วัดสวนดอก

"วัดสวนดอก เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่สร้างขึ้นอย่าง สวยงาม อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปองค์สำคัญ ของเชียงใหม่ประดิษฐานอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนมากมายพากันไปกราบไหว้อยู่อย่างไม่ขาดสาย นอกเหนือจากที่วัดสวนดอกจะเป็น วัดสำคัญคู่เมืองเชียงใหม่แล้ว ในบริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐานของกู่บรรจุอัฐิเชื้อพระวงศ์เจ้านายฝ่ายเหนือต้นตระกูล ณ เชียงใหม่"

 

วัดสวนดอกสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้ากือนา กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ระหว่างปี พ.ศ.1898 - 1928 พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสใน พระพุทธศาสนาเป็นอันมาก จึงได้อัญเชิญพระมหาสุมนเถระจากเมืองสุโขทัยมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1914 พระเจ้ากือนาทรงสร้างวัดบุปผาราม หรือ วัดสวนดอกในอุทยานป่าไม้พยอมเพื่อเป็นที่จำพรรษาของพระสุมนเถระ จากนั้นพระองค์จึงโปรดฯให้สร้างพระเจดีย์เพื่อ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระมหาสุมนเถระ ได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย โดยประดิษฐานไว้ที่วัดบุปผารามและวัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดสวนดอกจึงเป็นศูนย์กลางของศาสนานิกายลังกาวงศ์หรือเรียกว่า "นิกายวัดสวนดอก" เนื่องจากพระสุมนเถระได้บวชเรียนมาจาก สำนักของพระมหาสวามีอุทุมพรที่เมืองเมาะตะมะ ในรามัญประเทศ วัดบุปผารามหรือวัดสวนดอก ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนามายาวนานนับร้อยปี จนกระทั่งสมัยพระเจ้าเมืองเกศเกล้า เมื่อล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าพระอารามที่สำคัญ ๆ ของล้านนาไทยหลายแห่งก็ได้ทรุดโทรมลงจนกลายเป็นวัดร้างวัดห่าง บางส่วนถูกทอดทิ้งให้ชำรุดผุพังไปอย่างน่าเศร้าใจ วัดสวนดอกจากที่เคยเป็นแหล่งเผยแพร่การศึกษาของพระสงฆ์ มีพระมหาเถระชั้นนักปราชญ์ทรงคุณธรรมพำนักอยู่หลายท่าน ทั้งยังเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมล้านนาที่สวยงามก็ทรุดโทรมไปตามสภาพ พระวิหารก็ถูกพายุพัด ปรักหักพัง ซุ้มประตูอันงามวิจิตรและกำแพงก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมขาดผู้คนดูแล

วัดสวนดอก วัดสวนดอก ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่ง ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจาก เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา

พระเจดีย์วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะใหม่และหุ้มแผ่นทองจังโก พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914 ในรัชกาลของพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "พระอารามหลวง" โดยโปรดเกล้าให้สร้าง "พระเจดีย์ทรงลังกา" ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระมหาเถระสุมนได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 ซึ่งแต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่ แต่ได้ปรักหักพังลง พระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478


พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง ("ตื้อ" เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง) พระญาเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 "พระเจ้าเก้าตื้อ" เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หน้าตักกว้าง 8 ศอก หรือ 3 เมตร สูง 4.70 เมตร เพื่อเป็นพระองค์ประธานใน วัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เป็นพระวิหาร พระราชทานชื่อว่า "วัดเก้าตื้อ" แทน ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ในปี พ.ศ. 2475 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478