เครื่องปั๊มน้ำ
เครื่องปั๊มน้ำ (Pump)
เครื่องปั๊มน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยส่งผ่านพลังงานจากแหล่งต้นกำเนิดไปยังของเหลว เพื่อทำให้ของเหลวเคลื่อนที่จาก ตำแหน่งหนึ่งไป ยังอีก ตำแหน่งหนึ่งที่อยู่สูงกว่า หรือในระยะทางที่ไกลออกไป โดยจุดเริ่มต้นของเครื่องปั๊มน้ำนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 2,000 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งในช่วงเริ่มแรกมีการใช้พลังงาน ที่ได้จากมนุษย์ สัตว์ ต่อมาจึงได้ใช้พลังงานจากธรรมชาติ เช่น พลังงานจากลม และน้ำเป็นแหล่งต้นกำเนิด ซึ่งในช่วงแรกเพียง เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรเท่านั้น
ในปัจจุบันเครื่องปั๊มน้ำจัดเป็นอุปกรณ์เครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างมาก เป็นอุปกรณ์ ที่ช่วยจัดส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร คมนาคม อุตสาหกรรม ตลอดจนการบำบัดน้ำเสีย เพื่อรักษา สภาวะแวดล้อม ที่ดีให้กับมนุษย์ ซึ่งวิวัฒนาการของเครื่องปั๊มน้ำในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากเดิม ที่ใช้พลังงานจาก แหล่งธรรมชาติมาเป็น การใช้พลังงานจากไอน้ำ จากเครื่องยนต์ และที่นิยมกันมากคือ การใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน
ประเภทของปั๊มน้ำ (Type of Pump)
ปัจจุบันมีการจัดแบ่งประเภทของปั๊มน้ำหลายรูปแบบ และมีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปมากมาย ดังนั้นจึงมี การจัดหมวดหมู่ออกได้เป็น 2 แบบคือ
- แยกตามลักษณะการเพิ่มพลังงานให้แก่ของเหลว หรือการไหลของของเหลวในปั๊ม ได้แก่
ก. ประเภทปั๊มแรงเหวี่ยง หรือปั๊มหอยโข่ง(Centrifugal) เพิ่มพลังงานให้แก่ของเหลวโดยอาศัยแรงเหวี่ยงหนีจุดศูนย์กลาง ปั๊มแบบนี้บางครั้งเรียกว่าแบบ Rota – dynamic
ข. ประเภทโรตารี่ (Rotary) เพิ่มพลังงานโดยอาศัยการหมุนของฟันเฟืองรอบแกนกลาง
ค. ประเภทลูกสูบชัก (Reciprocating)เพิ่มพลังงานโดยอาศัยการอัดโดยตรงในกระบอกสูบ
ง. ประเภทพิเศษ (Special) เป็นปั๊มที่มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถจัดอยู่ในทั้งสามประเภทที่กล่าวมา
- แยกตามลักษณะการขับดันของเหลวในปั๊ม แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
ก. ประเภททำงานโดยไม่อาศัยหลักการแทนที่ของเหลว (Dynamic) เป็นปั๊มประเภทอาศัยแรงเหวี่ยงหนีจุดศูนย์กลางและแบบพิเศษ
ข. ประเภททำงานโดยอาศัยหลักการแทนที่ของเหลว (Positive Displacement) คือการเคลื่อนที่ โดยอาศัยชิ้นส่วนของ เครื่องสูบ ปั๊มประเภทนี้จะรวมเอาแบบโรตารี่และแบบลูกสูบชักเข้าอยู่ในกลุ่มด้วย
นอกจากการแบ่งเป็นสองแบบตามที่กล่าวมาแล้ว ยังอาจแบ่งปั๊มตามวัตถุประสงค์การใช้งานของแต่ละชนิดด้วยเช่น ปั๊มดับเพลิง ปั๊มลม ปั๊มสูญญากาศ ปั๊มบาดาล เป็นต้น
คุณสมบัติของปั๊มแต่ละชนิด
- ลักษณะการทำงานของปั๊มแบบแรงเหวี่ยง
ปั๊มแบบแรงเหวี่ยงเป็นปั๊มที่ได้รับความนิยมสูงสุดเมื่อเทียบกับปั๊มแบบอื่น ๆ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง เหมาะสมกับการใช้งานหลายประเภทประกอบกับการดูแลรักษาง่าย ส่วนประกอบของเครื่อง มีใบพัดอยู่ในเสื้อ เครื่องรูปหอยโข่ง (Volute Casing) ให้พลังงานแก่ของเหลวโดยการหมุนของใบพัด ทำให้สามารถยกน้ำจาก ระดับต่ำขึ้นไปสู่ระดับสูงได้
หลักการทำงานของเครื่อง พลังงานจะเข้าสู่ปั๊มโดยผ่านเพลาซึ่งมีใบพัดติดอยู่ เมื่อใบพัดหมุนของเหลวภายในปั๊ม จะไหลจาก ส่วนกลางของใบพัดไปสู่ส่วนปลายของใบพัด (Vane) จากการกระทำของแรงเหวี่ยง จากแผ่นใบพัดนี้ จะทำให้ เฮดความดัน (Pressure Head) ของเหลวเพิ่มขึ้น เมื่อของเหลวได้รับความเร่ง จากแผ่นใบพัด ก็จะทำให้มีเฮดความเร็วสูงขึ้น ส่งผลให้ของเหลวไหลจากปลายของใบพัดเข้าสู่เสื้อปั๊มรูปหอยโข่ง แล้วออกไปสู่ทางออกของปั๊ม ในขณะเดียวกัน ก็เปลี่ยนเฮดความเร็วเป็นเฮดความดัน ดังนั้นเฮดที่ให้แก่ของเหลวต่อหนึ่งหน่วยความหนักเรียกว่า เฮดรวมของปั๊ม - ลักษณะการทำงานของปั๊มแบบลูกสูบชัก
ปั๊มประเภทลูกสูบชัก (Reciprocating pump) เป็นประเภทที่เพิ่มพลังงาน ให้แก่ของเหลว โดยการเคลื่อนที่ของลูกสูบ เข้าไปอัดของเหลวให้ไหล ไปสู่ทางด้านจ่าย ปริมาตรของของเหลวที่สูบได้ ในแต่ละครั้งจะเท่ากับ ผลคูณของพื้นที่หน้าตัด ของกระบอกสูบกับช่วงชักของกระบอกสูบนั้น
การเลือกเครื่องปั๊มน้ำ
การเลือกเครื่องปั๊มน้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ อาคารขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม และบ้านพักอาศัย ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- การเลือกเครื่องปั๊มน้ำสำหรับอาคารขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรม
เครื่องปั๊มน้ำสำหรับอาคารขนาดใหญ่ หรือโรงงานอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นต้องพิจารณาให้ละเอียด เนื่องจากมีขนาดใหญ่และมีเรื่องราคา และค่าบำรุงรักษา เข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อมูลที่จำเป็นต้องทราบก่อนที่จะทำการเลือกเครื่องปั๊มน้ำมีดังนี้- ชนิดของของเหลวที่ต้องการสูบ อุณหภูมิ ความหนืด ความหนาแน่น
- อัตราการสูบ (Flow rate)ที่ต้องการ
- ความดัน หรือความสูงที่ต้องยกของเหลวนั้น ๆ ขึ้นไป หรือที่เรียกว่า เฮด (Head)
- ความเร็วรอบของปั๊มที่เป็นไปได้
- ลักษณะของระบบท่อที่มีอยู่
- ข้อมูลต่าง ๆ จากผู้แทนจำหน่ายเกี่ยวกับเครื่องปั๊ม
- การเลือกเครื่องปั๊มน้ำสำหรับบ้านพักอาศัย
เครื่องปั๊มน้ำสำหรับบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่ จะเป็นชนิดสำเร็จรูป ประกอบด้วยตัวปั๊มและถังความดัน ซึ่งจะมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น แบบที่เป็นตัวปั๊มเกาะอยู่บนถังความดัน และมีฝาครอบที่เรียกว่า "ปั๊มกระป๋อง" ตัวปั๊มจะควบคุมการทำงาน ด้วย สวิทซ์ความดัน (Pressure Switch) ซึ่งจะมีการทำงานอัตโนมัติเมื่อมีการเปิดใช้น้ำในบ้าน ความดันในท่อ จะลดลงจนถึง ค่าที่ตั้งไว้ ปั๊มก็จะทำงานจ่ายน้ำ เข้าเส้นท่อ เมื่อหยุดหรือปิดอุปกรณ์ ความดันจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงค่าที่ตั้งไว้ ปั๊มก็จะหยุด ทำงาน เครื่องปั๊มน้ำแบบนี้ มักมีขนาดให้เลือกไม่มากนัก เพราะผลิตมาเพื่อใช้ในครัวเรือนขนาดเล็ก ๆ จนถึงขนาดกลาง ถ้าเป็นบ้านหรืออาคารขนาดใหญ่ ต้องใช้ชุดเครื่องปั๊มน้ำแบบที่จ่ายน้ำได้มาก และสามารถเลือก ความดันได้หลายระดับ ในการเลือกปั๊มน้ำใช้ในบ้านพักอาศัย ควรพิจารณาดังนี้
- ควรเลือกปั๊มที่มีถังความดันประกอบสำเร็จเป็นชุด เพราะถังความดันจะเก็บน้ำช่วยรักษาความดันภายในท่อส่งน้ำ และมีผลให้ในขณะใช้งานปั๊มน้ำไม่ต้องทำงานตลอดเวลา จึงช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า และปั๊มน้ำจะมีอายุการใช้งานนานขึ้นด้วย
- อุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องประกอบกันมาอย่างดี มีความคงทน ไม่เป็นสนิมง่าย และมีตัวป้องกันมอเตอร์ไหม้
- เลือกกำลังมอเตอร์ของปั๊มให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ไม่เลือกขนาดกำลังมอเตอร์ที่เล็กเกินไป เพราะจะทำให้ปั๊มทำงานบ่อย สิ้นเปลืองไฟฟ้า
การเลือกกำลังมอเตอร์ของปั๊ม หรือการเลือกขนาดของปั๊มนั้น จะเลือกซื้อตามลักษณะการออกแบบของผู้ผลิต ซึ่งจะออกแบบตามหลักเกณฑ์ดังนี้
ก. ออกแบบตามระยะความสูงของท่อที่จะต่อจากระดับพื้นดินถึงจุดจ่ายน้ำสูงที่สุดของตัวบ้านหรืออาคาร ข. ออกแบบตามจำนวนก๊อกน้ำที่อาจมีการเปิดใช้น้ำพร้อมกัน เช่น ซักผ้า อาบน้ำ รดต้นไม้ ล้างรถยนต์ ประกอบอาหาร ล้างจาน ฯลฯ
- ควรเลือกปั๊มที่มีถังความดันประกอบสำเร็จเป็นชุด เพราะถังความดันจะเก็บน้ำช่วยรักษาความดันภายในท่อส่งน้ำ และมีผลให้ในขณะใช้งานปั๊มน้ำไม่ต้องทำงานตลอดเวลา จึงช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า และปั๊มน้ำจะมีอายุการใช้งานนานขึ้นด้วย
ตัวอย่างการพิจารณาเลือกซื้อปั๊มน้ำ
บ้าน 2 ชั้น ระยะความสูงของท่อส่งน้ำที่จะใช้ส่งน้ำขึ้นชั้นที่ 2 ประมาณ 6-7 เมตรมีห้องน้ำ 2 ห้อง ซึ่งประกอบด้วยชักโครก 2 ชุด สายชำระ 2 ชุด ฝักบัว 2 หัว อ่างล้างหน้า 1 ชุด มีก๊อกน้ำสำหรับซักล้างและห้องครัวอีก 2 ตัว จะเลือกซื้อปั๊มน้ำอย่างไร ?
กรณีที่ 1 พิจารณาจากความสูงของท่อน้ำ
ถ้าพิจารณาจากความสูงของท่อของตัวบ้าน จะต้องต่อท่อส่งน้ำให้สูงจากระดับพื้นดินถึงชั้นบนประมาณ 6-7 เมตร เมื่อร้านค้ามี รายละเอียด ของปั๊มน้ำแต่ละขนาดให้เลือก ดังแสดงในตารางข้างบน
ดังนั้นจึงควรเลือกรุ่นที่กำหนดความสูงของท่อส่งน้ำเท่ากับหรือสูงกว่าท่อส่งน้ำของบ้าน คือเลือกที่ความสูงของท่อส่งน้ำสูง 8 เมตร จะได้ขนาดของปั๊มที่มีกำลังมอเตอร์รุ่น B คือขนาด 100 วัตต์ (0.134 แรงม้า) ซึ่งมีปริมาณน้ำส่ง 16 ลิตร / นาที หรือจะเลือกรุ่น C คือขนาด 150 วัตต์ (0.201 แรงม้า) ได้ปริมาณน้ำส่ง 21 ลิตร /นาที
กรณีที่ 2 พิจารณาจากจำนวนก๊อกน้ำที่เปิดพร้อมกันและความสูงของบ้าน
ควรพิจารณาเลือกกำลังของมอเตอร์เป็นหลัก รายละเอียดต่าง ๆ ที่ควรพิจารณาขอดูจากผู้ขาย ดังตารางข้างล่าง
จากตาราง ถ้าคาดว่าจำนวนก๊อกน้ำที่จะเปิดใช้พร้อมกันมีไม่เกิน 3 จุด ก็ควรเลือกปั๊มน้ำรุ่นที่ 1 ซึ่งมีกำลังมอเตอร์ 125 วัตต์ (0.262 แรงม้า) มีปริมาณน้ำส่ง 18 ลิตร/ นาที ระยะส่งของท่อน้ำสูงถึง 9 เมตร และใช้ได้ดีกับอาคารสูง 2 ชั้น
การติดตั้งปั๊มน้ำและถังเก็บน้ำ
การติดตั้งปั๊มน้ำและถังเก็บน้ำที่ใช้อยู่ตามบ้านและอาคารมีอยู่ 2 แบบ
ก. ติดตั้งให้ถังเก็บน้ำอยู่บนดิน
ข. ติดตั้งให้ถังเก็บน้ำอยู่ใต้ดิน
ทั้ง 2 แบบควรกระทำดังนี้
- ควรตั้งระยะดูดไม่ให้เกิน 9 เมตร เพื่อให้การสูบน้ำเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ ระยะท่อดูดน้ำจากปั๊มน้ำถึง ถังเก็บน้ำที่ อยู่บนพื้นดิน ไม่ควรเกิน 9 เมตร หรือสำหรับถังเก็บน้ำที่อยู่ใต้ดิน ควรให้ปลายท่อดูดน้ำจากก้นถังถึง ระดับกึ่งกลาง ของปั๊มน้ำไม่เกิน 9 เมตรเช่นกัน
- ควรติดตั้งปั๊มน้ำใกล้บ่อน้ำ ควรให้ระยะความลึกของท่อน้ำจากกึ่งกลางปั๊มน้ำถึงระดับใต้ผิวน้ำในบ่อไม่เกิน 9 เมตรเช่นกัน เพื่อความสะดวกต่อการซ่อมแซมและการระบายน้ำ
- ควรยึดเครื่องกับแท่นหรือพื้นที่แข็งแรง เช่น คอนกรีต หรือทำกรอบไม้เพื่อยึดขาปั๊มเพื่อเข้ากับพื้นให้มั่นคงและได้ระดับ ไม่เช่นนั้นจะมีเสียงดังขณะปั๊มทำงาน
- การต่อท่อ การต่อท่อที่ดีจะต้องมีข้อต่อให้น้อยที่สุด เพื่อลดการสูญเสียอัตราการไหลของน้ำ เนื่องจากความเสียดทาน ภายในท่อ ท่อทางด้านสูบควรมีความลาดเอียงไม่เกิน 2 เซนติเมตรทุกความยาวท่อ 1 เมตร เพื่อให้การสูบน้ำของปั๊มน้ำ มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องระวังอย่าให้เกิดรอยรั่วตามข้อต่อไม่ว่าจะเป็นท่อทางด้านสูบหรือด้านส่ง เพราะจะมีผลต่อ ประสิทธิภาพการทำงานของปั๊มน้ำ คือถ้าท่อทางด้านสูบก่อนเข้าปั๊มน้ำมีการรั่ว จะทำให้มีอากาศเกิดขึ้นในท่อ และทำให้ ไม่สามารถ สูบน้ำให้ไหลต่อเนื่องและเต็มท่อได้ ส่งผลให้น้ำทางด้านส่งหรือด้านที่ต่อออกจากปั๊มน้ำ ไปถึงก๊อกน้ำ มีอัตราการไหลน้อยกว่าปรกติ และหากยังคงมีอากาศเข้าในระบบมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ปั๊มน้ำไหม้ได้ กรณีที่มีการรั่วท่อ ด้านส่ง หรือท่อที่ต่อไปก๊อกน้ำ จะมีผลให้ปั๊มน้ำทำงานบ่อยครั้ง การรั่วเพียงเล็กน้อย เป็นเพียงหยดน้ำเล็ก ๆ ก็มีผลทำให้ ความดันในเส้นท่อลดลง และเมื่อลดลงถึงระดับที่ตั้งไว้ สวิตซ์ความดันจะสั่งงาน ให้ปั๊มน้ำทำงาน
ดังนั้นเมื่อต่อท่อของ ระบบเสร็จแล้ว ควรมีการทดสอบการรั่วของท่อ โดยอัดน้ำเข้าในเส้นท่อจากนั้น ปล่อยทิ้งไว้ช่วง ระยะเวลา หนึ่ง หากความดันในปั๊มน้ำไม่มีการลดลงก็แสดงว่าระบบท่อไม่มีการรั่ว
สำหรับการสูบน้ำจากบ่อ การต่อท่อด้านสูบของปั๊มน้ำที่จะต้องจุ่มปลายท่อลงในบ่อน้ำควรใส่ฟุตวาล์ว (Foot Valve) และตัวกรองน้ำ ไว้ที่ปลายท่อสูบด้วย เพื่อกรองเศษใบไม้ เศษหิน เศษดิน ไม่ให้เข้าไปอุดตันในปั๊มน้ำ และฟุตวาล์ว ยังป้องกันน้ำ ในระบบท่อไหลย้อนกลับไปในบ่อน้ำ ขณะที่ปั๊มหยุดทำงาน และฟุตวาล์วควรสูงจากพื้นก้นบ่อ อย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ผงหรือตะกอนถูกสูบขึ้นมา - การติดตั้งถังเก็บน้ำ สำหรับบ้านพักอาศัยทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีความสูงไม่เกิน 3 ชั้น ควรติดตั้งถังเก็บน้ำไม่ว่าจะเป็นถังเก็บน้ำ บนดินหรือใต้ดิน ให้ต่อจากมิเตอร์วัดน้ำของการประปา เพื่อสำรองน้ำจาก ท่อประปาไว้ใน ถังเก็บน้ำ ให้มากพอ แล้วจึงต่อ ท่อน้ำส่งเข้าตัวปั๊มน้ำ เมื่อเราใช้น้ำตามจุดต่าง ๆ พร้อมกันหลายจุด แรงดันในท่อน้ำจะลดลง ปั๊มน้ำก็จะเริ่มทำงานเกิด แรงดัน ให้น้ำไหลได้มากขึ้น แต่ถ้าเป็นอาคารสูงหลาย ๆ ชั้น การติดตั้งจะเหมือนแบบตาม บ้านอาศัย แต่จะเพิ่มถังเก็บน้ำอยู่บน ชั้นสูงสุด ของอาคาร แล้วปั๊มน้ำจากระดับพื้นดินสู่ถังเก็บน้ำชั้นบน เพื่อสำรองไว้ใช้ตามจุดใช้น้ำตามแต่ละชั้นของอาคาร
การใช้งานปั๊มน้ำ
เมื่อติดตั้งปั๊มน้ำและระบบท่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนใช้ปั๊มน้ำควรปฏิบัติดังนี้
- ปิดวาล์วของท่อด้านส่งน้ำ ปิดอุปกรณ์ใช้น้ำและปิดก๊อกน้ำให้สนิท
- ถอดจุกเติมน้ำของตัวปั๊มน้ำ
- เติมน้ำให้เต็มจนมีน้ำล้น
- ปิดจุกให้แน่น
- ต่อระบบไฟฟ้า ให้ปั๊มทำงาน
- เมื่อปั๊มน้ำทำงานแล้ว ให้เปิดวาล์วของท่อด้านส่งน้ำ หรืออุปกรณ์ใช้น้ำทีละน้อย แต่ถ้าปั๊มน้ำทำงานแล้ว มีน้ำออกน้อยหรือ น้ำไม่ไหล อาจเป็นเพราะว่าครั้งแรกเติมน้ำน้อยเกินไป ให้เติมน้ำใหม่อีกครั้ง
การบำรุงรักษาปั๊มน้ำ
ตารางที่ 3 การบำรุงรักษาปั๊มน้ำ
สูบน้ำขึ้น แต่มีอาการดังนี้ |
สาเหตุ อาจมาจาก |
วิธีแก้ไข |
มอเตอร์ทำงานไม่หยุด |
สวิตซ์ความดันเสีย |
ซ่อม หรือเปลี่ยนใหม่ |
ก๊อกน้ำปิด แต่ปั๊มทำงาน |
1.ท่อดูดหรือท่อส่งรั่ว |
1.ซ่อมแซม |
|
2.น้ำรั่วจากชิ้นส่วนกันการรั่วซึม |
2.เปลี่ยนใหม่ |
|
3.การปิดตัวของเช็ควาล์วไม่สนิท |
3.ทำความสะอาดเช็ควาล์ว |
ปั๊มทำงานบ่อยเกินไป |
1. สวิตซ์ความดันเสีย |
1.เช็คสวิตซ์ความดันหรือเปลี่ยนใหม่ |
|
2.อากาศในถังมีไม่เพียงพอ |
2.ถ่ายน้ำออกจากถังให้หมดและทำความสะอาด หน้าสัมผัสสวิตซ์ความดัน |
|
3.ปริมาณการใช้น้ำมากและบ่อย |
3.ปิดก๊อกน้ำให้สนิท |
น้ำไหลช้า |
1.ท่อด้านส่งมีการอุดตัน |
1.แก้ไขซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ |
|
2.น้ำทางด้านสูบมีน้อยหรือไม่มี |
2.ปิดปั๊มน้ำ |
สูบน้ำไม่ขึ้น แต่มีอาการดังนี้ |
|
|
มอเตอร์ไม่ทำงาน |
1.ปลั๊กไฟหลวม |
1.เสียบปลั๊กให้แน่น |
|
2.สวิตซ์หลักปิดหรือฟิวส์ขาด |
2.ตรวจสอบสวิตซ์และเปลี่ยนฟิวส์ |
|
3.ขดลวดในมอเตอร์หรือสวิตซ์ความดันเสีย |
3.ซ่อมมอเตอร์หรือสวิตซ์ความดันหรือเปลี่ยนใหม่ |
|
4.ปลั๊กไฟหรือสายไฟขาด |
4.ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนปลั๊กไฟและสายไฟ |
มอเตอร์ทำงานผิดปรกติ |
1.อากาศเข้าไปในท่อดูด |
1.เช็ครอยต่อของท่อและซ่อม |
|
2.ตัวอัดอากาศอัตโนมัติเสีย |
2.เปลี่ยนตัวใหม่ |
|
3.น้ำที่ใช้ล่อไม่เพียงพอ |
3.ปิดเครื่องแล้วเติมน้ำล่อใหม่ |
|
4.ท่อทางดูดตัน |
4.เช็คและทำความสะอาดท่อ |
|
5.ระดับน้ำในแหล่งน้ำต่ำกว่าปลายท่อดูด |
5.ติดตั้งปลายท่อดูดให้ลึกลงไปในน้ำ |
มอเตอร์ทำงานมีเสียงดังผิดปรกติ มี 2 กรณี |
|
|
- มอเตอร์ร้อนจัด |
1.ใบพัดล็อกเกิดจากสนิมหรือทราย |
1.เปิดฝาหัวปั๊มและทำความสะอาดใบพัด |
|
2.ลูกปืนเสีย |
2.เปลี่ยนใหม่ |
- ความเร็วรอบของมอเตอร์ลดลง |
1.ตัวเก็บประจุรั่วหรือละลาย |
1.เปลี่ยนใหม่ |
|
2.แรงดันไฟฟ้าต่ำกว่าพิกัดใช้งาน |
2.ปรึกษาการไฟฟ้าในเขตนั้นๆ |