สุขภาพจิต Mental Health
กันยา สุวรรณ รศ.ดร. อาจารย์ศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย ท่านได้ให้ความหมายของ สุขภาพจิต ว่า หมายถึง ความสมบูรณ์ในด้านจิตใจ จิตใจปกติ เข้มแข็งอารมณ์มั่นคง สามารถปรับตัวกาย และใจ ให้ดุลยภาพกับ สิ่งแวดล้อม และสังคม ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุข
นิภา นิธยาย น,รศ. ให้ความหมายสุขภาพจิตว่า สุขภาพจิตเป็นผลของการปรับตัว ซึ่งเป็นวิธีการที่คนเราแสดงปฏิกิริยา ตอบโต้ใน การปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการของตัวเอง เพื่อนฝูงหรือสังคม หรือในการเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเอง ตั้งแต่แรกเกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นเครื่องที่จะกำหนดแบบของ บุคลิกภาพ ซึ่งรวมทั้ง สุขภาพจิต ที่มีคุณภาพของคนเราด้วย
สุขภาพจิต ที่ดี คือ ความสามารถที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม โดยไม่จำเป็นจะต้องปล่อยให้เป็นไปตาม อำนาจของ สิ่งแวดล้อมทุกอย่าง แต่ไม่เอาแต่ใจตัวเองหรือไม่คำนึงถึงผู้อื่น สุขภาพจิต ย่อมมีความเหมือนกันกับ สุขภาพกาย ย่อมมีเวลาเสื่อมบ้าง โทรมบ้างสลับกันไป เป็นธรรมดาผู้ที่มีปกติทาง สุขภาพจิต ที่สมบูรณ์ตลอดเวลานั้นหายาก บางคน ต้องล้มป่วยเป็นโรคนี้บ้าง โรคนั้นบ้าง อันเป็นผลมาจากสุข
ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพจิตดี
ผู้ที่มี สุขภาพจิต ดีจะสามารถเผชิญกับ เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างดีทั้งในสถานการณ์ปกติ และไม่ปกติและ สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้
เกณฑ์ในการพิจารณาผู้ที่มีสุขภาพจิตดีมีดังต่อไปนี้
ก. ความรู้สึกต่อตัวเอง
1. ไม่เกิดอารมณ์ต่าง ๆ รบกวนตนเองมากนัก เช่น โกรธ กลัว กังวล ฯลฯ
2. สามารถควบคุมความผิดหวังได้
3. เข้าใจตนเองอย่างถูกต้อง เช่น ยอมรับข้อบกพร่องของตนเอง
4. นับถือตนเอง ไม่ยอมให้ผู้อื่นมีอิทธิพลเหนือตนเอง
5. สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้โดยรู้สาเหตุแห่งปัญหา
ข. ความรู้สึกต่อผู้อื่น
1. ให้ความรักแก่คนอื่น และยอมรับพิจารณาความสนใจของคนอื่น
2. คบหาสมาคมกับคนอื่น ๆ ได้
3. ไว้วางใจคนอื่น ๆ ไม่หวาดระแวง
4. ยอมรับนับถือความแตกต่างหลาย ๆ อย่างที่คนอื่นมี
5. ไม่ผลักดันให้ผู้อื่นตามใจตนเอง และไม่ตามใจผู้อื่นตามใจชอบ
6. รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ และมีความรับผิดชอบต่อมนุษย์ทั่วไป
ค. ความสามารถในการดำเนินชีวิต
1. สามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตได้เป็นอย่างดี
2. มีสิทธิและรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง
3. รู้จักทำสภาพแวดล้อมให้ดีที่สุด ในกรณีจำเป็นก็ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
4. รู้จักวางแผนดำเนินชีวิต ไม่หวาดกลัวอนาคต
5. ยอมรับประสบการณ์ และความคิดใหม่ ๆ
6. ใช้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ ถ้าทำอะไรก็ทำอย่างเต็มความสามารถ และพึงพอใจต่อการกระทำนั้น
7. วางเป้าหมายที่นำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิตของตนเองได้
ตามหลักจิตวิทยาถือว่าผู้มีสุขภาพจิตดีจะมีลักษณะดังนี้
- รู้จักเผชิญต่อความจริงของชีวิต ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ
- เป็นผู้มีอิสระ มีเหตุผลอันถูกต้องของตนเอง
- สามารถให้ความรักผู้อื่นโดยทั่ว ๆ ไป
- รู้จักไว้วางใจอย่างมีเหตุผลต่อผู้อื่น และรับฟังข้อวิจารณ์ที่เกี่ยวกับตนเองได้
- มีการแสดงออกทางอารมณ์พอสมควร รู้จักโกรธ เกลียด และรู้จักยับยั้งความโกรธเกลียดด้วยเหตุผล ไม่ปล่อยอารมณ์รุนแรง
- มีความสามารถที่จะคิดถึงอนาคต โดยรู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบ
- รู้จักผ่อนคลายทางใจ ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- รู้จักปรับปรุงตนเองให้เข้ากับงานได้ พยายามหาทางก้าวหน้าอยู่เสมอ
- รู้จักเอ็นดูและอดทนต่อเด็ก ไม่รำคาญเสียงหัวเราะ และร้องไห้ของเด็ก
- รู้จักปรับปรุงตนเองเกี่ยวกับเรื่องเพศ เข้าใจและไม่มีความผิดปกติทางเพศ
- สามารถศึกษาและสร้างอารมณ์ต่าง ๆ ให้เจริญ เข้าใจและรู้จักควบคุมอารมณ์เพื่อความ เจริญแห่งตนได้
ผู้มีสุขภาพจิตดีจะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับ สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม ผู้มีสุขภาพจิตดีจึงเป็น ผู้ที่ปรับตัวได้ดี เป็นผู้รู้จักและเข้าใจผู้อื่นได้ดีและสามารถเผชิญกับปัญหา และความจริงแห่งชีวิตได้ดี
ส่วนผู้ที่มีสุขภาพจิตไม่ดีก็คือ ผู้ที่ปรับตัวได้ไม่ดี ( Mal - adjusted person ) จะเป็นบุคคลที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับ ผู้ที่ปรับตัวได้ดี ( Well adjusted person ) นั่นเอง ไม่รู้จักและไม่เข้าใจตนเอง ไม่รู้จักและไม่เข้าใจผู้อื่น ตลอดจนไม่สามารถเผชิญปัญหาและความจริงแห่งชีวิตได้ ทำให้ไม่ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
คนปกติเมื่อตกอยู่ในภาวะหรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง จะทำให้เกิดความตึงเครียดเป็นเวลานาน พฤติกรรมอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีอารมณ์แปรปรวน มีความคิดสับสน การรับรู้ผิดไปจากปกติ จนทำให้ไม่สามารถ ประกอบกิจกรรม เพื่อดำรงชีวิตที่ปกติได้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดปัญหา สุขภาพจิต ปัญหาจะมีความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหา และระยะเวลาที่ได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจ
มีปัจจัยมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหา สุขภาพจิต เพราะจิตใจของมนุษย์เป็นสิ่งละเอียดอ่อน เกิดความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลา แล้วแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม พฤติกรรมที่แสดงออกนั้นจะแปรเปลี่ยนไปตามสิ่งเร้าที่มากระทบ ส่งผลให้มี สุขภาพจิต ในรูปแบบต่าง ๆ กัน คืออาจมี สุขภาพจิตดี สุขภาพจิต ไม่ดีหรือเจ็บป่วยเป็นโรคประสาท โรคจิต หรือมีปัญหา สุขภาพจิต เป็นต้น
ความหมายและความสำคัญของสุขภาพจิต
ความหมายของคำว่า “ สุขภาพจิต “ มีนักจิตวิทยาอธิบายไว้หลายท่านพอนำมาเสนอดังนี้
คำว่า “ Healthy “ หมายถึง การมีสุขภาพที่ดี ในที่นี้หมายถึงสุขภาพของร่างกายและจิตใจ การที่คนใดคนหนึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีสุขภาพดีนั้น หมายถึงบุคคลที่
1. ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม
2. มีการพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม
3. ยอมรับสภาพความเป็นจริงของตน
การมีสุขภาพที่ดีทางร่างกายนั้นก็คือ การที่คน ๆ นั้นไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนทางด้านจิตใจนั่นก็คือการที่คนๆ นั้นสามารถที่จะแก้ไขและเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้และมีบุคลิกภาพที่ไม่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่
สุขภาพจิต ( Mental Health ) หมายถึง ลักษณะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งลักษณะหนึ่งของมนุษย์ นักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้ความหมายของสุขภาพจิตในแง่มุ่นต่าง ๆ กัน ดังนี้
สุขภาพจิต หมายถึง สภาวะของชีวิตที่มีสุขภาพและผู้มีสุขภาพจิตดีคือ ผู้ที่สามารถปรับตนเอง อยู่ได้ด้วยความสุข ในโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ ฝน แสงสิงแก้ว ( 2522 : 57 )
สุขภาพจิต หมายถึง ความสามารถในการรักษามาตรฐานแห่งจิตไว้ พร้อมกับส่งเสริมให้จิตใจมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
สุขภาพจิต หมายถึง สุขภาพของจิตใจที่ดีของมนุษย์หรือการมีสภาพจิตที่ดี เช่น มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส อยู่เสมอ ไม่มีความวิตกกังวลใด ๆ มีแนวความคิดถูกต้อง ส่วนบุคคลที่สุขภาพจิตเสื่อม ย่อมหมายถึง บุคคลที่มีสุขภาพจิตผิดปกติ มีความกังวลทุกข์ร้อนอยู่เสมอ ตลอดจนมีแนวความคิด พฤติกรรมผิดไปจากปกติธรรมดา สุรางค์ จันทน์เอม ( 2527 : 2 )
คนที่มีสุขภาพทางจิต ( Mentally Health ) หมายถึง คนที่ยอมรับความเป็นจริง และมองเห็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างตนเอง และสิ่งแวดล้อม สายสุรี จุติกุล ( 2511 : 12 )
คนที่มีสุขภาพจิตดี หมายถึง คนที่สามารถปรับตัวได้ ( Adjusted Person ) หมายความว่า เมื่อเผชิญกับความคับข้องใจ จะไม่แสดงความท้อแท้ หรือเสียใจเกินกว่าเหตุ และเมื่อเผชิญปัญหา ก็จะแก้ปัญหาโดยอาศัยข้อเท็จจริง ส่วนคนที่มีสุขภาพจิตไม่ดีคือ คนที่ปรับตัวไม่ได้ ( Maladjusted Person ) คือ เมื่อพบกับความคับข้องใจจะแสดงความท้อแท้และวิตกกังวลออกมาเสมอ และแก้ปัญหาโดยการหนีความจริง เดือน สินธุพันธ์ประทุม ( 2511 : 1 )
องค์การอนามัยโลก ( WHO: World Health Organization ) ว่า สุขภาพที่ดี หมายถึง ความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจปราศจากซึ่งโรคภัยไข้เจ็บ และคำว่าสุขภาพจิต หมายถึง ความสมบูรณ์ทางด้านจิตใจซึ่งปราศจากอาการของโรคจิตโรคประสาทหรือลักษณะผิดปกติอื่นๆ ทางจิตและความสมารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ โดยไม่มีข้อขัดแย้งภายในจิตใจ กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ ( 2524 : 1 )
ดังนั้นผู้มีสุขภาพจิตดีนั้น ต้องเป็นผู้มองโลกในแง่ดี พึ่งตนเองได้ พึ่งผู้อื่นได้บ้าง และให้ผู้อื่นพึ่งได้บ้าง สามารถทำประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น สามารถปรับตัวให้เข้ากับปัญหาอุปสรรคชองชีวิตได้โดยไม่เสียดุลยภาพ เป็นผู้สำรวจตนเอง มองตนเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง รู้สึกในคุณค่าของตนเอง มีความพอใจในสถานภาพของตนและรู้สึกมีความมั่นคงในชีวิต พอใจในบทบาทและเพศแห่งตน เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตแล้วสามารถปรับปรุงแก้ไขตัวเองได้เสมอ มีความอยากรู้อยากเห็นหรือใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีความพอใจที่จะร่วมมือ สามารถประนีประนอมกับผู้อื่น กล้าแสดงออก และสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดี มีบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับลักษณะเพศ วัย และบทบาทของตน
สุขภาพจิตจึงเป็นการปรับตัวของแต่ละบุคคลที่มีต่อตนเอง และมีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ มีพฤติกรรมที่เป็นที่พึ่งพอใจ เบิกบานเอาใจใส่และระลึกถึงบุคคลอื่น มีความสามารถที่จะเผชิญและประสบต่อความกระทบกระเทือน ความแตกร้าวและความเครียดน้อยมาก ตลอดทั้งปราศจากพฤติกรรมที่แสดงถึงความบกพร่องทางสติปัญญา อารมณ์ และสังคม สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วยความสุข
สุขภาพจิตที่ดีจึงหมายถึง การมีสภาวะทางจิตที่สมบูรณ์และการมีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ของแต่ละบุคคลนั้น โดยจะต้องพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ทั้ง 6 ประการต่อไปนี้คือ ประการแรก คือ เจตคติที่มีต่อตนเอง สามารถที่จะยอมรับตนเอง สามารถที่จะยอมรับความอ่อนแอ และความบกพร่องของตนเอง มีความมั่นใจในตนเอง มีความภูมิใจในความสำคัญของตนเองเคารพตนเอง ตลอดทั้งมีความเข้าใจและยอมรับสภาพของตนเอง ประการที่สอง คือ การเจริญเติบโตและพัฒนาการของบุคคลเป็นไปอย่างสมปรารถนาและสอดคล้องกับศักยภาพของตนเองสามารถประสบความสำเร็จและความมุ่งหวังที่พึงประสงค์ ตลอดทั้งสามารถพัฒนาความสามารถของตนเต็มที่ ประการที่สามคือ ความผสมผสานขององค์ประกอบบุคลิกภาพเป็นไปอย่างกลมกลืน ราบรื่น มีสติสัมปชัญญะ ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของจิตไร้สำนึก มีความสามารถที่จะทนต่อความวิตกกังวล และความบีบคั้นภายใต้สภาพการณ์ใดสภาพการณ์หนึ่งได้ ประการที่สี่ คือ ความเป็นตัวของตัวเองและความเป็นอิสระในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ มีความเป็นอิสระจากอิทธิพลของสังคม ในการที่จะตัดสินใจโดยยึดมาตรฐาน ที่เป็นหลักประจำใจของตน มากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับการบีบคั้นของอิทธิพลภายนอก ประการที่ห้า คือ การยอมรับและเผชิญต่อความเป็นจริง ไม่หลงงมงายในความเพ้อฝันหรือความปรารถนาของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสนใจ เอาใจใส่ในสวัสดิภาพของบุคคลอื่น ๆ และประการสุดท้ายคือ ความสามารถที่จะเอาชนะอุปสรรคและสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยสามารถที่จะรักและให้ความรักแก่บุคคลอื่นได้ สามารถที่จะรับความรักจากบุคคลอื่นและ สามารถที่จะอุทิศเวลาให้แก่งานตลอดทั้งการละเล่นต่างๆ ได้ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม มีความพอใจในสภาพแวดล้อมของตนเอง เต็มใจที่จะหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาตลอดทั้งอุปสรรคที่จะต้องเผชิญในชีวิตของตน
นักศึกษาที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์จึงควรจะเป็นบุคคลที่สามารถยอมรับตนเองได้คือ ยอมรับทั้งในด้านที่เด่น และด้านที่ด้อยหรือส่วนที่เป็นข้อบกพร่องของตนเอง พยายามใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เขามีอยู่ให้มากที่สุด และพยายามไม่ให้ความอ่อนแอส่วนบุคคลมาขัดขวางกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน พยายามดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต มีบุคลิกภาพที่เหมาะสม มีอารมณ์ที่มั่นคง สามารถที่จะเผชิญต่อสภาพความเป็นจริง รู้จักแยกแยะพฤติกรรมที่ถูกออกจากพฤติกรรมที่ผิด มีความรับผิดชอบต่อตนเองสามารถแยกชั่วดี มีความกล้าที่จะเผชิญต่อความขัดแย้งต่างๆ ของตนเองรวมถึงความขัดแย้งของความรู้สึกของตนเอง ความขัดแย้งที่เกิดจากความต้องการของตนเอง และประสบการณ์ของสภาพแวดล้อม
สุขภาพจิตที่ดีจะทำให้บุคคลที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ซึ่งสามารถแยกเป็นข้อๆได้คือ ประการแรก บุคคลจะสามารถยอมรับสภาพความเป็นตัวของตัวเอง มีเหตุผล เคารพในเหตุผลของตนเอง และพยายามแสวงหาแนวทางที่จะปรับปรุงตนเอง ประการที่สองคือ บุคคลจะรู้จักประเมินค่าของตนเอง ตามสภาพความเป็นจริง ตั้งระดับความคาดหวัง ความสำเร็จของตนเอง อันเป็นการวางแผนชีวิตที่เหมาะสมกับตนเอง โดยแผนชีวิตนั้น ๆ จะไม่สูงหรือต่ำเกินความสามารถตามสภาพความเป็นจริงของตนเอง ประการที่สามคือ บุคคลมีความรับผิดชอบในการที่จะตัดสินใจ ตลอดทั้งสามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุขและมีความสุข สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ต่าง ๆ ได้ สามารถดำเนินชีวิตได้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย เป้าหมายและอุดมคติของตนเอง ประการที่ห้าคือ สามารถที่จะทนต่อความบีบคั้น สภาพการณ์ที่บีบบังคับและกังวลใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถปรับตัวปรับใจให้ชนะเหตุการณ์ที่ฝังใจและความคับข้องใจต่าง ๆ ได้ ประการที่หกคือ มีความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลอื่น มีแนวความคิดที่ดีทั้งต่อตนเองและต่อสังคม ประการที่เจ็ดคือ สามารถแสวงหาอิสรภาพ มีความเป็นตัวของตัวเอง มีแนวทางชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นบุคคลที่ทำตามบุคคลอื่นแต่ประการเดียว หรือมีความเห็นแก่ตัวเองมากเกินระดับคนปกติ ประการที่แปดคือ พยายามที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากกว่าที่จะหนีปัญหานั้น ๆ อีกทั้งจะต้องไม่พยายามใช้กลวิธานในการป้องกันตัวหรือกลไกทางจิตมากเกินไปหรือบ่อยครั้งเกินไป และประการที่เก้าคือ คำนึงถึงวัฒนธรรม ระเบียบประเพณี และค่านิยมต่าง ๆ ของสังคมโดยนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาพิจารณาประกอบกับความรู้สึก สิทธิของตนเองทั้งที่มีต่อตนเองและผู้อื่น เพื่อจะนำมาเป็นแนวทางในการพิจารณาว่าควรจะสนองความต้องการของชีวิตในระดับใดจึงจะมีชีวิตจิตใจอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ได้
จากความหมายของสุขภาพจิตที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะเห็นว่า คำว่า “ สุขภาพจิต ” มีความหมาย 2 ประการ คือ ประการแรกมีความหมายในทางบวกหรือมีความหมายในทางที่ดี ที่ชื่นชอบ และประการที่สอง มีความหมายถึง ความสามารถในการปรับตัว ตลอดทั้งความสามารถในการยอมรับความเป็นจริง และความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างตนเองและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าบุคคลนั้นมีความสามารถในการปรับตัวดีก็แสดงถึง การมีสุขภาพจิตดีหรือมีสุขภาพจิตสมบูรณ์ แต่หากว่าบุคคลนั้นประสบความล้มเหลวในการปรับตัว ปรับตัวไม่ได้ ปฏิบัติตนเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมไม่สามารถยอมรับความเป็นจริง และไม่สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างตนเองและสิ่งแวดล้อมได้ บุคคลนั้นก็จะเป็นบุคคลที่มีสุขภาพจิตไม่ดีหรือมีสุขภาพจิตเสื่อมในที่สุด
จากความหมายของสุขภาพจิตดังกล่าวแล้วข้างต้นนี้ ผู้เขียนขอสรุปความหมายของ คำว่า
สุขภาพจิต หมายถึง ความสมบูรณ์ทางร่างกายและทางจิตใจของมนุษย์ ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข ปราศจากโรคจิต โรคประสาท มีความสามารถในการปรับตัวและอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม มีความมั่นคงทางอารมณ์ ตระหนักรู้ในตนเองทั้งด้านบวกและด้านลบตามศักยภาพแห่งตน มีสมรรถภาพในการทำงานมีสัมพันธภาพต่างๆ ที่ดีกับบุคคลอื่นและสามารถทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำคัญของสุขภาพจิต
ในสังคมปัจจุบันนี้ทุกชีวิตต้องเผชิญปัญหามากมาย แก้ปัญหานี้เสร็จก็มีปัญหาอื่นๆ เข้ามาให้
ขบคิด มากมาย บางคนก็ค่อยๆ สะสางปัญหาไปทีละปล้องทีละปล้องค่อยๆ แก้ค่อยคลาย แต่บางคนยิ่งแก้ปัญหาก็ยิ่งพันตัว ดูวุ่นวายไปหมด และก็มีอีกหลายชีวิตที่ใช้วิธีแก้ปัญหาดดยการหันหลังให้กับความจริงและท้ายที่สุดก็ย้ายตัวเองไปอยุ่บ้านใหม่ที่ตัวเองไม่รู้จักและไม่รู้จักใครอีกเลย มีหลายชีวิตที่แก้ปัญหาหนักไปอีกคือทำร้ายตัวเอง ตั้งแต่เสพยาเสพติดจนถึงการทำร้ายชีวิตตน
ในโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่มีปัญหาเพียงแต่ว่า เมื่อเกิดปัญหาแล้วตัวเรามีพลังใจ มีแรงกายที่จะคิดแก้ไขหรือไม่ ถ้ามีพลังที่จะแก้ไขปัญหาเราก็จะชนะการจะชนะปัญหาใดๆ ได้เราต้องเป็นผู้มีสุขภาพจิตดี ยอมรับความจริง รู้และเท่าทันโลกของการเปลี่ยนแปลง
ทุกวันนี้มีคนไข้โรคประสาท โรคจิตเดินเข้าออกในโรงพยาบาลมากขึ้น ยิ่งสังคมเสื่อมเท่าไร มโนธรรมต่ำลงเท่าไร ความยับยั่งชั่งใจของคนก็ตกต่ำลงเท่านั้น ปัญหาต่างๆ ก็จะเข้ามารุมเร้ามีแนวทางหนึ่งที่จะประคองให้บุคคลพ้นจากความวิกฤตต่อปัญหาต่างๆ ลงบ้างได้แก่การรักษาสุขภาพจิตให้ดี รักษาร่างกายให้แข็งแรง มองโลกตามจริงแก้ปัญหาที่ละขั้น เชื่อว่าปัญหาจะทุเลาลงได้ แต่ใช่ว่าปัญหาจะหมดไป แก้ปัญหานี้แล้วอาจมีปัญหาอื่นเข้ามาเราก็ค่อยๆ แก้ ยิ่งเราโตขึ้น วุฒิภาวะเรามีมากขึ้นแนวทางหรือช่องทางในการแก้ปัญหาก็จะมีหลายวิธีขึ้นอย่างไก็ดี จงสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้เป็นเสมือนภูมิคุ้มกัน เมื่อนั้นทุกอย่างจะออกมาดี
ในแง่ของความสำคัญระดับชาติ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 จนถึงปัจจุบัน นโยบายที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งสาระสำคัญของนโยบายที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพประชากร โดยการส่งเสริมสุขภาพอนามัยทั้งทางร่างกายและจิตใจของประชากร และเร่งพัฒนาคุณภาพจิตใจของประชากรโดยระดมสรรพกำลังจากทุกหน่วยของรัฐและเอกชน ตลอดทั้ง
สถาบันต่าง ๆ ทางสังคม โดย เฉพาะสถาบันครอบครัว ส่วนแผนงานสุขภาพจิตในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ดังกล่าว ได้ระบุถึง เป้าหมายของแผนงานสุขภาพจิต ขอบข่ายของงานสุขภาพจิตซึ่งเน้นทั้งในเรื่องราวการป้องกัน การบำบัดรักษา และการส่งเสริมสุขภาพจิต สำหรับสาระสำคัญของเป้าหมายของ แผนงานสุขภาพจิต ได้แก่ การมุ่งแก้ปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค เพื่อให้บรรลุผลในระยะยาวคือ สุขภาพดีถ้วนหน้าเมื่อสองห้าสี่สาม และปรับปรุงของเขตของงานสุขภาพจิต โดยเน้นเรื่องการป้องกันและส่งเสริม สุขภาพจิต พร้อมทั้งจัดข่ายงานให้สามารถ ครอบคลุมประชากรได้อย่างทั่วถึง ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทเป็นต้น จากแผนนี้จะเห็นว่าบิดา มารดา ครู อาจารย์ เป็นกลุ่มบุคคลต่างๆที่สามารถจะร่วมงานหรือประสานงานกับบุคคลต่าง ๆ ในสังคม ทั้งนี้เพื่อจะช่วยส่งเสริมให้แต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ได้เจริญกเติบโตและสุขสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตลอดทั้งเพื่อหาวิถีทางที่จะป้องกันและบำบัดรักษา แก้ไข หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งบกพร่องหรือมีความโน้มเอียงไปสู่ความผิดปกติด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษา ครู อาจารย์ตลอดทั้งบิดามารดา ควรจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญต่างๆ ของสุขภาพจิตเพื่อจะได้ทราบและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้แล้ววิชาจิตวิทยายังมุ่งหวังให้นักศึกษามีความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ ตลอดจนพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาเข้าใจพฤติกรรมต่างๆของตนเองและผู้อื่นนำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้แก้ปัญหาของตนเอนำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ในการปรับตัว เข้ากับสังคมได้ ตระหนักถึงความสำคัญของจิตวิทยาและการนำจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพและการทำงานต่างๆ
ประวัติและความเป็นมาของสุขภาพจิตในประเทศไทย
ประวัติและความเป็นมาของสุขภาพจิตในประเทศไทยเริ่มในปีพ.ศ. 2512 โดยคำอธิบายของศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว
เมื่อความรู้เรื่องวิชาโรคจิตโรคประสาทกว้างขวางขึ้น แพทย์ก็ได้เข้าใจถึงสาเหตุ และการป้องกันมากขึ้น จึงมีความคิดก้าวหน้าต่อไปว่าไฉนจะมานั่งรักษากันอย่างเดี่ยว ควรหาทางป้องกันให้มากที่สุดที่จะมากได้ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดของการสาธารณสุขด้วย ยิ่งเมื่อพิจารณาจำนวนคนไข้เพิ่มมากขึ้นและมี โรงพยาบาลแต่เพียงจำนวนน้อย เพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอก็ยิ่งมีความ จำเป็นมากขึ้น ทำอย่างไรจึงจะให้พลเมืองมี ความสุข ไม่เป็นโรคจิตโรคประสาท และถ้าหากเริ่มจะดำเนินการ ก็ควรจะตรึงคนไข้ไว้นอกโรงพยาบาล ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล โดยให้ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ให้ดีและดูแลให้ดีในครอบครัว และในชุมชนด้วย สถิติของคนไข้โรคจิตโรคประสาทที่มีมากนั้น ไม่มีประเทศใดหรือรัฐบาลใดจะสร้างโรงพยาบาลให้เพียงพอได้ และยิ่งสร้างมากก็มีคนไข้มาก เพราะอาจจะไม่ได้คิดรักษาดูแลตัวเองด้วยก็ได้ ยิ่งประเทศเจริญทางอุตสาหกรรมจำนวนคนไข้โรคจิตทั่วไปก็มีแต่จะสูงขึ้น เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ การปฏิบัติงานกับประชาชนในชุมชน ในรูปของคลีนิคหรือศูนย์สุขภาพจิตหรือในรูปการสุขศึกษาต่าง ๆ และนั่นคือ งานสุขภาพจิต
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาวิชาจิตเวช และสุขภาพจิตนั้นจะเห็นได้ว่า การเรียนวิชาโรคจิตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเรียนวิชาสุขภาพจิตตลอดถึงการปฏิบัติงานทางสุขภาพจิตมาก ถ้าหากรู้วิชาโรคจิตก็จะเข้าใจวิชาสุขภาพจิตไปเอง เป็นงานซึ่งเข้าสู่ประชาชนในท้องถิ่นหรือในครอบครัวมากเข้าทุกที ๆ และเป็นงานที่ปฏิบัติร่วมกับประชาชนนอกโรงพยาบาลมากขึ้น นอกจากนี้ทั้งวิชา โรคจิตดีก็เป็นผลให้เกิดสุขภาพจิตของประชาชนดี หรือกล่าวอีกทางหนึ่ง ถ้าประชาชนมีสุขภาพจิตดีหรือเข้าใจวิชาสุขภาพจิตดี ก็เป็นผลให้เข้าใจวิชาโรคจิต ดีขึ้นเช่นกัน
ส่วนงานสุขภาพจิตในประเทศไทยนั้น เริ่มจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลก่อนแล้วก้าวออกไปสู่ประชาชนนอกโรงพยาบาลในภายหลังดังนั้นงานสุขภาพจิตของประเทศไทยจึงรวมทั้งการรักษาและการป้องกัน ซึ่งประกอบด้วย การดูแลรักษาคนไข้นอกโดยคนไข้ไม่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลตลอดเวลา การรักษาโรคจิตในโรงพยาบาลทั่วๆ ไปการดูแลในสถานพักฟื้นหรือชุมชนหรือหน่วย อุตสาหกรรมบำบัดในชุมชนโดยเฉพาะสำหรับผู้เพิ่มจำหน่ายจากโรงพยาบาล โรคจิต คลีนิคสุขวิทยาจิตและหน่วยสุขภาพจิตเคลื่อนที่สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่เริ่มป่วยเพื่อป้องกัน โรคจิต โรคประสาทและการส่งเสริม สุขภาพจิต ด้วยการให้การศึกษาและบริการเพื่อสุขภาพจิตที่ดีแก่ประชาชน
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้วได้กล่าวว่าการศึกษาวิชาสุขภาพจิต คือ
การศึกษาวิชาป้องกันโรคจิตโรคประสาท พึงต้องเข้าใจถึงโรคแห่งร่างกาย และพึงเข้าใจจิตวิทยาแห่งบุคคลกับเข้าใจสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมของบ้านเมืองไปด้วย คณะกรรมการผู้สอนวิชาสุขภาพจิตแห่งสหพันธ์สุขภาพจิตโลก ได้ประชุมพิจารณาแบ่งอาณาเขตของวิชานี้ออกเป็น 3 ตอน คือ การป้องกันในระยะแรกอันเกี่ยวกับเรื่องของร่างกายและเนื้อสมอง โดยป้องกันตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น การป้องกันระยะสองเกี่ยวกับเรื่องของจิตใจและสังคม ป้องกันเมื่อเริ่มจะมีลักษณะอาการบ้างแล้ว กับการป้องกันระยะสาม อันเกี่ยวกับการติดตามดูแลและฟื้นฟูหลังจากที่เป็นโรคจิต และได้รับการรักษามาแล้ว การเข้าใจโรคและเริ่มรักษาแต่ระยะต้นที่สุดคือ แผนการป้องกันดีที่สุดและถูกที่สุด
จากข้อความต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนี้จะเห็นว่างานสุขภาพจิตจะร่วมทั้งการดูแลคนไข้ภายในโรงพยาบาล การดูแลคนไข้ในครอบครัวและชุมชน การป้องกันโรคจิต โรคประสาท และการส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตที่ดีของประชาชน นอกจากนี้ในปัจจุบันได้ขยายงานสุขภาพจิตไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นมากขึ้น โดยให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด สำหรับความเคลื่อนไหวของงานจิตเวช และงานสุขภาพจิตในประเทศไทยที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
พ.ศ. 2495 งานสุขภาพจิตภาคปฏิบัติในประเทศไทยได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก โดยองค์การอนามัยโลกได้ส่งนายแพทย์ชาลส์ กันดรี จากคานาดา มาเป็นที่ปรึกษาระยะ 3 เดือน ที่ปรึกษาได้เสนอความเห็นว่า จุดแรกที่ประเทศไทยจะต้องจัดทำคือ การจัดให้มีคลีนิคสุขภาพจิต เพื่อตรวจและรักษาโรคจิตและความผิดปกติของจิตใจของเด็กและเพื่อเป็นศูนย์ของการศึกษาสุขภาพจิตต่อไป
พ.ศ. 2596 จัดตั้งคลีนิคสุขวิทยาจิตที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อศึกษาและบริการเด็กที่มีอารมณ์แปรปรวน เพื่อประโยชน์ของการป้องกันโรคจิตและส่งเสริมสุขภาพจิตในผู้ใหญ่ โดยมี ดร. มากาเรต สเตแพน นักจิตวิทยมาร่วมปฎิบัติงานกับแพทย์หญิง คุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา
พ.ศ. 2497 จัดตั้งสมาคมจิตแพทย์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อศึกษาวิชาการให้กว้างขวางมากขึ้น และเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน สำหรับงานของสมาคมจิตแพทย์เน้นหนัก ทางจิตแพทย์และผู้มีอาชีพทางแพทย์
พ.ศ. 2500 ขยายบริการสุขภาพจิตไปยังสถานสงเคราะห์แม่และเด็กสาธร โดยให้บริการเป็นประจำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
พ.ศ. 2502 จัดตั้งสมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย โดยมีแพทย์หญิง คุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา ดร.คุณหญิงอัมพร มีสุข และศาสตราจารย์นายแพทย์ ฝน แสงสิงแก้ว เป็นผู้จดทะเบียน สมาคมสุขภาพจิตนี้ทำงานร่วมกับประชาชน ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิต สำหรับกรรมการส่วนใหญ่ของสมาคมนี้เป็นครู อาจารย์ นักศึกษา และผู้มีอาชีพอื่น ๆ ร่วมด้วย และได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ กว้างขวาง มากขึ้น มีการออกวารสารให้ความรู้แก่ประชาชน มีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพจิต เพื่อรับปรึกษาและแนะนำผู้มีทุกข์ ณ ที่สำนักงานตึกคีลานเภสัช โรงพยาบาลสงฆ์ มีโครงการแนะครูเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตเด็กในโรงเรียน เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่มีปัญหา และป้องกันโรคจิตในเด็กนอกจากนี้ ยังมีบริการช่วยเหลือเด็กในแหล่งเสื่อมโทรม ป้องกันความเป็นอาชญากร และเด็กเกเร เช่น จัดกิจกรรมลูกเสือนอกโรงเรียน มีการอภิปรายปัญหาสำหรับประชาชนที่โรงพยาบาลสงฆ์เป็นประจำ และมีการอภิปรายปัญหาชีวิต ณ ที่อื่น ๆ ด้วย
พ.ศ. 2504 จัดตั้งคลีนิคสุขวิทยาจิตที่อาคาร 9 ถนนราชดำเนิน นับเป็นคลีนิคสุขวิทยาจิตสาขาที่ 2 ที่ให้บริการสุขภาพจิต
พ.ศ. 2506 จัดตั้งคลีนิคสุขวิทยาจิตที่โรงพยาบาลเด็ก ซึ่งเป็นคลีนิคสุขวิทยาจิต สาขาที่ 3 ที่ให้บริการสุขภาพจิต
พ.ศ. 2513 จัดสร้างคลีนิคสุขวิทยาจิต เพื่อเป็นศูนย์ใหญ่ที่ 75/1 ถนนพระราม 6 พญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักศึกษาของโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลต่อไปด้วย และปัจจุบันคลีนิคสุขวิทยาจิตทุกสาขาได้ยุบรวมเป็นศูนย์สุขวิทยาจิตโดยมีแพทย์หญิงคุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการศูนย์สุขวิทยาจิต และยังเปิดบริการหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกด้วย สำหรับวัตถุประสงค์ของศูนย์สุขวิทยาจิต นั้นเพื่อตรวจรักษาเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต มิให้มีอาการเรื้อรัง เพื่อป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตของประชาชน มิให้กลายเป็นโรคจิต โรคประสาท เพื่อเป็นศูนย์กลางการสอนนักศึกษา แพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช พยาบาล ครู ในเรื่องปัญหาทางจิตใจของเด็ก เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านสุขภาพจิตต่อประชาชน โดยทางสื่อมวลชน เพื่อเป็นแหล่งศึกษา หาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคจิตโรคประสาทในผู้ใหญ่ และการหาทางป้องกันมิให้เกิดขึ้นซ้ำอีก เพื่อศึกษาปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อันก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในตัวบุคคล ทั้งนี้เพราะประเทศไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเพื่อเป็นศูนย์กลางในการค้นคว้าเรื่องการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งจะนำผลมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการรักษา ป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพจิตแก่เด็ก เพื่อเป็นการพัฒนากำลังงานของชาติ
หลักพื้นฐานของสุขภาพจิต
1. การปรับตัวเป็นวิถีชีวิตของคนทั่วๆไปทุกคนที่จะต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาทุกคนย่อม
จะการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปตามครรลองแห่งตน แต่หลายคนย่อมประสบปัญหา และต้องแก้ปัญหาต่างๆ มากมายดังนั้นบุคคลจึงต้องหาทางผ่อนคลายอารมณ์ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อาจจะต้องมีการปรับตัวปรับใจให้ทันกับเรื่องต่างๆ คนที่ปรับตัวเก่งก็จะมีสุขภาพจิตดี คนที่มีสุขภาพจิตดีย่อมปรับตัวได้ดี ดำรงตนในสังคมได้
2. บุคคลแต่ละคนย่อมมีลักษณะประจำตัวที่แตกต่างกัน บางคนมีความอดทนต่อบางสิ่งไม่ได้บางคนสามารถทนต่อสิ่งแวลล้อมที่รุนแรงได้ ต่างคนต่างก็มีปฏิกิริยาต่อสภาพที่คับข้องใจต่างกัน มีวิธีการใช้ชีวิตที่ต่างกัน บุคคลแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน
3. สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของบุคคลมากมาย เช่น ระบบสังคม วัฒนธรรม และในชุมชนก็มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของบุคคลมาก ถ้าวัฒนธรรมของเขาขัดกับคำสั่ง ย่อมเป็นปัญหาในทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิต คนจนขาดแคลนถ้าต้องการให้สวมใส่เสื้อผ้าดี ๆ ย่อมลำบากที่จะหามาใส่แต่ ผู้ที่มาจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมดี ย่อมมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีในสภาพการณ์ต่าง ๆ ดังนั้นคนจึงมีความแตกต่างกันวิธีการของบุคคลจึงเลือกวิธีที่ไม่เหมือนกัน
4. ระบบศีลธรรมนับว่ามีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตมาก ถ้าวัฒนธรรมแตกต่างกันคนสองคนอาจขัดแย้งกันและไม่ทราบว่า จะถือปฏิบัติตามฝ่ายไหน อาจทำให้เสื่อมสุขภาพจิตได้
5. พันธุกรรมก็เป็นตัวกำหนดลักษณะทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ติดตัวมาโดยแต่กำเนิด จึงเป็นการยากที่จะแก้ไข เช่น ตาบอดสี จิตทราม ปัญญาอ่อน เป็นต้น
ดังนั้นนักศึกษาจะต้องระมัดระวังในเรื่องหลักการพื้นฐานของสุขภาพจิตทั้งห้าประการดังกล่าวข้างต้นในการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์เพราะยังมีปัจจัยที่มี อิทธิพลอีกหลายประการที่ทำให้หลายคนมีสุขภาพจิตที่ต่างกัน แต่ที่ดีที่สุดคือ การรักษาสุขภาพจิตของตนเอง ระมัดระวังความคิด ความคิดที่ดีจะทำให้เราปฏิบัติดี รู้จักรักตนเองและนำความรักและความรู้สึกที่เรารักตัวเองออกมารักผู้อื่น ปฏิบัติดีๆ กับผู้อื่น สุขภาพจิตเราก็จะดี มีข้อสังเกตบางประการคือ ความรักที่เรามอบให้เพื่อนมนุษย์ต้องไม่หวังสิ่งตอบแทน ต้องไม่คาดหวังว่าเมื่อเราทำอย่างนี้แล้วต้องได้ผลตอบแทนอย่างนั้น จงพยายามเข้าใจคนอื่นตามที่เขาเป็นเราก็จะมีความสุข และสิ่งที่ควรศึกษาต่อไปคือลักษณะของผู้มีสุขภาพจิตดีมีลักษณะอย่างไร ซึ่งอาจทำให้เราหลายคนพัฒนาตนพัฒนาจิตได้อีกระดับหนึ่ง
ลักษณะคนที่มีสุขภาพจิตดี และคนที่มีสุขภาพจิตไม่ดี
ลักษณะของผู้มีสุขภาพจิตดี
ลักษณะของผู้มีสุขภาพจิตดีควรมีละกษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้ที่รู้จักและเข้าใจตนเองได้ดีอยู่เสมอ
รู้จักควบคุมอารมณ์ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ เช่น โกรธ กลัว อิจฉา ฯลฯ ยอมรับสภาพความขาดแคลนและขีดจำกัดของตน ยอมรับนับถือตนเอง ยอมรับสภาพทั่วไปของตนเอง ยอมรับความผิดหวังอย่างไม่สะทกสะท้าน สามารถรับได้ทั้งความผิดหวังและความสำเร็จ รู้จักประมาณตน ประเมินความสามารถของตนเอง ไม่ดูถูกหรือยกย่องความสามารถของตนจนเกินความเป็นจริง
2. เป็นผู้ที่รู้จักตนเองและสามารถเข้าใจผู้อื่นได้ดี
บุคคลควรมีเข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล ให้ความสนใจ รักใคร่แก่ผู้อื่น มีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนอย่างราบรื่นชื่นสุขและมั่นคง สามารถเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความรับผิดชอบต่อเพื่อนบ้านหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะหรือสังคม ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่คิดว่าตนเองเก่งกว่าคนอื่น มีน้ำใจเสียสละ ให้ความช่วยเหลือบุคคลอื่น ไม่เอาเปรียบผู้อื่น เข้าใจความรู้สึกของบุคคลอื่น ใจกว้างยอมรับฟังการติชมจากคนอื่น รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
3. เป็นผู้ที่สามารถเผชิญกับปัญหาและความเป็นจริงแห่งชีวิตได้ดี
สามารถตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างฉลาด มีเหตุผล ฉับพลัน ปราศจากความลังเล หรือเสียใจภายหลังสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ทุกสภาพการณ์และปรับสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ รับผิดชอบต่อปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเผชิญปัญหาชีวิตได้ด้วยความไม่ประมาท ปราศจากความวิตกกังวล ไม่ประหม่า และไม่หวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถใช้ พลังงานที่มีอยู่อย่างเต็มที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอใจ ชื่นชม ยินดีต่อการกระทำที่ตนกำลังกระทำอยู่ มีความมานะพยายาม พากเพียร ลักษณะสำคัญที่เราสามารถจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี คือ
3.1 เป็นผู้ยอมรับความจริงของตน ยอมรับตนเอง เข้าใจในสถานะของตนเอง
3.2 มีแรงกระตุ้นในการเจริญเติบโตและพัฒนาการไปในทางที่เป็นไปได้
3.3 มีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องของบุคลิกภาพ ปรัชญาชีวิต มีความอดทนต่อความกดดันจากสิ่งต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายใน
3.4 มีการมองความจริงอย่างมีแบบแผนและเข้าใจสถานะการณ์ของสังคม
3.5 มีความต้องการความรักจากผู้อื่น มีการทำงาน มีการละเล่น และมีความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ
ลักษณะของผู้มีสุขภาพจิตไม่ดี
ลักษณะของผู้มีสุขภาพจิตไม่ดีหรือผู้มีความผิดปกติทางจิตในขั้นอ่อนเรียกว่า Neuroses เป็นสภาพผิดปกติทางจิตซึ่งเรามักจัดอยู่ในระดับการป่วยทางจิตปานกลางระหว่างสุขภาพจิตสมบูรณ์แบบหรือที่เรียกว่าโรคประสาท ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับรู้โลกของความจริง และสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้ และ Psychoses หรือการป่วยทางจิตอย่างรุนแรงหรือที่เรามักเรียกกันว่าโรคจิต ผู้ป่วยจะไม่รับรู้โลกของความจริง ไม่สามารถดำรงตนในสังคมได้ ซึ่งจะอธิบายเรื่องโรคประสาทและโรคจิตโดยสรุปดังนี้คือ
โรคประสาท ( Neurosis )
โรคประสาท เป็นลักษณะความผิดปกติทางจิต มีความวิตกกังกลเป็นอาการพื้นฐานและผู้ป่วยพยายามใช้กลวิธานในการปรับตัวต่างๆเพื่อให้ความวิตกกังวลบรรเทาลงหรือหมดไป โรคประสาทต่างจากโรคจิตตรงที่บุคคลยังมีความคิดเป็นปกติ ยังอยุ่ในโลกความจริง สามารถแยกแยะโลกความจริงและความฝันได้ รู้ว่าตนเองไม่สบายใจ โรคประสาทประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ในที่นี้พอสรุปได้แก่
1. ความวิตกกังวล ( anxiety ) เป็นความวิตกกังวลที่แสดงออกในทางความตึงเครียดของประสาท ซึ่งนำผลไปสู่ความเครียดในทางความคิดและพฤติกรรม เช่น มีความไม่สบายใจ กระวนกระวายใจ หงุดหงิดขาดสมาธิ นอนไม่หลับ มีความตึงเครียดของกล้าเนื้อ ใจสั่น เหงื่ออก มือสั่น
2. conversion หรือศัพท์ที่รู้จักกันแพร่หลายเรียกว่า hysteria เป็นลักษณะของ anxiety ที่เก็บไว้มากผลักดันและเปลี่ยนรูปไปเพื่อบำบัด
หรือขจัดความต้องการที่กดดัน อยู่ภายในบางประการของบุคคล เช่น การหมดความรู้สึกในบางส่วนของร่างกาย เป็นต้น
3. phobia เป็นความกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งเร้าเฉพาะที่ทำให้กลัว เป็นความกลัวที่อยู่ในจิตสำนึก
4. obsessive-Compulsive เป็นพฤติกรรมที่มีแบบแผนความคิด หรือการกระทำซ้ำๆ ซากๆและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำพฤติกรรมต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก
5. depressive พวกเศร้าเสียใจ ผิดหลัง ความรู้สึกหลังการสูญเสีย ถ้ารุนแรงอาจทำร้ายตัวเอง
6. neurasthenic พวกท้อแท้ ท้อใจ เหนื่อยล้า หมดแรง อ่อนระโหยไม่อยากเริ่มสิ่งใดบุคคลที่เป็นโรคประสาทในกลุ่มข้างต้น ซึ่งอาจเป็นโรคใดโรคหนึ่ง บุคคลยังสามารถติดต่อกับบุคคลในสังคมได้ มีสติปัญญาเท่าเดิมเพียงแต่ว่าต้องได้รับการรักษาที่ถูกวิธี
โรคจิต ( Psychoses )
โรคจิต ( Psychoses ) เป็นภาวะความผิดปกติทางจิต มีการสูญเสียหน้าที่การทำงานของจิตถึงระดับที่ทำให้เสียความสามารถที่จะตอบสนอง ความต้องการ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตหรือความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมต่างๆที่อยู่ในกรอบหรือโลกแห่งความเป็นจริงจนบางครั้งไม่อาจแยกโลกของความฝันออกจากความเป็นจริงได้ บุคลิกภาพของผู้ป่วยในขั้นนี้มักไม่คงที่ มีความแปรปรวนของบุคลิกภาพรุนแรง เราแบ่งความผิดปกติอย่างรุนแรงของจิตออกเป็น 2 แบบ ตามสาเหตุของอาการ คือ
1. Organic psychoses คือ ความผิดปกติอย่างรุนแรงของจิต เนื่องจากความผิดปกติอย่างรุนแรงของสภาพทางกาย ได้แก่ โรคของสมองต่าง ๆ เช่น เนื้องอกในสมอง เนื้อร้ายในสมอง เส้นโลหิตสมองแตก การป่วยเนื่องจากพิษสุราเรื้อรัง ฯลฯ เป็นต้น
2. Functional psychoses คือความผิดปกติอย่างรุนแรงของจิตเนื่องจาก ความป่วยอย่างรุนแรงของจิตเอง แบ่งออกเป็น
2.1 Affective reactions maniac depressive คือ รูปหนึ่งของลักษณะโรคจิตประเภทนี้
ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ การเปลี่ยนอารมณ์อย่างรวดเร็ว อาจซึมเศร้ามากจนถึงตื่นเต้นมากจนคลั่ง ความผิดปกติดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมไม่สมกับสภาพแวดล้อม โรคจิตทางอารมณ์เรียกว่า Manic-Depressive Psychosis ลักษณะอาการ เวลาหายป่วยก็หายสนิท แต่อาจกลับมาเป็นอีกคือ เกิดอาการเป็นระยะ สติปัญญาหรือบุคลิกภาพไม่เสื่อม มักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ โรคนี้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม
2.1.1 Manic type ได้แก่ แบบที่มีอาการคลั่งเอะอะ ตื่นเต้น
2.1.2 Depressive type ได้แก่ แบบที่มีอาการซึมเศร้า ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อม
2.1.3 Circular type ได้แก่ พวกซึมเศร้าแล้วเปลี่ยนมาคลั่ง แล้วกลับมาซึมเศร้า
2.1.4 Mixed type ได้แก่ ลักษณะหัวเลี้ยวหัวต่อจากระยะคลั่งเข้าสู่ซึมเศร้า
สาเหตุของโรค เชื่อว่ามาจากพันธุกรรม โครงสร้างทางร่างกายที่อยู่ในกลุ่ม Pyknic type
กว่าแบบอื่น และองค์ประกอบด้านชีววิทยาที่เกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรุนแรง เมตาบอลลิค ด้านจิตใจ
2.2 Schizophrenia หรือโรคจิตเภทเป็นลักษณะโรคจิตที่พบเป็นส่วนมากในโรงพยาบาลประสาทและเชื่อว่ามีสาเหตุจากพันธุกรรม 70 เปอร์เซ็นเกิดจากความผิดปกติในสารชีวเคมีในร่างกาย และยังพบว่าถ้าความสัมพันธ์ในครอบครัวบกพร่องมากๆบุคคลอาจเป็นโรคจิตเภทได้ ผู้ป่วยเป็นโรคนี้มักมีภาพหลอน ( hallucination ) ระยะวัยของ ผู้ป่วยเป็นโรคนี้มักเป็นในวัยหลังวัยรุ่นหรือต้นวัยผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก โรคจิตเภทแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มพอสรุปคือ กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ ( 2524 : 226-242 )
2.2.1 Simple type ได้แก่พวกขาดความสนใจในมนุษยสัมพันธ์ มีอารมณ์เฉยเมย
2.2.2 Hebrephrenic type ได้แก่กลุ่มที่มีอาการถอยกลับไปมีพฤติกรรมแบบเด็ก อารมณ์ตื้นๆไม่เหมาะสม ชอบแสดงหน้าตาประหลาดๆ ชอบเฟ้อฝัน ชอบบ่น
2.2.3 Catatonic type ได้แก่ พวกชอบเคลื่อนไหวน้อย ไม่พูดหรือตรงข้ามเลย ทำตัวคล้ายหุ่นขี้ผึ้ง
2.2.4 Paranoid ได้แก่พวกหลงผิดชนิดรุนแรงคิดว่าตนเองเป็นใหญ่ มีอำนาจ โกรธเกินเหตุ ขาดความไว้วางใจในบุคคลอื่น
2.2.5 Schizo-Affective type ได้แก่พวกเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างมาก มีแนวโน้มไม่ยอมเชื่อความจริง
2.2.6 Undifferentiated schizophrenia ได้แก่ พวกแสดงพฤติกรรมต่างๆช้ามาก
2.2.7 Schizophrenia ,Childhood ได้แก่พวกชอบนั่งฝันเกี่ยวกับตนเอง
2.2.8 Schizophrenia , residual type พวกนี้เบาสุดได้รับการรักษาแล้วไปอยู่บ้านได้แต่อาจมีอาการหลงเหลือเรื่องความคิด อารมณ์ พฤติกรรม
2.3 Paranoid States เป็นโรคจิตที่มีอาการหลงผิดคิดว่าบุคคลอื่นไม่ว่าจะกระทำสิ่งใดก็ตามต้องมีความหมายพาดพิงถึงตนหรือมีอิทธิพลต่อตน หรือคิดว่าตนเองเป็นใหญ่เป็นโต อิจฉาริษยา มักคิดว่าบุคคลอื่นแกล้งหรือจะมาทำร้าย โดยไม่มีอาการประสาทหลอนร่วมด้วย ลักษณะเด่นของผู้เป็นโรคจิตประเภทนี้คือการเชื่อถือที่ผิด ( delusion ) การเชื่อที่ผิดนี้มีหลายรูป รูปหนึ่งของลักษณะโรคจิตประเภทนี้คือการเชื่อว่าตนเป็นคนสำคัญ เป็นผู้ยิ่งใหญ่และมีอำนาจสูงสุด ระแวงมีหลายแบบเช่น การระแวงแบบอิจฉาริษยา การระแวงในรูปของความรัก เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้สุขภาพจิตเสื่อม
1. สาเหตุทางร่างกาย ได้แก่
1.1 ความบกพร่องทางร่างกาย เช่น อ่อนแอ เป็นคนผอมหรืออ้วนเกินไป เตี้ยเกินไป แคระแกร็น จมูกแฟบ หรือมีความพิการ ไม่สมประกอบ เช่น ตาถั่ว ปากแหว่ง แขนคอก ทำให้เกิดความวิตกกังวล รู้สึกตนว่ามีปมด้อย มีความละอายจนไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เกิดปัญหาทางด้านพฤติกรรมมาก อาจถูกแกล้ง ถูกล้อเลียน ถากถาง อยู่เสมอจนทนไม่ได้จะรู้สึก เสียใจ กลุ้มใจ น้อยใจในความอาภัพ กังวลใจในความพิการ มักจะทำให้จิตใจหงุดหงิดอยู่เสมอ นาน ๆ เข้าจิตใจอาจผิดปกติได้ การแก้ไขต้องหาสมุติฐานให้แพทย์แก้ไข หรือพยายามหาทางให้ทำงานหรือเข้าสังคมสนุกสนานกับเพื่อน ๆ เสียอาจจะลืมเรื่องบกพร่องเหล่านั้นได้
1.2 ความเจ็บไข้ได้ป่วย มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหืด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตหรือโรคปอด โรคเรื้อน หรือโรคขาดธาตุอาหารบางอย่าง ทำให้มีผลต่อสุขภาพจิต ทำให้รู้สึกหงุดหงิด ชี้ระแวงฉุนเฉียว ใจน้อย ปรับตัวยาก พัฒนาการทางด้านกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาล่าช้า เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียน กลายเป็นคนมีปัญหา
1.3 ความบกพร่องทางอวัยวะรับสัมผัส เช่น หู ตา เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเรียนรู้ ss)
1.4 สมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักจากอุบัติเหตุหรืออื่นๆ
1.5 ความบกพร่องในด้านอนามัยและโภชนาการ ทำให้อ่อนแอ พัฒนาการ ล่าช้ากว่าปกติ เด็กที่ขาดอาหารนอกจากพัฒนาการช้าแล้วยังอาจเป็นโรคบางอย่าง เช่น ขาดไอโอดีน ทำให้เป็นโรคคอพอก ทำให้หงุดหงิดเจ้าอารมณ์ มีปัญหาด้านความประพฤติ
1.6 สาเหตุจากพันธุกรรม ( Heredity ) ได้แก่ ความบกพร่องทางร่างกายและทางสติปัญญาแต่กำเนิด เช่น ตาบอดสี ลมบ้าหมู เป็นผลต่อสุขภาพจิตมาก
สติปัญญาต่ำเกินไปหรือสูงเกินไป ทำให้มีปัญหาทางสุขภาพจิตได้ทั้งสองอย่าง ที่ต่ำเกินไปทำให้เรียนช้าไม่ทันเพื่อน ที่สูงเกินไปก็คับข้องรำคาญใจ เพราะต้องทนเรียนสิ่งที่ตนเองไม่สนใจ ทั้งคนโง่และคนฉลาดเกินไปย่อมมีปัญหาในเรื่องการปรับตัว
2. สาเหตุทางจิตใจ ได้แก่
2.1 อารมณ์ เมื่อเกิดปัญหาทางอารมณ์จะมีผลถึงสุขภาพจิต อารมณ์ที่อาจทำให้คนเสียสุขภาพจิตได้มากได้แก่
ความกลัว ( Fear ) บางคนกลัวความมืด กลัวที่แออัด กลัว พลัดพรากจากกัน กลัวถูกตำหนิ กลัวถูกลงโทษ กลัวคนแปลกหน้า กลัวที่สูง ถ้ามีอารมณ์เช่นนั้นนาน ๆ เข้าก็จะกลายเป็นคนกลัวโดยไม่มีเหตุผล บางคนกลัวมากจนเสียสุขภาพจิต
ความวิตกกังวล ( Anxiety ) มีอิทธิพลร้ายแรงเพราะเป็นอารมณ์ที่เกิดติดต่อกันได้เป็นระยะนาน ๆ ทำลายประสิทธิภาพและสุขภาพทางจิตของคนลงได้มาก ซึ่งความวิตกกังวลมักเป็นห่วงอะไรต่ออะไร บางคนกังวลในเรื่องรูปร่างหน้าตา ฐานะเศรษฐกิจ เสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว วุฒิ ทำให้เกิดความทุกข์ ทำให้ตนขาดความมั่นคงไป ถ้าใครวิตกกังวลมาก ๆ โดยปราศจากเหตุผล คนนั้นมักขาดประสิทธิภาพและเสีย สุขภาพจิตไปโดยไม่จำเป็น
ความโกรธ ( Anger ) คนที่โกรธบ่อย ๆ แสดงว่าไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ทำให้เข้าสังคมได้ยากและมีผลให้เสียสุขภาพจิต ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ
2. 2 ความเหนื่อยล้าของจิตมีผลต่อสุขภาพจิตและปัญหาอื่นๆ ความเหนื่อยล้า ( Fatigue ) อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้หลายสาเหตุ เช่น การขาดสารอาหารบางกลุ่ม การรับประทานอิ่มมากเกินไป การอดนอน ออกกำลังมากไป ความเบื่อหน่าย การทำงานไม่ประสบความสำเร็จ การมีปัญหาขัดแย้งกับคนอื่น คนประเภทนี้มีโอกาสสุขภาพจิตเสียได้ง่ายกว่าคนธรรมดา และการขาดความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหา ทำให้บุคคลยิ่งเกิดความเครียดทางอารมณ์ สุขภาพจิตเสียได้ง่าย
2.3 การเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้บุคคลย่อมมีปัญหาต่างๆ มากมาย จึงมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ กัน ถ้าบุคคลถูกขัดขวางจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ( Conflict ) เกิดความขุ่นข้องหมองใจหรือความคับข้องใจ ( Frustration ) และเกิดความวิตกกังวล ( Anxiety ) จะทำให้เกิดความแปรปรวนทางจิตใจขึ้นได้ ต่างสังคมก็ย่อมต่างวัฒนธรรม ไม่ทราบจะถือว่าประการใดถูกกันแน่ แม้นักจิตวิทยาเองก็ยังมองธรรมชาติของมนุษย์แตกต่างกัน เช่น Freud เน้นพฤติกรรมธรรมชาติของมนุษย์ในทางเพศ ( Sex ) แต่ Adler มีความเห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์ต้องการมีอำนาจ ส่วน Jung เห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์ต้องการปกปักษ์รักษาตัวเอง ฉะนั้นความขัดแย้งกันในทางสังคมและวัฒนธรรมย่อมต้องเกิดขึ้น
3. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่
3.1 สิ่งแวดล้อมทางบ้าน ในครอบครัวที่ดีมีการเลี้ยงดูดี ให้ความรัก ความอบอุ่น ความเห็นอกเห็นใจกันบุคคลก็จะมีสุขภาพจิตดี ปรับตัวได้ดี ถ้าเกิดในครอบครัวที่เลี้ยงดูไม่ค่อยดีเท่าที่ควร มีการอบรมเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง บุคคลก็จะมีความสามารถของการปรับตัวก็ไม่ดีนักและสุขภาพจิตก็ไม่ดีด้วย
บ้านแตก ( Broken Home ) คือครอบครัวที่แตกร้าว ลูกที่ขาดพ่อแม่ หรือพ่อแม่ไม่ลงรอยกันพ่อแม่ทะเลาะกันไม่เว้นแต่ละวัน ในบ้านมีแต่ปัญหา มีการทะเลาะกันไม่ได้หยุด คนในบ้านไม่รักกัน ขาดความเอาใจใส่กัน ซึ่งอาจทำให้สุขภาพจิตของคนเสื่อมง่าย
เด็กกำพร้าพ่อแม่ เด็กที่ขาดความอบอุ่น ขาดความรัก ว้าเหว่ เหงา เด็กประเภทนี้ต้องให้ความรัก ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ให้มีเพื่อนที่ดีมีการเล่นหัวและคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ ต้องคอยสนทนาด้วยอย่างเห็นอกเห็นใจ ให้เขามีกิจกรรมทำตามความสนใจอาจช่วยบุคคลเหล่านี้ได้
บ้านที่ปล่อยปละละเลยลูกเลี้ยงดูอย่างไม่เต็มใจไม่เอาใจใส่ เด็กขาดความรัก ความอบอุ่นขาดที่พึ่ง ถูกทอดทิ้ง เด็กเหล่านี้มักมีปัญหาสุขภาพจิตได้
บ้านที่บิดามารดาเข้มงวดมากเกินไป ผู้ใหญ่เจ้าระเบียบ เอาแต่ใจ กดขี่ ข่มขู่ ตั้งความหวังไว้สูงเกินไป อาจเป็นสาเหตุในการกดดันทำให้เด็กมีสุขภาพจิตผิดปกติได้
บ้านที่คุ้มครองเด็กมากเกินไป จนเด็กไม่มีโอกาสเป็นตัวของตัวเอง ขาดอิสระ เด็กประเภทนี้ก็เป็นปัญหาในการปรับตัวของเด็กเช่นกัน
บ้านที่ตั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น ตั้งอยู่ใกล้แหล่งเสื่อมโทรม แหล่งการพนัน อบายมุข สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีอาจทำให้เด็กสับสน
บ้านที่เศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีของใช้ ขาดอาหารการกิน ขาดเครื่องนุ่งห่ม ขาดปัจจัยในการดำรงชีวิต ความขัดสนความไม่พอสร้างความเครียดให้เด็กได้เช่นกัน
3.2 สิ่งแวดล้อมในสถาบันการศึกษา ถ้าสถาบันมีระเบียบข้อบังคับเข้มงวดมากเกินไป หยุมหยิม หรือระเบียบหย่อนยานเกินไป มีการแข่งขันกันมากเกินไป หรือครูไม่เอาใจใส่ ขาดระเบียบวินัย บรรยากาศในโรงเรียนไม่ดี อาจทำให้สุขภาพจิตของเด็กเลื่อมลงได้ และทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล โดยเฉพาะนักศึกษาใหม่ที่ยังไม่เคยชินต่อสถานที่ ยังปรับตัวไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ยิ่งพบกับอาจารย์ที่มีสัมพันธภาพกับนักศึกษาน้อย อาจทำให้นักศึกษาเก็ง และกลัว ทำให้การปรับตัวทำได้ค่อนข้างยาก
วิธีการรักษา
1. การรักษาโดยใช้ยา
2. การรักษาโดยการช็อคด้วยไฟฟ้า
และรักษาด้วยทางกายอื่นๆ
3. จิตบำบัด
4. การสะกดจิต
5. การผ่าตัด
6. การรักษาโดยอาศัยสิ่งแวดล้อม
7. พฤติกรรมบำบัด
เอกสารอ้างอิง
กันยา สุวรรณแสง.จิตวิทยาทั่วไป General psychology . กรุงเทพมหานคร : อักษรพิทยา, 244 หน้า, 2538.
จิราภา เต็งไตรรัตน์และคณะ.จิตวิทยาทั่วไป.พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,364 หน้า, 2547.
ชัยพร วิชชาวุธ. มูลสารจิตวิทยา. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,491 หน้า, 2525.
โยธิน ศันสนยุทธ และคณะ. จิตวิทยา. กรุงเทพมหานคร : ศูยน์ส่งเสริมวิชาการ, 381หน้า , 2533.
พิชญ์สิรี โค้วตระกูล และ สุธีรา เผ่าโภคสถิตย์. จิตวิทยาทั่วไป.กรุงเทพมหานคร : เทพรัตน์พับลิชชิ่งกรุ๊ป ,200 หน้า , 2538.
โรเบิร์ต อี. ซิลเวอร์แมน. สุปาณี สนธิรัตน และคณะ แปลและเรียบเรียง. จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 5 ,กรุงเทพมหานคร : เนติกุลการพิมพ์, 388 หน้า ,2537.
ทิพย์ นาถสุภา. บทความประกอบหมวดวิชาการศึกษา วิชาจิตวิทยาการศึกษา. พระนคร : หน่วยศึกษานิเทศ กรมการฝึกหัดครู, 2513.
ศรีเรือน แก้วกังวาล. จิตวิทยาพัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัย พิมพ์ครั้งที่ 8, กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 324 หน้า, 2545
พวงเพชร สุรัตนกวีกุล. มนุษย์กับสังคม.พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,216 หน้า,2541.