จริยธรรมผู้นำ

ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจอย่างรุนแรง ทุกองค์กรธุรกิจต่างมุ่งสร้าง ผลประกอบการให้ได้มากที่สุด เพื่อการเติบโตหรือความอยู่รอด หลายครั้งที่ผู้นำองค์กร ต้องเผชิญ คือ ความกดดันซึ่งเป็นความขัดแย้ง ระหว่างผลประโยชน์ของตนหรือของบริษัทที่ต้องการกับ ความถูกต้องที่ควรเป็นซึ่งถือเป็นสิ่งที่สังคมรับรู้ และต้องการ ภาวะดังกล่าวเรียกว่า “Ethical dilemma” ซึ่งเป็นภาวะกดดันที่ผู้นำต้องตัดสินใจเลือก เอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างผลประโยชน์หรือคุณธรรมซึ่งไม่อยู่ในทิศทางเดียวกัน สำหรับผู้นำที่ไม่มี คุณธรรมย่อมเลือกผลประโยชน์ที่ตนพึงได้ก่อนแน่นอนแล้ว กลบเกลื่อนพลางตาสังคมในรื่องความ ไม่ถูกต้องให้ผ่านพ้นไปอย่างแนบเนียนหรือบางครั้งก็น้ำขุ่นๆ ดังจะเห็นได้บ่อยครั้งในสังคมที่ผู้บริโภค ถูกเอาเปรียบโดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง

จริยธรรม (Ethical behavior) คืออะไร

จริย- หมายถึงการประพฤติปฎิบัติ ธรรม- หมายถึงคุณความดี ความถูกต้องดีงาม ดังนั้นจริยธรรม จึงหมายถึงการประพฤติปฏิบัติที่เป็นคุณงามความดีความถูกต้องบน พื้นฐานของคุณธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับ และต้องการของสังคม ปัญหาทางจริยธรรมแบ่งได้สองระดับ คือ

1. ระดับองค์กร หมายถึงนโยบายที่ออกโดยกลุ่มบุคคลระดับสูงขององค์กรโดยถือเป็นเป้าหมายปฏิบัติ

2. ระดับบุคคล โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจในการดำเนินการ ซึ่งอัตลักษณ์(Attribute) ของเขามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใดๆที่ส่งผลในด้านจริยธรรม

สิ่งที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์

มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนต้องมีสัญชาตญาณต่อสู้เพื่อความอยู่รอดเป็นพื้นฐานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตามหลักของ Maslow ซึ่งแบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

1. ทางสรีระ (Physiological need) ปัจจัย4
2. ความมั่นคงปลอดภัย(Security & Safty)
3. ความรักและการยอมรับ(Love & Belonging)
4. การยกย่อง(Esteem) ปีติ ภาคภูมิใจ
5. ภาวะความเป็นแห่งตน (Self actualization) ความอิสระทางความคิดและการกระทำ

ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมของคน

1. ปัจจัยภายใน(Intrinsic factor) ได้แก่ อารมณ์ แรงปารถนาและความต้องการ(Need) และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี(Moral)

2. ปัจจัยภายนอก(Extrinsic factor) ได้แก่ โอกาส (Oportunity) และระบบการควบคุมของสังคม (Law)

สำนึกของความดีและอิทธิพลของสังคม มีบทบาทในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ก่อให้เกิดการกระทำที่ดี และรับผิดชอบต่อผู้อื่น (Ethical behavior) หากแต่ผู้ที่มีคุณธรรมนำการกระทำจะทำให้เกิดจริยปฏิบัติ แบบยั่งยืน ส่วนผู้ที่อิงบทลงโทษของสังคมก็สามารถเกิดจริยปฏิบัติได้แต่มักจะไม่ยั่งยืน เมื่อมีโอกาส ก็จะกลับไปทำ ผิดอีก

4 มุมมองของของจริยปฏิบัติ (Ethical behavior)

1. ในมุมมองที่ถือเอาประโยชน์เป็นสำคัญ จริยปฏิบัติส่งผลที่ดีมากต่อผู้คนจำนวนมาก

2. ในมุมมองจองปัจเจกบุคคล จริยปฏิบัติจะให้ผลประโยชน์ระยะยาวแก่ผู้ปฏิบัติ

3. ในมุมมองด้านคุณธรรม จริยปฏิบัติเป็นการเคารพสิทธิพื้นฐานของมนุษย์

4. ในมุมมองของความยุติธรรม จริยปฏิบัติจะเป็นกลาง ชอบธรรม เสมอภาคต่อผู้คน

Ethical dilemma

เป็นภาวะที่ผู้บริหารมักเจอและตัดสินใจลำบาก มันเป็นความขัดแย้งในใจที่จะทำบางสิ่งที่ต้องเลือกเอา ระหว่างผลประโยชน์กับจริยธรรม ที่ถูกท้าทาย ทำให้เป็นความกดดันในคนที่มีคุณธรรมจะต้องคิดและหลีกเลี่ยง แต่อาจเป็นเรื่องตัดสินใจไม่ยากสำหรับคนที่ขาดคุณธรรม พบว่า Ethical dilemma conflict ของผู้บริหาร ส่วนมาก เกิดกับเจ้านายลูกค้า และลูกน้อง หุ้นส่วน เรื่องที่พบบ่อยคือ การปกปิด ไม่โปร่งใส ปลอมเอกสาร สื่อสาร กับ เจ้านายไม่ครบ การฉ้อฉล การมองข้ามความผิดของเจ้านาย การปกป้องความผิดของลูกน้อง การใช้เส้นสาย การยอมเอื้อผลประโยชน์ให้เพื่อนสนิท หรือญาติ การตัดสินโดยขาดความยุติธรรม การโฆษณา สินค้า ที่เกินจริง การเอารัดเอาเปรียบลูกค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม

ข้ออ้างของพวกที่ไม่มีจริยธรรมปฏิบัติ

เนื่องจากเรื่องของจริยธรรมเป็นความสมัครใจและเป็นคุณธรรมชั้นสูงของคนที่จะเลือกปฏิบัติ กฎหมายไม่ได้มีส่วนบังคับจริงจัง ยกเว้นสังคมจะช่วยกันสอดส่องดูแลและบอยคอด จึงพบว่าหลายธุรกิจ ก่อเกิดมาโดยฉวยเอาความเดือดร้อนของผู้คน และความรู้ไม่เท่าทันมาหากิน พบบ่อยและยังแก้ไม่ได้ คือการออกสัญญาที่เอาเปรียบ เช่น สัญญาเงินกู้ของพวก Non-bank ได้แก่พวกให้กู้เงินด่วนทั้งหลาย ที่หากินกับคนเดือดร้อนเงินทั้งอย่างถูกกฎหมายและผิดกฏหมายด้วยอัตราดอกเบี้ยต่อเดือนที่ดูเหมือนต่ำ แต่ไปเอาอัตราค่าธรรมเนียมต่อเดือนสูงเกินเหตุทำให้ผู้กู้ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมคำนวณ แล้วร่วมร้อยละ40-60 ต่อปีก็มี โดยที่กฏหมายไม่สามารถเอาผิดได้เพราะผู้ประกอบการอาศัยช่องว่าง ของกฏหมายมาเก็บเป็นค่าธรรมเนียมแทนค่าดอกเบี้ย

องค์กรที่ขาดจริยธรรมก็เกิดจากคนที่ไม่มีจริยธรรม

จะเห็นว่า ผู้นำองค์กรก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ย่อมมีคุณลักษณะประจำตัว(Attribute) ที่แตกต่างกันแล้วแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เมื่อมาเป็นผู้นำและบริหารองค์กรแล้ว มักมีความต้องการ ที่เหมือนกันคือ ผลประโยชน์สูงสุด หากแต่คุณลักษณะที่ต่างกันซึ่งขึ้นกับสำนึกความรับผิดชอบแยกแยะ ชั่วดีไม่เท่ากันทำให้ระดับของจริยธรรมต่างกันส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้นำที่แตกต่างกัน

ทุกวันนี้สังคมต้องเผชิญกับความแนบเนียนในการเอารัดเอาเปรียบของผู้นำที่มุ่งผลประโยชน์สูงสุด ไม่แยแสต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้คน แม้แต่ ลูกค้า เพื่อนพ้อง ลูกน้อง ผู้ถือหุ้น ด้วยการเอารัดเอาเปรียบ เบียดบังฉ้อฉลไปจนถึงทำลายสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผู้คนจำนวนมาก เช่น การแอบนำกากสารพิษไปทิ้ง ในที่สาธารณะ การปล่อยน้ำเสียโรงงานลงในคูคลองสาธารณะ รวมไปถึงการปั่นหุ้น การเล่นหุ้นวงใน ของผู้บริหารโดยใช้ตัวแทนเอาเปรียบด้วยการรู้ข้อมูลภายใน การเอาผลประโยชน์สินบนจากการจัดซื้อ จัดจ้างของผู้มีอำนาจทั้งภาครัฐและเอกชน การโฆษณาหลอกลวง โอ้อวดเกินความเป็นจริง เป็นต้น แทบจะกล่าวได้ว่าคนที่มองแต่ผลประโยชน์สูงสุดมักมีวิสัยทัศน์ที่คับแคบ เห็นแก่ตนและไร้จริยธรรม และมักหาทางลัดในการทำธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น จะเปลี่ยนแปลงตนเองได้รวดเร็วตามผลประโยชน์ ที่พึงจะได้รับ ไม่คำนึงผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้น นับเป็นปัญหาของสังคมที่นับวันจะทวีความรุนแรง มากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันที่หนักหน่วงในสังคมที่มีมีความแตกต่างกันน้อยลงต่างมุ่งความอยู่รอดและผล ประโยชน์เป็นใหญ่

อัตลักษณ์ของคน (Attribute) เกิดจากอะไร

เราอาจสังเกตได้ว่า ทำไม่บางคนจึงมีความรับผิดชอบสูง มีความเสียสละได้มากมาย ช่วยเหลือผู้อื่น อย่างมีความสุข สามารถอยู่ร่วมกับ ผู้อื่นได้ เป็นที่เคารพรักของคนรอบข้าง น่าคบหาพูดคุยด้วย ขณะเดียวกัน บางคนมีลักษณะตรงกันข้ามกับที่พูดมา อะไรที่กำหนด ความเป็นตัวตนของคน ? จากการศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า พัฒนาการของคนเรานั้นส่งผลต่อพฤติกรรมในวัยผู้ใหญ่ใน เรื่องของ ”จริยธรรม”อย่างเลี่ยงไม่ได้ ขอนำมาเล่าพอเป็นสังเขปดังนี้

1. ในเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสามขวบ เป็นวัยที่เหมือนผ้าขาว ยังไม่ถูกเอามาวาด จะอยู่ในช่วงของการกิน นอน ขับถ่ายซึ่งได้รับการฟูมฟัก อย่างดีจากพ่อแม่ แสดงอารมณ์แต่พื้นฐานเช่นยิ้มเมื่อสุข ร้องเมื่อหิว พ่อแม่ก็ได้แต่สอนให้รู้จักนั่ง นอน ยืน ยิ้ม หัวเราะไม่ได้สร้าง ความเครียดใดๆให้กับลูกน้อย ถ้าช่วงนี้เด็กถูก ปล่อยละเลย ขาดความรัก จะส่งผลให้ฝังลึกในจิตใต้สำนึก จะกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ขาดความมั่นใน ตนเอง หวาดกลัว เอาเปรียบผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

2. พออายุช่วง 3-7 ปี เป็นวัยแห่งการเรียนรู้เบื้องตนจากสิ่งรอบข้าง รวมถึงลักษณะของพ่อ แม่ การแต่งกาย เพศ การเรียกร้องและปฏิเสธ เป็นช่วงที่พ่อแม่ต้องสร้างวินัยพื้นฐานให้กับลูกไม่เช่นนั้นแล้วเด็กจะเติบใหญ่ โดยขาดความเป็นระเบียบวินัยกับตนเอง พอโตขึ้นมาคำว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” ก็ช่วงนี้แหละ

3. พอเลยเข้าอนุบาล 7-11 ปี จะเริ่มเรียนรู้ความถูก ผิด ควร ไม่ควร สำนึกความรับผิดชอบถือเป็นช่วงที่ มีการพัฒนาอุดมคติแห่งตน(Ego ideal) รวมถึงคุณธรรม(Moral) ดังนั้น พ่อแม่ถ้าไม่นำลูกในสิ่งที่ถูกต้อง และสร้างกลไกพัฒนาสำนึกความรับผิดชอบ วินัยสังคม ศีลธรรม คุณธรรมแล้ว ลูกจะเป็นคนดีคนเลว ในอนาคตก็ตอนนี้แหละ

4. พอเลยเข้าวัยรุ่นแล้ว 13-25ปี เด็กก็จะเอาสิ่งที่ติดตัวมาไปพัฒนาต่อ โดยปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน สังคม สถานศึกษา ที่ทำงานช่วงต้น ความสามารถในการปรับตัวจะได้มากน้อย เปลี่ยนงานบ่อยขาดความอดทน จะเป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่รังเกียจก็ขึ้นกับปูมหลังที่ผ่านมา ตอนนี้พ่อแม่มักสำนึกได้ว่าลูกเราเป็นอะไรไปแล้ว ลูกที่ดีเพราะพ่อแม่วางแผนเลี้ยงดูมาอย่างถูกต้องเหมาะสมก็ไม่ต้องสอนมาก มีแต่จะเป็นปลื้มกับความสำเร็จ ของลูกอย่างมีความสุข ส่วนลูกที่ไม่ดีไม่ได้เรื่องพ่อแม่อยากจะเตือน สอน ก็ไม่เข้าหูแล้ว ต้องใจเย็นอย่างเดียว พ่อแม่ที่เข้าใจจิตวิทยาวัยรุ่นก็จะพลิกแพลงตะล่อมเข้าหาพอแก้ไขไปได้บ้างอย่างลำบาก พ่อแม่คนไหน ไม่เข้าใจก็จะเกิดทุกข์ โทสะอย่างสุดบรรยายแทบไม่อยากมีชีวิตอยู่ ต้องเข้าวัดเข้าวาถือบวชไปเลยก็มีหรือ บางครั้งเลยเถิดถึงขั้นรุนแรงเลือดตกยางออก หรือตัดขาดพ่อแม่ลูกเพราะสุดจะทน

5. พอเข้าวัยทำงานช่วงปลาย(25-50)นี่แหละที่เรากำลังกล่าวถึง สำหรับคนดีที่ถูกปลูกฝังคุณธรรมมา ตั้งแต่วัยเด็กก็จะเป็นผู้นำที่ดี เป็นที่รักเคารพนับถือเจ้านายและลูกน้องเพื่อนร่วมงาน ส่วนพวกที่มีปัญหาใน การเลี้ยงดูมาก่อนตอนนี้ พวกที่ปรับตัวได้ส่วนน้อย ก็อาจจับพลัดจับผลูได้เป็นใหญ่ในบริษัทได้เป็นเจ้านายคน ซึ่งพฤติกรรมของเขาจะส่งผลต่อผู้คนรอบตัว ทั้งเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ลูกค้า สังคมโดยการแสดงออก ของคุณธรรม จริยธรรมที่มีอยู่ในตัว วัยวุฒิ ประสบการณ์จะทำให้เขาแนบเนียนมากขึ้นในการเอาเปรียบ หรือทำชั่ว จะเห็นได้ว่าบางรายอุตส่าห์จบถึงขั้นด๊อกเตอร์มาทำงานใหญ่โต ขาดคุณธรรม ทำการฉ้อฉลจน ติดคุกตาราง มาก็มีให้เห็นได้ ในสังคม บ้านเรา นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วจะเห็นว่าคนที่จะมีคุณธรรม จริยธรรม ไม่ว่า เป็นใหญ่หรือลูกน้อง อาชีพอะไร ก็ตาม ล้วนต้องสร้างจาก พื้นฐานของ การพัฒนาการของชีวิตในวัยเด็กมาแล้วทั้งนั้น เปรียบเหมือนมี Soft ware ชีวิตที่ดีแล้วเติมเรื่องราวชีวิต(Contents)ลงไป ก็จะสามารถ ประมวลผลออกมาดี นับเป็น โชคดีของคนไทย ที่มีพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว(แม้ไม่ทั้งหมด) ธรรมะ ของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็น หลักการที่แท้(ปรมัติ)พิสูจน์ ให้เห็นจริงได้(สัจจัง)ไม่ว่าผ่านไปนานเท่าไร(อกาลิโก) หากมีการนำมาศึกษา ให้เข้าใจโดยแท้(ปริยัติ)และลงมือ กระทำ (ปฏิบัติ) ย่อมจะส่งผล(ปฏิเวธ)ให้เกิดความดีงาม สันติสุข และ ความสุขได้ ซึ่งธรรมะเหล่านี้ไม่มีในชาติ ตะวันตก แต่หลายคนก็ศรัทธา มุ่งมาศึกษาไปเขียนในมุมมอง ของเขา ตำราฝรั่งแม้จะให้ความสำคัญของจริยธรรมปฏิบัติอย่างมากในเวลานี้ แต่ก็มองแบบผิวเผิน ไปเน้นกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องที่รัดกุมและการลงโทษ(ปัจจัยภายนอก)มากกว่าจะเน้น การสร้างความถูกต้อง จากภายในซึ่งได้แก่การมีศีลปฏิบัติและคุณธรรม มีความละอายต่อบาป ไม่กระทำชั่วทำแต่ความดี มีจิตใจที่ผ่องใส อันเป็นคำสอน โอวาทปาฏิโมกข์ ของพระพุทธเจ้าซึ่งควรยึดถือ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิตที่นำมาซึ่งความดีงาม ความถูกต้องและความสุข ของคนในสังคม


Resource : น.พ.สมชัย ตั้งพร้อมพันธ์