ขั้นตอนเตรียมการตกแต่งภายใน
ขั้นตอนเตรียมการตกแต่งภายใน
ท่านผู้อ่านเคยคิดบ้างมั้ยคะว่า เวลาที่เรานึกอยากจะมีบ้านสักหลัง ช่าง มีความยุ่งยากเหลือเกิน นั่นอาจเป็นเพราะเราอาจฝันอยากมีบ้าน ที่มีทุกอย่างที่เราต้องการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง มีสวนสวยๆอยู่ในบ้าน หรือภายในแต่ละห้อง มีการตกแต่งด้วย ข้าวของเครื่องใช้ ที่โปรดปราน หลากหลายรูปแบบหลากหลายสไตล์ นี่ล่ะค่ะต้นเหตุแห่ง ความยุ่งยาก ที่เริ่มก่อตัวขึ้นมา " ความต้องการ"ของเรานั่นเอง และในบางครั้ง เราก็เกิดความลังเลขึ้นมาอีกว่าสิ่งที่เราชอบ กับความลงตัวงดงาม อย่างที่ควรจะเป็นนั้นมันไปด้วยกันได้จริงหรือ นึกแล้วก็เหนื่อยแทนนะคะ
อันที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้จะง่ายขึ้นทันที ที่คุณเลือกใช้วิธีต่อไปนี้อย่าง ใดอย่างหนึ่ง
1. ปรึกษาสถาปนิกและมัณฑนากรเพื่อออกแบบตามความต้องการแล้ว จ้างผู้รับเหมาก่อสร้างมาสร้างและตกแต่ง
2. เลือกซื้อบ้านจัดสรรโครงการใดโครงการหนึ่งที่สร้างแล้วเสร็จ
3.สร้างบ้านบนที่ดินด้วยบริษัทรับสร้างบ้านที่มีชื่อเสียง
ดูเหมือนเป็นคำตอบที่ง่ายๆ แต่ก็เกิดคำถามตามมาอีกทันทีีว่าแล้วเรื่องง่ายๆเหล่านี้อะไรเหมาะกับเราที่สุดล่ะ
ถ้าอย่างนั้นเราลองมาสมมุติกันเล่นๆว่าเราเป็นลูกค้าของบริการทั้ง3 แบบ พิจารณากัน ถึงทั้งข้อดีและข้อด้อย (เราจะไม่มองให้เป็นข้อเสียเดี๋ยว จะไม่สบายใจกันเปล่าๆนะคะ) ดูสิว่า ตกลงแล้วเราน่าจะเป็นลูกค้าของ บริการใดกันแน่ มาเริ่มกันเลยนะคะ
ถ้าเราเป็นครอบครัวที่มีความชอบ หรือรสนิยมเฉพาะตัวมีความละเอียดในการกำหนดสิ่งต่างๆ รอบตัว มีความสุขกับการได้เลือกสิ่งดีๆให้ชีวิตอย่างพิถีพิถัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีที่ดินมรดกตกทอดในทำเลทอง (ในที่นี้รวมถึงที่ดินเก่าซึ่งเคยอยู่และไม่อยากจะย้ายไปไหน) ไม่ควรทิ้งโอกาสสร้างฝันให้กับบ้านของตนเอง การปรึกษาสถาปนิกและมัณฑนากร เป็นสิ่งควรกระทำอย่างยิ่ง การออกแบบบ้านในความต้องการของเรา จะเติมความฝันให้เป็นจริงได้ คุณอาจได้ที่วางเฟอร์นิเจอร์เก่าตัวโปรดในมุม ที่เก๋ไก๋ไม่ซ้ำใคร ทั้งที่แต่ก่อนนึกอย่างไรก็นึกไม่เคยออกว่า จะจัดการกับมันอย่างไรถ้ามีบ้านใหม่ในรูปแบบสไตล์โมเดิร์น หรือได้มุมพักผ่อนที่มองไปยังไงก็ไม่เจอรั้งแถมแดดร่มทั้งวัน ที่สำคัญอาจมีห้องน้ำส่วนตัวที่อาบน้ำทีไร เหมือนลงไปนอนแช่ในอ่างสปากลางแจ้ง เพราะไม่มีหลังคา มาเกะกะกวนใจแถมแวดล้อม ด้วยธรรมชาติรอบตัวอย่างนี้ เป็นต้นดังนั้นแน่นอนว่า ความคิดสร้างสรรในการออกแบบและตกแต่ง ย่อมมากมายไร้ขีดจำกัดขึ้นอยู่กับความขยันคุยกันระหว่างเรา และผู้ออกแบบให้ได้บ้านที่รวมความสุขของเราเอาไว้จริงๆ แต่นั่นยังไม่จบค่ะ อย่างที่เรียนให้ทราบว่า เราควรศึกษาข้อด้อยให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ การออกแบบเสร็จแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างฝันให้เป็นจริงได้ต้อง ลงมือปฏิบัติ และในส่วนนี้ล่ะค่ะที่สร้าง ความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับเจ้าของบ้านมานักต่อนักแล้ว เริ่มตั้งแต่ปัญหาที่ทั้งผู้ออกแบบ และเจ้าของบ้านต้องพบ คือพื้นที่ที่ออกมาไม่เป็นอย่างที่คิด หรือ แบบที่เจ้าบ้านกับผู้ออกแบบคิดไม่ใช่แบบเดียวกันไงล่ะคะ ทั้งที่มี การเขียนทัศนียภาพเหมือนจริง ทั้งทำหุ่นจำลองก็แล้ว เห็นมั้ยละคะ ว่าแค่ประเด็นแรกก็กลุ้มแล้ว แต่ (อีกแล้วค่ะ) เรื่องแบบนี้ใช่ว่า จะไม่มีทางออก โดยเฉพาะมือ อาชีพอย่างสถาปนิกและ มัณฑนากรอย่าง ไรเสียก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ จนเกิดความพอใจ ของเจ้าของบ้านได้ อันนี้สามารถยืนยันได้ เพราะการมองแบบต่างกัน ไปมีโอกาส เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่คุณมีอยู่ในมือคือ ความ รับผิดชอบต่อหน้าที่ของผู้ออกแบบที่จะยืนหยัดอยู่ข้างคุณตลอดเวลา แม้ในยามที่อยู่ๆคุณอยากเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่างๆขึ้นมาด้วยสาเหตุหลายหลาก อย่างนี้คงต้องชั่งใจกันนานหน่อยนะคะ ว่าข้อด้อยที่สามารถมองให้เป็นข้อดี (ขอใช้คำทันสมัยว่า พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส น่ะค่ะ) จะน่าสนใจอยู่หรือเปล่า
ต่อไป คือ ผู้รับเหมาที่จะมาสร้างบ้านให้เรา อันเนื่องจาก ต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เราจึงต้องเลือกสรร คุณภาพของผู้รับเหมากันหน่อย อาจากการแนะนำต่อกันมา หรือบริษัทที่มีชื่อเสียง เพราะความรับผิดชอบต่อการทำงาน ความเอาใจใส่ในรายละเอียดของงาน และความรู้ในเชิงก่อสร้าง เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่เราต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง บางแบบอย่างทันทีทันใดก็ไม่ย่อท้อ อย่างนี้ถือว่าเข้าใจธรรมชาติของ การทำงานก่อสร้างบ้าน เป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่เจ้าของบ้านควรรู้ไว้ใช่ว่า น่าจะเป็นเรื่องของขั้นตอนที่ถูกต้อง ในการเตรียมการตกแต่งภายในที่ อาจถูกมองข้ามในกรณีที่ไม่มีผู้ควบคุมงานอย่างเป็นทางการ
ก่อนอื่นเราควรมีแบบถือไว้ในมือ แบบที่ว่า น่าจะเป็นแบบก่อสร้างของงานตกแต่ง โดยมีทัศนียภาพ(หรือหุ่นจำลองถ้ามี) ประกอบความเข้าใจ สิ่งที่ต้องรีบตรวจ สอบได้แก่ งานที่เกี่ยวข้องระหว่างการก่อสร้างกล่าวคือ
1. ระดับฝ้าเพดาน เป็นตัวกำหนดความสูงภายในห้องแต่งานที่อยู่เหนือขึ้นไป มีงานระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ หรือแม้แต่ระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ บริษัทที่รับผิดชอบ ควรเข้ามาตรวจสอบและกำหนดตำแหน่งMAIN ของระบบก่อน รวมทั้งไม่ลืมที่จะหาตำแหน่ง ช่องSERVICE ที่เหมาะสมกับ การซ่อมบำรุง และสวยงามเมื่อมอง จากด้านล่างขึ้นไป แล้วเราจะได้ฝ้าเพดานที่ถูกต้องตามแบบสวยสมใจ ไม่ต้องแก้ไขภาย หลังเพราะเผลอลืมตรวจสอบก่อน
2. ระดับพื้น คือระดับที่ถูกกำหนดในแบบและต้องสัมพันธ์กับวัสดุที่ระบุ ไว้เท่านั้น กรณีที่อาจเปลี่ยนใจกระทันหันอาจเกิดปัญหาได้เนื่องจากในงานโครงสร้าง การกำหนดระดับพิจารณาจากวัสดุที่ปูพื้น เป็นสำคัญ เช่น ถ้าพื้นที่จะปูหินแกรนิตจะเผื่อระยะไว้มากกว่าพื้นกระเบื้อง(ความหนาของแกรนิตมากกว่ากระเบื้อง) หรือถ้าจะปูพรมจะต้อง ทำพื้นขัดมันเผื่อระยะไว้เท่ากับความหนาของพรมเท่านั้น เป็นต้นเพราะฉะนั้นควรตัดสินใจเรื่องนี้ก่อนที่จะเทพื้นโครงสร้าง สำหรับเรื่องพื้นงานที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง ได้แก่งานระบบท่อสุขาภิบาลโดยเฉพาะในห้องน้ำ ตำแหน่ง/ รุ่น ของสุขภัณฑ์ หรืออ่าง อาบน้ำ มีผลต่อระยะ ที่ต้องเตรียมเดินท่อไว้ทั้งสิ้น ดังนั้นงานที่ดีจะเกิดจากการสรุปเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ต้น ไม่เปลี่ยนไปมาในภายหลังนั่นเอง
3. การกั้นผนัง ทั้งผนังก่ออิฐและผนังเบา ควรมีการตรวจสอบงานระบบทุกระบบ ที่จำเป็น ต้องเดินท่อฝังไว้และยืนยันตำแหน่งก่อนที่จะมีการฉาบ หรือกรุปิดผนังยิบซั่มบอร์ดหรือไม้อัดทั้ง 2 ด้าน การแก้ไขงานระบบที่ผนังเป็นสาเหตุของแนวยาวๆที่อุดโป๊ว ที่บางครั้งเราแทบทนดูไม่ได้ เมื่อทาสีเสร็จ เนื่องจากการซ่อมผนังมักมีความต่างของ ผิวที่ เกิดขึ้น สุดท้ายก็ไม่พ้นต้องหากระดาษปิดผนังมาปกปิดร่องรอยในที่สุด
อีกเรื่องคือการยึดเฟอร์นิเจอร์ BUILT-IN หรืองานตกแต่งอื่นๆกับผนังควรตรวจสอบจากแบบเสียก่อน ถ้าเป็นตู้ ลอยควรมีการเทคอน กรีตเป็น แนวที่ผนังเตรียมไว้เพื่อยึด ตู้ได้แข็งแรงมากขึ้น หรือถ้าเป็นผนัง เบาก็ตีโครงให้ตรงกับ ตำแหน่งการยึดตู้เพื่อความแข็งแรงและ สวยงาม บางครั้งผู้ออกแบบอาจออกแบบให้ผนังอาคารเป็นส่วนหนึ่งของผนังตู้ ก็ต้องเตรียมการและตรวจสอบระยะ เพราะงานก่อสร้างเป็นงานที่ค่อนข้างหยาบ ต้องควบคุมให้ได้แนวนอนแนวดิ่งจึงจะทำเฟอร์นิเจอร์ BUILT-IN ได้สวยงาม
เป็นอย่างไรคะ ไม่ทราบว่ายุ่งยากเกินไปหรือเปล่าสำหรับเจ้าของบ้านมือใหม่ ที่อยากมีบ้านในฝัน ในแนวทางที่ก่อร่าง สร้างขึ้นมาด้วยน้ำมือของเราเอง ถ้าท้อใจเสียก่อน ลองมาดูวิธีถัดไปของการคิดจะมีบ้านในคราวหน้านะคะ บางทีอาจโดนใจเรามากกว่า
อ.มัลลิกา บุณฑริก http://www.ban-sanrak.com/column32.htm