วิธีปฏิบัติ 12 ประการ เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นคล้อยตามแนวความคิดของท่าน
วิธีปฏิบัติ 12 ประการ เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นคล้อยตามแนวความคิดของท่าน
กฎข้อที่ 1 ท่านไม่สามารถชนะการโต้แย้ง
- มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นที่จะบันดาลให้การโต้แย้งเป็นสิ่งดีที่สุด นั่นก็คือ หลบหลีกมันเสีย จงหลบหลีกการโต้แย้ง เช่นเดียวกับท่านหลบหลีกงูพิษ
- 9 ใน 10 ครั้งของการโต้แย้ง จะจบลงด้วยต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าว่า ตนเป็นฝ่ายถูกเต็มที่
- "คนที่จำใจต้องเชื่อ ในสิ่งที่เขาไม่เชื่อ ความคิดเห็นของเขาจะไม่เปลี่ยนแปลง"
- เบนจามิน แฟรงคลิน กล่าวไว้ว่า "ถ้าท่านโต้แย้ง พูดให้เจ็บใจ และ เถียง ท่านอาจประสบชัยชนะในบางครั้ง แต่เป็นชัยชนะที่ว่างเปล่า ทั้งนี้ก็เพราะท่านไม่สามารถได้รับไมตรีจิตจากอีกฝ่ายหนึ่ง" ดังนั้นขอให้ท่านพิจารณาด้วยตนเองว่า
ท่านต้องการชัยชนะในการโต้แย้ง หรือต้องการไมตรีจิตจากอีกฝ่ายหนึ่ง? น้อยนักที่จะได้รับทั้งสองอย่าง
- "เป็นสิ่งสุดวิสัย ที่จะเอาชนะคนโง่เขลา เบาปัญญา ด้วยการโต้แย้ง"
- พระพุทธเจ้าตรัส "เวร (ความเกลียด ความพยาบาท) ย่อมไม่ระงับด้วยเวร แต่ระงับด้วยความรัก" และทำนองเดียวกัน ความไม่เข้าใจต่อกัน ย่อมจะไม่ระงับด้วยการโต้แย้ง แต่ด้วยความรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว
ความสุขุมรอบคอบ ความประนีประนอม และความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นแง่คิดของอีกฝ่ายหนึ่งได้
- ลินคอน กล่าว "บุคคลใดมีเจตนาที่จะได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อตัวเขาเอง เขาจะไม่ใช้เวลาให้หมดไปโดยการโต้เถียงเป็น
อันขาด การโต้เถียงจะเป็นผลให้เกิดโทสะ และทำลายอำนาจบังคับตนเอง และจงยอมจำนนต่อการโต้เถียงในเรื่องใหญ่ ซึ่งผลที่ท่านจะได้รับ ไม่มีอะไรมากไปกว่าการอวดตนว่าท่านไม่แพ้ใคร และจงยอมจำนนต่อการโต้เถียงในเรื่องเล็ก แม้ท่านมีสิทธิ์ที่จะกระทำอย่างเต็มที่ จงให้ทางแก่หมาแทนที่ท่านจะต่อสู้กับมัน เพื่อรักษาสิทธิ์ของท่านจนท่านถูกมันกัดเอา แม้ท่านจะฆ่าหมาตัวนั้นเสีย แต่ท่านก็ยังคงมีแผลถูกกัดอยู่นั่นเอง
ฉะนั้น กฎข้อที่ 1 มีดังนี้ วิธีระงับการโต้แย้ง หรือโต้เถียง ที่ดีที่สุดก็คือ จงหลีกเลี่ยงเสีย
กฎข้อที่ 2. หนทางอันแน่นอนที่จะสร้างศัตรู และวิธีหลีกเลี่ยง
- ท่านจะกล่าวหาผู้อื่นว่าทำผิด ด้วยสายตา ด้วยสำเนียง หรือด้วยอากัปกิริยาใดก็ตาม ย่อมมีความหมายทำนองเดียวกับ ท่านลั่นวาจาออกไป
- การกล่าวหาของท่านเปรียบเสมือนท่านชกกร้วมเข้าที่สติปัญญาของเขา ดุลยพินิจของเขา ความภาคภูมิใจของเขา และความเคารพตนเองของเขา ผลก็คือ จะทำให้เขาผู้นั้นต้องการจะตอบโต้บ้าง
- อย่าเริ่มคำพูดด้วยประโยค "ผมจะพิสูจน์ให้คุณเห็นเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้" เป็นวาจาที่ไม่สมควรเลย เป็นวาจาที่ส่อ ความหมายว่า "ผมวิเศษกว่าคุณ"
- ถ้าท่านต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม จงอย่าให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ตัวเป็นอันขาด จงกระทำอย่าง
มีชั้นเชิง อย่างมีไหวพริบ โดยไม่มีใครรู้สึกว่าท่านได้กระทำลงไป "มนุษย์จะต้องสอนเหมือนกับท่านมิได้สอน และ สิ่งใดที่เขา
ไม่รู้ จงเสนอแก่เขา เหมือนหนึ่งเขาลืมไป"
- Lord Chesterfield รัฐบุรุษ-นักปราชญ์อังกฤษ ค.ศ.1694-1737 สอนลูกชายว่า "เจ้าจงเป็นผู้ฉลาดกว่าผู้อื่น ถ้าเจ้า สามารถเป็นเช่นนั้นได้ แต่อย่าได้บอกให้เขารู้ว่าเจ้าฉลาดกว่าเขา"
- คำพูดเช่น "ผมอาจจะผิดไปก็ได้" "ผมมักจะผิดเสมอ" "เรามาพิจารณาข้อเท็จจริงกันดีกว่า" เป็นคำพูดซึ่งมีอำนาจวิเศษอย่างแท้จริงใน อันที่จะทำความพอใจให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง
- ด้วยการยอมรับว่าท่านอาจจะเป็นผู้ผิด ท่านจะไม่มีเรื่องกับใครเป็นอันขาด เพราะการพูดเช่นนี้จะยุติการถกเถียงลงอย่าง
สิ้นเชิง และ "จูงใจให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความยุติธรรม และใจกว้างเหมือนท่าน"
- จากหนังสือ "การสร้างจิตใจ" ของ ศ.เยมส์ อาร์วีย์ รอบินซัน :-
"ในบางครั้งเราจะพบว่า เราเปลี่ยนใจของเราอย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องมีเรื่องขัดใจ หรือเกิดความสะเทือนใจอันรุนแรง
ใดๆ แต่ถ้ามีใคร มาบอกว่าเราผิด เราจะรู้สึกฉิวในคำกล่าวหานั้น และใจของเราจะเกิดอาการกระด้างกระเดื่องขึ้นมา เราต่างเป็นคนที่ไม่สู้จะเอาใจใส่เลยว่า ความเชื่อถือของเราอยู่ในลักษณะใดบ้าง แต่ถ้าหากมีใครมาข่มเหงน้ำใจเรา เราจะเกิดความเชื่อในสิ่งที่เราเชื่ออย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไม่ใช่ ความคิดของเราหรอกที่เราหวงแหนนัก แต่เราหวงแหน ความนับถือตนเองโดยจะไม่ยอมให้ถูกข่มขู่ต่างหาก"
- เมื่อเราทำผิด เราอาจจะยอมรับผิดกับตัวของเราเอง ถ้าผู้อื่นรู้จักปฏิบัติต่อเราด้วยวิธีอันละมุนละไม และถูกกาละเทศะ เราอาจจะยอมรับผิด กับผู้นั้นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาโดยปราศจากความสะทกสะท้าน
แต่เราจะไม่ยอมรับผิดเป็นอันขาด ถ้ามีใครมาบังคับขู่เข็ญให้เราพูด ความจริง
- ละเว้นการคิดค้านโต้แย้งให้ผู้อื่นได้รับความสะเทือนใจ หรือกล่าวยืนยันอย่างหนึ่งอย่างใดว่าข้าพเจ้าถูก และข้าพเจ้า จะไม่ยอมใช้คำพูด ใดๆ ที่บ่งไปโดยชัดแจ้งว่าข้าพเจ้ามีความคิดเห็นอย่างแน่นแฟ้นมั่นคง
เป็นต้นว่า "แน่ทีเดียว" , "ไม่มีอะไรที่ควรสงสัย" ฯลฯ ข้าพเจ้าใช้คำพูด แทนว่า "ฉันนึกว่า" , "ฉันเข้าใจว่า" หรือ "ฉันคิดว่า" จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
หรือ "เท่าที่ปรากฎเวลนี้ดูเหมือน" เบนจามิน แฟรงคลิน นัก การทูตชั้นยอดของสหรัฐฯ กล่าวไว้ว่า"เมื่ออีกฝ่ายหนึ่ง ยืนยันบางประการ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเขาผิด ข้าพเจ้าไม่ยอมถือเป็นของสนุกที่จะขัดคอเขาทันที หรือแสดง กิริยาอย่างหนึ่งอย่างใดไปในทางเยาะเย้ยความเข้าใจของเขา"
- การถ่อมตนในการแสดงความคิดเห็น ช่วยให้คู่สนทนายอมรับความคิดเห็นของเราง่ายยิ่งขึ้น และมีการโต้เถียงน้อยลง ถ้าเราผิดก็จะไม่ รู้สึกอับอายขายหน้ามากมาย เมื่อเราถูก เราจะสามารถจูงใจอีกฝ่ายหนึ่งให้ยอมแพ้อย่างง่ายดาย
และมีความคิดเห็นคล้อยตามเรา
- พระเยซูพูด "จงคล้อยตามปรปักษ์ของท่านโดยเร็ว" หรืออีกนัยหนึ่งคือ อย่าโต้แย้งลูกค้าของท่าน ภรรยาของท่าน หรือปรปักษ์ของท่านอย่าบอกว่าเขาผิด อย่ายั่วให้เขาเกิดโทสะ แต่จงใช้ชั้นเชิงบ้างสักเล็กน้อย
- จงมี "ชั้นเชิง" อย่าช่วยให้เราได้ชัยชนะ
ดังนั้น ถ้าท่านต้องการจูงใจผู้อื่นให้คล้อยตามแนวความคิดของท่าน
กฎข้อที่ 2 มีดังนี้"จงเคารพความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่าบอกผู้ใดว่าเขาผิดเป็นอันขาด"
กฎข้อที่ 3 ถ้าท่านผิด จงสารภาพ
- ถ้าเรารู้ตัวว่าเราทำผิด จะไม่ดีกว่าหรือที่เราจะกล่าวถึงความผิดของเราก่อนอีกฝ่ายหนึ่งจะแย้มปาก? "การตำหนิติเตียน
ตนเอง ย่อมจะน่าฟังกว่าให้คนแปลกหน้า หรือคนอื่นมาตำหนิติเตียนเรา"
- ท่านจงปรักปรำลงโทษตัวของท่านในประการต่างๆ ถ้าหากท่านรู้ตัวว่าอีกฝ่ายหนึ่งคิด หรือต้องการจะพูด หรือตั้งใจจะพูด
อย่างไร และ ท่านจงพูดก่อนอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสแย้มปาก ซึ่งเป็นการลดความโมโหโทโสของเขาให้สงบลงได้ จากการกระทำ
เช่นนี้ ท่านมีโอกาสอัน งดงามที่จะจูงใจให้เขาเป็นคนใจกว้าง เปลี่ยนท่าทีโอนอ่อนไปในทางให้อภัย และจะเห็นความผิด ของท่านเป็นสิ่งเล็กน้อย
- คนโง่มักจะแก้ตัวเมื่อได้กระทำผิด และคนโง่ส่วนมากปฏิบัติเช่นนี้ แต่ด้วยการสารภาพผิดอย่างน่าชื่นตาบาน ไม่เพียงจะทำให้คนเรา กลายเป็นผู้อยู่เหนือกว่าฝูงสัตว์ หากจะทำให้มีใจสูงขึ้นด้วย
- เมื่อเราเป็นฝ่ายถูก เราจงชักจูงอีกฝ่ายหนึ่งให้มาสู่แนวทางแห่งความคิดของเราอย่างสุภาพและนิ่มนวล และเมื่อเราเป็นฝ่ายผิด ถ้าเรามีใจ เที่ยงตรง เราจะพบความจริงว่าเราเป็นฝ่ายผิดบ่อยๆ เราจงยอมรับผิดโดยเร็ว
และด้วยความร้อนกระวนกระวาย วิธีรับผิดนี้ไม่เพียงแต่จะนำ ผลอันน่าพิศวงมาให้เท่านั้น หากท่านจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยการใช้วิธีเดียวกันนี้ จะทำให้เราเกิดอารมณ์สนุกยิ่งกว่าพยายามแก้ตัว
- สุภาษิตเก่า "ด้วยการต่อสู้ ท่านจะมิได้รับผลเป็นที่พอใจ แต่ด้วยการยอมจำนน ท่านจะได้รับมากกว่าที่ท่านหวัง
ดังนั้นกฎข้อที่ 3 : ถ้าท่านผิด จงรับผิดโดยอย่าได้รอช้า และ รับด้วยเสียงหนักแน่น
กฎข้อที่ 4. หนทางอันเลิศที่จะเข้าถึงเหตุผลของผู้อื่น
- "ถ้าหากท่านถูกยั่วให้เกิดโทสะ และท่านพูดใส่หน้าอย่างไม่อั้นต่อผู้ยั่วโทสะท่านสักประโยคสองประโยค ท่านจะสบายใจที่ได้ระบาย ความเดือดดาลของท่าน แล้วอีกฝ่ายหนึ่งเล่า? เขามีส่วนร่วมสบายใจเหมือนท่านหรือเปล่า
การเอะอะโผงผางของท่าน กิริยาท่าทีตั้งท่าเป็น ศัตรูของท่าน ท่านคิดว่าเป็นของง่ายที่จะชักนำให้เขามีความเห็นสอดคล้องกับท่านกระนั้นหรือ?"
- วูดโรว์ วิลสัน กล่าว "ถ้าท่านมาหาข้าพเจ้าด้วยการกำหมัด ข้าพเจ้าขอรับรองว่า หมัดของข้าพเจ้าจะกำแน่นยิ่งไปกว่า
ของท่าน แต่ถ้าท่าน มาหาข้าพเจ้าและพูดว่า "เรามานั่งลงปรึกษาหารือกันดีกว่า และถ้าหากว่าความคิดเห็นของเราขัดแย้งกัน เรามาทำความเข้าใจกันว่าเหตุใดเรา จึงมีความเห็นไม่ตรงกัน และอะไรเป็นแง่ในปัญหานั้น" เราจะพบความจริงว่าเรา กลายเป็นกันเอง และความเห็นขัดแย้งกันในแง่ต่างๆ จะมี อยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อย ในเมื่อแง่ที่มีความเห็นสอดคล้องกันมีอยู่มาก และถ้าเราเป็นคนรู้จักมีน้ำอดน้ำทน พูดอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และ มีเจตนาที่จะสมัครสมานซึ่งกันและกัน เราจะผ่อนสั้น ผ่อนยาวเข้าหากัน"
- ถ้าบุคคลใดมีใจปวดร้าวอยู่ด้วยความขุ่นแค้นและโกรธเคืองท่าน ท่านจะไม่สามารถจูงใจเขาให้คล้อยตามแนวความคิด ของท่านเป็นอันขาด แม้จะใช้หลักตรรกวิทยาที่มีอยู่ทั้งหมดในโลก พ่อแม่ที่ชอบดุด่า และนายหรือสามีที่ชอบใช้อำนาจ
หรือภรรยาที่ชอบจู้จี้ ควรจะรู้ความจริงว่า จากการปฏิบัติดังกล่าว จะไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนใจ ท่านและข้าพเจ้าสามารถบังคับบีบคั้นให้บุคคลใดมีความคิดเห็นสอดคล้องกับเราได้
ถ้าเราใช้วิธีสุภาพอ่อนโยนอย่างกันเอง เราจะสามารถ จูงใจเขาเหล่านั้นให้คล้อยตามแนวความคิดของเราได้
- ลินคอล์น กล่าว "น้ำผึ้งเพียงหยดเดียว จับแมลงวันได้มากกว่าน้ำบอระเพ็ด 1 แกลลอน" เพราะฉะนั้น ถ้าท่านต้องการจูงใจผู้อื่นให้เห็น ดีเห็นชอบในวัตถุประสงค์ของท่าน สิ่งแรกที่สุดที่ท่านจะต้องปฏิบัติก็คือ
ทำให้เขาเชื่อถือว่าท่านเป็นมิตรสุจริตของเขา ด้วยเหตุนี้เองถ้าท่านจะใช้น้ำผึ้งสักหยดหนึ่งเหยาะลงในหัวใจของอีกฝ่ายหนึ่ง
ให้ชื่นฉ่ำ ซึ่งท่านจะพูดอะไรแก่เขาก็ตาม จะเป็นทางอันล้ำเลิศที่จะดึง เหตุผลของเขาให้หันมาสอดคล้องกับของท่าน
- ติดต่อฉันมิตร เห็นอกเห็นใจ และ ขอร้องในอาการยกย่อง
- ความสุภาพอ่อนโยน และไมตรีจิต จะต้องมีอิทธิฤทธิ์มากกว่าความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด และการใช้กำลังบังคับเสมอ
สรุป เมื่อท่านต้องการจูงใจให้ผู้อื่นคล้อยตามแนวความคิดของท่าน กฎข้อที่ 4 :-
จงเริ่มต้นด้วยมิตรไมตรี
กฎข้อที่ 5. เคล็ดลับของโซเครตีส
- ในการสนทนากับผู้อื่น อย่าได้เริ่มต้นพูดในเรื่องที่ท่านไม่เห็นพ้องด้วย แต่จงเริ่มต้นด้วยการเน้นคำพูดให้หนักแน่น และเน้นคำพูดนี้ อยู่ตลอดเวลาในสิ่งที่ท่านเห็นพ้องด้วย
- จงทำให้อีกฝ่ายหนึ่งพูด "ใช่" , "ใช่แล้ว", "ครับ" , "ถูก" , "ถูกแล้ว" เมื่อเริ่มต้นการสนทนา ถ้าสามารถทำได้ จงอย่าให้อีกฝ่ายหนึ่ง กล่าวคำปฏิเสธ "ไม่ใช่" , "เปล่า" เป็นอันขาด
- ยิ่งเราสามารถทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวคำพูดรับคำได้มากเท่าใดในการเปิดฉากการสนทนา ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ จะชักจูงให้อีก ฝ่ายหนึ่งยอมตกลงใจตามจุดประสงค์ของเรามากยิ่งขึ้นเท่านั้น
- ในการเปิดฉากสนทนา พวกเรามักจะคิดถึงแต่ความยิ่งใหญ่ของตนเอง ผลก็คือ ทำให้เกิดตั้งข้อเข้าหากันตั้งแต่แรกเริ่ม
- โซเครตีสจะตั้งคำถามชนิดที่แม้ศัตรูของเขาก็ต้องรับคำ คำถามของเขาจะถูกอีกฝ่ายหนึ่งตอบว่า "ใช่" จนกระทั่งเขา ได้รับคำรับรองอย่าง เหลือเฟือ ครั้นแล้วในที่สุด เขาจะตั้งคำถามประโยคสำคัญ
ซึ่งปรปักษ์ของเขาแทบไม่รู้สึกตัว ได้กล่าวรับรองทั้งๆก่อนหน้านี้ไม่กี่นาทีตั้งใจที่ จะยืนกรานปฏิเสธ
- สุภาษิตเก่าๆของจีน "ผู้ก้าวอย่างละมุนละไม จะเดินได้ไกล"
สรุปกฎข้อที่ 5 จงทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง ตอบรับคำว่า "ครับ", "ใช่", "ถูก"ฯลฯ ในทันทีเมื่อเริ่มสนทนา
กฎข้อที่ 6 วิธีกำจัดความไม่สมหวัง
- ในบางครั้ง การปล่อยให้ผู้อื่นเป็นฝ่ายพูด จะนำประโยชน์อย่างล้ำค่ามาให้
- ผู้ประสบความสำเร็จเกือบทุกคน ชอบระลึกถึงการต่อสู้ดิ้นรนในอดีต (ใช้ในเทคนิคการพูด สนทนากับผู้ที่มีความสำเร็จในชีวิต)
- มีความจริงอยู่ว่า มิตรสหายทั้งหลายของเราพอใจที่จะคุยกับเราถึงเรื่องความสำเร็จต่างๆของเขา ยิ่งกว่าที่จะฟังเราโม้ถึงเรื่องของเรา
- "ถ้าท่านต้องการศัตรู จงเป็นคนเก่งกล้าสามารถเหนือกว่าเพื่อนของท่าน แต่ถ้าท่านต้องการมิตร จงให้เพื่อนของท่าน เก่งกล้าสามารถ เหนือไปกว่าท่าน" เพราะว่าเมื่อเพื่อนของเราเก่งกล้าสามารถเหนือกว่าเรา
เขาจะเกิดความรู้สึกเป็นคนสำคัญ แต่ถ้าเราเก่งกล้าสามารถเหนือ กว่าเขา เขาจะเกิดความรู้สึกต่ำต้อย และก่อให้เกิดความอิจฉาริษยา
- ชาวเยอรมันมีสุภาษิตอยู่ประโยคหนึ่งว่า "ความปิติยินดีอย่างแท้จริงก็คือ ความปิติยินดีซึ่งเราได้รับจากเคราะห์กรรมของผู้อื่น" แน่นอน เพื่อนบางคนของท่านอาจจะรู้สึกพอใจในเคราะห์กรรมของท่าน
ยิ่งไปกว่าชัยชนะของท่านก็ได้
- เพราะฉะนั้น เราจง "อย่าฟุ้งซ่าน โอ้อวดในความสำเร็จของเรา" แต่เรา "จงถ่อมตน" เอาไว้ถึงจะได้รับความนิยม ชมชอบอย่างแท้จริงจากผู้อื่น
- เราควรถ่อมตัวของเรา ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อสรุปแล้วท่านและข้าพเจ้าก็ไม่วิเศษวิโสกว่ากัน จากนี้ไปอีกหนึ่งศตวรรษ ท่านและ ข้าพเจ้าต่างจะ ไม่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ และจะไม่มีใครรู้จัก ชีวิตเป็นของสั้นจนเกินไป
เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยให้ชีวิตอันสั้น ของเราสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น ด้วยการคุยโอ้อวดถึงความสำเร็จขี้ปะติ๋วของเรา เราจงส่งเสริมให้ผู้อื่นคุยเสียบ้างเถิด โปรดคิดดูให้ดี ท่านมิได้มีอะไรวิเศษมากมายที่จะคุย
อวดโดยไม่รู้จักจบรู้จักสิน้นเสียที ดังนั้น
กฎข้อที่ 6
จงปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้พูดเป็นส่วนมาก
กฎข้อที่ 7 วิธีที่จะได้รับความร่วมมือ
- ท่านรู้สึกเลื่อมใสในความคิดที่ท่านค้นพบด้วยตนเองยิ่งไปกว่าความคิดซึ่งผู้อื่นค้นพบ และใส่จานเงินยื่นส่งให้ท่านหรือเปล่า? ถ้าเช่นนั้นจริง เป็นของแน่เหลือเกินที่ท่านจะต้องพยายามผลักดันความคิดของท่านให้คนอื่นรับไว้
ใช่ไหม? มันจะไม่เป็นการ
ฉลาดกว่าหรือ? ถ้าเพียงแต่หารือความคิดของท่านกับอีกฝ่ายหนึ่ง และให้อีกฝ่ายหนึ่งใคร่ครวญดูเพื่อการตัดสินใจของเขาเอง
- "การปรึกษาหารือ" กับเขาถึงความปรารถนาของเขา จึงเป็นสิ่งที่ถูกใจเขาที่สุด
- การปรึกษาหารือกับผู้อื่น และเคารพต่อคำแนะนำนั้น จะได้รับผลอันงดงาม
- เมื่อ 25 ศตวรรษมาแล้ว เล่าจื๊อ นักปราชญ์จีนได้กล่าววาทะบางอย่างซึ่งควรจะนำมาปฏิบัติในปัจจุบัน : "เหตุที่แม่น้ำลำคลอง และทะเลทั้งหลายสามารถจะต้อนรับสายน้ำหลายร้อยสายจากภูเขาได้ เนื่องจากแม่น้ำลำคลอง
และทะเลเหล่านั้นอยู่ต่ำกว่าสายน้ำ
จากภูเขา เพราะฉะนั้น แม่น้ำลำคลองและทะเลจึงเก่งเหนือไปกว่าสายน้ำจากภูเขา โดยที่สามารถรับกระแสน้ำทั้งหมดไว้ได้ ผู้ที่เฉลียวฉลาด ถ้าปรารถนาจะอยู่เหนือ ผู้อื่น ต้องถ่อมตนให้อยู่ต่ำกว่าผู้อื่น ถ้าปรารถนาจะอยู่หน้าผู้อื่น จะต้องถ่อมตนให้
อยู่หลังผู้อื่น แต่เขาจะไม่หยิ่งผยอง และถือว่าตนเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ แม้ว่าเขาจะมีบุญวาสนานำหน้าผู้อื่น เขาจะไม่อวดเด่นให้
บาดใจผู้อื่น
ฉะนั้น กฎข้อที่ 7 จงทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง เกิดความรู้สึกว่าความคิดเป็นของเขา
กฎข้อที่ 8 สูตรซึ่งจะบันดาลผลมหัศจรรย์แก่ท่าน
- อย่าลืมว่าบุคคลใดก็ตาม อาจจะทำผิดอย่างไม่มีทางแก้ตัว แต่บุคคลนั้นจะคิดว่าเขาไม่ผิดเลย ท่านจงอย่าปรักปรำลงโทษเขาผู้นั้น เพราะการ กระทำเช่นนั้น คนโง่ทุกคนย่อมทำได้ ท่านจงพยายามเข้าใจเขาให้ถี่ถ้วน
ถ่องแท้ เพราะการพยายามเข้าใจการกระทำของผู้ผิด คนฉลาด คนมี น้ำอดน้ำทน และคนที่มีคุณสมบัติเป็นพิเศษเท่านั้น จึงจะสามารถปฏิบัติได้
- จงพยายามอย่างสุจริตใจที่จะสมมุติตัวท่านเป็นตัวของเขา
- ถ้าหากท่านจะบอกตนเองว่า "ถ้าฉันอยู่ในฐานะเดียวกับเขา ฉันจะรู้สึกอย่างไร และจะปฏิบัติอย่างใร?" ท่านจะไม่เสียเวลาและเกิดโมโห ในการที่จะต้องไปเอาใจใส่แก่สาเหตุต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลอันไม่พึงพอใจ
และท่านจะสามารถเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ มากยิ่งขึ้น
- พรุ่งนี้ ก่อนท่านจะบอกใครสักคนว่าเขาทำในสิ่งที่ผิดๆ ไม่ดีกว่าหรือถ้าท่านจะนั่งหลับตา และพยายามคำนึงถึงแง่คิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง เสียก่อน ท่านจงตั้งคำถามแก่ตนเองว่า "ทำไม? เขาจึงต้องการทำเช่นนั้น" จริงอยู่การปฏิบัตินี้อาจเปลืองเวลาบ้าง
แต่จะเป็นการผูกมิตรและ นำผลอันงดงามกว่ากันมาให้ และเป็นการหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง และทะเลาะเบาะแว้งกัน
- เพราะฉะนั้น ถ้าท่านต้องการเปลี่ยนใจผู้อื่น โดยไม่ให้เกิดความรู้สึกบาดหมาง หรือก่อให้เกิดความขุ่นเคือง
กฎข้อที่ 8 มีดังนี้ จงพยายามอย่างสุจริตใจที่จะมองสิ่งต่างๆ ในแง่คิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง
กฎข้อที่ 9 สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ
- คาถาศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถหยุดการโต้เถียง ทำลายความรู้สึกโกรธเคือง สร้างมิตรไมตรี และทำให้อีกฝ่ายหนึ่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ "ผมมิได้ โทษคุณเลยแม้แต่น้อยที่คุณรู้สึกเช่นนี้ ถ้าผมเป็นคุณ
แน่นอนเหลือเกิน ผมจะต้องรู้สึกเหมือนอย่างคุณ เช่นเดียวกัน" คำพูดเช่นนี้แม้แต่คนพาลเกเรอย่างร้ายกาจที่สุดก็จะเยือกเย็นลง
- ท่านอยู่ในฐานะใดก็ตาม ควรถือว่า มิได้เป็นเกียรติอันใหญ่โตเลย และจำไว้ว่า คนที่ท่านติดต่อด้วย แม้จะเป็นคนขี้หงุดหงิด ฉุนเฉียว พูด ดันทุรัง และปราศจากเหตุผล เขามิได้เป็นต่ำช้าสารเลวมากมายนักที่ต้องอยู่ในฐานะนั้น
จงรู้สึกสลดใจต่อ มนุษย์ที่น่าสมเพชคนนั้น จง สงสารเขา เห็นใจเขา
- "3 ใน 4 ของบุคคลที่ท่านพบปะ ล้วนแต่หิวกระหายที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจ จงให้มันแก่เขา แล้วเขาจะรักท่าน"
- ความเห็นอกเห็นใจ เป็นยาวิเศษที่จะบำบัดความเศร้าใจ
ฉะนั้น กฎข้อที่ 9 จงเห็นอกเห็นใจต่อความรู้สึกนึกคิด และความปรารถนาของอีกฝ่ายหนึ่ง
กฎข้อที่ 10 มนุษย์ทุกคนชอบการขอร้อง
- เพื่อให้บุคคลใดก็ตามเปลี่ยนใจของเขา จงขอร้องให้เขาเกิดความรู้สึกว่า การปฏิบัตินั้นๆเป็นเจตนาดีงาม ยิ่งกว่าการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง
- เมื่อเราไม่ต้องการให้ใครทำอะไรอย่างหนึ่ง จงขอร้องเขาด้วยการอ้างถึงเจตนาที่ดีงามกว่ากัน อ้างถึงสิ่งที่เป็นสิ่ง ที่รักและเคารพ
- "ถ้ามีใครคิดที่จะโกงท่าน" จงพูดให้เขาเกิดความรู้สึกว่า ท่านนับถือเขาในฐานะเขาเป็นคนสุจริต ซื่อตรง และยุติธรรม
ฉะนั้น กฎข้อที่ 10 จงขอร้องด้วยการพูดให้รู้สึกว่า เป็นเจตนาอันดีงามกว่ากัน
กฎข้อที่ 11 ภาพยนตร์ปฏิบัติเช่นนี้ วิทยุปฏิบัติเช่นนี้ ทำไมท่านจึงไม่ปฏิบัติตามบ้าง?
- เวลาที่ต้องการเสนออะไรบางอย่าง เพียงแต่กล่าวความจริงอย่างเดียวยังไม่พอ การกล่าวความจริงต้องประกอบด้วย พูดให้ซาบซึ้ง เขย่า ความสนใจ และเกิดความรู้สึกเร้าใจ ทั้งนี้ต้องอาศัยศิลปะแห่งการเชิญชวนอยู่มาก
ภาพยนตร์ วิทยุ ปฏิบัติ
เช่นนี้ ถ้าต้องการให้มีผู้เอาใจใส่ ข้อเสนอของท่าน ท่านก็ต้องปฏิบัติเช่นนี้
ฉะนั้น กฎข้อที่ 11 จงแสดงความคิดเห็นของท่านให้เป็นที่เร้าใจ
กฎข้อที่ 12 เมื่อทำอย่างไรๆ ก็ไม่ได้ผล ลองใช้วิธีนี้ดูบ้าง
- วิธีที่จะผลิตงานได้มากๆ ก็คือ การ "กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกัน" แต่ไม่ได้หมายถึง การแข่งขันอันโสมม และต้องทุ่มเทเงินทอง แต่หมายถึงกระตุ้นให้เกิดความปรารถนาที่จะเป็นคนเก่งกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
- ความปรารถนาที่จะเก่งกว่า! การแข่งขัน! เป็นวิธีเดียวที่จะบันดาลผลอันแน่นอนในการหนุนให้มนุษย์เกิดความมานะ
- "การให้เงินเดือนอย่างเดียว ไม่สามารถจะได้คนดีไว้ใช้ ต้องให้มีการแข่งขัน"
- นั่นคือ สิ่งที่ผู้ได้รับความสำเร็จทุกคนชอบ : การแข่งขัน การแข่งขันเป็นการเปิดโอกาสให้เขาแสดงความสามารถของเขา เปิดโอกาสให้ เขาพิสูจน์คุณค่าตัวของเขา เพื่อไปสู่จุดหมายแห่งการเป็นคนเก่ง และชัยชนะ
ถ้าท่านต้องการจูงใจบุคคลอื่น บุคคลที่องอาจห้าวหาญ บุคคลที่มีสมรรถภาพ ให้คล้อยตามแนวความคิดของท่าน
กฎข้อที่ 12 มีว่า จงพูดท้าทาย