วิธีกายบริหารของทิเบต

  • Tab 1
  • Tab 2
  • Tab 3
  • Tab 4
  • Tab 5

เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ของปีเตอร์ เคลเดอร์

ในความเข้าใจของผม “ศาสตร์ชะลอวัย” ในระดับชาวบ้านของโลกตะวันตกในยุคบุกเบิกนั้น อิงอยู่กับภูมิปัญญาเร้นลับและโบราณของศาสตร์ตะวันออกอย่าง วิชาโยคะ โดยเริ่มต้นจากหนังสือเล่มหนึ่งของปีเตอร์ เคลเดอร์ (Peter Kelder) ชื่อ “The Eye of Revealation” อันเป็นหนังสือเล่มบางๆ เพียงไม่กี่สิบหน้าที่ตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1939 (ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ใหม่เป็นที่แพร่หลายในชื่อ “Ancient Secret of the Fountain of Youth” ในปี ค.ศ. 1985)

“คำนำ” ของผู้จัดพิมพ์ที่ได้นำหนังสือคลาสสิกเล่มนี้ของปีเตอร์ เคลเดอร์ มาตีพิมพ์ใหม่ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มบางๆ เล่มนี้ว่า “นี่ เป็นหนังสือที่น่าอัศจรรย์เล่มหนึ่ง แต่นี่ไม่ใช่หนังสือสำหรับคนทุกคน หากเป็นหนังสือสำหรับคนที่เชื่อว่าคนเราสามารถชะลอความแก่ได้เท่านั้น”

“...ถ้าคุณเชื่อหรือยึดติดกับวิธีคิดเก่าๆ ว่าการชะลอความแก่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การอ่านหนังสือเล่มนี้จะเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์”

“...เท่าที่ทราบ หนังสือเล่มนี้ของปีเตอร์ เคลเดอร์ เป็นข่าวสารอันทรงคุณค่าจะหาสิ่งใดเปรียบได้ ที่เขียนเป็นอักษรออกมาจำนวนหนึ่งในหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่เปิดเผย เคล็ดวิชาเร้นลับโบราณของทิเบตในการรักษาความเป็นหนุ่มสาว มีสุขภาพแข็งแรง และมีชีวิตชีวาตราบนานเท่านาน”

“...เคล็ดวิชาเร้นลับนี้ ได้สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้วที่วิหารลี้ลับในแถบเทือกเขา หิมาลัย แต่เพิ่งถูกนำมาเปิดเผยสู่โลกตะวันตกเป็นครั้งแรก โดยหนังสือของปีเตอร์ เคลเดอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1939 แล้วถูกลืมไปเป็นเวลานานปี ทางสำนักพิมพ์ถึงต้องนำหนังสือเล่มนี้มาจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้ง เพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่”

“...มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าเรื่องราวของผู้พันแบรดฟอร์ด ในหนังสือเล่มนี้ของเคลเดอร์ เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งหรืออิงมาจากเรื่องจริงผสมแต่ง แต่ทางผู้จัดพิมพ์สามารถยืนยันได้ว่าประสิทธิผลของ กระบวนท่า 5 กระบวนท่า (The Five Tibetan Rites) (บางทีก็เรียกว่า “The Five Rites” หรือ “The Five Tibetans” หรือ “The Five Rites of Rijuvenation” แต่ปัจจุบันนี้นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “T5T”) ของเคล็ดวิชาเร้นลับโบราณของทิเบตอันนี้มีอยู่จริง แม้ว่าอาจจะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะทำให้ผู้ฝึกอ่อนเยาว์ลง 50 ปี และเปลี่ยนโฉมในชั่วข้ามคืนได้ แต่ทางผู้จัดพิมพ์สามารถรับรองได้ ว่า มันจะทำให้ผู้ฝึกดูหนุ่มดูสาวขึ้น รู้สึกอ่อนเยาว์ขึ้น รวมทั้งมีความคึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นกว่าเดิมได้อย่างแน่นอน ถ้าผู้นั้นฝึก “5 กระบวนท่า” นี้ทุกๆ วัน...”

ถ้าหาก “5 กระบวนท่า” (The Five Rites หรือ T5T) ของเคล็ดวิชาเร้นลับโบราณของทิเบตนี้ได้ผลจริงๆ เราก็คงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า มันได้ผลอย่างไร และทำไม คำตอบจากหนังสือเล่มนี้ก็คือ พลังปราณ หรือ พลังจักรวาล นั่น เอง ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถวัดทางอ้อมได้แล้วในรูปของรังสีออร่า เพราะรังสีออร่าของคนที่หนุ่มแน่นแข็งแรงจะต่างไปจากรังสีออร่าของคนที่แก่ ชรา และเจ็บป่วยอย่างชัดเจน เพราะพลังปราณคือตัวหล่อเลี้ยงรังสีออร่านี้ พลังปราณส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย ปัจจุบันทางการแพทย์ได้ค้นพบแล้วว่า กระบวนการแก่ของคนเราเป็นกระบวนการที่ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจาก ต่อมไร้ท่อเหล่านี้โดยเฉพาะต่อมพิตทูอิทารีในสมอง “5 กระบวนท่า” นี้เป็นการฟื้นฟูสมดุลในการใช้พลังปราณมาทำให้ร่างกายเกิดการชะลอความแก่ และนำไปสู่การมีอายุที่ยืนยาวนั่นเอง กล่าวในความหมายนี้ การฝึกฝนปฏิบัติเพื่อการชะลอวัยแบบนี้ จึงถูกจัดอยู่ในแนวทางหนึ่งของ “การแพทย์เชิงพลังงาน” ได้

การทดลองปฏิบัติ “5 กระบวนท่า” นี้อย่างต่อเนื่องทุกวัน ผลจะเริ่มปรากฏขึ้นมาหลังจากเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนแล้ว ที่สำคัญอย่างยิ่งในการจะฝึก “5 กระบวนท่า” นี้ให้ได้ผล ผู้นั้นจะ ต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตัวเองอยู่เสมอว่า ตัวเขาได้ตระหนักแล้วว่า ตัวเขาเป็นบุคคลพิเศษที่สามารถมองเห็นข้อจำกัดในวิธีคิดและทัศนะแบบเก่าของ คนทั่วไปในเรื่องของความแก่ ตัวเขาจึงหันมาสนใจเรื่อง “ศาสตร์ชะลอวัย” อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ตัวเขาจะต้องตระหนักดีว่า ตัวเขาเองเป็นบุคคลที่ควรค่า และมีคุณค่าพอที่จะรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยั่งยืนยาวนาน เพราะตัวเขาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อสังคมนี้ และต่อโลกใบนี้

ใจความหลักๆ ของหนังสือ “เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ของปีเตอร์ เคลเดอร์ มีดังต่อไปนี้

...หลายปีก่อน ขณะที่เคลเดอร์กำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ในสวนสาธารณะ เขาได้พบอดีตนายทหารนอกราชการของอังกฤษชื่อผู้พันแบรดฟอร์ด อายุราวๆ หกสิบกว่าปี มีผมหงอก ในวัยหนุ่มแบรดฟอร์ดเคยไปประจำการที่อินเดีย และได้รับทราบเรื่องราวจากพระลามะของทิเบตว่ามี “แหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” แต่ตอนนั้นแบรดฟอร์ดยังไม่แก่ เขาจึงเพียงแค่ค้นคว้าสะสมข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้เท่านั้น แต่ตอนนี้แบรดฟอร์ดเข้าสู่วัยชราแล้ว และเขาได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแล้วว่า เขาจะกลับไปอินเดียอีกครั้งเพื่อไปเสาะหา “แหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ที่นั่น ผู้พันแบรดฟอร์ดได้ชวนเคลเดอร์ให้ร่วมเดินทางไปกับเขาด้วย แต่เคลเดอร์ปฏิเสธเพราะไม่คิดว่าคนเราจะฝืนสังขารได้

หลายปีผ่านไป เคลเดอร์เกือบลืมเรื่องราวของผู้พันแบรดฟอร์ดเสียสนิท จนกระทั่งเคลเดอร์ได้รับจดหมายจากผู้พันแบรดฟอร์ดว่า เขาได้พบ “แหล่งน้ำแห่งความเป็นหนุ่มสาว” แล้วและกำลังเดินทางมาพบกับเคลเดอร์ที่สหรัฐอเมริกาในอีกสองเดือนข้างหน้า ตอนแรกที่เคลเดอร์ได้พบกับผู้พันแบรดฟอร์ดอีกครั้ง เขาจำผู้พันแบรดฟอร์ดแทบไม่ได้ เพราะเขาดูหนุ่มขึ้นมากจนดูเหมือนกลายเป็นคนละคน เคลเดอร์เชื่อทันทีว่า ผู้พันแบรดฟอร์ดได้พบ “แหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” แล้วจริงๆ

ผู้พันแบรดฟอร์ดได้เล่าเรื่องราวของเขาให้เคลเดอร์ฟังว่า เขาได้ใช้เวลากว่าสองปีในการเสาะหา “แหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ซึ่งในที่สุดเขาก็ค้นพบ เมื่อเขาไปถึงวิหารลี้ลับแห่งหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัย ที่นั่นแบรดฟอร์ดได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชาเร้นลับโบราณจากพระลามะ ภายในชั่วระยะเวลาไม่กี่เดือนที่เขาพำนักอยู่ที่นั่น เขาได้พบว่า ตัวเองกลับมาหนุ่มขึ้นอีกร่วม 15 ปีอย่างที่ตัวเขาแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเมื่อเห็นภาพตัวเองในกระจก

ผู้พันแบรดฟอร์ดได้เล่ารายละเอียดของ “แหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ให้เคลเดอร์ฟังว่า...สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่แบรดฟอร์ดได้รับการถ่ายทอด หลังจากเขาไปถึงวิหารลี้ลับแห่งนี้ก็คือ ร่างกายของคนเรามีศูนย์ พลังงานอยู่เจ็ดแห่ง ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า วอร์เท็กซ์ (Vortex) แต่ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า จักระ (Chakra) ตามหลักวิชาโยคะ (Yoga)

วอร์เท็กซ์หรือจักระนี้เป็นสนามชีวไฟฟ้าที่ทรงพลังมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง วอร์เท็กซ์ทั้งเจ็ดนี้ตั้งอยู่บนตำแหน่งต่อมไร้ท่อทั้งเจ็ดแห่งในร่างกายคน เรา วอร์เท็กซ์ที่หนึ่ง ซึ่งเป็นวอร์เท็กซ์ที่อยู่ตำแหน่งต่ำที่สุด ตั้งอยู่ตรงต่อมเพศหรือต่อมสืบพันธุ์ วอร์เท็กซ์ที่สอง ตั้งอยู่บนตับอ่อนในบริเวณช่องท้อง วอร์เท็กซ์ที่สาม ตั้งอยู่บนต่อมอะดรินัลบริเวณโซลาร์เพลกซัส วอร์เท็กซ์ที่สี่ ตั้งอยู่บนต่อมไทมัสบริเวณหัวใจ วอร์เท็กซ์ที่ห้า ตั้งอยู่บนต่อมไทรอยด์ บริเวณคอ วอร์เท็กซ์ที่หก ตั้งอยู่บนต่อมไพเนียลบริเวณสมอง และ วอร์เท็กซ์ที่เจ็ด ที่อยู่ตำแหน่งสูงสุดตั้งอยู่บนต่อมพิตทูอิทารีในสมอง

ผู้พันแบรดฟอร์ดได้ถ่ายทอดเคล็ดลับโบราณเพื่อการชะลอวัยที่ตัวเขาได้เรียน รู้ และฝึกฝนมาจากวิหารลี้ลับในเทือกเขาหิมาลัยให้แก่ ปีเตอร์ เคลเดอร์ หลังจากที่ได้อธิบายตำแหน่งของวอร์เท็กซ์ หรือจักระทั้งเจ็ดแห่งในร่างกายมนุษย์ไปแล้วว่า...

มนุษย์ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีมาก วอร์เท็กซ์หรือจักระเหล่านี้ แต่ละอันจะหมุนด้วยความเร็วที่สูงมาก ถ้าวอร์เท็กซ์หรือจักระบางอันหมุนช้าลง คนผู้นั้นจะเริ่มแก่ชรา และมีร่างกายที่อ่อนแอลง การหมุนของวอร์เท็กซ์หรือจักระด้วยความเร็วที่สูงมากนี้ จะทำให้พลังชีวิต ที่เรียกว่า ปราณ ไหล เข้า และไหลขึ้นไปตลอดทั่วระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย แต่ถ้าวอร์เท็กซ์หรือจักระหมุนช้าลง การไหลของปราณจะถูกสกัด หรือถูกปิดกั้นซึ่งนำไปสู่การเจ็บไข้ได้ป่วยและแก่ชรา...

อนึ่ง เมื่อคำนึงถึงว่า สมมติฐาน “จักระ” ในโมเดล “โยคะ” ข้างต้น “เพื่อการชะลอวัยในหนังสือ “เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ของปีเตอร์ เคลเดอร์ เล่มนี้ได้ถูกนำเสนอต่อโลกตะวันตกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 หรือเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อน เราคงต้องยอมรับว่า สมมติฐาน “จักระ” อันนี้เป็นแนวคิดที่ปฏิวัติในวงการศาสตร์ชะลอวัยของโลกตะวันตกเลยทีเดียว เพราะแม้จนกระทั่งปัจจุบันนี้ การแพทย์เชิงพลังงาน ก็ยังคงใช้สมมติฐาน “จักระ” นี้อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะศาสตร์ชะลอวัยที่ใช้โมเดล “โยคะ” เป็นหลัก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า วงการแพทย์กระแสหลักยังไม่ค่อยให้ความสนใจกับสมมติฐาน “จักระ” นี้เท่าไรนัก

...วอร์เท็กซ์หรือจักระที่หมุนด้วยความเร็วสูงนี้ จะเปล่งรังสีหรือออร่าออกจากร่างกายในกรณีที่บุคคลผู้นั้นมีสุขภาพดีแข็งแรง แต่ถ้าคนผู้นั้นป่วยหรืออ่อนแอ รังสีออร่านี้แทบจะไม่ปรากฏออกมาถึงบริเวณผิวหนังเลย เพราะฉะนั้น วิธี ที่เร็วที่สุดในการฟื้นฟูสุขภาพความมีชีวิตชีวา และความเป็นหนุ่มสาวก็คือ จะต้องทำให้วอร์เท็กซ์หรือจักระ อันเป็นศูนย์พลังงานต่างๆ ในร่างกายของคนเรา กลับมาหมุนด้วยความเร็วสูงดังเดิม โดยที่ใน หนังสือ “เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ของปีเตอร์ เคลเดอร์ ได้นำเสนอว่า มีวิธีการกายบริหาร 5 กระบวนท่า (The Five Rites) ที่ผู้พันแบรดฟอร์ด อ้างว่าได้รับการถ่ายทอดมาจากพระลามะ ในวิหารลี้ลับแห่งนั้น เป็นเคล็ดลับในการช่วยกระตุ้นวอร์เท็กซ์ หรือจักระต่างๆ ให้ทำงานเป็นปกติดังเดิม กระบวนท่า 5 ท่าของเคล็ดวิชาเร้นลับโบราณของทิเบต ในหนังสือของปีเตอร์ เคลเดอร์ เล่มนี้มีดังต่อไปนี้

(1) กระบวนท่าที่หนึ่ง

วิธีฝึกกระบวนท่าที่หนึ่งนี้ง่ายมาก เพราะมันมี จุดประสงค์หลักเพื่อเร่งความเร็วในการหมุนของวอร์เท็กซ์ พวก เด็กๆ ล้วนเคยหัดเล่นอย่างนี้กันมาทั้งนั้น โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว ก่อนอื่นให้ยืนตัวตรงกางแขนสองข้างขนานกับพื้น แล้วหมุนรอบตัวเองตามเข็มนาฬิกาจากซ้ายไปขวา ให้หมุนจนตัวเรารู้สึกตาลายเวียนศีรษะเล็กน้อยจึงหยุด แรกๆ ควรหัดหมุนตัวไม่เกินหกครั้ง อย่าไปฝึกหัดมากกว่านั้น ถ้ารู้สึกตาลายให้นั่งหรือนอนนิ่งๆ พักสักครู่

(2) กระบวนท่าที่สอง

กระบวนท่านี้เป็นการกระตุ้นวอร์เท็กซ์หรือจักระทั้งเจ็ดต่อจากกระบวน ท่าที่หนึ่งที่มุ่งกระตุ้นจักระให้ทำงาน ในท่าที่สองนี้ ให้ผู้ฝึกนอนราบลงกับพื้น หงายหน้ามองเพดาน จากนั้นเหยียดแขนทั้งสองข้างออกไปแนบลำตัว วางฝ่ามือทั้งสองคว่ำลงกับพื้น นิ้วทั้งหมดชิดกัน เงยศีรษะขึ้นมาจากพื้นเก็บคางไว้แนบหน้าอก ยกขาทั้งสองข้างจนตั้งฉากกับพื้น ขาทั้งสองจะต้องเหยียดตรงชี้ฟ้าอย่าให้หัวเข่างอ จากนั้นวางศีรษะและขาลงกับพื้นตามเดิม เข่ายังเหยียดตรงคลายกล้ามเนื้อทั้งหมดแล้วเริ่มทำกระบวนท่านี้ใหม่ ในแต่ละครั้งที่กระทำท่านี้ จังหวะการหายใจควรจะสม่ำเสมอ คือหายใจเข้าให้ลึก ขณะที่ยกศีรษะกับท่อนขาขึ้นมาและหายใจออกช้าๆ ขณะที่วางศีรษะกับท่อนขาลงกับพื้น ระหว่างการพักท่า ผู้ฝึกจะต้องคลายทุกส่วนของร่างกายให้เต็มที่

(3) กระบวนท่าที่สาม

กระบวนท่านี้ ควรฝึกหัดต่อเนื่องทันทีต่อจากกระบวนท่าที่สอง ก่อนอื่นคุกเข่าทั้งสองลงกับพื้นลำตัวตั้งตรง สองมือวางไว้ที่ต้นขาทั้งสองข้าง จากนั้นก้มศีรษะและลำคอไปข้างหน้า เก็บคางไว้แนบหน้าอก เสร็จแล้วงอศีรษะและลำคอไปทางด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ พร้อมกันนั้นก็ดัดสันหลังให้โค้งงอตามไปด้วย ขณะที่ดัดหลังให้ผู้ฝึกใช้มือจับต้นขาเอาไว้เพื่อพยุงลำตัว แล้วจึงกลับมาอยู่ที่ท่าเดิมก่อนจะเริ่มทำท่านี้ใหม่ ขณะที่หัดกระบวนการที่สามนี้ ผู้ฝึกควรจะหายใจเข้าให้ลึกขณะที่งอลำตัวไปข้างหลัง และหายใจออกขณะที่กลับมาตัวตรงอีก ถ้าจะให้ดีขณะที่ทำท่านี้ ควรจะหลับตาขณะที่ดัดตัวเพื่อเพ่งสติไปที่ข้างในตัว และขจัดความคิดที่รบกวนต่างๆ ออกไปจากใจ

(4) กระบวนท่าที่สี่

ก่อนอื่นนั่งลงกับพื้น เหยียดขาทั้งสองข้างออกไปตรงๆ ข้างหน้าให้ปลายขาทั้งสองข้างห่างกันราวๆ หนึ่งฟุต โดยที่ลำตัวตั้งตรง วางฝ่ามือทั้งสองข้างบนพื้นข้างสะโพก เก็บคางไว้แนบหน้าอก จากนั้นงอศีรษะกลับไปทางด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกัน ยกลำตัวขึ้นให้ขนานกับพื้นโดยงอเข่าตั้งฉากกับพื้น แขนทั้งสองข้างตรงตั้งฉากกับพื้นเช่นกัน ให้เกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกาย ก่อนที่จะผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน เมื่อกลับมาอยู่ในท่านั่งตอนต้น แล้วนอนพักก่อนที่จะทำกระบวนท่านี้ซ้ำอีก จงหายใจลึกๆ ขณะที่ยกลำตัวขึ้นขนานกับพื้น แล้วกักลมหายใจเอาไว้ขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วน จากนั้นค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกให้หมดขณะหย่อนตัวลงนั่งตามเดิม จนจำไว้ว่า ความแตก ต่างระหว่างความเป็นหนุ่มสาวที่แข็งแรงกับความแก่ชราของผู้สูงวัยที่ขี้โรค นั้น อยู่ที่อัตราความเร็วในการหมุนของวอร์เท็กซ์ หรือจักระในร่างกายคนเท่านั้น วิชาโยคะเพื่อการชะลอวัย จึงมุ่งเน้นไปที่การปรับให้จักระกลับมาหมุนในอัตราที่เร็วเหมือนเดิมอีก ครั้ง เพราะนี่คือเคล็ดลับที่ทำให้คนชรากลับมาย้อนวัยได้ ในทัศนะของโยคะ

(5) กระบวนท่าที่ห้า

ท่านี้ผู้ฝึกจะคว่ำตัวหันหน้าเข้าหาพื้นก่อน โดยพยุงร่างกายด้วยสองมือฝ่ามือคว่ำกับพื้น ปลายเท้าทั้งสองแยกออกจากกันราวๆ สองฟุต ใช้ปลายเท้าแตะพื้น แขนตรง และขาเหยียดตรง แขนตั้งฉากกับพื้นดัดหลังให้โค้งไปข้างหน้าลำตัวจึงอยู่ในลักษณะย้อยลงมา เกือบแตะพื้น จากนั้นเหวี่ยงศีรษะไปทางด้านหลัง พร้อมกับงอก้นสะโพกจนลำตัวลอยขึ้นเป็นรูปตัววีหรือรูปสามเหลี่ยม คางแนบกับหน้าอก เกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะกลับไปสู่ท่าเริ่มต้น พักชั่วครู่แล้วจึงเริ่มทำกระบวนท่านี้ซ้ำอีก ส่วนการหายใจก็เหมือนกับกระบวนท่าก่อนๆ คือหายใจเข้าลึกๆ ขณะที่ยกตัวขึ้นเป็นรูปตัววี และหายใจออกเมื่อหย่อนตัวลงมา

กระบวนท่าทั้ง 5 ท่าข้างต้นนี้ จงอย่ามองอย่างผิวเผินว่าเป็นแค่ท่ากายบริหารเพื่อยืดเส้นเฉยๆ เท่านั้น แม้กระบวนท่าเหล่านี้มันจะช่วยยืดเส้นด้วยก็จริง แต่การยืดเส้นไม่ใช่เป้าหมายหลักในการฝึกเคล็ดวิชาโบราณอันนี้ แต่เป็นการปรับความเร็วในการหมุนของวอร์เท็กซ์หรือจักระของผู้ฝึกให้หมุนใน อัตราเร็วเท่ากับคนวัย 25 ปีที่แข็งแรงต่างหาก เพราะคนที่แข็งแรงมีสุขภาพดีในวัยนี้ จักระทั้งเจ็ดจะหมุนในอัตราเร็วที่เท่ากัน ขณะที่อัตราการหมุนของจักระทั้งเจ็ดของคนวัยกลางคน จะมีอัตราเร็วไม่เท่ากัน และจักระบางอันอาจหมุนในอัตราเร็วที่เชื่องช้าลงมาก ซึ่งเป็นที่มาของโรคภัยไข้เจ็บบริเวณนั้น

การที่จักระทั้งเจ็ดทำงานอย่างไม่ประสานปรองดองกันเช่นนี้ ถ้าจักระอันไหนหมุนช้าก็จะทำให้อวัยวะบริเวณนั้นอ่อนแอเสื่อมถอย ส่วนจักระที่หมุนเร็วกว่าจะก่อให้เกิดความหงุดหงิด กระวนกระวาย และเหนื่อยล้าซึ่งนำไปสู่การเสียสุขภาพ และความแก่ชราในที่สุด

กระบวนท่าแต่ละท่าควรฝึกให้ได้ถึง 21 ครั้งต่อหนึ่งกระบวนท่า โดยค่อยๆ ฝึกจากแต่ละท่าไม่เกิน 3 ครั้งในสัปดาห์แรก แล้วค่อยเพิ่มจำนวนครั้งทีละสองไปทุกๆ สัปดาห์ จนกระทั่งผู้ฝึกสามารถหัดได้ถึง 21 ครั้งต่อหนึ่งกระบวนท่าในสัปดาห์ที่สิบ การฝึก “5 กระบวนท่า” นี้สามารถฝึกได้ทั้งเช้าหรือตอนเย็นตามแต่สะดวก ถ้าจะให้ดีควรหัดวิชานี้ทุกๆ วัน ทั้งในช่วงเช้า และช่วงเย็น แต่ไม่ควรหักโหม แล้วจะเห็นผลเองภายในสามเดือนอย่างแน่นอน

วิธีกายบริหาร “5 กระบวนท่า” ของทิเบตได้ผลจริงหรือ?

วิธีกายบริหาร “5 กระบวนท่า” ของทิเบต (The Five Tibetan Rites) ที่อยู่ในหนังสือ “เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ของปีเตอร์ เคลเดอร์นั้น เป็นที่ฮือฮาและแพร่หลายมากในโลกตะวันตก จนกระทั่งแทบกลายเป็นความเชื่อกึ่งงมงายของผู้คนบางกลุ่มว่า “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้สามารถเป็น “ปาฏิหาริย์” ที่จะหยุดความแก่ ช่วยลดน้ำหนักตัวลงอย่างฮวบฮาบ รักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายทั้งปวงได้

ความเชื่อกึ่งงมงายที่ค่อนข้างแพร่หลายแบบนี้เอง ที่ทำให้วิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตในโลกตะวันตกอยู่ใน สถานะพิเศษ ที่ผู้คนได้ตั้งความคาดหวังไว้สูงมากอย่างเหลือเชื่อต่อวิชานี้ตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มฝึกฝนกระบวนท่าเหล่านี้เสียอีก โดยที่วิชาโยคะหรือชี่กงแบบอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่แพร่หลายอยู่ในโลกตะวันตก ก็ไม่มีอันไหนถูกตั้งความคาดหวังไว้สูงเหมือนกับวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้เลย นี่อาจจะเป็นเพราะความคลาสสิกของตัวหนังสือเล่มนี้ของปีเตอร์ เคลเดอร์ ที่พิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 ด้วยกระมัง ที่ทำให้เกิดกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริงอย่างเหลือเชื่อเกี่ยวกับวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้เพื่อหวังผลเชิงพาณิชย์ในการขายหนังสือเล่มนี้ทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในรูปของอี-บุ๊ก ที่ตั้งราคาหนังสือเล่มนี้ไว้ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับราคาของหนังสือเล่มอื่นๆ

เนื้อหาหลักๆ ของการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับ “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ได้แก่ การโฆษณาชวนเชื่อว่า

(1) ริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าจะหายไปโดยไม่ต้องผ่าตัด

(2) เส้นผมจะกลับมาดกดำเหมือนเดิมอีกครั้ง

(3) ผู้ฝึกจะดูหนุ่มสาวขึ้นอย่างน้อย 30 ปีขึ้นไป

(4) สายตาจะกลับมามองเห็นชัดเหมือนเดิมอีกครั้ง

(5) ผู้ฝึกจะมีพลังเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาล เหล่านี้เป็นต้น

ในความเห็นของผม มันเป็นความจริงที่วิธีกายบริหาร “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ ถ้าผู้นั้นสามารถฝึกฝนทุกวันอย่างต่อเนื่องภายใน 3 เดือน มันจะทำให้ผู้นั้นมีสุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่มันมิได้ทำให้เกิดปาฏิหาริย์เหมือนอย่างที่มีการอวดอ้างหรือโฆษณาชวนเชื่อแต่อย่างใด เพราะถ้าผู้นั้นฝึกกายบริหารแบบโยคะหรือชี่กงอย่างหมั่นเพียรต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 3 เดือนเช่นกัน ก็น่าจะทำให้ผู้นั้นมีสุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้นในระดับเดียวกับที่ฝึกวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตได้เหมือนกัน

แต่มันคงเป็นปรากฏการณ์แปลกแต่จริงที่ย้อนแย้งสำหรับกรณีของวิชา “5 กระบวนท่า” แบบทิเบตที่อาจจะเหนือกว่าวิชาโยคะ หรือชี่กงอื่นๆ ตรงที่ชาวตะวันตกที่เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ค่อยมีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับภูมิปัญญาตะวันออกมากนัก สามารถใช้ศรัทธาที่เป็นอุปทาน (placebo effect) ต่อวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ มาทำให้เกิดประสิทธิผลในการชะลอวัยได้มากกว่าการฝึกวิชาโยคะ หรือชี่กงทั่วๆ ไป เพราะพวกเขามีศรัทธาหรือตั้งความคาดหวังที่เกินจริงต่อวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ได้นั่นเอง

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อุปทานที่เป็นความเชื่อแบบงมงายของพวกเขานั่นเอง ที่ดึงศักยภาพของพลังจิตภายในตัวพวกเขาออกมาช่วยฟื้นฟูสุขภาพให้ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่มันจะได้ผลแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตาม ที่ผู้นั้นเกิดความสงสัยหรือเกิดรู้ความจริงในภายหลังว่า เหตุที่สุขภาพของตัวเองดีขึ้นก็เพราะอุปทานของตัวเอง หรือจิตของตัวเองเป็นผู้หลอกร่างกายเท่านั้น ประสิทธิผลจากอุปทาน (placebo effect) นี้ก็จะหายไปทันที หลงเหลือเฉพาะประสิทธิผลจากการออกกายบริหารทุกวันเท่านั้น

ถึงแม้ว่า ประสิทธิผลจากอุปทานจะหายไป แต่ประสิทธิผลจริงๆ จากการฝึกกายบริหาร “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมากในโลกตะวันตก ในแง่ของผลดีต่อสุขภาพ และการชะลอวัย ถ้าผู้นั้นฝึกฝนอย่างต่อเนื่องทุกๆ วันได้ก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่มันจะได้ผลในระดับเดียวกับการฝึกโยคะหรือชี่กงแบบอื่นๆ เท่านั้น ดังต่อไปนี้

(1) มีพลังชีวิตหรือพลังเพิ่มขึ้นจริง

(2) รู้สึกสงบขึ้น และเครียดน้อยลงได้จริง

(3) กระบวนการคิดมีความเฉียบคม และแจ่มชัดขึ้นกว่าเดิมได้จริง

(4) รู้สึกได้ว่าตัวเองแข็งแรงขึ้น เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว และกระฉับกระเฉงขึ้นกว่าแต่ก่อน

(5) ทำให้มีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นบริเวณส่วนแขน หน้าท้อง สะโพก ส่วนขา และส่วนหลังได้จริง

(6) การนอนหลับดีขึ้นจริง

(7) สุขภาพโดยรวมดีขึ้นจริง และไม่เป็นหวัดง่ายเหมือนแต่ก่อน

(8) ลดอาการหดหู่ และซึมเศร้าได้จริง

(9) มีสมาธิเพิ่มขึ้น และผ่อนคลายขึ้นได้จริง

(10) มีวินัยในการฝึกตนเพิ่มขึ้น และรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิมได้จริง

(11) รู้สึกเยาว์วัยขึ้นกว่าเดิมได้จริง

(12) การหายใจดีขึ้น หายใจได้ช้าลง ลึกขึ้น และสม่ำเสมอกว่าเดิม

(13) บางคนสามารถลดน้ำหนักได้ แต่ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมน้ำหนักได้ง่ายขึ้น และมีความอยากในการรับประทานอาหารสุขภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

(14) ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

(15) ช่วยให้การปรับตัวเข้าสู่วัยทองได้ราบรื่นขึ้น

(16) ช่วยให้เรื่องเพศ และอารมณ์ทางเพศดีขึ้นกว่าเดิมได้จริง

(17) สามารถพัฒนาความเข้มแข็งจากภายใน อันเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการฝึกวิชาขั้นสูงแห่งการพัฒนากาย-จิต-ปราณ ในอนาคตข้างหน้าได้

จะเห็นได้ว่า ถ้าพิจารณาจากมุมมองของประสิทธิผลของวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตในเรื่องของสุขภาพและการชะลอวัย ผมคิดว่าไม่น่ามีข้อกังขาอีกต่อไปแล้วว่า มันได้ผลหรือไม่ กล่าวคือ มันได้ผลจริงๆ แต่เป็นความได้ผลในระดับเดียวกับการฝึกโยคะหรือชี่กงแบบอื่นๆ โดยหาได้ให้ผลเลิศแบบ “ปาฏิหาริย์” แต่อย่างใดไม่ แต่เป็นผลจากการฝึกฝนบริหารร่างกายแบบ “ดัดตน” และการฝึกลมปราณอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ วันมิได้ขาดนั่นเอง

อย่างไรก็ดี จุดเด่นที่สุดของวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนั้น อยู่ที่มันเป็นวิธีกายบริหารแบบง่ายๆ แค่ 5 กระบวนท่า แต่มีประสิทธิผลสูงอย่างน่าทึ่ง ปัจจุบันนี้ วงการสุขภาพและศาสตร์ชะลอวัย จึงจัดให้วิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ เป็นการบริหารร่างกายแบบโยคะอย่างง่ายๆ (simplified yoga) ชนิดหนึ่งที่ใช้เวลาไม่มากนักในการฝึกฝนแต่ละวันคือแค่สิบห้านาทีเท่านั้น วิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการฝึกกายบริหารเพื่อสุขภาพ และการชะลอวัย แต่ไม่ค่อยมีเวลาที่จะมาฝึกโยคะหรือชี่กงแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งจะให้ประสิทธิผลในเชิงบูรณาการได้มากกว่า และครอบคลุมทุกมิติแห่งตัวตนของผู้นั้นได้สมบูรณ์กว่า

ก่อนหน้านี้ เคยมีผู้ตั้งข้อสงสัยเหมือนกันว่าวิชา “5 กระบวนท่า” นี้เป็นของทิเบตจริงหรือไม่ และผู้พันแบรดฟอร์ดมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือทั้งหมดเป็นแค่จินตนาการของปีเตอร์ เคลเดอร์ ผู้เขียนเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ เราได้รับรู้แล้วว่า ผู้พันแบรดฟอร์ดนี้เป็นนามแฝง แต่น่าจะมีตัวตนจริง เพราะนักวิชาการทางด้านทิเบตศึกษาได้ออกมายืนยันแล้วว่า ท่าการฝึกดัดตนของ “5 กระบวนท่า” นี้มีส่วนคล้ายคลึงกับระบบการฝึกฝนของทิเบตขนานแท้ที่เรียกว่า วิชาภูลคอร์ (phrul khor) หรือวิชา “กายวัชระแห่งจักรอาทิตย์ และจักรจันทราที่รวมเป็นหนึ่ง” (Vajra Body Magical Wheel Sun and Moon Union) วิชาภูลคอร์นี้บางทีก็เรียกกันในทิเบตว่า วิชายันตระโยคะ (yantra yoga) ซึ่งเป็น โยคะสายพุทธทิเบต ชนิดหนึ่งที่สืบทอดหรือแตกแขนงมาจากกุณฑาลินีโยคะของอินเดีย-ทิเบต

เมื่อเราทราบข้อเท็จจริงอย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะรู้ต่อไปด้วยว่า ยังมี “กระบวนท่าที่หก” นอกเหนือไปจาก “5 กระบวนท่า” อีกด้วย ซึ่งถ้าผู้ฝึกได้ฝึกแล้ว ถึงจะเป็นการฝึกตามโมเดลโยคะโดยสมบูรณ์

กระบวนท่าที่หกในวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบต


หลังจากที่ปีเตอร์ เคลเดอร์ ผู้เขียนหนังสือ “เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” (ค.ศ. 1939) ได้ทดลองฝึกกระบวนท่าทั้งห้าของทิเบต เป็นเวลาสามเดือน จนกระทั่งเห็นผลปรากฏออกมาอย่างชัดเจน ผู้พันแบรดฟอร์ดได้บอกกับเคลเดอร์ว่า ตอนนี้ตัวเขาอายุ 73 ปีแล้ว เคลเดอร์แทบไม่เชื่อสายตาเลย เพราะดูไปผู้พันแบรดฟอร์ดดูเหมือนมีอายุแค่สี่สิบต้นๆ เท่านั้นเอง (ดูอ่อนเยาว์ลง 30 ปี)

ผู้พันแบรดฟอร์ดบอกกับเคลเดอร์ว่า เขาเพิ่งหัดวิชานี้ได้แค่ 10 อาทิตย์ ก็ยังเห็นผลของมันแล้ว และถ้าเขาหัดต่อเนื่องไปอีกสองปี เขาก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเขามากยิ่งกว่าที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้อีก แต่ถ้าเขาหวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่านั้น อย่างที่มันได้เกิดกับตัวผู้พันแบรดฟอร์ดมาแล้ว เขาก็ต้องหัด กระบวนท่าที่หก ซึ่งผู้พันแบรดฟอร์ด ยังไม่ได้บอกเคลเดอร์

ผู้พันแบรดฟอร์ดบอกว่า ที่ผ่านมา เขาไม่ได้บอกเคลเดอร์เรื่องกระบวนที่หก เพราะเขาอยากให้เคลเดอร์ได้เห็นผลจากการฝึกหัดกระบวนท่าทั้งห้านี้ก่อน อันที่จริง แค่การฝึก “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ ก็ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ และความคึกคักมีชีวิตชีวาของเคลเดอร์ให้กลับมาหนุ่มขึ้นได้แล้ว และถ้าหากเคลเดอร์ต้องการจะกลับมาหนุ่มขึ้นจริงๆ ยิ่งกว่านั้น ผู้พันแบรดฟอร์ดบอกว่า เคลเดอร์จะต้องหัด กระบวนท่าที่หก ด้วย

แต่การจะหัด กระบวนท่าที่หก นี้ มันมีข้อจำกัดที่ผู้ฝึกต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมากไม่เหมือนกับห้ากระบวนท่าแรก เพราะฉะนั้นคนที่จะหัดกระบวนท่าที่หกได้ จึงต้องเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าจริงๆ เท่านั้น เพราะผู้นั้นจะต้องถือพรหมจรรย์ไม่ยุ่งเกี่ยวทางเพศอีกเลยหลังจากเริ่มฝึกกระบวนท่าที่หกนี้แล้ว

คำอธิบายหรือเหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ก็คือ ในระบบของโยคะหรือของเต๋า (วิชาเซียน) จะถือว่า พลังชีวิตที่หล่อเลี้ยงจักระทั้งเจ็ดในร่างกายของคนเรานั้น จะถูกแปลงเป็นพลังทางเพศก่อน สำหรับผู้คนทั่วไปที่มิได้ฝึกวิชาลมปราณ พลังทางเพศนี้ส่วนใหญ่จะถูกใช้หรือถูกผลาญให้เหือดหายไปขณะที่อยู่ที่จักระที่หนึ่ง โดยแทบไม่มีโอกาสส่งไปบำรุงเลี้ยงจักระทั้งหกที่เหลือได้อย่างสมบูรณ์พอเลย

เพราะฉะนั้น ในการจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็น “ยอดคน” ตามระบบของโยคะ หรือระบบของเต๋า (วิชาเซียน) นั้น พลังชีวิตที่ทรงพลังอันนี้จะต้องได้รับการสะสมเอาไว้ภายในร่างกาย และถูกส่งต่อขึ้นไปยังส่วนบนของร่างกาย เพื่อให้จักระทั้งหมดได้ใช้ประโยชน์จากมัน โดยเฉพาะจักระที่เจ็ด กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ฝึกจะต้องถือพรหมจรรย์เพื่อสงวนและนำพลังทางเพศนี้ไปใช้ใหม่ในจุดมุ่งหมายที่สูงส่งยิ่งขึ้นกว่าเรื่องเพศ เช่น ในเรื่องศิลปะ งานที่สร้างสรรค์ และเรื่องทางจิตวิญญาณ

การดึงพลังทางเพศขึ้นไปที่ส่วนบนของร่างกายไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ผู้คนส่วนใหญ่ มักจะล้มเหลวในการทำสิ่งนี้ ก็เพราะพวกเขาพยายามที่จะควบคุมพลังทางเพศ โดยการไปกดข่มมัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ผิดพลาด แนวทางที่ถูกและเป็นแนวทางเดียวที่จะควบคุมพลังทางเพศอันทรงพลังนี้ได้ก็คือ การแปรรูป (transmute) มันให้เป็นพลังงานขั้นสูง พร้อมกับดึงมันไปใช้ที่ส่วนบนของร่างกายด้วยในเวลาเดียวกัน

กระบวนท่าที่หกนี้เป็นท่าที่ง่ายมาก สามารถทำได้ทุกที่ แต่ผู้ฝึกควรหัดท่านี้ต่อเมื่อผู้ฝึกรู้สึกว่าตัวเองมีพลังทางเพศมากเกินไป หรือเมื่อรู้สึกเกิดกำหนัดรุนแรงเท่านั้น วิธีฝึกกระบวนท่าที่หกเป็นดังนี้ ก่อนอื่นให้ผู้ฝึกยืนตัวตรง ค่อยๆ ระบายอากาศทั้งหมดออกจากปอดของตน ขณะที่ทำเช่นนี้ ให้ผู้ฝึกงอลำตัวลง โดยวางสองมือของตนไปแตะหัวเข่าทั้งสองข้าง จากนั้นขับอากาศก้อนสุดท้ายออกจากปอดของตนจนปอดของตนว่างเปล่า แล้วจึงค่อยๆ สูดลมหายใจเข้า พร้อมๆ กับยกตัวกลับมายืนตรงในท่าเดิม ต่อจากนั้นให้ผู้ฝึกเลื่อนมือมาแตะที่สะโพกของตน กดมันลงไป มันจะยกไหล่ของตนเองขึ้นมา ขณะที่ผู้ฝึกทำเช่นนี้ ให้หดช่องท้องของตนเข้าไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ขณะเดียวกันให้กักลมเอาไว้ โดยที่ผู้ฝึกจะต้องอยู่ในท่านี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ในขณะนั้น หน้าอกของผู้ฝึกจะถูกยกขึ้นมา เมื่อผู้ฝึกจำต้องหายใจเข้าให้อากาศไหลเข้าสู่ปอดที่ว่างเปล่าของตน จงหายใจเข้าผ่านรูจมูก เมื่ออากาศเข้าไปจนเต็มปอดให้หายใจออกทางปาก ขณะที่หายใจออกจงผ่อนคลายแขนทั้งสองข้าง ปล่อยมันวางข้างๆ ลำตัวอย่างช้าๆ เป็นธรรมชาติ จากนั้นหายใจลึกๆ หลายครั้งผ่านจมูก และปล่อยให้มันไหลออกทางปากหรือจมูกก็ได้ เป็นการจบกระบวนท่าที่หกนี้

กระบวนท่าที่หกนี้ ควนทำซ้ำหลายๆ ครั้ง เพื่อแปรรูปพลังทางเพศในตัวผู้นั้น และดึงพลังนี้ขึ้นส่วนบนของร่างกาย หลังจากนั้นแล้ว ถ้าจะให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ผู้ฝึกก็ควรจะฝึกบำเพ็ญภาวนาต่อโดยการนั่งสมาธิหรือเดินสมาธิหรือยืนสมาธิ หรือนอนสมาธิเพื่อการบ่มเพาะพลัง และแปรรูปพลังทางเพศให้กลายเป็นพลังปราณ และกลายเป็นพลังจิตวิญญาณในที่สุด ถึงจะเป็นการฝึกตามโมเดลโยคะที่สมบูรณ์

มีความแตกต่างเพียงหนึ่งเดียวดำรงอยู่ระหว่างคนที่มีสุขภาพแข็งแรงกับคนที่เป็น “ยอดคน” ก็คือ คนประเภทแรก แปลงพลังชีวิตให้เป็นพลังทางเพศได้เท่านั้น ขณะที่คนประเภทหลังจะทำการแปรเปลี่ยนพลังนี้ให้เป็นพลังที่สูงส่งยิ่งขึ้น เพื่อสร้างสมดุลและปรองดองกับจักรวาลโดยผ่านจักระทั้งเจ็ด

จะเห็นได้ว่า สำหรับ “ยอดคน” แล้ว แหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาวนั้น อยู่ภายในตัวของเขาเองอยู่แล้วตลอดเวลา และน้ำอมฤตก็เป็นสิ่งที่ถูกกลั่นมาจากภายในร่างกายเขานั่นเอง โดยไม่จำเป็นต้องออกไปแสวงหาข้างนอกแต่อย่างใดเลย

นอกจากนี้ ควรเข้าใจถึง ปฏิบท (paradox) ของกระบวนท่าที่หก ด้วยว่า กระบวนท่าที่หกนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่เดินอยู่บน วิถียอดคน เท่านั้น เพราะผู้ที่เป็นยอดคน จะเป็นผู้ที่มีพลังชีวิตและพลังทางเพศมากกว่าคนธรรมดาอยู่แล้ว ส่วนคนที่มีพลังทางเพศน้อยอยู่แล้ว ย่อมไม่อาจหัดกระบวนท่าที่หกนี้ เพราะคนผู้นั้นไม่มีพลังทางเพศที่มากพอที่จะไปแปรเปลี่ยนมัน ถ้าขืนหัดไปอาจเป็นผลร้ายต่อร่างกายของผู้นั้นได้ ทางที่ดีจึงควรหัดวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตให้กลับมามีพลังทางเพศเป็นปกติก่อน ส่วนยอดคนที่มีพลังทางเพศมากเป็นปกติอยู่แล้ว จึงควรหัดกระบวนท่าที่หกอยู่เสมอ จะเห็นได้ว่า กระบวนท่าที่หก เป็นกระบวนท่าสำหรับคนที่มุ่งก้าวข้ามเรื่องเพศนี้ไปแสวงหาเป้าหมายที่เป็นความสุขอย่างอื่นในชีวิตที่มิใช่กามสุข สำหรับคนที่ยังไม่อิ่มในกามสุข และไม่รู้เคล็ดลับของวิชาตันตระ หรือวิชาเต๋าแห่งเพศ จึงยังต้องต่อสู้เพื่อข่มกลั้นความรู้สึกทางเพศอยู่ การฝืนธรรมชาติในเรื่องนี้อาจทำให้พลังเดินผิดทาง เกิดเป็นความขัดแย้งภายในจิตใจที่เก็บกดอย่างรุนแรงได้ จึงควรระวังให้มากๆ และควรใส่ใจกับการฝึกวิชา “5 กระบวนท่า” เท่านั้นก็พอ

อนึ่ง น้ำเสียงของบุรุษคือดัชนีที่บ่งบอกพลังชีวิต และพลังทางเพศของบุรุษผู้นั้นได้ดีที่สุด บุรุษที่มีน้ำเสียงต่ำทุ้ม ย่อมแสดงว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้ที่มีพลังทางเพศสูงกว่าบุรุษที่มีน้ำเสียงสูงแหลม สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะจักระที่ห้า (จักรคอ) ที่บริเวณลำคอนั้น มันเชื่อมโดยตรงกับจักระที่หนึ่ง (จักรฐาน) บริเวณอวัยวะเพศ และส่งผลต่อกันและกัน ดังนั้น เมื่อเสียงของคนผู้นั้นสูงแหลม ก็ย่อมแสดงว่า พลังทางเพศของผู้นั้นอยู่ในระดับต่ำ เมื่อพลังงานในจักระที่หนึ่งต่ำ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพลังงานในจักระอื่นๆ ทั้งหกก็ย่อมต่ำตามไปด้วย

เพราะฉะนั้น นอกจากจะควรฝึกวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้เพื่อเร่งอัตราความเร็วในการหมุนจักระที่หนึ่งกับจักระที่ห้าแล้ว ผู้นั้นก็ควรฝึก “มนตราโยคะ” หรือการเปล่งเสียง “โอม...โอม...” ด้วยเสียงต่ำทุ้มอยู่เสมอ โดยในการฝึกออกเสียง “โอม” นั้นให้ผู้ฝึกแยกเสียงที่เปล่งออกมาเป็นสองท่อนคือ “โออ...” กับเสียง “มมม....” โดยก่อนออกเสียง ให้สูดลมหายใจเข้าไปเต็มปอด แล้วระบายออกมาอย่างช้าๆ พร้อมกับเปล่งเสียง “โอม...มมม...” ด้วยน้ำเสียงที่ต่ำทุ้มกังวานมีพลัง ขณะที่ปล่อยเสียง “โออ...” ให้บริเวณหน้าอกสั่นสะเทือน และขณะที่ปล่อยเสียง “มมม...” ให้บริเวณฐานจมูกสั่นสะเทือน เคล็ดของวิธีนี้อยู่ที่การสั่นสะเทือนของเสียง ที่จะช่วยวางแนวหรือจัดแนวจักระทั้งเจ็ดให้ตรงกัน ทำให้พลังไหลสะดวก

สรุปก็คือ เคล็ดวิชาเพื่อรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนานตามโมเดลของโยคะนั้น อยู่ที่การทำให้อัตราการหมุนของจักระทั้งเจ็ดในร่างกายมีความสูงอยู่ตลอดเวลานั่นเอง แต่มิใช่แค่นั้นหรอก

เคล็ดวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตขั้นสูง”

ผมเขียนข้อเขียนชุดนี้ขึ้นมาก็เพื่อ ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ และต้องการชะลอวัยไปพร้อมๆ กัน เพื่อเตรียมรับมือกับ “สังคมคนสูงวัย” ที่กำลังจะมาเยือนสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ ปัจจุบันนี้ ผู้คนเริ่มตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากกว่าแต่ก่อน ผมแลเห็นคนสูงวัยมากหน้าหลายตาไป ออกกำลังกายที่สวนสาธารณะมากกว่าคนวัยหนุ่มสาวเสียอีก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การออกกำลังกายของพวกเขาส่วนใหญ่เป็นแค่การเดินเหยาะในสวนสาธารณะ หรือไม่ก็เป็นการรำมวยจีนอย่างงูๆ ปลาๆ เท่านั้น จะหาคนที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และการชะลอวัยอย่างที่เป็นศาสตร์และศิลป์ได้ยากมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง

คนเรานี่ก็แปลก มีเวลาเอาใจใส่ดูแลรถยนต์ที่ตัวเองขับเป็นอย่างดี แต่ร่างกายของตน ซึ่งเป็นพาหนะแห่งจิตวิญญาณของตัวเองกลับให้ความสนใจใส่ใจน้อยกว่ารถยนต์หรือบ้านพักอาศัยของตนเสียอีก ทั้งๆ ที่ร่างกายของตัวเองนี้แหละที่จะอยู่กับเราไปจนวันตายไม่เหมือนรถยนต์หรือบ้านพักอาศัยที่มีโอกาสเปลี่ยนมือสูง มิหนำซ้ำ ถ้าหากรู้จักดูแลร่างกายของตัวเองอย่างมีองค์ความรู้แห่งศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการ ก็มีความเป็นไปได้มากที่จะยืดอายุขัย และชะลอความแก่ชราของร่างกายของตนไปได้เป็นยี่สิบปี หรือสามสิบปีเลยทีเดียว ถ้าเข้าใจความสำคัญของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการแล้ว ก็จงเห็นความสำคัญทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติของศาสตร์นี้ และจงหมั่นเพียรในการฝึกฝนอย่างจริงจังและตั้งใจเถิด

ในข้อเขียนชุดนี้ ผมได้นำเสนอวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบต ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน วิธีการบริหารร่างกายแนวเร้นลับ (esotoric exercise) ของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการ โดยองค์ความรู้ส่วนใหญ่ที่ผมจะนำเสนอผ่านข้อเขียนชุดนี้ จะมีที่มาจากตำราที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้สามารถสืบค้นและต่อยอดทางวิชาการตะวันตกได้ จุดประสงค์ของการฝึกกายบริหารแนวเร้นลับของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการนั้น แม้จะอยู่ที่การบรรลุความก้าวหน้าในวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณของผู้ฝึกก็จริง แต่เพื่อการนี้ สุขภาพที่แข็งแรงของร่างกายที่เป็นพาหนะหรือ เป็นฐานให้แก่การวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณของผู้นั้น กับการชำระจิตใจของผู้นั้นให้บริสุทธิ์สะอาด และการกระตุ้นการทำงานของจักระทั้งเจ็ดของผู้นั้นให้คึกคักเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยมีผลพลอยได้คือ การชะลอความแก่หรือความหนุ่มแน่นยาวนาน ตามมาพร้อมกับการฝึกเคล็ดวิชานี้

ศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการนั้นมองว่า การที่คนเราจะมีวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณได้นั้น คนเราต้องเรียนรู้ผ่านความทุกข์ยากของชีวิต เพื่อชำระจิตใจให้สะอาดก่อน แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่คนส่วนใหญ่มีเวลาน้อยไป หรืออายุสั้นไปกว่าที่จะเรียนรู้จากความทุกข์ของชีวิตจนสามารถชำระจิตใจของตัวเองให้สะอาดได้ เพราะก่อนที่คนเราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่แท้จริงได้นั้น ไม่ทราบว่ามีผู้คนเป็นจำนวนมากเท่ไหร่แล้วที่ต้องเจ็บป่วยไปเสียก่อน หรือเซลล์สมองถูกทำลายไปเสียก่อน เป็นโรคมะเร็งไปเสียก่อน หรือแก่ชราไปเสียก่อน

ลองคิดดูสิว่าในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้น จะมีอะไรน่าเจ็บใจหรือน่าเสียดายเท่ากับการไม่มีโอกาสหรือไม่สามารถแก้ตัวตั้งต้นชีวิตใหม่ได้อีกแล้ว เพราะกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปแล้ว ปัญหาเรื่องนี้ความจริงไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่เผชิญ ผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่กลับไม่ดูแลร่างกายตนเอง ปล่อยให้ทรุดโทรมจนมีชีวิตไม่ต่างจากคนชราภาพก็มีให้เห็นอยู่มากมายเช่นกัน เพราะฉะนั้น ประสิทธิผลในการชะลอวัย ฟื้นฟูความเป็นหนุ่มสาวให้กลับคืนมาตามโมเดลของโยคะ และโมเดลของเต๋าในข้อเขียนชุดนี้ จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาข้างต้นนี้ได้

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจตรงกันให้ได้ก่อนว่า การที่คนเราจะบรรลุความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณได้นั้น ตัวเขาต้องปฏิบัติธรรมฝึกฝนตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง ศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการ จึงมุ่งให้ “เวลาที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติธรรม” แก่ชีวิตของพวกเรา ไม่ว่าเวลานั้นจะเป็นเวลาที่จำเป็นในการฝึก พัฒนาจักระทั้งเจ็ด จนกระทั่งสามารถยกระดับพลังทางเพศชักนำพลังกุณฑาลินีให้ขึ้นไปถึงจักระที่เจ็ดบนศีรษะได้ (จะกล่าวอย่างละเอียดในภายหลัง) หรือจะเป็นเวลาที่จำเป็นสำหรับ การปฏิบัติกรรมดีเพื่อชำระ “ร่างทั้งเจ็ด” (จะกล่าวอย่างละเอียดในภายหลัง) ของตน และเป็นการเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของตนเองในขั้นรากเหง้าก็ตาม ศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการสามารถสร้าง “เวลา” เช่นนั้นให้แก่ชีวิตของพวกเราได้

กลไกการฟื้นฟูความเป็นหนุ่มสาวตามโมเดลของโยคะนั้น อยู่ที่การตั้งสมมติฐานว่า ร่างกายของคนเรามีจักระทั้งเจ็ดที่สามารถดูดปราณ หรือพลังจักรวาลเข้ามาได้ โดยที่จักระทั้งเจ็ดนี้มีความสัมพันธ์กับอวัยวะหลักๆ ในร่างกายของคนเรา โดยผ่านการกระตุ้นการทำงานของจักระทั้งเจ็ดให้คึกคัก คนเราย่อมสามารถดูดปราณเข้าสู่ร่างกายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อกายเนื้อและกายทิพย์ (กายละเอียด) ของผู้นั้น ผู้ที่สามารถกระตุ้นจักระทั้งเจ็ดให้ทำงานอย่างคึกคักได้ ผู้นั้นจะเป็นคนที่มีดวงตาที่เปี่ยมประกาย มีใบหน้าสดใส มีพลัง มีความมุ่งมั่น และมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะก้าวไปจนถึงบันไดขั้นสูงสุดแห่งความสำเร็จของชีวิต ทั้งในทางโลกและในทางธรรม ผู้นั้นจะไม่ใช่คนที่ผ่านความทุกข์โศกในวัยหนุ่มสาวแล้วมีชีวิตอยู่ในวัยกลางคน โดยเป็นชายกลางคนที่พุงออก หมดไฟ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต แต่จะเป็นคนที่สามารถใช้บทเรียนชีวิตที่ได้รับในวัยหนุ่มสาวมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนและผู้อื่น หลังจากนั้น โดยที่ผู้นั้นยังมีร่างกายที่หนุ่มแน่นแข็งแรงอยู่แม้จะมีอายุเพิ่มขึ้นก็ตาม

การจะฝึกศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการให้ได้ผล ผู้นั้นจะต้องใช้จินตนาการหรือสร้างภาพสร้างความคิดประกอบการออกกายบริหารไปด้วยว่า “ตัวเราจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บไม่อาจกล้ำกรายตัวเราได้” การฝึกกระบวนท่าเคลื่อนไหวร่างกายตามวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตหรือของโยคะหรือของเต๋าสายต่างๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ที่ยากกลับเป็นการฝึกกระบวนท่าเหล่านี้ ด้วยจิตที่เป็นสมาธิยิ่งต่างหาก เพราะหากเคลื่อนไหวเฉพาะร่างกายไปตามกระบวนท่า ขณะที่สมองครุ่นคิดเรื่องอื่นอยู่หรือออกกำลังกายบริหารไปโดยพูดจ้อไปด้วย อย่างที่คนสูงวัยส่วนใหญ่มักทำเช่นนั้นตามสวนสาธารณะ มันแทบจะไม่ให้ผลอะไรเลยในแง่ของ “การชะลอวัย” อย่างดีก็แค่ทำให้ร่างกายได้ออกกำลังกายคลายเครียดได้บ้างเท่านั้นเอง

ผมจึงขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า วิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตรวมทั้งวิธีบริหารร่างกายแนวเร้นลับตามโมเดลของโยคะ และโมเดลของเต๋าในศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการนั้น มันมิใช่ฝึกฝนเฉพาะร่างกายเท่านั้น แต่มันเป็นการประยุกต์ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายของผู้ฝึก มาทำให้จักระซึ่งเป็นศูนย์พลังงานที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าในกายทิพย์ของผู้นั้น หมุนด้วยความเร็วสูงยิ่งได้ต่างหาก จึงเห็นได้ว่า ตัวการสำคัญที่จะทำให้จักระหมุนและทำให้อวัยวะทุกส่วนในร่างกายกลับมาหนุ่มกว่าเดิมได้นั้นคือ พลังงานของความคิด ของผู้นั้นที่มุ่งมั่นอย่างแรงกล้า และใช้พลังงานของความคิดนั้นอย่างรวมศูนย์ และเพ่งจิตเพื่อให้ร่างกายของผู้นั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ผู้นั้นต้องการต่างหาก

จึงเห็นได้ว่า ในการฝึกวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตขั้นสูง ผู้นั้นจะต้องฝึกสามสิ่งควบคู่กันไปคือ หนึ่ง การเคลื่อนไหวร่างกาย สอง การเพ่งจิต สาม การภาวนา จึงจะเป็นการฝึกที่สมบูรณ์ ดังจะได้กล่าวต่อไป

กระบวนท่าที่หนึ่ง “ให้พลังดินกับพลังฟ้ามาบรรจบกันในท่ายืนกางแขน (ท่ายืนกากบาท)”

(1) ก่อนอื่นยืนตัวตรงเท้าแตะพื้นเต็มฝ่าเท้า ยกมือทั้งสองไขว้กันบริเวณหน้าอก มือขวาทับมือซ้าย จากนั้นให้ภาวนาถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ในตัวเรา ขอให้พลังศักดิ์สิทธิ์นั้นจงมาช่วยกระตุ้นจักระทั้งหลายในร่างกายของเรา ขอให้ปราณจำนวนมากจงไหลเข้ามาในตัวเรา มาช่วยชำระอวัยวะภายในของเราให้สะอาด และขอให้จักระต่างๆ ของเราได้รับการปลุกให้ตื่น เราต้องไม่ลืมว่า “การภาวนา” มีความสำคัญที่สุดในการบริหารร่างกายแนวเร้นลับ เนื่องจากการภาวนาต่อพลังศักดิ์สิทธิ์ จะช่วยดึงพลังจิตที่เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ของตัวเราออกมา รวมทั้งยังช่วยชำระจิตใจของเราให้สะอาดด้วย

(2) เมื่อภาวนาเสร็จแล้ว จงกางแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้นเป็นท่ายืนกากบาท ในทันทีที่ยืนในท่ากากบาทนี้ พลังดิน (พลังหยิน) กับพลังฟ้า (พลังหยาง) ในร่างกายเราจะมาบรรจบกัน ขอให้เราจงตั้งจิตเพ่งไปที่ศูนย์กลางภายในของร่างกายเราที่บริเวณทรวงอก เพื่อสัมผัสรู้สึกถึงการบรรจบกันของพลังงานทั้งสองนี้

(3) หมุนตัวไปตามเข็มนาฬิกา ทั้งที่ตายังลืมอยู่ในท่ากากบาทนี้เป็นจำนวน 12 รอบ ถ้าทำได้ขอให้หมุนด้วยความเร็วสูง ขณะที่หมุนตัวอยู่ขอให้ภาวนาถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ภายในตัวเราตลอดเวลาในตอนที่ร่างกายเราหมุน จักระของเราก็จะหมุนด้วย ผู้ฝึกจึงควรใช้จินตนาการนึกภาพการหมุนของจักระต่างๆ นี้ตามไปด้วย

(4) เมื่อหมุนตัวครบ 12 รอบแล้วให้กลับมายืนไขว้มือในท่าเริ่มต้นตามเดิม ที่สำคัญต้องเปลี่ยนสภาพจากการเคลื่อนไหวมาสู่สภาพความนิ่งโดยทันที เมื่อยืนสงบนิ่งแล้วขอให้หลับตาทันทีเช่นกัน โดยผู้ฝึกยังคงรู้สึกได้ถึงอาการหมุนอยู่ ขอให้เราเพ่งจิตไปที่ความรู้สึกหมุนอันนี้ โดยใช้จินตนาการตระหนักถึงสภาพการไหลวนของพลังงาน และการหมุนด้วยความเร็วสูงของจักระ เมื่อความรู้สึกหมุนภายในร่างกายหมดไปแล้วจึงค่อยลืมตาขึ้น เป็นอันจบรอบของกระบวนท่าที่หนึ่งนี้ อนึ่งในระหว่างที่เราเพ่งจิตไปที่การหมุนอยู่นี้ หากเราต้องการปลุกจักระใดในร่างกาย ก็ให้เพ่งจิตไปที่จักระนั้นด้วย โดยจินตนาการว่าจักระนั้นก็หมุนด้วยความเร็วสูงเช่นกัน

กระบวนท่าที่สอง “เชื่อมกับเส้นประสาทสมอง”

(1) ก่อนอื่นนอนหงายหลังบนพื้นห้อง ขาทั้งสองข้างติดกันกางแขนขนานกับพื้นจนลำตัวเป็นรูปกากบาท ฝ่ามือหงายขึ้นข้างบน จากนั้นให้ภาวนาถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ในตัวเรา ขอให้พลังศักดิ์สิทธิ์นี้จงมาบำรุงเส้นประสาทสมองของเราให้แข็งแรง

(2) จากนั้นให้หลับตา เพ่งความรู้สึกของเราเข้าสู่ภายในบริเวณสมอง เนื่องจากสมองของคนเราต้องทำงานหนัก และเผชิญกับความเครียดอยู่ทุกเมื่อ ย่อมทำให้มันเหนื่อยล้าได้ การบำรุงรักษาเส้นประสาทสมองให้แข็งแรงอยู่เสมอ จึงมีความสำคัญมากต่อการทำให้คนเรามีสุขภาพแข็งแรงตลอดไป

(3) ต่อไปให้ทำการสื่อสารกับสมองตน ด้วยการบริกรรมมนต์ “โอม” ในใจเบาๆ การบริกรรมมนต์ “โอม” นี้จะช่วยเปิดเส้นทางการสื่อสารกับอวัยวะภายในของเรา ทำให้อวัยวะเหล่านั้นสามารถดูดซับพลังงานหรือปราณให้เข้าไปได้

(4) เมื่อภาวนาเสร็จแล้วค่อยๆ ยกขาทั้งสองขึ้น ขาเหยียดตรงตั้งฉากกับลำตัว โดยใช้มือทั้งสองกดกับพื้นพยุงขาให้ตั้งฉากเอาไว้ เมื่อทำท่านี้ได้แล้วจะรู้สึกได้ว่ามีพลังงานจากขาที่เหยียดตรงไหลเข้ามา ขอให้จินตนาการว่า พลังงานนั้นไหลเข้าสู่สมอง และไปบำรุงเส้นประสาทสมอง

(5) จบแล้วค่อยๆ หย่อนขาลงกับพื้น สองแขนไขว้กันบริเวณหน้าอก มือขวาทับมือซ้ายนอนแหงนหน้า เมื่ออยู่ในท่านี้แล้ว พลังที่ได้รับเข้าไปจะได้รับการรักษาให้อยู่ภายในร่างกาย...จงอยู่ในสมาธิอีกชั่วครู พร้อมกับตระหนักได้ถึงการฟื้นฟูความแข็งแรงของเส้นประสาทสมองของเรา

กระบวนท่าที่สาม “ใช่การหายใจกับการภาวนาทำให้หัวใจเปี่ยมด้วยความรักและพลัง”

(1) ก่อนอื่น คุกเข่าแตะพื้น ลำตัวตรง สองมือไขว้กันที่หน้าอก มือขวาทับมือซ้าย แค่อยู่ในท่านี้ จักระย่อยบริเวณหัวเข่า อันเป็นตำแหน่งที่พลังจากพสุธามาพบกับพลังจากท้องฟ้า และคอยช่วยทำให้พลังสองชนิดนี้มีความสมดุลกันในร่างกายคนเรา ก็จะได้รับการกระตุ้นแล้ว จากท่านี้จงใช้นิ้วหัวแม่มือขวากับนิ้วชี้ขวาคุมการหายใจ โดยใช้รูจมูกข้างเดียวหายใจสลับกัน ส่วนมือซ้ายให้แตะบริเวณสะดือ

(2) การหายใจแบบนี้ เป็นวิธีการหนึ่งในการฝึกลมปราณของโยคะที่เรียกว่า “ปราณยามะ” ให้ทำ 3 ครั้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้...ก่อนอื่น ให้ใช้นิ้วชี้ขวากดรูจมูกข้างซ้าย จากนั้นค่อยๆ สูดลมหายใจช้าๆ เข้าไปทางรูจมูกขวา เมื่อสูดเสร็จแล้วให้ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดรูจมูกขวาแล้วกักลมหายใจในท่านี้อยู่ชั่วขณะหนึ่งตราบเท่าที่ยังทนได้ จากนั้นให้คลายนิ้วชี้ขวาออกระบายลมหายใจออกจากปอด โดยผ่านรูจมูกซ้ายจนหมด แล้วจึงสูดลมหายใจเข้าจากรูจมูกซ้ายช้าๆ ลึกๆ พอสูดเสร็จก็ใช้นิ้วชี้ขวากดรูจมูกซ้าย แล้วกักลมหายใจเอาไว้ตราบเท่าที่ยังทนได้ จากนั้นให้คลายนิ้วหัวแม่มือขวาที่กดรูจมูกขวาออกพร้อมกับระบายลมหายใจออกจากรูจมูกขวาจนหมด จึงสูดหายใจเข้าไปอีกจากรูจมูกขวาอันนั้น...ทำได้เช่นนี้เรียกว่า หนึ่งรอบให้ทำจนครบสามรอบ

(3) เมื่อฝึกปราณยามะเสร็จให้ก้มลงกราบแตะพื้น ทั้งหน้าผากและมือแล้ว ภาวนาถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ภายในตัวเราในท่าคุกเข่ากราบพื้นอยู่นี้ เมื่อภาวนาเสร็จแล้วให้โน้มตัวไปทางด้านหลัง ทั้งๆ ที่ยังคุกเข่าอยู่ ศีรษะ ลำตัวท่อนบน ต้นขาต้องเป็นเส้นตรงเดียวกัน มือแตะข้างลำตัว

(4) การทำท่านี้ เราต้องเกร็งกล้ามเนื้อทั่วร่าง เพื่อให้เอนลำตัวไปข้างหลังมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การฝึกท่านี้ดีมากต่อการฟื้นฟูความฉับไวแหลมคมของร่างกาย และยังช่วยเผาผลาญสารพิษในร่างกาย รวมทั้งยังช่วยให้หัวใจแข็งแรงอีกด้วย ขณะที่อยู่ในท่าเอนตัวไปข้างหลังนี้ ขอให้หลับตาพร้อมกับภาวนาด้วยการบริกรรมมนต์ “โอม” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในใจควบคู่ไปกับการเพ่งจิตไปที่บริเวณจักระหัวใจเพื่อกระตุ้นจักระหัวใจ และให้ความรักกับพลังแก่หัวใจ เมื่อได้รับพลังจากกระบวนท่านี้แล้วให้กลับมาอยู่ในท่าไขว้มืออีก เพื่อเก็บพลังที่ได้รับเอาไว้ในร่างกาย

กระบวนท่าที่สี่ “ขับไล่พลังด้านลบออกไปนอกร่างกาย”

(1) ก่อนอื่นนั่งบนพื้นเหยียดขาทั้งสองข้างออกไป เอนลำตัวบนไปทางด้านหลัง โดยใช้สองแขนยันเอาไว้ จากนั้นภาวนา ถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ (พลังกุณฑาลินี) ภายในตัวเรา ขอให้พลังศักดิ์สิทธิ์นั้นจงมาช่วยกระตุ้นจักระทั้งหลายในร่างกายของเรา ขอให้ปราณจำนวนมากจงไหลเข้ามาในตัวเรา มาช่วยชำระอวัยวะภายในของเราให้สะอาด และขอให้จักระต่างๆ ของเราได้รับการปลุกให้ตื่น ในการภาวนานั้น ขอให้แต่ละคนภาวนาด้วยภาษาของตนเอง หรือจะคิดคำภาวนาขึ้นมาเองก็ได้

(2) เมื่อภาวนาเสร็จแล้ว ให้ยกเข่าทั้งสองขึ้นตั้งฉากกับพื้น พร้อมกับยกเอวขึ้นตาม ราวกับมีเส้นด้ายที่ผูกกับสะดือเป็นตัวชักขึ้นไปจนเอวและลำตัวท่อนบนกับต้นขาเป็นเส้นตรงขนานไปกับพื้น โดยมีสองแขนกับสองขาพยุงเอาไว้ราวกับตัวเรา เป็นดุจโต๊ะตัวหนึ่งใบหน้าหงายมองข้างบน

(3) ขณะที่อยู่ในท่านี้ ขอให้เราทำการติดต่อสื่อสารกับอวัยวะภายในทั้งหลายในร่างกายของเรา โดยเฉพาะหัวใจ ปอด ตับ ม้าม กระเพาะอาหาร และอวัยวะสืบพันธุ์ เพื่อให้อวัยวะเหล่านี้แข็งแรงกลับฟื้นคืนความเยาว์วัยอีกครั้ง และขอให้พลังงานด้านลบทั้งหลายที่เป็นตัวบั่นทอนตัวเราจงออกไป ขอให้พลังศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ในตัวเราจงช่วยชำระจิตใจของเรา ขจัดเมฆร้ายที่ปกคลุมใจเราให้หมดไป ขอให้จิตใจจงมีแต่ความชื่นบาน และเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต เมื่ออยู่ในท่านี้พอสมควรแล้ว ให้กลับมาสู่ท่าเดิม แต่เอาสองมือไขว้กันที่หน้าอก

...จะเห็นได้ว่า ในการฝึกเคล็ดวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตขั้นสูงนั้น ผู้ฝึกจะฝึกแค่ท่าร่าง (อาสนะ) กับการหายใจ (ปราณยามะ) เท่านั้นไม่ได้ แต่จะต้องผนวกการภาวนา (มนตรา) เข้าไปการฝึกนั้นด้วยเสมอ จึงจะสามารถเพิ่มประสิทธิผลของการชะลอวัย และการรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนานได้

กระบวนท่าที่ห้า “กระตุ้นเซลล์สมองด้วยท่าพีระมิด”

(1) ก่อนอื่นคุกเข่าฝึกลมปราณสลับรูจมูกแบบ “ปราณายามะ” ในกระบวนท่าที่สามเป็นจำนวน 3 ครั้ง จากนั้นกางแขนเสมอไหล่แตะพื้น ยืดลำตัวออกไปให้ตรงใช้ปลายเท้ารองรับน้ำหนักตัวเหมือนกำลังอยู่ในท่าวิดพื้น ศีรษะ ลำคอ ร่างกายท่อนบน ขาอยู่ในแนวเส้นตรงจงนิ่งอยู่ในท่านี้ ชั่วครู่เพื่อภาวนาถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ (พลังกุณฑาลินี) ภายในตัวให้มาช่วยให้ร่างกายเราแข็งแรง ดังที่เคยทำกับกระบวนท่าก่อนๆ กระบวนท่านี้ยังมีประสิทธิผลที่ดีกับตับ และกระดูกสันหลังเป็นพิเศษอีกด้วย

(2) จากนั้นค่อยๆ ยกเอวให้สูงขึ้นจนร่างกายเราก้นโด่ง เวลามองจากด้านข้างจะเป็นเหมือนพีระมิด ในขณะทำท่านี้ให้ทำพร้อมกับระบายลมหายใจออก พยายามยกเอวให้สูงเท่าที่จะสูงได้ ฝ่าเท้าควรพยายามแนบสนิทกับพื้น ใบหน้ามองไปที่ปลายเท้า ศีรษะกับกระดูกสันหลังเป็นเส้นตรงเดียวกัน กระบวนท่านี้จะช่วยชำระเซลล์สมองให้สะอาด ทำให้เลือดไหลเข้าไปเลี้ยงสมองได้ดี ขณะทำท่านี้ขอให้ภาวนาในใจประกอบด้วยว่า ขอให้เซลล์สมองของเราจงดูดซับปราณเข้าไปฟอกเลือดให้สะอาด จนเซลล์สมองทุกเซลล์ทำงานอย่างแข็งขัน และกลับมาเยาว์วัยอีก

(3) ลดเอวลงจากท่าพีระมิด พร้อมกับดัดร่างกายท่อนบนไปด้านหลังดุจคันธนู จงแช่อยู่ในท่านี้ชั่วขณะ พร้อมกับบริกรรมมนต์ “โอม” เพื่อชำระปอดให้สะอาดโดยเพ่งจิตไปที่ปอด ก่อนจะกลับมาทำท่าพีระมิดใหม่ เมื่อจะเสร็จสิ้นกระบวนท่านี้ ให้ใช้เท้าเดินขณะอยู่ในท่าพีระมิด จนขาเข้าใกล้ลำตัวแล้วค่อยยืนขึ้น เอามือไขว้กันที่หน้าอก สำนึกขอบคุณพลังศักดิ์สิทธิ์ภายในอยู่ในใจ

กระบวนท่าที่หก “สลับตำแหน่งดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ในร่างกาย”

ตามหลักของวิชาโยคะนั้น จะถือว่ามีดวงจันทร์อยู่ที่ศีรษะของคนเรา ขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่ที่บริเวณสะดือ การที่คนเรามี “ดวงอาทิตย์” อยู่ใต้ “ดวงจันทร์” เป็นสภาพที่วิชาโยคะเห็นว่า ไม่น่าพึงปรารถนา และไม่อาจชะลอวัยได้ เพราะฉะนั้น หากเราต้องการชะลอวัย และมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ตามหลักวิชาโยคะก็จะต้องสลับตำแหน่งของ “ดวงอาทิตย์” กับ “ดวงจันทร์” ในร่างกายของตน โดยต้องทำให้ “ดวงจันทร์” มาอยู่ใต้ “ดวงอาทิตย์” หรือเอาสะดือมาอยู่เหนือศีรษะนั่นเอง ด้วยเหตุนี้แหละ การฝึกหกสูง และการฝึกศีรษะอาสนะ (สาลัมพะศีรษะอาสนะ) จึงมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูความเป็นหนุ่มสาวของร่างกายมาก จึงควรฝึกให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

สาลัมพะหมายถึง พร้อมด้วยเครื่องค้ำยัน “สาลัมพะศีรษะอาสนะ” จึงหมายถึงท่าที่ยืนด้วยศีรษะ ซึ่งเป็นอาสนะหรือท่าที่สำคัญที่สุดในบรรดาโยคะอาสนะทั้งหมด จนได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งอาสนะทั้งปวง ในการฝึกอาสนะท่านี้ ก่อนอื่นให้นำผ้าห่มมาพับซ้อนกันวางบนพื้น และคุกเข่าลงใกล้ๆ วางท่อนแขนลงตรงกึ่งกลางผ้าห่ม ระวังอย่าให้ระยะห่างระหว่างข้อศอกบนพื้นกว้างกว่าช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าด้วยกันจนแน่นสนิท โค้งฝ่ามือเป็นอุ้งคล้ายถ้วยใบหนึ่ง วางด้านนิ้วก้อยลงบนพื้น นิ้วมือที่ประสานกันจะต้องแนบสนิท

ตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติอาสนะนี้ ก้มศีรษะลงจดพื้น ขยับศีรษะให้ท้ายทอยสัมผัสกับอุ้งมือทั้งสอง เลื่อนเข่าเข้ามาชิดข้อศอกให้เฉพาะส่วนยอดของศีรษะจดพื้น ไม่ใช่ส่วนหน้าหรือส่วนหลังของศีรษะ หลังจากจัดวางตำแหน่งของศีรษะจนได้ที่แล้ว ยกเข่าขึ้นขยับปลายเท้าเข้ามาชิดศีรษะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หายใจออก ดีดปลายเท้าเบาๆ เพื่อยกเท้าให้พ้นพื้นพร้อมๆ กันทั้งสองข้าง โดยเข่ายังงออยู่ พับท่อนขาส่วนล่างเข้ามาชิดกับต้นขา ค่อยๆ ยกต้นขาขึ้นจนตั้งได้ฉากกับพื้นเข่าชี้ฟ้า ค่อยๆ เหยียดขาขึ้นจนท่อนขาทั้งหมดเหยียดตรง และร่างกายทั้งหมดตั้งได้ฉากกับพื้น จงอยู่ในท่านี้ 1-5 นาทีตามความสามารถ เมื่อชำนาญแล้วค่อยๆ เพิ่มเวลายาวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจะกลับลงมาสู่พื้นให้ปฏิบัติย้อนลำดับที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ฝึกควรฝึกอาสนะนี้โดยมีคนคอยช่วยหรือไม่ก็ฝึกอาสนะนี้ที่หน้ากำแพงก่อน โดยระยะห่างระหว่างกำแพงกับศีรษะไม่ควรเกินสามนิ้วฟุต เพราะถ้าหากระยะห่างมากกว่านี้ กระดูกสันหลังจะโค้งงอ และส่วนท้องจะยื่นออกมา น้ำหนักตัวจะตกอยู่ที่ข้อศอกและตำแหน่งของศีรษะก็จะเปลี่ยนไป เมื่อฝึกอาสนะนี้กับกำแพงได้แล้ว ก็ควรลองฝึกที่กลางห้อง หรือบริเวณที่ห่างจากกำแพงโดยไม่ต้องพิงกำแพงอีกต่อไป

อนึ่ง ในการฝึกศีรษะอาสนะนี้นั้น น้ำหนักของร่างกายควรจะตกอยู่ที่ศีรษะ มิใช่ที่ท่อนแขนหรือมือทั้งสอง เพราะท่อนแขนและมือทั้งสองข้างใช้ค้ำเพียงเพื่อช่วยการทรงตัวเท่านั้น ท้ายทอย ลำตัว ด้านหลังของต้นขา และส้นเท้าควรอยู่ในแนวเส้นตรงตั้งได้ฉากกับพื้น ไม่เอนเอียงไปทานด้านข้างใดๆ คอ คาง และกระดูกหน้าอกควรอยู่ในแนวเส้นตรง มิฉะนั้นศีรษะจะเอียงหรือเคลื่อนไปข้างหน้า

สำหรับมือที่ประสานกันนั้น ฝ่ามือไม่ควรช้อนเข้าไปใต้ศีรษะด้านบน และด้านล่างของฝ่ามือ แต่ควรอยู่ในแนวเดียวกันเพื่อประคองศีรษะให้ส่วนยอดของศีรษะจดพื้นอย่างถูกต้อง ข้อศอกและไหล่ทั้งสองข้างควรอยู่ในแนวเดียวกัน และข้อศอกไม่ควรถ่างกว้างออกจากกัน ไหล่ควรจะห่างจากพื้นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยการดันไหล่ขึ้น ควรพยายามนำเอาต้นขา เข่า ข้อเท้า และนิ้วหัวแม่เท้าเข้ามาชิดกันเท่าที่จะทำได้ จงยืดเท้าเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านหลังของต้นขาและหัวเข่า เพื่อให้ผู้ฝึกเกิดความรู้สึกโปร่งเบาทั่วร่างกาย แช่มชื่นเบิกบานจากการฝึกอาสนะท่านี้

ในขณะที่อยู่ในอาสนะนี้ ดวงตาของผู้ฝึกไม่ควรจะแดงก่ำ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น แสดงว่าทำท่าดังกล่าวไม่ถูกต้อง การฝึกศีรษะอาสนะจะทำให้โลหิตไหลเวียนมาเลี้ยงสมองมากขึ้น ทำให้สมองมีความกระปรี้กระเปร่าทำหน้าที่ต่างๆ ได้ดีขึ้น ผู้ฝึกจะรู้สึกได้เองว่า ตัวเองมีพลังความคิดเพิ่มขึ้น ความคิดก็แจ่มชัดขึ้นด้วย ที่สำคัญมันยังช่วยขยายขอบเขตของจิตวิญญาณของผู้ฝึก ทำให้ผู้ฝึกกลายเป็นผู้ที่มีดุลยภาพในตัวเอง และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก ความพ่ายแพ้ และความสูญเสียทั้งปวงในชีวิต

สำหรับผู้ที่ยังทำท่าศีรษะอาสนะนี้ไม่ได้ ขอให้ฝึกท่าต่อไปนี้ทดแทนไปก่อน โดยนอนหงายหน้าบนพื้น ให้ก้นติดฝาผนัง แล้วยกขาทั้งสองขึ้นตั้งฉากกับลำตัวแนบกับฝาผนัง สองมือแนบลำตัว แล้วภาวนาถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ภายในตัว ขอให้เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายของเราจงกลับมาเยาว์วัยอีกครั้ง

กระบวนท่าที่เจ็ด “ยกระดับพลังทางเพศ”

(1) ก่อนอื่นยืนตัวตรง หลังตรง ขาชิด เท้าเหยียบพื้นเต็มเท้า จากนั้นค่อยๆ ร่นมือทั้งสองจากข้างสะดือ พร้อมกับก้มตัวไปข้างหน้า โดยโค้งศีรษะต่ำลงจนกระทั่งสองมือไปแตะที่หัวเข่าทั้งสองข้าง ในขณะที่ก้มลำตัวให้หายใจออก โดยตั้งใจให้ระบายลมหายใจออกจากปอดให้หมดเมื่อมือแตะถึงหัวเข่า จากนั้นจึงค่อยหายใจเข้าช้าๆ

(2) เสร็จแล้วให้กักลมหายใจ พร้อมกับนวดหัวเข่าทั้งสองข้างเพื่อกระตุ้นการหมุนของจักระที่หัวเข่า ขณะเดียวกัน ก็เสียดสีต้นขาเบาๆ รวมทั้งนวดเฟ้นบริเวณอวัยวะเพศเพื่อกระตุ้นพลังทางเพศให้ตื่นตัว จากนั้นค่อยๆ ยกลำตัวท่อนบนขึ้นตั้งตรง เอามือวางที่เอวระบายลมหายใจออกจากปอดให้หมด แล้วจึงสูดลมหายใจเข้าไปใหม่ พร้อมกับดึงพลังทางเพศขึ้นข้างบนตามแนวกระดูกสันหลังไปจนถึงยอดศีรษะแล้วไหลผ่านหน้าผากลงมาที่ทรวงอก ก่อนที่จะระบายลมหายใจออก เสร็จแล้วให้ก้มตัวลงไปข้างหน้าใหม่ ทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

(3) ในระหว่างที่ทำกระบวนท่านี้อยู่ ขอให้ภาวนาถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ (พลังกุณฑาลินี) ภายในตัว จงโปรดประทานพลังอันยิ่งใหญ่แก่ตัวเราเพื่อให้ตัวเราเป็นผู้ชนะในชีวิตนี้ และสามารถยกระดับไปสู่มิติที่สูงส่งกว่านี้ได้ด้วย

...ในโมเดล “โยคะ” ของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการนั้น นอกจากจะให้ความสำคัญกับการทำให้จักระต่างๆ ในร่างกายหมุนด้วยอัตราความเร็วสูงอยู่เสมอแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับ “กายนอก” (กายเนื้อ) กับ “กายใน” (กายทิพย์) ควบคู่กันไปอีกด้วย

โดย ดร.สุวินัย ภรณวลัย www.manager.co.th/Daily/