แผนธุรกิจ กับ SMEs ตอน....ขั้นตอนเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจ
ขั้นตอนเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจ
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่แล้ว การจัดทำแผนธุรกิจหรือการเขียนแผนธุรกิจขึ้นมาสักหนึ่งฉบับ ถือได้ว่าเป็นปัญหา หรือสิ่งที่สร้าง ความกังวลให้กับผู้ประกอบการ หรือผู้จัดทำแผนธุรกิจที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์เป็นอย่างมาก หรือแม้แต่ผู้ประกอบการ ที่ได้เคยผ่านการอบรม เกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจ จากหน่วยงานอบรมต่างๆมาบ้างแล้วก็ตาม เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร หรือแม้แต่กรณีที่มี คู่มือการเขียน แผนธุรกิจ ประกอบการจัดทำแผนธุรกิจ แต่ก็ยังไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไรดี จากปัญหาดังกล่าวผู้เขียนจึงเห็นว่า ควรจะได้กล่าวถึง ขั้นตอนใน การเริ่มต้นการเขียนแผนธุรกิจ แบบง่ายๆไม่ซับซ้อน ซึ่งจะช่วยเป็นแนวทางเริ่มต้นในการจัดทำหรือการเขียนแผนธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการ เป็นลำดับ ให้สามารถใช้เป็นแนวทางเริ่มต้น ก่อนที่จะได้กล่าวถึง รายละเอียดเกี่ยวกับว ิธีการในการจัดทำ หรือการเขียนแผนธุรกิจ โดยละเอียด ในโอกาสต่อไป โดยขั้นตอนการเริ่มต้นในการเขียนแผนธุรกิจสามารถแบ่งออกได้โดยสังเขปเป็น 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย
- เลือกธุรกิจ
- รวบรวมข้อมูล
- วิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์ธุรกิจ
- กำหนด Business Model
- เริ่มต้นเขียนแผน
เลือกธุรกิจ การเลือกธุรกิจในที่นี้หมายถึง ถ้าผู้ประกอบการ มีความประสงค์ต้องการจะเป็นผู้ประกอบการหรือผู้จัดทำแผนธุรกิจ ยังไม่รู้ว่า จะทำธุรกิจอะไรดีหรือจะเลือกธุรกิจใดมาจัดทำ หรือเขียนแผนธุรกิจ สิ่งแรกที่ต้องคิดก่อนเป็นลำดับแรก คือจะเลือกธุรกิจอะไร ที่เหมาะสม กับตนเอง หรือเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการเขียน โดยถ้าแบ่งประเภทหรือลักษณะธุรกิจตามข้อกฎหมายของ SMEs คือ กฎกระทรวง กำหนดจำนวนการจ้างงานและมูลค่าสินทรัพย์ถาวรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2545 ซึ่งได้กล่าวถึงลักษณะของกิจการ SMEs รวม 4 ลักษณะ อันประกอบด้วย กิจการการผลิต กิจการให้บริการ กิจการค้าส่ง กิจการค้าปลีก หรือถ้าไม่แบ่งตามลักษณะของข้อกฎหมาย โดยแบ่งตามลักษณะรูปแบบการดำเนินการ เช่น ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ (Product business) ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์เฉพาะบุคคล (Personal product business) ธุรกิจบริการ (Service business) ธุรกิจบริการเฉพาะบุคคล (Personal service business) ธุรกิจการค้า (Retail business) ธุรกิจด้านการจัดจำหน่าย (Distribution business) ธุรกิจด้านเทคโนโลยีหรือด้านอินเตอร์เน็ต (Technology-based business or Internet-based business) หรืออาจจะแบ่ง ลักษณะธุรกิจตามเกณฑ์กำหนดอื่นๆ เช่น เกณฑ์ของธนาคารแห่ง ประเทศไทย เกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ตาม แต่ละลักษณะของธุรกิจนั้น ก็จะมีชนิดของรูปแบบกิจการแยกย่อยออกไปอย่างมากมาย ซึ่งผู้ประกอบการจะเลือกทำธุรกิจอะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ องค์ประกอบหลายประการ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของผู้ประกอบการด้วย เช่น อุปนิสัย ความรู้ความชำนาญ การศึกษา ความชอบ สภาพครอบครัว ทุนทรัพย์ รวมถึงปัจจัยประกอบอื่นๆ เช่น เครือข่ายทางการค้า ความสัมพันธ์กับคู่ค้า เป็นต้น ในการตัดสินใจเลือกว่า จะดำเนินธุรกิจอะไร แต่สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ การเลือกธุรกิจถือเป็นก้าวแรก ที่จะตัดสินว่า ผู้ประกอบการจะมีโอกาส ประสบความสำเร็จ หรือไม่ เพราะธุรกิจแต่ละชนิดหรือแต่ละประเภท จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป มีจุดเด่นและจุดด้อยของธุรกิจที่แตกต่างกัน มีโครงสร้าง การลงทุน ที่แตกต่างกัน มีลักษณะลูกค้าที่แตกต่างกัน มีลักษณะของการได้มาซึ่งรายได้ และค่าใช้จ่ายในต้นทุนของธุรกิจ ที่แตกต่างกัน รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินการ ทำให้ธุรกิจแต่ละประเภทมีวิธีการกำหนดกลยุทธ์ และวิธีการดำเนินการ ที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันก็ตาม โดยเป็นผลเกี่ยวข้องจากพื้นฐานของผู้ประกอบการตามที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการได้มีการกำหนด และเลือกประเมินธุรกิจจากองค์ประกอบของตนอย่างรอบคอบ ก็จะสามารถเลือกธุรกิจ ที่เหมาะสม ในการดำเนินการได้ไม่ยากนัก ถ้าผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเอง ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ หรือเกิดปัญหาน้อยกว่า ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ตนเองไม่ถนัด หรือไม่มีความชำนาญ หรือไม่เหมาะสมกับข้อจำกัดที่ตนเองมีอยู่ โดยธุรกิจที่เลือกนั้น ควรจะเป็น ธุรกิจที่มีลักษณะพื้นฐานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ประการนี้ คือ สามารถตอบสนองต่อความต้องการ หรือสามารถแก้ปัญหา ที่เป็นอยู่ของลูกค้า หรือผู้บริโภคได้ หรือเป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาด ซึ่งลักษณะพื้นฐานทั้ง 2 ประการนี้ จะเป็นตัวเสริม ให้ธุรกิจสามารถดำเนินการ หรือสามารถแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆที่มีอยู่ได้
โดยสำหรับประเด็นของการเลือกธุรกิจนี้ อาจจะมิได้ถือเป็นสาระสำคัญนักของการเริ่มต้นการเขียนแผนธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการโดยทั่วไป เนื่องจากก่อนหน้าที่จะได้มีการเขียนแผนธุรกิจ ผู้ประกอบการก็มักจะมีธุรกิจที่เลือกจะดำเนินการมาเรียบร้อยก่อนหน้าแล้ว แต่ที่ต้องมีการเขียน แผนธุรกิจ เนื่องจากต้องใช้เป็นเครื่องมือในการขอรับการสนับสนุนทางการเงิน จากธนาคารหรือสถาบันการเงิน หรือใช้เพื่อการขอรับ การสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อย่างที่ได้เคยกล่าวมาแล้วการใช้ประโยชน์จากแผนธุรกิจ ซึ่งถ้าเป็นกรณีดังกล่าว อาจข้ามขั้นตอนแรก ในการเลือกธุรกิจ ไปสู่ขั้นตอนที่สอง คือการรวบรวมข้อมูลธุรกิจได้เลย แต่ขั้นตอนการเลือกธุรกิจนี้ จะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าเป็นการเขียน แผนธุรกิจ สำหรับการเรียนในสถาบันการศึกษา การอบรมจากหน่วยงานให้การอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ถ้าเป็นการประกวดแข่งขันการเขียนแผนธุรกิจ เพราะการเลือกธุรกิจที่อยู่ในความต้องการของตลาด เป็นธุรกิจใหม่ หรือมีแนวคิดทาง การตลาดใหม่ๆ เป็นธุรกิจที่เน้นความเป็นนวัตกรรม หรือเป็นธุรกิจยุทธศาสตร์หรือเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อประเทศ ย่อมสร้าง ความได้เปรียบ ในการจัดทำแผนธุรกิจ และการนำเสนอเพื่อการแข่งขันมากกว่าธุรกิจพื้นฐานโดยทั่วไป โดยการเลือกธุรกิจดังกล่าวนี้ ต้องเป็นการเลือกธุรกิจที่ดี (Choose a good business) ซึ่งธุรกิจที่ดีนั้นหมายถึงเป็นธุรกิจซึ่งเหมาะสมกับตัวผู้ประกอบการ หรือมีความเหมาะสม หรือมีความได้เปรียบ เมื่อใช้ในการศึกษาหรือการประกวดแข่งขัน เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการ หรือผู้จัดทำแผนธุรกิจ สามารถหา หรือรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้อย่างเหมาะสมในขั้นตอนต่อไป ซึ่งถ้าผู้ประกอบการยังไม่มีแนวทาง หรือความคิด เกี่ยวกับธุรกิจอะไรที่เหมาะสมกับตนเอง ก็อาจใช้วิธีการดูตัวอย่างรูปแบบธุรกิจ หรือการดำเนินธุรกิจจากแหล่งข้อมูลภายนอกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการไปตลาดนัด งานแสดงสินค้า งานแสดงนิทรรศการ เป็นต้น หรือการดูรายการทีวี หรือรายการวิทยุที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ หรือการศึกษาจากแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ SMEs เช่น จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม www.sme.go.th กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม www.dip.go.th หรือจากหน่วยงานเกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นต้น จากนิตยสารด้านการประกอบธุรกิจ เช่น SMEs Today SMEs Thailand จากหนังสือพิมพ์ด้านธุรกิจ เช่น ฐานเศรษฐกิจ ประชาชาติธุรกิจ ผู้จัดการ ในคอลัมน์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs จากนิตยสารด้านการตลาด เช่น Brand Age Marketteer Positioning หรือจากหนังสือในด้านธุรกิจ SMEs ที่มีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไป ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีแนวความคิดใหม่ๆ ในการเลือกธุรกิจที่ดีหรือเป็นธุรกิจที่เหมาะสม ในการเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจได้เป็นอย่างดี
รวบรวมข้อมูล การรวบรวมข้อมูลในที่นี้หมายถึง การเก็บ คัดเลือก หรือรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เป็นข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และเป็น ข้อมูล ที่จำเป็นของธุรกิจ เพื่อใช้ในการเขียน หรือใช้เพื่อเป็นเอกสารประกอบของแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนของเอกสาร หลักฐาน สำคัญของธุรกิจ เอกสารประกอบ สถิติ ข้อมูลอ้างอิงต่างๆ โดยข้อมูลที่ต้องรวบรวมในขั้นตอนนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ข้อมูลภายใน (Internal data) และข้อมูลภายนอก (External Data) โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ
ข้อมูลภายใน (Internal Data) เป็นข้อมูลของธุรกิจ หรือเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นภายในตัวธุรกิจเอง ข้อมูลประเภทนี้ได้แก่ ข้อมูลหรือเอกสาร พื้นฐาน ที่จำเป็นต้องมีของธุรกิจ ได้แก่ เอกสารสำคัญต่างๆ เช่น หนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ ทะเบียนผู้ถือหุ้น สำเนาบัตรประชาชน ของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ใบอนุญาตประกอบกิจการ งบการเงินย้อนหลัง สำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารย้อนหลัง ซึ่งถือเป็นเอกสารหรือข้อมูลพื้นฐานโดยทั่วไป นอกจากนี้อาจมีเอกสารเกี่ยวกับ การตัดสินใจของธุรกิจ หรือข้อมูลการแสดงรายละเอียดของธุรกิจอื่นๆ เช่น รายงานการประชุม มติผู้ถือหุ้น รายงานประจำปี เป็นต้น นอกจากเอกสารพื้นฐานแล้ว ยังอาจมีการเตรียมเอกสารบางอย่างที่ธุรกิจได้จัดทำขึ้นไว้ เพื่อใช้ในการโฆณาประชาสัมพันธ์ หรือแจ้งข้อมูลให้แก่ ลูกค้าทราบ เช่น Company Profile โบรชัวร์ แผ่นพับ เมนู เอกสารแสดงรายการราคาสินค้า เป็นต้น ข้อมูลหรือเอกสารที่มี ความเกี่ยวโยง กับบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า เจ้าหนี้ หรือบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรใดๆก็ตาม เช่น สัญญาการใช้วงเงินกู้จากธนาคาร หรือสถาบัน การเงิน ทั้งระยะสั้นหรือระยะยาว สัญญาเช่าต่างๆ เช่น สัญญาเช่าที่ดิน สัญญาเช่าอาคาร สัญญาเช่าพื้นที่ สัญญาข้อตกลง ทางการค้า ใบรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ เช่น มาตรฐาน มผช. มาตรฐาน มอก. มาตรฐาน ISO มาตรฐาน HACCP มาตรฐานการผลิต GMP มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับ หรือรางวัลต่างๆที่ธุรกิจได้รับจากหน่วยงานอื่นๆ เป็นต้นแล้วแต่กรณี นอกจากข้อมูลในรูปเอกสารดังกล่าว ยังมีข้อมูลประเภทอื่นๆ ที่ควรจัดเตรียม หรือรวบรวมไว้ เช่น ภาพถ่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของธุรกิจ ภาพถ่ายสถานประกอบการ ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งควรบันทึกในแบบ File digital แผนผังขั้นตอนกระบวนการในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ ข้อมูลเกี่ยวกับ การจัดองค์กร เช่น แผนผังองค์กร (Organization Chart) อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าแรง และประวัติบุคคล (Resume) ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา การทำงาน ของผู้จัดการหรือกรรมการหรือผู้บริหารหลักของธุรกิจ ประวัติความเป็นมาของธุรกิจ หรือแนวคิดถึง เหตุผลในการจัด ตั้งธุรกิจ อุปสรรค ความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลง โดยอาจมาจากการสัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลโดยเจ้าของกิจการ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ มักถูกใช้เขียน ในส่วนของแผนบริหารจัดการ และเป็นเอกสารแนบในภาคผนวก นอกจากข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลทั่วไปในการดำเนินการของธุรกิจ ยังควรมีการเตรียมข้อมูลด้านเงื่อนไขการค้า และสถิติต่างๆในการดำเนินการของธุรกิจประกอบด้วย นโยบายเครดิตการค้า ทั้งฝั่งลูกหนี้การค้า และฝั่งเจ้าหนี้การค้า นโยบายการบริหารเงินสด นโยบายการบริหารเงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น สถิติเกี่ยวกับสินค้าแต่ละประเภท ยอดขายสินค้า ในแต่ละเดือน ต้นทุนการผลิตหรือค่าใช้จ่ายของธุรกิจในแต่ละเดือนที่ผ่านมา รายชื่อคู่ค้า เป็นต้น โดยถ้าสามารถแยก รายการต่างๆได้โดย ละเอียด จะเป็นสิ่งดีมากถ้าทำได้ เพราะแม้ว่าจะมีข้อมูลที่มีลักษณะคล้ายกันระบุไว้ในงบการเงินของกิจการ แต่เนื่องจากงบการเงิน เป็นการสรุป ผลรายปี และมักไม่แยกค่าใช้จ่ายในทุกๆรายการ ทำให้อาจจะไม่เห็นภาพของข้อมูลดังกล่าวของธุรกิจได้อย่างชัดเจน
ข้อมูลภายนอก (External Data) เป็นข้อมูลจากแหล่งภายนอกธุรกิจ ที่มีความสัมพันธ์หรือมีความเกี่ยวข้องกับ ธุรกิจทั้งทางตรงและ ทางอ้อม เช่น รายละเอียดของธุรกิจคู่แข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อของธุรกิจ ลักษณะและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ รูปแบบ ลักษณะ การตั้งราคา เงื่อนไขทางการค้า จุดเด่นหรือจุดด้อยต่างๆที่มีอยู่ หรือถ้าสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับยอดขาย หรือต้นทุนค่าใช้จ่าย ต่างๆ ของธุรกิจคู่แข่งได้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก โดยเฉพาะถ้าจะต้องนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ของผู้ประกอบการเอง ซึ่งข้อมูล ดังกล่าวควรมีรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะข้อมูลต่างๆของธุรกิจคู่แข่งนี้ จะถูกนำมาใช้เปรียบเทียบ ในส่วนของการ วิเคราะห์ตลาด และอุตสาหกรรม การจัดทำ SWOT Analysis หรือการวิเคราะห์คู่แข่งขัน เพื่อใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ ในแผนการ ตลาดต่อไป โดยข้อมูลของคู่แข่งขันนี้ควรรวบรวมโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือคู่แข่งขันหลัก (Major competitor) ได้แก่ ธุรกิจที่มีลักษณะ และรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ แบบเดียวกันกับธุรกิจของผู้ประกอบการ และคู่แข่งขันรอง (Minor competitor) ซึ่งเป็นธุรกิจที่อาจมีลักษณะและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ แตกต่างจากธุรกิจของผู้ประกอบการ แต่อาจถือได้ว่า เป็นสินค้าทดแทน ที่ลูกค้าสามารถซื้อหรือเลือกใช้ได้ ในกรณีที่ไม่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการของผู้ประกอบการ โดยการหาหรือรวบรวมข้อมูล ของคู่แข่งขันนี้ อาจแบ่งจากเขตพื้นที่ครอบคลุมในการขายสินค้าหรือให้บริการแก่ลูกค้า จากจำนวนยอดขาย จากขนาดของธุรกิจ จากระยะทางหรือ ระยะการเดินทางของลูกค้า ตามความเหมาะสม โดยควรให้มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับขนาดธุรกิจของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งข้อมูลของธุรกิจคู่แข่งขันนี้ควรมีทั้งที่ดีกว่าหรือใหญ่กว่า เทียบเท่าหรือใกล้เคียง และที่ด้อยกว่า หรือเล็กกว่า จึงจะถือเป็นข้อมูลที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอ้างอิงต่างๆ เพื่อใช้ประกอบในการสร้างความน่าเชื่อถือของแผนธุรกิจ เช่น ข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจ ข้อมูลสภาวะตลาดและอุตสาหกรรม แนวโน้มต่างๆของธุรกิจ ข้อมูลบทวิจัยหรือผลงานวิจัยต่างๆ กฎหมายหรือ ระเบียบข้อบังคับของธุรกิจ ซึ่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆเหล่านี้ สามารถหาได้จากแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นต้น และข้อมูลด้านการตลาด ผลสำรวจหรือข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ผลการดำเนินการต่างๆของธุรกิจ ซึ่งมีทั้งจากในส่วนของหน่วยงาน ของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนต่างๆ และจากหนังสือพิมพ์ นิตยสารด้านการตลาด การดำเนินธุรกิจ เช่น ฐานเศรษฐกิจ ประชาชาติธุรกิจ ผู้จัดการ ในคอลัมน์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs หรือนิตยสารด้านการตลาด เช่น Brand Age Marketteer Positioning เป็นต้น ซึ่งข้อมูลอ้างอิงเหล่านี้มักจะใช้ประกอบ ในส่วนของการระบุถึงสภาวะตลาดและอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในภาพรวม การแสดงถึงแนวโน้มการเติบโต ซึ่งจะใช้เป็นสิ่งสนับสนุนเกี่ยวกับการกำหนดการเปลี่ยนแปลงในประมาณการต่างๆ เช่น จำนวนลูกค้า จำนวนยอดขายสินค้า มูลค่าของรายได้ เป็นต้น และข้อมูลจากแหล่งภายนอกที่กล่าวถึงธุรกิจ เช่น บทสัมภาษณ์หรือบทความที่กล่าวถึงตัวธุรกิจ รายการวิทยุ หรือรายการโทรทัศน์ที่ได้เชิญผู้ประกอบการไปสัมภาษณ์ เป็นต้น
โดยถ้าผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนธุรกิจ สามารถหาหรือรวบรวมข้อมูลทั้งจากภายนอกและภายในได้เป็นจำนวนที่เพียงพอและเหมาะสม จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เขียนแผนในการวิเคราะห์ตลาดอย่างถูกต้องในขั้นตอนต่อไป รวมถึงเป็นการสะดวกในการเขียน รายละเอียดต่างๆ ในแผนธุรกิจ รวมถึงการจัดทำภาคผนวกหรือเอกสารแนบของแผนธุรกิจในภายหลังอีกด้วย
วิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์ธุรกิจ จะหมายถึง การนำข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวม มาทำการวิเคราะห์สภาพของตลาดโดยทั่วไป และสภาพของธุรกิจ ที่เป็นอยู่หรือที่เลือกจะดำเนินการนั้น ว่ามีสภาพเป็นเช่นใด โดยขั้นตอนการวิเคราะห์นี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การวิเคราะห์ตลาด ซึ่งถือเป็น ปัจจัยภายนอก และการวิเคราะห์ธุรกิจซึ่งถือเป็นปัจจัยภายใน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการวิเคราะห์ปัจจัยของธุรกิจหรือสถานการณ์ของธุรกิจ ที่มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า การวิเคราะห์ SWOT หรือ SWOT Analysis อันเป็นการวิเคราะห์ จุดแข็ง (Strengths) จุดอ่อน (Weaknesses) โอกาส (Opportunities) และอุปสรรคหรือภาวะคุกคาม (Threats) ของธุรกิจ แต่ในขั้นตอนนี้ จะไม่ลงลึกใน รายละเอียด เพราะเป็นการพิจารณา ตามที่มีอยู่เท่านั้น ซึ่งการพิจารณาหรือการวิเคราะห์นี้จะเป็นด้านใดก่อนก็ได้ คือพิจารณา หรือวิเคราะห์จาก ธุรกิจ แล้วจึงค่อยไปดูในส่วนของตลาดก็ได้ แต่ที่เหมาะสมคือ การวิเคราะห์จากภายนอกเข้ามาภายในคือ การวิเคราะห์จากสภาพตลาด ตามข้อมูลที่มีอยู่ แล้วจึงมาวิเคราะห์ว่า ธุรกิจมีความพร้อม หรือเหมาะสม กับสภาพตลาดหรือไม่ หรือเป็นการคิดแบบ Outside In
ขั้นตอนการวิเคราะห์ตลาดและวิเคราะห์ธุรกิจนี้ ไม่จำเป็นต้องทำก ารวิเคราะห์ในเชิงลึก เพียงแต่ให้ทราบรายละเอียดโดยสังเขปว่า ตามข้อมูล ที่ผู้ประกอบการ หรือผู้จัดทำแผนมีอยู่นั้น สามารถบอกได้ว่าสภาวะตลาดและอุตสาหกรรมเป็นเช่นใด อยู่ในภาวะการขยายตัว หรือหดตัว สภาพของการแข่งขัน รายละเอียดของคู่แข่ง มีความเพียงพอที่จะกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินการหรือไม่ ซึ่งในส่วนของ ข้อมูลด้านคู่แข่งขันนี้ ถือเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ควรจะมี เนื่องจากในการกำหนดกลยุทธ์ต่างๆของธุรกิจในแผนการตลาด มีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับ ธุรกิจอื่นที่มีอยู่ ซึ่งถ้ามีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะใช้วิเคราะห์หรือ บอกเกี่ยวกับคู่แข่งขันได้ ผู้ประกอบการ หรือผู้เขียน ก็ควรจะไปทำการหา ข้อมูลเพิ่มเติม และข้อมูลด้านการตลาดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจ ข้อมูลสภาวะตลาดและอุตสาหกรรม แนวโน้มต่างๆของธุรกิจ ข้อมูลบทวิจัยหรือผลงานวิจัยต่างๆ กฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของธุรกิจ ถ้าใช้แหล่งอ้างอิงจากภายนอก ควรบันทึกรายละเอียดถึงที่มา ของแหล่งข้อมูลดังกล่าวไว้ด้วย เพราะแหล่งข้อมูลอ้างอิงเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแผนธุรกิจ โดยแหล่งข้อมูลจาก หน่วยงาน ของรัฐ จะถือเป็นแหล่งข้อมูลที่มี ความน่าเชื่อถือ ในการอ้างอิง มากที่สุด และผลลัพธ์หรือข้อสรุปจากการวิเคราะห์ต่างๆนี้ ไม่สมควรใช้ความคิดส่วนตัว หรือเป็นการคาดการณ์ของผู้ประกอบการเอง เช่น การระบุว่าตลาดจะขยายตัวปีละ 10% เพราะจากประมาณกา รดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจมีผลกำไรที่ดีตามที่ตนเองต้องการ โดยไม่มีเอกสารหรือหลักฐานใดๆรองรับเกี่ยวกับประมาณการดังกล่าว เพราะจะส่งผลให้แผนธุรกิจขาดความน่าเชื่อถือ เมื่อมีข้อซักถามเกิดขึ้นว่า ตัวเลขหรือประมาณการต่างๆ ที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจนั้น มีที่มาอย่างไรจากเจ้าหน้าที่ของธนาคาร หรือผู้อ่านแผน
ส่วนของการวิเคราะห์ธุรกิจนั้น จะเป็นการพิจารณาว่าผู้จัดทำหรือผู้เขียนแผน มีเอกสารครบถ้วนหรือไม่ เนื่องจากมีความจำเป็น ต้องนำไปใช้เขียน ในแผนการบริหารจัดการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในส่วนข้อมูลด้านเอกสารมักมิใช้ประเด็นปัญหา เนื่องจากเป็นเอกสารสำคัญ ที่ทุกธุรกิจต้องมีอยู่ แต่ที่มักจะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในส่วนของการวิเคราะห์ธุรกิจ จะเป็นในเรื่องของข้อมูลสถิติต่างๆ เช่น ยอดขาย รายได้ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ที่แม้ว่าธุรกิจจะมีอยู่มักไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ โดยมีเฉพาะในส่วนของเอกสารบันทึกเท่านั้น ทำให้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนดังกล่าวมักจะต้องใช้เวลานาน ในการแปลผลจากข้อมูลดิบหรือตัวเลขต่างๆที่มีอยู่ในเอกสาร ให้เป็นผลสรุป ของผลการดำเนินการของธุรกิจได้ เช่น การเปลี่ยนแปลง แนวโน้ม สัดส่วนหรือเปอร์เซนต์ของ ยอดขาย รายได้ จำนวนลูกค้า ต้นทุน หรือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น เพราะจะใช้ประกอบในเรื่องของการวางแผนการดำเนินการ และการกำหนดกลยุทธ์ในแผนการตลาด แผนการผลิต หรือการให้บริการ และแผนการเงิน เนื่องจากการดำเนินการของธุรกิจโดยแท้จริงแล้ว มักจะมีรูปแบบคล้ายคลึง หรือมีแนวทางจาก การดำเนินการที่ผ่านมา หรือในรูปแบบเดิมของธุรกิจ เพียงแต่อาจจะมีการปรับปรุงในการดำเนินการบางส่วนบ้างเท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยน วิธีการ บริหารจัดการ หรือเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินการของธุรกิจใหม่ โดยไม่อยู่ในพื้นฐานเดิมเลย ย่อมเป็นไปได้โดยยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย ในข้อเท็จจริง ดังนั้นสำหรับธุรกิจ ที่ดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว รูปแบบของธุรกิจเดิมจะมีความสัมพันธ์ กับการดำเนินการต่างๆ ที่ระบุไว้ใน แผนธุรกิจด้วย นอกจากเรื่องของการดำเนินการ แล้ว ในส่วนที่ต้องนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ จะเป็นเรื่องของสภาพธุรกิจว่าอยู่ในสภาพใด สามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันอื่นได้หรือไม่ มีผลดำเนินการเป็นอย่างใดเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ และพิจารณาเกี่ยวกับแผนผังองค์กรว่า มีสายงานบังคับบัญชาที่เหมาะสมหรือไม่ กล่าวคือ มีบุคลากรครบถ้วนที่จะดูแลหรือดำเนินกิจกรรมต่างๆของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้าน การบริหารจัดการ ด้านการผลิตหรือการให้บริการ ดานการตลาด และด้านการเงิน โดยบุคลากรเหล่านี้มีความรู้ความสามารถเพียงพอหรือไม่ ในการบริหารจัดการ เพราะความรู้ความสามารถของบุคลากรนี้จะมีความสัมพันธ์กับอัตราเงินเดือน ค่าแรง ค่าจ้าง ซึ่งอยู่ในอัตราที่เหมาะสม นอกจากนี้ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงในประมาณการต่างๆ เช่น ด้านการผลิต หรือด้านการตลาด บุคลากรหรือพนักงานที่มีอยู่ มีความสามารถ ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งในแง่ของจำนวนและประสิทธิภาพ การหาข้อมูลเกี่ยวกับ การลงทุนใน สินทรัพย์ ว่าจะต้องใช้การลงทุนเริ่มต้นในมูลค่าเท่าใด หรือถ้าเป็นธุรกิจที่ดำเนินการมาแล้ว ก็ควรจะหามูลค่าปัจจุบันของสินทรัพย์ของธุรกิจที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร อุปกรณ์ สินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์หมุนเวียนประเภทอื่นๆ เช่น เงินสด ซึ่งแม้ว่า จะมีข้อมูล ดังกล่าวระบุไว้ในงบการเงิน แต่มักพบว่ามูลค่าสินทรัพย์ในงบการเงินจะต่างกับมูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริง เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ ในการจัดทำ บัญชี หรือการจัดทำงบการเงิน เช่น การตัดค่าเสื่อมราคา หรือวิธีการคำนวณมูลค่าสินค้า เป็นต้น ดังนั้นการหามูลค่าสินทรัพย์จึงเป็น การหามูลค่าตลาด (Market Value) หรือมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) เพื่อให้รู้ว่าสินทรัพย์ที่แท้จริงในปัจจุบันของธุรกิจมีมูลค่าเท่าใด นอกจากนี้ในส่วนของวงเงินสินเชื่อต่างๆ กับสถาบันการเงินหรือธนาคารที่มีอยู่ ผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนควรศึกษา หรือทำการ วิเคราะห์ เกี่ยวกับการผ่อนชำระคืน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเงินต้น ดอกเบี้ย รวมถึงเงื่อนไขต่างๆตามสัญญาให้ถูกต้อง รวมถึงเงื่อนไข ทางการค้าต่างๆ ที่ธุรกิจมีอยู่ เช่น ลูกหนี้การค้า เจ้าหนี้การค้า หนี้สูญ เป็นต้น เพราะมีความสัมพันธ์กับกระแสเงินสดรับ-จ่ายของกิจการ เพื่อจะใช้วางแผน ในส่วนของการจัดทำแผนการเงินต่อไปอีกด้วย
ซึ่งขั้นตอนในการวิเคราะห์ตลาด และวิเคราะห์ธุรกิจนี้ จะเป็นขั้นตอนที่ทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนธุรกิจได้ทราบว่า ตนเองมีข้อมูล หรือเอกสารประกอบต่างๆเพียงพอ ที่จะนำไปกำหนด Business Model หรือกำหนดแนวทางในการดำเนินกลยุทธ์ต่างๆของธุรกิจ โดยถ้าผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผน สามารถบอกได้ว่าข้อมูลที่มีอยู่มีความเพียงพอ หรือมีรายละเอียดครบถ้วนแล้ว ก็สามารถไปสู่ ขั้นตอนที่สี่ ในการกำหนด Business Model ของธุรกิจได้เลย แต่ถ้ามีข้อมูลไม่เพียงพอหรือยังไม่ชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นในส่วนของข้อมูลภายนอกเช่น เรื่องของคู่แข่งขัน หรือรายละเอียดอื่นๆ ก็สมควรจะหาข้อมูลเพิ่มเติมให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์
Business Model ถือเป็นหัวใจสำคัญใน การกำหนดแนวทางการดำเนินการของธุรกิจ ว่าธุรกิจจะดำเนินการในรูปแบบใด มิ่งใดที่เป็นจุดเด่น หรือเป็นความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ สิ่งใดถือเป็นปัจจัยของความสำเร็จของธุรกิจ ซึ่งผู้เขียนได้เคยเขียนถึงเรื่องของการพัฒนา Business Model to Business Plan ไว้ในปี 2549 ซึ่งถ้าผู้อ่านมีความสนใจ สามารถอ่าน เพิ่มเติมได้จาก Website ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม www.sme.go.th SMEs@click ในหัวข้อศูนย์ความรู้ SMEs ด้านการจัดการ ก็จะช่วยให้เข้าใจในภาพรวมของการพัฒนา Business Model ไปสู่แผนธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น โดยองค์ประกอบพื้นฐานของ Business Model จะประกอบด้วย
- Value proposition การส่งมอบคุณค่าของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ ไปสู่ลูกค้า โดยสินค้าหรือบริการของธุรกิจ สามารถสร้าง อรรถประโยชน์ (Utility) หรือสามารถตอบสนองความพึงพอใจ (Satisfaction) ให้กับลูกค้าได้อย่างไร
- Market segments การกำหนดส่วนของตลาดหรือการแบ่งส่วนทางการตลาด โดยพิจารณาตามกลุ่มลูกค้าที่มีลักษณะทั่วไป หรือมีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับสินค้าหรือบริการของธุรกิจ ในการที่จะสร้างอรรถประโยชน์ (Utility) หรือสามารถตอบสนองความพึงพอใจ (Satisfaction) ของธุรกิจ สินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าได้
- Distribution channels การใช้ช่องทางจัดจำหน่าย วิธีการในการที่ธุรกิจจะเข้าตลาด ซึ่งจะรวมความถึง การดำเนินการทางการตลาด และกลยุทธ์ ในการกำหนดช่องทางจัดจำหน่ายที่สร้างความสะดวกให้กับลูกค้าเป้าหมาย
- Customer relationship การใช้หรือสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า วิธีการเชื่อมโยงในความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้า ที่แตกต่างกัน ในตลาด กระบวนการในการจัดการความเชื่อมโยงในความสัมพันธ์นี้ จะหมายรวมถึงการบริหารจัดการความสัมพันธ์ของลูกค้า (Customer relationship management) ด้วย
- Value configurations การจัดสรรทรัพยากรของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการในการจัดสรรทรัพยากรของธุรกิจ เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ บุคลากร เงินทุน รวมถึงกิจกรรมในการดำเนินการต่างๆของธุรกิจที่กำหนดขึ้น ในการสร้างคุณค่าของธุรกิจ สินค้าหรือบริการของธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับต่อลูกค้า
- Core capabilities การมีความสามารถหรือความชำนาญพิเศษ และปัจจัยสำคัญในการดำเนินการของธุรกิจ สำหรับ Business Model ที่ธุรกิจกำหนดขึ้น
- Partner network การมีเครือข่ายหุ้นส่วน เครือข่ายความร่วมมือระหว่างธุรกิจกับธุรกิจอื่น หรือบุคคลภายนอก ที่จำเป็นใน การดำเนินการ ในการสร้างคุณค่าของธุรกิจ สินค้าหรือบริการอย่างมี ประสิทธิภาพ เช่น ผู้ออกแบบ ผู้ผลิตสินค้า ผู้พัฒนาและวิจัย ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของสินค้า หรือบริการ เป็นต้น
- Commercialize network การมีเครือข่ายทางการค้า เครือข่ายความร่วมมือระหว่างธุรกิจกับธุรกิจอื่นหรือบุคคลภายนอก ในการดำเนินการทางการพาณิชย์ของธุรกิจ เช่น Supplier, Dealer, Distributor, Retailer, Creditor เป็นต้น
- Cost structure การใช้โครงสร้างต้นทุน ค่าใช้จ่ายๆต่างๆที่เกิดขึ้นในการดำเนินการของธุรกิจ
- Revenue model การสร้างรูปแบบการหารายได้ของธุรกิจ
รูปแบบขององค์ประกอบของ Business Model นี้ จะถูกกำหนดใช้แตกต่างกันออกไป เพราะในแต่ละธุรกิจจะมีลักษณะองค์ประกอบ ปัจจัย ข้อจำกัด ที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นกับตัวผู้ประกอบการและนโยบายในการบริหารจัดการ ดังนั้นจึงมิได้หมายความว่า ทุกธุรกิจจะต้องมี องค์ประกอบของ Business Model ที่เหมือนกัน หรือต้องมีองค์ประกอบทั้งหมดของ Business Model ตามที่ระบุไว้ข้างต้น แต่ควรกำหนดใช้เฉพาะองค์ประกอบบางข้อ ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองเท่านั้น เช่น ธุรกิจที่เลือกใช้ Business Model ด้าน Value proposition อาจมุ่งเน้นในเรื่องของกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ การพัฒนาสินค้า ให้ตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าให้มากที่สุด ถ้าเลือกด้าน Market segments อาจมุ่งเน้นในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดทั้งหมด ในการนำเสนอสินค้าหรือบริการ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า แต่ละประเภทตามที่กำหนดไว้ ถ้าเลือกด้าน Distribution channels อาจมุ่งเน้นในการขยายช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวก ในการซื้อสินค้า หรือใช้บริการ ถ้าเลือกด้าน Cost structure อาจมุ่งเน้นในการบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตสินค้า หรือบริการให้มี ประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อการแข่งขันในด้านของราคา หรือถ้าเลือกด้าน Revenue model อาจมุ่งเน้นในด้านของแนวทางการตลาดใหม่ หรือการหารายได้จากตลาดใหม่ เป็นต้น โดยองค์ประกอบเหล่านี้ในบางธุรกิจอาจใช้ในหลายๆองค์ประกอบผสมผสานกัน แต่พึงระลึกว่า องค์ประกอบของ Business Model ที่ธุรกิจเลือกนั้น ถือเป็นแนวทางสำคัญ ที่จะส่งผลไปยังการวางแผนในการดำเนินการของธุรกิจ หรือสิ่งที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจ เพราะถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จและความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นถ้าธุรกิจเลือกองค์ประกอบใดของ Business Model รายละเอียดต่างๆของแผนธุรกิจก็จะสอดรับกับ Business Model ที่กำหนดขึ้น ในที่นี้จะเป็นตัวอย่างของแนวความคิดหลังจากการกำหนด Business Model
"จากการที่ธุรกิจได้มีการกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า เป็นหัวใจสำคัญ ในการขางขัน โดยธุรกิจได้ทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประกอบกับธุรกิจมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้าน
การออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเคยได้รับรางวัลในการประกวดด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับโลกมาแล้ว ธุรกิจจึงได้ตั้งเป้าหมาย ในการ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างน้อย 3 แบบ ตามประเภทของลูกค้าทุกๆ 6 เดือน และเนื่องจากยังไม่มีผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกัน ที่สามารถตอบสนอง ความต้องการของลูกค้าได้ในตลาด ดังนั้นผลิตภัณฑ์จึงสามารถตั้งราคาผลิตภัณฑ์ได้ในระดับสูงกว่าสินค้ารายอื่น โดยคาดว่าการเพิ่มขึ้นของ ยอดขายสินค้าโดยเฉลี่ย 20% จากปี 2549 เมื่อสิ้นปี 2550 และรายได้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 25% จากยอดรายได้ในปี 2550"
ซึ่งรายละเอียดหรือการประมาณการดังกล่าวนี้มาจากการที่ธุรกิจใช้ Business Model โดยมุ่งเน้นด้าน Value proposition Market Segments และ Core capabilities ทำให้ในแผนธุรกิจฉบับนี้จะมีรายละเอียดต่างๆ ด้านกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ ข้อมูลลูกค้า การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค รายละเอียดเกี่ยวกับทีมงานหรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีรายละเอียดหรือให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนนี้เป็นพิเศษ นอกเหนือจาก รายละเอียดในหัวข้ออื่นๆของแผนธุรกิจ ดังนั้นการกำหนด Business Model จึงถือเป็นจุดกำหนดแนวทางว่า ในขั้นตอน ต่อไปในการเริ่มต้นดารเขียนแผนธุรกิจ จะแสดงรายละเอียดอะไร จะใช้ข้อมูลใดในการนำเสนอ และผลจากการ วิเคราะห์ตลาดและ วิเคราะห์ธุรกิจนั้น จะนำมาสรุปผล หรือใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนตาม Business Model ที่ผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนอย่างไรอีกด้วย
เริ่มต้นเขียนแผน ในขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ภายหลังจากการกำหนด Business Model เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ธุรกิจจะมี แนวทางในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใด และจะใช้กลยุทธ์หรือวิธีการใด ในการสร้างจุดเด่น และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ จากองค์ประกอบของ Business Model ที่ธุรกิจกำหนดขึ้น โดยการเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจในขั้นตอนที่ 5 นี้ สำหรับผู้ประกอบการ ที่เคยผ่านการศึกษา หรือการอบรม อาจจะไม่มีความยุ่งยากนัก เนื่องจากมีความคุ้นเคยหรือได้เคยจัดทำมาก่อนบ้างแล้ว แต่สำหรับ ผู้ประกอบการใหม่ หรือผู้ที่ยังไม่เคยผ่านการศึกษาอบรมมาเลย อาจจะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดีจึงจะเหมาะสม โดยถ้าเป็นกรณีดังกล่าวนี้ ผู้ประกอบการ ควรศึกษาจากโครงร่าง หรือตัวอย่างรูปแบบของแผนธุรกิจ เช่น จากตำราวิชาการ หรือหนังสือเกี่ยวกับการเขียนแผนธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีการวางจำหน่ายตามศูนย์หนังสือ หรือร้านหนังสือทั่วไป ซึ่งอาจมี CD ซึ่งบันทึกข้อมูลไฟล์ตัวอย่างของแผนธุรกิจ และไฟล์สำหรับการคำนวณทางการเงินอีกด้วย หรือ Download ตัวอย่างของโครงร่างแผนธุรกิจจาก Website ของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับ การสนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม www.sme.go.th หรือ Website กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม www.dip.go.th ซึ่งนอกจากจะมีไฟล์ข้อมูลของโครงร่างแผนธุรกิจ ยังมีตัวอย่างแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ และแบบการลงทุนในธูรกิจประเภทต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลของผู้ประกอบการ แต่โครงร่างหรือวิธีการเขียนแผนธุรกิจในแต่ละแหล่ง อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการมีความสับสนว่า ควรจะเลือกใช้โครงร่างของแผนธุรกิจ จากแหล่งใด จึงจะดีที่สุด หรือมีโอกาสในการกู้เงินถ้าใช้เพื่อการนำเสนอต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินได้มากที่สุด
ในข้อเท็จจริงแล้วผู้ประกอบการพึงระลึกไว้ก่อนเป็นเบื้องต้นว่า ไม่มีโครงร่างคู่มือการเขียนแผนธุรกิจใดที่ดีที่สุด หรือสามารถใช้ได้กับทุกธุรกิจ เพราะธุรกิจแต่ละประเภทนั้นไม่เหมือนกันหรือมีความแตกต่างกันในการดำเนินการ วัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนธุรกิจที่แตกต่างกัน รวมถึงหน่วยงานที่ผู้ประกอบการนำเสนอแผนธุรกิจ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดหรือความต้องการข้อมูลในแผนธุรกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะทำให้แผนธุรกิจที่เขียนขึ้น อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันแม้ว่าจะเป็นการเขียนขึ้นโดยธุรกิจเดียวกัน เมื่อมีวัตถุประสงค์หรือ การนำเสนอ ไปยังหน่วยงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ประกอบการสามารถเลือกโครงร่างของแผนธุรกิจจากแหล่งใดก็ได้ แต่ควรพิจาณาเลือกใช้ให้มี ความเหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง หรือผู้เขียนมีความเข้าใจในโครงร่างของแผนธุรกิจที่เลือก และสามารถกรอกรายละเอียดต่างๆ ในโครงร่างของแผนธุรกิจนั้นได้อย่างครบถ้วนเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่ของโครงร่างของแผนธุรกิจไม่ว่าจะมาจากแหล่งข้อมูลใดก็ตาม จะประกอบด้วยส่วนสำคัญต่างๆ ประกอบด้วย
บทสรุปผู้บริหาร
ข้อมูลของธุรกิจ
ประวัติของธุรกิจ หรือแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ
ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจ
สภาวะตลาดหรือสภาวะอุตสาหกรรม
การดำเนินการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจอื่น
ลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจ
แผนการบริหารจัดการ
แผนการตลาด
แผนการผลิตหรือการบริการ
แผนการเงิน
ภาคผนวกหรือเอกสารแนบ
ซึ่งถ้าผู้ประกอบการทำการเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างเหมาะสมตามขั้นตอนที่ 2 ก็จะสามารถกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลของธุรกิจ ประวัติของธุรกิจ หรือแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจได้อย่างสะดวก เพราะเป็นสิ่งที่มาจากข้อมูลภายใน (Internal Data) ของธุรกิจเอง รวมถึงสภาวะตลาดหรืออุตสาหกรรม และการดำเนินการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจอื่น ได้เบื้องต้นจากข้อมูลภายนอก (External Data) ที่รวบรวมข้อมูลเอาไว้แล้ว รวมถึงข้อมูลหรือเอกสารสำคัญต่างๆ เพื่อไว้ใช้ในส่วนของ ภาคผนวกหรือเอกสารแนบ และถ้ามีการวิเคราะห์ตลาดหรือวิเคราะห์ธุรกิจในขั้นตอนที่ 3 ก็จะสามารถกรอก รายละเอียดเกี่ยวกับ สภาวะตลาดหรือสภาวะอุตสาหกรรม การดำเนินการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการของธุรกิจอื่น ได้โดยละเอียดและมีเหตุผล รวมถึงสามารถกำหนดแนวทางในการวางแผนการบริหารจัดการ การวางแผนการตลาด การ วางแผนการผลิตหรือการบริการได้เบื้องต้น เพราะเป็นการวิเคราะห์จากปัจจัยภายในและภายนอกของธุรกิจที่เป็นอยู่ รวมถึงพอที่จะระบุเกี่ยวกับประมาณการในการลงทุน รายได้ ต้นทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เป็นอยู่หรือจะมีการกำหนดขึ้นในอนาคตซึ่งต้องระบุไว้ในแผนการเงิน และถ้าสามารถกำหนด Business Model ของธุรกิจตามขั้นตอนที่ 4 ก็จะสามารถระบุเกี่ยวกับลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจที่เหมาะสมและเป็นไปได้ แผนการบริหารจัดการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับรูปแบบของ Business Model ที่ธุรกิจเลือก การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางจัดจำหน่าย การส่งเสริมการตลาด ในแผนการตลาด ซึ่งตอบสนองกับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ และลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจ ตาม Business Model ที่ระบุไว้ การวางเป้าหมายหรือการดำเนินการเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการ เช่น จำนวนการผลิต ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตหรือบริการ ที่สอดรับกับแผนการบริหารจัดการ หรือแผนการผลิต หรือแผนบริการที่กำหนดไว้
โดยส่วนที่ผู้ประกอบการหรือผู้เขียนแผนต้องมีการจัดทำเพิ่มเติมโดยละเอียด ซึ่งอาจต้องใช้ความรู้ความชำนาญโดยเฉพาะ เพราะมีเรื่องเกี่ยวกับ การคำนวณ สูตรหรือตัวเลขต่างๆ ได้แก่ประมาณการทางการเงินล่วงหน้าในแผนการเงิน ซึ่งเป็นการประมาณการเกี่ยวกับ รายได้ ต้นทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของธุรกิจ ซึ่งมาจากรายละเอียดของกิจกรรมดำเนินการต่างๆ ที่มาจากแผนการบริหารจัดการ แผนการตลาด แผนการผลิตหรือการบริการนั่นเอง เพื่อแสดงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของธุรกิจ ในรูปของ ผลกำไร (Profit) มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net present value – NPV) มูลค่าอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal rate of return – IRR) ระยะเวลาคืนทุน (Payback period) หรือการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial analysis) เป็นต้น แต่ในปัจจุบันที่มีไฟล์คำนวณทางการเงิน ที่จัดทำขึ้นสำหรับแผนธุรกิจให้ Download หรือแถมพร้อมกับหนังสือ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้มีความสะดวก สำหรับการจัดทำ ประมาณการ ทางการเงินในแผนธุรกิจ หรือในปัจจุบันที่มักจะต้องมีการจัดทำแผนประเมินความเสี่ยง (Risk assessment plan) ถ้าผู้ประกอบการ ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถกรอกรายละเอียดในส่วนดังกล่าวได้เช่นกัน เพราะเป็นความเสี่ยงหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากการดำเนินการต่างๆในแผนธุรกิจ โดยในส่วนของบทสรุปผู้บริหารก็เป็นเพียง การสรุปประเด็นสำคัญต่างๆจาก แผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นมา ทั้งหมดนั่นเอง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดของขั้นตอนในการเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจ ตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 เลือกธุรกิจ ขั้นตอนที่ 2 รวบรวมข้อมูล ขั้นตอนที่ 3 วิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์ธุรกิจ ขั้นตอนที่ 4 กำหนด Business Model และขั้นตอนที่ 5 เริ่มต้นเขียน หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ แนวทางในการเริ่มต้น สำหรับผู้ประกอบการ ในการจัดทำหรือการเขียนแผนธุรกิจได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ