พฤติกรรมมนุษย์ - ปัจจัยพื้นฐานด้านสังคมวิทยา
พฤติกรรมมนุษย์ - ปัจจัยพื้นฐานด้านสังคมวิทยา
พื้นฐานทางชีววิทยาหรือทางประสาทวิทยา เน้นที่พฤติกรรมของเอกัตบุคคล คือ พฤติกรรม ของคนคนหนึ่ง ที่ไม่สัมพันธ์กับผู้อื่น แต่มนุษย์เป็น สัตว์สังคม มีความต้องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และบางกรณีก็จำเป็น ต้องอยู่รวมกัน เป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นสังคม กระบวนการของกลุ่ม กระบวนการ ทางสังคม และสิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรม จึงมีส่วนสำคัญใน การกำหนดลักษณะ พฤติกรรมของมนุษย์ ให้เป็นไปตามสภาพของสังคมได้
1. อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม
บรอนเฟนเบนเนอร์ (Bronfenbrener cited by Sigelman & Shaffer, 1995, 86) ให้คำนิยามของ สิ่งแวดล้อม ไว้ดังนี้ "สิ่งแวดล้อมได้แก่เหตุการณ์หรือสภาวะใด ๆ ที่อยู่นอกอินทรีย์ที่มีผลต่อหรือ ได้รับผลจาก
การกระทำ และ พัฒนาการของมนุษย์" สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ คือ ทุกสิ่งตั้งแต่โมเลกุลเล็ก ๆ ที่สามารถซึมสู่ กระแสเลือด ของตัวอ่อน ในครรภ์ จนถึงรูปแบบ สถาปัตยกรรม ของอาคาร ที่อยู่อาศัยเมื่อเติบโตขึ้น
และสภาวะแวดล้อมโดยรอบ สิ่งแวดล้อมทางสังคม จะหมายถึงคนอื่น ๆ ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับตัวเรา และได้รับ อิทธิพล บางอย่างจาก ตัวเรา ด้วย
บรอนเฟนเบนเนอร์ ได้เสนอแนวคิดในการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมไว้ เรียกว่า Ecological Approach ในแนวคิดนี้ได้แบ่งสิ่งแวดล้อมออกเป็นระบบต่อเนื่องกัน แต่ละระบบ มี
ปฏิสัมพันธ์ กับบุคคลและ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันด้วย ดังนี้
1.1 ระบบจุลภาค เป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับตัวที่สุดและให้ประสบการณ์โดยตรง หน่วยแรกที่สุด คือ ครอบครัว ที่พ่อแม่และลูก มีปฏิสัมพันธ์กัน นอกจากนี้ยังมีหน่วยอื่นอีก เช่น ครอบครัวของญาติ ศูนย์เลี้ยงดูแลเด็ก
ห้องเรียน ที่โรงเรียน เป็นต้น ในแต่ละระบบจุลภาคนี้ พฤติกรรมของ เด็กจะกระทบต่อคนอื่น ๆ ซึ่งเขาเหล่านั้น จะส่งผลกระทบ ต่อเด็กในรูปใหม่ได้ แม้แต่ทารกในครรภ์ก็อาจมีอิทธิพลต่อ พฤติกรรมของมารดา แล้วส่งผล
ย้อนกลับต่อ อนาคตของทารกได้ สิ่งแวดล้อมใดที่คนทุกคนในนั้น สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ทั่วถึงจัดเป็นระบบจุลภาค
1.2 ระบบปฏิสัมพันธ์ เป็นระบบสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงระบบจุลภาคต่าง ๆ ให้สัมพันธ์กัน เช่น ความสัมพันธ์ ระหว่าง ญาติพี่น้อง ระหว่าง ครอบครัวและโรงเรียน เด็กที่มีปัญหาที่บ้านจะไปสร้างปัญหาที่โรงเรียน เด็กจากครอบครัวอุ่น มักจะเป็นเด็กเรียบร้อย ที่โรงเรียน เป็นต้น
1.3 ระบบภายนอก เป็นสภาพทางสังคมที่คนเราไม่ได้รับประสบการณ์โดยตรง แต่มีผลกระทบต่อพฤติกรรม หรือ พัฒนาการ ของบุคคล ได้ เช่น ทักษะทางสังคม ความสำเร็จในหน้าที่การงานของพ่อแม่ มีส่วนใน การจัดประสบการณ์ ที่เหมาะสม ให้ลูก ได้มากหรือน้อย หรือนโยบายของรัฐบาล ข้อกำหนด และเครือข่ายทางสังคมระหว่างกลุ่มคน เป็นสิ่งแวดล้อมประเภทนี้
1.4 ระบบมหภาค คือ ระบบใหญ่ที่สุดของสังคม ซึ่งเป็นที่รวมทุกระบบที่กล่าวมาให้เกี่ยวเนื่องกัน เป็นวัฒนธรรมใหญ่ และ วัฒนธรรมย่อยของสังคม วัฒนธรรมเป็นการปฏิบัติและแนวดำเนินชีวิต ซึ่งยอมรับกันในสังคม และ สืบทอดจาก คนรุ่นหนึ่ง ไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ได้แก่ ทัศนะเกี่ยวกับ ธรรมชาติของมนุษย์ในแต่ละวัยว่า ควรสอนอะไรให้เด็ก เพื่อทำหน้าที่ในสังคม เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ควรมี ความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง แต่วัฒนธรรมก็มีการพัฒนา ไปตามกาลเวลา มีเหตุการณ์สำคัญใน ประวัติศาสตร์ของสังคม เช่น ภาวะสงคราม สภาพเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ จากธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เราไม่ สามารถสรุปได้ว่า คนในสังคมเดียวกัน จะมีพฤติกรรม เหมือนกันหมด เพราะคนที่เกิด และมีผ่าน ประสบการณ์ต่างยุคสมัย กันจะได้รับ อิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม ระดับมหภาคที่แตกต่างกัน
1.5 ระบบเหตุการณ์แวดล้อม เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของสิ่งแวดล้อมและ การเปลี่ยนไปของสิ่งแวดล้อม ตลอดช่วงชีวิต ของบุคคล และรวมถึงเหตุการณ์ซึ่งเป็น ประวัติของบุคคล ผู้นั้นด้วย เช่น อิทธิพลของการหย่าร้าง ที่มีต่อเด็ก ซึ่งนักวิจัยพบว่า การหย่าร้างนั้นจะเกิดผล ทางลบมากที่สุดต่อเด็กในปีแรก มีผลต่อเด็กชาย มากกว่า เด็กหญิง แต่หลังจากการหย่าไปแล้วประมาณ 2 ปี เด็กจะเริ่มปรับตัวได้ (Bronfenbrener cited by Santrock, 1996) ระบบของสิ่งแวดล้อมที่เสนอโดย บรอนเฟนเบนเนอร์ แต่ละระบบมีส่วนสร้างพฤติกรรม ของบุคคล และอาจถูกเปลี่ยนแปลงได้จากคนในระบบนั้น ๆ ด้วย มนุษย์ที่พัฒนาหรือเติบโตมาจาก สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ย่อมมี พฤติกรรม และลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไปด้วย
2. กระบวนการสังคมประกิต
กระบวนการสังคมประกิต (Socialization) เป็นกระบวนการที่สถาบันต่าง ๆ ในสังคมได้ กล่อมเกลา อบรมหรือให้การเรียนรู้แก่สมาชิกในสังคมว่าอะไรควรทำ อะไรเป็นข้อห้าม ทำให้เกิดปทัสถาน ระเบียบ และวัฒนธรรมของกลุ่มที่ทุกคนต้องคำนึงถึงในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมนั้นสถาบันทางสังคมที่สำคัญได้แก่
สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบัน การปกครอง เพื่อนและสื่อมวลชน เป็นต้น
ในกระบวนการสังคมประกิต ครอบครัวเป็นสถาบันแรกทางสังคมที่อบรมบุคคล ด้านเจตคติ แบบพฤติกรรม วัฒนธรรม ระเบียบแบบแผนทางสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น พ่อแม่ให้การอบรมเลี้ยงดูแก่ลูกแบบใดมีผลต่อพฤติกรรมและนิสัยของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น
วิธีการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่พิจารณาได้จากสองมิติ คือ ความรัก-ความชิงชัง และ การให้อิสระ-การเข้มงวด จึงมีพ่อแม่ที่รักลูก พ่อแม่ที่ ชิงชังลูก พ่อแม่ที่ให้อิสระแก่ลูก และพ่อแม่ที่เข้มงวดกับลูก
เมื่อนำสองมิตินี้มาประกอบกันจะได้ แบบพื้นฐานการเลี้ยงดูลูกสี่แบบ ได้แก่ ให้ความรักแต่เข้มงวด ให้ความรักและความอิสระ ชิงชังและเข้มงวด ชิงชังและปล่อยอิสระ
ในมิติแรกเรื่อง ความรัก-ความชิงชัง เป็นที่ยอมรับกันว่าเด็กซึ่งเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความรักความอบอุ่น จะได้รับประสบการณ์ที่ส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ และปรับตัวในสังคมได้ดี ส่วนในมิติ
ความเข้มงวด-การให้อิสระ ยังต้องมีการพิจารณาว่าพ่อแม่ควรเข้มงวดหรือให้ความอิสระและลูกในระดับใดจึงเหมาะสม บอมรินด์ (Baumrind, 1991 อ้างถึงในวินัย เพชรช่วยและคณะ, 2543) เสนอไว้ 3 แบบ ดังนี้
2.1 แบบเข้มงวด เป็นแบบการเลี้ยงดูที่เข้มงวดกับลูกสูงมาก ตั้งกฎเกณฑ์และระเบียบ มากมาย และคาดหวังว่าต้องได้รับการปฏิบัติตามทุกอย่างโดยไม่ต้องทราบเหตุผล พ่อแม่แบบนี้จะไม่อธิบายเหตุผลในกฎเหล่านั้นด้วย หากไม่ทำตามจะใช้อำนาจบังคับ ลงโทษทางกายหรือด้วยวิธีต่าง ๆ
2.2 แบบยึดหยุ่นในเกณฑ์ เป็นแบบการเลี้ยงดูที่ยืดหยุ่นได้ ให้ลูกมีอิสระตามสมควร กำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจนและอธิบายเหตุผลว่าทำไมต้องเข้มงวด ตอบสนองความต้องการและรับฟัง ความคิดเห็นของลูก แต่ลูกยังต้องปฏิบัติตามกฎที่กำหนดไว้
2.3 แบบผ่อนปรน เป็นแบบการเลี้ยงดูที่ผ่อนคลายมาก พ่อแม่ไม่ตั้งกฎเกณฑ์หรือคาดหวังในลูกมากนัก ปล่อยให้ลูกแสดงอารมณ์และการกระทำตามต้องการได้ ไม่เข้มงวดหรือควบคุมพฤติกรรมของลูก ให้อิสระในตัวลูกค่อนข้างมาก
การเลี้ยงดูแบบยึดหยุ่นในเกณฑ์ ถ้าประกอบด้วยความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ จะเป็นแบบการเลี้ยงดูลูกที่ส่งผลให้เด็กเติบเป็นสมาชิกที่ดีในสังคม แสดงพฤติกรรมที่มีเหตุผล มีนิสัยเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ร่วมมือกับผู้อื่น
เคารพกติกา และมีวินัยในตนเอง ส่วนการเลี้ยงดูแบบเข้มงวด ถ้าหากประกอบด้วยความชิงชัง ทำให้เด็กที่เติบโตขึ้นเป็นพวกต่อต้านสังคม ชอบก่อเหตุรุนแรง
3. อิทธิพลของกลุ่ม
กลุ่มเป็นการรวมตัวกันของบุคคล เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง มีขนาด แตกต่างกัน คนคนหนึ่งอาจเป็น สมาชิกของกลุ่มหลายกลุ่ม ในขณะเดียว พฤติกรรม ของเขา ในฐานะสมาชิก ของกลุ่มต้องสอดคล้อง กับลักษณะของกลุ่มนั้น กลุ่มทุกกลุ่มย่อม มีคุณลักษณะเฉพาะของตนเอง ลักษณะที่สำคัญได้แก่ บทบาท (Roles) ปทัสถาน (Norms) สถานะภาพ (Status)
3.1 บทบาท เป็นพฤติกรรมที่คาดหวังต่อสมาชิก อาจกำหนดไว้ชัดเจนเป็นบันทึกอย่างเปิดเผยว่า สมาชิกคนไหน ควรมีบทบาทอย่างไร แม้จะไม่ครอบคลุมทุกอย่าง แต่เป็นกรอบสำคัญให้สมาชิกในกลุ่มได้ปฏิบัติ ในกรณีที่บุคคลหนึ่ง เป็นสมาชิกของหลายกลุ่มที่มี บทบาท ขัดแย้งกัน อาจทำให้ พฤติกรรมของคนนั้นมีปัญหา เรื่องความขัดแย้ง ในบทบาทได้
3.2 ปทัสถาน เป็นกฎกติกาของกลุ่มเกี่ยวกับพฤติกรรม หรือการปฏิบัติที่สมาชิกส่วนใหญ่ ยอมรับว่า อะไรควรปฏิบัติ อะไรเป็นข้อห้าม จะเป็นเรื่องทั่วไปที่มีผลกระทบกับส่วนใหญ่ของกลุ่ม มากกว่าเรื่องส่วนบุคคล สมาชิกของกลุ่ม ทุกคน ต้องยึดถือปทัสถานนี้
3.3 สถานภาพ เป็นการกำหนดระดับชั้นของสมาชิกกลุ่มในสังคม เป็นการให้ความสำคัญหรือยกย่องกัน สถานภาพ จึงเป็น การเปรียบเทียบ ฐานะทางสังคมว่า ใครสูงกว่าใคร ซึ่งการได้สถานภาพ บางอย่างก็จะมี บทบาทที่กำหนดใน
การครองสถานภาพ นั้นด้วย
สถานภาพของบุคคล อาจได้มาจากหลายทาง ได้แก่ สถานภาพโดยกำเนิด เช่น เกิดใน ราชตระกูล ตระกูลที่ร่ำรวย มีชื่อเสียง ตระกูล ชาวนา สถานภาพจากการทำงาน พิจารณาจาก ตำแหน่งงาน ประเภทของงาน ความชำนาญงาน
หรือ สถานภาพจาก บุคลิกภาพ ส่วนตัว เช่น คนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีเข้ากับคนส่วนใหญ่ได้ วางตนได้เหมาะสม จะได้รับยกย่อง
การพิจารณาว่า อย่างไหนสูงกว่า ย่อมขึ้นอยู่กับว่า กลุ่มใดเป็นผู้พิจารณา เช่น ในวงวิชาการ อาจถือว่า ศาสตราจารย์ มีสถานภาพสูงที่สุด แต่พนักงานธนาคารเห็นว่า ศาสตราจารย์คนนี้ มีสถานภาพต่ำกว่า ประธานกรรมการธนาคาร
ของเขา เป็นต้น
สรุป
ปัจจัยพื้นฐานสำหรับพฤติกรรมมนุษย์ คือ หลักการ หรือความรู้ซึ่งช่วยให้เข้าใจ พฤติกรรมมนุษย์ ได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น ปัจจัยพื้นฐานของพฤติกรรม ที่สำคัญได้แก่ ปัจจัยทางชีวภาพ ซึ่งกล่าวถึง อิทธิพลของพันธุกรรม
และ การทำงานของ ระบบประสาท สมอง ต่อมไร้ท่อ และกล้ามเนื้อที่มีต่อ พฤติกรรม ปัจจัยจิตวิทยา ซึ่งกล่าวถึง แรงจูงใจ และ การเรียนรู้ ที่มีอิทธิพลต่อ พฤติกรรม และปัจจัยทางสังคม ที่กล่าวถึงระบบของสิ่งแวดล้อม
กระบวนการสังคมประกิตในครอบครัว และกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อ พฤติกรรม กระบวนการทำงานของปัจจัยเหล่านี้ทำให้มนุษย์มีความ แตกต่าง ระหว่างบุคคล และอาจแสดงพฤติกรรม ที่แตกต่างกัน ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน