ภาวะผู้นำที่ประสบความสำเร็จ

David Rook และ William Torbert ได้จำแนกประเภทของผู้นำไว้ 7 ประเภท โดยมุ่งเน้นเรื่อง คุณลักษณะและแนวทางใน การแก้ไขข้อบกพร่อง และพัฒนาจุดเด่นให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น มีประเด็นสำคัญ ดังนี้...

  1. ผู้นำประเภทนักฉวยโอกาส (Opportunist)
    ผู้นำประเภทนี้มีเพียงร้อยละ 5 ของผู้นำทั้งหมด มีลักษณะเด่นคือ ยึดถือความคิดตัวเองเป็นใหญ่ จิตใจคับแคบ ไม่ไว้ใจใคร มองโลกในแง่ร้าย บ้าอำนาจ สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง การยอมรับ และผลประโยชน์ มองเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง และลูกค้าเป็นเสมือนเครื่องมือเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา ผู้นำประเภทนี้จะมองว่า โลกมนุษย์เต็มไปด้วยความโหดร้าย การเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น จึงต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้น ถูกต้องเสมอ เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็พร้อมจะโต้ตอบกลับให้รู้ดำรู้แดงกันไปข้างหนึ่ง ผู้นำประเภทนี้มักจะดำรงตำแหน่งได้ไม่นานเพราะไม่มีใครชอบ ไม่มีใครอยากให้ความร่วมมือ ยากที่จะเจริญก้าวหน้า และหาความสุขไม่ได้ในชีวิต แนวทางการแก้ไขคือ พยายามมองโลกในแง่ดี เปิดใจให้กว้าง มีความไว้เนื้อเชื่อใจ และจริงใจกับคนอื่นบ้าง ถึงแม้ว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราอาจจะเจอแต่คนเอารัดเอาเปรียบ แต่ไม่จำเป็นว่า ปัจจุบันจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป ถ้าอยากมีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า และได้รับการยอมรับ ก็ต้องรู้จักเปิดใจยอมรับผู้อื่นบ้าง อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเราเช่นไรเราก็ต้องทำเช่นนั้นกับเขาก่อน
  2. ผู้นำประเภทนักการทูต (Diplomat)
    มีประมาณร้อยละ 5 ของผู้นำทั้งหมด ผู้นำประเภทนี้มักเป็นที่รักของลูกน้องและเจ้านาย เพราะกลุ่มนี้จะชอบสร้างภาพ ให้ตัวเองเป็นที่รักอยู่ตลอดเวลา เช่น พูดจาไพเราะ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่วิพากษ์วิจารณ์ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านาย ดูผิวเผินอาจจะเป็นสิ่งดี แต่ในความเป็นจริง การไม่ตำหนิติเตียน หรือวิพากษ์วิจารณ์ใครเลย จะทำให้องค์กรไม่มีการพัฒนา หรือการเก็บงำข้อบกพร่องและความขัดแย้งภายในองค์กรไม่ยอมบอกให้หัวหน้ารู้ เพราะกลัวว่าภาพพจน์ตนเอง จะเสียและจะถูกมองว่าเป็นคนช่างฟ้อง จะทำให้ปัญหาบานปลาย เนื่องจากไม่ได้รับ การแก้ไขอย่างทันท่วงที ดังนั้น ผู้นำประเภทนี้เมื่ออยู่ในตำแหน่งสูง ๆ มักจะเกิดปัญหาและไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากนัก บุคคลประเภทนี้เหมาะที่จะเป็นฝ่ายต้อนรับและให้บริการมากกว่าการบริหาร เนื่องจากไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง เพราะสนใจแต่ภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น กอปรกับมองว่าปัญหาและข้อบกพร่องเป็นเรื่องน่าอับอาย และยุ่งยากจึงชอบ หนีปัญหา เป็นต้น แนวทางการแก้ไขคือ มองปัญหาและความขัดแย้งในแง่ดี และเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะต้องเกิดขึ้น องค์กรใดที่ไม่มีความขัดแย้ง ย่อมไม่มีการพัฒนา ดังนั้น การติเตียนและวิพากษ์วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์ ย่อมเป็นสิ่งดี ทำให้องค์กร มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าต่อไป
  3. ผู้นำประเภทชำนาญการ (Expert)
    มีประมาณร้อยละ 38 ผู้นำประเภทนี้จะใช้ความรู้ที่ลุ่มลึกในงานที่ตนเองรับผิดชอบทำให้ผู้อื่นยอมศิโรราบ บุคคลเหล่านี้ จะชอบใฝ่หาข้อมูล ใส่ตัวให้มากที่สุดเพื่อแสดงว่ าตนนั้นอยู่เหนือผู้อื่นและมักคิดว่า ตนเองเก่งที่สุด และไม่มีวันที่คนอื่น จะรู้เท่าทัน ทำให้บ่อยครั้งเกิดการทะเลาะกับเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยง เสียไม่ได้ ผู้แต่งได้ยกตัวอย่าง อาชีพที่มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมดังกล่าว เช่น นักบัญชี นักวิเคราะห์ทางการตลาด นักวิจัยการลงทุน วิศวกรเกี่ยวกับโปรแกรมข้อมูล และที่ปรึกษาในด้านต่าง ๆ เป็นต้น ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะมีข้อดีคือ มีความรู้อย่างแท้จริง และสามารถพัฒนาปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น มีความรับผิดชอบ และตั้งใจทำงานเพราะต้องการผลิตผลงานออกมาให้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ งานส่วนใหญ่มักจะต้องทำคนเดียว และหน้าที่การงานก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าที่ควร เพราะชอบโอ้อวดและดูถูกคนอื่น ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญดังกล่าว จึงไม่ได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนมากนัก แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักทำงานเป็นทีม รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าดูถูกดูแคลนผู้อื่นเพราะจะเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว และให้ตระหนักว่าเหนือฟ้า ย่อมมีฟ้า อย่ามั่นใจในตัวเองมากนัก
  4. ผู้นำประเภทจัดการ (Achiever)
    มีประมาณร้อยละ 30 บุคคลประเภทนี้สามารถทำงานทุกอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดี ตามระยะเวลาที่กำหนด รับฟังความคิดเห็น ของผู้อื่น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี รู้จักการประนีประนอม และมีมนุษยสัมพันธ์ดี ภาพรวมของบุคคลประเภทนี้ เหมือนจะดี แต่ผู้แต่งกล่าวว่า คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ไม่ค่อยมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จะทำเฉพาะสิ่งที่ได้รับ มอบหมาย ถ้าเกินกว่านี้ก็จะไม่กล้าทำ เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลงและกลัวการสูญเสียอำนาจ และมักจะมีปัญหา กับลูกน้อง ที่อยู่ในประเภท "ผู้ชำนาญการ (Expert)" เป็นต้น ผู้นำประเภทนี้ถึงแม้ว่า จะไม่เป็นตัวสร้างปัญหา แต่ก็มิได้สร้างประโยชน์ ให้กับองค์กรมากนัก แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักคิดนอกกรอบและกล้าที่จะเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์
  5. ผู้นำประเภท "ข้าแน่คนเดียว" (Individualist)
    มีประมาณร้อยละ 10 บุคคลประเภทนี้มีความคล้ายคลึงกับกลุ่ม "ผู้ชำนาญการ (Expert)" คือชอบทำงานคนเดียว แต่คนกลุ่มนี้จะรู้จักมองโลกสองด้านเช่น การรู้จักแยกแยะข้อมูลทางทฤษฎีกับการนำไปปฏิบัติจริงว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ หรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง หรือเป้าหมายของบริษัทนอกจากจะได้กำไรแล้วผลกระทบที่ตามมามีอะไรบ้าง คนกลุ่มนี้จะไม่ใช่สักแต่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น แต่จะรู้จักวิเคราะห์และไตร่ตรองข้อมูลต่าง ๆ กล้าที่จะคิดและเสนอสิ่งที่แตกต่าง เต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรู้ความสามารถ และต้องการผลักดันให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่จุดอ่อนของคนประเภทนี้คือ ไม่รู้จักการยืดหยุ่น หรือประนีประนอม และพร้อมที่จะสู้ตายเพื่อพิสูจน์ว่าความคิดของตนเองนั้นถูกต้อง จึงทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับคนทุกระดับ ไม่ค่อยเจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรเพราะขาดคนสนับสนุน หรือกว่าจะไปถึงจุดสูงสุดก็ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างหนักเพื่อสู้กับแรงต้านที่มาทั่วทุกสารทิศ แนวทางการแก้ไขคือ รู้จักปล่อยวางบ้าง อย่ามั่นใจตัวเองมากนัก เปิดใจยอมรับความคิดของผู้อื่นบ้าง รู้จักทำงานเป็นทีม และในฐานะหัวหน้าหากมีลูกน้องประเภทนี้ถือว่าเป็นเพชรเม็ดงามที่ขาดการเจียรนัย จึงควรให้การอบรมสั่งสอนให้รู้จักการวางตัวและแสดงออกอย่างเหมาะสม
  6. ผู้นำประเภทนักยุทธศาสตร์ (Strategist)
    มีประมาณร้อยละ 4 บุคคลประเภทนี้จะมีความรู้ ความสามารถมาก มองเห็นภาพรวมทั้งหมดขององค์กร รู้ว่าสิ่งไหนทำได้ หรือทำไม่ได้ หรือยังขาดทรัพยากรใดบ้าง มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล สามารถสร้างความรักและศรัทธา จากลูกน้องและผู้ร่วมงานได้ ยึดเอาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก รับความขัดแย้งได้ทุกรูปแบบ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้า และมีคุณธรรมไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ขององค์กรแต่เพียงฝ่ายเดียว
  7. ผู้นำประเภทนักสร้างสรรค์พัฒนา (Alchemist)
    มีประมาณร้อยละ1 บุคคลกลุ่มนี้พร้อมที่จะพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคล้ายคลึงกับ"กลุ่มนักยุทธศาสตร์ (Strategist)" แต่แตกต่างกันตรงที่นักยุทธศาสตร์นั้นจะมองภาพรวมทั้งหมดและจัดการทุกอย่างได้อย่างไม่มีที่ติ แต่นักสร้างสรรค์ พัฒนานั้นนอกจากจะบริหารงานได้อย่างดีเยี่ยมแล้วยัง สามารถริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เหนือ ความคาดหมาย ได้อีกด้วย นอกจากนั้น คุณลักษณะอื่น ๆ ของผู้นำประเภทนี้คือ สามารถรับได้ทุกสถานการณ์ ไม่มีความขัดแย้งเพราะ มองปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา พูดจานุ่มนวล ถูกต้องตามกาละเทศะ มีบุญญาบารมี มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้า อยู่ตลอดเวลา มีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา และมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม

ยุทธวิธี 19 ประการสำหรับภาวะผู้นำที่ประสบความสำเร็จ

  1. รักษาสัมพันธภาพที่ดีกับนายของท่าน สัมพันธภาพที่ดีมีผลโดยตรงกับความสามารถของท่านที่จะสร้างความพอใจ และผูกใจผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้นำที่มีความสามารถได้รับอำนาจจากนายของเขา
  2. ทำตัวอย่างที่ดี ในสิ่งที่ท่านอยากให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติ เช่น มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ ควบคุมอารมณ์ใช้ปัญญา กล้าตัดสินใจ ยืดหยุ่นมีเหตุผล กำหนดวัตถุประสงค์ ริเริ่ม กระตือรือร้น ท่านต้องให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ ท่านต้องเป็นแบบอย่าง การเป็นแบบอย่างเป็นยุทธวิธีที่ดีมากสำหรับผู้นำที่มีความสามารถ
  3. บอกความคาดหวังท่านชัดเจน ท่านคาดหวังอย่างไรกับผู้ร่วมงานที่เขาจะทำให้เกิดความพึงพอใจกับท่าน อย่าคิดเอาเองว่า เขาจะทราบไม่ต้องกลัวที่จะบอกเขาว่าท่านต้องการอะไร บอกเขาก่อนที่เขาจะทำงาน และเตือนเขาบ่อย ๆ เท่าที่จะทำได้
  4. นัดประชุมเพื่อสร้างทีมให้เข้มแข็ง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดให้กลุ่มมุ่งเน้นที่เป้าหมาย
  5. ให้รางวัลผู้ให้ความร่วมมือและทำงานหนัก ถ้าให้รางวัลเขาแล้ว เขาจะทำงานดีขึ้น
  6. ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล และหาประโยชน์จากความแตกต่างเหล่านั้น
  7. ให้คำชมบางคนที่ให้ความร่วมมือกับทีมดูวัตถุประสงค์ ความจริงใจ และความถี่ ท่านแน่ใจว่าเขาทำตามความคาดหวังของท่าน และสามารถปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
  8. รับฟังผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงานจะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ท่านจะได้รับความนับถือและได้ รับความจริงใจ มากขึ้น ท่านจะได้ทราบความเป็นไปในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น
  9. เลือกบุคคลที่สามารถทำงานกันเป็นทีม ไม่มีการฝึกอบรมชนิดใดที่จะเปลี่ยนแปลงบุคลากร ที่แปลกแยกจากทีมของท่าน ได้มากนัก ให้พิถีพิถันในการเลือกคน อย่าต้องมาจ่ายเงินเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งผิด ๆ ทิ้งไว้ให้คู่แข่งของท่านจะสวยกว่า
  10. ร่วมกันกำหนดเป้าหมายทัศนภาพ สร้างแรงจูงใจ และเหตุผลต่าง ๆ ไม่ต้องบอกว่าเขาต้องทำอะไรในสถานการณ์ต่าง ๆ และให้เขาช่วยตัดสินใจในวิธีการที่ดีที่สุดในการที่จะทำให้บรรลุผลตามความต้องการต่าง ๆ เหล่านั้น
  11. ยอมรับความผิดพลาด การยอมรับความผิดพลาดแสดงถึงความเข้มแข็งมากกว่าการแสดงความอ่อนแอ
  12. อย่าให้คำมั่นสัญญาอะไรง่าย ๆ มีสองสิ่งที่จะเกิดขึ้น เวลาให้สัญญาไม่เป็นสิ่งที่ดีนัก นั่นก็คือ มีความคาดหวังให้เป็นไปตามสัญญา และถ้าไม่เป็นไปตามสัญญา มิตรภาพก็จะสลายไป
  13. บริหารเวลาให้ดี ควรมีเวลาให้เพื่อนร่วมงานของท่านบ้าง
  14. มอบหมายงานให้เหมาะสมกับคนสอดคล้องกับความต้องการขององค์กร สิ่งนี้เป็นคำตอบที่ดีสำหรับคำถามที่ว่า "ข้าพเจ้าจะจู.ใจลูกน้องได้อย่างไร"
  15. ท่านต้องยอมรับค่าของคนตามความแตกต่างของบุคลากร ท่านก็คงทราบว่าสิ่งใดที่จะทำให้ท่านรู้สึกดีขึ้น คนอื่น ก็เช่นเดียวกับท่าน ทุกคนต้องการมีความรู้สึกว่าตนเองสำคัญ ถ้าท่านยกย่องเขา เขาก็ยกย่องท่าน
  16. แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างซื่อตรง และยุติธรรม ให้ตระหนักถึงสไตล์การแก้ปัญหาความขัดแย้งของท่าน เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
  17. ให้ข้อมูลในการทำงานก่อนที่เขาจะทำงาน เพื่อนร่วมงานต้องการข้อมูลที่จำเป็นในการทำงาน เมื่อท่านมอบหมายงานท่านต้องให้ข้อมูลเขา
  18. ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นจากแรงกดดันของแต่ละวันบ้าง ท่านต้องมีเวลาคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้เป้าหมายบรรลุผล ควรจะวางแผนอย่างไร มิฉะนั้นท่านก็จะต้องต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ โอกาสที่ท่านจะประสบความสำเร็จยากมากต้องปล่อยวางบ้าง
  19. อย่าเป็นคนที่เคร่งเครียดจนเกินไป ร่าเริงและเป็นกันเองกับลูกน้องบ้าง

ความกล้า คือการต่อสู้ความกลัว เป็นการเอาชนะความกลัว แต่ไม่ใช่ไม่รู้สึกกลัว " Courage is the resistance to fear, mastery of fear, not absence of fear."

Mark Twain นักเขียนชาวอเมริกันได้กล่าวไว้

ข้อความนี้เป็นความจริงที่ผู้ทำหน้าที่ "นำ" ผู้อื่น สมควรเรียนรู้

ความกล้าหาญ เป็นลักษณะชีวิตพื้นฐานที่มักพบในบุคคลที่มีแนวโน้มเป็นผู้นำ ผู้ที่มีความกล้าหาญจะสงบเมื่อเผชิญวิกฤตร้ายแรง โดยพยายามที่จะเอาชนะความกลัว ไม่ยอมให้ความกลัวมาขัดความมุ่งมั่นของตน ในขณะที่คนอื่นอาจหวั่นไหวและเกิดความกลัว ความกล้าหาญจะเป็นแรงกระตุ้นให้คิดแง่บวกต่อปัญหา พยายามคิดหาทางออก และถ่ายทอดเป็นคำพูดที่มีพลังและให้กำลังใจทกคนให้กล้าเผชิญปัญหา

ในยามเผชิญหน้ากับสถานการณ์หรือปัญหาบางอย่างที่มีลักษณะ ...เป็นเรื่องร้ายแรง ...เป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ ...เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ...เป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง หรือเรื่องอื่นใดในลักษณะเช่นนี้ที่ทำให้เกิด ความหวั่นวิตก หวาดกลัว ตระหนกตกใจ เพราะไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น คนบางคนอาจตอบสนองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการบ่นต่อว่า ร้องไห้คร่ำครวญ ท้อแท้สิ้นหวัง ยอมแพ้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การตอบสนองปัญหาในเชิงลบเช่นนี้ กลับเป็นเรื่อง "ต้องห้าม" ของผู้ที่อยู่ในบทบาทผู้นำ

ทั้งนี้ เพราะความหวาดกลัวของผู้นำ จะนำความพ่ายแพ้ ล้มเหลวมาสู่คนที่อยู่ภายใต้ทั้งทีม ผู้นำจึงต้อง "ซ่อน" ความกลัว แต่การจะทำเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องแทนที่ด้วยคุณลักษณะอันสำคัญ นั่นคือ ความกล้าหาญ
หากผู้นำขาดความมั่นใจ แสดงความหวาดกลัวออกไป ไม่เด็ดขาดในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา ไม่เพียงแต่จะนำทั้งทีมสู่ความพ่ายแพ้ ยังนำมาซึ่งการสูญเสียความเชื่อมั่นการยอมรับในตัวผู้นำ อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อการบังคับบัญชาได้ในที่สุด แต่หากผู้นำที่สามารถซ่อนความกลัวและเผยความกล้าหาญ จะได้รับการยอมรับจากคนที่อยู่ภายใต้

ดังนั้น เส้นทางการพัฒนาภาวะผู้นำที่สำคัญ เราจำเป็นฝึกฝนลักษณะนิสัยแห่งความกล้าหาญ โดยต้องปรับความเชื่อ ความคิด และความกล้าหาญในการตัดสินใจ

ความเชื่อ... เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก โดยไม่ย่อท้อต่อแรงกดกันใดๆ เชื่อมั่นในตนเองและทีมงาน ว่าจะสามารถหาทางออกได้ ความเชื่อเช่นนี้สะท้อนจิตใจที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลนั้นสามารถเผชิญปัญหาและอุปสรรคใด ๆ ได้ด้วยความมั่นคง เริ่มต้นด้วยการตัดสินใจที่จะไม่กลัวและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ตัดสินใจเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยใจที่สงบและมั่นคง

ความคิด...ใคร่ครวญปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ตัดสินใจรีบด่วนวู่วาม ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ แต่ต้องใช้ความสุขุม คิดใคร่ครวญ ใช้เหตุผลพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ความกล้าของเราต้องไม่ใช่ความกล้าแบบบ้าบิ่น เหมือนดั่งแรมโบ้ กล้าแบบกล้าเสี่ยงเข้าหาอันตราย ที่สำคัญควรปรึกษาหารือกับทีมงานเพื่อหาทางออกร่วมกัน เมื่อความคิดหาทางออกตกผลึกแล้ว จึงวางแผนดำเนินการ

ความกล้า...ในการตัดสินใจและลงมือดำเนินการ ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจทันท่วงที รู้จักฉวยจังหวะและโอกาส ไม่ลังเลหรือขาดความเชื่อมั่น และที่สำคัญต้องเป็นผู้ถือธงรบออกวิ่งไปข้างหน้า ต้องไม่ทำตัวเป็นเหมือนนกกระจอกเทศ เมื่อเห็นปัญหาก็ปักหัวลงในทราย ไม่รับรู้ปัญหาและหวังว่าปัญหาจะหายไปเอง แต่ต้องยืดอกสู้ เผชิญปัญหาด้วยความกล้าหาญ

มาดามรูสเวลท์ (แอนนา เอลินอร์ รูสเวลท์) ได้เขียนถึงนิสัยใจคอสามีประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รูสเวลล์ ไว้ในหนังสือ This I Remember ว่า

"ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักบุคคลใดที่มีความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองยิ่งไปกว่าแฟรงคลิน ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเขาบ่นว่า มีปัญหาหนึ่ง ปัญหาใดยากลำบากเกินไปกว่าวิสัยมนุษย์จะแก้ให้ตกได้ แม้เขาเคยเผชิญต่อความยุ่งยากนานาประการ แต่ทั้งๆที่เขายังหา วิธีแก้ไขไม่ได้ เขาพูดว่า เขามั่นใจอย่างที่สุดว่า จะต้องมีหนทางแก้ไข และว่าจะต้องมีใครคนหนึ่งสามารถจะแก้ไขได้ ...เมื่อเขาวางแผนการจะกระทำสิ่งใด เขาจะปรึกษาหารือกับใครๆหลายคน และรับคำแนะนำที่เขาเห็นว่าดีที่สุด และครั้นเมื่อเขาตกลงใจให้ปฏิบัติแล้ว เขาจะไม่ยอมเสียเวลาเป็นทุกข์เป็นห่วง"

ความกล้าเป็นลักษณะของบุคคลที่มีความพยายามเอาชนะความกลัว พร้อมรับมือกับความกลัวที่เข้ามาในชีวิตของเราในรูปแบบต่าง ๆ กล้าเผชิญปัญหาที่ดูเหมือนหมดหนทางแก้ไข กล้าเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลง กล้ายอมรับในความผิดพลาดของตน หากเราต้องการดำรงตำแหน่งผู้นำที่ประสบความสำเร็จ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเผยความกล้า

คุณลักษณะผู้นำ 14 ประการ

  1. ลักษณะท่าทางหรือการวางตัว (Bearing) คือ การสร้างความประทับใจในเรื่องท่าทาง การวางตัว และความประพฤติ ให้อยู่ในระดับสูงสุด เป็นที่นิยมของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา มีความสุภาพนุ่มนวล หลีกเลี่ยงการพูดด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือเหยียดหยามผู้อื่น เป็นบุคคลที่มีความสง่าผ่าเผย ควบคุมตนเองได้ทั้งในการปฏิบัติตนและอารมณ์ แต่งกายสะอาดเรียบร้อยถูกต้องตามระเบียบแบบแผน
  2. ความกล้าหาญ (Courage) คือ การบังคับจิตใจตนเองให้อยู่ในความสงบ ไม่เกรงกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่สะทกสะท้านหรือ อ่อนไหว กล้าทำ กล้าพูด กล้ายอมรับผิดหรือคำติเตียน เมื่อมีความผิดพลาด หรือบกพร่อง ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกที่ควร ถึงแม้ว่าสิ่งนั้น จะไม่เป็นที่สบอารมณ์ผู้อื่นก็ตาม
  3. ความเด็ดขาด (Decisiveness) คือ ความสามารถในการตกลงใจโดยฉับพลัน และประกาศข้อตกลงใจอย่างเอาจริง และชัดแจ้ง โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งประสบการณ์ของตนเองและบุคคลอื่นอย่างมีเหตุผล และมีความมั่นใจในลักษณะ ที่รวดเร็ว ไม่พูดอ้อมค้อม ถูกต้อง และทันเวลา
  4. ความไว้เนื้อเชื่อใจ (Dependability) คือ การได้รับความไว้วางใจในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ หรืองานที่มอบหมายได้ถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ด้วยความคล่องแคล่ว ว่องไว เฉลียวฉลาด กระทำการอย่างเต็มความสามารถและพิถีพิถัน เป็นคนตรงต่อเวลา ไม่กล่าวคำแก้ตัว มีความตั้งใจ และจริงใจ
  5. ความอดทน (Endurance) คือ พลังทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งวัดได้จากขีดความสามารถในการทนต่อความเจ็บปวด ความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ความยากลำบาก ความเคร่งเครียด งานหนัก รวมถึงความอดกลั้นต่อสถานการณ์ที่บีบคั้น
  6. ความกระตือรือร้น (Enthusiasm) คือ การแสดงออกซึ่งความสนใจอย่างจริงจัง และมีความจดจ่อต่อการปฏิบัติงาน อย่างจริงจัง หมายถึง การทำงานด้วยความร่าเริงและคิดแต่แง่ดีเสมอ
  7. ความริเริ่ม (Initiative) คือ การเป็นผู้รู้จักใช้ความคิดในการเสาะแสวงหางานทำ และเริ่มหาหนทางปฏิบัติ ถึงแม้จะไม่มีคำสั่ง ให้ปฏิบัติ หรือการแสวงหาแนวทางในการปฏิบัติงานใหม่ ๆ ที่ดี มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และการกระทำทันที โดยไม่รีรอหรือชักช้า
  8. ความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity) คือ ความเที่ยงตรงแห่งอุปนิสัยและยึดมั่นอยู่ในหลักแห่งศีลธรรมอันดีงาม เป็นคุณสมบัติของการรักความจริง มีสัจจะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างแท้จริง
  9. ความพินิจพิเคราะห์ (Judgment) คือ คุณสมบัติในการใคร่ครวญ โดยใช้เหตุผลตามหลักตรรกวิทยา เพื่อให้ได้มูลความจริง และทนทาง แก้ไขที่น่าจะเป็นไปได้นำมาใช้ในการตกลงใจได้ถูกต้อง
  10. ความยุติธรรม (Justice) คือ การไม่ลำเอียงเข้าข้างใคร มีความเที่ยงตรง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีความเสมอต้นเสมอปลาย ในการบังคับบัญชา หมายรวมถึง การให้รางวัลและการลงโทษแก้ผู้ที่กระทำผิดด้วย
  11. ความรอบรู้ (Knowledge) คือ ข่าวสารที่บุคคลหามาได้รวมทั้งความรู้ในวิชาชีพของตน และความเข้าอกเข้าใจในตัว ผู้ใต้บังคับบัญชา
  12. ความจงรักภักดี (Loyalty) คือ คุณสมบัติของบุคคลที่มีจิตใจเชื่อมั่น และยึดมั่นต่อประเทศชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อกองทัพ ต่อหน่วย ต่อผู้บังคับบัญชา ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ
  13. ความรู้จักกาลเทศะ (Tact) คือ ความสามารถในปฏิบัติตนกับบุคคลอื่น โดยไม่เกิดความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ก่อให้เกิดศัตรู หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ในทัศนะของบุคคลทั่วไป กาลเทศะ หมายถึง ความสามารถที่จะพูด หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ถูกต้อง เหมาะสมแก่กาลเวลาและสถานที่ ความสุภาพอ่อนโยนถือเป็นส่วนหนึ่งของกาลเทศะด้วย
  14. ความไม่เห็นแก่ตัว (Selflessness) คือ การไม่ฉวยโอกาสตักตวงความสุข ความสะดวกสบาย ความเจริญก้าวหน้าให้กับตนเอง โดยทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเสียผลประโยชน์ หมายถึงการร่วมเป็นร่วมตายกับเพื่อนร่วมงาน การแบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ให้กับผู้ขาดแคลน ยกย่องผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อปฏิบัติงานดีเด่น หรือให้ความช่วยเหลือตามสมควร

กฎของผู้นำ แจ๊ค เวลซ์

1.ผู้นำไม่ลดละความพยายามที่จะยกระดับคน ใช้ทุกโอกาสในการประเมิน โค้ช และสร้างความมั่นใจให้กับทีม การประเมินครอบคลุมไปถึงการจัดคนให้ตรงกับงาน สนับสนุนเขา โยกย้ายคนที่ไม่เหมาะกับงาน การโค้ชรวมไปถึงการทำทุกวิถีทางที่จะบอกเรื่องผลงานแบบตรงไปตรงมาเพื่อทำให้เขาทำงานได้ดีที่สุด การพัฒนาคนต้องทำทุกวัน ไม่ใช่พูดคุยกันปีละครั้งตอนประเมินผลงาน ให้มองว่าผู้นำคือชาวสวนที่มือขวาถือกระบวยรดน้ำ มือซ้ายถือปุ๋ย บางครั้งก็ต้องถอนต้นไม้ที่ไม่ดีออกไป ส่วนใหญ่แล้วเป็นการเพาะบ่ม แล้วรอคอยการเติบโตของไม้นั้น

2.ผู้นำต้องมั่นใจว่าทุกคนเข้าใจวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน ขนาดหายใจเข้าออกเป็นวิสัยทัศน์ พูดง่ายๆ ว่าปลุกคนของเรากลางดึกนี่ท่องได้แบบอาขยานเลย เขาบอกว่าสมัยเขานั้น ช่วงที่เขาพูดเกี่ยวกับวิสัยทัศน์นั้นจ้ำจี้จำไชจนตัวเองเอียนไปเลย แต่ต้องทำ โดยสื่อสารกับทุกระดับ ไม่ใช่แค่ระดับจัดการ

3.ผู้นำกระตุ้นจูงใจให้คนมีความรู้สึกกระตือรือร้นและคิดบวกในการทำงาน ผู้นำต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานเชิงลบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปพูดหวานหลอกพนักงาน เราต้องแสดงออกให้พวกเขาเห็นว่าเรามีพลังและกำลังใจ มีทัศนคติ "เราทำได้" เมื่อเผชิญกับปัญหาและความท้าทาย ซึ่งเราต้องไม่นั่งจมปลักในออฟฟิศ แต่ต้องออกไปทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับทีมงาน ให้เขารู้สึกได้จริงๆ ว่าเราแคร์พวกเขา

4.ตรงไปตรงมา โปร่งใส และเชื่อถือได้

5.กล้าตัดสินใจในเรื่องที่ฝืนความรู้สึกคนหมู่มาก และมั่นใจในสัญชาตญาณตัวเอง การตัดสินใจบางอย่างอาจมีแรงต่อต้านสูงจากคนของเรา ต้องเริ่มต้นด้วยการรับฟังพวกเขาอย่างตั้งใจ แล้วอธิบายเหตุผลของการตัดสินใจให้ชัดเจนที่สุด และลงมือดำเนินการ อย่ามัวรีรอ หรือปลอบประโลมมากเกินไป เราเป็นผู้นำไม่ได้เป็นเพราะว่าต้องการมาหาคะแนนนิยม เรามาเพื่อนำพวกเขา คุณได้รับการแต่งตั้งแล้ว ไม่ต้องหาเสียงสนับสนุนแบบนักการเมือง ในบางกรณีคุณอาจต้องใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจ กล้าและมั่นใจ อย่าลังเล คุณได้เป็นผู้นำเพราะมีประสบการณ์และเห็นมามากกว่าคนอื่น

6.กล้าถาม กล้าซักค้าน และผลักดันให้เกิดงาน เวลาที่เราเป็นระดับปฏิบัติการ เราต้องเก่งและรอบรู้ในงานของเรา แต่เมื่อเรากลายเป็นผู้นำแล้ว บทบาทเปลี่ยนไป เราต้องถามเก่งแทน บางทีคุณอาจจะดูเหมือนคนที่โง่ที่สุดในห้องประชุมจากคำถามของคุณ และเมื่อถามไปแล้วก็ให้แน่ใจว่าได้คำตอบ ตลอดจนคนของเรานำสิ่งที่บอกจะทำไปทำจริงๆ อย่ามั่นใจว่าคนบอกอะไรเราแล้วเขาจะทำตามที่บอก ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

7.ผู้นำจุดประกายให้คนกล้าเสี่ยงโดยการทำตัวให้เป็นแบบอย่าง สมัยทำงานใหม่ๆ แจ๊คเคยทดลองเคมีบางอย่างจนห้องแล็บระเบิด แต่ไม่มีใครบาดเจ็บ เขาวิตกมากเมื่อต้องไปรายงานสิ่งที่เกิดกับผู้บริหารระดับสูงที่ชื่อชาร์ลี รีด แทนที่จะได้รับการตำหนิและกล่าวโทษ ชาร์ลีกับแสดงความเห็นใจ สอบถามถึงสาเหตุอย่างเป็นระบบ แนะนำกระบวนการและสอนวิธีการป้องกันปัญหาในอนาคต แจ๊คนอกจากจะได้เรียนรู้แนวทางการทำงานแล้ว เขายังได้เรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรอย่างเหมาะสม เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดผิดพลาดขึ้นมา

8.ฉลองความสำเร็จสำหรับแต่ละคนที่ทำงานเป็นเลิศ แจ๊คไม่ชอบงานสังสรรค์ประจำปี เพราะคนส่วนใหญ่ไม่สนุกนัก แต่เขาหมายถึงการที่ใครบางคนทำงานยอดเยี่ยม ก็ต้องมีการสมนาคุณ เช่น ให้รางวัลพิเศษด้วยการให้พาครอบครัวไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์

ผู้นำแห่งความสำเร็จ

องค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ก็สามารถทสิ่งที่ยิ่งใหญ่จนได้รับคำชื่นชมว่ามีความสำเร็จได้ทั้งนั้น ขอเพียงมีองค์ประกอบในการทำงานดี ความสำเร็จก็รออยู่ไม่ไกลองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ผู้นำต้องดี ถ้ามีผู้นำดี ลูกน้องก็ไม่หลงทาง องค์กรก็ไม่เป๋ จะคิดอะไร จะทำอะไร ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ นี่คือ 10 องค์ประกอบของผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพ ที่ทุกองค์กรต้องมองหา

1. ตัดสินใจเด็ดขาด

ผู้นำที่รู้จักตัดสินใจอย่างเด็ดขาด มักมีคุณสมบัติพิเศษควบคู่กันอยู่อีกประการหนึ่งเสมอคือ มักถูกต้องและมีเหตุมีผล เขามักจะเป็น คนที่พูดจาคำไหนคำนั้น ถือได้ว่าเป็นผู้นำที่ดีที่สุดของลูกน้อง บางครั้งการตัดสินใจดูเหมือน จะใช้ความคิดของตนเป็นใหญ่ไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ เพราะเขากำลังอยู่ใน บทบาทซึ่งเป็นผู้นำ และเขาจะติดตาม รับผิดชอบไปจนเสร็จสิ้น ทั้งกระบวนการ ถ้าผู้นำมีความมุ่งมั่น ตัดสินใจเร็ว ไม่โลเล เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆ ลูกน้องก็จะเกิดความมั่นใจ เชื่อถือ และสามารถทำงานได้โดย ไม่สะดุดบ่อยๆ ผิดกับเจ้านายที่โลเลต่อการตัดสินใจ ลูกน้องก็มักจะมีบุคลิกภาพแบบนักรีรอ ไม่พร้อมจะทำ ไม่พร้อมจะลุย ไม่พร้อม จะตัดสินใจ และไม่พร้อมจะรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

2. มีเป้าหมายชัดเจน

นอกจากจะเฉียบขาดแล้ว ผู้นำที่มีจุดยืน มีอุดมการณ์ หรือมีจุดหมายที่ชัดเจน ก็เป็นที่ต้องการเป็นอย่างยิ่ง จุดหมายที่องค์กรมีร่วมกัน โดยมีนายเป็นผู้ถือธงนำนั้น ก็เหมือนกับทั้งทีมได้เห็นเส้นชัยหรือหลักชัยที่ต้องเดินไปให้ถึง ถ้ามีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนแล้ว เราก็สามารถมุ่งหน้าไปยังจุดๆ นั้นได้ง่าย และเร็วขึ้น เพราะเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คนที่รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่นั้น ย่อมดีกว่าเดินไปคิดลังเลไป เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

3. รู้จักใช้คน

Put he right man in the right job. ยังใช้ได้ดีในทุกสถานการณ์ และทุกที่ ผู้นำที่ดีต้องรู้จักลูกน้องของตนว่า ใครเหมาะที่จะ ทำอะไร งานไหนควรให้ใครรับผิดชอบ คนไหนเก่งอะไร มีข้อบกพร่องด้านใดอยู่บ้าง ก็พยายามแก้ไขให้เขาสมบูรณ์แบบขึ้น ใครขาดใครเกินส่วนไหน ก็ปรับแต่งให้ลงตัว อย่างนี้จึงจะเรียกว่า บริหารคนเป็น การรู้จักนิสัยใจคอ ความชอบส่วนตัวของลูกน้อง นอกจากจะทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพขึ้นแล้ว ยังเป็นข้อหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นำเอาใส่ใจต่อลูกน้องของเขาเป็นอย่างดี

4. ซื่อสัตย์

นอกจากจะเป็นคนที่ทำงานเก่งแล้ว ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างของความซื่อสัตย์ต่อองค์กรด้วย เขาควรจะบริหารค่าใช้จ่ายภายใน อย่างเป็นธรรมถูกต้อง ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบให้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ การมีเจ้านายเป็นคนเก่ง และเป็นคนดีที่ไว้ใจได้ อาจพูดได้ว่าเป็นโชคทบของลูกน้องที่ได้ร่วมงานด้วยเลยทีเดียว และคุณสมบัติเช่นนี้ก็จะเป็นแบบอย่าง ให้ลูกน้องตระหนักถึงคุณลักษณะที่ดี ของเขา เขาควรจะยิ่งต้องยึดถือความสัตย์ซื่อเป็นสรณะตามไปด้วย

5. สนับสนุนลูกน้อง

ผู้นำที่ดีต้องให้โอกาสลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา เปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานที่พิสูจน์ความสามารถของเขาด้วย งานใดจะส่งเสริม ให้ความสามารถของลูกน้องโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ ก็ควรสนับสนุน ไม่ใช่แย่งผลงานและโอกาสในการสร้างผลงานของลูกน้อง มาเป็น ผลงาน ของตัวเองหมดเสียทุกครั้งไป ให้โอกาสเขาได้เจริญเติบโต พร้อมทั้งผลักดัน สนับสนุน ให้สร้างเสริมความสามารถ ให้ยอดเยี่ยมขึ้นเรื่อยๆผู้นำที่ดีต้องสร้าง ลูกน้องให้เก่งขึ้นกว่าเดิม โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่า เขาจะเลื่อนขั้นขึ้นมาทำงาน แทนได้ในภายภาคหน้า

6. มีมนุษยสัมพันธ์ดี

ผู้นำที่ดีต้องมีมนุษยสัมพันธ์ดี ทั้งในและนอกองค์กร บางครั้งนอกองค์กรนายอาจจะเป็นคนนิสัยดีเยี่ยม อัธยาศัยดี น่าคบหา แต่กับ คนใกล้ตัว อย่างลูกน้องในองค์กร นายอาจจะเปลี่ยนนิสัยไปอยู่ขั้วตรงข้าม อย่างนั้นก็นับเป็นผู้นำที่ใช้ไม่ได้ นายที่ดีต้องไม่ลืมข้อนี้ แค่ทักทาย ถามไถ่ทุกข์สุขลูกน้อง ขอบคุณเมื่อเขาทำงานให้ ให้รางวัลหรือคำชมเชย เมื่อเขาทำในสิ่งซึ่งน่าชมเชย เหล่านี้เป็นต้น นายที่ดีต้องรู้จักยืดหยุ่น มีอารมณ์ขัน อาจมีการพบปะสังสรรค์กันนอกเวลางานบ้าง เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน และจะส่ง ผลให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น

7. รู้จักรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง

ผู้นำที่เอาแต่พูดๆๆๆ อยู่ฝ่ายเดียว โดยไม่ฟังความคิดเห็นหรือคำอธิบายของลูกน้องเลย นับเป็นเจ้านายที่ปิดกั้นตัวเองอย่างยิ่ง แน่นอนว่า เจ้านายมักมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่า มีความรู้มากกว่าลูกน้อง แต่การไม่ยอมรับฟังอะไรจากใครเลย ก็ไม่เป็นผลดี เพราะบางทีลูกน้องอาจมีข้อเสนอดีๆ ที่นายมองข้ามไป หรืออาจมีคำ อธิบายที่ฟังขึ้นในความผิดพลาดของงานที่นายมองไม่เห็น การฟังลูกน้องพูดหรืออธิบายบ้าง จะช่วยให้ลูกน้องทำงานอย่างสบายใจ ไม่รู้สึกกดดันมากนัก เมื่อมีปัญหาเขาจะกล้ามาถาม หรือเสนอแนะในข้อที่เขาเห็นว่า เป็นทางเลือกที่ดี แค่รู้จักฟังลูกน้องให้มากขึ้นเพียงนิดหน่อย ก็จะกลายเป็นผู้นำหรือเจ้านายที่น่ารักขึ้นอีกโขเชียวค่ะ

8. บุคลิกภาพต้องดีเยี่ยม

เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง ผู้นำหรือเจ้านายควรเป็นผู้มีบุคลิกดี แต่งกายเหมาะสมกับรูปร่าง หรือ ฐานะทางสังคม ต้องดูสะอาดสะอ้าน ดูสุภาพ เข้างานสังคมได้อย่างไม่ขัดหูขัดตา และมีบุคลิกดึงดูดใจ น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ถ้าคุณเป็นผู้นำหรือนายที่ความสามารถเป็นเลิศอยู่แล้ว แต่บุคลิกภาพกลับดูแย่ อย่างนี้ก็ถือว่าก็ยังมีข้อบกพร่องให้ลูกน้องรู้สึกไม่ดีได้ จึงโปรดอย่าตกม้าตายด้วยเรื่องง่ายๆ เรื่องนี้

9. มีศิลปะในการเจรจา

ขอเพียงพูดด้วยความนุ่มนวล พูดอย่างรู้จักไตร่ตรอง รู้จักสถานการณ์ รู้คิด รู้กาลเทศะ และรู้จักคนที่เรากำลังเจรจาด้วย ความสำเร็จก็รออยู่ไม่ไกล ในการพูดนั้นต้องคิดก่อน มีการเตรียมการมาก่อน ความคิดต้องไม่สับสน พูดอย่างสั้น กระชับ ตรงประเด็น จริงใจ เป็นธรรมชาติ ใช้เสียงที่ดังพอประมาณ คือให้คู่สนทนาได้ยินชัดเจน หากมีผู้ร่วมสนทนาหลายคน ทุกคนต้องได้ยินเสียงพูดอย่างทั่วถึงกัน พูดจาต้องมีหางเสียง มีจังหวะจะโคนที่ราบรื่น มีเสียงหนักเบาเพื่อเน้นความสำคัญของสิ่งที่พูด และไม่ทำให้รู้สึกเบื่อ สายตาควรจับจ้องไปยังผู้ฟังถ้วนทั่ว และเมื่อพูดจบ จงแสดงท่าทีว่าคุณพร้อมแล้วที่จะรับฟังความเห็นของคนอื่น ไม่ปิดกั้น ไม่คิดว่าสิ่งที่คุณพูดไปนั้นดีที่สุด ถูกต้องที่สุดกว่าคนอื่นๆ แต่มันมีความถูกต้องรอบคอบอย่างที่สุดแล้ว จากความคิดของคุณ คนอื่นๆ มีความคิดเห็นอย่างไร ต้องเปิดโอกาสให้เขาแสดงออกมา เพื่อได้รับแรงสนับสนุน หรือหากถูกค้าน ก็เป็นโอกาสที่เราจะอธิบายเพิ่มเติมได้

10. มีความเป็นผู้นำ

ความเป็นผู้นำนี้แหละ สำคัญสูงสุด และลอยตัวอยู่เหนือเพศสภาพ คนเป็นผู้นำไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาเป็นเพศใด แต่เขามีความคิด ที่เฉียบคม ที่การลงมือที่เฉียบขาด และมีการประสานงานที่เฉียบแหลม เขามักอยู่ข้างหน้าผู้อื่นเสมอ ทั้งการคิด การแสดงความคิดเห็น การลงมือทำ และความรับผิดชอบ เขาต้องพร้อมจะผิดก่อนคนอื่น และอธิบายถึงความผิดพลาดนั้นอย่างกล้าหาญ ถูกต้อง และแสดงภูมิรู้ว่า เขาเกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ พร้อมกันนี้เขาก็พร้อมจะนำพาทุกคนให้ก้าวพ้นความผิดพลาดนั้นๆ ปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง เข้าใจองค์กรและเห็นใจผู้ร่วมงาน ประสานประโยชน์ของ องค์กรและผู้ร่วมงานได้ดี ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากผู้ร่วมงานในทุกระดับ