ความกลัวความกล้า

ความกลัวความกล้าเป็นระนาบของเจตจำนง เป็นระนาบของชีวิตที่ดำเนินไปในความหลับใหล!
เจตจำนงก็คือ ความหลับใหล อารมณ์ความรู้สึกก็คือความฝัน และความคิดก็คือความตื่น
จากพัฒนาการแรกๆ ของชีวิต ตัวสำนึกรู้หรือจิตไม่ได้แจ่มกระจ่าง แต่จะค่อยๆ แจ่มกระจ่างขึ้นตาม ลำดับพัฒนาการ ของระนาบชีวิตหรือของชั้นสมอง

ความกลัวจะทำงานอย่างเป็นอัตโนมัติมากกว่าทำงานในความตื่นรู้ บางทีเราไม่รู้ว่าเรากลัวอะไรหรือกลัวได้อย่างไรด้วยซ้ำ แต่ความกลัว ก็เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของเรามากมาย บางทีมันอาจถูกส่งผ่านอะไรก็ไม่รู้มากับความเป็นไปรอบตัวเรา หรือว่ามันเป็นความกลัว ที่เป็นสมุหภาพ หรือที่เป็นของสังคมส่วนรวมที่ส่งผ่านมายังเรา มันอาจจะมาจากครอบครัว ด้วยเช่นกัน จากบาดแผลในครอบครัว ที่ส่งผ่านกันมาอย่างไม่รู้สำนึก แต่มันก็ดำรงอยู่กับเราเช่นนั้น

ความกลัวนี้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าความคิด เพื่อนผมคนหนึ่ง เขามีเพื่อนทำบริษัทเดียวกัน ตกลงกัน แต่แรกว่าจะทำเล็กๆ ถ้าใหญ่ขึ้นหน่อยก็จะแตกตัวออกไป เป็นบริษัทเล็กๆ ที่เกี่ยวร้อยเชื่อมโยง ช่วยเหลือกันไปตามกำลัง เวลาพูดคุยก็เข้าใจกันดี แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ เธอจะต้องผลักดันให้ทำอะไรใหญ่โตอยู่ตลอดเวลา มันไม่โยงกันเลยกับความคิดที่คุยกันไปแล้ว มีความกลัวอะไรบางอย่างที่ผลักดันเธอลึกๆ อยู่ตลอดเวลา และเธอจะทำหลาย สิ่งหลายอย่างไปอย่างไม่รู้ตัว มันอาจเป็นความกลัว ที่จะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้

ชีวิตของพวกเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เราถูกผลักดันอยู่ตลอดเวลา ด้วยพลังบางอย่างที่เราไม่ได้ตื่นรู้หรือเข้าใจ มันอยู่ใน ตัวเราลึกๆ และเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของเราตลอดเวลา

อดีตที่แช่แข็งกับปัจจุบันที่ยืดหยุ่น

ความกลัวเป็นอดีตที่แช่แข็ง อดีตที่ไม่แปรเปลี่ยน ที่เราเอาไว้ใช้ป้องกันตัวในกาล เมื่อต้องเผชิญกับภัยอันตรายที่เป็นจริง แต่เมื่อภัยอันตรายนั้นแปรเปลี่ยนไปเป็นภัยอันตรายในจินตนาการ ความกลัวในจินตนาการก็ยังทำงานเหมือนกับในอดีต ความกลัวจึงกลายเป็นอดีตที่แช่แข็ง

อดีตที่แช่แข็งในรูปของร่องอารมณ์และเทปม้วนเก่า
ความเป็นไปของชีวิต จะอยู่ในสามระนาบเสมอ คือ ระนาบของเจตจำนงหรือพลังชีวิต ระนาบของอารมณ์ความรู้สึก และระนาบของความคิด เป็นความต่างระดับของความหลับใหล ความฝัน และการตื่น
ในความหลับใหล เรามีคู่ของความกลัวกับความกล้า
ในอารมณ์ความรู้สึก เรามีคู่ระหว่างร่องอารมณ์กับมณฑลแห่งพลัง
ในความคิด เรามีคู่อยู่ระหว่างความคิดที่ตายซาก อันเป็นเทปม้วนเก่า กับความคิดที่มีชีวิต

อดีตที่แช่แข็งของอารมณ์คือร่องอารมณ์ อดีตที่แช่แข็งของความคิดคือเทปม้วนเก่า

สำรวจระนาบแห่งเจตจำนงหรือพลังชีวิต

ระนาบแห่งเจตจำนงนี้เป็นระนาบที่อยู่ในความหลับใหล การเกิดขึ้นของระนาบนี้มักเป็นไปอย่างอัตโนมัติ และทำให้ พลังชีวิตขับเคลื่อนไป สไตเนอร์เล่าว่า ความเข้มแข็งของเจตจำนงของเขาพัฒนาขึ้นเพราะว่าในวัยเด็ก เขาต้องเดินเท้า ระยะทางเจ็ดไมล์ไปกลับระหว่างโรงเรียนและบ้านทุกวัน พลังชีวิตในวัยเด็ก เกิดจากการเคลื่อนไหวแขนขา เกิดขึ้นและ สะสมอย่างไม่รู้ตัว เป็นเจตจำนงที่ทำให้คนเรา สามารถทำอะไรได้สำเร็จเสร็จสิ้นในกาลต่อมา และเป็นสิ่งที่อยู่ ตรงกันข้าม กับวลีที่ว่า “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ”

คำคู่ขนานกับ “เจตจำนง” และ “พลังชีวิต” มี “บารมี” “นิสัย” “วินัย” เป็นต้น ที่จริงทั้งหมดอยู่ในหมวดศีลของพุทธธรรม

พลังเจตจำนง พลังแห่งอุปนิสัย ก่อเกิดจากการทำอะไรซ้ำๆ อยู่เสมอ เป็นประจำ อะไรที่เราทำอยู่ทุกวันเป็นนิสัย จะทำได้ง่าย ชีวิตนี้มีมิติของการทำซ้ำๆ อยู่ และมันเป็นไปอย่างหลับใหล ไม่รู้ตัว การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่า มันเป็นนิสัยหรือพลังแห่งนิสัยทางด้านลบเท่านั้น

ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถสั่งสมแต่พลังนิสัยดีๆ ในการกระทำที่ดีงาม เราคงจะต้องเปิดมิติ การตื่นรู้ขึ้นมาใน ความหลับใหล นั้นด้วย เราต้องเอาความคิด และอารมณ์ความรู้สึกเข้ามากำกับการพัฒนานิสัย คือเอาความตื่น มาช่วย ความหลับใหล ความคิดที่มีชีวิต และอารมณ์ที่มีพลังย่อมอาจนำพาตัวเราไปสู่ การทำซ้ำที่สร้างสรรค์ มากกว่า การทำซ้ำ ที่จะนำพาเราไปสู่ปัญหาชีวิต

เราสามารถติดตั้งการตื่นรู้เข้าไปในความหลับใหลนั้นได้ด้วยการปฏิบัติธรรม เพราะในการปฏิบัติธรรม เราจะฝึก การตื่นรู้ ขึ้นในการทำซ้ำๆ เช่น การตื่นรู้ในลมหายใจเข้าออก การตื่นรู้ในการย่างก้าว การตื่นรู้ ในทุกสิ่งทุกอย่างใน กิจวัตร ประจำวัน เมื่อเป็นเช่นนี้นานวันเข้า มันจะกลายเป็นนิสัยแห่งการตื่นรู้คู่ไปกับการทำซ้ำๆ ที่ปกติคือความหลับใหล ความหลับใหล นั้นจะกลายเป็นครึ่งหลับครึ่งตื่น “รู้ตัวอย่างไม่รู้ตัว และอย่างไม่รู้ตัวเราก็รู้ตัวด้วย”

กาลเทศะแห่งการตื่นรู้ในระนาบของเจตจำนง

พลังชีวิต พื้นฐานที่สุดของอมีบาคือเข้าใกล้หรือถอยห่าง นี่เป็นจุดเริ่มต้นของ โคจรสถานหรืออโคจรสถาน การกำหนด แผนที่ ของสถานที่จะไปและไม่ไปเป็นวิถีการพิจารณาเพื่อนำพลังแห่งระนาบนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต การที่เราไป และไม่ไปในสถานที่ต่างๆ นั้นจะก่อรูปแบบวิถีชีวิตของเราขึ้นมา เป็นการเข้าไปทำงานกับปริมณฑลแห่งความหลับใหล ซึ่งแต่ก่อนเราไม่รู้ว่าจะเข้าไปทำงานด้วยได้อย่างไร

เพียงหาที่ทางโคจรในชีวิตประจำวัน ประจำเดือน ประจำเทศกาล ประจำปี ประจำช่วงปี เราก็ได้เข้าไปทำงาน กับเจตจำนง หรือ พลังชีวิต ขั้นปฐมฐานนี้แล้ว เราเข้าไปทำงานกับความหลับใหลนี้ได้ เพียงแต่เราสัมผัสกับเรื่องราวของพลัง ว่าสถานที่ใดให้พลังแก่เรา เราควรจะเข้าไปสู่สถานที่นั้นเป็นประจำได้แค่ไหน ประจำวัน ประจำปี หรือเป็นเทศกาล หากเรานำพาตัวเราไปโคจรในที่ที่มีพลังตลอดเวลา เลือกที่ทำงานที่ให้พลังแก่เรา ที่อยู่ที่กินที่ให้พลังแก่เรา หรือบุคคล ที่ให้พลังแก่เรา แสดงว่าเราได้จัดตั้งแวดล้อมของชีวิตที่เป็นมงคลขึ้นมาแล้ว

นอกจากนี้ กาลเวลาก็สามารถจับต้องได้เช่นเดียวกับที่ทาง อะไรที่เรากำหนดขึ้นมาทำเป็นประจำ นับเป็นพลังแห่งระนาบนี้ กิจกรรมดีๆ ที่ให้พลังและคุณค่าในการเรียนรู้และวิวัฒนาการ ควรจัดตั้งเข้ามาในตารางกิจวัตรประจำวัน ประจำเดือน ประจำฤดูกาลและอื่นๆ เรามักมีความคิดดีๆ แต่ไม่มีเวลาให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นจริง เราบอกว่าเราไม่มีเวลา แต่ที่จริง เรามีเวลามากมายให้กับกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์แต่อย่างใดเลย หากเราตระหนักรู้ ในการใช้เวลา ของเรา มากขึ้น เราก็จะนำระนาบแห่งเจตจำนง ระนาบแห่งการทำซ้ำ มาใช้ในการเสริมส่งพลังชีวิตมากยิ่งขึ้น

วลีง่ายๆ ที่ผมใช้เพื่อเข้ามาแทนที่คำว่า “ไม่มีเวลา” ก็คือ “มีเวลา” เพียงคำศักดิ์สิทธิ์คำนี้ เราก็สามารถก่อให้เกิดเวลา ที่จะทำสิ่งดีๆ ที่เราต้องการจะทำ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับเพื่อน หรือการได้อ่านหนังสือดีๆ เพียงความคิดดีๆ ยังไม่พอ เพียงความรู้สึกดีๆ ก็ยังไม่พอ แต่เราต้องสามารถจัดสรรเวลาให้กับความคิดดีๆ และความรู้สึกดีๆ ให้มีที่ทางที่แท้จริง ในชีวิตของเราด้วย

Phobia หรือโรคกลัวในทางจิตเวช ถือว่าเป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรควิตกกังวล เป็นความกลัวคนละแบบกับ กลัวที่แปลว่า fear ในพจนานุกรม อธิบายคำว่า โฟเบีย (Phobia) นี้ว่าหมายถึง ความกลัว โรคหวาดกลัว ความกังวลชนิดครอบงำ ซึ่งฟังดูแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็น เรื่องร้ายแรง หรือน่าเห็นอกเห็นใจอะไรเท่าไหร่ เพราะเราทุกคน ล้วนแล้วแต่มีความกลัวอะไรบางอย่างกันทั้งนั้น

ความวิตกกังวล (anxiety) เป็นความรู้สึกเชิงจิตวิสัยอย่างหนึ่งของความไม่สบายใจ และความหวาดหวั่น เกี่ยวกับการคุกคามบาง อย่าง ที่จะมาถึงซึ่งไม่ทราบว่า เป็นอะไร การคุกคามมักเกี่ยวข้องกับร่างกาย เช่น มีสิ่งที่ทำให้ร่างกายบาดเจ็บเป็นอันตราย หรือถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนทางจิตใจ มักเป็นการคุกคามต่อความภูมิใจแห่งตน (self-esteem) และความผาสุก (well-being)

Freud (1856-1939)(2) เป็นนักจิตวิทยารุ่นแรกๆ คนหนึ่ง ที่สนใจถึงความสำคัญของความวิตกกังวล และได้แยกให้เห็น ความแตกต่าง ระหว่าง ความวิตกกังวลเชิงวัตถุวิสัย (objec-tive anxiety) และความวิตกกังวลเชิงโรคประสาท (neurotic anxiety) ความวิตกกังวลแบบแรกเป็นการตอบสนองอย่างแท้จริง และมีเหตุผลต่ออันตรายที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ Freud ให้ทัศนะว่า objective anxiety มีความหมาย เช่นเดียวกับความกลัว (fear) โดยปกติความกลัวที่แท้จริงนั้นจะต้องมีภยันตรายจากภายนอก (external danger) และเกิดขึ้นสมส่วน กับเหตุการณ์นั้นๆ ส่วน neurotic anxiety เกิดมาจากความขัดแย้งในจิตไร้สำนึก (unconscious conflicts) ไม่มีสิ่งคุกคามจากภายนอกที่เห็นได้ชัด หรือถ้ามีความรู้สึกทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นก็มักไม่สมส่วน นอกจากนั้น คนส่วนมากมักไม่ทราบต้นตอ หรือสาเหตุของ neurotic anxiety

นักจิตวิทยาและจิตแพทย์หลายท่าน เห็นคุณประโยชน์ของการแยกความแตกต่างระหว่างความกลัว (fear) กับความวิตกกังวล (anxiety) อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถแยกอารมณ์ทั้งสองอย่างนี้ออกจากกันได้ชัดเจน ไม่ว่าจะในแง่ของการตอบสนอง ทางสรีรวิทยาหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น อีกประการหนึ่ง ได้มีความพยายามที่จะชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ความวิตกกังวลปกติ (normal anxiety) กับความวิตกกังวลที่ผิดปกติหรือมีพยาธิวิทยา (morbid or pathological anxiety) ความวิตกกังวลเพียงเล็กน้อย หรือในระดับที่ไม่มากจนเกินไปจะมีลักษณะเป็นแรงจูงใจ (motive) ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้คนเรากระตือรือร้น ที่จะจัดการ หน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปด้วยดี สำหรับคนทั่วไปถ้าใครไม่มีความวิตกกังวลเลย ก็อาจกลายเป็นคนเฉื่อยแฉะแบบเช้าชามเย็นชาม แต่ถ้าความวิตกกังวลเกิดขึ้นบ่อยกว่าและคงอยู่นานกว่าจนคนเราไม่สามารถหาทางจัดการหรือทนต่อไปอีกได้ และมีผลเสียต่อ การดำเนินชีวิตประจำวัน แสดงว่า ความวิตกกังวลที่ผิดปกติได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว

ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ สภาวะวิตกกังวล (state anxiety) กับลักษณะนิสัยวิตกกังวล (trait anxiety) คำว่า สภาวะวิตกกังวล เป็นความกระวนกระวาย ความหวาดหวั่น ความกังวล ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ส่วนลักษณะนิสัยวิตกกังวล เป็นบุคลิกภาพอันยาวนาน (long-term perso-nality) ที่จะเกิดความวิตกกังวล เมื่อถูกยั่วยุโดยสิ่งเร้า ที่ก่อให้เกิดความเครียด ความถี่ของความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาจสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัย (trait) ของคนๆ นั้น บางทีเรียกว่าความวิตกที่เป็นลักษณะเฉพาะหรือพื้นฐาน (charac-teristic or basic anxiety) ความวิตกกังวลแบบนี้เป็นส่วนหนึ่ง ของอารมณ์ถาวรหรืออารมณ์นิสัย (temperament) ซึ่งเป็นความโน้มเอียงของ อารมณ์ของแต่ละบุคคล ในการตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อม ซึ่งแสดงออกมาให้เห็นตั้งแต่ในวัยเด็ก ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า บางคนมีแนวโน้มที่จะเกิด ความวิตกกังวลได้ง่าย และบ่อยกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่เผชิญกับความขัดแย้ง หรือปัญหาแบบเดียวกัน
ความวิตกกังวลอาจมีลักษณะฟุ้ง หรือลอยตัวเป็นอิสระ (free-floating anxiety) ซึ่งหมายความว่า ความรู้สึกดังกล่าว เกิดขึ้นค่อนข้างสม่ำเสมอ และมีลักษณะกระจายทั่วไป (diffuse in nature) มักไม่ติดอยู่กับความคิด หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่มีสิ่งกระตุ้นและส่วนมาก เกิดจากความขัดแย้ง ในจิตไร้สำนึก (unconscious conflicts) ความวิตกกังวลอาจเป็นแบบเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว (situational or phobic anxiety) ซึ่งในกรณีนี้ความวิตกกังวลอย่างรุนแรงและท่วมท้นที่เรียกว่าความตื่นตระหนก (panics) ถูกกระตุ้นโดยเหตุการณ์ (ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการเข้าสังคม) หรือวัตถุสิ่งของโดยจำเพาะ (เช่น สัตว์ เชื้อโรค มีด ที่แคบและที่สูง เป็นต้น) ความวิตกกังวลทั้งสองแบบนี้ อาจเกิดร่วมกัน และกระตุ้นสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกทำให้ความวิตกกังวลที่มีลักษณะฟุ้ง (free-floating anxiety) รุนแรงมากขึ้นในสถานการณ์บางอย่าง



Resource : วิศิษฐ์ วังวิญญู หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มีนาคม 2548