ท่าออกกำลังกาย บอดี้บาลานซ์
ฝึกความยืดหยุ่นแบบ Body Balance
บางคนอาจจะคุ้นเคยกับ บอดี้บาลานซ์ กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะแฟนขาประจำของคลาสออกกำลังกายเป็นกลุ่มตามสถานออกกำลังกาย (fitness center) บางแห่งที่เปิดสอน หรือบางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ เพียงแต่ยังไม่เคยทดลองเล่นดูจริงๆ ว่ามันคืออะไร วิธีการอย่างไร เล่นแล้วจะสนุกหรือดีกับร่างกายอย่างไร? ก่อนจะเดินเข้าคลาสลองมาทำความรู้จักกันสักนิด โดยเราได้ ครูโอ่ง-คุณพรชัย ดวงอัมพร ครูฝึกบอดี้บาลานซ์ ของโอเอซีส เฮลท์ คลับ แอนด์ สปา มาช่วยขยายความให้เราเข้าใจมากขึ้น
ท่าออกกำลังกายระดับแบรนด์เนม!!
บอดี้บาลานซ์ (BODYBALANCE®) เป็นชื่อของชุดท่าออกกำลังกาย สร้างสรรค์และจดลิขสิทธิ์โดย Les Mills สโมสรออกกำลังกาย จากนิวซีแลนด์ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการออกแบบสร้างสรรค์ท่าออกกำลังกายแบบกลุ่ม ที่นำเอาเสียงเพลงเข้ามาช่วย เพิ่มสีสันให้กับจังหวะเคลื่อนไหว จนได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยเองก็มีสถานออกกำลังกาย (finess club) หลายแห่งที่ซื้อลิขสิทธิ์บอดี้บาลานซ์ รวมทั้งชุดท่าออกกำลังกายแบบอื่นๆ อีก เช่น บอดี้คอมแบท (BODYCOMBAT®) บอดี้ปั๊มพ์ (BODYPUMP®) ฯลฯ ของ Les Mills มาเปิดสอนให้กับคนทั่วไป แต่ละแบบก็มีจุดเด่นและวัตถุประสงค์ของการออกกำลังกายแตกต่างกัน
ศาสตร์โบราณในเสื้อตัวใหม่
สำหรับบอดี้บาลานซ์นั้นจะมุ่งเน้นที่การให้ผู้เล่นได้บริหารร่างกายไปพร้อมๆ กับจิตใจ ผ่อนคลายความเครียด ฟังอย่างนี้คุณคงคุ้นๆ ว่าคล้ายกับหลักการของวิธีการออกกำลังกายบางอย่างที่มีมาแต่ดั้งเดิม?!!... นั่นล่ะค่ะ ฟิลลิปและแจ็คกี้ มิลล์ (Phillip & Jackie Mills) สองสามีภรรยาผู้บริหาร Les Mills และทีมงานได้นำเอาท่าทางและหลักการของโยคะ (Yoga) ของอินเดีย ไทชิ (Tai-chi) ของจีน และพิลาตีส (Pilates) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความแตกต่างในรายละเอียด นำ 3 แบบนี้มาผสมผสานและเรียบเรียงขึ้นมาใหม่
แจ็คกี้ มิลส์ (Jackie Mills) ไม่เพียงแต่เป็นทั้งนักเต้น นักยิมนาสติก ครูฝึกแอโรบิค แต่ยังเป็นสูติแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน เวชศาสตร์ครอบครัว ที่ทำงานรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลเวสต์โอ๊คแลนด์ ไปพร้อมๆ กับการช่วยฟิลลิป (Phillip Mills) ผู้เป็นสามีดูแลธุรกิจศูนย์ออกกำลังกาย งานของเธอ จึงเกิดจากความสามารถทุกด้านที่มีมารวมกัน นอกจากนี้แจ็คกี้ยังสนใจในโยคะเป็นพิเศษ หลังจากเปิดสอนคลาสโยค มานานจึงริเริ่มนำเอาโยคะ มาประกอบกับเพลงเพื่อสร้างสีสันและบรรยากาศใหม่ๆ จากนั้นจึงได้พัฒนานำเอาท่าทางจากเทคนิคอื่นมาใช้ด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับ ร่างกายที่หลากหลายขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้นของบอดี้บาลานซ์เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้วนั่นเอง
ท่าทางแต่ละท่าที่เลือกมาใช้ จะไม่ใช้ท่ายากซับซ้อน แต่เป็นท่าง่ายๆ ที่ใครก็น่าจะทำได้มาใช้ เพื่อให้คนทุกเพศ ทุกวัยสามารถมาร่วมเล่นกันได้ อย่างเพลิดเพลินและปลอดภัย ทั้งนี้ได้ผ่านกระบวนการออกแบบตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬามาช่วยประเมินว่า เมื่อจะทำท่าให้ได้ประโยชน์สูงสุดแล้ว ควรจะทำขนาดไหน เล่นอย่างไรก่อน-หลัง หรือจัดวางท่าขนาดไหนจึงจะปลอดภัย และได้ผลต่อร่างกายดีที่สุด
แม้จะทำให้ต่างไปจากศาสตร์ดั้งเดิม ซึ่งใครที่เคยฝึกโยคะ ไทชิ หรือ พิลาตีส อย่างใดอย่างหนึ่งมาอาจไม่คุ้นเคย แต่เป้าหมายของบอดี้บาลานซ์คือ เพื่อให้คนทั่วไปเล่นได้ และคนที่เคยเล่นเฉพาะอย่างก็จะได้ฝึกเพิ่มในจุดอื่นที่เขาอาจไม่เคยฝึกมาก่อน สิ่งสำคัญที่ทำให้บอดี้บาลานซ์แตกต่าง จากวิธีออกกำลังกายแบบเดิมๆ ก็คือ การนำเพลงมาเป็นตัวช่วยกำหนดจังหวะ ท่าทาง และอารมณ์การเล่น ส่งผลให้ผู้เล่นคล้อยตามเพลง และทำแต่ละท่าได้อย่างต่อเนื่องสวยงาม
11 เพลงเรียงร้อย ให้บริหารทุกส่วนใน 1 ชั่วโมง
การเล่นบอดี้บาลานซ์แต่ละครั้ง ครูฝึกมักจะเป็นผู้นำให้คนในคลาสเคลื่อนไหวร่างกายตามท่าทางที่กำหนดมาแล้วประกอบเพลงประมาณ 10-11 เพลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงร่วมสมัยต่างๆ ที่คุณอาจคุ้นหูกันดีอยู่แล้ว
มีการตัดต่อหรือกำหนดความยาวให้ลงตัวกับท่าที่ออกแบบมาให้เล่น รูปแบบ (style) ของเพลงจะเป็นตัวกำหนดบทบาทของกลุ่มท่า รวมทั้ง สร้างอารมณ์ให้จิตใจและร่างกายทำงานประสานกัน ทั้งตื่นตัว เร่งเร้า ผ่อนคลาย ไปจนถึงสงบนิ่ง เพลงยังให้ความรู้สึกทันสมัย เป็นกันเอง ในเรื่องนี้คนที่เคยเล่นไทชิกับเพลงจีนโบราณมาก่อนคงจะรู้สึกถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน
ตลอด 1 ชั่วโมง ที่เรียกว่า 1 release นั้นท่าเล่นจะแบ่งออกเป็นกลุ่มท่าโยคะ พิลาตีส และไทชิ ท่าทางที่กำหนดให้ใช้ในแต่ละเพลง จะไม่ซ้ำกันตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการบริหารร่างกายแต่ละส่วน จำนวน 4-5 ท่าต่อเพลง สลับกันซ้าย-ขวา ไม่สามารถกระโดดข้ามขั้นหรือสลับลำดับได้
ตัวอย่าง เช่น
เพลงที่ 1 เป็นท่า Warm up อบอุ่นร่างกาย ด้วยท่าไทชิ
เพลงที่ 2 Sun salutation (ท่าไหว้พระอาทิตย์) ที่ใครเคยเล่นโยคะคงคุ้นเคยกันดี
เพลงที่ 3 Standing strength การสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อต้นขา
เพลงที่ 4 Balance ท่าฝึกการทรงตัว
เพลงที่ 5 Hip opener เป็นการฝึกความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกหรือต้นขาด้านใน ที่เราไม่ค่อยได้ใช้งานบ่อยนัก
เพลงที่ 6 Abdominal การนำท่าเล่นจากพิลาตีสมาใช้บริหารช่วงท้อง
เพลงที่ 7 Core back หรือท่าฝึกกล้ามเนื้อหลัง
เพลงที่ 8 Twist ยืดลำตัวด้านข้าง หน้าอก และหัวไหล่
เพลงที่ 9 Hamstring stretch จะเน้นการยืดต้นขาด้านหลัง เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ซึ่งจะได้ประโยชน์มากโดยเฉพาะเวลาที่เราก้มตัว
เพลงที่ 10 Relaxation เป็นขั้นตอนของการผ่อนคลาย โดยอาจจะให้ทำท่าศพอาสนะของโยคะ หรือนอนนิ่งๆ เพื่อให้ร่างกายทุกส่วนได้ผ่อนคลาย
และปิดท้ายด้วย เพลงที่ 11 คือการ Recover ค่อยๆ ดึงพลังความรู้สึกกลับมาสู่ภาวะปัจจุบันหลังจากการพักนิ่งๆ ไปแล้ว
ทั้ง 11 เพลงจะถือว่าเป็น 1 เซ็ต ผู้เล่นก็จะเล่นตามท่าต่างๆ ในเซ็ตเหมือนกันทุกครั้ง และจะมีการเปลี่ยนเพลงเซ็ตใหม่ทุกๆ 3 เดือน ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนรายละเอียดท่าไปบ้าง แต่จะยังคงประโยชน์ครบถ้วนเหมือนเดิม
ได้ประโยชน์แบบองค์รวมทั้งกายและใจ
อย่างที่บอกว่าบอดี้บาลานซ์ได้นำประโยชน์ของการออกกำลังกายแบบดั้งเดิม ทั้ง 3 ชนิดมาผสานกัน ซึ่งต่างก็เน้นเรื่องการสร้างสมาธิ และการเคลื่อนไหว ให้ร่างกายสัมพันธ์กับจิตใจแทบทั้งสิ้น ท่าเคลื่อนไหวที่ต้องเปลี่ยนไปเรื่อย เล่นต่อเนื่องไม่มีหยุดตลอด 1 ชั่วโมง ทำให้คนเล่นจะมีสติจดจ่อ อยู่กับท่าอยู่ ตลอดเวลา ได้ฝึกการกำหนดลมหายใจอย่างถูกต้องตามหลักพื้นฐานของโยคะ จึงช่วยได้มากในเรื่องการผ่อนคลายความเมื่อยล้า
ฝึกความอดทน ส่วนทางกายก็แน่นอนว่าจะได้ยืดเส้นยืดสาย สร้างความอ่อนตัว ยืดหยุ่น ความสมดุล ฝึกการทรงตัว และความแข็งแรงคงทนให้กับ กล้ามเนื้อทั่วทั้งร่างกาย ได้บริหารกล้ามเนื้อหัวใจจากการที่ต้องค้างท่าแต่ละท่า เป็นเวลานานอันจะทำให้หัวใจสูบฉีดเลือด เหมือนเวลา เราออกกำลังกาย ขณะที่ท่าจากพิลาตีสจะเป็นการฝึกความแข็งแรงให้กับบริเวณแกนกลางของลำตัวของเรา ได้แก่ กล้ามเนื้อด้านในที่ห่อหุ้มกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกสันหลัง ตั้งตรงอยู่ได้ ซึ่งจะช่วยปรับบุคลิกภาพให้หลังตรง ยืดอกได้อย่างสง่าผ่าเผยด้วย ที่สำคัญยังช่วยบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ที่เราไม่ค่อยได้ใช้งานอีกด้วย
ส่วนท่าจากไทชิ นั้นใช้เพื่อบริหารความแข็งแรงเฉพาะส่วนและควบคุมท่าทางการเคลื่อนไหว รวมทั้งฝึกสมาธิและการประสานสอดคล้องกัน ระหว่าง ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังผสมผสานเทคนิคอื่นๆ เช่น บัลเล่ต์ เพื่อช่วยเพิ่มสีสันและความต่อเนื่องในการเล่นอีกด้วย
ประโยชน์ที่ได้จากการฝึกกายให้สัมพันธ์กับใจ และมีสติ สมาธิ กับสิ่งที่ทำอยู่นั้น เราสามารถนำไปใช้ได้กับชีวิตประจำวันด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ช่วยให้ใจเย็น อารมณ์ดี มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน ที่สำคัญ คือ ไม่เครียด!!