แผนธุรกิจ กับ SMEs ตอน....เหตุผลในการเขียนแผนธุรกิจ
เหตุผลในการเขียนแผนธุรกิจ
จากตอนที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่องของที่มาของ การจัดทำแผนธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นการปูพื้นให้ผู้อ่าน ทราบเป็น พื้นฐานเบื้องต้น เกี่ยวกับที่มาที่ไปหรือพัฒนาการของแผนธุรกิจที่เกิดขึ้น หรือเรื่องของ "การนำเสนอโครงการ" ซึ่งเป็นคำเรียกที่ใช้กัน อยู่ติดปาก ระหว่าง เจ้าหน้าที่สินเชื่อกับผู้ประกอบการเมื่อต้องการขอกู้เงิน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า การเขียนแผนธุรกิจ มีจุดประสงค์หลัก เฉพาะเมื่อ ต้องการ ขอสินเชื่อ กับทางธนาคารหรือสถาบันการเงินเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์อื่น แม้ว่าในข้อเท็จจริงแล้ว เกือบทั้งหมด ของแผนธุรกิจ ที่จัดทำขึ้นโดยผู้ประกอบการในปัจจุบัน จะถูกใช้เพื่อเป็นเอกสาร ประกอบการ ขอวงเงินสินเชื่อแทบทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบัน ถ้าได้มีการลองสอบถาม ผู้ประกอบการ เกี่ยวกับเหตุผลในเรื่องเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องการ จัดทำแผนธุรกิจ ก็มักจะได้รับคำตอบว่า เพราะธนาคารให้ทำหรือให้เขียน มิฉะนั้นจะกู้เงินไม่ได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทำให้มี ผู้ประกอบการ บางราย ที่ไม่เข้าใจถึงเหตุผลเกี่ยวกับการเขียนหรือการจัดทำแผนธุรกิจที่ถูกต้อง จะไม่สามารถเขียนแผนธุรกิจที่ดีได้ เพราะไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำแผนธุรกิจ โดยคิดเพียงแต่ว่า เป็นเพียงเอกสาร ที่ต้องมี ประกอบการขอกู้ เช่นเดียวกับ เอกสารอื่นๆเท่านั้น เช่น หนังสือรับรองบริษัท สำเนาบัตรประชาชน สำเนารายการทางการเงิน จากทางธนาคาร ย้อนหลัง (Bank Statement) ซึ่งเมื่อส่งแผนธุรกิจที่เขียนขึ้นจาก ความเข้าใจดังกล่าว ไปยังธนาคารหรือสถาบันการเงิน ก็จะกลายเป็น ผลเสียกับตนเองเนื่องจาก ข้อมูลต่างๆ ก็มักจะไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอที่จะนับว่าเป็นแผนธุรกิจได้ รวมถึง เมื่อต้องถูกร้องขอ ให้จัดทำเป็น แผนธุรกิจตามรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน ผู้ประกอบการก็มักจะไม่สามารถจัดทำ แผนธุรกิจที่ถูกต้องได้ ซึ่งอาจมาจาก การขาดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจ ซึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อน ก็คือเรื่องของเหตุผลว่า ทำไมหรือ เพราะเหตุผลใดจึงต้องมีการเขียนแผนธุรกิจ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก่อน ที่จะเริ่มต้นเขียน แผนธุรกิจ โดยนอกจากที่เกี่ยวกับเหตุผล อันมาจากข้อกำหนดของทางทางธนาคารหรือสถาบันการเงินแล้ว ผู้เขียนจะได้กล่าวถึง เหตุผลในการเขียนแผนธุรกิจในวัตถุประสงค์อื่นๆไว้ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เกี่ยวกับเหตุผลในการเขียน หรือการจัดทำ แผนธุรกิจ ที่นอกเหนือจากการไว้สำหรับ เพื่อการกู้เงินจากธนาคาร หรือสถาบันการเงิน
โดยทั่วไปถ้าจะแบ่งเหตุผลของ การเขียนแผนธุรกิจ ทั้งจากผู้ประกอบการหรือผู้ที่มิได้เป็นผู้ประกอบการ มีเพียง 2 ประเด็นหลักๆ เท่านั้นก็คือ
1. ผู้ประกอบการหรือธุรกิจต้องการเขียนหรือจัดทำแผนธุรกิจขึ้นเอง กับ
2. ผู้ประกอบการหรือธุรกิจมีความจำเป็นต้องเขียนหรือจัดทำแผนธุรกิจขึ้น หรือถ้าจะกล่าวแบบง่ายๆก็คือ ต้องการเขียนขึ้นมาเอง หรือถูกบังคับให้เขียน หรือมีเหตุจำเป็นที่ต้องเขียน ซึ่งมีรายละเอียดที่ควรกล่าวถึงดังนี้คือ
กรณีที่ต้องการเขียนแผนธุรกิจขึ้นมาเอง
การที่ผู้ประกอบการหรือตัวธุรกิจต้องการเขียนแผนธุรกิจขึ้นมาเองนั้น เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ในการเขียน หรือการจัดทำ แผนธุรกิจ ก็คือ
เพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้ประกอบการใหม่ เห็นช่องทางหรือโอกาสในการตลาด หรือมีความ ประสงค์จะเริ่มต้นธุรกิจ หรือมีความต้องการเป็นผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur) จึงเริ่มต้นด้วย การจัดทำแผนธุรกิจ ขึ้น เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนเริ่มต้นธุรกิจ ประมาณการรายได้จากการทำธุรกิจ ซึ่งมาจากการขายสินค้า หรือให้บริการ ประมาณการต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆของธุรกิจ เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายต่างๆในการผลิตสินค้าและบริการ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เงินเดือนหรือค่าจ้างพนักงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่าธุรกิจมีผลกำไรจาก การดำเนินงานหรือไม่ ซึ่งถ้ามีผลกำไร ผู้ประกอบการ ก็จะได้เริ่ม ดำเนินการจริง โดยส่วนใหญ่แล้วแผนธุรกิจในลักษณะดังกล่าวนี้ มักจะมีรูปแบบใกล้เคียงกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study) มากกว่าที่จะเป็นแผนธุรกิจ โดยมุ่งเน้นประเด็นคำตอบของการจัดทำในเรื่องของ กำไรหรือขาดทุน จะทำหรือไม่ ทำธุรกิจ โดยสาระสำคัญมักจะอยู่ที่ผล การคำนวณจากตัวเลขประมาณการต่างๆที่กำหนดขึ้น และประมาณการต่างๆนั้น มักเป็นประมาณการ โดยสังเขปเท่านั้น ตามการคาดคะเนของผู้ประกอบการ ซึ่งมีเพียงน้อยรายที่จะจัดทำแผนธุรกิจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีการวิเคราะห์ หรือการวางแผนในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง
เพื่อการบริหารจัดการ เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ดังกล่าว ส่วนใหญ่จะมาจากผู้ประกอบการที่ได้ดำเนินธุรกิจมาช่วงเวลาหนึ่ง และต้องการ วางแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ ซึ่งเท่าที่พบส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรุ่นที่ 2 หรือรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจเดิม ของครอบครัว ให้เป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น หรืออาจเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับรับการอบรม ในเรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจที่มีมาตรฐาน เช่น โครงการผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur Creation – NEC) หรือการอบรมด้านแผนธุรกิจจากหน่วยงานภาครัฐ และเล็งเห็นว่า การจัดทำแผนธุรกิจถือเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเอง ในการกำหนดทิศทางในการวางแผนการบริหารจัดการ เพราะถือเป็นเครื่องมือ ในการการวิเคราะห์ การวางแผนในด้านการตลาด การผลิตหรือบริการ การบริหารจัดการ การเงิน และการดำเนินการต่างๆของธุรกิจ อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้แผนธุรกิจ ที่จัดทำขึ้นสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงมาตรฐานต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับแผนธุรกิจที่ดี ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวผู้ประกอบการว่ามีความรู้ความเข้าใจเพียงใด ในกระบวนการการใน การวางแผนธุรกิจ ที่มีประสิทธิภาพ และความรู้ในการจัดทำแผนธุรกิจที่ถูกต้อง แต่ในส่วนของบริษัทหรือ องค์กรต่างประเทศโดยเฉพาะบริษัทหรือองค์กรชั้นนำ แผนธุรกิจขององค์กรถือเป็นขั้นตอนมาตรฐาน หรือเอกสารสำคัญที่องค์กร จะต้องมีการจัดทำขึ้น และทบทวนปรับปรุงตามรอบ ระยะเวลา อย่างต่อเนื่อง และยังอาจแยกย่อยตามลักษณะของแผน หรือวัตถุประสงค์ต่างๆออกไปอีก ตั้งแต่แผนธุรกิจ (Business Plan) แผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) แผนการตลาด (Marketing Plan) แผนปฏิบัติการ (Action Plan) การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study) เป็นต้น ซึ่งแผนแต่ละชนิดนั้นจะมีลักษณะและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึง อีกครั้งหนึ่งในโอกาสต่อไป
เพื่อการระดมทุนจากหุ้นส่วนหรือแหล่งทุนภายนอก เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ดังกล่าวส่วนใหญ่ของการจัดทำแผนธุรกิจนี้ จะมาจาก การที่ผู้ประกอบการรู้ว่า เงินทุนที่ตนเองมีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการเริ่มต้น หรือการขยายธุรกิจ ซึ่งจำเป็นต้องหาแหล่งทุนภายนอก ไม่ว่าจะ มาจากการกู้ยืมจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการเขียนแผนธุรกิจขึ้นมา ก่อนนำไปเสนอ กับทาง ธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยมิได้เกี่ยวกับการถูกบังคับจากข้อกำหนดของธนาคารหรือสถาบันการเงิน หรือต่อกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) เป็นต้น นอกจากนี้การจัดทำแผนธุรกิจอาจเพื่อเป็นการระดมทุนเพื่อหาหุ้นส่วน โดยเป็นการเชิญชวนให้บุคคลภายนอกเหล่านั้น สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจของตน ซึ่งอาจเป็นในลักษณะหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือเป็นการกู้ยืมแล้วแต่กรณี โดยแผนธุรกิจ ประเภทนี้ มักแสดงรายละเอียดต่างๆของธุรกิจและรูปแบบการลงทุน รวมถึงมักเน้นการแสดงให้เห็นประโยชน์ หรือผลตอบแทนจากการลงทุน ในธุรกิจดังกล่าว เช่น อตราผลกำไร ระยะเวลาคืนทุน เงินปันผล มูลค่าหุ้น หรือผลตอบแทนอื่นๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เท่าที่ปรากฏแผนธุรกิจ ดังกล่าวมักพบว่า มีประมาณการเกี่ยวกับรายได้สูงเกินจริง หรือคิดในแง่ดีกว่าความเป็นจริง (Optimistic) ในขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ มักจะต่ำกว่าความเป็นจริง (Pessimistic) อยู่เสมอ ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจของแผนธุรกิจในลักษณะนี้ดูดี หรือมีผลประกอบการ ที่ดีกว่า อย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆโดยปกติทั่วไปในภาวะอุตสาหกรรมเดียวกัน
กรณีถูกบังคับให้เขียนหรือมีเหตุจำเป็นที่ต้องเขียน
การที่ผู้ประกอบการหรือตัวธุรกิจต้องการเขียนแผนธุรกิจขึ้น ที่มาจากการถูกบังคับให้เขียน หรือมีเหตุจำเป็นที่ต้องเขียน หรือต้องจัดทำนั้น เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ในการเขียนหรือการจัดทำแผนธุรกิจในรูปแบบนี้ก็คือ
เพื่อการขอกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน
เหตุผลหรือวัตถุประสงค์จะมาจากเรื่องที่ผู้เขียนเคยกล่าวถึงแล้วในตอนที่ผ่านมาในเรื่องของที่มาของแผนธุรกิจ ที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน กำหนดให้หรือออกข้อกำหนด ให้ผู้ประกอบการที่ต้องขอการขอวงเงินสินเชื่อสำหรับการดำเนินธุรกิจ จำเป็นต้องจัดทำแผนธุรกิจ ประกอบการ ขอสินเชื่อทุกครั้ง โดยเหตุผลสำคัญที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินออกข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือใน การวิเคราะห์ ผู้ประกอบการ ว่ามีความสามารถในการวางแผนในการดำเนินธุรกิจในระดับใด มีการศึกษาวิเคราะห์สภาวะตลาดและอุตสาหกรรมหรือไม่ ผลกระทบต่างๆจากสภาวะตลาดและอุตสาหกรรม ที่ผู้ประกอบการได้ทำ การวิเคราะห์นั้น ส่งผลกระทบเช่นใดต่อธุรกิจ สภาวะการแข่งขัน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค ของธุรกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับ คู่แข่งขันเป็นเช่นใด และผู้ประกอบการหรือผู้ขอกู้ได้มีกระบวนการวางแผน และดำเนินธุรกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในด้านการตลาด การผลิตหรือการให้บริการ การบริหารจัดการภายใน การบริหารการเงิน อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม เพียงใดต่อ การวิเคราะห์นั้น มีการศึกษาข้อกำหนด กฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ที่ถูกต้องเพียงใด รวมถึงการคำนึงถึง ความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับธุรกิจ และการกำหนดแผนฉุกเฉินสำหรับตัวธุรกิจ ในกรณีที่มีเหตุการณ์ ที่อยู่นอกเหนือการคาดคะเน หรือแผนฉุกเฉินของธุรกิจหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของแผนการเงิน ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ กระแสเงินสด ของกิจการเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นส่วนที่เป็นปัญหาสำคัญ ถ้าธุรกิจเกิดปัญหา การบริหารจัดการเงินสดที่ถูกต้อง รวมทั้งในด้านของการ ชำระคืนเงินกู้ ให้กับทางธนาคาร ที่ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย และระยะเวลาต่างๆของกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นในธุรกิจ ที่ต้องสัมพันธ์กับ การชำระคืนเงินกู้ ซึ่งจากแผนธุรกิจดังกล่าว ถ้าผู้ประกอบการมีความเข้าใจและจัดทำแผนธุรกิจอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นการช่วย ลดความเสี่ยง ให้กับทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เนื่องจากถือได้ว่าผู้กู้มีความสามารถ และศักยภาพเพียงพอ ในการบริหารธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จได้ นอกจากในส่วนที่เป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้กับทางธนาคาร การที่ผู้ประกอบการมีการวางแผน และการจัดทำแผนธุรกิจที่ถูกต้อง ย่อมช่วยให้เป็นแนวทางแก่ผู้ประกอบการ ในการดำเนินการ ของธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน และสามารถเจริญเติบโต ภายใต้ภาวะการแข่งขันของธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อ ผู้ประกอบการ แทบทั้งสิ้น
ส่วนใหญ่แล้วในประเทศ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการขอกู้เงิน หรือระดมทุนจากแหล่งทุนภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน และจากข้อกำหนดที่ผู้ขอกู้เงินต้องยื่นเสนอแผนธุรกิจ กับทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน ทำให้อาจกล่าวได้เลยว่ามากกว่า 99% ของแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นนั้น นำไปใช้เพื่อยื่นเสนอต่อธนาคารหรือสถาบันการเงิน มากกว่าวัตถุประสงค์อื่นๆ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ยังมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย ที่เห็นความสำคัญในประโยชน์ของการจัดทำแผนธุรกิจดังกล่าว โดยกลับมองเห็นว่า ถือเป็นภาระ หรือความยุ่งยาก สำหรับตนเอง ที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินกำหนดให้ต้องมีการเขียนแผนธุรกิจ จึงไม่ใส่ใจหรือละเลยในการจัดทำ แผนธุรกิจ โดยจัดทำแผนธุรกิจแบบขอไปที โดยเพียงแต่หาโครงสร้างของแผนธุรกิจ แล้วกรอกรายละเอียดไปตามหัวข้อต่างๆ ในโครงสร้างของแผนธุรกิจนั้นให้ครบ หรือไปคัดลอกแผนธุรกิจของธุรกิจอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน แล้วแก้ไขรายละเอียดให้เป็นของธุรกิจตนเอง เช่น ข้อมูลกิจการ หรือข้อมูลการเงิน ซึ่งส่งผลให้เมื่อนำเสนอไปยังธนาคารหรือสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการปฏิเสธ หรือรวมถึง การว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ทำการเขียนแทน โดยคิดว่าบุคคลภายนอกที่เป็นมืออาชีพหรือที่ปรึกษานั้น สามารถจัดทำแผนธุรกิจได้ดีกว่าตนเอง และน่าที่จะได้รับการอนุมัติจาก ทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยไม่สนใจศึกษารายละเอียดในแผนธุรกิจ ที่ว่าจ้างมืออาชีพหรือที่ ปรึกษาให้ เขียนขึ้นนั้นเลย สุดท้ายแล้วก็มักจะได้รับการปฏิเสธเช่นเดียวกัน ซึ่งสาเหตุดังกล่าวจะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป
เพื่อใช้ประกอบการศึกษาหรือการอบรม
เหตุผลหรือวัตถุประสงค์จะมาจากเรื่องที่ในปัจจุบันสถาบันการศึกษา เริ่มให้ความสำคัญและบรรจุเนื้อหาเกี่ยวการเขียนแผนธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่ง ของวิชาเรียนสำหรับนักศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ หรือภาควิชาที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษา ระดับปริญญาตรี และปริญญาโท โดยเฉพาะในส่วนระดับปริญญาโทบางมหาวิทยาลัย ที่กำหนดให้การเขียนแผนธุรกิจเป็นหัวข้อวิชาในการศึกษา เทียบเท่าหรือ ทดแทนการ ศึกษาค้นคว้าอิสระ (Independent Study) ทำให้มีนักศึกษาบางคนเลือกที่จะเขียนแผนธุรกิจ เพราะคิดว่าสามารถทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากไม่เสียเวลาที่ต้องทำแบบสอบถาม หรือทำการวิจัย และอาจสามารถหาตัวอย่างต่างๆ ของแผนธุรกิจประเภทเดียวกันได้โดยง่าย ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่ง นอกจากในส่วนสถาบันการศึกษาโดยทั่วไปแล้ว สำหรับผู้ประกอบการก็อาจต้องมีการจัดทำแผนธุรกิจ ในกรณีที่เข้าโครงการอบรมจากหน่วยงานของรัฐ เช่น ศูนย์บ่มเพาะ (Incubation Center) หรือโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur – NEC) ที่ผู้ประกอบการต้องมีการนำเสนอแผนธุรกิจ ต่อทางโครงการหรือคณะกรรมการ โดยถือเป็นหัวข้อสุดท้าย ในการผ่านหรือ การจบหลักสูตร แต่สิ่งที่พบสำหรับแผนธุรกิจที่มาจากนักศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของลักษณะแผนที่นำเสนอหรือเขียนขึ้น จะไม่ใช่ลักษณะหรือมีองค์ประกอบที่ถูกต้องของแผนธุรกิจ แต่จะอยู่ในลักษณะของ แผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) หรือแผนการตลาด (Marketing Plan) มากกว่าที่จะเป็นแผนธุรกิจ (Business Plan) และมักจะมีรายละเอียดของข้อมูลต่างๆของธุรกิจ ที่มีมากมาย โดยไม่จำเป็น หรือไม่ใช่ข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้สำหรับแผนธุรกิจ รวมถึงการที่ไม่รู้รายละเอียด เกี่ยวกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้อง ทำให้รายละเอียดที่นำเสนอในแผนธุรกิจไม่เป็นความจริง และถ้าเป็นในส่วนของผู้ประกอบการจากโครงการต่างๆ มักจะเป็นเรื่องของแผนธุรกิจที่นำเสนอ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study) ซึ่งกรณีนี้ส่วนใหญ่ข้อมูลการลงทุนจะไม่ค่อยผิดพลาดนัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการคุ้นเคย หรือทราบรายละเอียดอยู่เดิม แต่มักจะขาดความชัดเจนด้านการดำเนินการทางการตลาด รวมทั้งการคำนวณเกี่ยวกับประมาณการทางการเงินที่ถูกต้อง และเมื่อทั้งนักศึกษาหรือผู้ประกอบการนำเสนอแผนธุรกิจในลักษณะดังกล่าว ที่ได้จากการศึกษาหรือการอบรมกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน ก็มักจะประสบปัญหาที่ต้องกลับมาแก้ไข หรือขาดรายละเอียดสำคัญไป เพราะเข้าใจว่าสิ่งที่ตนเองศึกษาหรือได้รับการอบรมมา เป็นแผนธุรกิจที่ถูกต้องเพียงพอและสามารถนำไปใช้ได้เลย ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงเรื่องของความแตกต่างของแผน หรือเอกสารแต่ละแบบ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับแผนธุรกิจในโอกาสต่อไป
เพื่อการประกวดหรือการแข่งขัน
เหตุผลหรือวัตถุประสงค์จะมาจากเรื่อง ที่มีการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเขียน หรือการจัดทำแผนธุรกิจ โดยในปัจจุบันได้มี การจัด ประกวดแข่งขันในการเขียนแผนธุรกิจ จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการจัดประกวดแข่งขันการเขียน แผนธุรกิจภายใน มหาวิทยาลัย โดยมีทั้งการแข่งขันการเขียนแผนธุรกิจที่เป็นภาษาไทย แผนธุรกิจที่เป็นภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น โครงการประกวดแผนธุรกิจ ใหม่แห่งชาติ สำหรับนักศึกษาปริญญาโท โครงการ HSBC Young Entrepreneur Award ที่ประกวดเขียนแผนธุรกิจภาษาอังกฤษ ในระดับปริญญาตรี รวมถึงการประกวดแข่งขันแผนบางรายการ เช่น โครงการประกวดแผนการตลาด J-MAT Award เป็นต้น ซึ่งอาจมี ลักษณะของ การกำหนดตัวธุรกิจ หรือไม่กำหนดธุรกิจในการเขียน แต่ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นการประกวดหรือการแข่งขันแผนธุรกิจ ผู้จัดประกวด หรือแข่งขันมักจะให้ผู้เข้าประกวดเลือกธุรกิจที่จะเขียนหรือนำเสนอเอง ส่วนการประกวดแผนอื่นๆ เช่นแผนการตลาด ผู้จัดมักจะมีโจทย์หรือ มีข้อกำหนดมาก่อน เพื่อให้ผู้เข้าประกวดเขียนแผนนำเสนอ โดยส่วนใหญ่แล้ว แผนธุรกิจสำหรับประกวด หรือเพื่อการแข่งขันนี้ มักมีข้อกำหนด ในโครงร่าง หรือหัวข้อต่างๆจากผู้จัดกำหนดไว้ก่อนแล้ว แต่สิ่งที่พบในฐานะที่ผู้เขียนเป็นกรรมการพิจารณาในการประกวดแข่งขันแผนธุรกิจ มักจะอยู่ที่ผู้เข้าประกวดเลือกประเภทธุรกิจผิดประเภท หรือเลือกธุรกิจที่เกิดข้อเสียเปรียบ เมื่อจะเลือกที่จะใช้เขียนเพื่อการแข่งขัน หรือการขาด Business Model ที่เป็นศูนย์กลางของแผนธุรกิจไป โดยในเรื่องของ Business Model ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงไว้ ในคอลัมน์ Smart SMEs "จากแนวคิด...สู่แผนธุรกิจ - Business Model to Business Plan" ผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านย้อนหลัง ได้จากหนังสือพิมพ์ บิสสิเนสไทย ฉบับที่ 279 วันที่15-21 มกราคม 2549 ซึ่งผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงไว้ในเรื่องดังกล่าวแล้ว รวมถึงการไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ หรือลักษณะของแผนธุรกิจ ที่ใช้ในการประกวดหรือการแข่งขัน ที่จะมีลักษณะขององค์ประกอบ หรือการนำเสนอแตกต่างจาก แผนธุรกิจในวัตุประสงค์อื่นๆ