ราคาทองคำแท่งวันนี้
ปัจจุบันการลงทุนในทองคำเพื่อสร้างผลตอบแทนได้รับความนิยมมากขึ้น ราคาทองคำจึงมีความผันผวนมากขึ้นตามปริมาณการลงทุนและการเก็งกำไรจากผู้ลงทุน บลจ.บัวหลวง จึงขอนำเสนอปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาทองคำ และปัจจัยเกี่ยวกับอุปสงค์และอุปทาน เพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้สนใจต่อไป
ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดราคาทองคำได้แก่
- ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ
หากปัจจัยอื่นคงที่ โดยทั่วไปราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น เมื่อค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลง เพราะการซื้อทองคำเป็น การป้องกันความเสี่ยงในมูลค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินสกุลหลักที่ใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้นเมื่อค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ มีสัญญาณอ่อนค่าลง ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่ถือครองเงินเหรียญสหรัฐฯ มักจะกระจายความเสี่ยง โดยแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น เช่น เงินสกุลอื่นๆ รวมถึงทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นด้วย - ความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ
หากปัจจัยอื่นคงที่ โดยทั่วไปราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยง ด้านอัตราเงินเฟ้อที่มีประสิทธิภาพ โดยเราจะสังเกตทิศทางอัตราเงินเฟ้อได้จากทิศทางราคาพลังงาน (น้ำมัน) และราคาอาหารต่างๆ เพราะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อภาวะเงินเฟ้อโดยตรง - ความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศและระบบการเงิน
ราคาทองคำมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ และความไม่แน่นอนสูงในระบบการเงินโลก เนื่องจากในระหว่างช่วงที่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้น การขายสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ มาถือครองทองคำแทนจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะผู้ลงทุนมักจะป้องกันความเสี่ยงที่สินทรัพย์อื่นจะมีราคาตลาดลดลง ด้วยการย้ายมาถือครองทองคำ จะมากน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเหตุการณ์แต่ละครั้ง - อุปสงค์และอุปทานในตลาด
หากปัจจัยอื่นคงที่ ราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีผู้ต้องการซื้อทองคำในปริมาณที่มากกว่าปริมาณทองคำที่มีในตลาด (Demand มากกว่า Supply)ทั้งนี้ อุปสงค์ (Demand) คือ ความต้องการใช้ทองคำนั้น ส่วนใหญ่มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคเครื่องประดับ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการแพทย์ และภาคการลงทุน ภาคการลงทุนมีความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ช่วงที่มีCredit Crisis ซึ่งมีสาเหตุมาจากข้อ 3 รวมถึงการที่ภาครัฐของประเทศต่างๆ มีการนำทุนสำรองไปซื้อทองคำมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวอยู่ในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เช่น จีน อินเดีย ที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ส่วนอุปทาน (Supply) นั้น คือ ความต้องการขายทองคำ ส่วนใหญ่มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผลผลิตทองคำจากเหมืองทอง แรงขายจากธนาคารกลางประเทศ ต่างๆ และปริมาณทองคำเก่าที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ - ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ
ราคาทองคำในประเทศไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลง เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถผลิตทองคำได้เอง จึงต้องนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งตลาดทองคำโดยทั่วไป มักจะใช้เงินสกุลเหรียญสหรัฐฯเป็นสกุลเงินอ้างอิงในการซื้อขาย ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐฯ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำในประเทศไทย
อุปทานของทองคำ (Gold Supply)
ปริมาณทองคำในตลาดมาจาก 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผลผลิตจากเหมืองแร่ธนาคารกลาง เศษทองคำเก่าที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ การขายจากหน่วยงานภาครัฐ และการขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิต
- ผลผลิตจากเหมืองแร่ (Mine Production)
ปัจจุบันผลผลิตทองคำจากเหมืองแร่เป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่ออุปทานของทองคำมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณทองคำในตลาดแต่ละปี ทั้งนี้
ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีการผลิตทองคำออกสู่ตลาดโลกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 14 ของปริมาณการผลิตทั่วโลก รองลงมาคือ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย กลุ่มลาตินอเมริกา จีน รัสเซีย เปรู ฯลฯ ตามลำดับ ซึ่งตั้งแต่ปี1990 เหมืองทองทั่วโลกมีผลผลิตทองคำรวมกันทั้งหมดประมาณ 2,500 ตันต่อปี - เศษทองคำเก่าที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ (Recycled Gold)
เป็นทองคำจากผลิตภัณฑ์เก่าที่ถูกแปรรูปแล้วและนำมาสกัดใหม่ในรูปทองคำแท่ง มีบทบาทสำคัญต่อกลไกราคาทองคำ รองจากผลผลิตจากเหมืองแร่ และทำให้ราคาทองคำมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งอุปทานเศษทองนี้ ส่วนมากขึ้นกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและราคาทองคำ โดยจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซา หรือหลังจากช่วงที่ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น - การขายทองคำจากหน่วยงานภาครัฐ (Official Sector Sales)
ปัจจุบันธนาคารกลาง และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ทั้งหมดกว่า 110 องค์กร ถือครองทองคำในรูปของเงินทุนสำรองรวมกันประมาณร้อยละ 25 ของปริมาณทองคำทั้งหมดที่มีในโลก การสำรองทองคำของธนาคารกลางแต่ละแห่ง ขึ้นอยู่กับนโยบายเฉพาะของแต่ละประเทศ โดยผู้ถือครองทองคำรายใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกลางของประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ จะถือการครองทองคำคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของทุนสำรองของประเทศโดยเฉลี่ย นอกจากนี้ธนาคารกลางยังอาจทำการขายทองคำออกสู่ตลาด โดยมีข้อตกลงในการขายทองคำภายใต้ข้อกำหนดของ Central BankGold Agreement (GBGA) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารกลางขายได้ไม่เกิน 500 ตันต่อปี - การขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิต (Net Producer Hedging)
บริษัทเหมืองทองสามารถจะทำการขายทองล่วงหน้าในตลาดได้ เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านรายได้จากความผันผวนของราคาทองคำ โดยทั่วไป เมื่อบริษัทเหมืองทองทำการขายทองล่วงหน้า คู่ค้าของบริษัทเหมืองทองจะทำธุรกรรมยืมทองคำจำนวนเดียวกันจากผู้ครอบครองทองรายอื่น ซึ่งตามปกติจะเป็นธนาคารกลาง โดยนำทองที่ยืมมาไปขายในราคาตลาด แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทองคำไปลงทุนเพื่อให้ได้ดอกผลเพียงพอสำหรับการรับส่งมอบทองคำและค่าใช้จ่ายในการยืมทองคำ เมื่อถึงกำหนดส่งมอบทองคำตามสัญญา บริษัทเหมืองทองจะส่งมอบทองคำให้กับคู่ค้าในราคาตามที่ตกลงกันไว้ ทางคู่ค้าก็จะนำทองคำที่รับมอบมาส่งคืนให้กับผู้ที่ให้ยืมมาพร้อมค่าธรรมเนียมการกู้ยืม
อุปสงค์ของทองคำ (Gold Demand)
ความต้องการใช้ทองคำที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคเครื่องประดับ, ภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์ และภาคการลงทุน
- ภาคเครื่องประดับ
ถือเป็นผู้บริโภคทองคำกลุ่มหลักในตลาด คิดเป็นประมาณร้อยละ 68 ของอุปสงค์ทองคำทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกลุ่มตะวันออกกลางและเอเชีย โดยเฉพาะประเทศอินเดียและประเทศจีน คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่าร้อยละ 60 ของการใช้เครื่องประดับทองคำของโลก โดยทั่วไปแล้ว เหตุผลในการซื้อทองคำส่วนใหญ่จะใช้เป็นเครื่องประดับ และใช้เป็นของขวัญในโอกาสสำคัญ เช่น ประเทศจีนใช้ในโอกาสเทศกาลตรุษจีน ประเทศอินเดียใช้ในเทศกาล Diwali (ช่วงสิ้นสุดเดือนถือศีลอด) ของชาวฮินดูนอกจากนี้ ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ยังถือว่าการซื้อเครื่องประดับทองคำเป็นการรักษาความมั่งคั่งได้อีกด้วย - ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการแพทย์
การใช้ทองคำในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 14 ของอุปสงค์ทั้งหมด โดยส่วนแบ่งการใช้ทองคำในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นตลอดช่วง
ศตวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประโยชน์จากทองคำในนาโนเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการเร่งปฏิกิริยาใน การควบคุมมลพิษ อุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า และกระบวนการทางเคมี ทำให้มีการประมาณความต้องการ ทองคำในภาคนี้ เพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต - ภาคการลงทุน
ในอดีต หมายถึง การซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองคำ แต่ปัจจุบัน รวมลักษณะ การลงทุนแบบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กองทุนรวม จนถึงการลงทุนต่างๆ ที่มีทองคำเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ด้วย ถือว่าภาคการลงทุนเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในด้านความต้องการทองคำเพิ่มมากขึ้นและช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดทองคำมากเมื่อเทียบกับอดีต ตั้งแต่ ปี 2003 ความต้องการทองคำจากภาคการลงทุนเติบโตขึ้นมากกว่าร้อยละ 412 ในเชิงมูลค่า โดยในปี 2008 มีเงินลงทุนสูงถึง 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ