รู้จักตนเอง Self Awareness

การที่เราเปิดเผยตัวเองมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งให้เราเรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเอง ยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น การรู้จักตนเอง (Self awareness) รวมไปถึงการรับรู้และรู้จักความสามารถของตัวเราเอง จะต้องรู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เก่งอะไร ไม่เก่งอะไร และที่สำคัญเราต้องรู้อารมณ์ของตนเองด้วย ว่าขณะนี้เรามีอารมณ์เป็นอย่างไร การรู้จักอารมณ์ตนเองจะนำไปสู่การควบคุมอารมณ์และการแสดงออก ที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งการที่จะรู้จักตนเอง รู้อารมณ์ของตนเองได้ ต้องเริ่มจากการรู้ตัว หรือการมีสติ การรู้จักตนเองเป็นรากฐานของการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะการรู้จักตนเองหมายรวมถึง ขีดความสามารถของตัวเรา รู้ข้อจำกัดของตัวเองเรา อะไรที่ทำได้ อะไรที่เกินฝัน การรู้จักตนทำให้เราเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น เราจะพบว่ามีบางเรื่องที่เราคล้ายคนอื่น และมีอีกหลายเรื่องที่แตกต่างกัน เช่น เจตคติ ความคิด ความเชื่อ ประสบการณ์ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ผลักดันให้เรามีพฤติกรรมหรือการแสดงออกต่างกัน เมื่อเราได้เข้าใจปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะทำให้เกิดการยอมรับและเข้าใจผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

รู้จักตนเอง

มนุษย์โดยองค์รวมเป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะพิเศษต่างจากสัตว์อื่น ๆ ทั่วไป มนุษย์มีเหตุผลหรือสติปัญญาที่สรรค์สร้างแต่ละบุคคล แต่ละหมู่พวกให้มีความแตกต่างกันในรูปลักษณ์ ความคิด จินตนาการ รูปแบบการพัฒนา การจัดองค์กร แต่โดยหน่วยย่อยเป็นแต่ละคนแล้ว เรียกว่า ตนหรือตัวตน หรือรูป (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2543) ในเรื่องการศึกษาตนเอง และผู้อื่นนี้ มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจตนเองในด้านความเป็นมา ด้านอัตมโนทัศน์ ด้านความเชื่อถือตนเอง การรู้จักตนเองและผู้อื่น ทฤษฎีการเข้าใจตนเองและผู้อื่น การศึกษาบุคคลด้วยวิธีการทางจิตวิทยา และลักษณะบุคลิกภาพที่พึงประสงค์

การสร้างความเข้าใจตนเอง

ตนหรือตัวตน (self) เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่วิวัฒนาการตนเองมาหลายขั้นตอน ตามแต่พันธุกรรมและสภาพแวดล้อม ตัวตนนี้ได้มีผู้ที่ทำการศึกษาและให้ความหมายไว้หลายประการ ซึ่งจะกล่าวพอได้ใจความดังนี้

  • เค ยัง (K. Young. 1940) กล่าวว่า ตนคือ จิตสำนึก (consciousness) ต่อการกระทำและต่อความคิดของตนเองและที่สัมพันธ์กับบุคคลอื่น การที่ เค ยัง เน้นเรื่องจิตสำนึกนั้นหมายความว่า ตราบใดที่บุคคลยังสำนึกรู้ตัวตนอยู่ ตราบนั้นตัวตนก็ยังจะอยู่ ตัวตนนั้นไม่ใช่มีโครงสร้างหรือองค์ประกอบเดียว จะมีหลายองค์ประกอบซึ่งจะทำหน้าที่สัมพันธ์กัน ทำให้ตัวตนดำรงอยู่ได้ ตัวตนจะมีการพัฒนาตามสภาพครอบครัว สังคม และองค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อม
  • วิลเลียม เจมส์ (James) กล่าวว่า ตัวตนคือ ผลรวมของส่วนย่อยต่าง ๆ ทุกส่วนที่ประกอบกันขึ้นในตัวบุคคล หมายถึง คุณลักษณะหรือบุคลิกภาพทางด้านรูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทาง นิสัยใจคอ สติปัญญา และความสามารถที่มีอยู่ในตัวบุคคลนั้น
  • ทางพุทธศาสนา กล่าวถึงตัวตนว่า ตัวตนก็คือการประกอบเข้าด้วยกันของกลุ่ม (ขันธ์) 5 กลุ่ม (กอง) ที่เมื่อประกอบกันเข้าแล้วกลายเป็นสิ่งมีชีวิต เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา ดังนี้
    1. กลุ่มที่เป็นรูป เป็นร่างกาย เป็นส่วนที่ทำให้เกิดพฤติกรรม เกิดคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เป็นบุคคลนั้น ได้แต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีทั้งที่เป็นอวัยวะภายนอกที่มองเห็นได้ และอวัยวะภายในที่ไม่สามารถมองเห็นได้
    2. กลุ่มความรู้สึก (เวทนา) คือกลุ่มที่ทำให้คนเราเกิดความรู้สึก เมื่ออวัยวะสัมผัสคือ ตา หู จมูก กาย และใจ กระทบกับสิ่งเร้าภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส อารมณ์ต่าง ๆ แล้ว ทำให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึก เป็นทุกข์ เป็นสุข หรือเฉย ๆ ต่อสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบนั้น
    3. กลุ่มจดจำ (สัญญา) คือกลุ่มที่เป็นสัญญา ทำให้บุคคลนั้นจำได้ หมายรู้ รับรู้ สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เช่น จำได้ว่าเป็นสีแดง เขียว ขาว สูง ต่ำ ดำ ขาว อ้วน เตี้ย ผอม สูง สิ่งนั้นคืออะไร มีรูปทรงสัณฐานเป็นอย่างไร สามารถบอกได้อย่างถูกต้องชัดเ
    4. กลุ่มปรุงแต่ง (สังขาร) เป็นกลุ่มที่คอยปรุงแต่ง หรือปรับปรุงจิตให้จิตคิดสิ่งที่พบเห็น หรือสิ่งที่รับรู้ว่าสิ่งนั้น ๆ ดีหรือไม่ดี มีลักษณะเป็นอย่างไร โดยมีเจตนาเป็นตัวนำทางที่คอยบ่งชี้ว่า สิ่งที่คิดนั้นดี (กุศล) ไม่ดี (อกุศล) คือมีเจตนาดี หรือเจตนาร้าย หรือเจตนาที่เป็นกลาง ๆ ต่อ สิ่งที่พบเห็นแล้วคิดในสิ่งนั้น ๆ
    5. กลุ่มความรู้ความเข้าใจ (วิญญาณ) คือกลุ่มที่ทำความรู้แจ้ง เข้าใจ ได้พบเห็นได้สัมผัสทาง ตา หู จมูก เป็นต้นว่า สิ่งนั้นคืออะไร มีรูปร่าง มีลักษณะอย่างไร สามารถเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ดังนั้น ส่วนนี้ก็คือส่วนที่เป็นจิต เป็นความคิดของคนเรานั่นเอง
    ในกลุ่มทั้ง 5 กลุ่มนั้น ถ้าจะย่อลงมาอีกก็จะเหลือ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็น รูป ที่เรียกว่า รูป กลุ่มที่เป็นความรู้สึก กลุ่มจดจำ กลุ่มปรุงแต่ง เรียกว่า เจตสิก และกลุ่มความรู้ ความเข้าใจ เรียกว่า จิต ถ้าจะสรุปย่อให้เหลือ 2 กลุ่มก็จะได้ดังนี้คือ กลุ่มรูป เรียกว่ารูป กลุ่มความรู้สึก กลุ่มจดจำ และกลุ่มปรุงแต่ง เรียกว่า นาม สรุปก็คือ ตัวตนประกอบด้วย 2 ส่วนคือ รูปและนาม
  • ฮิกกิ้น, มาร์กัส และวุฟ (Higgins, Markus & weef, 1987) กล่าวว่า ตัวตนคือการรู้จักแยกแยะ หรือความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง ในด้านภาพลักษณ์ จินตนาการ คุณสมบัติ รูปสมบัติ สิ่งแวดล้อมต่างๆ การคิดเกี่ยวกับสังคม วิธีการคิด กระบวนการเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร
  • เคลน โลฟตัส และเบอร์ตัน (Klein, Loftus & Button, 1989) เน้นตัวตนทางด้านแรงจูงใน การปรับปรุงตนเองให้มีประสิทธิภาพ การมีสุขภาพจิตและอารมณ์ดี
  • เดวิส ฮุม (Davis Hume) กล่าวว่า ตัวตนคือกอง หรือผลรวมของการรับรู้แบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อ ๆ กันอย่างรวดเร็ว การรับรู้ของตัวเราจะทำให้เกิดการผันแปรไปต่าง ๆ นานา ความคิด ระบบประสาท และสมรรถต่าง ๆ ก็มีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของตัวตน

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า ตัวตนนี้ประกอบด้วยกลุ่ม (ขันธ์) ที่เป็นรูปและกลุ่มที่เป็นความรู้สึก จดจำ ปรุงแต่ง และความรู้ความเข้าใจที่เป็นนาม มีสถานภาพ และมีบทบาทประกอบกันเข้า ทำให้เกิดเป็นสิ่งมีชีวิต มีความรู้สึกนึกคิด มีการจำ การรับรู้

ความสำคัญของการรู้จักตนเอง

การรู้จักตนเองมีความสำคัญต่อการกระทำ การประพฤติ และการแสดงออก ผู้ที่รู้จักตนเองทีพอจะดำรงตนอย่างพอเหมาะพอควร ก่อนที่จะทำอะไรอื่นบุคคลควรจะรู้จักตนเองก่อนและคนที่จะรู้จักตนเองได้ดีก็คือ บุคคลนั่นเอง ดังคำกล่าวที่ว่า ไม่มีใครรู้จักตัวเราเองได้ดีเท่ากับตัวเราเอง มีนักปราชญ์หลายคนที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งจะกล่าวดังนี้

โสคราติส (469-399 B.C.) เป็นบุคคลแรกที่มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของการรู้จักตนเอง โดยได้กล่าวว่า จงรู้จักตนเอง (Know yourself) และว่าชีวิตที่ไม่รู้จักตนเองเป็นชีวิตที่ไม่มีค่า (An unexamined life is not worth living) ชีวิตของบุคคลนั้นจะเป็นชีวิตที่มีคุณค่าหรือไม่นั้น อยู่ที่การที่บุคคลนั้นรู้จักหรือสำรวจตนเอง หรือตระหนักรู้ว่า ชีวิตคืออะไร กำลังทำอะไรอยู่และมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

เพลโต (427-347 B.C.) ตัวตนของแต่ละคนนั้น มีส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นความอยาก ความต้องการ ส่วนที่เป็นอารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ และส่วนที่เป็นเหตุผล สติปัญญา

มอญเตญ (1533-1592) ชาวฝรั่งเศสได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Essays ได้เน้นตัวตนในที่รูปแบบการดำเนินชีวิตว่า จะต้องมี 4 ขั้นตอนคือ

ศึกษาและทำความเข้าใจตนเองทุก ๆ ด้าน
ยอมรับตนเอง หลังจากที่ได้รู้จักตนเองในทุกส่วน ควรที่จะยอมรับตนเองทั้งในส่วนดีและส่วนไม่ดี เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตนเองต่อไป
จงยอมรับและเข้าใจผู้อื่นที่เกิดจากการศึกษาตนเอง เพราะผลที่ได้จากการที่เราเข้าใจตนเองจะช่วยให้เรายอมรับและเข้าใจผู้อื่นได้ดี
จงใช้ชีวิตให้มีความสุข โดยให้สอดคล้องกับธรรมชาติของตนเอง

ศาสตร์แห่งตนนี้เป็นศาสตร์ที่แปลกกว่าศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ยิ่งศึกษาก็จะยิ่งมองลึกเข้าไปในตนเอง โดยอาศัยปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นตัวเสริมเข้ามา ที่จะทำให้รู้จักตัวเองดียิ่งขึ้น

ปัจจัยส่งเสริมให้รู้จักตนเอง

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้รู้จักตนเองนั้นมีหลายปัจจัย แต่ที่จะกล่าวในที่นี้ได้แก่ อัตมโนทัศน์ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความสามารถแห่งสมองและบุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถทั่วๆ ไป และความสามารถพิเศษ ความสนใจและนิสัย สุขภาพและศักยภาพ

อัตมโนทัศน์ (Self - concept)

อัตมโนทัศน์แยกออกเป็น อัตตะ (ตัวตน) มโน (จิต, ความคิด) ทัศนะ (ความคิดเห็น) เมื่อรวมกันก็หมายถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวตน ซึ่งถ้าถามแต่ละคนว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวตนของเขาอย่างไร ก็จะมีคำตอบได้มากมาย มาร์กัส (Markus, 1977) ได้แยกแยะการมองเห็นตนเองเป็น 2 ลักษณะคือ

  1. การมีจินตนาการเดียวกับตนเอง (Self - Image) บุคคลจะมีความคิดเกี่ยวกับตนได้ทั้งด้านดี มองตนเองมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี หรือด้านเลว มองตัวเองต่ำต้อย ไร้ศักดิ์ศรี โดยอาศัยประสบการณ์ที่ตนได้พบเห็นก่อน จินตนาการที่บุคคลสร้างขึ้นมานั้นจะสร้างจากทางร่างกายก่อนแล้วมาเป็นทางด้านสติปัญญา จิตใจ และสังคม เป็นลำดับมา (เรียม ศรีทอง, 2542)
  2. การมองเห็นคุณค่าของตนเอง (Self - Esteem) การมองเห็นคุณค่าในตัวเองว่ามนุษยเป็นสัตว์ประเสริฐ มีสติปัญญากว่าสัตว์อื่น ๆ ตนเองก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกันก็จะสามารถเรียนรู้ได้ สามารถคิด สามารถทำ สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ สามารถติดต่อกับบุคคลอื่นได้ ทำอะไรได้เหมือนกับบุคคลอื่น ๆ ผู้ที่คิดได้ดังกล่าวจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง และจะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งในการดำรงชีวิตอยู่ และในการทำงาน

 

ลักษณะของตนที่มองเห็นคุณค่าของตนเอง

  • พูด ทำ คิด เชิงบวก
  • รู้จักตนเองและผู้อื่นเชิงบวก
  • มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น
  • มีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มขึ้น
  • มีความสัมฤทธิ์สูง

 

ควรรู้จักตนเองในด้านใดบ้าง

  • ฐานะทางเศรษฐกิจ รู้จักการใช้จ่ายเหมาะสมกับฐานะเศรษฐกิจของตน
  • ความสามารถแห่งสมองและบุคลิกภาพ การเลือกทำอะไรที่เหมาะกับความสามารถทางสมองและบุคลิกภาพของตนเอง
  • ความรู้ ต้องแสวงหาความรู้อยู่เสมอ โดยเฉพาะสาขาหรืองานที่ตนเองทำอยู่
  • ความสามารถทั่ว ๆ ไป และความสามารถพิเศษ ต้องรู้ว่าตนเองขาดความสามารถอะไร จะต้องเป็นคนรู้กว้าง รู้ไกล ทันต่อเหตุการณ์
  • ความสนใจและนิสัย สนใจในงานที่ทำอย่างสม่ำเสมอ และฝึกจนเป็นนิสัย
  • สุขภาพกายและศักยภาพทางกาย

รูปแบบของการรู้จักตนเอง

1. การรู้จักตนเองตามแนวคิดของ คาร์ล อาร์ โรเจอร์ (Carl R. Roger 1970)

คาร์ล อาร์ โรเจอร์ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับตนเองไว้ ดังนี้

ก) ตนเองตามอุดมคติ (Ideal Self) หมายถึง ตนตามจินตนาการที่ตนคิดอยากจะเป็นและอยากจะมี เช่น อยากจะเป็นคนดี คนเด่น คนดัง อยากร่ำรวย เป็นต้น

ข) ตนตามที่รับรู้ (Perceived Self) หมายถึง ตนตามที่ตนได้รับรู้ ทั้งที่ตนเองปกปิดและเปิดเผย รวมทั้งตนตามที่ผู้อื่นคาดหวัง (Other Expectation) เช่น เพื่อน ๆ คาดหวังว่าเราควรเป็นคนดี ไม่ประพฤติผิดกฎหมายและศีลธรรมจรรยา พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ตนเองมีความคิดเกี่ยวกับตนเองขึ้นมาเรียกว่า "อัตมโนทัศน์ (Self Concept)" ในส่วนของอัตมโนทัศน์นั้น ประกอบด้วยพฤติกรรมส่วนจริง พฤติกรรมส่วนเกิน และพฤติกรรมส่วนขาด คือ

พฤติกรรมส่วนจริง เป็นพฤติกรรมจริง ๆ ของตนเอง ทั้งที่มีอยู่และเป็นอยู่ เช่น ตนเองมีร่างกายจริง ๆ ที่เคลื่อนไหวได้ เป็นต้น

พฤติกรรมส่วนเกิน เป็นพฤติกรรมที่ไม่มี / ไม่เป็นอยู่จริง เช่น การคุยโม้ โอ้อวด โกหก หลอกลวง การสร้างภาพลวงตาให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และคล้อยตาม เป็นต้น

พฤติกรรมส่วนขาด เป็นพฤติกรรมที่มีจริง และเป็นจริงแต่เป็นการเสแสร้ง หรือบังคับให้เป็นเช่นนั้น เช่น การอ่อนน้อม ถ่มตน และการปฏิเสธความจริง เป็นต้น

ค) ตนตามความเป็นจริง (Real Self) หมายถึง ตนที่เป็นจริง ซึ่งมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย ทั้งที่ทราบและไม่ทราบ ซึ่งเป็นธรรมชาติของบุคคล ว่าไม่มีบุคคลใดที่สมบูรณ์แบบ ดังคำกล่าวว่า "Nobody Perfect"
ในความสัมพันธ์ทั้งสามลักษณะดังกล่าว ถ้าบุคคลใดมีทั้งสามข้อพอดีเท่า ๆ กัน จะเป็นคนดีไม่มีปัญหา ไม่มีความยุ่งยากและวุ่นวาย
ถ้าตนตามอุดมคติและตนตามที่รับรู้สอดคล้องกันดี จะส่งผลต่อความสำเร็จในการทำงาน ถ้าตนตามที่รับรู้และตนตามความเป็นจริงสอดคล้องกันดี บุคคลจะได้รับการยกย่องนับถือว่า "เป็นคนดี"

2 การรู้จักตนเองตามแนวคิดของโบลส์ และดาเวน พอร์ท (Boles and Davenport อ้างถึงในเสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์, 2522) ได้แบ่งการรู้จักตนเอง 5 แบบคือ

ความคาดหวังตนเอง (Self - Expectation) เป็นรูปแบบที่ตนเองคาดหวังตนเองในลักษณะต่าง ๆ ที่ยังมาไม่ถึง
ตัวเองตามที่มองเห็นตนเอง (Self - Perception) เรามองเห็นรับรู้ตนเองอย่างไร
ตัวตนตามเป็นจริง (Real - Self) ซึ่งดูได้จากการประพฤติปฏิบัติของตนเอง
ตัวตนที่คนอื่นคาดหวังต่อเรา (Other's Expectation) เป็นความคาดหวังที่คนอื่นคาดหวังเราว่า เราจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ตัวตนตามที่คนอื่นรู้ (Other's perception) เป็นความรับรู้ตามอาชีพของแต่ละอาชีพ เช่น อาชีพเป็นครู ทหาร ตำรวจ หมอ เป็นอาชีพที่คนอื่นยอมว่า จะต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างนั้นอย่างนี้

ความสอดคล้องตามรูปแบบ 1 , 2 และ 3 จะเป็นคนทำงานที่มีประสิทธิภาพ ความสอดคล้องตามรูปแบบที่ 3 , 4 และ 5 คนอื่นจะมองเราว่าเป็นคนดี ความสอดคล้องตามรูปแบบที่ 4 และ 5 คนอื่นจะยอมรับ