การเลือกวัสดุเพื่อการตกแต่งภายใน
การเลือกวัสดุเพื่อการตกแต่งภายใน
การตกแต่งภายในห้องต่างๆนั้นจะต้องใช้วัสดุต่างๆมาจัด เพื่อให้เกิดผลทางความรู้สึก และการใช้สอยตามที่ต้องการ อาทิเช่น วัสดุที่เป็นหินธรรมชาติจะให้ความรู้สึกถึงความแข็งกระด้าง มีความเป็นธรรมชาติมั่นคงแข็งแรง วัสดุที่เป็นพรมหรือขนสัตว์ก็จะให้ความรู้สึกถึงความนุ่มนวลอ่อนโยน ส่วนวัสดุที่เป็นโลหะก็จะให้ความรู้สึกที่เป็นความทันสมัย แข็งแรง เป็นต้น
หลักเกณฑ์ในการเลือกใช้วัสดุตกแต่งภายในประเภทต่างๆนั้นต้องคำนึงถึง ปัจจัยต่างๆดังนี้
ความนิยมความชอบส่วนบุคคล ต้องสำรวจความชอบหรือรสนิยมส่วนตัวเสียก่อนว่าเราต้องการให้บ้านของเรา มีการตกแต่งออกมาในรูปแบบใด รวมทั้งการให้มีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียว กับส่วนอื่น ๆ และรูปแบบหน้าตาของบ้าน มิฉะนั้นแล้วภาพโดยรวมของบ้าน ก็จะไม่สอดคล้อง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดความแปลกแยกจนเกินไป พยายามควบคุมสิ่งของประดับตกแต่งให้เข้ากับบรรยากาศโดยรวมภายในห้อง ไม่ให้โดดเด่นจนหลุดไปจากองค์ประกอบอื่น ๆ จำนวนของตกแต่ง ที่มาประดับในห้องไม่ควรมีปริมาณที่มาก และหลากรูปแบบเกินไปจนห้องดูรก ซึ่งนอกจากจะทำให้ห้องดูรกจนละลานตาจนเกินไปแล้ว จะทำให้ทำความสะอาดและจัดระเบียบยากขึ้นด้วย
ทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง
วัสดุในการตกแต่งภายในประเภทต่างๆ มีราคาในการก่อสร้างถูกหรือแพงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิด ประเภท คุณภาพและการใช้สอยการเลือกวัสดุชนิดใด ต้องพิจารณาในเรื่องทุนทรัพย์ในการก่อสร้างด้วย
การใช้งานและการดูแลรักษา
การตกแต่งในบางรูปแบบอาจดูแลรักษายาก เช่น มีคิ้วมีบัวและลวดลายมาก จะเป็นที่เก็บฝุ่นทำความสะอาดยาก ถ้าเราไม่มีการเอาใจใส่ดูแล ก็อาจจะทำให้เป็นที่สะสมฝุ่นเชื้อโรค ทำให้การอยู่อาศัยไม่สะดวกสบายและไม่ปลอดภัย วัสดุตกแต่งภายใน บางประเภทมีอายุการใช้งานที่สั้นดูแลรักษายาก หรือมีราคาแพงเช่น Wallpaper เราต้องพิจารณาประกอบเหตุผลให้ดี นอกจากนั้นแล้ว ควรจัดบริเวณหรือตู้สำหรับวางสิ่งของตกแต่งให้พอเพียง มิฉะนั้นแล้วอาจ ทำให้ของประดับตกแต่ง ต้องวางระเกะระกะไม่เป็นระเบียบ และควรจัดหมวดหมู่ของตกแต่งแยกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้เป็นระเบียบและดูแลรักษาได้ง่าย ๆ
สนองตอบการใช้งานตามพื้นที่ใช้สอย
เช่น ห้องที่สกปรกง่ายต้องเปียกน้ำบ่อย ควรเลือกวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย ๆ ไม่เก็บความสกปรกเอาไว้ ห้องที่มีการใช้งานหนัก ควรเลือกวัสดุที่มีความคงทนถาวร และ ห้องที่มีการใช้ระบบเสียง ควรเลือกวัสดุที่อ่อนนุ่ม ไม่สะท้อนเสียง เป็นต้น
การเลือกโทนสีหลักของห้อง
ห้องขนาดเล็ก ควรใช้ผนังสีขาวหรือสีอ่อนที่มีความเข้มน้อย เพื่อให้มีความรู้สึกว่าห้องมีขนาดกว้างขึ้นกว่าที่เป็นจริง ถ้าห้องเพดานสูง ควรใช้ผนังและพื้นสีอ่อน ส่วนเพดานสีเข้มจะให้ความรู้สึกว่าเพดานต่ำกว่าสภาพของจริง ทำให้ห้องไม่สูงมากนักห้องที่มีเพดานต่ำ ถ้าผนังใช้สีเข้ม หรือสีสดที่มีความเข้มมาก จะทำให้มีความรู้สึกว่า เพดานเตี้ยลงมาส่วนพื้นกับเพดานสีอ่อน จะรู้สึกว่าห้องสูงขึ้น เพดานไม่ต่ำมากนักห้องที่รูปร่างแคบและยาว หรือเนื้อที่ทางเดินที่ยาวมาก ๆ ถ้าใช้สีประเภทสีร้อน หรือสดใสที่เห็นได้ชัดเจนกับผนัง ด้านสุดปลายด้านยาว จะช่วยเน้นให้เกิดความรู้สึกว่ามีการสิ้นสุดและช่วยขจัดความรู้สึกว่า ห้องหรือทางเดินนั้น ยาวเกินไปได้ดีขึ้น ส่วนของโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับ การรับน้ำหนัก ถ้าใช้สีเข้มที่ขรึมจะให้ความรู้สึกมั่นคง ถ้าใช้ร่วมกับผนังสีอ่อน จะเห็นส่วนที่เป็นโครงสร้างเด่นชัดขึ้น และในทางกลับกัน ถ้าใช้ผนังสีเข้ม ส่วนโครงสร้างสีอ่อน จะดูส่วนโครงสร้างเด่นชัดน้อยลง และลวงตาให้ดูมีขนาดใหญ่ขึ้น
การเลือกคู่สี
การตกแต่งห้องโดยมากจะนิยมการใช้สีโดยเลือกกลุ่มของโครงสีที่ใกล้เคียง มีความกลมกลืนกัน เช่น ในกรณีที่เราเลือกสีโทนร้อน โดยใช้สีพื้นเป็นสีอ่อนได้แก่ สีเปลือกไข่ไก่ โดยมี สีส้ม สีแดง หรือสีน้ำตาล เป็นส่วนตกแต่งอื่นๆ เช่นเป็นคิ้วบัว กรอบประตูหน้าต่าง เป็นต้นบางครั้ง ก็สามารถใช้สีที่ตรงกันข้ามกันหรือสีที่ตัดกันไปเลยเพื่อสร้างจุดเด่น เช่น การใช้สีเขียวเป็นสีพื้นตัดกับจุดเด่นที่มีสีแดง หรือใช้สีเหลืองเป็นพื้นตัดกับจุดเด่นสีม่วง เป็นต้น ในการใช้สีต่างๆ ในห้องต้องคำนึงถึงด้วยว่า ถ้าใช้หลายสีในห้องเดียวกัน ควรพิจารณาถึง เอกภาพของโครงสีทั้งหมด ที่จะไม่ให้ขัดกันหรือแตกแยกแนวทางกัน จนไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตัวอย่างได้แก่ ถ้าเรากำหนดโครงสีโดยรวม ในห้องเป็นสีโทนร้อน ก็ควรกำหนดสีของวัสดุประกอบอื่นๆ ที่จะนำมาใช้เป็นโทนร้อนด้วยเพื่อมิให้ เกิดความแตกแยกของกลุ่มโทนสี หรืออาจใช้วัสดุโทนเย็นได้ในบางจุดเพื่อสร้างจุดเด่น แต่ต้องใช้ปริมาณหรือพื้นที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อมิให้เกิดการแตกแยกกันของกลุ่มโครงสี
การควบคุมน้ำหนักสี
วิธีที่ง่าย ๆ วิธีหนึ่งในการใช้สีก็คือ ให้ความเป็นกลุ่มก้อนแก่ส่วนรวม โดยให้เนื้อที่ที่ใหญ่ที่สุดนั้นใช้สีอ่อนหรือมีความเข้มของสีน้อย ส่วนเนื้อที่ที่ย่อมลงไปอาจเพิ่มความมีชีวิตชีวาด้วยการใช้สีที่เข้มขึ้นมา ส่วนเนื้อที่เล็ก ๆ ที่ต้องการจะเน้น อาจใช้สีที่เข้มหรือสีแรงมากขึ้น เพื่อความสะดุดตา น่าสนใจก็ได้
สีกับการดูดซับแสง
สีเข้มจะดูดซับแสงได้มากกว่าสีอ่อน (แต่การคายความร้อนไม่ต่างกัน) สีวัสดุที่อยู่ในเวลากลางวันที่มีแสงอาทิตย์เจิดจ้า หรืออยู่ในที่ที่ใช้ไฟจาก หลอดฟลูออเรสเซนส์ จะแตกต่างกันดังนั้น ในห้องที่มีความสว่างตามธรรมชาติ เช่น มีประตูหน้าต่างให้แสงเข้าได้มากอยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการใช้สีขาวในเนื้อที่มาก ๆ เพราะจะทำให้เกิดการสะท้อนแสงมากเกินไป ซึ่งทำให้รบกวนสายตาของผู้ที่อยู่ในห้องนั้นนาน ๆ ได้ และการเลือกใช้โครงสีภายในเนื้อที่ใด ควรปรับให้พอดีกับความมืดหรือความสว่างของเนื้อที่นั้นด้วย เช่น ห้องที่ค่อนข้างมืด มีด้านที่เปิดรับแสงได้น้อยถ้าใช้กลุ่มสีที่ทึบเข้มจะยิ่งทำให้ห้องมืดลงไปอีก เป็นต้น
การเลือกเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว
เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว คือ เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ สามารถจัดรูปแบบในการวางได้หลากหลายตามที่ต้องการ ตัวอย่าง เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เช่นโต๊ะ เก้าอี้ โซฟา เป็นต้น เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเป็นสิ่งประกอบในบ้านที่ขาดไม่ได้ นอกเหนือจากเฟอร์นิเจอร์ที่ติดตั้งอยู่กับที่ สาเหตุเพราะในการใช้งานจริงนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีการเคลื่อนย้ายและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาในการเลือกรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ลอย ตัวต้องคำนึงถึง การเคลื่อนย้ายที่สะดวกเป็นสำคัญ จะต้องมีน้ำหนักที่ไม่มากเกินไปนักสำหรับวัสดุที่ใช้ในการทำเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวนั้น เราต้องเลือกที่มีความแข็งแรงโดยเฉพาะส่วนที่ต้องเคลื่อนย้ายหรือขยับไปมาบ่อย ๆ และจะต้องมีส่วนสำหรับ ป้องกันมิให้ไปกระทบกระแทก กับส่วนอื่น ๆ ในบ้านด้วย
รูปทรงและสีสันของเฟอร์นิเจอร์
เราอาจเลือกใช้ให้มีรูปทรงและสีสันที่แตกต่างไปจากบรรยากาศโดยรวมในห้องก็ได้เพื่อสร้างจุดเด่น แต่จะต้องไม่โดดเด่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้ห้องไม่มีเอกภาพ ห้องบางห้องเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวอาจมีหลายชิ้นและมีหน้าที่ในการใช้สอยต่างกันออกไป ซึ่งทำให้รูปทรงของ เฟอร์นิเจอร์ในห้องมีหลากหลายรูปทรง ดังนั้นควรเลือกวัสดุของเฟอร์นิเจอร์ที่เหมือนกัน ซึ่งสามารถทำให้กลมกลืนกัน ได้จำนวน เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวในการใช้งานจริงจะต้องมีเพียงพอกับความต้องการหรือมากกว่าในบางจุด อาทิเช่น เก้าอี้รับประทานอาหาร อาจต้องมีเพิ่มอีกสัก 3-4 ตัวสำหรับเผื่อแขกที่มาร่วมรับประทานอาหาร แต่จะต้องไม่มากเกินไปจนห้องดูรกและคับแคบลงไป
ม่านและมู่ลี่ ความงามบนการบังแสง
หน้าที่หลักของม่านและมู่ลี่ คือ การช่วยบดบัง กลั่นกรองแสงที่ผ่านเข้ามาทางช่องเปิดต่างๆ ทั้งหน้าต่างและประตู นอกจากนี้ หน้าที่รองก็คือ ช่วยในการตกแต่งห้องให้สวยงามได้ ทั้งโดยรูปแบบของมันเอง และผลพวงที่เกิดจากการกรองแสง การจะติดตั้งผ้าม่านหรือมู่ลี่นั้นคงจะมีอยู่ 3 เหตุผลด้วยกัน นั่นคือ สร้างความเป็นสัดส่วน ปิดบังสายตาจากคนนอกที่มองเข้ามาและบดบังทัศนียภาพที่ไม่น่ามองภายนอก, ช่วยป้องกันแสง ที่จะส่องเข้าห้อง และตกแต่งบ้านให้สวยงาม
ผ้าม่านที่ใช้งานทั่วไปมี 2 แบบ คือ ม่านกรองแสงที่จะส่องเข้ามาในห้องมิให้จ้าเกินไป และม่านทึบแสง ที่จะป้องกันมิให้แสง และความร้อน เข้ามา ในบ้านได้ ซึ่งเราสามารถติดตั้งม่านทั้ง 2 แบบ ด้วยกันได้และ สามารถเลือกใช้งานม่านชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยการรูดม่านปิดทีละอย่างไป
1. ผ้าม่านกรองแสง ลักษณะเป็นผ้าสีอ่อน น้ำหนักเบาสามารถยอมให้แสงผ่านได้มากพอสมควร หลักเกณฑ์ในการเลือกม่านกรองแสงคือ ต้องเลือกสีผ้าแบบสบายตาเพราะถ้าสีฉูดฉาดเกินไปแสงที่ส่องมาจะรบกวนความสบายของสายตาเราได้นอกเหนือจากนั้น จะต้องทำ ความสะอาดง่าย เพราะผ้าที่ยอมให้แสงผ่านได้จะมีลายผ้าที่ห่างซึ่งอาจเป็นที่เก็บฝุ่นละอองได้ง่าย
2. ผ้าม่านกันแสง ลักษณะเป็นผ้าที่มีความทึบแสง มีแสงผ่านได้น้อย อาจมีเนื้อผ้าหลายชั้นและมีน้ำหนักมาก ต้องมีอุปกรณ์ประกอบ และรางม่าน ที่มีคุณภาพดี หลักเกณฑ์ในการเลือกม่านกันแสงคือ ควรจะมีสีในโทนเดียวกับม่านกรองแสง แต่อาจมีโทนสีที่เข้มกว่าได้ และไม่ควรมีลวดลายและ การประดับประดาที่มากเกินไปเพราะจะเป็นที่เก็บฝุ่น จะทำความสะอาดได้ยากซึ่งตามปกติ ม่านกันแสงจะ ทำความสะอาดไม่บ่อยนัก
ม่านนั้นสามารถแบ่งแยกตามวัสดุที่ใช้ทำได้เป็น 2 ชนิด คือ ม่านที่ทำจากผ้าและม่านที่ทำจากวัสดุอื่นๆ เช่น ไม้ พลาสติก แผ่นอะลูมิเนียม ผ้าไวนิลและผ้าใยสังเคราะห์ แต่ละชนิดก็มีลักษณะการใช้งานและการดูแลรักษาที่แตกต่างกันไป
ม่านที่ทำจากผ้านั้นจะให้ความนุ่มนวล อบอุ่น แถมยังสร้างความสง่างามได้ตามรูปแบบของม่านและชนิดของผ้าได้ด้วย มีข้อดีก็คือ มีรูปแบบให้เลือกใช้มากมาย ทั้งม่านจับจีบแบบธรรมดา ม่าน Roman Blind (มีชื่อเล่นว่า ม่านพับ) แม้กระทั่ง Plastic Roller Blind ที่มีลักษณะเป็นม้วนสำเร็จรูป เนื้อผ้าที่ใช้ทำผ้าม่านนั้นแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ผ้าทึบและผ้าโปร่ง แบบแรกนั้นสามารถใช้เป็นผ้าม่านได้เลย เพราะเนื้อผ้ามีความทึบช่วยบังแสง บังสายตาได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่อาจจะใช้เป็น 2 ชั้นคู่ผ้าโปร่งก็ได้ โดยตอนกลางวันใช้แค่ชั้นผ้าโปร่งเพื่อปิดแสง ตอนกลางคืนจึงดึงผ้าทึบมาปิดเพื่อกันสายตา
ข้อเสียของม่านที่ทำจากผ้า คือ ปัญหาเรื่องการอมฝุ่นละอองของเนื้อผ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณทำใจยอมรับไว้ล่วงหน้าได้เลย และนั่นก็จะ ทำให้มีอีกปัญหาที่คุณต้องวุ่นวายใจ นั่นก็คือ การทำความสะอาดที่ค่อนข้างยุ่งยากกว่าวัสดุอื่นๆ
หลักการง่ายๆ ในการเลือกโทนสีและลวดลายของผ้าม่าน คือ ถ้าต้องการให้ห้องดูโล่งกว้าง และสบายตาให้เลือกสีโทนอ่อน แต่ถ้าต้องการ ความขรึม สงบนิ่ง ก็เลือกใช้โทนเข้ม แต่ถ้าต้องการความสวยงามของลวดลาย ลายใหญ่ๆ จะทำให้ห้องดูเล็ก ลายเล็กๆ จะทำให้ห้องดูกว้าง
ผ้าม่านที่หนา หนักจะมีความทนทานกว่าผ้าม่านที่บาง ในขณะที่เส้นใยของผ้าใหม ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน ผ้าไนลอน จะสีซีดจางได้เร็วกว่า ถ้าต้องเจอแสงแดดโลมเลีย ต้องผ้าจำพวกโพลีเอสเตอร์หรืออะคลีลิกถึงทนแดดดีกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณใช้ผ้าม่าน 2 ชั้นหรือผ้าม่านที่มีซับใน ปัญหานี้ก็จะลดลงผ้าม่าน 2 ชั้นจะนิยมใช้ในห้องนอน เพราะควบคุมสภาพแสงว่า จะให้สว่างหรือมืดได้จึงสามารถสร้างบรรยากาศโรแมนติคได้ตามต้องการ โดยแสงที่ส่องผ่านผ้าม่านแบบผ้าโปร่งจะเป็นแสงที่นุ่มนวลชวนฝัน ส่วนห้องครัวน่ะ ไม่ต้องติดตั้งหรอก เพราะยุ่งยากในการดูแล เปลี่ยนมาใช้เป็นบานเกล็ดดีกว่า
เรื่องของความสะอาดก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ ควรเลือกผ้าที่มีการเคลือบผิว ไม่ซึมน้ำจะดูแลรักษา ทำความสะอาดง่ายกว่า การใช้งาน ก็จะยาวนานกว่า ส่วนการทำความสะอาดนั้น สามารถทำได้โดยดูดฝุ่นสัปดาห์ละครั้ง เพราะถ้าปล่อยให้มันจับเนื้อผ้าแล้ว ม่านของคุณจะดูเก่าเร็ว แต่ถ้าคุณใช้ผ้าผิวมันจะมีการสะท้อนแสงปัญหานี้จึงลดลง ถ้าเป็นไปได้และจะได้ช่วยให้ม่านของคุณสวยงามเสมอ รีดผ้าม่านด้วย เตารีดไอน้ำด้วย แต่ผ้าที่นำมาทำเป็นม่านนั้น ส่วนใหญ่จะรีดให้เรียบยาก ถ้าคุณจะส่งซักตามร้านที่บริการด้านนี้อยู่ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
การบังแสงนั้นยังสามารถใช้มู่ลี่หรือม่านปรับแสงได้ด้วย ซึ่งสามารถปรับทอนแสงสว่างที่ส่องผ่านเข้ามาได้ด้วย การปรับหมุนองศา ของใบม่านให้เอียงเป็นมุมตามต้องการ ใบม่านของมู่ลี่จะเป็นแนวนอนมีให้เลือก 3 แบบ คือ อะลูมิเนียม ไม้และพลาสติค PVC ส่วนของม่านปรับแสงจะเป็นแนวตั้งและวัสดุหลากหลายกว่า
ผ้าที่นิยมใช้ทำใบม่านปรับแสง ได้แก่ ผ้าที่เคลือบด้วยอะลูมิเนียมในรูปแบบสีบรอนซ์เงา ผ้า Tnterloon และผ้า Trevira ซึ่งสามารถ ซักได้ด้วยเครื่อง รีดให้เรียบก็ได้ด้วยอุณหภูมิปานกลาง หรืออาจจะใช้แผ่นใยไฟเบอร์กลาส ผ้าใยค็อตต้อนผสม ไปจนถึงผ้าใยสังเคราะห์ โพลีเอสเตอร์ ข้อดีของทั้งมู่ลี่และม่านปรับแสงก็คือ คุณสามารถปรับแสงที่ต้องการให้ผ่านเข้าห้องได้ตามต้องการ อาจจะไม่ต้องปิดหมดก็ได้ นอกจากนั้น ม่านชนิดนี้ยังไม่อมฝุ่นด้วย จึงทำความสะอาดได้ง่ายกว่า
ถ้าจะถามว่ามู่ลี่แตกต่างกับม่านปรับแสงอย่างไร? ก็คงจะเป็นการวางแนวของใบม่านนั่นเอง ซึ่งนั่นทำให้คุณสมบัติการบังแสงแตกต่างกันด้วย มู่ลี่วางตัวในแนวนอนจึงเหมาะกับการบังแสงทิศใต้ ส่วนม่านปรับแสงใบม่านวางตัวตามตามแนวตั้งเหมาะกับ การกันแสงทางทิศตะวันออก และตก ส่วนข้อด้อยของมู่ลี่และม่านปรับแสง ก็คงจะเป็นการใช้งานของมันนั่นเอง ด้วยผิววัสดุที่กระด้าง แลดูไม่นุ่มนวลทำให้ห้องลด บรรยากาศสวยๆ ลงไป แต่ปัจจุบันการนำเอาผ้ามาทำก็ช่วยลดความแข็งกระด้างลงไปได้บ้าง ส่วนใหญ่แล้วการติดตั้งอุปกรณ์บังแสงทั้ง 2 ประเภทนี้มักใช้กับการตกแต่งบ้านในสไตล์โมเดิร์นมากกว่า
การเลือกพรม
พรม เป็นวัสดุปูพื้นที่แลดูหรูหรามีรสนิยม และมีคุณสมบัติในการใช้งานที่แตกต่างจากพื้นชนิดอื่นเพราะพื้นชนิดอื่นจะเป็นพื้นแข็งแต่ พรม เป็นวัสดุที่อ่อนนุ่มให้สัมผัสที่อ่อนโยนและมีลวดลายหลากหลายให้เลือกใช้งานนอกจากนั้นพรมยังเป็นฉนวนกันความร้อน ดูซับเสียง ป้องกันเสียงสะท้อน ลดปริมาณเสียงรบกวน มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานเพราะไม่ลื่นและปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุเพราะพรมมีความอ่อนนุ่มลดแรงกระแทกได้ พรมเป็นวัสดุที่ผลิตมาจากเส้นใยประเภทต่างๆ ถักทอเป็นผืน ชนิดของเส้นใยที่นำมาใช้ทำพรมมีดังนี้
- ขนสัตว์ เป็นเส้นใยธรรมชาตินุ่มนวล มีความละเอียดสูงราคาแพง
- โอเลฟิน เป็นเส้นใยสังเคราะห์ แข็งแรง ทนทาน นุ่มเหมือนขนสัตว์ ป้องกันสิ่งสกปรกได้ดี สามารถใช้ภายนอกได้ เพราะทนทานต่อรังสี UV
- ไนล่อน เป็นเส้นใยสังเคราะห์แข็งแรงทนทาน ฝุ่นไม่เกาะ
- อะครีลิก เป็นเส้นใยสังเคราะห์ นุ่มเหมือนขนสัตว์ ราคาถูกมาก แต่ไม่นิยมใช้เพราะจะเกิดก๊าซพิษเมื่อไฟไหม้
ลักษณะของพรม แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- ขนห่วง (Loop pile) ปลายทั้งสองข้างของพรมถูกยึดติดกับวัสดุรองรับจนขนเป็นรูปห่วงขึ้นมา ขนพรมมีความแข็งแรง ทนต่อการเหยียบย่ำ ใช้กับบริเวณที่คนเดินมาก ๆ
- ขนตัด (Cut pile) ปลายด้านบนของพรมถูกตัดให้เรียบเสมอกันทั้งผืนมีความอ่อนนุ่มมาก
ข้อเสียของการใช้พรม พรมเป็นวัสดุที่กักฝุ่นให้จับได้มาก ซึ่งรวมทั้งไรฝุ่นและเชื้อโรคต่าง ๆ อุปกรณ์ประกอบพรม เช่น ยางรอง และกาวสังเคราะห์ก็เป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายทั้งสิ้นแต่สำหรับผู้ที่ต้องการใช้พรมในการปูพื้นจริงๆ ก็มีวิธีในการดูแลรักษาดังนี้
1. พยายามเลือกใช้พรมขนสัตว์แท้ ๆหรือพรมจากวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ
2. หลีกเลี่ยงการใช้กาวในการติดตั้งพรม
3. ต้องดูดฝุ่นที่พื้นปูพรมอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง