วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระสิงห์ฯ เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนรู้จักกันในชื่อ "เชียงแสนสิงห์หนึ่ง"
พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๘๘ ขั้นแรกให้สร้างเจดีย์สูง ๒๓ วา เพื่อบรรจุพระอัฐิ ของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาอีกสองปีจึงสร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฎิสงฆ์เรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า "วัดลี" ต่อมาบริเวณหน้าวัด มีตลาดเกิดขึ้นชาวบ้านเรียกว่า "ตลาดลีเชียง" แล้วเรียกวัดว่า "วัดลีเชียง" และ "วัดลีเชียงพระ" ระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๓๑ - ๑๙๕๔ สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ขึ้นครองนครเชียงใหม่โปรดให้อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์มาจาก เมืองเชียงราย เมื่อขบวนช้างอัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์มาถึงหน้าวัดลีเชียงก็ไม่ยอมเดินทางต่อ พระเจ้าแสนเมืองมาจึงให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐาน ณ วัดลีเชียง ประชาชนทางเหนือนิยมเรียก"พระพุทธสิหิงค์" สั้นๆ ว่า "พระสิงห์" จึงเรียกชื่อวัดตามพระพุทธรูปว่า "วัดพระสิงห์"
เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๓๕๔ พระเจ้ากาวิละได้โปรดฯ ให้สร้างอุโบสถ และหอไตรขึ้น โดยมีลักษณะเป็นอาคารทรงล้านนาขนาดใหญ่
ตำนานพระสิงห์(พระพุทธสิหิงค์)
พระมหาเถรโพธิรังสีชาวหิริภุญไชย รจนาภาษาบาลีไว้ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ พระเจ้าสีหฬะแห่งลังกาทวีป ได้โปรดให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งเรียกว่า "พระพุทธสิหิงค์" แต่ในชินกาลมาลีปกรณ์เรียกว่า"สีหฬะปฏิมา" ตามนามกษัตริย์ผู้สร้าง
พ.ศ. ๑๘๓๙ - กษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราช ได้แต่งทูตไปขอคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกา และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์อีกองค์หนึ่ง(ศิลปะลังกา)กลับมาด้วย ภายหลังมาประดิษฐานอยู่ที่กรุงสุโขทัย เมื่อพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) ตีกรุงสุโขทัยได้ หลายสิบปีต่อมาพญาไสลือไทยได้อัญเชิญมาไว้ที่เมืองพิษณุโลก เมื่อพญาไสลือไทยสิ้นพระชนม์ จึงอัญเชิญมาที่กรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. ๑๙๒๗ - พระญาณดิศ เชื้อวงศ์พระร่วงได้กราบทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาขออัญเชิญมาไว้ที่เมืองกำแพงเพชร
พ.ศ. ๑๙๓๔ - เจ้ามหาพรหม พระปิตุลาของเจ้าแสนเมืองมาได้อัญเชิญไปไว้ที่เมืองเชียงราย ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏ วัดที่ประดิษฐานพระพุทธสิงหิงค์อีกแห่งหนึ่ง ที่เมืองเชียงรายมีชื่อว่า วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงราย และโปรดให้หล่อพระพุทธสิหิงค์จำลองขึ้น เมื่อเจ้ามหาพรหมถึงแก่พิราลัยแล้ว พระพุทธสิหิงค์จึงได้มาประดิษฐาน ณ วัดลีเชียงพระ ในนครเชียงใหม่ เช่นเดิม
พ.ศ. ๒๐๘๔ - พระไชยเชษฐากษัตริย์ล้านช้างเชื้อสายล้านนา ทรงนำพระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปจากเชียงใหม่หลายองค์ไปไว้ที่ล้านช้าง(หลวงพระบาง) เมื่อทางเชียงใหม่ทวงถามจึงทรงคืนพระพุทธสิหิงค์มาเพียงองค์เดียว
พ.ศ. ๒๒๐๕ - สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงยกทัพมารบเชียงใหม่ และทรงอัญเชิญลงไปไว้ที่อยุธยาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อยู่นานถึง ๑๐๕ ปี
พ.ศ. ๒๓๑๐ - กรุงศรีอยุธยาแตก ทัพทหารเชียงใหม่ที่มาในกองทัพพม่าอัญเชิญกลับนครเชียงใหม่ทางเรือ และประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสิงห์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
วิหารลายคำ เป็นวิหารพื้นเมืองศิลปะล้านนาขนาดเล็ก เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๖๑ ภายในเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธสิหิงค์" ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๑ นิ้ว สูงจากขอบฐานถึงยอดพระเมาลีบัวตูม ๕๑ นิ้ว เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองชียงใหม่จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ไปถนนรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาโดยทั่วกัน วิหารลายคำพบแห่งเดียวที่นี่