อารมณ์ขัน
อารมณ์ขันทำให้โลกสดชื่น น่ารื่นรมย์ บุคคลที่มีอารมณ์ขันจะมีเสน่ห์และสามารถ สร้างบรรยากาศให้ครึกครื้น สนุกสนาน เป็นกันเอง โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบัน สังคมส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะเคร่งเครียด เอาจริงเอาจังอย่างมาก การมีอารมณ์ขันจึงกลับมา มีบทบาทสำคัญ และจำเป็นมากยิ่งขึ้น เพื่อชดเชยกับปัญหาดังกล่าว
ในพจนานุกรมภาษาไทย ให้ความหมายของคำว่า อารมณ์ขัน ว่าหมายถึง ลักษณะนิสัยที่มักเห็นเรื่องต่างๆเป็นเรื่องชวนขัน ( น. ) : อาการที่เปล่งเสียงออกมาเมื่อรู้สึกขบขันหรือมีความรื่นเริง ( ก. ) โบราณใช้ว่า หัววเราะ หรือ หัววร่อ ปัจจุบันมักใช้ว่า หัวเราะ
สำหรับพจนานุกรมอังกฤษเป็นไทย ของ สอ เสถบุตร มีความหมายที่เกี่ยวกับ อารมณ์ขันอยู่หลายคำ อาทิ Fun ( n. ) Funny ( a ) สิ่งขบขัน เรื่องขบขัน ความขบขัน สนุกสนาน น่าขัน ขี้ตลก พิลึก พิกล และ Humor Humour n. vt นิสัยชอบความขบขัน ข้อขบขัน อารมณ์ขัน ทำให้อารมณ์ดี ตามใจ
ที่มาของอารมณ์ขันนั้น เมื่อครั้งมนุษย์ยังไม่มีภาษาเขียน มีแต่ภาษาพูด อารมณ์ขันของคนยุคนั้นอาจจะเกิดขึ้นแล้วก็ได้ แต่เมื่อยังไม่มีภาษาเขียนจึงไม่มีการบันทึกให้ลูกหลานได้ค้นคว้า ทว่าถึงไม่มีภาษาเขียนเป็นอักขระ แต่มนุษย์ก็มีภาพ ดังที่ได้เห็นจากภาพเขียนบนผนังถ้ำ ซึ่งเรียกว่า Cave Art ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีอยู่แทบทุกมุมโลก แต่นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา มักแปลความหมายในภาพเป็นงานวิชาการมากเกินไป ทั้งที่บางภาพอาจบันทึกเรื่องราวที่เป็นเรื่องขบขันก็ได้ ( จุก เบี้ยวสกุล , ๒๕๔๒ ; ๒ )
คนไทยมีอักษรไทยใช้มาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว เรื่องขบขันขวนหัวสมัยนั้นก็คงจะมีแล้ว เพราะคนไทยกับอารมณ์ขัน เป็นของคู่กัน ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคำว่า " ยิ้มสยาม" ที่รู้จักไปทั่วโลก และเรื่องขบขันสมัยนั้นก็คงจะเป็นเพียงการเล่าแบบปากต่อปาก อย่างที่เรียกกันว่า " มุขปาฐะ" จนกระทั้งสิ่งพิมพ์กำเนิดขึ้น อารมณ์ขันทั้งในแบบรูปเขียนและตัวอักษร จึงเริ่มแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและได้รับความนิยม
ดังนั้นในปัจจุบันหากจะพูดถึงรูปแบบหรือลักษณะที่พบของอารมณ์ขันจะมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก แต่อาจจะจำแนกได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ คือ
๑. ในรูปของรูปวาดหรือการ์ตูนตลก
๒. ในรูปของภาษาเขียน
๓. ในรูปผสมทั้งรูปวาด และภาษาเขียน
ทั้ง ๓ รูปแบบนี้จะถูกนำเสนอออกมาตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสารหรือหนังสือรูปเล่ม เป็นต้น สื่อที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ เช่น โทรทัศน์ จะนำเสนอในแบบรายการต่าง ๆ โชว์ตลก เป็นต้นซึ่งการนำเสนอความตลกนั้น จะออกมาใน รูปของท่าทาง การใช้น้ำเสียง ภาษาและ ลักษณะของตัวบุคคลได้ชัดเจน วิทยุ นำเสนอในรูปของเสียง เรื่องเล่าต่างๆให้ได้ฟัง เป็นต้น นอกจากสื่อดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันสื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ อารมณ์ขันก็ได้ถูกนำมาใส่ไว้ในรูปแบบของขำขัน ( Jokes ) ทั้งที่เป็นเรื่องให้อ่าน และรูปการ์ตูนให้ชม มีให้เลือกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นการสนองความต้องการ แก่ผู้บริโภค โดยไม่มีข้อจำกัด เรื่องเวลาและสถานที่
โดยทั่วไป ผู้ที่อ่านเรื่องขำขันต่างก็มีจุดมุ่งหมายในการอ่านเพื่อความสนุกสนานจรรโลงใจเพียงอย่างเดียว ไม่ได้คิดถึงที่มา วิธีการผูกแต่ง หรือมุมมองแง่คิด ที่ผู้แต่งต้องการจะสื่อถึง จริงอยู่เรื่องขำขันอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องไร้สาระหรือหาสาระไม่ได้ แต่แท้ที่จริงแล้วการเขียนเรื่อง ขำขันนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะการจะสื่อให้ผู้อ่านรู้สึกมีอารมณ์ขันได้ตรงกับ ที่ผู้แต่งต้องการนั้น ต้องอาศัยวิธีการผูกแต่งเรื่องและการเรียบเรียงภาษา หากเรื่องไม่น่าสนใจ หรือเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาซ้ำๆที่เคยทราบมาแล้ว แม้จะใช้ภาษาในการเขียนได้ดีเพียงใด ผู้อ่านคงไม่เกิดอารมณ์ขัน ในทางกลับกัน แม้จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ไม่มีความสามารถในเรื่องการใช้ภาษาแล้ว เรื่องขำขันเรื่องนั้น ก็จะเกิดอารมณ์ขันได้เช่นกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ขัน
การจะอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ขันของมนุษย์เรานั้น คงจะต้องอ้างอิงหลักทางจิตวิทยามาช่วยในการวิเคราะห์ ซึ่งก็มีนักจิตวิทยาหลายท่าน ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ สำหรับท่านแรก Sigmund Freud เห็นว่า อารมณ์ขันเกิดจากความดูหมิ่น ความบกพร่องของผู้อื่น แต่ตัวผู้เสียหาย เช่น ได้รับความ อยุติธรรม ความทุกข์และอื่นๆ อาจได้รับความพอใจจากอารมณ์ขัน ในขณะที่บุคคลซึ้งไม่เกี่ยวข้อง หัวเราะด้วยความพอใจจากสิ่งตลก
Freud อธิบายว่า ความพอใจอย่างแรกเกิดจากการปลดปล่อยจากสภาพจิตใจซึ่งไม่ได้เกิดขึ้น คือ เกิดจากการประหยัด ในการใช้ พลังงานต่ออารมณ์ ( สุธา ศาสตร์ , ๒๕๒๖ : ๙ ) คานท์ ( ๑๙๘๒ )
คนหัวเราะเพราะถูกปลดปล่อยออกจากความเครียดของอารมณ์ที่เป็นอยู่ขณะคาดคอยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หมายถึง ในขณะที่คนนั้น มีเรื่องเครียดให้คิดอยู่ ขณะเดียวกันก็เจอกับเหตุการณ์ที่ชวนให้หัวเราะ ก็เผลอหัวเราะออกมาชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งความรู้สึกนี้คานท์เรียกว่า ประสบการเชิงสำรวล
กิลแมน ( ๑๙๒๖ ) กล่าวว่า อะไรจะชวนหัวให้หัวเราะจะต้องมีธาตุของการประหลาดใจ ยิ่งประหลาดใจมาก ก็ยิ่งชวนให้ขันมาก เพลโต ก็ได้เคยพูดถึงว่า สิ่งใดจะชวนให้ขันได้ต้องไม่เกี่ยวกับความเจ็บป่วย หรือการได้ทุกข์ของใคร ทำให้เราคิดต่อได้อีกว่า การที่จะให้สิ่งใดเข้าเร้าเราให้เกิดอารมณ์ขันได้นั้น เราต้องรับไว้อย่างวัตถุวิสัย ( objectives ) คือ ทำจิตใจให้คล้อยตามเรื่องราวนั้นไป โดยไม่ต้องเอาตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อริสโตเติล กล่าวไว้ว่า อารมณ์ขันหรือการหัวเราะนั้น สามารถพบได้ในสิ่งที่เสียหาย ผิดรูปร่างหรือความอัปลักษณ์ ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือเป็นการทำลายล้างแต่ประการใด
เบิร์กสัน ( ๑๙๑๑ ) มองว่าสาเหตุของอารมณ์ขันที่เป็น " บางสิ่งบางอย่างที่ห้อมล้อมการดำรงชีวิตมนุษย์" บุคคลเป็นที่น่าหัวเราะ ก็ต่อเมื่อ เขาประพฤติปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างที่แข็งทื่อหรือ เชย ทฤษฎีของวิลแมนน์ ( ๑๙๔๐ ) อธิบายว่า อารมณ์ขันประกอบไปด้วยความประหลาดใจ เรื่องอาการตื่นที่ควบคู่ไปกับความรู้สึกอยากจะล้อเล่นด้วย จากการศึกษาของนักจิตวิทยาทั้ง ๗ ท่าน ที่ได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ขันนั้น พอจะสรุปออกมาได้ ๕ ประการใหญ่ ได้แก่
๑. อารมณ์ขันเกิดจากการกระทำที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากลักษณะปกติของสังคม อารมณ์ขันรูปแบบนี้ จะไม่มีลักษณะตายตัวที่จะนำมายึดเป็นหลัก ในการแต่ง ซึ่งความขบขันจะขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมนั้นๆ มุขตลกบางเรื่องอาจเกิดอารมณ์ขันได้ในบางกลุ่มคน แต่สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งนั้น อาจไม่เกิดอารมณ์ขันก็ได้
๒. อารมณ์ขันจะไม่เกิดขึ้น หากผู้อ่านหรือผู้รับอารมณ์ขันนั้นมีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความขบขัน
๓. อารมณ์ขันจะไม่เกิดขึ้น เมื่อผู้อ่านคิดว่าเรื่องขำขันเหล่านั้นเป็นความจริง หรือถือเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมา
๔. อารมณ์ขันเกิดขึ้นได้ เมื่อเราอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าผู้ที่ทำให้เราขบขัน ในสังคมที่ถือว่าวัตถุเป็นใหญ่ เช่น คนรวยมักจะหัวเราะเยาะคนจน เป็นต้น หรือการที่เห็นฝ่ายหนึ่งสามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ ไม่ว่าจะด้วยกลวิธีใดๆก็ตาม ๕. อารมณ์ขันเกิดขึ้นต่อเมื่อ ผู้อ่านมีประสบการณ์ร่วมกับผู้แต่ง ในที่นี้คำว่า ประสบการร่วม หมายถึง ผู้อ่านต้องมีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจในเหตุการณ์ สถานการณ์ และความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน รวมทั้งตัวบุคคลที่กล่าวอ้างถึงในเรื่องขำขัน อยู่ก่อนแล้ว เมื่อได้อ่านเรื่องขำขันเรื่องนั้นๆ ก็จะสามารถเข้าใจและเกิดอารมณ์ขันร่วมกับผู้แต่งได้
ที่มา : อารมณ์ขันยุคไฮเท็ค, เกษศิรินทร์ ศรีวราพิพัฒน์กุล, www.human.cmu.ac.th/home/thai/sompong/res.../res_ketsirin2.doc
ไม่ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ขันจะมาจากอะไรก็ตาม เรื่องขำขันมักใช้ภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดเรื่องราว Wilson ( ๑๙๗๙ ) เสนอความเห็นว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกขบขัน คือ เนื้อหาหรือความคิดที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่อง ดังนั้นหากจะจำแนกประเภทของความตลก จึงควรจำแนกตามเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อให้กับผู้อ่าน (นารีรัตน์ บุญช่วย, ๒๕๔๑ :๒๖๕)
สำหรับการจำแนกเนื้อหาของเรื่องขำขันในหนังสือนิทานพื้นบ้าน ได้พูดถึง นิทานตลกขบขัน
( Jest ) ว่า มักเป็นเรื่องสั้นๆ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่ความไม่น่าจะเป็นไปได้ต่างๆ อาจมีเนื้อหาเกี่ยวกับ การแสดงปฏิภาณไหวพริบ การพนันขันต่อ การเดินทางและการผจญภัยก่อให้เกิดเรื่องผิดปรกติในแง่ขบขันต่างๆ
กุหลาบ มัลลิกะมาส ( ๒๕๑๘ , ๑๐๑–๑๐๕ ) ได้กล่าวถึงลักษณะนิทานตลกขบขันว่า มีเนื้อหาแยกย่อยได้ ๓ ประเภท ได้แก่
๑. ลักษณะเกี่ยวกับความโง่
๒. ลักษณะสามีภรรยา และ
๓ . ลักษณะของการโกหก
Stith Thomson ก็ได้ประมวลแนวความคิดต่างๆที่ปรากฎในมุขตลกของนิทานพื้นบ้าน ว่ามีทั้งหมดประมาณ ๑๖ ประการ คือ
๑. ความฉลาด
๒. ความโง่เขลา
๓. การเอาชนะด้วยกลลวง
๔. ขโมยและการหลอกต้ม
๕. การปลอมแปลงหรือการเอาคืนกัน
๖. การกล่าวหาที่ผิด
๗. ภรรยาที่เลว
๘. ความเกียจคร้าน
๙. การหนีโดยใช้กลลวง
๑๐. กลลวงที่ทารุณ
๑๑. คนหูหนวก
๑๒. นักบวชที่ประพฤติผิดศีลธรรม
๑๓. การต่อรองแบบกลลวง
๑๔. การล่อลวงและผิดประเวณี
๑๕. กลวิธีการแข่งขัน
๑๖. การโม้หรือเรื่องเหลือเชื่อ
จะเห็นได้ว่าจากการศึกษาของแต่ละท่าน ก็จะมีลักษณะของเนื้อหาความตลกขบขันคล้ายคลึงกัน ดังนั้นหากจะจำแนกประเภท ของเนื้อหา เรื่องขำขันแล้ว จะพบอีกทฤษฎีหนึ่งที่สามารถจำแนกประเภทเนื้อหาได้ครอบคลุมโดยรวม ซึ่งได้แก่ ทฤษฎีของความไม่เข้ากันของเนื้อหา ( Content ) ที่นิตยา บุญช่วยได้เสนอไว้ในหนังสือ ศาสตร์แห่งภาษา โดยสามารถจำแนกเรื่องขำขัน ตามเนื้อหาได้ทั้งหมด ๔ ประเภท ได้แก่
๑. ตลกบริสุทธิ์
๒. ตลกล้อเลียน
๓. ตลกร้าย
๔. ตลกต้องห้าม
นอกจากจะจำแนกได้ดัง ๔ ประเภทข้างต้นแล้ว ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยยังได้พบความตลกอีกประเภทหนึ่งก็คือ ตลกแนวความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าเนื้อหาบางส่วนของตลกประเภทนี้จะคาบเกี่ยวกับเนื้อหาความตลกทั้ง ๔ ประเภทที่กล่าวมา แต่การจัดประเภทตลกแนวนี้ ได้พิจารณาจากความคิดของผู้แต่งที่ได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาใหม่เป็นเกณฑ์ จึงสามารถจัดรวมเป็นตลกประเภทที่ ๕ ได้
ที่มา : อารมณ์ขันยุคไฮเท็ค, เกษศิรินทร์ ศรีวราพิพัฒน์กุล, www.human.cmu.ac.th/home/thai/sompong/res.../res_ketsirin2.doc
สร้างอารมณ์ขัน บำบัดโรค
บางครั้งการหัวเราะอาจจะทำให้ความดันเลือดอยู่ในอัตราที่สูงเกินไป จนอาจจะเป็นอันตรายอันเนื่องมาจาก การเพิ่มขึ้นองอัตรา การเต้นของหัวใจ… แม้ว่าในความเป็นจริงความดันเลือดจะลดลงสู่ระดับปกติได้เองเมื่อคุณหยุด หัวเราะ!!
สร้างอารมณ์ขัน..บำบัดโรค
ทางเลือกใหม่ที่คุณทำได้จริง
อารมณ์ขัน (Humor) คืออารมณ์สนุกสนาน ตลกขบขัน หรือในทางสรีรวิทยา หมายถึง ของเหลวในร่างกายเช่น เลือด น้ำเหลือง การรักษาด้วยอารมณ์ขัน คือการทำให้ร่างกายรักษาตัวเองด้วยการควบคุมระบบการหมุนเวียนของเหลวในร่าง กาย
Steve Sultanoff the president of American Association for Therapeutic Humor (AATH) ในแคลิฟอร์เนีย กล่าวไว้ว่า "อารมณ์ขันจะ ช่วยเปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ ในร่างกาย" ซึ่งไม่ใช่แนวความคิดใหม่เนื่องจากในคัมภีร์ไบเบิ้ลได้กล่าวไว้ว่า "A merry heart doeth good like a medicine" หรือ "หัวใจที่เบิกบานจัดเป็นยารักษาโรคที่ดี"……
Pat Adams ภาพยนต์ที่แสดงโดย Robin Williams ดาราชื่อดังของ Hallywood กล่าวถึงเรื่องจริงของนักจิตวิทยาคนหนึ่ง ที่ใช้ความพยายามมากกว่า 30 ปี เพื่อทำให้คนไข้ของเขาหัวเราะ ไม่ว่าความเจ็บป่วยของอาการจะรุนแรงเพียงใด ความคิดและจิตวิญญาณ นับเป็นองค์ประกอบหลักที่จะทำให้คุณมีความสุข
ภูมิคุ้มกันและอารมณ์ขัน
มีเหตุการณ์มากมายที่แสดงให้เห็นว่ามีความคิดอารมณ์ และความเชื่อมของคนเรามีผลต่อสุขภาพและกลไกของการรักษาสุขภาพ ในปี ค.ศ.1980 ได้มีบทความที่เผยแพร่ลงใน England Journal of medicine โดย Dr.Franz Infinger กล่าวว่าประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยถูกรักษาให้หายได้ด้วยระบบภายในร่างกายของแต่ละคน ซึ่งเป็นผลมาจากการมองโลกในแง่ดี หรือการที่คนเรามี ความรัก ความหวัง ความสนุกสนาน หรือการได้รับความเอาใจใส่
อารมณ์คือปัจจัยสำคัญสำหรับ ความคิดและมีอิทธิพลต่อสุขภาพ
อารมณ์มีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยน แปลงสารเคมีในร่างกาย… ซึ่งจะมีโมเลกุลของโปรตีนชนิดหนึ่งเรียกว่า neuropeptides พบอยู่ทั่วไปในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสมองหรือระบบภูมิคุ้มกัน ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายคนเรา และสารชนิดนี้ทำงานได้ดีเมื่อคนเรา มีสุขภาพดี ส่งผลให้การทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อารมณ์ขันมีประโยชน์อย่างไร
ความเป็นจริงก็คือว่าคุณมีความรู้สึกดีเมื่อคุณได้หัวเราะ แต่ความเป็นจริงที่มากกว่านั้นก็คือ การหัวเราะจะช่วยทำให้ร่างกาย ความคิด รวมทั้งจิตวิญญาณของคุณดีขึ้นด้วย
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
มีผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ากล้ามเนื้อของคนเราจะสามารถผ่อนคลายได้อย่างรวดเร็วภายหลังจากการที่ได้ดูการ์ตูน หรือสิ่งสวยงาม
ลดความเครียด
เมื่อคุณเกิดความเครียดร่างกายจะหลังฮอร์โมนในกลุ่มที่มีชื่อว่า neuroendocrin ได้แก่epinephrine, cortisol,dopac ซึ่งจะทำให้ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในร่างกายด้อยประสิทธิภาพลง โดยมีการพิสูจน์แล้วว่าการหัวเราะจะช่วยลดการหลั่งของฮอร์โมน ในกลุ่มนี้ได้
เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
มีผลงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นว่าอารมมณ์ขันจะช่วยเสริมสร้างระบบทาง เดินหายใจ เช่น หวัดในน้ำลายของคนเรามี Iga ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่สคัญ ชนิดหนึ่งในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดิน หายใจ
จากการทดลองพบว่าการดูภาพยนต์ในแนวตลกหรือการ์ตูน เป็นเวลาประมาณ 30-60 นาที จะช่วยเพิ่มปริมาณ Iga ทั้งในเลือด และน้ำลายไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
นอกจากนั้นแล้ว "อารมณ์ขัน" หรือ "การหัวเราะ" ยังช่วยเพิ่มปริมาณภูมิคุ้มกันที่มีชื่อว่า immunoglobulin ชนิด M และ G ซึ่งช่วยป้องกันร่างกาย จากการติดเชื้ออื่น ๆ ได้อีกด้วย B เซลล์ ที่ถูกสร้างจากไขกระดูก จะเป็นปัจจัยสำคัญใน การสร้างความ ภูมิคุ้มกันชนิดต่าง ๆ ขึ้นในร่างกาย หากมีการนับจำนวน B เซลล์ก่อนและหลังการที่ได้ดูภาพยนต์ในแนวตลก ขบขัน ก็จะพบว่า จำนวนของ B เซลล์นั้นมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณ T เซลล์ ซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยในการทำงาน ของภูมิคุ้มกันเหล่านี้อีกด้วย
อารมณ์ขันยัง แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของ gamma interferon ซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่งในร่างกายที่เป็นปัจจัยสำคัญ ในการสนับสนุน การทำงานของ B เซลล์ T เซลล์ และภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ ซึ่งจากการทดลองที่ผ่านมาทำให้ค่อนข้างจะสิ่งที่ยืนยันว่า อารมณ์ขั้นนั้น จะช่วยรักษาร่างกายให้มีสุขภาพที่ดีได้ทั้งภายในและภายนอก
ยังคงมีผลงานวิจัยบ้างชิ้นที่ได้ทำการทดสอบการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิ คุ้ม กันในระหว่างที่คุณกำลังหัวเราะ ซึ่งพบว่า อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้เกิด ความแปรปรวนในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเรา
แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายนั้นถูกพิสูจน์ว่าจะมีผลประมาณ 12 ชั่วโมง หลังจากการชมภาพยนต์ตลก ในระยะเวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น ยังไม่มีผู้ใดที่ทำการทดสอบในระยะเวลาที่ยาวนานกว่านี้
แต่ได้มีการทดสอบเพื่อทำการเปรียบเทียบ ระหว่างผู้ที่มักจะมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ และใช้สิ่งอารมณ์ขันผ่อนคลายความเครียด ให้ตัวเอง กับผู้ที่ไม่ค่อยมีอารมณ์ ขันในชีวิตประจำวันประจำวัน พบว่า " ในกลุ่มที่มักจะมีอารมณ์ขันอย่างสม่ำเสมอนั้น แม้ว่าจะมีความเครียด เพียงเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน ก็จะไม่ทำให้ระบบ ภูมิคุ้มกันในร่างกายนั้นอ่อนแอลง
แต่กับผู้ที่มีความเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา มักจะมีอาการเจ็บป่วยได้ง่ายเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นในร่างกายเพียงเล็ก น้อยในชีวิตประจำวัน ก็จะไม่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายนั้นอ่อนแอลง
แต่กับผู้ที่มีความเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลามักจะมีอาการเจ็บป่วยได้ง่ายเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
หัวใจที่เบิกบานจัดเป็นยารักษาโรคที่ดี
อารมณ์ขันกับการบรรเทาอาการปวด
มีผู้ป่วยมากมายที่ค้นพบได้ด้วยตัวเองว่าอารมณ์ขัน จะช่วยทำให้เขาฟื้นฟูร่างกายจากอาการปวดเจ็บเรื้อรัง พบว่าการที่เขาได้มี อารมณ์ขันมาก ขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดเรื้อรังจากโรคลงได้ ผู้ป่วยบางรายกล่าวว่า… บางครั้งการได้หัวเราะทำให้เขารู้สึกบรรเทาอาการปวดได้ดีกว่าการทานยา ปฏิชีวนะ..!! รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บเนื่องจากโรคอื่น ๆ เช่นบาดแผลจากอาการบาดเจ็บที่สมอง อาการไขข้ออักเสื่อม อาการเจ็บที่กระดูกสันหลังเป็นต้น
ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าการหัวเราะช่วยบรรเทาอาการปวดในร่างกายได้ อย่างไร เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนในร่างกายจริงหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้อย่างแน่ชัด ก็คืออาการปวดเนื้อที่ลดลงนั้นส่วน หนึ่ง เกิดมาจากการที่กล้ามเนื้อในร่างกายได้ผ่อนคลาย ซึ่งผลจากการทดลองเหล่านี้ในปัจจุบันได้มีศูนย์เพื่อสุขภาพในหลายแห่งพยายาม ที่จะนำวิธีการเหล่านี้ ไปประยุกต์ใช้กับ คนไข้ให้มากขึ้น
การหัวเราะเป็นการออกกำลังกาย
เนื่องจากการหัวเราะจะช่วยเพิ่มอัตราเต้นของหัวใจ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและการหายใจ รวมไปถึงการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ในร่างกาย ซึ่งพิสูจน์ได้ดด้วยการลองจับหัวใจของคุณดูในขณะที่คุณหัวเราะว่าหัวใจของ คุณจะเต้นเร็วขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 15 – 20 วินาที ภายหลังจากที่คุณเริ่มหัวเราะและจะค่อย ๆ กลับสู่อัตราการเต้นปกติในเวลา 3 – 5 นาที เมื่อคุณหยุดหัวเราะ กล่าวได้ว่าการหัวเราะจัดเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่งซึ่งอาจเหมาะสำหรับผู้ ป่วย หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกกำลังด้วย การเคลื่อนไหวร่างกายได้ แต่อย่างไรก็ตามบางครั้งการหัวเราะอาจจะทำให้ความดันเลือดอยู่ในอัตราที่สูง เกินไปจนอาจจะเป็น อันตรายอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการเต้นของ หัวใจ แม้ว่าในความเป็นจริง ความดันเลือดจะลดลง สู่ระดับปกติได้เอง เมื่อคุณหยุด หัวเราะ แต่นักวิจัยก็ยังพยายามที่จะทดสอบถึงความเป็นไปได้ของอัตราความเสี่ยงที่อาจ จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน
รักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
การหัวเราะจะช่วยรักษาสมดุลระหว่างการหายใจเข้าและออก ปัญหาของการหายใจก็คือว่า เมื่อจังหวะการหายใจ ของคุณไม่สมดุล กันในกรณีที่คุณ หายใจเข้าในเวลาที่นานกว่าการหายใจออกนั้นจะทำให้มีปริมาณออกซิเจนมากเกินพอ และตกค้างอยู่ในปอด เมื่อระยะเวลาผ่านไปออกซิเจนเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์แล ไอน้ำซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดการเจริญ เติบโตของแบคที่เรียในร่าง กายเกิดอาการติดเชื้อที่ปอดได้ง่ายซึ่งการหัวเราะจะช่วยในการกำจัดคาร์บอน ไดออกไซด์ และไอน้ำส่วนเกินเหล่านี้ได้
ผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จะถูกแนะนำให้รู้จักการควบคุม เพื่อให้อัตราการหายใจเข้าและออกสมดุลกัน แต่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก
การหัวเราะจึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำได้ง่ายกว่าหรือผู้ป่วยบางคนจะมี อาการของเสลดที่ติดคอ การหัวเราะจะเป็นวิธีการขับเสลดได้ง่ายกว่าการที่จะพยายามไอเพื่อขับเสลดออก จากคอ
กระตุ้นการทำงานของระบบความคิด
การหัวเราะจะช่วยเพิ่มปริมาณฮอร์โมนอดินาลีน (adrenaline) และสารเคมีอื่น ๆ ที่จะช่วยให้เกิดอาการตื่นตัวและมีความจำที่ดีขึ้น
คนที่มีอารมณ์ขันจะมีอาการป่วยไข้น้อยลงจริงหรือไม่
เราได้กล่าวมาแล้วการหัวเราะจะช่วยเพิ่มปริมาณ IgA ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในน้ำลายและช่วยป้องกันไข้หวัดได้ ดังนั้นการหัวเราะ บ่อย ๆ จะช่วยให้อาการติดเชื้อหวัดลดลง แต่ในกรณีนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงว่าการเพิ่มของ lgA นั้นมีข้อแม้หรือปัจจัยอื่น ๆ อีกหรือไม่ นอกจากนั้นแล้วยังพบอีกว่า ในสตรีที่ตั้งครรภ์ผู้ที่อารมณ์ขันหรือ หัวเราะอยู่อย่างสม่ำเสมอจะมีอาการ ติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ น้อยลง และสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลไปถึงทารกในครรภ์ทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิด เชื้อในระบบทางเดินหายใจลดลงเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันที่อยู่ในนมแม่ให้มากขึ้นจากปกติอีกด้วย โดยพบว่าทารกที่ดื่มน้ำจาก แม่กลุ่มนี้จะมีอาการบาดเจ็บป่วย ในช่วง 6 เดือนแรกภายหลังคลอดน้อยลง
ในคนทั่วไปที่มักไม่ค่อยมีอารมณ์ขัน จะพบการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับหัวใจและลำ ไส้อยู่บ่อยครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับ ผู้ที่มีอารมณ์ขัน อยู่เป็นประจำ ..
ที่มา :"สร้างอารมณ์ขันบำบัดโรค ทางเลือกใหม่ที่คุณทำได้จริง"
วารสารแพทย์ทางเลือก ม.ค.2547,48-51
สร้าง "อารมณ์ขัน" เพิ่มสุขในชีวิต
อารมณ์ขัน (Humor) หรือ อารมณ์สนุกสนาน ตลกขบขัน ถูกค้นพบว่า เป็นอารมณ์หนึ่งที่สำคัญ และก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพร่างกาย อาทิ คนที่มีอารมณ์ขันเป็น ประจำ จะสามารถเพิ่มภูมิต้านทานโรค ให้กับ ร่างกายได้เป็นอย่างดี มีสุขภาพจิตที่ดี ลดภาวการณ์เกิดโรคซึมเศร้าและโรคเครียดในชีวิต ไม่เพียงเท่านี้ คนที่มีอารมณ์ขันเป็นนิสัย มักจะเป็นที่รักของคนรอบข้าง เป็นคนที่มีเสน่ห์ ใครเห็นใครรักอยากเข้าใกล้เพราะรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ
ไม่เพียงเท่านี้ อารมณ์ขัน ยังเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ทำงาน นักบริหาร ในทุกระดับด้วยเช่นกัน จากงานวิจัย ทั้งด้านการแพทย์ ด้านจิตวิทยาการบริหารมากมายต่างพบว่า อารมณ์ขันของผู้บริหาร เป็นสิ่งที่แปรผันตรงกับ ประสิทธิภาพ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารที่มีผลการทำงานที่ดีจะใช้อารมณ์ขันบ่อยกว่า ผู้บริหารในระดับทั่ว ๆ ไปถึงกว่า 2 เท่า ( Laughing All the Way to the Bank, Havard Business Review , Sep.2003) นอกจากนี้อารมณ์ขันยัง ก่อให้เกิดประโยชน์อีกมากมาย สำหรับการทำงาน อาทิ สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ลดความตึงเครียด ลดความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยกัน การถือตนเป็นศัตรู ระหว่างกันในการทำงาน คริส โรเบิร์ต นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี โคลัมเบีย พบว่าการพูดคุยเรื่องตลก ที่เกี่ยวกับการทำงานนั้น จะให้ผลเชิงบวกในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถเชิงสร้างสรรค์รวมทั้งเป็น ปัจจัยสำคัญในการสร้างความ กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในที่ทำงาน เนื่องจากการสื่อสารอารมณ์ขัน และความสามารถ ที่จะชื่นชม อารมณ์ขัน การหัวเราะ และทำให้คนอื่นหัวเราะได้นั้น ล้วนแล้วแต่มีผลในทางกายภาพต่อร่างกาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้คนใน กลุ่มคณะมีความ ผูกพันกันมากขึ้นผ่านอารมณ์ขันที่มีร่วมกัน นอกจากนี้งานวิจัยหลายชิ้น ยังพบว่า ผู้ที่มีอารมณ์ขันอยู่เสมอ สามารถที่ จะทำงาน ต่าง ๆ ได้อย่างบรรลุผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ที่ไร้อารมณ์ขันอีกด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามคนจำนวนมากมักมองว่าการมีอารมณ์ขันนั้น เป็นเรื่องของพรสวรรค์ ใช่ว่าจะสร้างได้ทุกคน หรือหากสร้างได้ คงจะต้อง ฝึกฝนกันด้วยความยากลำบากเพราะขัดกับบุคลิกของตน ซึ่งเป็นคนเคร่งขรึม บ้างก็ว่าสร้างได้โดยการเก็บมุขขำต่าง ๆ จดจำมาใช้ นอกจากนี้หลายคนอาจมองถึงขนาดว่าการมีอารมณ์ขัน การพูดคุยเรื่องตลกนั้นเป็นเรื่องที่ไร้สาระ โดยมักมีทัศนคติว่า "ชีวิตเป็นเรื่องที่จริงจัง" การใช้ชีวิตต้องมีความจริงจัง ทุกสิ่งต้องเป็นสาระทั้งคำพูด การกระทำ จะทำมาเป็นล้อเล่นไม่ได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มองอย่างเอียงข้างขาดความสมดุล นอกจากนำมาซึ่งความตึงเครียดในการใช้ชีวิตแล้วยังอาจส่งผลให้คนรอบข้าง รู้สึกเครียดไปด้วยและไม่อยากเข้าใกล้คนประเภทดังกล่าว
แท้จริงแล้ว "อารมณ์ขัน" ไม่ได้เป็นพรสวรรค์ที่เป็นมาตั้งแต่เกิดเป็นบุคลิกเฉพาะตัวแต่อย่างใด อารมณ์ขันไม่ได้เกิดจากการสะสม หรือฝึกฝนการใช้มุกตลกด้วยเช่นกัน แต่อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากทัศนคติมุมมองเชิงบวกภายในที่มีต่อตนเอง เหตุการณ์ หรือบุคคลต่าง ๆ อารมณ์ขันไม่ใช่สิ่งไร้สาระในชีวิต ในทางกลับกันอารมณ์ขันเป็นสาระสำคัญของการใช้ชีวิต อย่างมีความสุข และทำให้คนรอบข้างมีความสุขต่างหาก
สร้างอารมณ์ขันในชีวิตได้อย่างไร
อารมณ์ขันที่ แท้จริงที่หล่อหลอมเป็นบุคลิกชีวิตของคน ๆ หนึ่งนั้นไม่ได้เกิดจากการฝึกฝนเล่าเรื่องตลกโปกฮาแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเปลือกอารมณ์ขันภายนอก แต่การสร้างอารมณ์ขันจาก ภายในนั้นเกิดจากการฝึกทัศนคติมุมมองความคิดเชิงบวก จนเป็นนิสัยจากภายในสู่การแสดงออกภายนอก โดยทัศนคติมุมมองความคิดที่ควรฝึกฝนอยู่เป็นประจำนั้นได้แก่ "ฝึกค้นหาสิ่งดีของสิ่งต่าง ๆ " อาทิ
สิ่งดีของตนเอง ค้นหาสิ่งดีที่มีอยู่ของตนเอง แม้ว่าสิ่งนั้นจะดูเหมือนตรงกันข้ามกับกระแสค่านิยมของสังคมบางด้านก็ตาม อาทิ กระแสสังคม ปัจจุบันนิยมคนที่มีรูปร่างผอมเพรียว แต่หากเราเป็นคนอ้วนตุ้ยนุ้ยแต่กำเนิด ลดอย่างไรก็ไม่ลง เราไม่ควรเครียด เสียใจ หรือหมดความมั่นใจ ดูถูกตนเอง แต่ควรค้นหาสิ่งดีที่มีอยู่นั้นให้พบ เช่น ถึงแม้จะอ้วนแต่เราก็แข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย ๆ หากเกิด ภาวะสงคราม หรืออากาศหนาวจัดขึ้นมา คนอ้วนย่อมมีพลังงานสะสมทำให้ร่างกายอบอุ่น และมีชีวิตรอดอยู่ได้นานกว่า คนผอมที่ไม่มี พลังงานสะสม หรือหากเกิดอุบัติเหตุหกล้มคนอ้วนย่อม มีเบาะหรือห่วง ยางประจำตัวรอบเอวและ สะโพก ทำให้เจ็บตัวน้อยกว่าคนผอม เป็นต้น
สิ่งดีของเพื่อนร่วมงาน ค้นหาสิ่งดีของเพื่อนร่วมงานให้พบ โดยสมมติฐานที่ว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีทั้งสิ่งดีและสิ่งเลว เพื่อนที่ดูเหมือน นิสัยไม่ดีของเราอาจมีสิ่งดีบางอย่างที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้ และเราต้องพยายามค้นหาให้พบ อาทิ เพื่อนที่ทำงานชอบเอาเปรียบเรา เรื่อยในการชอบมาสายหรือโยนงานมาให้เราทำ อย่างไรก็ตามเขาก็ยังมีส่วนดีคือชอบพาเราไปเลี้ยงข้าวหรือซื้อขนมมาตอบแทน เราเป็นประจำ เจ้านายชอบดุเราอย่างไม่มีเหตุผล แต่ใบหน้าของเจ้านายขณะดุเรานั้นทำให้เราคิดถึงพ่อที่เสียไปตอนเด็ก ๆ ซึ่งท่านมักดุเราอย่างไร้เหตุผลเช่นนี้เป็นประจำ
สิ่งดีของเหตุการณ์ที่ดูเหมือนเลวร้าย ความผิดพลาดล้มเหลวต่าง ๆ ในชีวิตการทำงานไม่มีใครที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ ที่ไม่เคย ทำงานผิดพลาดหรือ ล้มเหลวเลย ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญกับความผิดพลาดล้มเหลวบ้างไม่มากก็น้อย ความสำเร็จในการทำงาน จึงขึ้นอยู่กับว่าเมื่อเราเผชิญหน้ากับความผิดพลาดล้ม เหลวที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้น เราตอบสนองต่อมันอย่างไร ซึ่งหากตอบสนองด้วย ทัศนคติเชิงลบ ด่าว่าตัดพ้อตัวเอง ผลที่ตามมาคือการบั่นทอนจิตใจ เราอาจท้อถอยหรือ ล้มเลิกกลางครันทำให้งาน ที่ทำนั้น ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จ ได้ อย่างไรก็ตามหากเราตอบสนองในทางตรงกันข้ามด้วยการหาสิ่งดีจากความผิดพลาดล้ม เหลวที่ซ่อนอยู่ แม้ดูเหมือนว่าความผิดพลาดนั้นไม่น่าที่จะให้อภัย การตอบสนองที่ถูกต้องของเราย่อมส่งผลต่อชีวิตที่จะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมี ความหวังและประสบความสำเร็จในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น
หากเราเป็นพนักงานคีย์ข้อมูลแล้วเผอิญเผลอลบไฟล์สำคัญบางอย่างไปโดยไม่ สามารถกู้กลับมาได้ ส่งผลให้เราและทีมงานต้อง ทำงานใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้น หลังจากที่เรายอมรับผิดและขอโทษ ทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงานเรียบร้อยแล้ว เราไม่ควรนำมา คิดแง่ลบ บั่นทอนตัวเองทำให้หมดแรงที่จำทำงานอื่น ๆ อีกต่อไป แต่เราควรคิดว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นบทเรียนสำคัญ ที่เราจะไม่ทำ ผิดอีกต่อไป หากเพื่อน ๆ ยังคงโกรธเราอยู่ในวันนี้ หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปเขาอาจยอมคืนดีกับเรา หนึ่งเดือนผ่านไป มันจะกลายเป็นเรื่องขำ ๆ ที่นำมาล้อเลียนกัน หนึ่งปีผ่านไปมันจะกลายเป็นตำนานที่ใคร ๆ ก็ตามเมื่อได้ยินเรื่องนี้ย่อมนึกถึงเรา ทุกคนจะจำเราได้ ไม่จำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ตัวเองแต่อย่างใด เป็นต้น
อารมณ์ขันนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่ต้องการความสุขในชีวิต มิเพียงเท่านี้อารมณ์ขันยัง เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาซึ่ง ความสำเร็จในหน้าที่การงานอีกด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเราจะเป็นลูกน้อง เจ้านาย ผู้บริหาร หรือพนักงานธรรมดาก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคม ที่ตึงเครียดทุกวันนี้ อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง คนที่มีอารมณ์ขันจึงเป็นคนที่มีเสน่ห์และเป็นที่ต้องการของทุกคน
ที่มา : http://www.kriengsak.com/index.php?components=content&id_content_category_main=21 &id_content_topic_main=36&id_content_management_main=1598
ความเชื่อเกี่ยวกับอารมณ์ขันจากกับพูด
เชื่อกันว่าอารมณ์ขันขึ้นอยู่กับนิสัยของคนบางคน คนที่เกิดมามีอารมณ์ขันจะพูดอะไร ทำอะไรก็มีอารมณ์ขันแฝงอยู่ด้วยเสมอ ดาวตลกบางคนพอเห็น เราก็หัวเราะแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้แสดงอะไรตลก ๆ ให้เราดูเลย
ส่วนคนที่ไม่มีอารมณ์ขัน จะพยายามสร้างอารมณ์ขันขึ้นมานั้นยากมาก เป็นการฝืนความรู้สึกเหลือเกิน แต่เราจะปฏิเสธความจริง ข้อหนึ่งไม่ได้ คือ มนุษย์ทุกคนต่างก็มีอารมณ์ขันด้วยกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อย ทุกคนจะหัวเราะหรือไม่ก็ยิ้ม เมื่อเห็นใครแกล้ง เขียนป้ายข้อความประหลาด ๆ แอบแขวนไว้ที่หูกางเกงด้านหลังของใครสักคน ทุกคนจะหัวเราะเมื่อเห็นใครสักคน เหยียบเปลือก กล้วยหอมลื่นหกล้ม และทุกคนจะชอบใจ เมื่อเห็นใครแกล้งทำให้คนบ้าจี้ตกใจและพูดอะไร ๆ ชอบกล ๆ ออกมา
คนที่ขรึมที่สุดก็จะมีอารมณ์ขัน ถ้าอยู่ระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทกันจริง ๆ แต่ถ้าอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าเขาจะปิดปากเงียบ ไม่ยอมพูดจาเล่นหัวกับใครเลย
วิธีพูดสร้างอารมณ์ขัน
คนที่ปรารถนาจะเป็นผู้พูดที่ดี ก็มีทางจะทะนุถนอมปลูกฝังอารมณ์ขันของตนเองให้เจริญงอกงามได้โดยไม่ต้องอาศัยพรสวรรค์อะไรเลย ลองลงมือปฏิบัติตามนี้
- อ่านหนังสือประเภทขำขันโดยเฉพาะ
- สังเกตวิธีการวิพากย์วิจารณ์ของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีอารมณ์ขัน
- มองโลกในแง่ดี มองเรื่องร้ายในมุมกลับดูบ้าง
- จดจำวิธีการพูดของนักพูดบางคนที่มีอารมณ์ขัน
- หัดสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้อื่น พยายามหาตัวอย่างแปลก ๆ ขำ ๆ มาเล่าสู่กันฟัง อย่าเป็นคนเคร่งเครียดจนเกินไป
- เมื่อมีโอกาสพูดต่อที่ประชุม หาตัวอย่างเหมาะ ๆ แทรกเข้าไปบ้าง ให้เกิดอารมณ์ขัน ถ้าผู้ฟังไม่ขัน จงสำรวจว่าจังหวะและวิธีการเล่าอาจผิดพลาดตรงไหนบ้าง แล้วพยายามปรับปรุงในโอกาสต่อไป
- พยายามสร้างจิตใจให้เป็นกันเองกับผู้ฟังและคนทุกคน
การพูดให้อารมณ์ขัน ๖ ประเภท
ต่อไปนี้เป็นประเภทต่าง ๆ ของการสร้างอารมณ์ขัน ที่ใช้กันทั่วไป ๖ ประเภท คือ
๑. ทำเรื่องเล่นให้เป็นเรื่องจริง ผู้ฟังรู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสมมุติ หรือนิยายปรัมปรา ผู้พูดนำมาดัดแปลง เพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไป กลายเป็นเรื่องสนุกสนานกว่าเดิมเสียอีก ตัวอย่าง เช่น บรรยายเรื่องการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง แล้วยกเอาเรื่อง"ผู้ใหญ่ลี"มาเล่าเป็นตุเป็นตะทั้ง ๆ ที่ผู้ฟังรู้กันอยู่แล้วก็อดหัวเราะไม่ได้
๒. ท่าดีทีเหลว ผู้พูดทำทีเป็นผู้รู้เรื่องราวที่พูดเป็นอย่างดี พูดไปพูดมาก็ชักเลอะ ๆ เลือน ๆแล้วพาลสรุปจบลงข้าง ๆ คู ๆ ผู้ฟังรู้อยู่ตั้งแต่ต้นแล้วว่าต้อง "ตกม้าตาย" ครั้นเห็นผู้พูด "ตกม้าตาย"จริง ๆ ก็ชอบใจ ทั้งนี้ต้องไม่ใช่เรื่องใหญ่โตหรือโอกาสสำคัญ ๆ
๓. ลับลมคมใน ถ้ารู้อยู่ว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่เข้าใจตื้นลึกหนาบางในเรื่องเกี่ยวกับบุคคล หรือสถาบันนั้น ๆ อยู่อย่างดี ผู้พูดอาจใช้คำพูดเปรียบเทียบมีลับลมคมใน ผู้ฟังคิดแล้วอาจฮาได้ จะโกรธกันก็ไม่ได้เพราะไม่ได้ว่าออกมาตรง ๆ เพียงแต่เฉียด ๆ ไปเท่านั้น แต่เรื่องนี้ต้องระวังอย่าถึงกับกล่าวล่วงเกินหรือลามปามมากเกินไป แทนที่ผู้ฟังจะขำ กลับนิ่งเงียบ และอึดอัดแทนก็ได้
๔. ตัวอย่างขำขัน ถ้าสามารถทำได้ ลองพยายามหาตัวอย่างมาอธิบายสนับสนุนเรื่องของตนเป็นตอน ๆ ตัวอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงเสมอไป เรื่องตลกขำขันก็ได้ เมื่อเล่าจบลงก็พยายามขมวดให้เข้าเรื่องที่ดำเนินอยู่ แม้ไม่ตรงทีเดียวก็พอกล้อมแกล้มกลืน ผู้ฟังจะไม่ถือสาอะไร กลับชอบและจำได้แม่นยำเสียอีก
๕. ต้องขบจึงขัน จดจำตัวอย่างการใช้ถ้อยคำ สำนวนที่คม ๆ ต้องขบจึงจะขัน เอามาใช้หรือดัดแปลงให้เป็นของตนเอง มีการหยุดเล็กน้อยให้ผู้ฟังได้คิดและหัวเราะก่อน แล้วค่อยโยงเข้าเรื่อง จะสนุกมาก ตัวอย่างเช่น นักเขียนนามปากกา "ฮิวเมอริสต์" กล่าวว่า "เรื่องการดื่มสุราเดี๋ยวนี้ผมลดลงไปมาก เมื่อก่อนนี้ผมดื่มสองเวลา คือเวลาฝนตกกับฝนไม่ตก เดี๋ยวนี้ผมดื่มเฉพาะเวลาที่ตื่นเท่านั้นเอง…"
๖. ความเชยของตนเอง ไม่มีอะไรที่ผู้ฟังรู้สึกสาสมใจ พอใจ เท่ากับผู้พูดได้เล่าถึงความเปิ่น ความเชย ความห้าแต้ม ที่เกิดขึ้นกับตนเองให้ผู้ฟังได้ฟัง แทนที่จะเสียดสีคนอื่นหรือยกความเสียหายของคนอื่นมาเป็นตัวอย่าง ลองยกเรื่องแย่ ๆ ของตัวเองขึ้นมาเป็นตัวอย่างบ้าง คนฟังจะชอบใจมากทุกครั้ง
ข้อควรระวังในการพูดให้เกิดอารมณ์ขัน
การพูดให้เกิดอารมณ์ขัน ต้องสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม
๑. อย่าบอกผู้ฟังด้วยประโยคทำนองนี้ "ต่อไปนี้เป็นเรื่องขำขัน…" "ผมอยากจะเล่าเรื่องตลกให้ฟัง…" "ผมมีเรื่องสนุก ๆ จะเล่าให้ท่านฟัง…" ฯลฯ การพูดทำนองนี้จะทำให้ผู้ฟังรู้ทันและหมดสนุก ปล่อยให้ผู้ฟังสนุกเอง ถ้าไม่สนุกก็แล้วไป ถ้าสนุกได้ก็ดี
๒. อย่าตลกเองหัวเราะเอง พยายามอย่าหัวเราะก่อนผู้ฟังเป็นอันขาด ไม่หัวเราะเลย แบบ "ตลกหน้าตาย" ได้ยิ่งวิเศษ
๓. อย่าให้เรื่องตลกกลายเป็นสาระสำคัญของเรื่อง ให้เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น สิ่งขบขันเป็นเพียงเครื่องปรุงอาหาร ไม่ใช่ตัวอาหาร ต้องยกเรื่องขบขันมาประกอบเนื้อเรื่อง มิใช่เรื่องทั้งเรื่องเป็นเรื่องขบขัน
๔. ระวังการล้อเลียนเสียดสี ประชดประชัน บุคคลหรือสถาบันให้ดี อย่าให้มากจนเกินขอบเขต จะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี
๕. อย่าพูดเรื่องหยาบโลน หรือตลกสองแง่สองง่าม แม้จะเรียกเสียงฮาได้ แต่ก็เป็นการลดค่าตัวเองให้ต่ำลง
๖. ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ศาสนา และสิ่งที่คนทั่วไปเคารพสักการะ อย่านำมาล้อเลียน พูดเล่นเป็นอันขาด
๗. อารมณ์ขันที่ดี ต้องสุภาพ นิ่มนวลและแนบเนียน ไม่นอกลู่นอกทาง
ที่มา ศิลปะการพูดเพื่อการสื่อสาร โดย ผศ.ประเสริฐ บุญเสริม
http://webhost.m-culture.go.th/hrd/file/A_Srinuan/Art_Talk.doc
ทำไมนักวิทยาศาสตร์จึงเอาจริงเอาจังกับอารมณ์ขัน By โดย ดร. แดน เฟอร์เบอร์
ไส้เดือนสองตัวนั่งอยู่บนโซฟาในงานเลี้ยง ไส้เดือนตัว ผู้ส่งสายตาให้ตัวเมียและเริ่มชวนคุย ไส้เดือนตัวผู้อีกสองตัวซึ่งอยู่ไม่ไกลออกไปหันมามอง "นายดูคู่นั้นสิ" ไส้เดือนตัวแรกเอ่ย
"วิลเลียมกำลังขยับเข้าไปคุยกับลินดา แต่ฉันสงสัยว่าเขาจะคุยผิดด้าน"
ดร. จอห์น ออลแมน นักประสาทวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หัวเราะเบาๆเมื่ออ่านการ์ตูนสามช่องเรื่องนี้ขณะนอนอยู่ในอุโมงค์โลหะของเครื่องตรวจร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คาร์ลี วัตสัน นักศึกษาลูกศิษย์ ดร. ออลแมนนั่งอยู่หน้าแผงควบคุมในห้องติดกันมีหน้าที่ อ่านผลการทำงานของสมองขณะออลแมนอ่านเรื่องขำขัน นี่คือศูนย์วิจัยอารมณ์ขันแห่งปี 2549
ตลกอะไรกันนักหนา
อารมณ์ขันคือสิ่งสำคัญประการหนึ่งของมนุษย์ แต่กลับมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์น้อยมาก คนส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับหัวข้อใหญ่ๆ เช่น โลกร้อน ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก หรืออันตรายจากไขมันชนิดทรานส์ในคุกกี้ "ไม่มีใครเอาจริงเอาจังกับเรื่องอารมณ์ขันเลย" ดร. เอ็ด ดังเคิลเบลา นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องอารมณ์ขันและอดีตประธานสมาคมประยุกต์อารมณ์ขันเพื่อการบำบัด กล่าวติดตลก อย่างไรก็ตาม ออลแมนและนักวิทยาศาสตร์บางคนพยายามบุกเบิกการศึกษาเรื่องความคิดและสมองเพื่อค้นหาที่มาของอารมณ์ขัน
เขาค้นพบว่าจุดกำเนิดของอารมณ์ขันอยู่ลึกในเนื้อสมองสีเทา อารมณ์ขันเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของสมองหลายส่วน โดยส่งสัญญาณประสาทผ่านโครงข่ายที่เชื่อมโยงสมองเหล่านี้ไว้ด้วยกัน เราอาจเรียกโครงข่ายสมองนี้ว่า "กล้ามเนื้ออารมณ์ขัน" มุกขำขันชนิดตลกเจ็บตัวใช้กล้ามเนื้อ ที่ว่าไม่กี่ชุด ขณะเรื่องขำขันชนิดซับซ้อน อย่างเช่น หัวเราะคือยาวิเศษ ในสรรสาระ คงต้องพึ่งกล้ามเนื้ออารมณ์ขันมากเป็นพิเศษ
ปัจจุบัน เทคโนโลยีการ วินิจฉัยด้านประสาทวิทยา (เครื่องตรวจการทำงานภาย ในร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องเอกซเรย์ตรวจการทำงานภายในสมอง และ ระบบสถิติ) และด้านจิตวิทยา (แบบสอบถาม แบบวิเคราะห์ทางจิตวิทยา และระบบสถิติ) ช่วยให้นักวิจัยเช่นออลแมนเข้าใจกลไกการทำงานของกล้ามเนื้ออารมณ์ขันและประโยชน์ของอารมณ์ขันในการพัฒนาระดับสติปัญญา ข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า อารมณ์ขันช่วยให้จิตใจแจ่มใสและปลอดโปร่ง ตลอดจนช่วยพัฒนาการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์
บริหารกล้ามเนื้ออารมณ์ขัน
มุกตลกแบบหักมุมตอนจบเป็นตัวอย่าง ชัดเจนของอารมณ์ขันที่มีคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ยืนยัน เราจึงเห็นภาพที่ชัดเจนของกล้ามเนื้ออารมณ์ขันและวิธีทำงาน ตัวอย่างของมุกตลกแบบนี้คือ ทำไมฉลามไม่กล้ากัดทนาย คำตอบคือเพราะมันย่อมไม่กัดพวกเดียวกันเอง
ประโยคปล่อยมุกของตลกแบบหักมุมตอนจบอาจฟังดูเหมือนไม่สมเหตุสมผลและลวงให้ผู้ฟังหลงทาง แต่จะกระตุ้นสมองให้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาษา สำนวน และความรู้เชิงสังคมด้านต่างๆ เมื่อเราเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดซึ่งเชื่อมโยงกันด้วยตรรกะที่แปลกไปจากปกติ โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นเรื่องล้อเลียนมนุษย์ เราจะรู้สึกตลกจนต้องหัวเราะ กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีในสมอง
นักประสาทวิทยาตั้งสมมุติฐานว่า กล้ามเนื้ออารมณ์ขันแต่ละส่วนทำหน้าที่จำเพาะกับความคิดแต่ละด้าน การบริหารกล้ามเนื้ออารมณ์ขันจึงช่วยส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ "การเรียนรู้มุกตลกแต่ละเรื่องทำให้สมองของเรามีพัฒนาการเพิ่มขึ้นและมีการเชื่อมโยงสัญญาณมากขึ้น" นายแพทย์วิลเลียม ฟราย ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้บุกเบิกงานวิจัยเรื่องอารมณ์ขันให้คำอธิบาย
ข้อมูลจากการศึกษาผู้ป่วยที่สมองได้รับบาดเจ็บทำให้แพทย์ระบบประสาทตั้งข้อสังเกตว่าสมองส่วนหน้าขวาอาจทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ขัน ดร. โดนัลล์ สตัส และ ดร. พราทิบา ชัมมี นักประสาทจิตวิทยาจากโรงพยาบาลและสถาบันวิจัยเบย์เครสต์ในโทรอนโตพยายามพิสูจน์แนวคิดดังกล่าวเมื่อปี 2542 ด้วยการให้ผู้ป่วย 21 รายที่สมองได้รับบาดเจ็บส่วนหน้าขวาและส่วนอื่นๆอ่านเรื่องขบขัน
ปรากฏว่ามีเพียงผู้ป่วยที่สมองด้านหน้าขวาได้รับบาดเจ็บซึ่งไม่เข้าใจมุกตลก แต่ขำตลกเจ็บตัวได้อย่างไม่มีปัญหา ดังนั้น กล้ามเนื้ออารมณ์ขันของสมองส่วนนี้จึงมีหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ขันที่อาศัยความคิด
นักประสาทวิทยาอย่างออลแมนใช้เครื่องตรวจร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรวจสมองของอาสาสมัครสุขภาพดีขณะดูการ์ตูนหรือละครตลกทางโทรทัศน์เพื่อหากล้ามเนื้ออารมณ์ขันส่วนอื่นๆ ผลปรากฏว่ามีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองหลายส่วน แสดงว่าสมองกำลังทำงานอย่างหนักแม้ในขณะหัวเราะกับเรื่องตลก
สมองเป็นอย่างไรขณะหัวเราะ
เครื่องตรวจการทำงานสมองในปัจจุบันทำให้เราเห็นภาพสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ขัน นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่า เมื่อได้ยินเรื่องขบขัน ศูนย์ภาษาบนสมองซีกซ้ายจะพิจารณาความสมเหตุสมผลของถ้อยคำแล้วส่งสัญญาณข้ามไปยังสมองซีกขวาด้านหน้าเพื่อค้นหาความจำ อารมณ์ และข้อมูลต่างๆที่เข้ากันได้กับเรื่องขบขันที่เพิ่งได้ยิน เมื่อหาพบแล้ว เนื้อสมองส่วนลึกจะหลั่งสารโดปามีนซึ่งทำให้เรารู้สึกดีเพื่อเป็นการให้รางวัล เราจึงหัวเราะ
ออลแมนกับวัตสันจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียค้นพบกล้ามเนื้ออารมณ์ขันส่วนใหม่จากการตรวจสมองของออลแมนเองและอาสาสมัครอื่นอีก 19 ราย เขาให้บรรดาอาสาสมัครอ่านการ์ตูนจากหนังสือพิมพ์และกดปุ่มให้คะแนนความตลกของแต่ละเรื่อง ข้อมูลจากการศึกษาทำให้เขาค้นพบเป็นครั้งแรกว่าอารมณ์ขันช่วยให้สมองและสัญชาตญาณของเราเฉียบแหลมขึ้น ออลแมนกับวัตสันพบว่ามีสองบริเวณบนสมองส่วนหน้าที่ทำงานมากขึ้นขณะอ่านการ์ตูน คะแนนความตลกยิ่งมากเท่าใด สมองสองส่วนนี้ก็ยิ่งทำงานมากขึ้น
ขณะเรามีอารมณ์แบบซับซ้อน เช่น รัก โกรธ และหลง สมองสองส่วนนี้ถูกกระตุ้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน อารมณ์กับสัญชาตญาณคือ สองปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของมนุษย์ ออลแมนจึงสรุปว่ากล้ามเนื้ออารมณ์ขันสองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจอย่างรวดเร็วตามสัญชาตญาณของเรา (ซึ่งบางครั้งอาจผิด)
ออลแมนเชื่อว่าอารมณ์ที่ซับซ้อนสามารถกล่อมเกลาสัญชาตญาณของเราให้ตัดสินใจดีขึ้น "ตอนนี้ เราเริ่มเข้าใจกลไกการทำงานของเรื่องนี้มากขึ้น" เขากล่าว
เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
ตอนนี้ ทุกคนคงเริ่มเข้าใจแล้วว่า เพราะเหตุใดนักจิตวิทยาจึงหันมาสนใจด้านเบาๆของชีวิต อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่าอารมณ์ขันช่วยให้จำแม่นขึ้น นักโฆษณาน่าจะเป็น กลุ่มแรกที่รู้ถึงประเด็นนี้ เราจึงเห็นภาพแมลงสาบขายประกันชีวิตและสุนัขโฆษณาเบียร์ ดังเคิลเบลากล่าว
แต่เรื่องดังกล่าวมีหลักฐานยืนยันน้อยมาก ในปี 2537 ดร. สตีเฟน ชมิดท์จาก มหาวิทยาลัยมิดเดิลเทนเนสซีสเตททดลองให้นักศึกษาจิตวิทยาจำนวน 38 คนอ่านเรื่องตลกขบขัน ปรากฏว่านักศึกษาจดจำประโยคที่ตลกขบขันแม่นยำกว่าประโยคไม่ตลก
ดร.รอน เบิร์ก นักจิตวิทยาและอาจารย์สอนวิชาสถิติที่มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ นำความรู้เกี่ยวกับเรื่องตลกและอารมณ์ขันมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน บางภาคการศึกษา เขาปล่อยชายเสื้อ คาบซิการ์ และสวมหมวกเบสบอลเข้าไปสอนในห้องเรียนวิชาสถิติ บางครั้งก็แต่งตัวและพูดจาเลียนแบบนักแสดงในละครโทรทัศน์ นักศึกษาพากันหัวเราะในท่าทางติดตลกของอาจารย์ อารมณ์ขันเหล่านี้ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจหลักการด้านสถิติดีขึ้น
เบิร์กตีพิมพ์ผลการศึกษาหลายฉบับที่ยืนยันว่าอารมณ์ขันทำให้การเรียนรู้ของนักศึกษาดีขึ้น แม้แต่ข้อสอบที่แทรกเรื่องตลกก็ช่วยให้นักศึกษาทำข้อสอบได้ดีกว่าข้อสอบแบบปกติทั่วไป
เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์
อารมณ์ขันช่วยปลดปล่อยสมองให้สนุกไปกับความคิดเรื่องต่างๆและกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีการศึกษาเชิงจิตวิทยาด้วยวิธีทำให้อาสาสมัครหัวเราะและขอให้พวกเขาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยก้อนอิฐ หลังศึกษาเรื่องนี้มานานหลายปี นักจิตวิทยาก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน กระทั่งปี 2530 ดร. อลิซ ไอเซน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและการจัดการจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล เสนอวิธีทดสอบความคิดสร้างสรรค์ที่ชัดเจนกว่า โดยขอให้นักศึกษาหาวิธีติดเทียนซึ่งจุดไฟเข้ากับกระดานไม้คอร์ก
ไอเซนนำเทียนไขหนึ่งเล่ม ไม้ขีดหนึ่งกลัก และเข็มหมุดหนึ่งกล่องให้กับนักศึกษา และกำหนดให้พวกเขาหาวิธีนำเทียนไขไปติดบนกระดานโดยไม่ใช้น้ำตาเทียนภายในเวลาสิบนาที กลุ่มที่ไม่มีอารมณ์ขันใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพยายามกดเทียนไขให้แนบติดกับกระดาน "วิธีนี้ไม่มีทางได้ผลเพราะเทียนไขหนาเกินไปและกระดานก็อาจติดไฟ" ไอเซนกล่าว
กลุ่มที่เพิ่งชมภาพยนตร์ตลกทางโทรทัศน์สามารถหาคำตอบที่ถูกต้องและสร้างสรรค์มากกว่ากลุ่มแรกถึงสามเท่า พวกเขาเทเข็มหมุดออกจากกล่อง ใช้เข็มหมุดติดกล่องเปล่าเข้ากับกระดานและวางเทียนไขบนกล่องเปล่า
การศึกษาในปี 2548 ของ ดร. บาร์บารา เฟรดริกสัน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ได้ผลสรุปคล้ายคลึงกัน เธอทดลองให้อาสาสมัครสองกลุ่มดูวิดีโอเรื่องตลกของนกเพนกวินกับเรื่องธรรมดาที่ไม่ขบขัน ปรากฏว่ากลุ่มแรกมีความคิดสร้างสรรค์กว้างไกลว่า ผลการศึกษาเหล่านี้ทำให้นักจิตวิทยาเชื่อว่าอารมณ์ขันและความรู้สึกเชิงบวกทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา
ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดสรุปได้ว่า ความสนุกสนานจากอารมณ์ขันทำให้เราเข้าใจตนเอง ผู้อื่น ตลอดจนโลกของเราดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้จิตใจแจ่มใสและหลักแหลมขึ้นอีกด้วย จะว่าไปแล้ว คุณเคยได้ยินเรื่องไส้เดือนสองตัวในงานเลี้ยงหรือยัง
- See more at: http://www.readersdigestthailand.co.th/article/2222