กองทุนประกันสังคม
กองทุนประกันสังคม
กองทุนประกันสังคมจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิต ให้แก่ประชาชน โดยเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการออมและเสียสละเพื่อส่วนรวม มีหลักการสำคัญที่มุ่งให้ประชาชนช่วยเหลือซึ่งกันและกันช่วยเหลือตนเอง และครอบครัวในยามที่ไม่มีรายได้ รายได้ลดลงหรือมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น โดยไม่เป็นภาระให้ผู้อื่นและสังคม การประกันสังคมจึงเป็นมาตรการหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต
กองทุนประกันสังคมมีผลบังคับใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2534 โดยบังคับให้บุคคล 3 ฝ่าย ได้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมฝ่ายละเท่าๆกัน ในอัตราเพดานร้อยละ 1.5 ของค่าจ้าง โดยเริ่มต้นจากการให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง 4 กรณี (เรียกว่า กองทุน 4 กรณี)ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย โดยครอบคลุมสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไปและได้ขยายออกไปเป็นสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2536 และขยายไปยังสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2545 เป็นต้นไป การกำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบนั้น ในปี พ.ศ. 2533-2540 กำหนดให้จ่ายเงินสมทบฝ่ายละ ร้อยละ 1.5 ของค่าจ้าง และในปี พ.ศ. 2541-2546 กำหนดให้จ่ายเงินสมทบฝ่ายละ ร้อยละ 1 ของค่าจ้าง และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป กำหนดให้จ่ายเงินสมทบฝ่ายละ ร้อยละ1.5 ของค่าจ้าง สำหรับเพดานเงินเดือนสูงสุดคือ 15,000 บาทต่อเดือน และผู้ประกันตนต้องมีอายุระหว่าง 15-60 ปีบริบูรณ์
ประโยชน์ทดแทนของกองทุน 4 กรณี
1. กรณีเจ็บป่วย ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำงานจะได้สิทธิต่อเมื่อจ่ายเงินเข้ากองทุนไม่ น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือน
- ค่ารักษาพยาบาล - ถ้ารักษาในสถานพยาบาลตามที่กำหนดในใบรับรองสิทธิ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
- ค่ารักษาพยาบาล กรณีฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงแรก เป็นผู้ป่วยในหรือนอกสามารถ ใช้สิทธิไม่เกิน 2 ครั้ง/ปี เป็นไปตามอัตราที่กำหนด
- ค่ารักษาพยาบาล กรณีอุบัติเหตุภายใน 72 ชั่วโมง จ่ายเต็มจำนวน แต่ถ้า เป็นสถานพยาบาลเอกชนจ่ายตามกรณีฉุกเฉิน (ไม่กำหนดจำนวนครั้ง)
- กรณีไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ได้เงินทดแทน 50% ของค่าจ้างครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน
- กรณีสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะบางส่วน ได้ค่าอวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์บำบัดตามประเภทและราคาที่กำหนด
2. กรณีคลอดบุตร ได้รับสิทธิเมื่อส่งเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนการรักษา
- หญิง ได้รับค่าคลอด 4,000 บาท/ครั้ง และได้เงินสงเคราะห์ในช่วงลาคลอด 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน
- ชาย ได้รับสิทธิค่าคลอด 4,000 บาท/ครั้ง ด้วย
- ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายชายและหญิงสามารถใช้สิทธิได้ฝ่ายละ 2 ครั้ง
3. กรณีทุพพลภาพ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำงาน ได้สิทธิเมื่อส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเข้ารับการรักษา
- เงินทดแทน 50% ของค่าจ้างตลอดชีวิต
- ค่ารักษา ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 2,000 บาท/เดือน ตลอดชีวิต
- กรณีทุพพลภาพแล้วเสียชีวิต ได้ค่าทำศพ 30,000 บาท และทายาทได้รับเงินสงเคราะห์แบ่งเป็น
- นำส่งเงินสมทบหลัง 3-10 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 1 เดือนครึ่ง
- ส่งเงินสมทบหลัง 10 ปีขึ้นไป ได้เท่ากับค่าจ้าง 5 เดือน
4. กรณีตาย ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน ได้รับสิทธิเมื่อส่งเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนตาย
- ค่าทำศพ 30,000 บาท
หมายเหตุ
- กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย จากการทำงานจะใช้สิทธิจากกองทุนเงินทดแทน
- ใช้สิทธิประโยชน์นี้ยังให้ความคุ้มครองกับลูกจ้างผู้ประกันตนต่อไปอีก 6 เดือนแม้ ว่าจะออจากงานสถานประกอบการหนึ่งและยังไม่สามารถหางานทำใหม่ได้ใน ระยะเวลาดังกล่าว
กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ (เรียกว่า กองทุน 2 กรณี) รัฐบาลได้จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2541 และเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้บริหารกองทุนให้เป็นระบบบำเหน็จบำนาญชั้นที่ 1 (Pillar 1) ในระบบการออมผูกพันแบบบังคับ (Compulsory Saving) ให้แก่นายจ้างและลูกจ้าง โดยให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อการชราภาพ เพื่อต้องการให้ผเกษียณอายุมีรายได้ไว้ใช้จ่ายยามหลังเกษียณอายุ โดยกำหนดจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับสมาชิกไว้แน่นอน (Defined Benefits) คือ กำหนดไว้ที่ ร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉลี่ย 5 ปีสุดท้ายของวงเงินสมทบ และเพิ่มอีกปีละ ร้อยละ 1 สำหรับการทำงานเพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ปี โดยจ่ายประโยชน์ทดแทนทั้งในรูปบำเหน็จ ชราภาพ (รับเป็นเงินก้อนครั้งเดียว) และบำนาญชราภาพ (รับเป็นรายเดือนจนถึงแก่กรรม)โดยสมาชิกกองทุนจะได้รับผลประโยชน์จากกองทุนเมื่อเกษียณอายุกำหนดที่ 55 ปี สำหรับความคุ้มครองของกองทุนชราภาพจะคุ้มครองในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป การกำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบ กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราที่เท่าๆกัน คือ อัตราเพดานร้อยละ 3 ของค่าจ้าง แต่เนื่องจากการเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องออกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเท่ากับฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนอัตราการเก็บเงินสมทบ โดยในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ ร้อยละ 1 ของค่าจ้าง และในปี พ.ศ. 2543-2545 นายจ้าง และลูกจ้างจ่ายฝ่ายละ ร้อยละ 2 ของค่าจ้าง และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป นายจ้าง และลูกจ้างจ่ายฝ่ายละ ร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการสงเคราะห์บุตรในอัตราร้อยละ 1 ของค่าจ้างโดยตลอด สำหรับเพดานค่าจ้าง คือ 15,000 บาทต่อเดือน
ประโยชน์ทดแทนของกองทุน 2 กรณี
1. กรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับสิทธิเมื่อส่งเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายใน 36 เดือน
- สิทธินี้สิ้นสุดหากบุตรตาย ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น และสิ้นสุดการประกันตนหมายเหตุ
- เงินสงเคราะห์บุตรแบบเหมาจ่ายเดือนละ 150 บาท/คน/เดือน จนบุตรมีอายุ 6 ปี ได้รับสิทธินี้คราวละ 2 คน (แม้ว่าจะมีบุตรเกิน 2 คนก็ตาม)
2. กรณีชราภาพ
1) บำนาญชราภาพ (รายเดือน)
2) บำเหน็จชราภาพ (จ่ายครั้งเดียว)
- กรณีจ่ายเงินบำนาญ
ให้จ่ายเป็นรายเดือนในอัตรา ร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพขึ้นอีกร้อยละ 1 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน เช่น ทำงาน 20 ปีได้ ร้อยละ 20 ของค่าเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
- กรณีจ่ายเงินบำเหน็จ
จะจ่ายให้กับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเท่ากับจำนวนสะสมที่ผู้ประกันตนจ่ายสะสมในกองทุนสงเคราะห์บุตรและชราภาพ แต่ถ้าหากจ่ายเงินสะสม ตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบในกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด สำหรับกรณีผู้รับเงินบำเหน็จบำนาญเสียชีวิตก่อนจะได้รับเงินชราภาพ ให้จ่ายเป็นเงินบำเหน็จชราภาพแก่ทายาท แต่ถ้าหากผู้รับเงินบำนาญตายภายใน 60 เดือน หลังจากได้สิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ กองทุนฯจ่ายเงินบำเหน็จ 12 เท่า ของบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับให้กับทายาท
สำหรับกรณีว่างงาน ได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 กองทุนนี้ให้ความคุ้มครองลูกจ้างในกลุ่มเดียวกับกองทุนประกันสังคมปัจจจุบัน เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างหรือสมัครใจลาออกโดยไม่ได้ทำผิดกฎหมายของบริษัทตามกฎหมาย การจ่ายเงินสมทบจะจ่าย 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 5 ของค่าจ้าง และเมื่อถูกเลิกจ้างจะได้เงินร้อยละ 50 ของค่าจ้างสุดท้าย เป็นระยะเวลา 6 เดือน ถ้าออกจากงานโดยสมัครใจจะได้เงินทดแทนร้อยละ 30 ของค่าจ้างสุดท้าย เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับเงินสมทบนั้นในเบื้องต้นให้เก็บในอัตราร้อยละ 0.5 ของเงินเดือนจากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล