การออมในรูปแบบของการประกันชีวิต
บทนำการออมในรูปแบบของการประกันชีวิต
ธุรกิจประกันชีวิตถือเป็นสถาบันการเงินที่ระดมเงินออมจากประชาชนในรูป ของเบี้ยประกันชีวิต โดยนำเงินออมส่วนนี้ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด และไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุนมากนัก บริษัทประกันชีวิต เป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ให้บริการให้ความคุ้มครองหรือช่วยเหลือบรรเทาความเสี่ยงภัย เป็นการรวมศูนย์ของกลุ่มคนเพื่อร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องมาจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดได้ประสบภัยก็จะได้รับเงินส่วนเฉลี่ยช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว ทั้งนี้ บริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำเงินก้อน ดังกล่าวไปจ่ายให้แก่ผู้ที่ได้รับภัย ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตจัดเป็นธุรกิจประเภทสถาบันการเงินที่ภาครัฐ ได้ให้ความสำคัญอย่าง ต่อเนื่อง และยังคงให้การสนับสนุนให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน หรืออาจกล่าวได้ว่าธุรกิจประกันชีวิตเปรียบเสมือนเป็นสถาบันการเงินระยะยาว ประกันชีวิตมีกี่ประเภท ปัจจุบันการประกันชีวิตได้จัดแบ่งรูปแบบออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะวัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้เอาประกันภัย ดังนี้
- การประกันชีวิตประเภทสามัญ (Ordinary Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตรายบุคคลที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป ให้ความคุ้มครองและการออมทรัพย์ นอกจากนี้ในการพิจารณาว่าจะรับประกันชีวิตหรือไม่ อาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท โดยมีทางเลือกในการชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี ราย 6 เดือน ราย 3 เดือน หรือรายเดือน การประกันชีวิตประเภทนี้มีอัตราเบี้ยประกันสูงและสามารถเก็บเบี้ยพิเศษเพิ่มได้ ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยสุขภาพไม่ดีหรือมีอาชีพที่เสียงภัย นอกจากนี้ผู้เอาประกันยังสามารถกู้เพื่อชำระเบี้ยประกันได้ด้วย
- การประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม (Industrial Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำ ตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 30,000 บาท ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถทำประกันชีวิตได้ การชำระเบี้ยประกันอาจจะชำระเป็นรายเดือน และไม่มีการตรวจสุขภาพ การประกันชีวิตประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองและออมทรัพย์ และมีระยะเวลารอคอย นั่นคือ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บตาม ธรรมชาติบริษัทจะไม่จ่ายเงินเอาประกันภัยให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมด อัตราเบี้ยประกันชีวิตประเภทนี้จะต่ำกว่าประเภทสามัญและไม่มีการเก็บเบี้ยเพิ่มพิเศษ รวมทั้งผู้เอาประกันไม่สามารถกู้เพื่อชำระเบี้ยประกันได้ด้วย
- การประกันชีวิตประเภทกลุ่ม (Group Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่กรมธรรม์หนึ่งจะมีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของพนักงานบริษัทเอกชน ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท สำหรับอัตราเบี้ยประกันชีวิตประเภทนี้จะต่ำกว่าทั้งประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม
รูปแบบของการประกันชีวิต
การประกันชีวิตสามารถแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
- การประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ โดยผู้รับผลประโยชน์จะได้รับจำนวนเงินเอาประกันเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประกันรูปแบบนี้ เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับช่วยเหลือแก่ผู้ที่อยู่ในความอุปการะเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย หรือปานกลาง และมีอัตราเบี้ยประกันต่ำกว่าแบบสะสมทรัพย์
- การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้แก่ ผู้เอา ประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบตามสัญญา หรือจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์แก่ผู้เอาประกันเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นการผสมผสานกันระหว่างการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ แต่จะเป็นในรูปแบบของการสะสมทรัพย์มากกว่าการคุ้มครอง สำหรับการออมทรัพย์จะเห็นได้ชัดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนเมื่อสัญญาครบกำหนดการ ประกันชีวิต ในรูปแบบนี้เหมาะสำหรับผู้มีรายได้สูงหรือปานกลาง หรือผู้ที่ต้องการสร้างทุนการศึกษาให้กับบุตรหรือผู้ที่ต้องการสะสมทรัพย์ โดยมีอัตราเบี้ยประกันค่อนข้างสูง
- การประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำรายปี (Annuity Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ ให้แก่ ผู้เอาประกันภัยทุกเดือนนับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ โดยผู้เอาประกันชีวิตสามารถเลือกซื้อหรือเลือกประเภทสำหรับระยะเวลาการจ่ายเงินได้ประจำนี้ การประกันในรูปแบบนี้จะเน้นการออมทรัพย์มากกว่าการคุ้มครอง และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมีรายได้ภายหลังเกษียณอายุ หรือผู้ที่ต้องการสร้างเงินบำนาญไว้ในยามชรา โดยมีอัตราเบี้ยประกันสูง
- การประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะคุ้มครองการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยภายในกำหนดระยะเวลาของสัญญา หมายความว่า บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอา ประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัย และหากผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนสัญญาครบกำหนดก็จะไม่ได้รับเงินคืน เนื่องจากการประกันชีวิตในรูปแบบนี้จะให้ความคุ้มครองกรณีที่เกิดการเสียชีวิตเท่านั้น จึงไม่มีมูลค่ากรมธรรม์ หรืออาจกล่าวได้ว่าการประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่นๆ และไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา อย่างไรก็ดี การประกันชีวิตที่มีลักษณะเป็นการออมทรัพย์ คือ การประกันชีวิตแบบตลอดชีพ การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และการประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำรายปีเท่านั้น
ประโยชน์ของการทำประกันชีวิต
- ด้านการลงทุน การทำประกันชีวิตก็เปรียบเสมือนเป็นการลงทุนซื้อหลักทรัพย์ชนิดหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากผู้ทำประกันจะได้รับดอกผลเช่นเดียวกับการฝากเงินในสถาบันการเงิน เพียงแต่มีวิธีการ เงื่อนไข และอัตรา ดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี การประกันชีวิตแม้ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนบางประเภท แต่ก็นับว่าเป็นรายได้ที่แน่นอน และเชื่อมั่นได้ว่าต้นทุนไม่สูญหายไปด้วย
- ด้านการออม การทำประกันชีวิต มีลักษณะคล้ายกับเป็นการออมแบบกึ่งบังคับ โดยเฉพาะการประกันชีวิตแบบตลอดชีพและสะสมทรัพย์ ซึ่งผู้เอาประกันจะต้องมีหน้าที่ในการจ่ายเบี้ยประกันอย่างสม่ำเสมอ และหากผู้เอาประกันไม่เสียชีวิตเมื่อครบระยะเวลาตามที่กรมธรรม์กำหนดไว้ ก็จะได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย นับได้ว่าเป็นการออมเพื่อไว้ใช้ยามชราก็ได้ หรือออมไว้เพื่อเก็บเป็นทุนการศึกษาของบุตรหลาน นอกจานี้ ยังเป็นการสร้างค่านิยมให้คนรู้จักประหยัด และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวอีกด้วย
- ด้านการให้ความคุ้มครอง การทำประกันชีวิตจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องการเงิน รวมทั้ง เรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของครอบครัว อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของบุคคลใดบุคคลหนึ่งในครอบครัวนั้น
- ด้านความมั่นคง การประกันชีวิตสามารถช่วยสร้างความมั่นคงของรายได้ให้แก่ผู้เอาประกันได้ อาทิ ในกรณีการทำประกันการเจ็บป่วย หรือการประกันอุบัติเหตุ ผู้เอาประกันก็สามารถมีรายได้ในยามเจ็บป่วยหรือมีรายได้สำหรับเลี้ยงดูตนเองในกรณีทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงได้ ในกรณีการทำประกันชีวิตเพื่อเลี้ยงชีพยามชรา ผู้เอาประกันก็สามารถมีรายได้เพื่อเลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิตเช่นกัน
- ด้านการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เนื่องจากรัฐบาลได้ให้การส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิต ดังนั้น ผู้ที่ทำประกันชีวิตก็สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย ไปใช้เป็นค่า ลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาสนใจการทำประกันชีวิตเพิ่มขึ้น
- ด้านอื่นๆ การทำประกันชีวิตเปรียบเสมือนการเตรียมเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป ก็จะมีมูลค่าเงินสด หากผู้เอาประกันมีความจำเป็นทางการเงินก็สามารถขอ กู้เงินจำนวนหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดไปใช้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้
(หน่วย : ราย) |
รายการ | 2535 | 2536 | 2537 | 2538 | 2539 | 2540 | 2541 | 2542 | 2543 | 2544 |
จำนวนบริษัทประกันชีวิต | 12 | 12 | 12 | 12 | 13 | 17 | 13 | 25 | 25 | 26 |
จำนวนกรมธรรม์มีผลบังคับ | 4,473,057 | 4,909,350 | 5,539,686 | 6,238,838 | 7,017,534 | 7,215,122 | 7,198,575 | 7,375,916 | 7,772,644 | 8,331,702 |
จำนวนประชากร | 57,788,965 | 58,336,072 | 59,095,072 | 59,460,382 | 60,116,182 | 60,816,227 | 61,466,178 | 61,661,701 | 61,878,746 | 62,308,887 |
จำนวนตัวแทน | 87,759 | 104,179 | 111,048 | 125,408 | 129,602 | 151,896 | 184,437 | 271,548 | 279,896 | 329,079 |
อัตราผู้ถือกรมธรรม์ต่อประชากร 100 คน | 7.73 | 8.5 | 9.37 | 10.49 | 11.67 | 12.86 | 11.76 | 11.94 | 12.56 | 13.37 |
ที่มา : สมาคมประกันชีวิต
แม้ว่าธุรกิจประกันชีวิตกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี แต่จากสภาวะดอกเบี้ยธนาคารที่ลดต่ำลงในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจประกันชีวิต เนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินทั่วไปไม่ได้มีความต้องการเงินฝากของบริษัทประกันชีวิต เหมือนเช่นอดีต เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ธุรกิจประกันชีวิตจึงจำเป็นจะต้องหาช่องทางในการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ที่สามารถจะทำให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการนำเงินไปฝากที่ธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้บริษัทฯ จะต้องบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมทั้ง ผลตอบแทนจากการลงทุนให้ ครอบคลุมต้นทุนในการบริหารและการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้เอาประกันด้วย จึงจะสามารถรักษาฐานลูกค้าหรือส่วนแบ่งการตลาดไว้ในระดับเดิมได้
บทสรุป
ธุรกิจประกันชีวิตนับเป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในการระดมเงินออมระยะยาวจากประชาชน และเป็นตัวกลางในการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากภาคเศรษฐกิจที่มีเงินเหลือ (Surplus Sector) ไปยังภาคเศรษฐกิจที่ขาดแคลนเงินทุน (Deficit Sector) เช่นเดียวกับสถาบันการเงินอื่น จึงนับได้ว่าธุรกิจประกันชีวิตมีส่วนลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ และช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ การทำประกันชีวิตถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนทางการเงินให้ สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการในอนาคต เป็นการปลูกฝั่งให้ประชาชนมีความสนใจและรัก การออม ซึ่งสามารถช่วยคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวได้ด้วยการเลือกวิธีการเอาประกันชีวิตในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจัดเป็นการเสริมสร้างสวัสดิการทางสังคมประเภทหนึ่ง และขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของ รัฐบาลในด้านการประชาสงเคราะห์ลงด้วย อันจะทำให้ประชาชนในประเทศเกิดความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตเพิ่มขึ้น นอกเหนือไปจากการเป็นเครื่องมือในการระดมเงินออมระยะยาวจากประชาชนอย่างได้ผล ในลักษณะของการออมกึ่งบังคับในรูปแบบของการชำระเบี้ยประกันตลอดสัญญาระยะยาว ซึ่งผู้ออมจะต้องออมอย่างสม่ำเสมอตลอดอายุในสัญญากรมธรรม์ตามที่ระบุไว้