การบริหารความเสี่ยงของกองทุน

การบริหารความเสี่ยงของกองทุน

ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล
ผอ. กลุ่มงานดุลยภาพการเงิน การออม และการลงทุน
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

การออมที่ดำเนินการผ่านกองทุนรูปแบบต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างมีนัยต่อ ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่ระดมเงินออม จากผู้ออมรายย่อย หรือกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์การออม เพื่อการเกษีนณอายุของสมาชิก เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น การบริหารความเสี่ยงของกองทุนจึงมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้การบริหาร ผลตอบแทน ของกองทุนเข้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้มากที่สุด โดยผ่านกระบวนการควบคุมและลดความเสี่ยงที่เกี่ยงข้องให้ได้มากที่สุด และเมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้รับเกียรติจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา วิชาการเรื่อง การบริหารความเสี่ยงของการทุนเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ จึงขอสรุปสาระของการสัมมนาฯ ดังกล่าวมา ณ ที่นี้

กองทุนเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีการพูดคุยกันคือกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ เช่น กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งระดมเงินออมจากสมาชิกกองทุนอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลายาวติดต่อกันจนมีมูลค่าทรัพย์สินลงทุนของกองทุนฯ จำนวนมาก เฉพาะของ กบข. แห่งเดียวก็ร่วมๆ 4 แสนล้านบาทแล้ว ดังนั้นความสนใจของประชาชนก็คือผู้บริหารกองทุนฯ เหล่านั้น มีวิธีการในการบริหารจัดการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนกันอย่างไรเพื่อจะสร้างความเชื่อมั่น และให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกได้อย่างพอเพียงและมั่นคงในวัยชรา

ความเสี่ยงของกองทุนฯ ในที่นี้คือความน่าจะเป็นที่การลงทุนจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้นั่นคือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ความเสี่ยงในภาพรวมสามารถแบ่งออกเป็น

  1. ความเสี่ยงจากภาวะตลาด (Market risk)
  2. ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk)
  3. ความเสี่ยงจากการดำเนินงาน (Operational risk)
  4. ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity risk)

โดยกองทุนจะมีกระบวนการที่เป็นมาตรฐานให้การบริหารจัดการความเสี่ยง คือ การระบุความเสี่ยง ประเมินความเสี่ยง มีการตัดสินใจว่า จะดำเนินการจัดการ กับความเสี่ยงอย่างไร และกระบวนการรายงานเพื่อควบคุมความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงของกองทุน ในปัจจุบันสามารถวัดค่าความเสี่ยงที่เกิดจาก การคำนวณทางสถิติคือ Value-at-Risk : VaR เพื่อให้สามารถคำนวณความเสี่ยงของการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้ออกมาอยู่ในหน่วยเดียวกัน ทำให้ผู้บริหารกองทุนสามารถเปรียบเทียบ และรวมค่าความเสี่ยงจากการลงทุนของกองทุนกองหนึ่งๆ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกองทุน และความต้องการของนักลงทุนผู้ถือหน่วยลงทุน นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบ VaR กับค่า Benchmark ด้วย (Relative VaR)

ในการบริหารความเสี่ยงของกองทุนฯ นั้นควรพิจารณาประเด็นอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การกระจายทรัพย์สิน (Asset allocation หรือการ Diversify Asset หลักการก็คือการกระจายการลงทุนเพื่อลดค่าเฉลี่ยความเสี่ยงของการลงทุนโดยรวม)

หลักเบื้องต้นของการกระจายทรัพย์สินคือการพิจารณาทิศทางความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างผลตอบแทนและค่าความผันผวน Volatility ของสินทรัพย์แต่ละประเภท ในระยะเวลาที่กำหนดด้วย การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีทิศทางความสัมพันธ์ (Correlation) ที่มีทิศทางตรงกันข้ามกันจะสามารถลดความเสี่ยงของการลงทุนโดยรวมได้ เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อาจมีค่า Correlation ที่เป็นบวกในช่วงเวลาหนึ่งในขณะที่การลงทุนในตราสารอนุพันธ์กลับมีค่า Correlation ที่เป็นลบ ดังนั้นการลงทุนในสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทนี้พร้อมๆ กัน ก็จะเป็นการลดค่าความผันผวนหรือความเสี่ยงไปโดยอัตโนมัติด้วย นอกจากนี้กองทุนฯ ยังมีการวิเคราะห์ Sharp ratio การคำนึงถึงระยะเวลาของการลงทุน ตลอดจนผลการดำเนินงานของกองทุนฯ รวมทั้งมีเครื่องมือในการวัดความเสี่ยงที่นอกเหนือจาก VaR คือ การทำ Stress tests ซึ่งเป็นการจำลองเหตุการณ์ของกองทุนในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ โดยจะวัดเป็นราคาตลาด ณ ปัจจุบัน เพื่อให้สามารถทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกองทุนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุด เพื่อเตรียมมาตรการในการรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ยังมีการวัดระดับความเสี่ยงของการลงทุนของกองทุนโดยพิจารณาจากเกณฑ์การวัดค่า Marginal risk และ Marginal return ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมไว้ตามมาตรฐานด้วย

เมื่อได้รับข้อมูลยืนยันจากผู้บริหารกองทุนฯ ข้างต้นแล้วก็น่าจะทำให้สมาชิกของกองทุนฯ มีความเชื่อมั่นว่าเงินออมของตนได้รับการดูแลอย่างดีภายใต้ระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ทันสมัยและเทียบเท่าระดับสากล แต่ก็ต้องพึงตระหนักว่า "การลงทุนมีย่อมมีความเสี่ยง และผลตอบแทนของการลงทุนในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต"

หมายเหตุ : ความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน และมิได้สะท้อนความเห็นหรือนโยบายของหน่วยงานแต่อย่างไร