ทฤษฎีคุณลักษณะผู้นำ ทฤษฎีอุปนิสัย (Trait Theories of Leadership)
ทฤษฎีคุณลักษณะผู้นำหรือทฤษฎีอุปนิสัย (Trait Theories of Leadership)
ทฤษฎีคุณลักษณะผู้นำหรือทฤษฎีอุปนิสัย (Trait Theories of Leadership)
ระยะแรกของการศึกษาภาวะผู้นำเริ่มในปี ค.ศ. 1930- 1940 แนวคิดมาจากทฤษฎีมหาบุรุษ (Greatman Theory of leadership) ของกรีกและโรมันโบราณ มีความเชื่อว่า ภาวะผู้นำเกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติ หรือโดยกำเนิด (Born leader) ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แต่สามารถพัฒนาขึ้นได้ ลักษณะผู้นำที่ดีและมีประสิทธิภาพสูงจะประกอบด้วย ความเฉลียวฉลาด มีบุคลิกภาพซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้นำและต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถด้วย ผู้นำในยุคนี้ได้แก่ พระเจ้านโปเลียน ฮิตเลอร์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าตากสินมหาราช เป็นต้น ตัวอย่างการศึกษาเกี่ยวกับ Trait Theories ของ Gardner ได้แก่
1. The tasks of Leadership : กล่าวถึงงานที่ผู้นำจำเป็นต้องมี 9 อย่าง ได้แก่ มีการกำหนดเป้าหมายของกลุ่ม มีบรรทัดฐานและค่านิยมของกลุ่ม รู้จักสร้างและใช้แรงจูงใจ มีการบริหารจัดการ มีความสามารถในการปฏิบัติการ สามารถอธิบายได้ เป็นตัวแทนของกลุ่ม แสดงถึงสัญลักษณ์ของกลุ่ม และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
2. Leader – constituent interaction เชื่อว่าผู้นำต้องมีพลังวิเศษเหนือบุคคลอื่น หรือมีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นๆเพื่อที่สนองตอบความต้องการขั้นพื้นฐาน ความคาดหวังของบุคคล และผู้นำต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถพัฒนาตนเองและพัฒนาให้ผู้ตามมีความแข็งแกร่ง และสามารถยืนอยู่ด้วนตนเองอย่างอิสระทฤษฎีนี้พบว่า ไม่มีคุณลักษณะที่แน่นอนหรือชี้ชัดของผู้นำ เพราะผู้นำอาจไม่แสดงลักษณะเหล่านี้ออกมา
ทฤษฎีคุณลักษณะของผู้นำ (Trait theories of leadership) หมายถึง มองเห็นความสำคัญของคุณสมบัติของผู้นำ (Trait) เช่น ทักษะ (Skill) บุคลิภาพ (Personality) รูปร่างหรือลักษณะทางกายภาพ เชื่อว่า บุคคลเป็นผู้นำโดยกำเนิด
ทฤษฎีภาวะผู้นำ Trait Theory of Leadership แบ่งคุณลักษณะ (Trait) เป็น 3 ประเภท คือ
1. ลักษณะบุคลิกภาพ (Personality Trait) ได้แก่ ลักษณะเด่นในเรื่องการก้าวร้าวหรือความนุ่มนวล จิตใจ ทัศนคติ ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นอิสระ การควบคุมและความสมดุลของอารมณ์ สติปัญญา ความเชื่อมั่นในตนเอง
2. ความสามารถ (Abilities) ความมีจริยธรรม สติปัญญา ความรู้ ความสามารถในการพูด การตัดสินใจ
3.ทักษะทางสังคม (Social Skills ความสามารถในการบริหารงานความสามารถในการรวบรวมสมาชิกในการทำกิจกรรม ทักษะทางสังคม ความมีเกียรติและการเป็นบุคคลที่กว้างขวางเป็นที่ยอมรับ การใช้วิธีการทางการทูตหรือเทคนิคที่ให้คนยอมรับ / คล้อยตาม การมีส่วนร่วม
ทฤษฎีคุณลักษณะของผู้นำ
กล่าวทั่วไป คุณลักษณะผู้นำ (trait of leadership) เป็นเครื่องชี้อันหนึ่งที่จะทำ ให้ทราบค่าของผู้นำ แต่ละคนว่าดีหรือไม่ดีเพียงใด คุณลักษณะผู้นำ เป็นคุณลักษณะของผู้นำ แต่ละคนซึ่งสามารถที่จะพัฒนาให้เกิดมีขึ้นได้ ผู้นำ ที่ประสบผลสำเร็จ คือ ผู้นำ ที่หมั่นสำรวจตนเองอยู่เสมอว่า ตนมีจุดเด่นจุดด้อยข้อใด คุณลักษณะผู้นำ เป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งที่จะผูกใจผู้ใต้บังคับบัญชาให้เกิดความศรัทธาในตัวผู้นำ และเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ต่อไปนี้จะสรุปคุณลักษณะผู้นำ ของบุคคลต่างๆที่ผู้วิจัยรวบรวมมาดังนี้ เสริมศักดิ์ (2538: 46) กล่าวว่า คุณลักษณะความเป็นผู้นำ ได้แก่
- การมีความรับผิดชอบ
- มีความมุ่งมั่นที่จะทำ งานให้สำเร็จ
- มีความแข็งแรง
- มีความเพียรพยายาม
- รู้จักเสี่ยง
- มีความคิดริเริ่ม
- มีความเชื่อมั่นในตนเอง
- มีความสามารถที่จะจัดการกับความเครียด
- มีความสามารถที่จะมีอิทธิพล (Influence) ต่อคนอื่น
- มีความสามารถที่จะประสานพลังทั้งหลายเพื่อการทำงานให้สำเร็จ
Marshall (1995: 114) กล่าวว่า คุณลักษณะความเป็นผู้นำ ควรต้องมี 6 ประการ ได้แก่
- คุณลักษณะทางกายภาพ โดยจะต้องเป็นผู้ที่แข็งแรง ร่างกายสง่างาม
- ภูมิหลังทางสังคม อันได้แก่ การมีความรู้ และสภาพทางสังคมที่ดี
- สติปัญญา มีสติปัญญาสูง มีการตัดสินใจที่ดีและมีทักษะในการสื่อความหมายและการพูด
- บุคลิกภาพ ต้องเป็นผู้ที่กระตือรือร้น ตื่นตัวอยู่เสมอ ควบคุมอารมณ์ได้ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจริยธรรม และความเชื่อมั่นในตนเอง
- ลักษณะที่เกี่ยวข้องกับงาน ผู้นำ ควรมีความปรารถนาที่จะทำ ให้ดีที่สุด มีความรับผิดชอบ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มุ่งที่งาน
- ลักษณะทางสังคม ผู้นำ จะต้องเป็นผู้ที่ปรารถนาจะร่วมมือกับคนอื่น มีเกียรติเป็นที่ยอมรับของสมาชิกและคนอื่นๆ เข้าสังคมได้เก่ง มีความเฉลียวฉลาดในการเข้าสังคม
ทฤษฎีคุณลักษณะเด่นของผู้นำ (Trait Theory)
นักทฤษฎีคุณลักษณะเด่นของผู้นำ (Trait Theory)
1. สต๊อกดิลล์ (Stogdill) ได้ทำการวิจัยคุณลักษณะเด่นของผู้นำ ระหว่างปี ค.ศ. 1904-1948 จำนวน 124 เรื่อง โดยเน้นการเปรียบเทียบ คุณลักษณะของผู้นำ กับผู้ที่ไม่เป็นผู้นำ พบว่าคุณลักษณะที่สอดคล้องกับความเป็นผู้นำ ในฐานะผู้ใช้ความสามารถของตนให้ผู้อื่น ปฏิบัติภารกิจได้บรรลุเป้าหมายนั้นตรงตามสมมติฐานได้แก่ ความเฉลียวฉลาด ความรู้สึกไว้ในการรับรู้ต่อความต้องการของผู้อื่น ความเข้าใจในงาน ความคิดริเริ่ม ความอดทนต่อการแก้ปัญหาต่างๆ มีความมั่นใจในตนเอง ต้องการแสวงหางานรับผิดชอบ และต้องการอยู่ในฐานะที่มีอำนาจและการควบคุม
อย่างไรก็ตามความจำเป็นต้องใช้คุณลักษณะแต่ละชนิดมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ผลวิจัยเหล่านี้ไม่สามารถระบุคุณลักษณะที่จำเป็น หรือให้ความแน่นอนว่าองค์ประกอบใดจะทำให้ผู้นำประสบความสำเร็จ
ในปี ค.ศ. 1974 สต๊อกดิลล์ ได้ทำการสังเคราะห์ผลงานวิจัยคุณลักษณะผู้นำ ระหว่างปี 1949-1970 จำนวน 163 กรณี พบว่ามีคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับ ความมีประสิทธิผลของผู้นำและมีทักษะใหม่ๆบางประการที่เพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้
คุณลักษณะและทักษะที่แยกผู้นำจากผู้ที่ไม่ใช่ผู้นำ
คุณลักษณะ (Traits)
1. ความสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์
2. รับรู้ไวต่อสภาพแวดล้อมทางสังคม
3. มีความทะเยอทะยานมุ่งความสำเร็จ
4. มีความเปิดเผยตรงไปตรงมา
5. ให้ความร่วมมือ
6. ตัดสินใจดี
7. สามารถพึ่งพาอาศัย
8. ต้องการมีอำนาจเหนือและมีแรงจูงใจด้านอำนาจ
9. มีพลังหรือมีระดับความกระตือรือร้นสูง
10. มีความมุมานะ พยายามอย่างต่อเนื่อง
11. มีความมั่นใจในตนเอง
12. สามารถทนต่อภาวะความเครียด
13. เต็มใจแสวงหางานรับผิดชอบ
ทักษะ(Skills)
1.เฉลียวฉลาด, มีสติปัญญา
2. มีทักษะด้านมโนทัศน์
3. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
4. มีความนุ่มนวลและมีอัธยาศัยดี
5. มีความคล่องแคล่วด้านการพูด
6. มีความรอบรู้เกี่ยวกับงาน
7. มีความสามารถจัดองค์การ หรือ ความสามารถด้านบริหาร
8. มีความสามารถในการชักชวน
9. มีทักษะทางสังคม
(สุเทพ พงษ์ศรีวัฒน์, 2548: 103 -104)
2. เฟรดิก อาดัม วูดส์ (Frederick Adam Woods) ในปี 1931 ได้ทำการศึกษาผู้ปกครองประเทศจำนวน 386 คน ใน 14 ประเทศซึ่งทั้งหมด มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ เข้มแข็ง ธรรมดาสามัญและอ่อนแอ สัมพันธ์กับสถานภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ผลปรากฏว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ คือ ผู้นำประเทศที่เข้มแข็งสามารถบริหารประเทศให้ประเทศชาติรุ่งเรือง ผู้นำธรรมดาสามัญก็นำประเทศไปได้กลางๆ ส่วนผู้นำที่อ่อนแอก็จะทำให้ประเทศไม่เจริญรุ่งเรือง (ทองหล่อ เดชไทย, 2544:10-11)
3. เบิร์ด (Bird) ในราวปี ค.ศ. 1940 ได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบคุณลักษณะผู้นำและผู้ตามจากผลการศึกษาโครงการวิจัย 20 เรื่อง สามารถรวบรวมสรุปคุณลักษระผู้นำทั้งหมดได้ 79 ลักษณะซึ่งส่วนใหญ่ไม่คงที่ คือจาก 79 ลักษณะ มี 51 ลักษณะที่แตกต่างกันเพียง 1 เท่านั้น และมี 4 ลักษณะร่วม ได้แก่ความฉลาด(Intelligence) ความคิดสร้างสรรค์(Initiative) ความร่าเริง(Sense of Humor) และชอบแสดงออก(Extroversion) ซึ่งเบิร์ดเรียกว่าเป็นคุณลักษณะทั่วไปของภาวะผู้นำ ต่อมาในปี ค.ศ. 1959 อาร์ มานน์ (R.Mann) ได้ทบทวนผลงานวิจัย 125 เรื่องเกี่ยวกับผู้นำได้ข้อสรุปว่า ความฉลาด และการปรับตัว มีความสัมพันธ์กับผู้นำอย่างมีนัยสำคัญ ผลงานของเบิร์ดนี้ถือเป็นผลงานต้นแบบเกี่ยวกับคุณลักษณะผู้นำ (ทองหล่อ เดชไทย,2544:11)
4. ไมเนอร์ (Miner) ในปี 1965 ได้เสนอทฤษฎีแรงจูงใจด้านบทบาทการบริหาร ซึ่งอธิบายถึงประเภทของคุณลักษณะด้านการจูงใจที่จำเป็นต่อความสำเร็จ ในตำแหน่งบริหารสำคัญขององค์การที่มีสายงานบังคับบัญชาแบบราชการขนาดใหญ่ โดยทำการวัดแรงจูงใจในการบริหาร ผลปรากฎว่า ในองค์การขนาดใหญ่ จะมีแรงจูงใจในการบริหารมีผลเชิงบวกต่อการคาดหมายความเติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งบริหาร แต่ในองค์การขนาดเล็กพบว่าแรงจูงใจไม่เป็นประโยชน์ต่อต่อความคาดหมายด้านความก้าวหน้าในตำแหน่งที่สูงขึ้น (สุเทพ พงษ์ศรีวัฒน์, 2548: 109)
5. Mc Clelland และคณะ (1965-1985) ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแรงจูงใจด้านบริหาร ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบที่เหมาะสมขององค์กร ขนาดใหญ่ จะประกอบด้วยลักษณะที่มุ่งความต้องการความต้องการด้านอำนาจสูง มีความต้องการมุ่งความสำเร็จในระดับปานกลาง และมีความต้องการด้านความรักใคร่พูกพันในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามผลการศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการที่แมคเคล็ลแลนด์ ระบุกับความเจริญก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของผู้นำนั้นปรากฏว่าได้ผลออกมาไม่ชัดเจนนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทขององค์การและตำแหน่งบริหาร (สุเทพ พงษ์ศรีวัฒน์, 2548: 105-107)
6. กิเซลลิ Ghiselli (1971) ได้ทำการศึกษาคุณลักษณะทางบุคลิกภาพและการจูงใจที่มีประสิทธิผล โดยพัฒนาเครื่องมืออย่างหนึ่งขึ้นมาเพื่อวัดคุณลักษณะของผู้นำ 13 ด้าน พบว่าคุณลักษณะ 6 ด้านต่อไปนี้ที่มีนัยสำคัญสูงสุด
- ความสามารถในการบังคับบัญชา
- ความต้องการความสำเร็จในอาชีพ
- สติปัญญา
- ความเด็ดขาด
- ความมั่นใจในตนเอง
- ความคิดริเริ่ม(สมยศ นาวีการ, 2540: 164)
7. Yukl (1988) ได้สังเคราะห์ผลงานของนักวิจัยหลายคนเพื่อหาผู้จัดการและผู้บริหารของบริษัทใหญ่ๆที่ประสบความสำเร็จสูง มีพื้นฐานของบุคลิกภาพ ที่ก่อให้เกิดความมีประสิทธิผล พบว่ามีคุณลักษณะด้านการบริหาร 8 ประการ ดังนี้ (สุเทพ พงษ์ศรีวัฒน์, 2548:114-125)
- เป็นผู้ที่มีพลังสูงและทนต่อความเครียดได้ดี
- มีความมั่นใจในตนเอง
- มีความเชื่อมั่นต่อความสามารถของตนเอง
- มีวุฒิภาวะด้านอารมณ์
- เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ ยึดถือคุณธรรม
- มีแรงจูงใจด้านอำนาจทางสังคม
- ต้องการประสบความสำเร็จในระดับสูงปานกลาง
- ต้องการได้ความรัก ผูกพันจากผู้อื่นในระดับต่ำ
8. คอตเตอร์ (Kotter) ได้ทำการวิจัยในทางลึก ด้านคุณลักษณะเด่นของผู้นำที่มีประสิทธิภาพ และได้สรุปคุณลักษณะที่สำคัญดังนี้คือ
1. ลักษณะด้านแรงจูงใจ
1) ชอบอำนาจ
2) ชอบความสำเร็จ
3) มีความทะเยอทะยาน
2. ลักษณะทางด้านอารมณ์
1) มีความมั่นคงทางอารมณ์
2) มองโลกในแง่ดี
3. ลักษณะด้านความคิด
1) ฉลาดกว่าบุคคลทั่วไป
2) มีความสามารถในการวิเคราะห์
3) มีความสามารถในการหยั่งรู้
4. ลักษณะด้านปฏิสัมพันธ์
1) มีรูปลักษณ์ดีและดึงดูดใจผู้พบเห็น
2) มองผลประโยชน์ขององค์การในมุมกว้าง
5. ลักษณะด้านความรู้
1) มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ตนปฏิบัติ
2) มีความรู้เกี่ยวกับองค์การของตน
6. ลักษณะด้านมนุษย์สัมพันธ์
1) สามารถร่วมมือกับบุคลากรส่วนใหญ่ขององค์การ
2) สามารถร่วมมือกับบุคคลที่อยู่ในองค์กรประเภทเดียวกัน
9. ดอล (Dall) ได้สรุปการวิเคราะห์งานวิจัยมากกว่า 100 เรื่อง ที่เกี่ยวกับคุณลักษณะเด่นของผู้นำทางการศึกษาควรจะมีลักษณะดังนี้
- ผู้นำทางการศึกษาควรเป็นคนที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความรู้สึกไวต่อความต้องการหรืออารมณ์ของสมาชิกกลุ่ม ผู้นำควรมองผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นคน ที่มีชีวิตจิตใจ มีความคิด มีความต้องการส่วนตนด้วย
- ผู้นำทางการศึกษาควรเป็นคนที่มีความกระฉับกระเฉง กระทำตนให้สมาชิกเห็นว่าเป็นผู้มีความกระตือรือร้น มีความตื่นตัว แจ่มใส ร่าเริง
- ผู้นำทางการศึกษาควรได้รับการยอมรับจากสมาชิกว่า เป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมของผู้นำจะต้องสอดคล้องกับเกณฑ์เฉลี่ยของกลุ่ม มีความคิดไม่ต่างหรือห่างจากกลุ่มมากนัก
- ผู้นำทางการศึกษาควรจะเป็นที่พึ่งของสมาชิก ครู นักเรียน คนงาน ภารโรงต่างต้องการความช่วยเหลือเมื่อเผชิญกับปัญหา
- ผู้นำทางการศึกษาควรจะเป็นผู้ที่ควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจำเป็นต้องเผชิญกับความตึงเครียด วิตกกังวล ก้าวร้าว ผู้นำจึงจำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ของตนให้อยู่
- ผู้นำทางการศึกษาควรเป็นคนที่มีสติปัญญา เนื่องจากในสถานศึกษาต่างๆ คณะครูเป็นผู้มีปัญญา ดังนั้นผู้นำของผู้มีปัญญาจำเป็นต้องมีปัญญาด้วย และผู้นำทางการศึกษาควรเป็นผู้มีความรอบรู้ทางวิชาการเป็นอย่างดี
- ผู้นำทางการศึกษาควรจะสนใจในบทบาทการเป็นผู้นำของตนเอง จำเป็นต้องรู้จักบทบาทของตนเป็นอย่างดี จำเป็นต้องรับผิดชอบ ถ้าหากผู้นำทางการศึกษามิได้แสดงบทบาทของตนอย่างเหมาะสมความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก (เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์, 2521:35-36)
10. ดูบิน (DuBrin , 1995 : 53-54) ได้คุณลักษณะของผู้นำที่มีประสิทธิผลที่น่าสนใจดังนี้คือ
1. คุณลักษณะบุคลิกภาพของผู้นำที่มีประสิทธิผล
1) คุณลักษณะด้านบุคลิกภาพทั่วไป ประกอบด้วย
- ความเชื่อมั่นในตนเอง - การสร้างความไว้วางใจ
- ลักษณะเด่น - เป็นคนกล้าแสดงออก
- การเป็นคนที่มีการแสดงออกที่เหมาะสม - ความมั่นคงทางอารมณ์
- ความกระตือรือร้น - มีอารมณ์ขัน
- ความเป็นคนดูอบอุ่นและมีความเอื้ออารี - มีความอดทนสูงต่อความตึงเครียด
- การรับรู้ตนเองและมีวัตถุประสงค์ในการทำงาน
2). คุณลักษณะด้านบุคลิกภาพที่สัมพันธ์กับงาน ประกอบด้วย
- ความคิดริเริ่ม
- มีความเข้าใจอารมณ์และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
- สภาพการควบคุมภายในตนเอง
- ความกล้าหาญ
- การสามารถในการกลับคืนสู่สภาพเดิม
- ความสามารถในการยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว
2. แรงจูงใจของภาวะผู้นำ
1) แรงจูงใจด้านอำนาจ 2) แรงกระตุ้นและแรงจูงใจให้ประสบความสำเร็จ
3) ยึดมั่นในจริยธรรมการทำงาน 4) ความมุ่งมั่น
3. ปัจจัยด้านสติปัญญาเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ
1) ทฤษฏีความสามารถด้านสติปัญญาและทฤษฏีความรู้ความเข้าใจ
2) ความรู้ด้านธุรกิจ 3) ความคิดสร้างสรรค์
4) ความสามารถหยั่งลึกถึงบุคคลและสถานการณ์
5) การมองการณ์ไกล 6) การเปิดรับต่อประสบการณ์
4. อิทธิพลของพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมของภาวะผู้นำ
คุณลักษณะผู้นำโดยสรุปดังนี้คือ (นิตย์ สัมพันธ์, 2546:33-34)
1. คุณลักษณะทางกายภาพ (Physical Characteristics) เช่น ความสูง น้ำหนัก รูปร่าง หน้าตา และพลังงานเป็นต้น
2. คุณลักษณะทางบุคลิกภาพ (Personal Characteristics) เช่น ลักษณะเด่น (Dominance) ความเป็นคนเปิดเผยไม่เก็บตัว หรือความเป็นผู้ริเริ่มอยู่เสมอ เป็นต้น
3. ทักษะและความสามารถ (Skill and Abilities) เช่น สติปัญญา (Intelligence) ความสามารถทางเทคนิคเป็นต้น
4. ลักษณะเด่นทางสังคม (Social Factors ) เช่นคนเข้าสังคมเก่ง มีสถานภาพสูงทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น
ข้อโต้แย้งเชิงเหตุผล
ถึงแม้ว่าการศึกษาการเป็นผู้นำโดยศึกษาคุณลักษณะของผู้นำโดยอาศัยทฤษฏีผู้ยิ่งใหญ่ (Great Man Theory) หรือทฤษฏีคุณลักษณะของผู้นำ (Trait Theory) จะให้ประโยชน์และเป็นแนวทางในการพัฒนาความเป็นผู้นำของบุคคลแต่ก็มีข้อโต้แย้งอยู่หลายประการ เช่น
1.ในการศึกษานั้นไม่สามารถแยกคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้นำกับลักษณะที่สำคัญสำหรับดำรงตำแหน่งการเป็นผู้นำ
2. ไม่สามารถจะบ่งชี้ได้ว่าคุณลักษณะใดสำคัญอย่างไร คุณลักษณะต่างๆเหล่านี้คุณลักษณะใดสำคัญกว่ากัน
3. คุณลักษณะแต่ละอย่างไม่สามารถแยกจากกันได้เด่นชัดเช่นผู้นำต้องตักสินใจดี แต่ประสบการณ์และการศึกษาอบรมก็เป็นส่วนช่วยอย่างสำคัญในการตัดสินใจ
4. ผู้นำที่มีคุณลักษณะต่างกันแต่ประสบความสำเร็จเหมือนกันก็ได้ ในทางกลับกันผู้นำที่มีคุณลักษณะเหมือนกันแต่ประสบความสำเร็จต่างกันก็ได้
5. คุณลักษณะของผู้นำที่ประสบความสำเร็จอาจมีคุณลักษระต่างกันมาก เช่น เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล มีลักษณะอ้วนใหญ่ พุงพุ้ย อับราฮัม ลินคอล์นมีลักษณะผอมสูง นโปเลียนมีลักษณะเตี้ยเป็นต้น
6. แม้นจะมีแนวโน้มว่าผู้นำจะมีสติปัญญาสูงกว่าส่วนเฉลี่ยของบุคคลในกลาม แต่คนที่มีสติปัญญาสูงๆ เป็นผู้นำไม่ได้ก็มี
7. บุคคลจะเป็นผู้นำหรือไม่ใช่ผู้นำเพราะมีตำแหน่งหรือมีคุณลักษณะพิเศษแต่บุคคลเป็นผู้นำเพราะการยอมรับของสมาชิก
สรุป
นักวิจัยในยุคเริ่มแรกๆ พยายามศึกษาคุณลักษณะของผู้นำด้วยการตรวจวัดคุณลักษณะเด่นในด้านต่างๆ ทางกายภาพ ได้แก่ คุณลักษณะด้านบุคลิกภาพ ความสามารถของบุคคลที่เชื่อว่า จำเป็นสำหรับผู้นำ ได้มีผลงานวิจัยนับร้อยเรื่องแต่พบว่า ไม่มีคุณลักษณะหนึ่งเพียงอย่างเดียวที่สามารถ ก่อให้เกิดความมีประสิทธิผลของผู้นำ
ผลงานวิจัยในยุคแรกไม่อาจได้อธิบายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นบุคลิกภาพและพฤติกรรมได้มากนัก รวมทั้งไม่อธิบายสถานการณ์ที่ทำให้คุณลักษณะและทักษะมีประสิทธิภาพต่อผู้นำ ส่วนผลงานวิจัยในช่วงหลัง สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนขึ้นว่า คุณลักษณะใดที่เหมาะสม และสอดคล้องต่อประสิทธิผลของผู้นำ และมีการใช้เครืองมือที่เหมาะสมในการวัดคุณลักษณะมากขึ้น คุณลักษณะด้านบุคลิกภาพบางอย่างพบว่า มีความสำคัญและสอดคล้องกับประสิทธิผลของผู้นำได้แก่ ระดับความมีพลัง ความอดทนต่อความเครียด ความมั่นใจในตนเอง ความเชื่อในอำนาจ และความสามารถภายในตน ความมีวุฒิทางอารมณ์และความมีคุณธรรมเป็นต้น
นอกจากนี้แรงจูงใจในด้านการบริหารก็มีความสำคัญต่อประสิทธิผลมากด้วย โดยมีกรอบของแรงขับที่มีผลต่อประสิทธิภาพการบริหาร ได้แก่ การมุ่งอำนาจทางสังคม ความต้องการมุ่งความสำเร็จระดับสูงปานกลาง และความต้องการมุ่งความรักใคร่ผูกพันต่ำ
การที่ผู้บริหารจะประสบความสำเร็จต้องมีความสามารถอยู่ในขั้นพอสมควร จำเป็นต้องมีทักษะสามด้าน ได้แก่ ทักษะด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทักษะด้านมโนทัศน์ และทักษะด้านเทคนิค ซึ่งองค์ประกอบที่เหมาะสมของทักษะเหล่านี้ต่อความมีประสิทธิผลขึ้นอยู่กับประเภทขององค์การ นอกนั้นเป็นทักษะย่อยๆ ที่พบว่ามีความสำคัญขึ้นอยู่กับสถานการณ์ได้แก่ทักษะด้านการชักชวน ความสามามารถในการวิเคราะห์ ความสามารถในการพูด ความสามารถในการจดจำรายละเอียด ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อความสำเร็จของผู้บริหารแทบทุกสถานการณ์
ในปัจจุบันพบว่า มีปัญหาใหม่มากมาย ที่ทำให้บทบาทผู้นำเพิ่มความซับซ้อน ผู้นำในอนาคตจำเป็นต้องมีทักษะใหม่เพิ่มขึ้น เพราะมีปัจจัยภายนอกหลายประการ ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นต่อผู้นำได้แก่ ความสามารถในการคิดเชิงซ้อน ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง การไวต่อการรับรู้ในวัฒนธรรม ความสามารถด้านความยืดหยุ่นทางพฤติกรรม เป็นต้น