ทักษะพิสัย Psychomotor Domain
ทักษะพิสัยการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทางกาย
ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นพฤติกรรมทางการด้านการเคลื่อนไหว (Movement) เช่น การวิ่ง การกระโดด การเดิน การขับรถ การเต้นรำ การเปิดประตู เป็นต้น โดยฮาร์โรได้แบ่งระดับของจุดมุ่งหมาย ทางด้านทักษะ โดยเรียงจาก ระดับต่ำสุดถึงระดับสูงสุด 6 ระดับ ดังนี้ระดับพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย มีรายละเอียดในแต่ละระดับ ดังต่อไปนี้
1. การเคลื่อนไหวเชิงกิริยาสะท้อนกลับ (Reflex movements) ซึ่งได้แก่
1.1 กิริยาสะท้อนที่สั่งจากประสาทไขสันหลังส่วนหนึ่ง (Segmental reflexes) เช่น การเคลื่อนไหวของแขนหรือขา เป็นต้น
1.2 กิริยาสะท้อนที่สั่งจากประสาทไขสันหลัง มากกว่าหนึ่งส่วน (Intersegmental reflexes) เช่น การเคลื่อนไหวของแขน และขาในเวลาเดินหรือวิ่ง เป็นต้น
1.3 กิริยาสะท้อนที่สั่งจากประสาทไขสันหลัง และ สมองร่วมกัน (Segmental Reflexes) เช่น การทรงตัวของร่างกาย ให้อยู่ในสภาพ สมดุล ในขณะเคลื่อนไหว เป็นต้น
2. การเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน (Basic - fundamental Movements) ซึ่งได้แก่
2.1 การเคลื่อนไหวจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง (Locomotor Movements) เช่น เดิน วิ่ง กระโดด เป็นต้น
2.2 การเคลื่อนไหวอยู่กับที่ (Non - locomotor Movements) เช่น การเคลื่อนไหวของ นิ้วมือ นิ้วเท้า เป็นต้น
2.3 การเคลื่อนไหวเชิงบังคับ โดยกิริยาสะท้อนหลายอย่างร่วมกัน (Manipulative Movement) เช่น การเล่นเปียโน การพิมพ์ดีด เป็นต้น
3. ความสามารถในการรับรู้ (Perceptual abilities) ซึ่งได้แก่
3.1 การรับรู้ความแตกต่างการเคลื่อนไหวของร่างกาย (Kinesthetic discrimination) เช่น การรับรู้การกำมือ การงอเข่า การกระพริบตา เป็นต้น
3.2 การรับรู้ความแตกต่างด้วยการเห็น (Visual discrimination) เช่น ความสามารถในการเห็นความแตกต่าง ของวัตถุที่สังเกตได้ เป็นต้น
3.3 การรับรู้ความแตกต่างด้วยการได้ยิน (Auditory discrimination)เช่น ความสามารถ ในการจำแนกความแตกต่าง ของระดับเสียง หรือทิศทางของเสียงที่ได้ยิน เป็นต้น
3.4 การรับรู้ความแตกต่างด้วยการสัมผัส (Tactile discrimination) เช่น ความสามารถ ในการบอกลักษณะของวัตถุที่สัมผัส ว่า หยาบเรียบ แข็ง หรืออ่อน เป็นต้น
3.5 ความสามารถในการใช้ประสาทรับรู้ร่วมกัน (Coordinated abilities) เช่น ความสามารถในการใช้และประสาท ส่วนอื่น ๆ เพื่อร่วมมือกันในการเลือกหาวัตถุที่ต้องการ เป็นต้น
4. สมรรถภาพทางกาย (Physical abilities) ซึ่งได้แก่
4.1 ความทนทาน(Endurance) เช่น ความทนทานของร่างกายในการวิ่งแข่งมาราธอน เป็นต้น
4.2 ความแข็งแรง (Strength) เช่น ความแข็งแรงของแขนในการยกน้ำหนัก เป็นต้น
4.3 ความยืดหยุ่น (Flexibility) เช่น ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อแขนขาในการเต้นรำ เป็นต้น
4.4 ความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว (Agility) เช่น ความฉับไวในการเปลี่ยนทิศทาง การเคลื่อนไหว เป็นต้น
5. การเคลื่อนไหวที่ต้องอาศัยทักษะ (Skilled movements)
5.1 ทักษะการปรับตัวในการเคลื่อนไหว ที่ทำได้ง่าย (Simple adaptive skill) เช่น ทักษะการเลื่อยไม้ เป็นต้น
5.2 ทักษะการปรับตัวในการเคลื่อนไหว ที่ทำไปพร้อม ๆ กัน (Compound adaptive skill) เช่น ทักษะในการตีแบดมินตัน เทนนิส เป็นต้น
5.3 ทักษะการปรับตัวในการเคลื่อนไหว ที่มีลักษณะซับซ้อนมาก (Complex adaptive skill ) เช่น ทักษะการเล่นยิมนาสติก เป็นต้น
6. การสื่อสารที่ต้องใช้ทักษะระดับสูงในการแสดงออก (Non-discursive Communication) ซึ่งได้แก่
6.1 การเคลื่อนไหวในเชิงแสดงออก (Expressive movement) เช่น การแสดงออก ทางสีหน้า หรืออากัปกิริยาท่าทางต่าง ๆ
6.2 การเคลื่อนไหวในเชิงตีความ (Interpretative movement) เช่น การเคลื่อนไหวใน เชิงสุนทรียภาพ หรือการเคลื่อนไหวในเชิงสร้างสรรค์