ข่ายใยชีวิต Web of life

ข่ายใยชีวิต หรือ Web of life ที่มีความคิดหลัก (Main Idea / Key Concept) ในคำหลัก (Key Word) คือ สัมพันธภาพ (Relationship), เครือข่าย (Network), แบบแผน (Pattern), โครงสร้างกระจาย (Dissipative Structure), กระบวนการ (Process), วงจรป้อนกลับ(Feedback Loop), การจัดการตนเอง (Self Organization) , การเรียนรู้และการสร้างสรรค์ (Learning and Creativity) โดยที่คำทั้งหมดเหล่านี้ เป็นองค์รวมของคุณสมบัติ หรือ คุณลักษณะของระบบชีวิตทุกระดับ เป็นคุณสมบัติ และลักษณะที่เชื่อมโยงอิงกันและกัน หมายความว่า คุณสมบัติจะดำรงอยู่ ต่อเมื่อ มันรวมกันอยู่เป็นองค์รวม ดังนั้น การแยกส่วนออกไป เท่ากับเป็นการทำลายคุณสมบัติของมันด้วย หรือการนำ ส่วนย่อย มารวมกันก็ไม่อาจเกิด คุณสมบัติเหมือนองค์รวมได้เช่นกัน ความคิดหลัก
สัมพันธภาพ (Relationship) หรือ ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน คือ กุญแจสำคัญของระบบชีวิต ระบบนิเวศ ช่วยให้เราเข้าใจ สัมพันธภาพของระบบชีวิต ทั้งหลายว่า

(1) มีสัมพันธภาพระหว่างองค์ประกอบย่อย ๆ ทั้งหมดที่อยู่ภายในระบบใดระบบหนึ่ง

(2) มีสัมพันธภาพระหว่างระบบนั้นและระบบใหญ่กว่าที่แวดล้อมอยู่ ซึ่งคาปร้าบอกว่า สัมพันธภาพระหว่าง ตัวระบบ กับ สิ่งแวดล้อมของมัน คือสิ่งที่เราหมายถึงคำว่า บริบท หรือ"Context" โดยคำว่า Context นี้มาจากภาษาละติน แปลว่า "ถักทอเข้าด้วยกัน"

(3) บริบทจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และการถักทอเข้าด้วยกันนี้เอง ทำให้เกิดความ สัมพันธ์แบบ"เครือข่าย" ที่เชื่อมโยงระบบต่างๆ ทั้งหลายเข้าด้วยกัน ทั้งหมด สัมพันธภาพแบบเครือข่ายจึงเป็น หัวใจสำคัญของ ทฤษฎีข่ายใยชีวิต เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่มิได้เป็นเส้นตรง (Nonlinear) หากแต่เป็น สัมพันธภาพ ที่ไปในทุกทิศทาง เอื้อให้เกิด การเวียนกลับ การเรียนรู้ และการพัฒนาขึ้น

การจัดรูปของสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นซ้ำๆทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า แบบแผน ( Pattern ) คือการจัดรูปของสัมพันธภาพระหว่าง องค์ประกอบของระบบทั้งหลาย และ ระหว่างระบบในระดับต่างๆ กันด้วย เขาเห็นว่า แบบแผนดังกล่าว มีทั้งส่วนที่เป็น โครงสร้างทางวัตถุที่เห็นได้ทางกายภาพ แต่แบบแผนเป็นมากกว่าโครงสร้างทางวัตถุ (Material Embodiment) คือมีส่วนของสัมพันธภาพระหว่างรูปธรรม นามธรรมด้วย ดังนั้น ทั้งโครงสร้างและแบบแผน จึงเป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากแบบแผนการจัดองค์กรจะปรากฏได้ เมื่อมันอยู่ในส่วนประกอบของโครงสร้างทางกายภาพ

ในทฤษฎีข่ายใยชีวิต คาปร้าศึกษาและให้ความเข้าใจใหม่ในเรื่องของโครงสร้างของระบบชีวิตว่าเป็น"โครงสร้างกระจาย" (Dissipative Structures) ที่มีลักษณะเอื้อต่อการเลื่อนไหลของความสัมพันธ์กับระบบอื่น ในขณะที่รักษาความสมดุล ของระบบตนเองไว้ด้วย พร้อมกันนั้น หากมีการเลื่อนไหลของพลังงานหรือสสารเกิดขึ้นในระดับมาก จนกระทั่งถึง จุดที่ไร้เสถียรภาพ โครงสร้างจะแปรตัว เป็นโครงสร้างใหม่ แบบแผนใหม่ ที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีสภาพ ระเบียบ พฤติกรรมใหม่ที่แตกต่างจาก คุณสมบัติเดิม คาปร้าเรียกว่าเป็นการบังเกิด (Emergence) หรือเป็น"ความสร้างสรรค์" (Creativity) ของระบบชีวิต เป็นการจัดองค์กรด้วย ตนเองของระบบชีวิต ที่ทำให้มีการพัฒนา การเรียนรู้และวิวัฒนาการ

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าระบบชีวิตมีการเคลื่อนไหว แปรเปลี่ยนตลอดเวลา จึงมีลักษณะ "กระบวนการ"(Process) ดังนั้น โครงสร้าง แบบแผน กระบวนการ จึงแยกกันไม่ออก และจากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของ "ทฤษฎีซานติเอโกว่าด้วย พุทธิภาวะ" ( The Santiago Theory of Cognition) คาปร้าเห็นว่าช่วยทำให้เกิดแนวคิดใหม่ ความเข้าใจใหม่ในเรื่อง จิตของระบบชีวิต ด้วย โดยทฤษฎีดังกล่าวพบว่ากระบวนการของการรู้ เป็นสิ่งเดียวกับกระบวนการของระบบชีวิต มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างตนเอง การรักษาไว้ซึ่งเครือข่ายของระบบชีวิต และรวมการรับรู้ (Perception) อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) และพฤติกรรม (Behavior) ด้วย พุทธิภาวะจึงมิได้เกิดจาก สมองและระบบประสาท เพียงเท่านั้น

ระบบชีวิตมีกระบวนการที่เคลื่อนไหวเป็น วงจรหรือวัฏ มีวงจรป้อนกลับ (Feedback Loops) อยู่ในเครือข่าย แบบแผน โครงสร้าง ทำให้เกิดการจัดการด้วยตนเอง (Self Organization) และควบคุมตนเอง (Self Regulation)ได้ ระบบจึงพัฒนาได้เองด้วย อย่างไรก็ตาม การที่ทุกส่วนเป็นเรื่องของสัมพันธภาพโดยรวม การจัดการด้วยตนเอง จึงมิได้หมายถึง ความอิสระอย่างสิ้นเชิงหรือสัมบูรณ์ แต่หมายถึงการจัดการด้วยตนเองเกิดขึ้นได้ เพราะสัมพันธภาพ ที่มีร่วมเป็นองค์รวมกันองค์ประกอบอื่นภายในระบบเอง และกับระบบอื่นทั้งหมด ระบบทั้งหลายจึงเป็นระบบเปิด(Open Systems) และการที่ระบบสามารถจัดการตนเองได้ ระบบจึงมีประสบการณ์ที่เรียกว่า เป็นการเรียนรู้ที่สะสม จาก ประสบการณ์ในระบบชีวิตทำให้เกิดการพัฒนา (Development)ขึ้นด้วย และความสัมพันธ์แบบเครือข่าย ทำให้ความร่วมมือ(Cooperation) และการเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ความเป็นหมู่คณะ (Collective) ขององค์กร มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดมากกว่าการแข่งขัน ( Competition)

คุณสมบัติต่าง ๆ ของระบบชีวิตดังที่กล่าวเห็นว่า ไม่อาจเข้าถึงหรือทำความเข้าใจได้ด้วยการใช้ตรรกะหรือเหตุผล (Rational) ซึ่งมีลักษณะเส้นตรง (Linearity)แต่การเข้าถึงความจริงของระบบชีวิตต้องอาศัยประสบการณ์ที่เป็นญาณทัสนะ (Intuition) เป็นการหยั่งรู้แบบเชื่อมโยงสรรพสิ่งในเวลาเดียวกัน เชื่อมการรับรู้ภายในเข้ากับ ความเป็นไปของ ภายนอก ให้เป็นเอกภาพเดียวกัน ซึ่งเขาเห็นว่าคนในสังคมตะวันตกไม่เข้าใจและคุ้นเคย หากแต่เป็นสิ่งที่ปกติสามัญใน กระบวนการเรียนรู้ของศาสนาตะวันออก (สมาธิ)

จากความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศนี้ ทำให้รู้ถึงคุณสมบัติสำคัญอีก 2 ประการของทุกระบบชีวิตในทุกระดับ คือ ความยืดหยุ่น (Flexibility) และความหลากหลาย (Diversity) การที่แบบแผน โครงสร้าง กระบวนการมีพลวัต ระบบชีวิต จึงมีการแกว่งไหว (Fluctuation) อย่างต่อเนื่องจึงมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ตึง เข้มงวด ทำให้ระบบชีวิตฟื้นฟูสภาพ หรือจัดระเบียบตนเองได้ง่าย และการที่สัมพันธภาพ มีความหลากหลายย่อมเอื้อต่อการพัฒนาระบบชีวิต แต่ประเด็นสำคัญ เกี่ยวกับความหลากหลาย ซึ่งเป็นคำที่มีการกล่าวถึง และให้ความสำคัญในระยะหลังมานี้ว่า หากเข้าใจไม่ถูกต้อง อาจทำให้ระบบชีวิตเกิดวิกฤตมีความรุนแรงขึ้นในระบบได้

กล่าวคือ ความหลากหลายจะเป็นประโยชน์แก่เครือข่าย ต่อเมื่อมีการเลื่อนไหลของข้อมูลข่าวสาร (Information) อย่างทั่วถึง ตลอดเครือข่าย ทำให้ความหลากหลายนั้นเป็น การเรียนรู้ความต่างของกันและกัน เพื่อปรับการเปลี่ยนแปลง ให้เหมาะสม นำไปสู่วิวัฒนาการใหม่ ๆ ในทางตรงข้ามความหลากหลาย จะกลายเป็นอุปสรรค หากการเลื่อนไหล ของความแตกต่าง ถูกจำกัดไว้ ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในระบบ กลายเป็นความรุนแรงได้

ตัวอย่างเช่นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จะได้ประโยชน์จากความหลากหลายต่อเมื่อมีการพึ่งพาอาศัยกัน มีการแลกเปลี่ยน และการไหลเลื่อนของข้อมูล การเรียนรู้ ฯลฯ ในทางตรงข้าม ความหวาดระแวงและความรุนแรง จะเกิดขึ้นสูง เมื่อความหลากหลายถูกสกัดกั้นในระบบ ปราศจากสัมพันธภาพ

แม้ระบบชีวิตจะมีคุณลักษณะสำคัญดังที่กล่าวมา แต่ก็เห็นว่าสรรพสิ่งมิได้สัมพันธ์กันในแบบเดียวกันหมด และในระดับเท่ากันหมด โดยระบบชีวิตทุกระดับที่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น โดยเฉพาะระดับสังคม(Social Systems) จะมีความแตกต่างอย่างสำคัญ คือ มีความสัมพันธ์ 3 ระดับ ได้แก่

ระดับวัตถุ (Material) เช่น เงิน ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ,

ระดับชีววิทยา คือ ชีวิตและจิตใจ (Life and Mind) และ

ระดับสุดท้าย คือ จิตสำนึก อันเป็นเรื่องของการให้ความหมาย ค่านิยม จริยธรรม ซึ่งเป็นระดับที่มีในมนุษย์เท่านั้น

การบริหารจัดการองค์กรของมนุษย์ จะต้องรู้และไปครบทั้ง 3 ระดับ จึงจะพัฒนาองค์กรที่มีมนุษย์เกี่ยวข้องอยู่ได้สำเร็จ นอกจากนี้มนุษย์ยังเป็นระบบชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย (Purpose) ซึ่งสร้างขึ้นจาก ความสามารถใน การสร้างภาพของจิต (Mental images) ซึ่งเป็นคุณลักษณะของจิตสำนึกมนุษย์ที่ไม่มีในพืชและสัตว์ที่อยู่ระดับต่ำกว่า และ พุทธิภาวะ ของมนุษย์นั้น ยังมีความคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thought) สติสัมปชัญญะ (Self Awareness) และจิตสำนึก (Consciousness) ที่ไม่มีในระบบชีวิตอื่นด้วย และในอาณาบริเวณของสังคมมนุษย์ การสื่อสาร(Communication) ภาษาและการสนทนา (Conversation) เป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการของระบบชีวิตมนุษย์

หัวใจข่ายใยชีวิต : การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)

ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่จากทฤษฎีข่ายใยชีวิตนี้ คาปร้าเชื่อว่า เป็นการสร้างความหมายใหม่แก่"ชีวิต"ในมิติวิทยาศาสตร์ และเป็นการเปลี่ยนวิทยาศาสตร์แบบกลจักรให้เป็นวิทยาศาสตร์แบบชีวิต (Life Science) ที่จิต วัตถุ และชีวิต เป็นหนึ่งเดียวกัน ครั้งแรก เขาเชื่อว่ากระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนย้ายนี้ จะก่อให้เกิดสิ่งที่เขาเรียกว่า การคิดเชิงระบบ ( Systems Thinking) ด้วย เป็นระบบคิด วิธีคิดชุดใหม่ของมนุษย์ที่มีต่อสรรพสิ่ง และจะเปลี่ยนวิถีที่มนุษย์สัมพันธ์ กันทั้งหมด และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทฤษฎีข่ายใยชีวิต ครอบคลุมทั้งชีวิต ชุมชน องค์กรธุรกิจ ระบบการศึกษา สถาบันทางสังคม การเมือง ระบบนิเวศฯลฯ

จากการศึกษา คาปร้าพบว่า ความคิดเชิงระบบเริ่มปรากฏและพัฒนามาในหลายสาขาวิชา จากการค้นพบใหม่ ๆ ทั้งในชีววิทยา จิตวิทยา นิเวศวิทยา แต่ที่ก่อผลเด่นชัดมากที่สุดคือ จากทฤษฎีควอนตัมในวิชาฟิสิกส์ ที่พบอย่างน่าตื่นใจว่า "ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าส่วนประกอบ (Part) อยู่เลย สิ่งที่เราเรียกว่า"ส่วนประกอบ"นั้น เป็นแบบแผน (Pattern) ของข่ายใยความสัมพันธ์ ที่แยกออกจากกันไม่ได้"

ดังนั้น การเอาส่วนประกอบย่อยมาเชื่อมโยงเป็นองค์รวม จึงเหมือนการเอาวัตถุมาเชื่อมต่อให้สัมพันธ์กัน ซึ่งแน่นอนว่ามี ปฏิสัมพันธ์ และเกิดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบเหล่านั้น แต่ความสัมพันธ์เกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 2 หรือภายหลัง ในขณะที่ระบบองค์รวม เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ โดยตัวมันเองเป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์ที่อยู่ในเครือข่ายที่ใหญ่กว่า นักคิดเชิงระบบ จึงเชื่อว่าความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นสิ่งพื้นฐานหรืออันดับแรกสุด (เป็นตัวของระบบเอง) ส่วนขอบเขต ของรูปแบบหรือวัตถุ ที่มองเห็นนั้น เกิดขึ้นเป็นที่สอง

ส่วนอีกทัศนะหนึ่ง คือกระบวนทัศน์แบบกลไก ลดส่วน แยกส่วน ที่เดคาร์ตสร้างขึ้นเป็นระบบคิดแบบวิเคราะห์ (Analytical Thinking) คือการแตกปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนให้เป็นส่วน ๆ แล้วศึกษาคุณสมบัติของส่วนประกอบนั้น เพื่อเข้าใจใน พฤติกรรมของทั้งหมด การเชื่อมโยงสัมพันธ์เกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้นในขณะที่นักคิดเชิงระบบเห็นว่า "องค์รวมเป็นมากกว่าผลรวมขององค์ประกอบของมัน" ("The whole is more than the sum of its parts") ระบบคิดแบบกลไกจะคิดว่า "องค์รวมไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากผลรวมขององค์ประกอบของมัน"

ในทัศนะของคาปร้า การคิดเชิงระบบ หมายถึงการเปลี่ยนย้ายมุมมองจากองค์ประกอบสู่องค์รวม และสิ่งที่องค์รวม มีมากกว่าคือ "สัมพันธภาพ" การคิดเชิงระบบจึงเป็นการคิดในมุมมองของสัมพันธภาพ เป็นการย้ายจุดเน้น (Focus) จากตัววัตถุมาอยู่ที่สัมพันธภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชั่งตวงวัดไม่ได้ แต่จะศึกษาและทำความเข้าใจได้โดยการทำแผนที่ (Mapping) ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ

คาปร้าเห็นว่าการปรากฏซ้ำ ๆ ของสัมพันธภาพ นำไปสู่"แบบแผน"(Pattern ) ดังนั้น การคิดเชิงระบบ จึงเป็น การเปลี่ยนมุมมองจากตัวเนื้อหา (Contents) มาสู่การมองแบบแผน คือให้ความสำคัญแก่ระบบคิด วิธีการคิด มากกว่าเนื้อหา และกฎนิเวศทำให้เห็นว่า แบบแผนทั้งหมดสัมพันธ์อยู่กับบริบท สิ่งแวดล้อม หรือระบบที่ใหญ่กว่า เขาจึงเรียกการคิดเชิงระบบว่าเป็น "การคิดเชิงบริบท" (Contextual Thinking) และเป็นการคิดเชิงกระบวนการ (Process Thinking) ด้วย เพราะในตัวระบบ บริบทมีการเคลื่อนไหว เลื่อนไหลอยู่ตลอดเวลานั่นเอง อีกทั้งเห็นว่า การคิดเชิงระบบ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่เป็นระบบ การคิดของมนุษย์จึงต้องเป็นระบบด้วย คือ คิดแบบเชื่อมโยงกันและกัน มีสัมพันธภาพและบริบท (Interconnections Relationships and Context ) และถึงแม้ว่าโดยข้อเท็จจริง ความเชื่อมโยงกันหรือสัมพันธภาพของสรรพสิ่งจะมิได้เท่ากันหมด มีระดับแตกต่างกัน แต่มนุษย์ไม่สามารถแยกส่วนความคิด เลือกเฉพาะที่สำคัญมากสำหรับตนเอง แล้วทิ้งส่วนไม่สำคัญหรือสำคัญน้อย เพราะเท่ากับละเลยกฎความจริงของระบบชีวิต

จากความคิดหลักในทฤษฎีข่ายใยชีวิต คาปร้าเชื่อว่า การคิดเชิงระบบของมนุษย์ มิใช่เป็นเพียง"ความคิด"ล้วน ๆ แต่รวมค่านิยม (Values) ไว้ด้วย ดังนั้น ระบบคิด จะประกอบด้วย ความคิดและค่านิยม ตามแบบกระบวนทัศน์แต่ละแบบ ที่แสดงเปรียบเทียบได้ดังนี้ ระบบคิด-วิธีคิดของกระบวนทัศน์ 2 แบบ

กระบวนทัศน์แบบกลไก ลดส่วน ฯ ระบบคิดแบบเดี่ยว
(Self-Assertive)
กระบวนทัศน์แบบนิเวศ /องค์รวม ระบบคิดแบบบูรณาการ
Integrative(การคิดเชิงระบบ)
ความคิด (Thinking) ความคิด (Thinking)
เหตุผล ( Rational)
วิเคราะห์ ( Analysis)
เส้นตรง ( Linear)
ลดส่วน แยกย่อย (Reductionist)
ญาณทัศนะ ( Intuitive)
สังเคราะห์ (Synthesis)
ไม่เป็นเส้นตรง (Non-linear)
องค์รวม ( Holistic)
ค่านิยม (Value) ค่านิยม (Value)
การแข่งขัน ( Competition) การแผ่ขยาย (Expansion) การครอบครอง ( Domination)
ปริมาณ (Quantity)
ความร่วมมือ ( Co-operation)
การอนุรักษ์ (Conservation)
ความเป็นภาคี (Partnership)
คุณภาพ (Quality)

คาปร้าเห็นว่า ในทุกระบบชีวิต มีระบบคิดทั้ง 2 แบบ ทำหน้าที่แตกต่างกันเพื่อรักษาสัมพันธภาพภายในและภายนอกระบบให้สมดุล จึงไม่มีอันหนึ่งดีกว่าหรือเลวกว่าอีกอันหนึ่ง ในระบบชีวิตที่มนุษย์เกี่ยวข้องด้วย ปัญหาเกิดจากความไม่สมดุลในระบบคิด ซึ่งเสียดุลไปทาง ระบบคิดแบบเดี่ยว ตาม กระบวนทัศน์แบบกลไก โดยละทิ้งระบบคิดแบบบูรณาการตามกระบวนทัศน์นิเวศ

คาปร้าเห็นว่าการคิดแบบเดี่ยวไปในทางแข่งขัน แผ่ขยาย ครอบครอง เป็นระบบคิดที่มักเชื่อมโยงกับเพศชาย ดังนั้นในสังคมชายเป็นใหญ่จึงมีแนวโน้มการคิดแบบเดี่ยวมาก โดยเฉพาะเมื่อรวมกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และอำนาจด้วย ทำให้การเปลี่ยนสู่สมดุลของระบบคิด 2 แบบ จึงเกิดขึ้นยาก โดยเฉพาะ "อำนาจ" ในความหมาย ของการครอบงำ สั่งการนั้น มักไม่เปิดโอกาสให้แก่ระบบคิดแบบบูรณาการ เพศหญิงซึ่งมีระบบคิดแบบนี้มากกว่า จึงมีโอกาสเปลี่ยนดุลของระบบคิดได้ยาก อย่างไรก็ตามคาปร้าเชื่อว่า การสร้างอำนาจขึ้นใหม่ด้วยระบบ"เครือข่าย" จะเป็นหนทางสำคัญของการปรับสมดุลของระบบคิดทั้ง 2 แบบได้

ทฤษฎีข่ายใยชีวิต และการศึกษาทางสังคมศาสตร์

คาปร้าเชื่อว่าทฤษฎีข่ายใยชีวิตที่เขาสังเคราะห์ขึ้น จากโลกทัศน์ ปรัชญา และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก และหลายทฤษฎี ได้ผ่านการแลกเปลี่ยนถกเถียงกับเจ้าของแนวคิด-ทฤษฎีด้วย เป็นทฤษฎีที่จะเป็น กระบวนทัศน์ ใหม่ในการมองโลก สังคม มนุษย์ และสร้างระบบคิดแบบใหม่ที่มีขอบเขตการใช้ได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ติดอยู่กับศาสตร์ สาขา หรือเนื้อหา หรือระดับ(Level) ไม่ว่าระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมใหญ่ ไปกระทั่งระบบนิเวศ เขาได้นำ ทฤษฎีระบบชีวิต หรือข่ายใยชีวิตนี้ ไปจัดการศึกษาที่เรียกว่า Ecoliteracy สร้างการศึกษาใหม่ที่ให้ ความคิดเชิงระบบ จากการเรียนรู้ระบบนิเวศ และนำกรอบความคิด ของทฤษฎีดังกล่าวไปวิเคราะห์ระบบชุมชน โดยการพิจารณาสัมพันธภาพ แบบแผน โครงสร้าง กระบวนการ วงจรป้อนกลับ การจัดการตนเอง ความหลากหลาย ฯลฯของระบบ ทำให้เห็นถึง ปัญหาการดำรงอยู่ของระบบชุมชน สาเหตุของวิกฤตการณ์ในระบบ รวมทั้งเห็นทางออกของ การจะไปสู่ วิวัฒนาการ หรือ พัฒนาการของระบบที่มีความยั่งยืน รวมทั้งได้เสนอ ทฤษฎีระบบชีวิต นี้วิเคราะห์การจัดการ ระบบเกษตรกรรม ที่มีความยั่งยืน สอดคล้องระหว่างระบบนิเวศ เกษตรกรรมและชุมชนด้วย

นอกจากนี้ คาปร้ายังได้นำทฤษฎีของเขาเข้าไปศึกษาร่วมกับกลุ่มนักธุรกิจในยุโรป เพื่อชี้ให้เห็นถึงวิฤตการณ์ของ ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมจากกระบวนทัศน์และระบบคิดแบบเส้นตรง เป็นกลไก ลดส่วนแยกส่วนของธุรกิจกระแสหลัก ที่มักคิดจำกัด เพียงการผลิต การบริโภค การทิ้งฯลฯ ไปสู่การคิดใหม่อย่างมีสัมพันธภาพกับระบบอื่นด้วย และใช้ ทฤษฎีข่ายใยชีวิต ศึกษาการบริหารจัดการองค์กร ในฐานะของระบบชีวิต ที่มีระบบย่อยซ้อนอยู่ มากมายในระบบ หรือ บริบทอื่นที่ใหญ่กว่า องค์กรมิได้เป็นเครื่องจักร กลไก จึงไม่สามารถจัดการด้วยการคิดถึงแต่ปัญหาการเงิน การตลาด การวิจัยและพัฒนา (R&D) ฯลฯ รวมทั้งศึกษาการบริหารองค์กรและบุคคลจากความคิดหลักของทฤษฎีข่ายใยชีวิตด้วย นอกจากนี้ ยังมีผู้นำกระบวนทัศน์แบบ องค์รวมเข้าไปศึกษาการจัดการด้านการบัญชีอีกด้วย

ในทัศนะของคาปร้า การศึกษาปัญหาใหญ่ ๆ ทั้งหลายในโลกปัจจุบัน ไม่สามารถเข้าใจได้โดยการแยกเดี่ยว (Isolation) เพราะเป็นปัญหาเชิงระบบ ที่มีทั้งส่วนที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกับส่วนอื่น (Interconnected) และส่วนที่พึ่งพาอาศัยกัน (Interdependent) เช่น เขาเห็นว่าปัญหาความมั่นคงของจำนวนประชากรโลกนั้น จะเป็นไปได้ต่อเมื่อความยากจน ถูกทำให้ลดลงทั่วโลกเท่านั้น และปัญหาการสูญพันธุ์ของพืชสัตว์จำนวนมหาศาลจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป ตราบเท่าที่ ซีกโลกใต้ยังมีภาระหนี้สินจำนวนมหาศาล

คาปร้าเห็นว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จะทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ต่อความยากจน เมื่อพูดถึงมาตรฐานชีวิต (Living Standard) ในซีกโลกใต้ที่ยากจน จะเป็นการพูดถึงคุณภาพของชีวิต คุณภาพของน้ำ ของอากาศ คุณภาพความสัมพันธ์ ของบุคคลในชุมชน ฯลฯ ซึ่งการคิดใหม่ดังกล่าว จะนำไปสู่การจัดการที่เป็นรูปธรรมและมีขั้นตอนด้วย

และจากความคิดหลักในทฤษฎีข่ายใยชีวิต ทำให้คาปร้าเห็นว่า ขบวนการสังคม(Social Movements) เป็นองค์ประกอบ สำคัญ ของระบบชีวิตในระดับสังคม โดยเฉพาะขบวนการสังคมด้านนิเวศและสตรี โดยเฉพาะใน ส่วนของสตรี เนื่องจาก คาปร้าเห็นว่า ปัญหาสังคมทั้งหลาย มาจากวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรม ที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ (Patriachy) เป็นการเสีย สมดุลไป ทางฝ่าย"หยาง" ตามความเชื่อในลัทธิเต๋า ซึ่งแบ่งสภาวะธรรมเป็น 2 ขั้วตรงข้ามกัน แต่เป็นส่วนหนึ่งของ กันและกัน (องค์รวม) เขาจึงเห็นว่า บทบาทของสตรี ("หยิน") มีความสำคัญและ ความหมายมากต่อ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์และการแก้ไขวิกฤตการณ์ทั้งหลาย

ข้อเด่นและข้อจำกัดทางทฤษฎี

ข้อเด่นของทฤษฎี :

 

(1) ทฤษฎีของคาปร้าเกิดขึ้นในทางตรงข้ามกับทฤษฎีสังคมศาสตร์จำนวนมาก ซึ่งเกิดขึ้น จากการที่นักสังคมศาสตร์ ไปนำแนวคิด ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น จอห์น ล็อค นักปรัชญาการเมือง คนสำคัญ ได้พัฒนาทัศนะ แบบอะตอม ในทางสังคมในการวิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์ในฐานะปัจเจกชน ซึ่งได้กลายเป็น รากฐาน ของการพัฒนา ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ และการเมืองสมัยใหม่

นอกจากนี้มี การนำทฤษฎีระบบ (Systems Theory) ของ ลุดวิก ฟอน แบทาลันฟี (Ludwig Von Bertalanffy) นักชีววิทยา ผู้ริเริ่มเสนอทัศนะแบบองค์รวมในชีววิทยา และเสนอแนวคิดระบบเปิด(Open Systems)ในระบบชีวิต มาใช้ในสังคมศาสตร์ สาขาวิชาต่างๆ จำนวนมาก เช่น ทฤษฎีระบบในวิชารัฐศาสตร์ ของเดวิด อีสตัน ทฤษฎีระบบ ในการบริหารองค์การ ในทางสังคมสงเคราะห์เอง ทฤษฎีระบบได้มีการนำมาใช้เป็น ทฤษฎีหลักอันหนึ่งใน การปฏิบัติงาน สังคมสงเคราะห์ อย่างไรก็ตาม การนำมาใช้ของนักสังคมศาสตร์ มักเป็นการนำมาใช้ด้วยกระบวนทัศน์แบบกลไก ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิจารณ์ว่าเป็นการมองระบบแบบตัดขวาง-เป็นระบบที่ขาดมิติด้านเวลา ทฤษฎีวิวัฒนาการ ของดาร์วิน ก็ได้รับการนำมาใช้ทางสังคม (Social Darwinian) ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อใน เรื่องการแข่งขัน เพื่อความอยู่รอด การมีอำนาจเหนือเผ่าพันธุ์อื่น เป็นต้น

งานของคาปร้าเกิดขึ้นในทางตรงข้าม คือ เป็นงานของนักวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาศึกษาและสร้างแนวคิด ทฤษฎีทาง สังคมศาสตร์ โดยอาศัยพื้นฐานความรู้ทางปรัชญาตะวันตก ตะวันออก และความรู้ในวิชาฟิสิกส์ ซึ่งถือเป็นฐาน ของ วิทยาศาสตร์สาขาอื่น รวมทั้งการศึกษาอย่างต่อเนื่องในวิทยาศาสตร์แขนงอื่นอย่างยาวนาน แล้วสังเคราะห์เป็นทฤษฎี ที่มีลักษณะข้ามสาขาวิชา (Transdisciplinary) เป็นทฤษฎีในระดับกระบวนทัศน์ ที่อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์, วัตถุ จิตวิญญาณ ชีวิต

นอกจากนี้ การที่คาปร้ามีความเข้าใจอย่างดียิ่งในปัญญาญาณตะวันออก มีผลให้ทฤษฎีข่ายใยชีวิตที่มาจาก ความรู้ทา งวิทยาศาสตร์ มีลักษณะเด่นคือมี"ชีวิต" (ดังที่เขาเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ชีวิต/Life Science) ถึงแม้คาปร้า จะเป็น นักฟิสิกส์ แต่ก็เห็น ข้อจำกัดของวิชาฟิสิกส์ แม้จะเป็นฟิสิกส์ใหม่ที่ไปพ้นแบบกลไก ลดส่วน แยกส่วนก็ตาม เพราะเขาก็ เห็นว่า ฟิสิกส์ใหม่ก็ยังคง เป็นฟิสิกส์ ที่เกี่ยวข้องอยู่กับปรากฏการณ์ทางวัตถุเป็นสำคัญ ไม่มีที่ว่างให้กับเรื่องของจิตใจ จิตวิญญาณ จิตสำนึก (Mind , Spirit ,Consciousness) ดังนั้น แม้ฟิสิกส์ใหม่จะสำคัญแต่ก็เป็นเพียงส่วนเดียว เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจใน องค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต ที่อยู่ในในระบบชีวิตทั้งหมด แต่ความเข้าใจในเรื่องของชีวิต จิตวิญญาณมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจ"ระบบชีวิต"มากกว่า เขาเห็นว่าหากเข้าใจเรื่องชีวิตแล้ว ย่อมทำให้เข้าใจ องค์ประกอบทุกส่วนของระบบด้วย

(2) ทฤษฎีข่ายใยชีวิตหรือระบบชีวิต มีระดับการวิเคราะห์ที่ใช้ได้หลายระดับ ตั้งแต่การวิเคราะห์ระบบนิเวศ ที่เป็น ระบบชีวิต ที่ใหญ่ที่สุดของโลก , ระบบใหญ่ของสังคมทั้งหมดและระบบย่อยในสังคม เช่น ระบบการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา , ระบบชุมชน , ระบบครอบครัว , ระบบองค์กร , ระบบชีวิตของปัจเจกบุคคล ตามแนวคิดของคาปร้า ระบบที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นระบบเดียวกัน มีสัมพันธภาพต่อกันทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า ในการศึกษาไม่จำเป็นจะต้องศึกษาหมดทุกระดับ เนื่องจากในความเป็นจริงนั้น ระดับ สัมพันธภาพ ของแต่ละระบบชีวิตจะไม่เป็นแบบเดียวกัน และเท่ากันหมด ทฤษฎีนี้จึงเอื้อต่อการศึกษา ปรากฏการณ์ใน ระดับต่าง ๆ ได้ดี โดยที่ผู้ศึกษาสามารถจะขยาย หรือจำกัดระบบชีวิตที่ศึกษา อย่างตระหนักรู้ในองค์รวมของความสัมพันธ์ เช่นศึกษาระบบครอบครัว และระบบชุมชน โดยดูแบบแผน(Pattern)ของสัมพันธภาพ และคำหลักอื่นๆ ในทฤษฎี ข่ายใยชีวิต โดยไม่ละเลยต่อบริบท ที่ระบบทั้งสอง มีสัมพันธภาพอยู่

ข้อวิจารณ์และข้อจำกัด

แนวคิดและทฤษฎีของคาปร้า ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ในกระแสหลัก แม้ในกลุ่ม นักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์เอง มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจในช่วงต้นเมื่อเขานำเสนอเต๋าแห่งฟิสิกส์ แม้ในงานช่วงต่อมา ก็เช่นกัน ส่วนมากเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มาจากความเห็นต่างทางกระบวนทัศน์ และความไม่เข้าใจใน ญาณวิทยาตะวันออก ซึ่งมีลักษณะนามธรรมและเป็นประสบการณ์ของการเข้าถึงความจริง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และประสบการณ์ทางจิต ซึ่งคาปร้าเห็นว่า ไม่สามารถเข้าใจได้จากการพูดเล่าประสบการณ์ หรือนำเสนอทางคำพูดใด ๆ ได้

ข้อวิจารณ์เหล่านี้ลดลงและมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น เมื่อศาสนธรรมจากตะวันออก เช่นพุทธศาสนานิกายเซน เต๋า ทิเบต ฯลฯ ได้รับความสนใจและแผ่ขยายอย่างกว้างขวางทั้งในยุโรป อเมริกาในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นอกจากนี้ หลายทฤษฎีที่เขาสังเคราะห์มาใช้ ยังเป็นทฤษฎีที่มีปัญหา และข้อถกเถียงอันไม่ยุติอยู่ ข้อจำกัดที่สำคัญ อีกประการ ที่ได้รับการกล่าวถึงมาก คือ คาปร้าให้น้ำหนักน้อยแก่ปัจจัยหรือตัวแปรด้านอำนาจ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามากระทบต่อ กระบวนทัศน์ในระบบชีวิตระดับต่าง ๆ เช่น โครงสร้างการเมือง ระบอบการปกครอง เศรษฐกิจ เทคโนโลยีฯลฯ เนื่องจากมุ่งน้ำหนัก ไปที่เรื่องของกระบวนทัศน์เป็นสำคัญ จนอาจทำให้ การประยุกต์ใช้เกิด จุดอ่อนขึ้นได้ว่า กระบวนทัศน์เป็นปัจจัยเดี่ยว ที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ ทั้ง ๆ ที่วิกฤตการณ์เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยกระบวนทัศน์เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนั้น กระบวนทัศน์แต่ละแบบ และการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ก็มีปัจจัยและตัวแปรต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง กระทำให้เกิดกระบวนทัศน์แต่ละแบบขึ้น และทำให้กระบวนทัศน์เปลี่ยนย้ายด้วย การใช้ทฤษฎีข่ายใยชีวิตโดยละเลย ข้อจำกัดประการนี้ อาจทำให้การวิเคราะห์ปรากฏการณ์ วิกฤตการณ์ ถูกทำให้ง่ายเกินความจริง (Over Simplify) ว่าวิกฤตการณ์เกิดจากกระบวนทัศน์เท่านั้น และขาดการวิเคราะห์ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงกับกระบวนทัศน์

ปัจจุบัน คาปร้ากำลังขมักเขม้น กับการประยุกต์ทฤษฎีข่ายใยชีวิตไปศึกษาระบบโลกสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อให้เห็น รูปธรรมการ เคลื่อนตัวและเปลี่ยนแปลง ของวัฒนธรรมทั้งใหม่และเก่าที่กำลังเกิดขึ้น นับเป็นงานความคิดที่น่าติดตาม เป็นอย่างยิ่งอีกชิ้นหนึ่ง

โยงใยแห่งชีวิต โดย ฟริตจ๊อฟ คาปรา / วีระ สมบูรณ์ แปล

โยงใยที่ซ่อนเร้น (The Hidden connections) ของ ดร. ฟริตจ๊อฟ คาปร้า