กฎแห่งเงินลงทุน

ความหมายกฎแห่งเงินลงทุน 3/1

เมื่อเริ่มใช้กฎแห่งเงิน 9/1 เราจะรักษาฐานะความเป็นอยู่ได้อย่างมีความสุขจาก ความเพียงพอ และที่สำคัญ ฐานะความมั่งคั่งทางการเงินก็จะเกิดขึ้นกับเรา เพราะเงิน 1 ส่วนที่เก็บออมเพื่อการลงทุนนั้น มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาและรายได้ที่มีมากขึ้น

กฎแห่งเงินลงทุน 3/1 คือ กฎแห่งการบริหารจัดสรรเงินเพื่อเป้าหมายในการสร้าง อิสรภาพทางการเงิน โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน นั่นคือ ใช้เงิน 3 ส่วน เพื่อการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง และอีก 1 ส่วนเพื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุดและปลอดภัยมากที่สุด

เงิน 3 ส่วนที่จัดสรรเพื่อการลงทุนคือ เงินที่เราให้เพื่อการลงทุนให้เกิดมูลค่าเพิ่ม โดยแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน เพื่อใช้ในการลงทุนที่มีความแตกต่าง ในความเสี่ยงและผลตอบแทนดังนี้ ส่วนที่ 1 ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ส่วนที่ 2 ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนปานกลางถึงสูง มีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 3 ลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนปานกลาง มีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในส่วนที่ 2

ดังนั้น เป้าหมายของเงินออมจึงจำเป็นต้องมีจำนวนเงินเป็นตัวกำหนดที่แน่นอน เช่น ต้องมีเงิน 50,000 บาท , 100,000 บาท , 200,000 บาท หรือ 1,000,000 บาท เป็นต้น แล้วแต่ที่ต้องการ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรายได้ที่ได้รับเป็นหลักในการพิจารณาเป้าหมายของเงินออมด้วย

นอกจากนี้ การกำหนดเป้าหมายของเงินออมเพื่อการลงทุนนั้น เราสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทตามความเหมาะสมคือ ประเภทที่ 1 กำหนอุตสาหกรรม หรือธุรกิจที่จะลงทุน และประเภทที่ 2 ไม่กำหนดอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่จะลงทุน

บางคนวางแผนงานการลงทุนไว้ล่วงหน้าว่า อยากลงทุนทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่วาดฝันเอาไว้ แต่บางคนยังไม่ได้วาดฝันการลงทุนเอาไว้ล่วงหน้า แต่จะใช้เวลาในการออมเงินเพื่อศึกษาหาข้อมูลทางธุรกิจหรือุตสาหกรรมที่เหมาะสมในอนาคต อย่างไรก็ดี การเรียนรู้และศึกษาข้อมูลการลงทุน เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก

อิสรภาพทางการเงิน” คือเป้าหมายของผู้เก็บเงินออมเพื่อลงทุน การจะได้มาซึ่งอิสรภาพทางการเงินนั้น จะต้องมีการวางแผนทางการเงินตั้งแต่วันนี้ ปรับปรุงการใช้ชีวิต การควบคุมรายรับรายจ่าย และการเก็บเงินออมด้วยกฎแห่งเงิน 9/1 เมื่อเงินออมที่เราตั้งเป้าหมายบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว จงบริหารเงินออมเพื่อลงทุนของเราด้วยกฎแห่งเงินลงทุน 3/1

3 ใน 4 ส่วนของเงินออมเพื่อการลงทุน

การลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น ก่อนการลงทุนด้วยเงินออมของเรา ควรลดและจำกัดความเสี่ยงด้วยการศึกษาข้อมูลทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่จะลงทุน และต้องไม่ลงทุนตามกระแสนิยม
3 ใน 4 ส่วนของเงินออมเพื่อการลงทุนที่ต้องการผลตอบแทน
การลงทุน คือ การนำเงินสดจำนวนหนึ่งมาใช้เพื่อทำกิจการใดกิจการหนึ่ง เพื่อหวังผลตอบแทนในรูปของเงินสดที่มีมูลค่ามากกว่าเงินลงทุนกลับคืน และหวังว่าจะมีรายได้อย่างถาวรและยั่งยืน
ความเสี่ยง คือ การกระทำใด ๆ ก็ตามที่อาจจะมีโอกาสสูญเสียเงินลงทุน
ความเสี่ยงในการลงทุน คือ การลงทุนใด ๆ ก็ตามที่อาจจะมีโอกาสสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วน
การจำกัดความเสี่ยง คือ การควบคุมการกระทำใด ๆ ของการลงทุนให้มีโอกาสสูญเสียน้อยที่สุดหรือไม่สูญเสียเลย
ช่องทางการลงทุน คือ ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เปิดโอกาสให้ลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน
เครื่องมือในการลงทุน คือ ลักษณะของธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ ตลาดทุน ตลาดเงิน ตาลาตราสารหนี้ ตลาดทองคำล่วงหน้าและตลาดสินค้าการเกษตรล่วงหน้า ที่ใช้ในการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทน

 

ส่วนที่ 1 : ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน

กฎการลงทุนกล่าวไว้ว่า “ผลตอบแทนที่สูงมักจะมีความเสี่ยงที่สูง” แน่นอนเมื่อเราจะตัดสินใจลงทุนในกิจการ ธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมใดก็ตาม สิ่งที่คาดหวังของผู้ลงทุนก็คือ ผลตอบแทนสูงสุด แต่ด้วยกฎทั่วไปของการลงทุนที่ว่าด้วยความเสี่ยง จึงทำให้เราต้องใช้ข้อมูลจริง ในการวิเคราะห์หาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น กับสิ่งที่คิดจะลงทุน เพื่อหาวิธีจำกัดความเสี่ยงนั้น ๆ แต่ในเงินลงทุนส่วนนี้ เรามุ่งเน้นที่จะลงทุนในธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงแต่ให้ผลอตอบแทนสูงเช่นกัน และเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสุงกว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่สูงที่สุด ของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ดังนั้น อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากเงินลงทุนส่วนนี้คือ 15-40 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน ได้แก่ การลงทุนในตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้น SET Index , SET 100 เป็นต้น และตลาดเงิน เช่น ตลาดซื้อขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินยูโร และเงินเยน เป็นต้น

การเตรียมความพร้อมก่อนการลงทุนคือ การเรียนรู้ ศึกษาและเข้าฟังสัมมนา ข้อมูลตลาดทุนและตลาดเงินให้เข้าใจอย่างชัดเจนและถ่องแท้ สามารถวิเคราะห์หรือประเมินสิ่งที่จะลงทุนได้ในเบื้องต้น จากนั้นเลือกเครื่องมือการลงทุนที่มั่นใจที่สุด จึงลงทุนด้วยข้อมูลจริงไม่ตามกระแสนิยมวิเคราะห์ด้วย ความเป็นกลางไม่เข้าข้างตัวเอง จากนั้นจึงตัดสินใจลงทุน

ส่วนที่ 2 : ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนปานกลางถึงสูง มีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในส่วนที่ 1

การใช้เงินลงทุนในส่วนที่ 2 นั้นต้องเลือกเครื่องมือการลงทุนที่เหมาะสม เพราะเป้าหมายการลงทุนเพื่อจำกัดความเสี่ยงของเงินลงทุน ด้วยการเลือกลงทุนกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง แต่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง ดังนั้น การคาดหวังกับเงินลงทุนในส่วนนี้จึงอยู่ที่ 10-30 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน ได้แก่ การลงทุนในกิจการ ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใด ๆ ที่ได้รับการวิเคราะห์เบื้องต้นแล้วว่าน่าลงทุน มีความเสี่ยงที่รับได้ เช่น เปิดร้านอาหาร ร้านเสริมความงาม ร้านบริการนวดแผนไทย หรือสปา ร้านขายหนังสือ ร้านขายกาแฟ ร้านขายสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ร้านอินเทอร์เน็ต ร้านขาย/ซ่อมคอมพิวเตอร์ ร้านขายเสื้อผ้า และอื่น ๆ

การลงทุนลักษณะนี้เป็นการลงทุนที่จับต้องได้ สามารถบริหารงานเองได้หรือว่าจ้างมืออาชีพมาบริหารงานแทนได้ แต่การลงทุนประเภทนี้ จะต้องใช้ องค์ประกอบในการพิจารณาหลายประการในการตัดสินใจ เช่น คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่จะขาย สถานที่ประกอบการกับความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์ กลุ่มลูกค้าที่คาดหวัง และเศรษฐกิจของประเทศ หรือเลือกการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ซื้อหุ้นใน SET 50 ที่มีความมั่นคงและจ่ายเงินปันผลสูง (โดยถือหุ้นระยะยาวไม่น้อยกว่า 6 เดือน) เป็นต้น

ส่วนที่ 3 : ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนปานกลาง มีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในส่วนที่ 2

การใช้เงินลงทุนในส่วนที่ 3 นี้ ต้องเลือกเครื่องมือการลงทุนที่มีความเหมาะสม เพราะเป้าหมายของการลงทุน เพื่อกำจัดความเสี่ยงให้ต่ำ แต่ยังคงให้ผลตอบแทนปานกลาง ช่องทางการลงทุนนี้ต้องเลือกเครื่องมือการลงทุนที่มีความมั่นคง ดังนั้น การคาดหวังผลตอบแทนจะอยู่ที่ 7-15 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน ได้แก่ ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 3-10 ปี แต่มีความปลอดภัยในเงินลงทุนมากที่สุดและมีความเสี่ยงต่ำที่สุด ลงทุนในกองทุนทองคำก็เป็นการลงทุนระยะยาวเช่นกันตั้งแต่ 3-5 ปี มีความปลอดภัยในเงินลงทุนน้อยกว่าพันธบัตรรัฐบาล และลงทุนในหุ้น SET 50 ในหุ้นที่เกี่ยวกับธุรกิจปัจจัยสี่และจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอทุกปี เป็นต้น

 

ดังนั้น การลงทุนในส่วนนี้จะมุ่งเน้นการลงทุนระยะยาว คาดหวังเงินปันผลจากผลประกอบการเป็นหลัก และเป็นการรักษาเงินลงทุนให้มีความปลอดภัย ในระดับที่มีความเสี่ยงต่ำ การที่เราจัดสรรเงินทุนเพื่อการลงทุนในแต่ละประเภทของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้น ก็เพื่อให้เงินของเราทำงานที่หลากหลาย และจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุน หากเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดหรือไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งยังสามารถเรียกคืนเงินลงทุนได้บางส่วนโดยไม่สูญเสียทั้งหมด

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ไม่คาดคิดและไม่สามารถควบคุมได้ ปัจจัยหลัก คือ เศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อรายได้ประชาชาติ การส่งออก ค่าครองชีพ ภาวะการว่างงาน การจลาจลในประเทศ และสงคราม เป็นต้น ปัจจัยรอง คือ ปัญหาส่วนตัว หรือครอบครัว ที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ เพื่อการรักษาพยาบาล ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเลือกการลงทุนที่ดีที่สุด คือ การเลือกลงทุนในกิจการหรืออุตสาหกรรมที่สามารถเปลี่ยน เป็นเงินได้ในระยะ เวลาอันสั้น ทำไมจึงแบ่งจัดสรรเงินลงทุนในประเภทธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน

การลงทุนที่แตกต่างแต่ละประเภท มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราเฉลี่ย 10.66-28.33 เปอร์เซ็นต์ ให้มีมูลค่าสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เป็นการลดและจำกัดความเสี่ยงของเงินลงทุน และที่สำคัญ เราสามารถเปลี่ยนตัวเองจากทาสของเงินเจ้านาย มาเป็นเจ้านายของเงินแทน โดยใช้เงินทำงานเพื่อเป็นก้าวเริ่มต้นไปสู่อิสรภาพทางการเงิน

"เมื่อคุณเริ่มใช้กฎแห่งการลงทุน 3/1
คุณก็มีเงินทาสผู้ซื่อสัตย์ถึง 3 กองทัพเงินย่อย
การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
คือ การลงทุนในกิจการ
หรืออุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน"

 

1 ส่วนใน 4 ส่วนของเงินออมเพื่อการลงทุน

การลงทุนมีความเสี่ยง ลดและจำกัดความเสี่ยงด้วยการศึกษาข้อมูลทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่จะลงทุน ก่อนการลงทุนด้วยเงินออมของเรา และต้องไม่ลงทุน ตามกระแสนิยม

1 ใน 4 ส่วนของเงินออมเพื่อลงทุน

1 ใน 4 ส่วนของเงินออมเพื่อลงทุนเป็นเงินส่วนที่ต้องการความปลอดภัยสูงและจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนให้ต่ำที่สุด ดังนั้น เงินส่วนนี้จึงต้อง พิจารณาสิ่งที่จะลงทุนว่าอยู่ในวัตถุประสงค์ของการลงทุนหรือไม่ อีกทั้งการคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นอยู่ในอัตรา 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของเงินลงทุนในระยะยาวตั้งแต่ 2 หรือ 3 ปีขึ้นไป

ทองคำ เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดของเงินลงทุนส่วนนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทองคำเป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มตลอดเวลาตั้งแต่มนุษย์รู้จักทองคำมา ทองคำมีอัตราเติบโตทางมูลค่าสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อปกติ และความโดดเด่นของทองคำก็คือ เป็นทรัพย์สินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันทีที่ต้องการ และสามารถสร้างผลกำไรเป็นช่วง ๆ ของการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดทองคำโลกได้ง่ายกว่า

ดังนั้น ทองคำที่แนะนำเพื่อการลงทุนคือ ทองคำแท่ง เนื่องจากเสียค่ากำเหน็จน้อยที่สุดและซื้อขายง่าย ตลอดจนคำนวณผลตอบแทนง่าย ฉะนั้นการลงทุน ซื้อทองคำแท่งมาเก็บสะสม จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด เพราะไม่ขึ้นกับผลประกอบการของธุรกิจหรืออุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีราคา ในอัตราเปลี่ยนแปลง ค่อนข้างต่ำและต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น การลงทุนในทองคำแท่งจึงต้องใช้ระยะเวลาและใจเย็นพอสมควร การรู้จังหวะในการซื้อทองคำแท่ง เพื่อเก็บสะสมก็เป็นส่วนสำคัญพอ ๆ กับการรู้จังหวะ ในการขายเช่นกัน ซึ่งผู้ที่จะลงทุนในทองคำแท่งที่หวังผลตอบแทน จำเป็นต้องศึกษาตลาดทองคำ ต้องรู้ว่าราคาขึ้นลงของทองคำนั้น ผูกติดกับอะไรบ้าง ต้องรู้จักสัญญาณจากเศรษฐกิจและการเมืองของโลกเพื่อประกอบการพิจารณา แต่สำหรับผู้ที่จะสะสมทองคำ เพื่อเป็นหลักประกันของชีวิตนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นมากนัก ที่จะต้องมีข้อมูลมากมาย เพียงใช้แค่เก็บสถิติของทองคำจากอดีตแล้วมาหารค่าเฉลี่ยเป็นช่วง ๆ ของระยะเวลาแล้ว คำนวณราคาซื้อเพื่อเก็บสะสม

นอกจากนี้ พันธบัตรรัฐบาล ระยะยาว 7-10 ปี ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการลงทุนในเงินทุนส่วนนี้ เพราะพันธบัตรรัฐบาล เป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าแน่นอน ในอนาคต เนื่องจากมีเงื่อนไขและข้อตกลงที่จะจ่ายผลตอบแทนที่ชัดเจนตั้งแต่วันที่ซื้อ และสามารถขายได้ง่ายเช่นเดียวกับทองคำ เพียงแต่ว่าอัตรา การคำนวณ การรับซื้อขึ้นอยู่กับอายุของพันธบัตรนั้น ๆ เป็นสำคัญ แต่ผลตอบแทนระยะสั้นอาจต่ำกว่าทองคำแท่ง

ดังนั้น การเลือกการลงทุนในส่วนนี้ ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาว่าต้องการให้เงินลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเร็งหรือค่อยเป็นค่อยไป และขึ้นอยู่กับอุปนิสัยเฉพาะบุคคล ในการเลือกลงทุนด้วย