ฮวงจุ้ยคืออะไร

ความหมายของฮวงจุ้ย

ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “ฮวงจุ้ย” เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาจีน ไม่ใช่คำไทยแท้ๆ แต่คนไทยเราเองก็เรียกคำว่า ฮวงจุ้ยโดยมีความหมายใกล้เคียง กับเจ้าของภาษา ซึ่งจะเป็นความหมายในเชิงความเชื่อเรื่อง การจัดและแก้ไขที่อยู่อาศัยให้ถูกโฉลกกับเจ้าของ ให้มีความร่ำรวย เจริญรุ่งเรือง หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้หมดไป และส่วนมากแล้วผู้รู้เรื่องฮวงจุ้ยจะถูกเรียกว่าเป็น “ซินแส” ซึ่งหลายคนอาจ จะนึกถึงว่า เป็นพวกหมอดู หรือหมอผี ไม่ใช่คนปกติธรรมดา หรืออาจจะถูกมองไปถึงขั้นผู้วิเศษเรียกลมเรียกฝนได้เลยทีเดียว ความจริงแล้วตามรากศัพท์ของคำว่าฮวงจุ้ยนี้ก็น่าจะทำให้เราคิดไปได้เช่นนั้น เนื่องจากคำว่า “ฮวง” (Feng) ในภาษาจีนนั้น หมายถึง ลม และคำว่า “จุ้ย” (Shui) นั้นก็หมายถึง น้ำ รวมๆความแล้วฮวงจุ้ยแปลตรงตัวก็จะแปลได้ว่า ลมและน้ำ อันหมายถึงสิ่งที่มีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปรไปได้ มีพลังงานที่จะก่อให้เกิดอิทธิพลต่อสิ่งต่างๆในโลกนี้ ลมและน้ำ มีสภาพที่เหมือนและแตกต่างกัน คือ ลมมีสภาพที่จับต้องไม่ได้ แต่เคลื่อนไหวได้ ในขณะที่น้ำก็เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวได้เช่นกัน แต่สามารถจับต้องได้ด้วย ด้วยเหตุนี้เองคำว่าฮวงจุ้ยจึงมีความหมายไปถึงสิ่งที่เคลื่อนไหวหรือสงบนิ่งที่ทำให้เกิดพลังงานที่มีผล มีอิทธิพลต่อมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ ซึ่งอาจจะแปลให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกนิดว่าลมและน้ำนั้นหมายความถึง “พลังงานของธรรมชาติและสภาพแวดล้อม” นั่นเอง และในความหมายจริงๆของวิชาฮวงจุ้ย 风水นั้นก็จะหมายถึง ศาสตร์แห่งการใช้ชีวิตให้มีความสมดุลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าจะเป็นคำแปลที่ใกล้เคียงที่สุดของการศึกษาเรื่องฮวงจุ้ย Feng-shui \F[^e]ng"-shu`i\, n. [Chin. feng wind + shui water.] A system of spirit influences for good and evil believed by the Chinese to attend the natural features of landscape; also, a kind of geomancy dealing with these influences, used in determining sites for graves, houses, etc. ที่มา: Webster's Revised Unabridged Dictionary, © 1996, 1998 MICRA, Inc. จากความหมายของ Webster dictionary ที่แปลได้ความว่าฮวงจุ้ยคือ ระบบความเชื่อของจีนเกี่ยวกับจิตวิญญาณของสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีทั้งด้านดีและร้ายที่มีอิทธิพลต่อบ้าน ได้แสดงให้เห็นถึงพลังของสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อผู้อยู่อาศัย อันหมายถึงอิทธิพลทั้งในด้านที่จะส่งเสริมให้ดีขึ้น คือมีโชคลาภ บารมี ความเจริญก้าวหน้า ความสุขสงบในชีวิต และในทางกลับกันฮวงจุ้ยที่ไม่ดีก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้อยู่อาศัยได้เช่นกัน เช่น อาจจะทำให้เกิดโชคร้าย อุบัติหตุ โรคภัย และความสูญเสียในรูปแบบต่างๆ โดยความหมายของสิ่งแวดล้อมจะหมายความรวมทั้งสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ในประเทศจีนสมัยโบราณ ศาสตร์ฮวงจุ้ยนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นศาสตร์ที่ใช้สำหรับกษัตริย์ ราชวงศ์ หรือชนชั้นสูงเท่านั้น พระราชวังของกษัตริย์จะเลือกพื้นที่ตั้ง และออกแบบก่อสร้างตามหลักของศาสตร์นี้ นอกจากนี้ยังใช้ในการเลือกชัยภูมิที่ตั้งของเมือง การวางผังเมือง หรือแม้กระทั่งในการรบก็จะต้องวางพื้นที่ให้ถูกต้องตามหลักพิชัยสงครามสำหรับการสงคราม ทั้งเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และสามารถเอาชนะข้าศึกในการรบได้

หลักความเชื่อเกี่ยวกับฮวงจุ้ยและดวงชะตา

ชาวจีนมีความเชื่อเรื่องดวงชะตาว่าชีวิตของมนุษย์นั้นจะดีหรือร้ายเพียงใดขึ้นกับดวงชะตา ซึ่งสามารถแบ่งดวงชะตาออกได้เป็น 3 ส่วน คือชะตาแห่งฟ้าลิขิต ชะตาแห่งคนลิขิต และชะตาแห่งฮวงจุ้ย

1. ชะตาฟ้า (เทียน) หมายถึงบุญวาสนาที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทรัพย์สมบัติ ฐานะของพ่อแม่ การได้รับการเลี้ยงดูสั่งสอน รวมไปถึงโชคหรือเคราะห์ต่างๆที่แต่ละคนจะมีไม่เท่ากัน ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เป็นกรรมที่ได้รับผลมาจากชาติปางก่อน
2. ชะตาคน (นั้ง) หรือชะตากรรม หมายถึงการกระทำ กรรมที่เราสร้างขึ้นในชาตินี้ ทำกรรมดี ขยันทำงาน อดทนตั้งใจศึกษาเล่าเรียนย่อมได้รับผลกรรมที่ดี หากทำชั่ว ลักขโมย ขายยาเสพติด ฉ้อโกงทรัพย์ก็อาจจะได้รับผลดีในระยะสั้น คือมีเงินทองจากการทำชั่วฉกชิงเขา แต่ในระยะยาวก็ย่อมจะต้องได้รับผลกรรมจากความชั่วที่ได้ทำเอาไว้ ชะตาในประเภทนี้จึงเป็นชะตาที่กำหนดได้โดยตัวคนนั้นๆเอง เลือกได้ว่าจะทำสิ่งใด หรือจะไม่ทำสิ่งใด
3. ชะตาดิน (ตี่) หมายถึงสภาพแวดล้อมรอบๆตัวเรา หรือฮวงจุ้ยนั่นเอง เป็นสิ่งที่จะสามารถส่งเสริมให้ชีวิตเราดีขึ้น ทำให้ความขยันทำมาหากินได้รับผลเร็วมากขึ้น หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมก็อาจจะเป็นตัวถ่วงหรือทำลาย ทำให้ความเพียรพยายามทำกรรมดีไม่เกิดผลอย่างที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่าง เช่น เปิดร้านขายข้าวราดแกง แต่ทำเลที่ตั้งไม่ดี ลูกค้าจอดรถลำบาก หรืออยู่ในที่ๆคนไม่ค่อยมาก ถึงเราขยันแค่ไหนก็สู้ร้านอื่นๆที่เขามีทำเลดีกว่าไม่ได้ ยิ่งขยันทำของขายจำนวนมากก็อาจจะยิ่งขาดทุนมากขึ้นเพราะไม่มีคนซื้อ เป็นต้น

ชะตาทั้งสามนี้คนจีนเชื่อว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ในสัดส่วนเท่าๆกันคืออย่างละ 1 ใน 3 ส่วน นั่นหมายความว่า โชคชะตาที่เราไม่สามารถกำหนดเองได้นั้นมีเพียงฟ้าลิขิตเท่านั้นเอง กล่าวคือ เกิดมาจน รวย มีฐานะชาติตระกูลที่แตกต่างกัน ไม่สามารถเลือกที่เกิดได้ แต่สามารถเลือกที่จะเลือกกำหนดการกระทำของตนเองได้ อันนี้คือชะตาแห่งคนลิขิต คนที่มีความขยันหมั่นเพียร แม้จะเกิดมาฐานะไม่ดีแต่สู้อดออมก็สามารถประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรืองได้ ในทางกลับกัน คนที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง แต่มีนิสัยเกียจคร้าน ไม่มีคุณธรรม ก็เป็นที่ครหานินทา และชีวิตก็ตกต่ำลงได้เช่นเดียวกัน

ส่วนชะตาแห่งดิน หรือฮวงจุ้ยนั้น หมายถึงหากเรามีฮวงจุ้ยที่ดี คือจัดสภาพที่อยู่อาศัย ที่ทำงานไว้อย่างดีและเหมาะสม ก็จะช่วยให้ชีวิตมีพลังขับดันไปในทางที่ดี แม้จะเป็นช่วงที่ตกอับ ดวงตก ก็ยังไม่เลวร้ายเกินไปนัก ซึ่งในทางตรงข้ามหากฮวงจุ้ยของบ้าน ที่ทำงานเราไม่ดี ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาอุปสรรค ความเจ็บไข้ หรือเคราะห์ร้าย ขยันทำกิจการก็ยังขาดทุน ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะที่ตั้งร้านค้าเราไม่เหมาะสม ไม่ส่งเสริมให้คนเข้าร้าน ยิ่งถ้าช่วงไหนดวงตกเข้าไปอีกแทบจะได้ขายร้านทิ้งกันเลยทีเดียว

ฮวงจุ้ยที่ดีนั้นจะสามารถส่งเสริมให้ชีวิตเป็นไปในทางที่ดี เนื่องจากเป็นสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่เราอยู่ หรือที่ทำงาน ตามหลักจิตวิทยาหากสภาพแวดล้อมดีก็ทำให้ทำงานได้สะดวกสบาย จิตใจสดชื่นมีกำลังใจสามารถที่จะต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคได้ง่ายกว่าคนที่จิตใจฝ่อเหี่ยว ไม่มีกำลังใจนั่นเอง

หลักแห่งความสมดุล

ชีวิตมนุษย์ในทรรศนะของชาวจีนที่นับถือเต๋า(วิถีแห่งธรรมชาติ)นั้น จะมีความสุขสมบูรณ์ได้แค่ไหน จะขึ้นอยู่กับความสมดุลของพลังชีวิต (ชี่) ของคนๆนั้นกับพลังปราณของสภาพแวดล้อม ซึ่งพลังปราณจะเกิดได้จากทั้งมนุษย์ด้วยกันเอง เกิดจากสถาปัตยกรรม สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และจากธรรมชาติ ชาวจีนเชื่อว่าสิ่งต่างๆย่อมมีพลังชีวิตหรือพลังปราณอยู่ในตัว สามารถเป็นได้ทั้งพลังที่สงบและเคลื่อนไหว มีอิทธิพลต่อสิ่งอื่นๆ เช่น ชี่ของภูเขาซึ่งสงบนิ่ง โอบอุ้ม ปกป้องภัย, ชี่ของรางรถไฟ ซึ่งนำกระแสเคลื่อนไหวรุนแรง และเป็นเส้นยาว เป็นต้น เหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อกันและกัน และมีสมดุลต่อกันอยู่คล้ายระบบนิเวศในวิทยาศาสตร์ แต่มีความหมายกว้างกว่า เพราะนอกจากจะหมายถึงกายภาพและชีวภาพแล้ว ยังหมายรวมไปถึงจิต วิญญาณที่จับต้องและชั่ง ตวง วัดไม่ได้อีกด้วย
พลังชี่นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง เรียกว่า พลังหยาง และพลังหยิน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน ตรงกันข้ามกัน และสอดคล้องสมดุลกันอยู่ในที

1. พลังหยาง หรือ เอี๊ยง หมายถึง สิ่งที่มีสภาพเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่ง มีความเร็ว ความคล่องตัวสูง สีขาว ความสว่างและพลังงาน เปรียบได้กับประจุไฟฟ้าขั้วบวก
2. พลังหยิน หรือ อิม, อิน หมายถึง สิ่งที่มีสภาวะสงบนิ่ง ความมืด ทึบชื้น เย็น สีดำ เปรียบได้กับประจุไฟฟ้าขั้วลบทั้งสองสิ่งนั้นเป็นของที่อยู่คู่กันและตรงกันข้ามเหมือนแสงและเงา คือจะเกิดเงาไม่ได้หากไม่มีแสง และเมื่อมีแสงก็ย่อมจะต้องเกิดเงามืด เป็นสภาวะคู่ที่มาพร้อมๆกัน อยู่ด้วยกันอย่างสมดุล หากเราจะสังเกตจากสัญลักษณ์ของหยิน-หยาง ซึ่งเป็นวงกลมดำขาวแล้ว เราก็จะพบว่าเป็นปรัชญาการร่วมกันของสิ่งตรงข้ามกัน คือในส่วนที่เป็นสีดำคือหยิน ก็มีสีขาวคือหยางปรากฏอยู่ และในส่วนที่เป็นหยางก็มีหยินอยู่ข้างในเช่นเดียวกัน สัญลักษณ์ที่หยิน-หยางกอดรวมกันเป็นวงกลม ก็หมายถึง สิ่งที่จำเป็นต้องมีคู่กัน ประกอบรวมกันจึงจะเกิดความสมดุล

หมวด
พลังหยาง
พลังหยิน
อาหาร
 รสจัด รสเผ็ด รสเค็ม รสหวาน
น้ำพริกปลาทู
น้ำร้อน / น้ำแกง
ขนมจีนปักษ์ใต้
อาหารประเภทเนื้อสัตว์
 รสจืด รสเปรียว รสขม
ผักลวก
น้ำแข็ง
ผักสด
อาหารประเภทผัก / อาหารเจ
ผลไม้
 ทุเรียน  มะนาว
ลักษณะ
 เคลื่อนไหว  สงบนิ่ง
อากาศ
 ร้อน  หนาว
สี
 ขาว
วรรณะเย็น
 ดำ
วรรณะร้อน
แสง
 ความสว่าง
แสง
 ความมืด
เงา
คน
 ชาย
ความแข็งแรง
ความก้าวร้าว
ระเบียบ / กฎเกณฑ์
ผู้อยู่อาศัย
คนเป็น
 หญิง
ความนุ่มนวล
ความอ่อนโยน
ผ่อนปรน / ยืดหยุ่น
สถาปัตยกรรม
คนตาย
สถานที่
 โล่งกว้าง
สนามกีฬา
ที่ชุมนุมคน / ห้างสรรพสินค้า
ที่ดิน ที่โล่ง
ถายนอก

 แคบทึบ
ห้องส้วม
สุสาน
อาคาร
ภายใน

ศาสตร์ต่างๆในวิชาฮวงจุ้ย

โดยหลักใหญ่ๆแล้ว วิชาฮวงจุ้ยสามารถที่จะแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ฮวงจุ้ยบนดิน (หยาง) คือฮวงจุ้ยที่อยู่อาศัยของคนที่ยังมีชีวิต และฮวงจุ้ยใต้ดิน (หยิน) คือสุสาน ผู้เรียนรู้ฮวงจุ้ยของจีนจะต้องเรียนทั้งสองส่วน เนื่องจากความเชื่อของคนจีนที่เชื่อว่า สุสานของบรรพบุรุษจะเป็นตัวกำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิตให้แก่ลูกหลาน หากทำฮวงจุ้ยบรรพบุรุษไว้ดี อยู่ในชัยภูมิที่ดี และจัดวางได้อย่างถูกต้อง ก็จะส่งผลโชคลาภและความเจริญให้แก่ลูกหลานด้วย ในปัจจุบันหากเรานั่งรถผ่านบริเวณภูเขาที่มีชัยภูมิดีถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย ก็จะมองเห็นสุสานบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายจีนตั้งอยู่ติดกันเป็นกลุ่ม และลูกหลานก็จะมาแสดงความเคารพ โดยการตั้งของไหว้เมื่อถึงวันเช็งเม้ง (ประมาณต้นเดือนเมษายน-เดือนสามของจีน) เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความกตัญญู

เนื่องจากเป็นวิชาเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 3,000 ปี และได้รับการพัฒนาเพื่อใช้งานในประมาณ 1 พันปีที่ผ่านมา (อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์, 2544: 27) วิชาฮวงจุ้ยจึงได้แตกแขนงออกเป็นสำนักต่างๆมากมาย โดยแต่ละสำนักก็ได้มีการสอนที่เน้นเฉพาะเรื่องแตกต่างกันไป บางครั้งก็มีความเชื่อที่ต่างกัน มีรูปแบบของวิชาการที่แตกต่างกัน บางสำนักจะเน้นในเรื่องชัยภูมิและรูปลักษณ์เป็นสำคัญ บางสำนักจะเน้นในเรื่องทิศทาง ในขณะที่บางสำนักก็จะเป็นเรื่องดวงชะตาเป็นหลัก โดยสรุปแล้วจะสามารถแบ่งออกเป็นวิชาต่างๆได้ดังนี้

1. วิชาชัยภูมิ รูปร่าง รูปทรงอาคาร การเลือกทำเลที่ตั้ง การออกแบบรูปร่าง รูปทรงต่างๆ
2. วิชาดวงจีนและธาตุ ผูกดวงจีนเพื่อหาธาตุสำคัญ และแก้ไขฮวงจุ้ยตามธาตุสำคัญ
3. วิชา 8 ทิศ 8 ปฏิกิริยา จัดห้องหรือบ้านพักอาศัยให้เหมาะสมตามรหัสบุคคล
4. วิชาดาว 9 ยุค การหาทิศทางของโชคลาภ บารมีตามองศาบ้านในแต่ละยุคของจีน
5. วิชาฤกษ์ยามและพิธีกรรม ใช้หาวันเวลาทำพิธีการให้เกิดผลที่ดีต่อเจ้าของงาน


Resource : elearning.msu.ac.th