กล้าสอน

The Courage to Teach หรือ “กล้าสอน” โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู

The Courage to Teach หรือ “กล้าสอน” เป็นหนังสือที่ดีที่สุดไม่กี่เล่มที่ผมได้อ่านในรอบห้าปีนี้ เขียนโดย พาร์เกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) ซึ่งเป็นเควกเกอร์ (เควกเกอร์เป็นนิกายหนึ่งในคริสต์ศาสนาที่เข้าหาศาสนธรรมอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีนักบวช ไม่มีคนที่เป็นสื่อกลาง หากทุกคนเป็นฆราวาสที่อาจเข้าถึงพระเจ้าได้อย่างเท่าเทียมกัน และมีวัฒนธรรมภาวนาอันเรียบง่ายที่ดำรงอยู่ในชีวิตอย่างมีพลัง) หนังสือของพาล์มเมอร์เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในมหาวิทยาลัยนาโรปะ ครูของณัฐฬส (วังวิญญู) คนหนึ่งมีพาล์มเมอร์เป็นหนึ่งในครูสองคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา

พาล์มเมอร์ยังทำเวิร์คชอป “กล้าสอน” โดยให้คนเข้าค่ายหลีกเร้นใคร่ครวญ เพื่อกลับมาสะท้อนย้อนใคร่ครวญร่วมกันในคณะครู เข้ามาทบทวนความหมายของการเป็นครู วิธีการสอน และที่สำคัญยิ่ง ตัวตนด้านในของครู พาล์มเมอร์พูดถึงองค์ประกอบ ๓ ประการในการเป็นครูที่ดี หนึ่ง คือ องค์ความรู้ สอง คือ วิธีการสอน สาม คือ ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู หรือคำของพาล์มเมอร์อันเป็นชื่อที่สองของหนังสือ “กล้าสอน” ของเขา คือ “ภูมิทัศน์แห่งโลกภายในของครู”

จากประสบการณ์ของพาล์มเมอร์เอง วิธีการสอนนั้นไม่ใช่เป็นประเด็นที่สำคัญนัก แต่ตัวตนของครูต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ เขาเคยพยายามลอกเลียนครูของเขา ผู้มีพลังในการสอนมาก แต่ครูคนนี้กลับมีวิธีการสอนแบบอนุรักษ์นิยมธรรมดา คือ จะบรรยายอย่างยืดยาวเสียเป็นส่วนใหญ่ แทบจะไม่ทิ้งเวลาให้ถามตอบกันเลยด้วยซ้ำ แต่ครูกลับเชื่อมโยงกับศิษย์ได้ และเชื่อมโยงศิษย์เข้าสู่องค์ความรู้หรือวิชาที่จะสอนได้อย่างทรงพลัง เขาพยายามลอกเลียนครูทุกอย่าง แต่ผลคือความล้มเหลว กว่าจะรู้ว่าล้มเหลวเพราะอะไร ต้องเสียเวลาไปเป็นทศวรรษ ตอนหลัง เขาได้เปลี่ยนวิธีการสอน หากยังคงพลังอะไรบางอย่างของครูคนนี้ไว้ในท่วงทำนองการสอน เขาจึงพบ “มหาวิชา” แห่งการสอน และเขียนหนังสือออกมาหนึ่งเล่ม ทำหลักสูตรเวิร์คชอปให้ครูมาเรียนแปดครั้งๆ ละสามสี่วัน ในช่วงเวลาสองปี งานของเขาแพร่ขยายไปทั่วสหรัฐอเมริกา ๓๒ รัฐ สร้างกระบวนกร (วิทยากรกระบวนการ) ได้ถึง ๑๕๐ คน และเวลานี้ได้มีหลักสูตร “กล้านำ” เพิ่มเข้ามา เพราะสิ่งที่เขาค้นพบ มิใช่ว่าจะใช้ได้เฉพาะในแวดวงการศึกษาเท่านั้น

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ครูเชื่อมโยงกับศิษย์ได้ และยังเชื่อมโยงศิษย์เข้าหาองค์ความรู้ได้อีกด้วย ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เควกเกอร์เป็นนิกายที่ลงลึกในเรื่องศาสนธรรม คนกลุ่มนี้นิยมสันติวิธีหรือสันติวิถี แม้ยอมตายแต่ไม่ยอมเข้าสงคราม คงเป็นเพราะฐานเดิมบางประการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ ทำให้ข้อสาม คือ การทำงานกับโลกภายในของครู กลายเป็นสิ่งสำคัญ ประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในหนังสือเล่มนี้

พาล์มเมอร์กล่าวว่า ทำไมเด็กนักเรียนจึงชอบครูคนใหม่ ที่เพิ่งจะมาเป็นครู หรือบรรดาพวกครูฝึกหัดทั้งหลาย ผมเองได้ใช้ประเด็นนี้เป็นประเด็นเริ่มต้นกับเวิร์คชอปที่จัดให้บรรดาครู ซึ่งผมทดลองมาแล้วสองเวิร์คชอป มันชวนให้ครูได้ไปใคร่ครวญอะไรบางอย่างว่า ทำไมเด็กจึงรักครูคนใหม่ของเขา คนที่เข้าร่วมเวิร์คชอปสรุปกันจากการสนทนาในเรื่องนี้อย่างละเอียดลออว่า ครูคนใหม่ยังไม่ได้เป็นครูอย่างครูเก่า ซึ่งจะมี “มาดของครู” ที่ซึ่งเด็กจะกลัว และมีอำนาจลี้ลับที่จะสะกดเด็กให้อยู่ในอำนาจได้ สามารถจัดการห้องเรียนได้เรียบร้อย คือ เด็กจะเคารพเชื่อฟังครู แต่ครูคนใหม่ยังไม่มีอำนาจนี้ ยังเป็นครูธรรมดาที่เปราะบาง อ่อนแอ บางทีจัดการนักเรียนไม่อยู่ก็ร้องไห้หน้าห้องเรียนนั้นเอง แต่แล้วเด็กจะรักและจะให้ความร่วมมือ ครูหลายคนที่มาร่วมเวิร์คชอปกับผมบอกว่า พวกเขาพากันรักครูคนใหม่ของเขา และเลยไปถึงรักวิชาที่ครูคนนั้นสอนด้วย

ตอนผมไปอยู่หมู่บ้านเด็ก ทำงานร่วมกับ พิภพ ธงไชย ในปีแรกของโรงเรียนแห่งนั้น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แนะว่า ให้ไปอยู่กับเด็กโดยไม่ต้องใช้อำนาจ มันทำให้ผมคิดถึงว่า อำนาจที่แท้จริงของครูคืออะไร? ไม่ใช่ไม้เรียว หรือคะแนน ผมได้ใคร่ครวญโจทย์ข้อนี้มาตลอดชีวิต แล้วผมก็ได้เป็นครูสมใจ หากแต่เป็นครูนอกระบบโรงเรียน ผมอาจจะพบคำตอบ แต่งานเขียนของพาล์มเมอร์ได้ทำให้คำตอบนั้นชัดเจน และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

พาล์มเมอร์พูดถึงการเชื่อมโยงกับเด็กได้ แล้วนำพาเด็กไปเชื่อมโยงกับวิชาที่ครูสอน ซึ่งครูจะต้องเชื่อมโยงกับวิชาที่สอนด้วย ต้องเข้าหา เข้าถึงวิชาที่สอน จนองค์ความรู้นั้นๆ เข้ามาเป็นเลือดเนื้อของครูเอง ส่วนวิธีการสอน กระบวนการสอน ครูแต่ละคนอาจจะต้องหาทางเข้าหาความเหมาะสมลงตัว ยืดหยุ่นและผันแปรได้ตามความถนัดหรือตามอัตลักษณ์ของครูแต่ละคนเอง

พาล์มเมอร์พูดถึงครูคนหนึ่งที่อยู่ข้างใน (Inner teacher) ว่า เราต้องค้นหาครูภายในของเราให้พบ ในฐานะนักเรียนวอยซ์ ไดอะล็อค ผมคิดว่า ครูภายในที่ว่านี้ เชื่อมโยงอยู่กับเด็กน้อยผู้เปราะบางของ ดร. สโตน สองสามีภริยา (Dr. Hal & Sidra Stone) ทั้งสองได้กล่าวถึงสรรพคุณของเด็กน้อยผู้เปราะบางที่ดำรงตนอยู่ภายในเราไว้ว่า หนึ่ง เด็กน้อยมีความสามารถที่จะสนิทสนม เมื่อเราเปราะบาง เรายอมรับความอ่อนแอของเรา ความกลัวของเรา เหมือนกับว่าเรายังเป็นครูคนใหม่ตลอดกาล ใช่ไหม เป็นไปได้ไหม?

สอง เด็กน้อยผู้เปราะบาง คือ ตัวตนดั้งเดิมของเรา (ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอปบางคนได้โยงเข้ากับจิตเดิมแท้อันประภัสสร หรือเรืองแสง) ทำให้เรารู้ว่า เราต้องการอะไร ชอบอะไร ซึ่งอาจจะช่วยนำพาให้เราไปสอนในสิ่งที่เราสามารถเชื่อมโยงได้จนเป็นเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของเรา จนกระทั่ง เราอาจจะสามารถเชื่อมโยงเด็กให้ไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นภาษา คณิตศาสตร์ หรือปรัชญา และทำให้เด็กรักในสิ่งที่เรารักไปได้ด้วย

สาม เด็กน้อยผู้เปราะบาง คือ ผู้ที่ตื่นตะลึง ทึ่งกับทุกสรรพสิ่ง ทุกสรรพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้า ตื่นตัวที่จะเรียนรู้ ด้วยสภาวะจิตที่พร้อมจะเรียนรู้สูงสุดอยู่ตลอดเวลา ที่เรียกกันว่า สภาวะจิต หรือสมอง ที่เราจะสามารถเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด (Optimum learning state)

สี่ เด็กน้อยผู้เปราะบาง ยังมีแผนที่ทางจิตวิญญาณติดตัวมา เมื่อเราเข้าไปแตะตัวเด็กน้อยในตัวเราได้ เราจะเห็น “แผนที่ทางจิต” นั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Psychic fingerprint” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไพเราะที่สุดในโลกคำหนึ่ง (คำของ ดร. สโตน เอง) และเราจะแจ้งใจซึ่งทางเดินแห่งจิตวิญญาณของเรา เราจะได้เห็นว่า ครูไม่ได้เพียงสอนวิชาเท่านั้น หากยังสอนมหาวิชา หรือวิชาว่า ด้วยการเติบโตด้านใน ด้านจิตวิญญาณอีกด้วย

ใน “กล้าสอน” ตอนที่สองนี้ ผมอยากพูดเรื่องของ “องค์ความรู้” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามองค์ประกอบที่จะต้องคำนึงถึงของพาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ คือ หนึ่ง องค์ความรู้ สอง วิธีการสอน สาม ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู “กล้าสอน” ตอนที่หนึ่ง ผมพูดถึงตัวตนของครูไปบ้างแล้ว จึงอยากพูดถึงองค์ความรู้ โดยจะเชื่อมโยงกับความคิดของพาล์มเมอร์ และเพิ่มเติมความคิดของผมที่ค้นคว้าทั้งจากที่อื่นๆ และจากประสบการณ์ของตัวเองลงไปด้วย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่เดิมก่อน ระบบโรงเรียนนั้นได้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (เก่าหรือกระบวนทัศน์เก่า) และระบบอุตสาหกรรม โดยที่ระบบอุตสาหกรรมเป็นภาพสะท้อนของวิธีคิดแบบกลไก หรือการนำอุปไมยอุปมาแบบเครื่องจักรมาใช้ในการทำงาน ในการใช้ชีวิต การมองโลก และการจัดการกับโลก อุปมาอุปไมยแบบเครื่องจักรนี้ ได้คืบคลานเข้ามาในปริมณฑลขององค์ความรู้ และวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่ถูกลดทอนลงไปกลายเป็นเพียงการเรียนรู้แบบเครื่องจักรกล โดยมีระบบอุตสาหกรรมหรือระบบโรงงานเป็นต้นแบบ เราลองนึกถึงโรงงานผลิตปลากระป๋อง แล้วเราจะเข้าใจระบบโรงเรียนที่เป็นอยู่

พาล์มเมอร์ให้ความสำคัญกับคำว่า objective ซึ่งเป็นคุณศัพท์ ที่หมายถึงการมองสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่เอาตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจิตของเรา ตัวเราในที่นี้คือ subject หรือแปลอีกอย่างหนึ่งว่า “ประธาน” หรือ “ตัวตน” หรือ “ฉัน” นั้นเอง หากเอาฉันเข้าไปเกี่ยวข้อง การมองจะไม่เที่ยงตรง จะมีอคติได้ ต้องไม่เอาฉันเข้าไปเกี่ยว การมองนั้นจึงจะเป็น “ภววิสัย” คือ objective

แต่พาล์มเมอร์ก็ได้กล่าวต่อไปอีกว่า เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ใหม่หรือวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ เช่นในควอนตัมฟิสิกส์ เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะเป็นภววิสัย นักวิทยาศาสตร์ควอนตัม กล่าวกันอย่างสอดคล้องว่า ประธาน หรือฉัน (subject) ต้องเข้าไปเกี่ยวอยู่แล้ว ต้องเข้าไปหลอมรวมอยู่แล้ว ตัวประธานนี้แหละที่จะเข้าไปกำหนดความแตกต่างของการรับรู้ของเรา หากไม่เข้ามามองดูตัวตนนี้ เราจะไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์ถูกต้อง หรือเป็นไปไม่ได้เลยที่ประธาน (subject) จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ลองกลับมามองเรื่องนี้ผ่านปัญญาปฏิบัติดูบ้าง ในแบบฝึกหัดวอยซ์ไดอะล็อกของสามีภรรยาสโตน (ซึ่งเป็นดร.ทั้งคู่) ต้นฉบับเรื่องวอยซ์ไดอะล็อกนี้ เขาใช้คำว่า personal and impersonal เขาไม่ได้ให้ค่ากับอย่างหนึ่งอย่างใดในสองอย่างนี้มากกว่าอีกอย่างหนึ่ง แต่เขาเห็นว่าคำตอบอยู่ที่การนำส่วนผสมของทั้งสองมาใช้ร่วมกันอย่างกลมกลืนมากกว่า หลังจากผมได้นำเรื่อง personal and impersonal นี้มาทำแบบฝึกหัดหลายครั้งหลายหน จนเกิดปัญญาปฏิบัติ จนอวัยวะใหม่ (วงจรสมองใหม่) ก่อเกิดขึ้นมารับรู้ความนัยที่แฝงเร้น (tacit knowledge) อย่างแจ่มชัดขึ้นแล้ว ผมเห็นว่า personal หรือ subjective นั้นเป็นฐานใจ ส่วน impersonal หรือ objective นั้นเป็นฐานคิด ลักษณะเดียวกับซูมอิน ซูมเอาต์ด้วย คือ เมื่อใช้ฐานใจ เราจะมีความเป็นส่วนตัว (personal) เราจะเข้าไปใกล้ชิด หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับผู้คนหรือสิ่งของนั้น ๆ อันนี้คือซูมอิน และเมื่อซูมเอาต์ เราจะถอยห่างออกมามอง ไม่เอาตัวเข้าไปผูกพันหรือนัวเนีย แต่นำตัวตนของเราออกห่างออกมา อันนี้เป็น impersonal คือไม่เอาตัวเองเข้าไปพันพัว ถอยออกมา แยกออกมา (disconnect) แต่มันเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วนะ แล้วแยกออกมา มันจะได้อิสระบางอย่าง แต่ก็สูญเสียการต่อติด (connect) เป็นหนึ่งเดียวอย่างแนบในไปด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเราอาจเต้นรำสลับกลับไปกลับมา เพื่อเชื่อมต่อ แล้วแยกออกมา แล้วเชื่อมต่อ แล้วแยกออกมา การสลับไปมาอย่างนี้จะทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนครบถ้วนแง่มุมมากขึ้น หรืออันที่จริงแล้วสมองจะทำงานอย่างนี้เอง หากเราไม่ไปจำกัดกรอบให้มันจนเกินพอดี

อีกระดับหนึ่งของงานวิจัยสมองในเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่า สองพลังงาน สองศักยภาพ สองปัญญานี้ คือปัญญาจากฐานใจและปัญญาจากฐานคิด ที่จริงทำงานร่วมกัน แนบสนิทกันมากกว่าที่เราคาดคิด หรือ จากที่เรารู้ๆ กันอยู่ ในภาษาและปัญญาของยุคสมัย ที่จริง อารมณ์ หรือฐานใจ เป็นฐานของความคิดด้วยซ้ำ หากเราไม่เข้าใจฐาน จะเอาแต่ยอด เราจะมั่นคงได้อย่างไร เขาเทียบกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ว่า อารมณ์เป็นซอฟต์แวร์ปฏิบัติการ (operating software) และความคิดเป็นตัวซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือ ซอฟต์แวร์ใช้งาน (application software) อีกอุปมาอุปไมยหนึ่งจะมองว่า ความคิดเป็นข้อมูลหรือเนื้อหา อารมณ์เป็นการจัดแฟ้ม เป็นจัดเก็บ จัดที่ทาง (organizer) จะเห็นได้ว่า ทั้งสองเกี่ยวพันกันอยู่อย่างแนบแน่นแยกไม่ออกเลย

ความรู้ในประเด็นฐานคิดฐานใจนี้ จะเข้าไปเกี่ยวกับ “การจัดการความรู้” หรือ “Knowledge Management (KM)” ด้วย ผมคิดว่า จะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องแยกแยะคำต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ เช่นคำว่า “ความรู้” กับ “ตำรับตำรา” คู่หนึ่ง และ “ความรู้” กับ “ปัญญาปฏิบัติ” อีกคู่หนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องเขียนเป็นอีกบทความแยกออกไปกระมัง

สุดท้ายไม่ใช้ท้ายสุด การจะเป็นครูที่แท้ได้ เราต้องเชื่อมโยง เป็นหนึ่งเดียวกันกับความรู้ หรือองค์ความรู้ที่เราจะสอน ทุกปรัชญาจะให้ความสำคัญกับคู่หนึ่งของพลังงาน นั่นคือ “ปัญญาและความรัก” หรือ “impersonal and personal” ความรักทำให้เกิดความอยากเรียนรู้ และความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งใด หรือบุคคลใด ก็ก่อให้เกิดความรัก ที่สำคัญคือ ต้องเอาฐานคิดและฐานใจมาร่วมกันทำงาน พร้อมด้วยฐานปฏิบัติ หรือฐานกายด้วย จึงจะครบองค์เป็นสองสามชั้นของปัญญาสามฐาน และร้อยเรียงให้ทำงานประสานเสียงกัน มิใช่ปีนเกลียวขัดแย้งกัน

แต่อารยธรรมตะวันตก ที่เริ่มจากคริสต์ศาสนาปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก เอาเหตุผลมาเป็นตัวตั้ง เอาความเป็นภววิสัย หรือเอาฐานความคิดเข้ามาเพียงฐานเดียว เอาการมองเห็นที่พื้นผิว หรือรูปธรรมบางแง่มุมอันจำกัดเข้ามา (ชูมากเกอร์ จากหนังสือแผนที่คนทุกข์ของเขา บอกว่า วิทยาศาสตร์เก่าใช้ตาเดียวที่บอดสีเท่านั้น ก็แสวงหาสัจจะได้?) และเป็นความคิดแบบแผนเดียวอีกด้วย คือ ความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (rational mind) แบบตรรกะเท่านั้น เราจึงแยกตัว แปลกแยกจากความรู้ของเรา เรารู้แบบไม่ได้สัมผัสความรู้นั้น ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับความรู้นั้น หรือความรู้นั้นไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของเรา ในเซลล์ของเรา ในอณูแห่งชีวิตของเรา หรือเป็นเลือดเนื้อของเรา ทางพุทธศาสนาใช้คำว่า “ปัจจัตตัง” หรือ “รู้ได้เฉพาะตน” อันนี้เป็นความรู้แบบอัตวิสัย (subjectivity) หรือไม่?

วิทยาศาสตร์เก่าบอกว่าอัตวิสัยพิสูจน์ไม่ได้ แต่วิทยาศาสตร์ใหม่บอกว่า ผู้สังเกตไม่อาจแยกตัวออกไปจากสิ่งสังเกต ไม่อาจแยกตัวตน ตัวคน หรือ consciousness คือ “จิต” ออกไปได้ เราแยกจิตออกไปไม่ได้จากการรับรู้ และเรียนรู้ด้วย แต่การรับรู้แบบอัตวิสัยนี้ มันมีมิติที่พิสูจน์ได้ โดย communal หรืออย่างเป็นชุมชน เนื่องจากการที่รับรู้ได้เฉพาะตนนั้น มันพอดีออกมาตรงกัน จึงเป็นความรู้ในทางธรรมที่พิสูจน์ได้อย่างนี้เอง เมื่อก่อน ภาพของนักวิทยาศาสตร์คือที่อยู่คนเดียวโดดเดี่ยว ไร้อารมณ์ความรู้สึก บัดนี้ นอกจากนักวิทยาศาสตร์จะเต็มเปี่ยมได้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ยังทำงานกันเป็นหมู่คณะอีกด้วย ซึ่งถอดความเป็นพุทธได้ในคำว่า “สังฆะ” หรือ “กัลยาณมิตร” นั่นเอง

พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์พระอนุชาว่า “อานนท์ กัลยาณมิตรมีความสำคัญอย่างไรกับพรหมจรรย์” พระอานนท์ตอบว่า “มีความสำคัญเป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์” พระพุทธเจ้าทรงแก้ไขให้ โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญว่า “อานนท์ ที่จริงแล้ว กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” ความในย่อหน้านี้ เกี่ยวพันกับความในย่อหน้าที่แล้วหรือไม่อย่างไร วิญญูชนโปรดพิจารณาเอาเองเถิด

หนึ่งในสามประเด็นเรื่อง “กล้าสอน” อันเป็นข้อสุดท้ายที่พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) พูดถึง คือ “เรื่องของวิธีการสอน” ในบทความเรื่อง “กล้าสอน (๑) และ (๒)” ผมได้พูดถึง หนึ่ง ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู สอง เรื่องขององค์ความรู้ ใน “กล้าสอน (๓)” ผมจะพูดถึงประเด็นวิธีการสอน ซึ่งผมคิดว่าพาล์มเมอร์กำลังพูดถึง “วิถี” มากกว่า “วิธี” และที่จริงเรื่องวิธีการสอนก็ไม่ได้แยกออกไปจาก “ตัวตนของครูและองค์ความรู้” เลย แต่การพูดถึงวิธีการสอนต่างหากออกมา โดยกลับไปเชื่อมโยงกับทั้งสองประเด็นก่อนหน้าบ้างนั้น จะมีมิติใหม่ที่ทำให้เราสามารถเห็นและเข้าใจกระบวนการสอนแบบนี้มากขึ้น

พาล์มเมอร์ให้ความสำคัญกับการโอบกอดคู่ตรงกันข้าม หรือธรรมชาติที่มีขั้วสองอย่างที่ขัดแย้งกัน หากแต่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า paradox ซึ่งคนที่สนใจพุทธศาสนานิกายเซนจะคุ้นเคยกับ “นัยยะขัดแย้ง” เช่นนี้ ยกตัวอย่างในวิธีการสอนโดยโอบอุ้มเวทีการเรียนรู้ พาล์มเมอร์ใช้คำว่า “open but charged” คือ ผู้นำพาการเรียนรู้จะสร้างพื้นที่เปิด แต่ในขณะเดียวกันก็ charged ด้วย อาจจะแปลว่า เปิดเหมือนไม่เปิด แต่ก็ยังเปิดอยู่ และสร้างแรงกดดัน คือ เพิ่มแรงเพิ่มความเข้มข้นเข้าไปในวงเปิดนั้น หรืออีกคำหนึ่งของพาล์มเมอร์ คือ “open but bound หรือ เปิดแต่ก็มีขอบเขต” นี่เป็นตัวอย่างของการนำแนวทางสองอย่างที่ฟังดูขัดแย้งกัน แต่นำมาวางคู่กัน อยู่ด้วยกัน

ปัญญาแห่งวิธีการสอนดังกล่าว เป็นปัญญาปฏิบัติ เป็นศิลปะ มิใช่เป็นสิ่งที่พอได้อ่านถ้อยคำอธิบายแล้ว แม้ไม่มีประสบการณ์มาเลย ก็ยังเอาไปทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้นเด็ดขาด หากแต่จะต้องนำไปปฏิบัติ และอาจจะต้องเคยเห็นพื้นที่เปิดที่เต็มไปด้วยพลังอัดแน่นอย่างเข้มข้นมาก่อนด้วย การเรียนรู้แบบที่พาล์มเมอร์อยากให้เกิดในห้องเรียนนั้น เขากล่าวว่าต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการตื่นรู้อย่างไม่ธรรมดาให้เกิดขึ้น เมื่อได้บรรยากาศเช่นนั้นแล้ว นั่นแหละจึงจะเกิดการเรียนรู้อย่างไม่ธรรมดา อันเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง ผมคิดถึงการตื่นตัวพิเศษด้วยจิตตื่นโพลง ด้วยจิตตื่นรู้ ที่ไม่เพียงผ่อนคลายและปลอดภัย แต่มากกว่านั้น จะทำอย่างนั้นได้ ไม่มีทางเลยที่ครูจะไม่นำพาตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันอย่างทุ่มเททั้งตัว ตัวตนของครูต้องเข้ามา ต้องเปิดและอัดพลังเข้มข้นเข้ามาด้วย

ใน เวิลด์คาเฟ่ หนังสือเล่มหนึ่งของทีมเวิลด์คาเฟ่ ที่นำเสนอกระบวนการเรียนรู้แบบไดอะล็อค อย่างหนึ่ง จวนนิต้า บราวน์ (Juanita Brown)ใช้คำว่า “ทำซุปให้ข้น” ในวงการที่ศึกษาเรื่องสมองจะใช้คำว่า “Optimum Learning State” หรือ “สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” ซึ่ง แอนนา ไวส์ (Anna Wise) ได้กล่าวถึงไว้ในหนังสือของเธออัน เกี่ยวกับคลื่นสมอง กล่าวคือใน “สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” นี้ คลื่นสมองจะทำงานพร้อมกันเต็มพิกัด ทุกคลื่น หมายถึงสมองสามชั้นจะทำงานร่วมกันเต็มพิกัด ก่อให้เกิดจิตตื่นรู้ อันเป็นที่จิตสามารถมองเห็นโลกภายนอกภายในพร้อมกันอย่างแจ่มชัด ทรงพลัง และมีพลังขับเคลื่อนเตรียมพร้อมที่จะเขียนโลกใบใหม่ โดยเขียนโลกภายในใหม่ พร้อมกันการสังเกตที่โลกภายนอกนั้นจะค่อยๆ คลี่บานยักย้ายเปลี่ยนแปลงไปตามโลกภายในที่เขียนขึ้นใหม่ กล่าวคือ การศึกษาที่แท้จริง เป็นการศึกษาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวตน หรือในโลกภายในของผู้เรียน ซึ่งเมื่อโลกภายในเปลี่ยน โลกภายนอกก็จะแปรเปลี่ยนตามไปด้วยกัน

ถ้าเราเอา “ชุดความรู้แบบเก่า” เข้าไปจับ เราอาจจะพยายามถอดบทเรียนของครูชั้นเซียน ออกมาเป็นวิธีการสอน แล้วเอาไปให้ครูฝึกหัดลอกเลียนใช้กัน แต่แล้วมันจะออกมาไม่ได้ตามที่ครูชั้นเซียนเคยทำได้ เพราะนี่คือปัญญาปฏิบัติ หรือ ศิลปะ ซึ่งลอกเลียนจากภายนอกไม่ได้ ปัญญาปฏิบัติจะขึ้นต่อบริบทที่มีชีวิต ณ ขณะนั้นๆ ด้วย ความเข้าใจในกลุ่มคนที่เข้ามาเรียนรู้ร่วม บรรยากาศสภาพ แวดล้อม ธรรมชาติแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ระบบนิเวศ ใจคนที่เข้าร่วม ภูมิหลัง ความเป็นมาของผู้เข้าร่วม การตื่นโพลง ความรับรู้อันแหลมคมเป็นพิเศษของครูชั้นเซียนคนนั้น ทั้งหมดทั้งสิ้น นี่คือความหมายที่แท้จริงของปัญญาปฏิบัติ วิธีการสอนไม่ตายตัว หากแต่ไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง ตลอดเวลา

สเตฟานี เพจ มาร์แชล (Stephanie Pace Marshall) หนึ่งในนักการศึกษาคนแรกๆ ที่พยายามหันเหระบบการศึกษาให้กลับมาใช้อุปไมยอุปมาของระบบชีวิต ได้กล่าวถึงมิติวิธีการสอนในระดับชุมชน โดยได้พัฒนาแนวคิด การสร้างสรรค์ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างก่อเกิด” เอาไว้อย่างน่าฟังในหนังสือ The Power to Transform: Leadership that brings learning and schooling to life (2006) โดยเธอได้กล่าวว่า

“ชุมชนการเรียนรู้อย่างก่อเกิดย่อมจะ

๑. เชื้อเชิญ พัฒนา และหล่อเลี้ยงศักยภาพอันมีอยู่อย่างหลากหลายในตัวเด็ก ในการสร้างความหมาย บูรณาการ สำรวจ ค้นพบ ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ และก่อให้เกิดปัญญา

๒. เชื่อมโยงเด็กกลับไปสู่โลกแห่งธรรมชาติ ชุมชน และครอบครัวของมนุษยชาติอีกครั้ง เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงกลับไปสู่เอกภาพ องค์รวม การอิงอาศัยกันและกัน ความหลากหลาย ความสดใหม่ ตลอดจนการสรรค์สร้างของระบบชีวิตอันปราศจากขอบเขตจำกัด

๓. ให้เด็กได้กลับไปหมั้นหมายกับความร่ำรวยของชีวิตด้านใน อันได้แก่ อารมณ์ความรู้สึก ญาณทัศนะ จินตนาการ ความรัก ประสบการณ์ และจิตวิญญาณ เพื่อนำไปเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้

๔. หล่อเลี้ยงศักยภาพในเด็กแต่ละคน เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพขึ้นมาในชีวิตของตัวเอง อย่างชาญฉลาด และ “ร่วม” ก่อร่างสร้างอนาคตแห่งมนุษยชาติ ด้วยการพัฒนาศักยะแห่งการเผยออก หรือความสามารถในการสืบค้นความหมายจากแบบแผนต่างๆ การคิดเชิงระบบ การมองการณ์ไกล และสามารถกระทำการด้วยฐานแห่งจริยธรรม”

แล้วสำหรับวิธีการสอน หรือกระบวนการเขียนโลกใบใหม่ระดับสังคม เธอได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“ไม่มีช่วงเวลาไหนสำคัญเท่าช่วงเวลานี้อีกแล้ว ที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนการรับรู้ใหม่ และออกแบบระบบโรงเรียนใหม่ ให้เป็นที่ซึ่งจิตใจ หัวใจ และจิตวิญญาณของเด็ก ตลอดจนอนาคตของมนุษยชาติจะได้รับการหล่อเลี้ยงให้เจริญงอกงาม อนาคตของมนุษยชาติจะถูกกำหนดขึ้นด้วยจิตของเด็ก ตลอดจนคุณภาพแห่งการดำรงอยู่บนพื้นพิภพของพวกเขาเหล่านั้น นี่คือเวลาแห่งการปรับเปลี่ยน เคลื่อนย้ายออกจากกระบวนทัศน์แบบลดทอน สั่งการ และการทำอะไรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันของระบบโรงเรียน นี่เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดแล้วที่เราจะสรรค์สร้างการเรียนรู้และระบบโรงเรียนอย่างก่อเกิด ซึ่งสนับสนุนเกื้อกูลชีวิต และเป็นเรื่องราวของเด็กเฉพาะแต่ละคนที่จะได้รับการปลุกเร้าให้เกิดจิตใจอันมีองค์รวม สุขภาวะ สั่นไหวด้วยคลื่นพลังอย่างกระตือรือร้น และกอปรไปด้วยปัญญา อันเป็นปัญญาที่จะหาหนทางอันเป็นธรรมชาติของตัวเอง ในการที่จะสร้างสรรค์อนาคตของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ฉะนั้น การเล่าเรื่องเสียใหม่เช่นนี้ จะกลายมาเป็นแผนที่นำทางอย่างใหม่ให้แก่เรา”

 


โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551