ระบบกันซึม กันชื้นในประเทศไทย
วัสดุ - ระบบกันซึมงานคอนกรีต
ประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นฝนตกชุก ทำให้มีความชื้นในอากาศ และในดินค่อนข้างสูง และเนื่องจากในช่วงระหว่างวันโดยเฉพาะฤดูหนาว คอนกรีตจะกักเก็บความร้อนที่มีมา และถ่ายคืนสู่ท้องฟ้า ในตอนกลางคืนที่อากาศเย็นจัด ทำให้คอนกรีตขยายและ หดตัวอย่างรวดเร็ว จนอาจเกิดการแตกร้าวได้ หากเป็น ลานคอนกรีตกว้าง หรือไม่มีการเว้นร่องรอยต่อ เพื่อป้องกันซึ่งแผ่นกันซึม ก็จัดเป็นฉนวนชนิดหนึ่งที่ช่วยลดความร้อน สู่เนื้อคอนกรีต และหากมีการแตกร้าวแผ่นกันซึม ก็สามารถป้องกันน้ำมิให้ทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินได้
ดังนั้น การก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ก็ตาม จำเป็นต้องมีการออกแบบและวางข้อกำหนดต่าง ๆ รองรับ เพื่อป้องกันความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นจากการรั่วซึม หรือจากความชื้นที่ซึมผ่านเข้าสู่ตัวอาคาร หรือ สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ได้
สาเหตุที่ก่อให้เกิดการรั่วซึม หรือเกิดความชื้นซึมผ่านปัญหาการรั่วซึม หรือเกิดความชื้นซึมผ่าน
นอกจากส่งผลโดยตรงต่อโครงสร้างแล้ว ยังก่อให้เกิดการหลุดร่อนของวัสดุที่ปิดทับ เช่น สี, Wallpaper
และความชื้นที่สะสมอาจก่อให้เกิดเชื้อรา ส่งกลิ่นอับทำลายคุณภาพชีวิต ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าว
มักเกิดจาก
- รอยต่อของโครงสร้างคอนกรีต มักเกิดกับโครงสร้างคอนกรีตที่ต้องเททีละส่วน เช่น ผนังชั้นใต้ดิน (FOUNDATION WALL) พื้นดาดฟ้า บ่อเก็บน้ำ หรือสระน้ำขนาดใหญ่
- ส่วนผสมของคอนกรีตไม่ถูกต้อง และการเทคอนกรีตไม่ดีพอ
- การขาดความรู้ในการก่อสร้าง และเลือกใช้วัสดุกันซึม หรือการใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพ
วัสดุ - ระบบป้องกันการรั่วซึม และความชื้นในประเทศไทย และกรรมวิธีในการติดตั้งแม้ว่ามีความต่างในภูมิประเทศ และภูมิอากาศแต่ในภาพรวมแล้ว เนื่องจากมีการพัฒนาประสิทธิภาพของวัสดุ-ระบบที่ดีมีมาตรฐาน มีการแบ่งประเภท การใช้งานที่เหมาะสม จึงทำให้พบปัญหาภายหลังน้อยในประเทศไทย แบ่งวัสดุและระบบงานประเภทนี้ ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้
- ประเภททาเคลือบ (Coating)
- ประเภทแผ่นสำเร็จรูปจากโรงงาน (Membrane)
1. ประเภททาเคลือบ (Coating) กรรมวิธีคือ จะใช้น้ำยาทาที่พื้นผิวอย่างน้อย 2 ครั้ง เมื่อน้ำยาแห้งก็จะกลายเป็นฟิล์มบาง ๆ ประมาณ 600 - 1000 ไมครอน หรือมากกว่านั้น ตามคุณสมบัติของแต่ละวัสดุ ซึ่งจะแบ่งประเภทน้ำยาออกได้อีก 2 ประเภท คือ
- แบบทนรังสี UV ได้ จะเป็นน้ำยาที่มีส่วนผสมของ ACRYLIC เหมาะใช้กับด้านนอกอาคารดาดฟ้าผนังด้านนอก
- แบบไม่ทนต่อรังสี UV หรือเป็นแบบกันซึมทั่วไป พวกนี้จะใช้ทาภายในหรือมีการฉาบปิด เช่น ในบ่อเก็บน้ำใต้ดิน สระว่ายน้ำ แท้งค์น้ำ ห้องน้ำ
โดยทั้ง 2 ประเภทนี้แบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ
- ชนิด CEMENT BASE เป็นพวกไม่มีความยืดหยุ่น แบ่งเป็นประเภททาเคลือบปิดผิวกันน้ำซึมผ่าน และประเภทเคมีในวัสดุทาเคลือบ โดยจะทำปฏิกิริยากับน้ำและปูนขาวในเนื้อคอนกรีต เป็นฟิล์มอุดรูพรุนเล็ก ๆ ที่ผิว และเนื้อคอนกรีต
- ชนิด WATER BASE ชนิดนี้เป็นพวกยางมะตอยปรุงแต่งประเภท RUBBER BITUMEN เช่น MULSEAL, FLINKOTE, EVODE โดยมากพวกนี้เป็นสูตรที่ต้องผสมน้ำ
- ชนิด SOVENT BASE ชนิดนี้คล้ายแบบที่ 2 แต่เป็นสูตรผสมกับทินเนอร์ หรือแอลกอฮอลล์
- ชนิดมีความยืดหยุ่นสูง สามารถขยายหรือยืดออกไปได้ตั้งแต่ 300-1,300% หรือมากกว่า ส่วนมากเป็นพวกยางสังเคราะห์ (SYNTHETIC RUBBER) มีทั้งชนิดเป็น WATER BASE และ SOVENT BASE เช่น ACRYLIC, POLYURETHANE และ NEOPRENE BITUMEN
2. ประเภทแผ่นสำเร็จรูปจากโรงงาน (Membrane) ทำจากยางประเภทดัดแปลงจากสารธรรมชาติที่ประกอบ ด้วยไฮโดรคาร์บอนเป็นส่วนใหญ่ (MODIFIED BITUMEN) เป็นที่นิยมใช้มากในประเทศไทย เนื่องจากทนร้อนและทน UV ได้ดี ซึ่งประเภทนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- ชนิดแผ่นมีกาวในตัว (SELF ADHESIVE)
- ชนิดแผ่นไม่มีกาวในตัวเอง (NON SELF ADHESIVE)
2.1 ชนิดแผ่นมีกาวในตัว (SELF ADHESIVE) แผ่นปูหนาประมาณ 1.5-2 mm. ผิวของแผ่นส่วนมาก จะทำด้วยแผ่นพลาสติก และบางชนิดก็จะทำเป็นผิวทรายละเอียด, ผิวเกร็ดหิน หรือผิวโลหะฟอยล์ และมีการแยกเป็น 2 ประเภทคือ
- ชนิดที่ไม่มีการเสริมความแข็งแรงของแผ่น
- ชนิดที่มีการเสริมความแข็งแรงของแผ่นจะเสริมด้วยแผ่นพลาสติก หรือใยแก้ว
การปูแผ่น จะใช้กาวใต้แผ่นเป็นตัวยึดติดกับผิวคอนกรีต ในลักษณะเต็มแผ่น (FULLY BOND) กาวของแผ่นอาจใช้เนื้อยางของแผ่นเป็นกาว หรือทำกาวพิเศษทำให้แน่นหนายิ่งขึ้น
2.2 ชนิดแผ่นไม่มีกาวในตัวเอง (NON SELF ADHESIVE) แบ่งเป็น 3 ประเภทตามเทคนิคในการปู
2.2.1 เทคนิคการปูและเชื่อมรอยซ้อนทับต่อแผ่นด้วยความร้อน (TORCH ON SYSTEM) เป็นการใช้ความร้อนเผาให้ยางส่วนล่างของแผ่นละลายออกมาเป็นกาวเพื่อยึดติดกับผิวคอนกรีต ผิวของแผ่น มักจะทำเป็นผิวทรายละเอียด ผิวเป็นเกร็ดหินสีต่าง ๆ หรือแผ่นโลหะ ประเภทฟอยล์ แผ่นจะมีขนาด 1 x 10 ม. เวลาติดตั้งต้องทาน้ำยารองพื้นที่หน้างานก่อนการเป่าด้วยไฟเพื่อให้บริเวณ ผิวสัมผัสละลายติดไปกับส่วนของดาดฟ้า หรือผนัง โดยจะมีชนิดผิวหินเกร็ด หินกรวด และหินทราย หนา 1.5 มม. , 3 มม. , 4 มม. ตามสภาพหน้างาน แผ่นปูส่วนใหญ่มักเสริมความแข็งแรงบริเวณกลางความหนาของแผ่นด้วยเส้นใยสังเคราะห์ชนิดต่าง ๆ กัน ซึ่งเมื่อประกอบเป็นแผ่นสำเร็จรูปแล้ว ก็จะมีความยืดหยุ่น ประมาณ 30-60% ขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ผลิต อีกวิธีซึ่งมีราคาถูกกว่า คือการเสริมด้วยใยแก้ว (GLASS FABRIC) โดยจะมีความยืดหยุ่นเพียงประมาณ 3% ทำให้ฉีกขาดง่าย
2.2.2 เทคนิคการปูแผ่น ด้วยการใช้กาวต่างหาก เป็นการทากาวยึดแผ่นติดกับผิวคอนกรีตและ รอยซ้อนทับระหว่างแผ่น แผ่นชนิดนี้ทำจากเนื้อยางสังเคราะห์ (SYNTHETIC RUBBER) ล้วน ไม่มีการเสริมความแข็งแรงของแผ่นเพราะเนื้อยางจะมีความยืดหยุ่นสูงอยู่แล้ว การปูด้วยวิธีนี้ไม่เหมาะกับการใช้ระยะยาว เพราะมักจะเกิดการหลุดล่อน ทำให้น้ำรั่วซึมผ่านรอยซ้อนทับต่อกันของแผ่นได้และมักเกิดการพองบวม
2.2.3 เทคนิคการปูแผ่นและเชื่อมรอยต่อด้วยระบบเทร้อน ส่วนมากจะเป็นแผ่นที่มีความยืดหยุ่นน้อย เป็นแผ่นที่อัดจากวัสดุพวกใยหินเรียกว่า FELT หรือ ASPHALT FELT , ASPHALT PAPER FELT การทำป้องกันจะทำการปูแผ่น FELT นี้ซ้อนทับกันหลาย ๆ ชั้น โดยมียางมะตอยต้มร้อนละลายเป็นกาวยึดแผ่นติดกับผิวหลังคา และยึดแผ่นแต่ละชั้นให้ติดกัน
การปูแผ่นทำได้ทั้งระบบเต็มแผ่น (FULLY BOND) และระบบไม่เต็มแผ่น (PARTAIL BOND) การปูแผ่นกันรั่วซึมในประเทศไทย จะนิยมระบบเต็มแผ่น (FULLY BOND) มากกว่าระบบไม่เต็มแผ่น (PARTAIL BOND) เพราะมีกรรมวิธีที่ง่ายกว่า เพราะเมื่อเกิดการรั่วซึม น้ำก็จะไม่กระจายตัวสร้าง ความเสียหายแก่ส่วนอื่น แต่ข้อเสียคือ ระบบนี้จะกักเก็บความชื้น เกิดการบวมพอกเป็นจุด ๆ ได้ ซึ่งต่างจากระบบไม่เต็มแผ่น (PARTAIL BOND) ที่ไม่ค่อยเกิดปัญหาเรื่องความชื้น เนื่องจากมีรอยต่อมาก แต่มีราคาค่อนข้างสูงเพราะต้องปูซ้อนทับกันหลาย ๆ ชั้น และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด อีกทั้งหากเกิดความเสียหายขึ้นจริง น้ำก็จะกระจายไปในวงกว้างกว่ามาก ตำแหน่งของโครงสร้างส่วนที่จะทำการป้องกันการรั่วซึม
การเลือกใช้วัสดุ-ระบบป้องกันรั่วซึมอย่างไรให้เหมาะสม จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโครงสร้าง ที่จะทำการป้องกัน ซึ่งได้แก่
1. ส่วนที่อยู่ต่ำกว่าระดับดิน-ทั้งส่วนพื้นและ ผนัง ได้แก่ ส่วนที่เป็นห้องใต้ดิน อุโมงค์ จะนิยมใช้การกันซึม ด้วยแผ่นกันซึมชนิดแผ่นมีกาวในตัว (SELF ADHESIVE) เพราะด้วยผิวที่เป็นพลาสติกจะทำหน้าที่ ยึดเกาะกับใต้ผิวพื้นคอนกรีตคอนกรีตหล่อได้ดี ในขณะที่ ระบบทาเคลือบใช้กับงานผิวคอนกรีตหยาบ ซึ่งเราก็ต้อง เทคอนกรีตหยาบลงในชั้นแรกก่อนการเทคอนกรีตพื้นจริง ทับ เมื่อคอนกรีตหยาบแตกร้าว ระบบทาเคลือบนี้ก็จะ เสียหายตามไปด้วย
2. ผนัง - เหนือระดับดิน ระบบ CEMENT BASE จะเหมาะกับผิวผนังที่เปียกชื้น ไม่สามารถทำให้แห้งได้ มักเกิดในที่ที่ฝนตกชุก แต่หากเป็นที่แห้งจะได้ใช้ทั้ง ระบบทาเคลือบชนิดอื่น ๆ และระบบแผ่นสำเร็จรูป โดยเฉพาะชนิดแผ่นมีกาวในตัว จะสะดวกในการติดตั้ง โอกาสผิดพลาดน้อย อายุการใช้งานในดินจะยาวกว่า ระบบแผ่นชนิดอื่น
3. หลังคาคอนกรีต นิยมใช้การปูแผ่นสำเร็จรูป ซึ่งทำได้ 2 กรณี คือ หากเป็นระบบเต็มแผ่น (FULLY BOND) ชนิดแผ่นมีกาวในตัว (SELF ADHESIVE) จะมี ราคาถูก แต่โดยมากหลายยี่ห้อจะต้องเทคอนกรีตทับหน้า (Topping) ด้วย เพื่อป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์ แต่หากใช้ระบบการปูและเชื่อมรอยซ้อนทับ ต่อแผ่นด้วยความร้อน (TORCH ON SYSTEM) จะมีราคาสูง แต่เมื่องานแล้วเสร็จ ก็จะสามารถใช้งานพื้นหลังคาได้โดยไม่ต้องเทคอนกรีตทับหน้า (Topping)
หมายเหตุ ปัจจุบัน มีการพัฒนาแผ่นกันซึมชนิดใหม่ คือ Dimple sheet และ drainage membrane เป็นวัสดุที่มีผิวขรุขระ มีร่องลึกเพื่อใช้ในการระบายน้ำได้ดี นิยมใช้ในต่างประเทศ แต่เท่าที่สำรวจพบว่า Dimple sheet ในไทยพอมีใช้อยู่บ้าง แต่ drainage membrane อาจมีการใช้น้อยมาก หรือแทบยังไม่มีการนำมาใช้ เพราะ ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงการก่อสร้างไทย อีกทั้งในปัจจุบัน นอกจากการใช้ Waterproof ในการทำ Foundation wall protection แล้ว ชั้นนอกสุดจะใช้แผ่นเซโลกรีต กันดินมิให้ทำความเสียหายกับ membrane และมีแผ่น Geotextile ใช้ปิดทับเพื่อช่วยใน การกันดินไหลมาสู่ตัว membrane หรือใช้เพื่อการรีดน้ำออกในกรณีการปรับปรุงสภาพดินที่มีน้ำ หรือความชื้นสูง นิยมใช้กับงานห้องใต้ดิน, งานเขื่อน, อุโมงค์รถ/รถไฟฟ้าใต้ดิน
วัสดุ - ระบบกันซึมงานหลังคา และวัสดุมุงจากการที่เป็นประเทศแถบร้อนชื้น ฝนตกชุก รูปแบบ (Shape) และรูปทรง (Form) หลังคาของอาคาร ส่วนใหญ่จะเป็นทรงจั่ว (Gable) และปั้นหยา (Hip) นอกนั้นจะเป็นหลังคาคอนกรีตเรียบ (Flat slab) ซึ่งรูปทรงสูง เตี้ย ลาดชัน แค่ไหน จะขึ้นอยู่แต่ละวัฒนธรรมของแต่ละภาค คือ เหนือ ใต้ กลาง และตะวันออก แต่ทั้งนี้
ข้อกำหนดทางเทคนิคต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายควบคุมอาคาร และบริษัทผู้ผลิตวัสดุมุงนั้น ๆ
วัสดุมุงหลัก ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาคารทางศาสนา เช่น วัด โบสถ์ จะเป็นกระเบื้องดินเผาเคลือบหรือที่เรียกว่า "เซรามิค" บ้านเรือนประชาชน ในต่างจังหวัด หรือชานเมือง จะมุงด้วยใบไม้ เช่น จาก หญ้าคา ปีกไม้ สังกะสี หรือกระเบื้องซีเมนต์ใยหิน หากเป็นอาคารราชการ หรืออยู่ในสังคมเมือง จะมุงด้วยกระเบื้องดินเผา, กระเบื้อง เคลือบ หรือกระเบื้องคอนกรีตตามแต่ฐานะ นอกนั้นจะเป็นงานที่นำสไตล์ตะวันตกมาใช้, งานอาคารสาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน สนามบิน จะนิยมใช้วัสดุมุงที่ทันสมัย มาเป็นส่วนประกอบในงานหลังคา เพื่อแสดงถึงความหรูหรา สง่างาม ทันสมัย เช่น กระจก, Acrylic, Metal sheet, Polycarbonate, Fabric หรือไม่ก็เทคอนกรีต ฉาบเรียบ (FLAT SLAB)
สาเหตุที่ก่อให้เกิดการรั่วซึม เกิดความชื้นซึมผ่านหรือและแตกร้าว
1. ปัญหาที่ตัววัสดุมุง เช่น การแตกร้าว เกิดรูรั่ว จากความเสื่อมสภาพของวัสดุมุง หรืออุปกรณ์ประกอบ เช่น แผ่นยาง น๊อต-ข้อต่อหลุด หรือการกระทบกระเทือนจากของแข็ง
2. ปัญหาทางเทคนิคการติดตั้ง มักเกิดกับงานที่ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญงาน เพราะใช้วัสดุที่ใช้ยังไม่แพร่หลาย การติดตั้งยาก รวมถึงการฝึกฝีมือแรงงานยังไม่แพร่หลาย เช่น งานกระจกขนาดใหญ่ งานหลังคาผ้าใบเคลือบเทปลอน (Fabric Membrane)
วัสดุ - ระบบป้องกันการรั่วซึม และความชื้นงานหลังคา ในประเทศไทย
การป้องกันการรั่วซึมในงานหลังคา หากเป็นหลังคาคอนกรีตจะใช้วัสดุ - ระบบป้องกันการรั่วซึมชนิดเดียวกับที่ใช้ในงานพื้น - ผนังคอนกรีต เพราะจัดเป็นงานพื้นคอนกรีตประเภทหนึ่ง ชนิดอยู่เหนือระดับดิน ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในส่วนงานคอนกรีต
ในงานที่ใช้กระจกเป็นวัสดุมุง หรือเป็นส่วนประกอบของผนัง - หลังคา เช่น CURTAIN WALL, SKY LIGHT รวมถึงวัสดุอื่น ๆ ที่ต้องบุ หรือปูติดต่อกันเป็นผืน แล้วต้องการให้เกิดความยืดหยุ่นระหว่างรอยต่อ (JOINT, EXPANTION JOINT) เทคนิคที่ใช้กันในประเทศคือ การใช้วัสดุที่ทำจากยางมะตอย, น้ำมันดิน (RUBBER BITUMEN) หรือซิลิโคนเป็นตัวประสานรอยต่อและเป็นวัสดุอุดกันรั่ว (SEALANT) ไปในตัว ความแตกต่างของอุณหภูมิในระหว่างวัน และความชื้น นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเสียหายของโครงสร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุของการรั่วซึม ดังนั้นการออกแบบโครงสร้าง โดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงานจะมีส่วนช่วยอย่างมาก ซึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมีรายละเอียดดังนี้
1. การใช้ฉนวนท่เี รียกว่า "CERAMIC COATTING" เป็นวัสดุที่มีสารประกอบหลักมาจากอนุภาคเซรามิค
มีคุณสมบัติในการสะท้อน ความร้อนได้สูง แต่ดูดซับความร้อนต่ำ สามารถกระจายความร้อนได้เร็ว เป็นการช่วย ลดความร้อนให้กับอาคารและความร้อนที่จะสะสมในเนื้อวัสดุเปลือกอาคาร จึงสามารถใช้เคลือบภายนอกในส่วนที่ต้องการป้องกันความร้อนโดยตรงจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ (Thermal-shield) และเนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูง ยึดเกาะพื้นผิวได้ดี จึงช่วยลดความเสียหายของโครงสร้างที่เกิดจากการยืดหดตัว เนื่องจากความร้อนยืดอายุการใช้งานของหลังคา อีกทั้งบำรุงรักษาง่าย แต่เนื่องจากกรรมวิธีนี้มีราคาค่อนข้างสูง จึงยังไม่นิยมในงานบ้านพักอาศัย
2. การฉีดพ่นใต้พื้นผิวหลังคาทั่วไป และหลังคาเหล็กรีดร้อน (Metal sheet) ซึ่งทำจากวัสดุธรรมชาติผสมกับวัสดุทางเคมี มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนและกันเสียงได้ในระดับหนึ่งด้วย
3. การใช้ฉนวนกันความร้อน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ฉนวนใยแก้ว (Fiberglass) หุ้มด้วยแผ่นอลูมิเนียม (Aluminum foil) ซึ่งหากหุ้มด้านเดียวจะมีราคาถูกกว่าหุ้ม 2 ด้าน และแผ่นอลูมิเนียม (Aluminum foil) ซึ่งมีราคาถูกกว่าฉนวนใยแก้ว ด้านการใช้งานแผ่น อลูมิเนียม (Aluminum foil) จะใช้มุงใต้กระเบื้องหลังคา
ส่วนฉนวนใยแก้ว (Fiberglass) ใช้มุงใต้กระเบื้องหลังคาและใต้ฝ้าเพดาน ทั้งนี้วัสดุดังกล่าว จะมีคุณสมบัติในการลดอุณหภูมิ หรือป้องกันความร้อนเท่านั้น รวมถึงกันการเกิดการควบแน่น (Condensation) ในบางกรณีด้วย แต่ไม่มีระบุคุณสมบัติในการกันน้ำ, การป้องกัน หรือระบายความชื้น แต่อย่างใด เพราะความชื้นจะถูกขับออกไปด้วย การระบายอากาศจากเครื่องปรับอากาศ และระบบการหมุนเวียนของลมธรรมชาติ
เทคนิคอื่น ๆ ที่นิยมใช้การป้องกัน และแก้ไขการรั่วซึม
อาทิ
1. งานป้องกันน้ำไหลย้อนระหว่างผนังกับหลังคา, หลังคากับรางน้ำคอนกรีต โดยมากจะใช้แผ่นเหล็กหรืออลูมิเนียม ที่เรียกว่า "FLASHING" เป็นเหล็กทาบคลุมระหว่างรอยต่อ
2. งานมุงหลังคา หากเป็นการมุงในระบบปกติ คือมีแป(Purlin) และจันทัน(Rafter) ระบบป้องกันทำโดยกำหนดเป็นเทคนิคในการมุง เช่น ระยะการซ้อนทับของกระเบื้อง (มักขึ้นอยู่กับชนิดของกระเบื้อง), Slope ของหลังคา (ตามปกติจะอยู่ที่ 15 - 60 องศา) ฯลฯ เท่านั้น ยังไม่มีการป้องกันด้วยระบบ MEMBRANE หากเป็นหลังคาประเภทผ้าใบ ก็จะเคลือบผิวผ้าเพื่อกันน้ำและถ้าเป็นกรณีซ่อมแซม ในปัจจุบันงานหลังคาที่มุงด้วย
กระเบื้องคอนกรีต จะมีแผ่นฟิล์มคล้ายสติกเกอร์ ใช้ปิดทับลงบนรอยแตกร้าว แต่วิธีนี้จะใช้กับการเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
3. งานแผ่นกันรั่วซึม - กันชื้นที่หลังคา (ROOF MEMBRANE) เป็นระบบงานหลังคาของยุโรป โดยจะปูวัสดุแผ่นเรียบลงบนแปแล้วปูแผ่นกันซึมทับ จากนั้นจึงมุงหลังคาแบบเรียบชนิดหนึ่ง เรียกว่า หลังคาชิงเกิล (Shingle roof) ในอดีตทำจากไม้ ปัจจุบันทำจากแผ่นยาง BITUMEN ระบบนี้ยังไม่นิยม ในอาคารทั่วไป ใช้เพียง อาคารพวกที่ต้องการสไตล์คันทรี เช่น รีสอร์ทกลางป่า เนื่องจากทำความสะอาดยาก และไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศประเทศไทย
ระเบียบหรือข้อกำหนดเรื่องงานวัสดุ - ระบบป้องกันการรั่วซึม และความชื้นในประเทศไทย
บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในด้านนี้มักจะเข้ามาประสานงานกับองค์กร สมาคมทางวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม เช่น สมาคมสถาปนิกสยามแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์1 (The Association of Siamese Architects under Royal Patronage), สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2 (Theengineering Institute of Thailand under H.M. the King's Patronage ซึ่งเป็นองค์กรที่นอกจากเป็นสมาคมของสถาปนิกและวิศวกรแล้ว ยังเป็นที่รวบรวมข้อมูล และความรู้ทางวงการวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้คำปรึกษาแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไปด้วย โดยเผยแพร่ผ่านทาง Web site ด้วย
การปฏิบัติงานในระบบนี้ จะถูกระบุไว้ในลักษณะจรรยาบรรณของผู้รับเหมางาน โดยระบุในแบบก่อสร้างจริง (ASBUILT DRAWING) ผู้ออกแบบ ได้แก่ สถาปนิกหรือวิศวกร จะต้องกำหนดเนื้อหา และกรรมวิธีในการก่อสร้างงานคอนกรีต ให้สอดคล้องกับหมวดงานสถาปัตยกรรมที่ออกแบบไว้ ไม่ว่าจะเป็นทิศทาง หรือความลาดชัน (SLOPE) เพื่อการระบายน้ำและการใส่ และ/หรือผสมวัสดุ-ระบบป้องกันการรั่วซึมในงานคอนกรีตโดยกำหนดลงในรายการประกอบแบบ(SPECIFICATION)ภายในรายการประกอบแบบ (SPECIFICATION) จะเป็นหมวดหมู่งาน เช่น งานฐานราก, งานพื้น, งานผนัง,งานหลังคา เป็นต้น โดยอาจอ้างอิงรายละเอียด กรรมวิธีต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามบริษัทผู้ผลิต ซึ่งผู้รับเหมางานต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากขณะก่อสร้างงาน จะมีการตรวจงานโดยสถาปนิก หรือวิศวกรผู้ควบคุมงาน
การกำหนด SPEC เพื่อเลือกใช้วัสดุ - ระบบป้องกันการรั่วซึมในประเทศไทย ตามปกติจะสามารถทำได้ 2 กรณี คือ
1. กรณีเป็นงานเอกชน ผู้ออกแบบ และ/หรือ เจ้าของจะเป็นผู้กำหนด SPEC เอง จะสามารถระบุว่าจะใช้ยี่ห้ออะไร บริษัทใดได้เลย ซึ่งข้อมูลสินค้า ทั้งราคาและงานทางเทคนิค มักได้จากการติดต่อทางบริษัทเพื่อให้พนักงานขายมานำเสนอ หรือได้จากโบชัวร์ตามงานแสดงสินค้า ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งบางครั้งบริษัทก็ขอเข้ามานำเสนอสินค้าเองก็มี
2. กรณีเป็นงานราชการ เจ้าของ คือหน่วยงานราชการนั้น ๆ ว่าจ้างบริษัทออกแบบงานให้ โดยมีสถาปนิก/วิศวกรในหน่วยงานราชการเป็นผู้ตรวจแบบ หรืออาจให้สถาปนิก / วิศวกรในหน่วยงานของตนเป็นผู้ออกแบบเอง ทั้งนี้สถาปนิก / วิศวกรผู้รับผิดชอบจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดทางราชการ3 (TOR) เรื่องการกำหนดราคากลางวัสดุที่อ้างอิง จากระทรวงพาณิชย์ และเรื่องการกำหนด SPEC ของวัสดุ คือ ต้องกำหนดเป็นหมวดงานรายละเอียด
วัสดุ ในที่นี้คืองานวัสดุ - ระบบป้องกันการรั่วซึม โดยเลือกบริษัทที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการทั้งด้านราคา คุณภาพ สินค้า และประสบการณ์มา 3 บริษัท แล้วระบุดังนี้ คือ
บริษัทA, บริษัทB, บริษัทC หรือเทียบเท่า (การเทียบเท่าใช้กรณีที่ในท้องตลาดไม่สามารถหาวัสดุจาก 3 บริษัท
ที่กำหนดได้แล้ว) และข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในมือของผู้รับเหมาก่อสร้างที่ประมูลงานได้ ซึ่งการที่บริษัทใดจะได้
งานมักขึ้นอยู่กับความสนิทสนมระหว่างผู้รับเหมากับ 1 ใน 3 ของบริษัทนั้น เช่น เคยใช้ผลิตภัณฑ์มาก่อน, การตั้งใจ
นำเสนองาน หรือการหมั่นติดตามงาน หรือแม้กระทั่งการเสนอผลตอบแทนที่เหมาะสม การผลิต และการตลาด
ตลาดการผลิต - การจัดจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนมากมักเป็นบริษัทเป็นผู้ผลิตอย่างเดียว แล้วมีตัวแทน จำหน่าย เป็นบริษัทให้คำปรึกษา และติดตั้งวัสดุ - ระบบป้องกันรั่วซึมโดยเฉพาะ ซึ่งการผลิตอาจผลิตในประเทศ โดยมีบริษัทแม่อยู่ในประเทศ หรือผลิตภายใต้การควบคุม ของบริษัทแม่ ที่ต่างประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมัน เป็นต้น โดยงานที่ได้จะเป็นงานขนาดใหญ่ มีพื้นที่มากต้องการการซ่อมแซม ติดตั้ง และดูแลรักษาจาก ผู้เชี่ยวชาญ
นอกนั้นจะเป็นบริษัทขนาดกลาง และห้างร้านมาติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเดียว มักมาในรูปร้านค้าวัสดุก่อสร้าง จะรองรับงานขนาดเล็ก มีพื้นที่ไม่มากนัก ทั้งนี้ผู้สนใจข้อมูลงานวัสดุ - ระบบป้องกันรั่วซึมสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จาก Website ต่าง ๆ เพื่อหา ข้อมูลผู้ผลิต และตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย
ราคาของวัสดุ หรือระบบต่าง ๆ จะถูกกำหนดเป็นราคาสุทธิต่อชิ้น หรือต่อระบบ ซึ่งในงานราชการราคากลางของวัสดุที่ระบุจะอ้างอิงจาก กระทรวงพาณิชย์ ส่วนงานเอกชน จะสามารถปรับลดราคา หรือแถมงานลงได้อีก หากพื้นที่ทำงานมีมากและเมื่อออกร้านตามงานแสดงสินค้าก็มักมีโปรโมชั่นพิเศษให้เสมอ
หมายเหตุ สำหรับ Dimple sheet และ drainage membrane มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย หากมีการประชาสัมพันธ์แนะนำ สินค้าแก่สถาปนิก และวิศวกรให้เป็นที่รู้จักมากกว่านี้ รวมถึงการมีราคาที่เหมาะสมด้วย
จากข้างต้น การใช้งานวัสดุให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด อาจไม่ได้เกิดจากวัสดุที่ทันสมัย ราคาแพง นำเข้าจากต่างประเทศเสมอไป แต่ประสิทธิภาพสูงสุด ต้องเกิดจากการเลือกออกแบบงานให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม สภาพภูมิประเทศ รวมถึงการเลือกใช้เลือกซื้อวัสดุที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคา ซึ่งอาจหาได้ภายในประเทศของเราเอง