พีลาทีส Pilates

  • Tab 1
  • Tab 2
  • Tab 3
  • Tab 4
  • Tab 5
  • Tab 6
“พีลาทีส” (PILATES) เป็นศาสตร์การออกกำลังกายอีกแขนงหนึ่งที่เชื่อว่า หลายคนคงไม่รู้จัก ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว เป็นศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน พอสมควรเลยทีเดียว

พีลาทีส เป็นการออกกำลังกายเพื่อสร้างเกราะให้ร่างกาย เล่นง่ายๆ ได้ที่บ้าน ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์ เหมาะกับผู้ป่วยหรือผู้ที่รับ การกระแทกแรงไม่ได้ เช่นผู้สูงอายุ ที่สำคัญบรรเทาอาการปวดหลังได้อีกด้วย

ไขคุณสมบัติของพีลาทีส

พญ.อุไรรัตน์ ศิริวัฒน์เวชกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู อธิบายถึงที่มาที่ไปของพิลทาทีสว่า เดิมทีการออกกำลังกายแบบพีลาทีสนั้น ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่สงครามโลกโดยผู้ป่วย ถ้าอ่านประวัติจะทราบว่าผู้คิดค้นขึ้นมาเป็นคนที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ผอมบาง แล้วก็ใฝ่ฝันอยากมีรูปร่างที่ดี จากนั้นเมื่อคิดค้นขึ้นมาได้แล้ว พีลาทีสก็ถูกใช้ในคนป่วย เช่นทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการรบในสมรภูมิสงครามโลก

ดังนั้น การออกกำลังชนิดนี้จะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่รุนแรง ไม่มีความกระทบกระเทือนต่อร่างกายผู้ออกกำลังกาย และเป็นการสร้างกล้ามเนื้อด้วยตนเอง

สำหรับที่มาที่ไปของการพบว่า การออกกำลังกายแบบพีลาทีสสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังได้นั้น เป็นเพราะบริเวณหน้าท้องและแผ่นหลัง ของคนเรา มีกล้ามเนื้ออยู่ การออกกำลังกายแบบพีลาทีสบางที่ จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อเหล่านั้นให้แข็งแกร่งขึ้น เปรียบเสมือนกล้ามเนื้อได้กลาย เป็นเกราะอันแข็งแกร่งของร่างกาย

ที่สำคัญที่สุดสำหรับคนปวดหลัง กล้ามเนื้ออันแข็งแรงจากการออกกำลังกายจะช่วยพยุงกระดูกสันหลัง และหากกระดูกโก่งหรือแอ่น ก็จะช่วยได้เป็น อย่างมาก ซึ่งเคยมีปรากฏมาแล้วกับคนไข้รายหนึ่งมีอาการปวดหลังมากจนเดินไม่ได้ เมื่อหัดออกกำลังกายแบบพีลาทีสในท่าที่เหมาะสมแล้ว แข็งแรงขึ้นจนสามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ ภายในเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น

ด้าน “ครูออม” -กุลธิดา บูรณบุตร ครูสอนพีลาทีส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การออกกำลังกายแบบพีลาทีสนั้น เป็นการบริหารร่างกายที่ต่างจาก การบริหารร่างกายแบบอื่นๆ ต่างจากโยคะ คือตรงที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อและยืดหยุ่นกล้ามเนื้อไปพร้อมๆ กัน เป็นการออกกำลังกายแบบ Low Impact คือมีแรงกระแทกต่อร่างกายน้อย อันตรายน้อยกว่ากีฬาอื่นๆ สะดวกตรงที่ได้ผลแม้ไม่ได้ออกกับอุปกรณ์

ทั้งนี้ สำคัญของพีลาทีสประกอบไปด้วยการเคลื่อนไหวที่ต้องอาศัยการควบคุมทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยจะเน้นไปที่การปรับปรุงการ เคลื่อนไหลของกล้ามเนื้อ ความแข็งแกร่ง การยืดหยุ่น การประสานงานของกล้ามเนื้อ และสภาพร่างกาย

การออกกำลังกายในลักษณะนี้จะอาศัยการฝึกบนเสื่อรอง หรือฝึกกับอุปกรณ์พีลาทีสที่ออกแบบมาพิเศษ เพื่อการเสริมสร้างสมดุล และการทำงานอัน เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่คนทุกเพศ ทุกวัยสามารถฝึกได้ โดยมีท่าบริหารร่างกายกว่า 500 ท่า เพื่อพัฒนา สภาพร่างกาย โดยท่าบริหารนั้นส่วนมากแล้วจะเป็นท่าที่ลดแรงเสียดทานและโน้มถ่วงของร่างกาย เน้นส่วนสัดที่สมดุลของร่างกาย และการควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์การออกกำลังกายในแบบฉบับของพีลาทีสไม่จำเป็นสำหรับคนที่ป่วยไม่มาก และคนปกติ ดังนั้นถึงไม่มีอุปกรณ์ที่บ้าน ก็สามารถ ออกกำลังกายด้วย วิธีที่ง่ายแสนง่าย แถมยังได้ผลอีกด้วย

ส่วนการหายใจฉบับพีลาทีสแบบง่ายๆ ที่สามารถทำได้เองนั้น ครูออมแนะนำว่า เริ่มต้นจากการฝึกหายใจ โดยหายใจให้ลึกที่สุดทางจมูก เกร็งกล้ามท้องไว้เล็กน้อย ก่อนจะค่อยๆ ผ่อนลงหายใจออกมาทางปาก การหายใจเช่นนี้จะช่วยฟอกปอดให้สะอาดและช่วยให้ปอดแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการออกกำลังกล้ามเนื้อท้องขณะเกร็งท้องเมื่อหายใจเข้าอีกด้วย

สาเหตุแห่งการปวดเอว – ปวดหลัง

ทีนี้ก็มาถึงต้นสายปลายเหตุของอาการที่ผู้คนเป็นกันมาก นั่นก็คืออาการปวดเอวและปวดหลัง

พญ.ทัศนีย์ กิตอำนวยพงษ์ อายุรแพทย์โรคข้อให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อาการปวดเอวหมายถึงอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่าง ซึ่งอาการปวดที่เกิดคือ อาจเป็นแบบฉับพลันและรุนแรง หรือเป็นเรื้อรังนานเกิน 3 เดือน ที่น่าแปลกใจและถูกเข้าใจผิดมาตลอดว่าอาการปวดเอวและปวดหลังนั้น มักจะเกิดขึ้นใน ผู้สูงอายุ ที่การทำงานของอวัยวะต่างๆ ตลอดจนกระดูก เริ่มเสื่อมสภาพลงไม่เป็นความจริง เนื่องจากอาการปวดเอวและปวดหลัง มักเกิดกับคนวัยหนุ่มสาว ในวัยทำงานมากกว่าคนสูงอายุ โดยยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ว่าเกิดเพราะอะไรแน่ แต่พบว่า ประมาณ 25% มักเกิดจากกรณีกระดูกสันหลังเคลื่อน หรือคดงอ กระดูกพรุน ส่วนน้อยที่เกิดจากมะเร็งหรือการติดเชื้อ

“เวลาหมอออกตรวจ โรคที่เจอบ่อยรองจากโรคหวัดก็คืออาการปวดหลัง เท่าที่มีข้อมูล 80%ของคนวัยทำงานมีอาการปวดหลัง และโดยส่วนใหญ่ คนมักจะเข้าใจผิดว่าอาการปวดหลังเป็นเฉพาะในผู้สูงอายุ แต่จริงๆ แล้วอาการปวดหลังพบในวัยทำงานมากที่สุด และมีแนวโน้มของอายุผู้ที่เริ่มปวดหลั งจะน้อยลงเพราะเนื่องจากเด็กสมัยนี้มีกิจกรรมที่ทำให้หลังทำงานหนักมากขึ้นเช่นการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

สำหรับสาเหตุของการปวดหลังนั้นมีหลายประการ เช่นการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ , ความเสื่อมของร่างกาย , การอักเสบ , มะเร็ง , การติดเชื้อ , การปวดร้าวจากที่อื่น , อาการของโรคกระดูกโดยตรง เช่น โรคกระดูกพรุน หรือ และการเจ็บปวดจากอาการทางสุขภาพจิต

ค้นหากำเนิดแห่ง “พีลาทีส”

สำหรับศาสตร์การออกกำลังกายแบบ "พีลาทีส" นี้ ถืออุบัติขึ้นบนโลก ด้วยความคิดของเด็กชายผู้ไม่แข็งแรงคนหนึ่งผู้มีนามว่า "โจเซฟ เอช. พีลาทีส" แห่งเยอรมนี

โจเซฟเป็นเด็กผู้ชายที่มีสุขภาพอ่อนแอ เขาเป็นโรคกระดูกเปราะ หอบหืด ร่างกายเล็กๆ ของเด็กชายโจเซฟผอมเกร็งบอบบางไม่เหมือนเด็กผู้ชายอื่นๆ ในช่วงอายุเดียวกัน ซึ่งนี่ทำให้เขารู้สึกเป็นปมด้อย โจเซฟจึงได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการออกกำลังกายและการเสริมสุขภาพร่างกายให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นยิมนาสติก เพาะกาย สกี หรือกระทั่งโยคะ จนทำให้เมื่อโจเซฟน้อยเติบโตเป็นวัยรุ่น ผลจากการออกกำลังกายอย่างหนัก ของเขา ทำให้เขากลายเป็นหนุ่มรูปงาม ร่างกายได้สัดส่วนสมบูรณ์จนสามารถเป็นแบบวาดรูปให้แก่วิชากายวิภาคได้เลยทีเดียว

ต่อมาเขาได้ย้ายจากประเทศบ้านเกิดมาอยู่ในอังกฤษเมื่อปีค.ศ. 1892 และยังคงทุ่มเทให้กับ การศึกษาและพัฒนารูปแบบ การออกกำลังกาย ของเขาต่อไปต่อไป แม้จะถูกเรียกตัวไปเป็นทหารเกณฑ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเขาก็ยังคงไม่ละทิ้งความสนใจในด้านนี้

จุดกำเนิดของการออกกำลังกายแบบ ‘รีฟอร์เมอร์’ (Reformer) ที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ซึ่งใช้หลักการต้านทานแรง ยืดหยุ่นของสปริง และเลื่อนติดล้อนั้น ถูกคิดค้นขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อพีลาทีส พยายามหา วิธีการออกกำลังกาย ให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับเขยื้อนตัวได้และ ต้องพักรักษาตัวอยู่บน เตียงคนไข้เท่านั้น โดยวิธีนี้จะช่วยเสริมสร้าง ความแข็งแกร่ง และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ด้วยการฝึกออกกำลังกาย กับตัวสปริงที่ติดอยู่ใต้เตียงคนไข้ของพวกเขา

หลังจากสงครามสิ้นสุดลง พีลาทีสได้ย้ายกลับมาที่บ้านเกิดในประเทศเยอรมนีของเขา รูปแบบการออกกำลังกายของเขานั้น ก็เริ่มเป็นที่นิยมมาก ในหมู่นักเต้นรำอาชีพ แต่หลังจากปฏิเสธที่จะสอนรูปแบบการออกกำลังกายนี้ให้กับกองทัพเยอรมัน พีลาทีสได้ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่อเมริกาเป็นการถาวร

โจเซฟตั้งชื่อให้กับวิธีออกกำลังกายที่เขาคิดค้นขึ้นว่า “ศาสตร์แห่งการควบคุม” ซึ่งหมายถึงการทำงานที่ประสานกันระหว่างจิตใจ ร่างกาย และวิญญาณผ่าน การใช้กล้ามเนื้อและลมหายใจที่ถูกต้อง เพื่อการควบคุมร่างกายทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันการคิดค้นศาสตร์แห่งการออกกำลังกาย ชนิดนี้ถูกขนาน นามตามชื่อของเขาว่า "พีลาทีส"
Pilates 01Pilates 02Pilates 05Pilates 03Pilates 04 Pilates 06Pilates 07Pilates 08Pilates 09Pilates 10PilatesPilatesPilatesPilates 14Pilates 15Pilates 16Pilates 17 Pilates 18Pilates 19Pilates 20Pilates 21Pilates 22

พิลาทีส ความแข็งแรงบนความนุ่มนวล

พิลาทีส (Pilates) ได้เข้ามาเป็นวิถีหนึ่งของผู้ฝักใฝ่การออกกำลังบริหารร่างกายในบ้านเรา และค่อยเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จะเห็นจากตามสถานออกกำลังกายหลายแห่งเพิ่มชั้นเรียนพิลาทีสให้สมาชิกได้เล่น แม้พิลาทีสจะยังค่อนข้างใหม่ในเมืองไทย แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะทางยุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลียนั้นนิยมมาก จนถึงกับมีการจัดตั้งสถาบันฝึกสอนพิลาทีสกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากมายหลายสำนัก เพื่อฝึกนักพิลาทีสมืออาชีพไปเป็นครู หรือสอนให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจ

พิลาทีสถือเป็นการบริหารร่างกายที่มีความปลอดภัยสูงเพราะมีการกระทบกระแทกน้อย การเคลื่อนไหวท่าทางต่างๆ เน้นความนุ่มนวล ต่อเนื่อง ลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติ ท่าทางออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการบริหารร่างกายทั้งระบบ การขยับเคลื่อนกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ นั้นจะต้องผสานกับการหายใจเป็นจังหวะตามที่กำหนด หากเปรียบเทียบกับโยคะของอินเดีย หรือไทชิของจีน พิลาทีสก็เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งของซีกโลกตะวันตกที่มีหลักการไม่ไกลกันเท่าไหร่ บางทีเราอาจเคยได้ยินชื่อพิลาทีสไปผสมผสานกับศาสตร์อื่นๆ อย่างเช่น โยคะ แผลงเป็นศัพท์ใหม่ Yogalates หรือ Yogilates หรือบางทีก็นำไปดัดแปลงผสมผสานกับท่าการบริหารบนลูกบอลยักษ์ (Fit Ball) เป็นต้น

โดยหลักของพิลาทีสเน้นให้ศูนย์พลังบริเวณจุดกึ่งกลางของร่างกาย (ตำแหน่งประมาณช่องท้อง) เป็นตัวควบคุมการเคลื่อนไหวต่างๆ (ศัพท์เทคนิคเรียกว่า Power Home) ซึ่งเชื่อว่าร่างกายคนเรามีพลังภายในที่ปกติจะไม่ค่อยได้ใช้ นอกจากเวลาเกิดเหตุสุดวิสัย อย่างเช่น เวลาเดินแล้วเกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก เราจะรีบพลิกมันกลับโดยอัตโนมัติตามสัญชาติญาณ จะใช้พลังจากส่วน Power Home นี้ ดังนั้นการฝึกพิลาทีส จึงเป็นการฝึกฝนเพื่อดึงพลังในส่วนนี้มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น โดยอาศัยความตั้งใจและสมาธิเข้าช่วย ซึ่งในที่สุดแล้วจะทำให้การเดิน วิ่ง เคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการฝึกจิตใจให้สงบไปในตัว

พิลาทีสถูกออกแบบมาให้ต่างจากการบริหารเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแบบอื่นๆ คือ ในท่าบริหารกล้ามเนื้อที่ทำกันทั่วๆ ไปจะเน้นการออกแรงต่อแรงต้านเพื่อสร้างกล้ามเนื้อเป็นส่วนๆ เช่น ยกน้ำหนักเพื่อสร้างกล้ามเนื้อต้นแขน กล้ามเนื้อหลัง ฯลฯ ซึ่งมักจะมีลักษณะเป็นกล้ามเนื้อมัดสั้นๆ หากบริหารไม่ถูกต้องก็มีโอกาสเสียสมดุล และมีแนวโน้มที่จะทำให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บได้ ในขณะที่พิลาทีสจะมุ่งเน้นการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้พลังจากภายในร่างกายออกสู่ภายนอก โดยให้ผู้เล่นพุ่งความสนใจไปที่หน้าท้องตรงกึ่งกลางของร่างกาย ทำใจให้สงบ มั่นคง แล้วเกร็งกำลัง ยก เหยียด ยืดตัว แขน ขา ตามท่าต่างๆ ที่กำหนด

ทำช้าๆ ตั้งสมาธิคอยควบคุมการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ อย่างมีเสถียรภาพ พร้อมกับการหายใจเข้าและหายใจออกเป็นจังหวะ ท่าฝึกเหล่านี้จะมุ่งเน้นการฝึกความยืดหยุ่นไปพร้อมๆ กับสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อแต่ละส่วนของร่างกาย (multi-muscle exercise technique) โดยแบ่งท่าบริหารออกเป็น 2 กลุ่ม คือ การเล่นบนเบาะหรือแผ่นรองพื้น และเล่นกับอุปกรณ์ หรือบางสำนักอาจแบ่งประเภทของพิลาทีสเป็นท่าบริหารเพื่อการผ่อนคลาย (Relaxation work) และท่าเพื่อการเสริมสร้างความแข็งแรง (Strength work) ก็ได้

จึงให้ผลดีสำหรับนักกีฬาที่ต้องการฝึกกล้ามเนื้อให้มีการยืดหยุ่น นักเต้น คนที่ชอบออกกำลังกาย หรือบริหารร่างกายเป็นประจำ ทั้งยังเหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ คนที่กำลังเข้ารับการบำบัดด้านกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบประสาท ซึ่งคนที่มีปัญหาด้านร่างกายควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมก่อนการเริ่มฝึก

ท่าฝึกของพิลาทีสนี้มีประมาณ 23-40 ท่า แล้วแต่หลักสูตรของแต่ละสำนักที่แตกแขนงสาขาออกมาจะกำหนดขึ้น แต่ละท่ามีระดับความยาก-ง่ายแตกต่างกัน จากขั้นพื้นฐานไปถึงขั้นสูง ท่าหลักๆ ส่วนใหญ่จะเรียกชื่อตรงกันทุกสำนัก เช่น ท่าขั้นพื้นฐานสำหรับคนเริ่มฝึกอย่างท่า One hundred (100) , Double legs stretch , Roll up ซึ่งจะเป็นท่าไม่ซับซ้อน อาศัยการเกร็งหน้าท้องแล้วยืดเหยียดยกขา-แขน เมื่อฝึกจนชำนาญพอสมควรแล้วจึงค่อยขยับมาฝึกท่าที่ยากขึ้น หรือท่าที่ต้องอาศัยเทคนิคบางประการ ซึ่งควรจะมีครูฝึกคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

เพราะอาจเป็นอันตรายได้หากฝึกไม่ถูกวิธี อย่างท่าที่ต้องยกตัว ยกหลังสูง เช่น ท่า Roll over , Scissors hips up เป็นต้น ซึ่งผู้ฝึกจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการยกและวางตัวอย่างปลอดภัย ดังนั้นครูฝึกที่เชี่ยวชาญจะเป็นคนพิจารณาเห็นควรว่าคนไหนควรเลือกฝึกท่าไหนตามสรีระหรือความพร้อมของคนๆ นั้น ในแต่ละสำนักที่ได้รับการถ่ายทอดพิลาทีสต่อๆ กันมาก็อาจมีการดัดแปลงท่าทางผิดเพี้ยนกันไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่คงไว้ซึ่งหลักการเดียวกัน

ก่อนจะบริหารร่างกายแบบพิลาทีส ผู้ฝึกควรเข้าใจหลักการ 8 ข้อต่อไปนี้ที่เป็นหัวใจของการฝึก ได้แก่
Concentration – การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับท่าทางที่จะต้องทำในแต่ละขั้นตอน และปิดกั้นความคิดอื่นๆ ที่หลงเข้ามาในสมอง ทำให้จิตใจสงบ
Breath – หายใจเข้ายาวๆ แล้วหายใจออกให้สุดโดยไม่ต้องกลั้นเก็บไว้ หายใจไหลเรื่อยสม่ำเสมอเช่นเดียวกับการหายใจในชีวิตประจำวัน แต่เกร็งกล้ามเนื้อท้องเข้าช่วยบังคับให้ท้องแบนราบทั้งเวลาหายใจเข้าและออก (หลักการต่างจากโยคะที่เวลาหายใจเข้าท้องต้องป่อง) นอกจากจะได้ฝึกหายใจอย่างเต็มอิ่มแล้ว ยังเป็นวิธีที่ช่วยฟิตหน้าท้องไปด้วยในตัว
Centering – การรวมสมาธิไปที่จุดศูนย์กลางของร่างกายบริเวณหน้าท้อง (Power Home) การเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องสำหรับบังคับท่าบริหารทุกๆ ท่าของทุกๆ ส่วน ทำให้ร่างกายทำงานเป็นหน่วยเดียวกันเหมือนกับการควบคุมวงออร์เคสตร้า
Control – การบังคับให้ร่างกายให้ทำงานต้านกับแรงโน้มถ่วงโลก เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย ยิ่งเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ ต้านแรงโน้มถ่วงเท่าไหร่ยิ่งได้ความแข็งแรงมากขึ้น
Precision – การวางมือ เท้า หรือท่าทางเริ่มต้นในตำแหน่งที่ถูกต้องจะช่วยควบคุมการเคลื่อนไหว และความต่อเนื่องของการบริหารได้ดี
Flowing Movement – การเคลื่อนไหวจากท่าหนึ่งไปสู่อีกท่าหนึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง เหมือนวงล้อที่หมุนด้วยความเร็วสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาการเคลื่อนไหว
Isolation – การฝึกพิลาทีสจะเป็นความท้าทายเฉพาะตัวของแต่ละคนที่มีสภาพร่างกายแตกต่างกันไปคนละแบบ การศึกษาเทคนิคที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ฝึกเรียนรู้โครงสร้างร่างกายของตนเอง และสามารถแยกการควบคุมการทำงานของกลุ่มกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนได้ดียิ่งขึ้น
Routine – การทำซ้ำๆ สม่ำเสมอ จะยิ่งเพิ่มระดับความเชี่ยวชาญให้กับผู้ฝึก สามารถพัฒนาไปสู่ท่าที่ยากขึ้นได้ในระยะเวลาไม่นาน

ผลดีจากการฝึกพิลาทีสอย่างสม่ำเสมอ

การฝึกพิลาทีสเป็นประจำสม่ำเสมอ ติดต่อกันจะมีผลดีต่อร่างกาย ช่วยยืดกล้ามเนื้อ และสลายไขมัน ทำให้กล้ามเนื้อฟิตและเฟิร์มยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการฝึกใช้จิตใจช่วยควบคุมการทำงานของร่างกาย ฝึกการทำงานประสานกันของอวัยวะส่วนต่างๆ สร้างความสมดุล เพิ่มความกระฉับกระเฉง คล่องตัว ยืดหยุ่น ความแข็งแรง เสริมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายทำให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยบริหารกระดูกสันหลัง พัฒนาบุคลิกภาพ การวางท่าทาง บรรเทาความปวดเมื่อย ฝึกการหายใจอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเครียด ทำให้จิตใจแจ่มใส และที่สำคัญพิลาทีสเป็นการออกกำลังกายที่ท้าทายผู้เล่น แต่ปลอดภัยสูง ลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ เพราะร่างกายได้ฝึกความยืดหยุ่นของร่างกายอยู่ตลอดเวลา

คนที่ฝึกพิลาทีสจะเห็นผลกับร่างกายได้ช้าหรือเร็วแตกต่างกันในแต่ละคน คนที่ฝึกได้ผลดีต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างน้อยประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หากทำได้อย่างนี้แล้วก็จะเริ่มเห็นผลดีต่อร่างกายภายหลังการฝึกประมาณ 15-20 ครั้ง พิลาทีสจัดเป็นโปรแกรมการบริหารกล้ามเนื้อและกระดูกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การบริหารเพื่อการเต้นของหัวใจ ดังนั้นคนฝึกสามารถฝึกพิลาทีสควบคู่ไปการฝึกออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การเดิน เต้นแอโรบิค หรือว่ายน้ำ รวมทั้งหากในคนที่ต้องการลดน้ำหนักด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งไม่ควรละเลยการรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการด้วย

สำหรับคนที่อยากฝึกพิลาทีส คงต้องเลือกสรรหาที่เรียนที่มีมาตรฐานน่าเชื่อถือ มีครูฝึกที่เชี่ยวชาญสอบผ่านมาตรฐานรับรองจากสถาบันฝึกสอนพิลาทีสโดยเฉพาะที่ตรวจสอบได้ และถ้าจะให้ดีก็ควรเลือกเรียนในชั้นเรียนที่มีคนน้อยๆ (ไม่ควรเกิน 10 คน / ชั้นเรียนท่าฝึกบนพื้นเบาะ หรือ 3 คน / ครูฝึก 1 คนสำหรับท่าที่ใช้เครื่องมือ) เพื่อให้ครูฝึกมีโอกาสดูแลได้อย่างทั่วถึง เพราะการปฏิบัติท่าทางต่างๆ หากทำไม่ถูกวิธีมีโอกาสทำให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บได้เหมือนกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์กับตัวของคุณเอง