เครื่องมือทางการเงิน
ลักษณะและประเภทของเครื่องมือทางการเงิน
เครื่องมือทางการเงิน (Financial Instruments) หมายถึง หนังสือสำคัญซึ่งเป็นเอกสารแสดงสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในการเป็นเจ้าของ สิทธิในการเป็นเจ้าหนี้ สิทธิที่จะซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ฯลฯ ทั้งนี้จะยกตัวอย่างตราสารทางการเงินชนิดต่าง ๆ ตามตาราง แสดงตัวอย่างของเครื่องมือทางการเงินชนิดต่าง ๆ ดังนี้
ตารางแสดงตัวอย่างของเครื่องมือทางการเงินชนิดต่าง ๆ
เครื่องมือทางการเงิน | ผลตอบแทน/สิทธิชองผู้ถือ | สถานะของผู้ถือ |
ตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน |
1. ดอกเบี้ย 2. กำไรจากการขายเปลี่ยนมือ |
เจ้าหนี้กิจการ |
ตราสารหุ้น เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ |
1. เงินปันผล 2. สิทธิในการบริหาร 3. กำไรจากการขายเปลี่ยนมือ 4. สิทธิจองหุ้นออกใหม่ |
เจ้าของกิจการ |
ตราสารอนุพันธ์ เช่น ใบสำคัญ แสดงสิทธิการซื้อหุ้น (Warrant) |
กรณี (Warrant) 1. ผลต่างระหว่างราคาใช้สิทธิในการซื้อหุ้นกับราคาตลาด 2. กำไรจากการขายเปลี่ยนมือ |
กรณี (Warrant) ผู้ถือมีสิทธิในการจองซื้อหุ้น สามัญของบริษัท |
หน่วยลงทุน (Unit trust) | 1. เงินปันผล 2. กำไรจากการขายเปลี่ยนมือหรือขายคืน |
เจ้าของกองทุนรวม |
สำหรับตราสารทางการเงินประเภทตราสารหนี้นั้นจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดโดยแยก หัวข้อนำไปอธิบายในเรื่องถัด ๆ ไป เนื่องจากตราสารหนี้ เป็นตราสารทางการเงินที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเรื่อง ของอัตราดอกเบี้ยและการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาวิชา เศรษฐศาสตร์การเงิน ส่วนตราสารอีก 3 ประเภท จะได้อธิบายโดยสังเขปเพิ่มเติมจากตารางสรุปข้างต้น ดังนี้
1. ตราสารทุนหรือหุ้นทุน (Share) คือ ส่วนของทุนของกิจการที่ถูกแบ่งออกเป็นหุ้น ซึ่งแต่ละหุ้นจะให้อำนาจผู้ถือหุ้นในการ เป็นเจ้าของของ กิจการตามสัดส่วนของ หุ้นที่ถือ ซึ่งหมายความรวมถึงการได้สิทธิในการได้รับส่วนแบ่งกำไรและสิทธิในการบริหาร ในที่นี้จะยกตัวอย่างหุ้นทุน 2 ประเภท คือ
1.1 หุ้นสามัญ (Common Stock) คือ หลักทรัพย์ที่บริษัทออกจำหน่ายเพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถือในการร่วมเป็นเจ้าของ บริษัท ผู้ถือหุ้นสามัญมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อร่วมตัดสินใจใน การบริหาร การวางนโยบายการดำเนินการของบริษัท การเลือกตั้งกรรมการของบริษัท และเพื่อร่วมตัดสินใจในปัญหาสำคัญของบริษัท ผู้ถือหุ้นมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลเมื่อบริษัทมีกำไร และอนุมัติให้มีการจ่ายเงินปันผล หรือเมื่อราคาหุ้นในตลาดรองสูงขึ้นก็สามารถนำไปขายเพื่อรับส่วนต่างจากราคา หุ้นที่ซื้อมา (Capital Gain) นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นจะได้รับสิทธิจองหุ้นใหม่ (Right) เมื่อบริษัทต้องการจะเพิ่มทุนด้วย
1.2 หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) เป็นหุ้นที่มีลักษณะกึ่งหนี้สินและกึ่งหุ้นสามัญ (Hybrid) มีราคาหน้าตั๋ว (Par Value) และมีอัตราเงินปันผลกำหนดไว้ตายตัว ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าผู้ถือหุ้นสามัญ เช่น ได้รับเงินปันผลก่อน หรือมากกว่าผู้ถือหุ้น สามัญและมีสิทธิในทรัพย์สินของ บริษัทก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ (แต่หลังจากผู้เป็นเจ้าหนี้ของบริษัท) ในกรณีที่บริษัทจะต้องเลิกกิจการ อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับสิทธิในการออกเสียงและการบริหาร งานของบริษัท
2. ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) หมายถึง ตราสารทางการเงินประเภทที่มูลค่าหรือราคาของตราสารนั้นเกี่ยวเนื่องอยู่กับ มูลค่าของ สินทรัพย์ที่ตราสารนั้นอิงอยู่ เช่น ตราสารสิทธิที่จะซื้อหรือขายหุ้น (Stock Options) เป็นตราสารอนุพันธ์ เพราะราคาของตราสาร ดังกล่าวจะเกี่ยวโยง กับราคา ของหุ้นที่จะใช้ตราสารสิทธินั้นไปซื้อหรือขายได้ สัญญาซื้อขายดัชนีราคาหุ้นล่วงหน้า (Stock Index Futures) เป็นตราสารอนุพันธ์ เพราะราคา ของตราสารนี้สืบเนื่องมาจากดัชนีราคาหุ้นที่ตราสารอิงอยู่ การจัดให้มีการซื้อขายตราสารอนุพันธ์จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้อง กับ ตลาดการเงิน มีเครื่องมือไว้ปกป้อง และบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่และเป็นการ เพิ่มช่องทางลงทุนซื้อขายที่หลากหลายยิ่งขึ้น
3. หน่วยลงทุน (Unit trust) หมายถึง หลักทรัพย์ที่ออกขายโดยบริษัทจัดการลงทุนเพื่อระดมเงินเข้ากองทุนรวมที่จัด ตั้งขึ้น แล้วจัดสรรเงิน ในกองทุนนั้น ลงทุนในตลาดการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน เช่น ลงทุนซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ลงทุนในตราสารการเงิน ต่าง ๆ และฝากไว้กับสถาบันการเงิน เป็นต้น ผู้ถือหน่วยลงทุนมีฐานะร่วมเป็นเจ้าของกองทุนนั้น ๆ และมีสิทธิได้รับเงินปันผลตอบแทนจากผลกำไรที่เกิดขึ้น หากถือไว้จนถึงกำหนดไถ่ถอนก็จะได้รับส่วนแบ่งคืนจากเงินกองทุนตามสัดส่วนของ หน่วยลงทุนที่ถืออยู่
อย่างไรก็ตาม มีกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งซึ่งมิได้นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ เหมือนกองทุนรวมทั่วไป เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทจัดการกองทุนรวมจัดตั้งขึ้นเพื่อนำเงิน ที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนไปซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์และจัดหาผลประโยชน์ จากอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว เป็นต้น