พฤติกรรมรวมหมู่ Collective Behavior
ความหมายและลักษณะของพฤติกรรมรวมหมู่
พฤติกรรมรวมหมู่ มิใช่พฤติกรรมของกลุ่มสังคม (Social Group) เพราะมิได้เป็นไปตามบรรทัดฐานหรือวัฒนธรรมของสังคม นักสังคมวิทยาถือว่า พฤติกรรมรวมหมู่เป็นการรวมกลุ่มที่ไม่มีโครงสร้าง โดยบุคคลเหล่านั้น มิได้รู้จักคุ้นเคยกันอย่างแท้จริง และการแสดงออกของกลุ่มคนดังกล่าว ก็ไม่เกี่ยวข้องกับ บทบาทและสถานภาพของบุคคลนั้น
นักสังคมวิทยาและนักจิตวิทยาได้ให้ความหมายของพฤติกรรมรวมหมู่ (Collective Behavior) ไว้หลายท่านและมีความหมายคล้ายคลึงกัน ดังนี้
ไบแซนซ์ (Biesanz, 1978 : 408) ได้ให้ความหมายไว้ว่า พฤติกรรมรวมหมู่ หมายถึง กิจกรรมของคนกลุ่มใหญ่ที่รวมตัวกันโดยปราศจากการกำหนดแบบแผน ล่วงหน้า มาก่อน เป็นพฤติกรรมที่ไม่มีโครงสร้างและไม่อาจตีความหมายได้ ตามบรรทัดฐานของสังคม
เลียวนาร์ด บรูม และ ฟิลิป เซลส์นิค (Broom and Selznick, 1979 : 234 อ้างถึงใน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2526 : 217) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “พฤติกรรมรวมหมู่” เป็นการศึกษาสถานการณ์สังคมและผลของสถานการณ์ ซึ่งไม่ได้จัดตั้งโครงสร้าง รวมทั้งไม่ได้อยู่ในความควบคุมของบรรทัดฐานสังคม และความสัมพันธ์ทางสังคมที่จัดระเบียบแล้วอย่างเต็มที่นัก
นีล เจ. สเมลเซอร์ (Smelser, 1988 : 358 – 366 อ้างถึงใน สุพิศวง ธรรมพันธา, 2543 : 87 – 88) ได้ให้ความหมายและอธิบายไว้ว่า “พฤติกรรมรวมหมู่” เป็นพฤติกรรมกลุ่มแบบหนึ่งที่ไม่สามารถกำหนดรูปแบบของพฤติกรรมทางสังคมได้แน่นอน อาจเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือพฤติกรรมผิดปกติได้ มักจะเกิดจากภาวะตึงเครียดทางอารมณ์ จนสร้างพฤติกรรมใหม่ได้โดยไม่ตั้งใจ พฤติกรรมรวมหมู่ไม่มีโครงสร้างที่แน่นอน เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ
พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ – ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2524 : 38) ได้กำหนดความหมายของ “พฤติกรรมรวมหมู่” ไว้ว่า เป็นพฤติกรรมของกลุ่มในลักษณะที่บุคคลทั้งหลายในกลุ่มนั้นกระทำการด้วยแรงจูงใจ ความรู้สึก และเจตคติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เสมือนว่ากลุ่มนั้นคือคนคนเดียว
สุภางค์ จันทวานิช (คณะอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540 : 118) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “พฤติกรรมรวมหมู่” คือ พฤติกรรมของคนจำนวนมากซึ่งไม่มีแบบแผนของพฤติกรรมที่แน่นอนชัดเจน และไม่มีโครงสร้างของความ สัมพันธ์ทางสังคมของคนในกลุ่มนั้น เช่น การแพร่ระบาดทางอารมณ์ ขบวนการสังคม ประชามติ และการโฆษณาชวนเชื่อ เดิมเรียกว่า “พฤติกรรมร่วม”
สุพัตรา สุภาพ (2542 : 139) ได้ให้ความหมายและอธิบายไว้ว่า “พฤติกรรมรวมหมู่” หมายถึง พฤติกรรมของคนเป็นจำนวนมากที่เกิดขึ้นโดยความสมัครใจ เป็นการแพร่กระจายของจิตที่อยู่ในสภาพที่ตื่นเต้น และถูกกระตุ้นยั่วยุจากผู้ที่เข้าร่วมด้วย และทำอะไรเอาอย่างกันโดยไม่รู้สึกตัวและมักทำอะไรเหมือนกัน โดยไม่มีการจัดระเบียบหรือวางแผนไว้ล่วงหน้ามาก่อน และพฤติกรรมเหล่านี้จะดำเนินต่อไปเรื่อยตราบเท่าที่มีผู้ดำเนินการกระตุ้น
จากความหมายที่กล่าวมาแล้วอาจสรุปได้ว่า “พฤติกรรมรวมหมู่” หมายถึง พฤติกรรมของคนจำนวนมากที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจในสถานการณ์ที่ตื่นเต้น ตระหนกตกใจและถูกกระตุ้นยั่วยุให้กระทำบางสิ่งบางอย่าง จากผู้ที่เข้าร่วมโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของบรรทัดฐานทางสังคม หรือระบบของวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายใดจุดมุ่งหมายหนึ่ง เกิดขึ้นและสิ้นสุดในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งพฤติกรรมในลักษณะสร้างสรรค์และสร้างความวุ่นวายให้แก่สังคม ซึ่งอาจมีผลและบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้
ลักษณะของพฤติกรรมรวมหมู่
จากความหมายของพฤติกรรมรวมหมู่ กล่าวได้ว่า พฤติกรรมรวมหมู่มีลักษณะสำคัญดังนี้
1. เป็นพฤติกรรมของกลุ่มคนและการแพร่ระบาดทางอารมณ์ของบุคคลและกลุ่มคน
2. มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์และผลของสถานการณ์ ซึ่งค่อนข้างจะได้ระเบียบและโครงสร้างมักมีการเปลี่ยนแปลงไปเองและอย่างรวดเร็ว ยากต่อการคาดคะเนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในขั้นต่อไป บางครั้งมีความรุนแรงมากจนเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม
3. มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ปรากฏการณ์ที่เป็นผลของพฤติกรรมรวมหมู่ อาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม และค่านิยมใหม่ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็ได้
4. มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมกลุ่มคนที่แตกต่างไปจากพฤติกรรมกลุ่มคนในยามปกติ กล่าวคือ อยู่นอกเหนือการควบคุมของบรรทัดฐานทางสังคม และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยากต่อการคาดคะเน
5. ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนหรือมีรูปแบบที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ไม่มีกฎเกณฑ์ในการเลือกสมาชิก จำนวนสมาชิกไม่แน่นอนและเกิดขึ้นชั่วคราวเมื่อได้รับการสนองตอบทางอารมณ์ก็จะสลายตัวไป
6. เป็นสภาพการณ์ที่มีปัญหายุ่งยากเกิดขึ้นและยังไม่สามารถตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ ปัญหายังคงปรากฏอยู่ไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด
7. เป็นสภาพการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทรรศนะและค่านิยม โดยเป็นปฏิกิริยาที่เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมระหว่างสภาพการณ์เดิม กับสภาพการณ์ใหม่
8. ผู้คนเข้ามารวมกลุ่มด้วยความสมัครใจ เพราะมีอารมณ์ร่วมไม่ใช่เพราะถูกบีบบังคับ
9. การแสดงพฤติกรรมมักจะทำตามผู้นำหรือทำตามๆ กัน เช่น ถ้ามีใครปรบมือก่อนคนอื่นๆ ก็จะปรบมือตาม เป็นต้น
10. เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น มากกว่าจะยืดเยื้อติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน
11. บางครั้งจะเป็นไปอย่างไม่คำนึงถึงเหตุผล โดยเฉพาะพฤติกรรมรวมหมู่ที่มีอารมณ์ร่วมในระดับสูง
12. เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบหนึ่ง ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในสังคมได้
สาเหตุของการเกิดพฤติกรรมรวมหมู่
พฤติกรรมรวมหมู่เกิดจากสาเหตุหลายประการ คือ
1. สภาพของสังคมและวัฒนธรรมเอื้ออำนวย เช่น สังคมประกอบด้วยคนจำนวนมาก มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน สมาชิกยังไม่ได้ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งแน่นอน มีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเป็นประจำ เช่น สังคมเมือง สังคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
2. โครงสร้างของสังคมเอื้ออำนวย เช่น สังคมไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอน ไม่กำหนดว่าพฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมแก่การปฏิบัติ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานของสังคม แม้ว่าจะล้าหลังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดสิ่งใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดพฤติกรรมรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
3. การเปิดโอกาสให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมรวมหมู่ เช่น ระบบการเมืองการปกครอง เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในรูปแบบประชามติ จึงเปิดโอกาสให้เกิดการรวมกลุ่มและนำไปสู่พฤติกรรมรวมหมู่ได้
4. อิทธิพลของนวัตกรรมหรือสิ่งแปลกใหม่ที่เข้าสู่สังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและเจตคติของคนในสังคม และต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรม แต่คนบางกลุ่มยังไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง จึงเกิดพฤติกรรมรวมหมู่ในรูปแบบต่างๆ ขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
5. องค์การทางสังคมไม่มั่นคง ไม่สามารถปฏิบัติบทบาทและหน้าที่ของตนได้ มีสภาพอ่อนแอไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิกได้ โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดสถานการณ์ไม่ปกติขึ้นในสังคม สมาชิกไม่สามารถพึ่งพาอาศัยได้ จึงเกิดพฤติกรรมรวมหมู่ขึ้น
6. การจัดระเบียบสังคมและการควบคุมสังคมล้มเหลว ทำให้สังคมเกิดภาวะสับสน วุ่นวาย และไร้ระเบียบในสังคม ทำให้เกิดพฤติกรรมรวมหมู่ขึ้นได้
7. เกิดสภาวการณ์บางอย่างขึ้นแบบเฉียบพลันและโดยบังเอิญ ไม่คาดคิดมาก่อน ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ ผู้คนจึงเกิดพฤติกรรมรวมหมู่ขึ้นได้ เช่น การแตกตื่นข่าวลือ การจลาจล เป็นต้น
8. ความต้องการของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลบางคน เพื่อผลประโยชน์บางอย่างทำให้เกิดพฤติกรรมรวมหมู่บางประเภทขึ้น เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ เป็นต้น
9. วิกฤตการณ์และความตึงเครียดในสังคม ทำให้เกิดการระบาดทางอารมณ์ และพฤติกรรมรวมหมู่ขึ้นได้ เช่น ฝูงชนแบบต่างๆ เป็นต้น
10. ความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชนชาติต่างๆ ในสังคม เช่น ความขัดแย้งทางโครงสร้างชนชั้น ความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน เป็นต้น ทำให้เกิดพฤติกรรมรวมหมู่ขึ้น
11. ความสามารถของบุคคลหรือกลุ่มที่อยู่เบื้องหลัง เช่น การจัดตั้งที่ดี การเตรียมการอย่างดี คณะกรรมการผู้ริเริ่มมีคุณภาพ เป็นต้น ทำให้เกิดพฤติกรรมรวมหมู่ขึ้นได้
12. การควบคุมสังคมเข้มงวดแบบเผด็จการ ทำให้บุคคลและกลุ่มคนบางคนบางกลุ่มไม่พอใจ ต่อต้านและนำไปสู่การเกิดพฤติกรรมรวมหมู่ขึ้น
13. การสั่งสมความคับข้องใจของบุคคลและกลุ่มคนในสังคมในระยะเวลาหนึ่ง เช่น ความไม่เป็นธรรมในสังคม การฉ้อราษฎร์บังหลวงของผู้นำ การเล่นพรรคเล่นพวกในแวดวงราชการ เป็นต้น เป็นพลังผลักดันให้เกิดพฤติกรรมรวมหมู่เพื่อต่อต้านพฤติกรรมดังกล่าวขึ้นได้
14. ปัจจัยทางจิตวิทยา คือ การแพร่ระบาดทางอารมณ์ของบุคคลที่ถูกกระตุ้นเร่งเร้าจนพร้อมที่จะแสดงพฤติกรรมซึ่งละเมิดบรรทัดฐานทางสังคม โดยเฉพาะเมื่อการเข้ารวมกลุ่มกับบุคคลอื่นที่มีสภาวะทางอารมณ์เหมือนกัน ทำให้เกิดพฤติกรรมรวมหมู่บางประเภทขึ้นได้
กระบวนการเกิดพฤติกรรมรวมหมู่
พฤติกรรมรวมหมู่มีกระบวนการเกิดที่สำคัญ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2526 : 225 – 226) 4 ขั้นตอน คือ
1. ประชาชนต่างมีความรู้สึกถึงความไม่สงบ เกิดความไม่พอใจในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่ไม่สามารถแก้ไขให้เกิดความพึงพอใจได้ และเริ่มขยายออกไปมากขึ้น
2. การวนเวียนจับกลุ่ม (Milling) คือ ประชาชนที่เกิดความไม่พึงพอใจมารวมกลุ่มกันโดยไม่มีจุดมุ่งหมายแน่นอน มีการเดินไปเดินมา แสดงความกระวนกระวาย วิตกกังวล หวาดกลัวหรือตื่นเต้น นับว่าเป็นการเร้าและเพิ่มการตอบสนองระหว่างกันและกัน รวมทั้งการสร้างความพร้อมเพรียงให้บุคคลยอมรับการชี้แนะต่างๆ ได้ง่าย ไม่ขัดขวางหรือต่อต้าน ซึ่งอาจกระทำโดยการกระซิบกระซาบ การวิพากษ์วิจารณ์หรือการใช้เสียงดัง ทำให้ผู้ที่วนเวียนไปมาอยู่นั้นเข้ามารวมกลุ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
3. การสร้างความตื่นเต้นรวมหมู่ (Collective Excitement) เป็นการเร่งเร้ายั่วยุกระตุ้นอารมณ์ของกลุ่มคนให้ตอบสนองอย่างรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น จนกลายเป็นความตื่นเต้นร่วมกันและขยายตัวกลายเป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ ในขั้นตอนนี้ข่าวลือสามารถนำมาใช้ได้เป็นอย่างดี
4. การระบาดทางอารมณ์ (Social Contagion) เป็นผลต่อเนื่องจากความตื่นเต้นรวมหมู่ถูกกระตุ้นจนถึงขีดสุดบุคคลในกลุ่มจะสูญเสียการควบคุมตนเอง ขาดความไตร่ตรองและความรับผิดชอบ นำไปสู่พฤติกรรมที่ตนเองไม่เคยกระทำในภาวะปกติ และไม่คาดคิดมาก่อน
พฤติกรรมร่วมเกิดจากการแพร่ระบาดทางอารมณ์ (emotional contagion) ในสังคม ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางจิตใจ แสดงพฤติกรรมออกเพื่อระบายความกดดันภายในออกมา พฤติกรรมที่แสดงออกมานี้ เป็นพฤติกรรมที่ยังไม่ลงตัวเป็นแบบแผนหรือสังคม ขณะนั้นมีโครงการที่ไม่แน่นอน (unstructured behavior)
การแพร่ระบาดทางอารมณ์ หมายถึง ความรู้สึกตื่นเต้นและการกระตุ้นซึ่งกันและกัน มีระดับความรุนแรงจนมีอิทธิพลแพร่ระบาดออกไปสู่วงกว้าง
บุคคลที่ติดต่อสังสรรค์กันในกลุ่มจะรู้สึกอะไรบางอย่างร่วมกัน ซึ่งทำให้สภาพจิตตื่นเต้นเหมือนๆ กัน บุคคลจะรู้สึกประทับใจเมื่อเห็นอาการเคลื่อนไหวแสดงความรู้สึกของบุคคลอื่น ความรู้สึกดังกล่าวนี้อาจจะแสดงออกทางคำพูด โดยเฉพาะการแสดงท่าทีและท่าทางประกอบ เช่น การทุบโต๊ะ การชูมือ ยกมือพร้อมๆ กับน้ำเสียงที่เน้นจังหวะสูงต่ำ ความเร็วในการพูด นัยน์ตาที่แสดง ความรู้สึกโกรธ ชิงชังเคียดแค้น เศร้า รวมทั้งความเร็วและจังหวะในการหายใจ การเปลี่ยนสีหน้า ความเข้มข้นและเหงื่อตามร่างกาย ทุกสิ่งดังกล่าวนี้เมื่อบุคคลแสดงออกทำให้มีอิทธิพลต่อกันและกัน ในขณะที่ตัวเขาแสดงพฤติกรรมออกมา ผู้อื่นเห็นเขาและตัวของเขาเองมองเห็นผู้อื่น ซึ่งก็หมายความว่าทุกคนมีส่วนช่วยในการแสดงออกในการตอบสนองและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำให้พร้อมที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปพร้อมกัน
องค์ประกอบของการแพร่ระบาดทางอารมณ์ (elements of emotional contagion)
มีอยู่ 3 ลักษณะ ดังนี้ (ปฬาณี ฐิติวัฒนา, 2523 : 152)
1. จิตอยู่ในสภาพที่ถูกชักจูงได้ง่าย (heightened suggestibility) เนื่องจากในขณะนี้สภาพของโครงสร้างไม่แน่นอน บุคคลจะมองตัวเองจากผู้อื่น และเนื่องจากอารมณ์ของเขานั้นเครียดอยู่แล้ว เขาก็พร้อมที่จะทำตามคนอื่นที่ทำเป็นตัวอย่างทันที โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นเป็นผลดีหรือผลร้ายตามมา
2. จิตอยู่ในสภาพถูกกระตุ้นได้ง่าย (heightened stimulation) ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะมีบุคลิกภาพเฉพาะตน หลายคนมีจิตใจที่เข้มแข็ง เชื่อมั่นในตนเอง ในขณะที่บุคคลอีก
จำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะถูกกระตุ้นให้เปลี่ยนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างง่ายดาย บุคคลประเภทหลังนี้เอง เมื่อตกอยู่ในสภาพแวดล้อมของกลุ่มที่มีอาการตื่นเต้น และมีการกระทำที่รุนแรงมากระทบใจท่ามกลางผู้คนที่อยู่กันอย่างใกล้ชิด (ซึ่งทำให้มองเห็นอากัปกิริยาที่แสดงออกมา เช่น ลมหายใจ กล้ามเนื้อที่ตึงเครียด เหงื่อออก) การกระตุ้นจะเป็นไปในรูปการติดต่อตอบสนองวงกลม ดังนี้
ก กระตุ้น ข ทำให้เกิดความกลัวใน ข ความกลัวของ ข กระตุ้นให้ ค กลัวและมีผลสะท้อนกลับไปที่ ก ให้กลัวยิ่งขึ้นอีก
3. มีประสบการณ์อย่างเดียวกัน (homogeneity of experience) การแพร่ระบาดทางอารมณ์จะเกิดเฉพาะในหมู่บุคคลซึ่งมีความโน้มเอียง และมีเบื้องหลังความเป็นมาเหมือนกัน ในกรณีนักเรียนบางกลุ่มยกพวกตีกัน หรือคนงานก่อความวุ่นวาย เป็นต้น ทั้งสองกรณีนี้ขณะที่นักเรียนวิวาทกัน คนงานหรืออีกหลายกลุ่มรับรู้แต่ไม่ถึงขั้นดึงดูดให้เข้าไปร่วมในเหตุการณ์นั้นด้วย
ประเภทของพฤติกรรมรวมหมู่
พฤติกรรมรวมหมู่จำแนกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ตามระดับความรุนแรงของอารมณ์ของกลุ่มคนผู้ที่มีพฤติกรรมรวมหมู่ดังนี้
1. การแพร่ระบาดทางอารมณ์ (Emotional Contagion) คือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยที่สภาพจิตใจของกลุ่มคนมีอารมณ์เป็นตัวกระตุ้นในระดับรุนแรง มีความตื่นเต้นสูง และระดับความรุนแรงนี้แพร่ขยายไปสู่แวดวงที่กว้างออกไป
2. ขบวนการสังคม (Social Movement) ได้แก่ การรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความเชื่อหรืออุดมการณ์ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กระทำการอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขบวนการสังคมมีลักษณะก้ำกึ่ง ระหว่างพฤติกรรมรวมหมู่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดทางอารมณ์ และพฤติกรรมรวมหมู่ที่เกิดจากความเชื่อหรือเหตุผล เพราะกลุ่มคนที่เข้าร่วมในขบวนการจะได้รับการกระตุ้นทางอารมณ์ แต่ก็มีองค์ประกอบของความเชื่อและความคิดอยู่ด้วย จึงควรจะจำแนกพฤติกรรมรวมหมู่ชนิดนี้ต่างหาก
3. มติมหาชนและการโฆษณาชวนเชื่อ (Public Opinion and Propaganda) คือ พฤติกรรมที่ไม่ได้เกิดจากความผูกพันทางอารมณ์ชั่วขณะเท่านั้น แต่กลุ่มคนมีความเชื่อหรือผลประโยชน์ร่วมกันด้วย แล้วจึงแสดงเป็นพฤติกรรมออกมา
พฤติกรรมรวมหมู่ที่เป็นการแพร่ระบาดทางอารมณ์
พฤติกรรมประเภทนี้ประกอบด้วย ฝูงชน (Crowd) ฝูงชนวุ่นวาย (Mob) การจลาจล (Riot) ความแตกตื่น (Panic) ความเห่อตามกัน (Fad) ความคลั่งไคล้ (Craze) และข่าวลือ (Rumor)
1. ฝูงชน (Crowd)
ฝูงชน คือกลุ่มคนจำนวนมากที่มารวมกันเพื่อระบายอารมณ์และผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจโดยที่ยังควบคุมตนเองได้ การรวมกลุ่มอาจมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าหรือไม่มีก็ได้ เช่น การมุงดูอุบัติเหตุข้างถนน เป็นฝูงชนที่ไม่ได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า แต่นักเรียนนักศึกษาที่เข้าไปเชียร์กีฬา เป็นฝูงชนที่เกิดในสภาพการณ์ที่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า
ฝูงชนไม่ใช่กลุ่มที่อยู่นอกแบบแผนของการควบคุมเสมอไป พฤติกรรมรวมหมู่ชนิดนี้ยังมีการควบคุมทางสังคม เพียงแต่เปิดโอกาสให้มีการระบายอารมณ์และความตึงเครียดของกลุ่มคน และเสริมความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มเท่านั้น ฝูงชนที่เปิดโอกาสให้ระบายอารมณ์และความตึงเครียดได้มากคือ ฝูงชนที่มีการแสดงออกเต็มที่ ได้แก่ กลุ่มคนในงานรื่นเริงหรืองานพิธี เช่น ขบวนแห่สงกรานต์และบวชนาค ในการแข่งขันกีฬา เช่น ฟุตบอล แข่งเรือ ในงานแสดงดนตรีหรือคอนเสิร์ตของนักร้องขวัญใจวัยรุ่น ผู้คนที่รวมอยู่ในฝูงชนจะแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ออกมาเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์รัก รื่นเริง โกรธ เกลียด ก้าวร้าว
นอกจากฝูงชนที่แสดงออกเต็มที่เช่นนี้แล้ว ยังมีฝูงชนในลักษณะอื่น ได้แก่ กลุ่มผู้ฟังหรือผู้ชมที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวทางอารมณ์น้อยกว่า เช่น ผู้ฟังการบรรยาย หรือผู้ชมภาพยนตร์ ผู้เข้าร่วมพิธีทางศาสนา เช่น กลุ่มคนที่ไปทำบุญที่วัด และผู้ที่เข้าร่วมการประชุมหรือการชุมนุม เช่น ผู้ฟังการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้เข้าประชุมฟังแถลงการณ์
2. ฝูงชนวุ่นวาย (Mob)
ฝูงชนวุ่นวาย คือ กลุ่มคนที่มีการเคลื่อนไหวคึกคักและมุ่งผลบางอย่างรวมกัน ฝูงชนจะจับกลุ่มเมื่อได้รับการยั่วยุหรือกระตุ้นอารมณ์ด้วยสัญลักษณ์ คำปลุกใจ หรือการปราศรัยเร้าใจ จะกระทำการรุนแรงบางอย่าง ฝูงชนวุ่นวายมีเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน การกระทำรุนแรงมักแสดงออกในรูปการทำลายล้างสิ่งของ บุคคลหรือสถานที่อย่างใดอย่างหนึ่ง อารมณ์ของฝูงชนวุ่นวายจะถูกครอบงำด้วยความรู้สึกเคียดแค้น โกรธ ไม่พอใจอย่างรุนแรงจนไม่อาจยับยั้งไว้ได้ ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อระบายความรุนแรงนั้น ถ้าหากบุคคลหรือสิ่งของที่เป็นเป้าหมายของการกระทำยังไม่ชัดเจนหรือไม่อยู่ในที่นั้น ฝูงชนวุ่นวายก็จะเลือกเป้าหมายใกล้ตัวหรือเป้าหมายใดก็ได้ เพื่อรองรับอารมณ์ที่อาจไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เช่น เมื่อฝูงชนวุ่นวายเกิดความกดดันทางการเมือง และต้องกระทำการรุนแรงต่อบุคคลทางการเมืองบางคนที่เป็นเป้าหมายของความโกรธและเคียดแค้น แต่บุคคลนั้นอาจได้รับการดูแลคุ้มกันแข็งแรงหรืออาจหลบหนีพ้นเงื้อมมือของฝูงชนวุ่นวายไปแล้ว ฝูงชนวุ่นวายอาจนำตัวลูกเมียของบุคคลนั้นมาประจานด่าทอหรือนำรูปภาพของบุคคลนั้นมาเผาก็ได้ บางครั้งการเปลี่ยนเป้าหมายของการกระทำรุนแรงของฝูงชนวุ่นวายจึงทำให้เกิด “แพะรับบาป” (Scape Goating) ขึ้น นั่นคือเป้าหมายที่ผู้ถูกกระทำไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไร แต่ต้องมารับบาปแทนเป้าหมายจริง
โดยปกติฝูงชนวุ่นวายจะต้องมีหัวหน้า หรือผู้นำฝูง บุคคลผู้นี้จะเป็นผู้กระตุ้นยุยงคนในฝูงชนให้กระทำการต่างๆ และกลไกสำคัญที่ทำให้ฝูงชนวุ่นวายมีสภาพอารมณ์รุนแรงจนกระทำการรุนแรงก็คือ การแพร่ข่าวลือ ซึ่งเป็นพฤติกรรมรวมหมู่อีกชนิดหนึ่ง หัวหน้าของฝูงชนวุ่นวายมักไม่ใช่ผู้นำในยามปกติ เพราะคนเข้ามาเป็นหัวหน้าฝูงชนวุ่นวายเป็นคนที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลอันเกิดจากการกระทำรุนแรง บุคคลที่มีนิสัยบ้าคลั่งและไม่รับผิดชอบจึงมักเสนอตัวเข้ามาเป็นหัวหน้าในเหตุการณ์วุ่นวาย
3. จลาจล (Riot)
จลาจล คือ กลุ่มคนที่ก่อพฤติกรรมร้ายแรงตามที่ต่างๆ โดยมีฝูงชนหลายกลุ่มเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นการแสดงความไม่พอใจ ต้องการท้าทายโดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน เช่น นักโทษในคุกก่อการจลาจลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของตน มีการกระทำร้ายแรงต่างๆ เช่น เผาอาคาร ทำลายสิ่งของ แต่ไม่มีจุดหมายที่แน่นอนเหมือน ฝูงชนวุ่นวาย จลาจลกับฝูงชนวุ่นวายมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันที่ว่าฝูงชนวุ่นวายมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีความตั้งใจจะกระทำการรุนแรงระดับทำลายล้าง แต่จลาจลไม่มีเป้าหมายชัดเจนแต่ก่อความวุ่นวายรุนแรงทั่วๆ ไปเพื่อท้าทาย จลาจลอาจประกอบด้วยฝูงชนวุ่นวายหลายๆ กลุ่มก่อเหตุวุ่นวายในที่ต่างๆ เป็นจุดๆ
4. ความแตกตื่น (Panic)
ความแตกตื่น คือ กลุ่มคนที่เกิดความตื่นตระหนกและสับสน เมื่อคิดว่าตนเองอยู่ในอันตรายและไม่สามารถควบคุมตนเองได้ กระทำสิ่งต่างๆ ลงไปโดยไร้สติหรือหมดความสามารถที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความแตกตื่นเกิดขึ้นได้ทั้งปรากฏการณ์ด้านสังคมและปรากฏการณ์เศรษฐกิจ ในปรากฏการณ์สังคมจะเกิดเมื่อกลุ่มคนตื่นตระหนกต่อภัยพิบัติ เช่น ไฟไหม้ สงครามกำลังจะอุบัติหรือเกิดอุบัติเหตุ เช่น เครื่องบินกำลังจะตก เรือกำลังจะล่ม ผู้คนเกิดความรู้สึกรักตัวกลัวตาย ต่างพยายามหนีจากอันตรายเหล่านั้น แต่การแก้ปัญหาในขณะที่ควบคุมสติไม่ได้ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้น เช่น การหนีไฟไหม้โดยกระโดลงไปแช่น้ำ หรือการที่ผู้โดยสารเครื่องบินเฮละโลกันไปตรงทางออกฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่กัปตันบอกให้นั่งรัดเข็มขัดอยู่กับที่ ทำให้เครื่องบินเสียการทรงตัว หรือบางครั้งก็เป็นการแสดงออกที่น่าขบขัน เช่น ขนตุ่มน้ำหรือถังขยะหนีไฟไหม้ ปัสสาวะราดเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมขณะเล่นการพนัน
ในด้านเศรษฐกิจ ผู้คนที่เกิดอาการแตกตื่นจะคิดว่าเกิดภัยพิบัติในทางการเงินหรือเกิดภาวะที่เรียกว่า “ข้าวยากหมากแพง” คือข้าวซึ่งเป็นของหาง่ายก็กลายเป็นของหายาก หมากซึ่งเคยมีราคาถูกก็กลับแพงขึ้นมาอย่างไม่เคยเป็น ผู้คนก็จะเริ่มกักตุนทรัพย์สินและเครื่องบริโภค พากันไปถอนเงินออกจากธนาคาร ไม่เชื่อถือในสินเชื่อหรือสัญลักษณ์ทางการเงินอื่นๆ
ที่รัฐบาลและสถาบันการเงินกำหนดไว้ เช่น ธนบัตร พันธบัตร ตั๋วแลกเงิน หุ้น ฯลฯ แต่จะเน้นสินทรัพย์ที่มีค่าในตัวเอง เช่น ทองคำ อัญมณี มีการโยกย้ายเงินตราออกนอกประเทศ มีการซื้อและกักตุนทองคำ ค่าของเงินตราลดลง ธนาคารบางแห่งอาจไม่มีเงินสำรองพอจ่ายให้ผู้คนที่พากันไปถอนเงินในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งทำให้ผู้คนแตกตื่นยิ่งขึ้น คิดว่าธนาคารอยู่ในภาวะง่อนแง่นไม่น่าเชื่ออีกต่อไป
5. ความเห่อตามกันและความคลั่งไคล้ (Fad and Craze)
ความเห่อตามกัน คือ อาการของกลุ่มคนที่มีความสนใจในสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ผ่านเข้ามาชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็จางไป บางทีก็เรียกว่าความนิยมชั่วครู่หรือความคลั่งนิยมชั่วขณะ ความเห่อตามกันจะเกิดขึ้นทั่วๆ ไปเมื่อได้รับการกระตุ้นจูงใจให้เอาอย่างกัน และจะกระจายอย่างรวดเร็วในสังคมปัจจุบัน ส่วนความคลั่งไคล้คือ อารมณ์ชื่นชมรักใคร่อย่างรุนแรง ซึ่งเข้าครอบงำเวลาและพลังงานของกลุ่มคนที่เกิดอารมณ์ดังกล่าวโดยสิ้นเชิง จิตสำนึกของคนเหล่านั้นจะลดลงจนถึงระดับที่ไม่ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ และไม่คำนึงถึงผลในอนาคตของการกระทำของตนเลย
ตัวอย่างพฤติกรรมที่เห่อตามกัน ได้แก่ การแต่งกายและการเล่นกีฬา เช่น การเลือกแบบเสื้อผ้าหรือทรงผมหรือรองเท้าตามแฟชั่นวัยรุ่น การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายอย่างทันสมัย เช่น สเก็ต ดิสโกเธค การเต้นแอโรบิค การแข่งรถ จะเห็นได้ว่าการเห่อตามกันจะแสดงออกมาให้เห็นในรูปของวัตถุ และผู้แสดงมักต้องการให้ผู้อื่นมองเห็นสถานะทางสังคมของตนจากอาการเห่อตามกันนี้ว่า ผู้แสดงเป็นคนทันสมัย เป็นคนรวย ในสังคมตะวันตก นักสังคมวิทยาได้พบว่า การเอาอย่างคนอื่นหรือความเห่อตามกันนี้ เกิดขึ้นจากความรู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับสถานะทางสังคมของบุคคลผู้เอาอย่าง แบบอย่างที่ถูกเอาอย่างมักจะได้แก่คนทันสมัยและปัญญาชน การเอาอย่างก็เพื่อให้สถานะของตนใกล้เคียงกับของคนที่ตนเอาอย่าง
ส่วนความคลั่งไคล้ จะเน้นหนักไปที่อารมณ์ ปราศจากเหตุผลทำให้หมดเปลืองทั้งเวลา เงินทอง และกำลัง ความคลั่งไคล้อาจปรากฏเป็นวัตถุหรือไม่มีวัตถุก็ได้ เช่น คลั่งดาราภาพยนตร์ ดาราลิเก นักร้อง นักแสดง นักดนตรี นักกีฬาหรือนักการเมืองที่โปรดปราน ต้องติดตามไปดูคนเหล่านั้นเมื่อเขามีการแสดงการปราศรัยหรือการแข่งขัน ไม่ว่าฝนจะตกฟ้าจะร้องก็ต้องไปให้ได้ ถึงจะรู้ว่าต้องเสี่ยงภัยก็ยินดีจะไป นอกจากคลั่งตัวแล้วก็ต้องสะสมรูปภาพ เสียงเพลง หรือเทปคำปราศรัย ต้องอ่านนิตยสารที่มีเรื่องราวของคนเหล่านั้น ถ้าเป็นสมัยก่อนคนที่คลั่งดาราลิเกหรือดาราละครก็ต้องกลายเป็นแม่ยกพ่อยก อาการคลั่งไคล้มิได้เกิดกับบุคคลเท่านั้น แต่เกิดกับวัตถุก็ได้ ถ้าเกิดกับวัตถุก็จะมีการสะสมในลักษณะทุ่มเทหลงใหล เช่น การสะสมของเก่าเครื่องลายคราม พระเครื่อง แสตมป์ ว่าน หรืออาจเกิดกับกิจกรรมบางอย่างก็
302
ได้ เช่น คลั่งไคล้ในการพนันต่างๆ ได้แก่ ติดไพ่ บ้าหวย ติดม้า การคลั่งส่งจดหมายเวียนให้ส่งต่อๆ กันไป ตลอดจนยาเสพติด
6. ข่าวลือ (Rumor)
ข่าวลือ คือ เรื่องราวหรือข่าวคราวที่ไม่มีการยืนยัน ถ่ายทอดกันโดยการโจษจัน ไม่มีแหล่งที่มาแน่นอน สืบหาความจริงไม่ได้ ข่าวลือมักเกิดขึ้นในสถานการณ์ทีคนรู้สึกกังวลใจหรือถูกกดดัน มีความอยากรู้เรื่องต่างๆ แต่ไม่มีสื่อการติดต่อที่เชื่อถือได้ ข่าวลือมักเริ่มค้นจากรายงานที่ไม่แน่นอนและบิดเบือน แล้วจะกระจายออกไปอย่างรวดเร็วโดยบิดเลือนไม่ตรงกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ตามลักษณะของบุคคลผู้แพร่ข่าวและการตีความของผู้รับรู้ ข่าวลือกระจายอย่างรวดเร็วก็เพราะอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ ในสถานการณ์ที่อารมณ์เคร่งเครียด ความสามารถของบุคคลในการสังเกตหรือตัดสินความถูกต้องของสิ่งต่างๆ จะลดน้อยลง
เรื่องของข่าวลือไม่เกี่ยวกับความจริงหรือการหลอกลวง การที่มีผู้นำข่าวลือมาเล่าและมีผู้เชื่อตามนั้นไม่ใช่เพราะเป็นความจริง มีการพิสูจน์ว่าจริง หรือเพราะจงใจจะหลอกลวงผู้ฟัง แต่เป็นเพราะข่าวลือสนองความสนใจใคร่รู้ของผู้เล่าและผู้ฟัง เมื่อเกิดวิกฤติการณ์หรือภาวะคับขันขึ้นในสังคม ระบบข่าวสารที่มีอยู่เดิมในสังคมถูกทำลายหรือล่าช้า ข่าวลือจะเข้ามาแทนที่ทันที เช่น ในภาวะสงคราม
พฤติกรรมรวมหมู่ที่เป็นขบวนการสังคม (Social Movement)
ขบวนการสังคม (Social Movement) คือ กลุ่มคนที่มีความเชื่อหรืออุดมการณ์ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความใฝ่ฝันที่จะกระทำการที่มีความต่อเนื่อง โดยมีจุดหมายที่ค่อนข้างแน่นอน ร่วมกันดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้เพื่อต่อสู้ความชั่วร้ายบางอย่าง หรือสภาพไม่พึงประสงค์บางประการที่คิดว่ามีอยู่ในสังคม มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบแผนของสถาบันสังคมที่เป็นอยู่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ เป็นการสร้างวิถีชีวิตใหม่ ความเชื่อมั่นที่จะกระทำการนี้เองทำให้เรียกกลุ่มเช่นนี้ว่า “ขบวนการ” เพราะเป็นการเรียกร้องความสนใจในระดับที่สูงกว่าปกติ และขบวนการจะต้องมีอุดมการณ์ของตนเอง
ขบวนการทางสังคมมี 2 ประเภท คือ
1. ขบวนการทางสังคมที่มีเป้าหมายเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การเคลื่อนไหวของกรรมกร ซึ่งมีเป้าหมายเฉพาะเกี่ยวกับการเรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุงสภาพการทำงาน สวัสดิการ ค่าจ้าง การเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ต้องการประท้วง หรือเรียกร้องในกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นครั้งคราวไป ขบวนการทางสังคมประเภทนี้มีลักษณะเป็นพฤติกรรมร่วมที่มีการจัดระเบียบเพียงเล็กน้อย มักเกิดขึ้นและสลายตัวไปในระยะเวลาสั้นๆ
2. ขบวนการทางสังคมที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมทั้งหมดหรือในหลายๆ ส่วน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ได้แก่ ขบวนการปฏิรูปสังคม และขบวนการปฏิวัติทั้งสองแบบนี้เป็นขบวนการที่มีการจัดระเบียบที่ซับซ้อนกว่า เช่น มีผู้นำและสมาชิกที่แน่นอน มีอุดมการณ์หรือค่านิยมร่วมกัน มีกฎเกณฑ์ควบคุมความประพฤติของกลุ่ม มีการแบ่งหน้าที่ค่อนข้างชัดเจน
ขบวนการปฏิรูป (reform movement) ขบวนการแบบนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าบางส่วนหรือบางแง่ของสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงในเรื่องชนชั้นทางสังคม การเปลี่ยนแปลงการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง เป้าประสงค์ร่วมกันของขบวนการปฏิรูปก็คือ ต้องการทำให้กลไกของสังคมที่มีอยู่นั้นได้กระทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพให้มากกว่าที่เป็นอยู่ บางครั้งบางคราวขบวนการปฏิรูปก็กระทำการเสมือนเป็นกลุ่มกดดันหรือกลุ่มผลักดัน (pressure groups) เพื่อปรับปรุงส่งเสริมสิ่งที่มองเห็นว่าน่าจะเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงนี้มักนำไปสู่ประเด็นเฉพาะการปรับปรุงวิธีการกระจายอำนาจ ตัวอย่าง ขบวนการปฏิรูปในต่างประเทศ เช่น ขบวนการแรงงาน ขบวนการของผู้บริโภค ขบวนการลัทธิสตรี เป็นต้น
ขบวนการปฏิวัติ (revolutionary movement) ขบวนการแบบนี้มุ่งประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบสังคมทั้งหมดไปสู่รูปแบบสังคมใหม่ โดยทำการต่อต้านค่านิยม วิถีประชา และจารีตที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกันนั้นก็เสนอสิ่งต่างๆ ดังกล่าวในรูปใหม่ ขบวนการปฏิวัติเริ่มขึ้นจากความตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมและในที่สุดได้นำไปสู่การกระทำทางสังคม รวมทั้งโน้มที่จะใช้ความรุนแรงหรือใช้กำลังทำให้เกิดจลาจลวุ่นวาย เมื่อการกระทำได้รับความสำเร็จก็มีการจัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติขึ้น ตัวอย่างขบวนการปฏิวัติ เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1789 การปฏิวัติในฟิลิปปินส์ต่อการปกครองสเปนใน ค.ศ. 1896 การปฏิวัติรัสเซียใน ค.ศ. 1917 เป็นต้น
ข้อแตกต่างระหว่างการปฏิรูปและขบวนการปฏิวัติ มีดังนี้คือ ขบวนการปฏิรูปมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยวิธีชักจูงให้คนหมู่มากคล้อยตาม โดยมีเป้าหมายที่แคบ มีขอบเขตแคบกว่าขบวนการปฏิวัติ ขบวนการปฏิรูปต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบางส่วนหรือหลายส่วนของโครงสร้างสังคม แต่ขบวนการปฏิวัติต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ขบวนการปฏิบัติต่อต้านระเบียบ กฎเกณฑ์ ค่านิยม ความเชื่อหรือสถาบันต่างๆ ที่สำคัญของสังคมที่กำลังเป็นอยู่ แต่ขบวนการปฏิรูปยังยอมรับสถาบันและค่านิยมหลักหลายๆ อย่างของสังคม ขบวนการปฏิวัติต้องการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนในสังคมอย่างสิ้นเชิง หรืออาจเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนจากแบบเดิมเป็นแบบใหม่ ดังนั้น ขบวนการปฏิวัติจึงมักถูกผลักดันให้ต้อง “ปฏิบัติการใต้ดิน” แทนที่จะออกมาดำเนินการอย่าง
เปิดเผย ในที่สุดแล้วขบวนการปฏิวัติมักใช้วิธีการรุนแรงเข้าทำการเปลี่ยนแปลง บางครั้งขบวนการปฏิรูปอาจกลายเป็นขบวนการปฏิวัติก็ได้ ถ้าหากขบวนการปฏิรูปนั้นถูกต่อต้านจนไม่สามารถทำอะไรได้ภายใต้ระบบสังคมที่เป็นอยู่
พฤติกรรมรวมหมู่ที่เป็นมติมหาชนและการโฆษณาชวนเชื่อ
พฤติกรรมประเภทนี้ประกอบด้วย
1. มติมหาชน (Public Opinion)
มติมหาชน คือ ความคิดเห็นของคนหมู่มากที่ได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่สำคัญในสังคม และในที่สุดก็มีการลงความเห็นซึ่งเรียกว่า มติของกลุ่ม มตินี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและสถานการณ์ มีลักษณะไม่ตายตัว กลุ่มคนที่มีมติไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่เดียวกันเหมือนฝูงชน อาจอยู่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ แต่มีความผูกพันทางอารมณ์ทำให้กลุ่มเป็นปึกแผ่นอยู่ได้
มติมหาชนอาจแสดงออกมาด้วยพฤติกรรมต่างๆ กัน เช่น แสดงด้วยกิริยาท่าทาง ด้วยวาจา หรือด้วยลายลักษณ์อักษร
2. การหยั่งเสียงหรือการสุ่มความเห็น (Poll)
เป็นการทดลองถามความเห็นหรือมติที่คนส่วนใหญ่มีต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง บางทีก็เรียกว่าการสุ่มความคิดเห็น ผู้ที่ได้บุกเบิกในการสุ่มความเห็นจนเป็นที่รู้จักกันดีคือชาวอเมริกัน ชื่อ นายจอร์ช แกลลัพ เขาได้ตั้งสำนักงานแกลลัพโพล (Gallup Poll) ขึ้นเมื่อปี 1935 และได้สุ่มความเห็นชาวอเมริกัน จนทำนายได้ว่ารูสเวลท์จะได้เป็นประธานาธิบดีในปีต่อมา เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏตามนั้น แกลลัพก็ได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างมาก
3. การออกเสียง (Vote)
เป็นการใช้สิทธิแสดงความเห็นของบุคคล โดยการลงคะแนนหรือโดยการยกมือถือต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ในเรื่องของมติมหาชนมักหมายถึงการออกเสียงในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร หรือพรรคการเมืองหรือผู้แทนอื่นใดที่จะเข้าไปทำหน้าที่ระดับบริหาร การออกเสียงเป็นการแสดงความผูกพัน หรือชื่นชมที่มีต่อพรรค หรือกลุ่มที่มีทางหรืออุดมการณ์ตรงกับ ผู้ออกเสียง
4. ประชามติหรือเรเฟอเรนดัม (Reforendum)
ประชามติ คือ การให้ประชากรออกเสียงลงคะแนนในประเด็นสำคัญ เช่น การร่างกฎหมาย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว โดยปกติจะไม่กระทำบ่อยนัก นอกจากในประเด็นที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนได้แสดงความเห็นของตน เสียงที่ให้แสดงก็มักมีการเลือกเพียงย่อๆ ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
5. ความสมานฉันท์
ในกรณีที่มติของมหาชนมีลักษณะสอดคล้องกัน เราเรียกมติเช่นนี้ว่า ความสมานฉันท์ หรือความเห็นพ้องต้องกันหรือฉันทานุมัติ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Consensus หมายถึง การที่สมาชิกในกลุ่มเห็นชอบร่วมกันในคุณค่าความเชื่อ หรือความรู้สึก หรือการที่กลุ่มพยายามปรับตัวให้มีทัศนะไปในทิศทางเดียวกัน โดยสมาชิกในกลุ่มต่างตระหนักถึงความสมัครสมานนี้ เมื่อใดที่ประเด็นทางสังคมได้รับความเห็นในลักษณะสมานฉันท์ ประเด็นนั้นก็จะพ้นจากการแข่งขันหรือการอภิปรายใดๆ อีกต่อไป
6. การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)
การโฆษณาชวนเชื่อ คือ ความพยายามโน้มน้าวใจคนให้เชื่อและทำตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะดีหรือร้ายก็ได้ โดยมีการตระเตรียมคาดคะเนเอาไว้ล่วงหน้า การโฆษณาชวนเชื่อกระทำในลักษณะคำพูด รูปภาพ ข้อเขียน การแสดงท่าทางหรือสัญลักษณ์ใดๆ ก็ได้ ในความหมายเก่า เรามักหมายถึงการเผยแพร่ระบบลัทธิในลักษณะการปลุกปั่นปลุกระดม หรือการล้างสมองให้เชื่อในลัทธิศาสนาหรือลัทธิการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในความหมายทางวิชาการซึ่งกินความกว้างกว่า การโฆษณาชวนเชื่อไม่จำเป็นต้องเป็นการปลุกปั่นอย่างโจ่งแจ้ง และไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับศาสนาหรือการเมืองเท่านั้น แต่เกี่ยวกับทัศนคติโดยทั่วไปในสังคม อย่างไรก็ดี ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อก็คือ ข้อเท็จจริงมีความสำคัญน้อยกว่าผลที่ต้องการได้รับ ในการโฆษณาชวนเชื่อจึงมุ่งสร้างอิทธิพลเหนือทัศนคติในกลุ่มมากกว่าจะเน้นความจริง การโฆษณาสินค้าตามสื่อมวลชนก็คือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเช่นกัน