กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นเครื่องมือทางการออมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ต้องการจะออมเงินไว้ใช้เป็นหลักประกัน ให้แก่ตนเอง หรือครอบครัวเมื่อเกษียณอายุ แต่ไม่สามารถเลือกช่องทางการออมผ่านทางกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ เนื่องจากการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องเป็นเงื่อนไขการออม สำหรับคนทำงานที่มีนายจ้าง ซึ่งนายจ้างจะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการก็เป็นเงื่อนไขการออมสำหรับข้าราชการ เท่านั้น

ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ เช่น แพทย์ ทนายความ สถาปนิก หรือวิศวกร รวมทั้งลูกจ้างที่นายจ้างไม่พร้อมที่จะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นสวัสดิการ ที่ไม่สามารถออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ ก็สามารถออมผ่านช่องทางของกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพได้แทน รวมทั้งผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการอยู่แล้ว หากมีความประสงค์จะออมผ่านกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพอีกก็สามารถกระทำได้

ความหมายของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หมายถึง กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมและการลงทุนของบุคคล เพื่อใช้สำหรับเตรียมความพร้อม กรณีเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ

ผู้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มากกว่าการลงทุนในกองทุนรวมโดยทั่วไป เนื่องจากเงินลงทุนในกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกินปีละ 300,000 บาท ทั้งนี้ ให้นับรวมเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วแต่กรณีโดยผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษีเงินได้ทันทีตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มลงทุน

การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

การจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพนั้นได้ใช้แนวทางของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการชราภาพแบบสมัครใจมาเป็นเกณฑ์ โดยใช้เครื่องมือทางด้านตลาดเงินเข้ามาช่วย ซึ่งได้แก่กองทุนรวม นั่นเอง

ในการจัดตั้งโครงการลงทุน จะมีการขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ออมและผู้ที่ต้องการลงทุน แต่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากกองทุนรวมโดยทั่วไปคือ ได้มีการสร้างข้อกำหนดพิเศษบางประการให้แตกต่างไปจากกองทุนรวม ทั้งนี้ เพื่อให้กองทุนรวมดังกล่าวมีลักษณะการออมอย่างต่อเนื่องและเป็นการออมระยะยาว โดยมีการกำหนดระยะเวลาในการไถ่ถอนไว้ ตั้งแต่ 5 - 15 ปี และสามารถไถ่ถอนได้เมื่อผู้ลงทุนมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และต้องมีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการออมเพื่อการชราภาพในระยะยาวนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ได้มีการตั้งกฎเกณฑ์ไว้ว่า หากผู้ถือหน่วยลงทุนไถ่ถอนก่อนกำหนดจะต้องเสียค่าปรับ และจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากทางการด้วย

ผู้ลงทุนที่ควรลงทุนกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

1. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เนื่องจากในอดีตกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้สะสมเงินลงทุน แบบปลอดภาษี เนื่องจากยังไม่มีระบบบำเหน็จบำนาญรองรับ

2. ลูกจ้างที่นายจ้างยังไม่ได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในกรณีที่สถานประกอบการใดนายจ้างยังไม่มีความพร้อมที่จะจัดสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ลูกจ้าง ก็จะทำให้ลูกจ้างเหล่านั้นขาดโอกาสในการสะสมเงินลงทุน

3. ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลุ่มบุคคลเหล่านี้หากมีความประสงค์ที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นกว่าการออมแบบผูกพันระยะยาวแบบเดิม และเพื่อต้องการจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มวงเงิน 300,000 บาท ตามที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริมก็สามารถลงทุนเพิ่มกับ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้เช่นกัน

เงื่อนไขสำคัญของการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อแลกสิทธิประโยชน์ทางภาษี

1. ผู้ลงทุน ได้แก่ ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้างที่ไม่มีกองทุนประกันสังคมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้ง ข้าราชการที่ต้องการลงทุนเพิ่ม ตลอดจนชาวต่างประเทศที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยเกินกว่า 180 วัน

2. เงินลงทุน ต้องมาจากเงินได้ประเภทต่อไปนี้
1.1 เงินได้จากการจ้างแรงงาน หรือจากการประกอบอาชีพ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยประชุม เงินบำเหน็จบำนาญ ค่ารับเหมา ค่านายหน้า
1.2 เงินที่ได้จากการรับทำงานให้
1.3 เงินได้จากการธุรกิจการพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง
1.4 เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี เป็นต้น

3. ผู้ลงทุนต้องซื้อหน่วยลงทุนของ RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกัน

4. ผู้ลงทุนที่มีเงินได้ต้องลงทุนแบบผูกพัน คือ ลงทุนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง แต่หากมีความจำเป็นก็อาจจะระงับการลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน ในกรณีที่ผู้ลงทุนไม่มีเงินได้ในปีใดหรือหลายปีติดต่อกัน ผู้ลงทุนสามารถเว้นว่างจากการลงทุนได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขของการลงทุน และหากผู้ลงทุนมีเงินได้เมื่อใดก็ให้ลงทุนต่อไป โดยให้นับอายุการลงทุนตั้งแต่ปีแรกที่ลงทุน

5. เงินลงทุนขั้นต่ำ ผู้ลงทุนต้องลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของรายได้หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ต่อปี อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีจำนวนเงินต่ำกว่า ในการคำนวณรวมเงินลงทุนขั้นต่ำให้รวมเงินลงทุนในทุกๆ กองทุนที่ลงทุนในปีนั้นๆ

6. เงินลงทุนขั้นสูง ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ต้องไม่เกิน 300,000 บาท ต่อปี และในการคำนวณรวมเงินลงทุนขั้นสูงให้รวมเงินลงทุนในทุกๆ กองทุนที่ลงทุนในปีนั้นๆ

7. ประเภทของกองทุนรวม บริษัทจัดการสามารถมีอิสระในการนำเสนอรูปแบบของกองทุนได้โดยอิสระ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้หรือกองทุนแบบผสม เป็นต้น

8. การจ่ายเงินปันผล กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไม่มีการจ่ายเงินปันผล

9. ผู้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ สามารถไถ่ถอนได้เมื่อผู้ลงทุนมีอายุ 55 ปี และต้องลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้มีการนำกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไปจำนำหรือจำนอง หรือหลักประกันในการกู้ยืมเงิน เว้นแต่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ประกาศกำหนด

10. ในกรณีที่มีการไถ่ถอนก่อนกำหนด หรือขายคืนหน่วยลงทุนก่อนกำหนด ที่ผู้ลงทุนจะมี อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และถือหน่วยลงทุนมาน้อยกว่า 5 ปี ผู้ลงทุนจะต้องนำเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในช่วง 5 ปี ปฏิทินล่าสุดไปคืนกรมสรรพากร และต้องนำเงินกำไรส่วนเกินทุนที่เกิดจากการขายคืนหน่วยลงทุนนั้นไปคำนวณเพื่อรวมเป็นรายได้ในการเสียภาษีเงินได้ในปีที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนนั้นด้วย โดยการเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมสามารถเสียได้ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะไม่ต้องชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของภาษีส่วนที่จ่ายขาดไป

11. ในกรณีที่ผู้ลงทุนขายคืนหน่วยลงทุนไปแล้วบางส่วน โดยยังคงถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเหลืออยู่บางส่วนและประสงค์จะลงทุนต่อ โดยได้ลงทุนต่อเนื่องทันทีในปีที่ได้ชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษี และผู้ลงทุนได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนด้วยแล้ว ผู้ลงทุนสามารถนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพใหม่นี้ได้อย่างต่อเนื่องกับระยะเวลาลงทุนเดิมได้

12. ในกรณีที่ผู้ลงทุนมีการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และ ผู้ลงทุนมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี หรือทุพพลภาพ ผู้ลงทุนสามารถถือหน่วยลงทุนต่อไปได้ โดยจะซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ จะซื้อเป็นเงินจำนวนเท่าไรก็ได้ และหากเงินได้ที่นำมาซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติมอยู่ในประเภทเงินได้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ผู้ลงทุนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินลงทุนดังกล่าวด้วย

นโยบายการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

ผู้ลงทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้ตามความเหมาะสมของผู้ลงทุนเอง โดยสามารถศึกษาได้จาก หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งการลงทุนอาจลงทุนในกองทุนใดก็ได้แบบใดแบบหนึ่งในมาตรฐาน 10 แบบ ของสำนักงาน กลต. ซึ่งจะมีความเสี่ยงและผลตอบแทนในระดับที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบก่อนการลงทุนทุกครั้ง โดยเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับอายุของผู้ลงทุน การยอมรับความเสี่ยงและการคาดหวังผลตอบแทนที่จะได้รับด้วย ซึ่งนโยบายการลงทุนทั้ง 10 แบบมาตรฐาน ของสำนักงาน ก.ล.ต. ประกอบด้วย
1. กองทุนรวมตราสารแห่งทุน (Equity fund)
2. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ (General fixed income fund)
3. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว (Long-term fixed income fund)
4. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น (Short-term fixed income fund)
5. กองทุนรวมผสม (Balanced fund)
6. กองทุนระบบผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible portfolio fund)
7. กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of funds)
8. กองทุนรวมใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant funds)
9. กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ (Sector fund)
10. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund)

การลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพสามารถลงทุนได้ในหลักทรัพย์และทรัพย์สินประเภทเดียวกับที่กองทุนรวมลงทุนได้ เช่น ตราสารแห่งทุน ตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เป็นต้น

การลงทุนใน RMF สามารถโอนย้ายได้หรือไม่

ผู้ลงทุนสามารถโอนย้ายการลงทุนทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนจากกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพหนึ่งไปยังกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพอื่นได้ ทั้งนี้อาจโอนย้ายการลงทุนไปยังกองทุนรวมเดียวหรือหลายกองทุนรวมก็ได้ และถ้าหากมีการโอนย้ายภายในระยะเวลา 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเดิม ได้รับคำสั่งโอนย้ายจากผู้ลงทุน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะสามารถนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องกันได้

ผู้บริหารกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

บริษัทจัดการกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นผู้บริหารกองทุนฯ โดยบริษัทที่จัดการต้องได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมจากทางการแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

1. ผู้ลงทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนเองได้
2. ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการออมเพื่อเป็นหลักประกันแก่ตนเองหรือครอบครัวเมื่อเกษียณอายุ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

สิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ลงทุน

1. เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมที่ผู้ลงทุนได้นำเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ กบข. แล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท ในแต่ละปีภาษี

2. เงินที่ผู้ลงทุนได้รับจากการไถ่ถอนจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงทุนครั้งแรก จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน

3. กรณีที่มีการไถ่ถอนเงินจากกองทุนเนื่องจากผู้ลงทุนเกิดทุพพลภาพหรือตาย เงินที่ไถ่ถอนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน

อนึ่ง ทางการได้กำหนดให้ผู้ลงทุนเริ่มได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับเงินได้ปี 2544 เป็นต้นไป

บทสรุป

การระดมเงินออมผ่านการลงทุนทางด้านการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ จะส่งผลกระทบต่อการออมของประเทศในภาพรวมให้เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ที่มีอาชีพอิสระรวมทั้งผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่ต้องการออมเงิน ในปริมาณที่มากกว่านายจ้างออมให้อยู่แล้วแต่ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากมีข้อติดขัดของกฎหมายของทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวข้างต้น ในเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินเข้ากองทุน ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนไม่น้อยกว่าที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน แต่อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนก็สามารถจะออมผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้แทน โดยจะรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกัน จึงนับได้ว่ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ปริมาณเงินออมแบบผูกพันระยาวมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศมีแหล่งเงินทุนระยะยาวเพิ่มขึ้น สามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศและลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ นอกเหนือไปจากการส่งผลดีทางด้านสังคมที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีการเก็บออมเงินไว้สำหรับยามเกษียณอายุเพิ่มมากขึ้น และทำให้คุณภาพชีวิตหลังเกษียณดีขึ้น ตลอดจนเป็นการช่วยลดภาระของภาครัฐในเรื่องของการใช้เงินงบประมาณมาอุดหนุนในเรื่องสวัสดิการเหล่านี้ลงได้