จิตวิทยา Psychology

ความหมายของจิตวิทยา

จิตวิทยา มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Psychology ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Psyche หมายถึง จิตวิญญาณ (mind, soul) กับคำว่า Logos หมายถึง ศาสตร์ วิชา วิทยาการ (science, study) (กันยา สุวรรณแสง, 2542, หน้า 11)

จิตวิทยา หมายถึง วิชาว่าด้วยจิต วิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยปรากฏการณ์พฤติกรรม และกระบวนการของจิต (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542, หน้า 312)

จิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยพฤติกรรม โดยเน้นพฤติกรรมทางจิตของบุคคลทั่วไป (ปราณี รามสูต, 2542, หน้า 2)

จิตวิทยา คือ การศึกษาพฤติกรรมกระบวนทางจิตเชิงปรนัย เป็นศาสตร์ที่มีขอบเขตกว้างขวาง เป็นองค์ความรู้ทั้งเชิงศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คลอบคลุมทุกด้านเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ทั้งทางกาย สังคม อารมณ์ จิตใจ ความคิดสติปัญญา จุดมุ่งหมายสำคัญของการศึกษาศาสตร์สายนี้คือ เพื่อที่จะเข้าใจ อธิบาย ทำนาย พัฒนาและควบคุมพฤติกรรมด้านต่าง ๆ (จิราภา เต็งไตรรัตน์ และคนอื่น ๆ, 2550, หน้า 29)

จิตวิทยาเป็นวิชาที่มุ่งศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ โดยใช้ระเบียบวิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ (เติมศักดิ์ คทวณิช, 2546, หน้า 12)

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ความรู้ที่ได้จากแนวคิดทฤษฎี และการทดลองนำมาเสนอ เพื่ออธิบายและควบคุมพฤติกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ (สุปราณี สนธิรัตน์ และคณะ, 2537, หน้า 1)

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม และกระบวนการทางจิตซึ่งหมายถึง ทั้งพฤติกรรมภายนอก พฤติกรรมภายใน โดยที่บุคคลอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ (วิไลวรรณ ศรีสงคราม และคณะ, 2549, หน้า 2)

จิตวิทยา (psychology) คือ การศึกษาเรื่องของจิตใจ พฤติกรรมและสภาพแวดล้อมของคนและสัตว์โดยวิธีการทดลอง สังเกต สำรวจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มักเน้นการศึกษาแต่ละคนหรือกลุ่มเล็ก ๆ มากกว่า แบ่งเป็นแขนงต่าง เช่น จิตวิทยาการทดลอง (experimental psychology) เน้นวิธีการศึกษากระบวนการทางจิตใจและพฤติกรรมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาการศึกษา จิตวิทยาอาชีพ จิตวิทยาคลินิก (วิทยากร เชียงกูล, 2552, หน้า 191)

จิตวิทยา คือ

(1) ศาสตร์สาขาหนึ่งที่ศึกษาพฤติกรรม การกระทำ หรือกระบวนการทางจิตใจ

(2) ศาสตร์ที่ว่าด้วยพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดของชีวิต รวมถึงระบบของร่างกายที่เกี่ยวกับพฤติกรรม การทำงานของประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พัฒนาการ ปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม กระบวนการทางปัญญาที่อยู่ในจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกสุขภาพจิตและความผิดปกติทางจิต พลวัตของพฤติกรรม การสังเกต การทดสอบ และการทดลอง การประยุกต์ความรู้ทางจิตวิทยา เช่น การจ้างงาน การจัดการศึกษา เรื่องเกี่ยวกับจิตบำบัด และพฤติกรรมของผู้บริโภค (ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 323-324)

จิตวิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิญญาณหรือจิตใจของสิ่งมีชีวิต (กระบวนการของจิต) สมอง หรือกระบวนความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งครอบคลุมถึงอารมณ์ การนึกคิด รับรู้พฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ (สงกรานต์ ก่อธรรมนิเวศน์, 2552, หน้า 300)

จิตวิทยา คือ ศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งศึกษาถึงเรื่องราวของพฤติกรรมของมนุษย์ เนื้อหาวิชาของจิตวิทยานั้นผิดแผกแตกต่างกันไปตามแต่แขนงวิชาของจิตวิทยา จิตวิทยาบางแขนงเน้นศึกษาในเรื่องหนึ่ง ส่วนจิตวิทยาแขนงหนึ่งอาจเน้นไปศึกษาอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ จิตวิทยาอาจหมายถึง วิชาการที่ศึกษาถึงกระบวนการของจิตใจ หรือศึกษาถึงกระบวนการของตัวตน หรือการกระทำก็ได้ จิตวิทยาแตกแยกออกไปเป็นหลายพวกหลายสกุล การจัดจำแนกสกุลจิตวิทยาอาจจะทำได้หลายทัศนะ แต่ละทัศนะก็มีหลักยึดในการจัดจำแนกแตกต่างกัน เช่น การจำแนกสกุลจิตวิทยาโดยถือเอาระบบและระเบียบวิธีการศึกษาเป็นเกณฑ์ การจำแนกสกุลจิตวิทยาโดยถือเอาลักษณะธรรมชาติของข้อมูลทางจิตวิทยาเป็นหลัก และการจำแนกสกุลจิตวิทยาโดยถือเอาอินทรีย์ที่มุ่งศึกษาเป็นเกณฑ์ (เดโช สวนานนท์, 2520, หน้า 203)

จิตวิทยา เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเรื่อง พฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถวัดได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ และการรวบรวมข้อมูลอย่างมีหลักเกณฑ์เป็นระเบียบ ระบบ สมัยโบราณ จิตวิทยา หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับจิตเนื่องจากเห็นว่า จิตของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมแตกต่างกันและต่างไปจากสัตว์หรือชีวิตอื่น ๆ ต่อมาภายหลังจากการพัฒนาและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความรู้ทางสรีรวิทยา แนวการศึกษาทางจิตวิทยาจึงเปลี่ยนมาที่การกระทำของบุคคล และธรรมชาติของมนุษย์ (ทรงพล ภูมิพัฒน์, 2538, หน้า 24)

สรุปความหมายของจิตวิทยา คือ วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม หรือกิริยาอาการของมนุษย์รวมถึงความพยายามที่จะศึกษาว่ามีอะไรบ้างหรือตัวแปรใดบ้าง ในสถานการณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้สามารถคาดคะเน หรือพยากรณ์ได้โดยใช้แนวทางหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์

ขอบข่ายของจิตวิทยา โดย เติมศักด์ คทวณิช

จิตวิทยาแตกแขนงออกไปเป็นหลายสาขา โดยจะเน้นศึกษาพฤติกรรมในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของแต่ละสาขา ซึ่งสามารจำแนกออกเป็นสาขาต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้ (เติมศักด์ คทวณิช, 2546, หน้า 15-16)

1. จิตวิทยาทั่วไป (general or pure psychology) เป็นจิตวิทยาที่มุ่งศึกษาถึงกฎเกณฑ์ ทฤษฎีพื้นฐานทางจิตวิทยาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมโดยทั่วไปของมนุษย์
2. จิตวิทยาทดลอง (experimental psychology) เป็นจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตในแต่ละด้าน เช่น การเรียนรู้ การจำ การลืม โดยใช้การทดลองเป็นหลักสำคัญในการศึกษาและนำผลที่ได้จากการทดลองไปสร้างเป็นทฤษฎีและกฎเกณฑ์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิชาแขนงต่าง ๆ
3. จิตวิทยาเชิงสรีรวิทยา (physiological psychology) เป็นจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์อันเป็นพื้นฐานของการเกิดพฤติกรรมโดยเน้นเกี่ยวกับโครงสร้างหน้าที่การทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมโดยเฉพาะ
4. จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology หรือ genetic psychology)เป็นจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มต้นการปฏิสนธิ การเจริญเติบโตและการพัฒนาการของมนุษย์ในระยะต่าง ๆ ตลอดจนอิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสมาชิกใหม่ตั่งแต่แรกเกิดเพื่อให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป
5. จิตวิทยาสังคม (social psychology) เป็นจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทความสัมพันธ์และพฤติกรรมของบุคคลในสังคม งานของนักจิตวิทยาสังคมส่วนใหญ่จึงเป็นการศึกษา สำรวจมติมหาชน การเกิดและการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ตลอดจนค่านิยมของแต่ละเชื้อชาติและวัฒนธรรมเพื่อสรุปเป็นกฎเกณฑ์และทฤษฎีสำหรับอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในแต่ละสังคม
6. จิตวิทยาการศึกษา (education psychology) เป็นจิตวิทยาที่นำเอากฎเกณฑ์และทฤษฎีทางจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการศึกษา เพื่อพัฒนาวิธีการเรียนการสอน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง ตรงตามปรัชญาการศึกษา
7. จิตวิทยาคลินิก (clinical psychology) เป็นจิตวิทยาที่ศึกษาถึงสาเหตุความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมของบุคคล เพื่อหาทางบำบัดรักษาบุคคลที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ พฤติกรรม และมีอาการป่วยทางจิตใจ รวมทั้งหาวิธีป้องกันแก้ไข ตลอดจนส่งเสริมให้คนมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
8. จิตวิทยาให้คำปรึกษา (counseling psychology) เป็นจิตวิทยาที่ศึกษาถึงเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้บุคคลที่กำลังประสบปัญหาได้เข้าใจและเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี
9. จิตวิทยาอุตสาหกรรม (industrial psychology) เป็นจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานของบุคคลในโรงงานอุตสาหกรรมในแง่ของประสิทธิภาพในการทำงาน วิธีการสร้างขวัญและแรงจูงใจในการทำงาน การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานตลอดจนวิธีการประเมินผล การทำงานของบุคคลในสถานประกอบการทั้งหลาย ทั้งนี้เป็นการศึกษาเพื่อค้นหากระบวนการ และวิธีการที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน
10. จิตวิทยาแปรียบเทียบ (comparative psychology) เป็นการศึกษาเรื่องความเหมือนและความแตกต่างเกี่ยวกับพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

ขอบข่ายของจิตวิทยา โดย วิทยากร เชียงกูล

วิทยากร เชียงกูล (2552) ได้แบ่งสาขาของจิตวิทยาและบอกขอบเขตของการศึกษาของแต่ละสาขาไว้อย่างละเอียดดังนี้

1. จิตวิทยาอปกติ (abormal psychology) จิตวิทยาที่เน้นศึกษาเรื่องสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องความผิดปกติของพฤติกรรม เช่น ความคิด แรงจูงใจที่ไม่เป็นไปตามปกติอาจจะเกิดจากสภาพแวดล้อม กระบวนการคิด ปัจจัยทางพันธุกรรมหรือทางประสาท การศึกษาดังกล่าวเป็นเป้าหมายเพื่อควบคุม คาดการณ์และป้องกันพฤติกรรมแบบนี้ บางครั้งใช้คำว่าจิตวิทยาคลินิก (clinical psychology) หรือ พยาธิสภาพทางจิต (phycho pathology)

2. จิตวิทยาประยุกต์ (applied psychology) การนำความรู้จากวิชาจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ซึ่งรวมทั้งจิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาแนะแนว จิตวิทยาการศึกษาจิตวิทยานิติเวช จิตวิทยาสุขภาพและจิตวิทยาอุตสาหกรรม (หรือจิตวิทยาการอาชีพ)

3. จิตชีววิทยา (bio-psychology) สาขาจิตวิทยาที่ศึกษาถึงผลกระทบของชีววิทยาต่อพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะเรื่องสมองทั้งทางกายภาพและระบบทำงานของประสาทศึกษาเรื่อง เช่น ผลกระทบของความบาดเจ็บของสมอง การทำงานของยาการนอนหลับและการฝัน การเข้าใจเรื่องความเครียด

4. จิตวิทยาเด็ก (child psychology) สาขาหนึ่งของจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม การปรับตัวเข้ากับสังคมของเด็กรวมทั้งสติปัญญา บุคลิกภาพและจริยธรรม

5. จิตวิทยาคลินิก (clinical psychology) สาขาหนึ่งของจิตวิทยา ศึกษาเกี่ยวกับการจำแนกแยกแยะ การวิเคราะห์ธรรมชาติ การรักษาและการป้องกันการใช้ความสามารถ และเรื่องความผิดปกติทางจิต

6. จิตวิทยาการชี้แนะ (coaching psychology) จิตวิทยาสาขาใหม่ที่เน้นการให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อเพิ่มภาวะอยู่ดีมีสุข (well being) และประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตและการทำงาน

7. จิตวิทยาการรู้คิด (cognitive psychology) จิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ เก็บและการนำมาใช้ข้อมูลข่าวสารของคนเรา เช่น รูปแบบของกระบวนการรับรู้ ความจำ การตีความ การคิด การให้เหตุผล การแก้ปัญหา การติดสินใจ การใช้ภาษา การประมวลผลข้อมูลเพื่อที่จะค้นหา และเข้าใจว่ากระบวนการรู้คิดทำงานอย่างไรและมีผลต่อพฤติกรรมของคนเราอย่างไร

8. จิตวิทยาชุมชน (community psychology) ศึกษาลักษณะทางจิตใจและพฤติกรรมบุคคลในชุมชน สำรวจและทดลองใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยป้องกันและจัดการกับปัญหาด้านสุขภาพจิตของชุมชน

9. จิตวิทยาเปรียบเทียบ (comparative psychology) จิตวิทยาสาขาหนึ่งที่ศึกษาในเชิงเปรียบเทียบระหว่างจิตวิทยาของสัตว์ชนิดต่างๆ และมนุษย์เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างและความคล้ายคลึงกันของลักษณะทางสติปัญญา และพฤติกรรมระหว่างสัตว์อื่นกับมนุษย์ เนื่องจากในแง่ของวิวัฒนาการแล้ว มนุษย์ก็คือสัตว์ชนิดหนึ่งแม้ว่าจะมีลักษณะพิเศษมากก็ตาม การศึกษาจิตวิทยาของสัตว์นอกจากเพื่อเข้าใจว่าสัตว์มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรแล้ว การศึกษาเชิงเปรียบเทียบการมีส่วนให้เราเข้าใจจิตวิทยาของมนุษย์มากขึ้น

10. จิตวิทยาให้คำปรึกษา (counseling psychology) การให้คำแนะนำช่วยเหลือนักเรียนหรือผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจและความสัมพันธ์กับคนอื่นได้เข้าใจปัญหาของเขา อย่างชัดเจนและสามารถคิดหาหนทางแก้ปัญหาทางด้านจิตใจ และความสัมพันธ์กับคนอื่นเพื่อนำไปสู่ชีวิตที่มีความสำเร็จและความสุข

11. จิตวิทยาอาชญากร (criminal psychology) วิชาจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับความตั้งใจ ความคิด ความตั้งใจและปฏิกิริยาของอาชญากร

12. สำนักจิตวิทยาวิพากษ์ (critical psychology) นักจิตวิทยาหัวก้าวหน้าในเยอรมันในทศวรรษ 1970 ที่วิจารณ์วิชาจิตวิทยากระแสหลักว่าศึกษาและหาทางพัฒนาเรื่องจิตใจมนุษย์แบบปัจเจกชนด้านเดียว หลีกเลี่ยงการมองว่าสภาพแวดล้อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองมีอิทธิพลต่อความคิดจิตใจของปัจเจกชนในสังคมต่าง ๆ ในยุคต่าง ๆ พวกเขาเห็นว่าจะต้องศึกษาปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรมที่มีผลกระทบต่อความคิดจิตใจของคนอย่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม และมองไปถึงการเปลี่ยนแลงที่ระบบสังคมด้วย ไม่ใช่มุ่งเปลี่ยนแปลงที่ความคิดจิตใจของปัจเจกชนด้านเดียว

13. จิตวิทยาสังคมแนววิพากษ์ (critical social psychology) จิตวิทยาสังคมแนวที่มองว่าความเป็นจริงและความเข้าใจเรื่องโลกเกิดขึ้นโดย การตีความหมายและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมมนุษย์ที่ใช้ชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันรวมหมู่ที่ต่างจาก Experimental Social Psychology ที่ใช้วิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ มองว่าโลกมีความเป็นจริงที่อยู่แยกจากความคิดจิตใจ ประสบการณ์ของมนุษย์

14. จิตวิทยากลุ่มชน (crowd psychology) การศึกษาลักษณะพฤติกรรมและจิตใจของกลุ่มชน

15. จิตวิทยาเชิงลึก (depth psychology) จิตวิทยาที่ว่าด้วยบทบาทของจิตไร้สำนึกที่มีต่อพฤติกรรมของมนุษย์

16. จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology) การศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางความคิดจิตใจ พฤติกรรมตามช่วงวัยต่าง ๆ ของมนุษย์พร้อมกับการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านั้นในช่วงแรก ๆ วิชานี้เน้นศึกษาจิตวิทยาเด็ก แต่ช่วงหลังเริ่มสนใจพัฒนาของมนุษย์ในทุกช่วงวัย

17. จิตวิทยาความแตกต่าง (differential psychology) วิชาจิตวิทยาสาขาหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างทางพฤติกรรมของปัจเจกชน กลุ่ม หรือเผ่าพันธุ์

18. จิตวิทยาพลวัต (dynamic psychology) จิตวิทยาที่ศึกษาการกระตุ้นจากภายในและแรงขับ และสาเหตุของพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์โดยเฉพาะเรื่องแรงขับ อารมณ์ความต้องการ ความมุ่งหมาย ความปรารถนาที่จูงใจ พฤติกรรม

19. จิตวิทยาการศึกษา (education psychology) แขนงหนึ่งของวิชาจิตวิทยาประยุกต์ การนำเอาวิชาจิตวิทยาไปใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษาและการศึกษาปัญหาทางด้านการศึกษาในแง่ของจิตวิทยาเน้นเรื่องกระบวนการเรียนรู้ การสอนหรือการจัดการศึกษาอบรม ซึ่งรวมทั้งจิตวิทยาเกี่ยวกับเด็ก จิตวิทยาบุคลิกภาพ จิตวิทยาพัฒนาการจิตวิทยาของการรู้และการคิด จิตวิทยาความแตกต่างระหว่างบุคคล จิตวิทยาการวัดและประเมินผล จิตวิทยาสังคม

20. จิตวิทยาวิศวกรรมศาสตร์ (engineering psychology) การศึกษาเรื่องการออกแบบอุปกรณ์ เครื่องมือ สภาพแวดล้อม วิธีการทำงานและการดำเนินชีวิตให้เข้ากับลักษณะนิสัย พฤติกรรม ความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์เพื่อช่วยให้มนุษย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความพึ่งพอใจเพิ่มขึ้น (ความหมายทำนองเดียวกับ Ergonomics)

21. จิตวิทยาสภาพแวดล้อม (environmental psychology) จิตวิทยาสาขาหนึ่งที่เน้นผลของอิทธิพลภายนอกที่มีต่อพฤติกรรมมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

22. จิตวิทยาการดำรงอยู่ (existential psychology) จิตวิทยาแนวหนึ่งที่ถือว่าวิชาจิตวิทยา คือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้สำนึกและสาระของจิต วิธีการพื้นฐานของจิตวิทยากลุ่มนี้คือการใช้การสังเกตและการวิเคราะห์พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

23. จิตวิทยาการทดลอง (experimental psychology) จิตวิทยาที่ศึกษากระบวนการทางด้านความคิดจิตใจโดยใช้วิธีการทดลอง การปฏิบัติและการตรวจสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

24. จิตวิทยาสมรรถพล (faculty psychology) จิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องปรากฏการณ์พลังทางสมอง และพลังจิตใจที่เกี่ยวโยงกับความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความจำจิตนาการ ความตั้งใจและอื่น ๆ

25. จิตวิทยาสตรี (feminist psychology) จิตวิทยาที่สนใจการให้คุณค่าและตรวจสอบประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงที่มีลักษณะถูกกีดกัน ถูกเอาเปรียบ มีอคติจากระบบสังคมชนชั้นที่มีวิวัฒนาการมาแบบส่งเสริมให้ผู้ชายเป็นใหญ่กว่าผู้หญิง

26. จิตวิทยาชาวบ้าน (folk psychology) การศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อขนบธรรมเนียม ประเพณีและจารีตประเพณีของชนในเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ

27. จิตวิทยานิติเวช (forensic psychology) สาขาหนึ่งของจิตวิทยาประยุกต์ ใช้หลักการทางจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมโดยเฉพาะทางด้านการช่วยหาข้อมูล การสอบสวนในคดีต่าง ๆ

28. จิตวิทยาทั่วไป (general psychology) สาขาหนึ่งของจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ทฤษฎี และหลักการทั่วไปทางจิตวิทยา

29. จิตวิทยาทางพันธุกรรม (genetic psychology) จิตวิทยาที่ว่าด้วยการศึกษาปรากฏการณ์ทางจิต และพฤติกรรมโดยวิธีการศึกษาถึงการเกิด และพัฒนาการของปรากฏการณ์ทางจิต

30. จิตวิทยาเกสตัลท์ (Gestalt psychology) แนวคิดทฤษฎีจิตวิทยาของกลุ่มนักจิตวิทยาชาวเยอรมันในต้นศตวรรษที่ 20 เสนอว่า เราต้องพิจารณาว่าปรากฏการณ์ทางจิตมาจากประสบการณ์ในรูปบขององค์รวมทั้งหมด (the whole) ไม่ใช่เป็นส่วนประกอบย่อย ๆ (part) อย่างแนวคิดของพวกพฤติกรรมศาสตร์นิยม (behaviorism) ที่มักมองว่าปัจจัยอย่างหนึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอีกอย่างหนึ่ง การทดลองของจิตวิทยาแบบ Gestalt แสดงให้เห็นว่าสมองของคนเราไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับข้อมูลเงียบ ๆ แต่เป็นผู้วางโครงสร้างข้อมูลทั้งหมดเพื่อจะตีความหมายออกมา (Gestalt เป็นภาษาเยอรมัน หมายถึง รูปแบบบางอย่าง โครงสร้าง หรือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นภาพรวมทั้งหมด)

31. จิตวิทยากลุ่มชน (group psychology) จิตวิทยาสังคมที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการก่อตัว และการผนึกกำลังของกลุ่มชน การแข่งขันและความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม อิทธิพลของกลุ่มต่อปัจเจกชนและในทางกลับกัน การสื่อสารภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม และมิติต่าง ๆ ของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

32. จิตวิทยาสุขภาพ (health psychology) สาขาหนึ่งของจิตวิทยาที่ใช้หลักการของวิชาจิตวิทยา โดยเฉพาะเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล พยาธิสภาพทางจิต และจิตบำบัดไปส่งเสริมทัศนคติ พฤติกรรมการรู้จักป้องกันดูแลสุขภาพของบุคคล และสารธารณชน

33. จิตวิทยามนุษยนิยม (humanistic psychology) สำนักจิตวิทยาที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์ที่มีจิตสำนึกของมนุษย์ เช่น อารมณ์ ลักษณะเฉพาะ ศักยภาพของบุคคล ระบบคุณค่าของแต่ละบุคคล สนใจเรื่องเจตจำนงเสรีและความสำคัญของศักยภาพของมนุษย์ เน้นการมองธรรมชาติมนุษย์ ในแง่บวกและเชื่อว่าจิตใจมนุษย์พยายามปรับสู่ความสมดุลด้วยตัวเอง เน้นการวิจัยด้านคุณภาพแบบองค์รวม ค้านกับสำนักจิตวิทยาแบบดั้งเดิมที่เน้นเรื่องการวิจัยเชิงเชิงปริมาณอย่างเป็นภววิสัย เช่น Behaviorism และ Psychoanalysis

34. จิตวิทยารายบุคคล (individual psychology) จิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จูงใจคน คนแต่ละคนแตกต่างจากคนอื่นด้านบุคลิกนิสัย ความฉลาด การคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ อย่างไร

35. จิตวิทยาอุตสาหกรรม จิตวิทยาองค์กร จิตวิทยาการอาชีพ (industrial psychology, organization psychology, occupational psychology) การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความถนัด ความเหมาะสมของคนในการเลือกงาน พฤติกรรมมนุษย์ในการทำงาน โดยเน้นเรื่องเกี่ยวกับการพนักงาน การคัดคน การฝึกคน การปรึกษาหารือ สภาพแวดล้อมการทำงาน ความสัมพันธ์แรงงาน ความพอใจในงาน แรงจูงใจ การออกแบบเครื่องมือเครื่องใช้ และการศึกษาเกี่ยวกับตลาดแรงงาน เพื่อใช้หลักการของวิชาจิตวิทยาให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาด้านอาชีพการงานและการทำงานในองค์กร

36. จิตวิทยาทารก (infant psychology) จิตวิทายช่วงแรกของเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 5 ขวบ

37. จิตวิยาการพินิจภายในจิตใจ (introspective psychology) แนวทางจิตวิทยาที่ยึดการสังเกตภายในจิตใจตนเองเป็นหลัก

38. จิตวิทยาการจัดการ (managerial psychology) การศึกษาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับบทบาทของผู้จัดการในองค์กร ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ควบคุมงานกับผู้อยู่ใต้การควบคุม เป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรม (industrial psychology)

39. จิตวิทยามวลชน (mass psychology) สาขาหนึ่งของจิตวิทยา ศึกษาเรื่องความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรมและปฏิกิริยาของกลุ่มคนจำนวนมากที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคม

40. จิตวิทยาเวชศาสตร์ (medical psychology) สาขาจิตวิทยาที่ศึกษาปัญหาทางจิตของผู้ป่วยโดยใช้ความรู้ทางการแพทย์ เช่น ภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยต่อเนื่อง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยซึมเศร้าที่เกิดจากการตายจากของผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยที่เบื่อหน่าย ไม่มีความหวังหรือไม่มีศรัทธาในการรักษาของแพทย์

41. จิตวิทยาการทหาร (military psychology) การนำความรู้ทางจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในการคัดเลือกบุคลากร การออกแบบเครื่องมือ การใช้การโฆษณาชวนเชื่อการประยุกต์ใช้เทคนิคทางจิตวิทยาคลินิกเพื่อรักษาขวัญกำลังใจ และสุขภาพจิตของบุคลากรทางการทหาร

42. จิตวิทยาระบบประสาท (neuro psychology) การศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาทว่าส่วนไหนทำหน้าที่อย่างไร เช่น ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อความรู้สึก การดมกลิ่น ความจำ และเชื่อมโยงกันอย่างไร Clinical Neuro-Psychology ศึกษาว่าหากสมองได้รับบาดเจ็บหรือเป็นโรคจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ความจำภาษาและพฤติกรรมของคน ๆ นั้นอย่างไร และจะช่วยเหลือบำบัดพวกเขาได้อย่างไร

43. จิตวิทยาแสดงออกในเชิงพฤติกรรม (objective psychology) วิชาจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการแสดงออกและผลการทำงานจิตใจโดยทั่วไป

44. จิตวิทยาการอาชีพ (occupational psychology) การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในที่ทำงาน เช่น องค์กรดำเนินไปอย่างไร ปัจเจกชนและกลุ่มเล็กมีพฤติกรรมอย่างไร และคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงไรเพื่อที่จะหาทางเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลขององค์กร และเพิ่มความพอใจในการทำงานของคน (industrialorganization psychology)

45. จิตวิทยาอินทรีย์ (organismic psychology) แนวคิดการศึกษาทางจิตวิทยาที่เน้นองค์รวมของอินทรีย์ (สิ่งมีชีวิต) ปฏิเสธการแยกความแตกต่างระหว่างจิตกับกาย

46. จิตวิทยาองค์กร (organization psychology) จิตวิทยาว่าด้วยการประยุกต์ทฤษฎีและวิธีการทางจิตวิทยาในการแก้ปัญหาภายในองค์กร ศึกษาพฤติกรรมของคนในองค์กร ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักร การทดสอบและการคัดสรรบุคลากรการจ่ายค่าตอบแทน ประสิทธิผลขององค์กร การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารความเปลี่ยนแปลง เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานและเพิ่มพลูผลิตภาพขององค์กร (industrial psychology, occupational psychology)

47. จิตวิทยาบุคคล (personalistic psychology) การศึกษาที่ถือเอาโลกของบุคคล (ความคิดเห็น ทัศนะ ฯลฯ) เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาถึงประสบการณ์และพฤติกรรมของเขา

48. จิตสรีรวิทยา (physiological psychology) สาขาจิตวิทยาที่นำหลักการของสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น สรีรวิทยา เภสัชศาสตร์ ชีววิทยา กายวิภาค ประสาทวิทยามาบูรณาการ ศึกษาเรื่องระบบประสาทและฮอร์โมนที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น เรื่องผลกระทบจากการที่สมองบางส่วนถูกทำลาย ยาทำงานอย่างไร การนอนหลับและการฝัน การเข้าใจเรื่องความเครียด

49. การแก้ปัญหาทางจิตวิทยาโดยใช้สื่อวิทยุกระจายเสียง (pop psychology) การอธิบายและให้คำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาทางจิตวิทยาของคนผ่านทางรายการวิทยุ สิ่งตีพิมพ์หรือเว็บไซต์ที่เป็นคำแนะนำแบบง่าย ๆ เป็นการทั่วไปไม่ใช่วิชาการที่ลึกซึ้งและอาจจะไม่ได้เหมาะสมในทุกกรณี

50. จิตวิทยาแนวบวก (positive psychology) จิตวิทยาที่เปลี่ยนทิศทางของวิชาจิตวิทยาก่อนหน้า ที่เน้นการตามแก้ปัญหาความป่วยไข้ทางจิต หันมาเน้นการศึกษาถึงปัจจัยและกระบวนการที่นำไปสู่แนวคิด และอารมณ์ในทางบวก มองโลกในแง่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่พฤติกรรมที่ดีและการดำเนินชีวิตได้อย่างสร้างสรรค์มีประสิทธิภาพสูงสุดของเอกชนและกลุ่ม รู้ว่าจะรับมือกับความทุกข์และสร้างความสุขได้อย่างไร สำนักจิตวิทยาทางบวกเห็นว่าทั้งความคิดและอารมณ์ต่างมีอิทธิพลต่อกัน และเน้นความสามารถของมนุษย์ในการเป็นฝ่ายเลือกด้วยตัวเขาเอง ถ้าเขาเรียนรู้ที่จะคิดในทางบวกได้

51. จิตวิทยาความสัมพันธ์ (relation psychology) สำนักจิตวิทยาของกลุ่มนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ผู้หญิงในเมืองบอสตัน สหรัฐฯ ที่เน้นเรื่องมิติของความสัมพันธ์ของมนุษย์ในครอบครัว และสังคมแบบองค์รวม (โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิง)มากกว่าการเน้นเรื่องปัจเจกชนแบบแยกส่วนตามแนวจิตวิทยากระแสหลัก ที่ครอบงำด้วยกรอบความคิดแบบผู้ชายเป็นใหญ่ และระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาดที่เป็นการแข่งขันเอาชนะแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

52. จิตวิทยาแห่งตน (self-psychology) ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เน้นในด้านการพัฒนาการเป็นของตนเอง การเห็นคุณค่าแห่งตน (self-esteem) และความสามารถที่จะควบคุมความรู้สึกมีคุณค่าของตนเอง สามารถจำแนกแยกแยะตนเองจากผู้อื่น

53. จิตวิทยาสังคม (social psychology) สาขาของจิตวิทยาซึ่งศึกษาเรื่องบุคลิกภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และพฤติกรรมของกลุ่มคนในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในสังคม

54. จิตวิทยาการกีฬา (sport psychology) จิตวิทยาที่เน้นให้ความสำคัญกับเรื่องแรงจูงใจ แนวคิดเกี่ยวกับตนเอง และพลวัตของกลุ่มไปประยุกต์ใช้และส่งเสริมให้นักกีฬาทำผลงานให้ดีที่สุด และสุขภาพกายและจิตที่ดี เพราะเรื่องความเข้มแข็งทางจิตใจมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความเข้มแข็งและทักษะทางร่างกาย

ขอบข่ายของจิตวิทยา โดย ทรงพล ภูมิพัฒน์

ทรงพล ภูมิพัฒน์ (2538, หน้า 19-20) ได้กล่าวถึงสาขาของจิตวิทยาว่าจิตวิทยาสามารถแบ่งเป็นสาขาย่อยได้ดังนี้

1. จิตวิทยาทั่วไป (general psychology) ว่าด้วยหลักการทั่วไปทางจิตวิทยา
2. จิตวิทยาสังคม (social psychology) เป็นสาขาที่เน้นการศึกษาเกี่ยวกับบุคคลในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและพฤติกรรมกลุ่ม อิทธิพลของบุคคลและกลุ่ม เป็นต้น
3. จิตวิทยาพัฒนาการ (development psychology) ศึกษาการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิกระทั่งถึงวัยต่าง ๆ โดยเน้นเกี่ยวกับเรื่องความคิด สติปัญญาอารมณ์และภาษา
4. จิตวิทยาองค์กร (organization psychology) ศึกษาลักษณะการรวมตัวกันแบบต่าง ๆ ของบุคคลสำคัญ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่ม และวิธีช่วยลดความขัดแย้งและวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการอยู่ร่วมกันเป็นแบบกลุ่มในแต่ละแบบ
5. จิตวิทยาอุตสาหกรรม (industrial psychology) ศึกษาถึงกระบวนการผลิตที่จะทำให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานในวงการธุรกิจและโรงงาน ศึกษาถึงผลของสิ่งแวดล้อมประเภทต่าง ๆ ที่มีต่อการทำงาน
6. จิตวิทยาการศึกษา (educational psychology) ศึกษาถึงพัฒนาการของการเรียนการสอนตลอดทั้งวิธีส่งเสริมประสิทธิภาพในการเรียนรู้
7. จิตวิทยาผิดปกติ (abnormal psychology) ศึกษาลักษณะและสาเหตุตลอดจนการป้องกันความผิดปกติต่าง ๆ ทางจิตใจ ทางกายและความประพฤติของมนุษย์
8. จิตวิทยาการทดลอง (experimental psychology) ศึกษาขบวนการพื้นฐานเกี่ยวกับคนและสัตว์โดยวิธีทดลอง
9. จิตวิทยาความแตกต่างระหว่างบุคคล (individual different psychology) ศึกษาความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยพิจารณาจากตัวแปรต่าง ๆ หรือพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ
10. จิตวิทยาประจำวัน (today psychology) ศึกษาการนำหลักทางจิตวิทยามาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน และประกอบอาชีพต่าง ๆ

ขอบข่ายของจิตวิทยา โดย Wortman และ APA

Wortman, Loftus, and Marshall (1992, pp. 17-23) ได้กล่าวถึงจิตวิทยาในปัจุบัน ว่าประกอบด้วยสาขาต่าง ๆ ได้แก่

1. จิตวิทยาการทดลอง (experimental psychology)
2. จิตวิทยาระบบประสาท (neuro psychology)
3. จิตวิทยาบุคลิกภาพ (personality psychology)
4. จิตวิทยาสังคม (social psychology)
5. จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology
6. จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร (industrial and organizational psychology)
7. จิตวิทยาการศึกษาและโรงเรียน (education and school psychology)
8. จิตวิทยาคลีนิคและการให้คำปรึกษา (clinical and counseling psychology)
9. จิตวิทยาสุขภาพ (health psychology)

American Psychological Association (APA) (2009) ได้แบ่งสาขาของจิตวิทยาออกเป็น 20 สาขา ดังต่อไปนี้

1. จิตชีววิทยา (bio psychology)
2. จิตวิทยาเด็ก (child psychology)
3. จิตวิทยาคลินิกเด็ก (child clinical psychology)
4. จิตวิทยาคลินิก (clinical psychology)
5. จิตวิทยาการคิด (cognitive psychology)
6. จิตวิทยาชุมชน (community psychology)
7. จิตวิทยาให้คำปรึกษา (counseling psychology)
8. จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology)
9. จิตวิทยาการศึกษา (educational psychology)
10. จิตวิทยาวิศวกรรม (engineering psychology)
11. จิตวิทยาทดลอง (experimental psychology)
12. จิตวิทยาสุขภาพ (health psychology)
13. จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร (industrial/organization psychology)
14. จิตวิทยาบุคคล (personnel psychology)
15. ภาษาศาสตร์จิตวิทยา (psycholingy)
16. จิตวิทยาเชิงปริมาณ (psychometric (quantitative) psychology)
17. จิตวิทยาบำบัด (psychotherapy)
18. จิตวิทยาโรงเรียน (school psychology)
19. จิตวิทยาสังคม (social psychology)
20. นักสังคมสงเคราะห์ (social workers)

ความสำคัญของจิตวิทยา

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ ดังนั้นผู้ศึกษาวิชาจิตวิทยาจึงสามารถนำเอาความรู้ไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวและ สถานที่ทำงาน ตลอดจนมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะหลักการทางจิตวิทยาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับงานต่าง ๆ มากมาย ความสำคัญและคุณค่าของวิชาจิตวิทยา เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (ปราณี รามสูต, 2542, หน้า 4-5)

1. จิตวิทยาช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจตนเอง โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น มักให้ความสนใจตนเองมากกว่าผู้อื่นและอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับตนเอง การศึกษาจิตวิทยาซึ่งให้คำตอบเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ จึงช่วยให้ผู้ศึกษานำไปเปรียบเทียบกับตนเองและเกิดความเข้าใจตนเองไปด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้มนุษย์รู้จักยอมรับตนเองและได้แนวทางในการจัดการกับตนเองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นอาจเป็นการปรับตัว พัฒนาตน หรือเลือกเส้นทางชีวิตที่เหมาะสมกับต้นเอง เป็นต้น

2. จิตวิทยาช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจผู้อื่น ศาสตร์ทางจิตวิทยาซึ่งเป็นข้อสรุปธรรมชาติพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ นอกจากช่วยให้ผู้ศึกษาเกิด ความเข้าใจ พฤติกรรมของบุคคลทั่วไปแล้ว ยังเป็นแนวทางให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้ที่อยู่แวดล้อมด้วยอันอาจจะเป็นบุคคลในครอบครัว กลุ่มเพื่อน กลุ่มบุคคลภายนอก ความเข้าใจดังกล่าวส่งผลให้เกิดการยอมรับในข้อดีข้อจำกัดของกันและกัน ช่วยให้มีการปรับตัวเข้าหากัน และยังช่วยการจัดวางตัวบุคคล ให้เหมาะสมกับงานหรือการเรียน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น

3. จิตวิทยาช่วยให้ได้แนวทางในการวางกฎเกณฑ์ทางสังคม เช่น กฎหมายบ้านเมือง ระเบียบปฏิบัติบางประการ มักเกิดขึ้นหรือถูกยกร่างขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติพฤติกรรมของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น จิตวิทยาที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความต้องการการยอมรับ ความต้องการสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของคน ส่งผลให้เกิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือการจัดให้มีวันเด็กแห่งชาติ ปีสากลสำหรับผู้สูงอายุ หรือเกิดองค์กรบางลักษณะที่ทำงานในด้านการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับบุคคลบางกลุ่ม หรือสำหรับผู้ด้อยโอกาสบางประเภท หรือแม้แต่การจัดให้มีการแข่งขันกีฬานานาชาติสำหรับคนพิการ ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของการนำความรู้เรื่องจิตวิทยาสำหรับผู้มีลักษณะพิเศษมาเป็นแนวทางปฏิบัติบางประการทางสังคม นอกจากนั้น จิตวิทยายังมีผลต่อ กฎหมายว่าด้วยการพิจารณาความผิดทางกฎหมายบางลักษณะโดยมีการนำสามัญสำนึกมาร่วมพิจารณาความผิดของบุคคล เช่น กฎกมายว่าด้วยการกระทำ ความผิดของผู้เยาว์ หรือผู้ที่มีสุขภาพจิตบกพร่องที่กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโดยเพราะความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งจิตวิทยาจะช่วยให้ผู้ศึกษา เกิดความเข้าใจความผิดปกติต่าง ๆ เหล่านั้นได้มากกว่าศาตร์สาขาอื่น ช่วยให้การพิจารณาบุคคลหรือการวางเกณฑ์ทางสังคม เป็นไปอย่าง สมเหตุสมผลมากขึ้น

4. จิตวิทยาช่วยบรรเทาปัญหาพฤติกรรม และปัญหาสังคม ความรู้ทางจิตวิทยาในบางแง่มุมช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจในอิทธิพลของสิ่งเร้า และสิ่งแวดล้อมทีมีผลต่อการหล่อหลอมบุคลิกภาพบางลักษณะ เช่น ลักษณะความเป็นผู้หญิง ลักษณะความเป็นผู้ชาย ลักษณะผิดเพศบางประการ รวมไปถึงอิทธิพลของสื่อมวลชนบางประเภท รายการโทรทัศน์บางลักษณะที่ส่งผลให้เด็กเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวอยากทำลาย หรือเกิดความเชื่อที่ผิด หรือเกิดการลอกเรียนแบบอันไม่เหมาะสม ซึ่งมีผลกระทบต่อการกระทำในเชิงลบฯลฯ เป็นต้น จากความเข้าใจดังกล่าวนี้นำไปสู่การคัดเลือกสรร สิ่งที่นำเสนอเนื้อหาทางสื่อมวลชนให้เป็นไปทางสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมของเด็กและผู้ใหญ่ในสังคมอย่างเหมาะสม นอกจากนั้น จากคำอธิบายของจิตวิทยาในเรื่องของเจตคติของบิดามารดาบางประการที่ส่งผลให้เด็กมีลักษณะลักเพศ ก็อาจจะเป็นแนวคิดแก่บิดามารดา ในการปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูเพื่อให้เด็กเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมต่อไป อันนับเป็นการบรรเทาปัญหาพฤติกรรมและปัญหาสังคมไปได้บ้าง

5. จิตวิทยาช่วยส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้ทางจิตวิทยาที่ว่าด้วยการเลี้ยงดูในวัยเด็กอันมีผลต่อบุคคล เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ส่งผลให้เกิด ความพยายาม ในการสร้างรูปแบบการเลี้ยงดูที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างพัฒนาคนทั้งกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เพื่อให้ได้คนดีมีประสิทธิภาพ หรือคนที่มีคุณลักษณะอันพึงปรารถนาของสังคมนั้น ๆ และจิตวิทยายังช่วยให้ผู้ศึกษารับรู้โดยเร็ว เกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัยในพฤติกรรมผิดปกติต่าง ๆ อันนำไปสู่การแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาพฤติกรรม รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางลักษณะที่ไม่เหมาะสมของบุคคล จึงกล่าวได้ว่า จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อีกศาสตร์หนึ่ง

ประวัติและความเป็นมาของจิตวิทยา

ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ พึ่งปรากฏลักษณะเฉพาะของตนเองอย่างเด่นชัดในปลายศตวรรษที่ 13 แต่รากฐานของจิตวิทยานั้น มีมานานตั้งแต่แรกเริ่ม ของการจดบันทึกประวัติศาสตร์โดยนักปราชญ์ชาวกรีกโดยเฉพาะเพลโต (Plato) และอริสโตเติล (Aristotle) เพลโตเชื่อมั่นว่าการคิดและการใช้เหตุผลเท่านั้น ที่ทำให้คนเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เขาสามารถจะเข้าใจได้ เพลโตจึงไม่สนใจวิธีการสังเกต หรือการทดลองใด ๆ แต่อริสโตเติลแตกต่างจากเพลโตตรงที่เขาเป็นนักสังเกต เขาสนใจสิ่งภายนอกที่มองเห็นได้และมีความเชื่อว่า การเข้าใจปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง กับคนต้องเริ่มด้วยการสังเกตอย่างมีระบบและด้วยเหตุนี้นักจิตวิทยาบางคนจึงได้ยกย่องอริสโตเติลว่าเป็นนักจิตวิทยาคนแรกของโลก

เมื่อวัฒนธรรมของกรีกสลายลง การแสดงความคิดเห็นด้วยปัญญาก็เลิกล้มไป ศาสนาเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง นักสอนศาสนา เซ็นต์ โทมัส อาควิแนส (St Tomas Aquinas) ได้นำเอางานของอริสโตเติลมาศึกษา ตีความหมายและเข้ารวมกับคำสอนอันฉลาดของเขาในการเทศน์ที่โบสถ์ในศตวรรษที่ 13 สำหรับเรื่องจิต (mind) นั้น อริสโตเติล ศึกษาในรูปของพฤติกรรม แต่อาควิแนส พิจารณาว่าเป็นส่วนที่แยกออกจากร่างกาย ซึ่งความเชื่อในการแยกจิตออกจากกายนั้นเป็นที่สนใจของนักจิตวิทยาสมัยต่อมา

การฟื้นฟูการสืบสวนโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ศตวรรษที่ 15 รูปแบบของการศึกษาเริ่มเปลี่ยน มีการละทิ้งความเชื่อเดิมบางอย่าง มีการค้นหาความรู้ใหม่ ๆ วิธีการสืบสวน แบบวิทยาศาสตร์เริ่มมีขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีเหตุการณ์ใหม่ที่สำคัญมากเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่ก็จัดว่าเป็นพื้นฐานของการพัฒนาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ในสมัยต่อมาต้นศตวรรษที่ 17 ฟรานซีส เบคอน (Francis Bacon) ชักชวนให้คนเห็นความสำคัญระหว่างทฤษฎีและการวิจัย เขากล่าวว่า ทฤษฎีให้แนวทางการวิจัยให้คำตอบ ในช่วงเวลาเดียวกัน เดอคาร์ท (Rene Descartes) ผู้นิยมแนวคิดของ เพลโตและอาทวิแนส มีความเชื่อว่า ความคิดเห็น (ideas) เกิดขั้นมาเอง และพระเจ้าจัดวางไว้ในจิต เดอคาร์ทไม่เห็นด้วยกับเบคอน เขาเชื่อว่าคนเราสามารถค้นหาความจริงได้จากเหตุผลเท่านั้นไม่ใช่อาศัยจากการสังเกต และเขายังเชื่อว่าจิตกับกายแยกจากกัน จิตเป็นตัวคิดเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนร่างกายเป็นเครื่องจักรที่มีตัวตนซึ่งทำงานตามที่จิตต้องการ

ระหว่างศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางศตวรรษที่ 19 มีกลุ่มสำคัญ 2 กลุ่มที่มีผลต่อจิตวิทยา คือ กลุ่มประจักษ์นิยมชาวอังกฤษ (British empiricism) กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับเดอซาร์ท พวกเขาเชื่อว่าความรู้ผ่านเข้ามาทางสื่อกลางและความรู้สึก เปรียบจิตว่าเป็นแทปบูล่า ราซ่า (tabulu rasa) หรือแผ่นหินว่างเปล่าอันเป็นที่จารึกประสบการณ์ ดังนั้นเราจึงรู้ว่าเรามีประสบการณ์อะไรบ้าง นอกจากนั้นจิตยังเป็นที่รวมของความคิดเห็น โดยมีแนวคิดว่าความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับความคิดเห็นเป็นหลักการขั้นพื้นฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนเรามีการเรียนรู้และมีการคิดอย่างไร นักจิตวิทยากลุ่มนี้จึงมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดจิตวิทยากลุ่มสัมพันธ์นิยม (associationistic psychology) ในระยะต่อมา
อีกกลุ่มหนึ่งสนใจทางชีวภาพ เช่น ความแตกต่างระหว่างประสาทส่วนรับความรู้สึกกับประสาทส่วนการเคลื่อนไหว และลักษณะทางกายที่แสดงปฏิกิริยาสะท้อน (reflex) และได้พยายามอธิบายการกระทำของมนุษย์ด้วยหลักการทางฟิสิกส์ศึกษาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่น่าใจมากมาย เช่น ศึกษาอัตราความเร็วของการกระตุ้นประสาทที่มีต่อกระบวนการมองเห็น ได้ยิน และการรับรู้ มีผู้ก่อตั้งวิธีการที่ภายหลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิทยาทดลอง คือ วิธีการของจิตฟิสิกส์ (psychophysics) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้วัดความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางกายภาพของสิ่งเร้ากับประสบการณ์รู้สึกผู้ที่ถูกเร้ารายงานออกมา

การขยายตัวทางจิตวิทยา

สุปราณี สนธิรัตน์ และคณะ (2537, หน้า 14-17) ได้กล่าวถึงการขยายตัวของจิตวิทยาไว้อย่างละเอียด ดังนี้

ห้องปฏิบัติการทางจิตวิทยาห้องแรกสร้างขั้นโดย วิลเฮล็ม วุ๊นดท์ (Wilhelm Wundt) ในปี ค.ศ. 1897 ที่เมืองไลป์ซิก (Leipzig) ซึ่งเขาได้รับการฝึกอบรมและได้รับแนวคิดจากกลุ่มสัมพันธ์นิยมชาวอังกฤษ วุ๊นดท์ได้จัดตั้งกลุ่มจิตวิทยาขึ้น เรียกว่ากลุ่มโครงสร้างนิยม (structuralism)โดยมีแนวคิดว่า การศึกษาจิตต้องศึกษาส่วนย่อย ๆ ที่ประกอบขึ้นมา โดยใช้วิธีการพื้นฐานทางจิตวิทยาคือ การสังเกตตนเอง หรือที่เรียกว่าการตรวจพินิจจิต (introspection)

ปี ค.ศ. 1980 วิลเลียม เจมส์ พิมพ์หนังสือชื่อกฎหลักจิตวิทยา (principles of psychology) นับเป็นก้าวต่อไปของจิตวิทยาและเกิดกลุ่มจิตวิทยาใหม่ขึ้น คือ กลุ่มหน้าที่นิยม (functionalism) กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของกลุ่มโครงสร้างนิยม โดยมีความคิดว่า จิตวิทยาควรเป็นการศึกษาวิธีการที่คนเรา ใช้ปรับตัวเข้า กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวิธีที่เขาพอใจ และเป็นการเพิ่มสมรรถภาพของเขา เจมส์ให้ความสนใจความรู้สึก (consciousness) เป็นพิเศษ เพราะความรู้สำนึกเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนเลือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อินทรีย์ที่มีความฉลาดมากก็มีความรู้สำนึกมาก อินทรีย์ที่ฉลาดน้อย ก็มีความรู้สำนักน้อย และความรู้สึกสำนึกนี้เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งไม่สามารถแยกวิเคราะห์เป็นส่วนย่อยได้ นักจิตวิทยากลุ่มหน้าที่นิยมสนใจ ศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมมากกว่าศึกษาพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาให้เห็น ในช่วงเวลาเดียวกันกับการจัดตั้งกลุ่มโครงสร้างนิยมและกลุ่มหน้าที่นิยม ซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออสเตรียได้เสนอทฤษฎีบุคลิกภาพที่สำคัญและน่าสนใจทฤษฏีหนึ่ง คือ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis theory) ซึ่งทฤษฎีนี้ไม่ได้มีรากฐานมาจากปรัชญาเหมือนจิตวิทยาอื่น ๆ แต่ได้มาจากการรวบรวมประวัติของคนไข้ที่มารับการบำบัดรักษา ฟรอยด์เชื่อว่า ความไร้สำนึกมีอิทธิพลต่อการแสดงออกของพฤติกรรม และยังเน้นถึงความต้องการทางเพศตั้งแต่วัยเด็กโดยได้แบ่งพัฒนาการทางเพศออกเป็นต่าง ๆ และเชื่อว่าถ้าเด็กไม่สามารถผ่านขั้นเหล่านั้นไปด้วยดีแล้ว เขาจะมีความบกพร่องทางพฤติกรรมในชีวิตวัยผู้ใหญ่

ในช่วงศตวรรษที่ 20 จอร์น บี วัตสัน (John B. Watson) นักจิตวิทยาผู้ก่อตั้งกลุ่มพฤติกรรมนิยม (behavioralism)ให้ความเห็นว่าวิธีการตรวจพินิจจิต (introspection) ไม่เป็นวิธีการที่ดีพอ ผู้สังเกตทำการสังเกตเพียงแต่ตนเองและรายงานผลออกมา ผลที่ได้จึงไม่เป็นที่น่าเชื่อถือและสำหรับการศึกษาทางจิตวิทยาควรจะหลีกเลี่ยงจากการศึกษาความรู้สำนึกโดยหันไปศึกษาพฤติกรรมที่มองเห็นได้ เพื่อให้สามารถทำนายและควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงมากอีก 2 คน อีวาน พาฟลอฟ (Ivan Pavlov) ชาวรัสเซีย และ อี. แอล. ทอร์นไดค์ (E. L. Thorndike) ชาวอเมริกัน ทำการทดลองเกียวกับความรู้ ความจำและการรับรู้ ทั้งสองมีความสนใจและจัดกระทำการทดลองที่แตกต่างกัน ทอร์นไดค์เป็นนักทดลองที่ศึกษาเรื่องการเรียนรู้ และวิธีการของเขาจัดเป็นตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาพฤติกรรมส่วน วัตสัน, พาฟลอฟ และนักพฤติกรรมคนอื่น ๆ มีความคิดเห็นตรงกันว่าจิตวิทยาควรเน้นที่พฤติกรรมที่ปรากฎให้เห็นเด่นชัดมากกว่าความรู้สึกนึกคิด หรือความรู้สึกไร้สำนึกที่สังเกตเห็นไม่ได้นอกจากนี้วัตสันยังได้เน้นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมว่ามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมากกว่าพันธุกรรมอีกด้วย

จิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ (gestalt psychology) เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับกลุ่มพฤติกรรมนิยม ในประเทศเยอรมัน ซึ่งพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการแยกจิตเป็นส่วน ๆ ตามแนวคิดกลุ่มโครงสร้างนิยม พวกเขาเห็นด้วยกับเจมส์ที่ว่าการทำงานของจิตเป็นการทำงานของส่วนรวม นักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสนใจศึกษาส่วนรวมมากกว่าส่อนย่อยซึ่งแนวคิดนี้มีบทบาทขึ้นเมื่อนักจิตวิทยาชาวอเมริกันเริ่มให้ความสนใจปัญหาของการรับรู้ การคิดแก้ปัญหาและบุคลิกภาพ จนทำให้เกิดจิตวิทยาการรู้การเข้าใจ (cognitivepsychology) ขึ้นจิตวิทยาการรู้การเข้าใจนี้เกี่ยวข้องกับกลไกภายใน เช่น การรู้สึก การรับรู้ และความฝันซึ่งมีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของอินทรีย์

ระหว่างปี ค.ศ. 1930 กับ ค.ศ. 1940 งานวิจัยทางจิตวิทยาในต่างประเทศเจริญก้าวหน้ามาก มีทฤษฏีและผลวิจัยที่เชื่อถือได้ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งมากมาย มีหนังสือจิตวิทยาพิมพ์เผยแพร่จำนวนมาก มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดภาควิชาจิตวิทยาขึ้นและมีนิสิตนักศึกษาสนใจเลือกเรียนวิชาใหม่นี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จากประวัติความเป็นการโดยสังเขปของจิตวิทยา สามารถสรุปได้ว่าจิตวิทยาได้มีระยะของพัฒนาการมาตามลำดับ 4 ระยะ คือ (วิไลวรรณ ศรีสงคราม และคณะ, 2549, หน้า 5)
ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาเรื่องจิตวิญญาณ หรืออำนาจลี้ลับโดยเชื่อว่าวิญญาณ หรืออำนาจลี้ลับเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการกระทำพฤติกรรมของบุคคล
ระยะที่ 2 เป็นการศึกษาในเรื่องของจิต โดยศึกษาเรื่องของจิตแทนวิญญาณอย่างไรก็ตามก็มีปัญหาว่าจิตมีรูปร่างเป็นอย่างไร และอยู่ที่ไหน
ระยะที่ 3 เป็นการเริ่มศึกษาจิตวิทยาในรูปแบบวิทยาศาสตร์ แต่ยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์นัก ซึ่งเป็นช่วงระยะราวศตวรรษที่ 19 ที่วิทยาศาสตร์เข้ามามีอิทธิพลต่อจิตวิทยา
ระยะที่ 4 เป็นการศึกษาจิตวิทยาในรูปแบบของวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงโดยเน้นศึกษาพฤติกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ สามารถทดลอง พิสูจน์และตรวจสอบได้

บรรณานุกรม

ยุพิน กาญจนารัตน์. (2553). การวิเคราะห์เนื้อหาวารสารทางด้านจิตวิทยาระหว่างปี พ.ศ. 2542-2551. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
กันยา สุวรรณแสง. (2542). จิตวิทยาทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: รวมสาส์น (1977).
จิราภา เต็งไตรรัตน์, นพมาศ อุ้งพระ (ธีรเวคิน), รัจรี นพเกตุ, รัตนา ศิริพานิช, วารุณี ภูวสรกุล, ศรีเรือน แก้วกังวาล และคนอื่น ๆ. (2550). จิตวิทยาทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ปราณี รามสูต. (2542). จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏธนบุรี.
เดโช สวนานนท์. (2520). ปทานุกรมจิตวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.
เติมศักดิ์ คทวณิช. (2546). จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
ทรงพล ภูมิพัฒน์. (2538). จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีปทุม, ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2542). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊ค.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2550). พจนานุกรมศัพท์จิตวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง.
วิทยากร เชียงกูล. (2552). อธิบายศัพท์จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง. กรุงเทพฯ: สายธาร.
วิไลวรรณ ศรีสงคราม และคณะ. (2549). จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล กรุ๊บ.
สงกรานต์ ก่อธรรมนิเวศน์. (2552). ศัพท์ทางจิตเวช. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุปราณี สนธิรัตน์ และคณะ. (2537). จิตวิทยาทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะสังคมศาสตร์, ภาควิชาจิตวิทยา.

ความหมายของวิชาจิตวิทยา

ความหมายของวิชา “จิตวิทยา” มีผู้ให้ความหมายไว้มากมายแต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่างพอเป็นสังเขปดังนี้คือ

จิตวิทยามาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Psychology ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Psyche หมายถึง จิตวิญญาณ (Mind , Soul) กับคำว่า Logos หมายถึง ศาสตร์ วิชา วิทยาการ (Science , Study) กันยา สุวรรณแสง (2536 : 11)

ไซคี(Psyche) เป็นชื่อเทพธิดาผู้เลอโฉมในนิยายปรัมปราของกรีก ได้อภิเษกกับกามเทพชื่อ(Cupid)ซึ่งทั้งสองรักกันมานานไม่เคยแยกจากกัน ชาวกรีกจึงเห็นว่า Psyche เป็นวิญญาณนั่นเอง แต่สำหรับ Cupid นั้นถือว่าเป็นร่างกายและทั้งวิญญาณและร่างกายต้องอยู่เป็นคู่กันเสมอไม่อาจจะพรากจากกันได้ ทิพย์ นาถสุภา (2513 : 2)

ถ้าแปลตามรูปศัพท์ในภาษาอังกฤษ Psychology หรือจิตวิทยา หมายถึง วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ (Psychology means the study of the soul) ซึ่งในสมัยโบราณเชื่อกันว่า จิต หรือ วิญญาณ เป็นสิ่งที่ควบคุมกิริยาอาการต่าง ๆ ของร่างกาย และยังเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ การศึกษาเรื่องจิตวิญญาณดังกล่าวจึงเป็นศาสตร์ชั้นสูงของชาวกรีกเรื่อยมา ในระยะต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์เริ่มเจริญก้าวหน้ามากขึ้นนักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาจึงหันมาสนใจในเรื่องต่างๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้และนั่นก็คือ การเริ่มต้นหันมาสนใจศึกษาจิตวิทยาในเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เราสังเกตได้และสามารถทดลองได้ดังนั้นการศึกษาวิชาจิตวิทยา จึงถือเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง หรืออาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าการศึกษาวิชาจิตวิทยาเป็นการศึกษาศาสตร์ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Sciences)

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลต่างๆ ความรู้ที่ได้จากแนวคิดทฤษฎี และการทดลองนำมาเสนอเพื่ออธิบายและควบคุมพฤติกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ โรเบิร์ต อี. ซิลเวอร์แมน , สุปราณี สนธิรัตน์ และคณะ (2537 : 1)

ความหมายของจิตวิทยาได้มีนักจิตวิทยาได้ให้ความหมายหลายท่านพอสรุปได้ดังนี้

จอห์น บี. วัตสัน(John B. Watson) อธิบายว่า จิตวิทยาเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม

วิลเลี่ยม เจมส์ ( William James ) อธิบายว่า จิตวิทยาเป็นวิชาที่ว่าด้วยกิริยา อาการ ของมนุษย์

ฮิลการ์ด ( HilGard ) อธิบายว่า จิตวิทยา หมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์

จากความหมายดังกล่าวข้างต้น พอสรุปความหมายของวิชาจิตวิทยาได้ดังนี้ จิตวิทยา คือ วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือกิริยาอาการของมนุษย์ รวมถึงความพยายามที่จะศึกษาว่ามีอะไรบ้างหรือตัวแปรใดบ้างในสถานการณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคลซึ่งข้อมูลดังกล่าว จะทำให้สามารถคาดคะเนหรือพยากรณ์ได้ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมเบี่ยงเบนอันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยใช้แนวทางหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือช่วยในการช่วยวิเคราะห์ มีนักจิตวิทยาหลายท่านที่ได้รับการยอมรับและใช้ทฤษฎีของเขามาจนปัจจุบัน

ความสำคัญของวิชาจิตวิทยา

ความสำคัญของวิชาจิตวิทยา อาจพิจารณาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ตลอดจนพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคมและเชาว์ปัญญา

2. เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของตนเองและผู้อื่น

3. เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ในการแก้ปัญหาของตนเอง

4. เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ในการปรับตัว สามารถเข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุขและไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

เพื่อให้นักศึกษามีความตระหนักถึงความสำคัญของจิตวิทยา และการนำจิตวิทยาไป

ประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพและการทำงานต่างๆ ได้อย่างเป็นสุข

วิชาจิตวิทยาทำให้บุคคลสามารถเข้าใจตนเอง วิเคราะห์ตนเองออกทั้งในส่วนที่ดีและส่วนที่ด้อยของตัวเรา โดยที่บุคคลจะต้องเข้าใจตนเอง รักตนเอง ยอมรับความเป็นตนเองก่อนและเมื่อนั้นบุคคลก็จะเข้าใจความเป็นบุคคลของคนอื่นเช่นกันและพร้อมที่จะเข้าใจผู้อื่นรักผู้อื่นและยอมรับความเป็นบุคคลของผู้อื่น ในความเป็นจริงหลายคนที่ยังรักตนเองให้อภัยตนเองได้ไม่ว่าตนเองจะทำผิดสักแค่ไหนแต่ไม่สามารถรับคนอื่นได้ มองคนอื่นด้อยกว่าตนหรือมองคนอื่น ผิดมองตนเองถูกสังคมจึงเกิดปัญหาวุ่นวายเดือดร้อน ดังนั้นการที่เราศึกษาวิชาจิตวิทยาจะช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์มีธรรมชาติเป็น อย่างไร ในความเป็นมนุษย์เราคงต้องยอมรับสภาพทางกายภาพทั่วไปว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกนามมีเกิด แก่ เจ็บ และตายเป็นธรรมดา ตัวเราก็อยู่ในสภาพนี้ ผู้อื่นก็อยู่ในสภาพนี้เช่นเดียวกับเรา ความเป็นมนุษย์มีรูปแบบที่เหมือนๆ กัน ถ้าเราบอกว่าไม่ชอบบุคคล เพราะสาเหตุตามที่เราคิดตามที่เรา ตัดสินเราก็คิดเข้าข้างตัวเราเองโดยไม่มองภาพรวมของความเป็นมนุษย์ความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และไม่เข้าใจสัจธรรมของ ความมีชีวิตอย่างแท้จริง โดยใช้มาตรฐานของตัวเองไปตัดสินใจแทนคนอื่นและกล่าวโทษว่าคนอื่นไม่ดีแต่ตัวเองดีแล้วคงจะหา แนวคิดใดที่มาอธิบายเรื่องนี้ได้ไม่ยากนัก หากนักศึกษาได้ศึกษาวิชาจิตวิทยาให้เข้าใจเพราะวิชานี้จะอธิบายธรรมชาติของมนุษย์ อารมณ์ ความรู้สึก ความปรารถนาและความต้องการของมนุษย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าวิชาจิตวิทยาเป็นวิชาที่ดีที่สุด ยังมีอีกหลายวิชาที่เข้ามาช่วยและส่งเสริมให้นักศึกษามีความเข้าใจธรรมชาติของ ความเป็นมนุษย์ อีกมากมายเช่น วิชาวิทยาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา สังคม ศิลปะ ดนตรี เป็นต้น

ความสำคัญของวิชาจิตวิทยายังสามารถทำให้บุคคลยอมรับตนเอง ยอมรับผู้อื่น รักตนเองและรักผู้อื่น ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อเรื่อง มนุษย์มีความแตกต่างกัน การที่มนุษย์มีความแตกต่างกันจึงทำให้เราแต่ละคนไม่เหมือนกัน หลายคนหลายความคิดแต่การจะอยู่ร่วมกันให้ชีวิตมีคุณค่า บุคคลควรยอมรับในความแตกต่างของบุคคลและพร้อมที่จะเคารพความเป็นมนุษย์เสมอกันหรืออาจกล่าวได้ว่าจิตวิทยาให้ความสำคัญแก่บุคคลทุกคนเสมอกัน

ประวัติความเป็นมาของวิชาจิตวิทยา

จิตวิทยา เป็นศาสตร์ที่มีคนสนใจมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณก่อนคริสต์กาล มีนักปรัชญาชื่อ พลาโต (Plato 427 – 347ก่อนคริสต์กาล) อริสโตเติล (Aristotle 384 – 322 ก่อนคริสต์กาล) ได้กล่าวถึงธรรมชาติและพฤติกรรมของมนุษย์ในเชิงรัชญามากกว่าแนวคิดทางวิทยาาสตร์ การศึกษาในยุคนั้นเป็นแบบ เก้าอี้โต๊ะกลม หรือเรียกว่า Arm Chair Method เรียกจิตวิทยาในยุคนั้นว่า จิตวิทยายุคเก่าเพราะนักจิตวิทยานั่งศึกษาอยู่กับโต๊ะทำงาน โดยใช้ความคิดเห็นของตนเองเพียงอย่างเดียวไม่มีการทดลอง ไม่มีการวิเคราะห์ใดๆ ทั้งสิ้น ต่อมาอริสโตเติลได้สนใจจิตวิทยาได้ทำการศึกษาและ ได้เขียนตำราเล่มแรกของโลกเป็นตำราที่ว่าด้วยเรื่อง วิญญาณชื่อ De Anima แปลว่า ชีวิต เขากล่าวว่า วิญญาณเป็นต้นเหตุให้คนต้องการเรียนจิตวิทยา คนในสมัยโบราณจึงศึกษาจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับวิญญาณ โดยมีความเชื่อว่าวิญญาณจะสิงอยู่ในร่างกายของมนุษย์ขณะมีชีวิตอยู่ เมื่อคนสิ้นชีวิตก็หมายถึงร่างกายปราศจากวิญญาณและวิญญาณออกจากร่างล่องลอยไปชั่วระยะหนึ่ง แล้วอาจจะกลับสู่ร่างกายคืนอีกได้ และเมื่อนั้นคนๆ นั้นก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกชาวกรีกจึงมีการคิดค้นวิธีการป้องกันศพไม่ให้เน่าเปื่อยที่เรียกว่ามัมมี่เพื่อคอยการกลับมาของวิญญาณ ต่อมาประมาณศตวรรษที่ 11 - 12 ได้เกิดลัทธิความจริง (Realism) เป็นลัทธิที่เชื่อสภาพความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ และลัทธิความคิดรวบยอด (Conceptualism) ที่กล่าวถึง ความคิดที่เกิดหลังจากได้วิเคราะห์พิจารณาสิ่งต่างๆ ถี่ถ้วนแล้ว จากลัทธิทั้งสองนี้เองทำให้ผู้คนมีความคิดมากขึ้นมีการคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรอง จึงเป็นเหตุให้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจในทางวิทยาศาสตร์ และจึงเริ่มมาสนใจในเรื่องจิตวิทยาในเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยัง สนใจศึกษา เรื่องจิตมากขึ้นด้วย รวมทั้งให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับเรื่องจิตสำนึก (Conscious) อันได้แก่ การมีสมาธิ การมีสติสัมปชัญญะ และเชื่อว่าจะเป็นมนุษย์ได้ จะต้องประกอบไปด้วย ร่างกายกับจิตใจ จึงมีคำพูดติดปากว่า “A Sound mind is in a sound body” จิตที่ผ่องใสอยู่ในร่างกาย ที่สมบูรณ์ ความสนใจเรื่องจิตจึงมีมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังเชื่อว่า จิต แบ่งสามารถเป็นส่วนๆ ได้แก่ความคิด (Idea) จินตนาการ (Imagine) ความจำ (Memory) การรับรู้ (Concept) ส่วนที่สำคัญที่สุดเรียกว่า Faculty of will เป็นส่วนหนึ่งของจิตที่สามารถสั่งการเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกายต่อมา Norman L. Mumm มีความสนใจเรื่องจิต เขากล่าวว่า จิตวิทยา คือ การศึกษาเรื่องจิต ในปี ค.ศ. 1590 คำว่า Psychology จึงเป็นที่รู้จักและ สนใจของ คนทั่วไป

จอห์น ลอค (John Locke ค.ศ. 1632 - 1704) ได้ชื่อว่าเป็น บิดาจิตวิทยาแผนใหม่ เขาเชื่อว่า ความรู้สึกตัว ( Conscious ) และสิ่งแวดล้อมเป็นตัว ที่มีอิทธิพลต่อจิต

ในศตวรรษที่ 19 เป็นยุคแห่งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มีผู้คิดทฤษฎีต่าง ๆ ทางจิตวิทยาขึ้น มากมายและที่สำคัญคือ วิลเฮล์ม แมกซ์ วู้นท์ (Wilhelm Max Wundt ค.ศ. 1832 – 1920) ได้สร้างห้องทดลองทางจิตวิทยาและเริ่มมีการทดลองขึ้นที่เมือง Leipzig ประเทศเยอรมัน เขาได้ทดลองเกี่ยวกับ เรื่องความรู้สึก การจิตนาการ การคิดหาเหตุผลจนได้รับสมญาว่า บิดาแห่งจิตวิทยาทดลองนับเป็นการเริ่มต้นในการศึกษาจิตวิทยา ตามวิธีการทาง วิทยาศาสตร์ เป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่า วิชาจิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับและวิธีการศึกษาก็ใช้แนวทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ทฤษฎี การทดลอง การหาเหตุผลตลอดจนการวิเคราะห์พฤติกรรม

วิธีการศึกษาทางจิตวิทยา การศึกษาทางจิตวิทยาใช้หลายๆ วิธีการมาผสมผสานและทำการวิเคราะห์บนสมมุติฐาน นักจิตวิทยาจะใช้วิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้เช่น การตรวจสอบตนเอง การสังเกต การศึกษาบุคคลเป็นรายกรณี การสัมภาษณ์ การทดสอบ ดังจะอธิบายเรียงตามลำดับต่อไปนี้

1. การตรวจสอบตนเอง (Introspection) หมายถึง วิธีการให้บุคคลสำรวจ ตรวจสอบตนเองด้วยการย้อนทบทวน การกระทำและความรู้สึกนึกคิด ของตนเองในอดีต ที่ผ่านมา แล้วบอกความรู้สึกออกมา โดยการอธิบายถึงสาเหตุและผลของการกระทำในเรื่องต่าง ๆ เช่น ต้องการทราบว่า ทำไมเด็กนักเรียนคนหนึ่งจึงชอบพูดปดเสมอ ๆ ก็ให้เล่าเหตุหรือเหตุการณ์ในอดีต ที่เป็นสาเหตุให้มีพฤติกรรมเช่นนั้นก็จะทำให้ทราบที่มาของพฤติกรรมและได้แนวทางในการที่จะช่วยเหลือแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวได้

การตรวจสอบตนเองจะได้รับข้อมูลตรงตามความเป็นจริงและเป็นประโยชน์ เพราะผู้รายงานที่มีประสบการณ์และอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ แต่หากผู้รายงานจดจำเหตุการณ์ได้แม่นยำ และมีความจริงใจในการรายงานอย่างซื่อสัตย์ไม่ปิดบัง และบิดเบือนความจริง แต่หากผู้รายงานจำเหตุการณ์หรือเรื่องราวไม่ได้หรือไม่ต้องการรายงานข้อมูลที่แท้จริงให้ทราบก็จะทำให้การตี ความ หมายของเรื่องราวต่างๆ หรือเหตุการณ์ผิดพลาดไม่ตรงตามข้อเท็จจริง

2. การสังเกต (Observation) หมายถึง การเฝ้าดูพฤติกรรมในสถานการณ์ที่เป็นจริง อย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยไม่ให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัว การสังเกตแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

2.1 การสังเกตอย่างมีแบบแผน ( Formal Observation ) หมายถึง การสังเกตที่มีการเตรียมการล่วงหน้า มีการวางแผน มีกำหนดเวลา สถานการณ์ สถานที่ พฤติกรรมและบุคคลที่จะสังเกต ไว้เรียบร้อยเมื่อถึงเวลาที่นักจิตวิทยาวางแผนก็จะเริ่มทำการสังเกตพฤติกรรม ตามที่กำหนด และผู้สังเกตพฤติกรรม จะจดพฤติกรรมทุกอย่างในช่วงเวลานั้นอย่างตรงไปตรงมา

2.2 การสังเกตอย่างไม่มีแบบแผน ( Informal Observation ) หมายถึง การสังเกตโดยไม่ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าหรือวางแผนล่วงหน้า แต่สังเกตตาม ความสะดวกของผู้สังเกตคือจะสังเกตช่วงเวลาใดก็ได้แล้วทำการจดบันทึกพฤติกรรมที่ตนเห็นอย่างตรงไปตรงมา

การสังเกตช่วยให้ได้ข้อมูลละเอียด ชัดเจน และตรงไปตรงมา เช่น การสังเกต อารมณ์ ความรู้สึกของบุคคลต่อสถานการณ์ต่าง ๆ จะทำให้เห็นพฤติกรรม ได้ชัดเจนกว่าการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการอื่น ๆ แต่การสังเกตที่ดีมีคุณภาพ มีส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น ผู้สังเกตจะต้องมีใจเป็นกลางไม่อคติหรือลำเอียงอย่างหนึ่งอย่างใด และสังเกตได้ทั่วถึง ครอบคลุม สังเกตหลาย ๆ สถานการณ์หลาย ๆ หรือหลายๆ พฤติกรรม และใช้เวลาในการสังเกต ตลอดจนการจดบันทึกการสังเกตอย่างตรงไปตรงมา และแยกการบันทึกพฤติกรรมจากการตีความไม่ปะปนกัน ก็จะทำให้การสังเกตได้ข้อมูลตรงตาม ความเป็นจริงและนำมาใช้ประโยชน์ตามจุดมุ่งหมาย

3. การศึกษาบุคคลเป็นรายกรณี (Case Study) หมายถึง การศึกษารายละเอียดต่าง ๆที่สำคัญของบุคคล แต่ต้องใช้เวลาศึกษาติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์พิจารณา ตีความเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรม หรือลักษณะพิเศษที่ผู้ศึกษาต้องการทราบทั้งนี้ เพื่อจะได้หาทาง ช่วยเหลือแก้ไขปรับปรุง ตลอดจนส่งเสริมพฤติกรรมให้เป็นไปในทาง สร้างสรรค์ที่สำคัญของบุคคล แต่ต้องใช้เวลาศึกษาติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์พิจารณา ตีความเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรม หรือลักษณะพิเศษที่ผู้ศึกษาต้องการทราบ ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลพัฒนาตนเต็มศักยภาพแห่งตน

การสัมภาษณ์ที่ดี จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ของผู้ที่ต้องการศึกษาตั้งแต่เรื่องประวัติ เรื่องราวของครอบครัว ประวัติพัฒนาการ ประวัติสุขภาพ ความสัมฤทธิ์ผลทางการเรียน ความสนใจ ความถนัด เป็นต้น และในการรวบรวมข้อมูลอาจใช้เทคนิควิธีต่าง ๆ เข้ามาช่วยด้วย เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การใช้แบบทดสอบ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการประมวลให้ได้ข้อมูลให้ละเอียดและตรงจุดให้มากที่สุด

4. การสัมภาษณ์ (Interview) หมายถึง การสนทนากันระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งการสัมภาษณ์ก็มีหลายจุดมุ่งหมาย เช่น การสัมภาษณ์เพื่อความคุ้นเคยสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน สัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ ตลอดจนสัมภาษณ์เพื่อการแนะแนว และการให้คำปรึกษา เป็นต้น แต่ทั้งการสัมภาษณ์ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจ

การสัมภาษณ์ที่ดี จำเป็นต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า วางแผน กำหนดสถานที่ เวลาและเตรียมหัวข้อหรือคำถามในการสัมภาษณ์ และนอกจากนั้น ในขณะสัมภาษณ์ผู้สัมภาษณ์ควรจะใช้เทคนิคอื่น ๆ ประกอบด้วยก็ยิ่งจะได้ผลดี เช่น การสังเกต การฟัง การใช้คำถาม การพูด การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างผู้ให้สัมภาษณ์และผู้สัมภาษณ์ ก็จะช่วยให้การสัมภาษณ์ได้ดำเนินไปด้วยดี

5. การทดสอบ (Testing) หมายถึง การใช้เครื่องมือที่มีเกณฑ์ในการวัดลักษณะของ พฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งหรือหลายๆ พฤติกรรมโดยให้ผู้รับ การทดสอบ เป็นผู้ตอบสนองต่อแบบทดสอบซึ่งอาจเป็นแบบทดสอบภาษาและแบบปฏิบัติการหรือลงมือทำ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลนั้น ตามจุดมุ่งหมายที่ผู้ทดสอบวางไว้แบบทดสอบที่นำมาใช้ในการทดสอบหาข้อมูลก็ได้แก่ แบบทดสอบบุคลิกภาพ แบบทดสอบความสนใจ เป็นต้น

การทดสอบก็มีสิ่งที่ควรคำนึงถึงเพื่อผลของข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งแบบทดสอบที่นำมาใช้ควรเป็นแบบทดสอบที่เชื่อถือได้เป็นมาตรฐาน ตลอดจนการแปรผลได้อย่างถูกต้อง เป็นต้น

6. การทดสอบ (Experiment) หมายถึง วิธีการรวบรวมข้อมูลที่เป็นระบบ มีขั้นตอนและเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีลำดับขั้นตอนดังนี้ ตั้งปัญหา ตั้งสมมุติฐาน การรวบรวมข้อมูล การทดสอบสมมุติฐาน การแปลความหมายและรายงานผล ตลอดจนการนำผลที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหา หรือส่งเสริมต่อไปการทดลองจึงเป็นการจัดสภาพการณ์ขึ้นมา เพื่อดูผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มหรือสถานการณ์ คือ

1. กลุ่มทดลอง (Experiment Group) คือ กลุ่มที่ได้รับการจัดสภาพการณ์ทดลองเพื่อศึกษาผลที่ปรากฏจากสภาพนั้น เช่น การสอนด้วยเทคนิคระดมพลังสมอง จะทำให้กลุ่มเกิดความคิดสร้างสรรค์หรือไม่

2. กลุ่มควบคุม (Control Group) คือ กลุ่มที่ไม่ได้รับการจัดสภาพการณ์ใด ๆ ทุกอย่างถูกควบคุมให้คงภาพเดิม ใช้เพื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทดลอง สิ่งที่ผู้ทดลองต้องการศึกษาเรียกว่า ตัวแปร ซึ่งมีตัวแปรอิสระหรือตัวแปรต้น (Independent Variable) และตัวแปรตาม ( Dependent Variable )

ขอบข่ายของวิชาจิตวิทยา

ในอดีตวิชาจิตวิทยาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือวิชาจิตวิทยาทั่วไป (General Psychology) กับจิตวิทยาประยุกต์ (Applied Psychology) ในปัจจุบันจิตวิทยาสามารถแยกออกได้หลายแขนงดังนี้

จิตวิทยาสรีระ( Physiological Psychology ) จิตวิทยาแขนงนี้มุ่งศึกษาเพื่อ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการ ทางสรีรวิทยาและกระบวนการทางจิตใจของมนุษย์

จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) จิตวิทยาแขนงนี้มุ่งศึกษาเพื่อศึกษาความรู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและ กลไกในการพัฒนาการ ในอินทรีย์ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องกันไปตั้งแต่เริ่มปฎิสนธิจนปิดฉากพัฒนาการชีวิต

จิตวิทยาบุคลิกภาพ (Personality Psychology) จิตวิทยาแขนงนี้ มุ่งศึกษาเพื่อศึกษาและสังเกตพัฒนาการของมนุษย์ในด้านต่างๆ ทำให้เกิดพฤติกรรม ที่พึงประสงค์ การพัฒนาบุคลิกภาพทั้งภายในและภายนอกให้ความสำคัญต่อการพัฒนาตน พัฒนาจิต เข้าใจปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อบุคลิกภาพ ทฤษฎีบุคลิกภาพและการพัฒนาตนไปสู่บุคลิกภาพที่ดี

จิตวิทยาคลีนิก (Clinical Psychology )จิตวิทยาแขนงนี้มุ่งศึกษาเพื่อศึกษาว่าบุคคลเมื่อประสบปัญหาแล้วเขาเหล่านั้น จะมีวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างไร และการหาวิธีการที่จะช่วยให้บุคคลเหล่านั้นแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีการต่างๆ ทางจิตวิทยา เช่นเทคนิคการให้คำปรึกษา ซึ่งช่อยแก้ปัญหาในด้านการศึกษา อาชีพ ส่วนตัวและสังคมเป็นต้น

จิตวิทยาการศึกษาและจิตวิทยาในโรงเรียน (Educational Psychology) จิตวิทยาแขนงนี้มุ่งศึกษา เพื่อศึกษาใช้ประยุกต์ช่วยในเรื่องการเรียนการสอน ทำให้ผู้สอนเข้าใจพฤติกรรมเด็ก โดยมุ่งแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดกับเด็ก เพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาของตนได้และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการเรียนในการเลือกที่จะเรียนและเลือกอาชีพต่อไป จิตวิทยาการศึกษามุ่งศึกษาเรื่องประสิทธิผลของการสอน การศึกษา การเรียนรู้ต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

จิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Psychology) จิตวิทยาแขนงนี้มุ่งศึกษาเพื่อศึกษาการทำงานในระบบทำงานซึ่งมีขั้นตอนระเบียบแบบแผน และที่สำคัญคือ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้คนอย่างมีความสุข ช่วยให้บุคคลสามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดความคับข้องใจ มีอยู่ในระดับน้อย และสามารถพัฒนาตนไปสู่ความสำเร็จของงานได้ตามที่ตนเองต้องการหรือตามเป้าหมาย ซึ่งทำให้ผลผลิตของอุตสาหกรรมสูงขึ้น รวมถึงการมีจิตวิทยาต่อผู้บริโภคด้วยโดยเน้นการสำรวจเจตคติและความชอบของผู้บริโภคต่อสินค้านั้นๆ

จิตวิทยาการวัดผลและการทดสอบ(Psychometric Psychology) จิตวิทยาแขนงนี้มุ่งศึกษาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลความเชื่อถือ ดังนั้นจิตวิทยาการวัดผล จึงมุ่งในเรื่องทฤษฎีและการพัฒนาแบบทดสอบรวมทั้งวิธีการวัดผลต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างในเชิงจิตวิทยา

จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) จิตวิทยาแขนงนี้มุ่งศึกษาเพื่อศึกษาวิธีการวัดและลักษณะส่วนใหญ่ของพฤติกรรมมนุษย์ โดยเน้นที่การศึกษาเกี่ยวกับ พฤติกรรมระหว่างบุคคลที่สัมพันธ์กัน

จิตวิทยาวิศวกรรม (Engineering Psychology) จิตวิทยาแขนงนี้มุ่งศึกษาเพื่อศึกษาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้นักวิชาการเหล่านี้ พยายามที่ จะศึกษา ค้นคว้าทดลองสร้างเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อการใช้เพื่อแสวงหาความรู้ต่างๆ ของมนุษย์ต่อไป โดยทำให้เกิดความแน่ใจว่า เครื่องมือต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นสามารถสอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์

จิตวิทยาชุมชน (Community Psychology)จิตวิทยาแขนงนี้มุ่งศึกษาเพื่อศึกษาชุมชนและความต้องการของชุมชนในรูปของลักษณะและพฤติกรรมชุมชน เพื่อช่วยป้องกันและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนโดยเฉพาะปัญหาเรื่องสุขภาพจิต

ในปัจจุบันเรื่องขอบข่ายของวิชาจิตวิทยายังแตกแขนงไปอีกมากมายแต่โดยภาพรวมคงไม่แตกต่างจากที่กล่าวมาข้างต้นเพียงแต่ว่า หน่วยงานหรือ องค์กรใด นำไปใช้แต่หลักๆ ก็ยังคงอยู่ที่วิชาจิตวิทยาทั่วไป (General Psychology) กับจิตวิทยาประยุกต์ (Applied Psychology) นั่นเอง

กลุ่มความคิดทางจิตวิทยา

กลุ่มความคิดทางจิตวิทยา (Schools of Psychology) หมายถึง แนวความคิด ทฤษฎีสำคัญและระเบียบวิธีทางจิตวิทยา เพื่อความสะดวกใน การเปรียบเทียบความแตกต่างและความคล้ายคลึงกันของแต่ละกลุ่ม นอร์แมน แอล มุนน์ (Norman L. Munn) กล่าวว่า คำว่า “กลุ่มทางจิตวิทยา” หมายถึง การจัดระเบียบแนวความคิดของจิตวิทยาเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจในทัศนะหรือทฤษฎีต่างๆ ที่นักจิตวิทยากล่าวถึง หรือนำมาใช้ ในการรวบรวมความรู้ทางจิตวิทยาและกลุ่มจิตวิทยายังช่วยอำนวยประโยชน์ ในการศึกษารายละเอียด ต่าง ๆ และการค้นคว้าเพิ่มเติมในขั้นต่อไปอีกด้วย

เกณฑ์สำหรับใช้ในการจัดกลุ่มจิตวิทยา

โดยทั่วไปยอมรับกันว่าการจัดกลุ่มจิตวิทยานั้นแบ่งออกตามความแตกต่างกันที่สำคัญๆ 3 ประการคือ

  1. ปรัชญา ความเชื่อที่สำคัญขั้นต้นของทฤษฎีนั้นๆ
  2. ระเบียบวิธีที่ใช้ในการศึกษาหรือการรวบรวมเนื้อหาวิชาหรือความรู้ความเข้าใจ
  3. เนื้อเรื่อง หัวข้อสำคัญ ขอบข่ายของกิจกรรม หรือชนิดของงานที่นำเอาความรู้ทาง จิตวิทยามาใช้ สำหรับการตั้งชื่อกลุ่มทางจิตวิทยา อาจตั้งชื่อตามชื่อของแขนงวิชา หรือตั้งชื่อตามเจ้าของทฤษฎี เช่น ตั้งชื่อตามนักจิตวิทยาชื่อ Sigmund Freud ว่า Freudianism ลัทธิฟรอยด์ เป็นต้น

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากที่วิลเฮล์ม แมกซ์ วู้นท์ ( Wilhelm Max Wundt) วางรากฐานการทดลองจิตวิทยาสมัยใหม่แล้ว วิชาจิตวิทยาเริ่ม ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในวงการต่างๆ เช่น แพทย์การศึกษา การปกครอง เป็นต้น การค้นคว้าทางจิตวิทยาเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วมีผู้สนใจมาก แนวคิดจึงกว้างขวาง มีการค้นคว้าทดลองในวิชาจิตวิทยากันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก่อให้เกิดความคิดเห็นแนวทัศนะหลายแนว หลายสำนักต่าง ๆ กัน ต่างคนต่างมุ่งศึกษาค้นคว้าตามแนวที่ตนสนใจนำมาสร้างเป็นแนวคิด เป็นกฎเกณฑ์ เป็นความเชื่อ เป็นทฤษฎีขึ้นมา พวกนักจิตวิทยาที่มีแนวความคิดคล้ายๆ กันได้รวบรวมหลักการ ความคิดเห็นขึ้นเป็นกลุ่มๆ เป็นสกุลๆ หรือสำนักหรือแนวทัศนะ (School of thought หรือเรียกสั้นๆ ว่า School ) จิตวิทยาจึงมีแนวคิดเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ง่ายแก่การศึกษา กลุ่มต่างๆ ทางจิตวิทยา ที่มีแนวคิดและมีอิทธิพลต่อวงการศึกษาที่สำคัญ ควรนำมาศึกษา ในที่นี้มี 6 กลุ่ม ด้วยกันดังนี้คือ แนวคิดกลุ่มโครงสร้างของจิต(Structuralism) กลุ่มหน้าที่ของจิต (Functionalism) กลุ่มพฤติกรรมนิยม กลุ่มจิตวิเคระห์ กลุ่มจิตวิทยาเกสตอล และแนวคิดกลุ่มมนุษยนิยมดังจะอธิบายเรียงตามลำดับต่อไปนี้

1. แนวคิดของกลุ่มโครงสร้างของจิต (Structuralism)

กลุ่มโครงสร้างของจิตใช้คำในภาษาอังกฤษว่า Introspective Psychology หรือบางทีเรียกกลุ่มโครงสร้างนิยมหรือ กลุ่มแนวความคิดโครงสร้าง หรือ แนวทัศนะโครงสร้างแห่งจิต ซึ่งมีชื่อเรียกหลายชื่อแต่ในที่นี้จะเรียกชื่อว่า กลุ่มโครงสร้างของจิต ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน เมื่อ ค.ศ.1879 มีรากฐานของแนวความคิดพื้นฐานเบื้องต้นจากแนวความคิดของนักปรัชญา คนสำคัญๆ หลายท่าน เช่น

แนวความคิดของพลาโต (Plato) อธิบายว่า มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์ตรงที่มนุษย์ประกอบด้วยจิต (mind) ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างแนวความคิด (Idea)

แนวความคิดของอริสโตเติล (Aristotle) อธิบายเกี่ยวกับเรื่องชีวิตจิตใจ (Mental Life) แนวความคิดของเดสคาร์ทีส (Descartes) อธิบายเรื่อง ความสัมพันธ์ของร่างกาย (Body) กับ จิต (Mind) ว่ามนุษย์ประกอบขึ้นด้วย ร่างกายและจิต ทั้งสองส่วนนี้จะทำงานเกี่ยวข้องกันโดย จิตทำหน้าที่ สร้างภาพพจน์จากการทำงานของร่างกายและการทำงานของร่างกาย จึงเป็นการทำงานตามความคิดที่เกิดขึ้นในจิตนั่นเอง จากแนวความคิดนี้ทำให้เกิด ลัทธิสัมพันธ์นิยม ( Associationism) ขึ้นซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายเป็นกลุ่มจิตวิทยา Structuralism หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แนวคิดการตรวจสอบตนเอง” (Introspectionism) เนื่องจากนักจิตวิทยากลุ่มนี้มักใช้วิธีการตรวจสอบตนเอง (Introspection) ตำราบางเล่มใช้คำว่า “วิธีการพินิจภายใน” ให้นักศึกษาดูคำในภาษาอังกฤษเป็นหลัก สำหรับในที่นี้จะใช้คำว่า “การตรวจสอบตนเอง” ซึ่งการตรวจสอบตนเองเป็นเครื่องมือ ในการศึกษาค้นคว้า เพื่อเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ที่ผิดปกติ และด้วยเหตุนี้เองกลุ่มโครงสร้างของจิตนี้จึงถูกโจมตีมาก และดูไม่น่าเชื่อถือเพราะเมื่อบุคคลมีปัญหา บุคคลจะมานั่งตรวจสอบตนเองหรือสำรวจตนเองว่าตนมีข้อบกพร่องอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ หรืออะไรที่เป็นปัญหาอยู่ ขณะนี้คงเป็นไปได้อยาก มีหลายคนที่ใช้วิธีการนี้และปัญหาที่พบคือบุคคลอาจจะเข้าข้างตนเองจึงทำให้ไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง วิธีนี้ต้องให้บุคคลสามารถ ตรวจสอบตนเองโดยไม่เข้าข้างตนเอง ไม่ยึดติดกับตนเองมากนัก ไม่เข้าข้างตนเอง ไม่อคติเพราะรักตนเอง ซึ่งจะทำให้มองปัญหาต่างๆไม่ชัดเจน

ในศตวรรษที่ 19 นักจิตวิทยาได้สร้างห้องทดลองทางจิตวิทยาขึ้นและเริ่มศึกษาจิตวิทยาในเชิงวิทยาศาสตร์ วิลเฮล์ม แมกซ์ วู้นท์ (Wilhelm Max Wundt) ผู้สร้างห้องปฏิบัติการหรือห้องทดลองทางจิตวิทยา (Psychological Laboratory) เป็นแห่งแรก และต่อมาเขาได้ฉายาว่าเป็น “บิดาแห่งจิตวิทยาการทดลอง” ต่อมานักจิตวิทยาชื่อ กัสแตฟ เฟชเนอร์ ( Gustav Fechner ) ได้สนใจศึกษาวิธีการทางจิตวิทยาอย่างเป็นระบบ และได้เป็นผู้กำหนดระเบียบและวิธีการทดลองทางจิตวิทยา (Experimental method) นำมาใช้กับงานทางจิตวิทยา เขาได้นำเอาความรู้ความเข้าใจ วิชาฟิสิกส์มาใช้ในการทดลองค้นคว้ากับวิชาจิตวิทยา ซึ่งเรียกว่าวิชานี้ว่า ไซโคฟิสิกส์(Psychophysics) อย่างไรก็ตาม จิตวิทยากลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้เป็นที่ ยอมรับว่า เป็นวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์นัก เพียงแต่ยอมรับกันว่า “กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่มีแนวคิดจิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์” และยังถือว่า เป็นกลุ่มจิตวิทยาที่อาศัยแนวความคิดและระเบียบวิธีการศึกษาตามแบบปรัชญา(Philosophical-Psychology) เพราะแนวความคิดส่วนใหญ่ ของกลุ่มโครงสร้างทางจิต (Structuralism) ได้อาศัยระเบียบวิธีการตรวจสอบตนเอง หรือการสำรวจตนเองหรือการพินิจใน(Introspection method) หรือใช้ระเบียบวิธีการแบบอัตนัย ( Subjective method ) ค่อนข้างมาก

การใช้วิธีตรวจสอบตนเองหรือการสำรวจตนหรือการพินิจภายใน เป็นเครื่องมือที่ศึกษาค้นคว้าหาความจริงทางจิตวิทยาไม่สู้จะได้ผลดีนัก เพราะว่าผู้ถูกทดสอบอาจตอบตามสิ่งเร้ามากกว่าตอบตามความรู้สึกที่ตนได้สัมผัสจริงๆ ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่า Stimulus - Error แต่กลุ่ม Gestalt Psychology ไม่เห็นด้วยกับกลุ่ม Structuralism ที่ว่าจิตประกอบด้วยส่วนต่างๆ จึงให้ชื่อกลุ่มนี้ว่ากลุ่ม Mortar & Brick Psychologist ซึ่ง Mortar แปลว่า ซีเมนต์ที่ผสมกับทรายได้ส่วนสัดแล้ว Brick หมายถึง อิฐ พวกเหล่านี้ประกอบขึ้นเป็นตึกเหมือนจิตประกอบขึ้นจากส่วนต่าง ๆ

Wilhelm Max Wundt ผู้นำกลุ่ม Structuralism ได้นำเอาแบบของวิชาเคมีมาใช้ในวิชาจิตวิทยาและพยายามนำแนวคิดของนักเคมีซึ่งเน้นหนักในเรื่อง “องค์ประกอบของจิต” เทียบกับองค์ประกอบของธาตุต่างๆ ของเคมี เช่น ส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของสาร ซึ่งในเมื่อมวลสารทั้งหลาย สามารถนำมาวิเคราะห์ออกได้เป็นอนุภาคที่เล็กมากจนเรามองไม่เห็น ดังนั้นจิตของคนนั้นก็น่าจะแยกให้เห็นจริงๆ ได้เช่นกันและเขามีแนวคิดว่า จิต (mind) มีองค์ประกอบอิสระต่าง ๆ รวมกันเป็นโครงสร้างแห่งจิต (Faculty of mind) จิตมีโครงสร้างที่มาจากองค์ประกอบทางเคมี โดยมีส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกันมารวมกันเป็นจิต เรียกว่า “จิตธาตุ” ( Mental Elements ) นั่นคือนักจิตวิทยาพยายามที่จะค้นให้พบว่า จิต (mind) ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง หัวข้อสำคัญที่จิตวิทยากลุ่มนี้ มุ่งศึกษาอย่างแท้จริงคือ องค์ประกอบที่สำคัญของจิตในส่วนที่เรียกว่า จิตสำนึก (The Contents of Consciousness) โดยเฉพาะเท่านั้น ดังนั้นกลุ่ม Structuralism จึงจัดอยู่ในกลุ่มจิตวิทยา ที่เรียกว่ากลุ่มจิตนิยม ( Mentalism ) นี้ด้วย

ความเชื่อที่สำคัญเบื้องต้น (Basic assumption)

ความเชื่อที่สำคัญเบื้องต้นที่เป็นมูลเหตุให้นักจิตวิทยากลุ่ม Structuralism มีความสนใจมุ่งศึกษาเรื่องจิตธาตุ คือ เชื่อว่ามนุษย์ประกอบด้วยสองส่วนคือ ร่างกาย (body) และจิตใจ (mind) ซึ่งทั้งร่างกายและจิตใจต่างก็เป็นอิสระแก่กัน ต่างก็ทำงานสัมพันธ์กัน ดังนั้นพฤติกรรม(Behavior) ของบุคคลจึงเกิดจาก การกระทำของร่างกาย ซึ่งการกระทำของร่างกายนั้นย่อมเกิดจากการควบคุมและสั่งการของจิตใจนั่นเอง แนวความคิดนี้เกิดจากเรื่องจิตธาตุนั่นเอง แต่เนื่องจากจิตวิทยากลุ่ม Structuralism ได้พยายามแยกองค์ประกอบของจิตหรือจิตธาตุออกมาพิจารณาเป็นส่วนย่อยๆ บางครั้ง นักจิตวิทยาทั่วๆ ไป จึงเรียกกลุ่มนี้อีกอย่างว่า “จิตวิทยาที่ว่าด้วยองค์ประกอบของจิต” ( Faculty Psychology )

แนวคิดกลุ่มโครงสร้างของจิต

กลุ่มโครงสร้างของจิตเชื่อว่าโครงสร้างของจิตประกอบด้วย จิตธาตุ (Mental Elements) ซึ่งจิตธาตุประกอบด้วยธาตุ 3 ชนิด คือ 1. การรับสัมผัส (Sensation) 2. ความรู้สึก (Feeling) (ภายหลังนักจิตวิทยาชื่อ Titchener ได้เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างคือ จินตนาการ) 3. จินตนาการหรือมโนภาพ (Image) เมื่อจิตธาตุทั้ง 3 ชนิดนี้มาสัมพันธ์กันภายใต้สถานการณ์แวดล้อมที่เหมาะสมก็จะก่อให้เกิดรูปจิตผสมขึ้นและจิตผสมนี้เองทำให้บุคคลเกิด ความคิด (Thinking) อารมณ์ (Emotion) ความจำ (Memory)และการหาเหตุผลหรือสาเหตุ (Reasoning) และอื่นๆ เป็นต้น โดยเป็นแบบเดียวกัน กับทางเคมีที่โฮโดรเจนเมื่อรวมตัวกับออกซิเจนภายใต้สัดส่วนที่เหมาะสมและความกดดันที่พอดีก็จะได้เป็นน้ำนั่นเอง

แนวคิดจิตวิทยากลุ่มโครงสร้างของจิต(Structuralism) มีอิทธิพลและบทบาทสำคัญคือ

1. ความเชื่อในเรื่ององค์ประกอบของบุคคลซึ่งนักจิตวิทยายอมรับว่าบุคคลประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ โดยจิตใจยังแบ่งย่อยๆ ได้ เช่น ส่วนที่เกี่ยวกับการคิด ส่วนที่เกี่ยวกับความจำส่วนที่เกี่ยวกับความรักสวยรักงาม เป็นต้น

2. การยอมรับเอาระเบียบวิธีการที่ว่าด้วย การแยกจิตออกฝึกเป็นส่วน ๆ (Method of Mental of Formal Discipline) สามารถนำมาใช้ในการจัดการศึกษา นักการศึกษาเชื่อว่าบุคคลมีลักษณะอย่างเดียวกับวัตถุ(Material)หรือเครื่องจักรกล หากต้องบุคคลต้องการฝึกจิตธาตุส่วนใดให้มีความสามารถ ต้องก็ต้องฝึกฝนเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะ เช่น การฝึกทักษะด้านความจำบุคคลก็ต้องฝึกให้ท่องจำ ด้านการคิดต้องให้เรียนวิชาที่ส่งเสริมการคิดต่างๆ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นต้น ทั้งนี้เพราะความเชื่อที่ว่าจิตของคนเราแยกออกเป็นส่วนๆ ดังนั้นถ้าต้องการให้ส่วนไหนมีความสามารถ มีทักษะทางใดก็ต้องมุ่งฝึกส่วนนั้นมากเป็นพิเศษบุคคลก็จะมีความชำนาญด้านนั้นๆ ตามที่ต้องการ อย่างในปัจจุบันมีการฝึกคณิตคิดเร็วใช้ชื่อเรียกต่างกันเช่น จินตคณิต เป็นต้น

2. แนวคิดกลุ่มหน้าที่ของจิต ( Functionalism )

กลุ่มหน้าที่ของจิตเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1900 ผู้ให้กำเนิดหรือผู้นำกลุ่มหน้าที่ของจิตคือ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey. 1859 – 1952) ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิชาการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยชิกคาโก วิลเลี่ยม เจมส์ (William James. 1842 – 1910) ศาสตราจารย์จิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และวิลเลี่ยม เจมส์ ได้เขียนตำราจิตวิทยาเล่มแรกของโลกชื่อ Principles of Psychology นอกจากนี้ยังมีนักจิตวิทยาคนสำคัญอื่นๆ อีก เช่น วูดเวอร์ธ (Woodworth) และเจมส์ แองเกลล์ (James Angell)

จิตวิทยากลุ่มนี้มีแนวความคิดมาจาก ลัทธิปรัชญากลุ่มปฏิบัตินิยม (Pragmatism) และทฤษฎีที่สำคัญทางชีววิทยา อันได้แก่ ทฤษฎีที่ว่าด้วยวิวัฒนาการ (Theory of Evolution) ของ Charles Darwin ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ Origin of Species เมื่อ ค.ศ. 1859 ดังนั้นกลุ่มFunctionalism จึงเกิดจากการรวมกันระหว่างทฤษฎีของดาร์วิน (Darwinian theory) กับลัทธิ ปรัชญาที่เน้นความสำคัญของการปฏิบัติจริง (Pragmatic Philosophy) โดยที่ทฤษฎีวิวัฒนาการอธิบายว่าสัตว์ที่ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ จะต้องต่อสู้และปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมที่มันอยู่เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเห็นว่า ในการที่จะทำความเข้าใจให้เข้าใจถึงการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ได้ ควรต้องศึกษาถึงหน้าที่ของจิตต่อการปรับตัว ภายใต้จิตสำนึกมากกว่าและกลุ่ม Functionalism สนใจเรื่องพฤติกรรมมาก เรื่องที่เขาเน้นหนักจริงๆ ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีแนวคิดมุ่งหนักไปในด้านหน้าที่ของจิตที่เรียกว่า the functions หน้าที่ของจิตจึงสำคัญกว่าจะศึกษาองค์ประกอบโครงสร้างของจิต แต่สนใจว่าจิตทำหน้าทีอะไร ทำอย่างไรจึงจะศึกษาทั้งกระบวนการทางจิตและสถานะของจิตพร้อมกับอากัปกิริยาที่แสดงออกให้ปรากฏทางกาย กล่าวคือในการศึกษาพฤติกรรมนั้นจะสนใจศึกษาทั้งอากัปกิริยาที่แสดงออกภายนอกและความรู้สึกภายใน กระบวนการปรับตัวของร่างกาย ให้เหมาะกับ สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสัญชาติญาณทำให้จิตมีหน้าที่ควบคุมการกระทำกิจกรรมต่างๆ ของร่างกาย คำว่า “จิต”ตามความคิดของกลุ่มFunctionalism นั้นก็คือกระบวนการกระทำกิจกรรมของร่างกายในอันที่จะปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมนั้นเอง และวิชาจิตวิทยานั่นก็คือ วิชาที่ศึกษาถึงสถานะของจิตและในขณะเดียวกันการที่จะศึกษาแต่จิตและกระบวนการปรับตัวของจิตแต่อย่างเดียวยังไม่พอเพียงเราจะต้องศึกษาถึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งประกอบ ด้วยเรื่องสัญชาติญาณ (Instinct) ซึ่งนับเป็นหลักใหญ่ของพวก Functionalism นี้ด้วย ผู้ที่จะมีความสุขในสังคมได้ก็จะต้องรู้จัก ปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้เป็นอย่างดี และบุคคลจึงควรตระหนักถึงหลักสำคัญเรื่องการปรับตัวของร่างกายให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม กลุ่มนี้มีความเห็นว่า การศึกษาจิตวิทยานั้น ควรศึกษาจิตสำนึกในลักษณะของการใช้ประโยชน์ นั่นคือ ศึกษาจิตในรูปของการกระทำกิจกรรมต่างๆ ในอันที่จะทำให้มนุษย์ปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเรียนรู้ที่จะช่วยให้คนปรับตัวดีขึ้นจะเห็นว่าลักษณะสำคัญของกลุ่ม Functionalism มีส่วนคล้ายกับกลุ่ม Structuralism อยู่ 2 ประการคือ ทั้ง 2 กลุ่มต่างก็เป็นจิตวิทยาในกลุ่มจิตนิยม (Mentalism) และอาศัยระเบียบวิธีทางปรัชญา (Philosophical Psychology) เช่นเดียวกัน และต่างมุ่งศึกษาเฉพาะจิตที่รู้สำนึก ( Consciousness ) เช่นกัน

ส่วนที่แตกต่างกันคือกลุ่ม Structuralism มีความสนใจมุ่งศึกษาให้เข้าใจส่วนประกอบของจิตหรือจิตธาตุ ส่วนกลุ่ม Functionalism มุ่งศึกษาให้เข้าใจ หน้าที่ของจิตกระบวนการทางสมอง เช่น การนึก การคิด เป็นหน้าที่ของจิตที่บัญชาให้บุคคลปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมเข้ากับตน เป็นต้นว่าบุคคล สวมเสื้อผ้า เพราะจิตสั่งให้สวมเพื่อความอบอุ่นและเข้ากับสภาพสังคม นั่นคือ เป็นหน้าที่หรือ Function ของมนุษย์ที่จะต้องทำ สิ่งที่บังคับให้ทำก็คือ ความต้องการที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หรือปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตน จึงพอสรุปหน้าที่ของจิตได้ว่า “จิตมีหน้าที่ในการควบคุมกระบวนการกระทำกิจกรรมต่างๆ ของร่างกายในอันที่จะปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม Dewey เชื่อว่า การคิดของมนุษย์มุ่งเพื่อการแก้ปัญหา เพื่อลดความเครียดและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถึงแม้ว่า William James (1842–1910) เชื่อว่า สัญชาตญาณ (Instinct) เป็นลักษณะหรือสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ อย่างไรก็ดีแนวคิดนี้นักจิตวิทยาชื่อ John Dewey (1859 – 1952) เชื่อว่าประสบการณ์ (Experience) เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมา R.S. Woodworth ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับปฏิกิริยาตอบสนอง เราอาจสรุปแนวความคิดของกลุ่มหน้าที่นิยมหรือ Functionalism ได้ว่ามี 2 ประการคือ

1. การกระทำทั้งหมด ( The total activities ) หรือการแสดงออกของคนเราเป็นการแสดงออกเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในการศึกษาจิตใจคน ก็ต้องศึกษาการแสดงออกของเขาในสถานการณ์นั้น ๆ

2. การกระทำหรือการแสดงออกทั้งหมดขึ้นอยู่หรือเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของแต่ละคน (The experience individual) เสมอ พฤติกรรมของคนจึงแตกต่างกัน

นักจิตวิทยากลุ่มนี้จึงมุ่งศึกษาวิธีการเรียนรู้ การจูงใจ การแก้ปัญหา ตลอดจนความจำของคนเพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้

แนวคิดของกลุ่ม Functionalism มีอิทธิพลมากต่อวงการศึกษาปัจจุบัน เนื่องจากความ มุ่งหมายของการศึกษาประการหนึ่งก็คือ เพื่อให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วยความผาสุกและ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นบุคคลต้องศึกษาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสังคม การอบรมเลี้ยงดู (Socialization) และการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ เป็นปรัชญาการศึกษาซึ่งได้กลายมาเป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษาที่สำคัญว่า“การศึกษาคือปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม” วิธีการเรียนการสอนต้องให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์มากที่สุดจึงจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจ

3. แนวคิดกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)

กลุ่มพฤติกรรมนิยมมีผู้นำของกลุ่มคือ จอห์น บี วัตสัน (John B. Watson, 1878 – 1958) เป็นผู้ที่มีความคิดค้านกับแนวคิดของกลุ่มโครงสร้างของจิต ที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ด้วยวิธีการย้อนไปตรวจสอบตนเอง (introspection) เพราะเขาเห็นว่าวิธีการตรวจสอบตนเองค่อนข้าง เกิดอคติได้ง่ายและ ยังไม่เป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์ เพราะผลที่เกิดมักมีแนวโน้มที่เกิดจากเจตคติส่วนบุคคลไปในทางใดทางหนึ่งแล้วแต่ความรู้สึกของผู้ศึกษาเอง จอห์น บี วัตสัน เห็นว่าควรใช้วิธีการที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ที่เห็นได้และเขาเป็นผู้เสนอให้มีการศึกษา พฤติกรรมของมนุษย์ในด้านที่สังเกตและมองเห็นได้

การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในแนวใหม่ของวัตสันจึงได้จัดเป็นวิธีการศึกษาในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กล่าวโดยสรุป แนวคิดของกลุ่ม พฤติกรรมนิยมเน้นว่า พฤติกรรมทุกอย่างต้องมีเหตุและสาเหตุนั้นอาจมาจากสิ่งเร้าในรูปใดก็ได้ที่มากระทบกับอินทรีย์หรือร่างกาย จึงทำให้อินทรีย์แสดงพฤติกรรมตอบสนอง กลุ่มพฤติกรรมนิยมจึงใช้วิธีการศึกษาพฤติกรรมด้วยวิธีการทดลอง และการสังเกตอย่างมีระบบ และสรุปว่าการวางเงื่อนไข (Conditioning) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรมและสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ พฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์เกิดได้จาก การเรียนรู้มากกว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจากศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของสัตว์ที่ถูกทดลอง สามารถช่วยให้เราเกิดความเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลได้ กลุ่มแนวคิดนี้ใช้วิธีการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ด้วยวิธีการทดลอง ประกอบกับวิธีการสังเกตอย่างมีระบบแบบแผน นักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมนี้ศึกษาเฉพาะพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ ดังนั้นกลุ่มนี้ จะไม่ยอมรับวิธีการศึกษาแบบสังเกตตนเอง โดยกล่าวหาว่า การสังเกตตนเองไม่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่น่าเชื่อถือ แต่กลุ่มนี้มุ่งศึกษาเฉพาะพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ โดยเชื่อว่าเขาจะทราบถึงเรื่อราวของจิตก็โดยการศึกษาจากพฤติกรรมที่แสดงออกเท่านั้น

นักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมได้อธิบายแนวคิดกลุ่มพฤติกรรมนิยมไว้ 3 ประการ คือ

1. การวางเงื่อนไข (Conditioning) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังการทดลองของ Pavlov และ Skinner เชื่อว่าสามารถ ใช้วิธีฝึกฝนอบรมที่เหมาะเพื่อฝึกเด็กให้มี พฤติกรรมตามที่เราปรารถนาได้ โดยใช้วิธีการวางเงื่อนไขกับเด็ก เพื่อให้เกิดพฤติกรรมอันเป็นผลจาก การเรียนรู้มากกว่าสัญชาติญาณ หรือคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด

2. พฤติกรรมของคนที่ปรากฏขึ้นส่วนมาก เกิดจากการเรียนรู้มากกว่าจะเป็นไปเองตาม ธรรมชาติ ( Behaviorism was its emphasis on Learned rather than unlearned ) ดังการทดลองของ Watson โดยอินทรีย์ถูกวางเงื่อนไขให้แสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้น การตอบสนองนี้อาจเกิดจาก กลไกของสรีระ คือต่อมต่างๆ ประสาท กล้ามเนื้อ และพฤติกรรมอันสลับซับซ้อนของอินทรีย์นั้น เป็นผลรวมของปฏิกิริยาตอบสนองย่อย ๆ ที่เชื่อมโยงกันในรูปต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนเรียกจิตวิทยาเชิงเร้าและการตอบสนอง ( Stimulus Response Psychology )

3. การเรียนรู้ของคนกับสัตว์ไม่ต่างกันมาก การทดลองกับสัตว์เป็นการง่ายกว่าที่จะทดลองกับ คนสามารถเรียนรู้เรื่องของคนโดยการศึกษาจาก สัตว์ได้เป็นอันมาก เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนได้จากการศึกษา พฤติกรรมของสัตว์ นักจิตวิทยากลุ่มนี้คือ เอดเวิด ธอร์นไดด์ ( Edward Thorndike ) และ คลาร์ก แอล ฮุลล์ ( Clark L. Hull ) จึงได้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ขึ้นโดยอาศัยจากการทดลองกับสัตว์

เปรียบเทียบกับกลุ่ม Structuralism และ Functionalism เห็นว่า สองกลุ่มนั้นมุ่งศึกษาเฉพาะจิตที่รู้สึกนึกและเป็นการศึกษาจากภายใน ของสิ่งที่มีชีวิต ออกมาข้างนอก ส่วนกลุ่ม Behaviorism มุ่งศึกษาเฉพาะพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ (Observable Behavior) เป็นการศึกษาจาก ภายนอกของสิ่งที่มีชีวิต เพื่อจะเข้าใจข้างใน โดยสองกลุ่มแรกใช้ระเบียบวิธีการสังเกตตนเอง ( Introspection method)ซึ่งเป็นวิธีการแบบอัตนัย (Subjective method) ส่วนกลุ่ม Behaviorism ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์(Scientific method)หรือระเบียบวิธีแบบอัตนัย(Objective method) มุ่งปรับปรุงเนื้อหาสำคัญ ของวิชาจิตวิทยาให้ได้มาตรฐานเดียวกันกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ ให้เห็นว่า “จิตวิทยาคือหมวดความรู้ที่ว่าด้วยพฤติกรรม“( Psychology as a science of behavior ) เพื่อให้เข้าใจง่ายและสรุปแนวทัศนะเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. กลุ่ม Behaviorism ปรับปรุงใหม่ทั้งด้านเนื้อหา ( Content of Subject matter ) ระเบียบวิธี ( Method ) เป็นวิทยาศาสตร์และเหมือน วิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ

2. มุ่งศึกษาเฉพาะพฤติกรรมที่สังเกตได้หรือสามารถวัดได้(Observable or Measurable Behavior ) ศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับกลไกทางสรีรวิทยา ( Physiological mechanisms ) เช่นการทำงานของต่อม ระบบประสาท กล้ามเนื้อ

นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมแบ่งพฤติกรรมเป็น 2 ลักษณะ คือ พฤติกรรมที่มีการเคลื่อนไหวภายนอก ( Explicit movement ) เป็นพฤติกรรมที่สามารถสังเกตเห็นหรือวัดได้ เช่น การนั่ง นอน กิน เดิน เป็นต้นกับ พฤติกรรมที่มีการเคลื่อนไหวภายใน (Implicit movement) เป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตานอกจากวัดด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม (Sensitive Instruments) เช่น การคิด การเกร็งของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ การตื่นเต้นจนทำให้หัวใจเต้นแรง เป็นต้น

3. ยอมรับเฉพาะระเบียบวิธีแบบปรนัย ( Objective Method ) หรือระเบียบวิธีที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ ใช้กัน ไม่ยอมรับวิธีการสังเกตตนเอง ( Introspection Method ) หรือลักษณะวิธีอัตนัย ( Subjective Method ) ต้องการให้ระเบียบวิธีทางจิตวิทยา ( Psychology Method ) เป็นสากล

4. มุ่งเน้นศึกษาพฤติกรรมโดยเฉพาะ ต้องการให้วิชาจิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ พฤติกรรม จึงมีการทดลองต่างๆ เพื่อเทียบเคียงพฤติกรรม ของมนุษย์ว่า ที่บุคคลแสดงพฤติกรรมเช่นนี้เป็นเพราะเหตุผลใด

5. ยอมรับเฉพาะข้อมูล ( Data ) ที่ได้จากระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น นำเอาระเบียบวิธีการสังเกตพฤติกรรม ( Behavior method ) มาใช้เป็นสำคัญ ข้อมูลที่ได้จากการสังเกต ผู้สังเกตจะต้องบันทึกเฉพาะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พบเห็นจริง ๆ เท่านั้น ไม่บันทึกความรู้สึกลงไปด้วย

กลุ่ม Behaviorism ประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม เช่น

1. กลุ่มที่อาศัยความรู้ความเข้าใจเรื่องสมอง (Cerebrology) กลุ่มนี้นำเอาความรู้ความเข้าใจในวิชาสรีรวิทยาใช้ในการอธิบายเรื่องพฤติกรรม เชื่อว่าอวัยวะนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญและทำหน้าที่ในการแสดงพฤติกรรมได้แก่ สมอง หรือ ระบบประสาทส่วนกลาง

2. กลุ่มที่อาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องปฏิกิริยาสะท้อน (Reflexology) มุ่งศึกษา พฤติกรรมง่าย ๆ และการแสดงปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex) เช่น การศึกษาเรื่องการเกิดปฏิกิริยาตอบ สนอง หรือการเกิดปฏิกิริยาสะท้อนแบบวางเงื่อนไข (Conditioned Response or Reflex)

การแสดงปฏิกิริยาสะท้อน (Reflex) ย่อมต้องอาศัยสิ่งเร้า (Stimulus) ทำหน้าที่กระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตแสดงปฏิกิริยาสะท้อนออกมา อินทรีย์ (Organism) อันมีประสาทสัมผัส (Receptor หรือ Sensory neurons) ทำหน้าที่รับการเร้าจากสิ่งเร้าแล้วรายงานไปยังประสาทส่วนกลาง ประสาทที่เกี่ยวกับ การเคลื่อนไหว (Effectors หรือ Motor neurons) ทำหน้าที่บงการหรือก่อให้เกิดการแสดงปฏิกิริยาตอบสนองสิ่งเร้า

การวางเงื่อนไขสามารถนำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ สัตว์ต่างๆ ได้หลายชนิด สุนัข ช้าง เสือหรือแม้แต่ สัตว์ที่เราหลายคนมักคิดว่าไม่เชื่องก็นำมาฝึกได้

4. แนวคิดกลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)

กลุ่มจิตวิเคราะห์มีผู้นำแนวคิดคนสำคัญคือ ซิกมันต์ ฟรอยด์ ( Sigmund Freud ) เป็นจิตแพทย์ชาวเวียนนา ได้ศึกษาวิเคราะห์จิตของมนุษย์และอธิบายว่า พลังงานจิตทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์มี 3 ลักษณะ

1. จิตสำนึก ( Conscious Mind ) หมายถึง ภาวะจิตที่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา

2. จิตกึ่งสำนึก ( Sub consciousus Mind ) หมายถึง ภาวะจิตที่ระลึกได้

3. จิตไร้สำนึก (Unconscious Mind) หมายถึง ไม่อยู่ในภาวะที่รู้ตัว

ฟรอยด์อธิบายว่าโครงสร้างทางจิตประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ Id ,Ego และ Superego ดังมีรายละเอียดคือ

1. อิด (Id) หมายถึง ตัณหา หรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ ขัดเกลา ซึ่งทำให้มนุษย์ทำทุกอย่างเพื่อความพึงพอใจของตน หรือทำงานตามหลักของความพอใจ (Law of Pleasure) โดยไม่คำนึงถึงสิ่งใด เปรียบเสมือนสันดานดิบของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น สัญชาติญาณแห่ง การมีชีวิต (Life Instinct) เช่น ความต้องการอาหาร ความต้องการทางเพศ ความต้องการหลีกหนีจากอันตรายกับสัญชาติแห่งการตาย (Death Instinct) เช่น ความต้องการที่รุนแรง ความก้าวร้าว หรือการทำอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น เป็นต้น

2. อีโก้ (Ego) หมายถึง ส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมที่เกิดจากความต้องการของ id โดยอาศัยกฎเกณฑ์ทางสังคม และหลักแห่งความจริง (Reality Principle) มาช่วยในการตัดสินใจไม่ใช่แสดงออกตามความพอใจของตนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดแสดงออกอย่างมีเหตุมีผลด้วย

3. ซุปเปอร์อีโก (Super Ego) หมายถึง มโนธรรมหรือจิตส่วนที่ได้รับการพัมนาจากประสบการณ์ การอบรมสั่งสอนหรือกระบวนการสังคมประกิต โดยอาศัยหลักการศิลธรรมจรรยา ขนบธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมต่าง ๆ ในสังคมนั้น Super Ego จะเป็นตัวบังคับและควบคุมความคิดให้แสดงออก ในลักษณะที่เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม โครงสร้างจิต 3 ระบบนี้ มีความสัมพันธ์กัน ถ้าทำงานสัมพันธ์กันดี การแสดงออกหรือบุคลิกภาพก็เหมาะสมกับตน แต่ถ้าโครงสร้างทั้ง 3 ระบบ ทำหน้าที่ขัดแย้งกันบุคคลก็จะมีพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพที่ไม่ราบรื่นผิดปกติหรือไม่เหมาะสม แนวความคิดกลุ่มนี้เชื่อในเรื่องจิตไร้สำนึก (Unconscious Mind) ซึ่งอยู่ระหว่างจิตสำนึกที่รู้ตัว มีสติสัมปชัญญะ กับจิตไร้สติสัมปชัญญะ หรือที่เรียกว่า จิตไร้สำนึกนี้จะรวบรวมความคิด ความต้องการ และประสบการณ์ที่ผู้เป็นเจ้าของจิตไม่ต้องการ หรือไม่ปรารถนาจะจดจำจึงเก็บกดความรู้สึกต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ให้อยู่ในจิตส่วนนี้และหากความคิด ความต้องการ หรือความรู้สึกต่างๆ ทีบุคคลเก็บกดไว้ยังมีพลังอยู่ ถ้าเกิดมีสิ่งใดมากระตุ้นขึ้น พลังที่ถูกเก็บไว้จะแสดงอิทธิพลทำให้บุคคลเกิดพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่รู้สึกตัว อนึ่ง ประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็ก โดยเฉพาะช่วงแรกเกิดถึง 5 ขวบ ที่เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูที่เด็กได้รับจะฝังแน่นอยู่ในจิตไร้สำนึกและอาจจะแสดงเมื่อถูกกระตุ้นโดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ฟรอยด์ก็ได้กล่าวถึงพัฒนาการของมนุษย์ไว้อีกด้วย

พัฒนาการบุคลิกภาพ

ตามแนวคิดของ ฟรอยด์ แบ่งการพัฒนาการบุคลิกภาพออก เป็น 5 ขั้น ดังนี้

1. ขั้นปาก (Oral Stage) แรกเกิด 1 – 2 ขวบ หมายถึง ความสุข และความพอใจของเด็กจะอยู่ที่ได้รับการตอบสนองทางปาก เช่น การดูดนม การสัมผัสด้วยปากหาเด็กได้รับการตอนสนองเต็มที่ เด็กก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพเหมาะสมหากตรงกันข้ามเด็กจะเกิดความชะงัก ถดถอยหรือ การยึดติด (Fixation)และมาแสดงพฤติกรรมในช่วงนี้อีกในวัยผู้ใหญ่ เช่น ชอบนินทาว่าร้าย สูบบุหรี กินจุบกินจิบ เป็นต้น

2. ขั้นทวารหนัก (Anal Stage) อายุ 2 – 3 ขวบ หมายถึงความพอใจอยู่ที่การขับถ่ายเมื่อมีวุฒิภาวะ ฉะนั้น การฝึกฝน ฝึกหัด การขับถ่ายอย่างค่อย เป็นค่อยไป ด้วยวิธีผ่อนปรนและประนีประนอม และให้เรียนรู้การขับถ่ายเป็นเวลา จะทำให้เด็กไม่เกิดความเครียด และสามารถพัฒนาบุคลิกภาพ ที่เหมาะสมได้ ตรงกันข้ามหากเด็กได้รับการลงโทษ และฝึกหัดด้วยวิธีรุนแรงจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่พอใจ และเก็บความรู้สึกที่ไม่ดีไว้ที่จิตไร้สำนึก และจะมีผลต่อบุคลิกภาพในเวลาต่อมา กล่าวคือเป็นคนขี้เหนียว เจ้าระเบียบ ชอบทำร้ายให้ผู้อื่นเจ็บปวด ชอบย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น

3. ขั้นอวัยวะเพศ (Phallic Stage) อายุ 3 – 5 ขวบ หมายถึงความสนใจของเด็กจะเปลี่ยนมาสนใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศ มักถามว่าตนเกิดมาจากทางไหน ฯลฯ ในขั้นนี้เด็กจะรักพ่อแม่ที่เป็นเพศ ตรงข้ามกับตน และลักษณะเช่นนี้ ทำให้เด็กเลี่ยนแบบบทบาททางเพศจากพ่อหรือแม่ที่เป็น ตัวแบบ หากพ่อแม่ปฏิบัติตามบทบาทที่ดี เหมาะสมเป็นตัวแบบที่ดี เด็กก็จะเลียนแบบและพัฒนา บทบาททางเพศของตนได้อย่างดี แต่ถ้าเกิดการติดตรึง (Fixation) ในขั้นนี้ เมื่อโตขึ้นอาจมีพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น รักร่วมเพศ (Homosexuality) กามตายด้าน (Impotence) ชาเย็นทางเพศ (Frigidity) เป็นต้น

4. ขั้นแฝง (Latency Stage) อายุ 6 – 12 ขวบ หมายถึงเป็นระยะก่อนที่เด็กจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่น จะมีความสนใจในเพื่อนเพศเดี่ยวกัน

5. ขั้นวัยรุ่น (Genital Stage) อายุ 13 – 18 ขวบ หมายถึงเด็กหญิงจะเริ่มมีความสนใจเด็กชายและเด็กชายก็เริ่มมีความสนใจเด็กหญิง ในช่วงนี้จะเป็นระยะที่จะมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศอย่างแท้จริง

นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่าพฤติกรรมทั้งหลายมีสาเหตุเกิดจากพลังผลักดันทางเพศ ความคิดคิดเช่นนี้ได้รับการต่อต้านอย่างมากในระยะแรก ๆ แต่ต่อมา หลักการ ทางจิตวิเคราะห์ก็ได้รับการยอมรับในการนำไปใช้ในวงงานของจิตแพทย์ หรือการบำบัดรักษาอาการที่ผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ กลุ่มนี้ใช้วิธีการศึกษาด้วยระบบความในใจอย่างเสรี (Free Association) อย่างไรก็ดีในที่นี้จะเปรียบเทียบกลุ่มจิตวิเคราะห์กับกลุ่มโครงสร้างทางจิต และหน้าที่ทางจิต

กลุ่ม Psychoanalysisเชื่อว่าจิตไร้สำนึก ( Unconscious mind ) บทบาทสำคัญต่อการแสดงพฤติกรรมของ มนุษย์เป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดพลังทางจิตที่ ก่อให้เกิดการแสดงพฤติกรรมมีความเห็นว่าการที่มนุษย์แสดงพฤติกรรมออกไปนั้นจะถือว่าเป็นการกระทำตามหลัก แห่งเหตุ (Rational behavior) ก็ไม่ใช้หรือ จะถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้สอดคล้อง กับหลักแห่งศีลธรรม(Moral behavior)ก็ไม่ เชิงเพราะเหตุว่า พฤติกรรมของมนุษย์นั้น เกิดจากพลังของจิตที่ไร้สำนึก

กลุ่ม Structuralism / Functionalism ถือว่าจิตรู้สำนึก ( Conscious mind ) มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการแสดงพฤติกรรมของบุคคล และถือเป็นแหล่งพลังที่ ก่อให้เกิดการแสดงพฤติกรรมมีความเห็นว่า มนุษย์คือสัตว์สังคมย่อมประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบทางด้านศีลธรรม และวัฒนธรรมพฤติกรรมของบุคคล จึงเป็นกระบวนวิธีที่อาศัยสติปัญญาหรือการกระทำที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีเหตุมีผล

เหตุที่ทฤษฎีของ Freud ถูกคัดค้านโจมตี

1. ถูกโจมตีว่ามองโลกในแง่ร้าย (Pessimistic) เพราะใช้ถ้อยคำแปลก เช่น Freud กล่าวว่า “ จุดมุ่งหมายของชีวิตคือความตาย “ (The goal of all life is death) ใช้ศัพท์ถ้อยคำชวนมองโลกในแง่ร้าย เช่น สัญชาติญาณแห่งความตาย (Death instincts) สัญชาติญาณแห่งการดำรงพันธุ์ (Sexual instincts) การก้าวร้าว (Aggression) ความรู้สึกสำนึกในความคิด (Guilt)

2. กลุ่มทดลองมีขอบเขตจำกัด เพราะ Freud สังเกตพฤติกรรมของชาวยุโรปซึ่งมีฐานะ ปานกลางที่ค่อนข้างสูง หรือระดับสูง (The upper middle or the upper class Europeans) จึงถือว่าทฤษฎีของ Freud เป็นจริงสำหรับบางสังคมเท่านั้น ไม่จริงสำหรับบุคคลในสังคมทั่วไป

3. ทฤษฎีของ Freud ไม่คงที (Dynamics) ไม่แน่นอนตายตัว เพราะ Freud ได้พยายามค้นคว้าและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและความไม่ชัดเจนของคำอธิบายที่ Freud สร้างขึ้น

5. แนวคิด กลุ่มจิตวิทยาเกสตอล (Gestalt Psychology)

กลุ่มจิตวิทยาเกสตอล แนวความคิดกลุ่มนี้ เกิดในประเทศเยอรมันนีราวปี ค.ศ. 1912 คำว่า Gestalt เป็นภาษาของเยอรมัน แปลว่า “โครงรูปแห่งการรวมหน่วย” ผู้นำของกลุ่มนี้ คือ แมกซ์ เวิทโฮเมอร์ ( Max Wertheimer 1880 – 1943 ) และมีผู้ร่วมงานคือ เคิท คอฟก้า ( Kurt Koffka 1886 – 1941 ) วูล์ฟแกงเคอเลอร์ ( Wolfkang Kohler ) ภายหลังบุคคลเหล่านี้ได้อพยพมาอยู่ในอเมริกา แนวความคิดที่สำคัญของนักจิตวิทยากลุ่มนี้คือ การพิจารณา พฤติกรรมหรือประสบการณ์ของคนเป็นส่วนรวมซึ่งส่วนรวมนั้นมีค่ามากกว่าผลบวกของส่วนย่อย ๆ ต่าง ๆ มารวมกัน เช่น คนนั้นมีค่ามากกว่าผลบวกของส่วนย่อยต่าง ๆ เช่น แขน ขา ลำตัว สมอง เป็นต้น

แนวคิดของกลุ่มนี้เชื่อว่า ในด้านการรับรู้ของบุคคลนั้นบุคคลจะลักษณะในรูปของการรับรู้ในส่วนรวม (The whole) เช่น สนามหญ้าเรามองเห็นเป็นสนาม เพราะเราไม่มองต้นหญ้าแต่ละต้นที่มาอยู่รวมกัน แต่เรามองพื้นที่และรูปร่างทั้งหมด

คำว่าเกสตอล (Gestalt) มาจากภาษาเยอรมัน ซึ่งหมายถึงส่วนร่วมทั้งหมดกลุ่มนี้มีแนวคิดว่า การเรียนรู้เกิดได้จากการจัดสิ่งเร้าต่าง ๆ มารวมกัน เริ่มต้นด้วยการรับรู้โดยส่วนรวมก่อน แล้วจึงจะสามารถแยกวิเคราะห์เรื่องราวเรียนรู้ส่วนย่อยที่ละส่วนต่อไป (Field Theory) และยังคงใช้หลักการเดียวกัน นั่นก็คือ การเรียนรู้ของบุคคลจะเป็นไปได้ด้วยดีและสร้างสรรค์ถ้าเขาได้มีโอกาสเห็นภาพรวมทั้งหมดของสิ่งที่จะเรียนเสียก่อนเมื่อเกิดภาพรวมทั้งหมดแล้ว ก็เป็นการง่ายที่บุคคลนั้นจะเรียนสิ่งที่ละเอียดปลีกย่อยต่อไป

แมกซ์ เวิทโฮเมอร์ (Max Wertheimer) และมีผู้ร่วมงานคือ เคิท คอฟก้า (Kurt Koffka) วูล์ฟแกงเคอเลอร์ (Wolfkang Kohler)ได้คิดค้นไฟฟ้าที่อยู่นิ่งๆ ดูเหมือนเคลื่อนไหวได้วิธีการของเขาคือเปิดหลอดไฟฟ้าไว้ 3 ดวง หลอดไฟ 2 ดวงเปิดไว้ตลอดเวลาแต่อีกดวงหนึ่งเปิดและเปิดในเวลาห่างกันเล็กน้อยทำเช่นนี้ซ้ำๆ ภาวะการณ์นี้ทำให้เราเห็นเหมือนไฟฟ้าเคลื่อนไหวได้เรียกว่า Phi phenomenon (ปัจจุบันนี้เรียกว่า apparent motion) จีราภา เต็งไตรรัตน์(2547: 16)

นักจิตวิทยาทั้งสามท่านอธิบายว่า การให้คำอธิบายการเคลื่อนไหวได้ของไฟฟ้าในการทดลองดังกล่าว ไม่สามารถอธิบายโดยแยกอธิบายเฉพาะ เพียงเกิดจาก หลอดไฟ 2 ดวงหรือ 1 ดวง แต่เป็นการรับรู้หลอดไฟทั้งสามดวงพร้อมกันทั้งหมดซึ่งเรียกในภาษาเยอรมันว่า “Gestalt”

ปัจจุบันได้มีผู้นำเอาวิธีการเรียนรู้ของกลุ่มเกสตัลท์มาใช้อย่างกว้างขวางโดยเหตุที่เชื่อในผลการศึกษาค้นคว้าที่พบว่า ถ้าให้เยาวชนได้เรียนรู้โดยหลักของเกสตอลแล้ว เด็กเหล่านี้จะมีสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์และความรวดเร็วในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น หลักสำคัญของการเรียนรู้ของแนวคิดจิตเกสตอล ประกอบด้วย การรับรู้และการหยั่งเห็น ดังอธิบายคือ

1. การรับรู้ ( Perception ) หมายถึง การแปลความหมายหรือการตีความจากสิ่งเร้าที่สัมผัส การรับรู้นี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ

1.1 ภาพ ( Figure ) หมายถึง ส่วนสำคัญที่ต้องการเน้นให้เกิดการรับรู้

1.2 พื้น ( Ground ) หมายถึง ส่วนประกอบที่ทำให้ภาพชัดเจนขึ้น

ต่อมาในระยะหลังแนวคิดจิตวิทยาเกสตอล จัดเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อจิตวิทยาหลายสาขา เช่น จิตวิทยาการบำบัด จะใช้แนวคิดของจิตวิทยาเกสตอล เป็นอย่างมาก วิธีการที่ใช้คือ คือ การสังเกตแบบปรากฏการณ์ หรือเรียกว่า Phenomenology เป็นการพิจารณาจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติที่ปรากฏให้เราเห็น อย่างไรก็ดีแนวคิดจิตวิทยาเกสตอลสนใจเรื่อง การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์จะศึกษามนุษย์ทั้งหมดที่เป็นตัวเขา

2. การหยั่งรู้ (Insight) หมายถึง การเรียนรู้หรือแก้ปัญหาได้โดยการตระหนักรู้ด้วยตนเองอย่างทันทีทันใด สามารถมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้ ตั้งแต่ต้นจนจบ กระบวนการซึ่งความสามารถในการหยั่งรู้ของบุคคลขึ้นอยู่ประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อน ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับปัญหาที่ต้องขบคิดนั้น ดังแสดงใน

แนวคิดกลุ่มมนุษยนิยม ( Humanism )

กลุ่มมนุษยนิยมมีผู้นำที่สำคัญในกลุ่มคือ คาร์ล อาร์ โรเจอร์ส (Carl R. Rogers) และ อับบราฮัม เอ็ช มาสโลว์ ( Abraham H. Maslow )

ความเชื่อเบื้องต้น ของนักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)คือ

1. เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่งที่มีจิตใจ มีความต้องการความรัก มีความต้องการความอบอุ่น มีความเข้าใจ มีความสามารถเฉพาะตัว มีขีดจำกัด ไม่สามารถจะเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นอะไรก็ได้ตามใจชอบและมนุษย์มีความดีงามติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวคิดแตกต่างจากกลุ่มพฤติกรรมนิยมที่เห็นว่าเราสามารถกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยกันได้

2. เชื่อว่ามนุษย์เราทุกคนต่างก็พยายามจะรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ( Self actualization ) และยอมรับในสมรรถวิสัยของตนเอง

แนวความคิดจากกลุ่มนี้ เป็นที่ยอมรับและใช้เป็นหลักในบริการแนะแนว ( Guidance service ) และยังนำหลักการไปปรับใช้ในด้านการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตรเน้นให้นักเรียนรู้จักเสาะแสวงหาความรู้ตนเองให้มีอิสระ เสรี ในเรื่องการพูด คิด ทำ สามารถจะสนองความต้องการและความสนใจ ในการสอนก็ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล กิจกรรมทุกอย่างถือว่าเด็กเป็นศูนย์กลาง ครูเป็นเพียงผู้ให้บริการและประสานงาน แนวคิดของ กลุ่มมนุษย์นิยมเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดบทบาท ท่าที บุคลิกภาพของครูให้วางตัวเป็นตนเองกับเด็กมีสัมพันธภาพที่ดีต่อเด็ก

3. มีความเชื่อว่า ในเมื่อมนุษย์เราทุกคนต่างก็เข้าใจผู้อื่น และยอมรับตนเองอยู่แล้วต่างคนก็มุ่งสร้างย่อมเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้แก่ตนเอง

4. เนื่องจากมนุษย์เราแต่ละคนต่างพยายามปรับปรุงตนเอง ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ฉะนั้นควรจะให้คนมีสิทธิ์อิสระที่จะเลือกกระทำ เลือกประสบการณ์ ของตนเอง กำหนดความต้องการของ ตนเอง ตัดสินใจใด ๆ ด้วยตนเอง

5. มีความเห็นว่า วิธีการค้นคว้าเสาะแสวงหาความรู้หรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญนำความรู้และข้อเท็จจริง เพราะโลกมีการ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตัวของความรู้หรือตัวข้อเท็จจริงเองที่ตายตัว ฉะนั้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของผู้เรียนมากที่สุดก็คือ กรรมวิธีในการเสาะแสวงหาความรู้

จิตวิทยากลุ่มต่าง ๆ ต่างก็มีบทบาทในการศึกษา เพื่ออธิบายพฤติกรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพขึ้นแต่อย่าเข้าใจว่า ลำพังวิชาจิตวิทยาอย่างเดียว จะทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ได้แจ่มแจ้ง วิชาจิตวิทยาเป็นเพียงกฎเกณฑ์พื้นฐาน เป็นรากฐานในการที่จะศึกษาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การแนะแนว การวัดผล เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้นขอสรุปแนวคิดกลุ่มต่างๆ ทางจิตวิทยาทั้ง 6 กลุ่ม ในตางราง 2

เอกสารอ้างอิง

กันยา สุวรรณแสง.จิตวิทยาทั่วไป General psychology . กรุงเทพมหานคร : อักษรพิทยา, 244 หน้า, 2538.

จีราภา เต็งไตรรัตน์และคณะ.จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 364 หน้า, 2547.

ทิพย์ นาถสุภา. บทความประกอบหมวดวิชาการศึกษา วิชาจิตวิทยาการศึกษา. พระนคร : หน่วยศึกษานิเทศ กรมการฝึกหัดครู, 2513.

พิชญ์สิรี โค้วตระกูล และ สุธีรา เผ่าโภคสถิตย์. จิตวิทยาทั่วไป.กรุงเทพมหานคร : เทพรัตน์พับลิช ชิ่งกรุ๊ป,200 หน้า , 2538.

โยธิน ศันสนยุทธ และคณะ. จิตวิทยา. กรุงเทพมหานคร : ศูยน์ส่งเสริมวิชาการ, 381หน้า , 2533.

โรเบิร์ต อี. ซิลเวอร์แมน. สุปาณี สนธิรัตน และคณะ แปลและเรียบเรียง. จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 5 ,กรุงเทพมหานคร : เนติกุลการพิมพ์, 388 หน้า ,2537.

John W. Santrock. Psychology. 6ed. New York : McGraw-Hill Higher ,2000,593pp.

Stephen Worchel and Wayne Shebilske. Psychology Principles and Applications.3ed.

New Jersey : Englewood cliffs ,1989,800 pp.