แผนธุรกิจ กับ SMEs ตอน....ประเภทของแผนธุรกิจและประเด็นสำคัญ

ประเภทของแผนธุรกิจและประเด็นสำคัญ

หลังจากกล่าวถึงเรื่องของแนวคิดของแผนธุรกิจที่ดี (Concept of good business plan) ในตอนที่แล้วถึงหลัก 5Cs ว่า Communicate, Commercial, Competitive, Correct และ Clear หรือแผนธุรกิจต้องสื่อสาร หรือทำให้ผู้อ่านเข้าใจในตัวธุรกิจได้, ต้องเป็นไปได้จริง หรือมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์, ต้องสามารถแข่งขันกับธุรกิจอื่นได้, ต้องมีความถูกต้องสมบูรณ์ และต้องมี ความกระจ่างชัดเจน ซึ่งเรื่องขององค์ประกอบทั้ง 5 ประการนี้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแผนธุรกิจไม่ว่าจะนำเสนอแผนด้วย วัตถุประสงค์ใด ต่อหน่วยงานใด และต่อใครก็ตามที่เป็นผู้พิจารณาตัดสิน หรือประเมินแผนธุรกิจ ในตอนนี้จะกล่าวลงลึก ในรายละเอียดเกี่ยวกับ แผนธุรกิจแต่ละประเภทที่จัดทำขึ้น โดยจะเป็นการกล่าวเฉพาะประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ หรือต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะไม่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และคิดว่าแผนธุรกิจควรจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน หรือเหมือนๆกัน หรือไม่มีความแตกต่างกัน เพราะแผนธุรกิจที่มี หรือจัดทำขึ้นนั้นก็เขียนขึ้นตามรูปแบบมาตรฐานของแผนธุรกิจ ตามที่ได้เคย ศึกษา เข้าร่วมอบรม หรือจากการอ้างอิงจากคู่มือการเขียนแผนธุรกิจมาอย่างครบถ้วน และน่าที่จะสามารถ ใช้ยื่นเสนอได้ต่อทุกหน่วยงาน ในทุกวัตถุประสงค์ โดยแผนธุรกิจส่วนใหญ่แล้วสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ 5 ประเภท คือ แผนธุรกิจเพื่อ ขอรับการสนับสนุน ทางการเงิน แผนธุรกิจเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ แผนธุรกิจเพื่อการบริหารจัดการธุรกิจ แผนธุรกิจที่ใช้ในการศึกษา และแผนธุรกิจที่ใช้ใน การประกวดแข่งขัน โดยในแต่ละลักษณะของแผนธุรกิจยังสามารถแยกย่อยออกได้อีกหลายลักษณะ ซึ่งรายละเอียดของแผนธุรกิจ แต่ละประเภท และประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ มีรายละเอียดดังนี้คือ

แผนธุรกิจเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน

แผนธุรกิจเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน จัดเป็นแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา จากหน่วยงาน หรือบุคคลที่จะให้เงินทุน หรือเงินกู้ยืมแก่กิจการเป็นประเด็นสำคัญ โดยถ้าแบ่งย่อยแผนธุรกิจประเภทนี้โดยทั่วไปแล้ว ยังสามารถแยกย่อย ออกได้เป็น 3 ประเภท คือ แผนธุรกิจเพื่อการขอสินเชื่อ หรือการขอกู้ยืมเงิน แผนธุรกิจเพื่อการร่วมลงทุน แผนธุรกิจเพื่อการขอรับการ สนับสนุนเงินช่วยเหลือ โดยแต่ละประเภทย่อยเหล่านี้มีประเด็นในการพิจารณาตามรายละเอียดดังนี้คือ

แผนธุรกิจเพื่อการขอสินเชื่อ หรือการขอกู้ยืมเงิน แผนธุรกิจประเภทนี้จัดได้ว่าเป็นแผนธุรกิจที่ถูกจัดทำขึ้นมากที่สุด หรือเกือบ ทั้งหมด ของแผนธุรกิจในประเทศไทยที่จัดทำขึ้น ล้วนแล้วแต่เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อจากทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน แทบทั้งสิ้น ประเด็นที่ต้อง พิจารณาก็ คือ นอกเหนือจากข้อมูล หรือรูปแบบหัวข้อพื้นฐานของแผนธุรกิจ โดยทั่วไปแล้ว ข้อมูลในแผนธุรกิจต้อง สามารถ แสดง ให้เห็นอย่างชัดเจนถึง วัตถุประสงค์ในการใช้เงิน จำนวนเงินที่ต้องการ แหล่งที่มาและ ใช้ไปของ เงินทุนโดยละเอียด รวมถึงต้องแสดง ให้เห็นถึง กระบวนการ ระยะเวลา หรือจำนวนเงินที่ผ่อนชำระคืนเงินกู้กับ ทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน อันประกอบด้วย ส่วนของเงินต้น และส่วนของดอกเบี้ยจ่าย ที่เหมาะสมและเป็นไปได้จริง ตามข้อกำหนด หรือระเบียบการอนุมัติสินเชื่อ อีกทั้งจำนวนเงิน ที่ผ่อนชำระต้อง เหมาะสมกับรายรับรายจ่ายของธุรกิจ และถ้าธุรกิจประสบปัญหาอยู่ การได้รับวงเงินสินเชื่อจะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และธุรกิจจะไม่ประสบ ปัญหาดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต โดยสิ่งที่ต้องจำขึ้นใจ อยู่เสมอคือธนาคาร หรือสถาบันการเงินต้องการให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ในการให้ วงเงินสินเชื่อกับผู้ประกอบการรายใดก็ตาม ดังนั้นธนาคาร หรือสถาบันการเงิน จึงต้องการทราบว่า ธุรกิจนั้นจะใช้วงเงินสินเชื่อ ที่ได้รับไป เพื่ออะไร เพราะเหตุใด และจากการได้รับวงเงินสินเชื่อนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจ ธุรกิจมีความเป็นไปได้จริงในการดำเนินการตามทีระบุ สามารถแข่งขันกับ ธุรกิจอื่นๆ หรือคู่แข่งได้ หรือไม่ และที่สำคัญก็คือธนาคารจะมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ หรือธุรกิจ มีกระแสรายได้ ที่ไม่เพียงพอกับ การชำระคืนเงินกู้ หรือไม่ หรือถ้าธุรกิจสามารถชำระคืนได้ เงินสดคงเหลือในกิจการจะเพียงพอ หรือไม่ ต่อการดำเนินการ ของธุรกิจทั้ง ในปัจจุบันและอนาคต เพราะการชำระคืนเงินกู้กับทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เป็นการชำระด้วยเงินสด

ดังนั้นธนาคาร หรือสถาบันการเงินจึงให้ความสำคัญ กับส่วนที่เป็นเงินสดคงเหลือ จากรายได้หลังจากหักต้นทุน และค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่เกิดขึ้น ของกิจการ หรือกระแสเงินสดสุทธิคงเหลือของกิจการเป็นสำคัญเป็นพิเศษ

ดังนั้นผู้จัดทำแผนธุรกิจต้องให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของประมาณการต่างๆ ถึงที่มาของรายได้ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย ต้องประมาณการด้วยความเป็นจริง มิใช่ประมาณการเพื่อให้ธุรกิจดูมีผลกำไรสูงๆ เพราะคิดว่าธนาคาร หรือ สถาบันการเงิน จะอนุมัติให้ ถ้าเห็นว่าธุรกิจมีกำไร โดยที่พบเห็นอยู่เสมอคือประมาณการให้มีรายได้ หรือยอดขายในระดับสูงกว่า ความเป็นจริง ส่วนต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าความเป็นจริง รวมถึงการบิดเบือนเงื่อนไขต่างๆทางการค้า ไปจากข้อเท็จจริง จากการดำเนินการ ของ ธุรกิจทั่วไปโดยปกติ เช่น กำหนดว่าธุรกิจของตนสามารถซื้อสินค้าโดยได้เครดิต 2 เดือน หรือมีเจ้าหน้าหนี้การค้า 2 เดือน ทั้งที่โดยปกติ ธุรกิจทั่วไป แบบเดียวกันต้องซื้อวัตถุดิบด้วยเงินสด หรือได้เครดิตการค้าไม่เกิน 1 เดือน โดยถ้าเป็นการขาย ก็จะเป็นการขายสินค้า และรับเป็น เงินสดทันที ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้วโดยปกติ จะต้องให้เครดิตการค้า แก่ผู้ซื้อสินค้าของธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 เดือน เหล่านี้เป็นต้น การบิดเบือน ข้อมูลเหล่านี้อาจจะไม่เห็นได้ชัดเจนในงบกำไรขาดทุน แต่ถ้าได้จัดทำงบกระแสเงินสดแล้ว จะเห็นได้ว่า มีเงินสดคงเหลือเกินกว่า ความเป็นจริง ของธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการ หรือผู้เขียนแผน มักคิดว่าถ้าธนาคาร หรือสถาบันการเงินพิจารณาในส่วนนี้ จะทำให้พิจารณาอนุมัติแก่ตนเองได้ง่าย เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน จะมิได้ใช้ข้อมูลจากแผนธุรกิจของผู้ขอสินเชื่อ ในการตัดสินใจทางการเงิน แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะมีการนำมาข้อมูลดังกล่าวคำนวณใหม่ โดยใช้สมมติฐาน หรือตัวแปรต่างๆจากมาตรฐานของธุรกิจโดยทั่วไป ไม่ว่า อัตราการเติบโตของตลาด ต้นทุนต่างๆ รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ และมักจะใช้ตัวแปรเหล่านี้ในกรณีที่ธุรกิจมีปัญหา หรือภาวะที่ไม่ดีที่สุด ของ เศรษฐกิจ ว่าธุรกิจยังจะดำรงอยู่ได้ หรือไม่ หรือจะเกิดปัญหาใดขึ้นโดยเฉพาะด้านการเงิน เพื่อการพิจารณา และประเมินธุรกิจ เพื่อให้ธนาคาร มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ดังนั้นแผนธุรกิจที่ยื่นเสนอต่อธนาคาร หรือสถาบันการเงิน จึงควรแสดงรายละเอียดดังกล่าว ให้มีความชัดเจน และเป็น ความจริงตามลักษณะ การดำเนินการของธุรกิจให้มากที่สุด รวมถึงประเมินความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้น กับธุรกิจอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ ยังควรมีการให้รายละเอียด เกี่ยวกับประวัติการดำเนินการต่างๆของธุรกิจประกอบ ถ้าเป็นธุรกิจที่เคยดำเนินการมาก่อนหน้า เช่น ยอดขาย ที่ผ่านมา ผลการดำเนินการย้อนหลัง รายชื่อ Supplier รายชื่อลูกค้า เป็นต้น เพราะเป็นส่วนที่ ธนาคารใช้พิจารณาถึง ศักยภาพในการ ดำเนินการ ของธุรกิจ และต้องการสิ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ หรือข้อเท็จจริง ที่มีหลักฐานยืนยัน รวมถึงประมาณการต่างๆ เช่น อัตราการเติบโต ยอดขาย รายได้ ผลกำไรของธุรกิจ ควรตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของความระมัดระวัง โดยไม่ประมาณการในทางที่ดีเกินจริง แต่ควรประมาณการ ให้อยู่ใน สิ่งที่เป็นไปได้ หรืออยู่ในภาวะที่ธุรกิจไม่ดี เพราะถ้าธุรกิจยังสามารถสร้างผลกำไร หรืออยู่รอดได้ ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าธนาคาร หรือสถาบันการเงิน มีความเสี่ยงน้อยในการให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจ

แผนธุรกิจเพื่อการร่วมลงทุน แผนธุรกิจประเภทนี้จัดได้ว่าเป็นแผนธุรกิจที่ถูกจัดทำขึ้นโดยมีรูปแบบและลักษณะคล้ายคลึง หรือเกือบ จะเรียกได้ว่า มีลักษณะเหมือนกับ แผนธุรกิจเพื่อการขอสินเชื่อ หรือการขอกู้ยืมเงิน แต่อาจจะมีรายละเอียดบางส่วนที่ต้องแสดง หรือระบุ เพิ่มเติม นอกเหนือออกไป โดยก่อนที่จะกล่าวถึง แผนธุรกิจเพื่อการร่วมลงทุนนี้ คงต้องทำความเข้าใจ ในลักษณะของ การนำเสนอ ของการร่วม ลงทุน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือลักษณะแรกเป็นการนำเสนอต่อกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) องค์กร หน่วยงาน ที่ให้การ สนับสนุน ด้านเงินทุนแก่ธุรกิจ ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเป็นลักษณะ การสนับสนุน ด้านเงินทุนในรูปของ การเข้ามาเป็นหุ้นส่วน (Partners) กับธุรกิจ โดยการซื้อหุ้นของกิจการทำให้กองทุนร่วมลงทุนนี้ จะอยู่ในลักษณะผู้ถือหุ้น ของกิจการ (Shareholders) และมักจะมีการกำหนด สัดส่วนการ ลงทุนต่ำสุด หรือในระดับสูงสุดเอาไว้ เมื่อเปรียบเทียบกับทุนของธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว การลงทุนจะต้องไม่มากจน กองทุนร่วมลงทุนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจ (Major Shareholder) ทำให้ธุรกิจที่จะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนร่วมลงทุน มักจะต้องเป็นนิติบุคคลในรูปบริษัทจำกัด (Company Limited) ที่สามารถออกหุ้นสามัญได้ ต้องเป็นประเภทธุรกิจที่เป็นไปตามข้อกำหนด มีวัตถุประสงค์ใน การใช้เงินทุน หรือมีคุณสมบัติตาม ที่กองทุนร่วมลงทุนกำหนด รวมถึงระยะเวลา ที่มีข้อกำหนดอย่างแน่ชัด ของกองทุน ร่วมลงทุน ที่กำหนดไว้ว่ากองทุนร่วมลงทุน จะถอนการลงทุน หรือธุรกิจต้องซื้อหุ้นในส่วนที่กองทุนร่วมลงทุนถือครองอยู่คืน โดยระยะเวลา การร่วมลงทุนของกองทุนร่วมลงทุน มักจะไม่สั้น หรือยาวจนเกินไป เช่น ไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่ก็ไม่ยาวมากกว่า 5 ปี เป็นต้น และการร่วมลงทุน อีกลักษณะหนึ่ง ก็คือ การนำเสนอต่อบุคคลภายนอกซึ่งอาจเป็นนักลงทุน (Investor) หรือบุคคลทั่วไป ที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน เช่น เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง เป็นต้น หรือเป็นธุรกิจ หรือนิติบุคคลด้วยกัน ที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน หรือมีวัตถุประสงค์ในการเป็นหุ้นส่วน หรือพันธมิตรทางธุรกิจ โดยการสนับสนุนด้านเงินทุนจะมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามา เป็นผู้ถือหุ้น ทั้งหุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิ์ การทำสัญญาแบ่งผลกำไร การเข้ามาเป็น กรรมการบริหารจัดการ การตกลงในการดำเนินการระหว่างกัน หรือแม้แต่การทำสัญญา ในลักษณะ การกู้ยืมก็มี ซึ่งระยะเวลา การร่วมทุน หรือการเข้าหุ้นสำหรับบุคคลภายนอกนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือยืดหยุ่นได้ตามข้อตกลง เช่น อาจร่วมหุ้นเพียง 6 เดือน ตลอดไป หรือร่วมไปเรื่อยๆ ตราบใดที่คู่สัญญา ยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกัน

กองทุนร่วมลงทุน มักจะมุ่งหวังผลตอบแทนในการลงทุน จากมูลค่าของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นซึ่งสะท้อนจากมูลค่าทางบัญชีของกิจการ (Book Value) เมื่อถึงช่วงเวลาการถอนตัว (Exit) ของกองทุนร่วมลงทุน หรือจากผลตอบแทนของเงินปันผล (Dividend) ส่วนการลงทุน หรือการร่วมทุนจาก บุคคลภายนอก ก็จะมีลักษณะการต้องการผลตอบแทนที่คล้ายคลึงกับกองทุนร่วมลงทุน แต่อาจมีรายละเอียด หรือข้อตกลงเพิ่มเติม ซึ่งมักจะอยู่ในอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าโดยเฉพาะ ถ้าเป็นนักลงทุน หรือบุคคลทั่วไป เนื่องจากผู้ลงทุน ที่เป็นบุคคลเหล่านี้ถือว่า ตนเองมีความเสี่ยงในการลงทุนในธุรกิจที่สูงกว่า เช่น อัตราผลตอบแทนคงที่ ต้องไม่น้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ การรับประกัน การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุน เมื่อมีผลกำไร การตกลงว่า ถ้าบริษัทมีผลกำไร ต้องไม่นำผลกำไรนั้น ไปลงทุนเพิ่มจนกว่า จะจ่ายเงินปันผลตามข้อตกลง การตกลงในราคาซื้อคืนของมูลค่าหุ้นไว้ล่วงหน้า หรือการที่ต้องมีส่วนเพิ่มของมูลค่า (Premium) เมื่อผู้เข้าหุ้น หรือผู้ร่วมทุน ขอถอนการลงทุน เป็นต้น

โดยทั่วไปการเสนอแผนธุรกิจ เพื่อการร่วมลงทุน มักเกิดจากหลายๆวัตถุประสงค์ เช่น ธุรกิจต้องการเงินทุนเพื่อการขยายตัว แต่ไม่ต้องการ ใช้เงินทุนจากการกู้ยืม ธุรกิจมีวงเงินจากการกู้ยืมเต็มอัตราที่ทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินสามารถอนุมัติให้ได้ โดยถ้าต้องการ วงเงินสินเชื่อ เพิ่มต้องมีการเพิ่มทุนในส่วนของธุรกิจก่อน แต่ตัวธุรกิจไม่มีเงินทุนส่วนของตนเองเพียงพอ ธุรกิจยังไม่สามารถ ระดมทุนจากสาธารณะได้ เนื่องจากไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจต้องการร่วมลงทุนเพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ หรือธุรกิจเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ หรือเป็นธุรกิจใหม่ ที่มีข้อจำกัด หรือมีความเสี่ยงสูงในการขอวงเงินสินเชื่อ จากธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เนื่องจากเป็นสินค้าประเภท นวัตกรรม เป็นสินค้าที่พัฒนา จากทรัพย์สินทางปัญญา หรือเป็นธุรกิจที่มีแนวคิดใหม่ในตลาด ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ หรือยืนยันได้ว่า จะประสบความสำเร็จ เป็นต้น จากประเด็นดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ในส่วนของแผนธุรกิจสำหรับการร่วมทุน นอกจากจะต้องมีการแสดง รายละเอียด ของโครงสร้างข้อมูลของแผนธุรกิจ โดยทั่วไป ยังต้องแสดงจุดเน้นให้เห็นถึง ความเติบโตของธุรกิจ (Business Growth) หรือการเพิ่มขึ้นของมูลค่าธุรกิจ (Business Value) เพื่อให้ผู้ลงทุนไม่ว่า จะเป็นกองทุนร่วมลงทุน หรือนักลงทุน เห็นว่าเป็น การคุ้มค่าต่อ ความเสี่ยงที่จะลงทุนในธุรกิจ และตนเองจะได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน โดยเฉพาะถ้าเป็นธุรกิจประเภทนวัตกรรม หรือเป็นธุรกิจ ที่มีแนวคิดใหม่ในตลาด ต้องสามารถแสดงถึงความเป็นไปได้ ในการแข่งขันกับธุรกิจที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการตลาด การผลิต การบริหารจัดการ และเนื่องจากส่วนใหญ่ของการเข้าร่วมลงทุน ที่ผู้ลงทุนมักจะอยู่ในรูปแบบของการเป็นเจ้าของในทางใดทางหนึ่ง แผนธุรกิจถือ เป็นเอกสารสำคัญ หรือเป็นข้อตกลงระหว่างธุรกิจกับผู้ลงทุน ดังนั้นแผนธุรกิจจะถือ เป็นเอกสารสัญญาแบบหนึ่ง หรือเป็น เอกสารประกอบการทำข้อตกลง หรือการทำนิติกรรมระหว่างกัน ที่ธุรกิจจะต้องดำเนินการไปตามแผนธุรกิจที่ได้ระบุไว้ ไม่ว่าจะเป็น วัตถุประสงค์ ในการใช้เงิน การดำเนินการต่างๆของธุรกิจในแต่ละช่วงเวลา ยอดขาย หรือรายได้ ต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ที่ต้องเป็น ความจริง หรือมีความใกล้เคียง กับความเป็นจริง ในการดำเนินการของธุรกิจ ให้มากที่สุด เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็น ข้อขัดแย้ง หรือข้อพิพาทระหว่างธุรกิจ กับผู้ลงทุนได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาระหว่างกันได้ในอนาคต และประเด็นหนึ่ง ที่ต้องให้ความสำคัญไม่น้อยกว่า การแสดงถึง ความเติบโตของธุรกิจ หรือการเพิ่มขึ้นของมูลค่าธุรกิจ ก็คือขั้นตอน หรือแผนการถอนตัว (Exit Plan) ของผู้ลงทุน หรือกองทุนร่วมลงทุนว่า จะดำเนินการอย่างไร เนื่องจาก การลงทุนของผู้ลงทุน หรือกองทุนร่วมลงทุน ส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนด้วยเงินสด (Cash Investment) ในการเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน หรือซื้อหนของธุรกิจ และเมื่อถึงขั้นตอนการถอนตัวผู้ลงทุน หรือกองทุนร่วมลงทุน ก็ต้องการเงินสดกลับไปเช่นเดียวกัน ซึ่งโดยปกติทั่วไปธุรกิจ มักจะไม่มีการกัน หรือสำรองเงินสดในปริมาณมากไว้ในธุรกิจ เนื่องจากเงินสด ถือเป็น สินทรัพย์ที่ไม่สามารถก่อให้เกิดรายได้กับธุรกิจ ถ้าไม่มีการนำเงินสดไปใช้ในการลงทุน เช่น การลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ เพื่อผลิตสินค้า ทำให้สำหรับธุรกิจที่ผู้ลงทุน หรือกองทุนร่วมลงทุนเข้าลงทุนในธุรกิจในสัดส่วนสูงๆ เช่น มากกว่า 25% ขึ้นไป มักพบว่า ธุรกิจจะประสบปัญหา เมื่อถึงช่วงขั้นตอนการถอนตัว เพราะธุรกิจมีความจำเป็นต้อง ซื้อคืนหุ้นจากผู้ลงทุน หรือกองทุนร่วมลงทุน ในมูลค่า ทางบัญชี (Book Value) หรือตามราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ดังนั้นการวางแผนในช่วงของการถอนตัว จึงถือเป็น สิ่งจำเป็น ที่ควรระบุไว้ ในในแผนธุรกิจสำหรับการร่วมทุน ว่าเมื่อถึงเวลาดังกล่าวธุรกิจ จะดำเนินการอย่างไร เช่น กำหนดการทยอยซื้อคืนในแต่ละช่วงเวลา กำหนดการซื้อคืน ในลักษณะขั้นบันได ราคาที่ซื้อคืน จะกำหนดจากอะไร ขั้นตอนการซื้อคืนและการโอนหุ้น โดยถ้ากำหนดการซื้อคืน ในตลาด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ หรือวางเป้าหมายในการนำเข้าตลาดทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ ยังอาจต้องระบุถึงขั้นว่า จะซื้อคืนในช่วงใด ของตลาด หรือในราคาใดอีก เช่น ซื้อคืนในราคา IPO ซื้อคืนในราคาปิดของตลาดวันแรก เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการถอนตัว ของผู้ลงทุน หรือกองทุนร่วมลงทุนดังกล่าว เป็นขั้นตอนที่สำคัญ และมีความยุ่งยาก แต่ก็เป็นขั้นตอนที่มักถูกละเลย หรือมิได้วางแผนไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้ธุรกิจ มักประสบปัญหา และยากต่อการแก้ไขเมื่อครบกำหนดเวลา ซึ่งจะแตกต่างจาก แผนธุรกิจ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการขอสินเชื่อ หรือการขอกู้ยืมเงิน เนื่องจากเงินที่คืน หรือธุรกิจต้องจ่ายชำระคืน ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน มีมูลค่าไม่มากนักในแต่ละงวด เมื่อเทียบกับเงินที่ได้รับ และเป็น การทยอย ชำระคืนเป็นงวดๆ มีระยะเวลาการชำระคืนที่สม่ำเสมอ หรือมีกำหนดเวลาอย่างชัดเจน แม้ว่าแผนธุรกิจทั้ง 2 แบบนี้ จะมีวัตถุประสงค์เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินเช่นเดียวกันก็ตาม แต่ก็มีความจำเป็นที่ผู้เขียนจะต้องพิจารณา และแสดงรายละเอียด ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ในการนำเสนอด้วย

แผนธุรกิจเพื่อการขอรับเงินสนับสนุนช่วยเหลือ แผนธุรกิจประเภทนี้ที่ถูกจัดทำขึ้นก็อาจมีรูปแบบและลักษณะคล้ายคลึง หรือเกือบจะ เรียกได้ว่า มีลักษณะเหมือนกับแผนธุรกิจเพื่อการขอสินเชื่อ หรือการขอกู้ยืมเงิน หรือแผนธุรกิจเพื่อการร่วมลงทุน แต่สิ่งที่อาจแตกต่างออกไป ก็คือ เรื่องของแหล่ง เงินทุนในการสนับสนุนและวัตถุประสงค์ ที่จะมีลักษณะเฉพาะเจาะจง ลงไปอย่างชัดเจน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว การขอรับเงินสนับสนุนช่วยเหลือ มักเกิดขึ้นจากผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน หรือมีเงินทุนไม่เพียงพอที่จะดำเนินการกู้ยืมจากธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือจากกองทุนร่วมลงทุนโดยปกติได้ เช่น ต้องการเงินทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาและวิจัย ต้องการเงินทุน เพื่อนำไปใช้พัฒนา ต่อยอดจากสินค้า หรือผลิตภัณฑ์เดิม ต้องการเงินทุน เพื่อใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจ ภายหลังจากผลิตสินค้าต้นแบบ (Prototype) แล้วเสร็จ ธุรกิจเป็นการผลิตสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็น นวัตกรรม ซึ่งธนาคาร หรือสถาบันการเงินพิจารณาว่ามีความเสี่ยงสูงและปฏิเสธการสนับสนุน ตนเองไม่มีเงินทุน ในการประกอบธุรกิจ โดยมีเพียงเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ ทำให้ต้องการขอรับเงินสนับสนุนช่วยเหลือ จากหน่วยงาน ที่ให้การสนับสนุนเงินทุน แก่ผู้ประกอบการ โดยเงินสนับสนุนช่วยเหลือที่หน่วยงานให้แก่ผู้ประกอบการนี้ อาจอยู่ในรูปของเงินสด (Cash) หรือเป็นความ ช่วยเหลือ ที่ไม่ใช่เงินสด แต่เทียบเท่ากับเงินสดได้ (In-kind) เช่น สถานที่ เครื่องจักร อุปกรณ์ บุคลากร เป็นต้น ซึ่งความช่วยเหลือที่ไม่ใช่เงินสดนี้ อาจเป็นส่วนความช่วยเหลือของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ หรือมหาวิทยาลัย เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ประกอบการมักจะต้องการในรูปของเงินสดมากกว่า ซึ่งเงินสนับสนุน หรือเงินช่วยเหลือนี้อาจอยู่ใน รูปเงินให้เปล่า (Grant or Grant-in-aid) หรือเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรืออาจเป็นลักษณะของการร่วมลงทุนกับธุรกิจก็เป็นได้ ซึ่งสำหรับเงินให้เปล่าแก่ผู้ประกอบการ มักให้เพื่อ การพัฒนาและวิจัย (Research and Development) ส่วนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เช่น เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย มักให้เพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ ภายหลังจากผู้ประกอบการที่มีการผลิตสินค้าต้นแบบแล้ว เสร็จพร้อมที่จะเริ่มต้น ธุรกิจ แต่ยังไม่มีเงินทุน เนื่องจากได้ลงทุนไปในส่วน สินค้าต้นแบบ โดยประเด็นเรื่องของเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยนี้ ยังมีผู้ประกอบการ ที่ขาด ความเข้าใจอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเข้าใจว่าผู้ให้กู้คือ หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว เงินกู้ที่เป็นเงินช่วยเหลือนั้น เป็นเงินกู้จากทางธนาคารที่หน่วยงานนั้น ได้ทำการติดต่อประสานงานไว้ตามเงื่อนไขใน การให้การ สนับสนุน โดยหน่วยงานสนับสนุนเป็นผู้ชำระในส่วนดอกเบี้ยจ่ายแทนผู้ประกอบการ ส่วนเงินต้นนั้นผู้ประกอบการ ต้องเป็นผู้รับภาระ ชำระแก่ทางธนาคารเอง ทำให้ในเงื่อนไขต่างๆในการให้เงินช่วยเหลือนี้ ในบางกรณีซึ่งมักจะ เป็นส่วนใหญ่ จึงมีลักษณะเช่นเดียวกับ การกู้ยืมเงินจากทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินโดยทั่วไป เพียงแต่จำนวนยอดเงินการชำระ จะน้อยกว่า การกู้เงินโดยปกติ เนื่องจากผู้ประกอบการมิต้องชำระคืนในส่วนดอกเบี้ย รวมถึงเงื่อนไขการชำระซึ่งมักจะเหมือนกับการขอสินเชื่อโดยทั่วไป เช่น อาจต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน การชำระคืนเงินกู้ทุกๆเดือน เป็นต้น มิใช่เป็นกรณีพิเศษเกินกว่าปกติ เช่น ในเงื่อนไขการสนับสนุน เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยมีระยะเวลาการกู้ 3 ปี ผู้ประกอบการจึงเสนอขอชำระคืนเงินกู้ทั้งหมดเมื่อสิ้นปีที่ 3 ซึ่งกรณีดังกล่าว อาจจะไม่สามารถทำได้ เป็นต้น โดยตัวอย่างหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการในลักษณะเงินช่วยเหลือนี้ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) เป็นต้น แต่ในการสนับสนุนแบบดังกล่าวนี้ ผู้ประกอบการจะต้อง อยู่ในเงื่อนไขเฉพาะ หรือเป็นกลุ่มประเภทธุรกิจที่กำหนดไว้ เช่น เป็นธุรกิจที่มีลักษณะ และข้อบ่งชี้ทางนวัตกรรมอย่างชัดเจน เป็น ธุรกิจถูกพัฒนาขึ้นโดย ตัวผู้ประกอบการเอง อันเกี่ยวข้องกับ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และธุรกิจต้องมีประโยชน์ในเชิง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งจากข้อจำกัดดังกล่าว จะเห็นได้ว่า มีธุรกิจจำนวนไม่มากนัก ที่สามารถขอรับการสนับสนุน ดังกล่าว ได้ อีกทั้งโปรแกรมการให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือ จากหน่วยงานเหล่านี้ มักจะมีกำหนดระยะเวลา การเข้าร่วมโครงการ โดยมิใช่จะคงอยู่โดยตลอด เนื่องจากเงินสนับสนุนนี้มักมาจากการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือผูกพันอยู่กับ งบประมาณประจำปีจาก ภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือนี้ จำเป็นต้องศึกษาและ ทำความเข้าใจถึง เงื่อนไข หลักเกณฑ์ และรายละเอียดต่างๆให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอโครงการ

ในส่วนประเด็นของแผนธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการนำเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนช่วยเหลือนี้ ส่วนใหญ่แล้ว หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน มักจะมีโครงร่าง (Outlines) หรือแม่แบบของแผนธุรกิจ (Template) ที่กำหนดไว้ ให้ผู้ประกอบการ แสดงรายละเอียดต่างๆ ตามหัวข้อ ที่หน่วยงานกำหนด ซึ่งอย่างไรก็ตามผู้ประกอบการก็สามารถใช้รูปแบบโครงร่างของแผนธุรกิจโดยทั่วไปได้ แต่รายละเอียดที่ต้อง แสดง เพิ่มเติม มักจะเป็นเรื่องของความชัดเจนของตัวสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ เช่น ข้อบ่งชี้ของความเป็นนวัตกรรม การเป็นสินค้าใหม่ การพัฒนา จากสินทรัพย์ทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งถือเป็นข้อกำหนดพื้นฐานของการสนับสนุน นอกจากนี้ในแผนธุรกิจ ยังควรแสดงถึง ความเป็นไปได้ ในการประกอบธุรกิจ หรือความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากแม้ว่าส่วนใหญ่แล้ว เงินสนับสนุนเหล่านี้ หน่วยงานจะมิได้มุ่งหวัง การหาผลกำไร จากตัวธุรกิจในแง่ของการลงทุน แต่วัตถุประสงค์ในการสนับสนุนก็คือ ต้องการให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ไปประกอบเป็นธุรกิจจริงได้ ต้องมีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ และสามารถเติบโตได้ในอนาคต ดังนั้นการแสดงรายละเอียด เกี่ยวกับ การวางแผนในการดำเนินธุรกิจ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแผนการบริหารจัดการบุคลากร แผนการตลาด แผนการผลิต หรือบริการ และแผนการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการตลาด ที่ต้องมีความชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่ เงินสนับสนุนช่วยเหลือนี้ มักให้กับธุรกิจที่เป็นนวัตกรรม หรือเป็นธุรกิจที่พัฒนาจาก ทรัพย์สินทางปัญญา หรือธุรกิจที่ต้องมีแนวคิดใหม่ ซึ่งความชัดเจนว่า ในเชิงของการตลาดสามารถทำได้จริง หรือไม่ ถือเป็นประเด็น สำคัญสำหรับสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น เหตุผลที่ลูกค้า หรือผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า หรือ ผลิตภัณฑ์ การตอบสนองต่อสภาวะตลาด หรือความต้องการของผู้บริโภค การแข่งขันกับธุรกิจที่มีอยู่เดิม เป็นต้น และรายละเอียดอีกส่วนหนึ่ง ที่สมควรระบุไว้คือเรื่องของ การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) เพื่อระบุถึง ความเสี่ยงและกระบวนการบริหาร จัดการ ความเสี่ยง ต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ทั้งจากภายในตัวของธุรกิจเอง และผลกระทบจาก ปัจจัยภายนอก ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดสำคัญ สำหรับธุรกิจประเภทนี้เช่นเดียวกัน รวมถึงการผ่อนชำระคืนเงินกู้แก่หน่วยงาน หรือธนาคาร ซึ่งคล้ายคลึงกับ แผนธุรกิจเพื่อการขกู้เงิน และในส่วนประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ในการให้การสนับสนุน โดยเงินทุน สนับสนุนช่วยเหลือนี้ มักจะต้องเป็นธุรกิจ ที่มีประโยชน์ใน เชิงเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ ดังนั้นการระบุเกี่ยวกับ ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และสังคม ที่ธุรกิจสามารถสร้างขึ้นได้ ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาจากหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เช่น การทดแทนการนำเข้าสินค้า จากต่างประเทศ การสนับสนุนการสร้างงานและอุตสาหกรรม การสนับสนุน การจ้างงาน เป็นต้น โดยการแสดงรายละเอียด ผลประโยชน์ในเชิง เศรษฐกิจและสังคมนี้ อาจแสดงในรูปของตัวเงิน หรือไม่อยู่ในรูปของตัวเงินก็ได้แล้วแต่กรณี ขึ้นอยู่กับว่า ธุรกิจดังกล่าวสามารถวัด ผลประโยชน์ ออกมาเป็นตัวเลข หรือหน่วยนับได้สะดวกและชัดเจน หรือไม่ ซึ่งจากที่กล่าวมาทั้งหมดถือว่า เป็นประเด็นสำคัญ ที่ผู้จัดทำ แผนธุรกิจ เพื่อการขอรับเงินสนับสนุนช่วยเหลือ ต้องให้ความสำคัญในการจัดทำในการนำเสนอทุกครั้ง

แผนธุรกิจเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ แผนธุรกิจประเภทนี้ที่จะถูกจัดทำขึ้นจากผู้ประกอบการ สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ โดยอาจจะ มิได้ใช้ เพื่อการนำเสนอต่อธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานอื่นๆเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน เหมือนแผนธุรกิจ เพื่อขอรับ การสนับสนุน ทางการเงิน ตามที่ได้เคยกล่าวมาก่อนหน้า หรืออาจถือว่าเป็นแผนธุรกิจ ที่ใช้เฉพาะเป็นการภายใน หรือไม่มีการเสนอ ต่อบุคคล ภายนอก โดยแผนธุรกิจประเภทนี้จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) ที่จะศึกษาว่าในการลงทุนโครงการ หรือการลงทุนของธุรกิจนั้น มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนที่กำหนดขึ้น หรือไม่ หรือสามารถตอบโจทย์ หรือวัตถุประสงค์ใน การทำโครงการ หรือไม่อย่างไร ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างแผนธุรกิจ (Business Plan) แผนการตลาด (Marketing Plan) แผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) ว่ามีความใกล้เคียง หรือแตกต่างกัน และใช้ในวัตถุประสงค์ใด ในโอกาสต่อๆไป เนื่องจากมีผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ ยังไม่มีความเข้าใจ หรือมีความคลุมเครือใน แผนประเภทต่างๆ ทำให้ในบางครั้งเข้าใจว่า สามารถใช้ทดแทนกันได้ซึ่งก็อาจ ไม่ถูกต้องเสมอไปนัก

โดยทั่วไปแล้วในการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ ผู้ประกอบการมักใช้เพื่อประมาณการในการลงทุนเริ่มต้น อันประกอบด้วย การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ที่ดิน อาคาร พื้นที่ เครื่องจักร อุปกรณ์ การตกแต่งปรับปรุงต่างๆ เป็นต้น ส่วนของค่าใช้จ่าย ที่จะเกิดขึ้น หรือ ได้เกิดขึ้นก่อนหน้า เช่น ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค เงินเดือนพนักงาน หรือบุคลากร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จัดตั้งธุรกิจ เป็นต้น ส่วนของ เงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการผลิต ค่าใช้จ่ายสำหรับ สินค้าสำเร็จรูป เป็นต้น นอกจากใน เรื่องของประมาณการดังกล่าว ก็จะเป็นในเรื่องของการประมาณการ เกี่ยวกับจำนวนลูกค้า ยอดขายสินค้า ต้นทุนต่างๆ เพื่อคำนวณหาส่วนต่าง ระหว่างรายได้กับต้นทุน หรือค่าใช้จ่าย หรือคำนวณเพื่อหาผลกำไร หรือขาดทุนของธุรกิจ ระยะเวลาคืนทุนของธุรกิจ ซึ่งเท่าที่ปรากฏ ส่วนใหญ่แล้ว การจัดทำแผนธุรกิจประเภทนี้ของผู้ประกอบการ มักจะมีอยู่สองลักษณะ คือเน้นหนักไปทางด้านการเงิน หรือผลลัพธ์ทางการเงิน เป็นส่วนใหญ่ หรือในทางกลับกันผู้ประกอบการ จะมีการเน้นหนักไปที่ข้อมูลด้านสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ โดยละเอียด แต่กลับไม่มีราย ละเอียดเกี่ยวกับ ประมาณการต่างๆ ทางการเงิน หรือมีรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว แผนธุรกิจ เพื่อการเริ่มต้นถือ เป็นแผนธุรกิจ ที่มีความสำคัญเป็น อย่างยิ่ง เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการของธุรกิจ ดังนั้นการวางแผน จึงต้องให้ความ สำคัญในทุกๆ ด้านโดยละเอียด เพราะแผนธุรกิจ หรือการวางแผนของธุรกิจดังกล่าว จะเปรียบเสมือนแผนที่ (Map) ในการดำเนิน ธุรกิจของผู้ประกอบการ ถ้าธุรกิจเริ่มต้นดำเนินการในทิศทางที่ถูกต้อง หรือไม่หลงทางตั้งแต่แรก ธุรกิจก็จะสามารถ ดำเนินการได้อย่างตลอดรอดฝั่ง และมีโอกาสที่จะ ประสบความสำเร็จถ้าได้มีการวางแผนมาเป็นอย่างดี แต่ที่ปรากฏคือ ธุรกิจมักจะไม่มี การวางแผน หรือจัดทำ แผนธุรกิจ เพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ อย่างถูกต้องและรัดกุมเพียงพอ ทำให้ธุรกิจเมื่อเริ่มต้น หรือดำเนินการ ไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ธุรกิจก็มักจะประสบปัญหาจน ต้องมีการจัดทำ แผนธุรกิจ เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน จากธนาคารและ สถาบันการเงิน และก็จะพบว่าปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นมักมีสาเหตุ หรือมีที่มาจากช่วงของการเริ่มต้นของธุรกิจนั่นเอง

ประเด็นสำคัญสำหรับแผนธุรกิจเพื่อการเริ่มต้นนั้น ควรเน้นในเรื่องของการวางแผนและการวิเคราะห์ด้านการตลาด โดยเฉพาะเรื่องของ ลูกค้า เป้าหมาย การแข่งขันกับธุรกิจอื่น ที่มีอยู่ในตลาด การประมาณการเกี่ยวกับจำนวนลูกค้า ยอดขาย ที่ต้องสะท้อนภาพของ ความเป็นจริง เช่น อัตราการเพิ่มขึ้นของยอดขาย ซึ่งโดยปกติแล้วสำหรับธุรกิจใหม่ย่อมไม่สามารถสร้างยอดขายในระดับสูงในช่วงแรก เพราะลูกค้ายังไม่รู้จัก ธุรกิจ ดังนั้นการประมาณการรายได้ย่อมไม่อยู่ในอัตราสูง หรือสามารถใช้ค่าเฉลี่ยโดยปกติได้ นอกจากนี้การประมาณการต่างๆ ในการลงทุน ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ ต้องแสดงแหล่งที่มาและใช้ไปของเงินทุน (Source and Use of Fund) อย่างชัดเจนว่าแหล่งที่มานั้น มาจาก แหล่งใดในจำนวนเท่าใด เช่นจากผู้ถือหุ้นทั้งหมด หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุน จากแหล่งเงินกู้ร่วมด้วย การประมาณการ ควรจัดทำเป็น รายเดือน (Monthly Forecast) โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นกระแสเงินสด (Cash Flow) เพื่อพิจารณาว่าในแต่ละเดือนตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจนั้น ธุรกิจมีกระแสรายรับ-รายจ่ายที่เป็นเงินสดอย่างไร โดยถ้ากระแสเงินสดติดลบ หรือไม่เพียงพอ จะได้มีการกำหนด หรือวางแผนใน การหา แหล่งเงินกู้ระยะสั้น เช่น วงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D or Overdraft) หรือตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น (P/N or Promissory Note) เป็นต้น เพราะเงินสดถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในความอยู่รอดของธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจใหม่ที่มักพบว่ากระแสเงินสด มักจะไม่เพียงพอ และมักขาดอยู่ เสมอในช่วงเริ่มต้น หรือประมาณ 3-6 เดือนแรกในการดำเนินการ อันเนื่องจากยอดขายยังมีน้อย การใช้เงินสดไป เพื่อการลงทุน ในสินทรัพย์ต่างๆ เงินสดที่ใช้ซื้อวัตถุดิบ หรือสินค้าเพื่อผลิต เงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ หรือระยะเวลาเครดิตการค้า รวมถึงค่าใช้จ่ายคงที่ ของกิจการ เช่น ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น การประมาณการเกี่ยวกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ควรประมาณการ ให้ใกล้เคียงกับ ความเป็นจริง หรืออาจให้สูงกว่าความเป็นจริงตามมาตรฐานของธุรกิจปกติโดยทั่วไป เนื่องจากข้อเท็จจริงสำหรับธุรกิจใหม่ก็คือ ยังไม่เป็นที่รู้จักของลูกค้า หรือกับธุรกิจด้วยกันเอง เช่น Suppliers ทำให้เมื่อต้องซื้อวัตถุดิบ หรือสินค้า อาจจำเป็นต้องซื้อด้วยเงินสด หรือได้เครดิต เพียงระยะสั้นๆ ไม่เหมือนกับธุรกิจที่ดำเนินการมาก่อนเนื่องจากยังไม่มีความเชื่อถือระหว่างกัน ในขณะที่สำหรับลูกค้า ก็จะขอเครดิตการค้าจากธุรกิจยาวกว่าธุรกิจอื่น เนื่องจากธุรกิจเป็นธุรกิจใหม่ยังไม่มีอำนาจต่อรอง หรือถ้าไม่ยอมรับเงื่อนไขเครดิต การค้าดังกล่าว ก็จะไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจอื่นที่มีอยู่ได้ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับ กระแสเงินสดของธุรกิจ ตามที่ได้กล่าวมา ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนและจัดทำแผนธุรกิจอย่างรอบคุมรัดกุมเพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันในส่วนอื่นๆ ของแผนธุรกิจ เช่น แผนบริหาร จัดการ แผนการผลิต หรือบริการก็ควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเกี่ยวกับ การประเมินความเสี่ยง ต่างๆของธุรกิจ (Risk Assessment) ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจนดำเนินการแล้ว หรือทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงการแก้ไขปัญหา จากความเสี่ยงถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น หรือมีแผนฉุกเฉิน (Contingency Plan) เพื่อรองรับ

แผนธุรกิจเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้น หรือแผนที่สำหรับการดำเนินการของธุรกิจ เพราะถ้าได้มีการวางแผน และจัดทำได้อย่าง ถูกต้อง ก็จะใช้เป็นจุดเริ่มในการวัดและประเมินผลในการดำเนินการ และถือเป็นการจัดทำบันทึกของธุรกิจ (Business Diary) สามารถใช้ใน การปรับปรุง เพื่อเป็นฐานในการจัดทำแผนธุรกิจในปีถัดไป รวมถึงปรับปรุงเพื่อเป็นแผนธุรกิจ เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคาร หรือสถาบันการเงินถ้ามีความจำเป็น ผู้ประกอบการจึงควรตระหนักและให้ความสำคัญ ในการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อการเริ่มต้น แม้ว่าจะไม่ต้อง ขอรับการสนับสนุนทางการเงิน หรือจัดทำแผนธุรกิจเพื่อขอรับการสนับสนุน ทางการเงินก็ตาม

แผนธุรกิจเพื่อการบริหารจัดการธุรกิจ แผนธุรกิจประเภทนี้ที่จะถูกจัดทำขึ้นจากผู้ประกอบการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ การบริหารจัดการ ธุรกิจโดยตรง ซึ่งอาจเนื่องมาจากวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการบริหารจัดการ เช่น การเปลี่ยนแปลง โครงสร้างองค์กร ของธุรกิจ การเพิ่ม หรือปรับปรุงกระบวนการทางการผลิต หรือการให้บริการ การต้องการเพิ่ม ความสามารถทางการตลาด เพื่อการแข่งขัน การตั้งเป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางให้กับพนักงานในองค์กร เป็นต้น หรือวัตถุประสงค์ในการขยายธุรกิจ เช่น การเปิดสาขาใหม่ การลงทุนสร้างโรงงานใหม่ การเพิ่มกำลังการผลิตด้วย การซื้อเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีใหม่ การออกสินค้าใหม่ การลงทุนในธุรกิจใหม่ เพิ่มเติม เป็นต้น หรือวัตถุประสงค์เพื่อ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ เช่น ยอดขายสินค้าที่ลดลง การขาดเงินทุนหมุนเวียน ต้นทุนและ ค่าใช้จ่ายของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มเติมใน รายละเอียด หรือการต่อยอดจาก แผนธุรกิจเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ ที่ได้เคยทำมา ก่อนหน้า เนื่องจากไม่มีการระบุ หรือวางแผนไว้ก่อน ล่วงหน้า หรือมีผลลัพธ์ในการดำเนินการที่แตกต่างจากที่ประมาณการไว้ก็เป็นได้ ซึ่งในบางกรณีเป็นเรื่องของ การบริหารงานภายในตัว ธุรกิจเอง หรือถ้าต้องมีการใช้แหล่งเงินทุนจากหน่วยงานภายนอก ก็อาจถูกใช้ ปรับปรุงไปเป็น แผนธุรกิจเพื่อขอรับการสนับสนุน ทางการเงินต่อไป โดยแผนธุรกิจเพื่อการบริหารจัดการธุรกิจนี้ในบางส่วนจะมีข้อมูล หรือรายละเอียดบางส่วนที่ได้มาจาก การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) ที่ธุรกิจจัดทำขึ้น เช่น ความคุ้มค่าต่อ การลงทุนถ้ามีการเพิ่มกำลังการผลิต ผลตอบแทนจาก การลงทุนที่ยอมรับได้ตามงบประมาณที่มีอยู่ ธุรกิจจสามารถมีผลกำไร หลังจากประสบ ภาวะขาดทุน ถ้าได้รับวงเงินสินเชื่อ ที่ต้องการ เป็นต้น แต่ในที่นี้จะมุ่งเน้นถึงเรื่องของแผนธุรกิจ หรือการวางแผนธุรกิจ ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการบริหารจัดการโดยตรง โดยจะไม่กล่าวย้อนในประเด็น ที่ใช้เพื่อการขอรับการสนับสนุนทางการเงิน เนื่องจากได้เคยกล่าวถึง มาก่อน หน้านี้แล้ว และโครงสร้างส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะเหมือน หรือคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ต่างกันที่วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นการ ภายใน และอาจมิได้มีการแสดงรายละเอียดบางส่วนให้บุคคลภายนอก เช่น ธนาคาร หรือสถาบันการเงินรับทราบ

ประเด็นสำคัญในเรื่องของแผนธุรกิจเพื่อการบริหารจัดการธุรกิจนั้น คือเรื่องของความชัดเจนและการวางแผนในการกำหนดกิจกรรม (Activities) แผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) แผนดำเนินงาน (Implementation Plan) หรือแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของธุรกิจเป็นสำคัญ ซึ่งอาจจะมีการระบุถึง ปัญหา หรือเหตุผลในการดำเนินกิจกรรม เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการดำเนินการ ลักษณะ กิจกรรม ผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด ค่าใช้จ่าย หรืองบประมาณ ตัวชี้วัด หรือผลสัมฤทธิ์ใน การดำเนินการ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องของการบริหารจัดการภายในของธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจจะต้องมีส่วน ที่เกี่ยวข้องกับ บุคคลภายนอก กับธุรกิจด้วยเช่นกัน เช่น Suppliers คู่ค้า เครือข่าย เป็นต้น แต่ในเรื่องของแผนงาน ในการบริหาร จัดการนี้ อาจมิใช่ทุกๆส่วนในการดำเนินการ หรือการบริหารจัดการของธุรกิจ จึงอาจมีรายละเอียดที่เน้น ให้เห็นเฉพาะ ด้านที่ต้องการ ปรับปรุง หรือบริหารจัดการโดยเฉพาะ เช่น แผนการตลาด (Marketing Plan) แผนการผลิต หรือการให้บริการ (Production Plan or Service Plan) แผนการบริหารจัดการ (Operation Plan) หรือแผนการเงิน (Financial Plan) ด้านใดด้านหนึ่ง เป็นต้น หรือหลายๆด้านรวมกัน

เนื่องจากแผนธุรกิจเพื่อการบริหารจัดการธุรกิจ ถือเป็นแผนดำเนินการภายในของธุรกิจ ดังนั้นจึงอาจไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน หรือต้องเป็น ทางการ ตามมาตรฐานของแผนธุรกิจทั่วไปนัก เช่น อาจไม่ต้องมีการแสดงในส่วนของบทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) หรือประวัติความเป็นมาของธุรกิจ (Business Review) เป็นต้น โดยสามารถนำโครงสร้างทั่วไปของแผนธุรกิจ เช่น แผนธุรกิจ เพื่อขอรับ การสนับสนุนทางการเงิน หรือแผนธุรกิจเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจ มาเพิ่มเติมรายละเอียดเฉพาะส่วนที่ต้องการได้ แต่ต้องตระหนัก อยู่เสมอว่าถ้ามีการปรับปรุง หรือแก้ไขแผนงานส่วนใดส่วนหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบไปยังแผนงานอื่นๆของธุรกิจ หรือส่งผลกระทบ ต่อธุรกิจ ในภาพรวม เสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น การเพิ่มเครื่องจักร หรือประมาณการในการผลิต ย่อมส่งผลกระทบต่อ เงินทุนหมุนเวียน หรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น ต้องจ่ายค่าวัตถุดิบมากขึ้น ต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องมีการว่าจ้าง พนักงานในการผลิต หรือพนักงานขาย ต้นทุนการตลาด การขนส่ง ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน หรือ การได้รับ วงเงินสินเชื่อ เพื่อแก้ไขปัญหา เงินทุนหมุนเวียน ในเรื่องการ Stock วัตถุดิบนั้น จะช่วยให้ธุรกิจมีต้นทุนวัตถุดิบ ที่ต่ำลง เนื่องจากไม่ต้องซื้อวัตถุดิบในช่วงที่ราคาสูง หรือการซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตในปริมาณที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้เกิด การประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ซึ่งจะทำให้ธุรกิจใช้ เงินทุนหมุนเวียน ในสัดส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าจาก รายละเอียดต่างๆของ การดำเนินการ ที่ปรากฏนั้นมี ความสัมพันธ์กันทั้งหมด

นอกจากนี้ถ้าแผนธุรกิจเพื่อการบริหารจัดการธุรกิจนี้ ถูกใช้เพื่อการกำหนดเป้าหมาย หรือการควบคุมภายใน เช่น ยอดขาย การลดต้นทุน การสร้างรายได้ต่อหัวของพนักงาน อาจมีการแสดงเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หรือเปิดเผยให้กับผู้เกี่ยวข้องรับทราบ โดยอาจมิได้มีการ เปิดเผย ทุกๆส่วนของแผนงาน เพื่อ เป็นการป้องกันความลับ หรือกลยุทธ์ในการดำเนินการของธุรกิจรั่วไหล ออกไปภายนอก รวมถึงเนื้อหาของแผนธุรกิจ เพื่อการบริหารจัดการธุรกิจนี้ จะมีข้อมูล หรือรายละเอียดจำนวนมาก ซึ่งจะเป็น การไม่สะดวก ที่จะแสดงรายละเอียดทั้งหมด รวมถึงรายละเอียด นั้น ก็อาจไม่มีความจำเป็นที่จะใช้เพื่อเป็น แผนธุรกิจเพื่อ การขอรับ การสนับสนุนทางการเงิน เนื่องจากมีข้อมูล หรือรายละเอียด ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่มีความจำเป็นในการพิจารณาของทางธนาคาร หรือสถาบันการเงิน แต่ถ้าแผนดังกล่าวใช้นำเสนอในการขอรับการสนับสนุนทางเงิน ก็ควรจะต้องมีการแสดงงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือการใช้เงินเพื่อการดำเนินในแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจน รวมถึงผลลัพธ์จาก การใช้วงเงิน ดังกล่าว ในการตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ หรือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของธุรกิจ จากกระบวนการในการบริหารจัดการ ของธุรกิจที่ เปลี่ยนแปลงไป

แผนธุรกิจเพื่อการบริหารจัดการธุรกิจนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ หรืออาจว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งทุกๆธุรกิจควรได้มีการจัดทำ แผนธุรกิจเพื่อการบริหารจัดการ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ หรือแม้แต่จะได้ดำเนินธุรกิจมาแล้วก็ตาม โดยควรมีการจัดทำ อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ หรือการตัดสินใจสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินการของธุรกิจ เนื่องจากยิ่งธุรกิจ สามารถวางแผนธุรกิจได้ละเอียด รอบคอบ และรัดกุมมากเพียงใด ย่อมส่งผลดีต่อการดำเนินงานของธุรกิจ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพยากรณ์ วิเคราะห์ ทบทวน ติดตาม และประเมินผลใน การดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่เพียง เพิ่มเติม หรือตัดทอนรายละเอียดบางส่วนของแผน ก็สามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใน การนำเสนอต่อบุคคลภายนอก เช่น ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานอื่นๆ ได้โดยสะดวก

แผนธุรกิจที่ใช้ในการศึกษา แผนธุรกิจประเภทที่จะกล่าวถึงนี้จะเป็นแผนธุรกิจที่ถูกจัดทำขึ้นจากผู้ประกอบการ ที่ผ่านการคัดเลือก หรือเข้า ศึกษาในโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการ เช่น โครงการผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur Creation – NEC) หรือโครงการ อบรมการให้ความรู้แก่ SMEs อื่นๆที่จัดโดยภาครัฐ หรือเอกชนก็ตาม ส่วนแผนธุรกิจที่ใช้ในการเรียนการสอน หรือเพื่อ การศึกษาจริงๆ เช่น หลักสูตร หรือวิชาด้านแผนธุรกิจสำหรับ นักศึกษาระดับอาชีวะ นักศึกษาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท จะไม่ขอกล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้เนื่องจาก แต่ละมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษา ก็จะมีโครงสร้าง หรือวัตถุประสงค์ในการจัดทำหลักสูตร ที่แตกต่างกัน โดยจะมุ่งเน้นใน การกล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวกับแผนธุรกิจ ที่จัดทำโดยผู้ประกอบการในการศึกษา หรือการอบรมเป็นสำคัญ การจัดทำ หรือการเขียนแผนธุรกิจนี้ จะเป็นหัวข้อที่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จะจัดทำขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นการอบรม เกือบทุกหลักสูตร โดยเฉพาะหลักสูตรระยะกลาง หรือระยะยาว ส่วนในหลักสูตรระยะสั้นมักจะไม่มีการดำเนินการ เนื่องจากระยะ เวลาที่สั้นเกินไป โดยผู้ประกอบการจะเลือกธุรกิจ ที่ตนเอง ดำเนินการอยู่ ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่ธุรกิจอยู่แล้ว หรือเลือกธุรกิจที่ตนเอง สนใจถ้าเป็นผู้ประกอบการใหม่ หรือเป็นผู้ที่จะเริ่มต้นธุรกิจ แผนธุรกิจที่ใช้ในการศึกษานี้ ส่วนใหญ่แล้ว จะมีโครงสร้างเดียวกับ แผนธุรกิจเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งทางโครงการ มักจะให้ รายละเอียด หรือตัวอย่างโครงร่างของ แผนธุรกิจให้แก่ ผู้ประกอบการในการจัดทำ และภายหลังการจัดทำแผนธุรกิจก็จะให้ผู้ประกอบการ หรือผู้เข้ารับการอบรม นำเสนอแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น ต่อคณะกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ตัวแทนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตัวแทนจากธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงาน SMEs เป็นต้น เพื่อให้คำแนะนำ หรือข้อคิดเห็นต่อผู้ประกอบการ เกี่ยวกับแผนธุรกิจดังกล่าว ในการจัดทำแผนธุรกิจนี้โครงการ จะมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการ มีการวางแผนธุรกิจได้อย่างมี ประสิทธิภาพ เป็นขั้นตอนตามลำดับ โดยอาศัยความรู้จากการอบรมที่ได้รับการอบรมในโครงการและโครงร่างของแผนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้าน การบริหารจัดการ การผลิต หรือการบริการ การตลาด และการเงิน รวมทั้งมีความคุ้นเคยในการจัดทำแผนธุรกิจตามรูปแบบที่ถูกต้อง ในกรณีที่ใน อนาคตผู้ประกอบการจะต้องเขียนแผนธุรกิจเพื่อนำเสนอขอรับการสนับสนุนจากธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เป็นต้น

ประเด็นสำคัญในการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อการศึกษานี้ จะอยู่ที่การให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนด หรือเขียนรายละเอียดต่างๆของ แผนธุรกิจ ตามโครงสร้างอย่างถูกต้อง ตั้งแต่การจัดทำบทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) การวิเคราะห์สภาวะตลาด หรืออุตสาหกรรม การแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการวิเคราะห์สภาพการแข่งขันและคู่แข่งขัน หรือการวิเคราะห์ SWOT Analysis การแสดงรายละเอียด ของผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ การแสดงรายละเอียดข้อมูลธุรกิจ การแสดงวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายของธุรกิจ การจัดทำแผนบริหารจัดการ ซึ่งเน้นด้านแผนบุคลากร การจัดทำแผนการตลาด การจัดทำแผนการผลิต หรือแผนบริการ และการจัดทำแผนการเงิน รวมถึงอาจมีการแสดง รายละเอียดเกี่ยวกับแผนฉุกเฉินด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็น รายละเอียดพื้นฐานของโครงสรางแผนธุรกิจโดยทั่วไป แต่อาจจะไม่มุ่งเน้นที่เรื่องของ ความคิดสร้างสรรค์ หรือการสร้างแนวคิด ทางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งอาจจะแตกต่างจาก แผนธุรกิจที่ใช้เพื่อการแข่งขัน ที่ประเด็นความคิด สร้างสรรค์ ถือเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนหน้า โดยแผนธุรกิจที่ใช้ในการศึกษานี้จะเน้นที่ความถูกต้อง ความเข้าใจ ในลักษณะธุรกิจ ที่เขียนขึ้น ความเป็นเหตุเป็นผลในการกำหนดกลยุทธ์ หรือวิธีการดำเนินธุรกิจ ความสามารถในการเขียนแผนธุรกิจ ตาม มาตรฐาน ที่ถูกต้องเป็นสำคัญ โดยอาจเป็นเพียงธุรกิจเล็กๆ หลักหมื่นหลักแสน หรือเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการ ได้ดำเนินการอยู่ ก่อนหน้าแล้ว ก็ได้ ซึ่งภายหลังจากที่ผู้ประกอบการจัดทำ หรือเขียนแผนธุรกิจแล้วเสร็จ ก็จะมีการนำเสนอ (Presentation) ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น การนำเสนอหน้าชั้นต่อหน้าคณะกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิตามที่ได้กล่าวมาแล้ว และส่วนใหญ่จะใช้การนำเสนอด้วย PowerPoint Slide ประมาณ 10-15 นาที โดยภายหลังการนำเสนอคณะกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิก็จะซักถาม และให้ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อ ผู้ประกอบการ อีกประมาณ 10-15 นาที โดยวัตถุประสงค์ของการที่ให้ผู้ประกอบการ ต้องมีการนำเสนอ ต่อหน้าคณะกรรมการ หรือผู้ทรง คุณวุฒินี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในการนำเสนอ หรือการขายความคิด ของการวางแผนธุรกิจต่อบุคคลภายนอก ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินก็เป็นได้ เนื่องจากในข้อเท็จจริงแล้ว ในการพิจารณาในการอนุมัติในการสนับสนุนทางการเงิน นอกจากแผนธุรกิจ ที่จัดทำขึ้นแล้ว ตัวผู้ประกอบการเอง ก็มีความจำเป็นที่ต้องมีการนำเสนอแผนธุรกิจเพิ่มเติมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ที่เป็นทางการ หรือไม่ก็ตาม เช่น การสัมภาษณ์ การนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน การนำเสนอต่อหน้า คณะกรรมการของ กองทุนร่วมลงทุน เป็นต้น ซึ่งถ้าผู้ประกอบการได้มีความคุ้นเคยในการนำเสนอแผนธุรกิจ จากช่วงการอบรมก็จะสามารถ นำเสนอ ต่อหน้าบุคคลอื่นได้เป็น อย่างดีในอนาคต โดยคณะกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิจะซักถามในประเด็นเ กี่ยวกับธุรกิจที่ผู้ประกอบการ ยังนำเสนอได้ไม่ชัดเจน หรือมีข้อขัดแย้งกับแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น หรืออาจเป็นเรื่องของความไม่เป็นเหตุเป็นผล ที่ถูกต้องในการวางแผน ของธุรกิจ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในแผนธุรกิจที่ได้นำเสนอมา ซึ่งผู้ประกอบการพึงระลึกว่า คณะกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้มิได้มีส่วนได้เสียในตัวธุรกิจของผู้ประกอบการเลย ซึ่งจะแตกต่างจากคณะกรรมการของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ที่ผู้ประกอบการอาจต้องนำเสนอในอนาคต เพราะคณะกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิมักจะมีข้อซักถาม หรือมีข้อเสนอแนะ ถ้าพิจารณาแล้วว่าแผนธุรกิจที่นำเสนอยังไม่ครบถ้วน หรือมีข้อบกพร่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับปรุงแผนธุรกิจ ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องการนำเสนอ ดังกล่าวนี้เป็นที่กังวลแก่ผู้ประกอบการที่กลัวว่าจะถูกซักถาม จึงเลี่ยงที่จะไม่นำเสนอเสียเลย แม้ว่าจะได้จัดทำแผนธุรกิจเสร็จ สมบูรณ์เรียบร้อย แล้ว ก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะในความเป็นจริง ถ้าผู้ประกอบการ นำเสนอแผนธุรกิจที่มีข้อบกพร่อง หรือไม่มีความชัดเจน สมบูรณ์เพียงพอต่อธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่ หรือคณะกรรมการของธนาคาร หรือสถาบันการเงินนั้น มักจะไม่มีข้อซักถาม หรือมีคำถามเพียงเล็กน้อยต่อผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เสียเวลาของตนเองในการซักถาม หรืออาจคิดว่า ผู้ประกอบการไม่มี ความเข้าใจในการวางแผนธุรกิจ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการบางรายเมื่อนำเสนอแผนธุรกิจต่อธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ก็มักจะเข้าใจว่าธนาคาร หรือสถาบันการเงินสนใจในธุรกิจของตน เพราะเมื่อในขณะนำเสนอก็ไม่มีข้อซักถาม หรือปัญหาใดๆ แต่กลับพบว่า ธนาคาร หรือสถาบันการเงินตอบปฏิเสธตนเองมาในภายหลัง ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ไม่ทราบถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น หรือคิดว่าการไม่มีข้อซักถาม ใดๆ นั้นหมายถึงธนาคาร หรือสถาบันการเงินสนใจในตัวธุรกิจ หรือไม่มีปัญหากับธุรกิจ โดยผู้เขียนจะได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป ดังนั้นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอบรมควรให้ความสนใจ ในการเขียนแผนธุรกิจและการนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ หรือผู้ทรง คุณวุฒิ เพราะถือเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการในนำเสนอและกระบวนการวางแผนธุรกิจของตัวผู้ประกอบการ และแม้ว่าในกระบวนการ ดังกล่าวจะมีการประเมินผลโดยการให้คะแนนแก่ผู้ประกอบการในการจัดทำ หรือนำเสนอแผนธุรกิจก็ตาม ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดของ ผู้ประกอบการ ก็มักจะผ่านเกณฑ์ เนื่องจากการให้คะแนนของคณะกรรมการจะเน้นที่ความครบถ้วน และความถูกต้อง ของการจัดทำแผนธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการมีเป็นสำคัญ จึงไม่ใช่เรื่องที่นำกังวลแต่อย่างใด สำหรับผู้ประกอบการที่จะจัดทำแผนและนำเสนอในการอบรม หรือการศึกษา ดังกล่าว

แผนธุรกิจที่ใช้ในการประกวดแข่งขัน แผนธุรกิจประเภทนี้จะเป็นแผนธุรกิจที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อการประกวด หรือการแข่งขันจากองค์กร หรือสถาบัน โดยส่วนใหญ่มักเป็นการจัดประกวดแข่งขันสำหรับนิสิตนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือแม้แต่ ระดับอาชีวศึกษาก็ตาม โดยการประกวดแข่งขันในการจัดทำแผนธุรกิจนี้ อาจให้มีการจัดทำแผนธุรกิจเป็นภาษาไทย หรือจัดทำ ภาษาอังกฤษ ขึ้นอยู่กับโครงการ หรือหน่วยงานผู้จัดประกวด เช่น โครงการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ ที่จัดโดยศศินทร์ร่วมกับ MootBiz โครงการประกวด Young Entrepreneur Award ของธนาคาร HSBC เป็นต้น นอกเหนือจากการประกวดแข่งขันแผนธุรกิจ (Business Plan Competition) อาจเป็นการประกวดแข่งขันเฉพาะแผนงานบางส่วนของแผนธุรกิจ เช่น การประกวดแผนการตลาด (Marketing Plan Competition) ของโครงการ J-Mat Award ซึ่งจัดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เป็นต้น ในการประกวด แข่งขันแผนธุรกิจนี้ โดยทั่วไปผู้จัดมักจะเปิดโอกาสให้กับผู้แข่งขันในการเลือกธุรกิจตามที่ต้องการ ซึ่งมักจะไม่มีข้อกำหนด หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับตัวธุรกิจนัก หรือเรียกได้ว่า "ไม่มีโจทย์ หรือให้ผู้แข่งขันเป็นผู้ตั้งโจทย์" โดยผู้แข่งขันสามารถ เลือกธุรกิจ ในการแข่งขันได้ ตั้งแต่ ธุรกิจการผลิต ธุรกิจบริการ ธุรกิจการค้า หรือธุรกิจด้านเทคโนโลยี ตามแต่ผู้แข่งขันจะเลือก หรือมีความสนใจ ซึ่งอาจแตกต่างจาก การประกวด แผนการตลาดที่มักจะมีข้อกำหนดที่ชัดเจน หรือมีการกำหนดหัวข้อ หรือรายละเอียดที่ การประกวด ต้องการมาก่อนหน้า หรือเป็นการประกวด แบบ "มีโจทย์ หรือโครงการเป็นผู้ตั้งโจทย์ให้" แต่ในการประกวดแข่งขันไม่ว่ารูปแบใด ทางโครงการมักมีข้อกำหนดพื้นฐาน หรือข้อบังคับ ในการจัดทำแผนธุรกิจ เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันปฏิบัติตาม ตัวอย่างเช่น หัวข้อต่างๆของ แผนธุรกิจที่ต้องระบุ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในการจัดทำแผน เช่น Microsoft Word สำหรับเอกสารข้อมูล Microsoft Excel สำหรับตารางคำนวณทางการเงิน จำนวนหน้าสูงสุด ของแผน ขนาดกระดาษ ขนาดอักษร การกั้นหน้าซ้ายขวา การระบุรายละเอียด ชื่อทีม หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ กำหนดส่งแผนธุรกิจ จำนวนชุดของเอกสารแผนธุรกิจที่จัดส่ง หรือรูปแบบการบันทึกข้อมูล ที่ต้องจัดส่ง เช่น ต้องส่ง CD-Rom File ข้อมูลพร้อมเอกสารด้วย เป็นต้น แต่ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะเรื่องของ การประกวดแข่งขัน แผนธุรกิจเป็นสำคัญ

เกณฑ์การพิจารณา หรือการให้คะแนนการแข่งขันแผนธุรกิจนี้ ส่วนใหญ่จะแบ่งเกณฑ์หลักๆออกเป็น 3 เกณฑ์ คือ เรื่องของความคิด สร้างสรรค์ หรือแนวคิดธุรกิจใหม่ (Creativity or New Business Idea) ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์จากกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้น (Commercial Viability) และทักษะในการเขียนแผนธุรกิจ (Writing Skill) หรือในบางการแข่งขันอาจกำหนดเกณฑ์การพิจารณา หรือการให้คะแนน ที่แตกต่างออกไป หรือมีรายละเอียดหัวข้อปลีกย่อยเพิ่มเติม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีโครงสร้างการพิจารณาอยู่ใน 3 ประเด็นดังกล่าวนี้ ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับแผนธุรกิจที่ใช้ในการประกวดแข่งขันนี้ จะอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ หรือแนวคิดธุรกิจใหม่เป็น สำคัญ โดยธุรกิจที่เลือก ควร เป็นธุรกิจที่ตอบสนองต่อตลาด หรือผู้บริโภค หรือแก้ไขปัญหาของลูกค้าที่เป็นอยู่ และควรจะต้องเป็น ธุรกิจที่มีแนวคิดใหม่ หรือมีรูปแบบ ใหม่ ที่แตกต่างจากธุรกิจโดยทั่วไปที่เป็นอยู่ ดังนั้นการเลือกธุรกิจที่จะเขียน หรือแข่งขันนั้น จึงเป็นหัวใจแรก ที่ผู้แข่งขันต้องให้ความสำคัญ เป็นอย่างยิ่ง หรือกล่าวได้ว่า "ตั้งโจทย์ดีให้มีความได้เปรียบ" เพราะเป็นการสร้างแต้มต่อ หรือข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และเป็นการสร้าง ความน่าสนใจให้กับกรรมการในการพิจารณาตัวธุรกิจ มากกว่าธุรกิจพื้นฐานทั่วไปที่มีอยู่ ประเด็นถัดมาก็คือหลังจากกำหนดธุรกิจที่ดีแล้ว การกำหนดกลยุทธ์ต่างๆในการดำเนินการ ต้องสอดคล้อง และถูกต้องตามธุรกิจที่เลือก เนื่องจากธุรกิจที่เป็นแนวคิดใหม่ หรือเป็นธุรกิจใหม่ ในตลาดนั้น การใช้กลยุทธ์อาจจะต้องมีลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษ เพื่อให้ธุรกิจมีความเป็นไปได้ ในเชิงพาณิชย์ หรือมีความเป็นไปได้จริง ถ้าจะมีการทำเป็นธุรกิจขึ้นมา เพราะถ้ามีการกำหนดกลยุทธ์โดยทั่วไปเหมือนๆธุรกิจที่เป็นอยู่อาจไม่เหมาะสม หรือไม่สามารถ สร้างความ ได้เปรียบ ในเชิงแข่งขันกับธุรกิจเดิม โดยเฉพาะแผนการตลาด (Marketing Plan) ถือเป็นประเด็นสำคัญ ที่ต้องตอบโจทย์ของธุรกิจ ที่กำหนดขึ้นได้อย่างถูกต้องและเป็นเหตุเป็นผล ประเด็นสุดท้ายคือในส่วนของทักษะในการเขียน หรือการจัดทำ แผนธุรกิจ จะอยู่ที่ผู้เข้าแข่งขัน ต้องสามารถระบุรายละเอียดเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ในโครงร่างของแผนธุรกิจได้อย่าง ถูกต้องตามเกณฑ์ที่ทางโครงการกำหนด หรือตามเกณฑ์ ของมาตรฐานของแผนธุรกิจที่ดี การวางรูปแบบโครงร่างแผนธุรกิจ การจัดช่องไฟ หรือระยะห่าง ความถูกต้องในตัวสะกด คำศัพท์ ความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อถ่ายทอดรายละเอียด ของข้อมูลในแผนธุรกิจให้เข้าใจได้โดยง่าย ความถูกต้องในสูตร หรือผลลัพธ์ จากการ คำนวณ ทางการเงิน รวมถึงข้อมูลสนับสนุนต่างๆ เช่น สถิติ ผลวิจัย ผลสำรวจ ซึ่งอาจแสดงในรูปของตาราง กราฟ รูปภาพ หรือ Graphic ต่างๆ เป็นต้น

ในการประกวดแข่งขันแผนธุรกิจนี้นอกเหนือจากการจัดทำเอกสารแผนธุรกิจแล้ว ผู้แข่งขันที่ผ่านการคัดเลือก จะต้องมีการนำเสนอ แผนธุรกิจ ต่อหน้าคณะกรรมการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิอีกครั้ง ดังนั้นทักษะในการนำเสนอ (Presentation Skill) จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกันไม่น้อย กว่าการจัดทำเอกสารแผนธุรกิจเลย เพราะจากประสบการณ์ของผู้เขียนในการเป็นกรรมการตัดสินแผนธุรกิจพบว่า ผู้แข่งขันบางราย สามารถจัดทำแผนธุรกิจได้ดีมาก หรือถึงขั้นยอดเยี่ยม แต่ขาดความสามารถในการนำเสนอ แผนธุรกิจ ต่อหน้าคณะกรรมการ ทำให้แพ้ผู้เข้า แข่งขัน ที่จัดทำแผนธุรกิจที่ด้อยกว่า แต่มีความสามารถในการนำเสนอ ต่อหน้าคณะกรรมการ ได้ดีกว่า ดังนั้นในบางครั้ง ทักษะในการนำเสนอ จึงเป็นเครื่องตัดสิน หรือเครื่องชี้ขาดเพื่อหาผู้ชนะเลิศในเวลาการประกวด หรือแข่งขัน ซึ่งทักษะในการนำเสนอ ในการประกวดแข่งขัน แผนธุรกิจนี้ ได้แก่ การจัดทำ Slide Presentation เช่น รูปแบบ สีสรรค์ ขนาดอักษร ซึ่งต้องมีความสวยงามและสอดคล้องกับตัวธุรกิจ การแต่งกายของผู้นำเสนอ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของการนำเสนอด้วยภาพ (Visual) และการนำเสนอด้วยคำพูด (Verbal) เช่น การการสรุปประเด็นสำคัญ หรือเป็นจุดขายของตัวธุรกิจ การนำเสนอข้อมูลสำคัญที่รองรับ เหตุผลต่อความเป็นไปได้ หรือความสำเร็จของธุรกิจ จังหวะจะโคนในการพูด ระดับน้ำเสียงของผู้นำเสนอ ความลื่นไหลและ ความต่อเนื่องในการนำเสนอ การใช้เวลาในการนำเสนอที่เหมาะสม ความชัดเจนในการนำเสนอ การตอบข้อซักถามของคณะกรรมการ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันต้องมีการเตรียมพร้อมให้ดีที่สุดทั้ง 2 ด้าน เนื่องจากโดย ปกติแล้ว กรรมการจะพิจารณาในเรื่อง ดังกล่าวในการ ตัดสินใจสุดท้าย โดยอาจใช้เวลาเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น ในการตัดสินว่า ใครเป็นผู้ชนะเลิศ ในการแข่งขัน จากช่วงเวลา ในการนำเสนอแผนธุรกิจและตอบข้อซักถามดังกล่าวนี้

ยังมีแผนธุรกิจในวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแผนธุรกิจเพื่อการประกวดและการแข่งขัน แต่จะเป็นแผนธุรกิจ ที่จัดทำขึ้นเป็น วัตถุประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะ เช่น แผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นเพื่อการขอรับสัมปทานกับภาครัฐ ตัวอย่างเช่น งานสาธารณูปโภคของรัฐ ที่ดำเนินการโดย ภาคเอกชน โดยเอกชนแบ่งผลประโชน์คืนกลับภาครัฐภายใต้ระยะเวลาตามข้อตกลง การประมูลคลื่นความถี่ทางโทรคมนาคม การลงทุนโดยการเช่าที่ดินของราชพัสดุ หรือการรถไฟที่มีมูลค่าที่ดินสูงๆ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องนำเสนอแผนธุรกิจ หรือข้อเสนอต่างๆ ให้กับภาครัฐ หรือหน่วยงานนั้นๆ ในการพิจารณาข้อเสนอ หรือที่มาของแหล่งรายได้ ซึ่งก็จะมีลักษณะเป็นการประกวดแข่งขันเช่นเดียวกัน แต่อาจจะมีผู้เข้าแข่งขันจำนวนน้อยราย ตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด แต่กรณีดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแผนธุรกิจที่จัดทำโดยองค์กรขนาดใหญ่ จึงไม่ขอกล่าวถึงไว้ในที่นี้


Source : รัชกฤช คล่องพยาบาล ที่ปรึกษา ส่วนบริการปรึกษาการเงินและการร่วมลงทุน
ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)