โกลด์ฟิวเจอร์ส

Gold Futures สินค้าใหม่ที่เหมาะกับนักลงทุนทุกประเภท

ถ้าหากซื้อทองคำแท่งเพื่อเก็บออมไว้ในระยะยาว แต่เดือนถัดมาราคาทองคำปรับลดลงต่ำกว่าราคาที่ซื้อมา แสดงว่ากำลังขาดทุน สมมติว่าราคาทองคำปรับลดลงไปเรื่อยๆ ผลขาดทุนย่อมสูงขึ้น แต่ถ้าหากมีสัญญาซื้อ Gold Futures ซึ่งเป็นสินค้าตัวหนึ่งในตลาดอนุพันธ์ นักลงทุนก็สามารถป้องกันความเสี่ยงเรื่องผลขาดทุนได้

ภาพผู้คนยืนเข้าแถวเพื่อรอคิวซื้อทองคำแถวเยาวราช มองในแง่ดีถือเป็นการการลงทุนในสินทรัพย์ที่ดีในระยะยาว และเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตลงทุน มองอีกมุมคนไทยเพิ่งรู้จักการลงทุนในทองคำเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทองคำกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น มีคำถามตามมาว่า ถ้าหากราคาทองคำอยู่ในช่วงขาลง จะเกิดอะไรขึ้น

"Gold Futures จะเข้ามาเป็นทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นและในตลาดอนุพันธ์ (TFEX) โดย Gold Futures มีประโยชน์ตรงที่สามารถลงทุนทำกำไรได้ไม่ว่าตลาดทองคำจะเป็นขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงให้กับพอร์ตทองคำของนักลงทุนหรือของร้านขายทองได้เป็นอย่างดี" ภาคภูมิ ภาคย์วิศาล ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บล.ทิสโก้ กล่าว

แล้วผู้ลงทุนกลุ่มใดที่เหมาะจะลงทุนใน Gold Futures เป็นคำถามที่คาใจ

คำตอบก็คือ ใครก็ได้ที่รู้เรื่องตลาดอนุพันธ์ และรู้เรื่องทองคำว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ราคาขึ้นหรือลง ซึ่งการเคลื่อนไหวของราคาทองคำขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ได้แก่ ความต้องการ (Demand) ปริมาณ (Supply) ค่าเงินดอลลาร์ การประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน รวมถึงการเมืองโลก

อย่างไรก็ตาม ภาคภูมิชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการซื้อทองคำแท่งจริงๆ กับการซื้อขาย Gold Futures ว่าการซื้อทองคำจริงๆ เพื่อการออม การลงทุน เก็งกำไรหรือซื้อให้เป็นของขวัญในงานเทศกาลต่างๆ ทำให้ประโยชน์ของทองคำยังมีอยู่ต่อไป

ส่วน Gold Futures เป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไรและป้องกันความเสี่ยงให้พอร์ตของนักลงทุน ดังนั้นนักลงทุนรายย่อย รวมถึงร้านค้าทองก็สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากการลงทุนใน Gold Futures ได้ แต่ภาคภูมิแนะนำว่าใครที่เข้ามาซื้อขายต้องสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับสูงกว่าคนที่ซื้อทองคำแท่ง

สำหรับกลยุทธ์ซื้อขาย Gold Futures ของนักลงทุนรายย่อยที่ได้รับความนิยม ภาคภูมิกล่าวว่าคงหนีไม่พ้นการลงทุนหรือเก็งกำไรถึงทิศทางตลาดของทองคำว่าราคาจะขึ้นหรือจะลง ซึ่งเรียกแนวทางการลงทุนแบบนี้ว่า "Directional Trading" คือ ถ้าคิดว่าราคาทองคำจะขึ้นก็ให้ซื้อ Gold Futures และถ้าคิดว่าราคาทองคำจะตกก็ให้ขาย Gold Futures

ส่วนกลยุทธ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นจะเป็นการทำ "Spread Trading" ซึ่งเป็นการซื้อ Gold Futures รุ่นหนึ่งและขาย Gold Futures อีกรุ่นหนึ่งที่มีเดือนหมดอายุต่างกัน เพื่อทำกำไรบนผลต่างของราคาของ Gold Futures 2 รุ่นว่าจะมีผลต่างของราคามากขึ้นหรือน้อยลง โดยผลกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นจะไม่เกี่ยวข้องกับทิศทางตลาดเลย

เขาเปรียบเทียบและยกตัวอย่างแบบง่ายๆ ว่า Gold Futures เป็นกระดาษแผ่นหนึ่งที่มีราคาใกล้เคียงกับราคาทองคำ และมีราคาวิ่งขึ้นลงตามราคาทองคำ เช่น ถ้าราคาทองคำอยู่ที่ 13,000 บาท ราคาของ Gold Futures ควรอยู่แถวๆ 13,000 บาท (เช่น 13,100 บาท) และมีราคาวิ่งขึ้นลงตามกัน

ในตลาดทองขาขึ้นนั้น Gold Futures จะเป็นขาขึ้นด้วย กลยุทธ์ในการทำกำไร ก็คือ ซื้อ Gold Futures ในราคาถูกๆ แล้วค่อยขายทิ้งในราคาแพงๆ เช่น ซื้อ Gold Futures ในราคา 13,000 บาท แล้วขายทิ้งในราคา 13,100 บาท จะได้กำไร 100 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท แต่เนื่องจาก Gold Futures เป็นการตกลงทำการซื้อขายทองคำที่น้ำหนัก 50 บาท จึงต้องเอา 50 คูณเข้าไปด้วย สรุปแล้วนักลงทุนจะได้กำไรเท่ากับ 100 คูณ 50 ผลลัพธ์ คือ 5,000 บาท

ในตลาดทองขาลงนั้น Gold Futures จะเป็นขาลงด้วย กลยุทธ์ในการทำกำไร ก็คือ ขาย Gold Futures ในราคาแพงๆ แล้วค่อยซื้อคืนในราคาถูกๆ เช่น ขาย Gold Futures ในราคา 13,000 บาท แล้วซื้อคืนในราคา 12,800 บาท จะได้กำไร 200 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท แต่เนื่องจาก Gold Futures เป็นการตกลงทำการซื้อขายทองคำที่น้ำหนัก 50 บาท สรุปแล้วนักลงทุนจะได้กำไรเท่ากับ 200 คูณ 50 ผลลัพธ์ คือ 10,000 บาท

อีกทั้งนักลงทุนสามารถขาย Gold Futures ได้โดยที่ไม่ต้องมี Gold Futures ในมือ และไม่ต้องมีทองคำจริงๆ อยู่ในมือ เพราะตามหลักการแล้วการขาย Gold Futures เป็นการทำสัญญาว่าจะขายทองคำในอนาคต ถ้าอยากจะล้างสัญญาที่ได้ทำไปก็ให้ทำการซื้อ Gold Futures คืนจากตลาด โดยผลต่างของราคาตอนที่ขายและซื้อคืน ก็คือ กำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นของนักลงทุน

สมมติขาดทุนใน Gold Futures จะทำอย่างไร คำตอบง่ายมากแต่นักลงทุนส่วนใหญ่ทำกันยากนั่นคือ การ Cut Loss อย่ายื้อเวลาผิดทาง เพราะจะทำให้ขาดทุนเกินระดับที่ตัวเองรับได้ ยิ่ง Gold Futuresมีขนาดของสัญญาเท่ากับการซื้อขายทองคำหนัก 50 บาท ยิ่งทำให้กำไรขาดทุนต่อการซื้อขาย Gold Futures 1 สัญญาจะเป็นปริมาณเม็ดเงินที่สูง

"นักลงทุนต้องอย่าสับสนว่าขนาดของสัญญาเท่ากับทองคำหนัก 50 บาท ไม่ได้หมายความว่า Gold Futures มีความเสี่ยง 50 เท่าของการลงทุนในทองคำโดยตรง โดย Gold Futures จะมีความเสี่ยงเป็นกี่เท่านั้นจะขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารระดับเงิน Margin ที่วางไว้กับทางโบรกเกอร์" ภาคภูมิ บอก

ดังนั้นความเสี่ยงที่นักลงทุนควรระมัดระวัง คือ Gold Futures มี Leverage หรืออัตราทดในการลงทุน เพราะนักลงทุนวางเงินกับทางโบรกเกอร์ประมาณ 10% ของมูลค่าของทองคำที่จะทำการซื้อขาย ดังนั้นกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนจะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง

ทำให้นักลงทุนควรที่จะทำการบริหารเงินในส่วนนี้ไม่ให้มีระดับความเสี่ยงเกินระดับที่ตนรับได้ ซึ่งทำได้โดยการลงทุนใน Gold Futures ในปริมาณสัญญาที่ไม่มากเกินไป หรือทำการสำรองเงินวางประกันให้เกินกว่าระดับที่ทางโบรกเกอร์ต้องการ พร้อมทั้งมีวินัยในการ Cut Loss เมื่อถึงเวลา

นอกจากนี้ Gold Futures จะมีการ Call Margin สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนผิดทางมากๆ หากผลขาดทุนที่เกิดขึ้นยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้และยังต้องการครองสถานะที่ตนถืออยู่ต่อไป นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องมีการสำรองเงินสดไว้ส่วนหนึ่งเผื่อการ Call Margin ด้วย

ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญและภาคภูมิเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นกับ Gold Futures ได้ง่ายก็คือ ความเสี่ยงในเรื่องของการเปิด Gap ของราคาเปิดทำการซื้อขายของ Gold Futures เพราะทองคำเป็นสินค้าที่มีการซื้อขาย 24 ชั่วโมงทั่วโลก

ในช่วงที่ตลาด TFEX ปิดทำการซื้อขายนั้น ตลาดทองคำจะค่อนข้างผันผวนเนื่องจากปัจจัยภายนอก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อราคาของทองคำไทยและ Gold Futures ของไทยซึ่งจะไปสะท้อนอยู่ในราคาเปิดของทองคำไทยและ Gold Futures ถ้านักลงทุนลงทุนถูกทางก็เป็นเรื่องที่ดีไป แต่ถ้าลงทุนผิดทางก็มีโอกาสที่ราคาเปิดของ Gold Futures จะกระโดดข้ามราคาที่เป็นจุด Cut Loss ได้

ดังนั้นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงของการเปิด Gap ของราคาได้จึงจะสามารถถือ Gold Futures ข้ามวันได้ แต่ถ้ารับความเสี่ยงของการเปิด Gap ไม่ได้ก็อาจจะพิจารณาถึงการซื้อขายภายในวันเดียวกัน (Day Trade) หรือการสำรองเงินวางประกันให้เกินกว่าระดับที่ทางโบรกเกอร์ต้องการ

"ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนประเภทไหนในโลกนี้ ไม่มีใครคาดเดาได้แม่นยำ ดังนั้นก่อนที่จะเข้าตลาดต้องมีจุด Stop loss และถ้ามองตลาดผิดต้องรู้จักยอมรับและหยุด แต่ส่วนใหญ่นักลงทุนที่ขาดทุนจะเป็นคนที่ดื้อรั้นต่อตลาด และท้ายที่สุดก็จะพ่ายแพ้" ภาคภูมิ ทิ้งท้าย

จากคอลัมน์ Derivatives Corner โดย ฐิติเมธ โภคชัย นิตยสาร M&W ตุลาคม 2551

Gold Futures (โกลด์ฟิวเจอร์ส) หรือ สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า เป็นตราสารอนุพันธ์ หรือเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่ผู้ลงทุนสามารถใช้เก็งกำไร จากการผันผวนของราคาทองคำ ทั้งในภาวะขาขึ้นและภาวะขาลงของราคาทองคำ คุณลักษณะเด่นของตราสารอนุพันธ์ชนิดนี้คือ เป็นตราสารที่สามารถซื้อก่อนขาย หรือขายก่อนซื้อก็ได้ และที่สำคัญที่สุดของการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ประเภทนี้คือ ใช้เงินลงทุนน้อยประกอบกับราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวทุกวัน จะทำให้โอกาสในการรับผลตอบแทนนั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง แต่ผู้ลงทุนต้องไม่ลืมที่ว่า การลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูง โอกาสในการรับความเสี่ยงก็จะสูงด้วยเช่นเดียวกัน

โกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนในตลาดทุน ในการทำกำไรและกระจาย ความเสี่ยงของ กลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน และผู้ลงทุนที่เดิมเคยลงทุนในการเก็งกำไรในราคาทองคำในระบบตลาดปกติ ซึ่งจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อ หรือลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในสัญญาประเภทนี้ โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้ง่าย สะดวก ผ่านระบบซื้อขายของตลาดอนุพันธ์ (TFEX ) โดยมีบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) เป็นผู้ประกันการชำระราคาจากการซื้อขาย และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของ ตลาดอนุพันธ์

สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ นั้นได้เริ่มมีการซื้อขายกันวันแรกในตลาดอนุพันธ์ของประเทศไทยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 โดยในช่วงแรกนี้ การลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ นี้อาจมีผู้ลงทุนจำนวนน้อย เพราะผู้ลงทุนโดยทั่วไปยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของการซื้อขายตราสารอนุพันธ์มากทใดนัก แต่ในอนาคตอันใกล้ เครื่องมือทางการเงินชนิดใหม่นี้จะมีผู้ที่เข้ามาลงทุนในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความสะดวกในการลงทุน และจำนวนเงิเริ่มต้นในการลงทุนไม่สูงมากนัก

โกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ลงทุน ทําให้สามารถซื้อและขายทำกำไรได้ทั้งในภาวะราคาทองขาขึ้น และราคาทองขาลง โดยในการ ซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สจะไม่มีการส่งมอบทองคำกันจริง ๆ ระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แต่ใช้วิธีจ่ายชำระเงินตามส่วนต่างกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นเท่านั้น วิธีการชำระกำไรขาดทุนแบบนี้เรียกว่า “ การชำระราคาเป็นเงินสด” (Cash Settlement) โดยผู้ลงทุนสามารถ “ ซื้อก่อนขาย” หรือ “ ขายก่อนซื้อ” ก็ได้ ซึ่งกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น จะเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาขายและราคาที่ซื้อเอาไว้ เช่น หากผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ผู้ลงทุนก็จะสามารถซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ก่อน และเมื่อราคาทองคำในอนาคตปรับตัวขึ้นจริง ผู้ลงทุนก็จะก็สามารถขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้ ทำให้ผู้ลงทุนได้รับกำไรเท่ากับส่วนต่างของราคาซื้อและขาย และในกรณีที่ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองจะปรับตัวลดลง ผู้ลงทุนก็จะสามารถขายโกลด์ฟิวเจอร์ส การขายทองคำล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์แบบนี้ ผู้ลงทุนไม่มีความจำเป็นจะต้องมีทองคำไว้ในมือ หรือจะต้องทำการซื้อไว้ก่อน เหมือนการซื้อทองในตลาดจริง เพียงแต่ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำนั้นจะลดลงในอนาคต ผู้ลงทุนก็ส่งคำสั่งขายล่วงหน้าไว้ เมื่อราคาทองคำในอนาคตลดลงจริง ผู้ลงทุนก็จะทำการขายได้ในราคาที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีราคาสูงกว่า

การซื้อหรือขายโกลด์ฟิวเจอร์ส คือ การซื้อหรือขายทองคำล่วงหน้า ราคาของโกลด์ฟิวเจอร์สจึงเป็นราคาทองคำที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งอาจจะแตกต่างจากราคาทองคำที่มีการซื้อขายและส่งมอบกันในปัจจุบัน (Spot Price) ในตลาดจริง การคาดการณ์ราคาทองที่แตกต่างกันนี้ เป็นโอกาสในการทำกำไรจากโกลด์ฟิวเจอร์ส เช่น ในภาวะทองราคาขึ้น ราคาทองในปัจจุบันอาจอยู่ที่ 14,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท แต่ราคาโกลด์ฟิวเจอร์สที่ครบกำหนดในอีก 6 เดือนข้างหน้า อาจมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 14,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท สำหรับผู้ลงทุนที่ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ ก็คือ ผู้ลงทุนที่คาดว่าราคาทองคำในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะสูงกว่า 14,500 บาท จึงทำการซื้อโกลด์ฟิวเจอร์ส โดยผู้ซื้อหรือผู้ลงทุนนี้คาดการณ์ว่าจะมีส่วนต่างราคาในกรณีที่ทองคำปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่ได้กำหนดเอาไว้ เช่น หากในอนาคตราคาทองทำเป็น 15,500 บาท ผู้ลงทุนจะได้รับกำไรทันที 1,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท เป็นต้น

สำหรับผู้ขายโกลด์ฟิวเจอร์ส ก็คือ ผู้ลงทุนที่คาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นไม่ถึง 14,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ผู้ลงทุนจึงทำการขายล่วงหน้าในราคา 14,500 บาท และรอซื้อกลับเมื่อราคาถูกลง หากราคาทองคำในอนาคตเป็น 13,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท ผู้ลงทุนจะได้รับกำไรทันที 1,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท เพราะเปรียบเสมือนว่า ผู้ลงทุนสามารถซื้อทองคำได้ในราคา 13,500 บาท และขายตามที่ได้กำหนดล่วงหน้าไว้ 14,500 บาท ตามที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า แต่การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ประเภทนี้ไม่ได้มีการส่งมอบทองคำกันจริง เพียงแต่เป็นการ การชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) เท่านั้น

ข้อมูลจาก www.tfex.co.th