ทฤษฎีข่ายใยชีวิต

ทฤษฎีข่ายใยชีวิต

ทฤษฎีข่ายใยแห่งชีวิต (the web of life) หรือ ทฤษฎีของระบบชีวิต (the theory of living system) เป็นหัวใจหรือความคิดหลักของทฤษฎีข่ายใยแห่งชีวิตที่ Capra (1997) นำเสนอ คือ ชีวิตทั้งหลายในระดับต่าง ๆ ล้วนดำรงอยู่อย่างเป็นระบบ ในลักษณะของระบบชีวิตที่โยงใยอยู่ด้วยกันเป็นข่ายใย โดยที่ระบบนิเวศเป็นระบบที่ใหญ่และสำคัญมากที่สุด Capra เชื่อว่า การเข้าถึงความจริงในระบบนิเวศ จะทำให้เข้าใจในระบบชีวิตทั้งหลายด้วย เนื่องจากเขาเชื่อว่าการจัดระบบองค์กรของระบบนิเวศ คือ หลักการจัดองค์กรของระบบชีวิตทุกระบบ มนุษย์ในฐานะระบบชีวิตหนึ่งของระบบใหญ่ จึงต้องจัดแบบแผนชีวิต ระเบียบสังคมให้สอดคล้องกับแบบแผนของระบบนิเวศ ในทัศนะของ Capra การพูดถึงระบบนิเวศก็คือ การพูดถึง “ชุมชน” (community)

วิกฤตการณ์ทั้งหลายในสังคมมนุษย์เกิดจากกระบวนทัศน์ การจัดการที่ขัดแย้งกับระบบใหญ่ที่ตนเองเชื่อมโยงอยู่ ปัญหาทั้งหลายจึงไม่อาจแก้ไขหรือคลี่คลายอย่างยั่งยืนได้หากมนุษย์ไม่ทำความเข้าใจและจัดแบบแผนของระบบมนุษย์ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระบบชีวิตของ ปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคมโดยรวมให้สอดคล้องโยงใยกับระบบใหญ่หรือระบบนิเวศ เขาเชื่อว่าทฤษฎีข่ายใยชีวิตจะนำไปสู่ระบบคิด วิธีคิดแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์และแก้ไขวิกฤตการณ์ทั้งหลาย ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง คือ การคิดเชิงระบบ (systems thinking) ซึ่งเขาเชื่อว่า การเรียนรู้อย่างรอบรู้ในระบบนิเวศ (ecoliteracy) จะทำให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบได้ ในทางกลับกันการเรียนรู้จากระบบชีวิตชุมชนของตนเอง ก็เป็นหนทางที่ทำให้เกิดระบบคิดอย่างเป็นระบบได้ด้วยเช่นกัน ความเข้าใจในกฎของระบบนิเวศ (principles of ecology) จึงมีความสำคัญและเป็นพื้นฐานของการเข้าใจระบบชีวิตในระดับอื่น ๆ ทั้งหมด

กฎของระบบนิเวศ (principles of ecology)

Capra (1997, pp. 13-14) มีทัศนะว่า การเข้าใจกฎแห่งระบบนิเวศหรือกฎธรรมชาตินี้ แม้จะมีความสำคัญแต่สิ่งที่เขาเห็นว่าสำคัญและเน้นมากกว่า คือ การเข้าใจว่าระบบนิเวศจัดการตนเองอย่างไร เขาย้ำถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจกับแบบแผนของการจัดการ หรือ Pattern of Organization มากกว่าพยายามจดจำข้อหรือลำดับของกฎธรรมชาติเพราะเขาเห็นว่า เมื่อใดที่เรากล่าวถึงกฎธรรมชาติ เป็นการยากที่จะระบุว่ามันเริ่มต้นที่ข้อใด จากไหนไปไหน เนื่องจากทั้งหมดเป็นองค์รวมเดียวกัน ต้องทำความเข้าใจไปพร้อมกันทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ไม่สามารถจะแยกเป็นส่วน ๆ ในการสร้างกรอบทฤษฎีเพื่อการศึกษาระบบชีวิตระดับต่าง ๆ (มนุษย์ ครอบครัว ชุมชน สังคม) และทำความเข้าใจวิกฤตของระบบชีวิตทั้งหลายจากแบบจำลองของระบบนิเวศนี้

Capra เรียกแบบจำลองนี้ว่า ข่ายใยชีวิต หรือ Web of life ที่มีความคิดหลัก (main idea/key concept) ในคำหลัก (key word) คือ สัมพันธภาพ (relationship) เครือข่าย (network) แบบแผน (pattern) โครงสร้างกระจาย (dissipative structure) กระบวนการ (process) วงจรป้อนกลับ (feedback loop) การจัดการตนเอง (self organization) การเรียนรู้และการสร้างสรรค์ (learning and creativity) โดยที่คำทั้งหมดเหล่านี้เป็นองค์รวมของคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของระบบชีวิตทุกระดับ เป็นคุณสมบัติและลักษณะที่เชื่อมโยงถึงกันและกัน หมายความว่า คุณสมบัติจะดำรงอยู่ต่อเมื่อมันรวมกันอยู่เป็นองค์รวม ดังนั้นการแยกส่วนออกไปเท่ากับเป็นการทำลายคุณสมบัติของมันด้วย หรือการนำส่วนย่อยมารวมกันก็ไม่อาจเกิดคุณสมบัติเหมือนองค์รวมได้เช่นกัน

ความคิดหลัก

สัมพันธภาพ (relationship) หรือความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน คือ กุญแจสำคัญของระบบชีวิต ระบบนิเวศช่วยให้เราเข้าใจสัมพันธภาพของ ระบบชีวิตทั้งหลายไว้ดังนี้ (Capra, 1997, pp. 13-14)
1. มีสัมพันธภาพระหว่างองค์ประกอบย่อย ๆ ทั้งหมดที่อยู่ภายในระบบใดระบบหนึ่ง
2. มีสัมพันธภาพระหว่างระบบนั้นและระบบใหญ่กว่าที่แวดล้อมอยู่ ซึ่งกล่าวได้ว่า สัมพันธภาพระหว่างตัวระบบกับสิ่งแวดล้อมของมัน คือ สิ่งที่เราหมายถึงคำว่าบริบทหรือ “Context” โดยคำว่า Context นี้มาจากภาษาละติน แปลว่า “ถักทอเข้าด้วยกัน”
3. บริบทจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และการถักทอเข้าด้วยกันนี้เอง ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบ “เครือข่าย” ที่เชื่อมโยงระบบต่าง ๆ ทั้งหลายเข้าด้วยกันทั้งหมด สัมพันธภาพแบบเครือข่ายจึงเป็นหัวใจสำคัญของทฤษฎีข่ายใยชีวิต เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่มิได้เป็นเส้นตรง (nonlinear) หากแต่เป็นสัมพันธภาพที่ไปในทุกทิศทาง เอื้อให้เกิดการเวียนกลับ การเรียนรู้ และการพัฒนาขึ้น

Schuler (อ้างถึงใน อนันต์ ลัคนหทัย, ม.ป.ป., หน้า 15) ได้ให้ความหมายของคำว่า เครือข่าย คือ สายใย (web) ของความสัมพันธ์ทางสังคม มีความเป็นเอกภาพ มีพลังความยึดโยง (cohesive) และการสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งความสัมพันธ์ในเครือข่ายทางสังคมจะประกอบไปด้วย ความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อน (friendship) ความเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายสังคม ความเป็นที่นิยม (popularity) การสื่อสาร (communication) การเชื่อมโยงในเครือข่ายบริการ (connections) ความไว้วางใจ (trustworthy) ซึ่งมีความสำคัญและช่วยสะท้อนความเข้มแข็งของเครือข่ายเหล่านั้น และสิ่งที่จะละเลยไม่ได้ คือ ชุมชนจะต้องมีการจัดการปกครองที่ดี มีผู้นำที่มีคุณธรรมจึงจะทำให้ทุกภาคีอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

บรรณานุกรม

1. จำเนียร ชุณหโสภาค. (2553, หน้า 48-50). รูปแบบการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน โดยการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สังคมวิทยา), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
2. Capra, F. (1997). The web of life. London: Flamingo.
3. อนันต์ ลัคนหทัย. (ม.ป.ป.). เอกสารประกอบการบรรยายชุดวิชาที่ 1 การพัฒนาชุมชนเชิงกลยุทธ์ (strategic community development). เชียงราย: สถาบันราชภัฏเชียงราย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์.