ผู้นำเต็ม ๑๐๐

คุณสมบัติสร้างความสำเร็จที่ผู้นำต้องมีในหัวใจ

ผู้นำเต็ม ๑๐๐ เป็นการรวบรวมข้อคิดในรูปแบบของคุณสมบัติหรือคุณลักษณะ ที่ผู้บริหารควรจะมี หรือถ้าผู้นำหรือผู้บริหารยึดข้อคิดเหล่านี้เป็นคติประจำใจ และเป็นหลักปฏิบัติได้บ้าง ก็จะทำให้ผู้นำหรือผู้ที่กำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำมีคุณสมบัติที่จะเสริมสร้างองค์กร หรือกิจการที่ดูแลอยู่ให้มีความเจริญก้าวหน้าได้
๑. มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล (Vision – Farsightness)
ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์ คือ ภาพรวมที่สมบูรณ์ของความสำเร็จ ภาพรวมของความสำเร็จต้องเป็นภาพรวมที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นจริง หรือเกิดจากการต่อยอดจากประสบการณ์ในอดีต วิสัยทัศน์นี้รวมถึงการมองการณ์ไกล การมองการณ์ไกลจะทำให้เกิดการเตรียมการสำหรับอนาคตไว้ ผู้ที่จะสามารถนำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้จะต้องเป็นผู้ที่มีความฝัน สามารถมองเห็นภาพรวมทั้งหมดของความฝันนั้น

๒. ทำงานอย่างมีเป้าหมาย (Goal)

ผู้นำต้องรู้จักกำหนดเป้าหมายและรู้จักเลือกเป้าหมายที่มีความสำคัญ เพื่อให้งานที่สำคัญบรรลุผลสำเร็จเพราะผลตอบแทนของการบรรลุเป้าหมาย จะไม่เท่ากัน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ผู้นำจึงต้องรู้จักแยกแยะให้ออกว่าอะไรสำคัญมากสำคัญน้อย ผู้นำไม่ควรกำหนดเป้าหมายมากเกินไปหรือเป็นเป้าหมายที่เกินความเป็นไปได้จริง

๓. เป็นนักบริหาร (Execution)

ผู้นำตองเป็นนักบริหาร ต้องนำความสามารถของแต่ละบุคคลและความรวดเร็วในการปฏิบัติงานเป็นทีมมาทำให้งานบรรลุผลสำเร็จ การบริหารที่ดีก็ไม่ต่าง จากการสร้างทีมกีฬาให้มีชัยชนะคือต้องพยายามใช้ความสามารถของผู้เล่นทุกคนให้สูงสุดและต้องใช้โอกาสทุกเสี้ยววินาทีที่มีอยู่เพื่อทำหน้าที่ให้รวดเร็วที่สุด

๔. ลงมือปฏิบัติ (Action)

ผู้นำต้องเป็นผู้ที่ไม่รีรอที่จะลงมือปฏิบัติ ทั้งวิสัยทัศน์และการลงมือปฏิบัติต้องเป็นคุณสมบัติคู่กัน ดังภาษิตญี่ปุ่นที่ว่า “วิสัยทัศน์ที่ขาดการนำมาปฏิบัตินั้นคือการเพ้อฝัน การลงมือปฏิบัติโดยขาดวิสัยทัศน์คือฝันร้าย”ผู้นำที่ดีจึงต้องอยากเห็นวิสัยทัศน์เป็นจริง อยากเห็นความสำเร็จเกิดขึ้น ผู้นำจึงต้องศึกษาความเป็นไปได้และลงมืออย่างรวดเร็ว

๕. มีความซื่อสัตย์ (Honesty)

ผู้นำต้องมีความซื่อสัตย์ ความเป็นจริงนี้เป็นสิ่งใครๆก็รู้ แต่พฤติกรรมและค่านิยมในสังคมปัจจุบันทำให้บางครั้งผู้นำละเลยคุณสมบัติข้อนี้แต่กลับไปชื่นชมพฤติกรรมของการใช้กลลวงที่สามารถสร้างผลประโยชน์โดยที่ไม่มีใครเอาผิดได้ แต่ความซื่อตรงก็ยังเป็นแนวปฏิบัติที่ควรยึดถือที่สุด ภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า “เงินทองที่หามาได้อย่างไม่ซื่อตรง จะไม่ยั่งยืน”

๖. มีจริยธรรม (Ethics)

ผู้นำต้องมีจุดยืนที่มั่นคงบนพื้นฐานของจริยธรรมและจรรยาบรรณ การไม่มีสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งยึดถือ จะไม่ทำให้สามารถดูแลคนได้และ

จะต้องขาดความเชื่อถือไปในที่สุด

๗. ผลสำเร็จอยู่เหนือสิ่งอื่นใด (Focus on Achievement)

ผู้นำที่ดีจะต้องมีสายเลือดของความต้องการให้งานลุล่วงไปด้วยดี เป้าหมายของความสำเร็จต้องอยู่เหนือเรื่องอื่นๆ ต้องไม่ไปสนใจว่าใครจะเป็นผู้ได้หน้า

๘. มีความเป็นผู้นำ (Leadership)

ความเป็นผู้นำไม่ได้เริ่มจากอำนาจ แต่เริ่มจากวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่จูงใจ บุคคลคนหนึ่งจะกลายเป็นผู้นำได้ก็ต่อเมื่อสามารถจูงใจผู้อื่นให้เห็นพ้อง กับวิสัยทัศน์และรู้สึกได้ถึงความมีส่วนร่วมในการสร้างความสำเร็จ

๙. มองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง (Insight)

ความสามารถในการเข้าใจต้นตอของปัญหา เข้าใจตั้งโจทย์เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำ ผู้นำจะต้องไม่มองอะไรอย่างผิวเผิน ผู้นำจะต้องมองย้อนไปเพื่อที่จะเข้าใจและศึกษาหาสูตรของความสำเร็จที่แท้จริง

๑๐. คงความเป็นธรรม (Justice)

ผู้นำต้องแสดงออกถึงความยุติธรรม ไม่มีการเข้าข้างหรือเห็นพ้องกับฝ่ายใดโดยไม่ใช้เหตุผลหรือโดยใช้เหตุผลส่วนตัว

๑๑. ใฝ่สูง หวังสูง หวังความเป็นเลิศ (Aspire-Excellent)

ผู้นำต้องใฝ่สูงหวังสูง เพราะสิ่งที่เราต้องการคือการเติบโต การสร้างสิ่งที่ดีขึ้น ความใฝ่สูงหวังสูงจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการวางแผน หรือดำเนินการไปในทิศทางที่ดีขึ้น

๑๒. ติดตามดูงาน-เก็บข้อมูลเพื่อแก้ไขปรับปรุง (Monitor-Feedback)

การคิดตามงานนั้นจำเป็นเพราะจะช่วยทำให้งานดำเนินไปตามกำหนดและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ การดูแลว่าผลการดำเนินงานเป็นไป อย่างที่ต้องการหรือไม่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องอยู่ในนิสัยของผู้นำ

๑๓. รู้จักยอมรับและขอบคุณผู้อื่น (Acknowledgement)

ผู้นำต้องเห็นคุณค่าของทีมงาน ต้องเข้าใจว่าตนเองทำงานคนเดียวไม่ได้ การให้การยอมรับและรู้สึกขอบคุณผู้อื่น จะเป็นการสร้างกำลังใจในการทำงานให้กับทีมงาน ผู้นำจึงต้องรู้จักกล่าวคำชมเชย คำขอบคุณ เมื่อถึงเวลาอันควร

๑๔. มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ผู้นำต้องมี เป็นคุณสมบัติที่จะช่วยให้ผู้นำให้มองเห็นหนทางที่จะบรรลุเป้าหมายใหม่ๆ และแก้ปัญหาได้ ผู้นำต้องกล้าที่จะคิดหาสิ่งใหม่ๆ หรือวิธีใหม่ เพื่อที่จะให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ จะต้องคิดนอกกรอบ หาวิธีใหม่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป ผู้นำจึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์และต้องรู้จักสื่อความคิดนั้นให้โน้มน้าวผู้อื่นได้ด้วย

๑๕. ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ (Analysis)

ผู้นำจะต้องยอมใช้เวลาในการวิเคราะห์และเข้าใจก่อน การวิเคราะห์จะทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถาวร ผู้บริหารชอบพูดว่า “ผมไม่มีเวลาฟัง… บอกมาเลยว่าต้องทำยังไง” กับเรื่องสำคัญๆ จะเป็นผู้บริหารที่ดีไม่ได้

๑๖. มุ่งมั่น (Commitment-Determination)

ความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆ ต้องอาศัยความอดทน ความมุ่งมั่น กัดฟันสู้ในสิ่งที่ต้องการอย่างจริงจังและความไม่ยอมแพ้ที่จะกลับไป ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ศรัทธา ความมุ่งมั่นเป็นหัวใจของผู้นำทุกคนและเป็นกุญแจของความสำเร็จ

๑๗. มีความเฉียบขาด (Decisiveness)

ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจลงมือทำในสิ่งที่ควรต้องทำ ผู้นำอาจจะต้องพยายามสร้างความเข้าใจ ให้ทีมงานเข้าใจถึงเหตุผลของการตัดสินใจ แต่ความเฉียบขาดในการตัดสินใจและการดำเนินงานคือหัวใจที่สำคัญของความสำเร็จ การไม่กล้าตัดสินใจลงมือทำ จะไม่สามารถขจัดปัญหาไปได้ ผู้นำต้องยืนหยัดกับการตัดสินใจเมื่อตัดสินใจไปแล้ว และเมื่อไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมที่สมควรจะต้องเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจนั้น นอกเหนือจากอารมณ์ความรู้สึก ก็จะต้องคงการตัดสินใจไว้และรีบดำเนินการอย่างรวดเร็ว

๑๘. รวดเร็ว (Speed)

ผู้นำต้องสร้างระบบการปฏิบัติการและกลไกการดำเนินการให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องให้ทีมงานอยู่ในภาวะของการตั้งรับความรวดเร็วและถูกกดดันอยู่ตลอดเวลา

๑๙. มีความสามารถในการสื่อสาร (Communication)

ผู้นำต้องมีความสามารถในการสื่อความได้ดี หัวใจของการสื่อความได้ดีคือต้องเข้าใจว่าคำพูดอาจจะไม่มีผลเท่ากับความรู้สึก ดังนั้นในการสื่อความจะต้องหาวิธีทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกร่วมหรือจะต้องทำให้ผู้ฟังเข้าใจประเด็นที่ต้องการสื่ออย่างแท้จริง

๒๐. มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ (Confidence)

ผู้นำต้องมีความเชื่อมั่นที่ไม่ใช่ความเชื่อมั่นที่มาจากความรู้สึก แต่เป็นความเชื่อมั่นที่มาจากการรู้ข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้ ผู้นำที่ดีจะไม่หลงไปกับความเห็นหรือบทสรุปอะไรโดยไม่นำมาคิดก่อนว่ามันเกี่ยวข้องหรือมีผลต่อสิ่งที่ตนทำอย่างไร

๒๑. ปรับตัว (Adaptability)

คุณลักษณะที่สำคัญอันหนึ่งของผู้นำคือความสามารถในการปรับตัว เพราะองค์กรที่พร้อมรับภาวการณ์แข่งขันคือองค์กรที่เรียนรู้ตลอดเวลา และนำสิ่งที่เรียนรู้มาลงมือได้อย่างรวดเร็ว

๒๒. มีความคิดที่ไตร่ตรองและลึกซึ้ง (Complex Thinking)

ผู้นำต้องไม่ให้เสียงส่วนใหญ่อยู่เหนือการไตร่ตรองด้วยเหตุผล อย่าปล่อยให้ความคิดอ่านที่ลึกซึ้งและผ่านการไตรตรอง เป็นอย่างดีต้องถูกขัดขวาง โดยความคิดเห็นแบบฉาบฉวยของคนส่วนใหญ่

๒๓. เป็นคนดี มีคุณธรรม (Virtue)

ผู้นำต้องเป็นคนดี เป็นคนที่มีคุณธรรมในจิตใจ เข้าใจถึงอำนาจที่ตนมีและจะต้องใช้อำนาจที่มีอย่างถูกต้อง ระมัดระวัง เหมาะสมและอย่างมีคุณธรรม เพื่อภารกิจขององค์ที่รับผิดชอบอยู่เท่านั้น

๒๔. รู้จักคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)

การคิดเชิงกลยุทธ์คือการอ่านสถานการณ์ที่เป็นไปได้ ที่จะเกิด เลือกภาพที่เราต้องการและหาทางทำให้หนทางที่เราเลือกเกิดขึ้นมาได้

๒๕. ความรับผิดชอบ (Responsibility)

ความกล้าสู้ความจริงไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องที่ยากที่จะยอมรับ เช่นความผิดพลาดหรือความล้มเหลวเป็นคุณสมบัติที่น่าชมเชยที่ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ต้องมี การปฏิเสธความจริงจะทำให้ผู้บริหารไม่สามารถยืนขึ้นมาใหม่ได้

๒๖. สร้างความนับถืออย่างเหมาะสม (Respect)

ผู้นำต้องสร้างแบบอย่างของการให้เกียรติกันและกัน องค์กรที่ดีต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสและสร้างสรรค์ ผู้นำต้องสร้างความน่านับถือให้กับผู้ร่วมงานแต่อย่าให้ความน่านับถือนั้นเกินเลยจนกลายเป็นความเกรงกลัว ซึ่งเป็นอุปสรรคของการรับรู้ความเป็นไปที่แท้จริง

๒๗. รู้จักจูงใจคน (Motivation)

ผู้นำมีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ร่วมงานให้มีกำลังใจและมีความต้องการที่จะทำงานให้บรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด การสร้างแรงบันดาลใจนั้นทำได้หลายวิธี เช่น การสร้างความรู้สึกต้องการประสบความสำเจ ความสุขในการทำงาน การให้ค่าตอบแทนที่ดี หรือการสร้างทีมงานที่ร่วมงานกันได้ดี

๒๘. รู้จักให้กำลังใจ (Encouragement)

ผู้นำต้องมีความสามารถที่จะสร้างกำลังใจให้ผู้ร่วมงานมีความสำเร็จร่วมกัน ผู้นำต้องไม่ละเลยการสนับสนุน ฝึกฝน ดูแล สร้างนิสัยผู้ชนะ และให้กำลังใจให้กับทีมงาน

๒๙. คิดแบบรู้จักความเสี่ยง (Risk)

ผู้นำเข้าใจเรื่องของความเสี่ยง ความคิดของผู้นำจึงไม่ใช่ความคิดแบบเส้นตรง แต่เป็นความคิดแบบผันแปรตามเงื่อนไขของสภาพแวดล้อม ผู้นำจะประเมินความเสี่ยงไว้แล้วและพร้อมที่จะรับสถานการณ์

๓๐. ติเพื่อก่อ (Criticism)

ผู้นำต้องสร้างสังคมการทำงานที่มีนิสัยติเพื่อก่อและไม่ติเตียนอย่างไร้ความรับผิดชอบ เพราะความตั้งใจในการทำงานจะถูกทำลายไปอย่างง่ายดาย หากเพื่อร่วมงานไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเชิงการแก้ปัญหา หรือในเชิงการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

๓๑. รักษาชื่อเสียง (Reputation)

ผู้นำที่ดีต้องรักษาชื่อเสียงและไม่ยอมทำอะไรที่จะเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะมีกับชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นกับตัวเองหรือภาพพจน์ขององค์กร โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์เล็กน้อย หรือผลประโยชน์ระยะสั้นแต่เอาภาพพจน์ขององค์กรเข้าไปเสี่ยง

๓๒. รู้จักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและอินเตอร์เน็ต (Internet- IT)

ผู้บริหารต้องรู้จักเทคโนโลยีพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต อีเมล์ การสร้าง Web Site เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพ ให้องค์กรได้มาก การจะใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตได้ ผู้บริหารจะต้องเข้าใจและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสมและวิธีที่ดีที่สุดคือ ผู้นำจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจขั้นพื้นบานไว้บ้าง

๓๓. บริหารคน (Managing People)

ความสำเร็จขององค์กรอยู่ที่การใช้คน โดยเฉพาะการใช้คนในตำแหน่งที่สำคัญๆ ผู้บริหารจึงต้องเลือกคนเพื่อลงในตำแหน่งที่สำคัญอย่างรับผิดชอบ ผู้บริหารต้องทำสิ่งที่จำเป็นต่อองค์กร ต้องใช้คนมีประสิทธิภาพในตำแหน่งที่สำคัญและไม่ปล่อยให้ผู้ไร้ประสิทธิภาพรับหน้าที่สำคัญ ในการบริหารคนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีการมอบอำนาจให้กับทีมงาน แต่การมอบอำนาจจะต้องมอบให้กับบุคคลที่เหมาะสม

๓๔. มองโลกในแง่บวก (Positive Thinking)

ผู้นำสร้างกำลังใจด้วยการมองปัญหาในแง่บวก ในทุกๆ สถานการณ์ผู้นำที่ดีจะสามารถหามุมมองที่สร้างกำลังใจได้เสมอ
๓๕. เข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย (Diversity)

ผู้นำเข้าใจถึงคุณค่าของความหลากหลายและความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นนิสัย พื้นเพ ความชอบส่วนตัว สำเนียง นิสัยการทำงาน วิธีทำงาน ฯลฯ ผู้นำที่ดีจะไม่พยายามทำให้ทีมงานไม่เป็นตัวของตัวเองด้วยการพยายามขัดเกลาทุกคนให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรที่มีการกำหนดขึ้นมา

๓๖. รู้จักประมาณตน (Self Assessment)

ผู้นำต้องเป็นผู้ที่รู้จักประมาณตน รู้จักประเมินตนเองอย่างเป็นธรรมและเรียกร้องผลประโยชน์ของตนเองอย่างเป็นธรรม การรู้จักประมาณตนเองจะทำให้สามารถบริหารงานได้ด้วยทัศนคติที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง จะช่วยสร้างบรรยากาศของความสำเร็จ

๓๗. พัฒนาตนเองตลอดเวลา (Self Development)

ผู้นำที่แท้จริงจะมองเห็นความสำคัญของการปรับปรุงตนเองตลอดเวลา ผู้นำที่มีความเข้าใจว่าหากไม่มีการพัฒนาโอกาสพลาดพลั้งจะเกิดขึ้น ความคิดเช่นนี้จะทำให้คนเราสามารถทำอะไรได้อย่างมีมติและไตร่ตรอง

๓๘. เข้าใจจังหวะเวลา (Timing)

ผู้นำต้องเข้าใจจังหวะเวลาและจะต้องไม่รู้สึกอึดอัดกับสิ่งที่เห็น และให้ความสนใจกับสิ่งที่ควรจะเป็นมากกว่า ผู้นำที่ดีรู้ว่าตนเองต้องการอะไร รู้จักโอกาส รู้จักแกฉวยอย่างรวดเร็วเมื่อโอกาสมาถึง แต่ก็รู้จักอดทน ไม่อึดอัดกับความว่างเปล่า

๓๙. เข้าใจขอบเขตของความเหมาะสมในเชิงปฏิบัติจริง (Practicality)

ผู้นำต้องมองไกล มองไปข้างหน้า แต่ต้องเป็นผู้เข้าใจการปฏิบัติได้จริงด้วย มิฉะนั้นความพยายามที่ลงไปไขว่คว้าสิ่งที่ไม่เหมาะสมในเชิงปฏิบัติจะทำให้เป็นการเสียเวลาเปล่า

๔๐. เน้นและสร้างคุณค่า (Value)

ผู้นำต้องรู้จักสร้างคุณค่า คุณค่า คือการได้ประโยชน์จากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า คุณค่าต้องอยู่ในทุกกิจกรรม การสร้างกลไกที่ทำให้องค์กรเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าจึงเป็นสิ่งที่เป็นหัวใจและเป็นสิ่งที่ต้องนำไปใช้ในทุกกิจกรรมขององค์กร เพื่อให้ได้ผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงสุด

..............................................
อ้างอิง
สามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือ/เอกสาร
ชื่อหนังสือ : ผู้นำเต็ม ๑๐๐
ผู้เขียน : ดร.ประวิทย์ อิทธิเมฆินทร์


สรุปเนื้อหา โดย นายวุฒิศักดิ์ ดอกพุฒ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี กรมการพัฒนาชุมชน