ต้องการ ไม่ต้องการ

ต้องการ ไม่ต้องการ

ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการและความไม่ต้องการ

แท้จริงแล้ว ความต้องการนั้นมีอำนาจบั่นทอนความสุข และความไม่ต้องการนั้นมีพลังปิดกั้นความสุข ขณะที่ต้องการหรือไม่ต้องการสิ่งใด ความสุขจะหลบไปชั่วขณะไม่ปรากฏที่ใจ หากไม่รีบคลี่คลายสู่ภาวะอันควร ความสุขอาจจะหายไปเลย ดังนั้น หากมีความต้องการ หรือความไม่ต้องการ ต้องรีบบริหารใจโดยด่วน

ความต้องการของมนุษย์มีหลายชั้น คือ

  • ความต้องการที่จินตนาการผสมแต่งต่อ
  • ความต้องการที่ตลาดโน้มน้าว
  • ความต้องการที่สังคมยัดเยียดให้
  • ความต้องการที่ตนปรารถนา
  • ความต้องการตามธรรมชาติ

ความต้องการเหล่านี้ทุกชั้นสามรถแตกตัวได้ไม่รู้จบความต้องการของมนุษย์และสังคมมนุษย์เพิ่มขึ้นทุกปี ทุกยุค ไม่เคยลดลง มีแต่เพิ่มขึ้น ความต้องการจึงมีธรรมชาติขยายพันธุ์ไม่สิ้นสุด การวิ่งตามความต้องการจึงไม่เคยจบหรือสำเร็จบริบูรณ์ ทั้งนี้ไม่ว่ามนุษย์คนใดในโลก หรือพระเจ้าองค์ใดในสวรรค์

ชีวิตที่โลดแล่นตามความต้องการจึงเป็นชีวิตที่ลอยละล่องอยู่บนริ้วคลื่นแห่งปรารถนาที่ไม่มีวันจบสิ้น

การกลั่นกรองความต้องการ

แท้จริงแล้ว ในบรรดาความต้องการทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกวันนั้น มีเพียงไม่กี่ความต้องการที่มีคุณสมบัติควรค่าแก่การพิจารณาปฏิบัติตาม

ความต้องการที่ควรดำเนินตามคือ

  • ความต้องการที่ยังคุณค่าให้เกิดแก่ตนเองและคนอื่นจริง
  • ความต้องการที่ยังประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคต
  • ความต้องการที่ไม่นำผลร้ายใด ๆ ต่อเนื่องตามมาแม้นหากมีอยู่ ก็อยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้
  • ความต้องการที่มีความเป็นไปได้จริง
  • ความต้องการที่เหมาะสมกับกาลเวลาและสถานการณ์
  • ความต้องการที่ไม่ทำให้สูญเสียความสุขปัจจุบันและความสุขในอนาคต

ต่อไปนี้เมื่อมีความต้องการใด จงเอามาตรเหล่านี้ไปกลั่นกรองดูเถิด จะพบว่าในบรรดาความต้องการทั้งหมดที่ปรากฏต่อชีวิต และที่สังคมยัดเยียดให้ มีให้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ที่ควรดำเนินตาม

คนที่จะประสบความสำเร็จสุขได้ต้องไม่วิ่งตามความต้องการสะเปะสะปะ ไม่ว่าจะเป็นของตน หรือของคนอื่น แต่ต้องกลั่นกรอง เฟ้นหาความต้องการที่ดีจริง คุ้มค่าจริงอย่างแม่น ๆ ไม่กี่อย่าง แล้วทุ่มเททำจริง ๆ จัง ๆ ก็จะประสบความสำเร็จได้

ส่วนคนที่ปรนเปรอความต้องการอันไม่รู้จบทั้งของตนหรือของคนอื่น คือข้าทาสผู้วิ่งตามกระแสอารมณ์และปรารถนา ที่ในที่สุด ก็ไม่รู้ว่าพาไปไหนกัน เพราะมนุษย์เกือบทั้งโลกวิ่งตามความต้องการกันอย่างไม่ได้ประเมินผลสุดท้าย ณ ปลายทางเลย

ดังนั้น อยากมีความสุข อย่าวิ่งตามความต้องการอันไม่รู้จบ ไม่ว่าของตนหรือของคนอื่น แต่จงกลั่นกรองเลือกเฟ้นให้แม่น ๆ และทำให้เหมาะ ๆ ก็จักสำเร็จได้จริง

ความไม่ต้องการ

ในขณะที่ความต้องการนำไปสู่ความเพ้อเจ้อและไม่คุ้มค่า ความไม่ต้องการก็นำไปสู่ความคับแคบและไร้ค่า ได้เช่นกัน

ความไม่ต้องการเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ปัญญาเห็นความไม่คุ้มค่า จึงไม่ต้องการ
  • ขี้เกียจ จึงไม่ต้องการ
  • กลัว จึงไม่ต้องการ
  • เคยเสียใจ จึงไม่ต้องการ
  • ถูกเสี้ยมสอนผิด ๆ หรือได้ข้อมูลผิด ๆ จึงไม่ต้องการ
  • ถูกตีกรอบปิดกั้นห้ามปรามจึงไม่ต้องการ

จะเห็นได้ว่า เหตุแห่งความไม่ต้องการหลายประการทีเดียว ที่เป็นกิเลสหรืออวิชชามีเพียงความไม่ต้องการจากเหตุแห่งปัญญา ประเมินผลแจ้งชัด ในความคุ้มค่าตลอดสายแล้วเท่านั้นที่ควรนำมาพิจารณา

ดังนั้น เมื่อมีความไม่ต้องการเกิดขึ้น จงวิเคราะห์เสียก่อนว่า ความไม่ต้องการนี้มาจากสาเหตุใด หากเป็นความไม่ต้องการจากกิเลสหรืออวิชชา ก็จงขจัดความไม่ต้องการนั้นออกไป เพราะไม่เช่นนั้น ความไม่ต้องการเหล่านั้นจะบีบชีวิตจิตใจให้คับแคบ จนอาจต้องขุดรูอยู่อย่าง ขลาดกลัวในที่สุด

เมื่อชีวิตลอยคออยู่กลางสมุทรแห่งโลกที่ปรุงแต่งความต้องการตลอดเวลา อยู่ ๆ จะบอกว่าฉันไม่ต้องการอะไรเลยก็จะจมน้ำตายเสียก่อน คือถูกความจำเป็นบีบรัด และระบบรอบด้านท่วมทับเอาได้ ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีความต้องการที่จะออกจาก ระบบทั้งหลาย ที่เห็นว่าไร้สาระ

ต้องการอย่างกลางก็พึงต้องการสรรหาสาระเพื่อพัฒนาชีวิตจิตใจให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

หากต้องการอย่างมาก ก็ต้องการบริหารคุณค่าให้เกิดประโยชน์สุขสูงสุดที่เป็นไปได้ตามกำลัง

เพราะต้องการจึงมีการใคร่ครวญหาทาง

เพราะปัญญาใคร่ครวญจึงเกิดความรู้

เพราะความรู้ จึงเกิดการตกลงใจ

เพราะการตัดสินใจ จึงเกิดการกระทำ

เพราะการกระทำ จึงเกิดการพัฒนา

เพราะการพัฒนา จึงเกิดความสำเร็จ

เพราะความสำเร็จ จึงมีสิทธิ์เสวยผลอันคือประโยชน์สุขที่ยิ่ง

ความต้องการที่แม่นยำและชอบธรรมจึงคือ ปฐมบทแห่งความสำเร็จทั้งหลายในโลก ดังนั้น อย่าปิดประตูชีวิตไว้ในกรงแห่งความไม่ต้องการ ตลอดไป ชีวิตจะเฉาตาย

สรุป

ด้วยเหตุนี้ อย่าขังตนไว้ในคุกความไม่ต้องการทั้งของตนและของใคร ๆ โดยไม่ได้พิจารณา จะติดกับดับวิภวตัณหา กระนั้นการพลัดเข้าไปสู่กระแสความ ต้องการไม่รู้จบ ก็จะหลุดเข้าสู่ทะเลแห่งภวตัณหาอันเสี่ยงภัย เหนื่อยยาก และไม่คุ้มค่า

ลองประเมินเข้าไปในชีวิตจริงดู การมีในสิ่งที่ไม่ควรมีล้วนนำมาซึ่งความเหนื่อยมา เดือดร้อน ทุกข์ระทม และการไม่มีในสิ่งที่ควรมี ก็นำมาซึ่งความอัตคัด ฝืดเคือง แห้งแล้ง ทุกข์ระทวย ด้วยเหตุนี้ การทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ จึงเป็นความผิด และการไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ จึงเป็นความพลาด

หากไม่อยากให้ชีวิตผิดพลาด ต้องกลั่นกรองความต้องการให้ดี จนเหลือแต่ความต้องการที่น้อย ๆ และแม่น ๆ หาไม่จะเป็นชีวิตดักแด้ เริ่มต้นใหม่ไม่รู้จบกับความต้องการที่ไม่รู้สิ้น

และอย่าเหวี่ยงจนตกขอบไปติดคุกตามความไม่ต้องการเพราะจะทำให้ชีวิตดักดาน ไม่พัฒนา เพราะเมื่อความไม่ต้องการครอบงำแล้ว อะไรที่ควรคิดก็จะไม่คิด อะไรที่ควรทำก็จะไม่ทำ อะไรที่ต้องการเพียรก็จะไม่เพียร ก็จะสูญพันธุ์ไปแบบไดโนเสาร์อย่างไร้ค่า

ภาวะที่ดีที่สุดคือ ปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระทั้งจากความต้องการและความไม่ต้องการก่อน เมื่อใจเป็นอิสระแล้ว ปัญญาจะกว้างใหญ่มาก แล้วใช้ปัญญาไร้ขอบเขตกอปรจิตใจอิสระนั้น วินิจฉัยโอกาสและข้อจำกัด รวมทั้งผลต่อเนื่องรอบด้านอย่างตรงไปตรงมา เมื่อเห็นชัดแจ้งดีแล้ว จึงตัดสินใจอย่างแม่นยำ

จำไว้ว่า คนประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนทำมากหรือทำน้อย แต่คือ คนที่ทำพอดี ๆ อย่างแม่นยำเท่านั้น