนเองขึ้นมาได้ ก็เมื่อสามารถแก้ไขปัญหาหรือตอบโจทย์ของยุคสมัย และบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากกว่า

ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดของ ยุค ศรีอาริยะ ใน จินตนาการ 2000 กระบวนทัศน์และวิสัยทัศน์ใหม่ ใน ปี พ.ศ. 2542 ที่เห็นว่า

การปฏิวัติกระบวนทัศน์นั้น เกี่ยวพันโดยตรงและแยกไม่ออกจากการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของสังคม ทั้งนี้ ตามหลักของกระบวนการเคลื่อนไหวของทั้งหมด (Holomovement) ของ เดวิด โบห์ม แล้ว กระบวนทัศน์ ในฐานะระบบหนึ่งในธรรมชาติ จะไม่สัมบูรณ์ (absolute) แต่จะมีการวิวัฒน์อย่างต่อเนื่องเป็นพลวัตตลอดเวลา กระบวนทัศน์ที่ขึ้นมาเป็นกระบวนทัศน์กระแสหลักแต่ละกระบวนทัศน์ จึงเป็น "ทางเลือก" ของ แต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ดังที่ อีกอน จี. กูบา อธิบายไว้ใน The Paradigm Dialog (ค.ศ. 1990)

การสังเคราะห์เป็นแบบแผน (pattern) กระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ : มิติของกระบวนการที่เกิดขึ้นในตน

ในหนังสือ เรื่อง The Visionary Window : A Quantum Physicist's Guide to Enlightenment ของ อมิต โฆษวามี (Amit Goswami) ใน ปี ค.ศ. 2000 อธิบายกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ว่า มี กระบวนการ 4 ลำดับขั้นด้วยกัน ดังนี้

ขั้นการรับรู้ (perception)
ขั้นการสร้างมโนทัศน์ (conception)
ขั้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking)
ในขั้นตอนนี้ หลังจากการใช้ความคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์มาระยะหนึ่ง จะเกิดญาณทัศนะ (intuition) ขึ้น เป็นการโผล่ปรากฏ (emergence) ของความรู้ความเข้าใจ
ขั้นการคิดอย่างสร้างสรรค์ (creative thinking)

โกศล ช่อผกา อธิบายเรื่อง กระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ ด้วยพุทธปรัชญา เรื่อง "ทิฏฐิ (ditthi)" ไว้ในวิทยานิพนธ์ เรื่อง พุทธกระบวนทัศน์เรื่องนิเวศวิทยาแนวลึก (พ.ศ. 2542) ว่า มนุษย์จะต้องสร้างสัมมาทิฏฐิ หรือ ความเห็นที่ถูกต้องตามสภาวะความเป็นจริงของธรรมชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงความจริงของสรรพสิ่งและพ้นจากความทุกข์ ทั้งนี้ สัมมาทิฏฐิ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ โดยอาศัยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ

ปรโตโฆษะ แปลว่า เสียงจากผู้อื่น หมายถึง การกระตุ้น หรือ ชักจูงจากภายนอก เช่น การสั่งสอน หรือ การให้ข้อมูลข่าวสารจากผู้อื่น ทั้งนี้ ปรโตโฆษะที่ดีนั้น จะได้มาจากการมีกัลยาณมิตรที่ดี ปรโตโฆษะจึงเป็นปัจจัยภายนอก

โยนิโสมนสิการ หมายถึง การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้าหรือเหตุ แล้วแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญา ให้เห็นสิ่งนั้น ๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย โยนิโสมนสิการจึงเป็นปัจจัยภายใน

นอกจากนี้ มนุษย์สามารถที่จะก้าวเข้าสู่ความเข้าถึงความจริงของสรรพสิ่งได้ด้วย การฝึกฝนอบรม หรือ การปฏิบัติทางจิต กล่าวคือ การภาวนา สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนา ซึ่งเป็นระดับขั้นความรู้ที่สูงขึ้นไปจากระดับโยนิโสมนสิการ (โกศล ช่อผกา, 2542 : 88)

ตัวดึงวิถี (attractor) ในกระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์

ตัวดึงวิถี (attractor) ในระบบโดยทั่วไป รวมทั้งระบบแห่งกระบวนทัศน์ จะแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • ตัวดึงวิถีแบบจุด (Point Attractor) เป็น ตัวดึงวิถี ที่ดึงดูดวิถีโคจร (trajectory) ในช่วงพื้นที่ (phase space) ของระบบ สู่ จุด ๆ หนึ่ง ในลักษณะของการแกว่งของลูกตุ้ม ที่จะแกว่งไปมาผ่านจุดศูนย์กลางจุดหนึ่งอย่างสม่ำเสมอ และจะหยุดลง ณ จุด ๆ นั้นในที่สุด ภายใต้อิทธิพลของตัวดึงวิถีแบบจุดนี้ ระบบจะมีเสถียรภาพและคาดเดาได้สูง
  • ตัวดึงวิถีแบบวงจร (Periodic/Limit Cyclic Attractor) เป็น ตัวดึงวิถี ที่ดึงดูดวิถีโคจร (trajectory) ในช่วงพื้นที่ (phase space) ของระบบ ระหว่าง จุด 2 จุด ในลักษณะที่เป็นวงกลม เป็นวงจรที่ต่อเนื่องเป็นพลวัต ภายใต้อิทธิพลของตัวดึงวิถีแบบวงจรนี้ ระบบจะยังคงมีเสถียรภาพและคาดเดาได้สูงอยู่เช่นกัน รวมทั้ง สามารถต้านการเปลี่ยนแปลงของระบบได้ โดยหากมีการรบกวนใด ๆ เกิดขึ้นต่อระบบ ระบบจะยังสามารถกลับคืนสู่วิถีโคจรที่เป็นวงจรที่มีเสถียรภาพเช่นเดิมต่อไปได้
  • ตัวดึงวิถีแบบวงห่วง (Torus Attractor) เป็นตัวดึงวิถี ที่ดึงดูดวิถีโคจร (trajectory) ในช่วงพื้นที่ (phase space) ของระบบ ระหว่าง วงจร 2 วงจร ในลักษณะเป็นวงห่วง เหมือนห่วงยาง หรือ รูปโดนัท ภายใต้อิทธิพลของตัวดึงวิถี แบบ วงห่วง นี้ ระบบจะยังคงมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม วิถีโคจรของระบบจะมีอิสระมากยิ่งขึ้น มีทิศทางที่เป็นไปได้หลายทิศทาง และคาดเดาได้เพียงกว้าง ๆ ในขอบเขตหนึ่ง และหากมีการรบกวนใด ๆ เกิดขึ้นต่อระบบจนทำให้ระบบไร้เสถียรภาพ ตัวดึงวิถีแบบวงห่วง ก็อาจจะระเบิดแตกตัวออกไปในทิศทางที่คาดเดาไม่ได้ กลายเป็นตัวดึงวิถีแบบไร้ระเบียบ หรือ แบบแปลก (Chaotic / Strange Attractor) ต่อไป
  • ตัวดึงวิถีแบบไร้ระเบียบ หรือ แบบแปลก (Chaotic/Strange Attractor) เป็นตัวดึงวิถีที่ดึงดูดวิถีโคจร (trajectory) ในช่วงพื้นที่ (phase space) ของระบบ ในลักษณะของโครงสร้างแบบเสี้ยวส่วน (fractal) ที่แม้จะมีขอบเขตหนึ่งที่จำกัด แต่ก็มีแบบแผน (pattern) ที่เปลี่ยนแปลงได้หลากหลายเป็นพลวัต (dynamic) ซึ่งอาจจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับแบบแผนเดิม (self-similar) เกิดขึ้นในลักษณะซ้ำ ๆ (iteration) แต่จะไม่ซ้ำรอยเดิมอย่างคาดเดาไม่ได้ (unpredictable) อยู่ตลอดเวลา ภายในขอบเขตดังกล่าวนั้น

 

ตัวดึงวิถี (attractor) ในกระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ สามารถสังเคราะห์เป็นแบบแผน (pattern) ได้ ซึ่งจะอธิบาย ตัวดึงวิถี (attractor) ในกระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ได้ว่า ระบบแห่งกระบวนทัศน์ ในฐานะที่เป็นระบบเปิดในธรรมชาตินั้น จะมีความไร้ระเบียบ (chaos) เป็นพื้นฐาน ในขณะเดียวกัน ก็มีแนวโน้มที่จะจัดตั้งระบบของตนเองขึ้นตลอดเวลา ในลักษณะของการจัดองค์กรตนเอง (self-organizing system)

ในกระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ จะมีกระบวนการโต้ตอบที่ส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ วงจรการโต้ตอบเชิงบวก (เชิงเสริมตนเอง / เชิงขยาย) (positive (self-reinforcing / amplified) feedback loop) ซึ่งจะเร่งเสริมทวีความซับซ้อนของความไร้ระเบียบให้แก่ระบบแห่งกระบวนทัศน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในลักษณะยกกำลัง (exponential)

ส่วนการโต้ตอบอีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ วงจรการโต้ตอบเชิงลบ (เชิงรักษาระบบตนเอง / เชิงสมดุล) (negative (self-regulating / balance) feedback loop) ซึ่งจะต้านการเปลี่ยนแปลงของระบบแห่งกระบวนทัศน์เดิมโดยการพยายามรักษาสมดุลไว้

วงจรการโต้ตอบเชิงบวกนั้น มีลักษณะอ่อนไหวต่อเงื่อนไขเบื้องต้น (sensitivity to initial conditions) และดังนั้น ปัจจัยเงื่อนไขเล็ก ๆ ล้วนมีผลสะเทือนเร่งให้กระบวนทัศน์หนึ่ง ๆ ก้าวเข้าสู่สภาวะที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่สามารถรักษาสมดุลตนเองไว้ได้ และก้าวเข้าสู่สภาวะไร้ระเบียบทั้งระบบ เป็นสภาวะที่ระบบห่างไกลจากความสมดุล (far-from-equilibrim)

ในวิถีโคจร (trajectory) ในช่วงพื้นที่ (phase space) ของระบบแห่งกระบวนทัศน์ดังกล่าว ในระยะแรก จะยังคงมีเสถียรภาพสูงและคาดเดาได้ ในขอบเขตของตัวดึงวิถี ลักษณะที่มีเสถียรภาพและคาดเดาได้ คือ ตัวดึงวิถีแบบจุด แบบวงจร และ แบบ วงห่วง ซึ่งเป็นระยะลักษณะที่วงจรการโต้ตอบเชิงลบ จะยังสามารถรักษาสมดุลของระบบแห่งกระบวนทัศน์เดิมได้ในระดับหนึ่งที่มีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม ระบบแห่งกระบวนทัศน์ดังกล่าว ในฐานะที่เป็นระบบเปิดในธรรมชาติ จะมีการปฏิสัมพันธ์กับบริบทที่แวดล้อมอย่างเป็นพลวัต ในลักษณะของวงจรการโต้ตอบเชิงบวก ที่มีลักษณะที่อ่อนไหวต่อเงื่อนไขเบื้องต้น ส่งผลสะเทือนให้ระบบแห่งกระบวนทัศน์ ก้าวเข้าสู่สภาวะที่ซับซ้อนทั้งระบบ จนถึงขั้นไร้ระเบียบในที่สุด

ณ ช่วงปลายขอบแห่งสภาวะไร้ระเบียบ (the edge of chaos) ของระบบแห่งกระบวนทัศน์เดิมดังกล่าว เป็นจุดทางแพร่ง (bifurcation) ที่จะมีทางเลือกให้เลือกหลายสาย กระบวนการของระบบแห่งกระบวนทัศน์ จะพัฒนาไปตามทางสายใด จะขึ้นอยู่กับความบังเอิญ (chance) ในขณะนั้น ที่จะส่งผลกระทบได้จังหวะพอดี จนเกิดการหักเหไปทางใดทางหนึ่ง โดยจะมี ตัวดึงวิถี (attractors) หลายตัว ซึ่งเป็นตัวที่ดึงดูดให้วิถีเส้นทางหรือทิศทางของการเปลี่ยนแปลง เข้ามาหาตนได้เหมือนการดูดของแม่เหล็ก

ตัวดึงวิถี (attractors) ดังกล่าว ณ จุดทางแพร่งนี้ มีลักษณะเป็นตัวดึงวิถี แบบไร้ระเบียบ หรือ แบบแปลก (chaotic/strange attractor) กล่าวคือ แม้จะมีขอบเขตหนึ่งที่จำกัด แต่ก็มีแบบแผน (pattern) ที่เปลี่ยนแปลงได้หลากหลายเป็นพลวัต (dynamic) ซึ่งอาจจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับแบบแผนเดิม (self-similar) เกิดขึ้นในลักษณะซ้ำ ๆ (iteration) แต่ก็จะไม่ซ้ำรอยเดิม อย่างคาดเดากำหนดไม่ได้ (unpredictable) อยู่ตลอดเวลา ภายในขอบเขตดังกล่าวนั้น

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่สภาวะไร้ระเบียบของระบบแห่งกระบวนทัศน์เดิมขยายตัวสูงสุด จนระบบทั้งระบบไร้เสถียรภาพนั้น ตัวดึงวิถีแบบไร้ระเบียบหรือแบบแปลก (Chaotic/Strange Attractor) ที่มีพลังมากที่สุด จะสามารถดึงดูดให้ระบบแห่งกระบวนทัศน์ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของตนได้ ก่อให้เกิดการโผล่ปรากฏ (emergence) ของระบบแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ขึ้น

ณ จุดทางแพร่งนี้ จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นจุดที่เราสามารถเข้าไปชี้ขาดควบคุมทางเลือกของการเปลี่ยนแปลงของระบบได้ ด้วยการแสวงหาตัวดึงวิถี (attractors) ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของระบบแห่งกระบวนทัศน์เดิม ให้เป็นไปในทิศทางแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ที่ต้องการได้เร็วยิ่งขึ้น

บทสรุป

การศึกษาดังกล่าว เป็นการสรุปสังเคราะห์จากการศึกษามโนทัศน์ต่าง ๆ และแนวคิดทฤษฎีหลายแนวคิดทฤษฎี เพื่อสังเคราะห์นิยามความหมาย และแบบแผนของโครงสร้าง และ กระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ การสรุปสังเคราะห์ดังกล่าว เป็นแนวทางหนึ่งในการอธิบายเพื่อทำความเข้าใจ "กระบวนทัศน์ (paradigm)"

คูห์น กล่าวถึง กระบวนทัศน์ที่แตกต่างกัน 2 กระบวนทัศน์ ว่า เปรียบเสมือน การที่คน 2 คน มอง รูปเดียวกัน แต่คนหนึ่ง มองเห็นเป็น เป็ด ขณะที่ อีกคนหนึ่ง มองเห็นเป็นรูปกระต่าย ดังภาพวาดต่อไปนี้ ที่วาดตามแนวคิดเรื่องการรับรู้ภาพ "duck-rabbit" ของ ลุดวิก วิทเกนสไตน์ (Ludwig Wittgenstein)

การมองเห็นโลกและจักรวาล ด้วยกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการมองสิ่งเดียวกัน ในมุมมองใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อวิถีปฏิบัติ ให้เปลี่ยนแปลงไปด้วยทั้งกระบวน การที่เราจะยังคงเลือกกระบวนทัศน์ของ "กระต่าย" ทั้งที่ รอบตัวเราและหนทางเบื้องหน้านั้นเต็มไปด้วยน้ำ จะไม่ทำให้เราแก้ไขปัญหา หรือเดินทางไปข้างหน้าต่อไปได้ บางทีการเปลี่ยนมุมมองไปเป็น "เป็ด" จึงอาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็น

เมื่อใด ที่กระบวนทัศน์เดิม ดูเหมือนว่า จะเป็นการนำพาเรา "เดินหน้าไปข้างหลัง" เราอาจจะต้องลอง "ถอยหลังไปข้างหน้า" หรือ ต้องลองเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ สู่ กระบวนทัศน์ใหม่ ที่จะนำพาเราไปได้ดีกว่าเดิม

การเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ของสังคมหนึ่ง เป็นสิ่งที่กระทำได้ไม่ยากนัก ดังที่ ประสาน ต่างใจ ได้กล่าวไว้ ว่า ขอเพียงทุกคน "เริ่มต้นที่ตนเอง" เท่านั้น สังคมโดยรวม ก็สามารถที่จะเปลี่ยนย้ายสู่กระบวนทัศน์ใหม่ได้ทั้งหมด และจะสามารถแก้ไขวิกฤติปัญหาต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญกันอยู่ เนื่องจากกระบวนทัศน์เดิม ให้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ในที่สุด

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (บรรณาธิการ). (2545). มิติสุขภาพ : กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคม
แห่งสุขภาวะ. กรุงเทพมหานคร : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.
โกศล ช่อผกา. (2542). พุทธกระบวนทัศน์เชิงนิเวศวิทยาแนวลึก. วิทยานิพนธ์ปริญญา
อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มหิดล.
ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์. (2537). ทฤษฎีไร้ระเบียบ : ทางแพร่งของสังคมสยาม. กรุงเทพมหานคร : คบไฟ.
ประเวศ วะสี. (2545). วิถีมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 สู่ภพภูมิใหม่แห่งการพัฒนา. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.
ประสาน ต่างใจ. 17 มิถุนายน-28 พฤศจิกายน 2545. สัมภาษณ์.
________. (2541). จิตกับจักรวาล. กรุงเทพมหานคร : คบไฟ.
________. (2538). จิตวิทยา : จิตวิญญาณ. กรุงเทพมหานคร : คบไฟ.
________. (2537). ชีวิตหลังตาย : วิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : กรีนพีซ.
________. (2538). ธรรมวิทยาศาสตร์ : เรื่องของมนุษย์ โลก และ จักรวาล. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิภูมิปัญญา.
________. (2545). บุพนิมิต กระบวนทัศน์ใหม่. กรุงเทพมหานคร : วิถีทรรศน์.
________. (2538). มนุษย์ กับ ความคิด เพื่อเข้าถึงความรู้ ความจริงของชีวิต โลก และ จักรวาล. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิภูมิปัญญา.
________. (2545). โลกหลัง 2012 : สู่มิติที่ห้า. กรุงเทพมหานคร : สถาบันวิถีทรรศน์.
________. (2542). ศตวรรษใหม่ : โลกไม่ต้องการมนุษย์อีกแล้ว !. กรุงเทพมหานคร : สถาบัน วิถีทรรศน์.
_______. (2539). เอกภาพของชีวิตกับจักรวาล. กรุงเทพมหานคร : กรีนพีซ.
พระธรรมปิฏก. (2538). พุทธวิธีแก้ปัญหาเพื่อศตวรรษที่ 21. กรุงเทพมหานคร : ชมรม พุทธศาสน์ กฟผ.
ฟริตจ๊อฟ คาปร้า. (2529). จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ. (พระประชา ปสนฺธมฺโม และคณะ, ผู้แปล). กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโกมลคีมทอง.
ยุค ศรีอาริยะ. (2539). Global Vision สู่กระแสกระบวนทัศน์ใหม่. กรุงเทพมหานคร : ไอโอนิค อินเตอร์เทรด รีซอสเซส.
________. (2544). ทฤษฎีและความรู้ในยุคโลกาภิวัตน์. กรุงเทพมหานคร : วิถีทรรศน์.
________. (2545). ภูมิปัญญาบูรณาการ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : วิถีทรรศน์.
วีระ สมบูรณ์. (2545). อริยวินัยสำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 21. กรุงเทพมหานคร : โกมลคีมทอง.
สรยุทธ รัตนพจนารถ. (2547). รักกันอย่างไร...ให้เป็นจิตวิวัฒน์ ? [Online]. Available : http://www.matichon.co.th/matichon [2004, May 8].
อรศรี งามวิทยาพงศ์. (2544). วิพากษ์ ฟริตจอฟ คาปร้า [Online].
Available : http://www.geocities.com/midnightuniv.html [2546, เมษายน 24].
________. (2545). กระบวนทัศน์การพัฒนาของรัฐ : จากผู้ใหญ่ลีถึงหลุยส์ วิตตอง [Online]. Available : http://www.geocities.com/midnightuniv.html [2546, เมษายน 24].
________. (2546). กระบวนทัศน์และการจัดการความยากจนในชนบทของรัฐในช่วงแผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-8 : พ.ศ. 2504-2544. วิทยานิพนธ์ปริญญา สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาการบริหารสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
________. (No date). กรอบความคิดว่าด้วยกระบวนทัศน์สุขภาพ [Online]. Available : http://www.geocities.com/midnightuniv.html [2546, เมษายน 24].

บรรณานุกรมภาษาอังกฤษ

Bohm, D. (1980). Wholeness and the Implicate Order. London : Routledge & Kegan Paul.
Capra, F. (1975). The Tao of Physics. London : Wildwood House.
________. (1982). The Turning Point. New York : Simon and Schuster.
________. (1986). The Concept of Paradigm and Paradigm Shift. Re-Vision, Vol.9 Number 1, 3.
________. (1988). Uncommon Wisdom. London : Fontana Paperbacks.
________. (1996). Web of Life. New York : Anchor Books.
Cislo, A. (1999). Chaos, Category Construction and Obscenity : Non-Linear Dynamics [Online].
Available : http://www.criticisism.org/redfeather/chaos/025cislo.html [2004, June 25].
Guba, E.G. (1990). Paradigm Dialog. London : Sage.
Kuhn, T.S. (1970). The Structure of Scientific Revolutions. (Second Edition). Chicago : The University of Chicago Press.
Lovelock, J.E. (1987). Gaia : A New Look at Life on Earth. (Second Edition). Oxford : Oxford University Press.
Lynch, A. (1996). Thought Contagion. New York : Basic Books.
Ray, P.H. & Anderson, S.R. (2000). The Cultural Creatives : How 50 Million People Are Changing the World. New York : Harmony Books.