อารมณ์ฟุ้งซ่าน

อารมณ์ฟุ้งซ่าน

1. ฟุ้งเพราะใจลอย ขาดสติ
2. ฟุ้งเพราะบังคับจิตมากเกินไป ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านทางจิต ทำให้จิตไม่ยอมสงบนิ่ง
3. ฟุ้งเพราะผู้ปฏิบัติหันมาดูจิตและเริ่มรู้จักจิตของตนเอง คือรู้ว่าจิตนั้นคิดอยู่เสมอ
4. ฟุ้งเพราะเกิดปิติ และมีความยินดี ติดอยู่ในอารมณ์ที่รู้ที่เห็น ไม่ยอมละอารมณ์นั้น เรียกว่ายึดติดอารมณ์

หากผู้ปฏิบัติไม่รู้เท่าทันความฟุ้งบางอย่าง ก็ถึงกับ ทำให้ผู้ปฏิบัติเลิกปฏิบัติ และอารมณ์ฟุ้งบางอย่าง ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติหลงผิดไปจนวันตาย ดังนั้นผู้ปฏิบัติที่รู้ว่า ตนเองฟุ้งซ่าน ก็ควรสังเกตว่า ตนเองนั้นฟุ้งเพราะเหตุใร ฟุ้งลักษณะใด

อารมณ์ฟุ้งเพราะใจลอย ขาดสติ มี 2 ลักษณะ คือ
1. ปรุงแต่งอารมณ์ภายใน เรียกว่า ธรรมารมณ์
2. ปรุงแต่อารมณ์ภายนอก เรียกว่า จิตวิ่งไปรับอารมณ์ที่มากระทบ

ผู้ปฏิบัติจะมีลักษณะชอบคิดถึงคนนั้นคนนี้ อยากเที่ยวที่นั่นที่นี่ อยากรู้อยากเห็น สร้างวิมานในอากาศ บางครั้งคิดถึงสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมา อารมณ์ฟุ้งซ่านเหล่านี้เป็นเพราะผู้ปฏิบัติขาดสติ ถ้าหากผู้ปฏิบัติคิดปรุ่งแต่งเรื่องธรรม ก็ไม่เป็นไร ดีกว่าง่วงนอนเพราะทำให้เกิดปัญญา แต่ถ้ามากเกินไปก็จะทำให้เสียผลในการปฏิบัติ เพราะถึงแม้ฟุ้งในธรรมจะทำให้เกิดปัญญาก็ตาม แต่ก็เป็นปัญญาภายนอก ไม่ใช่ปัญญาดับทุกข์ ส่วนฟุ้งเรื่องที่ไม่ใช่ธรรม หรือสร้างวิมานในอากาศ หรือคิดสร้างนั่นสร้างนี่ ผู้ปฏิบัติมักจะไม่รู้ตัวว่าตนกำลังฟุ้งซ่าน เพราะขาดสติอย่างมาก บางรายถึงกับเพลินกับอารมณ์ที่เห็นที่ได้ยิน ทำให้เสียเวลาปฏิบัติมาก ดังนั้นถ้าผู้ปฏิบัติเมื่อรู้ว่า กำลังคิดสิ่งต่าง ๆ อยู่ จัดว่ากำลังฟุ้งเพราะขาดสติอยู่

วิธีแก้ไข
ผู้ปฏิบัติจะต้องหยุดความคิดไว้ด้วยการเรียกสติเข้าหาตัวก่อน คือ ให้หายใจเข้าทรวงอกให้เต็มแล้วพักไว้สักครู่หนึ่ง จนรู้สึก ว่าอกอิ่ม และมีความอบอุ่นที่อกแล้ว ให้หายใจออก จะทำให้เกิดความรู้สึกตัวและมีสติดีขึ้น ให้ผู้ปฏิบัติหายใจเข้าออกสัก 2-3 ครั้ง หรือมากกว่านั้นจนรู้สึกว่าที่อกนั้นโล่งปลอดโปร่งแล้ว ให้ทำความรู้สึกไว้ที่ 3 จุด คือ ที่หน้าผาก ที่ทรวงอก ที่สะโพก จิตก็จะนิ่งแต่ถ้าหากผู้ปฏิบัติไม่สามารถตั้งจิตไว้ทั้ง 3 จุดนี้ได้ ให้เอามือจับที่ปลายจมูกแล้ว ทำความรู้สึกเอาจิตดูที่มือสัมผัสกับจมูกแล้ว หายใจเข้าออกยาว ๆ ดูลมให้ดูอยู่ที่เดียว คือที่ปลายจมูก เอามือจับจมูกดูลมหายใจเข้าออกสักครู่หนึ่ง จนรู้สึกว่าจิตเริ่มอยู่ที่ ปลายจมูกแล้วให้เอามือออก และดูลมหายใจเข้าออกต่อไป อารมณ์ฟุ้งซ่านก็จะหายไปเอง

ฟุ้งเพราะบังคับจิตมากเกินไป ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านทางจิต ทำให้จิตไม่ยอมสงบนิ่ง
ผู้ที่เป็นเช่นนี้จะมีลักษณะหงุดหงิดง่าย ไม่พอใจ และจิตคิดไม่ยอมหยุด ยิ่งบังคับยิ่งคิดมาก เพราะจิตนั้นไม่เคยถูกบังคับ เมื่อผู้ปฏิบัติมาบังคับจิต จึงทำให้เกิดการต่อต้านกันทำให้ผู้ปฏิบัติอารมณ์รุนแรง ตาขวาง เห็นอะไรรู้สึกอยากทำลาย และอึดอัดใจ อารมณ์ฟุ้งประเภทนี้มักเกิดกับผู้ที่ชอบบริกรรมและภาวนา

วิธีแก้ไข
ผู้ปฏิบัติจะต้องปล่อยใจให้สบายไว้ก่อน อย่าบังคับจิต หมั่นมองดูสีเขียวหรือท้องฟ้ามาก ๆ เพื่อให้จิตผ่องใสอยู่กับอากาศ หรือรื่นเริงอยู่กับ ต้นไม้ใบหญ้า ถ้าบริกรรมแล้วฟุ้งหรือเครียด จิตไม่สงบ ก็ควรเลิกบริกรรมเสีย อย่าบังคับจิต ถ้าหากยังฟุ้งมากอยู่ก็ปล่อยให้จิตนั้นฟุ้งไปให้พอ ไม่ต้องบังคับจิตให้หยุดคิด ผู้ปฏิบัติเพียงแต่ตามดูตามรู้ โดยการทำความรู้สึกตัวอยู่ข้างหน้า จิตจะคิดอะไรก็ปล่อยมัน เดี๋ยวมันเหนื่อยก็จะหยุดคิดเอง ข้อสำคัญให้ทำความรู้สึกตัวอยู่เสมอ การตั้งสติตามดูนั้นอุปมาเหมือนกับเชือกที่ผูกวัว จิตที่ฟุ้งก็เหมือนกับวัว เมื่อวัวคึกคะนองเราก็ต้องถือเชือกวิ่งตามจนกว่าวัวจะเหนื่อย เมื่อมันเหนื่อยเราก็จูงมันกลับบ้านได้ จิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อมันคิดจนเหนื่อย มันก็หยุดเอง หลังจากจากหายฟุ้งแล้ว ผู้ปฏิบัติควรจะเลิกการปฏิบัติด้วยการบริกรรมชั่วคราว หันมาใช้วิธีทำความรู้สึกตัวด้วยการประคองจิต ไว้ที่รูปกายหยาบ หรือที่กาย หมั่นตั้งจิตไว้ที่ผัสสะอยู่เสมอ หรือควรหัดทำความรู้สึกให้เต็มหน้าก่อน หลังจากนั้นเมื่อมีความรู้สึกเต็มหน้าแล้ว ก็หัดแผ่ใจให้เต็มกาย การแผ่ใจให้เต็มกายนี้จะช่วยให้จิตที่เหนื่อยเพราะคิดมากหรือฟุ้งมากเกิดพลังขึ้นมาแทน และเป็นสมาธิง่าย ๆ ไม่ฟุ้งง่าย เหมือนการบังคับจิต หรือการบริกรรม

ฟุ้งเพราะผู้ปฏิบัติหันมาดูจิตและเริ่มรู้จักจิตของตนเอง คือรู้ว่าจิตนั้นคิดอยู่เสมอ
แต่อำนาจสติยังน้อยอยู่ ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกว่า เป็นทุกข์มากเพราะจิตคิดไม่ยอมหยุด ผู้ปฏิบัติที่ตกอยู่ในอารมณ์ฟุ้ง ประเภทนี้มักจะชอบคิด แต่เรื่องในอดีตที่ผ่านมาแล้ว เพราะว่าเมื่อหันมาดูจิตก็จะเลิกสนใจเรื่องภายนอก ทำให้เห็นแต่อารมณ์ภายใน แล้วรู้ว่าจิตชอบคิด เมื่อไม่มีอารมณ์ใหม่เข้ามาจิตจึงปรุงแต่งนึกคิดแต่อารมณ์เก่าที่ผ่านมา บางคนเคยโกรธกับผู้อื่น มาถึง 10 ปี และลืมไปแล้ว เมื่อมาทำความเพียรดูจิต ก็จะกลับเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมาอีกได้ บางคราวรู้สึกเสียใจ บางคราวรู้สึกดีใจ บางคนระลึกถึง ความหลังได้มากถึง ขนาดระลึกชาติได้ก็มี ทำให้เข้าใจผิดว่าได้สำเร็จธรรม ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ แต่เกิดจากการหันมาดูจิตและรู้จักจิตของตนมากขึ้น คือทำให้ระลึกความหลังได้ อารมณ์ฟุ้งประเภทนี้บางท่านไม่รู้เท่าทัน อารมณ์คิดว่าธรรมเสื่อม สมาธิเสื่อม เลิกปฏิบัติก็มี ดังนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติเห็นจิตตนเองคิดมาก คิดแต่เรื่องอดีต และไม่ยอมหยุด ก็ควรรู้ว่าเป็นการเริ่มรู้จักจิตแล้วว่าจิตนั้นมีลักษณะชอบคิด อุปมาเหมือนกับน้ำที่นิ่ง ย่อมมองเห็นเงาในน้ำ

วิธีแก้ไข
ให้เลิกดูจิต หันมาดูกายแทน ถ้าจิตคิดมากให้อัดลมหายใจ เหมือนฟุ้งเพราะขาดสติ หันมาปฏิบัติด้วยการทำความรู้สึกไว้ให้เต็มหน้าอยู่เสมอ อารมณ์ฟุ้งแบบนี้เมื่อเลิกดูจิตหันมาดูกาย ไม่นานก็จะหายเอง

ฟุ้งเพราะเกิดปิติ และมีความยินดี ติดอยู่ในอารมณ์ที่รู้ที่เห็น ไม่ยอมละอารมณ์นั้น เรียกว่ายึดติดอารมณ์
ความฟุ้งประเภทนี้มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติอยากสอนคนทั่วไป อยากบอกคนนั้นคนนี้ให้มาปฏิบัติเหมือนกับตนเอง บางท่านพบกับความสงบ หรือพบกับอารมณ์บางอย่างที่ไม่เคยพบ และติดใจอยากให้เกิดอีก แต่ไม่สามารถทำได้อีกเพราะเกิดตัณหา คือความอยาก ทำให้นึกคิดไปต่าง ๆ นานา อารมณ์ฟุ้งประเภทนี้นับว่า เป็นอันตรายมาก เพราะจะทำให้เลิกปฏิบัติหรือไม่ก็เป็นมิจฉาทิฐิ คือคิดว่าตนสำเร็จ บางท่านปฏิบัติจนจิตเข้าสู่อุปจารสมาธิ จิตอยู่ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น และเข้าติดต่อกับแดนวิญญาณได้ คือบางครั้งได้ยินเสียงกระซิบที่หู บางครั้งเห็นรูปละเอียด ผู้ปฏิบัติที่ตกอยู่ในช่วงนี้นับว่ามีอันตรายมาก เพราะส่วนมากมักจะเข้าใจผิดกันเสมอ คิดว่า ตนสำเร็จแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ แต่แค่ตกอยู่ในอุปจารสมาธิ เป็นอารมณ์ที่ผู้ปฏิบัติต้องผ่านเท่านั้น

วิธีแก้ไข
เมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความว่าง ความสงบ หรือความสุขกายสุขใจก็ตาม ไม่ควรยินดีติดใจในอารมณ์เหล่านี้ เพราะเมื่อเกิดความยินดีขึ้นเมื่อใดจิตก็จะเคลื่อนออกจากสมาธิ ผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าใจว่า สภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรยินดีกับอารมณ์ที่ดี ยินร้ายกับอารมณ์ที่ไม่ดี การยินดีในอารมณ์ดีนั้นเมื่ออารมณ์ดี คือปิติดับหมด จะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความท้อแท้ ทุกข์เจียนตายเลยที่เดียว จึงไม่ควรยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้งปวงที่เกิดขึ้น
ส่วนการได้ยินเสียงมากระซิบที่หูนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องเลิกฟังเลิกสนใจ เพราะถ้าสนใจฟัง เมื่อนานเข้าก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ และกลายเป็น คนวิกลจริตไปในที่สุด ผู้ปฏิบัติจะต้องรีบละอารมณ์นี้ให้ได้ ถ้าหากเลิกสนใจแล้ว แต่ยังเห็นรูปละเอียดและได้ยินเสียงอยู่ ผู้ปฏิบัติจะต้องเลิกทำ สมาธิหันมากำหนดทุกข์ที่กาย เพื่อให้จิตเกาะอยู่กับทุกข์ เมื่อจิตเกาะอยู่กับทุกข์ จะละเสียงและรูปละเอียดที่ได้ยินได้เห็นเอง ดังนั้นการกำหนดทุกข์ด้วยการกำหนดที่ผัสสะ จึงมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างแดนต่อแดน เมื่อละเสียงกระซิบที่หูได้แล้ว ก็ควรเลิกกำหนดทุกข์ด้วย เพราะทุกข์มากจะทำให้เครียดอีกได้ ให้หันมาดูจิตต่อไป ซึ่งแล้วแต่ความแยบคายของผู้ปฏิบัติเองว่า จะใช้วิธีใดในเคล็ดลับดับทุกข์ที่กล่าวมา


http://www.geocities.com/samadhinet/thoughtful.htm