วิธีเอาชนะความกลัว 3
การตอบสนองต่อการตาย หรือภัยพิบัติ
การตาย
คนทุกชาติทุกภาษา กลัวความตายความกลัวที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจาก การกลัวตายโดยตรงแต่อาจเกิดจาก การกลัวว่า จะหมดโอกาส ที่จะได้ทำสิ่งที่อยากทำ หรือหมดโอกาสที่จะแสวงหาความสุขที่ตนต้องการ เด็กๆ สามารถพูดถึงความตายได้ตรงๆ เด็กวัยรุ่นจะเริ่มรู้จักเลี่ยงที่จะพูดถึง ความตาย ส่วนผู้ใหญ่ในประเทศทางตะวันตกนั้น การพูดถึงความตาย มักเป็นเรื่องต้องห้าม อย่างหนึ่งเรามักไม่พูดถึงความตายของใครต่อหน้าคนๆ นั้น ในการพูดถึงความตายเรามักเลี่ยงไปใช้คำที่สุภาพขึ้นเช่นพ้นทุกข์ สิ้นบุญ หรือไปสวรรค์ ในงานศพของทุกศาสนาจะมีพิธีกรรมที่ช่วยลด ความรู้สึกสูญเสียโดยเน้นว่า เรายังสามารถติดต่อกับผู้ตายในสวรรค์ หรือ ในอีกภพหนึ่งได้ คนอเมริกันจะไม่ถือว่าการตายเป็นการสิ้นสุดทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับความตายเมื่อแก่ลง คนเรามักทำใจได้ว่ายังไงๆ ก็ต้องตาย และไม่ค่อยกลัวตายอย่างที่คนมักเข้าใจกัน
จากการศึกษาในคนที่กำลังจะตายพบว่าในคนที่อายุเกิน๖๐ปีมีคนที่มีความกังวลมากเพียงไม่ถึง๑ใน๓ ส่วนในคนที่อายุน้อยกว่า ๕๐ปีจะเกิดความกังวลมาก ถึง ๒ใน๓ ที่เป็นอย่างนี้ เพราะการตายตั้งแต่อายุยังน้อยจะทำลายความหวังต่างๆ มากกว่าการตายเมื่อแก่มากแล้ว คนที่อายุยังไม่มาก และลูกยังเล็กอยู่จะรู้สึกเดือดร้อนต่อการที่จะต้องตายมากกว่าคนสูงอายุการที่คนอายุน้อย ที่กำลังจะตาย มีความกังวลสูงกว่าคนแก่ยังอาจเป็น เพราะอาการที่เกิดขึ้น เมื่อจะตายด้วย ความเจ็บปวดคลื่นไส้อาเจียน และการหายใจไม่ออก อาจเป็นสิ่งที่ทรมานที่สุดในการตาย และพบบ่อยในคนที่อายุค่อนข้างน้อยซึ่งมักป่วย และต้องทนทรมานอยู่นานกว่าในคนแก่จริงๆ แล้ว การตายมักเป็นภาวะที่สบายจริงๆ แพทย์ชื่อดังชื่อวิลเลี่ยม ฮันท์เตอร์พูดก่อนตายว่า "ถ้าฉันยังมีแรงหยิบปากกาอยู่ฉันจะเขียนบอกว่า การจะตายนี่มันสบายขนาดไหน" แพทย์ชื่อดังอีกคนหนึ่งชื่อวิลเลี่ยม ออสเล่อร์บอกว่า"คนส่วนใหญ่เวลาตายก็เหมือนกับเวลาเกิดนั่นแหละ คือจะไม่รู้ตัว" คนที่ดูอยู่มักคิดว่าคนที่กำลังจะตายมีความเจ็บปวดมากกว่าที่เป็นจริง คนที่กำลังจะตายจำนวนมาก อยู่ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น และไม่รับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ญาติๆ ที่กำลังจะสูญเสียมักจะมีความทุกทรมานมากกว่าคนที่กำลังจะตายเองเสียอีก
เมื่อเราตายลงร่างกายของเราก็จะกลายเป็นสิ่งน่ากลัวทันที สังคมที่ห้ามไม่ให้แตะต้องศพมีไม่มาก โดยคิดว่าจะมีพลังชั่วร้ายกระจายออก มาจากศพ และเชื่อว่าผี และวิญญาณชั่วร้ายจะอยู่รอบๆ ศพ และต่อมาก็จะไปวนเวียนอยู่บริเวณหลุมศพ มีละครหลายเรื่องที่สร้างในแนวนี้ เช่นในเรื่องแมคเบ็ธของเช็คสเปียร์
ความกังวลบางอย่างเกี่ยวกับศพจะเกี่ยวข้องกับสภาพที่เปลี่ยนไปเมื่อตาย และเมื่อมีการเน่าเปื่อย สภาพศพที่เปลี่ยนไปหลังตาย เป็นสิ่งที่ขัดกับความเชื่อเกี่ยวกับการกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ มีการพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อเผื่อว่าถ้าผู้ตายกลับฟื้นขึ้นมาใหม่จะไม่ลำบาก มีการดองศพไม่ให้เน่าใส่อาหารเงินทองของมีค่าไว้ในหลุมศพ หรือทำทางให้ผู้ตายออกจากหลุมได้ง่ายๆ เวลาฟื้นขึ้นมา ปิรามิดในอียิปต์เป็นตัวอย่างแสดงถึงความเชื่อในการมีชีวิตหลังตายความเชื่อทางศาสนาทำให้ ความกังวลเกี่ยวกับความตายเปลี่ยนไปได้ ซึ่งก็ขึ้นกับความเชื่อมากเชื่อน้อยด้วย คนที่ไม่เชื่อเลยจะกังวลน้อยกว่าคนที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ความไม่แน่นอนทำให้เกิดความกังวล ผู้ป่วยที่ไม่แน่ใจว่าตนจะรอด หรือไม่จะมีความกังวล แต่เมื่อรู้ว่า ต้องตายแน่ๆ ความกังวลจะหายไปเกิดความเศร้าขึ้นมาแทน ซึ่งจะค่อยๆ หายไปเอง เมื่อค่อยๆ ยอมรับได้ ผู้ป่วยบางคนกลัวตายมาก และไม่ยอมรับความจริงว่ากำลังจะตายซึ่งจะปฏิเสธความจริงไปได้ไม่นาน และจะเกิดอาการทุรนทุรายเศร้าโศกเสียใจมาก ไม่มีหลักตายตัวว่าควรจะบอกความจริงกับผู้ป่วย หรือไม่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อความเครียดของผู้ป่วยที่ผ่านๆ มา ความมั่นคงของจิตใจ และความต้องการที่จะรู้ความจริงมากน้อยเพียงใดด้วย
ความเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสีย
ความเศร้าโศกจากการสูญเสียเป็นความกังวลจากการพลัดพรากชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปกว่าคนเราจะทำใจยอมรับ การสูญเสีย คนที่เรารักได้ต้องใช้เวลาพอสมควร ญาติๆ จะคิดถึงผู้ตาย และร้องห่มร้องไห้สนใจแต่สิ่งที่ทำให้นึกถึงผู้ตาย ละบางครั้งอาจถึงกับเรียกหาผู้ตาย หลังจากเฝ้าคอยหาเท่าไรก็ไม่มาสักทีความรู้สึกต่างๆ ก็จะค่อยๆ เบาบางลง และความผูกพันก็จะหายไปในที่สุด ความทุกข์โศกที่เกิดขึ้นบางส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้นั้นกับผู้ตายปฏิบัติต่อกัน เช่นภรรยาอาจเกิดความคิดถึงสามี ที่จากไปมากเป็นพิเศษเวลาเย็นๆ ซึ่งเป็นเวลาที่สามีเคยกลับบ้าน แรกๆ ก็จะเป็นแบบนี้บ่อยๆ แต่ต่อๆ มาก็จะค่อยๆ เป็นน้อยลงๆ และเกิดความผูกพันกับคนอื่นต่อไป แม้ว่าผู้ใหญ่ส่วนมาก จะเคยสูญเสียญาติ หรือเพื่อนสนิทโดยการตายแต่การศึกษาปฏิกริยาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ยังมีค่อนข้างน้อยมีการศึกษาที่ดีมากอันหนึ่งเป็นของจิตแพทย์ชาวลอนดอนชื่อโคลิน พาร์คส์ เขาศึกษาผู้หญิงหม้ายอายุต่ำกว่า๖๐ปี จำนวน๒๒คนโดยการสัมภาษณ์พูดคุยด้วยเป็นระยะๆ อย่างน้อย คนละ๕ครั้งในช่วงเวลา๑๓เดือนหลังจากสามีตาย
ความรู้สึกชา และไม่เชื่อ
ภรรยาส่วนใหญ่ยังไม่ยอมเชื่อเมื่อรู้ว่าสามีกำลังจะตาย และเมื่อสามีตายจริงๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ ความรู้สึกชาแต่บางครั้ง อาจมีอาการ ร้องห่มร้องไห้เสียใจเกิดขึ้นก่อนเป็นช่วงสั้นๆ ได้ แม่หม้ายรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า"ฉันปล่อยโฮออกมาทันที ตอนนั้นฉันรู้สึกเหมือนกับรู้ว่ามีคนกำลังร้องไห้ยกใหญ่ และก็รู้ด้วยว่าเป็นตัวฉันเอง ฉันกำลังคร่ำครวญว่าฉันรักเขา และอื่นๆ อีก ฉันก็รู้อยู่ว่าเขาจากไปแล้วแต่ฉันก็ยังไม่ยอมหยุดพูดกับเขา" เธอไปอาเจียนที่ห้องน้ำหลังจากนั้นก็รู้สึกชา "ฉันรู้สึกตัวแข็งชาไปทั้งอาทิตย์ ก็ดีเหมือนกัน...อะไรๆ เชื่องช้าไปหมดเหมือนกับมันหนักอึ้งอย่างนั้น" แม่หม้ายอีกคนว่า"มันเหมือนกับอยู่ในฝัน...ฉันไม่รู้สึกอะไรเลย...ไม่น่าเชื่อจริงๆ "
ช่วงแรกๆ แม่หม้ายถึง๑๖คนยอมรับไม่ได้ว่าสามีตายแล้วจริงๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ "มีอะไรต้องทำตั้งเยอะแต่ฉันรู้สึกเหมือนกับไม่ได้ทำ เหมือนทำให้คนอื่น..ไม่ใช่ทำให้เขา" "ไม่ใช่มั้ง..ข่าวผิด หรือเปล่า" "ฉันไม่เชื่อเลยจริงๆ จนเห็นเขาในวันจันทร์(๔วันหลังจากสามีตาย)" "ฉันไม่รับรู้อะไรเลย ..มันราวกับไม่ใช่เรื่องจริงอย่างนั้น" ความรู้สึกชามักจะเป็นอยู่ไม่นานแต่มีถึง๑๓คน ที่ยังคงมีความรู้สึกไม่อยากเชื่อว่า สามีตายไปแล้วจริงๆ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วถึง๑ปีเต็มๆ ช่วงแรกๆ แม่หม้ายมักร้องห่มร้องไห้ แต่บางครั้งก็รู้สึกโกรธแต่ก็มีบางรายที่รู้สึกครึกครื้นกระปรี้กระเปร่า มีอยู่รายหนึ่งดูเยือกเย็นมากในตอนแรกๆ "ฉันมองเข้าไปในตาเขา และเมื่อเขาจ้องมองฉัน มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น มันเหมือนกับมีอะไรบางอย่างเข้ามาอยู่ในตัวฉัน ฉันรู้สึกอบอุ่นไม่สนใจอะไร
ในโลกอีกแล้ว เป็นความรู้สึกปิติ...รู้สึกยิ่งใหญ่คับบ้านเลย" ต่อมาเธอร้องไห้หลายต่อหลายครั้ง และพยายามฆ่าตัวตายด้วยความลังเลหนึ่งครั้ง แม่หม้ายอีกคนมีความรู้สึกโกรธขึ้นมาแทน บอกว่า"ทำกับฉันแบบนี้ได้ยังไง" ๒-๓วันต่อมาเธอทำอะไรต่อมิอะไรยุ่งไปทั้งวัน และเล่าว่า๔วันต่อมาตอนเช้าเธอรู้สึกว่า"มีอะไรก็ไม่รู้เข้ามาหาฉัน พยายามเข้ามาอยู่ในตัวฉัน ภาพที่เห็นแทบจะทำให้ฉันเผ่นลงจาก เตียงสามีฉันเอง น่ากลัวจริงๆ หลังจากนั้นฉันก็เห็นหน้าสามีคล้ายๆ ภาพถ่ายตามมาอีกหลายภาพ" ตอนนั้นเธอเองก็ไม่แน่ใจว่ากำลังฝันไป หรือเปล่า และเกิดความรู้สึกชาอยู่๒สัปดาห์
ความตื่นตระหนก และอาการทุรนทุรายร้องห่มร้องไห้
หลังการตายของคนที่เรารักใหม่ๆ โดยเฉพาะเดือนแรกจะมีอาการตื่นตระหนกเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในช่วงเดือนแรก นางโจนส์ต้องวิ่งออกจากแฟลต ไปขออาศัยคนข้างบ้านอยู่หลายครั้งเธอตกใจง่ายมาก "แค่ใครมาแตะตัวฉันๆ ก็แทบจะแตกเป็นเสี่ยงๆ เลย" เธอพยายามไม่คิดว่าสามีตายแล้ว "เวลาคิดว่าเขาตายแล้วฉันจะรู้สึกเหมือนจะบ้า" เวลาที่ไม่สามารถลืมได้ว่าสามีตายแล้วเธอจะรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง อาการตื่นตระหนก ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ แต่เมื่อ๑ปีผ่านไปเธอก็ยังคงมีอาการอยู่"เป็นบางครั้งบางคราว" คนแต่ละคนจะมีปฏิกริยาไม่เหมือนกัน จะมีช่วงที่เกิดอาการทุรนทุรายร้องห่มร้องไห้สลับกับช่วงที่รู้สึกชา หรือกระวนกระวายนั่งไม่ติด คนที่เป็นหม้ายจะพยายามเก็บกดความรู้สึกเจ็บปวด หรือสูญเสีย และเมื่อเก็บไว้ไม่อยู่จะรู้สึกทุกข์ทรมานมาก โดยทั่วไปความรู้สึกชาจะเป็นอยู่ประมาณ๑สัปดาห์หลังจากนั้นความรู้สึกทุกข์ทรมานจะรุนแรงขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากไม่เชื่อว่า เราจะสามารถเก็บกดความทุกข์โศกไปได้ตลอด เพราะมันจะระเบิดออกมาในที่สุด ดังที่เชคสเปียร์เขียนไว้ในเรื่องแมคเบธตอนที่๔ฉากที่๓บรรทัดที่๒๐๘ไว้ว่า"จงพูดระบายความทุกข์ออกมา จิตใจที่มีความอัดอั้นอยู่ถ้าไม่ได้พูดไม่ได้ระบายเสียบ้างมันจะแตกเป็นเสี่ยงๆ " ซึ่งพาร์คส์ก็เห็นด้วยจากการสัมภาษณ์หญิงหม้ายดังกล่าว
ความโศกเศร้าคิดถึง และความครุ่นคิด
เมื่ออาการชาหายอาการโศกเศร้าก็จะตามมา ผู้เป็นหม้ายจะเฝ้าแต่คิดถึงผู้ตาย คอยเฝ้ามองสถานที่ หรือสิ่งของรอบๆ ตัว ที่เกี่ยวข้องกับ สามีที่ตายไป และให้ความสนใจเสียง หรือภาพอะไรที่ทำให้คิดว่าเขามาหา เธออาจร้องไห้คร่ำครวญถึงเขา และเกิดอาการกระวนกระวาย จิตแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ อีริค ลินเดแมนน์ รายงานถึงระยะต่างๆ ของการเศร้าโศก เนื่องจากการสูญเสียที่บอสตันว่า "จะมีอาการพูดไม่ยอมหยุด โดยเฉพาะพูดเรื่อง ผู้ตาย และมีอาการกระวนกระวาย อยู่ไม่สุขนั่งไม่ติดผุดลุกผุดนั่งหาอะไรทำ อยู่ตลอดเวลาแต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถทำอะไรที่เคยทำได้"แม่หม้ายในลอนดอนโดยทั่วไปจะเฝ้าคิดถึง และจินตนาการถึงสามีในที่ๆ นั่งประจำในบ้าน" ฉันรู้สึกเหมือนแทบ จะจับมือของเขาได้เลย" ตอนกลางคืน หรือเวลาพักผ่อนตอนกลางวันเธอก็จะเฝ้าคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เคยทำกับสามี อาการเหล่านี้จะมากในช่วงเดือนแรกๆ หรือช่วงใกล้ครบรอบปีของการตาย บางรายเกิดมีอาการต่างๆ ที่สามีเป็นก่อนตายด้วย "ฉันรู้สึกมีอาการแบบนั้นอยู่เรื่อยเป็นแล้วเป็นอีก"
บางครั้งอาจคิดถึงความสุขที่ผ่านๆ มา "วันนี้เมื่อปีที่แล้วเป็นวันอภิเศกสมรส(ไดอาน่า) ฉันบอกเขาว่าอย่าลืมดูนะ เมื่อฉันกลับเข้าบ้านมา ฉันถามเขาว่า ดู หรือเปล่า เขาว่าเปล่า ลืมไป เราดูการถ่ายทอดด้วยกันตอนเย็นแต่เขาหลับตานะ เขาเขียนจดหมายถึงพี่สาว ฉันนึกภาพเขาได้ชัดเลย ฉันจำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นวันนั้นได้หมดเลย ฉันบอกว่าคุณไม่ได้ดูเลยนี่ เขาตอบว่าอือไม่ได้ดูหรอก"
แม่หม้ายเกือบครึ่งรู้สึกเหมือนกับมีอะไรดึงดูดให้ไปในที่ๆ จะทำให้รำลึกถึงสามี เธอจะกลับไปดูที่ๆ เคยไปด้วยกัน ไปสุสาน และโรงพยาบาล "จะได้อยู่ใกล้ๆ เขา" แม่หม้ายส่วนใหญ่จะสะสมของที่เคยเป็นของสามี แต่มักเลี่ยงพวกเสื้อผ้า หรือภาพถ่าย เพราะจะทำให้เกิด ความคิดถึง รุนแรงเกินไป เมื่อเวลาผ่านไปการหลีกเลี่ยง ของที่จะทำให้คิดถึงเหล่านี้ จะค่อยๆ ลดลง สิ่งที่เคยทำให้มีความสุข จากความคิดถึง ก็จะค่อยๆ คลายความขลังลง ห้องที่เคยช่วยให้สุขใจยามคิดถึงจะถูกตกแต่งใหม่เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ของที่เคยทนไม่ได้เช่น ภาพถ่ายก็จะถูกรื้อ ออกมาแขวนใหม่อีกครั้งแม่หม้ายมัก "เห็น" "ได้ยิน" หรือ "รู้สึก" ว่าสามีมาอยู่ใกล้ๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรก เธออาจคิดว่า เสียงอะไรนิดๆ หน่อยๆ ในบ้านเกิดจากเขาทำ หรือตาฝาดเห็นคนอื่นเป็นสามีไปแวบหนึ่งแม่หม้ายคนหนึ่งเห็นสามีกลับเข้าประตูรั้วมา อีกคนหนึ่งรู้สึกรำคาญที่ชอบเกิดภาพหลอนเห็นสามีนั่งอยู่ที่เก้าอี้ในวันคริสต์มาส เราก็พอจะเข้าใจแล้วว่า ความเชื่อเรื่องผีที่จริงแล้ว ก็มาจากความรู้สึกเหล่านี้นั่นเอง
การร้องห่มร้องไห้ หงุดหงิดง่าย และความโกรธ
การร้องห่มร้องไห้เมื่อมีการสูญเสียเป็นเรื่องที่เราคุ้นกันอยู่แล้ว แม่หม้าย๑๖คนร้องไห้ในช่วงเดือนแรก ที่มีการสัมภาษณ์เดือนต่อๆ มา การร้องไห้จะน้อยลง แม้ว่าการร้องไห้มักเกิดเมื่อคิดถึงผู้ตาย แต่บางครั้งตัวแม่หม้ายเอง ก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่า ทำไมต้องร้องไห้ด้วย อาการอีกอย่างที่เราเห็นน้อยกว่าคือความหงุดหงิด และความโกรธ แม่หม้าย๑๓คนโกรธสามีที่ตายไป "เขาทำกับฉันอย่างนี้ได้ยังไง?" แต่บางครั้งอาจโกรธแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแทน แม่หม้ายคนหนึ่งว่า "ฉันยังข้องใจอยู่ว่าทำไมหมอถึงทำอย่างนั้น" ส่วนอีกคนยังไม่พอใจพยาบาลอยู่ที่แกะพลาสเตอร์ให้สามีเจ็บ เมื่อเวลาผ่านไป ความโกรธที่ไม่สมเหตุผลจะค่อยๆ หายไป แม่หม้ายคนหนึ่ง แสดงความโกรธเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ตอนสามีตายใหม่ๆ แต่เมื่อหนึ่งปีผ่านไปเธอบอกว่าไม่โกรธแล้ว และยอมรับว่า "ตอนฉันอยากจะโทษอะไรสักอย่างได้จังเลย" บางรายกลับโกรธการกระทำของตัวเอง หลังสามีตายแม่หม้ายรายหนึ่ง พูดถึงความฉุนเฉียวง่ายของตนว่า "ฉันหงุดหงิดกับตัวเอง"
ความรู้สึกผิด และการโทษตัวเอง
ความรู้สึกผิด และการโทษตัวเองเกิดขึ้นหลังการสูญเสียได้บ่อย แม่หม้ายมักบอกว่า"ฉันมักคิดว่าฉันน่าจะได้ทำอะไรได้บ้าง" "ฉันมักคิดถึงสิ่งที่ผ่านมาว่าทำถูก หรือเปล่า" อาจมีการตำหนิตัวเอง กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หนึ่งปีหลังจาก สามีถึงแก่กรรมแม่หม้าย รายหนึ่งเพิ่งนึกขึ้นได้ และโทษตัวเองว่าไม่ เคยทำพุดดิ้งขนมปังให้สามีกินเลย บ่อยครั้งเรื่องอาจใหญ่กว่านั้น ซึ่งก็ไม่แน่ว่าเป็นความผิดจริง หรือไม่เช่นแม่หม้ายรายหนึ่งพยายามเกลี้ยกล่อมให้สามียอมเข้ารับการผ่าตัด ประคับประคองในขณะที่สามีไม่อยากผ่า อีกรายโทษตัวเอง ที่ไม่เคยให้กำลังใจสามีที่พยายามเขียนหนังสือ และพยายามส่งบทกวีที่เขาเขียนไว้ไปตีพิมพ์หลังจาก สามีตายแล้วหลายๆ คนรู้สึกว่า ตนทำไม่ถูกในช่วงที่สามีใกล้ตาย "ฉันเหินห่างจากเขา รู้สึกว่าเขาไม่ใช่คนเดิม เวลาฉันพยายามเข้ามาอยู่เป็นเพื่อนเขาฉันจะรู้สึกแย่มาก ฉันอยากจะทำอะไรได้มากกว่านั้น ฉันรู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรให้เขาเท่าที่น่าจะทำได้ เขาอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้จริงๆ "
ความกระวนกระวาย และอยู่ไม่สุข
อาการอีกอย่างหนึ่งของการพลัดพรากคือความกระวนกระวายอยู่ไม่สุข แม่หม้ายมักบอกว่ารู้สึกนั่งไม่ติด ทำอะไรไม่ได้นาน ตกใจง่าย หงุดหงิดกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เวลาที่เครียดมากๆ แม่หม้ายเหล่านี้จะมีอาการมือไม้สั่น และอาจถึงกับพูดติดอ่าง เวลารู้สึกกระวนกระวายแม่หม้าย อาจฉุนเฉียวเป็นบางครั้ง หรือต้องพยายามหาอะไรทำ "ถ้าไม่มีอะไรให้ทำอยู่ตลอดเวลาฉันคงจะบ้าตายแน่ๆ "แม่หม้ายผู้หนึ่งกล่าว ขณะสัมภาษณ์เธอต้องเดิน ไปสัมภาษณ์ไปเ พราะเธอจะทำงานบ้านไปด้วยเสร็จจาก งานนี้ก็ไปต่องานนั้น ท่าทางเธองุ่นง่าน หงุดหงิด และเครียด หนึ่งปีผ่านไปเธอยังรู้สึก "ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ไม่มีจุดหมาย"
ความรุนแรงของความเศร้าโศกเสียใจจะเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ
ความทุกข์โศกจากการพลัดพราก ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา และอาจหายไปเป็นช่วงๆ ช่วงที่หยุดจะรู้สึกค่อนข้างสงบ แม้ว่าอาจจะเพิ่งเกิดอาการเศร้าโศกรุนแรงมาไม่นาน ความรุนแรงของความเศร้าโศกอาจลดลงได้บ้าง โดยการหลีกเลี่ยงคน หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ตาย โดยการไม่ยอมเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น หรือโดยการพยายามเบนความสนใจไปยังเรื่องอื่นๆ ดังกรณีนางสมิทธ์ซึ่งเพิ่งสูญเสียสามีไป เพราะเลือดออกในสมอง เธอรู้ว่ามันไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ และหลังจากร้องไห้ยกใหญ่ อยู่๑สัปดาห์เธอก็เลิกร้องแล้วง่วนอยู่กับสิ่งอื่น เธอไม่ยอมเข้าห้องสามี และชวนลูกชายมาช่วยกันเอาข้าวของๆ สามีไปเก็บให้หมด หนึ่งเดือนต่อมาระหว่างการสัมภาษณ์เธอต้องขอพักหลายครั้ง เพราะกลัวจะร้องไห้ หนึ่งปีต่อมาเธอสงบลงมาก แต่ยังคงหลีกเลี่ยงของที่จะ ทำให้คิดถึงสามีอยู่รวมทั้งไม่อยากไปเยี่ยมหลุมศพของเขาด้วย เธอยืนยันว่า"ถ้าความมีคิดเกี่ยวกับเขาโผล่เข้ามาฉันจะพยายามคิดเรื่องอื่น"
การเทิดทูนผู้ตายก็พบบ่อย นางไว้ท์อายุ๕๙ปีเคยทะเลาะกับสามีที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังเป็นประจำ เธอเคยทิ้งเขาหลายครั้ง และขณะสัมภาษณ์ครั้งแรกเธอว่า"ฉันไม่น่าพูดแบบนั้นเลยแต่ที่จริงการที่เขาจากไปก็ทำให้สงบขึ้นเยอะ"ในช่วงปีแรก หลังสามีตายลูกสาวคนเล็ก๒คนแต่งงานแยกบ้าน
ออกไปปล่อยเธออยู่กับอพาร์ตเม้นท์คนเดียว เธอเหงามาก รู้สึกซึมเศร้า และพูดถึงความหลังอย่างอาลัยอาวรณ์ ช่วงท้ายๆ ของการสัมภาษณ์เธอลืมปัญหาระหว่างเธอกับเขาไปหมด และ และบอกว่าเธออยากแต่งงานใหม่"กับใครสักคนที่แสนดีเหมือนเขา"
การเอาผู้ตายเป็นแบบอย่าง
หลังจากการสูญเสียมีบางคนซึ่งก็เป็นเพียงส่วนน้อย ที่เอาผู้ตายเป็นแบบอย่างมากว่าตอนเขายังอยู่ "ฉันชอบสิ่งที่เขาเคยทำ...มันคล้ายๆ กับเป็นความคิดแล่นเข้ามาในสมอง-สิ่งที่เขาทำ หรือพูด" นางแบลคกล่าวขณะกำลังดูฟุตบอลล์ในทีวี ฉันชอบมาก เพราะเขาชอบมันเป็นความรู้สึกประหลาด...น้องสาวฉันบอกว่า"ท่าทางเธอคล้ายเฟรดขึ้นทุกทีๆ "...เธอพูดถึงอาหาร ฉันว่า "ฉันไม่กล้าจับมัน" เธอเลยบอกว่า"อย่าโง่หน่อยเลยทำอย่างกับเฟรดแน่ะ" ...มีตั้งหลายอย่างที่ ฉันทำไปโดยที่ฉันไม่คิดว่าจะทำ ...ฉันคิดว่าเขาคงมาคอยช่วยชี้นำฉันตลอดเวลาบางครั้งอาจเกิดอาการคล้ายๆ ผู้ตาย ในช่วงท้ายของการเจ็บป่วยได้ สามีของนางบราวน์ตาย จากเส้นเลือดหัวใจอุดตันทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก และหายใจไม่ออกอยู่หนึ่งสัปดาห์ หลังจากนั้นภรรยามีอาการเป็นลม ใจสั่น และอาการตื่นตระหนก โดยรู้สึกหายใจไม่ทัน และใจสั่น"เหมือนที่สามีฉันเป็นเลย" ต่อมาเธอเกิดอาการหน้า และขาข้างซ้ายเจ็บ และกระตุกไม่ยอมหยุดแพทย์วินิจฉัยว่า เกิดจากการเอาอย่างอาการอัมพาตของสามีเมื่อ๕ปีก่อน
อาการที่พบไม่บ่อยนักอีกอย่างหนึ่งในกลุ่มแม่หม้ายคือความรู้สึกเหมือนกับสามีที่ตายไปแล้วมาอยู่ในตัวของตนเอง สามีฉันอยู่ใน ตัวฉันเองฉันเลย มีอะไรๆ เหมือนเขา...ฉันรู้สึกว่าเขาที่อยู่ในตัวฉันทำอะไรๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง เขาเคยบอกว่า"ทำอย่างนี้เมื่อฉันจากไปแล้ว นะ" เขาคอยชี้ทางเดินชีวิตให้ฉัน ฉันรู้สึกได้ว่าเขาอยู่ในตัวฉันจากลักษณะการพูด และการทำสิ่งต่างๆ ของเขา มันไม่ใช่แค่ความรู้สึกว่ามีเขาอยู่แต่เขาอยู่ที่นี่จริงๆ ในตัวฉัน นั่นทำให้ฉันมีความสุขตลอดเวลาเหมือนกับมีสองคนอยู่ในคนเดียว.. .แม้ว่าฉันจะอยู่คนเดียวแต่ก็เหมือนอยู่กับเขาคงเข้าใจนะ...ฉันไม่คิดว่า ฉันจะมีพลังพอที่จะอยู่ต่อไปได้ตามลำพัง เพราะฉะนั้นต้องเป็นเขาแน่ๆ เลย
บางครั้งอาจมีความรู้สึกว่าสามีที่ตายไปอยู่ในลูกๆ แม่หม้ายคนหนึ่งพูดถึงลูกสาวว่า "บางครั้งฉันรู้สึกยังกับว่า ไดอาน่าเป็นสามีของฉัน... เธอมีมือเหมือนเขา มือที่เคยทำให้ฉันขนลุก" ประมาณครึ่งหนึ่งของแม่หม้ายจะฝันถึงสามีที่ตายด้วย ความฝันมักชัดเจนดูเป็นจริงเป็นจัง และมักตื่นขึ้นมาด้วยความแปลกใจ และผิดหวังที่เป็นเพียงความฝัน"เขาพยายามปลอบฉัน และกอดฉันแต่ฉันเอาแต่เบือนหน้าหนี และร้องไห้ แม้จะอยู่ในฝันฉันก็ยังรู้ว่าเขาตายแล้ว...แต่ฉันก็รู้สึกเป็นสุขมาก และร้องไห้ซึ่งเขาเองก็ช่วยอะไรไม่ได้.. .เวลาฉันแตะหน้าของเขามันเหมือนกัว่า เขาอยู่ตรงนั้นจริงๆ เหมือนจริงจังเลย" อีกรายเล่าว่า"เขานอนหลับตาอยู่ในโลง และอยู่ๆ เขาก็ฟื้นแล้วก็ลุกออกมา... ฉันมองเขา เขาเปิดปากจะพูด-ฉันว่า เขายังไม่ตายๆ ขอบคุณพระเจ้าฉันมีเขาไว้คุยด้วยแล้ว"
สุขภาพ และปัญหาอื่นๆ
ช่วงที่กำลังเศร้าโศกอยู่เราจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับสิ่งที่ไม่รีบด่วนเช่นการกินการนอน ในช่วงแรกๆ มักมีอาการนอนไม่หลับ ในเดือนแรกแม่หม้ายครึ่งหนึ่งต้องกินยานอนหลับ หลายๆ รายนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก หรือตื่นเช้ากว่าปกติ ช่วงกลางคืนจะเป็น เวลาที่เปล่าเปลี่ยวที่สุด หลายๆ ราย ไม่สามารถนอนที่เตียงเดิมที่เคยนอนกับสามีได้ และหลายรายไม่ยอมหลับ นอนคิดถึงสามีทั้งคืน แม่หม้ายมักเบื่ออาหาร และผอมลงในช่วง๒เดือนแรก บางรายถึงกับเฉยเมยกับลูกๆ ไม่ไปมาหาสู่กับเพื่อนฝูงเก็บตัวอยู่กับบ้าน แม่หม้าย๗คนที่มีงานทำไม่ไปทำงานโดยเฉลี่ยเกือบ๒สัปดาห์แต่ตอนหลังก็สนุกกับงาน และเพื่อนใหม่ได้ดี และเร็วกว่าคนที่ไม่มีงานมาช่วยดึงให้ออกจากบ้าน
การหายจากความเศร้าโศก
โชดดีที่คนส่วนใหญ่หายจากภาวะเศร้าโศกได้ในที่สุด ดังตัวอย่างนางกรีนซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับสามีมากพอ สามีตายเธอเกิดอาการชา ไปหลายวัน หลังจากนั้นก็มีอาการวิตกกังวล และซึมเศร้าครุ่นคิดถึงแต่เรื่องเกี่ยวกับสามี และมีความรู้สึกว่าเขาอยู่ด้วยรุนแรงมาก ครอบครัวของเธอช่วยปลอบ และให้กำลังใจ และเธอก็ดีขึ้นในเดือนที่๓-๔เดือนที่๗เธอไปเยี่ยมพี่สาวที่อเมริกาเธอรู้สึกว่ายังเป็นที่ต้องการ มีความมั่นใจกับคืนมา รู้สึกสดชื่น และเตรียมตัวดูแลญาติคนหนึ่งที่ไม่สบาย และกลายเป็นศูนย์กลางของครอบครัว ระยะเวลากว่าความเศร้าโศกจะหายสำหรับแต่ละจะคนไม่เหมือนกัน บางรายหนึ่งปีผ่านไปก็ยังไม่หายก็มี ในบางแง่ความเศร้าโศกนี้ไม่มีวันหาย และคนที่เป็นหม้ายมานานอาจบอกว่า"คุณไม่มีทางหลุดพ้นจากมันหรอก" เวลาครบรอบปี หรือเวลาเพื่อนเก่ามาเยี่ยม โดยไม่คาดคิด หรือเวลาค้นเจอรูปภาพเก่าๆ ความรู้สึกโศกเศร้าคิดถึงจะกลับมาอีก และต้องมาทำใจกันใหม่อีกแต่ก็เบากว่าเดิม อย่างไรก็ตามความเศร้าโศก จะเกิดขึ้นน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งความถี่ และความรุนแรง และความสนใจสิ่งต่างๆ และความอยากอาหารจะค่อยๆ กลับคืนมา
เมื่อเรามีความเศร้าโศกจากการสูญเสียคนที่เรารัก หรือการสูญเสียโอกาสเราต้องพยายาม"ทำใจ"ให้ได้ เราจะต้องสามารถพูดถึงคนที่ตาย และสิ่งที่เคยทำร่วมกันได้ว่ามีความหมายกับเราอย่างไร และสามารถร้องไห้ได้โดยไม่ต้องอาย ในหลายๆ สังคมมีการยอมรับกันว่า คนเราต้องเกิดความเศร้า โศกเมื่อมีญาติตาย และจะมีช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นระยะเศร้าโศกเพื่อช่วยให้ผ่านความทุกข์โศกไปได้ ในบางสังคมผู้สูญเสีย สามารถร้องคร่ำครวญ และแสดงความเศร้าโศกได้เต็มที่ ในการ"ทำใจ" นั้นนอกจากจะต้องทำใจกับอดีตแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือยังจะต้องหาวิธีที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป และหาสิ่งทดแทนสิ่งที่สูญเสียไปด้วย
บางทีสิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่พวกเราเกือบทุกคนต้องเผชิญเขาสักวันคือความตายของตัวเราเอง เรามักคิดว่า ความสำเร็จของการรักษาคือ การหายป่วย ในการดูแลผู้ป่วยที่ไม่รอดแน่ๆ เราต้องพยายามช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบที่สุด เป็นที่ยอมรับกัน ในศูนย์การแพทย์หลายๆ แห่งแล้วว่า ผู้ป่วยที่กำลังจะตายต้องการ การดูแลเป็นพิเศษเพื่อช่วยลดความวิตกกังวล เราสามารถช่วยคนที่กำลังจะตายให้ยอมรับ ความจริงอย่างสงบได้แม้จะต้องใช้เวลาสักหน่อย หญิงชราผู้หนึ่งอยู่ในหอผู้ป่วยระยะสุดท้ายเห็นผู้ป่วยร่วมห้องตายไป ๖ คน ในช่วงเวลา หลายเดือน เมื่อถูกถามว่าช่วงที่มาทนทรมานอยู่ที่นี่มีความหมายอะไรไหม เธอคิดสักครู่แล้วตอบว่า"มีสิ ฉันรู้สึกว่า มีความสัมพันธ์ที่จริงใจ และเกื้อกูลกันกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่ตายไปแล้ว" แม้จะมีความเจ็บปวดแต่ถ้าได้เตรียมตัวเตรียมใจที่ดีก็สามารถตายอย่างสงบสุขได้
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
ภัยพิบัติอย่างไฟไหม้เครื่องบินตก และพายุทอร์นาโดทำให้เกิดปฏิกริยาที่ซับซ้อน ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนเกิดเหตุผู้คนจะหวาดกลัวมาก และพยายามหนีเอาตัวรอด แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปนานหลายๆ คนก็อาจจะยังไม่หายกลัว จะมีอาการตกใจง่าย และหวาดผวากับ สิ่งกระตุ้นเล็กๆ น้อยๆ ที่แต่ก่อนไม่เคยสนใจ ขณะเกิดเหตุ และเมื่อเหตุร้ายหยุดใหม่ๆ ผู้คนจะอยู่ในสภาพ หยุดนิ่งเคลื่อนไหวไม่ออก ซึ่งมักเป็นอยู่ไม่นาน บางรายอาจหนีเตลิดไปอย่างงงงวย เมื่อเหตุร้ายผ่านไปผู้คนจะซึมเศร้าเหงาหงอย หมดเรี่ยวหมดแรง หมดความสนใจไม่คิดจะทำอะไรแต่มักไม่มีความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ผู้คนอาจยึดทางการเป็นที่พึ่ง และทำตามคำสั่งของใคร ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำได้ง่ายๆ ช่วงที่กำลังฟื้นตัวเมื่อการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงผู้คนจะเริ่มก้าวร้าวหงุดหงิดง่าย ในภาวะที่มีความตึงเครียดมากๆ ความกังวล และความตื่นตระหนกไม่ใช่ปัญหาใหญ่ปัญหาที่สำคัญคือการไม่ร่วมมือกันของผู้คน ต่างคนต่างทำไปตาม ความรู้สึกที่เกิดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การต้องมาพลัดพรากกับครอบครัว และการต้องมาอยู่ใกล้ชิดกับคนตาย หรือคนเจ็บจะยิ่งทำให้เกิดอารมณ์ตอบสนองรุนแรงขึ้น
น่าแปลกที่ภาวะตื่นตระหนกไม่ได้พบบ่อยขึ้นในขณะเกิดภัยพิบัตินักสังคมวิทยาให้นิยามของภาวะตื่นตระหนกว่า เป็นความกลัวที่เ กิดขึ้นฉับพลันจนไม่สามารถควบคุมตนเอง และทำให้เกิดการแตกตื่นหนีภัยอย่างไม่สมเหตุผล ภาวะตื่นตระหนก จะเกิดเมื่อคนเกิด ความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่ากำลังอยู่ในอันตราย และเชื่อว่ายังมีทางรอด แต่ถ้าไม่รีบหนีตอนนั้นจะหมดโอกาสอีก ภาวะตื่นตระหนกจะทำให้กิจกรรม ของกลุ่มเกิดความระส่ำระสาย และความสัมพันธ์ทางสังคมตามปกติจะถูกละทิ้ง ภาวะตื่นตระหนก จะเกิดเมื่อยังมีทางรอดเท่านั้น และจะไม่เกิดถ้าคิดว่าหมดโอกาสแล้ว ภาวะตื่นตระหนก จะเกิดร่วมกับความรู้สึกช่วย ตัวเองไม่ได้ ไร้ความสามารถ และความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว และจะยิ่งเกิดง่ายถ้าอยู่กับคนที่กำลังหวาดกลัวเช่นกัน ขณะเกิดภาวะตื่นตระหนกคนจะหนีอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย แทนที่จะมาช่วยกันจัดการอะไร กับสิ่งที่เป็นอันตรายนั้นได้บ้าง
ภาวะสงคราม
ทหารในสงครามต้องเผชิญอันตรายอย่างมาก อาจเป็นการยิงกันโดยไม่คาดคิดช่วงสั้นๆ เพียงไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์จนถึง การยิงถล่มกันอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายๆ วันการไม่รู้สึกกังวลในสถานการณ์แบบนี้เป็นสิ่งผิดปกติ แต่ก็เป็นที่น่าแปลกที่โรคประสาทจากสงครามพบไม่ค่อยบ่อย และมักเกิดเมื่อมีการรบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรุนแรง ในบรรดาทหารอากาศอเมริกัน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่๒ ปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเสียขวัญ ในระหว่างการสู้รบคือ ระดับของความอันตราย ยิ่งมีการสูญเสียเครื่องบินมากเท่าไรอาการเสียขวัญของลูกเรือก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ความวิตกกังวลจะสูงขึ้นมากเมื่อมีการสูญเสียมากซึ่งเพิ่มโอกาสที่จะได้เห็นภาพที่น่ากลัวมากขึ้น ตำแหน่งของนักบินในฝูงบินมีผลต่อโอกาสที่จะได้เห็นภาพที่น่ากลัวมากน้อยเพียงใด การเห็นร่มชูชีพของเพื่อนกาง หรือไม่ หรือโดนไฟไหม้ หรือโดนเครื่องบินอีกลำชนเข้าก็มีผลการทิ้งระเบิดได้ตรงเป้า และสามารถทำลายเรือของข้าศึกพร้อมทั้งคนบนเรือให้เห็นต่อหน้าต่อตา หรือ การได้เห็นหน้าคนบาดเจ็บ หรือเห็นหน้าคนที่กำลังโดดร่มลงไปก็มีความสำคัญการเห็นสภาพร่างกายของคนที่กำลังตกอยู่ในอันตราย และการรู้จัก หรือชอบพอกับผู้นั้นก็มีส่วนในการทำนายว่าคนที่รอดมาจะเกิดภาวะขวัญเสีย หรือไม่
ภาวะอันตรายอย่างยิ่งยวดสามารถทำให้คนที่ใจกล้าที่สุดกลัวได้ และจะเกิดความแปลกใจว่า ทำไมตนจึงกลัวได้ถึงเพียงนี้ นักเรียนนายเรืออากาศชาวอเมริกันอายุ๑๙ปีผู้หนึ่งบอกว่าเขาเกิดอาการประสาทกลัวการบิน ในสงครามโลกครั้งที่๒"ตาของผมเป็นสีขาวไปแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่ามาได้ยังไง ผมไม่เคยตาขาวมาก่อนเลย" เวลานักบินเกิดความกังวลจะมีอาการเมาเครื่องบินวิงเวียน และระวังเกินเหตุในการบินความประสาทกลัวมักเกิดขึ้นเมื่อมีอะไรมาสะกิดใจให้นึกถึงสถานการณ์อันตรายที่เขากำลังเผชิญอยู่อา จจะเป็นอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ กระแสลมวูบหนึ่ง การควบคุมขัดข้องชั่วขณะ ความกลัวมักเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเริ่มการฝึกขั้นสูง-การขึ้นบินกลางคืนครั้งแรกการบินตามอุปกรณ์นำทาง หรือบินเกาะกลุ่มครั้งแรก การบินกับเครื่องที่ซับซ้อนขึ้น หรือกับเครื่องบินชนิดใหม่ หลังจากหยุดพัก๓-๖ สัปดาห์ คนส่วนใหญ่จะพร้อมที่จะปฏิบัติการในงาน ที่ไม่ใช่การสู้รบได้ แต่หลายๆ ราย ก็ยังมีการฝันร้ายอยู่เรื่อยๆ มีไม่กี่คน ที่สามารถกลับไปขึ้นบินรบได้อีกมีอยู่รายหนึ่ง เกิดอาการขณะปฏิบัติภาระกิจเครื่องบินของเขา เสียหายอย่างหนักถึงสองครั้งลูกเรือบนเครื่องสองคนเสียชีวิต ขณะพักที่บ้านเขาใช้เวลาส่วนใหญ่นอนคว่ำหน้าบน สนามหญ้าซึมเศร้ามากไม่พูดไม่คุยกับใครหมกมุ่นกับ ความรู้สึกผิด และไม่แน่ใจว่ายังอยู่ หรือตายแล้ว ช่วงแรกๆ เขาไม่กินไม่นอนไม่สุงสิงกับใครไม่ยอมคุยเรื่องการบิน หรือแม้แต่ได้ยินใครคุยเรื่องนี้ก็ไม่ได้ และไวต่อเสียงทุกชนิดอย่างมากเขาเกิดอาการประสาทกลัวฐานทัพอากาศของเขา มากอาการของเขาค่อยๆ ดีขึ้นช้าๆ ในช่วงแรกแล้วดีขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา หลังจาก๖สัปดาห์ผ่านไป เขากลับไปทำงานประจำภาคพื้นดินได้
ความเครียดที่รุนแรง และเกิดติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
ความเครียดที่รุนแรงยิ่งเกิดอยู่นานเท่าไร ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจะยิ่งเป็นมาก และนานขึ้นเท่านั้น ภาวะดังกล่าว จะพบบ่อยในสถานการณ์ ที่คนปฏิบัติต่อคนไม่เหมือนคนเช่นการทรมานนักโทษการเมือง หรือในค่ายกักกัน มีการศึกษาในผู้ที่รอดจากค่ายกักกันนาซี ๑๒-๒๕ ปี ให้หลังเกือบครึ่งยังมีความกังวลสูง อยู่ส่วนที่เหลือก็มีปํญหาอื่นๆ ความกังวลจะเกิดร่วมกับฝันร้าย และปัญหาในการนอนอื่นๆ ความทรงจำ ในอดีตที่น่ากลัวยังคงคอยหลอกหลอนอยู่ และไม่สามารถหยิบยกมาพูดคุยกับญาติ หรือเพื่อนสนิท ความทรงจำเหล่านี้ จะผุดขึ้นมา เมื่อพบเหตุการณ์ธรรมดาเช่นเห็นคนเหยียดแขนก็นึกถึงนักโทษถูกจับมัดมือขึ้นแขวนทรมาน เห็นถนนที่มีต้นไม้๒ข้าง ก็นึกถึงศพถูกแขวนคอห้อยโตงเตงเป็นแถวซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้บ่อยในค่ายกักกัน เห็นเด็กๆ เล่นกันก็นึกถึงเด็กอื่นๆ ที่ผอมแห้งถูกทรมาน และถูกฆ่า สองในสามของผู้รอดตายเกิดภาวะจิตใจไม่ปกติตั้งแต่ยังอยู่ในค่าย-ความวิตกกังวลอย่างรุนแรง และเรื้อรัง ความเครียด ความรู้สึกพลุ่งพล่านอยู่ภายใน ความสิ้นหวัง และซึมเศร้าอย่างรุนแรง
ความกังวลจะเกิดบ่อยเป็นพิเศษในผู้ที่อยู่ติดอยู่ในห้องที่ออกไม่ได้นานๆ หรือมีส่วนร่วมในองค์กรผิดกฏหมายที่ถูกเปิดโปง และผู้ร่วมขบวนการคนอื่นๆ ถูกประหารหมดสาเหตุของการถูกกักไว้ยิ่งรุนแรง
ความกังวลจะยิ่งสูง คนที่ติดอยู่ในห้องเล็กๆ ขณะมีการทิ้งระเบิด และตึกรอบๆ ถล่มลงเรื่อยๆ จะกลัวมากเป็นพิเศษ ความกังวลที่เกิดขึ้นในที่กักขัง หรือในค่ายกักกันจะพบร่วมกับความกังวลต่อเนื่องหลังจากเป็นอิสระ ยิ่งมีการทรมานทั้งทางจิตวิทยา และทางร่างกายรุนแรงมากเท่าไร ความผิดปกติที่ตามมาจะยิ่งมากเท่านั้น อาการวิตกกังวลจะยังคง รบกวนผู้นั้นอยู่แม้จะนานถึง ๒๕ปีหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว
สรุปตอนที่๑
เราจะสรุปพื้นฐานที่ได้กล่าวมาแล้ว ค่อยว่ากันต่อไป เราเข้าใจแล้วว่าความวิตกกังวล และความกลัวเป็นสิ่งปกติ และเกิดขึ้นกับทุกคน ความวิตกกังวลขนาดน้อยๆ จะช่วยให้เราตื่นตัว และทำงานให้เสร็จได้ ความเครียดจะสร้างปัญหาเมื่อมันรุนแรงมากเท่านั้น ความเครียดที่รุนแรงทำให้เกิดอุปสรรคได้หลายอย่าง และต้องการการรักษาอาจจะรักษาด้วยตัวเอง หรือโดยผู้เชี่ยวชาญ การที่บางคนมีความกลัว หรือกังวลมากๆ จนต้องการการรักษานั้นไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนบ้า เพียงแต่มีปัญหาบางอย่างเท่านั้น คนที่เป็นโรคประสาทกลัวจะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตนกลัว และความกลัวที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้สัดส่วนกับสิ่งที่กลัว ความไม่ได้สัดส่วนนี้เอง ที่ทำให้คนทั่วไปไม่เข้าใจ และไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย ผลก็คือผู้ป่วยหลายๆ คนอาย และปิดบังอาการของตน ทำให้ไม่สามารถ หาวิธีเอาชนะความกลัว ได้มนุษย์ก็เหมือนสัตว์อื่นๆ คือมีสัญชาติญาณ ที่จะกลัวอะไรบางอย่างได้ง่าย เป็นพิเศษแม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ไม่ดี กับสิ่งนั้นมาก่อนก็ตาม เด็กเล็กๆ ในบางช่วงอายุมักเกิดอาการกลัวเสียง การเคลื่อนไหว คนแปลกหน้า และสัตว์ พวกเราส่วนมาก ไม่ชอบให้ใครมาจ้อง หรือต้องไปอยู่ขอบหน้าผา หรือต้องถูกผ่าตัด หรือฉีดยา ไม่มีใครอยากพลัดพรากจากคนที่รัก และการตายของคนที่เรารักก็เป็นความเจ็บปวดที่เราต้องเผชิญหลายๆ คนเคยผ่านภัยพิบัติ เช่นไฟไหม้ทอร์นาโด หรือน้ำท่วม น่าดีใจที่จิตใจของคนเราสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้
ถึงจุดนี้เราได้กล่าวถึงความวิตกกังวลที่เกิดกับคนส่วนใหญ่ในตอนต่อไปเราจะกล่าวถึงความกังวลที่รุนแรงขึ้น และเกิดกับคนส่วนน้อย และมักต้องการการรักษา ผู้ที่เป็นโรคประสาทกลัวไม่มีอะไรต้องอาย การที่เรากลัวสิ่งสกปรก หรือความมืดไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องมีความคิดอะไรเกี่ยวกับของสกปรก หรือมีความลับเกี่ยวกับความมืดอยู่ในใจซึ่งจะต้องถูกเปิดโปงออกมาจึงจะหายได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะมาขุดคุ้ยอดีตเพื่อให้หายจากอาการวิตกกังวลการรักษาที่ได้ผลมักต้องให้ผู้ป่วยเผชิญกับสิ่งที่กลัวที่เคยหลีกเลี่ยง จนกว่าจะคุ้นเคยกับมันความวิตกกังวลจะค่อยๆ หาย แต่แน่นอนการรักษาวิธีนี้ต้องใช้ความคิดบ้าง เราจะใช้ตัวอย่างผู้ป่วยแทรกไปเป็นระยะๆ และจะสรุปด้วยหลักการของการรักษาด้วยตนเอง